WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

tak

'วิษณุ'แย้มอีก 3 วันรู้ชัด ยืดโรดแมป'เทียนฉาย'จ่อถกสปช. รุมเตือน'บิ๊กตู่'อยู่ต่อ 2 ปี ครม.ขอรื้อเพียบร่างรธน. 'เอก'โร่แจ้งความ'ปอท.' ปัดอาสาถอดยศ'แม้ว'

       'ไพบูลย์'ปัดชงประชามติให้รัฐบาลอยู่อีก 2 ปี แค่ถามว่าจะปฏิรูปประเทศต่อหรือไม่ ไลน์ สปช.กระหึ่มซาวเสียงหนุน-ต้าน 'ดิเรก'เตือน'บิ๊กตู่'ระวังตกบันไดตอนจบ

@ 'วิษณุ'แจงข้อแก้ไขร่างรธน.

       เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ห้องประชุมงบประมาณ อาคาร 3 รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อรับฟังคำชี้แจงประกอบคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ จากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงรายละเอียดว่า นายวิษณุจะได้เวลาชี้แจงรายละเอียดทั้งสิ้น 3 ชั่วโมง โดยระหว่างการพิจารณา ขอให้ กมธ.ยกร่างฯได้ซักถามในรายละเอียดด้วย

ทั้งนี้ ก่อนเวลาพิจารณา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษก กมธ.ยกร่างฯให้สัมภาษณ์ว่า คำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ ครม.เสนอนั้น มีรายละเอียดที่พิจารณาพอสมควรที่จำแนกได้เป็นการขอแก้ไขถ้อยคำ การเสนอเพื่อปรึกษาหารือ โดยนอกจากที่ กมธ.ยกร่างฯจะซักถามรายละเอียดแล้ว นายวิษณุยังมีสิทธิที่จะซักถาม กมธ.ยกร่างฯได้ทุกประเด็นที่สงสัยเช่นกัน

ยุโรป - น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง บุตรสาวคนเล็กของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ภาพบิดาลงในอินสตาแกรม @ingshin21 พร้อมระบุข้อความว่า พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ที่ประเทศมอนเตเนโกร เพื่อมาเพิ่มหน้าพาสปอร์ตใหม่เพราะเล่มเก่าไม่เหลือที่ให้ประทับตรา โดยกำลังอยู่ระหว่างการเดินทางไปประเทศเยอรมนีต่อ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน

 

 

@ 'บิ๊กตู่'ย้ำต้องไม่เกิดขัดแย้ง

       ต่อมา พล.อ.เลิศรัตน์แถลงผลการประชุม กมธ.ยกร่างฯ ว่าในส่วนของนายกฯ มีความคิดเห็นในข้อแก้ไขว่า 1.บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญควรสะท้อนหลักคิดที่ให้ยึดประเทศและประชาชนเป็นศูนย์กลาง 2.รัฐธรรมนูญควรสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยที่มีปัญหาในลักษณะเฉพาะ 3.บทบัญญัติให้รัฐธรรมนูญต้องไม่ถูกไปเป็นเครื่องมือให้นำไปใช้ก่อปัญหาความขัดแย้งในสังคม และต้องมีทางออกต่อปัญหาต่างๆ 4.ต้องสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการบริหารราชการแผ่นดินได้ และ 5.บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่ควรยืดยาว

      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ส่วนข้อสังเกตของ ครม. นายวิษณุชี้แจงว่า การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ครม.มีทั้งสิ้น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นข้อคิดเห็นที่มาจากกระทรวงต่างๆ องค์กรอิสระ ศาล ซึ่ง ครม.ได้ระบุชัดเจนว่า ส่วนใดเป็นคำขอแก้ไขขององค์กรใดบ้าง ส่วนที่ 2 คือการตั้งคำถามต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เช่น เกี่ยวกับการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ครม.ตั้งคำถามมาว่า มีเหตุผลอะไร 

 

@ ตัดคำกำกวม-ยากวินิจฉัย

      "ส่วนที่ 3 คือส่วน ครม.คิดว่า น่าจะมีการแก้ไขให้น้ำหนักที่มีความสำคัญ เช่น มาตรา 62 วรรค 3 มีคำพูดที่อาจกำกวมยากต่อการปฏิบัติ เช่น จะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง คำว่า 'ทั่วถึง' อาจจะเป็นปัญหานำไปสู่การฟ้องร้องได้ และในส่วนที่จะทำให้ยากต่อการวินิจฉัยเช่นคำว่า 'พื้นที่ทางประวัติศาสตร์' ที่อาจไม่ชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ใด จึงขอให้ กมธ.ยกร่างฯพิจารณาปรับปรุงหรือตัดออก" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ต่อมาในมาตรา 75 พูดถึงการดำรงตำแหน่งของผู้นำทางการเมืองและภาครัฐว่า ควรจะ 5 ต้อง 6 ห้าม ที่เขียนไว้ในมาตรา 75 เช่น ด้านศีลธรรม ศาสนา ก็จะยากต่อการวินิจฉัยต่อการตีความ ดังนั้น ควรบัญญัติเรื่องการปฏิบัติตัวของนักการเมืองไว้ในกฎหมายอื่น เช่น ประมวลจริยธรรม ดังนั้น ควรตัดออก

 

@ หั่นตรวจสอบรายชื่อครม.

      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า เรื่องที่วุฒิสภามีอำนาจพิจารณารายชื่อ ครม.ภายใน 15 วัน แต่ไม่มีอำนาจในการยับยั้ง เพียงแต่เปิดเผยรายงานการสืบสวนหรือการตรวจสอบประวัติ อาจเป็นปัญหาในการเสนอชื่อ ครม.และไม่เป็นความลับ ดังนั้น ควรตัดออก ส่วนการให้ ส.ส.และ ส.ว.ร้อยละ 10 มีสิทธิที่จะนำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เสนอโดยประชาชนไปทำประชามติได้นั้น จะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณการทำประชามติ เนื่องจากต้องใช้เงิน 2,000-3,000 ล้านบาท จึงให้ไปพิจารณาว่า การที่จะให้ ส.ส.และ ส.ว.รวมกันร้อยละ 10 นั้นควรเพิ่มจำนวนขึ้น หรือไม่ควรมีวรรคนี้เลย และให้ไปเสนอขึ้นมาใหม่จะง่ายกว่า 

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนการเลือกตั้ง ส.ว.โดยตรง 77 จังหวัด 77 คน เนื่องจากมีไม่กี่จังหวัดที่จะมีผู้สมัครเกิน 10 คน ดังนั้น ครม.เห็นว่า การตั้งกรรมการกลั่นกรองผู้สมัครนั้นไม่คุ้มค่าและไม่จำเป็น ควรให้เลือกตั้งโดยตรงไปเลยทั้ง 77 คน ส่วนที่เหลืออีก 123 คนนั้น ครม.ไม่มีความคิดเห็นเป็นอื่น

 

@ หนุนคงกก.ปรองดอง-ปฏิรูป

      "ครม.คิดว่าการที่ให้อำนาจ ส.ว.เสนอกฎหมายได้ด้วยจำนวน 40 คน อาจจะก่อให้เกิดปัญหาและไม่มีความจำเป็น เพราะหากเสนอแล้ว ส.ส.ไม่เห็นด้วยก็ตกไป จึงไม่ควรเพิ่มอำนาจในการเสนอกฎหมายให้กับวุฒิสภา ส่วนการปฏิรูปและปรองดอง ครม.มีความเห็นว่า 15 มาตราที่เกี่ยวกับการปฏิรูปเป็นเรื่องที่อาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนได้ในอนาคตและอาจขัดกับนโยบายบริหารประเทศ ดังนั้น ควรนำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ครม.เห็นด้วยกับการไม่มีคณะกรรมการเกี่ยวกับการปฏิรูป เพราะน่าจะอยู่ในบทเฉพาะกาลก็ได้ เรียกว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์และความปรองดองแห่งชาติคณะเดียว ทำหน้าที่ทั้งสองอย่างในการขับเคลื่อนการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ มีจำนวนประมาณ 20 คน ขณะที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในส่วนของที่มานั้นก็ไปว่ากันในกฎหมายลูกต่อไป ซึ่ง ครม.เห็นว่าควรจะมี 2 คณะนี้

 

@ ค้านยุบรวม'ผู้ตรวจฯ-กสม.'

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า เรื่องการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ครม.เห็นว่า ในภาวะปัจจุบันสององค์กรนี้มีความแตกต่างกันอยู่ในระดับหนึ่ง ควรแยกกันทำหน้าที่จะดีกว่า รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนด้วยระบบคุณธรรม ไม่ควรควบรวมเช่นเดียวกัน ครม.เห็นว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมข้าราชการอีกหลายๆ ประเภทไม่ต้องแต่งตั้งโดยคณะกรรมการระดับนี้ จึงคิดว่าน่าจะตัดออกแล้วไปบัญญัติไว้ในกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ 

"ส่วนอำนาจศาลระหว่างศาลยุติธรรม ศาลทหาร หรือศาลอื่น กรณีที่จะต้องมีคณะกรรมการวินิจฉัยว่า เป็นอำนาจของศาลใดนั้น ครม.เห็นว่าควรให้ใช้แนวทางเดิมคือ ให้ประธานศาลฎีกาเป็นประธานและให้ชี้ขาดว่าอยู่ในอำนาจศาลใด โดยใช้แนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 มากกว่าที่จะมาตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธาน เพราะอาจจะไม่เข้าใจในปัญหา ส่วนสมัชชาพลเมือง สภาตรวจสอบภาคพลเมือง และสมัชชาคุณธรรมแห่งชาตินั้น ครม.เห็นว่าควรให้ตัดออกไป เพราะเห็นว่าองค์กรเพิ่มขึ้นมากจนเกินไป อาจเป็นภาระทางงบประมาณและมีภาระหน้าที่ไม่แน่นอน และนำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

 

@ ตัดกลุ่มการเมือง-หวั่นนอมินี

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ครม.เห็นว่า การบัญญัติให้มีกลุ่มการเมืองจะทำให้เกิดความสับสนและคนไม่คุ้นเคย รวมถึงทำให้สถาบันการเมืองมีความแตกต่าง ดังนั้น ครม.ให้ข้อสังเกตว่า ถ้าจะให้มีกลุ่มการเมืองก็ควรจะให้ไปใช้วิธีพรรคการเมืองเหมือนเดิม จะให้ข้อกำหนดในการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นลดหย่อนลงมาบ้าง ทำให้ไม่มีความสับสน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกลุ่มการเมืองนอมินีของพรรคการเมืองไปลงเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า กมธ.ยกร่างฯตั้งข้อสังเกตว่า การไม่ได้บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญอาจขัดประกันอนาคต อาจทำให้ปรับแก้ได้ง่ายนั้น พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ครม.มองว่าควรจะต้องปรับแก้ได้ จึงควรนำไปไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมากกว่า เพราะการที่จะมาเขียนว่า 5-10 ปีนั้นประเทศควรจะเป็นอย่างไร ครม.มองว่าเป็นการผูกมัดคนที่ไปทำงานมากเกินไป ส่วนเนื้อหาก็ไม่ได้ทิ้งไป แต่เอาไปบัญญัติไว้ในกฎหมายรองที่สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้

 

@ 'บวรศักดิ์'ยันทบทวนร่างรธน.

ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ กมธ.ยกร่างฯ คณะอนุ กมธ.การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สปช. สถาบันพระปกเกล้า และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร่วมจัดโครงการสัมมนา "การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ" โดยมีเครือข่ายชุมชนและภาคประชาสังคม 14 จังหวัดภาคกลาง ประมาณ 200 คนร่วมรับฟัง

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวเปิดการสัมมนาพร้อมปาฐกถาพิเศษถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งว่า อนุ กมธ.การมีส่วนร่วมฯได้ดำเนินมาแล้วสิบกว่าเวที และที่ กมธ.ยกร่างฯจัดอีก 12 เวที ทุกความเห็นจะนำมาพิจารณาในช่วงสุดท้ายของการร่างรัฐธรรมนูญ มีหลายประเด็นที่ กมธ.ยกร่างฯต้องทบทวน เช่น แนวคิดเรื่องกลุ่มการเมือง เพราะหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าอาจจะต้องทบทวน เมื่อทบทวนแล้วการจัดตั้งพรรคการเมืองจะต้องไม่ง่ายขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้การควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็มีคนเสนอว่าน่าจะให้แยกอยู่เหมือนเดิม กมธ.ยกร่างฯคงจะนำไปทบทวนอย่างจริงจัง 

 

@ ลั่นยึดƊเสาเอก'แก้ขัดแย้ง

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพราะประชาชนถูกชักจูงเข้าสู่ฝ่ายต่างๆ จนนำไปสู่ความขัดแย้ง การสร้างรัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องมีเสาเอกคือ เจตนารมณ์หลักที่จะแก้ปัญหาและสร้างอนาคต กมธ.ยกร่างฯมองแล้วว่า เสาเอกมี 4 เสา คือ 1.พลเมืองเป็นใหญ่ 2.ทำการเมืองให้ใสสะอาดและสมดุล 3.หนุนสังคมที่เป็นธรรม และ 4.นำชาติสู่สันติสุข 

"คนไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม ยังต้องพึ่งพิงคนอื่น ใครเอาทรัพยากรไปให้เขา เขาก็ต้องเลือก ถ้าจะแก้ปัญหาซื้อเสียง ต้องทำให้คนไทยเป็นอิสระทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่ไปสร้างคนไปจับคน ยังไม่พอ ถ้าเราต้องการจะสร้างอนาคตและประชาธิปไตยไทย จะให้คนไทยเป็นราษฎรอยู่เหมือนเดิมไม่ได้ กมธ.ยกร่างฯเห็นว่าไม่มีทางอื่นจะต้องสร้างราษฎรให้เป็นพลเมือง มีสำนึกพลเมือง มีพฤติกรรมพลเมือง เคารพและรักสิทธิของตนเองและผู้อื่น มีจิตสาธารณะ พลเมืองที่เป็นใหญ่เท่านั้นที่จะไม่สูญเสีย" นายบวรศักดิ์กล่าว

 

@ 'มาร์ค'เหน็บกมธ.ยกร่างฯ

ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวบรรยายในชั้นเรียนนักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ หัวข้อ โฉมหน้ารัฐธรรมนูญใหม่ คนไทยได้อะไร ตอนหนึ่งว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ โฆษณาตลอดว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างนี้พลเมืองเป็นใหญ่กว่านักการเมือง แต่ไม่แน่ใจว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญเข้าใจการเมืองภาคประชาชนหรือการเมืองภาคพลเมืองแค่ไหน เพราะเรื่องสิทธิของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ชัดเจนว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมายอาจมีความสะดวกมากขึ้น แต่สิทธิการฟ้องร้องราชการเหลือแค่การร้องทุกข์ และมีแนวโน้มว่าสิทธิชุมชนในบางมาตราจะถูกตัดออก 

"มีการเข้าใจการเมืองภาคพลเมืองผิด เพราะการระบุให้มีสมัชชาพลเมืองใช้อำนาจแทนประชาชนนั้น ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชน แต่เป็นการเมืองภาคตัวแทนเหมือนกับการมี ส.ส. และเป็นการเมืองตัวแทนเพิ่มขึ้นมาอีกระบบหนึ่ง เช่นเดียวกับการมีฝ่ายค้าน" นายอภิสิทธิ์กล่าว

 

@ มีกลุ่มการเมืองเกิดต่อรองสูง

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ส่วนการให้มีกลุ่มการเมือง จะทำให้ไม่สามารถสนองต่อความต้องการของประชาชนผ่านนโยบายในการหาเสียงได้ และจะเกิดการต่อรองอำนาจในการเข้ามาบริหารงาน รวมถึงยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบกลุ่มการเมือง จึงไม่อยากให้ กมธ.ยกร่างฯหลงยึดติดกับวาทกรรมที่เชื่อว่า การทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอแล้วประชาชนจะเข้มแข็ง ถ้าต้องการทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้าได้ ต้องทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง เพราะในระบบของการตรวจสอบพรรคการเมืองถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะที่การตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งฝ่ายรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาจะมีอำนาจค่อนข้างเด็ดขาด

 

@ 'วิษณุ'ยันต่ออายุรบ.ทำได้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการเสนอให้มีการทำประชามติ เพื่อให้รัฐบาลอยู่ทำงานปฏิรูปต่ออีก 2 ปี ว่า รัฐบาลยังไม่คิดถึงประเด็นดังกล่าว วันนี้คิดแค่ว่า การจะต้องได้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ และทำอย่างไรให้คุ้มค่า แต่ถ้าจะมีคำถามอื่นๆ ถือเป็นของแถม ซึ่งไม่ได้เสียเงินเพิ่มขึ้นจาก 3 พันล้านบาท เรื่องที่จะถามเพิ่มเติม ครม.คิดไว้หลายเรื่อง แต่ถ้าถามหมดอาจจะพะรุงพะรัง รอไว้พูดเมื่อถึงเวลาจำเป็นว่าต้องถามคำถามอื่นอีกหรือไม่ 

"เรื่องการต่ออายุของรัฐบาลเพื่อทำการปฏิรูปนั้น สามารถทำได้ แต่เป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไตร่ตรองเวลานี้ และการทำประชามติ หากเราอยากรู้อะไรที่เป็นหลักการ และไม่เกี่ยวกับเรื่องตัวบุคคลสามารถถามได้" นายวิษณุกล่าว

 

@ แย้มอีก 3 วันโรดแมปชัดเจน

เมื่อถามว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะยืดเวลาเพื่อปฏิรูปออกไปอีก 2 ปี นายวิษณุกล่าวว่า "ผมอยากตอบ แต่ถ้าตอบไปจะถูกนำไปเชื่อมโยงกับกรณีข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ" เมื่อถามต่อว่า ถ้าตัดประเด็นของนายไพบูลย์ออกไป โรดแมปของ คสช.จะยังเหมือนเดิมหรือไม่ นายวิษณุชี้แจงว่า จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้อีก 2 ถึง 3 วัน ในรูปแบบข่าวอย่างเป็นทางการ

"เรื่องแบบและรายละเอียดการทำประชามตินึกไว้ในใจแล้ว แต่ยังไม่ขอตอบ เพราะถ้าคนอื่นไม่เห็นด้วยก็จะแย่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การร่างรัฐธรรมนูญคืบหน้าไปมากแล้ว ส่วนการยืดกรอบเวลาให้ กมธ.ยกร่างฯทำงานต่อไปอีกนั้น ชัดเจนแล้วว่าจะขยาย แต่มีเงื่อนไขอะไรบางอย่าง ไม่ขอบอกตอนนี้ และไม่จำเป็นที่จะต้องขยายออกไป 30 วัน อาจจะ 10 หรือ 20 วันก็ได้" นายวิษณุกล่าว 

 

@ 'พีระศักดิ์'โยนคสช.ตัดสินใจ

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 ให้สัมภาษณ์กรณี สปช.เสนอให้มีการทำประชามติเพื่อปฏิรูปประเทศ 2 ปีก่อนการเลือกตั้งว่า เป็นการตัดสินใจของ คสช.และ ครม. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์พูดชัดเจนว่า จะทำตามกฎหมายและจะใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ในเชิงสร้างสรรค์ แต่จะไม่ก้าวล่วงรัฐธรรมนูญ หมายความว่า มาตรา 44 จะไม่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดย สนช.มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่มีการแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 จะเป็นการสืบทอดอำนาจ คสช.หรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีบอกตลอดว่าจะไม่ทำเอง ถ้าประชาชนเรียกร้องเสียงส่วนใหญ่ต้องการอย่างนั้นก็จะทำให้ ยืนยันว่า สนช.มีหน้าที่แค่เห็นชอบไม่เห็นชอบ ไม่มีหน้าที่เสนอ จึงบอกไม่ได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว

 

@ เตือน'บิ๊กตู่'ระวังตกบันได

นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า ข้อเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่ออีก 2 ปีเพื่อปฏิรูปประเทศนั้น อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์คิดและปรึกษาหารือกับคณะทำงานให้รอบคอบ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางมาไกลแล้ว เริ่มต้นแก้ไขปัญหาประเทศได้ดีมาก ไม่อยากให้พลาดตกบันไดตอนจบ เพราะคนมีหลายประเภท ทั้งจริงใจ ตรงไปตรงมา ทั้งแกล้งสรรเสริญเยินยอหวังผลประโยชน์ 

"ผมเป็นคนตรงไปตรงมา เหมือนครั้งที่มีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ผมก็เตือนว่า จะเป็นปมเรียกแขก แต่ไม่มีใครเชื่อ สุดท้ายมันผิดจากที่เตือนหรือไม่ ครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่ขอเตือนด้วยความจริงใจ แต่จะมีใครเชื่อหรือไม่ ต้องคิดกันให้รอบคอบว่า ข้อเสนอนั้นมีผลประโยชน์อะไร หรือจะถูกประชาชนตั้งคำถามเรื่องการสืบทอดอำนาจหรือไม่" นายดิเรกกล่าว 

 

@ 'สปช.'เช็กเสียงหนุนปฏิรูป 2 ปี 

นายมนูญ ศิริวรรณ สปช. กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมี สปช.มาซาวเสียงสอบถามความเห็นจากสมาชิก สปช. ในห้องไลน์ของ สปช.ว่า เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูป 2 ปี ก่อนเลือกตั้งหรือไม่ เท่าที่ดูก็มี สปช.ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ฝ่ายที่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า อยากให้การปฏิรูปสำเร็จ หากปล่อยให้ไปปฏิรูปหลังเลือกตั้งจะทำให้การปฏิรูปชะงักได้ ขณะที่ สปช.ฝ่ายไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า เกรงว่าจะถูกวิจารณ์เป็นการสืบทอดอำนาจให้ สปช.และนายกรัฐมนตรี 

นายมนูญกล่าวว่า ขณะนี้เป็นแค่การเริ่มต้นซาวเสียงเท่านั้น ยังไม่รู้ว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร แต่หากมีเสียงสนับสนุนจำนวนมาก เชื่อว่าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม สปช.ชุดใหญ่ เพื่อหารือและขอมติสนับสนุนการปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้ง เพื่อให้ข้อเสนอดังกล่าวมีน้ำหนักและถูกนำไปปฏิบัติต่อไป นอกจากนี้ยังได้ยินว่ามี สปช.บางส่วน อาจจะล่าชื่อประชาชนเพื่อให้การสนับสนุนเรื่องการปฏิรูป 2 ปี ก่อนเลือกตั้งด้วย

 

@ 'เทียนฉาย'นำเข้าคุยในสปช. 

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กล่าวว่า เท่าที่ดูจากการแสดงความเห็นกันในแอพพลิเคชั่นไลน์กลุ่มของ สปช. ยังเห็นต่างกันอยู่หลายส่วน จึงน่าจะมีการเอาเรื่องเข้าที่ประชุมกันเพื่อหาข้อสรุป แต่ยังบอกไม่ได้ว่า จะหารือในวันไหน ยังไม่มีใครแจ้งเรื่องมา

นายนิรันดร์ พันทรกิจ สปช. กล่าวว่า เท่าที่มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับ สปช.บางส่วน มีการพูดคุยกันว่า การจะผลักดันข้อเสนอเรื่องการปฏิรูป 2 ปี ก่อนเลือกตั้งให้สำเร็จ จะต้องใช้ประชาชนผลักดัน โดยต้องใช้การล่ารายชื่อประชาชน2-3 หมื่นคน ส่งให้ สปช. กมธ.ยกร่างฯ และรัฐบาล ให้เห็นว่าประชาชนมีความต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่แนวทางการล่าชื่อดังกล่าว จะให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการเอง สปช.จะไม่เป็นตัวตั้งตัวตีเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะจะถูกมองว่าทำเพื่อสืบทอดอำนาจให้ตัวเอง 

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สปช.ด้านอื่นๆ กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการทำประชามติเพื่อการปฏิรูป 2 ปีก่อนการเลือกตั้ง ว่าขณะนี้เสียงใน สปช.ยังวัดไม่ได้ เพราะมีฝ่ายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 

 

@ 'ไพบูลย์'ปัดเสนอต่ออายุรบ.

      นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะผู้เสนอแนวคิดให้ทำประชามติให้รัฐบาลอยู่ทำงานปฏิรูปต่ออีก 2 ปี กล่าวถึงกรณีมีฝ่ายการเมืองออกมาโต้แย้งว่า ไม่ได้เสนอให้รัฐบาลต่ออายุเพื่อทำงานต่อ แต่เสนอให้ทำประชามติเพื่อรับฟังเสียงประชาชน ถ้าประชาชนว่า ต้องการให้ปฏิรูปประเทศต่อไปหรือไม่ และเสียงของประชาชนถือเป็นประชาธิปไตย คนที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่อยากให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในเรื่องนี้ใช่หรือไม่ แล้วทำไมมีการเรียกร้องประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่าอยากฟังเสียงของประชาชน จึงมีคำถามว่า คนที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้เป็นนักประชาธิปไตยจอมปลอมที่จะเลือกแต่ในสิ่งที่ตนเองได้ประโยชน์ใช่หรือไม่ 

       "หากมีการทำประชามติเกิดขึ้นจริง ก็รอไปวัดกันในคูหาเลือกตั้ง เพราะผม ผู้ที่คัดค้าน หรือประชาชน ต่างมีสิทธิคนละหนึ่งเสียงเช่นกัน ทั้งนี้ได้เสนอข้อเสนอดังกล่าวต่อที่ประชุมแม่น้ำ 3 สาย นายกฯก็รับทราบแล้ว โดยบอกให้ถามประชาชน ดังนั้นเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรวบรวมรายชื่อเสนอนายกฯเอง สปช.และฝ่ายการเมืองไม่น่ามีส่วนกับเรื่องดังกล่าวแล้ว" นายไพบูลย์กล่าว

 

@ วิปสปช.แนะ 3 แนวทางปฏิรูป

      นายวันชัย สอนศิริ โฆษก กมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวว่า ข้อเสนอให้มีการปฏิรูปประเทศ 2 ปีก่อนการเลือกตั้งเกิดจาก สปช.ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศในเรื่องการปฏิรูปประเทศและการร่างรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนส่วนใหญ่อยากให้ปฏิรูปเสร็จก่อนแล้วจึงมีการเลือกตั้ง เรื่องนี้จึงต้องมาจากภาคประชาชนโดยการล่ารายชื่อ หรือใช้วิธีใดๆ เพื่อสะท้อนว่าคนส่วนใหญ่ต้องการให้นายกฯอยู่ต่ออีก 2 ปี 

       นายวันชัย กล่าวว่า จากนั้น สนช. สปช. และ ครม. ต้องนำเสียงสะท้อนนั้นไปพิจารณาและดำเนินการ ดังนี้ 1.แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อให้ทำประชามติว่าจะให้นายกฯอยู่ปฏิรูปอีก 2 ปีหรือไม่ 2.ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะปฏิรูปเรื่องใดบ้างในระยะเวลา 2 ปี มีอะไรเป็นตัวชี้วัด 3.ต้องกำหนดว่าถ้าทำไม่เสร็จตามระยะเวลาดังกล่าว จะรับผิดชอบและจะถูกลงโทษอย่างไร สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนมั่นใจว่าเมื่ออยู่ต่อแล้วจะปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง อีกทั้งจะเป็นหลักประกันให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อได้อีก 2 ปี โดยไม่ถูกต่อว่า เพราะเป็นความต้องการของประชาชนทั้งประเทศ และต่างชาติไม่อาจต่อว่าได้

 

@ พท.เตือนตปท.กดดันหนัก

        นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขอฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ว่าอย่าไปฟังพวกสมุนลิ่วล้อที่ตั้งมาเองมากนัก เพราะหากทำตามคำขอของ สปช.ที่อยากให้อยู่ต่ออีก 2 ปี จนล่าสุดมีเสียงเชียร์ให้อยู่ยาวถึง 5 ปี พล.อ.ประยุทธ์จะหนีไม่พ้นข้อครหาหวังอยู่เพื่อสืบทอดอำนาจ ขณะที่ความเชื่อมั่นจากต่างประเทศจะหายไปทันที และประเทศอาจจะโดนแซงก์ชั่นหนักขึ้นด้วย ที่สำคัญภาคประชาชนและนักศึกษาที่ยังนิ่งอยู่ เพราะรอ พล.อ.ประยุทธ์ทำตามโรดแมปนั้น อาจจะเปลี่ยนความคิดและปรับท่าทีได้

       "ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์อย่าเปลี่ยนความรู้สึกของต่างชาติและคนในประเทศที่เฝ้ารอให้ถึงการเลือกตั้งตามโรดแมปโดยเร็ว อย่ายื้อเพื่ออยู่ต่อ เพราะท้ายที่สุดกระแสออกมาต่อต้านรัฐบาลทหารอาจจะกว้างขวางยิ่งขึ้น" นายวรชัยกล่าว

 

@ ชี้ให้ปฏิรูปก่อนต้องชัดเจน

       นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งต่อ 2 ปี เพื่อปฏิรูปประเทศว่า ยังไม่ทราบว่าแนวคิดนี้เป็นอย่างไร และยังไม่มีวิธีที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นการปฏิรูปที่มีความมั่นคง ถือเป็นโจทย์หลัก เมื่อถามว่า ถ้าจำเป็นจะต้องขยายเวลาของโรดแมป แต่ทำให้การปฏิรูปมีความมั่นคงและยั่งยืนก็ยอมรับได้ใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าทุกอย่างเป็นการปฏิรูปบ้านเมืองไปสู่ความยั่งยืน กรอบเวลาก็สามารถที่จะยืดหยุ่นได้ และต้องดูความเป็นรูปธรรม หมายความว่าหากจะทำอะไรก็ต้องมีความชัดเจนว่าการปฏิรูปสำเร็จจะวัดกันอย่างไร แต่ถ้าพูดเฉยๆ ว่าปฏิรูปเสร็จก่อน คำว่าเสร็จก่อนหมายถึงอะไร และไปดูวิธีว่ามีความชอบธรรมหรือไม่

 

@ สนช.พบประชาชนสระแก้ว

        ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว จ.สระแก้ว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดโครงการ สนช.พบประชาชน โดยนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 พร้อมสมาชิก สนช. ร่วมพบประชาชนในพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคในด้านต่างๆ รวมทั้งตรวจสอบติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อ สนช. โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และประชาชนในพื้นที่กว่า 500 คน เข้าร่วม 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนได้มีการสอบถามถึงความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยต้องการให้ยกร่างเพื่อประชาชน ทำให้ประชาชนไม่ต้องแบ่งพรรคแบ่งพวก รวมทั้งให้มีการทำประชามติให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้าย และอยากให้ผู้มีอำนาจมีความเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติและต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ทำงานต่อเพื่อแก้ปัญหาของประเทศต่อไป

 

@ ทัพ 3 มั่นใจครม.สัญจรไร้ต้าน 

       พล.ท.สาธิต พิธรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับการประชุมนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.พิษณุโลก วันที่ 27-28 มิถุนายนนี้ว่า ในการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก ครั้งที่ 6/2558 พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้มอบหมายกองทัพภาคที่ 3 เตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อสนับสนุนการจัดประชุม ครม.สัญจร โดยเจ้าหน้าที่ทหารและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะมีการประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดรายละเอียดและแนวทางการเตรียมความพร้อมในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ 

พล.ท.สาธิตกล่าวว่า ที่มีความกังวลว่าจะมีกลุ่มผู้เห็นต่างกับรัฐบาลออกมาเคลื่อนไหวนั้น เชื่อว่าจะไม่มีกลุ่มใดๆ ออกมาเคลื่อนไหว เพราะชาวบ้านในพื้นที่ต่างรู้สึกดีใจที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองลงพื้นที่มาช่วยพัฒนาและดูแลปัญหาต่างๆ ให้ได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่สามารถดูแลสถานการณ์และความปลอดภัยให้กับ ครม.ได้ 100 เปอร์เซ็นต์

 

@ 'ทักษิณ'อยู่มอนเตเนโกร

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์อินสตาแกรมส่วนตัว @ingshin21 เป็นภาพ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ที่ประเทศมอนเตเนโกร และระบุว่า "เดินทางมาอยู่ที่นี่ เพื่อมาเพิ่มหน้าพาสปอร์ต เพราะเล่มเดิมไม่เหลือที่ให้ปั๊มแล้วค่ะ กำลังจะเดินทางไปประเทศเยอรมนี เหมือนไปเที่ยวแต่ทำงานทั่วโลกจ้า คิดถึงนะคะ"

 

@ 'เอก'แจ้งความปมถอดยศแม้ว

       พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่ามีการแพร่ข้อความและภาพอ้างว่าตนพูดถึงกรณีการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า "ถ้าไม่กล้า ผมทำเอง" โดยแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย ทั้งที่ไม่เคยพูดเช่นนั้นเลย ทำให้เกิดความเข้าใจผิด คลาดเคลื่อนอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายให้อย่างมาก จนกระทั่งคนในครอบครัวต้องทุกข์ใจเป็นกังวลไปด้วย จึงได้มอบหมายให้นายเวรเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อให้สืบสวนหาต้นตอการเผยแพร่และดำเนินคดี เพราะทำให้ได้รับความเสียหายและเป็นการแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ

       ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าเป็นขบวนการจ้องทำลายหรือไม่ พล.ต.อ.เอกกล่าวว่า ไม่อยากคิดร้ายขนาดนั้น แต่ได้สอบถามไปยังผู้ที่นำมาแพร่กันต่อๆ ทราบเพียงว่าได้รับต่อมาอีกทอดจึงแชร์กันไป และบางรายเมื่อทราบว่าไม่เป็นความจริงก็ได้มีการลงข้อความขอโทษในโซเชียลมีเดียแล้ว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!