- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 29 May 2015 09:44
- Hits: 3804
ริบพาสปอร์ต 2 เล่ม แม้วอ่วม พิษคลิป-จ่อคดี 112 40 สว.ได้ทีจี้ถอดยศซ้ำ ปชป.ผสมโรงบี้-ล่าจับ นำมาดำเนินคดีในไทย บิ๊กต๊อกชงบิ๊กตู่ใช้ม.44 เชือดล็อต 2-อีก 152 ขรก.
พิษคลิป'ทักษิณ'อ่วม กระทรวงการต่างประเทศยกเลิกพาสปอร์ต 2 เล่มรูด ระบุมีพฤติกรรมกระทบกับความมั่นคงจ่อคดีความผิดมาตรา 112 รองโฆษกรัฐบาลชี้ต้องดำเนินการไม่เช่นนั้นมีความผิดฐานละเว้น 40 ส.ว.ได้ทีจี้ถอดยศตำรวจด้วย ขณะที่ปชป.ก็โดดใส่บี้ให้อินเตอร์โพลล่าตัวนำมาดำเนินคดีในไทย มติอ.ก.พ.มหาดไทยให้ปลดออกอดีตผู้ว่าฯ บึงกาฬ ด้านบิ๊กต๊อกชงอีก 152 รายชื่อขรก.เอี่ยวทุจริตให้บิ๊กตู่ใช้ ม.44 เชือด ทหารบุกโรงแรมที่อุดรฯ สังเกต การณ์-ขอร่วมรับฟังพรรคเพื่อไทยติวเข้มกฎหมายอดีตส.ส.สู้คดีถอดถอน
วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8947 ข่าวสดรายวัน
'ประวิตร'ย้ำคสช.ไม่อยู่ยาว
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 พ.ค. ที่กระทรวง กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการประชุม ครม.นัดพิเศษในวันที่ 29 พ.ค. จะมีการหารือถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อเปิดช่องให้ทำประชามติว่า ครม.ต้องประชุมเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดช่องทำประชามติ ขั้นตอนนี้เป็นการเตรียมการ จาก นั้นครม.จะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาลงมติ ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้คิดว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้วจะให้ใครมาเป็นกมธ.ยกร่างฯชุดใหม่
เมื่อถามถึงประเด็นที่จะบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารทำรัฐประหารในอนาคต พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าตนและครม.ไม่มีปัญหา เป็นเรื่องของสปช. ส่วนจะป้องกันได้หรือไม่ ขึ้นอยู่ที่วิกฤต สถานการณ์ข้างหน้า แต่ไม่มีใครหรือทหารคนใดอยากทำรัฐประหาร แต่ถ้าประเทศเดินต่อไปข้างหน้าไม่ได้ก็จำเป็นต้องทำเหมือนที่ผ่านมา เพราะประชาชนเดือดร้อน เมื่อเดินไปข้างหน้าไม่ได้ ก็ต้องแก้ไขปัญหาให้เดินต่อไปข้างหน้าให้ได้ และที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.ก็ทำมาแล้ว 1 ปี เพื่อให้สงบสุข ประชาชนประกอบอาชีพได้
เมื่อถามว่ากังวลใจหรือไม่ ถ้าโรดแม็ป คสช.จะเลื่อนออกไป พล.อ.ประวิตรกล่าวต่อว่า คิดว่าตอนนี้โรดแม็ปยังไม่ขยับ ถ้าสมมติว่าจะมีการเลื่อน เนื่องจากปัจจัยอะไรก็ตาม เราต้องมาคุยกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการกันอย่างไร เพื่อให้เกิดความสงบ และทำให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่าย แม้กระทั้งนายกฯก็ต้องสร้างความรับรู้ และอธิบายให้กับประชาชนทุกขั้นตอนในทุกสัปดาห์ ถ้ามันเสียเวลาไปบ้าง แต่ถ้ามันเกิดผลดีเราก็ต้องยอม ทั้งนี้ ยืนยันว่าคสช.ไม่มีแผนจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ทุกอย่างจะทำตามกรอบโรดแม็ป
โต้ทหารเปล่ารุนแรงกับนักศึกษา
พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีนักศึกษาจัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ที่หน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. แล้วถูก เจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามจนเกิดความรุนแรงว่า ยืนยันว่าไม่ได้ปราบปราม และเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ทำร้ายร่างกายนักศึกษา แต่เกิดการควบคุมจนปะทะเพียงเล็กน้อย เนื่องจากนักศึกษาทำผิดกฎหมาย ที่ผ่านมาเราเปิดพื้นที่ให้พูดไว้แล้ว แต่ไม่ได้เปิดเพื่อให้แสดงออกถึงความขัดแย้ง ถ้าใครทำผิดกฎหมายก็ต้องว่ากันไปตามนั้น และตนเห็นว่าผู้นำในคสช.ไม่จำเป็นต้องไปพบ และทำความเข้าใจกับนักศึกษาด้วยตนเอง เพราะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการอยู่แล้ว อีกทั้งยืนยันว่าเราไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ว่าฝ่ายความมั่นคงต้องดูแลความเรียบร้อยตามกฎหมาย
เมื่อถามย้ำว่า นักศึกษาไม่เชื่อมั่นการแก้ปัญหาที่มาจากการทำรัฐประหาร พล.อ. ประวิตรย้อนถามว่า "ไม่เชื่ออย่างไร เราพยายามทำให้ดีที่สุด คนส่วนใหญ่เขาโอเค ทุกวันนี้ก็สงบอยู่แล้ว ไม่ได้บอกว่าจะยึดไป 500 ปี แต่เขามีโรดแม็ป ส่วนนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวก็ไม่ได้มีจำนวนมาก ขอร้องว่าขอให้นักศึกษาเข้าใจว่ารัฐบาลกำลังทำให้เกิดความปรองดอง ทุกอย่างอยู่ที่กฎหมาย ถ้ารัฐธรรมนูญออกมาและทุกฝ่ายยอมรับได้จะเกิดความปรองดองเกิดขึ้นเป็นลำดับแรก ต้องรอให้เขาทำรัฐธรรมนูญให้ดี อาจจะเสียเวลาบ้าง แต่เราไม่ได้ยึดไปตลอดชีวิต
โฆษกคสช.ออกโรงโต้ณัฐวุฒิ
ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช.และโฆษกกองทัพบก ชี้แจงกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. ระบุข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ทำในนามครม.ไม่ใช่คสช. แต่ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ถือเป็นคนคนเดียวกันว่า คสช.อยู่ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนอำนวยความสะดวกเพื่อให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ เดินไปได้ตามกรอบเวลา ส่วนเนื้อหาเป็นเรื่องขององค์กรหลักที่รับผิดชอบ สำหรับข้อเสนอ เพิ่มเติมจากครม.นั้น เป็นลักษณะของกลุ่มคณะ ไม่ใช่ของพล.อ.ประยุทธ์เพียงคนเดียว ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ตามกรอบและแนวทางที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนด
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ส่วนที่นายณัฐวุฒิตั้งข้อสังเกตว่าการจงใจไม่พูดถึงที่มาของนายกฯ เท่ากับคสช.ชูธงเห็นด้วยเรื่องนายกฯคนนอก ตลอดจนที่มาของส.ส.และส.ว. เหมือนรับได้กับร่างฉบับแรกนั้น ทั้งสองประเด็นเป็นเพียงมุมมองที่ไม่ตรงใจนายณัฐวุฒิ ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ในกระบวนการพิจารณาขององค์กรที่รับผิดชอบ ข้อเสนอที่ครม.มีต่อกมธ.ยกร่างฯ ในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เน้นความเกี่ยวข้องในเชิงการบริหารราชการ ที่ต้องสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องที่เป็นประเด็นการเมือง ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรง
โวย 2 มาตรฐาน-วาทกรรมการเมือง
โฆษกคสช.กล่าวว่า ส่วนที่นายณัฐวุฒิมองว่าจนถึงขณะนี้ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยนั้น เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของนายณัฐวุฒิที่เห็นเนื้อหาบางส่วนไม่ตรงกับใจตัวเอง และเนื้อหายังอยู่ระหว่างการปรับแก้ คำกล่าวอ้างของนายณัฐวุฒิไม่ชัดเจนว่าจะใช้มาตรฐานอะไรมากำหนด เพื่อพิสูจน์ความเป็นประชาธิปไตย จึงอยากให้ใช้เวลาและมองที่ผลสัมฤทธิ์ที่ตามมามากกว่า ซึ่งเรื่องหลักประกันของประเทศในอนาคตนั้น หัวหน้าคสช.ห่วงใย และไม่ต้องการให้ประเทศกลับไปเผชิญปัญหาแบบเดิม จึงให้ผู้ที่รับผิดชอบงานต่างๆ ร่วมกันคิดหาแนวทางสร้างหลักประกัน เป็นความปรารถนาและความตั้งใจจริง อย่าแปรเจตนาในเชิงลบ
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถ้าพิจารณาให้ครบองค์ประกอบ เห็นชัดเจนว่ามีบุคคลผู้มีส่วนร่วมหลักในกระบวน การ ไม่ว่ากมธ.ยกร่างฯ หรือสปช. เป็นผู้ที่มีความสันทัดในเรื่องประชาธิปไตยอย่างดี รวมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเสนอแนะความคิดเห็นตามช่องทางที่เหมาะสมด้วย
พ.อ.วินธัย กล่าวถึง นายณัฐวุฒิระบุประเทศไทยยังมีการปฏิบัติ 2 มาตรฐานว่า ประเทศไทยมีมาตรฐานเดียว คือมาตรฐานตามกฎหมาย ที่ผ่านมาคำว่า 2 มาตรฐานส่วนใหญ่เป็นเรื่องของบางคนที่นำไปบิดเบือนใช้เป็นวาทะทางการเมือง มาโจมตีเมื่อตนเองหรือพวกพ้องเสียประโยชน์ หวังสร้างประเด็นให้ผู้สนับสนุนคล้อยตาม
"ไก่อู"แจง-พลทหารลูกพลเมือง
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวตอบโต้นายณัฐวุฒิ กรณีเปรียบเปรยดูแคลนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้พลเมืองกลายเป็นพลทหารว่า พลทหารคือลูกชายของพลเมือง เป็นลูกชายของคนไทยทุกบ้าน พลทหารเป็นกำลังหลักปกป้องประเทศ นายณัฐวุฒิไม่ควรใช้ปัญญาแค่คิดประดิดประดอยถ้อยคำ จนละเลยข้อเท็จจริง ที่อาจสร้างรอยแผลและแตกแยก ซึ่งสังคมไทยแตกร้าวมาหลายปี และปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่านายณัฐวุฒิเป็นหนึ่งในผู้เติมเชื้อไฟ ด้วยวาทกรรมไร้ความรับผิดชอบแบบนี้ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องพิพากษานายณัฐวุฒิ เพราะคนไทยทั้งประเทศได้พิพากษาไปแล้ว จากพฤติกรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน จึงขอให้นายณัฐวุฒิใช้เวลาแห่งการปฏิรูปนี้ ทบทวนว่าควรทำสิ่งใดที่ทำให้สังคมไทยร่มเย็นขึ้นบ้าง
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่มาของนายกฯนั้น พล.อ.ประยุทธ์มีคำตอบในใจทุกเรื่อง แต่ไม่จำเป็นต้องตอบทุกเรื่อง และโดยตำแหน่ง ถือว่านายกฯเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับประเด็นนี้โดยตรง จึงไม่เหมาะสมหากจะแสดงความเห็นทางใดทางหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องที่ผู้ร่วมร่างและแก้ไขรัฐธรรมนูญจะพิจารณาตามความจำเป็นแก่บ้านเมือง
อย่าให้ทหารต้องถูกดันปฏิวัติอีก
"กรณีนายกฯไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ผมเข้าใจว่ากมธ.ยกร่างฯมีเป้าหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในภาวะการเมืองถึงทางตัน เกิดความวุ่นวาย เกิดการทุจริตมาก ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่อาจบริหารประเทศได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้น หากรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง นักการเมืองทั้งสองฟากอาจเชิญคนนอกที่เป็นที่ยอมรับมาทำหน้าที่นายกฯในภาวะนั้นแทน ซึ่งประชาชนคงอยากเห็นบ้านเมืองมีทางออกและมีทางเลือกมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาที่นักการเมืองสร้างไว้" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมีไว้เพื่อแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับการเมืองไทย หากยังมีเนื้อหาแบบเดิม ใช้เครื่องมือเดิม ประเทศก็จะไม่หลุดออกจากวงจรปัญหาเก่า และกองทัพก็ไม่อยากถูกกดดันจากสังคมให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะนี้อีก แม้ทหารจะทำด้วยความตั้งใจดี รักษาบ้านเมืองให้ปกติสุข แต่ก็เสี่ยงจะเกิดความไม่เข้าใจจากนานาประเทศได้
บิ๊กตู่แจ้งทูตยูเอ็น-เลือกตั้งก.ย.59
เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้การต้อนรับคณะเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ณ นครนิวยอร์ก จาก 12 ประเทศ ประกอบด้วย แอนติกาและบาร์บูดา บุรุนดี สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คอโมโรส สาธารณรัฐโดมินิกัน กาบอง กานา ฮังการี คิริบาส นาอูรู แคเมอรูน และวานูอาตู เข้าเยี่ยมคารวะ ในโอกาสเยือนประเทศไทยตามโครงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรของประเทศไทย (Friends of Thailand) จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า นายกฯกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมาและความจำเป็นที่ต้องเข้ามาบริหารประเทศ จนถึงปัจจุบันที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงปฏิรูปไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และความคืบหน้าของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอร่างฉบับแรกให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติม จากนั้นจะนำเสนอร่างที่แก้ไขใหม่ให้สปช.เห็นชอบ
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นายกฯระบุด้วยว่า หากต้องทำประชามติกำหนดการเลือกตั้งจะต้องเลื่อนออกไป คาดว่าจะเลือกตั้งภายในเดือนก.ย. 2559 ทั้งนี้ การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน โดยนายกฯและรัฐบาลจะไม่เข้าไปก้าวก่ายและแทรกแซง และขอยืนยันว่าไม่ได้ต้องการอยู่ในตำแหน่งและไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ แต่ต้องอดทนเพื่อประเทศชาติ ซึ่งที่ผ่านมาความขัดแย้งต่างๆ ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเข้ามาดูแล และขอย้ำว่าประเทศไทยกำลังสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งต้องมีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐที่มีประสิทธิผล โดยมุ่งมอบอำนาจให้แก่ประชาชน ส่งเสริมธรรมาภิบาลและความโปร่งใสบทบาทไทยในกรอบพหุภาคี
อ้างคณะทูตชมประเทศไทยน่าอยู่
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นายกฯย้ำว่าประเทศไทยต้องทำงานอย่างหนักเพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมความเคารพสิทธิมนุษยชน และการรับมือกับภัยคุกคาม ซึ่งประเทศไทยเชื่อมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ บนพื้นฐานการเคารพกัน และพร้อมงานกับทุกประเทศในฐานะหุ้นส่วน นอกจากนี้ ไทยเชื่อมั่นในนโยบายที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ลดเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม และสร้างความเข้มแข็งในทุกเสา คือด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ-ความกินดีอยู่ดี และด้านสังคมวัฒนธรรม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก หลักการนี้ถูกนำมาใช้ในประเทศ เช่นเดียวกับในกรอบสหประชาชาติ คือทุกประเทศที่มีความแตกต่างต้องพัฒนาไปพร้อมกัน ไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัก
"คณะทูตพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าประเทศไทยน่าอยู่ เต็มไปด้วยมิตรภาพ และได้ให้กำลังใจการทำงานของรัฐบาล ที่เห็นชัดว่าทำเพื่อประโยชน์สุขของประเทศและคนไทย ซึ่งคณะทูตเห็นด้วยกับการทำให้ประเทศก้าวหน้า โดยความมั่นคงและเสถียรภาพต้องมาก่อน เรื่องอื่นจึงจะตามมา และเห็นพ้องว่าประเทศไทยมีความมั่นคงและเสถียรภาพ" พล.ต.วีรชนกล่าวและว่า ทั้งนี้ คณะทูตไม่ได้ถามถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย รวมถึงการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ
"บิ๊กต๊อก"ชงเชือด 152 ขรก.ล็อต 2
วันเดียวกัน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานประธานศอตช. เปิดเผยถึงการเสนอรายชื่อข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับ ทุจริตล็อต 2 ว่าที่ประชุมศอตช. มีมติเสนอชื่อล็อต 2 จำนวน 152 รายชื่อ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะใช้มาตรา 44 และกลุ่มที่ส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการ ทั้งนี้ ได้เสนอให้นายกฯพิจารณาแล้ว นอกจากนี้ ยังทำหนังสือสอบถามต้นสังกัดข้าราชการที่มีรายชื่อเกี่ยวข้องทุจริตในล็อตแรก 198 คนว่า ต้นสังกัดทำอะไรไปแล้วบ้างกรณีบุคคลที่ไม่ใช้มาตรา 44
รายงานข่าวแจ้งว่าในจำนวน 152 รายชื่อ มีข้าราชการระดับสูงและจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 หลายกระทรวง รวมถึงกระทรวงยุติธรรมด้วย อีกทั้งยังมีผู้เกี่ยวข้องกับโครงการทุจริตก่อสร้างโรงพัก 396 แห่งด้วย
มหาดไทยปลดอดีตผวจ.บึงกาฬ
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่กระทรวงมหาดไทย มีการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีวาระสำคัญคือการพิจารณาลงโทษทางวินัยข้าราชการ คือนายสมพงษ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในความผิดที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ชี้มูลกรณีการทุจริตการใช้งบประมาณเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน และการใช้งบประมาณยาปราบศัตรูพืช เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เมื่อปี 2554-2555 ขณะดำรงตำแหน่งผวจ.บึงกาฬ โดย อ.ก.พ.มีมติปลดออกจากราชการ
"วิษณุ"ไม่ทราบประชุมครม.วันนี้
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวเตรียมประชุมครม.วาระพิเศษในวันที่ 29 พ.ค.นี้ว่า ตนยังไม่ทราบเลย ทั้งที่ตนต้องเป็นคนเข้าประชุม ไม่ทราบว่าจะประชุมอะไรกันบ่อย เรื่องนี้ต้องถามจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้จัดทำประชามติ ต้องเรียกประชุมครม.หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อมีการจัดทำ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ต้องนำตัวร่างกลับเข้าครม.อีกครั้ง และนำเข้าหารือในที่ประชุมคสช.อีก เพราะทั้งสององค์กรต้องเซ็นทั้งคู่ แต่อาจไม่จำเป็นต้องประชุมร่วมก็ได้ หรือจะประชุมร่วมก็ได้ โดยจะเริ่มร่างตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
เมื่อถามว่าตัวแทนจากครม.จะไปชี้แจงข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอไป 100 ประเด็นต่อกมธ.ยกร่างฯเมื่อใด นายวิษณุกล่าวว่า ตามปฏิทินกำหนดไว้วันที่ 6 มิ.ย. ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. มีเวลาชี้แจงคนละ 3 ชั่วโมง
บิ๊กตู่เตรียมลงพื้นที่แปดริ้ว-ระยอง
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องบรรจุเรื่องการขยายเวลาดำเนินการของกมธ.ยกร่างฯเอาไว้ด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าไม่จำเป็น กมธ. ยกร่างฯมีเวลาพิจารณาร่างภายใน 60 วัน เมื่อพิจารณาแล้ว หากเชิญคนไปชี้แจงอาจใช้เวลาเพียง 10 กว่าวัน เมื่อหักช่วงเสาร์อาทิตย์ออกไปอีกก็หายไปอีก 16 วัน จึงต้องให้เวลากมธ.ยกร่างฯทำงาน จึงไม่ต้องระบุว่าต้อง 30 หรือ 60 วัน ให้เขากำหนดกันเอง ถ้าขยันก็ขยายไป 5 หรือ 10 วัน แต่อย่าเกิน 30 วัน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์มีกำหนดลงพื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา และจ.ระยอง ในวันที่ 10 มิ.ย. โดยช่วงเช้า นายกฯและคณะเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์จากพล.ม.2รอ. จากนั้นเวลา 09.00น. นายกฯเป็นประธานเปิดงานวันต้นไม้ ที่บ้านท่ามะนาว ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนที่นายกฯและคณะจะเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ต่อไปยังต.ชุมแสง อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เพื่อฟังบรรยายและติดตามการบริหารจัดการน้ำในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ ก่อนเดินทางกลับถึงพล.ม.2รอ. ในเย็นวันเดียวกัน
สมบัติเชื่อยอมตัดนายกฯคนนอก
ที่รัฐสภา นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกมธ.ปฏิรูปการเมืองและกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจาก 315 มาตรา เหลือ 118 มาตราว่า กมธ.ทั้งสองคณะเห็นตรงกันว่าควรให้รัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสั้นลง โดยเอาเนื้อหาที่เกินไปอยู่ในกฎหมายลูกแทน ซึ่งสอดคล้องกับที่ศาตราจารย์เกียรติคุณมหาวิทยาลัยปารีส มาบรรยายที่กระทรวงต่างประเทศเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ว่าควรเขียนรัฐธรรมนูญให้สั้นๆ จะเป็นผลดีมาก ไม่จำเป็นต้องบัญญัติรายละเอียดมากเกินไป
นายสมบัติกล่าวต่อว่า การที่ครม.มีความเห็นเรื่องเนื้อหารัฐธรรมนูญที่ควรแก้ไขตรงกับกมธ.ทั้งสองคณะในหลายประเด็น อาทิ เรื่องกลุ่มการเมือง มาตรา 181-182 ระบบ โอเพ่นลิสต์ ตลอดจนผู้ใหญ่หลายฝ่ายก็ไม่เห็นด้วยกับประเด็นเหล่านี้ เชื่อว่าน่าจะมีน้ำหนักเพียงพอให้กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนรัฐ ธรรมนูญตามที่ท้วงติงไป ต้องวัดใจกมธ. ยกร่างฯ แต่ถ้าไม่มีการปรับปรุงแก้ไขก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะอำนาจทั้งหมดอยู่ที่กมธ.ยกร่าง 100% ซึ่งหัวใจสำคัญที่อยากให้กมธ.ยกร่างฯทบทวนมากที่สุดคือระบบการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งระบบสัดส่วนผสม และโอเพ่นลิสต์ จะทำให้ได้รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ รวมทั้งเรื่องนายกฯคนนอกที่ขัดต่อหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย ถ้าให้มีอยู่แสดงว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
กสม.ชี้นศ.ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย
ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง กสม. ได้เชิญกลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จนถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสลายกิจกรรมเมื่อวันที่ 22 พ.ค.มาชี้แจง โดยตัวแทนนักศึกษาเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า การสลายกิจกรรมของเจ้าหน้าที่นั้น มีนักศึกษาหลายคนถูกทำร้ายร่างกายด้วยการเตะต่อย บางรายรู้สึกว่ามีกระแสไฟฟ้าเข้าถึงตัว อีกทั้งยังระบุว่าเจ้าหน้าที่จับนักศึกษาโยนบก และพูดขู่ท้าต่อยกับนักศึกษาตัวต่อตัว ซึ่งนักศึกษานำพยานหลักฐานที่ถูกทำร้ายมาชี้แจงต่อกสม.ด้วย
นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อนุกรรมการกล่าวว่า อนุกรรมการเห็นว่าการจัดกิจกรรมของนักศึกษาเมื่อวันที่ 22 พ.ค. เป็นการแสดงความคิดเห็นตามสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐ ธรรมนูญ ไม่คิดว่านักศึกษาทำในสิ่งที่อยู่นอกเหนือกรอบของกฎหมาย แต่การแสดงความเห็นนั้นอาจแตกต่างจากความเห็นของรัฐบาลไปบ้าง ซึ่งจากการสอบถามของอนุกรรมการไม่พบว่ากลุ่มนักศึกษาเหล่านี้กระทำการละเมิดสิทธิของคนอื่น อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้า อนุกรรมการจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจมาชี้แจงเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อนจะทำสำนวนส่งรัฐบาลต่อไป
กต.ยกเลิกรูด-พาสปอร์ตทักษิณ
วันเดียวกัน นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่าฝ่ายความมั่นคง เสนอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องภายในอำนาจหน้าที่ เกี่ยวกับเรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาเห็นว่า ถ้อยคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีเนื้อหาบางส่วนที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัย หรือชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทย
ประกอบกับกรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน เพื่อดำเนินคดีอาญาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 326 และ 328 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) (5) นั้น กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าข่ายจะยกเลิกหนังสือ เดินทางตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ข้อ 21 (4) และข้อ 23 (2) จึงประกาศยกเลิกหนังสือเดินทาง เลขที่ U957441 และเลขที่ Z530117 ของพ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค.2558
สำหรับ หนังสือเดินทาง เลขที่ U957441 และเลขที่ Z530117 ของพ.ต.ท.ทักษิณเป็นหนังสือเดินทางธรรมดาทั้ง 2 เล่ม โดยการยกเลิกหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะยกเลิกทุกเล่ม กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบแล้วมีเพียง 2 เล่มนี้ จึงยกเลิก 2 เล่มดังกล่าว ส่วนประเด็นเรื่องการพิจารณาถ้อยคำสัมภาษณ์ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการพิจารณายกเลิกหนังสือเดินทางนั้น เป็นไปตามการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
"บิ๊กป้อม"ระบุเป็นหน้าที่ของบัวแก้ว
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกระทรวงการต่างประเทศประกาศถอนพาสปอร์ต พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมสถิติบุคคลที่เข้าข่ายต้องถูกถอนพาสปอร์ตส่งมายังกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณถือว่าอยู่ในข่ายถูกถอดถอนพาสปอร์ตด้วย เรื่องนี้ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจ้องทำพ.ต.ท.ทักษิณ แต่เป็นเพราะตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชงเรื่องเข้ามา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาตามความผิดที่มีอยู่จริง ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการ ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ฉะนั้นจำเป็นต้องทำตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นเพราะพ.ต.ท.ทักษิณไปพูดที่เกาหลีใช่หรือไม่ พล.ต.วีรชน กล่าวว่า เหตุเกิดจากพ.ต.ท.ทักษิณ กระทำความผิดกฎหมายของไทยเป็นหลัก อยู่ในกรอบที่ต้องถูกถอนพาสปอร์ต และหน่วยงานที่รับผิดชอบเสนอเรื่องมา
ซื้อโอท็อป - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เยี่ยมชมและแวะซื้อสินค้าต่างๆ ในงานโอท็อป มิดเยียร์ ที่ศูนย์การแสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีกลุ่มผู้ค้าและประชาชนเข้ามาทักทายขอถ่ายรูปด้วยจำนวนมาก เมื่อวันที่ 27 พ.ค. |
เมื่อถามว่า จะมีประโยชน์อะไรในเมื่อมีรายงานก่อนหน้านี้แล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ถือพาสปอร์ตมอนเตเนโกร พล.ต.วีรชนกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่มีหรือไม่มีประโยชน์ แต่เป็นเรื่องหลักเกณฑ์และกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ
ที่กระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหมกล่าวว่า กรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ถูกเพิกถอนหนังสือเดินทาง(พาสปอร์ต) ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ส่งเรื่องมาให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาว่าการกระทำของพ.ต.ท.ทักษิณ เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดในการยกเลิกพาสปอร์ตหรือไม่ ซึ่งการพิจารณายกเลิกเป็นหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ดังนั้น ต้องไปสอบถามกระทรวงการต่างประเทศ
'ดร.ปึ้ง'ลั่น-ถ้าเป็นรัฐบาลอีกคืนให้
นายนรชิต สิงหเสนี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวกรณีมีการเพิกถอนหนังสือเดินทางของพ.ต.ท.ทักษิณ 2 เล่มว่า โดยหลักการ การถือหนังสือเดินทาง 2 เล่มทำได้ หากมีเหตุผลเพียงพอ อาทิ กรณีนักธุรกิจหรือผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง เพราะการยื่นขอวีซ่าบางประเทศใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ แต่จะต้องส่งเรื่องและหลักฐานที่ชัดเจนที่แสดงถึงเหตุผลและความจำเป็นประกอบการพิจารณา จึงสามารถออกหนังสือเดินทางเล่มที่สองให้ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก
ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกระทรวงการต่างประเทศประกาศยกเลิกหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า ตรงนี้เป็นอำนาจของ รมว.ต่างประเทศ ซึ่งสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ได้สั่งยกเลิกไปครั้งหนึ่งแล้ว ให้เหตุผลว่า พ.ต.ท.ทักษิณ สร้างความเสียหายให้กับประเทศ และเมื่อตนมาเป็นรมว.ต่างประเทศ สั่งให้คืนหนังสือเดินทางเพราะเห็นว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ทำความเสียหายให้กับประเทศ มาถึงครั้งนี้ก็เป็นสิทธิ เป็นอำนาจของรมว.ต่างประเทศ แต่ถ้ากลับมาเป็นรัฐบาลอีก ตนก็จะคืนหนังสือเดินทางให้พ.ต.ท.ทักษิณ เหมือนเดิม เพราะเรามองว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ทำความเสียหาย
"การออกมาแสดงความคิดเห็นไม่ได้สร้างความเสียหาย อยู่ที่ประชาชนที่รับฟังจะเชื่ออย่างไร ซึ่งการแสดงความเห็นถือเป็นสิทธิที่จะปิดกันไม่ได้ เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นฝ่ายที่ถูกกระทำมาตลอด ก็ควรมีสิทธิ์ชี้แจงข้อเท็จจริง" นายสุรพงษ์กล่าว
โวยังมีพาสปอร์ตของประเทศอื่นใช้
นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า การอ้างสาเหตุเพิกถอนหนังสือ เป็นผลจากการให้สัมภาษณ์ของอดีตนายกฯเข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคงนั้น เป็นการยกเลิกฉบับของไทย แต่ยังมีของประเทศอื่นที่ออกให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้เดินทางไปประเทศต่างๆ ได้ตามปกติ และเป็นการพิจารณาของประเทศนั้นๆ ว่าจะอนุญาต ให้พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าหรือไม่เข้าประเทศ ดังนั้น การถอนหนังสือเดินทางครั้งนี้จึงไม่มีผลต่อการเดินทางของพ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนข้ออ้างถึงการไปพูดแสดงความเห็นที่เกาหลีใต้นั้น มองว่าเป็นการถ่ายทอดข้อเท็จจริงในสิ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณพบเจอให้กับผู้ฟังได้ทราบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกและคนฟังจะเชื่อหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ เชื่อว่าต่างชาติเขารู้อยู่แล้วว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับอดีตนายกฯ
"รัฐบาลจะอ้างอะไรก็ได้ แต่ขอถามว่าหนังสือเดินทาง เปรียบเหมือนบัตรประชาชนที่แสดงให้ต่างชาติรู้ว่าคนที่ถือหนังสือเป็นใคร มาจากไหน การอ้างว่าสิ่งที่พูดเป็นภัยต่อความมั่นคง แล้วผู้ต้องโทษที่เป็นภัยต่อความมั่นคงในประเทศเราขณะนี้ ทำไมจึงไม่ยึดบัตรประชาชนคืนทั้งหมด แต่รัฐบาลจะทำอย่างไรจะยึดคืนก็ได้ แต่หากเรากลับมาเป็นรัฐบาลก็จะคืนกลับให้อีกครั้ง" นายสุรพงษ์กล่าว
40 ส.ว.ได้ที-ขย่มซ้ำจี้ถอดยศด้วย
ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะเคยผลักดันให้หน่วยงานรัฐยกเลิกหนังสือเดินทางของพ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับกระทรวงการต่างประเทศ และมองว่าเป็นผลจากพ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ให้ร้ายบุคคล และกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เชื่อว่าจะไม่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อม หรือการเคลื่อนไหวที่กระทบต่อความสงบของประเทศ หากมีการเคลื่อนไหว คงมีเพียงการให้สัมภาษณ์เครือข่ายที่รับใช้พ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น
นายสมชายกล่าวว่า ส่วนที่ฝ่ายความมั่นคงใช้อำนาจสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ ยึดหนังสือเดินทางพ.ต.ท.ทักษิณ ในช่วงนี้ไม่ถือว่าเปิดหน้าสู้กับพ.ต.ท.ทักษิณ มีแต่พ.ต.ท.ทักษิณที่เดินหน้าชนเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศทำถูกต้องแล้ว และไม่เกี่ยวกับประเด็นการเมือง
นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสปช. กล่าวว่า ขอเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มาดำเนินคดีในไทย รวมถึงขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ถอดยศของ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย เพราะความผิดทำนั้นถือว่าโจ่งแจ้งมาก
ปชป.เอาด้วย-จี้นำตัวมาดำเนินคดี
ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระทรวงการต่างประเทศเพิกถอนหนังสือเดินทางของพ.ต.ท.ทักษิณ ว่า รัฐบาลชุดนี้ควรดำเนินการตั้งนานแล้ว คิดว่าคงไม่เกี่ยวกับเนื้อหาบางส่วนในคำให้สัมภาษณ์ตามที่เป็นข่าว แต่พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ที่หนีคดี จึงเข้าข่ายองค์ประกอบที่ไม่สมควรถือพาสปอร์ตของไทยอีกต่อไป รวมทั้งสมควรถูกถอดยศด้วย ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศควรชี้แจงให้ทุกประเทศทราบว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ทำความผิดอะไร และการดำเนินการครั้งนี้เป็นเพราะอะไร การยกเลิกพาสปอร์ตเป็นเรื่องปกติ ความจริงหน่วยงานของไทยต้องดำเนินการผ่านตำรวจสากล นำตัวมากลับมารับโทษ และดำเนินคดีในไทย
เมื่อถามว่ามีการมองว่ารัฐบาลยกเลิกพาสปอร์ตในช่วงนี้เพื่อเรียกกระแสนิยมที่กำลังตก นายเกียรติกล่าวว่า ตนไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ แต่ตามองค์ประกอบของกฎหมายต้องทำนานแล้ว และอย่าปล่อยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ นำประเด็นนี้ไปเคลื่อนไหวอีกในต่างประเทศ
ทหารบุกที่ประชุมกฎหมายเพื่อไทย
เวลา 08.30 น. ที่ห้องฝนหลวง 3 โรงแรมนภาลัย จ.อุดรธานี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯและแกนนำพรรคเพื่อไทย พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายชูศักดิ์ ศิรินิล นายสามารถ แก้วมีชัย นายอุดมเดช รัตนเสถียร ทีมกฎหมายพรรค ได้มาประชุมกับอดีตส.ส. และสมาชิกพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับเนื้อหา ในร่างรัฐธรรมนูญและการต่อสู้คดีถอดถอน โดยมีสมาชิกและอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยจากจ.อุดรธานี หนองคาย ขอนแก่น บึงกาฬ หนองบัวลำภู เลย สกลนคร นครพนม เข้าร่วมประชุม 31 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ พ.อ.ศุภการ บุบพันธ์ เสธ.มทบ.24 พร้อม เจ้าหน้าที่ ที่มาเจรจาต่อรองกับนายสมชาย ขอเข้าร่วมรับฟังด้วย ก่อนได้อนุญาตให้ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง แต่งเครื่องแบบหน่วยละ 2 นายเข้าร่วมรับฟังได้ กระทั่งเวลา 11.35 น. การประชุมจึงยุติ
นายสมชายเปิดเผยว่า ฝ่ายกฎหมายพรรคมาอธิบายให้อดีตส.ส.ฟังว่าถูกถอดถอนเรื่องอะไรและต้องเตรียมเอกสารอะไรต่อสู้ เพราะการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทำตามที่รัฐธรรมนูญอนุญาต ซึ่งในการหารือครั้งนี้ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อทหารเจรจาขอเข้าร่วมรับฟังด้วยก็อนุญาตให้เข้า เราไม่มีอะไรปิดบัง เพื่อความสบายใจทั้งสองฝ่าย และไม่ได้ทำอะไรที่เป็นภัยต่อความมั่นคง มีแต่เรื่องการต่อสู้คดีกับสนช. นอกจากนี้ส.ส. ภาคอื่นก็ให้ไปแนะนำ ซึ่งจะส่งฝ่ายกฎหมายพรรคไป ส่วนที่อุดรฯ ตนมาบ่อย จึงถือโอกาสมาเยี่ยมพรรคพวกด้วย
นายสมชายกล่าวว่า ส่วนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์เป็นปกติ ตามประสาญาติพี่น้อง สอบถามสารทุกข์สุกดิบ ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณบอกว่าไม่ขอยุ่งแล้วกับการเมือง ขออยู่นิ่งๆ มีหลานแล้ว ขอเลี้ยงหลานดีกว่า ทำการเมืองแล้วคนเขาสับสน กังวลอย่างนั้นอย่างนี้ จนกว่าจะมีกติกาถึงค่อยคิดกัน ผู้สื่อข่าว
"ยิ่งลักษณ์"เยี่ยมชม-ซื้อสินค้าโอท็อป
นายชูศักดิ์กล่าวว่า เราคุยกันเรื่องแนวทางสู้คดี ซึ่งอดีตส.ส.มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะชี้แจงข้อกล่าวหา เราเพียงแต่มาซักซ้อมแนวทางชี้แจงเท่านั้น ท้ายที่สุดฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็เข้าใจโดยบอกว่าเขาทำตามหน้าที่ สำหรับแนวทางต่อสู้นั้น โดยหลักแล้วต้องดูว่าเขาจะบรรจุเรื่องเมื่อไร ซึ่งอดีตส.ส.อยากชี้แจงด้วยตนเอง ส่วนประเด็นที่จะชี้แจงนั้นมีเยอะมาก ทั้งอำนาจของสนช.และป.ป.ช. ซึ่งเราจะชี้แจงตามข้อเท็จจริง เพราะข้อหาที่อดีตส.ส.โดนนั้น เป็นข้อหาเดียวกันกับอดีต 38 ส.ว. ซึ่งสนช.ก็ถอดไม่ได้อยู่แล้ว
นายสามารถกล่าวถึงพล.อ.ประวิตรระบุเขียนรัฐธรรมนูญป้องกันปฏิวัติไม่ได้ เพราะเมื่อประเทศชาติไปไม่ได้ ประชาชนเดือดร้อน ทหารก็ต้องมาแก้ไขว่า หากความคิดของนายทหารชั้นผู้ใหญ่เป็นแบบนี้ ต้องบอกว่าประชาธิปไตยของไทยคงไม่ได้พัฒนาอย่างที่ควร ถือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งน่าห่วงอย่างยิ่ง สุดท้ายแล้วประเทศไทยก็หนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้เยี่ยมชมและแวะซื้อสินค้าต่างๆ อาทิ ขนม โรตีกรอบ ทุเรียนกรอบ เมียงคำ เป็ดย่าง กาละแมร์ภูเก็ต แกงเห็ด ข้าวเกรียบ สับปะรด เสื้อกางเกงลายผ้าถุง ในงาน OTop Mid year ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีกลุ่มผู้ค้าจังหวัดต่างๆ ทักทายให้กำลังใจและขอถ่ายรูปจำนวนมาก
"วรชัย"เตือนคสช.อย่าลากยาว
วันเดียวกัน นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช. กล่าวถึงประธานกมธ.ยกร่างฯระบุร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้พลเมืองเป็นใหญ่ว่า เป็นเพียงคำพูดสวยหรู พูดให้ดูดี แต่เมื่อดูเนื้อหาแล้วไม่มีความยึดโยงกับประชาชน จริงๆ แล้วพวกนั้นต่างหากที่เป็นใหญ่ พูดแบบนี้อย่าพูดดีกว่า เข้าทำนองปากประชาธิปไตยแต่หัวใจเผด็จการ หากรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ไปไม่รอดแน่ เพราะไม่มีความเชื่อถือ ทำประชามติก็ไม่ผ่าน ดังนั้น ต้องถอยมาปรับแก้ ทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดและเร็วที่สุด เพราะแรงต่อต้านเพิ่มมากขึ้นทุกที ต่อไปคงไม่ใช่แค่นักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว อาจมีจากภาคส่วนอื่นๆ ออกมาเพิ่มเติม สำคัญคือรัฐบาลต้องทำตามโรดแม็ป ถ้าเลือกตั้งกลางปี 2559 ยังพอไหว แต่ถ้านานกว่านั้น ลากยาวไปปลายปี 59 หรือไปถึงปี 60 ก็ลำบากแน่
'พิชัย'แนะ5ข้อทีมเศรษฐกิจรัฐบาล
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน และทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าการส่งออกติดลบเป็นเดือนที่ 4 ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และผลสำรวจของประชาชนพบว่า 74.1% คิดว่าเศรษฐกิจมีแต่ทรงกับทรุด ซึ่งเป็นไปตามที่เคยเตือนไว้แล้ว จึงอยากให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลรับสภาพความเป็นจริง จะได้แก้ไขถูกวิธี หากมองไม่เห็นสภาพนี้ควรปรับทีมเศรษฐกิจใหม่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายพิชัย กล่าวว่า อยากฝาก 5 คำถามไปยังรัฐบาลและทีมเศรษฐกิจให้ช่วยตอบ 1.การที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลเชื่อว่าเศรษฐกิจฟื้นแล้ว จึงไม่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่กำลังลำบากมาก เช่น เกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ พวกเขาจะอยู่กันอย่างไร 2.การที่กระทรวงคมนาคมมีแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน แต่ทีมเศรษฐกิจบอกว่าไม่มีเงิน ทั้งที่มีเงินล้นระบบธนาคารอยู่ในปัจจุบันถึง 8-9 แสนล้านบาท แสดงถึงความไม่มีประสิทธิภาพในวิธีคิดของทีมเศรษฐกิจหรือไม่
3.การขยายโรดแม็ปการเลือกตั้งออกไปอีก จะมีผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศหรือไม่ จะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นช้าหรือทรุดตัวอีกหรือเปล่า 4.ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญบอกรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาให้อำนาจแก่ประชา ชน ทั้งที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น จะนำไปสู่ปัญหาความเชื่อมั่นเพิ่มเติมหรือไม่ 5.ทิศทางอนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร การสร้างความเชื่อมั่น การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจะเป็นอย่างไร เพราะเห็นแต่ได้ยินว่าฟื้นหรือไม่ฟื้น แต่ยังไม่เห็นบอกว่าอนาคตจะพัฒนาอย่างมั่นคงต่อไปได้อย่างไร
ทหารเฮ-ขึ้นเงินพ.อ.เทียบนอภ.
วันที่ 27 พ.ค. ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.คงชีพ ตันตระวานิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวถึงผลการประชุมสภากลาโหม โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนและค่าตอบแทนข้าราชการทหาร ในการปรับปรุงบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการทหาร เพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ดังนี้ ปรับขยายเพดานอัตราเงินเดือนระดับพันเอกขึ้นไปให้เทียบเท่ากับข้าราชการพลเรือนระดับตำแหน่งนายอำเภอขึ้นไป เพื่อให้เทียบกับข้าราชการพลเรือน ที่ปรับปรุงระบบจำแนกตำแหน่งใหม่จากระบบซี เป็นการจำแนก 4 กลุ่ม ตามลักษณะงานไปแล้วเมื่อปี 2551
พล.ต.คงชีพกล่าวว่า นอกจากนี้ขยายเพดานเงินเดือนของนายทหารประทวน(ส.) ระดับ ป.1-ป.2 ให้เท่ากับระดับ ป.3 เพื่อให้เงินเดือนสามารถเลื่อนไหลไปได้จนถึงระดับชั้นสูงสุดของ ป.3 ได้ต่อเนื่องโดยไม่ติดขัด เช่นเดียวกับข้าราชการตำรวจชั้นประทวน ทั้งนี้ เมื่อปี 2538 ข้าราชการทุกประเภท มีบัญชีอัตราเงินเดือนอัตราแนบท้ายอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกันคือ พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.2538 ซึ่งเดิมเงินเดือนของข้าราชการแต่ละระดับ เป็นอัตราที่เทียบเคียงกันได้
พล.ต.คงชีพ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการกำหนดค่าตอบแทนให้ผู้ปฏิบัติงานหน้าที่เวรรักษาการณ์ ในอัตรา นายทหารสัญญาบัตร วันละ 200 บาท นายทหารชั้นประทวน วันละ 180 บาท แบ่งการเบิกจ่ายให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ พ.ศ.2550 โดยอนุโลม
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่ากลุ่มเป้าหมายคือกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ที่ต้องถืออาวุธประจำกายในหน่วยทหารที่มีคลังอาวุธยุทโธปกรณ์และพร้อมแสดงกำลังได้ทันที เมื่อมีเหตุวิกฤตเกิดขึ้น เพราะข้าราชการทหารมีภารกิจหลักคือป้องกันประเทศและปฏิบัติการอื่น ซึ่งต้องจัดกำลังให้มีความพร้อมเพื่อเผชิญเหตุตามระดับเหตุการณ์ เวรรักษาการณ์จึงถือเป็นกำลังเผชิญเหตุการณ์ระดับต้นที่ต้องพร้อมปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดย ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวจะนำเข้าที่ประชุมครม. เพื่อพิจารณาในสัปดาห์หน้า
ไพบูลย์ ขู่พระรับเกิน3พัน-ผิดกม.
วันที่ 27 พ.ค. ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. แถลงปฏิเสธกรณีมีพระสงฆ์ไปเผยแพร่ว่าคณะกรรมการชุดนี้เสนอนายกฯ 3 ข้อ คือ 1.ให้เรียกเก็บภาษีพระที่มีรายได้เกิน 20,000 บาทต่อเดือน 2.รัฐควรมีมาตรการลงโทษพระสงฆ์ที่กระทำความผิดอย่างรุนแรง 3.ควรกำหนดหลักเกณฑ์ว่าเจ้าอาวาสควรมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี ยืนยันว่าทั้ง 3 ข้อไม่ใช่ข้อเสนอของคณะกรรมการฯ แต่เป็นสปช.คนหนึ่งที่แสดงความเห็นส่วนตัวในการอภิปรายตอนที่คณะกรรมการฯชุดนี้ เสนอรายงานผลการศึกษาต่อที่ประชุมสปช. ซึ่งได้รวบรวมความเห็นทั้งของคณะกรรมการ สมาชิก สปช.ที่อภิปราย ก่อนสรุปรายงานเสนอต่อนายกฯและพระสังฆาธิการ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า คณะกรรมการไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีพระ เพราะจะส่งเสริมให้พระทำธุรกิจและแสวงหากำไรเพื่อนำเงินไปเสียภาษี ตรงนี้จะขัดกับพระธรรมวินัยที่ไม่ให้พระมุ่งแสวงหากำไร ส่วนเรื่องวาระเจ้าอาวาสควรอยู่ที่ 5 ปีนั้น คณะกรรมการ ก็ไม่เห็นด้วย เพราะพระควรอยู่กับชุมชนและร่วมพัฒนาพื้นที่กับชาวบ้าน ส่วนบทลงโทษให้รุนแรงขึ้น เห็นว่าไม่จำเป็นเพราะมีเรื่องอาบัติและการปาราชิกควบคุมอยู่
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ขอฝากเตือนพระสังฆาธิการหรือพระสงฆ์ผู้มีตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ไทย ประกอบด้วย 1.เจ้าคณะใหญ่ 2. เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค 3.เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด 4.เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ 5.เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล 6.เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ที่ในประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติให้เป็น "เจ้าพนักงาน" อาศัยการตีความจากศาลฎีกา ในคำพิพากษาฎีกาที่ 2003-1005/2500 และคำพิพากษาฎีกาที่ 2003-2005/2500 จึงห้ามพระสังฆาธิการรับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาท หากเกินวงเงิน ต้องนำทรัพย์สินมอบให้วัด และหากฝ่าฝืนจะผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103 พร้อมทั้งเสนอให้พระสังฆาธิการเปิดเผยทรัพย์สิน เนื่องจากเงินตราเปรียบเป็นเหมือนอสรพิษของพระสงฆ์
เคาะเยียวยาผู้เสียชวตกปปส.4แสน
วันที่ 27 พ.ค. ที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการเยียวยาทางการเงินแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองระหว่างปี 2556-2557 โดยนำกรณี ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และครม. รวม 34 คน กรณีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมระหว่างปี 2548-2553 มิชอบ นำมาเป็นกรณีศึกษาว่า ที่ประชุมหารือกรณีเยียวยาทางการเงินแก่ผู้ประสบภัยในช่วงชุมนุม ที่มี 2 ช่วง คือช่วงปี 2547 - 2553 ตั้งแต่สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และช่วงสองคือปี 2556-2557 ช่วงสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์
นายวิษณุกล่าวว่า การเยียวยามีการตั้งกรรมการหลายยุคสมัย ในรัฐบาลนี้ มีตนเป็นประธาน ซึ่งรัฐบาลนี้จะยกผู้สูญเสียจากปี 2556-2557 มาช่วยก่อน เพราะการช่วยเหลือปี 2547 - 2553 ถูกอนุกรรมการป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในการจ่ายเงินเยียวยา อยู่ในขั้นการสอบสวนเพื่อนำเข้าคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่
นายวิษณุ กล่าวว่า การพิจารณาช่วงเวลาปี 2556-57 เรานำบทเรียนตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 วางไว้ บวกกับที่อนุกรรมการป.ป.ช.วางหลักไว้ คิดว่าน่าจะมีแนวทางดำเนินการได้ หากดำเนินการได้ทันจะเสนอเข้าที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้า หากไม่ทันก็เสนอในสัปดาห์ถัดไป เพื่อหารือว่า 1.ให้มีการเยียวยา 2.นำหลักเกณฑ์ในกฎหมายที่มีอยู่มาเป็นฐานรองรับ โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องนำมายึดหลัก คือ พ.ร.บ.ค่าเสียหายที่ให้มีการชดเชยหรือจ่ายให้แก่จำเลยในคดีอาญา พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. 2543 และเกณฑ์จ่ายเงินผู้ประสบภัยภาคใต้ รวม 4 พ.ร.บ. และ 1 หลักเกณฑ์
นายวิษณุ กล่าวว่า ดังนั้น ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้จะมโนเองว่าเอาไปเลย 7 ล้านบาท การพิจารณาจึงได้ตัวเลขคร่าวๆ ผู้เสียชีวิตจะได้ 4 เเสนบาท หากมีบุตร จะมีเงินสงเคราะห์บุตรเพิ่มอีก รวมถึงกรณีผู้บาดเจ็บ และมีทรัพย์สินเสียหาย จะมีมาตรการช่วยเหลือ ทั้งนี้ การเยียวยายังไม่ได้จบแค่นี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ อีก โดยเงินทั้งหมดจะจ่ายได้ทัน หากมีมติครม.ออกมา โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้จ่าย ส่วนตัวเงินเยียวยาครั้งนี้ น่าจะใช้เงินเพียงหลักร้อยล้าน
รองนายกฯ กล่าวว่า กรณีผู้เสียหายรายเก่าตั้งแต่ปี 2547-53 ผู้ที่ได้เงินไป 7.5 ล้านบาท อยู่ในขั้นสอบสวนของ ป.ป.ช. หากป.ป.ช.ชี้มูลเสร็จ อาจยกขึ้นมาพิจารณา ส่วนจะเรียกคืนเงิน 7.5 ล้านหรือไม่ ยังไม่ขอตอบ ต้องรอความชัดเจนก่อน
ดีเดย์ 1 ต.ค.ภาครัฐเลิกใช้'อี-อ๊อกชั่น'
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 27 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ใช้เวลาประชุมนานเกือบ 3 ชั่วโมง จากนั้นประธานคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ของคตช. ร่วมกันแถลงมติที่ประชุม
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ในวันที่ 8 มิ.ย. เวลา 09.00 น. นายกฯ จะเป็นประธานประกาศเจตนารมณ์ของรัฐบาล ต่อต้านการทุจริต ที่ตึกสันติไมตรี และจะประกาศพร้อมกันหน้าศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ โดยเชิญเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรต่างประเทศ สถานทูตและสื่อมวลชนร่วมงาน ทั้งนี้ นายกฯ จะพูดถึงการคอร์รัปชั่นตั้งแต่ก่อนยึดอำนาจ และเมื่อมาเป็นนายกฯแล้วพบปัญหาอะไรและแก้ไขอย่างไร
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม กล่าวว่า ในส่วนข้อตกลงคุณธรรม ที่จะเริ่มใช้นำร่องในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ของ ขสมก. ขณะนี้มีผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมเข้าไปดำเนินงานแล้ว โดยรถเมล์เอ็นจีวี มีการประกวดราคาเสร็จแล้ว ซึ่งการที่มีผู้สังเกตการณ์ทำให้ได้ราคาที่ประหยัดลงคันละ 1 ล้านบาท จากคันละ 4 ล้านบาท ทั้งนี้ อนุกรรมการเห็นว่าควรขยายข้อตกลงคุณธรรมให้มากขึ้น โดยทำหนังสือไปยัง 20 กระทรวง คัดเลือกโครงการใหญ่เข้ามา และขณะนี้มีการเสนอกลับมา 36 โครงการ ซึ่งจะจัดให้มีผู้สังเกตการณ์ในโครงการต่อไป
นายมนัส กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังมีมติให้ใช้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐด้วยระบบ อี-บิดดิ้ง (E-Bidding) มาแทนระบบ อี-อ๊อกชั่น จะเริ่มใช้พร้อมกันทั้งประเทศในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ซึ่งระบบอี-บิดดิ้ง ทดลองใช้กับกระทรวงการคลัง โรงพยาบาล 3 แห่ง และ 9 กรม ซึ่งระบบอี-บิดดิ้งต่างกับระบบอี-อ๊อกชั่น คือไม่ต้องประกวดราคา แต่สามารถซื้อของในสเป๊กที่แน่นอน เพราะกรมบัญชีกลางจะมีลิสต์รายการสินค้าให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นฐานราคากลางเท่านั้น ดังนั้น วันที่ 1 ต.ค. นี้เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเลิกใช้ระบบอี-อ๊อกชั่นแล้ว
สอบคลิปจ้อสื่อที่เกาหลี เอาผิด 112 เหตุถอนพาสปอร์ตแม้ว บิ๊กตู่เปิดทำเนียบรับทูต แจ้งมีเลือกตั้งกันยา 59 วิษณุเคาะหัวละ 4 แสน เยียวยาชุมนุม'กปปส.'นศ.โวยถูกจนท.โยนบก
สอบคลิปจ้อสื่อที่เกาหลี เอาผิด112 เหตุถอนพาสปอร์ตแม้ว
กต.สั่งเลิกพาสปอร์ต'แม้ว' ให้สัมภาษณ์เข้าข่ายผิด ม.112 'บิ๊กตู่'บอกทูตยูเอ็นเลือกตั้ง ก.ย.59
@ "บิ๊กตู่"แจงทูตเลือกตั้งก.ย.59
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ณ นครนิวยอร์ก จากประเทศต่างๆ 12 ประเทศ ประกอบไปด้วย แอนติกาและบาร์บูดา บุรุนดี สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คอโมโรส สาธารณรัฐโดมินิกัน กาบอง กานา ฮังการี คิริบาส นาอูรู แคเมอรูน และวานูอาตู เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยตามโครงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรของประเทศไทย (Friends of Thailand) จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ
จากนั้น พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการหารือว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมาและความจำเป็นต้องเข้ามาบริหารประเทศ ไทยกำลังอยู่ในช่วงการปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยที่
เข้มแข็ง ส่วนความคืบหน้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอร่างฉบับแรกให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติม จากนั้นจะนำเสนอร่างแก้ไขใหม่ให้ สปช.เห็นชอบ หากจะต้องทำประชามติ กำหนดการเลือกตั้งจะต้องเลื่อนออกไป อย่างไรก็ดีคาดว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนกันยายนปี 2559
@ ชี้พัฒนาปท.กรอบเดียวยูเอ็น
พล.ต.วีรชนกล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะไม่เข้าไปก้าวก่ายและแทรกแซง ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการอยู่ในตำแหน่งและไม่มีผลประโยชน์ใดๆ แต่ต้องอดทนเพื่อประเทศชาติ ที่ผ่านมาความขัดแย้งต่างๆ ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ประเทศไทยกำลังสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ต้องมีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐที่มีประสิทธิผล มุ่งมอบอำนาจให้แก่ประชาชน ส่งเสริมธรรมาภิบาลและความโปร่งใส บทบาทไทยในกรอบพหุภาคี
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นายกฯย้ำว่าประเทศไทยต้องทำงานอย่างหนักเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมความเคารพสิทธิมนุษยชน และการรับมือกับภัยคุกคามดั้งเดิมและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ประเทศไทยเชื่อมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน และพร้อมเสมอจะทำงานกับทุกประเทศในฐานะหุ้นส่วน ไทยเชื่อมั่นในนโยบายมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม และสร้างความเข้มแข็งในทุกเสา คือ ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ความกินดีอยู่ดี และด้านสังคมวัฒนธรรม โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก หลักการนี้ได้ถูกนำมาใช้ในประเทศ และเช่นเดียวกันกับกรอบสหประชาชาติ คือทุกประเทศที่มีความแตกต่างต้องพัฒนาไปพร้อมกัน ไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัง
@ "บิ๊กป้อม"เผยถกครม.นัดพิเศษ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการประชุม ครม.นัดพิเศษในวันที่ 29 พฤษภาคม จะหารือถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดช่องให้ทำประชามติว่า ทาง ครม.ก็ต้องประชุมเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการเตรียมการเพื่อเปิดช่องให้ทำประชามติ แต่จะทำหรือไม่ทำเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จากนั้น ครม.จะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาก็ต้องดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตั้ง กมธ.ยกร่างฯขึ้นมาใหม่ รวมถึงตั้ง สปช.ด้วย ยังไม่ได้คิดว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้วจะให้ใครมาเป็น กมธ.ยกร่างฯชุดใหม่
พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงการเขียนบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารทำรัฐประหารในอนาคตว่า ตนและ ครม.ไม่มีปัญหา เป็นเรื่องของ สปช. ส่วนจะป้องกันได้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่ที่วิกฤต สถานการณ์ข้างหน้า แต่ไม่มีใครหรือทหารคนใดอยากทำรัฐประหารหรอก ถ้าประเทศเดินต่อไปข้างหน้าไม่ได้ ก็จำเป็นต้องทำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพราะประชาชนเดือดร้อน เมื่อเดินไปข้างหน้าไม่ได้ก็ต้องแก้ไขปัญหาให้เดินต่อไปข้างหน้าให้ได้ ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ทำมาแล้ว 1 ปี เพื่อให้เกิดความสงบสุข ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้
@ แจงจนท.ไม่ได้ปราบปรามนศ.
พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ส่วนกังวลใจหรือไม่ถ้าโรดแมปเลื่อนออกไปนั้น คิดว่าตอนนี้โรดแมปยังไม่ขยับ ถ้าสมมุติว่าเลื่อน เนื่องจากปัจจัยอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องมาคุยกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการกันอย่างไร เพื่อให้เกิดความสงบ ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ ขณะนี้ทุกฝ่ายแม้กระทั่งนายกฯก็ต้องสร้างความรับรู้ อธิบายให้กับประชาชนทุกขั้นตอน ทุกสัปดาห์ ถ้าเสียเวลาไปบ้าง แต่ถ้าเกิดผลดีก็ต้องยอม ยืนยันว่า คสช.ไม่มีแผนจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ทุกอย่างทำตามกรอบโรดแมป
พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณีนักศึกษาจัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปีรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา แล้วเจ้าหน้าที่รัฐเข้าควบคุมตัวจนเกิดความรุนแรงว่า ขอยืนยันว่าไม่ได้ปราบปราม และเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ทำร้ายร่างกายนักศึกษา แต่เกิดการควบคุมจนปะทะเพียงเล็กน้อย เนื่องจากนักศึกษาทำผิดกฎหมาย ที่ผ่านมาได้เปิดพื้นที่ให้พูดแล้ว แต่ไม่ได้เปิดเพื่อให้แสดงออกถึงความขัดแย้ง ถ้าใครทำผิดกฎหมายก็ต้องว่ากันไปตามนั้น ผู้นำใน คสช.ไม่จำเป็นต้องไปพบและทำความเข้าใจกับนักศึกษาด้วยตนเอง เพราะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการอยู่แล้ว ยืนยันว่าไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ว่าฝ่ายความมั่นคงต้องดูแลความเรียบร้อยตามกฎหมาย
@ อ้างแค่ปะทะนิดหน่อยไม่รุนแรง
ผู้สื่อข่าวถามว่านักศึกษาไม่เชื่อมั่นการแก้ไขปัญหาประเทศโดยชุดที่มาจากการทำรัฐประหาร พล.อ.ประวิตรย้อนถามว่า "ไม่เชื่ออย่างไร เราพยายามทำให้ดีที่สุด คนส่วนใหญ่เขาโอเค ทุกวันนี้ก็สงบอยู่แล้ว ไม่ได้บอกว่าจะยึดไป 500 ปี แต่มีโรดแมป ส่วนนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวก็ไม่ได้มาก ขอร้องว่าขอให้นักศึกษาเข้าใจว่ารัฐบาลกำลังทำให้เกิดความปรองดอง ทุกอย่างอยู่ที่กฎหมาย และรัฐธรรมนูญออกมา และทุกฝ่ายยอมรับได้ ก็จะเกิดความปรองดองขึ้นเป็นลำดับแรก ก็ต้องรอให้เขาทำรัฐธรรมนูญให้ดี อาจจะเสียเวลาบ้าง แต่เราไม่ได้ยึดไปตลอดชีวิต"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ประเด็นที่ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีเจ้าหน้าที่รับว่าปะทะกับนักศึกษานั้น ทาง พล.อ.ประวิตรมีอารมณ์ฉุนเฉียว ชี้หน้าและย้อนถามผู้สื่อข่าวหลายครั้ง โดยมีคำว่า "ไม่ได้ปราบปราม พูดดีๆ หน่อย แค่ปะทะกันนิดหน่อย มันขัดกฎหมายหรือเปล่า มันขัดไหม มันขัดไหม"
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาแสดงออกหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เปิดพื้นที่อย่างไร บอกว่าแค่ขอเวลา เมื่อถามว่ามีภาพเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย พล.อ.ประวิตรกล่าวตอบดุดันว่า "ก็บอกแล้วไง ทำร้ายอะไรวะ อย่าพูดส่งเดช แล้วทำไมคุณมาถามแบบนี้ ทำไมถามแบบนี้ คิดอะไร บอกหน่อยอธิบายมา คิดอย่างไร โธ่เอ๊ยพูดกับไอ้นี่ไม่รู้ พูดภาษาคนไม่รู้เรื่อง สื่อมวลชนก็ต้องช่วยกัน ไม่ใช่ถามแบบไอ้นั่น พูดอะไรไม่รู้เรื่อง อย่างงี้วันหลังต้องมาคุยกันตัวต่อตัวแล้ว"
@ กต.แจงเลิกหนังสือเดินทาง"แม้ว"
ขณะที่อีกเรื่องหนึ่งนั้น กระทรวงการต่างประเทศสั่งยกเลิกหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่า ฝ่ายความมั่นคงเสนอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาเรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นว่าถ้อยคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณมีเนื้อหาบางส่วนอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยหรือชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทย ประกอบกับกรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 326 และ 328 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าข่ายจะยกเลิกหนังสือเดินทางตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ จึงยกเลิกหนังสือเดินทาง เลขที่ U957441 และเลขที่ Z530117 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2558
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ ครม.เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อ ครม.มีมติให้เพิกถอน กระทรวงการต่างประเทศจึงเพิกถอนตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง เข้าข่ายข้อ 21 (4) ระบุว่า สามารถเพิกถอนได้เมื่อผู้กระทำผิดกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติทางราชการ
นายนรชิต สิงหเสนี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ตอบข้อซักถามกรณีเพิกถอนหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 2 เล่มว่า โดยหลักการการถือหนังสือเดินทาง 2 เล่มนั้นสามารถทำได้หากมีเหตุผลเพียงพอ อาทิ กรณีนักธุรกิจหรือผู้ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อย การยื่นขอวีซ่าบางประเทศใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ไม่ใช่เรื่องแปลก
@ ตร.เผยบก.ปอท.ชงยกเลิก
พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะโฆษก ตร. กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้เป็นผู้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้ยกเลิกหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงมีข้อมูลพบว่าอดีตนายกรัฐมนตรีไปพูดให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศแล้วเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายข้อ จึงเข้าไปแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้ดำเนินคดี
"จากนั้นทาง ปอท.รายงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ทราบว่ามีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความให้สอบสวนคดีดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศใช้ดุลพินิจแล้วเห็นว่าเข้าข่ายการกระทำความผิดและอยู่ระหว่างการ ดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงยกเลิกหนังสือเดินทางดังกล่าว" โฆษก ตร.กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังคลิปวิดีโอของสำนักข่าวโชซันของเกาหลีใต้บันทึกภาพ พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นภาษาไทย ความยาว 1.32 นาที เผยแพร่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท.ได้ตรวจสอบพบว่าเข้าข่ายผิดมาตรา 112 จึงขอศาลออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ และนำหมายจับดังกล่าวทำเรื่องไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขออนุมัติเพิกถอนหนังสือเดินทาง
@ สื่อนอกชี้แม้วมีพาสปอร์ตปท.อื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณทั้ง 2 เล่มที่ถูกเพิกถอน เป็นหนังสือเดินทางธรรมดา ออกให้ในสมัยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ในฐานข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ ปัจจุบัน พ.ต.ท.ทักษิณมีหนังสือเดินทางไทยในความครอบครองเพียง 2 เล่มที่ถูกยกเลิกไปในคราวนี้เท่านั้น ไม่มีหนังสือเดินทางราชการ (เล่มน้ำเงิน) หรือหนังสือเดินทางทูต (เล่มแดง) แต่อย่างใด
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้เพิกถอนหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ที่ระบุว่าเป็นการให้สัมภาษณ์นั้น หมายถึงการให้สัมภาษณ์ครั้งใดของ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือเหตุใดจึงเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณเพิ่งจะให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นแสดงความเห็นเรื่องการเมืองไทย และพูดในการประชุมเอเชียน ลีดเดอร์ คอนเฟอเรนซ์ ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ นับตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณหลบหนีคดีออกนอกประเทศ ก็มีรายงานเรื่องการเดินทางบ่อยครั้ง โดยมีที่พำนักประจำอยู่ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) การยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 2 เล่มยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เชื่อกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีหนังสือเดินทางของประเทศอื่นอยู่ด้วย
@ ยันรัฐบาลยึดตามกฎหมาย
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผู้ที่ดูแลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมสถิติบุคคลเข้าข่ายถูกถอนพาสปอร์ตส่งมายังกระทรวงการต่างประเทศ พ.ต.ท.ทักษิณถือว่าอยู่ในข่ายถูกถอดถอนพาสปอร์ตด้วย ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจ้องทำแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ทางตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชงเรื่องเข้ามา กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาตามความผิด ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการก็ถือว่าละเว้น ต้องทำตามกฎหมาย
เมื่อถามว่าเป็นเพราะเหตุที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปพูดที่เกาหลีใช่หรือไม่ พล.ต.วีรชนกล่าวว่า เหตุเกิดจาก พ.ต.ท.ทักษิณกระทำความผิดกฎหมายของไทยเป็นหลัก อยู่ในกรอบต้องถูก ถอนพาสปอร์ต และหน่วยงานที่รับผิดชอบเสนอเรื่องมา
เมื่อถามว่าจะมีประโยชน์อะไรในเมื่อมีรายงานก่อนหน้านี้แล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณถือพาสปอร์ตมอนเตเนโกร พล.ต.วีรชนกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องมีหรือไม่มีประโยชน์ แต่เป็นเรื่องของหลักเกณฑ์และกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ
@ พท.ลั่นคืนพาสปอร์ตหากเป็นรบ.
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณียกเลิกหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า ตรงนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ก็ได้สั่งยกเลิกไปครั้งหนึ่งแล้ว โดยให้เหตุผลว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศ และเมื่อตนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็สั่งให้คืนหนังสือเดินทาง เพราะเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ทำความเสียหายอะไรให้กับประเทศ มาถึงครั้งนี้ก็เป็นสิทธิ แต่ถ้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กลับมาเป็นรัฐบาลอีก ก็จะคืนหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณเหมือนเดิม เพราะมองว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ทำความเสียหายอะไร
"การออกมาแสดงความคิด แสดงความเห็น ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไร อยู่ที่ประชาชนที่ได้รับฟังจะเชื่ออย่างไร ซึ่งการแสดงความเห็นถือเป็นสิทธิที่จะปิดกั้นไม่ได้ เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำมาตลอด ก็ควรจะมีสิทธิที่จะชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่องนี้ไม่กระทบ พ.ต.ท.ทักษิณยังสามารถใช้หนังสือเดินทางที่รัฐบาลประเทศมอนเตเนโกรมอบให้มากับสถานะพลเมืองได้" นายสุรพงษ์กล่าว
@ ทหารขอฟังวงถกพท.ที่อุดรฯ
ที่โรงแรมนภาลัย จ.อุดรธานี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ภาคอีสานตอนบนกว่า 30 คน ร่วมประชุม เพื่อหารือแนวทางในการเตรียมเข้าให้ปากคำต่อ สนช. กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดให้ถอดถอนอดีต ส.ส. 258 คนของพรรค จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาวุฒิสภาโดยมิชอบ ต่อมา พ.อ.ศุภการ บุบพันธ์ เสนาธิการ มทบ.24 พร้อมด้วย พ.ต.อ.ชัยพงษ์ ทรงพลนภจร รอง ผบก.ภ.จว.อุดรธานี และนายวิมล สุระเสน ป้องกัน จ.อุดรธานี ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุมครั้งนี้ เนื่องจากได้รับแจ้งจากหน่วยข่าวกรองว่ามีการประชุม ทั้งนี้ทางผู้จัดประชุมยอมให้เจ้าหน้าทีเข้าร่วมสังเกตการณ์และร่วมรับฟัง
หลังจากเสร็จการประชุม นายสมชายกล่าวว่า อดีต ส.ส.อยู่ต่างจังหวัดหลายคนไม่ทราบเรื่อง จึงนำฝ่ายกฎหมายของพรรคมาชี้แจงเพื่อต่อสู้ข้อกล่าวหา ไม่มีอะไรต้องปิดบัง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า แนวทางการต่อสู้ทุกคนพร้อม และจะไปชี้แจงด้วยตนเอง คงเน้นเรื่องอำนาจหน้าที่ของ สนช. ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เกิดจากปัญหาการขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญโดยแท้ เป็นข้อหาเดียวกันกับอดีต 38 ส.ว. สนช.ถอดถอนไม่สำเร็จ
@ ให้โรงแรมแจงไม่แจ้งให้ทราบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ติดต่อมาบ้างหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า "ก็คุยกันบ้าง ผมเอาน้องสาวเขามาอยู่ด้วย จะไม่ให้คุยกันได้อย่างไร จะทำตัวเป็นคนนอกก็ใช่ที่ บางทีหลานไม่มีตังค์แล้ว ก็โทรบอกว่าลุงขอเงินหน่อย คุยกันท่านก็บอกว่าหยุดแล้วทุกเรื่อง ไม่มีอะไรคุยมากกว่านี้"
พ.อ.ศุภการกล่าวว่า เคยบอกทางโรงแรมต่างๆ แล้วว่า หากมีกลุ่มการเมืองหรือผู้เกี่ยวข้องมาใช้สถานที่ห้องประชุม ต้องรายงานให้ทหารทราบทันที ครั้งนี้ตนคุยกับผู้จัดการโรงแรมแล้ว ยอมรับว่าลืมแจ้ง จึงให้ทางโรงแรมทำหนังสือชี้แจงมา ส่วนการประชุมของอดีต ส.ส.ครั้งนี้ จากการร่วมรับฟังก็ไม่มีเรื่องของการเมือง เป็นการนำทีมกฎหมายมาชี้แจงแนวทางการต่อสู้คดีให้กับอดีต ส.ส.ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเท่านั้น และมีการประชุมในลักษณะนี้มาแล้วที่ จ.เชียงใหม่ หลังจากมาที่ จ.อุดรธานี จะไปที่ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานีต่อไป
@ กมธ.ยกร่างฯเล็งแจงสปช.-ครม.
นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ คนที่ 2 กล่าวถึงความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ช่วงระหว่างวันที่ 2-6 มิถุนายน กมธ.ยกร่างฯแบ่งกลุ่มให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ ครม.ที่ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาชี้แจงอธิบายหลักการและเหตุผลในการขอเสนอปรับแก้ไข ทราบมาว่าในวันที่ 29 พฤษภาคม ทางคณะรัฐมนตรีจะพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม คาดว่าจะส่งให้ สนช.ภายในวันที่ 1 มิถุนายนนี้
พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ได้พูดคุยกับ สปช.ที่จะเข้าชี้แจงต่อ กมธ.ยกร่างฯว่าจะเปิดโอกาสให้ สปช.ชี้แจงประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เห็นด้วยมากที่สุดหรือรับไม่ได้ มานำเสนอต่อที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาว่าประเด็นใดเร่งด่วนที่สุด และสามารถจัดเรียงลำดับการพิจารณาได้ง่าย เนื่องจาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมีเวลาพิจารณาปรับปรุงเนื้อหาน้อย และหลังจากรับฟังคำชี้แจงจาก สปช.และ ครม. ทาง กมธ.ยกร่างฯจะมีช่วงสนทนาธรรมเพื่อพิจารณารายละเอียดที่รับฟัง เพื่อให้เกิดความคิดตกผลึกร่วมกันว่าจะปรับหรือแก้ไขอย่างไรบ้าง
@ "วิษณุ"ถกเยียวยาชุมนุมปี"56-57
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเยียวยาทางการเงินแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองระหว่างปี 2556-2557 โดยมีการนำกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ ครม. รวม 34 คน กรณีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมระหว่างปี 2548-2553 มิชอบ นำมาพิจารณาเป็นกรณศึกษาว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีเยียวยาทางการเงินแก่ผู้ประสบภัยในช่วงเวลาที่มีการชุมนุมและเกิดความเดือดร้อนเสียหายขึ้นในช่วงเวลา 2547-2553 เป็นช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และต้นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อีกช่วงหนึ่งคือการชุมนุมและเดือดร้อนเสียหายขึ้นปี 2556-2557 ในช่วงเวลารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาลในอดีตได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาช่วยเหลือมาเป็นลำดับ
@ ไม่ถกสมัย"ยิ่งลักษณ์"หวั่นผิดซ้ำ
นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลนี้ได้แถลงไว้ว่าจะเข้ามาสร้างความสามัคคีปรองดอง เยียวยาแก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมต่างๆ แต่จะเยียวยาอย่างไร เท่าใด ให้แยกประเด็นออกเป็นสองช่วงเวลาดังกล่าว โดยหารือช่วงเวลา 2556-2557 ก่อน เพราะค่อนข้างปลอดภัยกว่าช่วงแรก หากพิจารณาไปในทางใดทางหนึ่งอาจไม่เหมาะสมหรือไม่ปลอดภัย เพราะมีคำวินิจฉัยของอนุกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน แถลงว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จ่ายค่าเยียวยาค่อนข้างสูง ไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่สามารถทำได้ หลักเกณฑ์และวงเงินเกินกว่าสมควร เป็นความผิด และแจ้งข้อกล่าวหาจะนำเสนอต่อกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีหนังสือถึงรัฐมนตรีที่มีรายชื่อให้มาชี้แจงก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ด้วยเหตุอย่างนี้จะพิจารณาเพื่อกระทำผิดซ้ำอีกคงไม่ถูกต้อง ต้องหยุดไว้ก่อน ดังนั้นเหลือช่วงเวลา 2556-2557 โดยนำบทเรียนตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 วางหลักไว้ บวกกับที่คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.วางหลักไว้ คิดว่าน่าจะมีแนวทางดำเนินการได้ ซึ่งหากดำเนินการได้ทันก็จะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า หากไม่ทันก็เสนอในสัปดาห์ถัดไป
@ เสียชีวิตจากการชุมนุมให้4แสน
นายวิษณุกล่าวว่า การพิจารณาเพื่อหารือว่า 1.ให้มีการเยียวยา 2.นำเอาหลักเกณฑ์ในกฎหมายที่มีอยู่มาเป็นฐานรองรับ โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องนำมายึดหลัก คือ พ.ร.บ.ค่าเสียหายที่ให้มีการชดเชยหรือจ่ายให้แก่จำเลยในคดีอาญาของกระทรวงยุติธรรม พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยจากรถ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2543 ดังนั้นไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้จะมโนหรือจินตนาการเองว่าเอาไปเลย 7 ล้าน เอาไปเลย 10 ล้าน ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์จ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบภัยในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 พ.ร.บ.และ 1 หลักเกณฑ์
นายวิษณุกล่าวว่า จากกฎหมายทั้ง 5 ฉบับนี้ก็ได้ตัวเลขออกมาคร่าวๆ ว่า ผู้เสียชีวิตในการชุมนุม 2556-2557 ได้ 400,000 บาท ตามเกณฑ์หากเสียชีวิตแล้วมีลูกก็ได้รับสงเคราะห์บุตรอีกส่วนหนึ่ง หรือกรณีบาดเจ็บก็มีเกณฑ์แล้วว่าเท่าใด ทุพพลภาพทำงานไม่ได้จะได้สงเคราะห์เป็นรายเดือน ตามกฎหมายให้ตลอดชีวิต กรณีเสียหายแก่ทรัพย์สินก็มีเกณฑ์ รายละเอียดต้องรอเสนอเข้าที่ประชุม ครม. โดยไม่ไปผูกกับมติ ครม. หรือระเบียบ ครม.เก่า เพราะอันนั้นอาจจะขอยกเลิกด้วยซ้ำไป
@ เยียวยาปี"47-53รอปปช.ชี้ขาด
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนกรณีผู้เสียหายรายเก่าตั้งแต่ปี 2547-2553 ตรวจสอบแล้วพบว่าประเภทไม่ได้สักบาทไม่มี แต่จ่ายไปก่อนแล้ว เช่น เสียชีวิตจ่ายไป 400,000 บาทแล้วนั้น จะมีบางรายเท่านั้นได้ถึง 7.5 ล้านบาท วันนี้ยังมีปัญหาอยู่ว่าถูกหรือผิด ป.ป.ช.กำลังพิจารณาอยู่
"ถ้าได้มากไปเราก็ไม่คิดจะไปเอาคืนในเวลานี้ เพราะยังไม่รู้ว่าถูกหรือผิดที่จ่ายไป ถ้าได้น้อย เช่น 400,000 บาท หรือ 200,000 บาท ถือว่าได้ไปแล้วส่วนหนึ่ง แล้วทีหลังจะเพิ่มหรือไม่อย่างไรก็ต้องดู ป.ป.ช.หรือศาลจะว่าอย่างไร หากเข้า ครม.และผ่านแล้วก็จะเป็นผลทันที กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินเยียวยา" นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุกล่าวว่า การยึดระเบียบตามกฎหมายจะไม่เขียนระเบียบขึ้นมาใหม่เพื่อไม่ต้องการเสี่ยงทำผิด ต้องรอ ป.ป.ช.กับศาลก่อน อย่างไรก็ตามการเยียวยาเพื่อมนุษยธรรม เพราะการชดเชยตามสิทธิอื่นนั้นมีอยู่ตามกฎหมาย เพราะบางคนเยียวยาไม่เป็นตัวเงิน อาทิ 30 บาทรักษาทุกโรค กระทรวง พม.หางานให้ทำ บางคนเอาลูกมาไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็ก
ส่วนเงินจ่ายจะเสนอ ครม.เท่าใดไม่ได้พิจารณา เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยตั้งไว้ 2,000 กว่าล้าน แต่รัฐบาลนี้คงใช้งบไม่มาก เพียงหลักร้อยล้านเท่านั้น ถามเจ้าหน้าที่ว่างบ 2,000 ล้านสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังเหลือหรือไม่ เห็นว่าเหลืออยู่ 100 กว่าล้าน แต่ส่งคืนคลังไปหมดแล้ว มีการตั้งงบ 2,000 ล้านบาท ถึง 2 ครั้ง ครั้งหลังยังไม่ได้ใช้ก็ส่งคืนแล้ว
@ ชี้ไม่ต้องระบุขยายเวลากมธ.
นายวิษณุกล่าวถึงกรณีประชุม ครม.นัดพิเศษวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ว่า ยังไม่ทราบเลยว่าเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษ เมื่อมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ต้องนำตัวร่างกลับมาเข้า ครม.อีกครั้ง และต้องนำไปเข้าหารือในที่ประชุม คสช.อีก เพราะทั้งสององค์กรนั้นต้องเป็นคนเซ็นทั้งคู่ แต่อาจไม่จำเป็นต้องประชุมร่วมก็ได้ หรือจะประชุมร่วมก็ได้ ตัวร่างฯจะเริ่มร่างตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตัวแทนจาก ครม.ไปชี้แจงแก้ไขร่าง รธน. วันที่ 6 มิถุนายน เวลา 09.00-12.00 น. ชี้แจงคนละ 3 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องบรรจุการขยายเวลาดำเนินการของ กมธ.ยกร่างเอาไว้ด้วย กมธ.มีเวลาพิจารณาร่างภายใน 60 วัน หากเชิญคนไปชี้แจงอาจใช้เวลาเพียง 10 กว่าวัน หักช่วงเสาร์-อาทิตย์ออกไปอีก ก็หายไปอีก 16 วัน จึงต้องให้เวลา กมธ.ทำงาน จึงไม่ต้องไประบุว่าต้อง 30 หรือ 60 วัน ให้เขาได้ไปกำหนดกันเอง ถ้าขยันก็ขยายไป 5 หรือ 10 วัน แต่อย่าเกิน 30 วัน
@ ครม.ข้องใจคำว่า"พลเมือง"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารความคิดเห็นหรือข้อแก้ไขเพิ่มเติ่มร่างรัฐธรรมนูญของ ครม.ที่เสนอ กมธ.ยกร่างฯ หมวด 2 ประชาชน ครม.เห็นว่าหลักคิดการใช้คำว่าพลเมือง ปวงชนชาวไทย ประชาชน บุคคล และราษฎร แยกจากกัน ยากต่อความเข้าใจ ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิของนิติบุคคล ปกติแล้วมีสิทธิเสรีภาพหลายประการเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา จึงก่อให้เกิดปัญหาว่านิติบุคคลเหล่านี้เป็นพลเมืองหรือไม่ มีสิทธิพลเมืองหรือไม่ หลักคิดการ
จัดประเภทบุคคลตามร่างรัฐธรรมนูญเป็นของใหม่และขัดกับความเคยชินเดิม อาจก่อปัญหาในการตีความ โดยเฉพาะเมื่อนำไปใช้กับกฎหมายอื่นๆ ในลำดับรองยังใช้คำเหล่านี้ในความหมายเดียวกัน จึงเสนอให้ทบทวน หากจะคงถ้อยคำไว้ต้องจัดทำคำชี้แจงแยกออกมาอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ อาจต้องสะท้อนหลักคิดเรื่องนี้ไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ
การใช้คำว่าสิทธิมนุษยชนในหมวด 2 ส่วนที่ 2 ตอนที่ 2 ก็อาจเกิดปัญหาได้ เพราะใช้คำตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และหนังสือสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ ในที่สุดอาจต้องตีความให้สอดคล้องกัน และสิทธิตามบทบัญญัติในส่วนนี้ก็ยังมิได้ครอบคลุมถึงสิทธิมนุษยชนตามสากล บางเรื่องไม่ใช่สิทธิมนุษยชนแต่นำมาบัญญัติไว้ในตอนที่ 2 ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เช่น มาตรา 35
@ ตัดวุฒิสภามีสิทธิเสนอกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ครม.ยังเสนอให้แก้ไขข้อความมาตรา 147, 148, 152 ว่าด้วยร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรา 147 กำหนดให้ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ได้นั้น มีการตัดสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวนไม่น้อยกว่า 40 คน ออกจากการเสนอกฎหมาย ให้คงเหลือไว้เพียง ครม. ส.ส.ไม่น้อยกว่า 20 คน ศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญตรวจสอบอำนาจรัฐเฉพาะกฎหมมายที่เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลหรือประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ หรือพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน และในมาตรา 148, 152 ตัดคำว่าวุฒิสภาในการเสนอกฎหมายออกทั้งหมด ทั้งในการเสนอกฎหมายและการลงมติเห็นชอบ ตามมาตรา 148 และวุฒิสภามีหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายก็ต่อเมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบแล้ว ครม.ให้เหตุผลว่าการให้มีวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 40 คน เสนอร่าง พ.ร.บ.ได้ ไม่น่าจะเกิดประโยชน์ จะเป็นการเพิ่มภาระงาน เพราะในที่สุดถ้าผ่านวุฒิสภาแล้ว สภาไม่เห็นชอบหรือยับยั้งไว้ การพิจารณาของวุฒิสภาก็เป็นการเสียเปล่า
@ ขวางปลัดรักษาการแทนรมต.
ในมาตรา 184 กำหนดให้ เมื่อ ครม.พ้นจากตำแหน่งระหว่างปฏิบัติหน้าที่ทั้งคณะตามมาตรา 185 คือ ตาย ลาออก ต้องคำพิพากษาให้จำคุก สภามีมติไม่ไว้วางใจ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 249-251 ว่าด้วยการถือหุ้นต้องห้าม และถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง และมาตรา 183(2) ครม.ลาออก จนไม่มีรัฐมนตรีเหลืออยู่ แล้วให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น และให้ปลัดกระทรวงร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ ครม. โดย ครม.ได้แก้ไขเพิ่มเติมให้มีข้อความว่า ครม.ที่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หรือปลัดกระทรวงที่รักษาการแทนรัฐมนตรี สามารถปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จำเป็นและภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด ครม.เห็นว่าหลักการตามมาตรานี้คล้ายกับกรณีการปกครองท้องถิ่นให้ข้าราชการประจำรักษาราชการแทนเมื่อผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง แต่ในทางการเมืองระดับชาติ การวางหลักให้ปลัดกระทรวงรักษาราชการแทนน่าจะไม่เหมาะสม เพราะหวังว่าให้ฝ่ายการเมืองไปหาเสียงเลือกตั้งโดยไม่มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบนั้นต้องระวังว่าข้าราชการประจำแม้อยู่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงก็อาจสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบแก่นักการเมืองได้เพราะมองว่านักการเมืองคนใดจะชนะการเลือกตั้งกลับมามีอำนาจ
@ ระบุให้รมต.อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อ
นอกจากนี้เอกสารระบุว่า ที่ผ่านมาแม้แต่ผู้ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แต่มีอำนาจแอบแฝงจนปลัดกระทรวงยังต้องเกรงใจ นอกจากนั้นปลัดกระทรวงครองตำแหน่งสูงสูดฝ่ายประจำ และยังให้ครองตำแหน่งสูงสุดฝ่ายการเมืองในกระทรวงอีก เท่ากับเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งยังไม่มีความรับผิดชอบทางการเมืองใดๆ ด้วย ขณะที่รัฐมนตรียังมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและการเมืองกำกับอยู่อย่างน้อยก็เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนว่าประพฤติเหมาะสมหรือไม่ เช่น กกต.อาจตรวจสอบได้และมีผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งได้ อีกประการหนึ่งการเมืองไทยไม่เหมือนต่างประเทศ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทำได้เร็ว แต่ในประเทศไทย การให้ปลัดกระทรวงรักษาราชการระหว่างเวลาดังกล่าวอาจยาวนานเป็นปีก็ได้ จึงควรให้คณะรัฐ