WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Payut23


ปื๊ดโต้ลั่น ไม่ได้พูดดูถูก-เสื้อแดง 
'จตุพร'จี้ปรับทัศนคติปชต. ปูทัวร์-กินทุเรียนอุตรดิตถ์ ชงปฏิรูปตร.เปลี่ยน'ชื่อยศ' หมายจับ 8 นศ.-คดีหอศิลป์

        ออกหมายจับ 8 น.ศ.หน้าหอศิลป์ ขณะที่น.ศ.กลุ่มธรรมศาสตร์เสรี เตรียมมอบตัว 24 มิ.ย.นี้ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แถลงจี้ยุติคดีดำเนินคดีน.ศ.ต้านปฏิวัติ 'บวรศักดิ์'โต้'จตุพร' ยันไม่ได้หมิ่นใคร แต่ถ้าทำให้เข้าใจผิดก็ขออโหสิกรรม ส่วนจตุพรเตรียมนัดบวรศักดิ์ ปรับทัศนคติปชต. สนช.จัดสัมมนาปฏิรูปตร. ชงขึ้นเงินเดือนเท่าศาล-อัยการ ยกระดับเทียบชั้นกระทรวง 'ปู-ไปป์'ทำบุญที่อุตรดิตถ์

 

วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8973 ข่าวสดรายวัน


ถึงพม่า - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติ เนปิดอว์ สหภาพเมียนมา เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.

 

รัฐบาลคุมเข้ม'24 มิ.ย.'
       เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง กรณีวันที่ 24 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจมีกลุ่มคนออกมาเคลื่อน ไหวว่า เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในทุกช่วงเวลาอยู่แล้ว พยายามดูแลให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อยอย่างดีที่สุด คงไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นช่วงไหน หลักๆ คือเจ้าหน้าที่พยายามบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ เน้นทำความเข้าใจ และการขอความร่วมมือ ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่เข้าใจ และให้ความร่วมมือดี 
      ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิตติ รอดบางยาง รองผบช.น. ดูแลงานมั่นคง เผยถึงการเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษาความปลอดภัยวันที่ 24 มิ.ย. ว่า ภายหลังได้ร่วมประชุมกับทางเจ้าหน้าที่ทหารยังไม่พบมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองออกมาทำกิจกรรมในวันดังกล่าว เบื้องต้นสั่งการให้มีการจัดกำลังเตรียมความพร้อมไว้ในที่ตั้ง บก.น.1-9 พร้อมกับสืบสวนหาข่าวว่ามีความเคลื่อนไหวกลุ่มที่ต่อต้านคสช. หรือรัฐบาลหรือไม่ โดยคาดสามารถสรุปความเคลื่อนไหวอีกในวันที่ 23 มิ.ย. ต่อไป 
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกิจกรรมที่น่าสนใจวันที่ 24 มิ.ย. เวลา 13.00-17.00 น. สถาบันปรีดีพนมยงค์ จัดงานแสดงปาฐกถาครบรอบ 20 ปี ที่หอประชุมพูนศุขพนมยงค์ประจำปี 2558 ถนนสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพ มหานคร หัวข้อเรื่องรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่ท่านเกี่ยวข้องและจัดเสวนาหัวข้อ ผู้หญิงก่อน-หลังการอภิวัฒน์ 24 มิ.ย.2475 โดยมี ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ และอ.เกื้อ เจริญราษฎร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง

เสธ.ทบ.ห้ามน.ศ.ชุมนุม
     พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก ในฐานะรองเลขาธิการคสช. กล่าวว่า การเคลื่อนไหวที่มีนัยยะทางการเมืองนั้นทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะผิดกฎหมาย หากจะดำเนินการใดๆ สามารถขออนุญาตคสช.ได้ เพื่อพิจารณาว่ารูปแบบเป็นอย่างไร ถ้าพบว่าไม่ขัดกับกฎหมายก็ทำได้ แต่ถ้าขัดกฎหมายก็ทำไม่ได้ ประกอบกับในวันดังกล่าว ทราบว่าอาจมีบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวบ้าง ส่วนมาตรการดำเนินการนั้น คสช.จะเรียกไปพูดคุยทำความเข้าใจเป็นหลักเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา และขอย้ำว่าในวันดังกล่าวนักศึกษาอย่าไปเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์แบบม็อบเลย มันไม่สามารถทำได้ 
      เมื่อถามว่า ถ้ามีการเคลื่อนไหวจะใช้มาตรการใด พล.อ.ฉัตรเฉลิมกล่าวว่า ไม่จับกุมตัว แต่จะเน้นพูดคุยทำความเข้าใจกับนักศึกษา ถ้าเป็นไปตามนี้ก็ไม่น่ามีปัญหา ยกเว้นว่าถ้าทำเป็นครั้งที่สองทำเป็นครั้งที่สามอีก ตำรวจจะบันทึกข้อความไว้ ถ้ามีเจตนาก็จะดำเนินการตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่มีเจตนา เจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากทำอะไร การแสดงออกของนักศึกษา เราก็เปิดพื้นที่ให้ อยากให้ไปแสดงตรงนั้นดีกว่า อย่าไปแสดงทางอื่นๆ เลย อยากให้ช่วยบอกผู้สื่อข่าวต่างประเทศด้วย ที่มักพูดว่า คสช.ไม่เปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ซึ่งความเป็นจริงมันไม่ใช่ เราเปิดพื้นที่ให้ ไม่ใช่เราไม่เปิด

บวรศักดิ์โต้จตุพร
      ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐ ธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุให้ออกมาขอโทษกรณีดูถูกคนเสื้อแดงถูกจ้างมาชุมนุมว่า ถ้าฟังเทปคำพูดฉบับเต็ม ตนพูดในเนื้อหาสาระวิชาการ ไม่ได้พูดในเชิงการเมือง ซึ่งเคยพูดมา 5 ปีแล้ว นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ กับนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็เคยชมว่าตนพูด ได้ตรง 
     นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ครั้งนี้ก็พูดชัดเจนว่าเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมั่งมีกับคนไม่มี ถ้าจะแก้ปัญหาบ้านเมืองก็ต้องแก้ให้กับคนไม่มี ต้องเขียนรัฐธรรมนูญและปฏิรูปให้ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในบ้านเมือง ให้คนไม่มีโอกาส ตนพูดเพื่อยกระดับแก่คนไม่มี 

ถ้าเข้าใจผิดก็ขออโหสิกรรม
     "ยืนยันไม่มีเจตนาใดดูถูกเชิงชนชั้น แต่ถ้าใครเข้าใจผิด ก็ขออโหสิกรรม ไม่ได้ตั้งใจใช้วจีกรรมนี้ไปทำร้ายคน ส่วนที่ตนพูดถึงม็อบ หมายความว่าคนที่ชุมนุมในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เขามากันเองแล้วเอาเงินมาบริจาค ส่วนคนในต่างจังหวัด เขาอยากจะมาแต่รายได้เขาหายไป ทำให้เดือดร้อนในครอบครัว" นายบวรศักดิ์กล่าว
      นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า คำพูดของตนว่าเหตุความขัดแย้งคือความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมั่งมีมหาศาลกับคนไม่มี สังเกตดูม็อบกปปส. ม็อบเสื้อเหลืองไม่ต้องจ้างมา พวกนี้เป็นคนชั้นกลาง ใครอยากกินของอร่อยก็ให้ไปม็อบแห่งนี้ ถ้าตนอยากกินก็ไป แต่ไม่เคยกินแต่เคยไปดู ส่วนการชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นระดับรากหญ้า เขาต้องทำมาหากิน แต่อยากมาร่วมชุมนุม ขีดเส้นใต้เลยว่าเขาอยากมาร่วมชุมนุม แต่ถ้ามาก็ต้องสูญเสียรายได้ คนเหล่านี้ต้องเอาเงิน แต่ไม่ใช่เอาเงินเพื่อจ้างมาชุมนุม ขีดเส้นใต้ตรงนี้อีกครั้ง ไม่ใช่เอาเงินเพื่อจ้างมาชุมนุม ทุกคนมีสิทธิชุมนุมได้ ถ้าเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ถูกต้อง
     นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ท่าทีของนายจตุพร เป็นธรรมดาของแกนนำม็อบทางการเมืองที่ต้องทำเช่นนี้ การพูดจาแรงก็เป็นธรรมดา ตนถือว่านายจตุพร พ่อแม่คงสั่งสอนมาดีแล้ว ส่วนนายจตุพรจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่ตัวของนายจตุพรเอง ไม่ได้อยู่ที่พ่อแม่ ยืนยันอีกครั้งว่าคำพูดของตนไม่มีเจตนาดูถูกเสียดสีให้ร้ายใคร ถ้าไปอ่านรายละเอียดที่ตนพูดจริงๆ จะเห็นว่าในบริบทที่นายจตุพรพูดไม่มีในเนื้อหาเลย เขาคิดเองพูดเอาเองทั้งนั้นเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

'ตู่'ขอถก'ปื๊ด'ปรับทัศนคติปชต.
      ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ระบุไม่มีเจตนาดูถูกผู้ชุมนุมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และขออโหสิ กรรมหากคำพูดทำให้ใครเข้าใจผิดว่า การออกมาพูดของนายบวรศักดิ์ ทำให้ความรู้สึกเบาลงในระดับหนึ่ง แต่ถ้ามุมมองเรื่องชนชั้นและทัศนคติการเมือง และเรื่องประชาธิปไตยยังเป็นลักษณะนี้ เห็นว่าอันตรายหากคนที่เขียนรัฐธรรมนูญไม่ยึดหลักการประชาธิปไตย ยังมองคนไม่เท่าเทียมกัน ทั้งที่เรื่องนี้เป็นพื้นฐานของประชาชาธิปไตย แทบจะไม่มีหวังกับประชาธิปไตย 
     นายจตุพร กล่าวต่อว่า ดังนั้นจะประสานไปถึงนายบวรศักดิ์ เพื่อไปขอพูดคุยสร้างความเข้าใจให้ตรงกันถึงการเคลื่อนไหวของนปช.และจะไปในฐานะวิญญูชนเพียง 1-2 คน ตนจะไปด้วยตัวเอง ส่วนวันและเวลาต้องประสานกันอีกครั้ง ยืนยันว่าจะไม่มีการสร้างปัญหาใดๆ

เตือนระวังพูดแบ่งชนชั้น
      "ทุกคนย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ในระบอบประชา ธิปไตยพอเข้าคูหาเลือกตั้งทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์เท่ากัน แม้จะบอกว่าไม่เจตนา แต่การพูดเรื่องชนชั้นกลาง หรือรากหญ้า ทำให้รู้สึกแบ่งแยกเกิดขึ้น ถือเป็นทัศนคติที่อันตรายต่อการเดินไปข้างหน้า ทั้งที่หลายเรื่องประชาชนรากหญ้าเขารู้มากกว่าก็มี ดังนั้นคำพูดที่ทำให้รู้สึกถึงการแบ่งชนชั้นจึงต้องระวัง ไม่ว่าใครจะไปร่วมชุมนุมกับใคร แล้วถูกตราหน้าว่าไปรับเงินค่าจ้างย่อมรู้สึกสะเทือนใจ ซึ่งนายบวรศักดิ์ เคยไปชุมนุมกับ 2 ม็อบ น่าจะเข้าใจแต่กลับวิจารณ์อีกกลุ่มหนึ่ง ผมไม่เรียกร้องถึงความเป็นกลาง แค่ไม่ซ้ำเติมก็ถือว่าดีแล้ว" นายจตุพรกล่าวว่า 
       วันเดียวกัน นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส. สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ สปช.บางส่วนแสดงความชัดเจนอย่างมากโดยเฉพาะท่าทีจะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และสนับสนุนให้ตั้งสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเท่ากับยืดเวลาโรดแม็ปออกไปอีก เพราะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ และหากไม่พอใจก็จะแก้รัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ กลายเป็นการต่ออายุให้รัฐบาลอยู่ในอำนาจแบบชอบธรรมไปโดยปริยาย ทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไปแล้วการปฏิรูปก็ไม่สำเร็จ ที่สำคัญการปรองดองคงไม่เกิดขึ้น เพราะสถานการณ์ขณะนี้เห็นชัดว่ากดทับและห้ามฝ่ายประชาธิปไตย ใช้อำนาจปิดหู ปิดตา ห้ามเราพูด ห้ามเคลื่อนไหวและปล่อยให้องค์กรอิสระเข้ามาจัดการกับพวกเรา แล้วจะปรองดองกันได้อย่างไร

 


เลี้ยงต้อนรับ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ถ่ายภาพร่วมกับพล.อ.เต็ง เส่ง ปธน.เมียนมา และผู้นำอีก 4 ชาติในงานเลี้ยงที่กรุง เนปิดอว์ ก่อนประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง เมื่อ 22 มิ.ย.

 

นักกฎหมายจี้ยุติคดีนศ.ต้านปว.
       สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ในการดำเนินคดีกับ 7 นักศึกษากลุ่มดาวดิน ที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่อนุสาวรีย์ประชา ธิปไตย จ.ขอนแก่น โดยตั้งข้อกล่าวหาอาศัยอำนาจตามคําสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ 
     สนส.และสสส.เห็นว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของประชาชนและนักศึกษา เป็นไปโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน การกระทำของเจ้าหน้าที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก จึงขอเรียกร้องแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 1.ยุติการดำเนินคดี โดยมีความเห็นไม่สั่งฟ้องกับนักศึกษา ที่ใช้สิทธิตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และตามพันธกรณีระหว่างประเทศเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ สันติและปราศจากอาวุธ เพราะการดำเนินคดีเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ
        2.เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในการใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช.ต้องใช้วิจารณญาณในการใช้อำนาจ อันส่งผลกระทบต่อสิทธิในร่างกายและเสรีภาพของนักศึกษา ประชาชน ตามหลักสากลของการดำเนินคดีที่เป็นธรรม หลักการบังคับใช้กฎหมาย และหลักวิธีพิจารณาความอาญาที่ดี เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นนิติรัฐ หากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบ ต้องมีการสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดและเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว

ตร.ไม่รับคำท้าบุกจับ'ดาวดิน'
      ที่จ.ขอนแก่น พล.ต.ท.บุญเลิศ ใจประดิษฐ ผบช.ภ.4 ให้สัมภาษณ์ว่า กรณี 7 นักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เคลื่อนไหวในนามกลุ่มดาวดิน ขณะนี้ทั้งหมดอยู่ที่บ้านนาหนองบง หมู่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยไปช่วยชาวบ้านดำนาและไม่มีทีท่าวิตกกังวล รวมทั้งไม่ยอมมารายงานตัวที่ สภ.เมืองขอนแก่น อย่างไรก็ตามขณะนี้สำนวนการสอบสวนทำเสร็จสมบูรณ์แล้ว มามอบตัวเมื่อไรก็ส่งให้กับศาลทหาร มทบ.23 ขอนแก่น ดำเนินคดีได้ทันที แต่เมื่อยังไม่มารายงานตัวตามที่กฎหมายกำหนด จึงต้องยึดเงินประกัน พร้อมเตรียมออกหมายเรียก ถ้าครบกำหนด 7 วัน ไม่มาอีกก็ต้องออกหมายจับ เจ้าหน้าที่ตำรวจอะลุ่มอล่วยกับกลุ่มนักศึกษาถึงที่สุด ขอให้ผู้ค้ำประกันกลุ่มนักศึกษา 7 คนไปตามมามอบตัวโดยเร็ว
      พล.ต.ท.บุญเลิศ กล่าวต่อว่า ส่วนที่นักศึกษากลุ่มดาวดินทั้ง 7 คน ลงโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กท้าให้ตำรวจไปจับกุม เจ้าหน้าที่คงไม่ไปทำตามคำท้า เพราะเชื่อว่าเป็นการแสดงออกตามประสาเด็กวัยรุ่น แต่จะต้องเฝ้าติดตามตลอดเวลา ถ้าพร้อมออกหมายจับเมื่อไร ก็เข้าจับกุมได้ทันที และไม่ให้พวกเขาได้รวมกลุ่มแสดงสัญลักษณ์ใดๆ ต่อต้านรัฐบาล ถ้าพบก็ต้องจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายเช่นกัน

ขอให้มามอบตัวภายใน 7 วัน
      ผบช.ภ.4 กล่าวว่า ขอให้ประชาชนเข้าใจว่า รัฐบาลมีโรดแม็ปบริหารประเทศ และจะมีรัฐธรรมนูญออกมาให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย จึงควรรอให้เวลานั้นมาถึง นักศึกษาไม่ว่ากลุ่มไหนต้องเข้าใจ อย่าออกมาเคลื่อนไหว หรือคัดค้านการบริหารงานของรัฐบาลในช่วงนี้ ถ้ายังขัดขืน มาแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาล ก็ต้องจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่มีกรณียกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ขอให้กลุ่มนักศึกษาที่คัดค้านรัฐบาล ได้แสดงออกในเวทีที่รัฐบาลเปิดให้จะดีกว่า บ้านเมืองเราต้องการความสงบ ความรักสามัคคี เพื่อให้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ อย่ามาทะเลาะถกเถียงกันอีกเลย
      ด้านพ.ต.อ.นพดล เพ็ชรสุทธิ์ ผกก.สภ.เมืองขอนแก่นกล่าวว่า ล่าสุดได้ประสานอัยการทหาร มทบ.23 ให้รับทราบแล้ว และได้ยึดเงินประกันทั้งหมดที่ใช้ประกันตัวนักศึกษาทั้ง 7 คน คนละ 7,500 บาท ฐานผิดสัญญา พร้อมกันนี้ยังให้โอกาสทั้ง 7 คน ได้เข้ามอบตัวก่อนโดยจะออกเป็นหมายเรียก 7 วัน หากยังไม่มามอบตัว ขั้นตอนต่อไปจะออกหมายจับ

สน.ปทุมวันส่งฟ้องแล้ว 1 ราย
        ที่สน.ปทุมวัน นายชาติชาย แกดำ อดีตพิธีกร เครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) พร้อมน.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความ เข้าพบพ.ต.ท.สุริยเมศศ์ ภักดีวิวัฒน์ พงส.ผนพ.สน.ปทุมวัน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหากรณีถูกจับกุมตัว พร้อมกับนักศึกษาที่รวมตัวแสดงสัญลักษณ์ต้านรัฐประหาร ครบรอบ 1 ปี บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ฐานฝ่าฝืนคำสั่งคสช. 
       นายชาติชาย กล่าวว่า วันเกิดเหตุผ่านมาคิดว่าจัดงานศิลปะ และมิได้เจตนาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารมาถึงจึงควบคุมตัวนักศึกษาทั้งหมดรวมถึงตนไปที่ สน. ปทุมวัน ตนมามอบตัววันนี้ เพื่อสู้คดีและเป็นไปตามกระบวนยุติธรรม
      น.ส.พวงทิพย์ กล่าวว่า มามอบตัวเพื่อต่อสู้คดีตามกฎหมาย เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย พร้อมเตรียมเงินเข้ายื่นประกัน 2-5 หมื่นบาท ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลทหาร 
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังสอบสวนเสร็จ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหากับนายชาติชายในข้อหามั่วสุมและชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากนั้นสรุปสำนวนส่งให้ศาลทหารดำเนินคดีในเวลา 13.30 น.

ออกหมายจับ 8 น.ศ.หน้าหอศิลป์
       รายงานข่าวจากฝ่ายความมั่นคงแจ้งว่า ศาลทหารได้อนุมัติหมายจับนักศึกษาทั้งสิ้น 8 คน ที่ทำกิจกรรมต้านรัฐประหาร หน้า หอศิลป์ กทม. เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป โดยพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เป็นผู้ขออนุมัติ หลังจากที่พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกให้นักศึกษามารายงานตัวในวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า นักศึกษาทั้ง 8 คน ไม่ได้มาตามนัดจึงต้องออกหมายจับ
      รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มประชาชนที่สนับ สนุนประชาธิปไตย จะเดินทางไปให้กำลังใจนักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชา ธิปไตย 8 คน ที่ถูกหมายจับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ซึ่งกลุ่มนักศึกษาเตรียมจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ เวลา 13.00 น. อีกทั้งยังถือว่าวันที่ 24 มิ.ย.เป็นวันอภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ครบ 83 ปี จึงต้องการให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับแนวทางประชา ธิปไตยไปให้กำลังใจพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษาร่วมกัน

สปช.ขอพิมพ์เขียวรธน.มาดูก่อน
       ที่รัฐสภา นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการพิจารณาทบทวนแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เนื้อหาที่ปรับปรุงแก้ไขตามคำท้วงติง เช่น การเพิ่ม จำนวนส.ส. การตัดกลุ่มการเมือง การแขวนระบบเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ เป็นการถอยเพียงครึ่งๆ กลางๆ ไม่ให้เสียรูปมวยเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญ เช่น นายกฯ คนนอก การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ยังคงอยู่ รวมถึงที่มาส.ว. แม้จะยอมลดอำนาจส.ว.ลง แต่มีข่าวว่าจะให้มีแค่เฉพาะส.ว.สรรหาอย่างเดียว หากประเด็นเหล่านี้ยังไม่มีการแก้ไข และถูกต่อต้านอย่างหนักจากนักการเมือง จะมีผลต่อการตัดสินใจทำประชามติของประชาชน ที่สุดถ้าแก้รัฐธรรมนูญแล้ว กระแสสังคมรับไม่ได้ มีแววว่าไม่ผ่านการทำประชามติ ถ้าสปช.เห็นแนวโน้มเช่นนี้ คงล้มกระดานก่อนแน่ เพราะไม่อยากให้เสียเงินทำประชามติฟรีๆ 3 พันล้านบาท และมายกร่างใหม่ เพื่อเสียเงินทำประชามติอีกครั้ง


ทุเรียนหลง - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และน้องไปป์-ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชายเยี่ยมชมการเก็บลูกทุเรียนพันธุ์หลง-หลินลับแล ที่สวนศรีแก้ว ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.


      "เพื่อไม่ให้สุ่มเสี่ยงถูกคว่ำ ขอเสนอให้กมธ.ยกร่างฯ ส่งร่างรัฐธรรมนูญเงา ฉบับไม่เป็นทางการมาให้สปช. เห็นเนื้อหาล่วงหน้า เพื่อให้สปช.หารือนอกรอบว่าจะให้ปรับปรุงแก้ไขส่วนใดเพิ่มเติม จะได้ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกคว่ำในสปช. เพราะหากรอร่างฉบับทางการที่จะส่งให้วันที่ 22 ส.ค. หากสปช.ไม่เห็นด้วยเรื่องใด จะไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้อีก ต้องตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับเพียงอย่างเดียว"นายนิรันดร์กล่าว

กมธ.ยอมเลิกรวม'กสม.-ผู้ตรวจ'
      นายปกรณ์ ปรียากร โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงการประชุมว่า จากการนำคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ภาคส่วนต่างๆ เสนอมาพิจารณา มีแนวโน้มปรับเนื้อหาใน 2 เรื่อง คือ ปรับคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ออก ให้เหลือเพียงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนการตั้งหน่วยงานหรือบุคคลใดช่วยในกิจการการเลือกตั้งให้เป็นสิทธิ์ของกกต. ทั้งนี้ จากการพิจารณาเห็นว่าการให้กจต.มาแก้ปัญหาเลือกตั้งนั้น อาจไม่สามารถปฏิบัติได้ ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพในการเลือกตั้ง และการจัดการเลือกตั้งจะพิจารณาในรายละเอียดต่อไป
       นายปกรณ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีข้อสรุปไม่ให้มีการควบรวมระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยให้เป็นรูปแบบเหมือนที่ผ่านมา ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานนั้น กมธ.ยกร่างฯ จะพิจารณาในรายละเอียดช่วงพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตราอีกครั้ง

"ปู-ไปป์"ทำบุญที่อุตรดิตถ์
     ที่จ.อุตรดิตถ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ พร้อมอดีตรัฐมนตรีและอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายชัยเกษม นิติสิริ นายภูมิธรรม เวชยชัย นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย เดินทางมาที่จ.อุตรดิตถ์ เพื่อเยี่ยมบิดาของน.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด จากนั้นไปทำบุญไหว้พระที่วัดหลวงพ่อเพ็ชร และสักการะอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก โดยมีประชาชนจำนวนมาก พร้อมด้วยนายปัณณวัฒน์ นาคมูล แกนนำนปช. 17 จังหวัดภาคเหนือ ให้การต้อนรับ และมอบดอกกุหลาบและร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ ทั้งนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์นั่งรถโฟล์กตู้สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน ฮธ 9701 กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้นักเสี่ยงโชคต่างพากันจดหมายเลขเพื่อนำมาเสี่ยงโชคหลังจากเคยสร้างความฮือฮาสมัยมาครม.สัญจร 
      จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมคณะเดินทางไปยังสวนศรีแก้ว ต.แม่พูล อ.ลับแล เพื่อชมลูกทุเรียนพันธุ์หลง-หลินและพันธุ์หมอนทองลับแลที่สุกคาต้น ชมการสาธิตโยนและเก็บลูกทุเรียนก่อนนำออกสู่ตลาด พร้อมเที่ยวชมตลาดผลไม้หัวดง จุดศูนย์รวมการขายผลไม้ทุเรียนที่ใหญ่สุดในจังหวัด โดยมีพ่อค้าแม่ค้านำดอกกุหลาบสีแดงมามอบให้ พร้อมเข้าสวมกอดด้วยความคิดถึง บางคนนำทุเรียนมามอบให้และขอถ่ายรูปคู่ด้วย พร้อมระบุคิดถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ช่วยเหลือชาวสวนทุเรียน ชาวสวนลางสาดและชาวสวนผลไม้ลองกอง หลังถูกน้ำป่าไหลหลากและดินโคนถล่มจนเสียหาย เมื่อปี 2549 

สนช.แจงปฏิรูปตร.
       ที่สโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดีรังสิต คณะกรรมาธิการ(กมธ.)กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จัดสัมมนาเรื่อง การปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) มีพล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย รองผบ.สำนักงานกำลังพล ตร. พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน ผบ.สำนักงานกฎหมายและคดี ตร. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองประธานกมธ.การกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช. ร่วมสัมมนา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 1,500 คนเข้าร่วมรับฟัง
      พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ผลการศึกษาการปฏิรูปตร. ของอนุกมธ.กิจการตำรวจโดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพข้าราชการตำรวจมีสาระสำคัญ 1.ปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ที่บรรจุเข้ารับราชการตำรวจต้องผ่านการฝึกอบรมพื้นฐานวิชาชีพตำรวจ ให้มีทักษะอย่างน้อยในระดับเทียบเท่าอนุ ปริญญาขึ้นไป 2.ยกเลิกการแบ่งชั้นระหว่างสัญญาบัตรและประทวน เพื่อให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจอย่างเท่าเทียม 

ขึ้นเงินเดือนเท่าศาล-อัยการ
     3.ปรับระบบยศและตำแหน่งให้สอดคล้องกับขอบเขตหน้าที่ อาทิ ดาบตำรวจเป็นนายตำรวจเอก, จ่าสิบตำรวจเป็นนายตำรวจโท, สิบตำรวจเอก-โท-ตรี เป็นนายตำรวจตรี, ผู้บังคับหมู่เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและ เจ้าหน้าที่ชำนาญการ 4.ปรับระบบการประเมินและการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนและการเลื่อนตำแหน่ง ตามคุณธรรมและความสามารถ 5.ตำรวจระดับปฏิบัติการขึ้นไปทุกนายจะต้องเข้าถึงความรู้ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจและกองบัญชาการศึกษา 6.นำส่วนราชการที่เกี่ยวกับการศึกษามารวมอยู่ด้วยกันทั้ง นรต., บช.ศ. และวจ. และ 7.การจัดสรรงบในสัดส่วนที่เหมาะสมและเพียงพอในการพัฒนาศักยภาพทุกระดับ
      ด้านพล.ต.ท.ปัญญากล่าวว่า การอำนวยความยุติธรรมในชั้นตำรวจ เกิดจากปัญหาระบบงานสอบสวนทำให้ไม่สามารถเดินหน้าได้ เช่น พนักงานสอบสวนถือเป็นบุคคลสำคัญเทียบเท่ากับอัยการและศาล สังคมให้เกียรติเท่ากัน แต่กลับไม่เท่าเทียมกันในเรื่องค่าตอบแทน เราต้องยกระดับ ปรับคุณภาพ และค่าตอบแทนพนักงานสอบสวนให้เท่ากับพนักงานอัยการ รวมถึงปรับแท่งตำแหน่งพนักงานสอบสวนให้เป็นตำแหน่งเทียบเท่ารองสารวัตรถึงผู้บัญชาการ

ยกฐานะ"สตช."เท่ากระทรวง
      พล.ต.ท.ปัญญากล่าวว่า ด้านระบบการสอบสวน ตร.จัดระบบงานสอบสวนไว้ที่สถานีตำรวจเท่านั้น และมอบอำนาจหน้าที่ให้พนักงานสอบสวนที่เข้าเวรรับผิดชอบคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นในผลัดนั้น ทำให้งานสอบ สวนติดอยู่กับพนักงานเพียงคนเดียว และไม่สามารถแจ้งความหรือรับคดีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงเกิดปัญหาไม่รับแจ้งความ ประชาชนไม่มีทางเลือก และควรพัฒนาระบบงานสอบสวนและการอำนวยความยุติธรรมในชั้นตำรวจให้รับแจ้งความ หรือรับคดีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนจะได้เข้าถึงได้โดยง่าย ทั่วถึง โปร่งใส และควรไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นสอบสวน
      ส่วนพล.ต.อ.วัชรพลกล่าวถึงการกระจาย อำนาจการบริหาราชการว่า กำหนดให้ตร.เป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากับกระทรวง แต่ยังใช้ชื่อว่าตร. อยู่ในบังคับบัญชาของนายกฯ ตัดบทบัญญัติหรือข้อยกเว้นที่ให้อำนาจ ผบ.ตร.แทรกแซง แก้ไข หรือระงับการใช้อำนาจของอธิบดีหรือใช้อำนาจนั้นด้วยตนเอง ในเรื่องกิจการภายในของแต่ละกรม รวมถึงกำหนดให้ส่วนปฏิบัติการหลักที่ดูแลความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินประชาชนโดยตรง เป็นส่วนราชการระดับกรมและมีฐานะในนิติบุคคล และปรับเกลี่ยกำลังพล ลดขนาดหน่วยงานในส่วนกลาง และจำนวนตำแหน่งผู้บังคับบัญชาระดับสูง โดยยุบเลิกตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ10) เทียบเท่ารอง ผบ.ตร. ตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. และตำแหน่งเทียบเท่า รวมถึงตำแหน่ง ผบช. ประจำสง.ผบ.ตร.ออกทั้งหมด

พร้อมเปิดรับฟังเพื่อทบทวน
      พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า การแต่งตั้งตำรวจมีการปรับปรุง ดังนี้ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) มีนายกฯเป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่คัดเลือกข้าราชการตำรวจเพื่อแต่งตั้ง ผบ.ตร.ตามหลักการและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบของก.ต.ช. รวมถึงพิจารณาการตั้งของบประมาณของตร. ก่อนเสนอรัฐบาลพิจารณา ส่วนคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ปรับเปลี่ยนให้ผบ.ตร.เป็นประธาน โดยตัดทิ้งหน้าที่พิจารณาแต่งตั้งออกทั้งหมด และให้ก.ตร. มีเพียงอำนาจกำหนดกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้ง โยกย้าย รวมถึงควบคุมดูแลการใช้อำนาจแต่งตั้งของผู้บังคับบัญชาหัวหน้าส่วนราชการตามหลักการที่กำหนด 
      หลังการสัมมนา พล.ต.อ.วัชรพลให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการปฏิรูปตำรวจว่า เราจะรับฟังความคิดเห็นแล้วนำไปทบทวน เพื่อเสนอต่อกมธ.กฎหมายฯต่อไป ส่วนที่กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสปช. ดำเนินการเรื่องนี้อยู่ก็ไม่เป็นไร ทุกฝ่ายเสนอความเห็นได้ ที่ผ่านมาเราเคยเชิญสปช.มาร่วมแสดงความเห็น ซึ่งเขายืนยันว่าการปฏิรูปตำรวจเป็น 1 ใน 5 ข้อ ที่เขาจะทำ ถือเป็นเรื่องดี 
     พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า สิ่งที่สนช.ทำ ไม่ใช่ทำโดยพลการ แต่นำสิ่งที่ทีมงานของตร. ศึกษาไว้มาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นายกฯก็บอกแล้วว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องทำ อย่างเรื่องตำรวจไม่ติดยศก็รีบทำอยู่ หากโปรดเกล้าฯลงมาเมื่อไร เราจะเริ่มรับข้าราชการตำรวจไม่มียศ ช่วงนี้เราอาจต้องเร่งดำเนินการ เพราะมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีสนช.ออกกฎหมาย แต่หากใครท้วงติงก็พร้อมพิจารณา ส่วนตัวอยากให้เร็ว วันนี้กฎหมายร่างมาแล้ว เชื่อว่าคงไม่นาน พล.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ประธานกมธ.กฎหมายฯ ก็ระบุว่า เมื่อปรับแก้ไขตัวร่างเสร็จแล้ว ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสนช. 

ไล่ออก 3 บิ๊กสรรพากรโกงแวต
      เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ประธานอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน(อ.ก.พ.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า อ.ก.พ.ได้ประชุมพิจารณาความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการประพฤติไม่ชอบในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ให้แก่บริษัทที่ขอคืนเป็นเท็จ ทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศกว่า 4,000 ล้านบาท โดยให้ไล่ออกข้าราชกรมสรรพากรระดับซี 9 จำนวน 2 ราย คือนายป้อมเพชร วิทยารักษ์ นักวิชาการเชี่ยวชาญ สำนักงานสรรพากรภาค 7 และนายพายุ สุขสดเขียว สรรพากรพื้นที่ปัตตานี โดยไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ และให้ข้าราชการกรมสรรพากรระดับซี 9 ออกจากราชการอีก 1 รายคือ นายกู้ศักดิ์ จันทราช สรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร โดยยังให้ได้รับบำเหน็จบำนาญ
     นายสมหมาย กล่าวว่า ในเดือนที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ไล่ออกข้าราชการระดับซี 9 ของกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไปแล้ว 1 รายคือ นายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ (ชื่อเดิม นายศุภกิจ ริยะการ) ทั้งนี้ ยังมีข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับโกงแวตครั้งนี้อีก 14 คน ซึ่งอยู่ในกรมสรรพากร ต่ำกว่าซี 9 ซึ่งกรมสรรพากรกำลังสอบผิดวินัยร้ายแรง คาดว่าจะส่งรายงานให้กระทรวงการคลังรับทราบในไม่ช้านี้ ซึ่งกระทรวงให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตทั้งกรมภาษี และหน่วยงานอื่น จะมีมาตรการออกมาป้องกันต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐบาล
        นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงจะฟ้องเอาผิดทางละเมิดกับผู้กระทำผิด เพื่อให้ชดใช้ความเสียหายให้กับประเทศ ส่วนความผิดทางอาญา เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ชงตั้งอธิบดีกรมศุลนั่งปลัดคลัง
      เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในการประชุมครม.วันที่ 23 มิ.ย. กระทรวงการคลังจะเสนอให้พิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการหลายตำแหน่ง เบื้องต้นเสนอแต่งตั้งให้นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงการคลัง แทนนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนก.ย.นี้ นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งนายเอกนิติ นิติฑัณฑ์ประภาส รักษาการที่ปรึกษาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ขึ้นเป็น ผอ.สศค. และโยกย้ายนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผอ.สศค. ไปเป็นผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ว่างอยู่
       แหล่งข่าวระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลได้เรียกนายสมชัยและนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร หารือถึงการขึ้นรับตำแหน่งปลัดกระทรวง ซึ่งนายประสงค์ชี้แจงว่ายังอยากทำงานในตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร ขณะที่นายสมชัยระบุว่าหากต้องขึ้นเป็นปลัด ก็อยากให้แต่งตั้งนายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เป็นอธิบดีกรมศุลกากรแทน อย่างไรก็ดีมีกระแสข่าวว่านายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ และนายอำนวย ปริมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง อยากโยกไปนั่งเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิตด้วย
       ด้านนายสมชายกล่าวว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อทาบทามให้ดำรงตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น

ม.44 สั่งให้อำนาจรักษาการ
       เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 18/2558 เรื่อง การให้กรรมการหรือคณะกรรมการตามกฎหมายบางฉบับปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายบางฉบับเกี่ยวกับผู้ทำการแทน ผู้รักษาการแทน หรือผู้ปฏิบัติแทนผู้บริหารรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงาน ของรัฐ ก่อให้เกิดอุปสรรคและข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในเรื่ององค์ประกอบและองค์ประชุม เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าว อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 จึงมีคำสั่งดังนี้
       1. ให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ห้ามมิให้ผู้ทำการแทน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับผู้บริหารนั้น มีอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารในฐานะกรรมการ เพื่อให้ผู้ทำการแทน ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐนั้นทุกประการ 
      2. ให้สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตามพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ.2540 ประกอบด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยเท่าที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ในการประชุมของสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ต้องมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม ในกรณีสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เห็นสมควรแต่งตั้งกรรมการฯ แทนตําแหน่งที่ว่างลงหรือแต่งตั้งเพื่อให้ครบองค์ประกอบ ตามมาตรา 17 แห่งพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไปได้ และเมื่อมีองค์ประกอบครบถ้วนตาม ให้ยกเลิกความในข้อนี้ และ 3. คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

"บิ๊กตู่"บินพม่า-ถกเศรษฐกิจ
      เมื่อเวลา 14.45 น. วันที่ 22 มิ.ย. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ เดินทางไปยังกรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ด้วยเที่ยวบินพิเศษกองทัพอากาศ ที่เอ-310 เพื่อร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 6 (ACMECS) กับผู้นำจากประเทศสมาชิก วันที่ 22-23 มิ.ย. โดยนายกฯปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ เพียงแต่หันมาโบกมือและส่งยิ้มให้เท่านั้น
      พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยว่า นายกฯมีกำหนดการเข้าร่วมประชุม พร้อมผู้นำจากประเทศสมาชิก ประกอบด้วย สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกฯกัมพูชา นายทองสิง ทำมะวง นายกฯสปป.ลาว นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมา และนายเหงียน เติ๊น สุง นายกฯเวียดนาม พร้อมด้วยนายเล เลือง มินห์ เลขาธิการอาเซียน มีวาระคือติดตามความคืบหน้าความร่วมมือ 8 สาขาหลักของ ACMECS และแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือร่วมกันในอนาคตต่อไป พร้อมรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชน ACMECS ด้วย เอกสารผลลัพธ์สำคัญของการประชุม 2 ฉบับ คือ ปฏิญญาการประชุมผู้นำ ACMECS และแผนปฏิบัติการ ACMECS ปีค.ศ. 2016-2018 
       สำหรับ กำหนดการสำคัญของนายกฯ เมื่อไปถึง นายเต็ง เส่ง ในฐานะประธานการประชุมเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำ และช่วงเช้าวันที่ 23 มิ.ย. นายกฯร่วมพิธีเปิดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 6 โดยนายกฯจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงของผู้นำในประเด็น "การทบทวนความร่วมมือในกรอบ ACMECS และทิศทางความร่วมมือในอนาคต" ซึ่งที่ประชุมจะรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ช่วงเที่ยง เข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำ ACMECS และภาคเอกชน เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นลง นายกฯและคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติเนปิดอว์ มาถึง บน.6 ในเวลา 16.00 น.

 

 

คสช.ห้ามเคลื่อนไหว เบรก 24 มิย. เตือนนศ.งดกิจกรรม ย้ำผิดกม.-จ่อเรียกคุย กมธ.ยอมโละกจต.ทิ้ง สปช.รอดูรธน.เงาก่อน

     'ตู่-จตุพร'ยืนยันขอเคลียร์'บวรศักดิ์'แม้แจงเหตุพาดพิง นปช.เป็นการพูดตามหลักวิชาการไม่ใช่การเมือง เจ้ากรมการทหารสื่อสารเรียกคุยสื่อทีวี-วิทยุกว่า 200 คน ขอความร่วมมือการนำเสนอข่าวในสัปดาห์หน้า 'ปู'พาลูกเที่ยวอุตรดิตถ์


มติชนออนไลน์ :
ชมสวนทุเรียน - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และน้องไปป์-ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย ขี่มอเตอร์ไซค์ขนทุเรียนให้ช่างภาพถ่ายรูป ระหว่างชมสวนทุเรียนพันธุ์หลง-หลิน และพันธุ์หมอนทองลับแล ที่สวนศรีแก้ว หมู่ 4 ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน



รับข้อหา - นายชาติชาย แกดำ อดีตพิธีกรเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) พร้อม น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความ เข้าพบ พ.ต.ท.สุริยเมศศ์ ภักดีวิวัฒน์ พงส.ผนพ.สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหากรณีรวมตัวกันจัดกิจกรรมครบ 1 ปีรัฐประหารหน้าหอศิลป์ สี่แยกปทุมวัน

 

@ เลิกควบผู้ตรวจการ-กสม./ปัดกจต.

        เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 มิถุนายน ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีวาระการพิจารณาประเด็นสำคัญที่ควรหาข้อยุติก่อน เป็นการพิจารณาเนื้อหาสาระในภาค 3 หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ที่มาและองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) และการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

        นายปกรณ์ ปรียากร กมธ.ยกร่างฯให้สัมภาษณ์ต่อมาว่า จากการนำคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ภาคส่วนต่างๆ นำเสนอต่อ กมธ.ยกร่างฯมาพิจารณา แนวโน้มของการปรับเนื้อหาใน 2 เรื่อง คือ การตั้ง กจต.ที่จะถูกปรับออกไป เหลือเพียงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยพิจารณาว่า กจต.ที่ต้องการให้มาแก้ปัญหาในส่วนการเลือกตั้งแท้จริงอาจไม่สามารถปฏิบัติได้ ส่วนการตั้งหน่วยงานหรือบุคคลใดให้ช่วยในกิจการการเลือกตั้งให้เป็นสิทธิของ กกต. ทั้งนี้การแก้ปัญหารวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการเลือกตั้ง รวมถึงการจัดการเลือกตั้งจะพิจารณาในรายละเอียดต่อไป ขณะที่การควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินและ กสม. ข้อสรุปคือไม่ให้ควบรวม ให้เป็นรูปแบบเหมือนกับที่ผ่านมา ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน กมธ.ยกร่างฯจะพิจารณาในรายละเอียดช่วงของการพิจารณาเป็นรายมาตราอีกครั้ง

 

@ สปช.โวยถอยแก้แค่ครึ่งๆกลางๆ 

       นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการพิจารณาทบทวนแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างฯว่า เนื้อหาที่ กมธ.ยกร่างฯปรับปรุงแก้ไขตามคำท้วงติง เช่น การเพิ่มจำนวน ส.ส. การตัดกลุ่มการเมือง การแขวนระบบเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ เป็นการถอยเพียงครึ่งๆ กลางๆ ไม่ให้เสียรูปมวยเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญๆ เช่น นายกรัฐมนตรีคนนอก การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมยังคงอยู่ รวมถึงที่มา ส.ว. แม้จะยอมลดอำนาจของ ส.ว.ลง แต่ก็มีข่าวว่าจะให้มีแค่เฉพาะ ส.ว.สรรหาอย่างเดียว ประเด็นเหล่านี้ยังไม่มีแก้ไข และถูกต่อต้านอย่างหนักจากนักการเมือง มีผลต่อการตัดสินใจทำประชามติของประชาชน ในที่สุดถ้าแก้รัฐธรรมนูญแล้วกระแสสังคมรับไม่ได้ มีแววไม่ผ่านการทำประชามติ ถ้า สปช.เห็นแนวโน้มเช่นนี้คงล้มกระดานก่อนแน่ ไม่อยากให้เสียเงินทำประชามติฟรีๆ 3 พันล้านบาท และมายกร่างใหม่เพื่อเสียเงินทำประชามติอีกครั้ง

 

@ สปช.ขอดูร่างรธน.เงาล่วงหน้า 

       นายนิรันดร์ กล่าวต่อว่า เพื่อไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญสุ่มเสี่ยงถูกคว่ำ ขอเสนอให้ กมธ.ยกร่างฯส่งร่างรัฐธรรมนูญเงาหรือฉบับไม่เป็นทางการมาให้ สปช.เห็นเนื้อหาล่วงหน้า เพื่อให้ได้หารือนอกรอบว่าจะให้ปรับปรุงแก้ไขส่วนใดเพิ่มเติม จะได้ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกคว่ำในที่ประชุม สปช. เพราะหากรอร่างรัฐธรรมนูญฉบับเป็นทางการที่คาดว่า กมธ.ยกร่างฯจะส่งให้ สปช.ได้ในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ จะไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ ได้อีกแล้ว ต้องตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับเท่านั้น แต่หาก สปช.ได้เห็นร่างฉบับไม่เป็นทางการล่วงหน้า เนื้อหาส่วนใดยังมีปัญหาอยู่ก็ยังมีเวลาพูดคุยกับ กมธ.ยกร่างฯให้ปรับปรุงแก้ไขได้ทัน การตัดสินใจลงมติของ สปช.ครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่มีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศที่จะช่วยเซฟเงิน 3 พันล้านบาท ไม่ให้เสียไปฟรีๆ สปช.จึงควรมีโอกาสและมีเวลาได้พิจารณาข้อมูลอย่างครบถ้วน จะไปตายเอาดาบหน้าไม่ได้

 

@ "อจ.ปื๊ด"ยันไร้เจตนาดูถูกใคร

        เมื่อเวลา 13.20 น. ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์กรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้ออกมาขอโทษกรณีพาดพิงคนเสื้อแดงในทำนองถูกจ้างมาชุมนุมว่า ถ้าฟังเทปคำพูดฉบับเต็ม ได้พูดในเนื้อหาสาระวิชาการ ไม่ได้พูดในเชิงการเมือง และเคยพูดมา 5 ปีแล้ว นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ กับนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เคยชมว่าพูดได้ตรง ครั้งนี้ก็พูดชัดเจนว่าเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมั่งมีกับคนไม่มี ถ้าจะแก้ปัญหาบ้านเมืองก็ต้องแก้ปัญหาให้กับคนไม่มี ต้องเขียนรัฐธรรมนูญและปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในบ้านเมือง ให้คนไม่มีโอกาส เป็นการพูดเพื่อยกระดับแก่คนไม่มี ไม่มีเจตนาใดทั้งนั้นที่จะดูถูกเชิงชนชั้น 

 

@ ใครเข้าใจผิดขออโหสิ-ไม่ตั้งใจ

       "แต่ถ้าใครเข้าใจผิดก็ขออโหสิกรรม ไม่ได้ตั้งใจที่จะใช้วจีกรรมนี้ไปทำร้ายใคร และที่ผมพูดถึงม็อบหมายความว่า คนที่ชุมนุมใน กทม.ส่วนใหญ่มากันเอง แล้วบางส่วนก็เอาเงินมาบริจาค ส่วนคนในต่างจังหวัดเขาอยากจะมาแต่ว่ารายได้หายไป ทำให้เดือดร้อนในครอบครัว เหตุความขัดแย้งคือความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมั่งมีมหาศาลกับคนไม่มี ไปสังเกตดูเถอะ ม็อบ กปปส. ม็อบเสื้อเหลืองไม่ต้องจ้างมา พวกนี้เป็นคนชั้นกลาง ใครอยากกินของอร่อยก็ให้ไปม็อบแห่งนี้ ถ้าผมอยากกินผมก็ไป แต่ผมไม่เคยกินนะ แต่เคยไปดู การชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นระดับรากหญ้าต้องทำมาหากิน แต่อยากมาร่วมชุมนุม ขีดเส้นใต้เลยว่าเขาอยากมาร่วมชุมนุม แต่ถ้ามาร่วมชุมนุมต้องสูญเสียรายได้ คนเหล่านี้ต้องเอาเงิน แต่ไม่ใช่เอาเงินเพื่อจ้างมาชุมนุม ขีดเส้นใต้ตรงนี้อีกครั้ง ไม่ใช่เอาเงินเพื่อจ้างมาชุมนุม แต่ถ้าเขามาชุมนุมแต่ว่าลูกหลานไม่มีกินก็เป็นไปไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิชุมนุมได้ ถ้าหากเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ถูกต้อง" นายบวรศักดิ์กล่าว

 

@ บอก"ตู่-จตุพร"พ่อแม่สอนมาดี

      นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า เคยพูดแบบนี้มา 5 ปีแล้ว ไม่เคยเป็นประเด็น ท่าทีของนายจตุพรนั้นเป็นธรรมดาของคนที่เป็นแกนนำม็อบทางการเมืองที่ต้องทำแบบนี้ การออกมาพูดจาแรงก็เป็นเรื่องธรรมดา ถือว่านายจตุพรพ่อแม่คงสั่งสอนมาดีแล้ว ส่วนนายจตุพรจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่ตัวของนายจตุพรเอง ไม่ได้อยู่ที่พ่อแม่ เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนต้องให้การอบรมการศึกษาที่ดีต่อลูก ที่นายจตุพรบอกว่า หากตนไม่ออกมาขอโทษคนเสื้อแดงจะมาหาที่สภานั้น ทุกคนสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ ไม่มีปัญหา ยืนยันอีกครั้งว่าคำพูดไม่มีเจตนาดูถูกเสียดสีให้ร้ายใคร ถ้าไปอ่านรายละเอียดที่พูดจริงๆ จะเห็นว่าในบริบทที่นายจตุพรออกมาพูดไม่มีในเนื้อหาเลย เขาคิดเองพูดเอาเองทั้งนั้นเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

 

@ "จตุพร"ยันขอไปเคลียร์บวรศักดิ์

       นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า การออกมาพูดของนายบวรศักดิ์ถือว่าทำให้ความรู้สึกเบาลงในระดับหนึ่ง แต่ถ้ามุมมองเรื่องชนชั้นและทัศนคติการเมืองและเรื่องประชาธิปไตยยังเป็นลักษณะนี้ เห็นว่าเป็นเรื่องที่อันตรายในอนาคต หากคนที่เขียนรัฐธรรมนูญไม่ยึดหลักการประชาธิปไตย ยังมองคนไม่เท่าเทียมกัน ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานของประชาธิปไตย ก็แทบจะไม่มีหวังอะไรกับประชาธิปไตย ดังนั้นจะประสานไปถึงนายบวรศักดิ์เพื่อเดินทางไปขอพูดคุยสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ถึงการเคลื่อนไหวของ นปช. และจะไปในฐานะวิญญูชนเพียง 1-2 คน จะไปด้วยตัวเอง ส่วนวันและเวลาต้องประสานกันอีกครั้ง ยืนยันว่าจะไม่มีการสร้างปัญหาใดๆ

      "ทุกคนย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ในระบอบประชาธิปไตยพอเข้าคูหาเลือกตั้ง ทุกคนมีหนึ่งสิทธิเท่ากัน แม้จะบอกว่าไม่เจตนา แต่การพูดเรื่องชนชั้นกลางหรือรากหญ้าทำให้รู้สึกแบ่งแยกเกิดขึ้น ถือว่าเป็นทัศนคติที่อันตรายต่อการเดินไปข้างหน้า ทั้งที่หลายเรื่องประชาชนรากหญ้ารู้มากกว่าก็มี คำพูดที่ทำให้รู้สึกถึงการแบ่งชนชั้นจึงต้องระวัง ไม่ว่าใครจะไปร่วมชุมนุมกับใคร แล้วถูกตราหน้าว่าไปรับเงินค่าจ้างก็ย่อมรู้สึกสะเทือนใจ ซึ่งนายบวรศักดิ์เคยไปชุมนุมกับ 2 ม็อบ น่าจะเข้าใจ แต่กลับออกมาวิจารณ์อีกกลุ่มหนึ่ง ผมไม่เรียกร้องถึงความเป็นกลาง แต่แค่ไม่ซ้ำเติมก็ถือว่าดีแล้ว" นายจตุพรกล่าว

 

 

@ ศปป.เชิญร่วมถกบรรยากาศสบายๆ

     เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) พล.ท.บุญธรรม โอริส รอง ผอ.ศปป. ได้เชิญนักการเมืองและแกนนำกลุ่มการเมืองต่างๆ ประกอบไปด้วย นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการอิสระ และนายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดคุยเพื่อเสนอแนะข้อคิดเห็นไปยังรัฐบาล โดย พล.ท.บุญธรรมกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เชิญนักการเมืองและผู้มีความรู้มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แล้ว 6 คน ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ได้ความคิดเห็นที่หลากหลายและเป็นประโยชน์หลายเรื่อง ประกอบกับยังเป็นการพูดคุยในบรรยากาศสบายๆ แบบคนไทยคุยกันตัวต่อตัวทำให้ได้ข้อมูลมา ไม่ได้มีการกดดันอะไรทั้งสิ้น 

      "ส่วนจะเชิญมาอีกมากน้อยเพียงใดคงแล้วแต่ เห็นว่าเมื่อใดได้ข้อมูลที่ครบถ้วนแล้วคงไม่มีการเชิญอีก ผู้มาแต่ละท่านมีความรู้หลายเรื่อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม พลังงาน สำหรับเรื่องการเมืองและรัฐธรรมนูญมีมาพูดคุยบ้างแต่ไม่มาก เมื่อได้พูดคุยแล้ว ทาง ศปป.จะสรุปส่งให้ผู้บังคับบัญชาต่อไป ส่วนที่มีข่าวจะเชิญนายธีรยุทธมาพูดคุย ได้มีการเชิญไปแล้ว โดยได้รับคำตอบว่าแต่ยังไม่ว่างมาพูดคุย" พล.ท.บุญธรรมกล่าว

      นายนิพิฏฐ์ยังให้สัมภาษณ์ต่อมาว่า การพูดคุยวันนี้เป็นไปด้วยดี โดยมีการพูดคุย 4 ประเด็น คือ ประเด็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ การปรองดอง การปฏิรูปประเทศ และเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วจะทำอย่างไรไม่ให้ประเทศกลับเข้าสู่ความขัดแย้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้น ส่วนประเด็นการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่พรรคการเมืองจะเข้าไปร่วม เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียของพรรคการเมืองอยู่ และหากมีการเชิญมา คงไม่ไปเข้าร่วม แต่พร้อมจะให้ความเห็นหากเชิญตนไป ส่วนกระแสโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญนั้นมองว่าผิดหลักการ

 

 

@ "บิ๊กเบี้ยว"ฮึ่ม!ห้ามเคลื่อนไหว

      พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก ในฐานะรองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงมาตรการรับมือกลุ่มมวลชนผู้รักประชาธิปไตยที่อาจจะออกมาเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ในวันครบรอบ 83 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ว่า การเคลื่อนไหวที่มีนัยยะทางการเมืองนั้นทำไม่ได้อยู่แล้วเพราะผิดกฎหมาย หากจะดำเนินการใดๆ ก็สามารถขออนุญาต คสช.ได้ เพื่อให้พิจารณาดูว่ารูปแบบเป็นอย่างไร ถ้าพบว่าไม่ขัดกับกฎหมายก็ทำได้ แต่ถ้าขัดกฎหมายก็ทำไม่ได้ ประกอบกับในวันดังกล่าวตนทราบว่าอาจมีบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว ส่วนมาตรการในการดำเนินการ ทาง คสช.จะเรียกไปพูดคุยทำความเข้าใจเป็นหลักเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา กรณีนักศึกษาที่ชุมนุมหน้าหอศิลป์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะไปมอบตัวเพื่อรับฟังข้อกล่าวหาในวันที่ 24 มิถุนายนนี้ที่ สน.ปทุมวันนั้น ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

 

@ ไม่จับเน้นพูดคุย-อย่าผิดซ้ำซาก 

      เมื่อถามว่าถ้ามีการเคลื่อนไหวจะใช้มาตรการใด พล.อ.ฉัตรเฉลิมกล่าวว่า จะไม่จับกุมตัว แต่จะเน้นการพูดคุยทำความเข้าใจกับนักศึกษา ถ้าเป็นไปตามนี้ไม่น่ามีปัญหา ยกเว้นว่าถ้าทำเป็นครั้งที่สองครั้งที่สามอีก ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะบันทึกข้อความเอาไว้ เพราะมีเจตนา ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย 

       "อย่างที่ผมเคยบอกไปว่าการแสดงออกของนักศึกษาเราเปิดพื้นที่ให้ อยากให้ไปแสดงตรงนั้นดีกว่า ผมอยากให้ผู้สื่อข่าวช่วยบอกกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศด้วย ที่มักออกมาพูดว่า คสช.ไม่เปิดพื้นที่การแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ เราเปิดพื้นที่ให้" พล.อ.ฉัตรเฉลิมกล่าว

      เมื่อถามย้ำว่าถ้านักศึกษาแสดงความจำนงจะเดินไปมอบตัว พล.อ.ฉัตรเฉลิมกล่าวว่า ต้องดูท่าทีว่าจะทำอะไร แต่อยากให้ทำความเข้าใจว่าเวลานี้บ้านเมืองสงบอยู่แล้ว คสช.จะอยู่จนกระทั่งมีรัฐบาลใหม่ อยากให้นักศึกษารออีกนิดเดียว และอยากให้สื่อมวลชนช่วยสร้างความเข้าใจด้วย ถ้าออกมาเคลื่อนไหวตอนนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจผิด บ้านเมืองจะกลับมาวุ่นวาย 

 

@ เจ้ากรมเรียกสื่อทำความเข้าใจ 

      ที่กรมการทหารสื่อสาร พล.ท.สุชาติ ผ่องพุฒิ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร (จก.สส.) ในฐานะเลขาธิการคณะติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร (คตข.) ของคสช.ได้เชิญสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่ได้มาร่วมประชุมในครั้งก่อนมาพบ เพื่อขอความร่วมมือในการเสนอข่าวด้วยข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือน ไม่ดึงบุคคลอื่นมาทำให้เกิดการเสียดสี ขัดแย้งกัน โดย พล.ท.สุชาติกล่าวว่า คณะทำงาน คตข.จะเสนอข่าวและบทความต่างๆ รายวันถึง พล.อ.ประยุทธ์ในเรื่องสื่อทั้ง 5 ด้าน คือ วิทยุ ทีวี สิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย และสำนักข่าวต่างประเทศ โดยตนเป็นคนตรวจและลงนามเอง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์อ่านทุกหน้า ทุกเรื่อง ทุกคอลัมน์ ทุกฉบับ เพราะมีการกำกับมา พร้อมคอมเมนต์ทั้งบวกและลบ ทั้งชมและติติง จากนั้นตนและคณะทำงานก็ต้องแก้ไขตามนั้น สื่อไหนเสนอข่าวดีครบถ้วนถูกต้องก็ชมเชยไป ส่วนที่ติติงมาก็แจ้งไปยังสื่อนั้นๆ

      "เราจะไม่เชิญบ่อย อาจสัก 2-3 เดือนครั้ง เชิญมาพูดคุยกัน ไม่มีนัยยะใดๆ จากการติดตามไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก พบกันเรื่อยๆ เมื่อว่าง เพื่อการทำงานร่วมกันราบรื่น เพราะสื่อมีผลต่อความมั่นคงของชาติ ในสัปดาห์หน้าจะเชิญสื่อวิทยุและทีวีประมาณ 200 คนมาพบปะทำความเข้าใจที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อขอ

ความร่วมมืออีกครั้ง ผมเข้าใจสื่อว่าการเสนอข่าวตีแผ่นั้นมีจรรยาบรรณ ขอแค่ว่าช่วยกลั่นกรองความถูกต้อง อย่าตั้งสมมุติฐานด้วยตัวเองว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้" พล.ท.สุชาติกล่าว

 

@ น.ศ.หน้าหอศิลป์รับข้อหา 1 ราย

       เมื่อเวลา 09.00 น. นายชาติชาย แกดำ อดีตพิธีกรเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) พร้อม น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความ เข้ามอบตัวกับ พ.ต.ท.สุริยเมศศ์ ภักดีวิวัฒน์ พงส.ผนพ.สน.ปทุมวัน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา หลังถูกควบคุมตัวขณะทำกิจกรรม 1 ปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา บริเวณหน้าหอศิลป์ สี่แยกปทุมวัน แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง

     นายชาติชาย กล่าวว่า วันดังกล่าวขณะนั่งรถกลับบ้านผ่านมาเห็นนักศึกษากำลังชุมนุมกันพอดีจึงลงไปดู คิดว่ามีการจัดงานศิลปะ ไม่มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารมาถึงก็ควบคุมตัวทั้งหมดไปรวมถึงนักข่าวด้วย ที่มามอบตัวในวันนี้เพื่อต้องการสู้คดีเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เป็นการย้ำเตือนกระบวนการยุติธรรม เชื่อว่าความถูกต้องจะเป็นทุกๆ อย่าง

น.ส.พวงทิพย์กล่าวว่า มามอบตัวต่อสู้คดีได้เตรียมเงินสด 50,000 บาท มาประกันตัว ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลทหาร เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่านายชาติชายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังกล่าว และต้องการแสดงพฤติการณ์ให้ศาลเห็นว่าไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด มาตามหมายเรียกเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย สำหรับนักศึกษาอีก 8 คน ที่ไม่มามอบตัวนั้น ไม่ทราบ เนื่องจากนักศึกษาทั้ง 8 คน มีทนายความส่วนตัวอยู่แล้ว และตนเป็นทนายความให้กับนายชาติชายเพียงคนเดียวเท่านั้น

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังสอบสวนเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหากับนายชาติชายฐานมั่วสุมและชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากนั้นได้สรุปสำนวนส่งให้ศาลทหารดำเนินคดีในเวลา 13.30 น.

 

@ ม.ขอนแก่นยันไม่ได้หนุน"ดาวดิน"

     รศ.เทียนศักดิ์ ภักภูมิ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีนักศึกษากลุ่มดาวดินทั้ง 7 คน ไม่ยอมเข้ารายงานตัวกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น ที่มีกำหนดให้เข้ารายงานตัวเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมท้าทายให้เจ้าหน้าที่ไปจับกุมตัวที่ จ.เลย ผ่านทางเฟซบุ๊กนั้น ทางมหาวิทยาลัยยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนให้นักศึกษามีพฤติกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความคิดเห็นของนักศึกษา และการอ้างว่าไปทำกิจกรรมต่างๆ นั้น หากเป็นเรื่องที่ถูกต้องทางมหาวิทยาลัยต้องรับทราบและให้การสนับสนุน 

      รศ.เทียนศักดิ์ ยังระบุว่า นักศึกษาทั้ง 7 คน ที่อ้างตัวว่าเป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน จากการตรวจสอบข้อมูลการศึกษาพบว่าทั้งหมดใกล้หมดสภาพของการเป็นนักศึกษาแล้ว เนื่องจากผลการศึกษาต่ำกว่าเกณฑ์ รวมถึงระยะเวลาที่ทางมหาวิทยาลัยให้โอกาสในการดำเนินการศึกษาตามหลักสูตรที่จัดไว้ หากนักศึกษากลับตัวมาเรียนในตอนนี้ก็จะมีแค่บางคนเท่านั้นที่เรียนจบ

 

@ เรียกร้องเลิกดำเนินคดีน.ศ.

     สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก "Human Right Lawyers Association" ขอให้ยุติการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีกับนักศึกษาที่ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบและสันติ

      แถลงการณ์เรียกร้องแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ 1.ยุติการดำเนินคดีโดยมีความเห็นไม่สั่งฟ้องกับนักศึกษาที่ใช้สิทธิตามสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และตามพันธกรณีระหว่างประเทศเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ สันติและปราศจากอาวุธ ทั้งนี้เพราะการดำเนินคดีในลักษณะเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะแต่อย่างใด 2.เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในการใช้อำนาจตาม คำสั่ง คสช.ต้องใช้วิจารณญาณในการใช้อำนาจอันส่งผลกระทบต่อสิทธิในร่างกายและเสรีภาพของนักศึกษา ประชาชน ตามหลักสากลของการดำเนินคดีที่เป็นธรรม หลักการบังคับใช้กฎหมาย และหลักวิธีพิจารณาความอาญาที่ดี เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นนิติรัฐ (Principle of Legal State) หากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบต้องมีการสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดและเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว

 

@ "ปู"ควงลูกชายไปเมืองลับแล

       เมื่อเวลา 12.02 น. ที่บริเวณอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลาง จ.อุตรดิตถ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย นำพวงมาลัยสักการะอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ท่ามกลางการต้อนรับของนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีต รมช.คลัง น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายปัณณวัฒน์ นาคมูล แกนนำกลุ่มแนวร่วม นปช. 17 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมประชาชน ต่างมอบช่อดอกกุหลาบหลากสี ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปยังน้ำตกแม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ โดยมีชาวบ้านที่มาให้กำลังใจต่างพากันร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อายุครบ 48 ปี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมาด้วย จากนั้นได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับชาวบ้านที่ไปให้กำลังใจ

 

ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะได้เดินทางไปยังตึกผู้ป่วยในโรงพยาบาลศูนย์อุตรดิตถ์ เพื่อเยี่ยมอาการป่วยของนายสุนันท์ สีหลักษณ์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองอุตรดิตถ์ 4 สมัย บิดาของ น.ส.กฤษณา จากนั้นแวะไหว้หลวงพ่อเพ็ชร์ วัดท่าถนน เขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ตอนบ่ายวันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะแวะชมชิมทุเรียนหลงลับแลหลินลับแลที่ตลาดกลางผลไม้เทศบาลตำบลหัวดง อ.ลับแล ส่วนเช้าวันที่ 23 มิถุนายน น.ส.ยิ่งลักษณ์จะประกอบพิธีสืบชะตาตามประเพณีของชาว อ.ลับแล ที่วัดดอนไชย ต.ชัยจุมพล เสร็จก็เดินทางกลับ

 

@ ใช้ม.44ให้อำนาจผู้รักษาการ

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 18/2558 เรื่อง การให้กรรมการหรือคณะกรรมการตามกฎหมายบางฉบับปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวกับผู้ทำการแทน ผู้รักษาการแทน หรือผู้ปฏิบัติแทน ก่อให้เกิดข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในเรื่องขององค์ประกอบและองค์ประชุม เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าว อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช.จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

 

1.ให้งดการบังคับใช้บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ห้ามมิให้ผู้ทำการแทน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับผู้บริหารนั้น มีอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารในฐานะกรรมการ เพื่อให้ผู้ทำการแทน ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้บริหาร ของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐนั้นทุกประการ

 

2.ให้สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ.2540 ประกอบด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยเท่าที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ในการประชุมของสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ต้องมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม ในกรณีที่สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเห็นสมควรจะต้องมีการแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยแทนตําแหน่งที่ว่างลง หรือแต่งตั้งเพื่อให้ครบองค์ประกอบตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไปได้ และเมื่อมีองค์ประกอบครบถ้วนตาม ให้ยกเลิกความในข้อนี้ และ ข้อ 3.คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!