- Details
- Category: การเมือง
- Published: Thursday, 18 June 2015 12:37
- Hits: 4835
ลั่นไม่กลัวปฏิวัติซ้อน ท้าให้ทำ'บิ๊กตู่'ฮึ่มจะได้เห็นกัน คสช.เรียกคุยอีกเต้น-ตู่-อ๋อย-พิชัย สะพัด-ทาบทามนั่งสภาขับเคลื่อน ตุลาการทยอยเข้าชื่อเพิ่มไม่หยุด จี้ปรับแก้รธน.-ปมแทรกแซงก.ต.
ใครจะปฏิวัติซ้อนทำมาเลยแล้วจะได้เห็นกัน 'บิ๊กตู่'ท้าลั่น ย้ำตั้งแต่ยึดอำนาจเข้ามาเป็นนายกฯ ยังไม่มีใครต้องตาย แนะทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คสช.สั่งศปป.เรียก คุยอีก 'จาตุรนต์-ณัฐวุฒิ-พิชัย-จตุพร-ถาวร' แจงวุ่นไม่ใช่เรียกปรับทัศนคติ แค่ขอทราบข้อมูลเพื่อนำไปเสนอรัฐบาล สะพัดทาบทามกลุ่มบ้านเลขที่ 111 และ 109 ร่วมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ด้านเพื่อไทยยันไม่ร่วมแน่ คาด กลุ่มพินิจ-ปรีชา-สุรเกียรติ์-สุวัจน์ ร่วมลงเรือกับคสช. ผู้พิพากษาศาลฎีกาย้ำให้ฝ่ายการเมือง ร่วมเป็นก.ต.ทำให้ศาลขาดความเป็นอิสระ ด้าน'วิษณุ'เผยครม.เสนอถอดออกจากร่าง รธน.แล้ว
วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8968 ข่าวสดรายวัน
ปาฐกถา - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมทางวิชาการระหว่างประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ครั้งที่ 3 ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล ย่านพญาไท กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.
บิ๊กตู่ปลื้ม'เกม ออฟ ธโรน'
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 มิ.ย. ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่าสถานการณ์ปัจจุบันบางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการ
ที่เข้มงวด เพื่อนำไปสู่การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างแท้จริง ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน เปลี่ยนจากการเพิกเฉยและการยอมรับการทุจริตมาต่อต้านอย่างจริงจัง และร่วมกันปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นสังคมที่มีบรรยากาศน่าอยู่ มีความชอบธรรมในทุกด้าน ซึ่งวันนี้เรากำลังเดินหน้าประเทศ ต่างชาติเริ่มสนใจเรื่องการลงทุน
"จากนิทรรศการภายในงานมี 3 เรื่องที่เห็นเป็นปัญหาใหญ่คือ เรื่องจำนำข้าว คลองด่าน และเอ็นจีวี ซึ่งเรื่องรถเอ็นจีวีผมอยากให้ประชาชนมีรถเมล์ใหม่ใช้ แต่ไม่ต้องการให้ท้ายใคร ไม่เคยได้พบใคร และไม่เคยมีใครไปที่บ้าน และภรรยาผมก็ไม่เคยพบใครเช่นกัน แต่ย้ำเป็นสิ่งที่ทำเพื่ออนาคต การทำงานของทุกคนโดยเฉพาะหน่วยงานตรวจสอบ ต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ให้ทุกคนมีสิทธิสู้ คนผิดยังไงก็ผิดอยู่ดี แต่อยู่ที่การหาหลักฐาน มิเช่นนั้นจะวุ่นวาย คนที่ไม่เกี่ยวข้องจะเดือดร้อน คนในองค์กรต้องดี ถ้าเปรียบแบบทหารคือดีหนึ่งประเภทหนึ่ง เป็นบุคลากรที่ไม่มีตัวตน ผมได้ดูหนังเรื่อง เกม ออฟ ธโรน บุรุษไร้หน้า เป็นบุรุษที่ไม่มีหน้า ใครมาถ้ามีความผิดฟันหมด ขอให้ป.ป.ช. เคลียร์ทุกคดีก่อนวันที่ 22 พ.ค.ให้เรียบร้อย ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 22 พ.ค. ผมจัดการเอง" นายกฯกล่าว
ประเทศอัมพาตทหารจะออกมา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือความสงบเรียบร้อย ตรวจสอบการทุจริตอย่างเป็นระบบ เศรษฐกิจเดินหน้าได้ ทุกประเทศพอใจ ต้องการมาลงทุน แต่มีการถามว่าจะเลือกตั้งกันเมื่อไร ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับประชาชน ส่วนตนขอยืนยันเดินหน้าตามโรดแม็ปเดิม มีการพูดกันทุกวันว่าตนอยากอยู่ในอำนาจต่อ ถามว่าอยู่แล้วได้อะไรขึ้นมา วันนี้แม้แต่สลึงเดียวตนยังไม่ได้เลย ทั้งยังโดนด่าด้วย ไม่มีความสุข ที่อยู่วันนี้เพื่ออนาคตของประเทศ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น
นายกฯ กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น เพื่อข้างหน้าจะได้แก้ไขสิ่งที่ติดขัดได้ ไม่ได้ทำเพื่อให้ตนอยู่หรือไม่อยู่ วันนี้ไม่ต้องมาพูดเรื่องนี้แล้ว ตนเหนื่อยจากการทำงานมา 60 ปีแล้ว ดังนั้นอย่าให้ประเทศเป็นอัมพาต ไม่อย่างนั้นทหารต้องออกมาอีก เพราะไม่มีอะไรแก้ไขได้ ที่ผ่านมากฎหมายทุกฉบับใช้ไปหมดแล้ว แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญยังเดินหน้าไปไม่ได้ จะให้ประเทศไทยเดินหน้าไปอย่างไร ถ้าเรามีรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลทุกอย่างก็จบ ไม่ต้องกลัวทหาร ไม่มีใครอยากเข้ามาแบกภาระ ดังนั้น ต้องช่วยกันพูด ทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวด้วย
ท้าปฏิวัติซ้อน-ทำเลยจะได้รู้
นายกฯกล่าวว่า วันนี้ตนสร้างภูมิคุ้มกันโดยให้คนไทยหยุดไว้ก่อน หยุดทุกเรื่องที่เกิดขัดแย้งแล้วแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหา เดินหน้าสิ่งที่ทำได้ ถ้าทุกอย่างมีปัญหาหมดก็ไปไม่ได้ สปช.มีหน้าที่เสนอแนวทางให้รัฐบาลหน้าทำต่อจากตน ซึ่ง 250 คนตั้งขึ้นเพื่อวางแนวทางส่งต่อรัฐบาลหน้า ถ้าไม่เขียนกฎหมายแล้วทำรัฐธรรมนูญให้แตกต่างก็จะทำไม่ได้ ถ้าทุกคนเอาประชาธิปไตยอย่างเดียวคงไม่ได้ ที่ผ่านมาก็ใช้ประชาธิปไตย แต่ประเทศเดินหน้าไม่ได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญใหม่ ต้องมีระยะเวลาให้ปฏิรูปประเทศ แต่จะเขียนอย่างไรให้เกิดการยอมรับ ต่อไปใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ยังไม่รู้เลย หรือเทวดาจะมาเป็นรัฐบาล จะไปอย่างไร ตนไม่รู้ อยู่ที่ทุกคนเป็นคนกำหนดชะตากรรมและอนาคตของประเทศนี้
"การแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้น ทุกคนต้องช่วยกันในทุกมิติ ไม่ว่าจะกี่หม่อมอุ๋ย กี่สมคิด กี่ประยุทธ์ ไม่ต้องห่วง ทุกคนต้องทำงานร่วมกัน และผมรับฟังทุกคน อย่าไปเชื่อว่าที่บอกว่าใครดี ไม่ดี เพราะปัญหาเศรษฐกิจแก้ไขได้ด้วยพวกเราทุกคนร่วมมือกัน ทำให้ระบบราชการเข้มแข็ง ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการนั้น ผมให้แนวทางไปแล้วว่าต้องแต่งตั้งแบบที่ทหารตั้ง มีคณะกรรมการแต่ละกระทรวงและรัฐมนตรีรับผิดชอบแต่งตั้ง เหมือนกับพ.ร.บ. กลาโหม ที่มีคณะกรรมการอยู่ 7 คน ทุกคนจะเสนอตัวแทนของเหล่าต่อที่ประชุม ถ้าเห็นชอบก็ผ่าน ที่ผ่านมาส่วนราชการอื่นทำไม่ได้ จะเห็นว่าทหารไม่มีปัญหาเรื่องแต่งตั้ง จึงไม่ต้องกลัวเรื่องปฏิวัติซ้อน เพราะมันเลอะเทอะ ถ้าจะปฏิวัติก็มา มาปฏิวัติซ้อนผมเลย มาเลย แล้วจะรู้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ตั้งแต่เป็นนายกฯยังไม่มีใครตาย
นายกฯกล่าวว่า วันนี้ประชาชนเป็นใหญ่อยู่แล้ว มีหน้าที่เลือกตั้ง ใช้อำนาจผ่าน 3 กลไกคือ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ การเลือกตั้งต้องเลือกให้ถูก เลือกให้ดี ถ้าไม่ดีจะโทษใครไม่ได้ เพราะเป็นคนเลือกเอง กรณีมือใครยาวสาวได้สาวเอาต้องไม่เกิดขึ้น รัฐบาลจะสร้างความเท่าเทียมด้วยกฎหมาย หน้าที่ของประชาชนคือ 1.เลือกตั้ง 2.ลงประชามติ 3.เมื่อเกิดปัญหาก็ร้องเรียนไปยังส.ส.ในพื้นที่ และประชาชนชุมนุมประท้วงได้ แต่ต้องไม่สร้างปัญหา ไม่ใช้อาวุธใส่กัน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ต่างชาติมาหาตนแล้วบอกว่ายินดีที่ประเทศไทยสงบสุข ซึ่งเขาพร้อมลงทุนในทุกมิติ แต่ถามด้วยว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างนี้ต่อไปเมื่อตนไม่อยู่ ตรงนี้ประชาชนทุกคนต้องเป็นผู้ให้คำตอบ เพราะเป็นผู้ใช้อำนาจ ยืนยันว่าตนไม่อยากใช้อำนาจ เพราะประเทศไทย มีแต่การใช้อำนาจและกฎหมาย และเมื่อใช้แรงขึ้น จนวันนี้ไม่มีกฎหมายอื่นที่จะใช้แล้วนอกจากกฎอัยการศึก จากนั้นก็เหลือแต่การฆ่าฟันกัน เราจะทำในแบบที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งหลายประเทศเคยเกิดขึ้น และตายมากกว่าเรา ตั้งแต่ตนเข้ามายังไม่มีใครตายสักคน เว้นแต่มีคนเจ็บใจจนตาย วันนี้ยังดีที่เรามีคนดีมากกว่าคนไม่ดี
ศปป.เชิญอ๋อย-เต้น-ตู่-ถาวรหารือ
รายงานข่าวแจ้งว่า ศูนย์ปรองดองสมาน ฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ได้เชิญนักการเมืองทั้งจากพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มการเมืองประมาณ 10 คน เข้าพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติ อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมช.คลังและคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำกปปส. เข้าพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติ ในวันที่ 18 มิ.ย. เวลา 11.00 น. ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า การเรียกบุคคลมาพูดคุยเพื่อปรับทัศนคตินั้น คสช.แจ้งเชิญเป็นรายบุคคล ให้ทยอยมาพูด คุยกับศปป. ในส่วนของพรรคเพื่อไทย อาทิ นายพิชัย เจ้าหน้าที่ทหารโทรศัพท์เชิญและ นัดหมายวันที่ 19 มิ.ย. เวลา 11.00 น. นับเป็นครั้งที่ 5 ที่ถูกเชิญไปพูดคุยและทหารมาพูดคุยที่บ้านพัก ขณะที่นายถาวรนั้นเชิญหารือเวลา 09.00 น. ในวันเดียวกัน
รายงานข่าวจากศปป. กล่าวสำหรับการเชิญนักการเมืองหลายรายเข้าพูดคุยที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต ในวันที่ 18-19 มิ.ย. ว่า ยืนยันว่าไม่ได้เชิญมาเพื่อปรับทัศนคติ แต่เชิญมาร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่แต่ละคนถนัด เช่น นักการเมืองก็เรื่องปฏิรูปการเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจก็เรื่องปฏิรูปเศรษฐกิจ ผู้ที่มีความรู้ด้านพลังงานก็เรื่องปฏิรูปพลังงาน โดยศปป.จะใช้วิธีโทรศัพท์เชิญมาหารือในลักษณะตัวต่อตัว เป็นรายบุคคล เพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรมภายในสัปดาห์นี้ โดยมี พล.ท.บุญธรรม โอริส รองผอ.ศปป. เป็นผู้แทนพูดคุยกับทุกคน เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลโดยตรงอย่างเร็วที่สุด ซึ่งไม่ใช่เชิญมาแบบเวทีใหญ่ จึงไม่อยากให้ตกใจ
สะพัดทาบร่วมสภาขับเคลื่อนฯ
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับฝ่ายการเมืองบางคนจากพรรคเพื่อไทย จะมีทหารที่ได้รับมอบหมายจากคสช.ให้รับผิดชอบพื้นที่ต่างๆ เดินทางไปพบและพูดคุยเป็นการส่วนตัวที่บ้านพักเป็นระยะ เช่น นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเหตุผลในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองและการบริหารงานของคสช. ขอความร่วมมือให้การแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชน โดยระบุว่า หากมีข้อเสนอแนะให้เสนอโดยตรงกับคสช.
นายพิชัยกล่าวว่า การแสดงความเห็นของตนในเรื่องเศรษฐกิจเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ใจ นำข้อมูลตัวเลขจากหน่วยงานของรัฐเองมาพิจารณาก่อนวิจารณ์ไม่ได้แต่งเติมหรือบิดเบือนตัวเลข ทุกครั้งที่เชิญไปพูดคุยก็ชี้แจงเช่นนี้มาโดยตลอด ทหารพูดคุยด้วยดีและเข้าใจในแนวคิดของตน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการเรียกนายจตุพร และนายณัฐวุฒิครั้งนี้ คาดว่าจะคุยเพื่อพิจารณาการเปิดสถานีโทรทัศน์พีซทีวีอีกครั้ง แต่คงมีเงื่อนไขพูดคุย ส่วนการเชิญนายจาตุรนต์ คาดว่า จะทาบทามเข้าร่วมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากนายจาตุรนต์ถือเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ที่ได้รับปลดล็อกทางการเมือง และมีบทบาทแสดงความเห็นโดยเฉพาะร่างรัฐธรรมนูญ
ปชป.-กกปส.เตรียมให้ข้อมูลคสช.
นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำกปปส.เปิดเผยว่า ศปป.เชิญตนไปพูดคุยที่สโมสรกองทัพบก ไม่รู้ว่าเรียกไปพูดคุยเรื่องอะไร แต่ตนจะไปเสนอแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปที่ สปช.ตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูป 18 คณะ แต่มี 3 คณะที่ขับเคลื่อนได้ยากคือ 1.การปฏิรูปตำรวจที่ขับเคลื่อนได้ยาก เพราะตำรวจเป็นองค์ที่มีความเป็นอิสระ เป็นผู้กุมความลับในคดีบางคดี ที่มีความยุ่งยากซับซ้อน และผบ.ตร.ก็อยู่ในคสช.ด้วย 2.การปฏิรูประบบราชการ เพราะคนที่อยู่ในแม่น้ำ 5 สาย เป็นคนที่มาจากราชการถึง 90 เปอร์เซ็นต์ 3.การปฏิรูปการเมือง ที่ทั้งสปช.และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญหลายคนก็อยากมีอำนาจต่อ แต่เมื่อนักการเมืองรู้ทันและออกมาขัดขวางก็จะโยนว่า เป็นเพราะนักการเมืองกลัวสูญเสียอำนาจ ซึ่งนายกฯ เห็นกิเลสของสปช.หลายคนจึงต้องลดเวลาการทำงานของสปช.ลง ทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้ยาก
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ศปป.โทรศัพท์มาเชิญตนไปพบเพื่อพูดคุย และขอความคิดเห็นบางประเด็นในสิ่งที่เคยแสดงความคิดเห็นไปแล้ว เช่น เรื่องเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ต่ออีก 2 ปี โดยตนจะเดินทางไปในวันที่ 22 มิ.ย. เวลา 11.00 น.
เผยแกน 111-109 จ่อร่วมทีมปฏิรูป
รายงานข่าวระดับสูงจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า ในส่วนที่ ครม. และ คสช.เสนอแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามบุคคลที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งทาง การเมืองได้ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการปลดล็อกให้กับสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 เปิดช่องให้เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองนั้น จนถึงขณะนี้คสช.ยังไม่มีการทาบทามสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ในข่ายของพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนเดิมแต่อย่างใด ทั้งนี้ เท่าที่พูดคุยกันในระดับแกนนำว่าหากจะไปร่วมงานกับคสช.ก็ต้องคิดให้หนัก เพราะอาจมีผลกระทบต่อการลงสมัครรับเลือกตั้งในอนาคตได้
รายงานข่าวแจ้งว่า คาดว่ามีสมาชิกบ้านเลขที่ 111 บางส่วน ที่มีแนวโน้มว่าจะถูก คสช.ดึงไปร่วมงานด้วย อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายพินิจ จารุสมบัติ นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นต้น เพราะนายสมคิด มีความสัมพันธ์ที่ดีและเป็นที่ปรึกษาอยู่ใน คสช. หรือนายปรีชา ที่มีความสนิทสนมกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
เผยผู้พิพากษายังทยอยเข้าชื่ออีก
ที่สำนักงานศาลฎีกา นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา และนายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้ยื่นหนังสือจดหมายเปิดผนึกผ่านนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อนำไปมอบต่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญกรณีการเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการศาลยุติธรรม (ก.ต.) จากนั้น ได้แถลงข่าวร่วมกัน
นายศรีอัมพรกล่าวว่า หลังจากผู้พิพากษา 427 คน เคยออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการเพิ่มสัดส่วนก.ต.ที่มาจากฝ่ายการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ไปแล้ว จนมีกระแสข่าวว่ากมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอาจแก้ไขให้ร่างรัฐธรรมนูญโดยให้เพิ่ม ก.ต. คนนอก 1 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เข้ามาร่วมทำหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา ซึ่งผู้พิพากษาทุกระดับชั้นที่เข้าชื่อทั้ง 1,380 คน และยังทยอยเข้าชื่อเพิ่ม ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง จึงทำจดหมายเปิดผนึกแสดงเหตุผลคัดค้าน
เปลี่ยนองค์ประกอบก.ต.โดยมิชอบ
นายศรีอัมพร กล่าวว่า อีกประเด็นที่คัดค้านคือการกำหนดให้ผู้พิพากษาที่ถูก ก.ต.ลงโทษทางวินัยมีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ถือว่าเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของ ก.ต. ซึ่งได้แสดงเหตุผลการคัดค้านโดยละเอียดในจดหมายเปิดผนึก เพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องรับทราบข้อเท็จจริงว่าหากศาลถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ประชาชนที่มีคดีความมาสู่ศาลจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้นอยากให้กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงเหตุผลที่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ว่า มีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องเพิ่ม ก.ต.คนนอก จะเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาอะไรก็บอกให้ชัดและเมื่อเพิ่มแล้วจะแก้ปัญหาที่ว่านั้นได้จริงหรือไม่ แล้วจะเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างไร
"จากวิกฤตตุลาการ 2535 ที่มีการออกกฎหมายให้นักการเมืองเข้ามามีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา เมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 จึงมีการเสนอให้ศาลแยกออกจากกระทรวงยุติธรรม ขณะนั้นฝ่ายศาลไม่ต้องการให้มี ก.ต.คนนอกที่ไม่ได้เป็นผู้พิพากษา แต่นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน ซึ่งมีบทบาทในการยกร่างรัฐธรรมนูญอ้างว่าศาลยุติธรรมเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ควรมีความยึดโยงกับประชาชน จึงให้วุฒิสภาสรรหาบุคคลร่วมเป็น ก.ต. 2 คน จนถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ใช้หลักการเดิมมาเกือบ 20 ปี ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนศาลปกครองที่เอาแบบอย่างจากต่างประเทศ ยินยอมให้ตัวแทนครม.เข้ามาเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ซึ่งมีปัญหาหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่อยู่ๆ คิดจะเปลี่ยนองค์ประกอบ ก.ต. ทั้งๆ ที่ไม่มีปัญหาอะไร ผมว่าไม่ชอบด้วยเหตุผล ทำไมจึงไม่คิดเปลี่ยนศาลปกครองให้เหมือนกับศาลยุติธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้การเมืองแทรกแซงศาลปกครอง" นายศรีอัมพรกล่าว
ย้ำไม่ควรมีก.ต.จากฝ่ายการเมือง
ด้านนายสมชาติกล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรมี ก.ต.จากฝ่ายการเมืองด้วยซ้ำไป เพื่อที่ศาลจะปลอดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและสามารถให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนโดยไม่ต้องมีใครมากดดัน และวุฒิสภาบางยุคบางสมัยก็ไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง ยิ่งเพิ่มตัวแทนฝ่ายการเมืองเข้ามาในก.ต.มากเท่าไหร่ ก็เสี่ยงต่อการแทรกแซงศาลมากขึ้นเท่านั้น แต่มีข้อสังเกตุว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มี ก.ต.ที่มาจากบุคคลภายนอกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของก.ต.ที่เป็นผู้พิพากษา ทำให้สงสัยว่ามีคนต้องการให้ฝ่ายการเมืองมีโอกาสเข้ามาแทรกแซงศาลยุติธรรมอย่างไร เพราะคำว่าไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 นั้น ย่อมหมายถึงว่าจะให้มีก.ต.ที่ฝ่ายการเมืองสรรหามาก กว่าครึ่งหนึ่งหรือเกือบทั้งหมดของจำนวน ก.ต.ก็ได้ อยากทราบว่าถ้อยคำว่า ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เป็นความริเริ่มของกมธ.ยกร่างฯ ท่านใด และเหตุใดท่านอื่นจึงไม่ทักท้วง
(อ่านรายละเอียดจดหมายเปิดผนึกในหน้า 3)
สปช.เผยเสนอกมธ.ตัดทิ้งแล้ว
ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ. ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ และกมธ.ปฏิรูปการเมือง ร่วมกันเสนอคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ให้ตัดทิ้งทั้งสัดส่วนคนนอกที่เพิ่มเป็น 1 ใน 3 และการอุทธรณ์มติของก.ต. โดยขอปรับแก้ให้กลับไปใช้แบบเดิมเหมือนที่ทำมา เนื่องจากหากกำหนดบทบัญญัติไว้แบบนี้ จะทำให้องค์กรตุลาการขาดความเป็นอิสระ อาจถูกแทรกแซงการพิจารณาคดีได้
"การเข้าชื่อของตุลาการศาลยุติธรรมกว่า 1,000 คน เชื่อว่าจะส่งผลต่อการพิจารณาลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอย่างมาก กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คน ต้องทบทวนปัญหาอย่างแท้จริงแล้วว่ามันอยู่ ตรงไหน ไม่ใช่ร่างกันไปแบบคิดเองเออเอง" นายเสรีกล่าว
ด้านนายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกาและสมาชิกสปช. กล่าวว่า ตนได้ร่วมเข้าชื่อเสนอตัดเนื้อหาในส่วนนี้ร่วมกับกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ และกมธ.ปฏิรูปการเมืองแล้ว เพราะเห็นว่า กมธ.ยกร่างฯ ไม่มีเหตุผลจะมาเปลี่ยนแปลงเพิ่มสัดส่วนคนนอกของ ก.ต. และกำหนดให้อุทธรณ์คำสั่งของ ก.ต.ได้ เพราะหลักการเดิมที่วางไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ถือว่าดีอยู่แล้ว การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปอย่างฉ้อฉล เขียนกฎหมายปลายเปิด เกิดช่องว่างให้ตีความได้มาก เที่ยวแคะนั่นแคะนี่ อะไรที่ดีอยู่แล้วก็ไปแก้ให้เสีย อย่างนี้ไม่เรียกการปฏิรูป
นักวิชาแย้งไม่ทำให้ศาลขาดอิสระ
วันเดียวกัน นายเอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการกฎหมาย กล่าวว่า จำเป็นที่ผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี แต่ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนสิ่งที่ผู้ร่างเสนอให้ปรับสัดส่วนคนนอกสามารถเข้ามาเป็น ก.ต. ศาลยุติธรรม ได้ เป็น 1 ใน 3 นั้น เพื่อจะทำให้องค์กรตุลาการมีส่วนยึดโยงกับประชาชน และหากดูจำนวนแล้ว การเพิ่มสัดส่วนครั้งนี้ คนในองค์กรศาลยุติธรรม ก็ยังมีเกินกึ่งหนึ่งอยู่ดี จึงคิดว่าการเพิ่มจำนวนคนนอกครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้หลักความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของตุลาการและผู้พิพากษาหายไป
อยู่ลอนดอน - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โพสต์ภาพตัวเองถ่ายรูปกับหุ่น เจรามี เบนแธม นักปรัชญาเจ้าของทฤษฎีด้านอาชญวิทยา ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมที่มหาวิทยาลัยยูซีแอล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. |
นายเอกชัยกล่าวว่า สำหรับการร่างเนื้อหาในรัฐธรรมนูญให้สามารถอุทธรณ์คำสั่งหรือมติ ก.ต.ได้ เพื่อต้องการให้เมื่อ ก.ต. มีมติหรือการใช้อำนาจในทางใดมาแล้ว ต้องเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายได้มีโอกาสนำมาถกเถียงแสดงความคิดเห็น เพราะมติต่างๆ ที่ออกมาจะส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมโดยรวม ต่างจากเดิมที่ ก.ต. มีลักษณะเป็นระบบปิด ส่วนตัวเห็นด้วยกับหลักความเป็นอิสระในการทำหน้าที่พิจารณาคดีพิพากษา แต่ไม่ใช่เป็นอิสระจากประชาชน
"สุดท้ายแล้วเชื่อว่า วิกฤตตุลาการคงจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะกมธ.ยกร่างฯ หลายคนเคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหรือตุลาการมาก่อน ย่อมเข้าใจว่า สังคมไทยพัฒนามากขึ้นแล้ว ทุกองค์กรจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบจากประชาชน หากยึดตามที่ร่างมาคงไม่น่าจะกลายเป็นวิกฤต แต่อาจจะส่งผลให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสปช."นายเอกชัยกล่าว
วิษณุเผยรบ.ให้กมธ.ถอดออก
เวลา 17.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีผู้พิพากษาอาวุโส ศาลฎีกา เตรียมส่งหนังสือถึงแม่น้ำ 5 สายคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญกรณีการเพิ่มสัดส่วนก.ต. ว่าทราบจากสื่อแต่ไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว ทางที่ดีควรยื่นหนังสือต่อกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของครม.ได้ส่งไปหมดแล้ว ส่วนอีกเรื่องที่คัดค้านคือการให้ผู้พิพากษาที่ถูกก.ต.ลงโทษทางวินัยมีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้นั้น ประเด็นนี้ครม.ขอแก้ไขไปยังกมธ.ยกร่างฯแล้วว่าให้ถอดออก จึงตรงกันก็จบ ซึ่งทราบว่ากมธ.ยกร่างฯอยู่ระหว่างพิจารณา แต่ยังไม่ถึงหมวดศาล หากถึงหมวดดังกล่าวก็คงต้องพิจารณา
นายวิษณุกล่าวกรณีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ แสดงความเป็นห่วงรัฐบาลจะอยู่ยาวว่า ไม่ทราบ และไม่มีความเห็น บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง พูดอะไรไปรัฐบาลก็ต้องฟัง เมื่อถามว่ามีผลดีอย่างไรหากรัฐบาลจะอยู่ต่อ นายวิษณุกล่าวว่าคำถามแบบนี้ไม่ตอบอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้อยู่ในรัฐบาลอาจจะตอบ แต่อยู่อย่างนี้ ไม่รู้จะตอบอะไร ขอฟังคำอื่นพูดดีกว่า
จ่อชงชื่อขรก.ทุจริตล็อต 2ให้คสช.
นายวิษณุในฐานะประธานคณะกรรมการเยียวยาด้านตัวเงินแก่ผู้ได้รับผู้กระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง กล่าวถึงการจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมช่วงปี 2556-57 ว่าเมื่อสำนักงบประมาณพิจารณาเสร็จจะส่งเรื่องต่อไปยังสำนักเลขาธิการนายกฯ เพื่อนำเข้าครม.พิจารณา ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาค่อนข้างมาก ทั้งบาดเจ็บ ทุพพลภาพ แต่ขณะนี้กำลังปวดหัวกับกลุ่มที่บาดเจ็บแต่ต่อมาเสียชีวิต ตามหลักเกณฑ์ต้องชดเชยกรณีเสียชีวิต จึงต้องไปหักจากที่บาดเจ็บออก ทำให้ต้องทบทวนสรุปให้ชัดเจน
นายวิษณุกล่าวถึงการพิจารณาบัญชีข้าราช การทุจริตล็อต 2 ว่าเห็นรายชื่อหมดแล้ว เกณฑ์การตรวจสอบจะเหมือนเดิม คือแบ่งเป็น 2 บัญชี บัญชีที่หนึ่งอยู่ในข่ายต้องใช้อำนาจคสช.พิจารณา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการผู้ใหญ่ ส่วนอีกบัญชีไม่ใช่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงส่งให้กระทรวงนำไปพิจารณา ทั้งนี้ ตนจะใช้เวลาตรวจสอบภายใน 1-2 วันก่อนเสนอหัวหน้าคสช.พิจารณาต่อไป เหตุที่ล่าช้าเนื่องจากมีการบอกตำแหน่งหน้าที่ขณะที่พบว่ากระทำผิด แต่เวลานี้อาจจะเกษียณไปแล้ว และบางส่วนทางกระทรวงสั่งลงโทษและปลดไปแล้ว ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้รายชื่อพิจารณาเหลือน้อยลงกว่าล็อตแรก
ปปช.ฮึ่มอีก-ขีดเส้นยิ่งลักษณ์
ที่โรงแรมเดอะสุโกศล ถ.ศรีอยุธยา นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวถึงอดีตรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ยื่นฟ้องอาญานายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีจ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมระหว่างปี 2548-53 พร้อมคณะอนุกรรมการรวม 11 คน ว่าที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. มีมติให้ประสานไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) เพื่อแจ้งเรื่องให้ทราบและขอให้เป็นทนายความแก้ต่างให้ป.ป.ช.ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าหากเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการถูกต้องแล้วโดนฟ้องจะให้อสส.เป็นทนายความแก้ต่างให้ได้
นายปานเทพกล่าวว่า วันที่ 13 ส.ค.นี้ ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้องเป็นครั้งแรก ป.ป.ช. จึงต้องเตรียมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อชี้แจงในแง่ข้อกฎหมาย เนื่องจากเรื่องนี้ไม่มีพยานรองรับ ทั้งนี้ ข้อมูลต่างๆ ที่ป.ป.ช.จะชี้แจงต่อศาลนั้น อนุกรรมการได้ไต่สวนผู้ถูกกล่าว หามาแล้วทั้งสิ้นเพื่อยืนยันว่าตามที่ป.ป.ช. กล่าวหากรณีจ่ายเยียวยาครั้งนั้นของครม.ดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายรองรับ อย่างไรก็ตาม วันที่ 30 มิ.ย.จะครบกำหนดผู้ถูก กล่าวหาคดีดังกล่าวต้องเข้ารับทราบและแก้ข้อกล่าวหาต่อป.ป.ช. ดังนั้น หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรัฐมนตรีรวม 34 ราย ยังไม่มารับทราบข้อกล่าวหาในวันนั้น จะถือว่าไม่ติดใจและได้รับทราบข้อกล่าวหาไปโดยอัตโนมัติ และต้องมาแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด
"อ.ปื๊ด"ปลื้มดอกไม้กำลังใจ
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา กลุ่มบูรพาพิทักษ์ภาคีเครือข่ายจิตอาสาเพื่อคนพิการ ผู้สูงอายุ และทูตอารยสถาปัตย์ นำโดยนายสุเมธ พลคชา และนายกฤษณะ ละไล ยื่นหนังสือสนับสนุนและมอบดอกไม้ให้กำลังใจแก่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติคำว่า "อารยสถาปัตย์" ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ
เพื่อเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพิการให้เท่าเทียมเหมือนคนปกติ และลดเหลื่อมล้ำของผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ สตรีมีครรภ์ ที่ประสบปัญหาการเดินทาง
ด้านนายบวรศักดิ์กล่าวว่า จะรับเรื่องไปแจ้งให้กมธ.ยกร่างฯ ทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ยืนยันว่าคำว่า อารยสถาปัตย์และพลเมือง ไม่ใช่วาทกรรม เพื่อให้ดูเท่ เก๋ แต่เป็นการส่งสารไปยังคนไทยว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าสภาพร่างกายเป็นอย่างไร มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากันหมด ทำให้เกิดสำนึกความเป็นพลเมือง รู้หน้าที่สิทธิของตัวเองทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นมนุษย์นิยม ไม่ใช่อำนาจนิยมตามที่พูดกัน
จากนั้น นายบวรศักดิ์ให้สัมภาษณ์ถึงหลายฝ่ายยื่นขอให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในหลายประเด็นว่า ไม่ขอพูดเป็นรายวัน จะขอพูดครั้งเดียวเมื่อถึงเวลา และจะชี้แจงทั้งหมดทุกประเด็นในเร็วๆ นี้ ส่วนการรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองนั้น ขณะนี้พรรคได้ส่งเอกสารเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาให้กมธ. ยกร่างฯ แล้ว
วันชัยจับอาการสปช.ต่อร่างรธน.
วันเดียวกัน นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปช. กล่าวว่า เท่าที่พูดคุยกันในสมาชิกสปช.เกี่ยวกับการลงมติต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กมธ. ยกร่างฯ จะส่งให้สปช.ภายในวันที่ 22 ส.ค. นี้ ขณะนี้สมาชิกมีแนวคิดแบ่งได้ 5 ส่วน คือ 1.พวกเก็บอาการ ให้เหตุผลว่าจะดูร่างรัฐธรรมนูญที่แก้เสร็จก่อนแล้วค่อยให้ความเห็นว่าจะรับหรือไม่รับ กลุ่มนี้มีลักษณะแบ่งรับแบ่งสู้ 50-50 2.พวกที่เริ่มออกอาการ รู้ว่าข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญของตนไม่ได้รับการแก้ไข จึงเริ่มออกอาการและนับวันอาการก็ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
3.พวกออกอาการที่จะไม่รับร่างตั้งแต่ต้น เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างมานั้นไม่เข้าท่า ไม่เหมาะสม แก้อย่างไรก็ไม่เข้าที่เข้าทาง มีทางเดียวคือรื้อ โละ ทำใหม่ ดูๆ ก็รู้กันอยู่ว่าเป็นกลุ่มไหนพวกไหน เพราะออกอาการแรงๆ มาตั้งแต่ต้น 4.พวกเพิ่งออกอาการหลังแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ยุบสปช. เมื่อก่อนสงบเสงี่ยมเจียมตนไม่ออกอาการ ตอนนี้จึงทิ้งทวน แสดงบทบาทหวือหวากัน แค่เสนอให้เปิดกาสิโน ก็ระเบิดไปทั้งสปช. ต่อไปจะมีหลากหลายกลุ่มมากกว่านี้ออกมาทิ้งระเบิดทิ้งทวนแล้วเอาเรื่องรัฐธรรมนูญมาทิ้งระเบิดเป็นลูกๆ เป็นดอกๆ ไป ซึ่งต้องคอยดูต่อไป
เชื่อร่อแร่-ไม่ผ่านด่านสปช.แน่
นายวันชัย กล่าวว่า 5.พวกที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญจะดีหรือไม่ดี จะแก้หรือไม่แก้อย่างไรก็ไม่รับ เอาสถานการณ์บ้านเมืองมาเป็นตัวตั้งให้ความสำคัญมากกว่ารัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าการปฏิรูปยังไม่เสร็จ เลือกตั้งก็กลับมาเหมือนเดิม จะรีบเลือกตั้งไปทำไม ทางที่ดีคว่ำกลางทางเสียดีกว่า พวกนี้มีไม่น้อย ไปๆ มาๆ พวกที่ 5 จะไปรวมกับพวก 2, 3 และ 4 มีมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งหลังวันที่ 22 ส.ค. นี้เป็นต้นไป หลังจากได้รับร่างแล้วอาจรวมพวกที่ 1 มาอีกเยอะก็เป็นได้ ซึ่งชะตากรรมของรัฐธรรมนูญที่กำลังแก้กันอยู่นี้จะไปรอดหรือไม่ แต่ตน ดูอาการแล้วร่อแร่เต็มที
"นี่เป็นการประเมินจากการพูดคุยกับ สปช.ด้วยกัน ไม่ใช่รณรงค์ แต่ทดสอบและตรวจสอบอาการและความเห็นซึ่งกันและกัน ส่วนใครจะมองว่าด่วนวินิจฉัยเร็วหรือช้าก็ว่า กันไป แต่เมื่ออาการโดยรวมมันเป็นเช่นนี้จะให้ว่าอย่างไร" นายวันชัยกล่าว
กมธ.ยังเปิดช่องนายกฯ คนนอก
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาหลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ โดยนำคำขอแก้ไขของสปช. 8 กลุ่ม และครม. ประกอบการพิจารณาในขั้นต้น ก่อนจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.
แหล่งข่าวจากกมธ.ยกร่างฯ เผยว่า ที่ประชุมพิจารณาประเด็นที่มาของนายกฯ ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ ยืนยันหลักการว่านายกฯ ต้องมาจากความเห็นชอบของส.ส. ส่วนกรณีที่บุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ไม่ได้เป็นส.ส. จะต้องอาศัยเสียงรับรองของส.ส.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้บัญญัติหลักการที่เปิดโอกาสให้มีนายกฯ คนนอก เนื่องจากถ้อยคำดังกล่าวเป็นการสร้างวาทกรรมเท่านั้น เพราะในทางปฏิบัตินายกฯ ย่อมมาจากความเห็นชอบของ ส.ส.
แหล่งข่าวกล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯได้พิจารณาหลักการของมาตรา 181 และ 182 จากการอภิปรายเบื้องต้นมีแนวโน้มจะตัดหลักการที่เป็นปัญหาในมาตราดังกล่าวออกไป ทั้งนี้ ยังพิจารณาหลักการของการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยใช้ระบบคุณธรรม ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะบัญญัติถ้อยคำให้สั้นลง เพื่อให้บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายกว้างขึ้น จะบัญญัติถ้อยคำให้มีคณะกรรมการแต่งตั้งเฉพาะข้าราชการพลเรือน โดยใช้ระบบคุณธรรมอย่างชัดเจน แต่จะนำรายละเอียดของคณะกรรมการไปบัญญัติในกฎหมายลูก
สมยศเผยรู้ตัวโพสต์ปฏิวัติซ้อน
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีมีผู้โพสต์เรื่องปฏิวัติซ้อนผ่านสังคมออนไลน์ว่า ตนมอบให้ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผบ.ตร. ตรวจสอบและได้รับรายงานว่าเว็บไซต์ที่โพสต์นั้นใช้ชื่อว่า www.dangdd.com ซึ่งขณะนี้ เจ้าหน้าที่ได้ปิดกั้นการเข้าถึงไว้แล้ว ส่วนผู้โพสต์ทราบว่าเป็นบุคคลที่ใช้เซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่นำระบบ ซิงเกิ้ลเกตเวย์ หรือระบบป้องกันข้อความที่ไม่เหมาะสมมาใช้ในงานด้านความมั่นคง จะทำให้ข้อความที่สร้างความเสียหายต่อประเทศจะยังคงอยู่ และไม่มีทางคัดกรองได้ ต้องมานั่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างนี้ตลอด ต้องคอยตรวจสอบไล่ปิดแบบนี้ จึงจำเป็นต้องลงทุนอย่างที่หลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้ เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ
"ผมเสนอให้ฝ่ายความมั่นคงพิจารณาจัดซื้อเครื่องมือชนิดนี้เข้ามาใช้ในราชการหลายครั้ง โดยเสนอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที เป็นแม่งาน ซึ่งเครื่องนี้มีราคาอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท แต่ในงานด้านความมั่นคงถือว่าคุ้มค่า กรณีการโพสต์ข้อความปฏิวัติซ้อนนั้น เจ้าหน้าที่ทำได้เพียงการตรวจสอบ ปิดกั้นในภายหลังเท่านั้น โดยผู้กระทำผิดหรือผู้โพสต์ใช้วิธีเปลี่ยนรายละเอียดชื่อเว็บไซต์ เช่น ใส่จุด หรือเครื่องหมายต่างๆ เพิ่มเข้าไปเล็กๆ น้อยๆ ก็เปิดขึ้นใหม่และโพสต์ข้อความลงไปได้อีก แต่ตอนนี้เจ้าหน้าที่ทราบแล้วว่าผู้กระทำผิดอยู่ที่ไหนและเป็นใคร แต่ไม่ได้อยู่ในไทย ส่วนจะเกี่ยว ข้องกับกลุ่มการเมืองหรือไม่ บอกไม่ได้ แต่ขอให้ไปดูชื่อเว็บไซต์ก็จะรู้ได้ทันที" ผบ.ตร.กล่าว
ไฟชอร์ตห้องเลขานุการมท.1
เมื่อเวลา 12.00 น. ที่กระทรวงมหาดไทย เกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจรบริเวณเพดานกระทรวงมหาดไทยด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นห้องทำงานของ พล.ต.ต.ธารา ปุณศรี เลขานุการรมว.มหาดไทย และห้องคณะทำงานของรัฐมนตรี ส่งผลให้ต้องตัดไฟฟ้าชั้นบนศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำให้ไฟดับตั้งแต่ห้องรมว.มหาดไทย ห้องเลขานุการ ห้องคณะทำงาน รวมทั้งห้องทำงานของสื่อมวลชนที่อยู่ด้านล่างด้วย โดยข้าราชการกระทรวง ที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่าเกิดควันบนฝ้าเพดานจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ปีนขี้นไปตรวจสอบ เห็นไฟไหม้สายไฟซึ่งอยู่บนฝ้าจึงใช้ถังดับเพลิงฉีดดับไฟในเบื้องต้น
จากนั้นแจ้งให้เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงภูเขาทองและการไฟฟ้าวัดเลียบ เข้ามาตรวจสอบที่เกิดเหตุ สันนิษฐานเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากความร้อนบนฝ้าหลังคา ประกอบกับอุปกรณ์สายไฟซึ่งเป็นสายแลนมีอายุการใช้งานนานทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรดังกล่าว
ไพบูลย์จี้มส.สอบ"มจร."ด่วน
เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 17 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา แถลงว่า จากกรณีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ระบุตนให้สัมภาษณ์โจมตีนักศึกษาในมจร.ว่ามาเล่าเรียนศึกษาโดยอยู่ฟรี กินฟรี และเรียนฟรีนั้น ยืนยันว่าตนให้ข้อมูลเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของพระสงฆ์ใน มจร. ที่นอกเหนือจากศึกษาพระธรรมวินัย โดยเน้นการศึกษาทางโลก คือการประกอบวิชาชีพ แบบอาชีวะ สอนคอมพิวเตอร์และสายอาชีพอื่นๆ โดยหวังว่าหลังจากลาสิกขาแล้วจะนำไปประกอบอาชีพได้ สิ่งเหล่านี้ขัดต่อคำสั่งของมหาเถรสมาคม (มส.) แห่งพ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่ระบุว่า ห้ามพระภิกษุสงฆ์ และสามเณร เรียนวิชาชีพอย่างคฤหัสถ์ในโรงเรียนหรือสถานที่ต่างๆ ปะปนกับชายหญิง ทั้งที่พระภิกษุสงฆ์ควรศึกษาเล่าเรียนเฉพาะพระธรรมวินัย และพระธรรมขั้นสูงเพียงเท่านั้น
นายไพบูลย์กล่าวว่า นอกจากนี้การที่อ้างว่ามจร.ตั้งขึ้นโดยรัชกาลที่ 5 เพื่อให้พระสงฆ์ศึกษาทางโลกด้วยนั้น เป็นการบิดเบือน เพราะเจตนารมณ์ของรัชกาลที่ 5 ต้องการให้ มจร.เป็นที่ศึกษาพระธรรมวินัยของสงฆ์เพียงเท่านั้น ตนจึงขอเรียกร้องให้ มส.เข้ามาตรวจสอบโดยเร็ว และหาก มส.ไม่ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด จะถือเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
ดีเอสไอชงยธ.-แก้หนี้นอกระบบ
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะผอ.ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ย พ.ศ. ... ว่าในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ จะเชิญผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อหาแนวทางและข้อยุติเกี่ยวกับการเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย ก่อนเสนอให้พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม พิจารณาและนำเสนอเข้าที่ประชุมครม.ต่อไป
นางสุวณากล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จะหารือในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบัตรเครดิต ไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นหนี้ที่อยู่ในระบบ ว่าจะนำมาใช้ร่วมกับร่างพ.ร.บ.ที่จะเสนอนี้ได้ด้วยหรือไม่ ซึ่งการเสนอแก้ไขร่างพ.ร.บ.นี้ เพื่อแก้ปัญหาและควบคุมหนี้นอกระบบ ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมได้ศึกษากรณีดังกล่าว รวมถึงนำเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมาพิจารณาเพื่อหาแนวทางการแก้ไข เช่น การร้องเรียนเพื่อให้ศูนย์เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิต ค่าผิดนัด ค่าธรรมเนียมต่างๆ คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในวันประชุมครั้งนี้ว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบ
ศธ.ยันไม่เลิกบ้านหนังสือ"กศน."
วันที่ 17 มิ.ย. ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาฯ กล่าวถึงกรณีสตง.ทำหนังสือถึงศธ. ว่าโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะของสำนักงานกศน.มีความซ้ำซ้อนกับโครงการที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) กระทรวงมหาดไทย(มท.) ว่าโครงการของอปท.นั้นเดิมทีเป็นของกศน. กระทั่งมีการกระจายอำนาจจึงโอนให้มท.ดูแล ส่วนบ้านหนังสืออัจฉริยะนั้น กศน.แจ้งว่าได้ใช้สถานที่ซึ่งเป็นแหล่งรวมของคนในชุมชน อาทิ ร้านขายของชำ ร้านขายก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ หรือบ้านผู้นำชุมชน เป็นต้น มาปรับปรุงเป็นที่อ่านหนังสือสำหรับประชาชน โดยให้บริการหนังสือพิมพ์รายวันให้วันละ 2 ฉบับต่อ 1 แห่ง นิตยสาร วารสารรายสัปดาห์ รวม 4 ฉบับต่อเดือน และรายปักษ์อีกเดือนละ 2 ฉบับ ตลอดจนมีหนังสือหลากหลายประเภท ทั้งเรื่องอาชีพและสุขภาพไว้บริการ
"นโยบายของผมคือโครงการจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นผมจึงมอบให้กศน. กลับไปพิจารณาทบทวนตามที่สตง.ทักท้วงมา โดยดูรายละเอียดโครงการใหม่ทั้งหมด และต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด โดยในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ผมจะลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะกับผู้บริหารกศน. เพื่อพิจารณาว่าต้องดำเนินการอย่างไร" ปลัดศธ.กล่าว
วันเดียวกัน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศธ. กล่าวว่าขณะนี้ขอยืนยันว่ายังไม่ได้สั่งการให้มีการทบทวน หรือยกเลิกโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะของกศน. เพียงแต่ได้รับแจ้ง จากสตง.ว่าการดำเนินการบางแห่งมีความซ้ำซ้อนกับที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านซึ่งกศน. โอนไปให้ท้องถิ่นดูแล ซึ่งคงต้องมอบหมายให้เลขาธิการกศน.ลงไปตรวจสอบ เพราะอาจจะซ้ำซ้อนกันบางแห่ง แต่ในขณะที่ส่วนใหญ่อาจจะไม่ซ้ำซ้อนกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ด้วย เนื่องจากกศน.กระจายอยู่ทุกตำบลทั่วประเทศ ดังนั้นคงต้องพิจารณาในรายละเอียดก่อนที่จะสั่งการอะไร