- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 18 June 2014 13:44
- Hits: 4607
วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8603 ข่าวสดรายวัน
ส่งวรเจตน์ ขึ้นศาลทหารวันนี้ ลายจุดยอมยุติต่อต้าน 'บัวแก้ว'ถกทูตกัมพูชา ยันไม่มีล่าจับ'ต่างด้าว'บิ๊กตู่'ปธ.กรอ.'ฟื้นศก. จี้บีโอไออนุมัติ 8 แสนล.
ถกเขมร - นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เชิญนางอีท โซเฟีย ทูตกัมพูชา เข้าพบที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อชี้แจงยืนยันว่า คสช.ไม่มีนโยบายกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าว เมื่อ 17 มิ.ย. |
ส่ง'วรเจตน์'ขึ้นศาลทหารวันนี้ ทนายเผย'ลายจุด'พร้อมยุติเคลื่อน ไหว 'บิ๊กตู่'นั่งปธ.กรอ. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ประชุมคสช.อนุมัติหมื่นล้านช่วยเกษตรกร กต.เชิญทูตกัมพูชาหารือ เคลียร์ปมลือไล่ล่ากวาดจับ 'บีโอไอ'จ่อล้างท่อ อนุมัติ 700 โครงการ ให้เอกชนลงทุน 8 แสนล้าน ภายใน 2 เดือน ตามคำสั่ง'คสช.'
'บิ๊กตู่'ประชุมคสช.ถกภาพรวม
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 17 มิ.ย. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมคสช.ครั้งที่ 2/2557 ซึ่งจัดขึ้นทุกวันอังคาร เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ติดตามสถานการณ์ภาพรวมและความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยมีพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ในฐานะรองหัวหน้าคสช. ฝ่ายความมั่นคงและต่างประเทศ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. รองหัวหน้าคสช. ฝ่ายสังคมและจิตวิทยา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. รองหัวหน้าคสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคสช. ฝ่ายกิจการพิเศษ และพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคสช. เข้าร่วมประชุม
วาระสำคัญ คือ การประเมินสถานการณ์ภายหลังประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิว ตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา และปัญหาแรงงานต่างด้าวตื่นตระหนกอพยพกลับประเทศจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวของคสช. รวมถึงมาตรการช่วยชาวนา การบริหารจัดการน้ำ
ขยายฉุกเฉิน 3 จว.ใต้
รายงานข่าวจากการประชุมคสช. แจ้งว่า ที่ประชุมพิจารณาขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ต่อไปอีก 3 เดือน พร้อมอนุมัติงบกลางช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2555-2557 งบประมาณการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบปี 2557 สำหรับมาตรการระยะสั้นเพิ่มเติมและอนุมัติกู้เงินเพื่อใช้ดำเนินงานประจำปี 2557 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นอกจากนี้ คสช.รับทราบความคืบหน้า การทำงานของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) พร้อมพิจารณาเรื่องขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2557 เพิ่มเติมในภารกิจป้องกันชายแดนด้วย
อนุมัติหมื่นล้านช่วยเกษตรกร
นายนำชัย พรหมมีชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า คสช.อนุมัติงบประมาณรวม 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นใช้งบกลางจากงบฯปี 2557 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา 1 แสนราย 6,600 ล้านบาท ส่วนอีกโครงการคือโครง การจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติที่ตกค้างมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันทั้งสิ้น 5.84 แสนราย งบฯ 5,498 ล้านบาท ทั้งนี้ 2 โครงการพล.อ.ประยุทธ์ให้นโยบายว่าต้องให้เงินถึงมือเกษตรกรเร็วที่สุด ซึ่งหลังจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจะเร่งตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรที่อยู่ในโครงการ จากนั้นจะส่งเรื่องไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อให้โอนเงินไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรต่อไป คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์เงินจะถึงมือเกษตรกรทั้งหมด
ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคสช. แถลงผลการประชุมคสช. ครั้งที่ 2/2557 เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า เนื่องจากภัยพิบัติที่จ.เชียงราย ทางคสช.มีมติอนุมัติงบประมาณให้กระทรวงศึกษาธิการ 322 ล้านบาท ในการสร้างและซ่อมแซมตามที่ฝ่ายสังคมจิตวิทยาของคสช.ตรวจสอบแล้ว จึงเห็นควรสนับสนุนโดยใช้งบประมาณปกติ ใช้งบกลาง เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ตอบสนองอย่างดีและมีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากนี้คสช.ยังอนุมัติงบกลางให้สำนัก งานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 127 ล้านบาท ในการช่วยเหลือวัด ศูนย์ปฏิบัติธรรมที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งดูแลพระสงฆ์และสามเณรด้วย
แถลงย้ำดูแลแรงงานต่างด้าว
พ.อ.วินธัย ยังกล่าวถึงการประกาศคำสั่งจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวว่า เป็นการ จัดระบบแรงงานทุกชาติ เพื่อปรับปรุงให้กฎหมายและระเบียบต่างๆ ทันสมัย เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ดูแลแรงงานทุกชาติที่ อยู่ในไทยให้เหมาะสมและเป็นธรรม ไม่ได้เฉพาะเจาะจง จึงออกประกาศเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการประกอบการธุรกิจได้ และจากข้อมูลอาจเกิดจากมีคนไม่หวังดีปล่อยข่าวเกินจริงว่าเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการรุนแรง ซึ่งไม่ใช่ความจริง เป็นการปล่อยข่าวเพื่อลดความน่าเชื่อถือของคสช. ฝากถึงนายจ้างทำความเข้าใจแรงงาน กรณีคสช.ขอความร่วมมือ และฝากให้ระมัดระวังกลุ่มที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ด้วย
พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง ทีมโฆษกคสช. แถลงว่า เรื่องแรงงานต่างด้าว ขณะนี้ออกเป็นคำสั่งชัดเจนในรายละเอียด เชื่อว่าทุกอย่างจะจบในเร็วๆ นี้ แรงงานจะทยอยกลับมาทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ระบบเช่นเดิม ซึ่งการเดินทางกลับของแรงงานกัมพูชามีหลายสาเหตุ โดยฉพาะความหวาดกลัวเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย ซึ่งหน่วยราชการพยายามสร้างความมั่นใจทั้งแรงงาน ผู้ประกอบการและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ไม่คิดว่าเป็นการเคลื่อนไหวใต้ดินหรือเป็นความร่วมมือของกลุ่มคนในประเทศและประเทศพื่อนบ้าน ไม่มีอะไรแอบแฝง
ย้ำ'คสช.'ไม่ใช่ประชานิยม
พ.อ.หญิงศิริจันทร์กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังสอบถามถึงโครงการต่างๆ สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนมากน้อยแค่ไหน ยั่งยืนเพียงใด ต้องมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ไม่ได้ติดใจโครงการใดเป็นพิเศษ ส่วนการตรวจสอบการทุจริต คสช.มี 2 ระบบ คือตรวจสอบโดยระบบราชการ และคตร. หากจะอนุมัติโครงการใด ทั้ง 2 ภาคส่วนต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน หากพบข้อสงสัยการทุจริตจะมีระบบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือสตง.เข้ามาดำเนินการ
พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวว่า ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่านโยบายส่วนใหญ่ของคสช.เป็นนโยบายประชานิยมนั้น ไม่เป็นความจริง ไม่ใช่ประชานิยมแต่เป็นเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนทั้งสิ้น เช่น การช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งต่อไปจะมีการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ เรื่องข้าวก็ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ผสมผสานการทำงานของภาครัฐ ไม่ใช่มอบให้อย่างเดียว คสช.ไม่ต้องการให้ประชาชนไม่ช่วยเหลือตัวเอง
พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวว่า ส่วนแผนการสร้างความปรองดอง ขณะนี้ดำเนินการไปเกือบทั่วประเทศ มี 4 ศูนย์ใหญ่ มี กอ.รมน.และผู้ว่าฯดำเนินการรวบรวมข้อมูลส่งมายังคณะทำงานใหญ่ เพื่อนำไปสู่สภาปฏิรูปที่ จะเกิดขึ้น
กต.เชิญทูตกัมพูชาถก'หนีกลับ'
ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เชิญนางอีท โซเฟีย เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เข้าหารือ โดยนายสีหศักดิ์แถลงว่า คสช.ให้ความสำคัญนโยบายที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน และยืนยันว่ากระแสข่าวกวาดล้างและจับกุมแรงงานต่างด้าวนั้น เป็นเพียงข่าวลือที่ไม่ทราบว่ามาจากที่ใด ความจริงไทยต้องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้เข้าสู่ระบบถูกต้องตามกฎหมายไทยเพื่อไม่ให้แรงงานเหล่านี้ถูกเอาเปรียบหรืออยู่ในขบวน การค้ามนุษย์ จึงอยากให้ไทยและกัมพูชาร่วมกันสื่อสารว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตามหลังจากหลายฝ่ายชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว แรงงานต่างด้าวที่เดินทางออกจากไทยเริ่มมีจำนวนลดลงแล้ว
ด้านนางอีท โซเฟีย กล่าวว่า เห็นด้วยที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดป้องกันไม่ให้ปล่อยข่าวลือ สิ่งที่ไทยและกัมพูชาต้องการคือให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในไทยอย่างผิดกฎหมายได้เข้าสู่ระบบตามกฎหมายไทย หลังหารือในวันนี้ โฆษกรัฐบาลและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาจะชี้แจงให้ชาวกัมพูชาทราบต่อไป หากชาวกัมพูชา ในไทยมีข้อกังวลใดติดต่อสอบถามสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยได้ทันที และทั้ง 2 ฝ่ายเปิดสายด่วนสื่อสารระหว่างกันโดยตรง จึงขอให้แรงงานชาวกัมพูชาที่ทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมายไม่ต้องตื่นตระหนกหรือกังวล ส่วนคนที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย ขอให้เข้าสู่ระบบและทำให้ถูกกฎหมาย
พ่อค้าขอ'คสช.'อนุญาตขนข้าว
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ใน 1-2 วันนี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจะทำหนังสือถึงคสช. ให้เร่งแก้ปัญหาที่เอกชนไม่สามารถขนข้าวออกจากโกดังได้ตามเวลาที่กำหนด เนื่อง จากติดคำสั่งการห้ามเคลื่อนย้ายข้าวขณะที่มีการตรวจสอบปริมาณข้าวในโกดังของรัฐบาล โดยจะขอให้คสช.ยกเว้นการเคลื่อนย้ายข้าวในส่วนที่มีการจ่ายเงินแล้ว และได้รับอนุมัติให้ ส่งมอบ เนื่องจากหากขนข้าวไม่เสร็จตามกำหนด เอกชนจะต้องจ่ายค่าขนส่งเพิ่ม และเสี่ยงต่อการทำผิดสัญญา
นายชูเกียรติ กล่าวว่า เอกชนในวงการค้าข้าวยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ขณะนี้แรงงานหายไปกว่าร้อยละ 70-80 จากวิกฤตข่าวลือว่าคสช.จะปราบปรามแรงงานต่างด้าว แม้จะไม่เป็นความจริงแต่แรงงานส่วนใหญ่กลัวและวิตกทำให้เดินทางกลับประเทศไป นอกจากเกิดปัญหาส่งมอบข้าวล่าช้าแล้วยังขาดแคลนแรงงานที่จะมาขนข้าวด้วย เอกชนเกิดวิกฤตถึง 2 ต่อ จึงขอให้คสช.เร่งแก้ปัญหาด้วย
ศปป.จัดโครงสร้างทำงานใหม่
พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า ตามที่คสช.มีคำสั่งจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) โดยมีพล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ เป็นผอ.ศปป.นั้น ขณะนี้คสช.ได้เพิ่มเติมโครงสร้างคือกลุ่มงานสร้างความปรองดองและการปฏิรูปขึ้น และตั้งสำนักงานคณะกรรมการปรองดองและการปฏิรูป มีสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ บูรณาการผู้แทนของ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาเป็นคณะกรรมการ มีหน้าที่รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนการเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์และการปฏิรูปประเทศ
พ.อ.บรรพต กล่าวว่า นอกจากนี้ยังตั้งคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ เป็นหน่วยขึ้นตรงกับสำนักงาน คณะกรรมการปรองดองฯ มีสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมรับผิดชอบเช่นกัน และมี ผู้แทนทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการเป็นคณะทำงาน ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการปฏิรูปจากแนวคิดของผู้ทรงคุณวุฒิ พรรคการเมือง นักวิชาการ สถาบันการศึกษาและประชาชน จัดระดมความคิด รับฟังข้อเสนอแนะการปฏิรูปจากทุกภาคส่วนเพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลนำเสนอให้สภาปฏิรูปใช้ประกอบการพิจารณา
พ.อ.บรรพต กล่าวว่า ส่วนศปป. เดิมให้ขึ้นตรงกับคสช. ปัจจุบันให้ขึ้นตรงกับสำนักงานคณะกรรมการปรองดองฯ และปรับหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยกำหนดแนวทางเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้หน่วยงาน ส่วนราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้องนำไป ดำเนินการ ซึ่งจะรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากประชาชนทุกกลุ่มในการแก้ปัญหาขัดแย้ง เพื่อเสริมสร้างความรักสามัคคี ความปรองดองสมานฉันท์และคืนความสุข แก่คนในชาติอย่างยั่งยืน
'บิ๊กจิน'ลาปธ.บอร์ดบินไทย
เวลา 16.00 น. ที่ บก.ทอ. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ในฐานะรองหัวหน้าคสช. ฝ่ายเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวยื่นลาออกจากประธานบอร์ดการบินไทยว่า เจตนารมณ์ของคสช.ต้องการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ซึ่งรัฐ วิสาหกิจมีผลต่อความมั่นคงด้านศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จึงตั้งประเด็นว่าบุคคลที่มาจากกลุ่มการเมืองมีเวลาให้กับองค์กรไม่มากและไม่มีความเชี่ยวชาญงานที่เข้ามา ขอให้เสียสละพิจารณาตนเองและเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามา ขณะนี้อยู่ในช่วงที่ให้คณะกรรมการพิจารณาว่าตนเองเข้าข่ายในเกณฑ์ใด ควรลาออกหรือทำงานต่อ ส่วนการบินไทยเป็นรัฐ วิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีขั้นตอนลาออกและแต่งตั้งมากพอสมควร รวมถึงผู้ถือหุ้นด้วย
"ส่วนตัวตั้งใจยื่นใบลาออกเพื่อเปิดให้คสช.พิจารณาคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาแทน แต่มีขั้นตอนพอสมควร ผมจะยื่นใบลาออก วันที่ 19 มิ.ย. นี้ และจะแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบวันที่ 20 มิ.ย. ส่วนจะมีผลเมื่อใด ขึ้นอยู่กับคสช." พล.อ.อ.ประจินกล่าว
เมื่อถามว่า แนวโน้มจะกลับมาเป็นประธานบอร์ดการบินไทยหรือไม่ พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นผู้ดูว่าจำเป็นต้องทำงานและดูแลต่อไปหรือไม่ หากจำเป็นอาจมี 2 ทางคือระงับใบลาออกหรือให้กลับเข้ามาทำงานใหม่ ซึ่งจะทราบผลในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้าแน่นอน ส่วนกรณีกรรมการบอร์ดไม่ยอมลาออกนั้น คงไม่ใช้กฎหมายบังคับ ซึ่งบุคคลที่คสช.จะแต่งตั้งมาแทนนั้นจะเลือกคนที่ทำงานให้ดีที่สุด
อู้อี้'บิ๊กตู่'นั่งนายกฯ
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า วันนี้มีการประชุมคสช.เทียบเท่ากับการประชุม ครม. มีองค์ประกอบของครม.ครบถ้วน และรับทราบผลงานในแต่ละด้าน นอกจากนี้ยังพิจารณางานใน 8 ประเด็น รวมถึงหัวหน้าคสช.มอบให้ไปดูกิจการด้านต่างๆ ซึ่งจะมีผลออกมาในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตามประชาชนพอใจการทำงาน ของคสช. ความพึงพอใจในหลายประเด็นอยู่ในเกณฑ์ที่สูงตั้งแต่ 90 เปอร์เซ็นต์ลงมาถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าเรื่องยุติปัญหาความขัดแย้ง การรักษาความสงบเรียบร้อย ล้วนอยู่ในเกณฑ์ที่สูง ทำให้เรามีกำลังใจทำงาน
เมื่อถามถึงการวางตัวบุคคลเป็นนายกฯ และคณะรัฐมนตรี(ครม.) พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุยกัน แต่ทุกอย่างจะดำเนินการตามโรดแม็ปที่หัวหน้าคสช.วางไว้
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าพล.อ.ประยุทธ์จะนั่งในตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า คสช.จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน รวมถึงสื่อมวลชน แต่ถ้าถามความคิดเห็นส่วนตัว คนที่จะมาทำงานในครม. ต่อจากนี้ ต้องทราบเกี่ยวกับที่วางไว้ คือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และกฎหมายเพื่อให้การปฏิรูปทั่วถึงทุกภาคส่วน นำไปสู่ขั้นตอนที่ 3 คือการเลือกตั้ง
ยังไม่สรุปโรดแม็ปเศรษฐกิจ
พล.อ.อ.ประจินกล่าวถึงการจัดทำโรดแม็ปเศรษฐกิจว่า หลังวันที่ 23 พ.ค. จะให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ แต่มีเรื่องที่เร่งด่วนกว่า คือเรื่องแก้ปัญหาโครงการรับจำนำข้าว ยางพารา การบริหารการจัดการน้ำ และขณะนี้เป็นเรื่องพลังงานเชื้อเพลิง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นโรดแม็ปเศรษฐกิจจะดูในแต่ละส่วน เพื่อนำมาเขียนเป็นโรดแม็ปในภาพใหญ่ ซึ่งคงเลื่อนเวลาจากเดิมไปอีกระยะหนึ่ง
เมื่อถามว่าหัวหน้า คสช.กำหนดเวลาหรือไม่ว่าจะต้องส่งโรดแม็ปเศรษฐกิจได้ในช่วงไหนเพื่อสอดรับกับการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.อ. ประจินกล่าวว่า ไม่ได้กำหนดเวลา แต่ฝากว่าอยากให้ทำเร็วและรอบคอบ แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าต้องเสร็จเมื่อใด
ชี้กก.บอร์ดลังเลยื่นลาออก
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า ขณะนี้กรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมเริ่มทยอยยื่นใบลาออกจากตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าการลาออกของพล.อ.อ.ประจินจากบอร์ดการบินไทย เพื่อส่งสัญญาณไปยังกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ได้แสดงสปิริตลาออก เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลชุดใหม่เลือกคนใหม่เข้ามาแทน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการลาออกของประธานและกรรมการรัฐวิสาหกิจกระทรวงคมนาคมทราบว่า มีกรรมการจำนวนหนึ่งยังไม่กล้ายื่นหนังสือลาออกทันที เพราะมีบางเสียงคัดค้านว่าหากทำเช่นนั้นเป็นการจงใจและแสดงตนที่ชัดเจนเกินไปว่าใกล้ชิดกับรัฐบาลชุดเก่า หรืออาจถูกมองว่าแข็งข้อได้ ขณะที่บางส่วนยังรอความชัดเจนว่านโยบายของ คสช.และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจต้องการให้ลาออกหรือไม่
แหล่งข่าวจาก ทอท.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวนายถิรชัย วุฒิธรรม อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย และนายธานินทร์ อังสุวรังษี เตรียมยื่นหนังสือลาออกภายในสัปดาห์นี้ รวมทั้งนายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ตามกำหนดเดิมจะยื่นหนังสือลาออกหลังประชุมบอร์ด ทอท. วันที่ 19 มิ.ย.นี้ นอกจากนั้น นายธานินทร์ยังยื่นหนังสือลาออกจากกรรมการธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) แล้ว
ตั้งพล.อ.อ.อารยะปธ.บอร์ดทอท.
ที่สำนักงานใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. พิจารณาในเรื่องที่สำคัญและมีมติดังนี้ 1.เลือกตั้งพล.อ.อ.อารยะ งามประมวญ รองประธานกรรมการ ทอท. เป็นประธานกรรมการ ทอท. แทนน.ต.ศิธา ทิวารี ประธานกรรมการ ทอท.ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นยังแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยตามข้อบังคับ 5 คณะ แต่งตั้งคณะกรรมการที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ทอท.ตามข้อบังคับ และแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของทอท. 8 โครงการ
'อรรถพล'ยื่นลาปตท.แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. ได้ส่งหนังสือถึงกรรมการและผู้จัดการตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรื่องกรรมการลาออก โดยขอเรียนว่ากรรมการ 3 ท่านได้แจ้งลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากมีภารกิจอื่นดังนี้ 1.นายปานปรีย์ พหิทธานุกร กรรมการอิสระและประธานกรรมการ มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.2557 เป็นต้นไป 2.นาย วรุณเทพ วัชราภรณ์ กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.2557 เป็นต้นไป และ 3.นายอรรถพล ใหญ่สว่าง กรรมการอิสระ ประธานกรรมการสรรหา และกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.2557 เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของการแต่งตั้งบอร์ด ปตท. ล่าสุดที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ คสช.ทยอยส่งรายชื่อผู้ที่เหมาะสมจะเป็นประธานบอร์ด ปตท. รวมถึงคณะกรรมการให้แก่คสช.แล้ว โดยประธานบอร์ดนั้นมีการนำเสนอรวม 3 ชื่อ ได้แก่ 1.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรมว.พลังงาน 2.นายพรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และ 3.นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธาน เจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ปตท. ทั้งนี้ คาดการณ์กันว่าการพิจารณา ดังกล่าวจะเน้นไปที่นายปิยสวัสดิ์ และนายพรชัย หากคสช.เลือกคนใดคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ ปตท. อีกคนก็จะไปนั่งในตำแหน่งรมว.พลังงาน ขณะที่นายประเสริฐนั้นแม้จะมีการนำเสนอชื่อ แต่ความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย
คลังรวบอำนาจลงทุนรสก.
รายงานข่าวกระทรวงการคลัง เผยว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ทำหนังสือลง คำสั่งลับมากถึงประธาน และกรรมการผู้จัดการของรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง โดยหนังสือระบุว่า คสช. มีคำสั่งให้กระทรวงการคลังดำเนินการตรวจสอบโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทุกแห่งทุกโครงการที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ให้เกิดประสิทธิภาพและป้องกันการรั่วไหวของการใช้เงินลงทุน
ดังนั้น สคร. จึงขอให้รัฐวิสาหกิจที่ได้รับหนังสือดังกล่าว ส่งข้อมูลรายละเอียดโครงการลงทุนมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างดำเนินการและยังไม่ผูกพันบุคคลภายนอก มาให้ สคร. พิจารณาเห็นชอบก่อนที่จะดำเนินการลงทุนหรือจัดซื้อจัดจ้างต่อไป อย่างไรก็ดีสคร. ตัดสินใจในช่วงสุดท้ายที่จะไม่ส่งหนังสือดังกล่าวไปยังรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากมีมูลค่าลงทุนแต่ละโครงการสูง หากมีการระงับไปจะกระทบกับราคาหุ้นของบริษัทอย่างรุนแรง และทำให้ตลาดหุ้นผันผวนอย่างมาก โดยจะใช้วิธีการปรับเปลี่ยนให้คณะกรรมการชุดใหม่เข้าไปดูแลโครงการทั้งหมดแทน ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้คณะกรรมการเก่าทิ้งทวนอนุมัติโครงการจนเกิดความเสียหายตามมา
ชี้รสก.ลงทุนปี 57 กว่า 3 แสนล.
สำหรับ โครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 2557 มีจำนวน 3.46 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายจริง ณ 14 พ.ค. 2557 จำนวน 7.17 หมื่นล้านบาท หรือ 20% ของงบลงทุน โดยรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนมากที่สุดได้แก่ บริษัท ปตท. 8.69 หมื่นล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 5.04 หมื่นล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 3.8 หมื่นล้านบาท บริษัทการบินไทย 2.71 หมื่นล้านบาท การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศ ไทย 2.51 หมื่นล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1.86 หมื่นล้านบาท บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 1.76 หมื่นล้านบาท การไฟฟ้านครหลวง 1.38 หมื่นล้านบาท และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 1.05 หมื่น ล้านบาท เป็นต้น
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สคร. ได้ส่งรายละเอียดผลประโยชน์ของกรรมการรัฐวิสาหกิจได้รับอย่างละเอียดให้ คสช. พิจารณาแล้ว ขณะที่ผลตอบแทนและโบนัสของพนักงานรัฐ วิสาหกิจจะดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของการให้กรรมการรัฐวิสาหกิจลาออก ขณะนี้มีคณะกรรมการบางส่วนลาออกแล้ว ส่วนกรรม การที่ยังไม่ลาออกจึงมีการเพิ่มระดับความเข้มข้นเพื่อให้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อที่จะแต่งตั้งกรรมการใหม่เข้าไปบริหาร
สั่ง'บีโอไอ'ล้างท่อหนุนลงทุน
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยว่า วันที่ 18 มิ.ย. จะประชุมคณะกรรมการบีโอไอนัดแรก โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะประธานบอร์ดบีโอไอ เป็นประธานคาดว่าจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการพิจารณาโครงการลงทุนเพื่อทำหน้าที่พิจารณาโครงการที่มีขนาดการลงทุนตั้งแต่ 200-750 ล้านบาท และโครงการที่เป็นกิจการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีขนาดการลงทุนเกิน 200 ล้านบาท รวมทั้งพิจารณากลั่นกรองโครงการที่มีขนาดการลงทุนเกิน 750 ล้านบาท เพื่อเสนอให้บอร์ด บีโอไอพิจารณาต่อไป ทำให้การพิจารณา โครงการต่างๆ ได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ คาดว่าจะอนุมัติโครงการของผู้ประกอบการที่ยื่นมาขอก่อนหน้านี้ไม่ต่ำกว่า 10 โครงการ มูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท และเชื่อว่าในที่ประชุมจะมีการวางกรอบการอนุมัติโครงการ เพื่อให้มีความรวดเร็ว แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาที่เคร่งครัด
ตั้งเป้าอนุมัติ700โครงการ8แสนล.
"โดยที่ผ่านมาทางคสช. ตั้งเป้าหมายจะต้องอนุมัติโครงการที่ยังค้างอยู่ประมาณกว่า 700 โครงการ มูลค่าเกือบ 800,000 ล้านบาท ภายใน 2 เดือน" แหล่งข่าวกล่าว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ในฐานะกรรมการบีโอไอ กล่าวว่า หลังบอร์ดบีโอไอประชุมเสร็จแล้ว ในส่วนของ ส.อ.ท. จะเสนอให้บีโอไอจัดทำนโยบายให้ชัดเจนเกี่ยวกับการส่งเสริมธุรกิจไทยให้ออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยอยากให้แก้ไขปัญหาที่ต้อง เสียภาษีซ้ำซ้อน และปัญหาการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ปัจจุบันยังมีอุปสรรคอยู่มาก
ชงแผนพัฒนาคมนาคม 19 มิ.ย.
นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับหน่วยงานในสังกัด เพื่อทบทวนการจัดทำกรอบงบประมาณปี 2558 ให้สอดคล้องกับความจำเป็นเร่งด่วนตามนโยบายของ พล.อ.อ.ประจิน ว่า ที่ประชุมได้ปรับลดกรอบวงเงินงบประมาณลง 246,578 ล้านบาท จาก 388,000 ล้านบาท เป็น 141,422 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบฯ ลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยจะเข้าหารือกับสำนักงบประมาณภายในสัปดาห์นี้ และวันที่ 23 หรือ 24 มิ.ย. จะเชิญ พล.อ.อ.ประจิน ฟังรายละเอียดงบประมาณที่ยื่นขออีกครั้ง ส่วนวันที่ 19 มิ.ย.นี้ จะนำแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 เสนอ พล.อ.อ.ประจินพิจารณาด้วย หากเห็นชอบจะนำเสนอ คสช.ต่อไป แต่หากไม่เห็นชอบหรือมีข้อสงสัยก็ต้องนำมาจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อส่งกลับเข้าไปใหม่อีกครั้ง
ศธ.โยกแท็บเล็ตทำห้องอัจฉริยะ
ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้น พื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ นาย กมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าแนวทางการดำเนินการอื่นแทนการจัดซื้อแท็บเล็ตให้นักเรียนของ สพฐ.ว่า เบื้องต้น พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ในฐานะรองหัวหน้า คสช.ฝ่ายสังคมจิตวิทยา มอบให้ สพฐ.เป็นเจ้าภาพหลักจัดประชุมเพื่อกำหนดรายละเอียดห้องเรียนอัจฉริยะ มีแท็บเล็ตให้นักเรียนใช้ร่วมกัน ก่อนเสนอข้อมูลกลับมาให้ คสช.พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเวลานี้สพฐ.ประเมินค่าใช้จ่ายห้องเรียนอัฉริยะ หรือสมาร์ตคลาสรูมแบบมาตรฐานทั่วไปมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 250,000 บาทต่อห้อง เมื่อใช้งบฯ ปกติรวมกับงบฯ จัดซื้อแท็บเล็ต จะสร้างได้ 19,000 ห้อง คาดว่าใน 2 ปีสามารถทำได้ประมาณ 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กทุกระดับชั้นได้ใช้เรียน
มท.เร่งของบฯปี 58
ที่กระทรวงมหาดไทย นายแก่นเพชร ช่วงรังสี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายธรรมศักดิ์ สัมพันธ์สันติกูล รองผอ.สำนักงบประมาณ ร่วมประชุมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 โดยนายธรรมศักดิ์ แจ้งว่า คสช. กำหนดกรอบเวลาให้ทำแผนเบิกจ่ายงบฯ ให้เสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ส่วนการจัดทำงบฯ ต้องจัดทำคำของบประมาณเป็นทางการส่งให้ คสช.ภายในวันที่ 27 มิ.ย.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรอบวงเงินงบประมาณปี"58 กระทรวงมหาดไทยอยู่ที่ 473,415.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี"57 ประมาณ 138,800 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.44 มีภารกิจสำคัญเร่งด่วนคือการขับเคลื่อนงานสร้างความปรองดองสมานฉันท์ระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่กระทรวงมีนโยบายที่ต้องพิจารณาเรื่องสำคัญในปี"58 อาทิ การปรับค่าตอบแทนกำนันผู้ใหญ่บ้าน การสนับสนุนครุภัณฑ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น การจัดซื้อรถหุ้มเกราะสนับสนุนภารกิจด้านความมมั่นคง การสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม การปรับปรุงสถานที่ราชการเพื่อรองรับการให้บริการประชาชน
อธิบดีปค.แจงค่าอาหารอส.
นายศิริพงษ์ ห่านตระกูล อธิบดีกรมการปกครอง ชี้แจงกรณีกระแสข่าวทุจริตข้าวกล่องอาสารักษาดินแดน (อส.) ว่า สั่งตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. พบว่าไม่มีการทุจริตค่าอาหารกล่องของ อส.ตามที่เป็นข่าว ในจังหวัดใหญ่ภาคเหนือมีเพียง จ.เชียงใหม่และเชียงราย โดยจังหวัดเดียวที่ใช้กำลัง อส.คือ จ.เชียงใหม่ ช่วงคือเดือนพ.ย.56-ม.ค.57 ใช้งบฯพัฒนาจังหวัด จ้างเหมาเลี้ยงแบบบุฟเฟต์ 3 มื้อ มื้อละ 80 บาทต่อคน และช่วงที่ 2 วันที่ 30 พ.ค.-11 มิ.ย.57 ภารกิจสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 แต่งบฯ เลี้ยงอาหารไม่ได้รับการสนับสนุน จึงสั่งข้าวกล่อง กล่องละ 30 บาท กรณีร้องเรียนน่าจะเป็นการเข้าใจผิดของ อส.บางคน ซึ่งน่าจะเกิดจากการไม่ประชาสัมพันธ์ให้ อส.ทราบถึงแหล่งที่มาของงบประมาณมากกว่า และขอยืนยันว่าไม่มีการทุจริต
ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ฝากถึงอธิบดี ปค. ช่วยศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นก่อน ส่วนที่ระบุเป็นเรื่องเข้าใจผิดนั้น ต้องรอตรวจสอบตามขั้นตอนก่อน ไม่ใช่พูดแล้วเรื่องจะจบ ต้องดูความถูกต้อง
เอกชนชง8ข้อแก้ทุจริต
ที่โรงแรมดุสิตธานี นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศ ไทย) เปิดเผยว่า เตรียมจะเสนอคสช.ให้ตรวจสอบโครงการเมกะโปรเจ็กต์อีก 3 โครงการ คือ การจัดซื้อฝูงบินใหม่ของการบินไทย 2.4 แสนล้านบาท โครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 800 ชุมชน 800 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 4 หมื่นล้านบาท และการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 นอกจากนั้นองค์กรจะเป็นเจ้าภาพเปิดเวทีระหว่างภาคธุรกิจและเอกชนทั้งหมด เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการปฏิรูปประเทศที่ภาคเอกชนอยากเห็น เพื่อให้ทัน ต่อการจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศของคสช. ในเดือนส.ค.-ก.ย. นี้
เบื้องต้นได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นเร่งด่วน 8 ข้อ ซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นตอ โดยแยกเป็นมาตรการที่สามารถทำได้ทันที ด้วยนโยบายรัฐ 1.สร้างความไว้วางใจและมีส่วนร่วมของประชาชน 2.รัฐเป็นผู้นำสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านคอร์รัปชั่น 3.สนับสนุนโครงการสร้างมาตร ฐานที่โปร่งใส ในกระบวนการของภาครัฐ และ 4.แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในรัฐวิสาหกิจ และที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย คือ 5.แก้ปัญหาเรียกสินบนในการออกใบอนุญาต 6.แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นที่ต้นตอและช่วยให้มาตรการอื่นๆ ปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ 7.แก้ปัญหาประชาชนโดนเอารัดเอาเปรียบ และ 8.การสร้างมาตรการทางกฎหมายติดตามจับกุมลงโทษคนโกงอย่างมีประสิทธิภาพ
ทนายเผย"ลายจุด"พร้อมยุติ
นายอานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำคดีประกันตัวให้นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ผู้ต้องหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.และกฎหมายอาญา มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิว เตอร์ เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับนายสมบัติ ค่อนข้างเผื่อใจหากต้องถูกคุมขังเป็นเวลานาน แต่ยังกังวลเรื่องสวัสดิภาพของครอบครัวโดยเฉพาะลูกสาวซึ่งอยู่ในวัยเรียน นายสมบัติหวังว่าจะได้รับโอกาสประกันตัวในวันที่ 23 มิ.ย. ซึ่งจะครบ 12 วันฝากขังผลัดแรก หลังถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย. ก่อนที่ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.
นายอานนท์ กล่าวว่า นายสมบัติยืนยันว่าการต่อต้านรัฐประหารก่อนถูกจับกุมนั้น เป็นการแสดงออกอย่างสันติวิธี เมื่อถูกจับแล้วและถูกคุมขังมาจนถึงขณะนี้ก็จำเป็นต้องมองไปข้างหน้า เพราะการรัฐประหารเสร็จสิ้นแล้ว ต่อจากนี้เป็นเรื่องการตีโจทย์เพื่อหาทาง ออกของประเทศร่วมกันว่าแนวทางใดป็นประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด ซึ่งนายสมบัติพร้อมยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะไม่ต้องการเห็นใครถูกจับกุมหรือถูกคุกคามอีก และยินดีให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อความปรองดองสมานฉันท์และเพื่อให้สังคมก้าวไปข้างหน้าได้
คสช.มอบกอ.รมน.ดูแลบุกรุกป่า
เมื่อเวลา 17.00 น. คสช. มีคำสั่ง ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน โดย 1.ให้กอ.รมน. มีหน้าที่รับผิดชอบดังกล่าวเพิ่มเติม 2.ให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องยึดถือนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว ดังนี้ การดำเนินการต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้บุกรุกใหม่ จะต้องสอบสวนและพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ส่วนการป้องกันไม่ให้บุกรุกเพิ่มเติม บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด และการแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมาตั้งแต่เดิม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการและวิธีดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อเสนอขออนุมัติจากคสช.โดยด่วน และกรณีใดๆ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวน การยุติธรรมให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการที่กำหนด ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ตั้ง'กรอ.'ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
คสช.มีคำสั่งที่ 67/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.) มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ 1.องค์ประกอบ หัวหน้าคสช. เป็นประธานกรรมการ รองหัวหน้าคสช.ที่หัวหน้าคสช.มอบหมาย เป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผอ.สำนักงบประมาณ ผู้ว่าฯธปท. ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานสภาอุตสาห กรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เป็นกรรม การ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ศสช.) เป็น กรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการศสช. (นายธานินทร์ ผะเอม) เป็นกรรมการและ ผู้ช่วยเลขานุการ
2.อำนาจหน้าที่ พิจารณาและเสนอแนวทางและมาตรการต่อคสช. ในการแก้ปัญหาและอุปสรรคทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของภาคเอกชนทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งให้ภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต และแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน แต่งตั้งคณะอนุกรรม การและคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือหรือปฏิบัติงานได้ตามความหมาะสม รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่หัวหน้าคสช.มอบหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
เรียกรายงานตัวเพิ่มอีก 33 คน
คำสั่งคสช.ที่ 68/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ในวันที่ 18 มิ.ย. เวลา 10.00-12.00 น. รวม 33 คน ดังนี้ 1.นางสุวรรณา ตาลเหล็ก กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย 2.นางพรพิมล ลุนดาพร 3.น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร สมาชิกพรรคเพื่อไทย 4.น.ส.อดาน้อย ห่อมารยาท 5.น.ส.กริชสุดา คุณะแสน นักกิจกรรมคน เสื้อแดง 6.นายกวี วงศ์รัตนโสภณ 7.นาย นพพร พรหมขัติแก้ว นปช.เชียงใหม่ 8.นาง อัมรา วัฒนกูล 9.นายพรส เฉลิมแสน แกนนำเสื้อแดงลาดกระบัง
10.นายวิเชียรชนินทร์ สินธุไพร อดีตผู้ช่วยเลขานุการรมว.คมนาคม (พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก) 11.น.ส.ภัทรจิต โชติกพณิช ผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตรนานาชาติ สาธิตประสานมิตร 12.นางพรรณราย เมาลานนท์ 13.นายพงษ์เทพ ไชยศล 14.นายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ อดีตส.ส.กทม.และสมาชิกพรรคเพื่อไทย 15.นายเกษมสันติ จำปาเลิศ 16.นายเทียนสวัสดิ์ เทียนเงิน 17.นางภัคจิรา ชุนฮะสี 18.นายนิทัช ศรีสุวรรณ 19.นายหาญศักดิ์ เบญจศรีพิทักษ์ นปช.แดงเชียงใหม่
20.นายองอาจ ตันธนสิน 21.น.ส.รจเรข วัฒนพาณิชย์ 22.น.ส.นุ่มนวล ยัพราช 23.นายอุทัย ม่วงศรีเมืองดี 24.นายอานนท์ กลิ่นแก้ว 25.นายเจติศักดิ์ จันทร์ประดิษฐ์ 26.นายศรายุทธ สังวาลย์ทอง 27.นายธงชัย สุวรรณวิหค 28.นายดนัย ทิพย์ยาน 29.นายวิษณุ เกตุสุริยา 30.นายสุเมธ ตระกูลวุ่นหนู 31.นาย สุขเสก พลตื้อ 32.นายสุวิทย์ เม็นไธสง 33.นายวิระศักดิ์ โตวังจร
ส่ง"วรเจตน์"ขึ้นศาลทหาร
รายงานข่าวแจ้งว่า นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ มีกำหนดเดินทางกลับถึงไทยในวันที่ 16 มิ.ย. โดยก่อนเดินทางกลับได้ประสานคสช.จะเข้ารายงานตัวหลังจากเดินทางมาถึง และเมื่อเครื่องบินลงจอดที่สนามบินดอนเมือง เจ้าหน้าที่ตม.ได้เข้าควบคุมตัว จากนั้นประสานเจ้าหน้าที่ทหารนำไปควบคุมตัวที่ค่ายทหารแห่งหนึ่ง ต่อมาในช่วงเช้าวันที่ 17 มิ.ย. ได้นำตัวนายวรเจตน์ไปที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.)
พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รองผบก.ป. เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากนายทหารพระธรรมนูญว่าจะนำตัวนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์มาส่งที่กองปราบฯ ในวันที่ 18 มิ.ย. เวลา 09.00 น. เมื่อมาถึงกองปราบฯ แล้วทางเจ้าหน้าที่จะสอบปากคำ จากนั้นจะนำตัวนายวรเจตน์ ไปส่งฟ้องที่ศาลทหารกรุงเทพ ในเวลาไม่เกิน 12.00 น.
พ.ต.อ.ประสพโชคกล่าวว่า ส่วนนาย พันทิวา ภูมิประเทศ หรือทอม ดันดี คาดว่าน่าจะได้ประกันตัวแล้ว แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด