- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 10 June 2015 10:35
- Hits: 4279
ชงแก้ 7 ข้อ'รธน.ชั่วคราว'ผ่าทางตัน กลุ่มโทษแบน มีสิทธิ์นั่งรมต. เฝ้าถวายสัตย์ฯ ต่อรัชทายาทได้ เปิด'ประชามติ' ได้หลายคำถาม
ครม.-คสช.มีมติเสนอ สนช.แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 7 ประเด็น เปิดคนติดโทษแบนมีสิทธิ์เป็นสนช.หรือรมต. กำหนดเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ฯ ต่อรัชทายาทหรือผู้แทนพระองค์ได้ ให้ทำประชามติร่างรธน.พ่วงคำถามอื่น ส่วนสปช.หลังโหวตร่างรธน. จะถูกยุบ ตั้งเป็นสภาขับเคลื่อนปฏิรูปขึ้นมาแทน แต่ถ้ารธน.ไม่ผ่าน ใช้วิธีตั้งกรรมการ 21 คน ขึ้นมายกร่างอีกรอบ สนช.เตรียมถก 3 วาระรวด 'บิ๊กตู่'ยึดโรดแม็ป ลั่นไม่เคยบอกจะอยู่ต่อ ม็อบสธ.บุกทวงผลสอบปลัด 'หมอณรงค์'เตรียมร้องก.พ.ค.-ศาลปกครอง หลายจังหวัดขึ้นป้ายประท้วงพรึบ'ปู'ส่งตัวแทน ขอเลื่อนรับข้อหาจ่ายเงินเยียวยาม็อบ ป.ป.ช.นัดอีกที 30 มิ.ย.
วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8960 ข่าวสดรายวัน
แจกลายเซ็น - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้อนรับตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้จักรยานทั่วประเทศ นำโดยญาติเหยื่อที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมาแล้วขับที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเข้าขอบคุณรัฐบาลที่มีนโยบายลดอุบัติเหตุและส่งเสริมการใช้จักรยาน ที่ทำเนียบ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.
ประชาคมสธ.มาตามนัด
เวลา 09.30 น. วันที่ 9 มิ.ย. ด้านหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขเกือบ ทั่วประเทศ อาทิ อยุธยา ชลบุรี ระยอง อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท พิจิตร สุรินทร์ ศรีสะเกษ สุราษฎร์ธานี ปัตตานี นนทบุรี มีทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผอ. โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ชมรมหมออนามัย ประมาณ 300 คน รวมตัวพร้อมชูป้ายให้กำลังใจและเรียกร้องถึงความคืบหน้าภายหลังมีคำสั่งให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกฯ
กลุ่มประชาคมสธ. ระบุว่า ขณะนี้ครบ 90 วัน นับตั้งแต่มีคำสั่งดังกล่าวที่เห็นว่าไม่มีเหตุอันควรและการสอบสวนยังไม่มีข้อยุติ ขณะที่ นพ.ณรงค์พยายามแก้ไขปัญหาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว แต่ยังไม่ครบวงจรเพราะปัญหาหลักอยู่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงขอเรียกร้องให้นพ.ณรงค์กลับมาดำรงตำแหน่งเดิม เพื่อสานต่องานที่ยังมีปัญหาและต้องรอการแก้ไข พร้อมกันนี้จะให้เวลาคณะกรรมการสอบสวนเป็นเวลา 7 วัน ก่อนดำเนินการเรียกร้องอีกครั้ง
หมอณรงค์ทำใจไม่ได้กลับสธ.
กลุ่มประชาคมฯ ส่งเสียงให้กำลังใจนพ.ณรงค์ สู้ๆ เป็นระยะ จากนั้นเวลา 10.00 น. นพ.ณรงค์ลงมาพบกลุ่มประชาคมฯ กล่าวขอบคุณที่มาให้กำลังใจ พร้อมระบุขอให้บุคลากรสาธารณสุขช่วยให้กำลังใจพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำงานแก้ปัญหาและปฏิรูปประเทศ
นพ.ณรงค์กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับผม การตั้งข้อหาแบบนี้เหมือนคุกคามข้าราชการประจำ เชื่อว่าที่ผ่านมาไม่เคยขัดแย้งในเชิงนโยบายด้านการทำงาน แต่มีนักการเมืองเข้ามาคุกคามข้าราชการประจำ ที่บอกว่าจะมารับตนกลับบ้านคิดว่า 4 เดือนที่เหลือจากนี้จะเกษียณ คงไม่ได้กลับไปอีกแล้ว ขอฝากให้ ทุกคนทำงานทั้งเรื่องเขตบริการสุขภาพ และดูแลสุขภาพคนไทยอย่างเต็มที่ต่อไป จากนั้นกลุ่มประชาคมฯ ได้พากันแยกย้ายกันกลับ
ยื่นขอความเป็นธรรม"ก.พ.ค.-ศาลปค."
นพ.ณรงค์ให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่อยากให้มอง คือวันนี้การเมืองแทรกแซงใช้อำนาจคุกคามข้าราชการประจำให้ไม่กล้าออกสิทธิ์ออกเสียง รมว.สาธารณสุขใช้อำนาจยิ่งกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เหยียบย่ำข้าราชการประจำให้หงออยู่ใต้นักการเมือง ไม่กล้าออกความเห็นในสิ่งที่เห็นต่าง เป็นการคุกคามที่ไม่ควรเกิดขึ้น เด็ดหัวปลัดกระทรวงซึ่งเป็นหัวหน้าข้าราชการเพื่อหวังให้ข้าราชการหงอย อยากให้ทุกคนยึดเป้าหมายใหญ่ ใช้วิชาชีพดูแลระบบบริการประชาชนอย่างมีธรรมาภิบาล สานต่อร.พ.คุณธรรม และขยายไปยังร.พ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล และสถานีอนามัยให้ครอบคลุมทั้งบ้าน
นพ.ณรงค์กล่าวว่า จากนี้ส่วนตัวคงจะขอความเป็นธรรมตามกระบวนการและระบบที่มีอยู่ คือ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) และศาลปกครอง แต่ไม่ได้คาดหวัง ทำตามสิทธิที่มีอยู่ เชื่อว่าประเทศนี้มีระบบ เป็นธรรม ส่วนการสอบสวนข้อเท็จจริงตนนั้นยังเชื่อในเกียรติของประธานการสอบสวน
ขึ้นป้ายพรึบตามสถานพยาบาล
ผู้สื่อข่าวถามถึงผลการสอบของคตร. เกี่ยวกับการใช้งบประมาณของสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งบอร์ด สปสช.ยืนยันทำตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 แต่คตร.ตีความกฎหมายกันคนละอย่าง นพ.ณรงค์กล่าวว่า ไม่ขอแสดงความเห็น แต่อยากให้ไปอ่านรายละเอียดให้ชัดๆ ส่วนที่กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนำเสนอข้อมูลการบริหารงานระบบหลักประกันสุขภาพ ที่มีนายอัมมาร สยามวาลา สรุปว่า สาเหตุที่ร.พ.ขาดทุน เพราะระบบการเงินของแต่ละร.พ.ไม่มีมาตรฐานทางบัญชีเองนั้น ถือเป็นสิ่งที่คนในกระทรวงต้องตอบ เช่นเดียวกับการแต่งตั้งโยกย้ายที่เกิดขึ้นในกระทรวงช่วงนี้ คนกระทรวงต้องดูว่ามีธรรมาภิบาลจริงหรือไม่ ส่วนตัวไม่อยากก้าวล่วง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการแสดงจุดยืนของบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่ามีการทยอยนำป้ายขึ้น ตามอาคารสถานพยาบาล และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มีข้อความว่า "สิ้นสุดการรอคอย 90 วัน ถึงเวลาลุกขึ้นทวงถามความเป็นธรรม กอบกู้ศักดิ์ศรี ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข" และ "รมว.สธ.ส่งแก้ประเด็นตามที่ คตร.ตรวจพบใช้จ่ายเงินผิดวัตถุ ประสงค์ไปถึงไหนแล้ว หรือจะรอให้ปลัดณรงค์เกษียณแล้วจบไป ประชาชนเสียประโยชน์ รู้แล้วยัง"
รอดูผลสอบ 15 มิ.ย.
นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ผู้อำนวย การร.พ.พระนครศรีอยุธยา และประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) หนึ่งในประชาคมสาธารณสุขกล่าวว่า ทราบว่าปลัดพาณิชย์จะรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง นพ.ณรงค์ กรณีไม่สนองนโยบายรมว.สธ.และรัฐบาล โดยจะสรุปผลให้รองนายกฯ และนายกฯ ทราบ วันที่ 15 มิ.ย. นี้ ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ตรวจสอบกรณีข้อร้องเรียน สปสช. การบริหารงบประมาณต่างๆ จะสรุปผลเบื้องต้นในสัปดาห์นี้และจะเสนอต่อนายกฯ วันที่ 15 มิ.ย. เช่นเดียวกับกรณีคตร. ดังนั้น ขอติดตามผลในวันที่ 15 มิ.ย. นี้ ก่อนจะหารือแนวทางเคลื่อนไหวต่อไป
จี้เอาผิดกรณีสปสช.ใช้เงินผิดประเภท
นพ.กุลเดช เตชะนภารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวว่า วันนี้ได้จัดกิจกรรมที่ร.พ.หาดใหญ่ มีผู้บริหารเขต 12 ทั้ง 7 จังหวัด มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งเห็นตรงกันว่าต้องการแสดงออกและตั้งคำถามถึงผู้บริหาร เพราะผ่านมา 3 เดือนแล้วผลสอบไม่คืบ
นพ.กุลเดชกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ของสปสช. ที่ นพ.ณรงค์ได้หาข้อมูลและเปิดเผยออกมาจนคตร.มีมติว่า สปสช.ทำผิดระเบียบ 7 เรื่อง และระบุชัดเจนเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งต่อมา นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข สั่งให้สปสช.ทำให้ถูกระเบียบ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่าการทำผิดระเบียบนั้นไม่ต้องมีใครรับผิดชอบหรืออย่างไร สปสช.คุมเงินเป็นแสนล้านต่อปี การบริหารที่ผิดวัตถุประสงค์นั้นจำเป็นต้องมีการรับผิดชอบ ไม่ทราบว่านายกฯทราบหรือไม่ จึงอยากให้สังคมรับทราบ และตั้งคำถามว่าความโปร่งใสอยู่ที่ไหน เพราะข้าราชการทำผิดเล็กน้อยก็ถูก สตง.สอบและเอาผิดแล้ว แต่องค์กรขนาดใหญ่อย่างสปสช. จะแก้ไขเพียงแค่แก้กฎระเบียบหรืออย่างไร
ปูส่งตัวแทนขอเลื่อนฟังข้อกล่าวหา
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี องค์คณะไต่สวนป.ป.ช. นัดให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกฯ และประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกฯ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรอง นายกฯ และรมว.คลัง นายวรวัจน์ เอื้อ อภิญญกุล อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ และนางนลินี ทวีสิน อดีตรมต.ประจำสำนัก นายกฯ เข้ารับทราบข้อกล่าวหากรณีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2548-2553 โดยไม่มีกฎหมายรองรับ
ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลา 09.00 น. น.ส. ยิ่งลักษณ์ มอบนายบุญเฉลียว ดุษดี เป็นตัวแทนเข้ายื่นเอกสารขอเลื่อนวันเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยนายบุญเฉลียวปฏิเสธที่จะตอบคำถามใดๆ ระบุแค่ว่าตนเป็นคน ส่งเอกสารและพยายามเดินหนีพร้อมเอาเอกสารปิดหน้า ขณะที่อดีตรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่มีกำหนดเข้ารับทราบในวันเดียวกัน ต่างขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไปเช่นกัน
ปปช.ไม่ให้เลื่อน-30มิย.ให้มาใหม่
นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ขอเลื่อนการมารับทราบข้อกล่าวหาว่า เป็นเพียงเมสเซนเจอร์มา ส่งเอกสารเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ได้รับมอบอำนาจใดๆ จากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในหนังสือระบุขอเลื่อนการขอรับทราบข้อกล่าวหาออกไปแต่สงวนสิทธิ์ที่จะแจ้งว่าเลื่อนไปเป็นเมื่อไร จึงเข้าหลักของป.ป.ช.ว่าเมื่อไม่มีความชัดเจน ไม่มีผู้รับมอบอำนาจอย่างเป็นทางการ จึงถือว่าป.ป.ช.ยังไม่รับทราบ ดังนั้น องค์คณะไต่สวนได้หารือและมีมติให้ส่งเอกสารทางไปรษณีย์เพื่อกำหนดวันให้น.ส.ยิ่งลักษณ์มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ เพราะวันนั้นมีการนัดอดีตรัฐมนตรีรายอื่นๆ อยู่แล้ว
นายวิชากล่าวว่า หากในวันดังกล่าวยังไม่มารับทราบข้อกล่าวหาอีก ต้องดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายตามระเบียบ แต่หากมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมีเวลาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน อย่างไรก็ตาม ไม่ส่งผลกระทบต่อการไต่สวนคดีเพราะตามระเบียบให้เลื่อนได้เพียงครั้งเดียว ส่วนจะลงมติเสร็จทันในเดือนก.ค.หรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ แต่ป.ป.ช.จะดำเนินการให้เสร็จเร็วที่สุด
สุชาติไม่ได้ร่วมลงมติเยียวยา
นายวิชากล่าวว่า ส่วนอดีตรัฐมนตรีคนอื่นๆ ขณะนี้เริ่มมีบางส่วนทำหนังสือขอเลื่อนมาแล้ว เช่น พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรองนายกฯ ขณะที่นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรมว.ศึกษาธิการ ทำหนังสือชี้แจงว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงมติครม.เนื่องจากไม่ได้เข้าร่วมประชุมครม.ในวันดังกล่าว จึงให้มาให้ถ้อยคำโดยละเอียดต่อป.ป.ช.ภายในเดือนนี้ หลักเกณฑ์การพิจารณาคดีนี้ ป.ป.ช. จะดูการออกระเบียบและหลักเกณฑ์จ่ายเยียวยาครั้งนั้นว่า ถูกต้องตามหลักกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตามกระบวนการจ่ายเงินขณะนี้พบว่ายังมีสิ่งผิดปกติอยู่
ม็อบหมอ - บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศกว่า 300 คน เข้าให้กำลังใจนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสาธารณสุข และสอบถามผลการสอบสวนความผิด เนื่องจากครบกำหนด 90 วัน ที่สำนักงานก.พ. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. |
แหล่งข่าวป.ป.ช.เผยว่า การรับทราบข้อกล่าวหาวันแรก นอกจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ที่ขอเลื่อน ยังมีนางนลินี ทวีสิน อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ ได้ประสานมายังป.ป.ช.ว่า จะมารับทราบและชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาวันที่ 25 มิ.ย. ส่วนน.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ส่งทนายความมารับทราบข้อกล่าวหาเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ เผยว่า ทำหนังสือแจ้งป.ป.ช.แล้วว่าขอเลื่อนออกไปอีก 10 กว่าวัน เนื่องจากเพิ่งกลับจากต่างประเทศจึงเตรียมตัวไม่ทัน
สนช.สมชายให้ข้อมูล 99 ศพ
เวลา 14.00 น. นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. ในฐานะอดีตประธานคณะอนุกมธ. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามความคืบหน้าทางคดีของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมือง ในกมธ.สิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เข้าให้ข้อมูลต่อองค์คณะไต่สวนป.ป.ช. ในฐานะพยาน กรณีถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพระสุเทพ ปภากโร อดีตรองนายกฯ ในฐานะผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กรณีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 โดยนำข้อมูลหลักฐานทั้งหมด 1 กระเป๋าเดินทางมามอบให้ ใช้เวลาให้ข้อมูลนานกว่า 2 ชั่วโมง
นายสมชายกล่าวว่า ข้อมูลที่นำมาเสนอ อนุกมธ.ได้มาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ แพทย์นิติเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ พยานที่เห็นเหตุการณ์ รวมทั้งผู้บาดเจ็บ ยืนยันพบมีการใช้อาวุธสงครามจริง เช่น M 79 M 16 AKA ระเบิด M 67 ระเบิด C4 จากกองกำลังติดอาวุธชายชุดดำ โดยเฉพาะกรณีวันที่ 10 เม.ย. 2553 ที่มีผู้เสียชีวิต 26 ศพ ทั้งนี้ ได้นำพยานหลักฐานเป็นภาพถ่ายเหตุการณ์ ภาพถ่ายการชันสูตรศพ ภาพเคลื่อนไหว คลิปวิดีโอจากสื่อมวลชนและประชาชนผู้อยู่ในเหตุการณ์ รวมถึงการสอบปากคำจากพยานบุคคล นำเสนอต่อองค์คณะไต่สวนแล้ว
ยังไม่ตั้งกก.สอบ 2 สนช.
ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สนช.คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์กรณีนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม.พรรคประชา ธิปัตย์ แฉ 2 สมาชิกสนช.เกี่ยวข้องกับการทุจริตจัดซื้อยาปราบศัตรูพืชว่า เบื้องต้นจะให้สนช. ที่ถูกกล่าวหาคือ นายชาญวิทย์ วสยางกูร อดีตผวจ.มุกดาหาร และนายพรศักดิ์ เจียรณัย อดีตผวจ.เลย ทำข้อมูล ข้อเท็จจริงเพื่อเรียนให้นายกฯทราบ เพราะต้องให้โอกาสทั้ง 2 คนได้ชี้แจงข้อเท็จจริงก่อน เนื่องจากขณะนี้ได้รับทราบจากนายวิลาศ เพียงฝ่ายเดียว ยังไม่เห็นหลักฐานและ รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับบุคคลที่ถูกพาดพิงด้วย
นายสุรชัยกล่าวว่า เมื่อได้รับหนังสือชี้แจงแล้วนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. คงหารือกับรองประธานสนช.ทั้ง 2 คนว่าจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบหรือไม่ ต้องพิจารณาและแยกเป็น 2 ส่วน คือส่วนของ สนช. และอีกส่วนนายกฯในฐานะหัวหน้า คสช.ที่แต่งตั้งสนช. เมื่อถามว่ามีการพูดคุยถึงการลาออกตามข้อเรียกร้องหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า ยังไม่ถึงจุดนั้น ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาว่าจะชี้แจง ข้อเท็จจริงหักล้างข้อกล่าวหาอย่างไรก่อน
วิลาศโวหลักฐานปึ้ก-ท้าฟ้อง
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ กล่าวถึงกรณีนายชาญวิทย์ และนายพรศักดิ์ เตรียมฟ้องกลับกรณีถูกกล่าวหามีส่วนพัวพันการจัดซื้อยาปราบศัตรูพืช ที่ใช้งบฯ จัดซื้อสูงเกินกว่าราคาจริงจนรัฐเสียหายว่า ตนพร้อมสู้คดีในชั้นศาล มีหลักฐานทั้งหมด ก่อนที่นายชาญวิทย์ จะฟ้องร้องใครควรถามลูกน้องก่อนว่ามาให้ปากคำกับกมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นไว้อย่างไรบ้าง เพราะมีบันทึกหมดว่าใครสั่งให้ทำ ตนไม่กลัวคำขู่ ซึ่งขณะนี้มีนักกฎหมายจำนวนมากอาสาเป็นทนายให้หากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจริง เมื่อบุคคลทั้ง 2 ไม่แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ตนจะทำหนังสือถึงนายกฯ ที่ประกาศเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการทุจริตให้พิจารณาข้อมูลนี้ว่ายังสมควรเป็นสนช.ต่อหรือไม่ แต่จะไม่ทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เพราะเชื่อว่าถึงทำก็คงไม่มีผล
นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนกรณีโครงการจัดซื้อจัดจ้างยาปราบศัตรูพืช กรณีเกิดภัยพิบัติในหลายจังหวัดว่า อยู่ระหว่างการไต่สวน ส่วนสมาชิกสนช. 2 ราย ที่เคยเป็นอดีตผวจ. และถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนั้น อยู่ในข่ายที่ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่ด้วย ซึ่งเร่งดำเนินการอยู่ แต่ต้องขอเวลาไต่สวนระยะหนึ่ง
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) เผยว่า ผลสอบสวนของ สตง.พบมีอดีตผวจ.มุกดาหารช่วงปี 2553-2554 เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อยาปราบศัตรูพืชดังกล่าวด้วย ส่วนอดีตผวจ.เลยนั้น อยู่ระหว่างการไต่สวนของสตง.
สิงคโปร์ตั้งชื่อกล้วยไม้"ประยุทธ์"
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกรัฐบาล เผยว่า วันที่ 11-12 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อย (คสช.) จะเดินทางเยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของ นายลี เซียน ลุง นายกฯสิงคโปร์ ซึ่งนายกฯจะไปดูงานพัฒนาด้านการศึกษาและการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว รวมถึงเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง และบันทึกความเข้าใจ 4 ฉบับ ทั้งนี้ ในวันที่ 12 มิ.ย. นายกฯและภริยาจะเดินทางไปที่สวนกล้วยไม้แห่งชาติ สวนพฤกษ์ศาสตร์สิงคโปร์ เพื่อเยี่ยมชมและร่วมพิธีตั้งชื่อกล้วยไม้และมอบใบรับรองพันธุ์กล้วยไม้ให้กับนายกฯสิงคโปร์และภริยา โดยสิงคโปร์ได้ตั้งชื่อกล้วยไม้ "พันธุ์ Dendrobium ชื่อ DendrobiumPrayutNaraporn Chan-o-cha เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกฯ ในฐานะผู้นำประเทศที่เยือนสิงคโปร์ จากนั้นนายกฯ จะพบกับทัพนักกีฬาไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 28 และชมการแข่งขันกีฬาเซปักตะกร้อชายรอบชิงชนะเลิศ ก่อนกลับประเทศไทยในเวลา 17.00 น.
นายกฯเปิดงานแปดริ้ว-ระยอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 10 มิ.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และจ.ระยอง จุดแรก เวลา 09.00 น. นายกฯ เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปยังบ้านท่ามะนาว ต.คลองตะเครา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นประธานเปิดงานวันต้นไม้ประจำปีของชาติ มอบกล้าไม้ประจำจังหวัดให้ผวจ. 5 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว โดยมีพล.อ.ดาว์พงศ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม รายงาน จากนั้นเวลา 13.00 น. นายกฯ เดินทางต่อไปยังห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ ที่ต.ชุมแสง อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เพื่อมอบนโยบายและ รับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ และเดินทางกลับกทม. ในเวลา 16.15 น.
ไก่อูให้สื่อหยุดถามนายกฯเรื่อง 2 ปี
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวกรณีสื่อมวลชนตั้งคำถามต่อพล.อ.ประยุทธ์ ถึงการดำรงตำแหน่งต่ออีก 2 ปี ตามผลสำรวจของประชาชนว่า นายกฯขอบคุณประชาชนที่ให้กำลังใจและเห็นความตั้งใจในการทำงานเพื่อบ้านเมืองและขอให้สื่อหยุดตั้งคำถามดังกล่าว เพราะ นายกฯ ตอบหลายครั้งแล้วว่าไม่ยึดติดกับอำนาจหรือตำแหน่งใดๆ แต่ยึดติดกับความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง โดยไม่นำเอาเวลามาเป็นตัวกำหนดการทำงานแต่ยึดภารกิจตามโรดแม็ปที่วางไว้
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่สนใจและจะไม่ขอตอบคำถามลักษณะนี้อีก และให้ทุกอย่างดำเนินการตามครรลองและกระบวนการตามกฎหมายที่ถูกต้อง ทั้งนี้การตัดสินใจใดๆ ของนายกฯ จะรับฟังทั้งเสียงประชาชนและกรอบกติกาของกฎหมายเป็นสำคัญ
ประวิตรยันรบ.ไม่ต่ออายุ
ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งว่า ไม่ทราบ ต้องถามผู้ที่นำเรื่องนี้มาพูด ยืนยันว่าไม่มีและทุกอย่างเดินไปตามโรดแม็ป ขณะนี้ประเทศเราอยู่ได้ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ดังนั้นรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไรต้องทำตามนั้น ไม่มีทางทำอย่างอื่นนอกจากแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องดูว่าใครเป็นคนแก้ไข เรื่องนี้รัฐบาลไม่เกี่ยวและยืนยันว่าจะทำตามโรดแม็ป ส่วนคนที่พูดก็พูดกันไป แต่รัฐบาลมีหลักและปฏิบัติตามโรดแม็ปเหมือนกับกติกาของคนในสังคมที่ต้องทำตามกฎหมาย ถ้าไม่ทำตำรวจก็จับ
เมื่อถามว่าประเด็นการต่ออายุรัฐบาลถือว่าจบแล้วไม่ต้องพูดถึงอีกแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องต่ออายุรัฐบาลไม่มี อยากถามว่าจะให้ต่ออย่างไร เมื่อถามว่าโพลหลายสำนักอยากให้รัฐบาลอยู่ต่อ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังมองภาพไม่ออกว่าจะอยู่อย่างไร จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้อยู่ต่อจะแก้ไขอย่างไรเพราะมันไม่มี ทุกอย่างต้องเดินไปสู่การมีรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้ง แต่ขั้นตอนว่าจะทำอะไรก่อนหรือหลังต้องมาว่ากัน รัฐบาลต้องทำตามโรดแม็ป ไม่ต้องมาพูดเรื่องให้อยู่ต่อและรัฐบาลจะไม่พูดเรื่องนี้แล้ว ใครอยากพูดก็พูดไป
พุทธอิสระยื่น 5 หมื่นชื่อหนุน'2 ปี'
เวลา 08.30 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม พร้อมประชาชน 200 คน เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ ขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เปิดให้ทำประชามติให้รัฐบาลอยู่ต่อเพื่อปฏิรูปประเทศให้สำเร็จก่อนเลือกตั้ง และขอให้คงร่างสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและร่างสมัชชาพลเมืองแห่งชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยนำรายชื่อบุคคลที่เข้าชื่อสนับสนุน 50,000 รายชื่อ ยื่นประกอบด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้มีการออกเสียงประชามติจากประชาชนทั้งประเทศว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบที่จะมีการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจสังคม การเมือง ก่อนมีการเลือกตั้ง ผ่าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ และปลัดสำนักนายกฯ
ม็อบหมอ - บุคลากรทางการแพทย์ภาคใต้ รวมตัวแสดงพลังทวงถามความคืบหน้าผลสอบสวนวินัยนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสาธารณสุข ที่ผ่านมา 3 เดือนพร้อมจี้ให้คืนตำแหน่งที่ร.พ. หาดใหญ่ เมื่อ 9 มิ.ย. |
จากนั้นเวลา 09.45 น. ที่รัฐสภา พุทธอิสระพร้อมคณะเข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชน 5 หมื่นชื่อในเรื่องเดียวกัน ต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ผ่านนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. และยื่นต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ผ่านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1
ด้านนายไพบูลย์กล่าวว่า การขอให้เปิดช่องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและในประเด็นสำคัญไม่ได้หมายความว่าให้ทำตอนนี้ แต่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อเปิดช่องไว้ก่อน ซึ่งเชื่อว่านายกฯ รับฟังเสียงของประชาชนอยู่แล้ว
สหภาพการเมืองยื่นค้าน
เวลา 10.00 น. นายสุรทิน พิจารณ์ ประธานกลุ่มสหภาพการเมืองประชาธิปไตย ยื่นหนังสือถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านนาย นาถะ ดวงวิชัย ฝ่ายเลขานุการประธานกมธ.ยกร่างฯ เพื่อขอให้นายกฯ ทำตามโรดแม็ปที่วางไว้ในการคืนอำนาจให้กับประชาชน เพื่อให้มีการเลือกตั้งเนื่องจากทุกคนรอเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังเสนอให้คงมาตรา 111 ของร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องแก้ไข ซึ่งเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.โดยไม่ต้องมีการแก้ไข เพื่อป้องกันการกระทำความผิดและทุจริตของส.ส.ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ให้ทำงานสุจริต และขอให้นายกฯ ทบทวนประกาศ คสช.ที่ 57 ผ่อนปรนให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้
ไพบูลย์ไม่หยุดผลักดันยืดอายุรบ.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. และกมธ. ยกร่างฯ กล่าวกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ยุติการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการทำประชามติปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้งว่า เข้าใจว่าผู้สื่อข่าวตั้งคำถามโดยผูกโยงชื่อตนทำให้นายกฯ เข้าใจว่าเป็นประเด็นของตนเอง จึงตอบคำถามออกไปลักษณะแบบนั้น แต่การเคลื่อนไหวของตนสิ้นสุดไปแล้วหลังจากแจ้งความประสงค์ของประชาชนที่ต้องการให้ปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ให้กับพล.อ.ประยุทธ์รับทราบระหว่างสัมมนาสปช. สนช. และครม.วันที่ 4 มิ.ย.แล้ว
นายไพบูลย์กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่เกิดขึ้นหลังจากนี้เป็นเรื่องระหว่างประชาชนและพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตน ขณะที่บทบาทในฐานะกมธ.ยกร่างฯ ต่อข้อเสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จะรอดูรายละเอียดคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ว่าด้วยการเปิดโอกาสให้ทำประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อน จากนั้นภายใต้สิทธิของกมธ.ยกร่างฯ คนหนึ่งพร้อมตั้งข้อสังเกตให้ที่ประชุมกมธ. ยกร่างฯ พิจารณาด้วยว่า เมื่อรัฐธรรมนูญแก้ไขให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว การยกร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องมีผลสอดรับกับการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องเกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะผลทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับผลของการทำประชามติและการประกาศวันเลือกตั้งรอบต่อไป
นายไพบูลย์กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของ ข้อเรียกร้องจากประชาชนคือความเชื่อมั่นในการปฏิรูปที่สำเร็จภายใต้รัฐบาลที่มีพล.อ. ประยุทธ์เป็นผู้นำ เขาไม่เชื่อมั่นว่าการปฏิรูปประเทศจะสำเร็จได้หากพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่บริหาร
'เสรี'ชี้ม.304/1ปฏิรูปเป็นรูปธรรม
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. ในฐานะผู้นำยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีเสนอให้บัญญัติมาตรา 304/1 ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำบัญชีรายการกฎหมายที่สำคัญ และเสนอให้สปช. พร้อมกมธ.ยกร่างฯ ดำเนินการยกร่างกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี ตามระเบียบที่ประธานสปช. กำหนดเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเสร็จว่า เนื้อหาดังกล่าวจะเป็นผลให้โรดแม็ปของคสช. ขยายออกไปอีก เล็กน้อยจากที่กำหนดไว้เดิม เบื้องต้นอาจใช้เวลา 1 ปีหรือเร็วกกว่านั้น แนวทางการให้ความสำคัญกับการออกกฎหมายนั้น เชื่อว่าจะสร้างความเป็นรูปธรรมให้กับการปฏิรูปที่เสร็จสิ้นได้มากกว่าข้อเสนอในรูปแบบอื่น
ประชามติ 2 ปี-ผลประโยชน์ทับซ้อน
นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวกรณีพรรคเพื่อไทยเห็นว่าการล่ารายชื่อเพื่อผลักดันการทำประชามติขัดต่อมาตรา 44 ที่ออกประกาศคำสั่ง คสช.ว่า หากเฉพาะการล่ารายชื่อเพื่อนำไปสู่การประชามติคงไม่ถือว่าขัดตามมาตรา 44 ไม่เข้าข่ายชุมนุมทางการเมือง น่าจะทำได้ แต่กรณีดังกล่าวมีปัญหาที่สำคัญคือการล่ารายชื่อเพื่อทำประชามติ ให้คสช. อยู่ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งอีก 2 ปี เข้าข่ายชัดเจนว่าแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองชัดยิ่งกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ที่ถูกตีความว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนเสียอีก เพราะการเลือกตั้งยังไม่อาจ รู้ได้ว่าส.ว.ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้รับเลือกกลับมาอีกหรือไม่
นายสมชายกล่าวว่า หลักพื้นฐานทางกฎหมายที่สำคัญคือ ผู้ใช้อำนาจรัฐต้องไม่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการแก้ไขหรือออกกฎหมายนั้น การล่ารายชื่อตลอดจนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อให้ทำประชามติอยู่ต่ออีก 2 ปี ของสปช. สนช. และคสช. ที่เคยวิจารณ์นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ไม่ต่างจากการเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า การทำประชามติในระดับสากลจะทำก็ต่อเมื่อเรื่องนั้นจะมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ไม่มีชาติใดถามประชาชนเพื่อให้ตัวบุคคลและคณะบุคคลอยู่ในอำนาจต่อไป
คสช.ฮึ่มนศ.-ใช้กม.ดำเนินการจริงจัง
เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างครม. และคสช. โดยมีรัฐมนตรีและ ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. แถลงผลประชุมร่วมว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองที่ทุ่มเททำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ คสช.ดูแลสถานการณ์ภายในประเทศเรียบร้อย พร้อมย้ำว่า คสช.ยังต้องดูแลและบริหารจัดการในหลายด้านเพื่อให้ประเทศเดินหน้า ประชาชนปลอดภัย ส่วนงานด้านการบริหารของรัฐบาลยังต้องใช้กลไกของคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. และคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ร่วมกันผลักดันนโยบาย และนำมติ ครม.ไปสู่การปฏิบัติที่เกิดประสิทธิภาพภายใต้การกำกับดูแลและสนับสนุนกระทรวงและส่วนราชการที่รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนั้นๆ
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นห่วงกลุ่มนักศึกษาบางกลุ่มที่พยายามแสดงออกลักษณะฝ่าฝืนกฎหมาย และไม่เข้าใจต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือหรือใช้วิธีว่ากล่าวตักเตือนด้วยความปรารถนาดี ใช้ทุกวิถีทางประนีประนอมหรืออะลุ้มอล่วยมาตลอดเพราะมองว่ากลุ่มนักศึกษานั้นๆ ยังอยู่ในช่วงวัยการศึกษาควรมีอนาคตที่สดใส แต่ถ้ากลุ่มนักศึกษาพยายามปฏิเสธความปรารถนาดีดังกล่าว เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องมีมาตรการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น จึงฝากถึง ผู้ปกครองและบุคคลรอบข้าง ช่วยกันสร้างความเข้าใจให้กับบุตรหลานให้ดี เพราะที่สุดแล้วเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าดำเนินการอย่างจริงจัง ซึ่งจะมีผล กระทบต่ออนาคตของนักศึกษาอย่างแน่นอน
บิ๊กตู่ยันไม่ได้หวังอยู่ต่อ
เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ แถลงหลังประชุมร่วมครม.-คสช. ว่า ได้หารือหลายเรื่อง ตนสั่งการว่าอะไรที่ยังไม่เรียบร้อย อะไรเป็นเรื่องเร่งด่วน โรดแม็ปมีแค่ไหนทำเท่านั้นไปก่อน ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้แล้ว และไม่ต้องการให้สื่อมาถามมากนัก โดยเฉพาะเรื่องจะอยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อ ตอบแล้วว่าเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พูดอะไรมากกว่านี้ก็เข้าเนื้อตัวเองทั้งหมด ตนมีเจตนาบริสุทธิ์ทำอย่างไรให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ ไม่ได้ทำเพื่อจะเอาอำนาจและอยู่ต่อ ไม่เคยคิดเช่นนั้น เคยชินกับอำนาจมามากแล้ว เป็นผบ.ทบ.มา 4 ปี เบื่อกับการใช้อำนาจแต่มันจำเป็น วันนี้ใช้อำนาจเรื่องการบริหาร ใช้อำนาจพิเศษที่มีอยู่เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ปัญหา
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ต้องการให้ทุกคนเอาปัญหาของเราไปทำให้เป็นเรื่องใหญ่ แทนที่ต่างประเทศจะมากดดันที่ตนโดยตรง กลายเป็นคนของเราไปให้เขามากดดันตน สิ่งที่ทำทุกวันนี้ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง อันตรายก็พร้อมจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เพราะมีคนทั้งได้และเสียผลประโยชน์ ยืนยันว่าไม่ได้ผลประโยชน์สักอย่าง ทำทุกอย่างเพื่อคนไทย ส่วนอนาคต รัฐบาลจะมาจากเลือกตั้งตอนไหนก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ขอร้องว่าอย่าไปเปิดเวทีให้คนนั้นคนนี้มาโจมตีในสิ่งที่เราทำใหม่แม้จะไม่เคยมีใครทำมาก่อน และ คิดว่าคงไม่มีใครทำเช่นนี้อีก เพราะเกี่ยวข้องกับคะแนนนิยม แต่ตนไม่ได้อยู่ในการเมือง และคิดว่าสิ่งที่ทำมาได้มากพอสมควร
ขีดเส้นเม.ย.สรุปผลดำเนินการ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สั่งการในที่ประชุมให้สรุปเรื่องที่ทำมาทั้งหมดภายใน เม.ย.2559 ต้องสรุปให้ได้ว่าอะไรที่มันเสร็จสิ้นแล้วและยังไม่เสร็จสิ้น สิ่งที่ไม่เสร็จก็ต้องส่งต่อให้สปช. ทำต่อ และส่งให้รัฐบาล หน้าทำต่อจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ตนว่าตามรัฐธรรมนูญ ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกและเสียกำลังใจมากไป
"ช่วยกัน ไม่ใช่เพื่อพวกผมเพราะผมเข้มแข็งอยู่แล้ว ผมมาแบบนี้ ใช้อำนาจอย่างนี้จะไปอ่อนไม่ได้ วันนี้ลืมหรือยังว่ารัฐบาลนี้เข้ามาอย่างไร มีอำนาจแค่ไหนหรือเพราะใจดีมากเกินไป ทำให้ออกมาเรียกร้องว่าทำไมเรื่องนี้ไม่เปิดเสรีภาพ ปล่อยให้พูดกันมากๆ ก็ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ผมเข้ามาแล้วต้องช่วยผมแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ผมคิดและทำให้ทุกเรื่องทุกพื้นที่" นายกฯ กล่าว
ย้ำไม่เคยบอกว่าจะอยู่ต่อ
เมื่อถามว่าที่ระบุว่าห่วงประชาชนเสียขวัญ ดัชนีวัดคืออะไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ประชาชนคาดหวังในการแก้ปัญหา ถ้าเราบอกว่าเศรษฐกิจตก แย่ รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ คนจะตื่นตระหนก จะเลิกใช้เงิน เลิกลงทุน ดังนั้นต้องบอกมาว่าบกพร่องเรื่องไหน และปัญหาเกิดมากี่รัฐบาลแล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือเขาคาดหวังให้ตนทำให้ในช่วงโรดแม็ป คาดหวังนักการเมืองเข้ามาจะมีประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งที่เป็นสากล ถ้าตนทำลายความหวังโดยบอกว่าวันนี้ไม่เอากับเขา ขณะที่รัฐบาลหน้าก็ไม่มีอนาคต ก็เสียขวัญ
"ไม่ใช่เสียขวัญเพราะผมอยู่หรือไม่อยู่ ผมไม่เคยบอกว่าจะอยู่ เคยบอกว่าวันเดียวก็ไม่อยากอยู่ถ้ามันไม่ถูกต้อง วันนี้บอกว่าผมเป็นคนใช้อำนาจก็ต้องฟังกติกาของผม ซึ่งเข้ามาตรงนี้ไม่ได้มาโดยนักการเมือง ไม่ได้มาด้วยการเลือกตั้ง ตัดสินใจเข้ามาเอง มีสิทธิจะใช้อำนาจเพราะเสี่ยงชีวิตเข้ามา ไม่ใช่ใครจะ มากำหนดให้ผมต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่ใช่" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่าที่ให้แต่ละกระทรวงสรุปผลงานส่งภายในเดือน เม.ย.2559 เพื่อส่งต่อให้รัฐบาลใหม่ นายกฯ กล่าวว่า ถูกต้อง เพราะต้องปฏิรูปต่อจากสิ่งที่ตนทำไว้ โดยตน บูรณาการด้วยการใช้มาตรา 44 รวมกลุ่ม งานให้ทุกกระทรวงมาทำงานร่วมกัน ตั้งโครงสร้างไว้ ถ้ามันดี รัฐบาลใหม่เห็นชอบก็ตั้งชัดเจนขึ้น จะมีกระทรวง ตั้งกรม หรือ ลดหน่วยงานใดก็ว่าไป
ทหารปลดล็อกได้ระแวงทำไม
นายกฯ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลบริหารด้วยความชอบธรรม ไม่มีใครประท้วงได้ การประท้วงเป็นการใช้สิทธิตามประชาธิปไตย แต่ถ้ามีการใช้อาวุธต้องสอบสวนและพิสูจน์ให้ได้ ใครกระทำ ใครถูกกระทำ แต่ถ้าแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ก็ต้องไปหลบม็อบอยู่ข้างนอก ชอบแบบนั้นใช่หรือไม่ เป็นข่าวได้ทุกวัน จะตายสักวัน ปี"53 หรือ ปี"57 ก็เป็นแบบนี้จะเอาแบบนั้นอีกหรือ ประเทศไทยจะถอยหลังไปอีกเท่าไร ทำไมต้องมาระวังทหารอย่างเดียว ในเมื่อทหารเป็นอย่างเดียวในประเทศไทยที่ปลดล็อกได้ แต่ถ้าเป็นประเทศที่เจริญแล้วเป็นประชาธิปไตยก็ไม่ต้องมีทหาร เพราะเขาทำถูกต้อง ต่อสู้บนวิถีประชาธิปไตยที่ไม่ใช้กำลัง แต่วันนี้ผม ไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่กำลังจะเดินไปสู่ประชาธิปไตย อย่าเอา มาปนกัน
นายกฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรียกร้องเสรีภาพ ไร้ขีดจำกัด พอจะใช้กฎหมายบอกใช้ไม่ได้ มันมีคนตะแบงแบบนี้ตลอด แล้วก็เปิดเวทีขยายให้เขา ถามว่าไม่รักชาติหรือเปล่าไม่รู้ แต่ทหารคิดว่าเมื่อไรที่ประเทศชาติไม่ปลอดภัยก็ต้องออกมาดูแลประชาชน ไม่ได้ออกมาเพื่อผลประโยชน์หรืออำนาจ หรือต้องการซื้ออาวุธ อันนั้นมันปลายแถว
ยันไม่เลื่อนโรดแม็ป
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ประเด็นหลักที่พูดคือการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ถ้าไม่ผ่านต้องทำอย่างไร ใครจะทำหน้าที่ต่อ ใครจะเป็นคนยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดทางเตรียมไว้แต่ไม่ใช่เราเป็นคนเสนอ ถ้าจะแก้ ครม.ต้องทำเรื่อง เข้าคสช. แต่ถ้าสปช.ผ่านร่างรัฐธรรมนูญก็จะ ไปสู่ขั้นตอนทำประชามติ ส่วนกฎหมายลูกต้องทำอยู่แล้ว
"ผมยังไม่ได้เคลื่อนเวลาสักอันเดียว นับไปก็เม.ย.-พ.ค. ถ้าทำประชามติบวกไปอีก 3-4 เดือน และทำกฎหมายลูกอีก โรดแม็ปเป็นแบบนั้น ถ้าอยากเลือกตั้งเร็วๆ ง่ายนิดเดียวผ่านรัฐธรรมนูญ โดยผ่านสปช.ก่อนและมาทำประชามติ ถ้าผ่านประชามติได้ก็เลือกตั้งตามกรอบของผม ถ้าไม่ได้ก็เสนอมาจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งต้องไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวและว่า การทำประชามติเป็นเรื่องของกกต. แต่จะทำประชามติอะไร กกต.ต้องแจ้งและหารือในที่ประชุม ครม. ให้เขาคิดเองบ้าง
ยัวะโดนจี้-ประชามติอยู่ต่อ
เมื่อถามว่ามีการทำประชามติเพื่ออยู่ต่อหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเสียงดังว่า "ไม่รู้ ให้เขาไปทำมา ทำไมผมต้องสั่งทุกเรื่อง เข้าห้องน้ำต้องเช็ดก้นก่อนออกมาหรือไง ผมพูดข้อเท็จจริงไม่ได้โมโหเลย เพียงแต่ถามคำถามที่วนไปวนมา ผมขี้เกียจ แล้วก็ได้รูปอารมณ์หงุดหงิด มีรูปชี้นิ้ว หน้างอ หน้าหงิก นายกฯ หงุดหงิดเรื่องการต่ออำนาจ ไปเรื่อยเปื่อย เขียนนิยายไปเรื่อย"
เมื่อถามถึงการลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และระยองของนายกฯวันที่ 10 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเสียงดังอีกว่า ทำไมต้องกลัวใครอีก ไปตรวจดูพื้นที่ ดูแลการปลูกป่า การบริหารจัดการน้ำ จะมีอะไรเกินกว่านั้น ใครจะมาทำร้ายตน เรื่องนี้มีแผนการอยู่แล้ว มาถามเหมือนคราวที่แล้วที่จะประชุม ครม.นอกสถานที่จ.เชียงใหม่ ว่าตนกลัวหรือไม่ ถามกันแบบนี้ตนจะเลือกไปไหนไม่ได้หรือ
เมื่อถามว่าขณะนี้มีเรื่องอะไรที่ทำให้ นายกฯ เสียสมาธิในการทำงานหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็มีเรื่องจำนวนมาก เรื่องนี้กำลังคิด จบก็มีเรื่องใหม่เข้ามา เสียเวลาทบทวนใหม่ พอจะพูดอะไรก็มีคำถามทำให้ลืมเรื่องที่จะพูด ต้องให้ตนพูดให้จบก่อน วันนี้ลงพื้นที่ไปตรวจงานเยี่ยมข้าราชการ ฟังชาวบ้าน ตนไม่ได้เลือกพื้นที่ด้วยซ้ำ เพราะเป็นหน่วยงานจัด
เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองทำให้นายกฯ เสียสมาธิหรือไม่ นายกฯ กล่าวตัดบทว่า "ไม่มี มีก็จับ ไม่สนใจ ไม่ตอบ ถามเรื่องอื่น ถ้าไม่มีพอแล้ว กลับบ้าน"
แก้รธน.7 ข้อ-เปิดช่องคนโดนแบน
เวลา 16.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รอง นายกฯ แถลงหลังการประชุมร่วมคสช. และครม.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2558 ไปยังสนช. ตามความในมาตรา 46 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว คาดว่าจะถึงประธานสนช.ภายใน 1-2 วัน สนช.มีอำนาจเพียงว่าจะรับหรือไม่รับร่างแก้ไข ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ยกเว้นได้รับความเห็นจากเจ้าของร่างคือ ครม. และคสช. โดยความเห็นของ สนช.ต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 111 เสียงขึ้นไป จากนั้นส่งให้นายกฯ ทูลเกล้าฯ ภายใน 15 วัน คาดจะประกาศใช้ได้ก่อน วันที่ 21 หรือ 23 ก.ค.2558
นายวิษณุ กล่าวว่า ร่างแก้ไขมีทั้งหมด 7 ประเด็นคือ 1.ให้แก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ สนช.จากเดิมระบุว่า ต้องไม่เคยถูกถอดถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ให้เป็นไม่อยู่ในระหว่างการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง จึงทำให้คนที่เคยถูกเพิกถอนเข้ามาเป็น สนช. กรรมการอื่น หรือครม.ได้ ยกเว้นถูกตัดสิทธิ์จากคดีทุจริตยังถูกห้ามอยู่
2.แก้ไขให้อะไรก็ตามที่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ นอกจากการถวายสัตย์ฯ ต่อหน้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังถวายสัตย์ฯ ต่อหน้ารัชทายาท หรือผู้แทนพระองค์
ประชามติ 2 ปีต้องผ่านสภา-ครม.
3.ขยายเวลาการทำงานให้กมธ.ยกร่างฯ อีกไม่เกิน 30 วัน รวมเป็น 90 วัน
4.เมื่อสปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้นำร่างไปทำประชามติ โดยให้กกต.กำหนดหลักเกณฑ์ กติกา เงื่อนไข โดยผ่านความเห็นชอบของสนช. และกกต.เป็น ผู้กำหนดวันออกเสียงประชามติ ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 45 วัน คาดว่าจะออกเสียงประชามติได้ช่วงปลายเดือนม.ค.หรือต้นเดือนก.พ. โดยอาจสอบถามประเด็นอื่นด้วย สปช.และสนช.ทำคำถามได้ฝ่ายละ 1 คำถาม ส่งให้ครม. ถ้าครม.เห็นชอบก็จะให้กกต.จัดทำประชามติในครั้งเดียวกัน ทั้งนี้ หากจะเสนอให้ถามว่ารัฐบาลอยู่ต่ออีก 2 ปีก็ได้ แต่ต้องผ่านด่านลงมติของสภาก่อนแล้วยังต้องผ่านด่านครม.ให้ได้ด้วย
ถ้ารธน.ไม่ผ่านตั้งกก.ร่างชุดใหม่
5.เมื่อสปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบแล้ว ถือว่าภารกิจเสร็จสิ้น ให้ยุบสปช. พร้อมตั้ง "สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ" มีสมาชิกไม่เกิน 200 คน มีนายกฯ เป็น ผู้แต่งตั้ง โดยไม่ต้องนำความขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งเคยเป็นสปช.ชุดเดิมก็ไม่ขัดข้อง ทำหน้าที่เสนอแนะการปฏิรูปเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ สภาขับเคลื่อนฯ จะมีอายุตามที่รัฐธรรมนูญระบุ
6.ถ้ากมธ.ยกร่างฯ 36 คน สิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใด ให้หัวหน้าคสช.ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรับฟังความเห็นประชาชนภายใน 180 วัน เมื่อร่างเสร็จให้ทำประชามติอีกครั้ง หากไม่ผ่านประชามติอาจหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมา
และ 7.แก้ไขถ้อยคำภาษา เลขมาตราที่เคลื่อน ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้ ยังคงมี 48 มาตรา ซึ่งมาตรา 44 ยังมีอยู่ ยอมรับว่าเมื่อทำประชามติเท่ากับต้องออกนอกโรดแม็ปแล้ว หากไม่ผ่านก็ยิ่งออกไปอีกแต่ถ้าผ่านทุกสิ่งก็จะสั้นลง (อ่านรายละเอียด น.3)
สนช.เด้งรับถก 3 วาระรวด
ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษก กมธ.วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) แถลงหลังประชุมว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.แจ้งและกำหนดวันพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อเปิดให้ทำประชามติ ในวันที่ 18 มิ.ย. หรือ วันที่ 25 มิ.ย. โดยจะพิจารณา 3 วาระรวดภายในวันเดียว เพราะตามกรอบต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วัน นับตั้งแต่สนช.วันที่รับร่าง ทั้งนี้ จะเชิญตัวแทนของรัฐบาล คาดว่าจะเป็นนายวิษณุ เข้าชี้แจงในวิปสนช.ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของสนช. อย่างไรก็ตาม สนช.ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขในรายละเอียดเนื้อหากฎหมายได้ จะมีมติรับหรือไม่รับเท่านั้น หากจะแก้ไขต้องเสนอให้รัฐบาลก่อนเข้าสู่วาระ 1 ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยก็อาจนำกลับไปแก้ไขได้
ครม.ต่ออายุ'อำพน'ปธ.บอร์ดธปท.
วันที่ 9 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงหลังประชุม ครม.ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งนายอำพน กิตติอำพน ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อไปอีกวาระหนึ่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป และเห็นชอบการแต่งตั้งนายภิญโญ ทองชัย เป็นกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.เป็นต้นไป
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯ สั่งการให้ทุกกระทรวงไปถอดแผนงานว่าได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลถึงขั้นไหน ทำเรื่องใดบ้างและเรื่องใดยังทำไม่สำเร็จ เริ่มตั้งแต่ที่ คสช.เข้ามา บริหารงานในระยะที่ 1, 2 และ 3 เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าการบริหารงานในกระทรวงนั้นๆ