- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 06 June 2015 09:58
- Hits: 3985
เชียร์'บิ๊กตู่'อยู่ 5 ปีเลย สปช.อ้าง คนเมินเลือกตั้ง กกต.ยันพร้อม ประชามติ'นั่งต่อ'ปชป.-พท.รุมติง อย่าโหนปฏิรูป แนะให้มาลงสส.
สปช.ชงอีก นายกฯตู่อยู่ยาว 5 ปี'บิ๊กตู่'แบ่งรับแบ่งสู้ โยนกกต.ถามประชาชน 'สมชัย ศรีสุทธิยากร'ขานรับทันควัน ชี้ ประชามติต้องให้รบ.สั่ง พร้อมทำตามอยู่แล้ว วิปสปช.ติงแค่ความเห็นส่วนตัวไม่ใช่มติ อยากอยู่ปฏิรูปต่อต้องเข้าที่ประชุมก่อน'อุดม ทุมโฆสิต'ชี้รีบเลือกตั้งดีกว่า ปชป.เตือนฟังแต่กองเชียร์ระวังเข้ารกเข้าพง'อ๋อย'ติงอย่าลืมสัญญาชาวโลก ณัฐวุฒิแนะอยากอยู่ต่อให้ลงเลือกตั้ง แม่เกดชี้ถ้าคิดว่าคนอยากให้อยู่ ก็ลงเลือกตั้งเพื่อศักดิ์ศรี 'สมยศ'แจงตีกลับถอดยศ
วันที่ 06 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8956 ข่าวสดรายวัน
'บิ๊กตู่'ยันไม่ขัดแย้งปชต.มากไป
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวเปิดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์วันที่ 5 มิ.ย. ประจำปี 2558 ตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปทั้งทหารและตำรวจจะต้องทำ แต่ตอนนี้ต้องเน้นเรื่องปฏิรูปในส่วนประสิทธิภาพก่อน เราจะใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาทุกเรื่องไม่ได้ ประชาชนถือเป็นคนที่มีอำนาจใหญ่สุด มีทุกอำนาจในรัฐธรรมนูญทั้งบริหาร นิติ บัญญัติและตุลาการ แต่ประชาชนไม่ใช่อำนาจที่ 4
"ประชาชนใช้อำนาจได้โดยผ่านการเลือกตั้ง หากเลือกส.ส.มาถูกก็ได้รัฐบาลดี ก้าวพ้นกับดักประชาธิปไตย แต่ถ้าเลือกผิดก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม ซึ่งเราจะใช้นโยบายประชานิยมมากไม่ได้ ต้องใช้แนวทางกระจายอำนาจ วันนี้ผมทำทุกอย่างไม่ให้ขัดแย้งกับประชาธิป ไตยมากเกินไป ทำทุกอย่างตามธรรมาภิบาล และอยากให้ทุกรัฐบาลทำแบบนี้แบบที่ผมทำ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
แบ่งรับแบ่งสู้สปช.ชงอยู่ต่อ 2ปี
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม 3 ฝ่ายที่มีข้อเสนอจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางส่วนให้นายกฯอยู่ต่อ 2 ปีเพื่อทำการปฏิรูปให้เสร็จว่า สปช.เป็นเพียงประชาชนส่วนหนึ่ง ซึ่งต้องถามประชาชนอีกกว่า 60 ล้านคนว่าต้องการให้อยู่ต่อหรือไม่
"ข้อเสนอถ้าทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ไม่ใช่บอกว่าผมไปตอบรับ อันนั้นไม่ใช่ แต่เป็นการให้เกียรติในฐานะผู้นำ ในเมื่อเขาพูดมา ผมจะไปตัดรอนเลยก็ไม่ใช่ ผมต้องขอบคุณ ถ้าทำได้ก็เป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องทำ ผมพูดอย่างนี้ ความหมายไม่ใช่ผมไปตอบรับหรือยินดี ถ้าไม่ต้องทำต่อ จบแค่นี้ ผมก็สบายขึ้น เป็นเรื่องของรัฐบาลหน้า เขาไปทำกันมา ผมมีแค่นั้น ถ้าจะให้ผมทำ จะอยู่ได้อย่างไร ทำอย่างไรให้ต่างชาติยอมรับ" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่าสถานการณ์ในวันนี้นายกฯควรอยู่ต่อหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่ได้คิดอย่างนั้น แต่คิดว่าจะทำหน้าที่ในช่วงเวลาที่เหลือให้ดีที่สุด และจะแก้ปัญหาทุกอย่างให้เร็วที่สุด แต่คงแก้ไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งประชาชนคาดหวังในตัวตนมาก ทุกอย่างต้องแก้ให้เสร็จ บางอย่างเห็นหรือไม่ว่าอีนุงตุงนังไปหมด ต้องรื้อทั้งระบบ ต้องใช้เวลา แต่ไม่ได้หมายความว่าตนจะผูกขาด แต่ตนเป็นคนทำและเริ่มแล้ว ทั้งเขียนแผน ทำกฎหมายไว้ให้แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมาทำต่อ ซึ่งเป็นเรื่องของประชาชนและประเทศไทย
โยนกกต.ประชามติอยู่ต่อ
เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์พูดเสมอว่าทหารคิดอะไรต้องคิดให้จบ การส่งแค่รัฐธรรมนูญไปให้รัฐบาลใหม่ถือว่าจบหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า คิดให้จบแล้วทำให้จบ ตอนนี้ตนไม่ได้เป็นทหารเต็มรูปแบบ ทหารเต็มรูปแบบเขามีไว้ไปรบ แต่วันนี้เป็นรัฐบาลมันคนละแบบ ฉะนั้นวันนี้ถือว่าคิดจบแล้วแต่ยังทำไม่จบ เพราะกรอบอำนาจตามรัฐธรรมนูญมีแค่นี้ เป็นคนละเรื่องอย่าเอามาปนกัน
เมื่อถามว่าถ้าประชามติส่วนใหญ่ให้เป็นนายกฯต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า ก็ต้องถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่าทำประชามติในประเด็นนี้ได้หรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ระบุไว้ ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว
ย้ำไม่ขัดความต้องการประชาชน
เมื่อถามย้ำว่าถ้าเสนอให้อยู่ต่อ 2 ปีไม่ขัดข้องใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อย่ามาถ้ากับตน แต่ถ้าเป็นเสียงประชาชน ตนจะขัดข้องได้อย่างไร ตนเข้ามาทำเพื่อคนไทย ถ้าเขาอยากให้ตนทำ ก็ต้องไปสร้างความเข้าใจให้ได้ ทั้งคนในประเทศ นักการเมืองว่าตนไม่ต้องการอำนาจ อยู่ที่ทุกคนจะให้ประเทศไทยมีอนาคตอย่างไร อาจจะไม่ใช่ตนก็ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าตราบใดที่ยังไม่มีรัฐธรรม นูญฉบับใหม่ นายกฯ ก็อยู่ไปได้เรื่อยๆ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า เรื่อยๆ อย่างไร รัฐธรรมนูญเขียนว่าอย่างไร ไม่ใช่เรื่อยๆ พูดให้รู้เรื่อง อย่าใช้คำว่าเรื่อยๆ ชาติหน้าหรือ พูดให้มันถูก รัฐธรรมนูญเขียนว่าอย่างไร ถ้ามันไม่ได้ก็ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีเวลา 60 วัน 90 วัน 120 วัน อ่านบ้าง
เมื่อถามว่าอาจมีบางส่วนที่อยากให้อยู่ต่อ แต่บางส่วนไม่เห็นด้วย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็รู้อยู่แล้ว มันอย่างนั้นอยู่แล้ว แล้วจะมาถามทำไม
โวยสื่อติดกับดัก-เลิกพูดถึงเขา
ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อเสนออยู่ต่อ 2 ปีทำให้เครียดหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ได้เครียด แต่เครียดเรื่องงาน งานมันเยอะ ปัญหาอีนุงตุงนังไปหมด ก็เอาการเมืองมาเดินอยู่ได้ ปล่อยมันไปตามครรลองของมัน รัฐธรรมนูญกำลังแก้กันอยู่ แล้วจะตอบได้หรือไม่ว่าผ่านหรือไม่ผ่านสปช. จะแก้หรือไม่แก้ ถ้าไม่ผ่านก็ร่างใหม่ มีระยะเวลากำหนดไว้ ถ้าไม่ผ่านอีกก็ร่างใหม่ มีแค่นั้น มันจะมีอนาคตอะไรสำหรับตน ไม่มี ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านจะทำประชามติ ก่อนเลือกตั้งว่าจะรับหรือไม่อีก ถ้าไม่รับก็กลับมาเริ่มต้นใหม่อีก ก็วนอยู่แค่นี้ ไม่เห็นจะมีอย่างอื่น สงสัยอยู่นั่น
"ตีกันไปมา ก้าวข้ามให้พ้นเรื่องที่มีปัญหาเสียบ้าง สื่อต้องช่วยผม ไอ้สิ่งดีๆ กำลังเกิดไม่สนใจ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไม่สนใจเลย สนใจแต่การเมือง ประชาชนแตกเป็นฝั่งเป็นฝ่ายกันต่อไป มันใช่หรือไม่ ผมหงุดหงิดตรงนี้ ก้าวข้ามให้พ้น เลิกพูดถึงเขาบ้าง ให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำ พอเขาทำก็เร่งเขา พอเขาไม่ทำก็ว่าเขาไม่ทำ ทั้งที่เขาอาจทำอยู่ก็ได้ กระแสเป็นอยู่อย่างนี้ พอทางนั้นพูดกลับมาเร่งทางนี้ พอทางนี้พูดกลับไปเร่งทางนู้น แล้วจะเริ่มปรองดองกันได้อย่างไรในเมื่อสังคมไม่ปรองดอง คนทำความผิดไม่ผิด ต้องแยกแยะ อย่ามุ่งหวังแต่ขายข่าวอย่างเดียว ขอร้อง วันนี้สื่อติดกับดักไม่เลิก เขียนอยู่นั่น เรื่องความขัดแย้งและคนเดิมกลุ่มเดิมที่ถูกดำเนินคดีอยู่ อย่าไปรื้อกันออกมา ให้เขาทำไป อย่าไปมาโยงกัน ชอบเอานิยายคนละเรื่องมาต่อกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่าที่นายกฯพูดว่าเขาคนนั้นคือใคร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่รู้ คิดเอาเองว่าเขา คือใคร
ให้บอกสังคมไทยใจเย็นเรื่อง รธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนี้พล.อ.ประยุทธ์ พยายามระงับอารมณ์ให้เย็นลง พร้อมถามสื่อว่า "ยิ้มทำไม หัวเราะทำไม นายกฯ เสียงดังแล้วชอบ เดี๋ยวก็ว่านายกฯ ปัด พอพูดอะไร ก็บอกนายกฯ ฟุ้ง โว มันอะไร ทำแทบตาย ไม่ใช่คุยแต่บอกให้ฟัง การจะทำอะไรทุกคนต้องร่วมมือ ผมสั่งอย่างเดียวไม่ได้ สั่งแล้วเนรมิตทุกอย่างได้หรือไม่ ทุกคนรวมทั้งสื่อ ต้องร่วมมือกันสร้างความเข้าใจ ทำให้คนสงบ ทำให้ดาวน์ลง ถ้าสังคมยังเป็นอยู่อย่างนี้ มันก็ไปไม่ได้ จะปรองดองโดยผิดกติกาสังคม ทำไมไม่ให้กลับไปอยู่ในกระบวนการที่สังคมหรือกระบวนการยุติธรรมดำเนินการ พูดแทบตายยังนั่งหาวกันอีก วันนี้ไม่ใช่อะไร มันร้อน"
เมื่อถามว่าทำไมเวลาถามเรื่องรัฐธรรมนูญ และการต่ออำนาจต้องอารมณ์เสีย พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า อย่าไปให้ความสนใจเรื่องนี้มากนัก เมื่อถามว่าเรื่องรัฐธรรมนูญอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อซึ่งสังคมสนใจเป็นพิเศษ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า สื่อต้องบอกสังคมให้คอย ให้ใจเย็นๆ เรื่องรัฐธรรมนูญต้องให้ผ่านการลงมติของสปช.ก่อน ถ้าไม่ผ่านก็ต้องอธิบายว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้อย่างไร ต้องจัดตั้งคณะทำงานใหม่ขึ้นมา ต้องใช้เวลาอีก จบแค่นี้
ยอมรับเป็นคนสร้างวิกฤต
เวลา 17.00 น. ที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานเปิดงาน "เทศกาลไม้ดอกไม้ประดับและปลาสวยงาม" โดยมีประชาชนที่ร่วมงานตะโกนเชียร์ให้อยู่ต่อ 10 ปีไปเลย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวติดตลกในช่วงต้นว่า เปิดตลาดนี้อีกครั้งเหมือนเปิดตลาดนายกฯ เพื่อให้เป็นแหล่งพบปะและซื้อสินค้าอีกทางเลือกหนึ่ง วันนี้อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ เห็นข่าวในกระทรวงเกษตรฯยกมือไหว้เหมือนขอฝน ทำให้คิดว่าปีนี้มันจะรอดหรือไม่ ยอมรับว่าเป็นห่วงเรื่องน้ำ อยากให้ช่วยกันอธิษฐานขอเทวดาขอนางแมวให้ฝนตกในที่เกษตรกรทำนา ไม่อยากให้ตกในกรุงเทพฯมากนัก เพราะตกแล้วก็เดือดร้อน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า วันนี้เศรษฐกิจชะลอตัวอยู่บ้าง ปัญหาเกิดจากรัฐบาลเข้ามาทำให้ธุรกิจสีเทาหมดไป ทำทุกอย่างถูกต้อง จึงทำให้เงินเหล่านี้หายไป ต้องขอโทษด้วย แต่เราจะปล่อยให้บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นการเงินการคลังอาจพังทั้งระบบ ตนตั้งใจเข้ามาทำงาน เพื่อทำทุกอย่างให้มันดีขึ้นในระยะเวลาที่มีอยู่
"ไหนๆ ผมก็เป็นคนสร้างวิกฤต ผมไม่โทษใครทั้งนั้น เพราะทุกอย่างก็มาตกอยู่ที่ผม ในเมื่อผมสร้างวิกฤต แต่ถือเป็นการสร้างโอกาสให้ทุกคนมาร่วมมือกัน ผมยอมรับในสิ่งต่างๆ ที่ผมทำมาทั้งหมด จึงอยากให้ทุกอย่างเดินหน้าไปให้ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ขอโทษแทนผู้ปฏิบัติที่รุนแรง
เวลา 17.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า วันนี้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจน เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าเดิมร้อยละ 30 อย่าไปเชื่อที่พูดว่าเศรษฐกิจตกต่ำ คนมาเที่ยวน้อยลง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวเป็นสัญญาณว่าบ้านเมืองเราได้รับความไว้วางใจและเชื่อมั่นในความปลอดภัย ความมีเสถียรภาพของรัฐบาลและบ้านเมืองสงบสุข ถึงแม้เราจะอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการสู่ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ก็ตาม แต่คนก็เชื่อมั่น เว้นแต่บางคนยังพูดด่าให้เสียหายอยู่ ขอให้ระมัดระวังด้วย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลเข้ามาบังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดระเบียบวางรากฐาน ลดความเหลื่อมล้ำ "ผมต้องขอโทษถ้าบางครั้ง ผู้ปฏิบัติงานข้างล่างอาจเดือดร้อน บางครั้งก็ทำแรงเกินไป ผมไม่รู้เพราะไม่ได้ลงไปปฏิบัติเอง แต่นโยบายเป็นเรื่องของผม ความคิดที่ผมสั่งการลงไป แล้วเป็นมติครม. แต่อยู่ที่การปฏิบัติ ฝากถึงข้าราชการทุกกระทรวง ทุกหน่วยงานถึงระดับล่าง ผู้ว่าฯทุกจังหวัด ผู้ว่าฯกทม. ต้องชี้แจงประชาชนให้เข้าใจด้วย"
วิษณุไม่รู้เจตนาคนชงอยู่ต่อ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอของสมาชิกสปช.บางคน ที่ต้องการให้ปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้งว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าให้ไปถามเรื่องนี้จากฝ่ายกฎหมาย ยืนยันว่าไม่ได้หมายถึงตน นายกฯไม่เคยสั่งการเรื่องนี้ เข้าใจว่านายกฯพูดหมายถึงให้ไปดูในแง่กฎหมายว่ามีแนวทางอย่างไรบ้าง หากจะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ส่วนตนไม่มีความคิดเห็นใดๆ และตอบไม่ได้ว่าถ้าทำแล้วกระแสสังคมจะเป็นอย่างไร ตอนนี้มีเพียงแนวคิดที่จะทำประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และหากจะทำประชามติในเรื่องอื่นด้วยก็ไม่ใช่ปัญหา เพียงแต่เวลานี้ยังไม่จำเป็นต้องพูดถึงเพราะจะแตกหลายประเด็นมากเกินไป
นายวิษณุกล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ไม่ทราบว่าเจตนาของผู้เสนอเป็นอย่างไร ยังนึกไม่ออกว่าถ้ามาถามตน จะตอบอย่างไร คิดว่าไม่ได้เสนอ คงพูดไปอย่างนั้น ส่วนรัฐบาลจะทำตามข้อเสนอได้หรือไม่ ยังนึกไม่ออก ต้องไปถามเจ้าตัวที่มีข้อเสนอนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่าโดยมารยาทแล้วรัฐบาลควรอยู่ต่อหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ขอตอบเรื่องนี้
"ไก่อู"ยันบิ๊กตู่ฟังประชาชน
เมื่อถามว่าหากจะสอบถามประเด็นเรื่องปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้ง ในการทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะทำได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทำได้ ถ้าคิดว่าไม่สับสนจนคนงง ก็ทำได้ รัฐธรรมนูญชั่วคราวเปิดทางได้อยู่แล้ว จะแก้ไขอย่างไรก็แก้ไป
"นี่คือการตอบสิ่งที่ถามมา เดี๋ยวจะไปพาดหัวข่าวว่าวิษณุแบะท่า ผมไม่ได้แบะ ไม่ได้ อ้าอะไรทั้งนั้น เพราะเมื่อถามว่าทำได้หรือไม่ แล้วจะไปตอบได้อย่างไรว่าทำไม่ได้ เหลืออีกทางคือผมตอบว่าไม่ทราบ อย่างนั้นก็ง่ายดี แต่นี่ผมทราบแต่ไม่อยากพูด แต่ยังนึกไม่ออกว่าใครจะเป็นผู้เสนอ หากต้องทำประชามติเพิ่มไปอีกข้อหนึ่ง" นายวิษณุกล่าว
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวว่า จะทำอย่างไร ตนไม่รู้ แต่รัฐบาลต้องทำตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ส่วนโรดแม็ปคือสิ่งที่นายกฯประกาศว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราจะอยู่หรือไม่อยู่ ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญชั่วคราว ส่วนรัฐบาลควรอยู่ต่อหรือไม่ ภาพรวมของคน 62 ล้านคนจะมาถามตนคนเดียวได้อย่างไร
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯไม่เคยนำเรื่องเงื่อนเวลามาเป็นเกณฑ์ในการทำงานเพื่อบ้านเมือง ท่านไม่เคยคิดยึดติดกับอำนาจ แต่ยึดติดกับความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองและยืนยันจะเดินหน้าตามโรดแม็ปไม่เปลี่ยนแปลง การตัดสินใจใดๆ นายกฯ คงฟังทั้งเสียงประชาชนและคำนึงถึงความถูกต้องในกรอบของกฎหมายเป็นสำคัญ
สมชัย พร้อมทำประชามติตามสั่ง
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการเสนอให้ทำประชามติถามประชาชนว่ายินยอมให้รัฐบาลอยู่ต่ออีก 2 ปี ว่า การเริ่มการทำประชามติ หากยึดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการทำประชามติ ฉบับปัจจุบันนั้น สนช.ไม่สามารถเสนอประเด็นการทำประชามติได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่านายกฯและครม.ต้องเป็นฝ่ายให้ทำประชามติ ต้องกำหนดประเด็นว่าจะทำในเรื่องใด จากนั้นส่งเรื่องมายังกกต. ซึ่งรัฐบาลเสนอได้ 2 รูปแบบ คือ ส่งเฉพาะคำถามในการทำประชามติ หรือ ส่งทั้งคำถามพร้อมกำหนดวันทำประชามติมาให้กกต. ก็ทำได้ทั้ง 2 ทาง
นายสมชัยกล่าวว่า หากให้ทำประชามติจริง ต้องปรึกษาร่วมกันระหว่างรัฐบาลและกกต. ถึงรายละเอียดในทางปฏิบัติว่าจะกำหนดวันใด ใช้เวลาเท่าไร รวมทั้งรัฐบาลต้องเป็นผู้จัดสรรงบประมาณเพื่อให้กกต.ดำเนินการได้
เมื่อถามว่าหากทำประชามติในประเด็นให้รัฐบาลอยู่ต่อ จะเกิดขึ้นกระชั้นชิดก่อนทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ กกต.จะทำทันหรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่าหากดำเนินการในกรอบกฎหมายก็ทำได้ทันอยู่แล้ว แต่ขณะนี้กระบวนการปรึกษาร่วมกันก็ยังไม่เกิดขึ้น และขอย้ำว่าสนช.ไม่สามารถกำหนดประเด็นทำประชามติได้
วันชัยเชลียร์ลั่น-นั่งต่อ 5 ปีเลย
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. กล่าวกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ให้ไปถามประชาชนว่าต้องการให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งอีก 2 ปี หรือไม่ ว่าพล.อ.ประยุทธ์คงต้องเดินตามโรดแม็ปที่วางไว้ หากเสนอจะอยู่ต่ออีก 2 ปี ด้วยตัวเองก็จะกลายเป็นว่าต้องการสืบทอดอำนาจ แต่หากมีข้อเรียกร้องจากประชาชนว่าต้องการให้อยู่ปฏิรูปเพื่อสะสางปัญหาให้เสร็จสิ้นเรียบร้อย พล.อ.ประยุทธ์ก็น่าจะนำมาพิจารณา ส่วนตัวเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ที่มีความตั้งใจมากที่สุดในรอบ 10 ปี หากเวลาหมดไปก็คงน่าเสียดาย ถ้าประเมินความรู้สึกของทั้งคนกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัดเชื่อว่าคงยังไม่อยากให้เลือกตั้งเร็วๆ นี้ หากปัญหายังไม่ถูกแก้ไขให้แล้วเสร็จ มีเพียงนักการเมืองที่เสียประโยชน์เท่านั้นที่อยากเร่งให้มีการเลือกตั้ง
นายวันชัยกล่าวว่า สำหรับแม่น้ำสายอื่นอย่างสปช. ควรอยู่ทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่นั้น ตนเห็นว่าจะยุบสปช.ทันทีเลยก็ได้ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ประกาศใช้ ให้นายกฯอยู่ต่อแล้วพวกเราไปก็ยินดี อย่างไรก็ตามเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องออกมาแสดงความคิดเห็นว่าจะให้มีการเลือกตั้ง หรือปฏิรูปอีก 2 ปี ก่อนการเลือกตั้ง ส่วนที่มองว่าหากอยู่ต่อไปอาจเกิดกระแสต่อต้านจากประชาชน ตนมองว่าหากอยู่แล้วไม่ได้แก้ปัญหาอะไร ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะถูกต่อต้าน และตนคนหนึ่งก็จะออกมาต่อต้านทันที แต่หากอยู่นานแล้วแก้ปัญหาความขัดแย้ง กำจัดทุจริตคอร์รัปชั่น แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ปฏิรูป 2 ปีอาจน้อยเกินไป ประชาชนอาจเรียกร้องให้อยู่สัก 5 ปีก็ได้
สปช.ชี้รีบเลือกตั้งดีกว่า
ด้านนายอุดม ทุมโฆสิต สมาชิกสปช. กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ระบุให้ฝ่ายกฎหมายและผู้เกี่ยวข้องไปหาช่องหากอยากให้อยู่ต่อเพื่อปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งว่า ส่วนตัวเห็นว่าถ้าจัดเลือกตั้งโดยเร็วจะดีมาก เพราะเชื่อว่าการปฏิรูปปลายปีนี้คงลุล่วงทั้งหมด ถ้ารัฐบาลจะยืดเวลาออกไป ต้องมีเหตุผลเหมาะสม เช่น รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ หรือไม่ผ่านสปช.
"ในสายตานักวิชาการ แม้รัฐบาลปัจจุบันจะมีผลงานออกมามากจนประชาชนชื่นชอบ แต่เรื่องแบบนี้อยู่นานจะไม่ดีเพราะเวลาดี ก็ดีใจหาย แต่เวลายุบก็ไปเร็วเช่นกัน ถ้า เพลี่ยงพล้ำ ฝ่ายการเมืองที่รอเข้ามามีบทบาทคงไม่อยู่นิ่ง ดังนั้นการอยู่นานแล้วผิดพลาดอาจ นำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ก็ได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องอยู่ต่อเลยโรดแม็ป ต้องไม่เกิน 1 ปี ไม่เช่นนั้นจะมีข้อครหา"
รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช.และกมธ.ยกร่างฯ เตรียมใช้เวทีสปช. ล่าชื่อประชาชนเพื่อหนุนปฏิรูปอีก 2 ปีก่อนเลือกตั้ง นำไปยื่นต่อนายกฯนั้น สมาชิกสปช. ส่วนหนึ่งมองว่าไม่เหมาะสมที่สปช. จะเป็นผู้ริเริ่มหรือขับเคลื่อน เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับประเด็นดังกล่าว แต่หากจะริเริ่มต่อการเรียกร้องของประชาชน ควรให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการจะเหมาะสมกว่า
วิปปัดชงอยู่ต่อไม่ใช่มติสปช.
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการวิปสปช. กล่าวถึงข้อเสนอของสปช.บางกลุ่ม ให้ปฏิรูปประเทศ 2 ปีก่อนเลือกตั้ง เพื่อให้นายกฯทำงานต่อไปว่า กรณีดังกล่าวสมาชิกสปช.ยังมีความเห็นก้ำกึ่งกันอยู่ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่อีกกลุ่มมองว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นการสืบทอดอำนาจ เกิดกระแสต่อต้านขึ้นอีก ขณะนี้สปช.ยังยืนยันตามโรดแม็ปเดิม ให้ทำประชามติเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพียงอย่างเดียว แต่หากจะให้สปช.มีมติสนับสนุนการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
ต้อง นำเรื่องหารือในที่ประชุมวิปสปช.อีกครั้ง เรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหวต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสปช. กล่าวว่า หากมีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปี น่าจะไปทำประชามติสอบถามประชาชน โดยทำพร้อมกับประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะได้ใช้งบฯคุ้มค่า เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถือเป็นเรื่องดีจะได้เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ช่วยลดขัดแย้งได้ และยังสร้างความชอบธรรมให้กับนายกฯได้ หากประชาชนเห็นชอบ แต่สิ่งสำคัญคือต้องยอมรับผลที่ออกมา โดยเฉพาะเสียงข้างน้อย มิเช่นนั้นจะสร้างเงื่อนไขความ ขัดแย้งใหม่ขึ้นอีก
ปชป.เตือนอยู่ต่อ-ยิ่งสูงยิ่งหนาว
วันเดียวกัน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ระบุมีผู้เสนอให้อยู่ในอำนาจต่อเพื่อทำงานปฏิรูป ว่า ขอให้ผู้เสนออธิบายสังคมให้รู้ว่าการปฏิรูปนี้หมายถึงอะไรและมีเนื้อหาสาระด้านใดบ้าง หากหมายถึงการแก้รัฐธรรมนูญและยกร่างกฎหมายลูกนั้น มีหลักประกันอะไรให้กับประชาชนว่า ถ้าครบ 2 ปีที่ปฏิรูปเสร็จแล้ว คนไทยจะหันหน้ามากอดกันปรองดองกัน
"การที่สมาชิกสปช.บางกลุ่ม ตบมือเชียร์ให้นายกฯอยู่ต่อ ผมไม่แปลกใจ เพราะคนพวกนี้มาตามอำนาจแต่งตั้งของคสช. เขาต้องเชียร์เพื่อพวกเขาจะได้อยู่ต่อไปด้วย แต่ผมขอเตือนนายกฯให้ระวัง นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช.และกมธ.ยกร่างฯที่เชียร์เรื่องนี้ ระวังจะเข้ารกเข้าพง หากอยู่ยาวจะเกิดปัญหาขึ้นอีก และเมื่อถึงขาลงมันจะลำบาก จนต้องฆ่าเสืออย่างที่นายกฯว่า" นายนิพิฏฐ์กล่าว
เมื่อถามถึงการเสนอให้ทำประชามติอยู่ต่อ นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า เหมือนส่งสัญญาณให้ฉีกโรดแม็ปที่วางไว้แล้ว เมื่อเบอร์ 1 ในรัฐบาลพูด คนในสังคมต้องฟัง จากเดิมที่วางโรดแม็ปว่าจะเลือกตั้งปลายปี 58 เลื่อนมาเป็นก.พ.59 อ้างทำกฎหมายลูก แล้วเลื่อนมาเป็นพ.ค.59 บอกไม่ทัน จนถึงอ้างทำประชามติเลื่อนมาเป็นก.ย.59 สัญญาณล่าสุด คืออยู่ต่ออีก 2 ปีหรืออยู่ยาว ขอเตือนในฐานะกัลยาณมิตร ให้ระวังคนรอบตัวให้ดี คนยิ่งสูงจะยิ่งหนาว เพราะคนรอบข้างไม่มีใครกล้าเตือน มีแต่ประเภทดีครับผม เหมาะสมครับนาย ใช่ครับท่านทั้งนั้น
"อ๋อย"ติงอย่าลืมสัญญาชาวโลก
ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงข้อเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อเพื่อปฏิรูปแล้วค่อยเลือกตั้งว่า คนเหล่านี้คงเส้นคงวาดี มีความตั้งใจและต้องการปฏิรูปมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร และต้องปฏิรูปให้เสร็จก่อนค่อยเลือกตั้ง แต่โรดแม็ปของ คสช.ไม่เป็นอย่างนั้น จึงพยายามเสนอให้ขยายเวลา แต่ปัญหาคือสิ่งที่ทำที่เรียกว่าการปฏิรูปนั้น ไม่ใช่การปฏิรูป แต่ทำให้บ้านเมืองล้าหลัง วุ่นวาย ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน คนที่ทำเรื่องปฏิรูปเองก็มีความเห็นต่างกัน ไม่ได้ฟังความเห็นจากหลายฝ่าย จึงไม่ใช่การปฏิรูป แต่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย ชะงักงัน
นายจาตุรนต์กล่าวว่า ที่สำคัญยังทึกทักเอาเองว่าคนส่วนใหญ่ต้องการ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน การยืดเวลาออกไปจะกระทบโรดแม็ปที่ประกาศต่อชาวโลกไว้ มีปัญหาต่อความเชื่อมั่นและความเชื่อถือ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งโอกาสของประชาชนที่จะเสนอความต้องการผ่านการเลือกตั้งก็จะช้าออกไป
ชี้แค่กองเชียร์ผลัดกันชง-กิน
"ที่มีบางคนเสนอให้นายกฯ อยู่อีก 2 ปี บางฝ่ายก็เสนอให้ สนช. สปช.อยู่ 2 ปีก็มี ดูเหมือนผลัดกันชงผลัดกันกิน น่าห่วงความคิดให้ทำประชามติ หากจะต่ออายุก็ต้องแก้ไขโรดแม็ป เท่ากับต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถามผมก็ไม่เห็นด้วย" นายจาตุรนต์กล่าว
นายจาตุรนต์กล่าวด้วยว่า ถ้าต้องการทำกันจริงๆ ก็ต้องทำประชามติ ตรงนี้มีสิทธิ์ทำได้ ถ้าประชาชนเห็นด้วยก็ไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ถ้าจะทำประชามติเพื่อถามว่าจะให้อยู่ต่ออีก 2 ปีหรือไม่ ก็ควรไปถามว่าให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วหรือคืนอำนาจมากกว่า ควรถามให้ประชาชนมีทางเลือก และถ้าประชามติออกมาอย่างไรก็ขอให้เป็นไปตามนั้น แต่ที่เสนอกันอยู่นี้ ทึกทักกันเอาเองว่าประชาชนต้องการ และไม่เปิดให้คนเห็นต่างได้แสดงความคิดเห็น
ณัฐวุฒิชี้ปฏิรูปใช้เวลาอีกนาน
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. กล่าวว่า ภารกิจที่จะทำเสร็จตามโรดแม็ปมีเรื่องเดียวคือรัฐธรรมนูญ ส่วนการปฏิรูปนั้น ต้องใช้เวลาอีกมาก แม้ทุกเรื่องจะทำเสร็จตามที่สปช.คิดไว้ แต่ในอนาคตยังมีปัญหาให้ปรับแก้ต่อไป ดังนั้น คสช.ควรผลักดันให้รัฐธรรม นูญมีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยแล้วคืนอำนาจตามสัญญา เพื่อให้การปฏิรูปเดินหน้าต่อโดยอำนาจรัฐที่มาจากประชาชน
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ส่วนท่าทีของพล.อ. ประยุทธ์ต่อข้อเสนอให้อยู่ปฏิรูปต่อไปอีก 2 ปีนั้น จะมีผลกระทบโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือของคสช.และตัวพล.อ.ประยุทธ์ ที่ยืนยันว่าทุกอย่างต้องตามโรดแม็ป จะถูกตั้งคำถามจากทั้งในและต่างประเทศว่า ประเทศ ไทยจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วถูกทำลายลงไปด้วย ทำให้การค้าการลงทุนยิ่งหดตัว สภาพเศรษฐกิจที่วิกฤตอยู่แล้ว จะหนักขึ้นไปอีก
แนะอยากอยู่ต่อให้ลงเลือกตั้ง
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ข้อเสนอเพื่ออยู่ในอำนาจต่อมีเพียงวิธีเดียว คือชวนแม่น้ำ 5 สาย ลงเลือกตั้งและประกาศนโยบายปฏิรูปให้ประชาชนพิจารณา ถ้าเป็นแบบนั้นจะอยู่ถึง 4 ปี แล้วเลือกตั้งต่ออีกกี่สมัยก็ไม่มีใครว่า เมื่อคนดีของประเทศไหลไปรวมกันบนเรือแป๊ะ โอกาสที่จะชนะถล่มทลายมีสูงมาก แต่การถืออำนาจพิเศษไปถามประชาชนว่าจะให้อยู่ต่อหรือไม่ จะทำให้ประชามตินั้นจะชอบธรรมได้อย่างไร
"หวังว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะไม่เคลิ้มไปกับข้อเสนอของคนบางกลุ่มที่ต้องการต่อท่ออำนาจ เพราะสุ่มเสี่ยงจะเกิดความเสียหายร้ายแรงในอนาคต หรือหากจะเดินอย่างนั้น ขอให้ตระหนักว่าถ้าผู้ปกครองต้องการฟังเสียงของประชาชน ก็วางปืนในมือลงแล้วจะรู้ความจริง" เลขาธิการนปช. กล่าว
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรอง นายกฯและรมว.ต่างประเทศ แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงกรณีประชามติให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อว่า เป็นสิทธิของเขา จะถามประชาชนอย่างไรก็ถามไป ไม่ต้องกลัวเปลืองเงินทอง ถ้าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องและทำให้ประเทศเดินหน้าได้ ขอให้ทำเลย สนับสนุนเต็มที่ ถ้าเป็นประชามติที่มาจากเสียงประชาชนอย่างแท้จริงก็น่าสนับสนุน สำหรับตนจะให้รอกี่ปี ขอให้ระบุมา ไม่มีปัญหา แต่คนอื่นไม่ทราบ ขอเพียงให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นกับประเทศไทย ขณะนี้ตนปล่อยวางแล้ว รอดูเพียงกฎกติกาของรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาอีกครั้งว่าจะลงเลือกตั้งหรือไม่ ส่วนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกฯ ท่านก็อยู่ด้วยความสงบมาตลอด แต่หากมีใครไปขอสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณก็ยินดีให้สัมภาษณ์ตามปกติ
แม่เกดแนะ"บิ๊กตู่"ลงเลือกตั้ง
วันเดียวกัน นางพะเยาว์ อัคฮาด ญาติวีรชนปี 53 กล่าวว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่เสนอให้ทำประชามติเพื่อปฏิรูปประเทศก่อน 2 ปี ค่อยจัดให้มีการเลือกตั้ง เขาคงคิดว่าประชาชนชื่นชม ชื่นชอบรัฐบาลที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ถ้าคิดว่าประชาชนชอบการบริหารงานของรัฐบาลขนาดนั้น เหตุใดจึงไม่เสนอให้รัฐบาลคืนอำนาจให้กับประชาชนแล้วรีบจัดให้เลือกตั้ง โดยให้พล.อ.ประยุทธ์ ลงสมัครรับเลือกตั้งไปเลย ถ้าคิดว่าตัวเองได้รับการยอมรับจริงขอให้ไปลงสมัครรับเลือกตั้งจะได้มีความชอบธรรม มีศักดิ์ศรี มีความสง่างาม ถ้าได้รับเลือกจากประชาชนอย่าว่าแต่อยู่ทำงานอีก 2 ปี แต่อยู่ได้ถึง 4 ปีเลย และยังเป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตย แต่หากใช้วิธีการแบบที่มีคนเสนอย่อมเป็นการสืบทอดอำนาจชัดเจน
นางพะเยาว์กล่าวว่า ยังไม่เคยเห็นประชาชนกลุ่มไหนออกมาสนับสนุนการปฏิรูปเห็นแต่ตามโพลสำรวจความคิดเห็น ซึ่งเป็นการสำรวจจากคนไม่กี่ร้อยคน ไม่ใช่ความเห็นของคน 70 ล้านคน
กมธ.รับฟังข้อเสนอแก้วันที่ 4
ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญ ที่เปิดให้สปช.ที่ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ เข้าชี้แจงหลักการและเหตุผลการเสนอปรับแก้ไขเป็นวันที่ 4
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการรับฟังคำชี้แจงว่า ที่ประชุมรับฟังคำชี้แจง 2 กลุ่ม ช่วงเช้าเป็นกลุ่มคำขอที่ 4 ของนายสมชัย ฤชุพันธ์ เน้นเสนอแก้ไขการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้แก่ ขอให้ปรับเปลี่ยนวิธีพิจารณาของ ป.ป.ช.จากระบบไต่สวนเป็นระบบวินิจฉัยชี้ขาด ขอให้เพิ่มกรรมการ ป.ป.ช.จาก 9 คน เป็น 11 คน และปรับหน้าที่ใหม่ ลดวาระจาก 9 ปี เหลือ 6 ปี ขณะที่ประเด็นการเมือง เสนอให้มี ส.ว.ทั้งสรรหาและเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ไม่ต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรอง นอกจากนี้ยังเสนอให้ตัด สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 279 ออกเนื่องจากควรอยู่ในรูปขององค์กรไม่ใช่สภา และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
'โฆษก กมธ.'ห่วงชงอยู่ต่อ 2 ปี
โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ช่วงบ่าย เป็น กลุ่มคำขอที่ 5 ของนายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ เสนอให้แก้ไขข้อความจากคำว่า "พลเมือง" เป็น"ประชาชน"ทั้งหมด ตัดสมัชชาคุณธรรมฯออก เพราะมีที่มาไม่ชัดเจน ตัดกลุ่มการเมืองเพราะทำให้พรรคอ่อนแอ ส่วนวาระของส.ส. เสนอแก้จาก 4 ปี เหลือ 3 ปี เพื่อแก้ปัญหาการขายเสียง พร้อมกันนี้ยังขอให้ตัด คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) เนื่อง จากมีหน้าที่ซ้ำซ้อนกับ กกต.
น.ส.สุภัทรากล่าวว่า ภาพรวมการเข้าชี้ แจง 4 วันที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เสนอให้ตัดประเด็นกลุ่มการเมืองออก รวมทั้งเสนอให้แก้ไขที่มาของ ส.ว. ทั้งนี้กมธ.ยกร่างฯจะไม่เน้นดูจำนวนประเด็นส่วนใหญ่ที่สมาชิก ขอแก้ไขตรงกัน แต่จะดูที่เหตุผลเป็นหลักว่า จะปรับแก้ไขได้หรือไม่ ส่วนข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ ให้ทำประชามติปฏิรูปประเทศ 2 ปี ก่อนเลือกตั้งนั้น เป็นความเห็นส่วนตัว ตนมองว่าหากทำประชามติเพื่อให้ปฏิรูปประเทศ ต้องอธิบายให้ได้ว่าจะมีความชอบธรรมหรือไม่ และต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าการปฏิรูป 2 ปีคืออะไร หากทำเช่นนั้นก็อาจมีผลต่อโรดแม็ปของประเทศได้
ปธ.ปปช.โต้วุ่นรื้อคดีรบ.ปู
วันเดียวกัน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ป.ป.ช.ตั้งเป้าจะสะสางทุกคดีให้เสร็จก่อนจะเกษียณในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า และจะสะสางคดีที่อยู่ในขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริง ขณะนี้มี 7,000 คดี ให้เหลือครึ่งหนึ่ง และเตรียมแบ่งถ่ายคดีให้ ป.ป.ช.จังหวัด เป็นผู้ดำเนินการต่อด้วย
นายปานเทพยังกล่าวถึงกรณีถูกวิจารณ์รื้อคดีสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาพิจารณาว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่วิจารณ์ ป.ป.ช. ดำเนินการในคดีที่ส่วนใหญ่เป็นคดีต่อเนื่อง และทำงานต่อเนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) เช่น กรณีไต่สวนโครงการระบบไฟฟ้าสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะเดียวกันก็ไต่สวนในคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยืนยันว่าทำงานทั้งสองด้าน ส่วนกรณีกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ โยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมิชอบว่า อยู่ระหว่างดำเนินการ
สมยศแจงเอกสาร'ชัยยะ' ไม่ครบ
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์กรณีการถอนยศพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า ตนยกเรื่องกลับไปให้พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริ อำพันธ์กุล ที่ปรึกษา(สบ10) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจรณาถอนยศตำรวจ ไปทำเรื่องมาใหม่ให้ครบถ้วน โดยยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ
ผบ.ตร. กล่าวว่า ทั้งนี้ ระเบียบว่าด้วยการถอดยศตำรวจปี 2557 มี 2 องค์ประกอบหลักคือ 1.พฤติกรรมคนนั้นสมควรเสนอให้มีการถอนยศมีรายระเอียด 7 เหตุผลด้วยกัน 2.มีพฤติการณ์ไม่สมควรให้ดำรงในยศตำรวจ เช่น ปฏิบัติตนไม่เหมาะสมมีเรื่องให้เสื่อมเสียกับตนเองหรือหมู่คณะ แต่ในเอกสารพิจรณาการถอนยศที่ส่งมานั้น ลงความเห็นมาให้องค์ประกอบที่หนึ่งเท่านั้น องค์ประกอบที่สองยังไม่ลงความเห็นมา ตนจึงให้กลับไปสรุปลงองค์ประกอบที่สองให้เสร็จ แล้วรีบกลับเสนออีกวันที่ 11 มิ.ย.นี้
"ผมทำอะไรต้องถูกต้องชัดเจน ตอบสังคมได้ ภายในวันที่ 11 มิ.ย. ถ้าเอามาเสนอครบถ้วนตามหลักกฎหมาย เซ็นแน่นอน เพราะถ้าทำครบถ้วน ผมก็ไม่มีสิทธิ์ไปโต้แย้ง จะบอกว่ายื้อยังไง ผมให้เสนอภายใน 7 วัน แต่ถ้าทำไม่ทัน ผมก็จะขยายเวลาได้ จะยื้อเพื่ออะไร" พล.ต.อ.สมยศกล่าว
เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เร่งรัดให้ถอดยศหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ทั้งนายกฯและรองนายกฯ ไม่เคยมาเร่งรัดใดๆ เพียงแต่ถามเท่านั้นว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่ออธิบายไปท่านก็เข้าใจและบอกว่าทำถูกต้องแล้วที่ยึดกฎหมายและความละเอียดรอบคอบ ฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณก็มีนักกฎหมาย ตนไม่ต้องการถูกฟ้องร้อง และต้องไปขึ้นศาลหลังจากตัดสินใจทำอะไรลงไปโดยไม่รอบคอบขอให้เชื่อว่า พล.ต.อ.สมยศ มีวิจารณญาณ รู้ว่าอะไรควรไม่ควร บางคนมาพูดมาว่าหากไม่ถอดยศจะถูกปลด ขอให้รู้ไว้ตนไม่เหมือนผบ.ตร.คนอื่น พร้อมจะไปได้ทุกเมื่อ และหลังจากตัดสินใจเรื่องนี้แล้ว จะต้องชี้แจงให้ตำรวจทราบ ข้อเท็จจริงด้วย
มท.ยันเร่งสอบ 10 ขรก.พันทุจริต
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. รายงานจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งว่า กรณี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานกรรมการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) แจ้งรายชื่อกลุ่มข้าราชการที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตของกระทรวงมหาดไทยล็อตแรก 115 ราย และนายกฯ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งให้ข้าราชการหยุดปฏิบัติหน้าที่ 10 รายนั้น สำหรับกลุ่มข้าราชการที่เหลือ ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยกำลังดำเนินการสอบสวนกรณีการตรวจสอบการทุจริตการใช้งบประมาณเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินและการใช้งบประมาณยาปราบศัตรูพืช เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเมื่อปี 2554-2555 จำนวนประมาณ 10 ราย รวมถึงระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวใน 2 จังหวัดคือ จ.อุบลราชธานีและอำนาจเจริญ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับข้าราชการที่ถูกตรวจสอบ มีทั้งผู้ที่อยู่ในราชการและเกษียณอายุราชการ เมื่อกระบวนการสอบสวนเสร็จสิ้นต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมของ คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย เพื่อมีมติลงโทษทางวินัยต่อไป
รบ.อึ้ง -ทุกจว.ใต้รุกป่าปลูกยาง
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าปฏิบัติการเพื่อบังคับใช้กฎหมายต่อพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกปลูกยางพาราว่า จากการรวบรวมข้อมูลทั้งจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศและการเดินเท้าเข้าสำรวจในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ จนนำมาสู่การออกแผนปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า พบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าทั่วประเทศ 62 จังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้พบการบุกรุกทุกจังหวัด โดยแผ้วถางปลูกยางพารา มีทั้งที่เป็นป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า วนอุทยาน และเตรียมการประกาศเป็นวนอุทยาน
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. กำชับเป็นพิเศษใน 2 เรื่อง 1.การปฏิบัติการตามนโยบายนี้ต้องไม่ให้มีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตหรือแอบอ้างผลประโยชน์ หากพบจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดทุกกรณี และ 2.ให้ดำเนินการในแปลงที่เป็นการบุกรุกจากนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลเป็นอันดับแรกตามนโยบายคสช.
"รัฐบาลไม่ยอมให้เกิดพฤติกรรมละเมิดกฎหมายต่อไปได้ จึงให้กรมอุทยานแห่งชาติทวงคืนผืนป่า 200,000 ไร่ และดำเนินการโดยกรมป่าไม้อีก 400,000 ไร่ เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตั้งเป้าให้เสร็จในเดือนธ.ค.นี้ ทั้ง 600,000 ไร่ ขณะนี้ดำเนินการไปได้แล้ว 23,000 ไร่ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับผู้บุกรุกป่าในกรณีอื่น เช่น การสร้างที่พัก สร้างบ้าน ซึ่งส่วนนั้นต้องดำเนินการต่อไปเช่นกัน ขั้นต้นเจ้าหน้าที่จะตัดต้นยางเพียงร้อยละ 60 ของพื้นที่ อีกร้อยละ 40 คงเหลือไว้ให้เป็นพื้นที่ที่ราษฎรผู้ยากไร้ ซึ่งมักเกี่ยวข้องในฐานะผู้รับจ้างกรีดยางจากนายทุน ได้ทำมาหากินต่อไปก่อน" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทั้งกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชน และผู้ครอบครองที่ดินปลูกยางพาราให้ทราบถึงนโยบายของรัฐบาลอย่างชัดเจน การเข้าไปตัดฟันต้นยางพาราในพื้นที่ ต้องแจ้งผู้นำชุมชน ร่วมเป็นสักขีพยานในการดำเนินการ ทั้งนี้ การพยายามสร้างข่าวเท็จ หรือปลุกปั่นกระแสว่ารัฐเลือกปฏิบัติกับบางพื้นที่ หรือรังแกประชาชนผู้ยากไร้ ไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย ขอให้ประชาชนทุกคนบริโภคข่าวสารอย่างมีเหตุผล ส่วนผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย อย่าได้ปลุกปั่นสร้างกระแสเอาประชาชนมาเป็นหนังหน้าไฟ กำบังความผิดของตน เพราะเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามเอกสารหลักฐาน และพิสูจน์ตรวจสอบได้ทุกกรณี
รปภ.เข้ม'ครม.'สัญจรเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงจัดประชุมครม. นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ หรือครม.สัญจร ที่จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 27-28 มิ.ย.นี้ว่า แม่ทัพภาคที่ 3 จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะพานายกฯ ไปเยี่ยมชมโครงการพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่ที่ใด ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ ทั้งนี้ได้พูดคุยกับผู้ว่าฯ เชียงใหม่ในเบื้องต้น คาดว่าจะ พานายกฯ ไปเยี่ยมชมตลาดชุมชนในช่วงเช้าวันที่ 27 มิ.ย. ก่อนเริ่มประชุมครม.ในช่วงบ่าย จากนั้นวันที่ 28 มิ.ย. จะไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ จ.พิษณุโลกต่อไป
เมื่อถามว่าได้สั่งการผู้ว่าฯ เชียงใหม่ดูแลความเคลื่อนไหวในจังหวัดหรือไม่ เพราะเป็นฐานของกลุ่มคนเสื้อแดง พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ไม่ได้สั่งการใดๆ คิดว่าไม่มีอะไรน่าห่วง ขณะนี้ประเทศกำลังเข้าสู่การปรองดอง หากออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านกันแบบนี้ เรื่องก็ไม่จบ ขอให้เลิกได้แล้วกับความคิดที่ว่าคนกลุ่มนี้เดินทางไปที่นั่นหรือที่นี่ไม่ได้
ที่บก.ทบ. พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกทบ. กล่าวหลัง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. เป็นประธานการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกว่า พล.อ.อุดมเดช มอบหมาย กองทัพภาคที่ 3 เตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อสนับสนุนการจัดประชุมครม.สัญจร ในช่วงปลายมิ.ย.ที่จ.เชียงใหม่ และพิษณุโลก โดยเฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวก การสัญจร การรักษาความปลอดภัย การเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของหน่วยทหารในพื้นที่ ทั้งนี้ รัฐบาลมอบความไว้วางใจให้กองทัพบกเป็นครั้งที่ 2 ในการจัดประชุมครม.สัญจร จึงขอให้ทุกหน่วยได้เตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย