WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

2CH

2 จังหวัดหนุนร่างรธน. ขึงธงเขียว 'บวรศักดิ์'ลั่นไม่ได้ทำ บิ๊กอ๊อดทวงถอนยศแม้ว อสส.ตั้งชุดเอาผิดม.112 'ปู'ไม่เกี่ยวคืนพาสปอร์ต ครม.เปิด'สปช-สนช.'ซัก

      ธงเขียวหนุนร่างรัฐธรรมนูญโผล่ขอนแก่น-นครศรีฯ 'บวรศักดิ์'แจง กมธ.ไม่เกี่ยว กลุ่ม 2 เสนอแก้คึกคัก กรรมาธิการห้ามสื่อเข้าฟังยกสุดท้าย พท.อ้างสังคมไม่วางใจ ปธ.ชุดชงถอดยศ'แม้ว'

 

มติชนออนไลน์ : หารือปฏิรูป - นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวรชัย เหมะ แกนนำ นปช. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมหารือพร้อมเสนอแนวทางเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ตามคำเชิญของ ศปป. ที่สโมสรทหารบก วิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน


หนุน รธน. - เครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองภาคกลางและตะวันตก ยื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งขอแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราให้มีความเข้มแข็งและมีการส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน



@'บิ๊กตู่'เตรียมแจงแม่น้ำ 3 สาย

       เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่กระทรวงการคลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 3/2558 ถึงการสัมมนาร่วมกันระหว่างสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล หรือสัมมนาแม่น้ำ 3 สาย ในวันที่ 4 มิถุนายน ว่า จะไปพูดคุยกับแม่น้ำทั้ง 3 สายที่รัฐสภา สปช. สนช. และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ คสช.จะไปเป็นพี่เลี้ยงเท่านั้น ไปฟังดูสิว่าจะว่าอย่างไรกันบ้าง ว่าใครทำอะไรไปแล้วอย่างไร ทางกระทรวงในฐานะ ครม.จะไปชี้แจงว่า 5 กลุ่มงานหลักได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง อดีต ปัจจุบัน และอนาคตจะส่งต่อให้รัฐบาลหน้า สปช. สนช.สงสัยอะไรก็ถามมา เพราะบางครั้งไม่รู้ ต่างคนต่างทำงาน รวมทั้งเรื่องการปฏิรูปตำรวจมีทั้งหมด แต่จะต้องคุยกันในตอนท้ายว่าจะต้องเขียนอะไรบ้าง ในสิ่งเหล่านี้จะเขียนในรัฐธรรมนูญหรือบทเฉพาะกาล หรือในกฎหมายลูกที่จะทำปฏิรูปโครงสร้างต่อ 

       "ที่ประชุมแม่น้ำ 3 สายฟังแล้วเขาก็จะนำสิ่งเหล่านี้ไปคิดต่อว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่ สิ่งที่ สปช.คิดในวันนี้ จะไปเกิดตรงนู้น ถ้ามาเกิดตรงนี้ก็เท่ากับว่าเขาซ้อนกับผม เป็นรัฐบาลอยู่และเป็น คสช.ด้วย ผมตั้ง สปช.ขึ้นมาเพื่อให้ทำในวันหน้า นำสิ่งที่สั่งไปเขียนเป็นกฎหมาย เป็น พ.ร.บ. ไปทำให้เป็นกฎหมายทันสมัย อะไรไม่ทันสมัยแล้วต้องทำต้องใช้งานก็ต้องปฏิรูปก่อน ผมใช้มาตรา 44 ทำแต่ พ.ร.บ. พ.ร.ก. ต้องไปออกที่ สนช. เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในวันข้างหน้า และต้องพูดเยอะและพูดมากก็เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติ" นายกฯกล่าว 

 

@ พร้อมแก้รธน.ทำประชามติ

      ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุม ครม.วันที่ 2 มิถุนายน มีมติให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปฏิเสธว่า "ไม่ใช่ ผมบอกว่าถ้าเขาจะต้องทำประชามติให้เขาทำได้ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ผมไม่ได้มีมติอะไรให้กับเขาก็เป็นความต้องการของประชาชนที่ต้องการทำประชามติ ก็ทำไปสิ หน้าที่ของผมคือ ครม.เห็นชอบหรือไม่ ถ้าเขาจะทำประชามติ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ต้องไปหาช่องทางและวิธีการก่อน เพื่อนำไปสู่ สนช.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่มีมติว่าให้เขาทำหรือไม่ทำ อยากทำก็ทำ ผมก็จะแก้รัฐธรรมนูญให้ ถ้าตัดสินใจมา ผมก็แก้รัฐธรรมนูญให้อยู่แล้ว วันนี้ผมอยู่ได้ด้วยรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ด้วยอำนาจ"

     เมื่อถามว่าต้องรอให้ สปช.พิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนหรือไม่จึงจะตัดสินใจทำประชามติ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ใช่ ขั้นตอนคือ 1.สปช.รับหรือไม่รับร่างฯ ถ้าไม่รับร่างก็ต้องแก้ไข ตั้ง กมธ.ยกร่างฯขึ้นมาใหม่ แต่ก็ต้องมาดูว่าถ้าจะให้ กมธ.ยกร่างฯชุดปัจจุบันยังอยู่ ต้องแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วใครจะมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือใช้กฎหมายเดิมได้หรือไม่ ให้เขาไปคิดกันมา ตนมีหน้าที่เพียงแก้รัฐธรรมนูญให้เท่านั้น ฉะนั้น สนช. สปช.หรือ กมธ.ยกร่างฯ ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีงานทำ เดี๋ยวหาทำกันจนได้ เพราะทุกคนต่างก็มีความหวังดี แต่ก็มีข้างหนึ่งไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นมาอีก อีกข้างหนึ่งอยากกลับมาที่เดิม มีอำนาจมากมายจะทำอะไรทั้งดีและไม่ดีได้

 

@ เปรยตั้งบริษัทนสพ.แห่งชาติ

        "ส่วนใหญ่เรียกกันว่าพวกผมเป็นข้าราชการการเมือง แต่ผมไม่ใช่นักการเมือง นักการเมืองต้องพูดเก่งกว่านี้ วันนี้ที่บอกว่าผมเก่งก็เพราะผมเก่งแบบมีเรื่องราว ผมไม่ได้เก่งแบบเลอะเทอะเปรอะเปื้อน น้ำท่วมทุ่ง ไม่มี ฟังผมให้ครบแล้วกัน วันนี้ถือว่าผมพูดมีสาระใช่หรือไม่ พอพูดแบบนี้สื่อก็ไปเขียนอีกว่า หัวหน้า คสช.ชอบแต่คำยกยอปอปั้น ทีเวลาด่าไม่พูดกัน ด่ากันทุกวัน พอวันนี้ก็จะมาพูดอีกว่านายกฯชอบปอปั้น อย่ามาไม่จริงใจกับผม ผมรู้ว่าใครจริงใจหรือไม่จริงใจกับผม นักข่าวจริงใจกับผมทุกคน เว้นแต่บรรณาธิการกับเจ้าของหนังสือพิมพ์ เอาไหมผมจะตั้งบริษัทหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้พวกสื่อมาอยู่กับผม ดูซิว่าประเทศจะเดินหน้าไหม โดยคุณสมบัติข้อหนึ่งคือ 1.มีความรู้ความสามารถ มีขีดความสามารถก่อน 2.สวยไหม เพราะสื่อจะต้องไปพบคน ไม่สวยเขาก็ไม่ฟัง แม้แต่โฆษก พิธีกร ผมยังเคยถามว่าคัดตัวกันอย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า 1.เป็นคนเก่ง โดยชี้แจงด้วยว่าคนเก่งฝึกได้ แต่คนสวยหาฝึกไม่ได้ แต่ผมจะเลือกคนไม่สวย และไม่ต้องมาทำศัลยกรรมภายหลัง เพราะไม่ชอบให้มาหลอกลวง" นายกฯ กล่าว

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงทะเบียนรถเบนซ์ส่วนตัว ทะเบียน ญค 1881 กรุงเทพมหานคร ให้โชคกับบรรดาคอหวยว่า "ผมไม่รู้รถทะเบียนอะไร" เมื่อถามต่อว่าแล้วงวดหน้าจะออกทะเบียนรถคันไหน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "ผมไม่รู้ เพราะผมไม่ได้เป็นคนให้ออก เลขก็อะไรก็ไปคิดกันเอาเอง" 

 

@ "บิ๊กป้อม"เชื่อถอดยศไม่มีปัญหา

        พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะทำงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีมติเอกฉันท์ให้ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า เป็นเรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตนไม่เกี่ยว อย่ามาถาม ส่วนความเคลื่อนไหวใต้ดินสืบเนื่องจากการถอดยศนั้นไม่น่าจะมีอะไรเพราะรัฐบาลทำทุกอย่างตามขั้นตอนและตามกฎหมาย พยายามสร้างความเป็นธรรม และยืนยันว่าไม่ได้กล่าวโทษติดตามล้างแค้นใคร ส่วนการที่ พ.ต.ท.ทักษิณออกมาแสดงบทบาทขณะนี้เพื่อกระตุ้นมวลชนหรือไม่นั้น ตอบไม่ได้ เพราะไม่ใช่ พ.ต.ท.ทักษิณ และไม่กังวลอะไร เพราะทำทุกอย่างตามขั้นตอนและตามโรดแมปอยู่แล้วในเรื่องรัฐธรรมนูญ ส่วน กมธ.ยกร่างฯ จะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ตาม ครม.ส่งคำขอแก้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า จะผ่านหรือไม่อยู่ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงความเห็นชอบขั้นสุดท้าย แม่น้ำทั้ง 5 สายเป็นเนื้อเดียวกันอยู่แล้ว คสช.ถึงจะเป็นต้นกำเนิดแต่ก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะเข้าไปขอแก้ไขในส่วนของ ครม.เท่านั้น เรื่องเลือกตั้งจะมีในปี 2559 หรือ 2560 นั้น เรื่องนี้มีโรดแมปอยู่แล้ว ใครก็กำหนดไม่ได้ เพราะมีขั้นตอนเขามีอยู่

 

@ ชี้ 5 เสือลุ้นขึ้นผบ.ทบ.คนใหม่

       พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงการแต่งตั้ง ผบ.ทบ.คนใหม่ แทนพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ที่จะเกษียณอายุราชการเดือนกันยายนนี้ว่า ไม่ต้องจับตา เขามีขั้นตอนการดำเนินการดำเนินอยู่แล้ว แต่จะมองเฉยๆ เรื่องพวกนี้ไม่ต้องเป็นห่วงเขามีคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งอยู่แล้ว ขอให้ความรู้ความสามารถมีความเหมาะสม ตนก็ไม่ได้มอบนโยบายอะไรเป็นพิเศษ จะมอบทำไม มี ผบ.ทบ.ดูแลอยู่ เมื่อมีการเสนอมาพิจารณาก็ว่าตามความเหมาะสม

       เมื่อถามว่า นอกจากสายบูรพาพยัคฆ์จะมีสายอื่นขึ้นมาดำรงตำแหน่งหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "สายไหน ไม่เกี่ยวเลย มันเกี่ยวกับขั้นตอนของเขาคือคนที่ได้รับการพิจารณาก็มีอยู่ 4-5 คนเท่านั้น นอกเหนือจาก 5 เสือคงไม่ใช่แน่นอน"

 

@ "บิ๊กต๊อก"ปล่อยสตช.ดู"แม้ว"

       พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาคดีความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือคดีความผิดตามมาตรา 112 กล่าวถึงกรณีสั่งให้นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบการให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ประเทศเกาหลีใต้ว่า เข้าข่ายมีความผิดมาตรา 112 หรือไม่ว่า เรื่องนี้ สตช.เป็นเจ้าภาพ ตนในฐานะประธานก็ตรวจสอบในเบื้องต้นแต่ในส่วนกฎหมายต้องให้ สตช.เป็นเจ้าภาพจัดการ ส่วนจะส่งเรื่องฟ้องหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบ ตนไม่สามารถไปก้าวก่ายหรือสั่งการได้

 

@ ส่ง 152 ขรก.ทุจริตถึงมือ"บิ๊กตู่"

      พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอบต.) กล่าวถึงการจัดทำบัญชีข้าราชการทุจริตชุด 2 ว่า ขณะนี้ได้ส่งรายชื่อข้าราชการทุจริตชุด 2 จำนวน 152 คนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนและการตัดสินใจดำเนินการอย่างไรต่อจากนี้ขึ้นอยู่กับนายกฯ และทีมกฎหมายของรัฐบาลจัดการต่อไปว่าจะใช้มาตรา 44 จัดการ หรือใช้กฎหมายปกติดำเนินการ หลังจากนั้นแต่ละกระทรวงจะรายงานต่อที่ประชุม ครม.เกี่ยวกับการติดตามข้าราชการภายในกระทรวงของตนเองต่อไป

      "บัญชีชุดนี้รายชื่อผมไม่ได้ดู ปล่อยให้เป็นอำนาจของนายกฯดีกว่า เพราะหากผมไปดูแล้วมีข้าราชการในระบบอุปถัมภ์ เดี๋ยวเขาก็โทรมาถามผมอีก เราต้องมั่นใจในหน่วยงานที่จัดการ ผมแค่ดูยอดรวมเท่านั้น ส่วนบัญชีที่ 3 ก็ต้องรอดูกันต่อไป" พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

 

@ ผบ.ตร.เร่ง"ชัยยะ"ลุยถอดยศแม้ว

       พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีการพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานมติคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่อย่างใด จึงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการเรื่องนี้นานเท่าใด หากได้รับรายงานจาก พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ 10) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับถอดยศเรียบร้อยแล้ว จะต้องใช้เวลาในการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดเพื่อความถูกต้อง ก่อนส่งเรื่องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อดำเนินการต่อไป แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงาน ก่อนหน้านี้ทำบันทึกเร่งรัดให้ พล.ต.อ.ชัยยะรับรองมติการถอดยศมาให้ถูกต้องครบถ้วน และเร่งนำมาเสนอโดยเร็วที่สุดแล้ว

      ผบ.ตร.กล่าวว่า กรณีกำหนดประชุม ครม.อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ที่ จ.เชียงใหม่ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนั้น ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีแผนรองรับเพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญอยู่แล้ว

 

@ อสส.ตั้งทีมทำคดี 112 ทักษิณ

      นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ส่งสำนวนคดีให้อัยการ เพื่อให้ดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีให้สัมภาษณ์ที่ประเทศเกาหลีใต้ว่า ทางอัยการได้พิจารณาสำนวนแล้ว เนื่องจากคดีดังกล่าวเกิดขึ้นภายนอกราชอาณาจักร นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพนักงานสอบสวนในคดีนี้แล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. และคณะทำงานอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นทีมพนักงานสอบสวนร่วมกันพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าว ตามขั้นตอนแล้วหากคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีเสร็จสิ้นจะต้องส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาเพื่อชี้ขาดอีกครั้งและมีคำสั่งทางคดีต่อไป

       นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน กล่าวว่า สำหรับชุดพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าวที่อัยการสูงสุดแต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนั้น เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. และพนักงานอัยการสำนักงานการสอบสวน ส่วนฝ่ายคณะทำงานอัยการจะแต่งตั้งใครเป็นผู้รับผิดชอบหรือมีอัยการไปร่วมสอบสวนด้วยกี่คนนั้น คงต้องรอประชุมกันอีกครั้งก่อนจะดำเนินการต่อไป

 

@ "วิษณุ"แจงประชามติม.ค.

      นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อเปิดทางทำประชามติว่า คุยกันได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังมีบางอย่างติดอยู่คือจะต้องถามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าคิดอย่างไร เพราะเดิมที คสช.ไม่ได้คิดอะไรและให้ไปทำกันมา ทำกันไม่ถูก เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร เช่น ถ้าโหวตแล้วไม่ผ่านจะทำอย่างไรต่อไป

      "หลักคือแก้เพื่อไปสู่การทำประชามติ วันนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้สัญญาณชัดเจนแล้วว่าถ้าผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ให้ไปสู่การทำประชามติเลย ไม่ต้องมีใครบอกว่าจะไปหรือไม่ไป แต่ให้ทำเลย ตรงนี้ชัดแล้ว ภายในกี่วันก็ชัดแล้วคือช่วงเดือนมกราคม 2559" นายวิษณุกล่าว และว่า หากไม่ระบุให้ทำประชามติเชิงบังคับจะกลับมาที่เดิมว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินใจให้ทำประชามติ เหมือนโยนเผือกร้อนให้คนนั้นคนนี้อีก สู้ทำไปเลยดีกว่า เพราะอยากให้ทำอยู่แล้ว ส่วน 4 ทางเลือก หากร่างฯ ไม่ผ่านคือ 1.กลับไปใช้กระบวนการเดิมตั้งทั้ง สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 2.ตั้งแค่ กมธ.สภาร่าง หรือกรรมการอะไรขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ 3.มอบให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 4.ให้ ครม.ร่วมกับใครก็แล้วแต่ อาจจะเป็น คสช.หรือไม่ก็ได้ หยิบยกเอารัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมาพิจารณาปรับปรุง อยู่ระหว่างการชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียอยู่

 

@ ชี้ถ้ารธน.ผ่าน-กมธ.นั่งยาว

      เมื่อถามว่าภาระหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯจะหมดลงเมื่อใด นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าหากประชามติผ่านก็ยังต้องอยู่เพราะต้องทำกฎหมายลูก เขียนไว้เองในบทเฉพาะกาลว่า กมธ.ยกร่างฯ จะต้องอยู่ไปจนถึงวันที่เลือกตั้งและเปิดสภาวันแรก หรือหากร่างฯ ไม่ผ่านการโหวตของ สปช.ก็หมดหน้าที่ในวันนั้นเลย ถ้าทำประชามติไม่ผ่านก็หมดหน้าที่วันนั้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอรัฐบาลเสนอไปยัง กมธ.ยกร่างฯ เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯ จะแก้ไข แต่แก้ไม่หมด วันที่ 6 มิถุนายนนี้ตนจะเข้าชี้แจงต่อ กมธ.ยกร่างฯ ว่ามีเหตุผลอะไรถึงแก้ ใช้เวลา 3 ชั่วโมงก็พอแล้ว โดยจะไปชี้แจงเพียงคนเดียว

 

@ ไม่ให้นักข่าวร่วมฟังถกแก้รธน.

      ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีวาระเชิญตัวแทนผู้ยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเข้าชี้แจงเป็นวันที่สอง ช่วงเช้าตัวแทนกลุ่มพลังงาน นำโดยนายมนูญ ศิริวรรณ เข้าชี้แจงเป็นกลุ่มที่ 3 ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายบวรศักดิ์ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระอย่างแท้จริงในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ทาง กมธ.ยกร่างฯจึงมีมติขอร้องผู้สื่อข่าวด้วย กมธ.ยกร่างฯ อยากจะพูดเต็มที่ ขอให้ในห้องประชุมมีเฉพาะ กมธ.ยกร่างฯ และเจ้าหน้าที่เท่านั้น 

รายงานข่าวจาก กมธ.ยกร่างฯแจ้งว่า ที่ประชุมได้ใช้เวลาช่วงหนึ่งก่อนเข้าวาระหารือกติกาจะให้ผู้สื่อข่าวยกเว้นช่างภาพนิ่งและช่างภาพสถานีโทรทัศน์เข้าติดตามการพิจารณาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของ สปช.และ ครม. โดยนายบวรศักดิ์ เป็นผู้ยกประเด็นให้ที่ประชุมหารือ เสียงส่วนใหญ่เห็นไปทางไม่ควรให้ผู้สื่อข่าวเข้าติดตามการพิจารณา

 

@ "มนูญ"เผยขอแก้68ประเด็น

       นายมนูญ แถลงภายหลังเข้าชี้แจงว่า คำขอแก้ไขของกลุ่ม 68 ประเด็น สาระสำคัญได้แก่ ขอให้ตัดกลุ่มการเมืองทิ้งทุกมาตรา ไม่เห็นด้วยกับการลงคะแนนบัญชีรายชื่อแบบโอเพ่นลิสต์ แต่เห็นด้วยกับรูปแบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ส่วน ส.ว.ขอให้ปรับลดจำนวนลงเหลือ 150 คน สรรหา 73 คน เลือกตั้งจังหวัดละคน 77 คน ขณะที่มาตรา 193 เห็นชอบหนังสือสัญญาของรัฐสภา เห็นว่ากำหนดเนื้อหาไว้กว้างขวางครอบคลุมการทำสัญญาระหว่างประเทศมากเกินไป อาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินได้จึงขอปรับแก้ให้ ครอบคลุมเฉพาะการทำสัญญาเพื่อเปิดเสรีทางการค้า และสัญญาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของรัฐเท่านั้น สำหรับมาตรา 308 ในบทเฉพาะกาล กำหนดให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งอีก 2 ปี เสนอให้เพิ่มว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจาก สปช.แล้ว ให้ทำประชามติถามประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่จะให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง 

 

@ เห็นตรงกันปรับที่มาส.ว.

       นายปกรณ์ ปรียากร พร้อมด้วย พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการรับฟังคำชี้แจงประกอบคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจากสมาชิก สปช.เป็นวันที่ 2 จำนวน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 7 ว่า ในกลุ่มที่ 3 ของ นายมนูญ ศิริวรรณ สปช.ส่งคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 68 มาตรา ส่วนกลุ่มที่ 7 ของนายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช. มีการขอแก้ไขเพิ่มเติมในร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ ประเด็นสิทธิพลเมืองและสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ต้องการให้เพิ่มข้อความในมาตรา 26 พลเมืองย่อมไม่กระทำการให้เกิดความเกลียดชังระหว่างกลุ่มคน ส่วนประเด็นหมวดปรองดอง ต้องการให้มีสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ จำนวน 60-90 คน และยุบกรรมการยุทธศาสตร์และกรรมการปรองดอง ตัดมาตรา 298 ออก อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สมาชิกกลุ่ม 7 ต้องการให้แก้ไขมากที่สุดคือ มาตรา 121 ให้ประชาชนเลือกตั้ง ส.ว.โดยตรง ให้ที่มา ส.ว.มาจากกลุ่มอาชีพที่หลากหลาย สายอาชีพละ 1 คน มีเขตเลือกตั้งตามโซนจังหวัด ส่วนการประชุมในวันที่ 4 มิถุนายน เริ่มเวลา 09.00 น.

 

@ "ประสาร"ชงแก้93ประเด็น

       นายประสาร มฤคพิทักษ์ กล่าวถึงข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญว่า ได้เสนอให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 93 ประเด็น ขอเพิ่มเติมใหม่ 10 ประเด็นคือ เพิ่มมาตรา 50/1 ให้ปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรของปวงชนชาวไทย และให้มีบริษัทพลังงานแห่งชาติเข้ามาบริหารจัดการ มาตรา 63/1 ให้พลเมืองสามารถใช้สิทธิทางศาล ฟ้องร้อง เพื่อติดตามสาธารณสมบัติของชาติคืนจากผู้ครอบครองโดยมิชอบ มาตรา 70/1 จัดตั้งกองทุนสนับสนุนป้องกันปราบปรามการทุจริตโดยประชาชน มาตรา 241/1 จัดตั้งศาลคดีทุจริตเป็นศาลชำนัญการพิเศษ มาตรา 246/1 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ต้องกำหนดเวลาชัดเจนเพื่อให้รวดเร็วยิ่งขึ้น มาตรา 274/1 ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 275/1-5 ให้แยกผู้ตรวจการแผ่นดินออกเป็นการเฉพาะ มาตรา 276/1-2 ให้แยกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการเฉพาะ มาตรา 281/1 ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และมาตรา 295/1 ปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งระบบเพื่อเพิ่มสิทธิพลเมือง สิทธิชุมชน สิทธิสตรี สิทธิผู้บริโภค รวมถึงสิทธิเสรีภาพสื่อสารมวลชน ไม่ใช่ประชาธิปไตย 4 วินาทีผ่านการเลือกตั้งอย่างที่ผ่านมา 

 

@ บวรศักดิ์เล็งอุดช่องโหว่รธน.

      นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้ทาง กมธ.ยกร่างฯได้เปิดให้ สปช.เข้าชี้แจงแล้ว 3 กลุ่ม มีการเสนอให้ปรับเปลี่ยนหลายประเด็น รวมทั้งประเด็นสิทธิพลเมือง เสนอให้ตัดสภาตรวจสอบภาคพลเมือง การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบโอเพ่นลิสต์ ภาพรวมถือว่ายังไม่กระทบกับโครงสร้างหลัก เพราะไม่ใช่เป็นการรื้อเสาเอก ทั้งนี้ ไม่ทราบว่าทั้ง 315 มาตรา จะมีการปรับลดเหลือกี่มาตรา ไม่สามารถตอบแทน กมธ.ยกร่างฯอีก 35 คนได้ และยังไม่มีธงอะไรทั้งสิ้น 

       นายบวรศักดิ์กล่าวว่า จากข้อเสนอกลุ่ม สปช.ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญมานั้น มีบางกลุ่มเสนอให้การลงมติไม่ไว้วางใจเป็นความลับ จึงได้บอกว่าถ้าเช่นนั้นก็จะเกิดการจ่ายเงินกันแบบมหาศาล และไม่แน่ใจด้วยว่ารัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ ส่วนประเด็นให้ตัดกลุ่มการเมือง เป็นเรื่องที่ กมธ.ยกร่างฯต้องไปพิจารณาทบทวนต่อไป แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ไม่สามารถตอบแทนได้ เช่น กรณีเสนอให้ตัดกลุ่มการเมืองออก จะเปิดช่องให้มี ส.ส.อิสระ หรือทำให้พรรคการเมืองตั้งง่ายขึ้น จากเดิมต้องมีสมาชิก 5,000 คน อาจจะเหลือพรรคละ 500 คน เพียง 1 ตำบลก็ได้สมาชิกครบแล้ว และอาจจะเหลือสาขาพรรคเหลือภาคละ 1 สาขา ทำให้เกิดพรรคนอมินีขึ้น ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯต้องไปพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นจากทุกกลุ่มเพื่ออุดช่องว่างเหล่านี้ 

 

@ แจงธงเขียวโผล่หนุนรธน.

       เมื่อถามว่า การพิจารณาช่วงโค้งสุดท้ายมีแนวโน้มว่าจะไม่เปิดให้สื่อมวลชนเข้าฟังการพิจารณาใช่หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่ให้เข้าฟัง เนื่องจากช่วงโค้งสุดท้ายจะมีการถกกันในรายละเอียดมากขึ้น จึงอยากให้ กมธ.ยกร่างฯมีความเป็นอิสระ และจากการหารือ กมธ.ยกร่างฯ 36 คน มีเพียง 1 คน ต้องการให้สื่อเข้าฟัง แต่เดิมสื่อมวลชนร่วมรับฟังก็ทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว แต่มีบางขั้นตอนที่เข้าสู่กระบวนการของกองบรรณาธิการ ทำให้มีการพาดหัวข่าวผิดเพี้ยนไป 

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า จากการที่ ครม.มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ขยายเวลาการทำงานให้ กมธ.ยกร่างฯออกไปอีก 30 วันนั้น จะทำให้การทำงานของ กมธ.ยกร่างฯเลื่อนออกไปด้วย ดังนั้น การพิจารณาช่วงโค้งสุดท้ายจะมีการประชุมนอกสถานที่ เดิมกำหนดวันที่ 22 มิถุนายน 3 กรกฎาคมนั้น มีแนวโน้มสูงว่าอาจจะต้องเลื่อนออกไปเป็นช่วงกลางเดือนกรกฎาคม คาดว่าอาจจะเป็นวันที่ 14-22 กรกฎาคม

     เมื่อถามว่า ขณะนี้เริ่มมีธงเขียวปักตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ทาง กมธ.ยกร่างฯไม่ได้เป็นคนทำ ธงเขียวนี้เห็นครั้งแรกที่เวทีรับฟังความคิดเห็นที่จังหวัดขอนแก่น ต่อด้วยเวทีที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

@ ค้านตัดคุ้มครองสวัสดิการสื่อ 

       นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สปช.ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ แถลงว่า การที่ สปช.บางส่วนเสนอให้แก้ไขเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อในร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมาตรา 49 วรรคท้าย เสนอให้ตัดคำว่าสวัสดิการออกนั้น ควรจะต้องบัญญัติทั้งสวัสดิการและสวัสดิภาพควบคู่กันไป โดยให้ใช้คำว่าสวัสดิภาพ และส่งเสริมสวัสดิการ เนื่องจากคำว่า สวัสดิภาพ ครอบคลุมเพียงเรื่องการบาดเจ็บ เสียชีวิต ความปลอดภัย ส่วนสวัสดิการจะครอบคลุมเรื่องสิทธิประโยชน์อื่น จะนำไปสู่การออกกฎหมายจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เพื่อกำกับจริยธรรมสื่อ เรื่องนี้ต้องการรับฟังความคิดเห็นของคนทำสื่อทุกประเภทจึงเปิดตู้ ปณ.50 ปณฝ. รัฐสภา กทม. 0305 ขอเชิญชวนสื่อได้แสดงความเห็นและข้อเสนอแนะส่งมาได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะได้นำความเห็นที่ได้มาประมวลผลและผลักดันให้เกิดผลตามความต้องการของสื่อมวลชน 

 

@ สนช.สัมมนาผ่าร่างรธน.

      ทางด้านคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับ กมธ. สามัญพิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความคิดเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. จัดสัมมนาวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ในมุมมองด้านวิชาการและการเมือง มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายโภคิน พลกุล นายสุริยะใส กตะศิลา สมาชิก สนช. สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ในมุมมองด้านวิชาการและการเมือง ว่า อะไรคือสาเหตุที่ประเทศใช้รัฐธรรมนูญค่อนข้างเยอะ เป็นภารกิจต้องช่วยกันค้นหาสาเหตุว่าอะไรเป็นสาเหตุ ที่ไม่สามารถใช้รัฐธรรมนูญถาวรได้อย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องมีหลักการคือ 1.มีบทคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง กำหนดกฎกติกาในการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจได้อย่างเหมาะสม มีหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ พรรคการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติได้เสียงข้างมากย่อมได้สิทธิในการเข้าไปบริหารประเทศเป็นรัฐบาล ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการแบ่งแยกและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จึงนำไปสู่การสร้างองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เริ่มมีขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นฉบับคนส่วนใหญ่ยอมรับได้ เพราะผู้ร่างมาจากการเลือกตั้งของประชาชน บางฝ่ายบอกว่าองค์กรอิสระตรวจสอบอำนาจรัฐเหล่านี้เป็นอำนาจที่ 4 เห็นว่าไม่ใช่ แต่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้อย่างเหมาะสม

      หลักการที่ 2 ความเป็นอิสระของตุลาการ ในการตัดสินข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะได้รับการพิจารณาวินิจฉัยด้วยความเป็นธรรม จะเกิดขึ้นได้เมื่อตุลาการเป็นอิสระ และหลักการที่ 3 มีบทบัญญัติว่าด้วยหลักนิติธรรม ตุลาการต้องตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรม ต้องตัดสินโดยหลักนิติธรรม เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น

 

@ ถกแม่น้ำ 3 สายคนละ 30 นาที 

       นายสุรชัย กล่าวถึงการสัมมนาร่วมกันระหว่าง สนช. สปช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล หรือสัมมนาแม่น้ำ 3 สาย ในวันที่ 4 มิถุนายน ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมกับรองนายกฯจะเข้ามาแถลงถึงผลงานครบรอบ 1 ปี มีเวลาคนละ 30 นาที เพื่อให้สมาชิกทั้ง 2 สภาเข้าใจว่ารัฐบาลจะทำอะไรต่อไปบ้าง และทำความเข้าใจโรดแมปของประเทศใน 2 เรื่องสำคัญ คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จและการปฏิรูปประเทศ จากนั้นจะให้สมาชิกทั้ง 2 สภาอภิปรายซักถาม รัฐบาลตอบ จะเสร็จสิ้นในเวลา 18.30 น. แล้วเชิญรัฐบาลรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน ส่วนเวลาในการอภิปรายของสมาชิกว่าดูจำนวนคนก่อน แล้วหารด้วยเวลาที่ได้รับจัดสรรมา สภาละ 60 นาที แต่ละคนคงใช้เวลาไม่เยอะเพราะเป็นการถามรัฐบาล วัตถุประสงค์หลักคือ ให้รัฐบาลมาชี้แจงนโยบายและผลงานที่ทำมาแล้วและจะทำต่อไป

     เมื่อถามว่า รัฐบาลได้ส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมายัง สนช.แล้วหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า น่าจะส่งเข้ามาภายในเดือนนี้ มิฉะนั้น กมธ.ยกร่างฯต้องทำตามกรอบเดิม สนช.จะใช้เวลาพิจารณาตามข้อบังคับให้เสร็จภายใน 15 วัน

 

@ "โภคิน"ชี้รธน.ต้องตอบโจทย์4ข้อ 

      นายโภคิน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญจะต้องประกอบด้วย 4 เรื่อง คือ 1.ต้องเกิดความปรองดอง 2.กำหนดกรอบการปฏิรูปชัดเจนและครอบคลุม 3.สานต่อสิ่งตกผลึกไปแล้ว และ 4.มีความต่อเนื่องพอเกิดปัญหาก็ต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย แต่ร่างของ กมธ.ยกร่างฯ อาจจะยังไม่ได้ตอบโจทย์ คำว่าเสียของจะเกิดแน่ ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯต้องตอบสังคมให้ได้ หรือตอบโจทย์แนวคิดของตัวเองจะยุ่งแน่ เช่นเดียวกับที่มาของ ส.ว.ให้ ส.ว.มาจากการสรรหา ต้องไม่ขัดแย้งกับหลักการถ่วงดุล ถ้าจะให้ ส.ว.มาจากการสรรหา ต้องมีอำนาจจำกัดเพียงแค่ยับยั้งเท่านั้น ไม่ใช่ให้อำนาจในการถอดถอนผู้แทนที่ประชาชนเลือกมา ส่วนประเด็นกำหนดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขยากเป็นเรื่องประหลาด เพราะโดยปกติการแก้ไขก็ยากอยู่แล้ว มีกระบวนการและขั้นตอนต้องใช้เวลา ถ้าใช้ไปแล้วเกิดปัญหาเกิดขึ้นก็เท่ากับเป็นการออกใบเทียบเชิญให้เกิดการรัฐประหารอีก

 

@ "จุรินทร์"ย้ำควรรื้อ4ประเด็น

      นายจุรินทร์ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญต้องเอาสิ่งที่ดีมาต่อยอดพัฒนา ไม่จำเป็นต้องไปรื้ออะไรใหม่ทั้งหมด แต่ต้องตอบโจทย์ว่าทำอย่างไรให้การเลือกตั้งสุจริต มีการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีคุณภาพ ประเทศมีการปฏิรูปและเดินหน้าต่อไปในอนาคต จากที่ได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญมีประเด็นสำคัญอย่างน้อย 4 ประเด็นที่ต้องการรื้อใหญ่ คือ 1.การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน 2.รื้อโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินอันเกิดจากสมมุติฐาน จากสมมุติฐานที่มองว่า หากได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้วเลวหมด จึงเป็นที่มาของการออกแบบองค์กรที่มาจากการสรรหาสารพัดเพื่อมาสั่งการควบคุมกลไกที่จากการเลือกตั้งของประชาชน 3.ต้องรื้อประเด็นที่เคยเป็นบทเรียนในอดีตจนนำมาสู่การสร้างปัญหาต่อระบบการเมืองของประเทศ 4.รื้อประเด็นอาจจะนำประเทศสู่ความวิกฤต 

 

@ แห่ร่วมสัมมนาศปป.คึกคัก

      ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) จัดเสวนาปรองดองสมานฉันท์เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในสังคมไทย ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ "อนาคตของประเทศไทย" โดยมี พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก เป็นประธานในเวทีการพูดคุย พร้อมด้วย พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ในฐานะ ผอ.ศปป. ได้เชิญนักการเมือง นักวิชาการ และกลุ่มประชาชนเข้ามาร่วมพูดคุยหารือ เพื่อเสนอแนวทางเดินหน้าปฏิรูปประเทศ บรรยากาศก่อนเข้าประชุม มีนักวิชาการ นักการเมืองจำนวนมากอาทิ นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย (พท.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. นพ.เหวง โตจิรากา

 

 

ล่าสุดจากมหาดไทย 49.6ล้าน ผู้มีสิทธิชี้ขาด ร่าง รธน.

     ชัดเจนแล้วกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่าจะต้องมีขึ้นแน่นอน เมื่อ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี ออกมาการันตีล่าสุดว่า "คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้สัญญาณชัดเจนแล้วว่า ถ้าผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ให้ไปสู่การทำประชามติเลย ไม่ต้องมีใครบอกว่าจะไปหรือไม่ไป แต่ให้ทำเลย ตรงนี้ชัดแล้ว และทำภายในกี่วันก็ชัดแล้วคือช่วงเดือนมกราคม 2559"

       สำหรับจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามตินั้น ข้อมูลล่าสุดจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีการรวบรวมข้อมูลในช่วงเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา พบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากทั่วประเทศที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีจำนวน 49,698,934 คน แบ่งเป็นชาย 24,005,534 คน หญิง 25,693,400 คน 

       หากการออกเสียงประชามติเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ในมาตรา 9 ที่กำหนดให้การออกเสียงประชามติต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง

      เท่ากับว่าจะต้องมีผู้มาออกเสียงเกิน 24,849,467 คน

      และเสียงของการผ่านประชามติจะต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง นั่นเท่ากับว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านได้จะต้องมีเสียงเกิน 12,424,733 เสียง

      แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะใช้ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ พ.ศ.2552 หรือไม่ เพราะมีความเสี่ยงสูงว่าเสียงอาจจะไม่ถึงตามที่กำหนด เนื่องจากหลายฝ่ายยังไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญร่างมาในขณะนี้ และอยู่ที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเองว่าจะมีการแก้ไขตามที่คณะรัฐมนตรีและกรรมาธิการชุดต่างๆ ใน สปช. เสนอให้มีการปรับแก้หรือไม่

       หรือรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกระเบียบในการทำประชามติใหม่

       อย่างไรก็ตาม ในการทำประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่มีการจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 เป็นการทำประชามติโดยใช้คำสั่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ที่กำหนดให้ผลการประชามติผ่านเมื่อเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ 

      พบว่ามีผู้มีสิทธิออกเสียง 45,092,955 คน มาใช้สิทธิ 25,978,954 คน ไม่มาออกเสียง 19,114,001 คน 

     อย่างไรก็ตาม ผลการประชามติมีผู้เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ 14,727,306 คิดเป็นร้อยละ 57.81 ของผู้มาใช้สิทธิ และไม่เห็นชอบ 10,747,441 คน

      หากแบ่งเป็นรายภาค พบว่าภาคกลางมีผู้เห็นชอบ 5,714,973 คน คิดเป็นร้อยละ 66.53 ไม่เห็นชอบ 2,874,674 คน คิดเป็นร้อยละ 33.47 

     ภาคใต้เห็นชอบ 3,214,506 คน คิดเป็นร้อยละ 88.30 ไม่เห็นชอบ 425,883 คน คิดเป็นร้อยละ 11.70 

     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นชอบ 3,050,182 คน คิดเป็นร้อยละ 37.20 ไม่เห็นชอบ 5,149,957 คน คิดเป็นร้อยละ 62.80 

     ภาคเหนือเห็นชอบ 2,747,645 คน คิดเป็นร้อยละ 54.47 ไม่เห็นชอบ 2,296,927 คิดเป็นร้อยละ 45.53 

      นอกจากนี้ ข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวน 44,002,593 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 32,759,009 คน คิดเป็นร้อยละ 74.45 โดยพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 34 ที่นั่ง แบ่งเขต 233 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 33 ที่นั่ง แบ่งเขต 132 ที่นั่ง รวม 165 ที่นั่ง พรรคเพื่อแผ่นดินได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 7 ที่นั่ง แบ่งเขต 17 ที่นั่ง รวม 24 ที่นั่ง พรรคชาติไทยได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4 ที่นั่ง แบ่งเขต 33 ที่นั่ง รวม 37 ที่นั่ง พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง แบ่งเขต 8 ที่นั่ง รวม 9 ที่นั่ง พรรคประชาราชได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง แบ่งเขต 4 ที่นั่ง รวม 5 ที่นั่ง

     และพรรคมัชฌิมาธิปไตยไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่มี ส.ส.แบ่งเขต 7 ที่นั่ง 

      สำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อจำนวน 46,921,682 คน มาใช้สิทธิ 35,203,107 คน คิดเป็นร้อยละ 75.03 ระบบเขตมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 46,921,777 คน มาใช้สิทธิ 35,119,885 คน คิดเป็นร้อยละ 74.85 โดยพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 61 ที่นั่ง แบ่งเขต 204 ที่นั่ง รวม 265 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 44 ที่นั่ง แบ่งเขต 115 ที่นั่ง รวม 159 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5 ที่นั่ง แบ่งเขต 29 ที่นั่ง รวม 34 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนาได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4 ที่นั่ง แบ่งเขต 15 ที่นั่ง รวม 19 ที่นั่ง 

     พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 ที่นั่ง แบ่งเขต 5 ที่นั่ง รวม 7 ที่นั่ง พรรคพลังชลได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง แบ่งเขต 6 ที่นั่ง รวม 7 ที่นั่ง พรรครักประเทศไทยได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4 ที่นั่ง พรรคมาตุภูมิได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง แบ่งเขต 1 ที่นั่ง รวม 2 ที่นั่ง ส่วนพรรครักษ์สันติ พรรคมหาชน พรรคประชาธิปไตยใหม่ ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคละ 1 ที่นั่ง

      ส่วนผู้มีสิทธิออกเสียงใหม่ๆ สดๆ จากกระทรวงมหาดไทยมีจำนวน 49,698,934 คน 

      หากใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ พ.ศ.2552 ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกว่ากึ่งหนึ่ง คือเกิน 24,849,467 คน จะต้องมีเสียงเกิน 12,424,733 เสียง ในการสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อเช็กเสียงโหวต ฐานเสียงการเมืองของแต่ละพรรคแล้ว คสช.และรัฐบาลต้องประเมินว่าจะใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ พ.ศ.2552 ในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือไม่ 

หรือจะกำหนดกฎเกณฑ์การทำประชามติใหม่ เพื่อไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังผลักดัน...เสี่ยงที่จะ "เสียของ"

 

 

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!