Somchai30

ตร.มีมติ-ถอดยศ! 'แม้ว'ลัน ขอแผ่เมตตาให้ ปปช.ชี้'ตือ'รวยผิดปกติ เหตุแจงบ้าน 16 ล.ไม่ได้ 'พลเมืองโต้กลับ'พอใจ แม้ศาลไม่รับฟ้องคสช. เป็นแนวอุทธรณ์ต่อได้

      ตร.มีมติถอดยศ'ทักษิณ' ผบ.ตร.เผยรับเรื่องเมื่อไหร่ ส่งต่อ"บิ๊กป้อม"พิจารณา "แม้ว"แผ่เมตตาให้ ชี้ปืนแก้ปัญหาไม่ได้ 'บิ๊กตู่'ออกอาการ ฉุน'ทักษิณ'โพสต์ ทีมงานแจงวุ่นทำตามกม.-ไม่ได้เกลียดใคร ทบ.ยื่นฟ้องแม้วหมิ่นกองทัพแล้ว ป.ป.ช.จ่อชี้คดี'ปึ้ง-ปู' คืนพาสปอร์ต มีมติชี้"ตือ" ร่ำรวยผิดปกติ สมัยคุมศธ. ประยุทธ์แจง'คืนความสุข'รัฐธรรมนูญต้องไม่สร้างความขัดแย้งบวรศักดิ์ชี้พลเมืองมีนัยไม่ใช่วาทกรรม ไม่ขัดถ้าคิด จะเปลี่ยนคำ 

 

วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8949 ข่าวสดรายวัน
'บิ๊กตู่'ปัดสั่งต่ออายุสปช.
      เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวหารือในกลุ่มคสช. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 38 ต่ออายุให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ว่า ตนไม่ได้เข้าหารือ แต่คิดว่าฝ่ายกฎหมายเขาคงเตรียมการ แต่ไม่ได้เตรียมการเพื่อต่ออายุให้กับ สปช. 
       "เพียงแต่ผมตั้งคำถามว่า 1.ให้ไปหามาตรการดูว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน สปช. แล้วจะทำอย่างไร ถ้าตามกติกาแล้ว มันต้องล้มทั้งหมด ทั้งสองอย่างแล้วใช้เวลาเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ ผมจึงสั่งการว่าไปหาวิธีการที่เหมาะสมว่าจะต้องทำอย่างไร เป็นเรื่องของส่วนที่เกี่ยวข้องไปคิดกันมา 2.ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของ สปช. แล้วทำประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร 3.ถ้าผ่านแล้วไม่มีคนทำการปฏิรูปต่อ แล้วจะทำอย่างไร ได้ให้โจทย์ไปแค่นี้" พล.อประยุทธ์กล่าว
       เมื่อถามว่าทั้งหมดเป็นการเตรียมพร้อมเพื่ออุดช่องโหว่ที่อาจจะเกิดขึ้นใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นการเปิดช่องว่างมั้ง

ขึ้นศาล- นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางออกจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังจากมาฟังการพิจารณาคดีสลายม็อบ พันธมิตรฯเมื่อปี 2551 เมื่อวันที่ 29 พ.ค.


ฉุน'แม้ว'โพสต์ต้องใช้เมตตา
        พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงกรณียึดหนังสือเดินทางของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า "พาสปอร์ตมีกี่สี มีสีน้ำตาล สีแดง สีน้ำเงิน ผมเห็นแล้ว กำลังเช็กอยู่ว่ามี 3 หรือ 4 เล่มก็จะถอนทั้งหมด"
     ส่วนกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เสนอถอดยศพ.ต.ทักษิณนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทำไมยุ่งกันแต่เรื่องนี้ ขั้นตอนเขาว่าอย่างไร หากจะส่งเรื่องมาถึงตน ก็ให้ส่งมา กรณีนี้ใช้กฎหมายปกติ เมื่อตรวจทานเสร็จก็ทูลเกล้าทูลกระหม่อมขึ้นไป แล้วทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯโปรดกระหม่อมลงมา 

บิ๊กตู่ชงแต่งตั้งตร.-ยึดแบบทหาร
     เวลา 17.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ถึงการปฏิรูปตำรวจว่า เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างอะไรต่างๆ ถ้าทำได้ก็จะทำ เช่น ตำรวจ ต้องแยกเรื่องการสอบสวน ทดลองดูก่อน ทำได้หรือไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนบ้าง มาจากไหน ใครจะทำ เรื่องคดีความ ตำรวจท้องที่ ตำรวจส่วนกลาง เอาทุกอย่างคลี่ออกมาทีละอัน ส่วนหนึ่งทำไป คู่ขนาน ระยะแรก วางพื้นฐาน ลดขั้นตอนให้การบริการประชาชน แล้วได้รับความเชื่อถือจากสังคม จากประชาชน ส่วนการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจดีขึ้น กำลังดูว่าเรื่องการตั้งสภา มาแต่งตั้งข้าราชการระดับกระทรวงเป็นไปได้หรือไม่ อยากใช้แนวทางของทหาร อย่างกองทัพจะมีพ.ร.บ.ทหาร พ.ร.บ.กลาโหม ทุกหน่วยงานในกระทรวงกลาโหมเสนอคนของเขาขึ้นมาเข้าที่ประชุม ถ้าตกลงกันได้ทุกคนเอาขึ้นมา ตามแท่งของตัวเอง ไม่มีใครขัดแย้ง ก็อนุมัติตามนั้น
       "ผมอยากให้ข้าราชการทั้งตำรวจ ทั้งข้าราชการ เป็นอย่างนี้ ตอนนี้ก็มีก.ตร. ก.ต.ช. แต่ทำอย่างที่ทหารทำ จะได้คนที่โตมาในแท่งของเขา ในพื้นที่ของเขา นายเขาก็เป็นคนเลือกมา พอนายเขาเลือกมาก็เป็นไปตามขั้นตอน ตามอาวุโสบ้าง ตามความรู้ความสามารถบ้าง หรือจะเป็นฟาสต์แทร็ก เพื่ออนาคตบ้าง มันต้องมีคนทั้ง 3 อย่าง สัดส่วนที่เหมาะสมอยู่ตรงนั้น เมื่อขึ้นมาแล้ว สมมติว่าเป็นกระทรวง ก็จะมีรัฐมนตรีกระทรวงนั้นเป็นประธานคณะกรรมการ ส่วนปลัดกระทรวง รองปลัด อธิบดีก็อยู่ในคณะกรรมการ ก็แต่งตั้งคนของตัวเองขึ้นมา ตรงนั้นจะเป็นสรุปออกมาแล้ว และส่งมาอาจจะมี ก.พ.ร. หรือ ก.พ. ที่ทำอยู่ตอนนี้เข้าไปเป็นเลขาฯคณะนี้ได้" นายกฯ กล่าว
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย จำเป็นต้องลงรายละเอียด ใช้กฎหมาย ใช้อาวุธเหล่านี้ ต้องมีมาตรการที่เพียงพอ ให้อิสระในการทำงานพอสมควรแก่เขา แต่อยู่ภายใต้กฎหมาย และรัฐบาลต้องรับผิดชอบในการสั่งงาน มันผิด มันถูก ก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะเป็นคนสั่งให้เขาทำ ต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้ได้

ยันรัฐประหารไม่ได้ทำลาย'ปชต.'
      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ยังกังวลอยู่คือเรื่องการเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย วันนี้อยากเอาส่วนหนึ่งของการบรรยายพิเศษของศ.มิเชล โทเปอร์ จากมหาวิทยาลัยปารีส ที่ 10 ที่มาบรรยายและให้ข้อคิดว่า การรัฐประหารอาจไม่ใช่การทำลายประชาธิปไตยเสมอไป เพราะบางครั้งการรัฐประหารในหลายประเทศ ก็ทำเพื่อเตรียมไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในอนาคต
      "ผมไม่ได้หมายความว่า ดีหรือไม่ดี เข้าใจผมด้วย เพราะหลายประเทศก็ผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มาเกือบทั้งสิ้น อยากให้คนไทยทุกคนตระหนักว่าที่ผ่านมา 10 กว่าปีนั้น ประเทศไทยมีปัญหามาตลอด ประชาชนแตกแยก ไม่มีความสุข ถ้าปล่อยไว้โดยเราไม่ทำอะไรเลย ประเทศก็พังพินาศ เสียหาย ลูกหลานไม่มีอนาคต" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เมื่อเข้ามาแล้ว ตนต้องการให้ประเทศเปลี่ยนแปลงจากสภาพเดิมๆ แล้วเดินหน้าต่อ ไม่เคยคิดว่าทุกอย่างจะง่าย แต่เชื่อว่าถ้าทุกคนร่วมมือกัน มองข้ามผลประโยชน์ส่วนตัว แล้วยอมรับว่าประเทศเราต้องปฏิรูป หันมามองผลประโยชน์ส่วนรวม ลดอัตตาตัวเองลงไป คิดว่าเราทำได้ ขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคน และการที่ คสช.และรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ เราน่าจะวางรากฐานที่มั่นคงให้กับประเทศเพื่อเตรียมไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ในอนาคต จะได้หรือไม่ได้อยู่ที่พวกเราทุกคน 

ลั่นรธน.ต้องไม่ปลุกขัดแย้ง
        พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้ทำทุกอย่างตามโรดแม็ป คือ มีรัฐธรรมนูญ วันนี้ขอให้มีประชามติ ก็ให้ทำประชามติได้เลย พอทำประชามติแล้วก็มีเลือกตั้ง แต่ไม่เคยมีใครถามตนว่า ถ้ามันเลือกตั้ง ก่อนเลือกตั้งวุ่นวาย ทุกคนไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญกันอีก จะทำอย่างไร มีมาตรการอะไรหรือไม่ หรือเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลปกครองไม่ได้ อีกพวกก็ต่อต้าน จะทำอย่างไร ตนห่วงตรงนั้นมากกว่า ตนไม่ห่วงรัฐธรรมนูญไม่ห่วงอย่างอื่น ห่วงตรงนี้คสช.จะรับผิดชอบตรงนี้ด้วย รัฐบาลจะดูสถานการณ์ตรงนี้ด้วย แต่ทุกอย่างยืนยันว่าทำตามโรดแม็ป เว้นแต่มีใครทำให้โรดแม็ปของตนเปลี่ยนแปลง
        พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญ ต้องไม่เป็นรัฐธรรมนูญของความขัดแย้งในอนาคต ฟังจากผู้บรรยายทั้งหมดจาก เยอรมัน, ฝรั่งเศส เขาบอกว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ต้องตีความมาก คนไทย รัฐบาล ฝ่ายค้าน ต้องใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญในทางที่ถูก ไม่เอารัฐธรรมนูญมาทะเลาะเบาะแว้งกันอีก รัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีหลายฉบับ แก้ไปแก้มาก็กลับไปที่เดิมอีกแล้ว ทุกคนต้องการของเดิม คนนั้นก็ว่าดี คนนี้ก็ว่าไม่ดี ตนถามว่าถามประชาชนเขาหรือยัง เขาต้องการอะไร 

ชี้อย่ามองแต่นโยบายพรรค
        พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญใหม่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่าง 3 อำนาจให้ได้ แล้วมีประชาชนเป็นผู้ใช้ 3 อำนาจนั้น ประชาชนต้องเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้ใช้อำนาจ 3 อำนาจนั้นผ่านการเลือกผู้แทน ถ้าเลือกคนไม่ดี ถือว่าใช้อำนาจในทางที่ผิด ถ้าเลือกดี เขาก็ดูแลดี บ้านเมืองก็เจริญไปข้างหน้า นั่นแหละคือการใช้อำนาจตามหลักประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ส่วนการลงประชามติถือเป็นอำนาจอีกอย่างของประชาชน โดยรัฐบาลเป็นคนกำหนด ที่ผ่านมามันตีกันไปมา พันกันไปหมด ประชาชนถูกปลุกระดม กลายเป็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจทั้งหมด ต้องเหนือกว่าทุกคน เหนือกว่ารัฐบาล เหนือกว่าเจ้าหน้าที่ มันก็ตีกันอยู่แบบนี้ จึงต้องอธิบายประชาชนให้เข้าใจด้วย อย่าให้ใครมาบิดเบือนอีก
       "นักการเมืองที่ไม่ดี พรรคที่ไม่ดี อย่าไปมองเฉพาะเรื่องนโยบายพรรคอย่างเดียว ต้องมองว่านโยบายของพรรคนั้นวางยุทธศาสตร์ชาติไว้อย่างไร ใครเข้ามาตรงนี้ต้องทำต่อ ส่วนของพรรคจะสร้างคะแนนนิยมอะไรก็ว่าไป แต่ประเทศชาติต้องไม่เสียหาย เลิกทะเลาะกันโดยเอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ปรามอย่านำคนมารบกัน
      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เราคาดหวังวันนี้คือการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน อาจใช้เวลาหลายปี วันนี้หลายคนทำงานอยู่แล้ว กมธ. สปช. สนช. ทุกคนหวังดีกับประเทศไทยทั้งนั้น เพียงแต่มันเหมาะสมกับสถานการณ์อย่างไรแค่ไหน ต้องเป็นการทำข้อตกลงกับคนทั้งประเทศด้วย 
       "ไม่ใช่เอากลุ่มนี้มารบกลุ่มนี้ กลุ่มนี้เห็นด้วย กลุ่มนี้ไม่เห็นด้วย แล้วตีกันต่อไปในอนาคต จะทำไปทำไม จะปฏิรูปกันทำไม ผมจะมายืนอย่างนี้ทำไม เข้าใจตรงนี้ ผมขอร้องแล้วกัน ขออีกครั้งหนึ่ง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ขอโทษรบกวนเวลาพอสมควร วันไหนมีกีฬา ตนจะเลื่อนให้แล้วกัน พูดให้สั้นๆ ลง ตอนนี้ก็ปรับเรื่องการออกอากาศไปแล้ว ในวันศุกร์ตนพูดคนเดียวแล้วกัน แค่ครึ่งชั่วโมง ส่วนของรองนายกฯ กับรัฐมนตรีก็ไปออกตอนเย็นวันธรรมดา ไม่เกินครึ่งชั่วโมง 20-30 นาที มันจะได้เผื่อแผ่แบ่งปัน "ฟังผมบ้างตอนนี้ก็อะไร ป้าแย้มก็ไม่อยู่แล้ว ก็รอป้าคนใหม่แล้วกัน แต่ผมยังอยู่ ขอเวลาพบกับท่านไปก่อนแล้วกัน"

'ป้อม'ยันบี้แม้วไม่เกี่ยวแก้แค้น
       ที่กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผบ.ทบ. ยื่นฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 , 326 และ 328 กรณีให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศเข้าข่ายส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศว่า ความจริงเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย เพราะเห็นว่ามีความผิด เพราะพาดพิงหน่วยงานทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่คดีทางการเมือง ส่วนที่ตั้งคณะกรรมการพิจารณาถอดยศของพ.ต.ท.ทักษิณนั้น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ตอบชัดเจนแล้วว่ามีประชาชนร้องเรียนเข้ามา จึงมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูว่ามีความผิดอย่างไร รวมถึงเรื่องถอนพาสปอร์ตด้วย ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งเรื่องให้ฝ่ายความมั่นคงเสนอต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อดำเนินการ
       เมื่อถามว่าเรื่องนี้อาจมองได้ว่าตามแก้แค้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ใช่และไม่เกี่ยว เพราะคสช. เข้ามาดูแลประเทศนานเป็นปี แต่เมื่อมีเรื่องที่ผิดกฎหมายก็ต้องว่ากันตามกฎหมาย ขอให้ดูข้อความที่พ.ต.ท.ทักษิณพูด คิดว่าเรื่องนี้ไม่น่ามีปัญหาเพราะไม่ได้แก้แค้นหรือกลั่นแกล้ง แต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติ

 

'บิ๊กป๊อก'ลั่นห้ามชุมนุม
       ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ทหารประสานฝ่ายปกครอง ห้ามฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยจัดประชุมชี้แจงอดีต ส.ส.เพื่อแนะแนวทางต่อสู้กรณี สนช. จะลงมติถอดถอนปมแก้รัฐธรรมนูญ ที่มาส.ว.ว่า ตอนนี้อย่าเอาอะไรมาเป็นเงื่อนไขเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง หลักการทำงานคือมีอะไรต้องว่าตามกฎหมาย ถ้าไม่ยืนตามจุดนี้แล้วอ้างว่า ถูกกลั่นแกล้ง ก็เดินไปไม่ได้ อย่าเอาทุกอย่างหรือมวลชนทำให้เกิดความขัดแย้ง คสช.ไม่ต้องการให้เกิดการปลุกปั่น ขัดแย้งในช่วงนี้ มีการห้ามไม่ให้ชุมนุม ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ นักปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะทำอย่างนี้ไม่ได้เพราะมีหน้าที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความคิดที่ต่างกัน 
       เมื่อถามว่าหากจังหวัดใดที่ผู้ว่าฯปล่อยให้ปลุกปั่นมวลชนเกิดขึ้น จะดำเนินการอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า กำชับไป ถ้าไม่ทำตาม นโยบายจะลงโทษเอง จะให้เอาคนมาตีกันจนเกิดจลาจล บ้านเมือง เศรษฐกิจเสียหายไม่ได้ 
      ผู้สื่อข่าวถามว่าช่วงนี้มีผู้ว่าฯอยู่ในข่ายถูกจับตาถูกโยกย้ายบ้างหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า มีย้ายบ้าง เพื่อไปแทนคนที่ถูกลงโทษ รอให้ถึงเดือนต.ค.ไม่ได้ ต้องสับเปลี่ยน 

ย้ำถอนพาสปอร์ตแม้วตามกม.
       เมื่อถามว่าหลังกระทรวงการต่างประเทศยกเลิกหนังสือเดินทางพ.ต.ท.ทักษิณ กระแสในต่างจังหวัดมีความเคลื่อนไหวอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ต้องสอนให้คนไทยรู้ว่าตอนนี้ก็ทำตามกฎหมาย หากวันข้างหน้าถ้าตนโดน จะได้ไม่บอกว่าถูกกลั่นแกล้ง เพราะเป็นไปตามกฎหมาย การกระทำต้องเป็นไปตามเนื้อผ้า ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง ตอนนี้ยังไม่พบมีความเคลื่อนไหวในพื้นที่ เพราะคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจอะไรมากขึ้น 
      เมื่อถามถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณจะมีมวลชนออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เป็นคำถามแบบเดิม ต้องย้อนกลับไปใหม่ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกฎหมาย ไม่กลั่นแกล้งกัน ถ้าประชาชนเข้าใจก็ไม่มีใครต้องกังวล

ทบ.ยื่นฟ้องทักษิณแล้ว
     ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พล.ต.ศรายุทธ กลิ่นมาหอม ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญทหารบก รับมอบอำนาจ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผบ.ทบ. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ซึ่งยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา 
      คำฟ้องโจทก์สรุปว่าเมื่อวันที่ 19 -20 พ.ค. 2558 จำเลยใส่ความโจทก์ว่าเป็นบุคคลน่ารังเกียจ เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ และทำความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งไม่ใช่ความจริง ส่งผลให้ให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 
      โดยศาลอาญารับคำฟ้องไว้ในสารบบคดีดำหมายเลข อ.1824/2558 และศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ในวันที่ 7 ก.ย.นี้ เวลา 13.30 น. 

'ชัยยะ'ยันกก.มีมติถอดยศ'แม้ว'
      ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ. ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา(สบ 10) เปิดเผยว่า การดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ไม่มีการกลั่นแกล้ง โดยพิจารณาในรูปแบบของคณะกรรมการ ตามที่ส่งเรื่องให้ตร.พิจารณาเพิ่มเติมประเด็นที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ต้องหาในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดิน ถนนรัชดาภิเษก แล้วหลบหนีไป ตามหมายจับของศาลฎีกาฯ 5 หมาย เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 1 (6) แห่งระเบียบตร. ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 ที่ระบุว่าการเสนอถอดยศตำรวจทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการและพ้นจากราชการไปแล้ว ให้กระทำได้ต่อเมื่อเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป เมื่อคณะกรรมการนำมาพิจารณา และหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว พบว่าเข้าข่ายองค์ประกอบในการถอดยศ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ และภายในวันนี้จะเสนอให้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. พิจารณามีความเห็นต่อไป
      พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวว่า การพิจารณาถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ ในครั้งนี้ เป็นประเด็นใหม่ที่นำมาพิจารณา แม้จะสืบเนื่องมาจากคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก แต่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการชุดก่อน พิจารณาในประเด็นอื่น ที่ระบุไว้ในระเบียบตร.ว่าด้วยการถอดยศฯ ส่วนกรณีพ.ต.ท.ทักษิณ เผยแพร่คลิปวิดีโอที่กระทบต่อความมั่นคงนั้น ไม่ได้หยิบมาร่วมพิจารณาด้วย

สมยศ ยังไม่ได้รับเรื่องถอดยศ
       ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (บช.ภ.5) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า ขั้นตอนการถอดยศอดีตนายกฯนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือท้วงติงมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) โดยแจ้งว่าขั้นตอนต่างๆ ยังไม่ได้พิจารณาครบถ้วนทุกประเด็น จึงต้องดำเนินการตามกฎหมาย ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งประกอบด้วยผู้บังคับบัญชาระดับสูง ฝ่ายกฎหมาย กองคดี หน่วยงานอื่นๆ เพื่อความรอบคอบรัดกุม ตามขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งเท่าที่ทราบคณะกรรมการได้พิจารณาเสร็จแล้ว แต่เรื่องยังไม่ส่งมาถึงตน ถ้าเรื่องมาถึง ตนต้องพิจารณาอีกครั้งในเรื่องความถูกต้อง ความละเอียดรอบคอบ 
       พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การพิจารณานั้น ทำในรูปแบบคณะกรรมการ หากผลการพิจารณาของคณะกรรมการเป็นเช่นใดก็ต้องว่าไปตามนั้น โดยจะไม่ใช้ความรู้สึกส่วนตัวหักล้างหรือไปแก้ความคิดเห็นของคณะกรรมการ โดยขั้นตอนต่อไปเป็นไปตามลำดับชั้น เมื่อพิจารณาแล้วตนจะส่งไปที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เพื่อดำเนินการต่อ ส่วนการทูลเกล้าทูลกระหม่อมนั้น พ้นอำนาจของตร.ไปแล้ว เป็นเรื่องของหน่วยงานที่รับผิดชอบ 

ปปช.จ่อชี้คดีคืนพาสปอร์ตแม้ว
        รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ว่ากรณีมีผู้ร้องขอให้ถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่ง นายกฯ และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศขณะนั้น รวมถึงกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กรณีนายสุรพงษ์จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ข้อ 21 (2) (3) (4) ในฐานะเป็นผู้ออกหนังสือเดินทางให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยร้องเพื่อให้ตรวจสอบว่ากระทำผิดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีอำนาจกระทำการดังกล่าวจริงหรือไม่ และขอให้พิจารณาว่าอำนาจโดยตรงที่เป็นของรมว.ต่างประเทศนั้น ในข้อกฎหมายแล้ว อยู่ในอำนาจของน.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้คณะกรรมการป.ป.ช.ทั้ง 9 คน เป็นองค์คณะไต่สวน โดยมีนายณรงค์ รัฐอมฤต เป็นกรรมการป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวน
      นายณรงค์ เผยว่า เรื่องนี้เสร็จกว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว ก่อนหน้านี้องค์คณะไต่สวนเคยสรุปและรายงานต่อที่ประชุมป.ป.ช.แล้วครั้งหนึ่ง แต่ที่ประชุมให้เจ้าหน้าที่ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมในบางจุด เพื่อให้ข้อมูลละเอียดมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ทำงานไปได้มากแล้ว เชื่อว่า ใช้เวลาอีกไม่นานจะนำกลับไปรายงานให้ที่ ประชุมป.ป.ช.ทราบได้ ตนกำชับและเร่งรัดดำเนินการอยู่ ขอเวลาอีกไม่นาน
     แหล่งข่าวจากสำนักงานป.ป.ช.เผยว่า เรื่องดังกล่าวทางองค์คณะไต่สวนเตรียมสรุปรายงานเข้าที่ประชุมป.ป.ช.ในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อขอมติว่ามีมูลเพียงพอจะแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกร้องหรือไม่

'ทักษิณ'ชี้ปืนแก้ปัญหาไม่ได้
        วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เขียนข้อความ ทางอินสตาแกรมส่วนตัวว่า หลังจากได้อุ้มหลานที่  สิงคโปร์ วันนี้กลับมาอยู่ดูไบแล้ว ได้มีเวลานั่งสมาธิ เช่นเดียวกับวันว่างทุกวันที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ได้เพิ่มการแผ่เมตตาให้กับ ผู้มีอำนาจทั้งหลาย ได้พ้นจากความโลภ โกรธ หลง เพื่อจะได้มีสติปัญญาแก้ไขปัญหา บ้านเมือง สร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่บริหารแต่อำนาจและสร้างความแตกแยกให้มากยิ่งขึ้น 
       "สำหรับผมเชื่อในคำสั่งสอนของพระ พุทธเจ้าที่ว่า ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง คือทุกสิ่งไม่มีอยู่จริง เมื่อเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป พาสปอร์ตก็เช่นกัน ไม่อยากให้เป็นเรื่องวุ่นวายใหญ่โตกันมากมาย ผมยังเป็นคนเดิมจนกว่าจะลาโลกไป อยากให้คนไทยมีเมตตาต่อกัน กฎหมายและปืนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นอกจากเมตตาเท่านั้น" พ.ต.ท.ทักษิณระบุ

บวรศักดิ์ไม่ค้านเลิกคำ'พลเมือง'
        ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์หลังรับดอกไม้ให้กำลังใจจากสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ว่าร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายจะเสร็จในวันที่ 23 ก.ค. หากขยายเวลาออกไปไม่เกินวันที่ 23-24 ส.ค.จะได้เห็นร่างสุดท้าย ส่วนที่ครม.เสนอให้แก้ไขในหลายประเด็น โดยเฉพาะคำว่าพลเมืองนั้น เป็นแค่การตั้งข้อสังเกตไม่ได้ขอแก้ไข
      นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ถ้าต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย และยกเลิกวัฒนธรรมการซื้อเสียงก็ต้องแก้ไขที่รากฐานของการซื้อเสียง 2 ข้อคือ 1.การทำให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดสังคมประชาธิปไตยการเมือง และ 2.การเปลี่ยนแปลงจากวัฒนธรรมราษฎรที่เป็นผู้ตามและไม่สนใจการเมือง มาเป็นวัฒนธรรมพลเมืองที่มีสำนึกทางการเมือง และมีจิตใจรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงถ้อยคำ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงสำนึกพฤติกรรมของประชาชน ทั้งนี้ จะใช้คำไหนก็ได้แต่ต้องมีนัยยะสำคัญ และการใช้คำว่าพลเมืองไม่ใช่เพราะสนุกหรือเป็นเพียงวาทกรรม ซึ่งคำว่าเรือแป๊ะหรือเหาะเกินลงกาเป็นวาทกรรม แต่พลเมืองไม่ใช่วาทกรรม เพราะพลเมืองเป็นความพยายามแก้ไขวัฒนธรรมราษฎร เรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง

ลั่นยังไม่ถอดใจ
      เมื่อถามถึงกรณีครม.เสนอให้ตัดหมวดปฏิรูปและปรองดองทิ้ง นายบวรศักดิ์กล่าวว่าครม.ไม่ได้เสนอให้ตัดทิ้ง ตนเจอนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกว่าอยากให้เขียนเรื่องหลักๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องอื่นให้นำไปไว้ในกฎหมายลูก เพื่อให้รัฐธรรมนูญสั้นลง โดยให้สปช. เป็นผู้รับผิดชอบกฎหมายลูก ยืนยันว่าต้องมีหมวดปฏิรูปและปรองดองในรัฐธรรมนูญ ไม่มีการตัดทิ้ง แต่จะยาวหรือสั้นแค่ไหนไม่ทราบ 
      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ความเห็นของครม.ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา แต่ต้องรับฟังสปช.และภาคประชาชนด้วย โดย กมธ.ยกร่างฯจะชั่งน้ำหนัก ดูเหตุผลว่าใครมีน้ำหนักมากกว่ากัน ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญจะมีผู้ตัดสินใน 2 ด่าน ด่านแรกคือสปช. ด่านที่สองคือประชาชน ซึ่งไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านประชาชนตนรับได้ ตนพร้อมรับคำพิพากษา
     เมื่อถามว่าสปช. ครม. และหลายฝ่าย ท้วงติงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯจะถอดใจหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่าไม่มีถอดใจ เขาตั้งให้มาทำหน้าที่ เราอาสาเข้ามาจะไปถอดใจอะไรกัน ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

จตุพร จี้รบ.พูดให้ชัดประชามติ
     นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)กล่าวว่า การที่สนช.เสนอให้ตัดคำว่าพลเมืองและให้เปลี่ยนเป็นบุคคล แต่นายบวรศักดิ์ระบุว่า หากตัดออกก็ให้ข้ามศพไปก่อนนั้น ตนเลยไม่แน่ใจว่าสนช.ต้องการจะข้ามศพนายบวรศักดิ์ หรือไม่อย่างไร ทั้งนี้มองว่าการร่างและแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเริ่มเละจนหาจุดอะไรไม่ได้แล้ว เดิมตั้งราคาไว้แพง พอต่อราคากันไปมาเริ่มจะไม่มีราคาแล้ว จากที่วางบทให้แม่น้ำ 5 สาย แต่ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนบทเล่นกันเอง ขณะที่ประธานกมธ.ยกร่างฯ ก็เริ่มไปไม่เป็น เพราะบทเล่นเริ่มไม่ตามน้ำ แต่ละฝ่ายไม่สวมบทที่เคยเตรียมเอาไว้ 
    "ผมมองว่า รัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายพยายามทำ คงไม่ได้นำมาใช้เพราะสเป๊กที่เขียนไว้เหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่สุดท้ายเรื่องนี้จะจบลงที่การทำประชามติ ซึ่งรัฐบาลก็ยังไม่ตกผลึกในเรื่องนี้ เข้าใจได้รัฐบาลคงรู้ว่าหากปล่อยให้ทำประชามติ เชื่อว่าประชาชนที่ไม่พอใจกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนอกเหนือจากเรื่องการเมือง คงแสดงออกผ่านการทำประชามติแบบไฟลามทุ่ง รัฐบาลจึงยังไม่กล้าฟันธงในเรื่องนี้ ผมมองว่าสุดท้ายแล้วประชาชนจะออกมาเพื่อแสดงความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ มากกว่าจะบอกว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้นขอให้รัฐบาลพูดให้ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว" นายจตุพรกล่าว

'จิ๋ว-สมชาย'สู้คดีสลายม็อบ 51
       เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 29 พ.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร.และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น. เดินทางมายังศาลฎีกาฯ ตามที่ศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรก คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 ถึง 4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. พ.ศ.2542 และรัฐธรรมนูญปี 2550
       จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 นายสมชายขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา กระทั่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 471 คน โดยศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้ง 4 ฟัง ซึ่งจำเลยทั้ง 4 แถลงต่อศาลให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
      ศาลพิจารณาแล้วจึงมีคำสั่งให้นัดตรวจพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายในวันที่ 18 ส.ค. เวลา 10.00 น. และให้จำเลยทั้ง 4 ยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ส่วนที่นายสมชายและพล.อ.ชวลิตยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยต้องมาศาลทุกครั้ง หากไม่สามารถเดินทางมาได้ ให้ยื่นคำร้องเป็นครั้งคราวไป และกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้ง 4 เดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
      พล.ต.ท.สุชาติ กล่าวว่า พยาน 180 ปากที่เตรียมไว้ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามแผนควบคุมสถานการณ์ และแผนกรกฎ แต่หากศาลจะพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานจะซ้ำซ้อนกัน และมีเหตุจำเป็นต้องตัดพยานบางปากออกก็เป็นดุลพินิจของศาล
        นายสมชาย กล่าวว่า เบื้องต้นเตรียมพยานไว้ 60 ปาก ส่วนจะเป็นบุคคลใดบ้าง ทนายความเป็นผู้พิจารณา และจะต่อสู้คดีตามความเป็นจริง เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และช่วงนี้ยังไม่มีกำหนดเดินทางไปต่างประเทศเพราะไม่มีค่าเครื่องบิน
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวันนี้ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เดินทางมาพร้อมกับลูกชายและลูกสาว เพื่อมาให้กำลังใจนายสมชาย ขณะที่นายวันมูหมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา นายมุข สุไลมาน และผู้ใกล้ชิดมาร่วมให้กำลังใจพล.อ.ชวลิต โดยไม่มีกลุ่มมวลชนแห่มาให้กำลังใจแต่อย่างใด ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

มติปปช.ชี้'ตือ'ร่ำรวยผิดปกติ
      วันที่ 29 พ.ค. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงานป.ป.ช. แถลงผลการประชุมป.ป.ช.ว่า ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากว่า นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เมื่อครั้งเป็นรมว.ศึกษาธิการ ร่ำรวยผิดปกติ มีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ ได้แก่ บ้านพักอาศัยเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล มูลค่า 16 ล้านบาท ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 14360 ต.ไผ่จำศีล เนื้อที่ 3 ไร่ 24.1 ตารางวา ให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด(อสส.)ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอศาลสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินต่อไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 80 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
     เลขาธิการป.ป.ช.กล่าวว่า การพิจารณากรณีร่ำรวยผิดปกตินั้น ป.ป.ช.ได้พิจารณาถึงทรัพย์สินซึ่งเป็นที่มาของการร่ำรวยผิดปกติของนายสมศักดิ์อยู่ 2 ประเภทคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 14360 และบ้านเลขที่ 5/5 ที่ตั้งอยู่บนที่ดิน ทรัพย์สินทั้ง 2 ส่วนมีมูลค่ารวม 30 ล้านบาท โดยนายสมศักดิ์ชี้แจงที่มาที่ดินได้ชัดเจน แต่ไม่สามารถชี้แจงที่มาของบ้านได้ ทำให้ป.ป.ช.ลงมติว่า นายสมศักดิ์ร่ำรวยผิดปกติเฉพาะในส่วนของบ้าน 16 ล้านบาทเพียงอย่างเดียว
       ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากต่างประเทศว่า ได้ทราบมติที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.แล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าและได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการป.ป.ช.มาเป็นระยะ เท่าที่ทราบเสียงในคณะกรรมการป.ป.ช.ก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก่อนที่จะลงคะแนนไม่เอกฉันท์ ประมาณ 6 ต่อ 3 ทั้งนี้ยอมรับในมตินั้นทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เรื่องนี้ยังต้องนำไปสู่กระบวนการทางศาลฎีกาฯ จึงยังไม่จบ ส่วนที่จะแถลงข่าวเรื่องนี้ในวันที่ 1 มิ.ย.นั้น ตนขอยกเลิกเนื่องจากเป็นวันวิสาขบูชา

ศธ.ชี้'สกสค.'เสียหาย 7 พันล.
        เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ว่า ที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายเพื่อสืบหาผู้กระทำความผิด เบื้องต้นพบว่ามูลค่าความเสียหาย อยู่ที่ 6,000-7,000 ล้านบาท โดย สกสค.มีทรัพย์สินทั้งหมด 1 หมื่นล้านบาท และขอให้ สกสค.ตรวจสอบทรัพย์สินที่เคยให้กับอดีตผู้บริหารกองทุนช.พ.ค. และอดีตที่ปรึกษา สกสค. ทั้งรถประจำตำแหน่ง โทรศัพท์ไอโฟน 6 รวมถึงการออกระเบียบให้คณะกรรมการยืมเงินจำนวนมากออกไป โดยให้เร่งนำทรัพย์สินกลับมาเพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือครูต่อไป
       ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า กรณีการตรวจสอบทรัพย์สินที่ บจ.บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป นำมาใช้แลกตั๋วเงินกับช.พ.ค.นั้น อยู่ระหว่างการปรึกษาฝ่ายกฎหมายว่า เหตุใด สกสค.ถึงยอมรับหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ยังไม่ได้ตรวจสอบมูลค่าชัดเจน เช่น เช็คไม่สามารถนำไปขึ้นเงินได้ ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเช็คเงินสด 2,100 ล้านบาท ของธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ไม่มีเงิน แต่ไม่มีการตรวจสอบให้รอบคอบ ซึ่งตั๋วสัญญาครบกำหนดการชำระเงินตั้งแต่เมื่อเดือนธ.ค.57 ส่วนที่นายสมศักดิ์ ตาไชย เลขาธิการ สกสค. ระบุไม่ใช่เงินของ สกสค. แต่เป็นเงินของกองทุนช.พ.ค.นั้น จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะอยู่ในความดูแลของ สกสค. 
       นพ.กำจร กล่าวต่อว่า นิติกรรมที่ดำเนินการกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งบริษัทบิลเลี่ยนฯ หรือธนาคารต่างๆ เช่น เช็คแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ก็สั่งจ่าย สกสค. ไม่ได้สั่งจ่ายกองทุน เพราะไม่ได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล ดังนั้นนายสมศักดิ์จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ส่วนประธานบริหารกองทุนขณะนั้นคือนายเกษม กลั่นยิ่ง ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ตัดสินใจให้คนนำเงินไปให้คนกู้ และไม่ตรวจสอบว่าหลักทรัพย์ที่ค้ำเป็นของจริงหรือของปลอม ซึ่งต้องดำเนินคดีทางแพ่งและอาญาต่อไป

รบ.ปลื้ม'มูดี้ส์'เชื่อมั่นศก.ไทย
       เมื่อวันที่ 29 พ.ค. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า รายงานของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ หรือมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา จัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ซึ่งอยู่ที่ BAA1 เนื่องจากฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งอย่างมากของรัฐบาล ปัจจุบันไทยมีสำรองเงินตราระหว่างประเทศอยู่ที่ 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่หนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำเพียง 45 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี เกณฑ์ที่ยอมรับได้คือ 60 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี 
      รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า โดยมูดี้ส์มองว่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่สูงของไทย จะช่วยชดเชยปัจจัยลบของประเทศ ส่วนความหลากหลายทางเศรษฐกิจของประเทศ ถือเป็นอีกจุดแข็งหนึ่งในการจัดอันดับ อีกทั้งเหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ช่วยฟื้นเสถียรภาพทางการเมืองให้มั่นคงและลดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เจตนารมณ์ที่ชัดเจนของรัฐบาลต้องการให้การปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจมีความยั่งยืน มากกว่าการกำหนดนโยบายประชานิยม อัดฉีดงบประมาณที่เป็นภาพลวงตากระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และสร้างผลกระทบระยะยาวเหมือนในอดีต
      นายกฯ รับทราบ และขอบคุณความตั้งใจของทุกภาคส่วนที่ช่วยกันพลิกฟื้นสถานการณ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจให้เกิดเสถียรภาพ จนได้รับการยอมรับ และมั่นใจจากต่างประเทศและนำไปสู่การให้เครดิตในครั้งนี้" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

ศาลสั่งไม่รับฟ้อง'บิ๊กตู่-คสช.'
        เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง คดีหมายเลขดำ อ.1805/2558 ที่นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับและพวกรวม 15 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. กับพวก ซึ่งเป็นคณะคสช.รวม 5 คน เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานเป็นกบฏล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักรโดยใช้กำลังประทุษร้าย และกระทำการสะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และ 114 
    ตามฟ้องโจทก์ระบุว่า วันที่ 20-24 พ.ค. 2557 จำเลยทั้ง 5 ร่วมกันใช้กำลังขู่เข็ญ ประทุษร้าย และล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการอันเป็นความผิดฐานกบฏ และพวกจำเลยยังออกคำสั่งในนาม คสช.หลายฉบับ ละเมิดสิทธิ์และเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ทำให้โจทก์ทั้ง 15 คนได้รับความเสียหาย จึงขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 5 ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 91, 113 และ 114
      ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้มีการเข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของจำเลยทั้ง 5 กับพวก ในนามคสช.จะไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย แต่ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ลงวันที่ 22 ก.ค. 2557 โดยกฎหมายมีบทบัญญัติยกเว้นความผิดและความรับผิดไว้ในมาตรา 48 ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้ง 5 ตามฟ้อง จึงพ้นจากความผิด และความรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) มาตรา 48 แล้ว จึงไม่มีมูลที่ศาลจะรับไว้พิจารณาพิพากษายกฟ้อง