- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 15 June 2015 14:53
- Hits: 6176
ต้นตค.59 'บิ๊กตู่-5 สาย'ไปแน่ วิษณุชี้-ถ้ารธน. ผ่านประชามติ 'บิ๊กโด่ง'อัดลือ ข่าวปฏิวัติซ้อน 248 สส.บุกสภา ขอแจงคดีสนช.
'วิษณุ'กางปฏิทินโรด แม็ป แจงชัดๆ อีกรอบ ถ้าประชามติร่างรธน.ผ่าน เลือกตั้งส.ค.59 แม่น้ำ 5 สายรวมทั้ง 'บิ๊กตู่' พ้นหน้าที่ต้นต.ค. ส่งมอบอำนาจให้รัฐบาลใหม่ สภาใหม่ 'บิ๊กโด่ง' อัดคนไม่ดีปล่อยข่าวปฏิวัติซ้อน สร้างความแตกแยก หวาดระแวง ลั่นตอนนี้ความมั่นคงมีมากถึงมากที่สุด ยันคสช.ไม่ก้าวล่วงสปช.คว่ำร่างรธน. 'ไก่อู'อัดนักการเมืองเลิกวาทกรรมสืบทอดอำนาจ เลิกแสวงประโยชน์ ไล่ไปทบทวนตัวเอง 'วันชัย'ย้ำร่างรธน.ถูกคว่ำแน่ หนุนรัฐบาลอยู่ยาว แนะตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปฯมี สเป๊ก เหมือนสปช. 'อมร'ซัดกลับ'เสรี'ปม วิจารณ์สปช.ดราม่า ขู่ฟ้องหากทำเสียชื่อ อดีต 248 ส.ส.นัดบุกสภา 26 มิ.ย.ยื่นหนังสือ 'พรเพชร'ขอชี้แจงทุกคนในคดีถอดถอนแก้รธน.ที่มาส.ว.มิชอบ โผทหารล่าสุด"บิ๊กติ๊ก-ปรีชา'เต็งจ๋าผบ.ทบ. โยก'บิ๊กหมู-ธีรชัย'คู่แคนดิเดตไปเป็นปลัดกลาโหม ส่วน'บิ๊กเต้- สมหมาย"แรงหนุนปึ้กไม่น่าพลาดผบ.สส. เช่นเดียวกับ'บิ๊กยุ้ย-ณรงค์พล'ขึ้นแท่นผบ.ทร. สะสางจัดซื้อเรือดำน้ำให้สำเร็จ
วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8965 ข่าวสดรายวัน
'วิษณุ'แจงอายุแม่น้ำ 5 สาย
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงระยะเวลาการสิ้นสุดการทำงานของแม่น้ำ 5 สาย คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านความเห็นชอบจากสปช.และการลงประชามติ จนนำไปสู่การเลือกตั้ง ว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้และมีการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.จะดำรงตำแหน่งไปจนกระทั่งมีครม.ชุดใหม่ซึ่งได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนทำหน้าที่เรียบร้อยแล้ว
"พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ในตำแหน่งหลังการเลือกตั้งเพียง 2 เดือน ส่วนสปช.จะสิ้นสุดเมื่อมีการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นมาทำหน้าที่จนถึงวันที่มีการเปิดสภาครั้งแรก ไม่ควรอยู่ยาวกว่านั้น ขณะที่สนช.ยังทำหน้าที่ไปจนกระทั่งมีการเลือกตั้งหรือการ สรรหาส.ว. เมื่อมีการเลือกส.ว.เมื่อไร สนช.จะไปเมื่อนั้น เพราะช่วงที่ยังไม่มีส.ว. สนช.จะต้องทำหน้าที่แทนส.ว. สำหรับกมธ.ยกร่างฯจะทำหน้าที่ไปถึงวันเปิดสภา" นายวิษณุกล่าว
คาดจัดเลือกตั้งส.ค.59
นายวิษณุกล่าวว่า หากประชามติร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบ กมธ.ยกร่างฯ จะไปทำกฎหมายลูกในเดือนม.ค.2559 หลังจากนั้นจะส่งให้สนช.พิจารณาในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.2559 แล้วจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในเดือนพ.ค. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับรองแล้วจะเข้าสู่ช่วงเตรียมตัวก่อนการเลือกตั้งซึ่งมีเวลา 90 วัน ตั้งแต่ก.ค.-ส.ค. ซึ่งการเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนส.ค.2559 จากนั้นจะใช้เวลาประกาศผลใน 30 วัน ซึ่งขั้นตอนหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อมีการประชุมเลือกนายกฯแล้ว นายกฯ และครม. จะได้ถวายสัตย์ปฏิญาณซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นช่วงต้นเดือนต.ค.2559 เมื่อรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นในตอนนั้นแม่น้ำทุกสายจะพ้นสภาพไปหมด รวมถึงสภาขับเคลื่อนปฏิรูปฯที่จะพ้นไปตั้งแต่มีการเปิดสภาครั้งแรก
"ตอนนั้นรัฐบาลใหม่ก็เกิด แม่น้ำทุกสายไปหมดแล้ว สนช.คงไปได้แล้ว เพราะในช่วงที่มีการเลือกตั้งส.ส.แล้ว ในอีกสักหนึ่งเดือนซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่จะเปิดสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องหาส.ว.แล้ว ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้แต่งเอง ว่าตามปฏิทิน แต่ทั้งหมดหากไม่ผ่านประชามติก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง"นายวิษณุกล่าว
'บิ๊กโด่ง'ยันไม่ก้าวล่วงสปช.
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ.กล่าวถึงกระแสข่าวการคว่ำร่าง รัฐธรรมนูญของสปช.ว่าเรื่องนี้พล.อ.ประยุทธ์ มอบให้นายวิษณุ ดูแลรับผิดชอบ ทางคสช.จะไม่เข้าไปก้าวล่วง เราควรเป็นคนกลางที่เฝ้ามอง ซึ่งครม.ก็เฝ้ามองในแง่มุมต่างๆ ก่อนจะเสนอประเด็นต่างๆ ไป เมื่อเสนออะไรไปคงไม่ไปก้าวล่วงสปช. เพราะทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ถือว่าเราเดินหน้าในการทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคสช.ทั้ง 9 ข้อและจะส่งผลดีต่อยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเรามีการประชุมร่วมกันทั้งครม.กับคสช.เป็นช่วงๆ เพื่อให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้ คสช.และครม.ทำตามขั้นตอนตามระบบที่เราได้วางไว้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเห็นของสปช.บางคนต้องการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พล.อ. อุดมเดชกล่าวว่า เรื่องนี้เราเฝ้าดูอยู่เพราะเป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของสปช.เขาก็ว่ากันไป ซึ่งในใจเราอยากให้ทุกอย่างราบรื่น ส่วนจะทำประชามติก็ว่ากันไป และที่มีคนมองว่าคสช.จะไปชี้นำอะไรสปช.นั้นคงไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วสปช.ถ้าไปดูพื้นฐานการเข้ามาทำหน้าที่แล้ว ทุกคนมาจากการคัดเลือกของส่วนภูมิภาคและจากหลายๆ ส่วน ผ่านการกลั่นกรองกันมา
คสช.ยึดขั้นตอน-สบายใจได้
"คสช.ไม่ได้ไปอะไร เมื่อเข้ามาแล้วก็มีระบบของส่วนกลางที่ได้รับการคัดสรรต่างๆ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถไปชี้นำอะไรเขาได้ เห็นได้ว่าทุกคนมีอิสระในความคิด เราจะไปก้าวล่วงเขาไม่ได้ ซึ่งเราอยากให้ทุกคนสบายใจได้ว่า คสช.ไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ เพราะเขามีขั้นตอนกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว มีการวางขั้นตอนไม่ให้เกิดความสับสน เราจะไปทำอะไรไม่ได้ ทุกอย่างเป็นความคิดอิสระเขามีการชี้แจงพูดจากัน ที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นตัวของเขาเอง" พล.อ.อุดมเดชกล่าว
เมื่อถามว่า นายกฯมีความเชื่อมั่นว่าจะจัดเลือกตั้งได้ในปี 2559 พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า เรื่องนี้อาจมีความกังวลใจบ้าง ในบางประเด็นซึ่งนายวิษณุได้ชี้แจงไปแล้วถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ต้องมีการลงประชามติ ทุกอย่างก็ต้องว่ากันไป
อัดคนปล่อยข่าวปฏิวัติซ้อน
ส่วนกระแสข่าวการปฏิวัติซ้อน พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ทุกคนรู้ว่าทุกส่วนที่เกี่ยวข้องและฝ่ายดูแลความมั่นคงไม่มีความคิดเหล่านี้ เราเป็นเนื้อเดียวกันอยู่กับรัฐบาล และสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ส่วนต่างๆ ก็เช่นกันมีการพูดคุยกันในครม.ทั้งการทำงานของรัฐมนตรีแต่ละคนก็ทำงานอย่างเต็มที่ เรื่องนี้คงเป็น กลุ่มคนที่ไม่อยากเห็นความราบรื่นในประเทศ อยากให้เกิดความแตกแยกในความคิด ซึ่งในระดับบนจริงๆ แล้วทั้งรัฐบาลและคสช.รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้ต้องช่วยกันชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ ทั้งทหารและตำรวจที่อยู่ฝ่ายความมั่นคงรับฟังและสนับสนุนรัฐบาลทุกอย่างอยู่แล้ว
"รัฐบาลและคสช.ต้องมั่นคงแข็งแรง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ประชาชนบางกลุ่มอาจฟังข่าวและไม่รู้ อาจเกิดความกระเพื่อมทำให้เกิดปัญหา ด้านแนวความคิดของคนภายนอกได้ แต่จริงๆ แล้วไม่มีอะไร ในทุกสัปดาห์ครม.และคสช.ร่วมกันคิดอะไรต่างๆ สรุปแล้วคนที่ปล่อยข่าวคือคนที่ไม่ปรารถนาดีต่อประเทศชาติ เพราะความมั่นคงขณะนี้มีมากถึงมากที่สุด คนไม่ดี ต้องการให้เกิดความแตกแยกภายใน อยากให้เกิดความหวาดระแวง ก็จะมีผลกระทบต่อส่วนร่วมในเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ดังนั้นต้องช่วยกันทำความเข้าใจ" พล.อ.อุดมเดชกล่าว
'ไก่อู'จวกปากนักการเมือง
ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนักการเมืองบางคนให้ความเห็นว่า หากสปช.มีมติไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเท่ากับเป็นการเขียนเองล้มเอง ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยกร่างโดยกมธ.ยกร่างฯ โดยมีสปช.ซึ่งมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนของประเทศประกอบกันเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นและลงมติว่าจะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 กำหนดไว้ จึงไม่ใช่การร่างเองล้มเองเพื่อหวังผลทางการเมืองแบบที่นักการเมืองบางกลุ่มบางคนพยายามจินตนาการ
"ภาพสะท้อนที่ปรากฏชัดเจนในขณะนี้คือ นักการเมืองไม่ว่าจะขั้วใดพรรคใด มักจะให้ความสนใจเฉพาะประเด็น ช่วงเวลาการเลือกตั้ง แทบจะไม่เคยได้ยินนักการเมืองพูดเรื่องการปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมมของชาติ ที่วิธีการทางการเมืองแบบเดิมๆ ไม่สามารถจัดการได้เลย ช่วงเวลานี้ควรเป็นช่วงหยุดเล่นการเมือง หยุดแสวงหาประโยชน์ หรือโจมตีกันไปมาเพื่อหวังผลทางการเมือง" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
เลิกพูดสืบทอดอำนาจ-ไล่ดูตัวเอง
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ช่วงนี้ควรเป็นช่วงเวลาของการทำงานจริงจังเพื่อประเทศชาติ เพราะประเทศไม่ใช่ของเล่น รวมทั้งนักการเมืองที่ต้องการการเลือกตั้ง ควรใช้เวลาช่วงนี้กลับไปทบทวนบทบาทตัวเองว่า หากได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้ง จะมีแนวทางปฏิรูปอะไรเพื่อการพัฒนาประเทศชาติบ้าง เพื่อกอบกู้และสร้างศรัทธาให้แก่สถาบันการเมือง
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า อยากขอให้เลิกใช้วาทกรรม สืบทอดอำนาจ เพราะนายกฯกล่าวหลายครั้งแล้วว่าไม่ต้องการอำนาจ หากจะมีใคร หรือ ระบบใดที่กฎหมายจะกำหนดให้มาทำงานรับภาระเพื่อประเทศชาติต่อจากรัฐบาลนี้และรับมอบงานปฏิรูปประเทศ ปราบปรามทุจริตคอร์รับชั่นต่อไป รัฐบาลจะยินดีมาก แต่ขอให้ทำด้วยความตั้งใจและไม่นำประเทศกลับไปสู่จุดขัดแย้งเดิมๆ อีก
เผยศาลอาญาตั้ง 3 แผนกใหม่
พล.ต.สรรเสริญ ยังกล่าวว่า รัฐบาลรู้สึกยินดี ที่ได้รับทราบว่า ศาลอาญา ได้จัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ แผนกคดียาเสพติด และแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2558 ทราบว่า ศาลอาญามีแนวคิดในการจัดตั้งแผนกคดีพิเศษ และเตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเป็นการพิจารณาอย่างเป็นอิสระของศาล เนื่องจากคดีดังกล่าว มีเพิ่มมากขึ้น และการเปิดแผนกคดีพิเศษ จะทำให้การพิจารณารวดเร็ว และบริหารจัดการคดีได้สะดวกขึ้น
"การที่ศาลอาญา เปิดแผนกคดีพิเศษ ดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นว่า สามอำนาจหลักของการปกครองไทย ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และศาล มีความเห็นสอดคล้องกันและเล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการปราบปรามการค้ามนุษย์ ยาเสพติด และการทุจริต และประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ หวังว่าประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะร่วมกันในการกำจัดบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ยาเสพติด และการทุจริต ให้หมดไปจากสังคมไทย" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
สปช.ถกวาระพิเศษ
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) กล่าวถึงการนัดประชุมสปช.ในวันที่ 15 มิ.ย.เพื่อหารือกรณีที่ครม.และคสช.แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ทำให้สปช.ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ภายหลังการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นการนัดประชุมวาระพิเศษ เพื่อหารือถึงกรอบเวลาการทำแผนแม่บทปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อนวันที่ 4 ก.ย.ที่สปช.จะต้องลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการหารือถึงกรณีที่สปช.จะต้องสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ภายหลังการลงมติในร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นจะเปิดโอกาสให้สมาชิกสปช.ได้หารือ และซักถามในประเด็นต่างๆ
ส่วนกรณี การตั้งคำถามเรื่องการทำประชามติ ได้หารือกับนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช.แล้วว่า จะไม่มีการหารือในวันที่ 15 มิ.ย.เพราะจะรอขั้นตอนให้สนช. ลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว จำนวน 7 ประเด็นในวันที่ 18 มิ.ย.ก่อน หากไปดำเนินการอะไรเรื่องคำถามการทำประชามติ จะเป็นการชิงสุกก่อนห่าม
'จ้อน'ว้ากอย่าทำตัวเป็นหมอดู
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ส่วนที่สปช.บางส่วนระบุขอให้สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ควรพูดขณะนี้ กังวลว่า ความเห็นของสปช.บางส่วนที่ออกมาชี้นำให้รับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดความสับสนในสังคม ขณะนี้ยังไม่มีการล็อบบี้ว่าจะโหวตคว่ำหรือไม่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ต้องรอเห็นร่างสุดท้ายของรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเสียก่อน คาดว่า ร่างสุดท้ายจะออกมาช่วงวันที่ 21 ส.ค. จึงจะประเมินทิศทางของร่างรัฐธรรมนูญได้ การระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีโอกาสถูกคว่ำเป็นเพียงการวิเคราะห์ที่อาจคลาดเคลื่อน มองเพียงแค่ด้านเดียว
"ส่วนตัวเห็นว่า การที่สปช.มีความเป็นอิสระในการลงมติมากขึ้น ไม่ต้องห่วงเรื่องการฮาราคีรีตัวเองทำให้กมธ.ยกร่างฯมีแนวโน้มต้องทบทวนและแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามคำท้วงติงตามที่หลายฝ่ายเสนอไปมากขึ้นกว่าตอนที่ยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯจะแก้รัฐธรรมนูญหลายประเด็นตามที่มีการห่วงใย หากเป็นเช่นนี้ก็มีโอกาสมากขึ้นที่สปช.จะเห็นชอบผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสปช.ไม่ควรทำตัวเป็นหมอดู หรือหมอเดาเพื่อให้เกิดความสับสนต่อสาธารณชน" นายอลงกรณ์กล่าว
'วันชัย'ชี้ข้อดีถูกยุบเร็ว
นายวันชัย สอนศิริ เลขานุการคณะกรรมการประสานงาน (วิป) สปช. กล่าวว่า การประชุมสปช.ในวันที่ 15 มิ.ย.เป็นการประชุมภายในหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่สปช.จะเหลือเวลาทำงานสองเดือนเศษ คือ 1.ต้องสรุปผลงานทั้งหมดของทุกคณะให้เสร็จสิ้น ซึ่งประธานสปช.กำหนดให้สรุปภายในวันที่ 30 มิ.ย. แต่ยังมีบางคณะไม่เรียบร้อย จึงต้องเร่งรีบให้เสร็จสิ้นภายในกรอบเวลาและบรรจุเนื้อหาทั้งหมดให้เสร็จสิ้น 2.ประเมินการทำงานที่ผ่านมาร่วมกัน ฟังเสียงสะท้อนของสมาชิกให้ช่วยกันประเมินว่ามองอย่างไรบ้าง 3.จะต้องทำอะไรในระยะเวลาสองเดือนที่เหลือ
นายวันชัย กล่าวว่า ตนเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญให้ยุบสปช.เป็นเพราะผู้มีอำนาจเห็นว่าทำไม่ดี น่าจะไม่ใช่ตามแนวทางที่เขาคิดไว้ หรือน่าจะไม่เหมาะสม คือคิดว่ายังไม่ดีพอหรือไม่ ที่ผ่านมาสปช.แต่ละคนเป็นตัวของตัวเองทำให้การทำงานอาจล่าช้าไปบ้าง แต่ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่มองว่า สปช.บางคนหัวแข็ง การยุบสปช.เร็วขึ้นทำให้สมาชิกมีอิสระในการตัดสินใจมากขึ้น กล้าพูด กล้าแสดงออก พิจารณารัฐธรรมนูญอย่างรอบคอบ ด้วยเหตุผล โดยตัดประโยชน์ทับซ้อนส่วนตนออกไป ส่วนสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศจะมีอดีตนักการเมืองเข้ามามีบทบาทมากขึ้นหรือไม่ ตนบอกไม่ได้ แต่ควรเลือกคนที่มีแนวทางเดียวกันและเชื่อว่ามีบางส่วนจากกมธ.ยกร่างฯและสปช.เดิมไปต่อยอดกัน
ตัดเสื้อใหม่ดีกว่าปะผุ
เลขาฯ วิปสปช. กล่าวว่า นอกจากนี้การเสนอแก้ร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกหลายคณะนั้น กมธ.ยกร่างฯ คงไม่สามารถแก้ไข ได้ทั้งหมด จึงเชื่อว่า สปช.จะไม่ยอมให้รัฐธรรมนูญมีตำหนิแม้แต่น้อย ก็น่าจะประกาศคว่ำรัฐธรรมนูญ โดยเท่าที่ได้แลกเปลี่ยนสมาชิกทั้งส่วนกลางและส่วนจังหวัด ทุกคนเห็นตรงกันว่า รัฐธรรมนูญกลัดกระดุมผิดตั้งแต่ต้นจะมีรอยตำหนิให้เห็น หาความพอดีไม่ได้ กระบวนการควรเริ่มขึ้นใหม่คือประสานกัน ดังนั้นการตัดเสื้อผ้าใหม่น่าจะดีกว่าการมาปะผุ จึงเชื่อว่าจะมีการคว่ำรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นผลพลอยได้ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะอยู่ในอำนาจต่อ
นายวันชัย กล่าวว่า หนึ่งปีที่ผ่านมารัฐบาลเพียงแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นยังไม่มีการปรับปรุงวางรากฐาน โครงสร้างอนาคต ฉะนั้นถ้าให้เวลาอีกปีสองปีน่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาติในการขับเคลื่อนระยะยาว โดย 1.ต้องวางระบบเกี่ยวกับการทุจริต ซื้อสิทธิ์ ขายเสียง มีวิธีการและกระบวนการต่างๆ ที่สามารถแก้ไขได้ และปลุกให้คนรู้สึกรังเกียจการซื้อเสียงว่าเป็นเรื่องเลวร้าย 2.การทุจริตคอร์รัปชั่นในส่วนการเมือง เอกชน ข้าราชการ ต้องวางกลไกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พร้อมสร้างกระแสให้คนรู้สึกรังเกียจการทุจริตคอร์รัปชั่น
3.ปฏิรูปตำรวจ ให้ปลอดการแทรกแซงทางการเมือง 4.การปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีการควบรวมหรือดูแลไม่ให้มีการทุจริตอย่างไร มีการตรวจสอบถ่วงดุลได้ 5.การบริหารในทุกด้านที่ต้องสร้างกลไกให้กระฉับกระเฉงมากขึ้น ถ้าทำได้สักสามเรื่องคนก็แทบจะกราบแล้ว
'อมร'ซัด'เสรี'-ขู่ฟ้องกลับ
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ สปช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ถูกนายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช. ตอบโต้ว่าอย่าเอาตัวเองไปเป็นไม้บรรทัดวัดคนอื่น กรณีที่ได้วิจารณ์การทำงานของสปช. ชอบอภิปรายดราม่าเหมือนสภาการเมือง และชอบย้ายที่นั่งในสภาเพราะอยากออกทีวีว่า ตนเป็นนักวิชาการ พูดความจริงและต้องรับผิดชอบคำพูดของตนเอง สิ่งที่นายเสรีให้สัมภาษณ์สื่อกล่าวหาตนนั้น คนละเรื่องคนละประเด็นกับที่ตนพูด เป็นการเอาดีใส่ตัวเหมือนเป็นฮีโร่แต่โยนบาปมาให้ผู้อื่น คือตน อย่างไม่เป็นธรรม ขอให้กลับไปอ่านทำความเข้าใจหรือฟังเรื่องราวให้ดีก่อนจะออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ ตนไม่อยากให้เรื่องราวบานปลาย แต่หากผู้ใดมีเจตนาไม่ดีทำให้คนเข้าใจผิดหรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง อาจต้องปกป้องตนเองตามกฎหมาย
นายอมร กล่าวว่า ตนไม่ใช่นักการเมืองบางคนที่พูดความจริงครึ่งหนึ่งบ้างหรือไม่พูดความจริงเลย นายเสรีเป็นนักการเมืองอาชีพอาจพบเจอคนประเภทนี้มามาก เลยคิดว่า คนอื่นเลวเหมือนกันหมด แต่ไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่นักเลงไปเที่ยวท้าตีท้าต่อยกับใคร จึงไม่ต้องมาถามว่าจะต้องเปิดเผยชื่อใครก็ตามที่สามารถต่อสายถึงขั้วอำนาจต่างๆ ได้ เจ้าตัวเขารู้อยู่แก่ใจ ผมไม่เครียดหรอกครับแต่ผมรำคาญ เพราะการไปจี้ใจดำคนบางคนทำให้ถึงกับอยู่กันไม่สุข ต้องออกมาให้สัมภาษณ์กันคนละทีสองที เพื่อนสปช.ที่โทร.มาหรือไลน์มาให้กำลังใจผมมีมากกว่าคนที่มองผมในแง่ร้าย จึงไม่กังวล ยังเดินหน้าเข้าสภาทำหน้าที่ของตนต่อไป
พท.คาดร่างรธน.ถูกคว่ำ
ส่วนนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า กระแสการเรียกร้องให้รัฐบาลทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมีกมธ.ยกร่างฯ นำโดย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน กำลังมาแรงเป็นที่สนใจของประชาชน แต่ส่วนตัวมองว่า ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอาจจะไม่มีโอกาสได้ใช้สิทธิ์ในการลงประชามติ เนื่องจากมีสัญญาณบางประการว่าอาจจะถูกสปช.คว่ำร่าง สังเกตได้ว่ามี สปช.หลายท่านออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านและเสนอให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหลายมาตราด้วยกัน และมีคำกล่าวเชิงขู่ว่า ถ้า กมธ.ยกร่างฯ ไม่ยอมแก้ไขตามที่สปช.เสนอ ก็จะคว่ำร่าง รธน.
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สปช.ส่วนใหญ่ตั้งใจที่จะให้เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว เพราะในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ ครม.และ คสช.ใน 7 ประเด็นนั้น ได้เสนอตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเพื่อรองรับ สปช.ที่จะสิ้นสภาพเหล่านี้เอาไว้แล้ว และต่อให้ สปช.ลงมติผ่าน แต่เมื่อทำประชามติแล้วประชาชนจะไม่ผ่านให้อย่างแน่นอน เชื่อว่ารัฐบาล คสช.รู้ว่าหากปล่อยให้ไปถึงขั้นตอนการทำประชามติ ประชาชนคงออกเสียงไม่ผ่าน หากปล่อยให้ทำประชามตินอกจากจะเสียเงินมากถึง 3 พันล้านบาทแล้วยังต้องเสียหน้า ที่สำคัญในช่วงการรณรงค์เรื่องการทำประชามติจะต้องมีมวลชนทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคงอีก
อดีต 248 ส.ส.นัดบุกสภา
นายสามารถ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ ที่ สนช.จะเปิดประชุมเพื่อกำหนดวันพิจารณาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลถอดถอนอดีต 248 ส.ส.กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว.โดยมิชอบนั้น ทาง สนช.ได้เปิดให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมภายในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ ซึ่งฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทยจะได้จัดส่งเอกสารหลักฐานและพยานบุคคลเพิ่มเติม นำเสนอต่อสนช.ต่อไป
"อดีต 248 ส.ส.ได้นัดกันแล้วว่าจะเดินทางไปที่รัฐสภาในวันดังกล่าวก่อนเวลา 12.00 น. โดยจะรวมตัวกันอยู่ที่ด้านหน้าลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 7 เพื่อยื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ขอแสดงเจตจำนงว่าอดีต 248 ส.ส.ทั้งหมดจะขอใช้สิทธิ์ชี้แจงข้อกล่าวหา ตอบข้อซักถาม ไปจนถึงการแถลงปิดคดีด้วยตนเองทุกคน" นายสามารถกล่าว
โพลค้านคนถูกถอนสิทธิ์นั่งรมต.
วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง 'ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว'โดยสำรวจระหว่างวันที่ 11-12 มิ.ย. 2558 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง
โดยถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่จะเปิดช่องให้ผู้ที่เคยถูกถอดถอนสิทธิ์เลือกตั้งสามารถเข้ามาเป็น สนช. หรือรัฐมนตรีได้ พบว่าร้อยละ 50.44 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ถือเป็นการกระทำผิดทางการเมือง เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ร้อยละ 44.04 ระบุว่า เห็นด้วย ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันอย่างยุติธรรม ควรให้โอกาสได้เข้ามาทำงาน ร้อยละ 0.40 ระบุต้องพิจารณาว่าถูกถอดถอนด้วยเรื่องใดหากไม่ร้ายแรงควรให้โอกาส
เห็นด้วยผุดสภาขับเคลื่อนฯ
ส่วนการเปิดช่องให้มีการทำประชามติในประเด็นอื่นโดย สปช. และ สนช. สามารถทำคำถามเข้ามาได้ฝ่ายละ 1 คำถาม ร้อยละ 75.38 ระบุเห็นด้วย เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างโปร่งใส ร้อยละ 13.91 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ดีอยู่แล้ว ยิ่งมากประเด็นปัญหาคงไม่สามารถยุติลงได้ ร้อยละ 10.63 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.08 ระบุควรให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นคำถามด้วย
เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ยุบ สปช. หลังจากลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2558 พร้อมตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ มีสมาชิกไม่เกิน 200 คนขึ้นมาแทน พบว่าร้อยละ 50.44 เห็นด้วย เพราะการปฏิรูปต้องมีองค์กรเพื่อขับเคลื่อนประเทศเดินไปข้างหน้า ร้อยละ 28.94 ระบุไม่เห็นด้วยเพราะเสียเวลามาก สมาชิกสภาปฏิรูปแบบเดิมบริหารงานได้ดีอยู่แล้ว ร้อยละ 20.30 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.32 ระบุ ยังไงก็ได้ เพราะเป็นแค่การเปลี่ยนชื่อแต่หน้าที่คงเดิม
446 นายพลจ่อเกษียณ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 422/2558 เรื่องให้นายทหารออกจากราชการ เนื่องจากครบเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย.2558 จำนวน 446 โดยมีคำสั่งตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา อาทิ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ พล.อ.วิชิต ศรีประเสริฐ พล.ร.อ. ชุมนุม อาจวงษ์ พล.อ.อ. ทรงธรรม โชคคณาพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม
สำหรับ ในส่วนของกองบัญชาการกองทัพไทย ประกอบด้วย พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.อ. วุฒินันท์ ลีลายุทธ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ พล.อ.อ.พลเทพ โหมดสุวรรณ รองผบ.สส. ในส่วนของกองทัพบก มี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองผบ.ทบ. พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ในฐานะหัวหน้าพูดคุยสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
'บิ๊กป้อม'เตรียมถกโผทหาร
ส่วนกองทัพเรือ มี พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.ร.อ.พจนา เผือกผ่อง รอง ผบ.ทร. พล.ร.อ.อภิชัย อมตยากุล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ พล.ร.อ.ชัยณรงค์ เจริญรักษ์ หัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา พล.ร.อ.อธิคมน์ ภมรสูต ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ พล.ร.อ.พิจารณ์ ธีรเนตร ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ขณะที่กองทัพอากาศ มี พล.อ.อ.อานนท์ จารยะพันธุ์ รอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.อ.อ.มณฑล สัชฌุกร โฆษกกองทัพอากาศ
ขณะที่มีนายทหารที่เกษียณอายุราชการ แต่ยังคงทำหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อาทิ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ และพล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตรได้นัด ผบ.เหล่าทัพหารือในการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายทหารประจำปี 2558 ในเดือนก.ค.นี้ เนื่องจากในปีนี้มีนายทหารที่จะเกษียณอายุราชการในตำแหน่งหลักหลายตำแหน่ง อาทิ ตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทบ. และผบ.ทร. จึงจำเป็นต้องมีการหารือในส่วนผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ ก่อนที่จะมีการพิจารณาในระดับไลน์ 5 เสือของแต่ละเหล่าทัพ และก่อนที่จะไปสู่ตำแหน่งกองทัพภาค
คาด'บิ๊กติ๊ก'นั่งผบ.ทบ.
สำหรับ ตำแหน่งที่มีการจับตามองมากที่สุด คือผบ.ทบ.คนที่ 39 ต่อจาก พล.อ.อุดมเดช โดยเฉพาะเต็งหนึ่งอย่าง "บิ๊กติ๊ก" พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วยผบ.ทบ. ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆ ของพล.อ.ประยุทธ์ และมี "บิ๊กหมู" พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วยผบ.ทบ. น้องเลิฟของพล.อ.ประวิตร ที่จะเข้ามาชิงตำแหน่ง แต่หากคนใดคนหนึ่งได้ตำแหน่ง ผบ.ทบ.แล้วคาดว่าอีกคนหนึ่งจะต้องไปดำรงแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม แต่คาดว่าคนที่จะมาดำรงตำแหน่งผบ.ทบ.คงหนีไม่พ้นพล.อ.ปรีชา ส่วนพล.อ.ธีรชัยเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม
ในส่วนของกองบัญชาการกองทัพไทย คาดว่าพล.อ.วรพงษ์จะผลักดันให้ "บิ๊กเต้" พล.อ.สมหมาย เกาฎีระ เสนาธิการทหาร ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผบ.สส. ขณะที่กองทัพเรือคาดว่าพล.ร.อ.ไกรสรจะเสนอชื่อ "บิ๊กยุ้ย" พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง ผู้ช่วยผบ.ทร. ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผบ.ทร. เนื่องจากพล.ร.อ.ไกรสรได้มอบหมายให้ดูงานสำคัญในกองทัพเรือหลายอย่าง ที่สำคัญคือโครงการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ไปแล้ว เหลือเพียงการส่งข้อมูลรายละเอียดเสนอให้กับพล.อ.ประวิตรอีกครั้ง
รัฐตีปี๊บตลาดดอกไม้-ปลาขายดี
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตลอดสัปดาห์การจัดงาน "เทศกาลไม้ดอกไม้ประดับและปลาสวยงาม" เลียบคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล ผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม มีผู้สนใจเข้าชมงานจำนวนมาก ยอดจำหน่ายสินค้าเกือบทุกรายการทะลุเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่เป็นไฮไลต์ต่างๆ จำหน่ายเกือบหมดแล้ว อาทิ "บอนไซเทียนทะเล" ต้นละ 2.5 ล้านบาท 1 ต้น ต้นละ 2.5 แสนบาท 1 ต้น บอนไซไทรไทเกอร์ ต้นละ 1 แสน 1 ต้น ปลากระเบนเผือก(Albino Pearl Ray) อายุ 7 เดือน 1 คู่ ราคา 4.25 ล้านบาท อายุ 2 เดือน 1 คู่ ราคา 3 ล้านบาท
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ผลของการจำหน่ายสินค้าดังกล่าว ทำให้มียอดสะสมรวม 18,263,763 บาท ผู้เข้าชมงานสะสม 50,998 คน เฉพาะวันที่ 13 มิ.ย.2558 มียอดจำหน่าย 385,528 บาท แบ่งเป็น สินค้าไม้ดอกไม้ประดับ 158,848 บาท สินค้าปลาสวยงาม 123,780 บาท ร้านค้าเอสเอ็มอี 31,400 บาท และร้านอาหาร กทม. 71,500 บาท ยอดผู้เข้าชมงาน 7,051 คน
"การจัดงานเทศกาลครั้งนี้ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อพัฒนาการตลาด ส่งเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตไม้ดอกไม้ประดับและปลาสวยงามของไทย มีช่องทางจำหน่ายผลผลิตด้วยตนเองส่งถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ประชาชนสามารถเข้ามาซื้อหา และชื่นชมผลงานของเกษตรกรไทยที่ทรงคุณค่าสมราคาได้จนถึงวันที่ 28 มิ.ย.นี้ อาทิ ปลากระเบนเผือกต้องใช้เวลาพัฒนาสายพันธุ์ถึง 12 ปี ชวนชมเพชรมงกุฎ บอนไซเทียนทะเลที่สวยงาม ผ่านการตกแต่งดูแลรักษาจากเกษตรกรหลาย 10 ปี เป็นต้น"พล.ต.สรรเสริญกล่าว
แจงโรดแมปแม่น้ำ 5 สาย ตค.59 เลิก วิษณุชี้เลือกตั้งสค.ปีหน้า สปช.เคลียร์งานก่อนยุบ 'อมร'ย้ำสภาดราม่าจริง 466 นายพลทหารเกษียณ สะพัด'บิ๊กติ๊ก'เต็งผบ.ทบ.
มติชนออนไลน์ : เลือกตั้งสิงหาฯ 59 'บิ๊กตู่-ครม.'พ้นหน้าที่ตุลาฯปีหน้า'วิษณุ'แจงโรดแมปใหม่ อ้างเงื่อนไขรัฐธรรมนูญต้องผ่าน'สปช.-ประชามติ' บิ๊กโด่งเผย"คสช.-ครม.'ไม่ชี้นำโหวตร่าง รธน. ปัดปฏิวัติซ้อน
@ วิษณุแจง'บิ๊กตู่'อยู่ถึงมี'ครม.'ใหม่
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ถึงระยะเวลาการสิ้นสุดการทำงานของแม่น้ำ 5 สายหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และผ่านประชามติจนนำไปสู่การเลือกตั้ง ว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้และมีการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะดำรงตำแหน่งไปจนกระทั่งมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่และได้ถวายสัตย์ปฏิญาณเรียบร้อยแล้ว แปลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ตำแหน่งหลังการเลือกตั้งเพียงสองเดือน
"ส่วน สปช.จะสิ้นสุดเมื่อมีการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นมาทำหน้าที่จนถึงวันที่มีการเปิดสภาครั้งแรก ไม่ควรอยู่ยาวกว่านั้น มีแต่จะอยู่สั้นกว่านั้นหรืออยู่กว่ากำหนด ส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แม้จะมีการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว จนมี ครม.ชุดใหม่ ยังทำหน้าที่ไปจนกระทั่งมีการเลือกตั้งหรือการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวมีแต่ ส.ส.ยังไม่มี ส.ว.ดังนั้นเมื่อเลือก ส.ว.เมื่อใด สนช.จะไปเมื่อนั้น เพราะช่วงที่ยังไม่มี ส.ว. ทาง สนช.จะทำหน้าที่แทน ส.ว.ขณะที่กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่ไปถึงวันเปิดสภา" นายวิษณุกล่าว
@ ชี้หากรธน.ผ่านเลือกตั้งส.ค.
นายวิษณุ กล่าวว่า หากประชามติร่างรัฐธรรมนูญผ่าน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะไปทำกฎหมายลูกในเดือนพฤษภาคม 2559 หลังจากนั้นจะส่งให้ สนช.พิจารณาในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2559 หลังจากนั้นจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในเดือนพฤษภาคม 2559 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับรองแล้วจะเข้าสู่ช่วงเตรียมตัวก่อนการเลือกตั้งซึ่งมีเวลา 90 วัน ตั้งแต่กรกฎาคม-สิงหาคม 2559
"การเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นจะใช้ระยะเวลาประกาศผลใน 30 วัน ขั้นตอนหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อประชุมเลือกนายกรัฐมนตรี แล้ว นายกฯ และ ครม.จะได้ถวายสัตย์ปฏิญาณคาดว่าจะเสร็จสิ้นช่วงต้นเดือนตุลาคม 2559 เมื่อรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นในตอนนั้นแม่น้ำทุกสายจะพ้นสภาพไปหมด รวมถึงสภาขับเคลื่อนปฏิรูปฯ ที่จะพ้นไปตั้งแต่มีการเปิดสภาครั้งแรก" นายวิษณุกล่าว และว่า ตอนนั้นรัฐบาลใหม่ก็เกิด แม่น้ำทุกสายไปหมดแล้ว สนช.คงไปได้แล้ว เพราะในช่วงที่มีการเลือก ส.ส.แล้ว ตนว่าในอีกสักหนึ่งเดือนซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่จะเปิดสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องหา ส.ว.แล้ว ทั้งหมดนี้ไม่ได้แต่งเองว่าตามปฏิทิน แต่ทั้งหมดหากไม่ผ่านประชามติก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง
@ ไก่อูสอนนักการเมืองทำเพื่อชาติ
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนักการเมืองหลายคนออกมาให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญว่าหาก สปช. มีมติไม่ผ่านร่างจะเท่ากับเป็นการเขียนเองล้มเองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยกร่างโดย กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มี สปช.ซึ่งมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนของประเทศประกอบกันเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นและลงมติว่าจะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ ทั้งหมดเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 กำหนดไว้ จึงไม่ใช่การร่างเองล้มเองเพื่อหวังผลทางการเมืองแบบที่นักการเมืองบางกลุ่มบางคนพยายามจินตนาการ
"ภาพสะท้อนที่ปรากฏชัดเจนในขณะนี้คือ นักการเมืองไม่ว่าจะขั้วใดพรรคใด มักจะให้ความสนใจเฉพาะประเด็น ช่วงเวลาการเลือกตั้งโดยแทบจะไม่เคยได้ยินนักการเมืองพูดเรื่องการปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมมของชาติที่วิธีการทางการเมืองแบบเดิมๆ ไม่สามารถจัดการได้เลย ช่วงเวลานี้ควรเป็นช่วงหยุดเล่นการเมือง หยุดแสวงหาประโยชน์ หรือโจมตีกันไปมาเพื่อหวังผลทางการเมืองแต่ควรเป็นช่วงเวลาของการทำงานจริงจังเพื่อประเทศชาติ เพราะประเทศไม่ใช่ของเล่น" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
@ แนะไปทบทวนตัวเองกู้ศรัทธา
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นักการเมืองที่ต้องการการเลือกตั้ง ควรใช้เวลาช่วงนี้กลับไปทบทวนบทบาทตัวเองว่า หากได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้ง จะมีแนวทางปฏิรูปอะไรเพื่อการพัฒนาประเทศชาติบ้างเพื่อกอบกู้และสร้างศรัทธาให้แก่สถาบันการเมืองและอยากขอให้เลิกใช้วาทกรรม สืบทอดอำนาจ เพราะนายกรัฐมนตรีกล่าวหลายครั้งแล้วว่า ท่านไม่ต้องการอำนาจ หากจะมีใครหรือระบบใดที่กฎหมายจะกำหนดให้มาทำงานรับภาระเพื่อประเทศชาติต่อจากรัฐบาลนี้และรับมอบงานปฏิรูปประเทศ ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นต่อไป รัฐบาลจะยินดีมาก แต่ขอให้ทำด้วยความตั้งใจและไม่นำประเทศกลับไปสู่จุดขัดแย้งเดิมๆ อีก
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า รัฐบาลรู้สึกยินดีที่ได้รับทราบว่าศาลอาญาได้จัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ แผนกคดียาเสพติด และแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ทั้งนี้รัฐบาลทราบว่าศาลอาญามีแนวคิดในการจัดตั้งแผนกคดีพิเศษ และเตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่งแล้ว เป็นการพิจารณาอย่างเป็นอิสระของศาล เนื่องจากคดีดังกล่าวมีเพิ่มมากขึ้นและการเปิดแผนกคดีพิเศษ จะทำให้การพิจารณารวดเร็ว และบริหารจัดการคดีได้สะดวกขึ้น
"ทั้งนี้ การที่ศาลอาญาเปิดแผนกคดีพิเศษแสดงให้เห็นว่า สามอำนาจหลักของการปกครองไทย ทั้ง ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและศาล มีความเห็นสอดคล้องกันและเล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการปราบปรามการค้ามนุษย์ ยาเสพติดและการทุจริต รวมถึงความประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และหวังว่าประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะร่วมกันในการกำจัด บุคคล หรือ กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ยาเสพติด และการทุจริตให้หมดไปจากสังคมไทย" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
@ ยันคสช.-ครม.ไม่ชี้นำคว่ำรธน.
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวถึงกระแสข่าวการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบให้นายวิษณุ ดูแลรับผิดชอบ มีทั้ง 7 ประเด็นการแก้ไขที่ได้บอกไปนั้นประชาชน และทางสื่อมวลชนคงทราบดี ทั้งนี้ ทาง คสช.จะไม่เข้าไปก้าวล่วง เพราะ คสช.ควรจะเป็นคนกลางที่เฝ้ามอง รวมทั้ง ครม. ก็เฝ้ามองในแง่มุมต่างๆ ก่อนจะเสนอประเด็นไป และเมื่อเสนออะไรไปคงไม่ไปก้าวล่วง สปช.เพราะทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
"เพราะฉะนั้นทาง คสช.ถือว่าเราเดินหน้าในการทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช.ทั้ง 9 ข้อ อันจะส่งผลดีต่อยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ประกอบกับมีการประชุมร่วมกันทั้ง ครม.กับ คสช.เป็นช่วงๆ เพื่อให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้ คงเฝ้าติดตามการทำงานของแต่ละฝ่าย แต่คงไม่ไปก้าวล่วง" พล.อ.อุดมเดชกล่าว
พล.อ.อุดมเดช กล่าวถึงความคิดเห็นของ สปช.บางคนต้องการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่าเฝ้าดูอยู่เพราะเป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของ สปช.เขาว่ากันไป เนื่องจากเขามีหน้าที่ของเขา คสช.ก็ดูสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งในใจอยากให้ทุกอย่างราบรื่น ส่วนจะทำประชามติก็ว่ากันไป ที่มีคนมองว่า คสช.จะไปชี้นำอะไรสปช.นั้นคงไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้ว สปช.ถ้าไปดูพื้นที่ฐานการเข้ามาทำหน้าที่แล้ว ทุกคนมาจากการคัดเลือกของส่วนภูมิภาคและจากหลายๆ ส่วน ผ่านการกลั่นกรองกันมา คสช.ไม่ได้ไปอะไร เมื่อเข้ามาแล้วก็มีระบบของส่วนกลางที่ได้รับการคัดสรรต่างๆ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถไปชี้นำอะไรเขาได้ เห็นได้ว่าทุกคนมีอิสระในความคิด จะไปก้าวล่วงเขาไม่ได้ อยากให้ทุกคนสบายใจได้ว่า คสช.ไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ เพราะมีขั้นตอนกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว มีการวางขั้นตอนไม่ให้เกิดความสับสน จะไปทำอะไรไม่ได้ ทุกอย่างเป็นความคิดอิสระเขามีการชี้แจงพูดจากัน ที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นตัวของเขาเอง"
@ ยันระดับบนไม่มีปฏิวัติซ้อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีมีความเชื่อมั่นที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปี 2559 หรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า อาจมีความกังวลใจบ้าง ในบางประเด็นซึ่งนายวิษณุ ได้ชี้แจงไปแล้วถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีการลงประชามติ ทุกอย่างก็ต้องว่ากันไป
พล.อ.อุดมเดช กล่าวถึงกระแสข่าวการปฏิวัติซ้อนว่าทุกคนรู้ว่าทุกส่วนที่เกี่ยวข้องและดูแลความมั่นคงไม่มีความคิดเหล่านี้ กองทัพเป็นเนื้อเดียวกันอยู่กับรัฐบาล และสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ส่วนต่างๆ ก็เช่นกันมีการคุยกันใน ครม.ทั้งการทำงานของรัฐมนตรีแต่ละคนก็ทำงานอย่างเต็มที่
"เรื่องนี้คงเป็นกลุ่มคนที่ไม่อยากเห็นความราบรื่นในประเทศ อยากให้เกิดความแตกแยกในความคิด ซึ่งในระดับบนจริงๆ แล้วทั้งรัฐบาลและ คสช.รู้ว่าไม่เป็นความจริง เป็นไปไม่ได้ แต่อาจจะส่งผลต่อความรู้สึกของคนที่ไม่รู้ ต้องช่วยกันชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ ว่า ประเทศชาติความมั่นคงดี ทั้งทหารและตำรวจที่อยู่ฝ่ายความมั่นคงรับฟังและสนับสนุนรัฐบาลทุกอย่างอยู่แล้ว" พล.อ.อุดมเดชกล่าว และว่า รัฐบาลและ คสช.ต้องมั่นคงแข็งแรง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ประชาชนบางกลุ่มอาจฟังข่าวและไม่รู้ อาจจะเกิดความกระเพื่อมทำให้เกิดเป็นปัญหาเป็นแนวความคิดของคนภายนอกได้ แต่จริงแล้วไม่มีอะไร ในทุกสัปดาห์ ครม.และ คสช.ก็ร่วมกันคิดอะไรต่างๆ คนที่ไปฟังข่าวเหล่านี้ไม่เข้าใจก็อาจจะทำให้เกิดความกระเพื่อมได้ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว
พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า สรุปแล้วคนที่ปล่อยข่าวหรือคนที่ทำคือ คนที่ไม่ปรารถนาดีต่อประเทศชาติ ทั้งๆที่ไม่มีอะไร เพราะความมั่นคงขณะนี้มีมากถึงมากที่สุด คนไม่ดี ต้องการให้เกิดความแตกแยกภายใน อยากให้เกิดความหวาดระแวง ก็จะมีผลกระทบต่อส่วนรวมในเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องช่วยกันทำความเข้าใจ
@ "อมร"ฮึ่มฟ้องคนทำเสียชื่อ
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ สปช.กล่าวถึงกรณีที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช.ให้ระบุให้ชัดว่า สปช.คนไหนชอบอภิปรายดราม่าเหมือนสภาการเมือง และบางคนนำเรื่องความเคลื่อนไหวของ สปช.ไปรายงานผู้ใหญ่ว่า ตนเป็นนักวิชาการ พูดความจริงและต้องรับผิดชอบคำพูดของตนเอง สิ่งที่นายเสรีให้สัมภาษณ์สื่อกล่าวหาตนนั้น เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับที่พูดไป ถือเป็นการเอาดีใส่ตัวเหมือนเป็นฮีโร่แต่โยนบาปมาให้ผู้อื่น
"ขอให้กลับไปอ่านทำความเข้าใจหรือฟังเรื่องราวให้ดีก่อนจะออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ เพราะไม่อยากให้เรื่องราวบานปลาย แต่หากผู้ใดมีเจตนาไม่ดีทำให้คนเข้าใจผิด หรือทำให้ผมเสื่อมเสียชื่อเสียง ก็อาจต้องปกป้องตัวเองตามกฎหมาย ผมไม่ใช่นักการเมืองที่พูดความจริงครึ่งหนึ่งบ้าง หรือไม่พูดความจริงเลย ส่วนนายเสรีก็เป็นนักการเมืองอาชีพอาจพบเจอคนประเภทนี้มามาก เลยคิดว่าคนอื่นเลวเหมือนกันหมด แต่ไม่ใช่ผม ที่ไม่ต้องการตอบโต้ เพราะที่ให้สัมภาษณ์ไปไม่มีเจตนาทำลายใคร หากแต่เห็นข้อบกพร่องก็อธิบายไปตามสิ่งที่เห็น คนส่วนใหญ่ใน สปช.เป็นคนดีมีคุณภาพ ไม่เคยเหมารวม"นายอมรกล่าวและว่า ไม่ใช่นักเลงไปเที่ยวท้าตีท้าต่อยกับใคร จึงไม่ต้องมาถามว่าจะต้องเปิดเผยชื่อใครก็ตามที่สามารถต่อสายถึงขั้วอำนาจต่างๆ ได้ เจ้าตัวเขารู้อยู่แก่ใจ ตนไม่เครียด แต่รำคาญ เพราะการไปจี้ใจดำคนบางคนทำให้ถึงกับอยู่กันไม่สุข ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ กันคนละทีสองที เพื่อน สปช.ที่โทรมาหรือไลน์มาให้กำลังใจตนมีมากกว่าคนที่มองในแง่ร้าย ดังนั้น จึงไม่กังวล ยังเดินหน้าเข้าสภาทำหน้าที่ของต่อไป
@ วันชัยยันคว่ำรธน.หวังให้ปฏิรูป
นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวิสามัญสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวว่า มี สปช.หลายคน มาบอกว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มาจาก สปช. เป็นแม่น้ำสายเดียวกัน ยังไงๆ ควรจะเกื้อหนุนกันโหวตให้รัฐธรรมนูญผ่านเพราะพวกเดียวกัน ต้องสนับสนุนกัน
"แต่ผมไม่เห็นด้วย เป็นความคิดที่บริสุทธิ์ใจ ไม่ได้คำนึงถึงพวกพ้องเพื่อนฝูงทั้งสิ้น เอาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้งเป็นสำคัญและไม่ได้เชียร์ใครเพื่อหวังประโยชน์อื่นใดทั้งสิ้นโหวตให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านแล้วไปทำประชามติแล้วสู่สนามเลือกตั้ง ก็รู้กันอยู่แล้วว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เลือกตั้งแล้วอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งเดิมๆ เรื่องเดิมๆ ความชั่วร้ายเดิมๆ จะย้อนรอยถอยกลับมาและมันก็แน่นอนอยู่แล้วเห็นๆ กันอยู่" นายวันชัยกล่าว และว่า ถ้าคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเรื่องอย่างที่ว่าจะยังไม่เกิดขึ้นแน่นอน พล.อ.ประยุทธ์จะยังอยู่ทำงานต่อไป แก้ปัญหาของประเทศ ปฏิรูปประเทศและยิ่งนานวันเข้า สีแต่ละสีมันจางลง การปรองดองจะเกิดขึ้นเมื่อมันเป็นเช่นนี้ เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติดีกว่าเห็นแก่หน้าใคร ว่ากันแบบตรงไปตรงมา
นายวันชัย กล่าวว่า ถ้าให้เลือกระหว่างโหวตให้รัฐธรรมนูญผ่านแล้ว กมธ.ยกร่างฯยังอยู่นำไปสู่การเลือกตั้ง รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์เตรียมกลับบ้าน แต่ถ้าโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯและ สปช.กลับบ้าน แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่และนำไปสู่การปฏิรูปประเทศต่อไป จะเลือกคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ทำคราวนี้จะทำคราวไหนและถ้าไม่ช่วยกันก็ไม่รู้ว่าจะไปช่วยกันครั้งไหนนี่คือความต้องการของประชาชน
@ รสนาชี้ยุบสปช.เป็นผลดีโหวตรธน.
น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.ด้านพลังงาน กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในประเด็นที่ให้สมาชิกสภาพของสมาชิก สปช.สิ้นสุดลงทันที ไม่ว่าจะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญว่าจะหารือกันในการประชุมนอกรอบของ สปช.ในวันที่ 15 มิถุนายน ว่า สปช.จะดำเนินการอย่างไรบ้าง ส่วนตัวแล้วเห็นว่าประเด็นการแก้ไขดังกล่าวก่อนหน้านี้ในรัฐธรรมนูญได้ระบุว่า หาก สปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญให้สิ้นสุดการทำหน้าที่ แต่ถ้ารับร่างแล้ว สปช.ยังต้องทำหน้าที่ต่อไปเพื่อประโยชน์ในการจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นที่จำเป็น แต่ในเมื่อขอแก้ไขในประเด็นนี้ เห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ดี เพราะมีความชัดเจนว่า เพราะถึงอย่างไร สปช.ต้องถูกยุบ ซึ่งไม่ต้องมีประเด็นให้ห่วงกังวลถึงสถานภาพของ สปช.แต่ละคน รวมทั้งการวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญว่าจะรับหรือไม่รับเป็นไปด้วยความอิสระด้วย
เมื่อถามว่า มี สปช.บางรายที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ น.ส.รสนากล่าวว่า ขอให้ดูการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นฉบับสุดท้ายก่อน เพราะถ้าหาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขร่างในภาพรวมแล้วมีลักษณะที่พอไปได้ น่าจะยอมให้ผ่านได้ แต่ถ้าเกิดว่าแก้ไขแล้วร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้นำสู่การปฏิรูปประเทศ หรือแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คงต้องพิจารณากันอีกครั้งว่าจะยอมให้ผ่านหรือไม่
"ส่วนการแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นแทน สปช.เพื่อดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ แทน สปช. ที่จะสิ้นสุดหลังจากการลงมติร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะขับเคลื่อนตามข้อเสนอของ สปช. หรือจะต้องการที่เซตเครื่องการทำงานใหม่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา สปช.มีข้อเสนอที่สามารถทำได้ทันที ซึ่งหลายข้อเสนอเป็นข้อเสนอที่ประชาชนทุกคนได้ประโยชน์ แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ยังบอกไม่ได้ว่าสภาขับเคลื่อนฯจะดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยในทิศทางใด" น.ส.รสนากล่าว
@ สมบัติติงอย่าตั้งธงก่อนโหวตรธน.
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการประชุม สปช.ในวันที่ 15 มิถุนายน ว่า จะหารือกรณีที่ ครม.ได้ชี้แจงแนวทางการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชัดเจน และวาระการทำงานของ สปช.จะยุติลงในวันที่ลงความเห็นว่าหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็จะมีการปรึกษาหารือกันว่าจะกำหนดแนวทางการทำงานต่อจากนั้นอย่างไร กรณีที่นายวันชัย มีความเห็นว่าให้ สปช.ทั้งคณะโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ทำหน้าที่ต่อนั้นมองว่า สปช.มาจากหลายภาคส่วนล้วนมีความคิดเห็นหลากหลาย สำหรับตนมองว่าตอนนี้ยังไม่ควรไปตั้งธงไว้ก่อนว่าจะออกมาแบบไหนเพราะยังไม่รู้เลยว่าเขาแก้ไขออกมาอย่างไร หากเขาแก้ไข ตามความเห็นของทุกฝ่าย สปช.ก็ไม่จำเป็นต้องไม่เห็นด้วย มิฉะนั้นที่ร่างฯมาก็เสียของเปล่า
"จึงยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องออกมาแสดงความเห็นอะไรเพราะยังไม่เห็นตัวร่างที่แก้ไขแล้ว หาก กมธ.ยกร่างฯแก้ไขมาดีไม่จำเป็นต้องไปขวางเอาไว้ ส่วนกำหนดการตามที่ ครม.ได้กำหนดนั้นเหมาะสมเพราะภารกิจของ สปช.ก็บรรจุแล้ว ทั้งนี้ หากจะมีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปแห่งชาติขึ้นมาใหม่ผมก็เห็นว่าเหมาะสมดีถ้าจะให้ผมกลับไปสมัครคงไม่สมัครแน่นอน ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบุคคลที่มีความรู้ความสามารถอีกหลายคนทำดีกว่า" นายสมบัติกล่าว
@ "พิชัย"แนะบิ๊กตู่คุยแม้วให้จบ
นายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภาและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ถึงแนวทางการสร้างความปรองดองของคนในชาติว่า เวลานี้ถือเป็นโอกาสดีที่ พล.อ.ประยุทธ์จะดึงคู่ขัดแย้งเข้ามาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดย พล.อ.ประยุทธ์ต้องเป็นตัวกลางในการจัดการ โดยเฉพาะการพูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะปัญหาการเมืองไทยที่เกิดความแตกแยกมายาวนานนั้น พ.ต.ท.ทักษิณมีส่วนสำคัญที่จะก่อให้เกิดความปรองดองขึ้น หากไม่คุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แม้จะเขียนเรื่องการปรองดองในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร ก็ไม่มีประโยชน์ ไม่สามารถก่อให้เกิดความปรองดองขึ้นได้ เพราะตัวหนังสือไม่สามารถทำให้เกิดความปรองดองได้จริงอย่างการกระทำ การจะมีความปรองดองความสงบเรียบร้อยเกิดขึ้นนั้นอยู่กับการกระทำ และเชื่อว่าหาก พ.ต.ท.ทักษิณเห็นด้วยที่จะหันหน้าเข้าหากันทุกอย่างก็จะจบลง
ส่วนคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณที่มีอยู่ พ.ต.ท. ทักษิณต้องยอมรับความผิดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนคดีต่างๆ ที่เหลืออยู่ก็ต้องไปสู้กัน ผิดว่าผิด ถูกว่าถูก แต่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณกลัวคงเป็นเรื่องของความปลอดภัย เพราะเขาไม่กล้าเจรจาอย่างเปิดอกตรงไปตรงมากับใคร เขาหวาดระแวงความปลอดภัย คนที่จะเข้ามาทำร้ายเขาไม่แน่ใจว่าจะมีจริงหรือไม่ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับรองความปลอดภัยให้เขาด้วย แม้จะมีบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่าง เช่นพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หรือคนเสื้อเหลือง แต่คิดว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าจะเอาจริง ทางก็โล่งไปในระดับหนึ่งแล้ว
นายพิชัย กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรดำเนินการเรื่องถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะยิ่งทำก็ยิ่งก่อให้เกิดความไม่สบายใจ เกิดความขัดแย้ง จะทำให้สังคมหวาดระแวง เกิดความไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาล เวลานี้ต้องไม่สร้างบรรยากาศที่ไม่ดีต่อกัน ไม่มีความจำเป็นที่จะไปสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้แก่กัน จึงไม่อยากให้พูดถึงเรื่องการถอดยศแล้วเดินหน้าสู่การปรองดอง โดย พล.อ.ประยุทธ์ต้องลงมาพูดคุยด้วยตัวเองจึงจะประสบความสำเร็จ