- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 01 June 2015 18:09
- Hits: 4995
อย่าตีปลาหน้าไซ สมยศฉะ ปชป.กดดันถอดยศ สปช.จี้ตัด 181-182 ชี้รธน.มีสิทธิ์ผ่าน วิชาลุยต่อ-อาญา 310 สส.ปมนิรโทษ
ผบ.ตร.เบรกอดีตส.ส. ปชป. อย่าตีปลาหน้าไซ ย้ำถอดยศ 'ทักษิณ'ใช้อำนาจตามกฎหมาย ไม่ทำตามกระแส ด้านเลขาธิการนายกฯ ชี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแล จึงไม่จำเป็นต้องเฝ้าระวังพิเศษ ไก่อูโต้ไล่ล่าตระกูลชินวัตร 'ณัฐวุฒิ' แนะคสช.จะลงจากอำนาจ แค่ฆ่าเสือในใจตัวเองก่อน กมธ.ยกร่างฯเชื่อสปช.ไม่คว่ำร่างรธน. เปิดเวทีรับฟังความเห็นภาคใต้ ไม่ค้านนายกฯคนนอก แต่ต้องมีวิกฤตจริงและอยู่ไม่นาน วิปสปช.ชี้หากกมธ.ยอมตัดทิ้งม.181-182 รธน.ก็มีสิทธิ์ผ่าน นายกฯชี้แจงผลงาน 1 ปีต่อวงประชุมแม่น้ำ 3 สาย คาดปมทำประชามติจะถูกถามมากสุด 'ยิ่งลักษณ์'โพสต์โชว์ภาพเพาะเห็ดรับประทานเอง พร้อมส่งกำลังใจให้เกษตรกร ป.ป.ช.ลุยคดีอาญา 310 อดีตส.ส. ดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม
วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8951 ข่าวสดรายวัน
เพาะเห็ด - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โชว์รูปการเพาะเห็ดทำอาหารรับประทานเอง ภายในบ้านพักซอยโยธินพัฒนา เขตลาดพร้าว กทม. พร้อมฝากความระลึกถึงและส่งกำลังใจให้พี่น้องเกษตรกรด้วย เมื่อวันที่ 31 พ.ค.
เวทีใต้ไม่ค้านนายกฯคนนอก
วันที่ 31 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ที่จ.นครศรีธรรมราช เป็นวันที่ 2 แบ่งเป็น 10 กลุ่มย่อย เพื่อทำความเข้าใจกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายภาค และเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อาทิ พลเมือง สิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วม สถาบันการเมือง นักการเมืองและการเลือกตั้ง กระบวนการยุติธรรม ศาลและการตรวจสอบ การปฏิรูปและความปรองดอง
ประเด็นเกี่ยวกับการเมือง ยังคงได้รับความสนใจจากคนภาคใต้ มีการแสดงความคิดเห็นทั้งสนับสนุนและค้านในบางประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการเพิ่มสิทธิพลเมือง แต่ยังไม่มั่นใจว่าประชาชนจะมีสิทธิอย่างแท้จริงหรือไม่ และไม่อยากให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามเสียงเรียกร้องของนักการเมืองมากจนเกินไป ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถปฏิรูปประเทศได้ และประชาชนไม่ขัดข้องเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก แต่ต้องมาในช่วงวิกฤตและในระยะเวลาที่จำกัด ไม่ควรเกิน 120 วัน
กมธ.ยันไม่ใช่แค่พิธีกรรม
นางถวิลวดี บุรีกุล ประธานคณะอนุกมธ.การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่าพอใจผลการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนตามภาคต่างๆ ซึ่งขณะนี้ที่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นเวทีที่ 3 ยืนยันว่าไม่ใช่พิธีกรรม แต่เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในทุกเวทีและผ่านช่องทางต่างๆ จนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ โดยจะถูกนำมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ
นางถวิลวดี กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คนเห็นร่วมกันว่าความเห็นของประชาชนจะถูกกำหนดเป็น 1 คำขอ เพื่อพิจารณาควบคู่กับ 8 คำขอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และ 1 คำขอของครม. ยืนยันว่าให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนทั้ง 65 ล้านคน ไม่น้อยกว่าเสียงของแม่น้ำ 3 สาย ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด มองอนาคตของประเทศและประชาชน
เชื่อสปช.ไม่คว่ำร่างรธน.
ส่วนกระแสข่าวการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของสปช.นั้น นางถวิลวดีกล่าวว่า เชื่อว่าสปช.เข้าใจและเห็นความพยายามในการทำงานของกมธ.ยกร่างฯ ที่มีเป้าหมายปฏิรูปประเทศ และเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ทางสปช.ก็เป็นผู้ส่งเสนอเข้ามา ส่วนข้อเสนอที่ครม.ให้ขยายเวลาการทำงานของกมธ.ยกร่างฯ ออกไปอีก 30 วันนั้น เป็นเรื่องที่ดี กมธ.ยกร่างฯ จะได้พิจารณาร่างอย่างละเอียดยิ่งขึ้น
ส่วนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านนั้น นางถวิลวดีกล่าวว่าตรงนี้คงไม่เกี่ยวข้องกับกมธ.ยกร่างฯ เพราะเราทำหน้าที่ตามที่รับมอบหมายมาอย่างดีที่สุดแล้ว โดยร่างเนื้อหาใหม่ เพื่อให้พลเมืองเป็นใหญ่ มีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของประเทศ ปราศจากทุจริตคอร์รัปชั่น สร้างปรองดอง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชนทั้ง 65 ล้านคน
'ทัศนา'ชี้แค่เสียงส่วนน้อย
น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช. กล่าวถึงกรณีมีรายงานสปช.บางส่วนไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาหลายส่วนในร่างรัฐธรรมนูญ และหากไม่ปรับแก้ก็จะไม่รับร่างรัฐธรรม นูญว่า เป็นเพียงข่าวตามสื่อ แต่ยังเห็นว่ากมธ.ยกร่างฯ มีท่าทีรับฟังเหตุผลและพร้อมปรับแก้ไข จึงเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญน่าจะผ่านความเห็นชอบไปได้ ส่วนที่มีกมธ.ปฏิรูปบางคณะเสนอปรับแก้มากถึงขั้นรื้อโครงสร้าง ก็ถือเป็นเพียงเสียงส่วนน้อย ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ จะต้องฟังจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสปช.มีการเสนอคำขอแก้ไข 8 กลุ่ม ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนและชี้แจงเหตุผลว่าเหตุใดต้องบัญญัติเช่นนั้น ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรให้กลุ่มการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และยังเห็นพ้องกับข้อเสนอของส่วนใหญ่ที่ให้ตัดมาตรา 181 และ 182 ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารมากเกินไปออก
รองประธานสปช.กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ขยายเวลาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญให้กมธ.ยกร่างฯออกไปอีก 30 วัน เพื่อจะได้มีเวลาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอย่างรอบคอบ และเห็นด้วยที่จะให้ทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อถามประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจที่แท้จริง แต่ก่อนทำประชามติต้องมีเวลามากพอที่จะให้สปช.ให้ความรู้กับประชาชนว่าประเด็นต่างๆ ที่เขียนไว้มีเหตุผลอย่างไร และควรต้องถามทั้งฉบับ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับประชาชน
อย่าชะล่าใจรธน.ผ่านประชามติ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสปช. ในฐานะประธานกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่าไม่อยากให้กมธ.ยกร่างฯสำคัญตัวเองผิดว่ามีอิสระเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ จึงไม่ฟังความเห็นของสปช. ทำให้คำแปรญัตติแก้รัฐธรรมนูญมีมากมายก่ายกอง ถ้ากมธ.ยกร่างฯยังมั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นจากสปช.และผ่านการทำประชามติ บอกได้เลยว่ากมธ.ยกร่างฯเข้าใจผิด เพราะการทำประชามติเกี่ยวข้องกับคน 40-50 ล้านคน ไม่ใช่แค่คนกลุ่มเล็กๆ หลักร้อย หลักพัน ตามที่กมธ. ยกร่างฯไปจัดสัมมนารับฟังความเห็น
"ประชาชนส่วนใหญ่รับฟังคนใกล้ชิดคือฝ่ายการเมือง ยิ่งพรรคการเมืองแสดงเจตนาชัดเจนว่า ต้องการให้แก้ไขประเด็นใด แต่กมธ.ยกร่างฯไม่ยอมแก้ไขให้ แล้วยังบอกว่าทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์เป็นพวกเสียผลประโยชน์ จะยิ่งสร้างแรงต้าน แล้วจะยังเชื่อมั่นว่าประชามติจะผ่านได้อย่างไร" นายเสรีกล่าว
เตือนกมธ.อาจถูกลอยแพ
นายเสรี กล่าวว่า ผลการทำประชามติ ปี 2550 ที่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนน 21 ต่อ 19 ล้านเสียง ถือว่าไม่มาก ซึ่ง 21 ล้านเสียงเป็นผลมาจากที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรม นูญ(สสร.) ลงพื้นที่หาเสียง รวมทั้งรัฐบาล หน่วยราชการ และทหารขณะนั้นช่วยผลักดันเต็มที่จนได้ 21 ล้านเสียง แต่บรรยากาศขณะนี้ถ้าทำประชามติโดยที่ยังขัดแย้งกับ 2 พรรคใหญ่ และสปช.ก็ไม่ช่วยเพราะได้แปรญัตติคัดค้านมาก ขณะที่ท่าทีรัฐบาลและคสช.ในภาวะที่บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย ก็ให้คิดดูว่าคสช.อยากให้รัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ เชื่อว่าคสช.คงรอดูสถานการณ์อยู่ ถ้าสถานการณ์ไม่ดีจะให้ผ่านทำไม สู้วางตัวอยู่เฉยๆ ไม่ต่อต้าน ไม่ช่วยผลักดัน โดยให้ประชาชนเป็นคนตัดสินเองว่าจะเอาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้กมธ.ยกร่างฯเหมือนถูกลอยแพ ผิดกับรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ทหารออกมาช่วยเต็มที่ ดังนั้น โอกาสที่รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติจึงยาก ทางออกคือกมธ.ยกร่างฯต้องปรับแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
ลดอำนาจส.ว.แต่ต้องสรรหาหมด
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสปช. ในฐานะผู้ยื่นแปรญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กลุ่มตนจะเป็นกลุ่มแรกชี้แจงคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต่อกมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ ซึ่งจะมีผู้อภิปรายชี้แจง 5 คน ตามเวลาที่กำหนด 3 ชั่วโมง ซึ่งเสนอประเด็นแก้ไข 71 มาตรา ส่วนภาพรวม เป็นการปรับปรุงแก้คำหรือเพิ่มคำด้านสังคม การศึกษา เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์มากขึ้น ส่วนประเด็นการเมืองที่ยื่นแก้ไขนั้น เช่น ที่มาของส.ว. เห็นว่าควรมีประเภทเดียว คือ ส.ว.สรรหา แต่ให้ลดอำนาจถอดถอนและเสนอกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาส.ว.เลือกตั้ง มีฐานเดียวกับส.ส. ทำให้การถ่วงดุลและคานอำนาจเกิดขึ้นได้ยาก
ชี้อำนาจสมัชชาคุณธรรมมากเกินไป
เมื่อถามว่า หากกมธ.ยกร่างฯ ไม่ปรับแก้ตามข้อเสนอของสปช. จะมีผลต่อการพิจารณาโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นพ.พลเดชกล่าวว่า เชื่อว่ากมธ.ยกร่างฯ จะรับฟังข้อเสนอจากทุกกลุ่ม แล้วปรับแก้ร่างตามความเหมาะสม เขาคงไม่ยึดคำแปรญัตติของคนใดคนหนึ่งเป็นหลัก สุดท้ายแล้วเชื่อว่าจะได้ข้อยุติเป็นรายมาตราและต้องปรับแก้ให้ดีกว่าเดิม เป็นที่ยอมรับและพอใจบ้างในประเด็นสำคัญ แต่ขึ้นอยู่กับสปช.ว่าจะโหวตกันอย่างไร ส่วนตัวต้องดูภาพรวมทั้งหมด
เมื่อถามว่าในฐานะที่เคยเสนอร่างพ.ร.บ. สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติของสปช. มองเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญอย่างไรบ้าง นพ. พลเดชกล่าวว่า ตนไม่ได้แปรญัตติเรื่องนี้ เพราะมีสปช.หลายชุดที่จะพูดเรื่องนี้ แต่เห็นว่าในร่างรัฐธรรมนูญนั้นให้อำนาจสมัชชาคุณ ธรรมมากเกินไป จนเป็นเป้าเขม่น ร่างพ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติที่ตนเคยเสนอนั้น ไม่ได้ให้อำนาจมากขนาดนี้ ท้ายที่สุดแล้ว เขาตัดสินใจทำตามที่เขียนจริงก็ต้องยอมรับ
รธน.ผ่านแน่ถ้าตัดม.181-182
นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) กล่าวถึงกมธ.ยกร่างฯ เตรียมพิจารณาคำขอแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 8 กลุ่มของสปช.ว่า สปช.ได้ทำการบ้านเตรียมชี้แจงไว้แล้ว กลุ่มละ 3-5 คน ใครยื่นเรื่องใดก็ชี้แจงเรื่องนั้น เชื่อว่าบรรยากาศการชี้แจงของผู้ยื่นคำขอ กับกมธ.ยกร่างฯ จะไม่เกิดความขัดแย้ง เพราะทั้งสองฝ่ายคงพยายามไม่ทะเลาะให้บานปลายจนเสียความรู้สึกต่อกัน น่าจะพูดกันด้วยเหตุผล ไม่ใช่ห้ำหั่น หรือใช้วาจาเสียดสีกัน
นายวันชัยกล่าวว่า เห็นว่าประเด็นหลักๆ ที่กมธ.ยกร่างฯ จะไม่เปลี่ยนแปลงคือเรื่องระบบการเลือกตั้ง ระบบโอเพ่นลิสต์ รวมทั้งนายกฯคนนอก เนื่องจากให้เหตุผลว่าเขียนเพื่อแก้วิกฤต แต่อาจจะยอมแก้ไขมาตรา 181-182 รวมทั้งเรื่องที่คณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ สามารถเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ จึงเชื่อว่า สปช.รับได้ และร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบจาก สปช. แต่ถ้าไม่แก้ไขมาตรา 181-182 ที่มาสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ และอำนาจคณะกรรมการปรองดองฯ ทางสปช.คงยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนเห็นว่ามีปัญหา
แม่น้ำ 3 สายนัดถก 4 มิ.ย.นี้
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการ วิปสปช. กล่าวว่า ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาร่วมคณะรัฐมนตรี(ครม.)และสปช. เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรองนายกฯทั้ง 5 คนจะรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาล จากนั้นนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. จะรายงานการทำงานสนช.ในการพิจารณาและเห็นชอบกฎหมาย และเรื่องถอดถอนบุคคลทางการเมือง รวมถึงการพิจารณากฎหมายปฏิรูปประเทศของสปช.ในด้านต่างๆ ที่จะเสนอต่อสนช.หลังเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งสนช.ต้องรับภาระหนักจึงต้องหารือกัน และวางแนวทางพิจารณากฎหมายให้ทัน
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ส่วนสปช. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช.จะรายงานความคืบหน้าการทำงานด้านการปฏิรูปประเทศของกมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะ และการจัดทำพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเวทีต่างๆ รวมถึงการทำงานของศูนย์รับเรื่องราวการร้องเรียนที่ดำเนินการมาแล้ว 7 เดือน
คาดประชามติถูกถามมากสุด
วิปสปช. กล่าวว่า ทั้งนี้ จะเปิดให้สมาชิกซักถามอย่างเต็มที่ แต่จำเป็นต้องจัดหมวดหมู่ และหัวข้อการซักถาม เนื่องจากต้องจัดสรรเวลาให้กับสมาชิกสนช.ได้ซักถามด้วย คาดว่ารูปแบบอาจจะให้ตัวแทนกมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะ จัดสรรบุคคล ประเด็นเพื่อให้ครอบคลุม ซึ่งคาดว่าประเด็นที่สมาชิกจะซักถามมากที่สุดคือเรื่องการทำประชามติ อย่างไรก็ตาม ต้องรอฟังความเห็นของที่ประชุมวิปสปช.อีกครั้งในวันที่ 3 มิ.ย. เวลา 11.30 น.ถึงรูปแบบการสัมมนาดังกล่าว
"การสัมมนาดังกล่าว เป็นการยกระดับการทำงานร่วมกันในช่วงเดินหน้าทำงานตามโรดแม็ปมาได้ครึ่งทางแล้ว ซึ่งการทำงานหลังจากนี้ต้องกระชับความร่วมมือ ประสานงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันภายใต้เงื่อนเวลาที่จำกัด" นายอลงกรณ์กล่าว
'บิ๊กตู่'เตรียมแจงผลงาน 1 ปีต่อสนช.
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรีกล่าวกรณีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวสรุปผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปีของรัฐบาล ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ว่า รัฐบาลไม่ได้เตรียมการอะไรเป็นพิเศษ เป็นการเชิญไปพูดคุยต่อสนช.และสปช. ให้ทราบว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีผลงานอะไรบ้าง และเปิดโอกาสให้สนช.และสปช.สอบถามข้อสงสัย เพื่อให้เข้าใจในทิศทางตรงกัน ที่ผ่านมาเข้าใจกันดีอยู่แล้วว่ารัฐบาลทำงานตามขั้นตอนของโรดแม็ปที่ระบุไว้
เผยรัฐบาลไม่ได้สั่งเฝ้าระวังพิเศษ
พล.อ.วิลาศ กล่าวถึงผบ.ตร.กำชับให้เฝ้าระวังสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ภายหลังมีการเสนอถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯว่า รัฐบาลไม่ต้องเฝ้าระวังอะไรเป็นพิเศษ ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ ขึ้นอยู่กับประชาชนและสื่อมวลชนต้องมีส่วนช่วยกันสร้างความมั่นคง ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ ระบุประเทศต้องมีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ดังนั้น ทุกส่วนต้องช่วยกันให้เกิดความมั่นคงก่อน หากมีความมั่นคง เศรษฐกิจก็จะดีขึ้นเอง นับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยทุกฝ่ายต้อง ช่วยกัน
เมื่อถามว่ารัฐบาลได้ประเมินเพื่อเตรียมรับสถานการณ์เป็นพิเศษหรือไม่ พล.อ.วิลาศ กล่าวว่า ไม่ได้ประเมิน คิดว่าทุกคนที่หวังดีต่อประเทศชาติรู้ว่าควรทำอย่างไร สื่อต้องช่วยชี้แจงทำความเข้าใจว่าอะไรถูกหรือผิดกฎหมาย รัฐบาลทำหน้าที่และมีหน่วยงานดูแลตามปกติ ยืนยันไม่ได้กังวลใดๆ กับเรื่องนี้
ไก่อูปัดไล่ล่าตระกูลชินวัตร
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวกรณีมีกระแสข่าวบุคคลใกล้ชิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ ระบุคสช.และรัฐบาลมีแผนกวาดล้างขั้วการเมืองและตระกูลชินวัตรให้จบก่อนจึงจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่า ไม่ขอแสดงความเห็นในประเด็นการเมือง แต่ยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลทำทุกอย่างในปัจจุบัน เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นสร้างความเชื่อถือให้กับประชาชนได้ โดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง
"การดำเนินการตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม จะทำให้สังคมอยู่อย่างมีความสุข ประเทศชาติมั่นคง ยืนยันเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่การไล่ล่า" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
'สมยศ'เบรกปชป.-ตีปลาหน้าไซ
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.กล่าวว่า ตามที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ วิจารณ์นโยบายของตร.นั้น ในอดีตและปัจจุบันที่มีความแตกต่าง ก็เป็นเรื่องของเวลา ข้อมูล เหตุผลที่ต่างกัน จึงอาจมีความแตกต่างได้ เวลานี้เมื่อคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการถอดยศตำรวจ ได้พิจารณาเรื่องถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ แล้วนั้น มีความเห็นเช่นไร ตนเป็นผบ.ตร. ก็ต้องตรวจสอบและพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ยึดหลักกฎหมายและความถูกต้องเป็นสำคัญ จะต้องมีเหตุผลที่ชี้แจงและตอบคำถามประชาชนและสังคมได้ จะรีบเร่งหรือทำตามอารมณ์ใช้ความรู้สึกหรือกระแสคงไม่ได้
"คุณนิพิฏฐ์ อาจใจร้อนเกินไปถึงขนาดออกมาแสดงความคิดเห็นทำนองตีปลาหน้าไซ เพื่อข่มขู่ กดดันและชี้นำ ก็ทำได้ แต่ผมจะตัดสินใจใดๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง เที่ยงธรรม และกฎหมาย คงจะสนุกสนานตามคุณนิพิฏฐ์ แสดงความคิดเห็นไม่ได้" พล.ต.อ.สมยศกล่าว
พท.ฉะสปช.จี้ถอดเครื่องราชฯ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงกรณีนายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสปช. ระบุควรถอนคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯว่า คนพวกนี้มีปากแต่ใช้ในทางไม่สร้างสรรค์ พูดเพื่อให้เกิดความแตกแยกเกลียดชัง ที่น่าเศร้าคือมีคนพวกนี้มากเกินไปในสังคมไทย นายประสารเป็นขาประจำที่ได้ดีจากระบบลากตั้ง ซึ่งจะไปคาดหวังให้เข้าใจสิทธิเสรีภาพในการพูดหรือประชาธิปไตยคงลำบาก และนายประสารเทียบไม่ได้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้น อย่ามาสอนประชาธิปไตยให้พวกเราฟังเพราะความสามารถอย่างเดียวที่นายประสารมี คือกล้าประดิษฐ์ถ้อยคำมาเสียดแทงคนอื่นอย่างไม่รับผิดชอบ
"นายประสาร ไม่ชอบพ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ยังมีคนรักพ.ต.ท. ทักษิณอีกมาก พิสูจน์ได้จากผลเลือกตั้ง ถ้านายประสารไม่เชื่อ ขออาสาพาไปเดินแถวภาคเหนือและอีสานได้ และการดำเนินการใดๆ กับพ.ต.ท.ทักษิณ อย่าทำเพราะความเกลียดชัง แต่ต้องทำภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมเหมาะสม เพราะประชาชนเฝ้าดูอยู่" นายอนุสรณ์กล่าว
ชี้ถอดยศ'แม้ว'แค่ปลุกเสียงเชียร์
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า หากคสช.ทุ่มเทแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนให้ได้ครึ่งหนึ่งของการดำเนินการกับพ.ต.ท.ทักษิณ คนไทยคงไม่ลำบากเรื่องกินอยู่ขนาดนี้ ส่วนการถอนพาสปอร์ต การเสนอถอดยศหรือเรื่องอื่นๆ ไม่ได้เพิ่มความบอบช้ำให้พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา และประชาชนยังไม่ได้ประโยชน์กับสิ่งที่คสช.ทำ
"บทที่ควรเล่นคือ ทำงานอย่างสร้าง สรรค์เพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่บู๊ล้างผลาญแล้วอธิบายไม่ได้ว่ามีอะไรดีขึ้นมา ซึ่งผลข้างเคียงจากเรื่องนี้คือการปลุกกระแสฝ่ายตรงข้ามพ.ต.ท.ทักษิณ ให้ออกมาส่งเสียงเชียร์คสช. แต่ผลกระทบที่รุนแรงยิ่งกว่าคือสังคมโลกต่างวิจารณ์เรื่องดังกล่าว จนความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทย ยิ่งเหลือน้อยลงไปอีก" นายณัฐวุฒิกล่าว
'เต้น'แนะคสช.ฆ่าเสือในใจก่อน
นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากบอกคือ คสช.ต้องไม่หลงไปกับเสียงเชียร์ว่า ถ้าเล่นงานพ.ต.ท.ทักษิณ แล้วความนิยมจะตามมา เพราะความนิยมยอมรับอย่างแท้จริงในทางการเมืองต้องมาจากสิ่งที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่การทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และการจะลงจากอำนาจไม่ต้องไปฆ่าเสือที่ไหน แค่ฆ่าเสือในใจตัวเอง ใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนก็เพียงพอแล้ว ซึ่งการใช้อำนาจถอดใครออกจากตำแหน่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้ามาไม่ถูกต้อง ทำผลงานได้น้อยกว่า แล้วจะไปหาเรื่องเอาเขาออกจากใจประชาชนที่เคยสนับสนุนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
'ปู'โพสต์ส่งกำลังใจเกษตรกร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เขียนข้อความและโพสต์ภาพการเพาะเห็ดทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ว่างเว้นจากงาน หางานอดิเรกใหม่ นอกจากปลูกผักปลอดสารพิษแล้ว ก็มาต่อด้วยการเพาะเห็ดรับประทานเองที่บ้าน ทำให้ร่างกายได้พักและทานของเพื่อสุขภาพบ้างก็รู้สึกดี โดยเฉพาะการใช้ชีวิตเรียบง่ายธรรมดาคือความสุขที่เกิดมาข้างใน มากกว่าความสุขที่เป็นของนอกกายไม่จีรังยั่งยืน ทำให้อดคิดถึงพี่น้องเกษตรกรไม่ได้ ตอนนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง ขอส่งกำลังใจไปถึงด้วย"
ป.ป.ช.ลุยเอาผิดอาญา 310 อดีตส.ส.
นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมีผู้ร้องเรียนว่า นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมอดีตส.ส. รวม 310 คน เสนอและให้การรับรองร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ในวาระที่ 1 และในวาระอื่นๆ โดยมิชอบ ส่งผลเสียหายต่อประเทศอย่างร้ายแรงว่า กรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติตั้งองค์คณะไต่สวนไปแล้ว โดยมีกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน เป็นองค์คณะไต่สวน และขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงในทางอาญา ส่วนการถอดถอนนั้น ได้ตีตกไปแล้วเนื่องจากไม่มีรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยเราจะไต่สวนต่อในทางอาญา ส่วนทางถอดถอนได้ตีตกไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อช่วงเดือนส.ค. 2556 จากนั้นวันที่ 14 พ.ค. 2558 มีมติไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว โดยร้องเรียนกล่าวหานายวรชัย และพวกว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันเสนอร่าง และให้การ รับรองร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในวาระที่ 1 และวาระอื่นๆ ทั้งที่ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีหลักการและเหตุผล รวมถึงเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 122 , 3 , 4 และ 5 รวมถึงขัดต่ออนุสัญญาสหประชา ชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อประเทศอย่างร้ายแรงต่อไป
รมต.มะกันชมไทยตั้งใจแก้ประมง
วันที่ 31 พ.ค. พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงผลการเดินทางไปร่วมประชุม Shangri-La Dialogue ครั้งที่ 14 ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเวทีดังกล่าวมีบุคคลสำคัญระดับรมว.กลาโหม ผบ.สส. และผบ.เหล่าทัพประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศเข้าร่วม
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า นายแอชตัน คาร์เตอร์ รมต.กลาโหมสหรัฐ ได้กล่าวชื่นชมบทบาทของประเทศไทยที่ให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติในประเทศเนปาลอย่างเต็มที่ มีความตั้งใจแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ให้การสนับสนุนการฝึกคอบร้าโกลด์ รวมถึงมีบทบาทนำในการจัดประชุมการช่วยเหลือการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งการประชุมครั้งนี้ทำให้ประเทศต่างๆ ได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น และนำไปสู่ความร่วมมือในภูมิภาคที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ในโอกาสนี้พล.อ.ประวิตรได้หารือทวิภาคีกับผู้นำทหารหลายประเทศ อาทิ นายเดวิด เชียร์ ผู้ช่วยรมต.กลาโหมสหรัฐ, นายเตียว ชี เฮียน รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์, นายอึ้ง เอง เฮน รมต.กลาโหมสิงคโปร์, พล.อ.ฮัน มินกู รมต.กลาโหมสาธารณรัฐเกาหลี และนายรูวัน วีเจวาดิดาหนิ รมต.กลาโหมศรีลังกา
โพลหนุน'บิ๊กตู่'สั่งขันนอตขรก.
วันที่ 31 พ.ค. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,292 คน วันที่ 27-30 พ.ค. กรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่ง "ขันนอต" ข้าราชการ โดยให้เจ้ากระทรวงต่างๆ ดูแล พบว่าร้อยละ 87.66 เห็นด้วย เพราะเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ควรเร่งแก้ปัญหาระบบการทำงานของข้าราชการปัจจุบัน กระตุ้นการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาพลักษณ์ของข้าราชการจะได้ดีขึ้น ประเทศชาติจะได้พัฒนา ร้อยละ 12.34 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะควรให้มีหน่วยงานภายนอกเข้ามาตรวจสอบดูแล อาจมีการปกป้องหรือใช้ระบบพวกพ้อง อาจมีข้าราชการบางกลุ่มไม่พอใจ ต่อต้าน มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ร้อยละ 81.19 ระบุเรื่องที่ควรขันนอตคือการทำงานเต็มเวลา ไม่โกงเวลาราชการ ร้อยละ 74.77 ระบุเรื่องการให้บริการประชาชนด้วยความเต็มใจ และร้อยละ 69.66 เรื่องการรับสินบน เงินใต้โต๊ะ ทุจริตเงินงบประมาณ
ส่วนความคาดหวังของประชาชนต่อการขันนอตข้าราชการ ร้อยละ 46.51 เชื่อว่าน่าจะดีขึ้น ช่วยให้ข้าราชการทำงานรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น คสช.เด็ดขาด ติดตามตรวจสอบอย่างจริงจัง ร้อยละ 40.79 ระบุดีขึ้นมาก เพราะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับข้าราชการไทย ส่งผลดีต่อประเทศและประชาชน ร้อยละ 10.16 ระบุไม่น่าจะดีขึ้นเพราะเป็นปัญหาที่มีมานาน ฝังรากลึก แก้ไขได้ยาก ข้าราชการมีจำนวนมาก อาจดูแลไม่ทั่วถึง
ปิดงานตลาดผักผลไม้-ทะลุ 24 ล.
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 31 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานปิดงาน "เทศกาลผักผลไม้ไทยคุณภาพ" ริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบ พร้อมมอบประกาศนียบัตรให้กับตัวแทนร้านค้าที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ ทั้งนี้ เทศกาลผักผลไม้ไทยคุณภาพ มีผู้เข้าชมและซื้อสินค้าตั้งแต่ที่ 6-31 พ.ค. กว่า 1.2 แสนคน ยอดจำหน่ายกว่า 24 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลพอใจในภาพรวมการจัดงาน และขอบคุณเกษตรกรที่ให้ความร่วมมืออย่างดี
เลขาธิการนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมนำร่องจัดงานตลาดชุมชนจำหน่ายสินค้าเกษตร 4 ภาค ในจังหวัดใหญ่ อาทิ พิษณุโลก เชียงใหม่ นครราชสีมา และสงขลา โดยจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนสินค้าที่นำมาจำหน่ายตามฤดูกาล เพื่อเปิดช่องทางสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ไม่ต้องเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ และอาจขยายถึงการในตลาดอ.ต.ก.และตามศูนย์การค้าต่างๆ
พล.อ.วิลาศ กล่าวว่า ขณะที่การจัดงาน "ถนนสายวัฒนธรรม" ทุกเย็นวันศุกร์-อาทิตย์ ในพื้นที่ข้างคลองผดุงฯ มีผู้สนใจเข้าชมงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนกิจกรรมต่อไปนั้น รัฐบาลได้จัดงาน "เทศกาลไม้ดอกไม้ประดับและปลาสวยงาม" วันที่ 5 -28 มิ.ย. ตั้งแต่เวลา 10.00 -19.00 น. มีการจำหน่ายปลาสวยงาม ไม้ดอกไม้ประดับ จัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้และสาธิตวิธีการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและไม้ดอกไม้ประดับ