- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 17 June 2014 23:35
- Hits: 4748
สั่งยุติแท็บเล็ตแจกเด็ก ดึง 5 หมื่นล. เงินทีวีดิจิตอลเข้ารัฐ คสช.รื้อ 8 โครงการรบ.ปู แบข้อมูลโบนัส-เบี้ยรสก. งบขนส่งเหลือ 2.4 ล้านล. เฉือนลงทุนทางอากาศ
ไฟฟ้าใต้ - พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. พร้อมคณะเข้าติดตามวิกฤตไฟฟ้า 14 จังหวัดภาคใต้ กรณีแหล่งก๊าซเจดีเอปิดซ่อมระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน-10 กรกฎาคม ที่โรงไฟฟ้า-โรงแยกก๊าซขนอม จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน
|
'บิ๊กตู่'สั่งเรียกข้อมูลสิทธิกรรมการ-พนักงานรัฐวิสาหกิจ เน้นบอร์ดรับประโยชน์ส่วนเกิน 'สนข.'หั่นลงทุนยุทธศาสตร์คมนาคมเหลือ 2.4 ล้านล้าน ตัดขนส่งทางอากาศให้เจ้าของโครงการรับผิดชอบเอง'คสช.'สนนำเงินประมูลทีวีดิจิตอลเข้ารัฐ'แอตต้า'ชง คสช.จัดระเบียบนอมินีทัวร์ต่างชาติ
@ บิ๊กตู่ใช้เกณฑ์ธปท.จ่ายกก.รสก. เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุม คสช.กรณีกระทรวงการคลังจะเสนอ ครส.พิจารณาปรับปรุงการจ่ายผลตอบแทนคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ และการจ่ายโบนัสพนักงานรัฐวิสาหกิจให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ว่า ได้สั่งการให้สำนักนายกรัฐมนตรีและส่วนงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอข้อมูลรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง โดยให้เปรียบเทียบค่าตอบแทน เบี้ยประชุม โบนัส สิทธิประโยชน์อื่นๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย @ ย้ำดูสิทธิส่วนเกินบอร์ดรสก. น.ส.ปัถมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะทำงานโฆษก คสช. กล่าวว่า วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์มอบหมายให้ฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ปรับปรุงประสิทธิภาพของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น ประเมินสถานะและวิเคราะห์ประสิทธิภาพของกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ปัจจุบันมีอยู่ 56 องค์กร โดยเน้นเรื่องของผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ส่วนเกิน เบี้ยประชุม โบนัส ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงค่าตอบแทนต่างๆ ของบอร์ด เช่นเรื่องของสิทธิประโยชน์ส่วนเกิน อาทิ กรณีบอร์ดการบินไทยที่ถูกตัดสิทธิประโยชน์การได้นั่งเครื่องบินฟรี เป็นต้น น.ส.ปัถมาภรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้บอร์ดรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนต้องมีข้อเสนอที่เหมาะสมตามหลักเกณฑ์การใช้เงินงบประมาณ เช่น หากเป็นกรรมการของบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้ด้วย โดยต้องดูให้เหมาะสมกับขนาดขององค์กร คือ องค์กรใหญ่และองค์กรเล็ก สิทธิประโยชน์จะไม่เท่ากัน @ ปตท.แจงโบนัสขึ้นกับกำไร แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน ปตท.จะกำหนดให้โบนัสพนักงานเฉลี่ยอยู่ที่ 5 เดือน และอยู่ในระดับนี้มาโดยตลอด ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับรายได้และกำไรของ ปตท. อีกทั้ง ปตท.ยังถือเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่บริษัทเอกชน จึงไม่มีแนวทางจะให้โบนัสในจำนวนที่สูงกว่านี้ ดังนั้นด้วยการเป็นรัฐวิสาหกิจจึงต้องรักษาระดับโบนัสนี้และทำมาตลอดระยะเวลา 30 ปีแล้ว นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การจ่ายโบนัสพนักงาน กฟผ.ล่าสุดปี 2556 อยู่ที่ระดับ 3 เดือน ซึ่งแต่ละปีการให้โบนัสจะมีความแตกต่างกันไปตามผลกำไร บางปีไม่มีโบนัสหรือบางปีอาจจะได้ 1 เดือน หรือ 2 เดือนก็ได้ โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนดของรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ @ ทอท.โยนอำนาจฝ่ายบริหาร แหล่งข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า หาก คสช.ต้องการให้ปรับลดโบนัสลงก็สามารถดำเนินการได้ โดยสั่งการไปยังบอร์ด ทอท.โดยตรง หรือสั่งการไปยังกระทรวงการคลังก็ได้ เนื่องจากบอร์ดรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมีตัวแทนจากกระทรวงการคลังร่วมเป็นกรรมการอยู่แล้ว ว่าที่เรืออากาศโท จตุรงคพล สดมณี ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท. กล่าวว่า การพิจารณาเงินโบนัสประจำปีเป็นของระดับนโยบายจะพิจารณาว่าจะให้เท่าไร ขึ้นอยู่กับการประเมินผลงาน ท่าอากาศยานต่างๆ เป็นฝ่ายปฏิบัติงานเท่านั้น หากมีการพิจารณาให้เท่าไรก็ยินดีปฏิบัติตาม @ บวท.ไม่มีโบนัส-ให้รางวัลแทน นางสาริณี แสงประสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ษริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า บวท.จัดตั้งขึ้นมาโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาผลกำไร จึงไม่มีระบบการจ่ายโบนัสให้แก่พนักงาน มีเพียงการจ่ายเงินรางวัลพิเศษประจำปีให้แก่พนักงานเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันจ่ายอยู่ในอัตรา 4 เดือนต่อปี ซึ่งเงินรางวัลพิเศษประจำปี ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ซึ่งคำนวณมาจากสภาพการจ้างงานที่แท้จริงของพนักงาน ดังนั้นไม่สามารถทำการปรับลดลงได้ เพราะหากปรับลดเท่ากับการไปปรับลดเงินเดือนพนักงาน @ แนะกำหนดเพดานจ่าย นายดำรงค์ ไวยมณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย (สร.กบท.) กล่าวว่า การตัดสิทธิประโยชน์ของพนักงานจะต้องพิจารณาในรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องสิทธิการจ้างตามกฎหมาย เช่น เรื่องตั๋วฟรีสำหรับพนักงาน หรือตั๋วเดินทางจ่าย 10% รวมทั้งเงินโบนัสประจำปี ที่ผ่านมาการบินไทยเคยได้รับโบนัสสูงสุด 4.2 เดือน แต่ส่วนใหญ่เฉลี่ยที่ 1-2 เดือนต่อปี หากขาดทุนก็จ่ายโบนัสไม่ได้ แต่จะมีการจ่ายเงินรางวัลให้กับพนักงานแทน เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60% ของเงินเดือนเท่านั้น ดังนั้นเรื่องนี้ต้องรอดูความชัดเจนจาก คสช.ก่อน ส่วนการที่ คสช.จะเข้ามาจัดระเบียบใหม่ เพราะบางรัฐวิสาหกิจมีการจ่ายโบนัส 7-8 เดือน และบางแห่งสูงถึง 11 เดือน นายดำรงค์กล่าวว่า ควรมีการกำหนดกรอบเพดาน เช่น อัตราเฉลี่ยไม่ควรเกิน 4 เดือน เพราะเงินรายได้ทั้งหมดสามารถจะคืนเป็นผลตอบแทนให้กับประชาชน หรือเข้ารัฐบาลได้ @ คมนาคมหั่นลงทุนเหลือ 2.4 ล้านล. นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.ได้หารือกับกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การลงทุนด้านคมนาคมขนส่งตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 ถึง 2565 ซึ่งแบ่งเป็น 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ลงทุนรถไฟ 2.ยุทธศาสตร์ลงทุนรถไฟฟ้า 3.ยุทธศาสตร์ลงทุนด้านถนน 4.ยุทธศาสตร์ลงทุนคมนาคมด้านน้ำ และ 5.ยุทธศาสตร์ลงทุนคมนาคมทางอากาศ ต้องจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนก่อนหลัง นายจุฬา กล่าวว่า เดิมการลงทุนทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ มีมูลค่าโครงการทั้งหมด 3 ล้านล้านบาท แต่ได้ตัดยุทธศาสตร์ลงทุนคมนาคมทางอากาศออกไป เนื่องจากเห็นว่าหน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถลงทุนได้ด้วยตัวเอง ทำให้มูลค่าลงทุนโครงการทั้งหมดอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท @ ชงคสช.จัดระเบียบทัวร์ ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายเจริญ วังอนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยกับ พล.ร.ต.นพดล เรืองสมัย รองหัวหน้าสำนักงานฝ่ายสังคมจิตวิทยา ประสานงานกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่า ได้เสนอ คสช.จัดระเบียบและปราบปรามกลุ่มตัวแทนบริษัทข้ามชาติ (นอมินี) ที่เข้ามาทำธุรกิจท่องเที่ยวในไทย เช่น ธุรกิจบริษัททัวร์ ธุรกิจสายการบินแบบเช่าเหมาลำ หรือชาร์เตอร์ไฟลต์ รวมทั้งปัญหาอิทธิพลมืดเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ปัญหาการจัดเก็บค่าเข้าอุทยานแห่งชาติที่มีรายรับต่ำกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจริง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาสะสมมานาน ทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากภาคท่องเที่ยวปีละกว่า 30% จากรายได้ท่องเที่ยวรวมแต่ละปี ซึ่งปีนี้ตั้งเป้ารายได้จากท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท "ปัจจุบันจะมีนอมินีประเทศหลักๆ ทั้งจีน รัสเซีย เกาหลีใต้ ที่เปิดบริษัททัวร์อยู่ในเมืองไทย นำกำไรกลับเข้าประเทศ แทนที่เจ้าบ้านและแหล่งท่องเที่ยวจะได้รับเงินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาสะสมมานาน ภาครัฐเองก็ปราบปรามไม่เข้มงวด เหมือนแค่ลูบหน้าปะจมูก ทำให้ปัญหาบานปลาย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการเก็บค่าเข้าชมอุทยานแห่งชาติ ที่ถือว่าน่าเป็นห่วงมากที่สุดเช่นกัน เพราะปัจจุบันมีแหล่งท่องเที่ยวในสังกัดอุทยานฯอยู่ทั่วประเทศประมาณ 200 แห่ง แต่เรียกเก็บค่าเข้าชมเพียง 70 แห่ง" นายเจริญกล่าว พล.ร.ต.นพดล กล่าวว่า คสช.จะไม่ละทิ้งการดูแลและแก้ปัญหาด้านการท่องเที่ยวแน่นอน หลังจากนี้หากจะมีการประชุมใดๆ เอกชนสามารถเสนอต่อนายสุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ทันที @ ส่อส่งไม้คสช.ดูคูปองทีวีดิจิตอล นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังเข้าพบคณะทำงานของ คสช.ที่มีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานการประชุม ว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน คสช.ได้เรียก กสทช.เข้าพบ โดยได้สอบถามความเป็นไปได้ที่ กสทช.จะนำเงินที่ได้จากการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ในกลุ่มช่องธุรกิจ จำนวน 24 ช่อง มูลค่า 50,862 ล้านบาท ส่งเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ตามข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่ง พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. ยอมรับเงื่อนไข แต่ คสช.ต้องรับเงื่อนไขในเรื่องโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล หรือการแจกคูปองเงินสนับสนุนค่าอุปกรณ์การรับชมทีวีดิจิตอลให้แก่คนไทย 25 ล้านครัวเรือน มูลค่า 25,000 ล้านบาท ตามไปด้วย เนื่องจาก กสทช.ได้ดำเนินการประกาศต่อสาธารณชนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว "คสช.ระบุว่าจะนำไปพิจารณา แต่การกำหนดราคาคูปองทีวีดิจิตอลใหม่ หลักเกณฑ์การรับแลกคูปองและการแจกจ่ายคูปองทีวีดิจิตอล อาจจะต้องอยู่ที่ คสช.ทั้งหมด หรือมอบหมายหน้าที่ให้แก่ กสทช.ดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ตามข้อกฎหมายในเวลานี้ การรับเงินประมูลทีวีดิจิตอลเข้าเป็นรายได้แผ่นดินสามารถดำเนินการได้ทันทีตามประกาศ คสช. โดยไม่ต้องแก้ไขใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 แต่อย่างใด" นายฐากรกล่าว @ "คลัง"เคาะแหล่งเงิน19มิ.ย. นายสุวิชญ โรจนวานิช ที่ปรึกษาด้านตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อพิจารณาถึงแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในโครงการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งของประเทศกับกระทรวงคมนาคม ว่า ทั้งหมดจะต้องได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเพื่อนำเสนอ คสช. พิจารณาในวันที่ 19 มิถุนายน ซึ่งกรอบการกู้เงินตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ปี 2558 มีเพดานสูงสุด อยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2558 ที่ 2.575 ล้านล้านบาท โดยเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 20% ของบประมาณรายจ่าย และการค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจ 20% ของงบประมาณรายจ่าย และการกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อีก 10% ของงบประมาณรายจ่าย นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ตามแผนการยุทธศาสตร์กรมทางหลวงที่ต้องลงทุนจนถึงปี 2567 ต้องใช้เงินรวม 8 แสนล้านบาท โดยเป็นการลงทุนมอเตอร์เวย์ 5 สาย วงเงิน 4-5 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นการลงทุนเกี่ยวกับการขยายถนน 4 เลน บูรณะทางหลวง ทำถนนเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับโครงการเร่งด่วนที่กรมจะเสนอ คสช.คือ โครงการบูรณะเส้นทางหลักทั่วประเทศ อาทิ ถนนพหลโยธิน ถนนเพชรเกษม และถนนมิตรภาพ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท และโครงการแก้ปัญหาถนนคอขวด ได้แก่ เส้นทางตาก-แม่สอด ที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 3-4 พันล้านบาท และเส้นกบินทร์บุรี-ปักธงชัย คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 2.8 พันล้านบาท @ คตร.แจงสอบงบไม่มีหน้าที่ฟ้อง ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ว่า คตร.ได้ติดตามการใช้งบประมาณ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์มอบหมายและแต่งตั้งหน่วยงานต่างๆ เข้ามาทำงาานร่วมกัน โดยมีปลัดบัญชีทหารบกเป็นประธาน ในการประชุมวางแนวทางติดตามโครงการที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการ คตร.ทำหน้าที่ตรวจสอบติดตาม แต่ไม่มีหน้าที่ฟ้องร้องดำเนินคดี หากโครงการใดมีการกระทำผิดมีมูลความผิดจะส่ง สตง. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อ ส่วนโครงการใดวงเงินสูงเกินไปก็อาจจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับลด โครงการใดไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนอาจจะชะลอ ยกเลิกหรือให้มีการนำโครงการอื่นมาทดแทน ส่วนโครงการที่มีจุดบกพร่องก็ให้กระทรวงทบวงกรมนำไปทบทวน @ ลุยสอบสุวรรณภูมิเฟส 2 แท็บเล็ต ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า วันนี้ คตร.ส่งอนุกรรมการลงพื้นที่ ติดตามตรวจสอบ 8 โครงการ ในช่วงวันที่ 16-18 มิถุนายน ได้แก่ 1.โครงการจัดหารถรุ่นใหม่ สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 2.โครงการจัดหารถจักร จำนวน 126 คัน ของ ร.ฟ.ท. 3.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 (ปี พ.ศ.2554-2560) ของ ทอท. 4.โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้าของ ทอท. 5.กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน 6.โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา หรือแท็บเล็ต ของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 8.โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ 8.โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กสทช. @ "บิ๊กจิน"มั่นใจเอาอยู่ไฟฟ้าใต้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ.ในฐานะหัวฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เดินทางตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช รับฟังรายงานการรับมือความต้องการกระแสไฟฟ้า ภายหลังการปิดซ่อมบำรุงระบบจ่ายก๊าซจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือเจดีเอ โดย พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า จากรายงานของ กฟผ. เชื่อว่าจะสามารถรองรับระบบความมั่นคงของพื้นที่ภาคใต้ได้ เพราะยังมีโรงไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขนอม รวมถึงโรงไฟฟ้าจากพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง และการซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย แต่ก็ได้เน้นย้ำให้ กฟผ.อย่าประมาท และให้เตรียมการรองรับกรณีเกิดปัญหาเร่งด่วนด้วย @ ลุยสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า หลังจากนี้ คสช.จะหารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน เพื่อวางโรดแมปปฏิรูปพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะต้องหารือกันอีกประมาณ 2-3 ครั้ง จึงจะได้ข้อสรุป นอกจากนั้น จะผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต ตลอดจนปรับวิธีการสื่อสารกับประชาชนให้เกิดความเข้าใจถึงความจำเป็นในการตั้งโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ผู้สื่อข่าวถามว่า จะใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าด้วยหรือไม่ พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ยังไม่ขอสรุปในตอนนี้ เพราะต้องใช้เวลาในการศึกษาว่า ควรจะเป็นถ่านหินหรือเชื้อเพลิงประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 ระบบไฟฟ้าในภาคใต้จะมีความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 4 กำลังการผลิต 930 เมกะวัตต์ รวมกับกำลังการผลิตปัจจุบันอีกจำนวน 700 เมกะวัตต์ @ แก้ลำผู้ค้ารวมเลขลอตเตอรี่ นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า สั่งการไปยังคณะทำงานให้เร่งสรุปแนวทางแก้ปัญหาการขายสลากเกินราคาให้ได้ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเสนอไปยังฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ซึ่งในการแก้ปัญหามี 2 แนวทาง คือ 1.การใช้เครื่องจำหน่ายสลากออนไลน์ 2 ตัว 3 ตัว แต่การดำเนินการต้องแก้กฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินงาน 2.การกระจายเลขสลาก เพื่อไม่ให้นำสลากไปรวมเลขแล้วขายเป็นชุด ชุดละ 10 ใบ 20 ใบ โดยแนวคิดเบื้องต้นคือ พิมพ์เลขสลากเรียงเลขกันไปตั้งแต่เลข 1-72 ล้านเลข ซึ่งทำได้ไม่ยากเพียงแค่ปรับแก้เครื่องพิมพ์เล็กน้อย แต่คงต้องไปศึกษาก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่ และควรจะดำเนินการอย่างไร จากปัจจุบันการพิมพ์สลาก พิมพ์เป็นหมวดคือ 72 หมวด หมวดละ 1 ล้านฉบับ รวมเป็น 72 ล้านฉบับ (1 ใบเท่ากับ 2 ฉบับ) "การพิมพ์สลากเรียงเลขเป็นแนวคิดใหม่ ตรงนี้จะช่วยกระจายสลากไม่ให้ผู้ค้านำไปรวมเลขแล้วขายเป็นชุดได้ ก่อนหน้านี้กองสลากพยายามแจกจ่ายสลากด้วยการกระจายเลขแล้ว แต่ผู้ค้าที่มารับสลากยังนำไปรวมเลขกันได้ และยิ่งเลขดังๆ เมื่อรวมเป็นชุดแล้วจะขายในราคาที่แพงมาก ซึ่งเท่าที่สำรวจถ้าขายใบเดียวราคาจะไม่แพงเท่ากับเลขที่ขายแบบรวมเป็นชุด"นายราฆพกล่าว @ แจงพิมพ์สลากเรียงหมายเลข รายงานข่าวจากสำนักงานสลากฯกล่าวว่า ในการพิมพ์สลากไม่ให้เลขซ้ำตั้งแต่ 1-72 ล้านเลขนั้น ต้องเพิ่มเลขสลากเป็น 8 หลัก เป็น 00000000-72000000 โดยไม่ต้องมีเลขชุดกำกับ จะทำให้ผู้ค้าไม่สามารถไปจัดชุดได้ จากขณะนี้พิมพ์อยู่ 6 หลัก คือ 000000-999999 และใช้เลขชุดกำกับจำนวน 1-72 ชุด(หมวด) อาทิ หมวดที่ 1 หมายเลข 000000-999999 หมวดที่ 2 หมายเลข 000000-999999 จนถึงหมวดที่ 72 ทำให้มีการนำเลขที่เหมือนกันไปจัดชุดขายในราคาสูง ซึ่งการเรียงเลขลักษณะดังกล่าว เคยทำมาแล้วเมื่อ 20 กว่าปีก่อน แต่ในช่วงนั้นเป็นเลขแค่ 4 หลัก ดังนั้น ต้องศึกษาว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง @ คสช.สั่งยกเลิกแจกแท็บเล็ต เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่กองทัพเรือ นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา เพื่อพิจารณาเรื่องการดำเนินการแจกแท็บเล็ตตามโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน ว่า ภายหลังรือร่วมกันและวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของโครงการ ประกอบกับนำผลวิจัยที่ทำโดยหน่วยงานที่เป็นกลาง อาทิ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) รวมไปถึงผลการติดตามการดำเนินโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มดำเนินโครงการ ทุกฝ่ายมีมติร่วมกันว่า ควรเปลี่ยนแปลงงบประมาณของแท็บเล็ตที่เหลือทั้งหมดไปใช้ทำโครงการอื่น ที่เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนมากกว่า "เหตุผลที่ตัดสินใจยุติโครงการ ทั้งในส่วนของปีงบประมาณ 2556 ซึ่งเหลือการจัดซื้อในโซนที่ 4 ของนักเรียนชั้น ม.1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ) วงเงิน 1,170 ล้านบาท และการจัดซื้อแท็บเล็ต ปีงบประมาณ 2557 จำนวน 5,800 ล้านบาทนั้น ยึดเรื่องผลประโยชนต่อผู้เรียนเป็นหลัก โดยหลายฝ่ายเห็นว่าถ้านำไปทำโครงการอย่างอื่น อย่างเช่น สมาร์ทคลาสรูม อีเลิร์นนิ่ง เพื่อเป็นห้องคอมพิวเตอร์ไว้ที่โรงเรียนให้นักเรียนหมุนเวียนมาใช้จะเกิดประโยชน์ในวงกว้างมากกว่า ขณะเดียวกันยังไม่ต้องเสียงบประมาณจัดซื้อทุกปีเหมือนโครงการนี้ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบให้ ศธ.ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาโครงการที่เหมาะสมมาแทน" นางสุทธศรีกล่าว แหล่งข่าวระดับสูงจาก ศธ.เปิดเผยว่า ประชุมมอบให้ปลัด ศธ.ทำหนังสือเสนอไปยังกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ เพื่อขอเปลี่ยนแปลงรายการและขอกันเงินงบประมาณแบบไม่มีหนี้ นอกจากนี้ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง โดยมีข้อสรุปว่า นักเรียนทุกคนไม่จำเป็นต้องได้รับแจกแท็บเล็ตเป็นของตนเอง เพราะใช้แท็บเล็ตเรียนเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น จึงถือว่าไม่คุ้มค่าและไม่เหมาะสมที่จะจัดซื้อให้แก่นักเรียนทุกคน ขณะเดียวกันยังเห็นว่าแท็บเล็ตไม่เหมาะที่จะนำมาใช้สอนนักเรียนตลอดเวลา ควรใช้ในการเรียนการสอนบางชั่วโมงเท่านั้น และเด็กๆ ควรเรียนรู้จากครูผู้สอน อีกทั้งแท็บเล็ตถือเป็นครุภัณฑ์ของโรงเรียน จึงไม่เหมาะสมที่จะไปมอบให้นักเรียนเป็นของส่วนตัวได้ |