- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 14 June 2015 11:30
- Hits: 4454
ซัดนัวเกมคว่ำร่างรธน. สปช.เดือด ฉุนถูกยุบเลิกรอมชอม เฉ่ง'อมร'สาวไส้กันเอง สมบัติชี้'บ้าน 111-109' ส่อได้นั่งสภาขับเคลื่อน วินธัยยันปึ้กไร้ปว.ซ้อน
มติชนออนไลน์ : 'สดศรี'ห่วง กกต.ออกระเบียบประชามติ หวั่นคนร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุเป็นองค์กรอิสระไม่มีอำนาจ กุนซือ กมธ.ยกร่างฯเมินเสียงขู่คว่ำร่าง รธน. ลั่นเขียนใหม่ได้
@ 'ดิเรก'แจงปมคว่ำร่างรธน.
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นนทบุรี กล่าวถึงกรณีนายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือวิป สปช. ระบุว่า มีแนวโน้มสูงที่ สปช.จะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ สปช.อาจจะไม่พอใจที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่แก้ร่างรัฐธรรมนูญตามที่ขอแก้ไขว่า ยังไม่เคยได้ยิน และไม่รู้ว่านายวันชัยคิดอย่างไร ทั้งนี้ได้พูดมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้แก้ประเด็นหลักที่ได้นำเสนอไป เช่น ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่มา ส.ส. และที่มา ส.ว. ก็รับไม่ได้ หากไม่แก้ตามนี้ก็จะไม่โหวตให้ และยังคงยืนยันคำเดิม แต่หากทาง กมธ.ยกร่างฯแก้มา ก็จะโหวตให้ และเชื่อว่าหากแก้ให้ตามนี้หลายฝ่ายจะเห็นด้วยแน่นอน
"ส่วนกระแสที่ว่าจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐบาลอยู่ต่อนั้น ถ้ามีวิธีการโหวตเพื่อเช่นนี้ ผมว่ามันไม่เหมาะสมที่จะทำ มันจะทำให้เรามีปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญไม่รู้จักจบ เราควรทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับตามระบอบการปกครองประชาธิปไตย ไม่ใช่เอาคนเป็นตัวตั้ง มีรูปแบบพิเศษมา จะทำให้ปัญหาตามมาไม่รู้จักจบ แล้วสุดท้ายวังวนเดิมจะกลับมา มีปฏิวัติรัฐประหารอีก อยากให้ดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมากกว่า" นายดิเรกกล่าว
@ 'เทียนฉาย'ยันไม่มีล็อบบี้
นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช.ด้านพลังงาน ในฐานะเลขาฯ วิป สปช. กล่าวว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ยังไม่ได้มีการพูดถึงกระแสข่าวโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่ยืนยันว่า วิป สปช.ไม่สามารถและไม่มีมติ หรือข้อคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับการโหวตร่างรัฐธรรมนูญ เพราะยังเร็วเกินไปที่พูดตอนนี้ อีกทั้งการลงมติเป็นสิทธิส่วนบุคคลของ สปช.แต่ละคน ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ใน สปช. ไม่มีการวิ่งล็อบบี้หาพรรคพวกเพื่อโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญ หรือคว่ำรัฐธรรมนูญอะไรทั้งสิ้น เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลผ่านสาธารณเท่านั้น
นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน สปช. กล่าวว่า ขณะนี้ สปช.เสียงแตกในการจะโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ว่าให้ยุบ สปช.แล้วตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศใหม่ จำนวน 200 คน ทำให้เกิดแนวคิดสำหรับ สปช.บางคนว่า จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร แต่ สปช.กลุ่มใหญ่ยังไม่มีการหารือ หรือต่อรองการโหวตร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมเชื่อว่าสมาชิกทุกคนจะใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ โดยไม่มีใบสั่งคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
@ 'มนูญ'ชี้เป็นไปได้ทั้งรับ-ไม่รับ
นายมนูญ ศิริวรรณ สปช.ด้านพลังงาน กล่าวถึงกระแสข่าว สปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ว่ายังไม่ได้คุยกับ สปช.คนอื่น แต่ขณะนี้เสียงไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเลย แต่เป็นไปในทิศทางว่า จะขอรอดูว่าร่างแรกที่ กมธ.ยกร่างฯ เสนอมาได้รับการแก้ไขมากน้อยแค่ไหน หากแก้ไขปรับปรุงแล้ว สปช.ส่วนใหญ่พอใจก็เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบ แต่หากแก้ไขหรือปรับปรุงน้อยอาจจะไม่ผ่านการเห็นชอบได้
นายมนูญกล่าวถึงกรณีที่จะมีการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นมาทำหน้าที่แทน สปช.เป็นเรื่องที่ดี เพราะมีความชัดเจนว่า ตกลงแล้ว สปช.จะสิ้นสภาพเมื่อให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สปช.ต้องเร่งรีบจัดทำภารกิจให้เสร็จสมบูรณ์ให้เร็วที่สุด ส่วนจะแต่งตั้งบุคคลใดมาทำหน้าที่สภาขับเคลื่อนฯ คงแล้วแต่รัฐบาล แต่ถ้ามี สปช.เข้าไปอยู่ในสภาขับเคลื่อนฯก็จะทำให้สภาขับเคลื่อนฯทำงานต่อเนื่อง
@ หนุนปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง
"ข้อเสนอให้ถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งนั้น ส่วนตัวมองว่ามีข้อดีคือ เป็นการวางรากฐานของการปฏิรูปประเทศก่อนที่เราจะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง เนื่องจากต้องยอมรับว่า สาเหตุที่ทำให้มีการยึดอำนาจส่วนหนึ่งมาจากการเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เพราะระยะเวลา 10 ปี ประเทศติดอยู่ในหล่ม การเมืองและประเทศชาติล้าหลัง หากเราต้องการปรับเปลี่ยนประเทศให้เดินไปอย่างมั่นคง ต้องวางรากฐานการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมกันใหม่" นายมนูญกล่าว
นายมนูญกล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวนั้น มีทั้ง สปช.เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สปช.บางคนมองว่าไม่น่าจะต้องมีการลงประชามติ บางคนบอกว่าควรจะทำหน้าที่ของ สปช.ให้ดีที่สุด เพราะการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งก่อนปฏิรูปไม่ใช่หน้าที่ของ สปช. แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและประชาชน
@ 'วันชัย'เผยสปช.ประชุมลับ
นายวันชัย สอนศิริ โฆษก วิป สปช. กล่าวถึงการประชุมลับ สปช. ในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ว่า จะเป็นการเปิดเวทีให้ สปช.ได้หารือกันถึงแนวทางการปฏิรูปที่เหลือเวลาอีก 2 เดือน พร้อมทั้งสรุปทบทวนภารกิจต่างๆ ที่ผ่านมาว่ามีอะไรบรรลุผลและมีอะไรที่ต้องดำเนินการต่ออีกหรือไม่ แต่คาดว่าการปฏิรูปทุกด้านจะเสร็จทันตามกำหนดที่นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. วางไว้ในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ก่อนจะนำเสนอให้รัฐบาล ส่งให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศดำเนินการ และแถลงผลการปฏิรูประเทศของ สปช.ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 1 ปี ให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
นายวันชัยกล่าวว่า เชื่อว่าในการประชุมคงจะไม่มีการหารือถึงเรื่องคำถามสำหรับทำประชามติที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เปิดช่องให้ สปช.สามารถเสนอได้ 1 คำถาม เพราะขณะนี้ยังไม่รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจาก สปช.หรือไม่ หากไม่ผ่านก็จะไม่มีการทำประชามติ
@ ลั่นเลือกคว่ำให้'บิ๊กตู่'อยู่ต่อ
"ผมจะขออภิปรายต่อที่ประชุม เพื่อถอดรหัสการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งนี้ว่าสะท้อนและส่งสัญญาณอะไรต่อ สปช. จะทำให้เห็นจังหวะก้าวต่อไปอีก 2 เดือนที่เหลือของ สปช.ว่าควรไปทิศทางไหน การโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะส่งผลต่อประเทศอย่างไร แต่จะไม่ชี้นำหรือโน้มน้าวให้ สปช.คนอื่นให้โหวตรับหรือไม่รับ ส่วนตัวเห็นว่าระหว่างการเลือกให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน แล้วให้ กมธ.ยกร่างฯชุดนี้อยู่ต่อไปจนมีการเลือกตั้ง กับการเลือกให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แล้วให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ปฏิรูปต่อไป พร้อมตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ขึ้นใหม่ ผมขอเลือกคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ" นายวันชัยกล่าว
นายวันชัยกล่าวว่า จากนี้ไปจะได้เห็น สปช.แสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างเต็มที่มากขึ้น จะไม่มีการประนีประนอมถ้อยทีถ้อยอาศัยเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน สปช.ก็ต้องหมดสภาพไป ต่างจากร่างเดิมที่ สปช.จะได้อยู่ต่อ
@ กุนซือกมธ.ยกร่างฯเมินเสียงขู่
นายประสพสุข บุญเดช ประธานที่ปรึกษา กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯยังไม่ได้มีการหารือหรือพูดคุยกันเลยเรื่องที่ สปช.บางคนจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าท้ายสุดแล้วสปช.จะลงมติโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญก็คว่ำไป ขึ้นอยู่กับการตัดสินของ สปช.แต่ละคน หากพิจารณาแล้วเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ กมธ.ยกร่างฯจัดทำขึ้นไม่ถูกใจหรือไม่เป็นไปตามที่ สปช.ต้องการ
"จะลงมติโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะหากร่างตกไปก็สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ได้ กระแสข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญเลย" นายประสพสุขกล่าว
@ ชี้111-109 นั่งสภาขับเคลื่อนฯ
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า การที่ สปช.ต้องทำหน้าที่จนถึงวันที่รับร่างรัฐธรรมนูญถือเป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะภารกิจหลักคือการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และตลอดการทำงานที่ผ่านมา สปช.ทุกคนทำงานเต็มที่ ไม่ล้มเหลวเหมือนที่มีการระบุ ส่วนการที่รัฐบาลได้เสนอแก้รัฐธรรมนูญที่สามารถเปิดโอกาสให้สมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 เข้ามาทำงาน เชื่อว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้รับการสรรหาเข้ามาทำหน้าในสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ เพราะกฎหมายได้เปิดช่องแล้ว ดังนั้นการสรรหานักการเมืองเข้ามาทำงานต้องไม่มีคดีทุจริตติดตัว แต่ถ้าเป็นคนที่ได้รับผลพวงทุกฝ่ายก็พอจะรับได้
นายสมบัติกล่าวว่า ขอให้ทุกฝ่ายอย่าวิจารณ์ถึงเรื่องการล้มร่างรัฐธรรมนูญ เพราะยังมีเวลาในการปรับแก้ ส่วนระบบการเลือกตั้งที่ให้มี ส.ส. 450 คน แบ่งเป็นแบบแบ่งเขต 300 คน บัญชีรายชื่อ 150 คน และจะไม่ใช้โอเพ่นลิสต์นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเพียงรายละเอียด เพราะเรื่องที่ทุกฝ่ายควรให้ความสนใจคือ การจะออกแบบอย่างไรให้รัฐบาลมีเสถียรภาพและความเข้มแข็ง ไม่ใช่มีรัฐบาลผสมที่อ่อนแออย่างที่ผ่านมา
@ 'นิพิฏฐ์'ซัดสปช.เล่นปาหี่กัน
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณี นายวันชัย สอนศิริ โฆษก วิป สปช. ให้สัมภาษณ์ว่า คาดว่า สปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า "ผมงงกับความคิดของพวกท่าน ตกลงท่านอุตส่าห์ร่าง รธน.มาเพื่อคว่ำหรือ หากลงประชามติแล้วประชาชนคว่ำเอง มันอธิบายได้ว่าประชาชนไม่เห็นด้วย แต่พวกท่านร่างมาเองแล้วคว่ำเสียเอง ก่อนให้ประชาชนลงประชามติมันคืออะไร แล้วที่เปิดเวทีรับฟังความเห็นกันมาตลอดนี่ท่านทำทำไม เล่นปาหี่กันหรือไง แล้วเบี้ยประชุมผู้ยกร่างครั้งละ 9,000 บาท พร้อมลูกเมียที่ท่านแต่งตั้งเข้าไปรับเงินเดือน ตกลงมันคืออะไร"
@ 'เสรี'จวก'อมร'อย่าเหมารวม
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายอมร วณิชวิวัฒน์ สปช.ด้านการเมือง ออกมาวิจารณ์การทำงานของ สปช.ว่าชอบอภิปรายดราม่าเหมือนสภาการเมือง และชอบย้ายที่นั่งในสภาเพราะอยากออกทีวี ว่าไม่เคยเห็นพฤติกรรมอย่างที่นายอมรพูด ใครจะอยากออกทีวี แล้วนายอมรเองก็ได้ออกด้วย มันไม่ใช่อย่างที่นายอมรพูด ไม่ได้แก้ตัว แต่พูดแบบนั้น
เดี๋ยวคนเข้าใจผิด เพราะเรื่องที่พูดออกมานั้นไม่จริง การที่นายอมรระบุว่า มีบางคนนำเรื่องความเคลื่อนไหวของ สปช.คอยรายงานผู้ใหญ่นั้น ถ้ามาพูดแบบนี้นายอมรต้องบอกให้ชัด ถ้ามีจริงเป็นใคร แล้วไปรู้ได้อย่างไร ขณะที่คนคนนั้นกำลังไปกระซิบผู้ใหญ่ นายอมรได้ยินได้เห็นหรือไม่ ถ้ารู้จริงก็เอ่ยชื่ออกมา ไม่ใช่มาเหมารวม มันเสียหาย จริงๆ ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือเสียหาย
"เรื่องนี้ ต้องว่ากันด้วยเหตุผล เป็นผู้ใหญ่กันแล้ว พูดแบบนี้กลายเป็นนายอมรดีอยู่คนเดียว คนอื่นใช้ไม่ได้ เลวกันทั้งสภา ผมว่ามันไม่ใช่ ถ้าจะวิจารณ์คนอื่นต้องหันดูตัวเองด้วย อย่าเอาตัวเองไปเป็นไม้บรรทัดวัดคนอื่น ยิ่งเหลือเวลาการทำงานอีกไม่กี่เดือน ก่อนไปต้องทิ้งทวนให้ประเทศได้ประโยชน์มากที่สุด อย่ามัวแต่ยึดติด" นายเสรีกล่าว
@ 'จ้อน'แจง สปช.ทำงานเต็มที่
นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช.ด้านพลังงาน ในฐานะเลขาฯ วิป สปช. กล่าวถึงกรณีนายอมร ให้ความเห็นในลักษณะตำหนิการทำงานของ สปช. ด้วยกันเองว่า เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่ไม่เข้าใจข้อเท็จจริง ที่ผ่านมา สปช. ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ทั้งงานคณะกรรมาธิการ งานประชุม สปช. และการลงพื้นที่ 77 จังหวัด เพื่อรับฟังความเห็นด้านการปฏิรูป
นายอลงกรณ์กล่าวว่า ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ระบุถึงการทำหน้าที่ของ สปช. ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากไม่ใช่พวก จึงตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นมาทำหน้าที่แทนนั้น มองว่า นายกฯเป็นนักบริหาร ที่ผ่านมาได้ให้ความเป็นอิสระกับการทำงานของ สปช.อย่างมาก จึงอาจทำให้มีช่องว่างระหว่างรัฐบาลและ สปช.อยู่ระดับหนึ่ง ดังนั้นการแก้ปัญหาต่อไปและเพื่อให้การปฏิรูปเห็นผล จึงต้องการผู้เชี่ยวชาญ และบุคคลเข้ามาขับเคลื่อนการปฏิรูปที่เป็นหนึ่งเดียวกันรัฐบาลและราชการ
@ โฆษกทบ.ปัดข่าวรัฐประหาร
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก (ทบ.) กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐประหารว่า ไม่เป็นความจริง เป็นการปล่อยข่าวที่ไม่สร้างสรรค์ และเชื่อว่าอาจเป็นความพยายามของคนบางกลุ่มที่ต้องการสร้างความสับสนในสังคม และเป็นกลุ่มคนไม่หวังดี คิดไม่ดีกับประเทศ ปัจจุบันการทำงานของหน่วยงานราชการทั้งหมดและทุกเหล่าทัพมีความสามัคคีและแน่นแฟ้น มีการทำงานที่รองรับการทำงานตามนโยบายของ คสช. ที่ผ่านมาทุกหน่วยราชการตอบสนองการทำงานของรัฐบาล และ คสช. รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ดังนั้นขอให้สังคมอย่าให้ความสำคัญกับข่าวที่ไม่เป็นความจริง และระมัดระวังบริโภคข่าวสารด้วยความระมัดระวัง พร้อมไตร่ตรองให้รอบคอบ
@ แจงคำสั่งห้ามย้ายอาวุธเก่า
พ.อ.วินธัยกล่าวถึงคำสั่งของ คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ กำหนดให้ข้าราชการทหาร อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการที่มีอาวุธเพื่อใช้ในการราชการของหน่วย ห้ามเคลื่อนย้ายอาวุธโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะได้รับคำสั่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และหากมีความประสงค์จะเคลื่อนย้ายให้รายงานต่อแม่ทัพ / กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยแต่ละกองทัพ ภายใน 15 วันเป็นอย่างน้อย ว่าเป็นคำสั่งที่ยังคงประกาศใช้และไม่ได้ยกเลิก แต่นำมาประกาศย้ำเตือนและส่งหนังสือเวียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อย้ำเตือนให้หน่วยราชการทราบว่าให้คงปฏิบัติตามกฎระเบียบเดิม และกระตุ้นเตือนการทำงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
"ไม่ได้สั่งห้าม แต่หน่วยใดที่จะใช้อาวุธก็ให้รายงานกับหน่วยกองกำลังของ คสช.ในพื้นที่เท่านั้นเอง เพราะพอมีปืนของอาสาสมัคร (อส.) ที่ จ.นครราชสีมา หาย จึงเป็นเรื่องต้องนำเรื่องนี้กลับมาพูดอีกครั้ง ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือกลุ่มทางการเมือง หรือจะมีเหตุการณ์ต่อต้านอะไรกับรัฐบาลหรือ คสช." โฆษก ทบ.กล่าว
@ 'สดศรี'ห่วงกกต.ออกระเบียบ
นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกระบวนการทำประชามติว่า ส่วนตัวมีความเป็นห่วง กกต.ชุดปัจจุบัน เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดให้ กกต.ออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดทำประชามติได้ แต่ในฐานะที่เคยเป็น กกต.มาก่อน มองว่า กกต.เป็นเพียงองค์กรอิสระ ไม่ได้มีอำนาจในการออกกฎหมายใด การที่จะให้ออกระเบียบต้องระวังให้ดีว่าข้อเสี่ยงอาจจะเกิดขึ้น
"ตอนนี้กำลังโยนมาให้ กกต.ดำเนินการเรื่องนี้ ถ้าจะเป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้ออกระเบียบหรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ออกเสียงประชามติน่าจะเป็นการปลอดภัยกว่าที่จะให้ กกต.เป็นผู้ออกระเบียบ ขณะนี้ กกต.ต้องรับหน้าเสื่อทุกอย่างและอาจจะมีคนมาร้องเรียน กกต.ได้ว่า ระเบียบที่ กกต.ออกมานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่" นางสดศรีกล่าว
@ แนะเลิกคำสั่งห้ามชุมนุม
นางสดศรีกล่าวถึงการตั้งคำถามในการทำประชามติว่า ต้องเป็นคำถามปลายเปิด ไม่ต้องมีการอธิบายความ เพราะการออกเสียงประชามติถามได้เพียงแค่ว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ดังนั้นคำถามปลายเปิดเป็นเรื่องสำคัญ ต้องระบุให้ชัดเจน ยกตัวอย่างเห็นชอบหรือไม่ชอบกับรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจาก สปช.หรือไม่ เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้นายกรัฐมนตรีอยู่ต่อหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะทำบัตรออกเสียงประชามติให้มีเพียงบัตรเดียวกันก็ได้ เพราะต่างประเทศก็มีหลายคำถาม แต่ใช้บัตรออกเสียงประชามติแค่เพียงหนึ่งใบ แต่ กกต.อาจกลัวประชาชนสับสนก็เลยจะมีการทำบัตรออกเสียง 2-3 ใบ
นางสดศรียังกล่าวถึงการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาลงประชามติว่า ขณะนี้ยังติดประกาศคำสั่ง คสช.อยู่หลายเรื่อง จึงเห็นว่าควรต้องเอาออก เพราะรัฐบาลต้องให้ประชาชนสามารถมาออกเสียงประชามติ และก่อนออกเสียงประชามติต้องมีการเปิดเวทีกลางเพื่อให้คนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาอภิปรายถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นได้ ดังนั้นกฎหมายและคำสั่งใดที่ห้ามชุมนุมหรือมาแสดงความเห็นในพื้นที่สาธารณะ คงต้องยกเลิก