- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 12 June 2015 14:58
- Hits: 3755
'อุ๋ย'ไม่เชื่อ! 'สมคิด'เสียบ-ทีมเศรษฐกิจ สนช.ถกรธน. 3 วาระ 18 มิย. วิษณุโต้ใบสั่งสปช.คว่ำร่าง กกต.แย้มประชามติ 3 บัตร 'บิ๊กโด่ง'ฮึ่มนศ.ออกมาป่วน
'หม่อมอุ๋ย'ตีกัน 'สมคิด'คุมทีมเศรษฐกิจ 'วิษณุ'ระบุแก้รธน. เปิดช่องสมาชิกบ้าน 109-111รับตำแหน่งการเมือง เพราะหลายคนมีบทบาททางสร้างสรรค์ ปัดมีใบสั่งให้สปช.คว่ำร่างฯ'พรเพชร'นัดถก 18 มิ.ย. แก้รธน.ชั่วคราว 3 วาระรวด 'บิ๊กโด่ง'หนักใจกลุ่มนักศึกษาเคลื่อนไหวไม่สร้างสรรค์ ไร้วุฒิภาวะ ขู่ใช้กฎหมายจัดการ คสช.วอน นักข่าวอย่าตั้งคำถามยั่วยุ ทำวีไอพีในรัฐบาลอารมณ์บูด ชงถอดยศ'แม้ว'ถึงมือผบ.ตร.แล้ว อนุป.ป.ช.จ่อแจ้งทุจริตสนามฟุตซอล ผอ.โรงเรียน-เขตการศึกษาภาคอีสาน มีเอี่ยวเกือบ 100 ราย
วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8962 ข่าวสดรายวัน
เยือนสิงคโปร์ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ นำคณะรัฐมนตรีของไทย เยือนประเทศสิงคโปร์ โดยมีนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ต้อนรับ ที่ทำเนียบประธานาธิบดีสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.
'อุ๋ย'กันท่า'สมคิด'คุมทีมศก.
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวที่จะมีการ ปรับครม.เพื่อดึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช. มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแทนม.ร.ว.ปรีดิยาธรว่า ไม่มี ท่านไม่มาหรอก ผู้สื่อข่าวถามว่าภาวะเศรษฐกิจแบบนี้จำเป็นต้องหาคนมาช่วยทีมเศรษฐกิจหรือไม่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ไม่เห็นต้องมีเลย ก็ทำได้อยู่แล้ว
"อยากให้เข้าใจว่า เศรษฐกิจของประเทศตอนที่เราเข้ามายังติดลบอยู่ ขณะนี้เศรษฐกิจของไทยเติบโตบวกมา 2 งวด ขึ้นมาเรื่อยจนถึงร้อยละ 3 เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ นั้น ในปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 5 และตอนนี้ลดลงมาเหลือร้อยละ 3 ซึ่งการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมาจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่จีนที่ปรับฐานเศรษฐกิจของตัวเองและราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งถือว่าแรงที่สุด รวมถึงราคาโลหะและราคาสินค้าเกษตรลดลงทำให้การส่งออกและการนำเข้าของโลกลดลง ดังนั้น เศรษฐกิจของไทยถือว่าดีแล้ว และเชื่อว่าจากนี้ไปจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น"ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
สนช.ถกแก้รธน.ชั่วคราว 18 มิ.ย.
ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า วันที่ 11 มิ.ย. สนช.ได้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ซึ่งตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดให้สนช.พิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับร่าง ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 25 มิ.ย. จึงนัดประชุมสนช.พิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ โดยจะพิจารณา 3 วาระรวด และตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)เต็มสภา เชิญตัวแทนจากครม.และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจเข้าร่วมประชุมด้วย ในการพิจารณาอาจมีบางประเด็นต้องประชุมลับ ซึ่งขึ้นอยู่กับที่ประชุม โดยจะเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายอย่างเต็มที่ จะพยายามให้เสร็จภายในวันเดียว แต่หากไม่เสร็จก็ขยายเวลาได้
นายพรเพชรกล่าวว่า หากสมาชิกมีประเด็นที่ต้องการแก้ไข สามารถสอบถามความเห็นจากผู้แทนได้ แต่หากผู้แทนครม.และคสช.ไม่เห็นด้วย และยืนยันตามร่างเดิม ก็ต้องยึดตามนั้น ส่วนการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ คือ 220 คน ดังนั้น ต้องให้ได้เสียง 110 เสียงขึ้นไป หากเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งถือว่าร่างแก้ไขนี้ตกไป ส่วนการลงคะแนนจะใช้วิธีขานชื่อเรียงตามตัวอักษร หากผ่านความเห็นชอบจาก สนช. จะส่งให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 15 วัน เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ต่อไป
เผยปรับ 3 ประเด็นหลัก
นายพรเพชรกล่าวว่า สำหรับเนื้อหาในร่างแก้ไขมีทั้งหมด 6 ประเด็น ส่วนประเด็นที่ 7 เป็นการขอปรับแก้ไขถ้อยคำ แต่ตนสรุปได้ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ขอแก้ไขมาตรา 8 (4) เพื่อเปิดให้ผู้ที่เคยถูกเพิกสิทธิทางการเมือง ไม่ว่าสมาชิกบ้านเลขที่ 111, 109 ให้มีสิทธิเป็นสนช. รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ ด้วย 2.การแก้ไขการถวายสัตย์ฯ ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ สามารถถวายต่อองค์รัชทายาทหรือ ผู้แทนพระองค์ได้
ประธานสนช. กล่าวว่า 3.กำหนดให้ต่อไปนี้ร่างรัฐธรรมนูญใดก็ตาม ต้องทำประชา มติ โดยให้ยึดถือเป็นหลักการ ไม่ว่าฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ต้องทำประชามติ หรือถ้าไม่ผ่านสปช. แล้วตั้งคณะกรรมการ 21 คนขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องทำประชามติเช่นกัน ส่วนในร่างแก้ไขระบุว่าให้ทำประชามติเรื่องอื่นๆ ด้วยนั้น ไม่ได้ให้ถามว่ารัฐบาลอยู่ต่อหรือไม่ แต่ให้สปช.และสนช.ตั้งคำถาม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการต่ออายุรัฐบาล แต่คำถามอาจไม่มีก็ได้ หากทั้งสองสภาเห็นว่าไม่จำเป็น ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มี 8 มาตรา (อ่านรายละเอียดหน้า 3)
ครม.ส่ง'วิษณุ'ชี้แจง
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันที่ 18 มิ.ย. ตนจะไปชี้แจงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ต่อสนช.ในนามครม. ส่วนคสช. ไม่ทราบว่าจะให้ใครไป อาจไม่ส่งใครก็ได้ เมื่อชี้แจงหลักการเหตุผลแล้วจะให้สนช.อภิปราย แต่ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้นอกจากจะได้รับความยินยอมจากครม.และ คสช.ก่อน สิ่งใดที่คิดว่าจะยินยอมได้ในทันที ครม.และคสช.ให้ตนพิจารณาได้เลย ส่วนเรื่องที่ตัดสินใจไม่ได้ทันทีจะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า 7 ประเด็นที่จะแก้ไขทำให้มองได้ว่ารัฐบาลจะอยู่บริหารต่อ รองนายกฯ กล่าวว่า จะคิดอย่างไรก็ตาม หลายเรื่องใน 7 ประเด็นตอนร่างไม่คิดแก้ไข แต่เมื่อจะแก้เพื่อทำประชามติจึงทำไปทีเดียว เช่น เรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณตนที่ว่าจะให้ ผู้แทนพระองค์รับถวายสัตย์ฯ ได้ก็ต้องรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไร และยังตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูประเทศที่จะเห็นคนหน้าแปลกๆ เข้ามา ส่วนจะพิจารณาผ่อนปรนประกาศ คสช. เพื่อเอื้อบรรยากาศการลงประชามติเป็นไปด้วยดีหรือไม่เมื่อถึงเวลาจะพิจารณา
ยันไร้ใบสั่งให้สปช.คว่ำ รธน.
ถกสิงคโปร์ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ นำคณะรัฐมนตรีของไทย ร่วมประชุมกับนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่ทำเนียบประธานาธิบดีสิงคโปร์ ระหว่างเดินทางไปเยือนสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. |
ต่อข้อถามว่า อีกหนึ่งคำถามในการทำประชามติ สปช.อาจเสนอให้รัฐบาลอยู่ต่ออีก 2 ปีเพื่อทำการปฏิรูป นายวิษณุกล่าวว่า ให้เขาโหวตเอาชนะกันให้ได้ในสปช. คิดว่าสปช.อยากให้ตั้งคำถามหลายเรื่องแต่รัฐบาลรับเพียงเรื่องเดียว ดังนั้น ไปทะเลาะกันให้เสร็จก่อนจึงจะมาผ่านด่านครม.ว่ายอมรับหรือไม่ คำถามเช่นนั้นเหมาะสมหรือไม่ เพราะเป็นการโยนเผือกร้อนมาให้รัฐบาล อย่าไปคิดว่าเตรียมเพื่อทำอะไรในตอนนี้ ตนมีคำถามไว้แล้วแต่ขอเก็บไว้ในใจเพราะ ครม.ไปตั้งคำถามเองไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าการทำประชามติส่งผลให้โรดแม็ปเลื่อนออกไปอีก นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้โรดแม็ปเดินตามปกติ เดิมเมื่อมีการจัดเลือกตั้งจะสิ้นสุดโรดแม็ป แต่ถ้าทำประชามติแล้วไม่ผ่านก็ต้องยกร่างใหม่ โรดแม็ปที่วางไว้ก็เลื่อนไป หากสปช.ไม่รับร่าง หน้าตาของโรดแม็ปจะออกมาอีกแบบหลังจากมีกรรมการร่างใหม่ แต่หาก สปช.รับร่างแล้วทำประชามติไม่ผ่านเวลาก็จะช้าออกไป แทนที่จะตั้งกรรมการร่างได้ในเดือนก.ย.2558 กลับต้องไปตั้งกรรมการร่างในเดือนม.ค.2559
ส่วนที่มีการวิเคราะห์ว่าสปช.จะลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายวิษณุกล่าวว่า คาดคะเนอย่างนั้นไม่ได้ ต้องดูว่าเมื่อกมธ.ยกร่างฯ แก้ไขตัวร่างแล้วจะออกมาอย่างไร หากแก้แล้วออกมาดูดี รับได้ ไม่มีเหตุผลจะไปคว่ำ ยืนยันว่าไม่มีใบสั่งจากรัฐบาลให้สปช.คว่ำร่าง ถ้าสั่งจะไม่ออกมาอย่างนี้ ถ้าจะคว่ำมีวิธีอื่นเยอะแยะ ไม่ต้องลงทุนขนาดนี้และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ไม่เคยพูดเรื่องอยู่ต่อ 2 ปี เพราะยืนยันตามโรดแม็ป
อุ้ม 109-111 สร้างปรองดอง
ผู้สื่อข่าวถามว่าการเปิดทางให้สมาชิกบ้านเลขที่ 109 และ 111 มีตำแหน่งทางการเมืองได้โดยเฉพาะในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ถือเป็นการสร้างความปรองดองด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เมื่อเปิดทางไว้อย่างนี้ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ ส่วนจะทำหรือไม่นั้นไม่เกี่ยวกับตน เมื่อก่อนเขียนปิดทางหมด มาคิดในภายหลังว่าการเขียนดังกล่าวเป็นอคติ ไม่ใช่เรื่องเหมาะ หากสมาชิก 111 และ 109 เข้ามาก็มีส่วนให้เกิดปรองดองได้ ไม่เหมือนช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา เข้ามาสดๆ ร้อนๆ เลยดูเหมือนมองหน้ากันไม่สนิท วันนี้เราเห็นว่าหลายคนมีบทบาทในทางสร้างสรรค์ หลายคนที่ดูเหมือนจะแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจนก็แสดงความคิดเห็นดีๆ เข้ามา และรัฐบาลพิจารณาเห็นว่าหลายเรื่องมีประโยชน์จริง
นายวิษณุกล่าวว่า วันเดียวกันนี้ตนได้เชิญตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัวแทนสำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย มาหารือกรณีกกต.ระบุจะจัดออกเสียงลงประชามติได้ในวันที่ 10 ม.ค.2559 โดยจะถามกกต.ถึงเหตุผลการกำหนดวัน การใช้งบประมาณและบุคลากร ปัญหาและอุปสรรค จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และการจัดพิมพ์เอกสารแจกประชาชนให้ทำความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ 19 ล้านฉบับ จะใช้โรงพิมพ์ที่ใดและใช้กระดาษอะไรจัดพิมพ์และขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง
กกต.คาดมีบัตรประชามติ 3 ใบ
นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.เปิดเผยว่า การหารือเกี่ยวกับการจัดทำประชามติ ขณะนี้ผู้มีสิทธิ์ลงประชามติมีประมาณ 49 ล้านคน กกต.จะต้องพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชน 23 ล้านครัวเรือนให้ได้ร้อยละ 80 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ซึ่งการออกเสียงประชามติครั้งนี้จะใช้พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 บางส่วน เช่น เรื่องการกระทำผิดที่จะใช้เป็นหลักใหญ่และกกต.จะจัดทำประกาศรายละเอียด อาทิ บัตรออกเสียงว่าจะออก 1 หรือ 2-3 บัตร ส่วนงบประมาณที่เตรียมไว้ตอนนี้อย่างน้อย 2.6 พันล้านบาท แต่ไม่เกิน 3 พันล้านบาท
นายภุชงค์ กล่าวว่า จากนี้จะกลับไปหารือกับกกต.เรื่องจำนวนบัตร หากใช้บัตรใบเดียวอาจเกิดปัญหาเพราะต้องดูคำถามของสปช. สนช. หน่วยงานละ 1 ข้อที่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากครม.ก่อน รวมแล้ว 3 คำถาม และยังไม่ทราบว่าเป็นคำถามเกี่ยวกับอะไร อาจเกิดบัตรเสียหากรวมอยู่ในบัตรใบเดียว ดังนั้น โมเดลเบื้องต้นน่าจะใช้บัตร 3 ใบ เป็นสีฉูดฉาดและกล่องจะเป็นสีฉูดฉาดเพื่อให้เห็นชัดเจนจะได้ไม่หย่อนผิดกล่อง และเบื้องต้นจะมีการลงประชามติในวันที่ 10 ม.ค.2559
ยอมรับหนักใจ-เผยเกณฑ์ผ่าน
"ยอมรับว่า หนักใจเรื่องหากระดาษมาจัดพิมพ์ เพราะเดิมรับผิดชอบบัตร 49 ล้านใบ แต่นี่มี 3 คำถาม อาจต้องคูณ 3 และต้องรับผิดชอบจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเผยแพร่ แต่กกต.จะพยายามหาโรงพิมพ์ที่มีศักยภาพให้ได้ เพราะถ้าไม่สามารถแจกร่างรัฐธรรมนูญได้ร้อยละ 80 ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจะมีปัญหาได้" นายภุชงค์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการเสนอผ่อนปรนข้อกฎหมายความมั่นคงในช่วงออกเสียงประชามติหรือไม่ นายภุชงค์กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงจะพิจารณาเพราะยังมีเวลาอยู่ แต่การรณรงค์ให้คนใช้สิทธิเป็นหน้าที่ของกกต. ส่วนจะให้ฝ่ายการเมืองออกมาแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่จะหารือกับฝ่ายความมั่นคงเช่นกันว่าจะมีการดีเบตได้หรือไม่
เมื่อถามว่า จะป้องกันคนที่จะมาขัดขวางการลงประชามติอย่างไร นายภุชงค์กล่าวว่า มีการระบุโทษอยู่ในพ.ร.บ.การลงประชามติ และกกต.มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ โดยฝ่ายความมั่นคงรับปากจะดูแลอย่างเต็มที่ สำหรับเกณฑ์การผ่านประชามตินั้นต้องมีจำนวนเสียงเกินร้อยละ 50 ของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ หรือเป็นเสียงข้างมาก ซึ่งต่างจากอดีตที่ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด สมมติมีสิทธิ์ 49 ล้านคน ออกมาใช้สิทธิ์ 20 ล้านคนก็ได้ หากเห็นชอบเกิน 10 ล้านคนถือว่าผ่านประชามติ
'สุชน'จี้แจงแตะหมวด 2
นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ถือเป็นเรื่องใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่สมัยคสช. ได้ทำโรดแม็ปจัดทำรัฐธรรมนูญชั่วคราว และที่จะมีการแก้ไข ไม่มีมาตราใดเลยประกาศให้มีการเลือกตั้งเมื่อใด การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ถือเป็นฉบับแรก แสดงว่า คสช.ไม่เคยคิดแบบเบ็ดเสร็จ คิดแก้ไขไปเรื่อยๆ ไม่คิดว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชนเมื่อไร
พบผู้นำ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าเยี่ยมคารวะนายโทนี่ ตันเค็ง ยัม ประธานาธิบดีสิงคโปร์ เนื่องในโอกาสเยือนประเทศสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ณ ทำเนียบประธานาธิบดีฯ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. |
นายสุชน กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ มีประเด็นที่สังคมเป็นห่วงคือ การแก้ไขพระราชอำนาจ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่ว่าคณะปฏิวัติชุดไหน หรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ หมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ จะไม่แตะหมวดนี้ ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ทุกคนก็เป็นห่วง ดังนั้น การแก้ไขมาตรานี้ต้องอธิบายต่อสังคมไทยให้ชัดแจ้งว่าเหตุใดถึงเสนอแก้ไขเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากทำไม่รอบคอบจะเสียหายหรือเข้าใจไม่ตรงกัน ถ้าดีหรือเหมาะสมคงไม่มีปัญหา แต่ถ้ามีแอบแฝง จะเป็นตราบาปไปตลอดชีวิต ขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องชี้แจงด้วย
กมธ.ไม่รื้อกรอบร่างรธน.ใหม่
ที่รัฐสภา พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยถึงการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่กมธ.ยกร่างฯ เริ่มประชุมในรายละเอียดไปแล้วเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า มติจากที่ประชุมจะงดแถลงในรายละเอียด แต่เบื้องต้นพิจารณาประเด็นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ส่งมาโดยสมาชิกสปช. และครม. ผลการพิจารณาขณะนี้คือยึดกรอบเดิม ไม่มีการปรับโครงสร้างหลักใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กมธ.ยกร่างฯ มีข้อสรุปประเด็นว่าด้วยพลเมือง ซึ่งมี ข้อเสนอให้ตัด และปรับบทบัญญัติ โดย ที่ประชุมจะคงคำว่าพลเมืองไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่จะปรับการจัดวางถ้อยคำว่าพลเมือง ให้เหมาะสมกับเนื้อหาของร่าง หมายถึงจะไม่นำคำว่าพลเมือง ไปบัญญัติแทนคำว่า "ประชาชน" ทุกมาตรา โดยยึดประเด็นสำคัญคือ รัฐต้องมีส่วนส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นพลเมืองให้เกิดขึ้นกับประชาชน ในการมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมการเมืองและกิจการของบ้านเมือง
ส่วนประเด็นที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมฐานะพลเมืองนั้น กมธ.ยกร่างฯ ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาทำเป็นข้อสังเกตเพื่อแนบไปกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย เช่น บัญชีกฎหมาย รายละเอียดโครงการที่ต้องดำเนินการ เนื่องจากในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่จะปรับปรุง จะไม่ระบุในรายละเอียดดังกล่าวไว้
โพล.สปช.หนุนนายกฯจากส.ส.
นายประชา เตรัตน์ ประธานกมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สปช. แถลงผลสำรวจโครงการ วัดอุณหภูมิความคิดประชาชน ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ จากประชาชน ทั่วประเทศ 26,708 คน พบว่าในประเด็นเกี่ยวกับเลือกตั้ง ร้อยละ 55.95 เห็นว่าการเลือกตั้งควรเป็นสิทธิของประชาชน ร้อยละ 44.05 เห็นว่าการเลือกตั้งควรเป็นหน้าที่ของประชาชน
ส่วนประเด็นที่มานายกฯ ร้อยละ 77.5 เห็นว่าควรมาจากส.ส. ร้อยละ 22.5 เห็นว่าไม่ควรมาจาก ส.ส. ส่วนประเด็นส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 250 คน จากส.ส.ทั้งหมด 450 คนนั้น ร้อยละ 61.8 เห็นว่าเหมาะสม ร้อยละ 25.6 เห็นว่ามากเกินไป และร้อยละ 12.6 เห็นว่าน้อยเกินไป ขณะที่คุณสมบัติของผู้สมัครส.ส. ร้อยละ 63.85 เห็นด้วยว่าต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ร้อยละ 36.15 ไม่เห็นด้วย
ด้านที่มาส.ว. พบว่าร้อยละ 57.47 ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ร้อยละ 31.37 ควรมาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง และสรรหาส่วนหนึ่ง ขณะที่ร้อยละ 11.16 เห็นว่าควรมาจากการเลือกกันเอง และการสรรหา นอกจากนี้ร้อยละ 82.85 เห็นด้วยว่าควรมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อช่วยให้การปฏิรูปต่อเนื่องและบรรลุผล ร้อยละ 17.15 เห็นว่าไม่ควรมี เพราะจะเกิดกลุ่มงานและคณะกรรมการมากเกินไป ซ้ำซ้อน
'บิ๊กโด่ง'หนักใจนศ.เคลื่อนไหว
เมื่อเวลา 10.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ในฐานะเลขา ธิการคสช. ให้สัมภาษณ์ถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ว่า ยังไม่มีอะไรพิเศษ ตนติดตามตลอด และดีใจที่คนส่วนใหญ่เข้าใจดีและให้กำลังใจ แต่ส่วนที่ยังมีความคิดเห็นฝังแน่น เปลี่ยนแปลงลำบาก เจ้าหน้าที่ก็ต้องพยายามต่อไปว่าใครเคลื่อนไหวทำอะไรอย่างไร หากไม่ก่อปัญหาในภาพใหญ่ ก็จะอนุโลมผ่อนปรนให้โดยเฉพาะนักศึกษา ซึ่งตนหนักใจเพราะถือเป็นเยาวชนที่ยังมีความคิดในทางไม่สร้างสรรค์ต่อสังคม
"อยากขอร้องผู้ปกครองและครูช่วยดูแลด้วย เพราะเด็กวัยรุ่นอาจทำอะไรที่ขาดข้อมูลและขาดวุฒิภาวะ ทำให้สถานการณ์โดยรวมมีปัญหา บางพื้นที่เจ้าหน้าที่พยายามทำความเข้าใจในวิธีที่ไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งและรุนแรง หากก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องทำตามอำนาจ ใช้กฎหมายที่มีอยู่"พล.อ.อุดมเดชกล่าว
248 ส.ส.แห้วคัดสำเนาถอดถอน
เวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสนช. มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระนายพรเพชร ขอหารือกับสมาชิก ถึงกรณีอดีตส.ส. 248 ราย ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลให้ถอดถอนในข้อหาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ได้ทำหนังสือถึงตนเพื่อขอคัดสำนวนคดีถอดถอนทั้งหมด จึงขอหารือที่ประชุมว่าจะอนุญาตหรือไม่
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. อภิปรายว่า สำนวนดังกล่าวแยกเป็น 3 กลุ่ม 1.สำนวนที่เป็นคำให้การของผู้ถูกกล่าวหา ส่วนกลุ่มที่ 2 และ 3 เป็นสำนวนคำให้การของพยานผู้กล่าวหาและสำนวนการประชุมของป.ป.ช. ซึ่งตนเห็นว่า ในกลุ่มที่ 1 ควรให้คัดสำเนาได้ ขณะที่กลุ่มที่ 2 และ 3 ไม่ควรอนุญาต
นายกล้าณรงค์ จันทิก สมาชิกสนช. ชี้แจงว่า หากจะขอคัดเอกสารทุกฉบับ ต้องมีการอนุมัติจากป.ป.ช. และเท่าที่จำได้ ตนทำงานในป.ป.ช.มา คณะกรรมการไม่เคยให้คัดเอกสารลับแต่อย่างใด
จากนั้นนายพรเพชรกล่าวต่อที่ประชุมว่า สรุปว่าไม่อนุญาตให้มีการคัดสำเนาสำนวนคดีถอดถอนอดีตส.ส.ทั้ง 248 ราย
คสช.มอบนโยบายสื่อ
เวลา 14.30 น. ที่แหล่งสมาคมนายทหารสัญญาบัตร กรมการทหารสื่อสาร พล.ท. สุชาติ ผ่องพุฒิ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ในฐานะเลขานุการคณะทำงานเพื่อติดตามการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ 5 ด้าน ของคสช. พร้อมด้วยพล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ได้เชิญสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ มาประชุมเป็นครั้งที่ 2 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและรับทราบแนวทางการประชาสัมพันธ์ของคณะทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์
พล.ท.สุชาติกล่าวว่า ไม่มีนัยยะอะไร เพียงแต่มาพูดคุยขอความร่วมมือ เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ จากการประชุมร่วมกันครั้งแรกที่ตนเคยขอให้บรรณาธิการเน้นย้ำส่วนที่เกี่ยวข้องสร้างความเข้าใจเรื่องที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคง และการเผยแพร่ค่านิยมหลัก 12 ประการนั้น ผลการดำเนินการเรียบร้อยดี แต่ตนมีข้อห่วงใยในเรื่องผู้สื่อข่าวภาคสนามในเรื่องการตั้งคำถามที่ไม่ว่าจะถามใครก็ตาม หรือครม. ขอให้ตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ อย่าให้เกิดความเกี่ยวพัน ยั่วยุหรือพาดพิงบุคคลที่ 3 จนนำไปสู่การเกิดปัญหา
วอนอย่าทำวีไอพีอารมณ์เสีย
"บางครั้งผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์บุคคลระดับ วีไอพีของรัฐบาลจนเกิดอารมณ์ ทำให้ภาพออกมาไม่ดี ขอให้ตั้งคำถามที่เหมาะสม ใช้ดุลพินิจไม่ให้เกิดความแตกแยกและเกิดปัญหา ผมไม่ได้บอกว่าสื่อบิดเบือน แต่บางทีข้อมูลไม่ได้เป็นเช่นนั้น ขอให้ตรวจสอบความชัดเจนก่อน เมื่อเผยแพร่ไปแล้วเกิดความผิดพลาดก็ต้องมาแก้ไขอีก ทำให้ประชาชนเกิดความระแคะระคาย ขอให้บรรณาธิการตรวจสอบข่าวก่อนตีพิมพ์เผยแพร่" พล.ท.สุชาติกล่าว
พล.ท.สุชาติกล่าวต่อว่า นอกจากนี้เรื่องโซเชี่ยลมีเดียค่อนข้างแรง ประชาชนใช้เป็นกิจวัตรประจำวัน โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ในฐานะที่ตนดูแล ขอให้สื่อแก้ไขปัญหาโดยตรวจสอบข้อมูล ในวันนี้ตนรู้สึกไม่สบายใจ เพราะมีการลงข้อมูลที่ไม่ชัดเจนและกระทบต่อความมั่นคง จึงอยากให้ทบทวน รวมถึงการเขียนคอลัมน์ต่างๆ ต้องทำให้มีคุณค่า สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านบรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์ และผู้แทนส่วนใหญ่ยืนยันว่าการทำหน้าที่ของสื่อยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และสื่อมวลชนต่างมีจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าว ทั้งนี้ ยินดีให้ความร่วมมือกับคสช.และรัฐบาลเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ไม่สร้างความแตกแยก
ชงถอดยศ'แม้ว'ถึงมือบิ๊กอ๊อด
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หลังจากส่งเรื่องกลับไปให้พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ10) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการถอดยศตำรวจ ให้ไปแก้ไขรายละเอียด โดยกำหนดให้เสร็จภายในวันที่ 11 มิ.ย.ว่า ตนได้รับรายงานจากพล.ต.อ.ชัยยะ แล้ว และฝ่ายกฎหมายกำลังตรวจสอบความถูกต้องว่าครบถ้วนตามระเบียบ ตร.ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 หรือไม่ รวมถึงพิจารณาว่าได้ดำเนินการตามข้อบันทึกสั่งการที่ตนทำถึงพล.ต.อ.ชัยยะ ก่อนหน้านี้หรือไม่ จากที่ตนดูคร่าวๆ น่าจะครบถ้วนแล้ว และเมื่อตนพิจารณาแล้วมีความเห็น ก็จะสั่งการให้ฝ่ายกฎหมายทำบันทึกถึงสำนักนายกฯ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเห็นของคณะกรรมการที่ส่งมามีมติให้ถอดยศพ.ต.ท. ทักษิณ ใช่หรือไม่ พล.ต.อ.สมยศ กล่าวสั้นๆ ว่า ใช่ เมื่อถามว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้หรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่า หากครบถ้วนสมบูรณ์ก็ใช้เวลาไม่นาน ตนไม่อยากเร่งรัดว่าต้องเป็นวันนี้หรือพรุ่งนี้ เพราะหนังสือเพิ่งมาถึงตน หากจะใช้เวลาดำเนินการ 1-2 วันคงไม่เป็นไร อย่าไปเร่งรัด เกรงจะเกิดความผิดพลาด
นายกฯคาดมีเลือกตั้งปีหน้า
เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 11 มิ.ย. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมนาง นราพร จันทร์โอชา ภริยา และคณะ อาทิ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ และโฆษกประจำสำนักนายกฯ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เดินทางด้วยเครื่องบิน เอ-310 ไปท่าอากาศยานนานาชาติชางงี สาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 11-12 มิ.ย. ตามคำเชิญของนายลี เซียน ลุง นายกฯ สิงคโปร์
เวลา 15.30 น.ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง นายกฯ พร้อมคณะร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบประธานาธิบดี โดยตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ จากนั้นเข้าเยี่ยมคารวะนายโทนี่ ตัน เค็ง ยัม ประธานาธิบดีสิงคโปร์ ก่อนเข้าร่วมประชุมกับนายกฯ สิงคโปร์ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
จากนั้นนายกฯ ทั้งสองร่วมกันแถลงผลการประชุม โดยพล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอบคุณนายกฯ และรัฐบาลสิงคโปร์ที่เชิญมาเยือนอย่างเป็นทางการและให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ซึ่งทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีการลงนามความตกลง 4 ฉบับ ถือเป็นผลสำเร็จจากการเยือนครั้งนี้ สะท้อนถึงการขยายความร่วมมือระหว่างกัน ช่วยส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือ การยกเว้นภาษีซ้อน ภาคอุตสาหกรรม โดยจะทำความตกลงทั้ง 4 ฉบับบรรลุให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันถึงสถานการณ์การเมืองของไทยว่า กลับสู่เสถียรภาพแล้ว โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนไปข้างหน้า การวางรากฐานที่มั่นคงให้กับการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน และกำลังเดินหน้าตามโรดแม็ป คาดว่าจะจัดการเลือกตั้งได้ในปี 2559