- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 26 May 2015 09:46
- Hits: 4111
แก้ 100 ข้อ! ครม.ชงรื้อร่างรธน. ไม่แตะที่มานายก-เตือน 36 ปราชญ์ 2 กมธ.สปช.ผนึก-จี้ปรับทั้งฉบับ นศ.โวยถูกตาม-บิ๊กโด่งชี้ไม่รุนแรง
ครม.เคาะแล้ว เสนอแก้ร่างรธน. 100 ประเด็น แต่ไม่แตะปมที่มานายกฯ คนนอก'บิ๊กตู่'ห่วงรัฐบาลหน้าไม่สานต่อปฏิรูป ทำเสียของ'วิษณุ'เตือนกมธ.ยกร่างฯ รับฟังข้อเสนอ มหาปราชญ์ก็มีโอกาสพลาดพลั้งได้ กมธ.ปฏิรูปการเมืองจับมือกมธ.ปฏิรูปกฎหมาย เสนอรื้อทั้งฉบับ 129 ประเด็น หั่นเหลือแค่ 100 กว่ามาตรา ปิดช่องนายกฯ คนนอก แก้คำ 'พลเมือง'กลับไปใช้ 'ประชาชน''บิ๊กโด่ง' ยันเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำรุนแรงกับนักศึกษา ออกหมายจับมือพ่นสี สเปรย์หน้าศาล กลุ่มดาวดินโวยถูกทหารตามถึงบ้าน
วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8945 ข่าวสดรายวัน
ต้อนรับ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ให้การต้อนรับและหารือข้อราชการกับนายโจเซเอีย โวเรเก ไบนีมารามา นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฟิจิ ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 พ.ค.
ครม.เสนอแก้รธน.100 ประเด็น
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 25 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมครม.นัดพิเศษ เพื่อหารือถึงความเห็นและข้อเสนอแนะ ในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ
เวลา 16.45 น. นายวิษณุ เครืองาม รอง นายกฯ แถลงว่า ที่ประชุมพิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะตามที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญส่งเรื่องมายังครม.เพื่อขอความเห็นภายใน 30 วัน ซึ่งครบกำหนดวันนี้ โดยครม.หารือกันนานกว่า 3 ชั่วโมง ก่อนส่งความเห็นไปยังกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนเวลา 16.30 น. ของวันนี้ (25 พ.ค.)
นายวิษณุ กล่าวว่า ครม.ส่งข้อเสนอแก้ไขและไม่แก้ไขให้กมธ.ยกร่างฯ เพื่อให้เขาคิดใหม่ทำใหม่ส่วนหนึ่ง โดยเสนอกว่า 100-120 ประเด็น แต่รวมแล้ว 100 ประเด็น ไม่ใช่ 100 มาตรา เพราะบางมาตรามีหลายประเด็น ซึ่งใน 100 ประเด็นนั้น ครึ่งหนึ่งขอแก้ไขถ้อยคำที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ อาทิ กับ แก่ แต่ ต่อ และ หรือ อีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องกระทบต่อหลักใหญ่ของแต่ละมาตรา ซึ่งครม.พร้อมไปชี้แจงเป็นรายมาตรา หากกมธ.ยกร่างฯต้องการ หรือบางส่วน เรียงถ้อยคำใหม่ อีกส่วนหนึ่งกระทบหลักการ เช่น ให้มีหรือไม่ให้มี สภา สมัชชา บางอย่างตนจะลงรายละเอียดให้ทราบในโอกาสหน้า
3 ข้อกังวลกลัว'เสียของ'
นายวิษณุ กล่าวว่า ครม.เป็นห่วงอยู่ 3 เรื่องคือ 1.ทำอย่างไรจะทำให้สิ่งที่รัฐบาลนี้ ครม.ชุดนี้ดำเนินการไว้บ้างแล้วสานต่อในช่วงต่อไปได้ ซึ่งนายกฯบอกแล้วว่าเป็นช่วงต้นน้ำ จะทำอย่างไรในช่วงกลางทาง สุดท้ายปลายทางหรือปลายน้ำ ให้ดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน ส่งต่อรับต่อไปได้เป็นทอดๆ ถึงรัฐบาลชุดหน้า 2.ทำอย่างไรให้ประเทศชาติในอนาคตสงบเรียบร้อย ไม่แตกแยก ขัดแย้ง ร้าวฉาน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการได้ผลมาแล้วระดับหนึ่ง หรือทำอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์กลับไปสู่ก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 และ 3.ทำอย่างไรให้การเมืองในอนาคตดีขึ้น พัฒนาขึ้น ก้าวหน้าขึ้น ให้ความเป็นธรรมได้มากขึ้น เป็นที่พอใจได้มากขึ้น ซึ่งความกังวลเหล่านี้ควรมีคำตอบอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถึงจะตอบได้ไม่ทั้งหมดขอให้ตอบได้มากที่สุดถึงจะดี
นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราพูดกันมากถึงคำว่า "ของ" บางฝ่ายมีทีท่าเหมือนลองของ ฝ่ายรัฐบาลหลายคนกังวลว่าที่ทำให้จะเสียของ ต่างพูดถึง "ของ" ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งข้อกังวลที่ครม.กลัวจะเสีย คือ 3 ข้อที่ตนกล่าวข้างตน เพราะถ้าสิ่งที่ทำวันนี้ละลายสูญหายไปเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ มีสภา หรือมีรัฐบาลใหม่เข้ามาก็จะเสียของ หรือหากเกิดความไม่สงบเรียบร้อย แตกแยก ร้าวฉาน ไม่ปรองดองขึ้นอีก เหตุการณ์หมุนกลับไปเหมือนก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 ก็จะเสียของ และถ้ามีรัฐบาลใหม่ มีสภาใหม่ เลือกตั้งใหม่แล้ว การเมืองไม่ได้ดีขึ้นยังเปิดโอกาสให้ทุจริต ใช้นโยบายประชานิยมแบบผิดๆ หรือใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องผิดทำนองคลองธรรม สังคมเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม นั่นก็เสียของ
ค้านองค์กรตั้งใหม่-เขียนในรธน.
รองนายกฯ กล่าวว่า ข้อเสนอแก้ไขที่ครม.มีส่งถึง กมธ.ยกร่างฯ ต้องยึดตามบทบัญญัติ 315 มาตราที่มีอยู่ ไม่สามารถเพิ่มเติมหรือแหวกแนวไปมากไม่ได้ หรือสิ่งที่ควรจะเขียนแต่เขาไม่ได้เขียน ก็จะไปเสนอแนะมากไม่ได้ จะกลายเป็นการสร้างมาตราใหม่ขึ้น อีกทั้งหาก กมธ.ยกร่างฯขานรับก็จะกลายเป็นพิมพ์เขียว ครม.จึงหลีกเลี่ยงจะไม่เสนอเพิ่มเติมไปใหม่มากเกินควร เท่าที่เพิ่มไปบ้าง ไม่กี่มาตราเพราะองค์กรอิสระเสนอให้เพิ่ม เพื่อเขาจะได้ทำงานคล่องตัว ดังนั้น ส่วนใหญ่จะแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับหลักการในบางเรื่องที่มีอยู่ และเสนอว่าอะไรควรแก้ไม่ควรแก้เท่านั้น
เมื่อถามว่า เรื่องใหญ่ที่เสนอแก้ไขคืออะไร นายวิษณุกล่าวว่า การให้มีหรือไม่ให้มีองค์กรต่างๆ ซึ่งในฉบับยกร่างนั้นกำหนดให้มีองค์ กร คณะกรรมการต่างๆ ที่ต้องตั้งขึ้นภายในเวลาหนึ่งมีอยู่มากเกือบ 30 องค์กร บางชุด ก็เป็นคณะกรรมการ ซึ่งครม.ทำความเห็นไปว่าส่วนหนึ่งเห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากควรนำไปเขียนในกฎหมายลูกหรือกฎหมายอื่นได้ อย่ามาเขียนในรัฐธรรมนูญ เพราะหากเขียนในรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญขึ้นมา กลายเป็นภาระงบประมาณและมีกำหนดเวลาให้กระทำ หากไม่กระทำตามเวลา ถือว่าผิด จึงควรนำไปเขียนในกฎหมายลูกหรือกฎหมายประกอบ
ของเดิมดีกว่าให้คงไว้
นายวิษณุ กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งคือ เป็นหลักการบางอย่างที่ของเดิมเหมาะสม หรือดีกว่า เช่น หลักการที่ว่าหากครม.ยุบสภา สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งแล้วให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทน อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่ต้องไปเขียนและอาจมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ได้เสนอไปว่าให้ตัดออก หรือให้ปรับ ปรุงใหม่ นอกจากนี้ ยังมีประเภทที่เกี่ยวพันกับบางหลักที่ปฏิบัติได้ยากเพราะถ้อยคำยังเคลือบคลุมอยู่ เช่น กำหนดว่านักการเมืองหรือผู้นำภาครัฐ หมายถึงปลัดกระทรวง อธิบดี ข้าราชการ ต้องไม่ประพฤติผิดในประเพณี ศาสนา หลักธรรม ต้องพูดจาสุภาพ ไม่ทำอะไรที่เคลือบคลุมน่าสงสัย ซึ่งคำเหล่านี้แปลว่าอะไรไม่ทราบ และจะทำให้เกิดการฟ้องร้องกันได้ง่าย สุดท้ายกล่าวหากันไว้ก่อน ฟ้องร้องกัน เป็นความไม่ชัดเจน ขอให้นำไปเขียนที่อื่น อาทิ ประมวลจริยธรรม ไม่ควรเขียนในรัฐธรรมนูญ
ไม่แตะที่มานายกฯ
เมื่อถามว่ารัฐบาลได้เสนอแก้ไขมาตรา 181 และมาตรา 182 ด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อยู่ในข้อเสนอที่ครม.มีมติให้กมธ. ยกร่างฯตัดออก และบอกเหตุผลที่เสนอให้ตัดแนบไปด้วย ส่วนรายละเอียดคงต้องชี้แจงยาวหากพูดในวันนี้ ข้อเสนอที่ให้ตัดไป 100 ประเด็นก็มีเหตุทุกประเด็น ซึ่งมีรายละเอียดมาก บางส่วนไปตอบเหตุผลกับกมธ.ยกร่างฯ ขณะที่บางเรื่องครม.ก็เสนอให้ไปทบทวน เช่น การให้อำนาจ ส.ว.เสนอกฎหมายได้ การเสนอตั้งคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งจังหวัด (กจต.) สมัชชาสภาขับเคลื่อน เป็นต้น ซึ่งบางเรื่องลงรายละเอียดมากแต่ปฏิบัติไม่ได้ก็จะมีความผิดจึงเสนอให้ทบทวน
นายวิษณุกล่าวว่า ทั้งนี้ ในที่ประชุมไม่ได้มีการเสนอเรื่องที่มาของนายกฯ คนนอก ส่วนองค์กรอิสระที่มีประมาณ 39 องค์กรนั้นมีทั้งที่คงไว้บ้างตัดออกบ้าง ขณะที่ที่มาของส.ส.และส.ว.ไม่ได้ไปแก้ไขอะไรเพราะถ้าแก้ต้องรื้อหลายมาตรา เพราะโยงกันหมดแต่ทราบว่ามีคนอื่นเสนอขอแก้ไขไปแล้ว
แก้ประเด็นเสี่ยงฟ้อง-ตีความยาก
นายวิษณุ กล่าวว่า ครม.เห็นว่าโดยทั่วไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีส่วนที่ดีอยู่มาก เขียนส่งไปให้กมธ.ยกร่างฯในหน้าแรกเลยว่าในภาพรวมแล้วต้องถือว่ามีส่วนที่ดี สามารถแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องบางเรื่องในอดีตได้ และบางบทคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเอาไว้ได้อย่างหลากหลายและกว้างขวาง แต่เพื่อความสมบูรณ์ขอให้กมธ.ยกร่างฯพิจารณาว่าควรปรับปรุงแก้ไขในบางส่วนหรือตัดทอนบางส่วนออกไปเพื่อให้สมบูรณ์ขึ้น บางส่วนแก้ไขเพื่อให้ชัดเจน บางส่วนที่ตัดไม่ใช่เพราะเลวร้ายแต่นำไปใส่ในกฎหมายอื่นได้ เพื่อให้รัฐธรรม นูญสั้นลง และแต่ละมาตราก็ไม่ยืดยาวไป บางเรื่องก็ให้ไปอยู่ให้ถูกหมวดหมู่
นายวิษณุ กล่าวว่า บางเรื่องที่ไม่ชัดเจนและเป็นเหตุให้นำไปสู่การฟ้องร้อง หรือตีความจนเจ้าหน้าที่ทำงานไม่สะดวกก็ควรเขียนใหม่ หรือไปบัญญัติไว้ที่อื่น ยกตัวอย่างการต้องการรับฟังความเห็นของประชาชนก่อนที่จะทำอะไรก็ตามอย่างทั่วถึงเป็นหลักที่ดี แต่คำว่าทั่วถึง แปลว่าอะไร ทำให้การปฏิบัติทำได้ยาก รัฐบาลใหม่จะปฏิบัติไม่ถูกก็จะมีอีกมาตราหนึ่งระบุว่าถ้าปฏิบัติไม่ถูกหรือไม่ทันตามเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดจะต้องรับผิดทางแพ่งหรือทางอาญา อย่างนี้สุดท้ายข้าราชการก็ทำอย่างเดียวคือเกียร์ว่างจะได้ไม่ต้องทำอะไร คนรับผลร้ายคือประเทศชาติ
ชี้มหาปราชญ์ยิ่งพลั้งได้
เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นไปได้ที่กมธ.ยกร่างฯ ระบุว่าประชาชนจะเป็นใหญ่ การจัดทำงบประมาณจะเปิดเผยอย่างชัดเจนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ในครม.ไม่มีใครพูดเรื่องนี้ หากพูดไปจะกลายเป็นความเห็นส่วนตัวของตน ซึ่งกมธ.ยกร่างฯมีเวลาที่จะพิจารณาเรื่องการแก้ไข 60 วันบวกอีก 30 วันเป็น 90 วัน เมื่อถามว่ากมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คนมั่นใจว่ายกร่างฯ ดีแล้วไม่จำเป็นต้องแก้ไข รองนายกฯ กล่าวว่า ก็จะบอกว่าพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะสี่เท้ายังรู้พลาดนักปราชญ์พลั้ง มหาปราชญ์ยิ่งพลั้งได้ อย่างไรก็ตามตนยังเชื่อใจในกมธ.ยกร่างฯหลายคนว่าจะรับฟังความเห็นที่มีการนำเสนอ ข้อเสนอต่างๆ ที่ส่งไปและกมธ.ยกร่างฯจะทำหรือไม่ก็แล้วแต่เขา ซึ่งข้อนี้เป็นเหตุที่คสช.ไม่ยอมส่งความเห็น เพราะถ้าส่งไปแล้วกมธ.ยกร่างฯทำตามก็จะกลายเป็นใบสั่ง ถ้าไม่ทำตามก็จะกลายเป็นว่าลองของกระด้างกระเดื่อง สุดท้ายคสช.อาจจะโกรธขึ้นมาก็ได้
แตกตื่น- เจ้าหน้าที่รัฐสภาช่วยกันจับงูเขียวยาวประมาณ 2 ฟุตครึ่งไปปล่อย หลังโผล่มาจากลังอุปกรณ์ ขณะเจ้าหน้าที่สภากาชาดกำลังจัดโต๊ะเก้าอี้เตรียมรับบริจาคเลือด ทำเอาทุกคนถึงผงะและแตกตื่น ที่ห้องโถงรัฐสภา เมื่อ 25 พ.ค. |
เมื่อถามว่า หากกมธ.ยกร่างฯทำไม่ได้จะมีบทลงโทษอย่างไรบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ตายตกไปตามกัน เมื่อถามย้ำว่าหากกมธ.ยกร่างฯไม่เสนอแก้ตามการส่งความเห็นของครม.ก็จะเสียของ นายวิษณุกล่าวว่า การเสนอแก้มีทั้งไปจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ส่วนหนึ่งเสนอ 1 คนเซ็นรับรองอีก 25 คน สปช.มี 250 คนก็จะมีประมาณ 8 คำร้อง เมื่อคสช.ไม่ส่งก็จะไปจากครม.ส่วนหนึ่ง ซึ่งความเห็นจากคสช.อาจปราดเปรื่องกว่าครม.ก็ได้ กมธ.ยกร่างฯจะเห็นตามที่ใครเสนอก็ได้ แต่ถ้าจะเอาใจทั้ง 2 ฝ่ายก็คงแย่ จะให้ตามครม.ทั้งหมดก็เป็นได้ กมธ.ยกร่างฯต้องเป็นตัวของตัวเอง
ชี้ไม้ตายล้มรธน.
"กมธ.ยกร่างฯ ต่างจากสภาร่างรัฐธรรม นูญ เมื่อกมธ.ยกร่างฯเสร็จแล้วต้องนำกลับมาเข้าสภา โหวตกันทีละมาตรา แต่สภาปฏิรูปฯวันนี้ไม่ใช่สภาร่างฯ เพราะมีการตั้งกมธ. ยกร่างฯ ที่ไม่ได้ไปจากสปช. เมื่อกมธ.ยกร่างเสร็จโหวตว่ารับหรือไม่รับ จะไปบอกว่าจะรับเมื่อแก้แบบนี้ให้ไม่ได้ แต่ถ้าไม่พอใจก็มีไม้ตายคือล้มร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการมีสภาร่างฯมีข้อดีแต่ก็มีข้อเสียคือใช้เวลาพิจารณามาก" นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างฯ ยังต้องตามใจแป๊ะอีกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า การตามใจแป๊ะนั้น ช่วยตามใจเพียงว่าแป๊ะให้ไปส่งที่ท่าไหนก็ไปอย่างนั้น แต่ไม่ต้องถึงกับละเอียดมาก
เมื่อถามว่า คำขอแก้ไขร่าง รธน.ชั่วคราวฉบับปี 2557 ครม.ได้ส่งคำขอไปหรือยัง นายวิษณุกล่าวว่า รอทำเรื่องนี้ให้เสร็จก่อนจะได้ทำเรื่องอื่นเสียที เพราะบ้านเมืองนี้ร่างรัฐธรรมนูญทุกวัน ไม่ต้องทำมาหากินเรื่องอื่น ตนทำ 2 เรื่องพร้อมกันไม่ได้ วันนี้หมดเวรหมดกรรมไปแล้ว 1 เรื่อง ส่วนเรื่องการทำประชามติก็มีความคิดคร่าวๆ ในใจว่าจะทำอย่างไร แต่บางจุดยังหาคำตอบไม่ได้ เมื่อถามว่าแล้วคิดว่าจะได้ทำประชามติหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าถ้าตนตอบเรื่องนี้จะซวยทันทีเพราะเท่ากับฟันธงว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านแน่ เพราะต้องผ่านด่านแรกจาก สปช.ก่อนวันที่ 6 ส.ค.นี้ แต่ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ได้ทำประชามติ ถ้าผ่านก็ไปสู่ประชามติ แต่ถ้าวันนี้มาบอกว่าไม่ได้ทำประชามติแน่ก็แสดงว่าจะไม่ผ่านแน่ๆ จะไปพูดแบบนั้นได้อย่างไร
เมื่อถามว่าครม.ได้เสนอเกี่ยวกับกลไกที่สานต่อเรื่องของการปฏิรูปจำเป็นต้องมาเป็น ผู้ดำเนินการหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า วันนี้ไม่ได้เสนอแต่การจะนำไปไว้ในกฎหมายลูกก็ดีแล้ว ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ มีเวลาไปคิดเพื่อนำเข้าสภา ถ้าไม่เสร็จก็ไปดำเนินการในชุดที่จะไปพิจารณากฎหมายประกอบการเลือกตั้ง เพราะหากไม่พอใจก็สามารถแก้ไขทีหลังโดยไม่นำมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ หลายเรื่องก็ควรให้มีการกำหนดในอนาคตบ้าง แต่ทำตัวเป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคตทั้งหมด
นายกฯห่วงรบ.หน้าไม่สานต่อ
พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า ตนพูดในนามครม. ไม่ใช่ในนามคสช. สิ่งที่ครม.เป็นกังวลคือทำอย่างไรกระบวนการปฏิรูปและการปรองดองที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยการมีแต่ละสภาที่ทำงานอยู่นั้น มีอะไรที่เป็นมาตรการชัดเจนนำไปสู่การปฏิบัติ ถ้าใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เลือกตั้ง มีอะไรรับประกันได้หรือไม่ว่าสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำไว้จะได้รับการสานต่อ มีองค์กร มีกฎหมาย มีเจ้าหน้าที่ที่ทำ แต่ไม่คาบเกี่ยวเรื่องการบริหารประเทศที่เขาดูเรื่องความมั่นคง ความปรองดอง การเดินหน้ายุทธศาสตร์ประเทศ ตนไม่ได้ห่วงว่าใครแต่ต้องหาวิธีการมา
นายกฯกล่าวว่า ทุกคนต้องคิดว่าวันข้างหน้าจะไม่เกิดขัดแย้งขึ้นอีก เมื่อทุกคนมุ่งหวังว่าถ้าเราจะเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยได้ก็ต้องเลือกตั้ง ไม่เถียง นักการเมืองมองอีกแง่หนึ่งว่าทำอย่างไรที่จะไม่มีปฏิวัติ เขาว่าต้องปฏิรูปทหารก่อนเพราะทหารเป็นผู้ปฏิวัติ คิดอย่างนี้บ้านเมืองก็ไปไม่ได้ การปฏิวัติทุกครั้งมีสาเหตุ ไม่ได้บอกว่าถูกต้องแต่ไทยมันเป็นแบบนี้ แก้ปัญหาแบบนี้มาตลอด ทำอย่างไรปัญหาจะไม่เกิดขึ้นอีก ทุกคนต้องทำตามหน้าที่ มีธรรมาภิบาล มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่ทับซ้อนข้าราชการ เดินหน้าประเทศตามขั้นตอน ไม่ปฏิเสธว่าต้องเป็นประชาธิปไตย แต่มันจะแค่ไหน วางแผนปฏิรูปประเทศไว้อย่างไร
นายกฯกล่าวว่าการปฏิรูปตำรวจ ไม่เถียงว่าต้องปฏิรูป วันนี้เราอยู่ในระยะที่ 2 ของรัฐบาลและคสช. ซึ่งตนถือว่าเป็นระยะที่ 1 ของการปฏิรูป พอถึงระยะที่ 3 คือการส่งให้รัฐบาลชุดต่อไป ถือเป็นระยะที่ 2 ของการปฏิรูป จะกี่ปีตนไม่รู้ 4 ปี 5 ปีจบ ก็ถือเป็นระยะที่ 2 ของรัฐบาลหน้า ถ้าจะมีถึง 10 ปี ก็เป็นอีก 5 ปีของรัฐบาลหน้า การแก้เรื่องปฏิรูปของรัฐบาลนี้ทำในรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดิน ปรับให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ทำงานอย่างบูรณาการ ใช้กฎอัยการศึก ใช้มาตรา 44 นี่ถือว่าตนปฏิรูปแล้ว การทำปฏิรูปขั้นต่อไปมันทำไม่จบต้องแก้โครงสร้างในกระทรวง ระเบียบการทำงานแต่ละเรื่อง มีกฎหมายลูก ซึ่งรัฐบาลหน้าต้องทำต่อ ไม่ใช่ทุกอย่างจะเอาแค่วันนี้ ก็จะเกิดข้อขัดแย้งอีกมากจะอยู่กันได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญก็ทะเลาะกันพออยู่แล้ว
ไม่ลดอำนาจทหาร
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าไม่อยากให้กลับไปเหมือนเดิมต้องช่วยกันหามาตรการที่เหมาะสม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำอย่างไรจะไม่ให้ปฏิวัติอีก ไม่ใช่ไปลดอำนาจใคร อำนาจมันอยู่ที่คนใช้ทั้งรัฐบาลและหัวหน้าส่วนราชการ ต้องคำนึงว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกใครจะเป็นคนแก้ ถ้ามุ่งประเด็นว่าต้องทำให้ทหารอ่อนแอ ทหารเล็กลงจะได้ไม่มีปฏิวัติ มันใช่หรือไม่ หรือให้ไปลดโครงสร้างตำรวจ วันนี้ทำงานกันอยู่ ทั้งหมดต้องเขียนเพื่อส่งให้รัฐบาลใหม่ว่าจะปฏิรูปอย่างไร เขาต้องทำตามที่เขียนไว้โดยรัฐบาลนี้ ไม่ใช่ไปคิดใหม่ แต่ทำอย่างไรรัฐบาลใหม่ถึงจะทำ สื่อก็ต้องไล่ถามเหมือนที่ไล่ถามรัฐบาลปัจจุบัน ยืนยันว่าเราทำเต็มที่แล้ว สิ่งที่ทำวันนี้ถ้าจะผิดก็คือไม่ตรงตามความต้องการของคนบางพวก บางกลุ่ม เพราะเมื่อมีการเปลี่ยน แปลงก็มีทั้งคนได้คนเสีย
เมื่อถามว่า นายกฯไม่มั่นใจว่ารัฐบาลใหม่จะเดินตามแผนที่วางไว้ในการปฏิรูป พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ใช่ไม่มั่นใจ แต่เป็นกังวลว่ารัฐบาลใหม่จะทำหรือเปล่า แต่เขาเป็นรัฐบาลโละทิ้งได้และแก้ได้ทุกอย่าง จึงต้องหามาตรการว่าทำอย่างไรที่จะไม่ต้องแก้หรือแค่เปลี่ยนแปลง แต่ต้องเดินตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ถ้าทุกคนมองว่าเขียนอย่างนี้หรือมีองค์กรต่างๆ ขึ้นมาดูแลแล้วจะกลายเป็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ก็กลับไปแบบเก่าก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 หมุนนาฬิกาย้อนกลับถ้าต้องการประชาธิปไตยแบบนั้นก็เอา
ไม่มีแผนสำรองรับอุบัติเหตุ
เมื่อถามว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองรัฐบาลเตรียมแผนสำรองอย่างไร นายกฯกล่าวว่า ไม่มี ถ้าสำรองไว้ก็บอกว่าตนเตรียมการไว้ล่วงหน้า และตนไม่เคยพูดถึงแผนสำรอง แต่พูดว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้อย่างไร ถ้าไม่ผ่านสปช.หรือผ่าน หากต้องทำประชามติก็แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จบแค่นี้ไม่มีสมมติ ถ้าจะใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือปี 2550 ตอนควบคุมอำนาจตนก็ออกคำสั่งใช้รัฐธรรมนูญฉบับเหล่านั้น ไม่เสียเวลาด้วย
ยอมรับกลัวเสียของ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใช้วิธีปกติไม่ได้ หากปล่อยให้เป็นเหมือนก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 มาถึงวันนี้ก็จะเป็นอย่างนั้นและบานปลายไปยิ่งกว่านี้ จึงต้องใช้วิธีการไม่ปกติแก้ปัญหา จึงต้องหากลไกที่จะทำให้สิ่งที่เดินมาแล้วไม่เสียของ ให้รัฐบาลใหม่ทำต่อ
เมื่อถามว่า ได้คิดแผนไว้แล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าคิดหมดอยู่แล้ว แต่มันจะได้ตรงความคิดหรือไม่ยังไม่รู้ แต่ถ้าบอกความคิดไปแล้ววันหน้าทำไม่ได้ก็จะบอกว่าเสียของ ความคิดคือความคิด ตนมีร้อยอย่างอยู่ในหัว เป็นพันแล้ว ความคิดของตนเดินเป็นเรื่องๆ ทีละขั้น ทหารสอนมาอย่างนั้น มีขั้นตอนการวางแผน ถ้ามีปัญหาก็ต้องเตรียมหนทางปฏิบัติไว้เพื่อแก้ปัญหาให้ได้ ประเทศชาติก็เหมือนกัน มีการเตรียมมาตรการลดความเสี่ยงไว้ เช่น เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา ถ้าเกิดสถานการณ์ต่างๆ จะทำอย่างไร เขาเคยเตรียมเคยคิดสิ่งเหล่านี้กันไว้หรือไม่
2 กมธ.ชงรื้อทั้งฉบับ 129 ประเด็น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุกรรมาธิการร่วมจัดทำประเด็นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง และกมธ.ปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม สปช.นำโดย นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. แถลงบทสรุปการเสนอคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังยื่นต่อกมธ.ยกร่างฯ ประเด็นสำคัญ คือเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับใน 129 ประเด็น ให้เหลือ 100 กว่ามาตรา โดยเสนอให้จัดการเลือกตั้งแบบสัดส่วนคู่ขนาน ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ตัดระบบโอเพ่นลิสต์ ส่วน ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จังหวัดละ 2 คน รวม 154 คน
จี้ชดเชย- ชาวบ้านปากมูนยื่นหนังสือถึงนายประทีป กีรติเลขา ผวจ.อุบลราชธานี เพื่อเรียกร้องรัฐบาล ให้ตั้งคณะกรรมการจ่ายเงินชดเชยเยียวยา และเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 4 เดือนตามที่เคยตกลงไว้ ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 25 พ.ค. |
ปิดช่องนายกฯคนนอก
นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง คนที่ 1 กล่าวว่า เรื่องที่มานายกฯ ได้ข้อยุติเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ให้นายกฯต้องมาจากส.ส.อย่างเดียวเท่านั้น และจะไม่มีการเขียนเปิดช่องไว้ในบทเฉพาะกาลเพื่อนำบุคคลภายนอกมาเป็นนายกฯในช่วงวิกฤต เนื่องจากการกำหนดให้ปลัดกระทรวงรักษาการรัฐมนตรีและให้เลือกปลัดกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งขึ้นเป็นรักษาการนายกฯ จะอุดช่องโหว่ในยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตได้อยู่แล้ว (อ่านรายละเอียด น.3)
ครม.ส่งข้อเสนอฉิวเฉียด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้วันที่ 25 พ.ค. เป็นวันสุดท้ายนั้น สมาชิกสปช.ที่รวมกลุ่มเพื่อยื่นคำขอแก้ไขได้ทยอยยื่นเอกสารต่อฝ่ายเลขานุการ กมธ.ยกร่างฯครบทั้ง 8 กลุ่มแล้ว ได้แก่ 1.กลุ่มยุทธศาสตร์ชาติ ของนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สปช. 2.กลุ่มการเมืองและกฎหมาย ของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สปช. 3.กลุ่มเศรษฐกิจ ของนายสมชัย ฤชุพันธุ์ 4.กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม ของนายมนูญ ศิริวรรณ 5.กลุ่มสื่อมวลชนและการคุ้มครองผู้บริโภค ของนายประสาร มฤคพิทักษ์ 6.กลุ่มการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น ของนายพงศ์โพยม วาศภูติ 7.กลุ่มของนายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ 8.กลุ่มสังคมและพลเมือง ของนพ.พลเดช ปิ่นประทีป
ขณะที่คำขอแก้ไขของครม. ที่ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ มีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนำเอกสารมายื่นต่อฝ่ายเลขานุการ กมธ. ยกร่างฯ ก่อนเวลา 16.30 น. เพียงเล็กน้อย ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯพร้อมนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างฯได้เข้ามาตรวจความเรียบร้อยระหว่างที่เจ้าหน้าที่ของทำเนียบรัฐบาลนำเอกสารมายื่น ซึ่งนายบวรศักดิ์กล่าวกับเจ้าหน้าที่ว่า "ดีนะที่ครม.ยังส่งมาทันเวลา"
26 พค.กมธ.ยกร่างถกคำขอแก้ไข
นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานกมธ.ยกร่างฯ คนที่สอง กล่าวว่า หลังได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญจากสปช.แล้ว ฝ่ายเลขานุการของกมธ.ยกร่างฯจะนำขอแก้ไขมาประมวลและแยกเป็นรายมาตรา เพื่อดูว่ามาตราใดมีการเสนอขอแก้ไขบ้าง จากนั้นจะเชิญแต่ละฝ่ายมาชี้แจงและอธิบายเหตุผลที่ขอปรับแก้ในวันที่ 2-6 มิ.ย. เบื้องต้นให้แต่ละคณะส่งตัวแทนชี้แจงคณะละ 5 คน คณะละ 3 ชั่วโมง กระบวนการต่อจากนี้ กมธ.ยกร่างฯพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบคอบเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมต่อไป
นายมานิจกล่าวว่า ส่วนที่ กมธ.ปฏิรูปการเมืองเสนอให้เปลี่ยนคำว่า"พลเมือง"มาเป็น"ประชาชน" แทนเพื่อป้องกันความสับสน ตนมองว่า การกำหนดคำว่าพลเมืองไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากพลเมือง ยุคใหม่ต้องรู้จักสิทธิ หน้าที่ ซื่อสัตย์ และเคารพสิทธิ ซึ่งการกำหนดให้คนไทยเคารพสิทธิหน้าที่ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย นอกจากนี้คำว่าพลเมืองคือการยกระดับประชาชน โดยวันที่ 26 พ.ค. กมธ.ยกร่างฯจะประชุมเพื่อพิจารณาคำขอแก้ไขที่ทุกฝ่ายส่งเข้ามา
งูเขียวโผล่สภา
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เวลา 08.30 น. ที่ห้องโถงชั้น 1 อาคารรัฐสภา 1 ซึ่งมีการ เตรียมจัดงานโครงการรัฐสภาพร้อมใจบริจาคโลหิตเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปรากฏได้เกิดเหตุโกลาหลเมื่อเจ้าหน้าที่พบงูเขียวทางมะพร้าว ขนาดยาวเกือบ 2 เมตร โผล่มาใต้โต๊ะกลางห้องโถงบริเวณจัดงาน ซึ่งเป็นโต๊ะวางอุปกรณ์เพื่อรับบริจาคโลหิต ทำให้เจ้าหน้าที่ที่มาเตรียมงานต่างตระหนกตกใจ ที่สุดเจ้าหน้าที่ได้จับงูดังกล่าวไปปล่อยแล้ว
ทั้งนี้ งูชนิดดังกล่าวมักอาศัยอยู่ตามต้นมะพร้าวแต่ไม่มีพิษ เจ้าหน้าที่คาดว่างูตัว ดังกล่าวน่าจะติดมากับสัมภาระที่เจ้าหน้าที่นำเพื่อเตรียมจัดงานตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ ผ่านมา
เทียนฉายไม่เชื่อสปช.คว่ำรธน.
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. กล่าวกรณีหากรัฐบาลแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้กมธ.ยกร่างฯแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพิ่มจาก 60 เป็น 90 วันว่า การลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ของสปช.ต้องเลื่อนจากวันที่ 6 ส.ค. ออกไปอีก 1 เดือน ขณะที่การทำงานการปฏิรูปก็เร่งดำเนินการอยู่ คาดว่าแผนการปฏิรูปทั้งหมดจะเสร็จในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มิ.ย. ก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายจะเข้าสู่การพิจารณาของสปช.
เมื่อถามว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญมีข้อเสนอให้ตัดหมวดการปฏิรูปให้สั้นลง จะกระทบต่อการปฏิรูปหรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า ไม่กระทบ เพราะสปช.มีหน้าที่ทำแผนปฏิรูป ไม่ใช่ทำการปฏิรูป การปฏิรูปไม่ได้ขึ้นอยู่กับเขียนรัฐธรรมนูญสั้นหรือยาว ขนาดรัฐธรรมนูญปี 2550 เขียนไว้ยืดยาวก็ไม่ทำ หากคนไม่ยึดถือเขียนอย่างไรก็เบี้ยวอยู่ดี เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับพลเมืองต้องไปทวงถาม
ส่วนข่าวสมาชิกสปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรม นูญ นายเทียนฉายกล่าวว่า ยังมีเวลากว่าร่างจะมาถึง ซึ่งต้องดูว่ากมธ.ยกร่างฯ จะปรับปรุงตามข้อเสนอขอแก้ไขหรือไม่ วันนี้ยังไม่เห็นร่าง หากปรับแก้ให้ตามข้อเสนอทั้งหมดก็จะคว่ำหรือ ตนคิดว่าเร็วไปที่จะคว่ำ ถึงพยายามบอกว่าถึงเวลาค่อยมาคุยกัน
บิ๊กโด่ง ยันไม่ได้รุนแรงกับน.ศ.
ที่โรงเรียนนายสิบทหารบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. และรมช.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานพิธีบวงสรวงและวางศิลาฤกษ์การจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ กรณีการควบคุมตัวนักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรมแสดงออกเนื่องในวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหารว่า พบว่ามีบางส่วนออกมาเคลื่อนไหวซึ่งมองว่ามีส่วนน้อย การปฏิบัติกับนักศึกษาที่เป็นวัยเรียน ทางผู้ใหญ่หรือนายกฯและรมว.กลาโหม มีความเข้าใจสามารถจะแสดงออกได้ในกรอบที่ไม่มีผล กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทุกคนต้องเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่จะปล่อยให้มีการทำสถานการณ์ต่างๆ จนอาจนำไปสู่ความไม่เรียบร้อยต่อไปคงเป็นไปไม่ได้ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ให้นิ่ง จำเป็นต้องขอความร่วมมือไปยังคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองของนักศึกษาบางท่านเท่านั้นเอง หรือครูอาจารย์ เจ้าของสถานศึกษาควรทำความเข้าใจกับตัวเด็ก ควรมาร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อมาทำให้สถานการณ์มันนิ่ง ราบรื่น ไปสู่โรดแม็ปต่างๆ ที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ซึ่งจะดีที่สุด
ส่วนที่หลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นการใช้ความรุนแรงนั้น พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ขอยืนยันว่าในความเป็นจริงแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาเลย เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเชิญตัวไป บางภาพบางมุมที่ปรากฏอาจดูเหมือนรุนแรงแต่จริงๆ แล้วไม่ได้รุนแรงอะไร ตนเองได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามเป็นความจำเป็นของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ ต้องให้ความเห็นใจ จะปล่อยปละละเลยคงไม่ได้ ซึ่งไม่ได้ทำให้สิทธิและเสรีภาพเสียหายแต่อย่างใดแต่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องรักษาสถานการณ์ให้มีความเรียบร้อยให้ได้ ต้องขอความร่วมมือ
คสช.เชิญนักการเมืองคุยรอบ 2
พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า หากจะมีการออกมาเคลื่อนไหวจากกลุ่มอื่นๆ อีก คงต้องพยายามทำความเข้าใจ หลังจากนี้จะมีการเชิญกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มนักวิชาการ หรือกลุ่มต่างๆ จะมาพบกันเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้ถึงต้นมิ.ย.นี้ เพื่อทำความเข้าใจกันเป็นครั้งที่ 2 จำเป็นต้องทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นช่องทางที่กลุ่มต่างๆ จะได้ให้ข้อคิดเห็นกับ คสช. ซึ่งทาง คสช.จะรับมานำเสนอกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อการปฏิรูปหรือนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
'ดาวดิน'ถูกตามถึงบ้าน
กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) ออกแถลงการณ์ระบุกรณีตำรวจควบคุมตัว 7 นักศึกษากลุ่มดาวดิน และเพื่อนๆ ที่ออกมาแสดงจุดยืนที่หน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ ในโอกาสครบ 1 ปีรัฐประหาร เรียกร้องให้ร่วมกันออกมาแสดงพลังในวิถีทางที่ทำได้และขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอให้กลุ่มที่มุ่งทำลายความชอบธรรมและยุยงส่งเสริมให้ประชาชนเกลียดชังนักศึกษาหยุดการกระทำดังกล่าว เพราะอาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงในอนาคตได้
ขอประกาศว่า การต่อสู้ของพวกเราปราศจากความรุนแรงและอามิสสินจ้างใดๆ พวกเราไม่ใช่ฝ่ายการเมืองไหนหรือสีใด พวกเราคือกลุ่มนักศึกษาที่ลงพื้นที่เรียนรู้ปัญหาและต่อสู้เคียงข้างกลุ่มชาวบ้านที่ถูกรัฐและนายทุนละเมิดสิทธิปล้นชิงทรัพยากรในภาคอีสาน การต่อสู้ที่ผ่านมาและในอนาคตนั้นชอบธรรมและสันติวิธี และขอให้ยกเลิกมาตรา 44 และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เร่งคืนอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนโดยเร็ว
นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ หนึ่งในนักศึกษากลุ่มดาวดินที่ชูป้าย 7 คน เผยว่า เวลา 11.00 น. วันที่ 25 พ.ค. พ่อของตนโทร.มาบอกว่ามีทหาร 2 นาย จากมทบ.ร้อยเอ็ด ไปหาพ่อที่โรงเรียน ถาม รปภ.ว่ามีคนชื่อนี้เป็นครูอยู่หรือไม่ ทำให้คนในโรงเรียนและชาวบ้านแตกตื่น ทหารเข้ามาสอบถามถึงประวัติของพ่อและตน บอกให้ห้ามลูกชายอย่าให้ออกมาเคลื่อนไหวเพราะจะทำให้มีคดีติดตัวด้วยมาตรา 44 ขณะที่ทหารสัมภาษณ์มีทหารอีกคนถ่ายรูป และตอนเย็นมีตำรวจ 2 นายไปที่บ้านเพื่อถามประวัติตนอีกครั้ง
นายศุภชัย ภูครองพลอย เล่าว่า แม่โทร.มาเล่าว่าวันที่ 23 พ.ค.หลังประกันตัวมีทหารไปบ้านตากับยายที่ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม 5 คน สอบถามหาเบอร์ของแม่จากนั้นทหารโทร.ไปถามแม่ว่าอยู่ที่ไหน ต่อมาวันที่ 24 พ.ค. กอ.รมน.กาฬสินธุ์เข้าไปที่บ้านที่อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ตอนนั้นมีแม่กับน้องสาวอยู่ที่บ้าน กอ.รมน.บอกแม่ว่าเข้าใจลูกชายทำกิจกรรมเพราะอะไรแต่อย่าเพิ่งให้ออกมาทำในช่วงนี้
นายวสันต์ เสตสิต หนึ่งใน 7 คนที่ชูป้าย เล่าว่า ทหารไปที่บ้าน 5 นาย ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. แต่วันนั้นไม่มีใครอยู่บ้าน ทหารจึงถามเพื่อนบ้านและฝากข้อความถึงแม่ของตนว่าให้มาบอกตนให้หยุดเคลื่อนไหวและหยุดออกมาต่อต้านและให้กลับไปตั้งใจเรียนหนังสือ
ออกหมายจับมือพ่นสีหน้าศาล
จากกรณีมีคนร้ายนำสเปรย์สีดำไปฉีดพ่นเป็นสัญลักษณ์เหมือนตัวอักษรภาษาอังกฤษตัว A ที่มีวงกลมล้อมรอบตัวอักษร คล้ายสัญลักษณ์ Anarchy หรือสัญลักษณ์เชิงอนาธิปไตย ที่ป้ายศาลอาญา บริเวณด้านหน้าและหลังจำนวน 2 จุด เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น พ.ต.อ.ภาณุเดช สุขวงศ์ ผกก.สน.พลหลโยธิน เผยว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนลงพื้นที่ตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดโดยรอบ พบคนร้าย 1 ราย จึงรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายจับคนร้ายรายดังกล่าวตามภาพถ่ายได้แล้ว 2 ข้อหา คือทำให้สาธารณประโยชน์เสียหาย และความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ซึ่งออกหมายจับตามภาพจากกล้องวงจรปิด แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นใครหรือคนกลุ่มใด รวมทั้งยังไม่ทราบว่าผู้ต้องหาดังกล่าวยังอยู่ใน กทม.หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเร่งรัดติดตามตัวมาดำเนินคดีต่อไป
นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวภายหลังตรวจสอบภาพกล้องวงจรปิดบันทึกภาพผู้ต้องสงสัย ก่อเหตุพ่นสีสเปรย์ทับป้ายสำนักงานศาลยุติธรรมและศาลอาญาว่า เท่าที่ดูภาพจากวงจรปิด ชัดเจนว่าคนร้ายเป็นผู้ชายเดินมาคนเดียว ก่อเหตุช่วงเวลา 03.00 น. วันที่ 24 พ.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำภาพจากกล้องวงจรปิดไปสืบสวนตามขั้นตอนและขอศาลออกหมายจับไปแล้ว คาดว่าน่าจะได้ตัวในเร็วๆ นี้ จะดำเนิน คดีข้อหาทำลายทรัพย์สาธารณะ ส่วนจะไต่สวนข้อหาละเมิดอำนาจศาลด้วยหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารศาลอาญาจะพิจารณา
รายงานข่าวแจ้งว่า ตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบว่าจับภาพผู้ต้องหาไว้ได้อย่างชัดเจน คนร้ายใส่เสื้อยืดสีขาว กางเกงขาสั้นสีดำหรือสีเข้ม สวมรองเท้าผ้าใบ ศีรษะผมค่อนข้างเกรียน มีกระเป๋าสะพายข้างและในมือมีกระป๋องสเปรย์ถืออยู่
'เกษมสันต์-จตุพร'ชิงปลัดทส.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแต่งตั้งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) คนใหม่ แทนนางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษฏ์ ที่ครม.มีมติย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายฯ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทส. ได้เสนอชื่อนายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการสำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯที่กำกับดูแลทส. เพื่อเสนอ ครม.ในวันที่ 26 พ.ค.นี้ ทั้งนี้ นายเกษมสันต์ ถือว่าใกล้ชิดกับพล.อ.ดาว์พงษ์ เนื่องจากเป็นเพื่อนร่วมรุ่นวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)
ขณะเดียวกัน มีกระแสข่าวพล.อ.ประวิตรต้องการผลักดันให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ขึ้นเป็นปลัดทส. เนื่องจากมีความคล่องตัวในการทำงานสูงและทำงานใกล้ชิดกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งในปี 2559 รัฐบาลและกระทรวงทส. จะชูเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นประเด็นหลัก
ท่องเที่ยวยังไม่เสนอชื่อคนแทน
ทำเนียบรัฐบาล นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอชื่อปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อธิบดีการท่องเที่ยว อธิบดีกรมพลศึกษา และรองอธิบดีกรมพลศึกษาคนใหม่ ต่อที่ประชุมครม. แทนบุคคลในตำแหน่งเดิมที่ถูกคำสั่งมาตรา 44 ระงับการปฏิบัติราชการว่า ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณาเสนอรายชื่อต่อครม.ในสัปดาห์นี้ โดยมอบให้ผู้ที่รักษาการปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติก่อน
เมื่อถามว่า เหตุที่ยังไม่เสนอชื่อต่อครม. เนื่องจากรอผลสอบบุคคลทั้ง 4 ที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับการทุจริตก่อนหรือไม่ นางกอบกาญจน์กล่าวว่า ตนได้ตรวจสอบระยะเวลาที่ใช้ดำเนินการ เบื้องต้นการตรวจสอบอาจไม่รวดเร็วนัก จึงคาดว่าอีก 1 สัปดาห์จะทราบความชัดเจนในส่วนนี้
บิ๊กตู่ ขอฟิจิหนุนไทยสมาชิกยูเอ็น
เวลา 10.00 น. วันที่ 25 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้อนรับและหารือข้อราชการกับนายโจเซเอีย โวเรเก ไบนีมารามา นายกฯ สาธารณรัฐฟิจิ จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์เปิดเผยว่า การเยือนประเทศไทยของนายกฯ ฟิจิและคณะครั้งนี้เพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือในหลายสาขา ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง การค้า และการลงทุน โดยเฉพาะการร่วมมือด้านวิชาการ การพัฒนาในสาขาอ้อย น้ำตาล น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ ประมง พลังงานทดแทน การท่องเที่ยว การค้าการลงทุน การจัดทำความตกลงระหว่างกัน อาทิ ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน รวมถึงความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างกันเพื่อส่งเสริมการไปมาหาสู่กัน
นายกฯ กล่าวว่า แจ้งย้ำให้นายกฯ ฟิจิทราบว่า ในวาระปี 2560-61 ไทยได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประเภทไม่ถาวร หวังอย่างยิ่งว่าจะได้รับความสนับสนุนจากฟิจิด้วยดี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงการขอเสียง-แลกเสียงระหว่างกันในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ ได้แก่ การสมัครผู้พิพากษาศาลกฎหมายระหว่างประเทศของไทย สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และประธานสมัชชาสหประชาชาติของฟิจิ
ปากมูนจี้'ประยุทธ์'เร่งเปิดเขื่อน
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล อ.โขงเจียม ประมาณ 50 คน นำโดยนางสมปอง เวียงจันทร์ แกนนำชาวบ้าน เข้ายื่นหนังสือกับนายประทีป กีรติเลขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ผ่านไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล โดยเรียกร้องรัฐบาลตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ตามที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อเม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสั่งการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน เป็นเวลา 4 เดือน ตามที่เคยมีข้อตกลงกันไว้สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเริ่มเปิดประตูตั้งแต่มิ.ย. ถึงต.ค.
พร้อมให้กรรมการพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลเมื่อ 26 ปีก่อน ในพื้นที่ อ.โขงเจียม อ.สิรินธร และ อ.พิบูลมังสาหาร กว่า 6,000 ครอบครัว ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้ลงนามแต่งตั้งกรรมการตามที่หารือกันไว้ ประการสุดท้ายให้รัฐบาลแสดงจุดยื่นคัดค้านการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ของประเทศลาว พร้อมให้รัฐบาลเปิดเจรจากับกลุ่มชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงอย่างเป็นทางการ ตามที่ได้มีการทำเอ็มโอยูไว้เมื่อ มี.ค.
นายประทีป กล่าวว่า จะนำเรื่องแจ้งให้รัฐบาลทราบ เพื่อพิจารณาตามคำเรียกร้องของชาวบ้านปากมูน เพราะเป็นเรื่องระดับนโยบาย ส่วนเรื่องใดที่อยู่ในอำนาจของตนจะเร่งพิจารณาดำเนินการให้ทันที เมื่อได้รับคำตอบก็จะแจ้งให้ชาวบ้านทราบทันที