- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 24 May 2015 16:18
- Hits: 5190
ปล่อยตัว 33 นศ. 7 ดาวดิน จี้สอบจนท.ทำรุนแรง ให้ยุติจับกุมคนคิดต่าง สปช.ขู่คว่ำถ้าไม่แก้รธน.
สนส.แถลงเรียกร้องสอบตร.ทำรุนแรงกับน.ศ.ทั้งที่แสดงออกโดยสงบ ตร.ยอมปล่อยตัว 33 น.ศ.หน้าหอศิลป์แล้ว ก่อนคล้องแขนประกาศ 'การชุมนุมไม่ผิดกฏหมาย' ขณะที่กลุ่มดาวดินขอนแก่น ได้ประกันตัวเช่นกัน แต่ต้องเข้ารายงานตัวอีกครั้ง 8 มิ.ย. แอมเนสตี้ฯแถลงทหารยังห้ามคนเห็นต่างได้แสดงออก จี้รับฟังความเห็นประชาชน 'บิ๊กตู่'ลั่นไม่คิดใช้อำนาจกับน.ศ. เพราะเป็นอนาคตของชาติ คสช. จึงเน้นทำความเข้าใจ'วันชัย สอนศิริ'ย้ำอีกหากกมธ.ยกร่างฯยังดื้อดึง รธน.ถูกคว่ำแน่ รับรองเสียหน้าทั้ง 5 สาย 'ดิเรก ถึงฝั่ง' เผยคำขอแก้หมวดการเมือง ยึดรธน.ปี 40 ส.ส.-ส.ว.มาจากเลือกตั้งทั้งหมด โละม.181-182 แก้ม.111(5)คืนสิทธิ์บ้านเลขที่ 111-109 'บวรศักดิ์'ย้ำยกร่างรธน.เพื่อประชาชน ไม่ใช่นักการเมือง ลั่นใครตัดสิทธิพลเมือง ต้องผ่านศพไปก่อน
น.ศ.กว่า 100 คนปักหลักหน้าสน.
วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8943 ข่าวสดรายวัน
จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังจับกุมนักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) รวม 33 ราย ที่มารวมตัวกันแสดงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการจัดกิจกรรม 'ศุกร์ 22 มาฉลองกันมะ?' และงานศิลปะในแนวคิด "เวลาและความเงียบ" ที่บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมฯ แยกปทุมวัน เมื่อช่วงเย็นวันที่ 22 พ.ค. กระทั่งกลายเป็นเหตุชุลมุนวุ่นวาย ก่อนถูกคุมตัวไปที่ สน.ปทุมวัน ท่ามกลางการกดดันของกลุ่มนักศึกษาที่มารวมตัวเพื่อขอให้ปล่อยตัวเพื่อนนั้น
ปล่อยแล้ว - กลุ่มนักศึกษา 33 คน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัว ขณะจัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ยืนคล้องแขนกันหน้า สน. ปทุมวัน หลังได้รับการปล่อยตัวออกมาทั้งหมดในช่วงเช้ามืด เมื่อวันที่ 23 พ.ค.
สำหรับ ความคืบหน้า เมื่อเวลา 01.00 น. วันที่ 23 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณด้านหน้า สน.ปทุมวัน กลุ่มนักศึกษากว่า 100 คนยังคงนั่งร้องเพลงปลุกใจพร้อมจุดเทียน อีกทั้งตะโกนให้ปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมด หากมีการส่งศาลทหารดำเนินคดี กลุ่มนักศึกษาทั้งหมดจะตามไปเพื่อให้เพื่อนนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัวจะได้รับอิสรภาพ
นายธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์คณะนิติ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่ง เจ้าหน้าที่ได้แยกสอบปากคำ 3 ห้อง มีนักศึกษา 9 คนคาดว่าจะถูกดำเนินคดี ส่วนที่เหลืออีก 24 คนจะถูกปล่อยตัว ทั้งนี้ กลุ่มนักศึกษามีข้อตกลงกันว่าทุกคนต้องถูกปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข หากไม่ทำตามข้อเรียกร้อง กลุ่มนักศึกษาทั้งหมดคงรวมตัวกันอยู่ภายในบริเวณสน.ปทุมวัน หากเจรจาตกลงสำเร็จ จะแยกย้ายกันกลับบ้านไป
ปล่อยแล้ว 33 น.ศ.-ไม่แจ้งข้อหา
ต่อมาเวลา 02.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานรถพยาบาล ศูนย์เอราวัณสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งตัว น.ส.ชลธิชา หรือ ลูกเกด แจ้งเร็ว นักศึกษาปี 4 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ถูกควบคุมตัวมายังสน.ปทุมวันตั้งแต่ช่วงเย็น ไปยังร.พ.กลาง เพื่อรักษา เนื่องจากมีอาการอ่อนแรง โดยมี เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง 2 คนติดตามไปด้วย
พ.ต.อ.ชยุต มารยาทตร์ รอง ผบก.น.6 กล่าวว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้นำกลุ่มนักศึกษาทั้ง 33 คน ทยอยให้ถ้อยคำในฐานะพยานกับพนักงานสอบสวนไว้ก่อนเกี่ยวกับวันและเวลาช่วงเกิดเหตุ หลังให้ถ้อยคำเสร็จ ทางพนักงานสอบสวนจะอนุญาตให้กลับบ้านได้ทันที โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบหาภาพจากกล้องวงจรปิด พร้อมสอบปากคำพยานแวดล้อม ถ้าหากบุคคลใดกระทำความผิดก็จะเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
กระทั่งเวลา 06.00 น. หลังจากกลุ่มนักศึกษาให้ถ้อยคำกับพนักงานสอบสวน นานกว่า 12 ชั่วโมงเสร็จสิ้น ทางเจ้าหน้าที่จึงปล่อยตัวทั้งหมด โดยกลุ่มนักศึกษาที่ถูกปล่อยตัวออกมา ได้มายื่นคล้องแขนหน้าสถานีตำรวจ พร้อมร้องเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาและกลุ่มผู้ชุมนุมที่มาเฝ้ารอตั้งแต่ช่วงดึกที่ผ่านมา
เด็กมธ.ลั่นชุมนุมไม่ผิดกฎหมาย
ด้านนายรังสิมันต์ โรม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถูกควบคุมตัวกล่าวว่า การชุมนุมของพวกเราไม่ผิดกฎหมาย และยืนยันว่าการแสดงออกของพวกเรา เป็นการเรียกร้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการกระทำของเจ้าหน้าที่กับพวกเรานั้นต่างหากที่เรียกว่าผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณทุกคนที่มารอคอยเป็นกำลังใจให้ กระทั่งถูกปล่อยตัวออกมา
พ.ต.อ.จารุต ศรุตยาพร ผกก.สน.ปทุมวัน กล่าวว่า ขณะนี้ได้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่จะสอบประวัติบุคคลไว้ก่อน จากนั้นพนักงานสอบสวนจะตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุ พร้อมกับสอบพยานแวดล้อม หากผู้ใดเข้าข่ายกระทำความผิดจะเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา ก่อนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ให้ประกัน 7 น.ศ.ดาวดินขอนแก่น
เมื่อเวลา 09.45 น. ที่สภ.เมืองขอนแก่น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ประกันตัวนักศึกษากลุ่มดาวดินทั้ง 7 คนแล้ว ได้แก่ นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ นายพายุ บุญโสภณ นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นายสุวิชชา ฑีพังกร นายศุภชัย ภูครองพลอย และนายวสันต์ เสธสิทธิ ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค. จากการรวมตัวแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหารซึ่งตรงกับวันครบรอบ 1 ปีการควบคุมอำนาจของ คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น และถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของ ศสช. โดยทั้งหมดถูกควบคุมตัวไว้ 1 คืน ก่อนใช้เงินคนละ 7,500 บาทยื่นประกันกันออกมา และเจ้าหน้าที่นัดให้มารายงานตัววันที่ 8 มิ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการปล่อยตัว มีประชาชนและนักศึกษากว่า 50 คน ที่มารอค้างคืนที่หน้าสภ.เมืองขอนแก่น ต่างเข้าสวมกอดและจับมือกับนักศึกษาทั้ง 7 คนด้วยความดีใจ
ตัวแทนนักศึกษากลุ่มดาวดินอ่านแถลง การณ์ซึ่งเขียนบนโฟมข้าวกล่องว่า "ทหารที่รัก การที่กักขังเรา มันขังได้แต่ร่างกาย ไม่สามารถกักขังหัวใจอันเสรีของเราได้กรงเหล็กแข็งๆ หรือจะสู้หัวใจของเราได้ มาตรา 44 ที่รัก มันก็แค่ตัวอักษรที่เผด็จการเขียนขึ้นมาแล้ว มโนเองว่าเป็นกฎหมาย ในเมื่อกฎหมาย บอกว่าเราผิด เราก็ผิดตามกฎหมาย แต่เราไม่เคยผิดต่อสำนึกของหัวใจตัวเองสำนึกที่รู้ผิดชอบชั่วดี สำนึกในความเท่ากันของสิทธิเสรีภาพของสามัญชนและสำนึกถึงความชั่วร้ายของเผด็จการและมาตรา 44 ที่พวกเรายอมรับไม่ได้ ตราบใดที่เผด็จการยังไม่หยุดขุดเจาะปิโตรเลียม ไล่ที่ดิน โพแทส โรงไฟฟ้า เหมือง เขื่อน อุตสาหกรรมและยังไม่คืนอำนาจให้ประชาชน พวกเรายืนยันว่าจะเป็นปฏิปักษ์ต่อเผด็จการ"
แอมเนสตี้จี้รัฐเลิกจับคนเห็นต่าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ "ประเทศไทย : การจับกุมในโอกาสครบรอบปีของรัฐประหาร" เป็นสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนว่า ระบอบทหารที่ปกครองประเทศมาครบปีแล้วยังไม่ยอมให้มีการแสดงความเห็นต่างโดยสงบ โดยนาย ริชาร์ด เบนเน็ต ผอ.ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ครบ 1 ปีนับแต่กองทัพไทยประกาศใช้กฎอัยการศึกและยึดอำนาจ เรายังคงเห็นการปราบปรามที่รุนแรงต่อผู้ประท้วงอย่างสงบบนท้องถนน
"ต้องไม่มีการจับกุมหรือควบคุมตัว ผู้ประท้วงอย่างสงบ เพียงเพราะเขาเสนอความเห็นที่อาจไม่น่ารับฟังหรือท้าทายระบอบทหาร บุคคลที่ชุมนุมอย่างสงบเพื่อใช้สิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพแสดงออก ต้องได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข และต้องยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมด ทางการต้องเคารพและต้องคุ้มครองให้มีการแสดงความเห็นต่างอย่างสงบ และให้ยกเลิกมาตรการอย่างเข้มงวดที่ปิดกั้นการแสดงออกและการชุมนุมในไทย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติ" นายริชาร์ดกล่าว
ผอ.ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ฯ ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนความพยายามอย่างต่อเนื่องของทางการไทย ในการปราบปรามเสียงที่เห็นต่างของประชาชน โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอาจต้องเจอกับโทษจำคุก ทางการใช้อำนาจมากมายที่มีอยู่ จำกัดและปฏิเสธไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิของตน อ้างว่าเพื่อความมั่นคงของประเทศ ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาต้องอนุญาตให้ประชาชนใช้สิทธิในการเห็นต่างได้อย่างสงบ
ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอมเนสตี้ฯ เผยแพร่บทความ ประเทศไทย : หนึ่งปีผ่านไป การปราบปรามแบบ "ชั่วคราว"กลายเป็นถาวร มีเนื้อหาเรียกร้องให้ทางการไทยเร่งยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่กดขี่ รวมทั้งการปฏิบัติที่ละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทางการควรรื้อฟื้นบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และยุติการลอยนวลพ้นผิดกับผู้ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน
แม้ทางการไทยเสนอกรอบเวลามุ่งสู่การเลือกตั้ง ล่าสุดบอกว่าจะจัดเลือกตั้งอย่างเร็วสุดในเดือนส.ค.2559 แต่ไม่มีการส่งสัญญาณใดๆ ว่าจะยกเลิกมาตรการจำกัดสิทธิเสรีภาพและการใช้สิทธิเหล่านั้นอย่างสงบ รวมทั้งสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองด้วย ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงการใช้แรงกดดันอย่างไม่เป็นทางการและการแสดงท่าทีข่มขู่ของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งนายกฯ ต่อสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์
แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องให้ทางการปล่อยตัว ยกเลิกข้อกล่าวหาและบทลงโทษโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัว ถูกฟ้องคดี หรือถูกศาลตัดสินลงโทษ จากการใช้สิทธิมนุษยชนของตนเพื่อแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างสงบ และขอเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้อำนาจทหาร ซึ่งเดิมใช้ผ่านกฎอัยการศึกและปัจจุบันใช้ผ่านประกาศและ คำสั่งของคสช. ในการควบคุมตัวบุคคล เข้ารับการปรับทัศนคติ ไม่เกิน 7 วัน ในสถานที่ที่ไม่เปิดเผยและไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอก อาจเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการทรมานขึ้นได้
โอนคดีศาลทหารไปศาลพลเรือน
ทางการต้องยุติการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวจากการควบคุมตัวโดยพลการและการคุมขังอย่างอื่น เป็นเหตุให้บุคคลหลายร้อยคนไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองได้อีก เนื่องจากเสี่ยงจะถูกสั่งคุมขังอีกครั้ง เงื่อนไขเพื่อการปล่อยตัวต่างๆ ต้องถูกยกเลิก ส่วนอำนาจอย่างอื่นที่ทางการประกาศเพิ่ม เมื่อเดือนเม.ย.2558 รวมทั้งการแต่งตั้ง "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" ที่มีอำนาจตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายศาล ต้องถูกยกเลิกเช่นกัน
แอมเนสตี้ฯ ยังเรียกร้องให้ทางการถ่ายโอนคดีของพลเรือนที่ถูกไต่สวนในศาลทหารไปยังศาลพลเรือน และให้การประกันว่า เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ รวมทั้งให้ความยุติธรรมและการเยียวยาต่อ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการควบคุมตัวโดยพลการ การทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย และการบังคับบุคคลให้สูญหายในปีที่ผ่านมา
สนส.จี้สอบตร.รุนแรงนักศึกษา
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ออกแถลงการณ์ขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการเข้าควบคุมตัวประชาชนและนักศึกษาที่ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบและสันติ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร โดยเรียกร้อง 1.ยุติการดำเนินคดีกับประชาชน นักศึกษา ที่ใช้สิทธิตามสิทธิขั้นพื้นฐาน แสดงออกโดยสงบ สันติและปราศจากอาวุธ 2.ตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระ ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวว่าใช้อำนาจส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนหรือไม่ หากพบว่ากระทำผิดต้องลงโทษผู้กระทำความผิดและเยียวยาผู้เสียหายโดยเร็ว
ด้านมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลง การณ์ขอให้สอบสวนกรณีเจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบในวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ต้องนำคนผิดมาลงโทษทั้งทางวินัยและกฎหมาย รวมทั้งพิจารณาฟื้นฟูเยียวยาต่อผู้ชุมนุมอย่างเหมาะสมและเพียงพอ ยุติการใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุในการปราบปรามยุติการชุมนุมโดยสงบของประชาชน และให้พนักงานสอบสวนสั่งคดีด้วยความเป็นธรรม การตั้งข้อหาต่อนักศึกษาสมาชิกกลุ่มดาวดิน เป็นการใช้อำนาจขัดต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็นจนเกินสมควร ไม่เป็นธรรม
คสช.ลั่นไม่มีจนท.ทำร้ายนศ.
เมื่อเวลา 10.30 น. พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และโฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี กลุ่มนักศึกษาเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ หลังครบรอบการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ว่า เจ้าหน้าที่ที่ดูแลแต่ละพื้นที่พยายามทำความเข้าใจ และใช้วิธีขอความร่วมมือและหมั่นทำความเข้าใจกับกลุ่มนักศึกษา ที่ผ่านมา พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคสช. เน้นย้ำทหารและตำรวจว่าการดำเนินการกับนักศึกษาที่ยังเป็นเยาวชน ต้องใช้วิธีทำความเข้าใจและขอความร่วมมือเป็นหลัก เพราะยังอยู่ในวัยศึกษา
โฆษกคสช.กล่าวว่า ส่วนที่มีการเผยแพร่ภาพทางโซเชี่ยลมีเดียว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายนักศึกษานั้น ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำร้ายนักศึกษา ขอให้ประชาชนระมัดระวังการรับข้อมูลข่าวสาร และขอเตือนผู้ไม่หวังดีที่เผยแพร่ภาพและข้อความใส่ร้ายเจ้าหน้าที่ด้วย
ไม่ใช้มาตรการพิเศษ-ปรับทัศนคติ
เมื่อถามว่าคสช.จะใช้มาตรการพิเศษดำเนินการกับกลุ่มนักศึกษาที่ยังไม่เข้าใจและจะเชิญตัวมาปรับทัศนคติหรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า คสช.จะไม่ใช้มาตรการพิเศษดำเนินการ เพราะต้องระมัดระวัง อาจมีการสร้างเรื่องต่างๆ ให้เกิดเป็นประเด็น สำหรับกรณีการปรับทัศนคตินั้นก็คงไม่มี เพราะที่ผ่านมานักศึกษาก็พยายามทำความเข้าใจร่วมกันอยู่ แต่บางอย่างถ้าผิดกฎหมายก็ต้องเชิญตัวไปโรงพัก เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติมและขอความร่วมมือ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะพยายามไม่ตั้งข้อกล่าวหา
ส่วนที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ฟ้องพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. กับพวกรวม 5 คน ในฐานะความผิดเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 และมาตรา 114 กรณีร่วมกันยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 พ.อ.วินธัยกล่าวว่า เขาดำเนินการในเชิงสัญลักษณ์เพื่อทำกิจกรรม สิ่งใดที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการ แต่ขออย่ารวมตัวกันเพื่อชุมนุมทางการเมืองและอย่าฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลยพินิจดำเนินการตามขั้นตอนกรอบกฎหมาย
ไก่อูโต้แอมเนสตี้-ยันเปิดเวทีเป็นร้อย
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงแถลงการณ์ของแอมเนสตี้ฯ ว่า เป็นการกล่าวโดยอาศัยมุมมองต่อเหตุการณ์เพียงเหตุการณ์เดียว ปราศจากการศึกษาข้อมูลอย่างครบถ้วนอย่างที่องค์กรระดับโลกพึงกระทำ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานองค์กรที่ คสช.ตั้งขึ้น ได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศหลายร้อยเวที แสดงถึงความเปิดกว้างและจริงจังของรัฐบาลที่จะรับฟังทุกความเห็น รวมทั้งความเห็นต่าง
"การแสดงความคิดเห็นขององค์กรระดับนานาชาติควรอยู่บนพื้นฐานการแสวงหาข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง และปราศจากอคติ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือขององค์กรเอง เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัดกับการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต และน่าเชื่อว่ามีวาระแฝงซ่อนเร้น เป็นภัยต่อความสงบสุขของประเทศโดยรวม และอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพกฎหมาย และสนับสนุนการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ อย่านำประเทศกลับเข้าสู่วังวนของความขัดแย้ง ซึ่งบั่นทอนการพัฒนาประเทศ" รองโฆษกรัฐบาลกล่าว
"บิ๊กตู่"ลั่นพยายามใช้สติ-อดทน
เมื่อเวลา 19.00 น. ที่ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "นายกฯพบหอการค้า รวมพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" จัดโดยหอการค้าไทย เป็นการจัดประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาค ประจำปี 2558
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้คนไทยมีอยู่ 2 อย่าง คือข้อเท็จจริงกับความรู้สึก คนไทยเป็นคนโรแมนติก ส่วนใหญ่ใช้ความรู้สึก รักใครชอบใคร เกลียดใคร ก็ใช้หัวใจเป็นส่วนมาก แต่ใช้สมองน้อย คิดใคร่ครวญว่ามันใช่หรือไม่ใช่น้อยมาก ตนไม่ได้ดูถูก วันนี้สิ่งแรกที่เราต้องแก้คือเราต้องมีความรู้ มีสติ และมีความรู้สึกในการครองชีวิต หากยังใช้ความรู้สึกดำรงชีวิตอยู่อย่างนี้ คงเดินต่อไปไม่ได้ แม้แต่ตนยังต้องพยายามมีสติ ไม่โกรธ ซึ่งทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้าใครมาอยู่ตรงจุดเดียวกับตน จะรู้ว่าต้องอดทนมากพอสมควร
ย้ำไม่เคยแสวงหาประโยชน์
นายกฯ กล่าวว่า ยืนยันว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้เข้ามาเพื่อผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น หลายคนพูดว่ารัฐบาลเตรียมต่ออำนาจต่อไปจนเลือกตั้ง ตนบอกว่าจะให้ทำประชามติก็บอกมา กลายเป็นว่าตนวางแผนไว้แล้วว่าให้ทำประชามติเพื่ออยู่อีก 3 เดือน ตนจะอยู่ไปทำอะไร ถ้าอยู่เพื่อให้ได้ประโยชน์ ตนไม่อยู่แน่เพราะทุกวันนี้สลึงหนึ่งก็ยังไม่ได้ เบี้ยประชุมก็ไม่รับ ถือว่าเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ เสี่ยงชีวิตเข้ามา ไหนจะครอบครัว ญาติพี่น้องอีกมาก แต่ประเทศชาติปล่อยไปไม่ได้
"ผมทำทุกวันนี้ ผมยอมเสียหน้าเพียงคนเดียว ยอมโดนด่า โดนตำหนิทั้งในและต่างประเทศ เพราะต้องการให้คนไทยมีศักดิ์ศรี ยืนยันว่าผมดำเนินการทุกอย่างด้วยความเป็นห่วง ส่วนที่วิจารณ์ว่า มั่นคง หมายถึงทหารได้งบมากกว่าคนอื่นนั้น แสดงว่าไม่เข้าใจระบบงานงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ผมถือว่าสื่อให้เกียรติผม ถึงจะทะเลาะกันบ้างก็ธรรมดา ผมอยากให้อยู่กันในประเทศ ไม่ต้องเอาออกไปข้างนอก สิ่งใดที่เป็นความเลวร้าย ไม่เรียบร้อย ไม่ใช่เรื่องที่เราจะปิดบัง แต่ชี้แจงได้ว่ากำลังแก้ไขอยู่" นายกฯ กล่าว
แจงไม่คิดใช้อำนาจกับน.ศ.
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนมีหลักการชัดเจน เวลาจะพูดอะไรออกไป ก่อนพูด คิดแล้วคิดอีก เวลาสั่งอะไรต่างๆ ไม่ใช่ใช้แต่อำนาจ เพราะอำนาจใช้มากๆ ก็หมดเร็ว บางวันก็ใช้ไม่ได้ อย่างที่นักศึกษาออกมาก็ใช้ไม่ได้ เพราะนั่นคืออนาคตของเรา ตนพยายามเข้าใจว่าเขามีไฟแรง มีอุดมการณ์ที่ดี แต่มันยังไม่ใช่เวลา ตนก็ให้อภัยมาหลายรอบ พ่อแม่เขาก็ห่วงลูก ถ้าอยากให้ลูกจบการศึกษา ก็ต้องสอนลูกว่าที่เราเข้ามา เราทำอะไรกันอยู่ เรากำลังสร้างประวัติศาสตร์ใช่หรือไม่ เรากำลังแก้ปัญหา
"คนไทยทุกคนจะรักใคร ชอบใคร ผมไม่เคยห้าม ไม่เคยไปเกลียดใคร แต่ใครจะมาแตะผมไม่ได้ ถ้าว่าผม ผมก็สวน เวลาเขาพูดอะไรมาก็ตกใจ พูดมาก็เอาอีกแล้ว ข้ามกันไม่พ้นเสียทีใช่หรือไม่ อะไรที่เป็นความเลวร้าย เราหยุดไปก็จบ เขาอยากจะพูดก็พูดไป ผมพูดได้เพียงอย่างเดียวว่าถ้าถูกกฎหมายก็กลับมา ถ้าไม่ถูกกฎหมาย แสดงว่าเขาผิดกฎหมายใช่หรือไม่ ถึงกลับบ้านไม่ได้ นั่นแหละคือเรื่องของผม อย่างไรผมก็ชนะเขาอยู่แล้วตอนนี้ แต่วันหน้าอยู่ที่พวกท่านว่าจะดูแลผมหรือเปล่า ผมเชื่อมั่นว่าทำความดี ไม่ต้องกลัว พระก็เยอะ พกพระอยู่ด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
"บิ๊กป้อม"กลับไทยก่อนกำหนด
เมื่อเวลา 10.25 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม พร้อมคณะ เดินทางกลับประเทศไทย ภายหลังจากเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซียและสาธารณรัฐสิงคโปร์ อย่างเป็นทางการ วันที่ 21-23 พ.ค. เพื่อหารือถึงความร่วมมือทางทหารและความร่วมมือด้านความมั่นคงกับทั้งสองประเทศ โดยพล.อ.ประวิตรกลับถึงประเทศไทยก่อนกำหนด 1 ชั่วโมง ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัย อย่างเข้มงวด โดยไม่อนุญาตผู้สื่อข่าวเข้า ไปยัง บน6.
ทั้งนี้ น่าสังเกตว่า ช่วงเวลาที่พล.อ.ประวิตรเดินทางเยือนสิงคโปร์นั้น ตรงกับช่วงที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางมานัดพบหลานสาวฝาแฝด เอมิ-นานิ ลูกสาวของน.ส.พินทองทา ชินวัตร หรือเอม บุตรสาวของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่สิงคโปร์พอดี
"วิษณุ"ย้ำส่งคำขอแก้ไขทันกำหนด
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เปิดเผยถึงการรวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนของครม. เพื่อส่งไปยังคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว โดยจะเสนอที่ประชุมครม.นัดพิเศษพิจารณาในวันที่ 25 พ.ค. ก่อนส่งกมธ.ยกร่างฯในวันดังกล่าว ทันแน่นอนเพราะกรอบเวลากำหนดไว้
เมื่อถามว่าหากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเริ่มต้นสรรหาสปช.และกมธ.ยกร่างฯ ใหม่ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ เมื่อถามถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อเปิดทางการทำประชามติไว้ จะแก้ไขเนื้อหาในส่วนนี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีนโยบายแก้ไขในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการหารือกรณีหากทำประชามติไม่ผ่านแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
กำลังใจ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถูกประชาชนห้อมล้อม ให้กำลังใจ พร้อมขอ ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ระหว่างเดินทางไปทำบุญ และกราบ สักการะพระธาตุ ขามแก่น อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 พ.ค. |
เทียนฉายข้องใจ-ใครจะคว่ำรธน.
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. กล่าวถึงกระแสข่าวสมาชิกสปช.บางกลุ่มเคลื่อนไหวเตรียมลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่ทราบและไม่ได้ยินเรื่องนี้ คิดว่าไม่น่าจะมี เพราะไม่มีเหตุผลที่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากตอนนี้อยู่ในขั้นตอนขอเข้าชื่อขอแก้ไขเพิ่มเติม โดยยังไม่รู้ว่ากมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะแก้ไขส่วนไหนบ้าง
"ถ้าบอกว่าจะคว่ำ ไม่รับเลย ไม่มีเหตุผลเพราะยังไม่รู้เลยว่ากมธ.ยกร่างฯจะแก้ไขอย่างไรและตรงไหนบ้าง ผมอยากรู้ว่าเป็นใครที่จะเดินหน้าคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าตอนนี้บอกว่าจะคว่ำ แล้วจะมาแก้ไขกันไปทำไม" นายเทียนฉายกล่าว
เมื่อถามว่าสปช.วางแนวทางการทำงานไว้อย่างไรบ้าง เพราะขณะนี้โรดแม็ปของรัฐบาลถูกยืดออกไป เนื่องจากเปิดช่องให้ทำประชามติ นายเทียนฉายกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้วางแนวทางเพราะรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ยังไม่ได้ถูกแก้ไข ต้องรอให้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแก้ไขก่อน ตอนนี้ยังไม่มีการขยับการทำงานของสปช.แต่อย่างใด
วันชัยเชื่อสปช.กล้าโหวตคว่ำ
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปช. กล่าวถึงกระแสข่าวสปช.อาจโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า หากมีประเด็นใดที่สปช.เห็นตรงกันเกินกว่า 5 คณะว่าต้องแก้ไขตามที่เสนอขอไป แต่กมธ.ยกร่างฯ ยังดึงดัน แข็งขืน ดื้อดึงไม่ปรับแก้ เเถมหาเหตุผลมาชี้เเจงหักล้างไม่ได้แล้ว เชื่อว่าสมาชิก สปช.ส่วนใหญ่กล้าโหวตคว่ำด้วยน้ำมือตัวเองแน่ เพราะ สปช.มีศักดิ์ศรี จะไม่ยอมให้ใครมาควบคุมสั่งการได้ แต่วันนี้ยังไม่อยากกล่าวหากมธ.ยกร่างฯว่าไม่ฟัง เพราะเขาบอกจะยอมแก้ไขตามเสียงส่วนใหญ่ที่เห็นตรงกันมาก ต้องรอดูต่อไป
ถ้ากมธ.ดึงดัน-เสียหน้าทั้ง 5 สาย
นายวันชัยกล่าวถึงการทำประชามติว่า ถ้าวันใดมีการทำประชามติ จะเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นกับความมั่นคงแน่ เพราะการทำประชามติต้องเปิดเวทีให้ทุกฝ่าย ถึงวันนั้น คนอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งต้องการฉีกหน้า ตบหน้ารัฐบาล จะใช้เวทีนี้ปลุกปั่นให้เกิดแตกแยกได้ในเวลาเพียง 1 หรือ 2 เดือน ขนาดกดกันไว้ใต้น้ำยังมีแรงกระเพื่อม เมื่อทำประชามติ วันนั้นน้ำจะขุ่นขึ้นมา ก่อให้ประชาชนสับสน ที่สุดถ้านักการเมือง กลุ่มการเมืองไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว เขาจะเอาฐานมวลชนออกมามาคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่
"ถ้าประชามติไม่ผ่านก็เสียทั้งเงิน ทั้งเวลา เสียหน้า ครม. คสช. กมธ.ยกร่างฯ และสปช.ด้วย แต่ถ้าสปช.ลงมือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแล้ว บ้านเมืองจะได้ไม่วุ่นวาย ไร้แรงกระเพื่อมจากการทำประชามติ บางคนมั่นใจว่าประชามติจะผ่านก็เข้าใจ แต่จู่ๆ จะไปกวนน้ำให้ขุ่นทำไม ผมอยากให้สปช.เสียสละมาช่วยกัน เราไม่น่าจะปล่อยให้ระยะเวลานี้เกิดความปั่นป่วน แม้ผมจะต้องพ้นไปโดยไม่มีตำแหน่งแล้ว แต่ถ้าบ้านเมืองไปต่อได้ ผมยอมแลก" นายวันชัยกล่าว
เชื่อ"ตู่"ไม่แก้รธน.ต่ออายุสปช.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ตนไม่เชื่อว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะมีประเด็นที่แก้ไขจำนวนมาก โดยเฉพาะการแก้ไขให้สปช. ปฏิบัติหน้าที่ต่อ เพราะถือเป็นหลักการสำคัญที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันว่า เมื่อสปช.ลงมติไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้ กมธ.ยกร่างฯและสปช.สิ้นสุดลงไปพร้อมกัน จึงเชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. จะไม่เห็นด้วยและจะไม่ยอมให้แก้ไข เพราะจะเกิดแรงกระเพื่อมได้
นายไพบูลย์กล่าวว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะแก้ไขเพียง ให้ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และแนวทางหลังการทำประชามติเสร็จ ส่วนตัวมองว่าหากประชามติไม่ผ่าน ควรเข้าสู่แนวทางตามมาตรา 37 และ 38 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่กำหนดให้กมธ.ยกร่างฯและสปช.สิ้นสุดลง จากนั้นเข้าสู่กระบวนการเลือกสปช.และกมธ.ยกร่างฯชุดใหม่ เพื่อเริ่มต้นเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
"ไพบูลย์"เตือนอย่าลุแก่อำนาจ
นายไพบูลย์กล่าวถึงสปช.บางกลุ่มจะไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า อาจถูกมองได้ว่าเคลื่อนไหวเพื่ออยู่ต่อ เป็นการปักธงล้มร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่อยู่บนพื้นฐานการพิจารณาตามเหตุผล ดังนั้น ในวันประชุมสปช. เพื่อให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องใช้การลงคะแนนโดยเปิดเผยด้วยการขานชื่อ ตามที่ข้อบังคับการประชุมสปช.ข้อ 120 กำหนดไว้ สปช.เหล่านั้นต้องตอบคำถามกับสังคมให้ได้ด้วยว่าไม่เห็นชอบเพราะอะไร
"ผมมองว่าเมื่อเปิดให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การตัดสินใจจะอยู่ที่ประชาชน ส่วน สปช.เป็นเพียงผู้กลั่นกรอง ดังนั้น สปช.ไม่ควรลุแก่อำนาจ พึงตระหนักในการทำหน้าที่และใช้ดุลพินิจ ก่อนส่งต่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งการทำประชามติที่ต้องรับฟังความเห็นทุกฝ่าย จึงควรใช้พื้นที่หรือรายการโทรทัศน์เป็นเวทีดีเบตคนทุกฝ่าย" นายไพบูลย์กล่าว
ชงกมธ.ตัดทิ้งกลุ่มการเมือง
นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.ปฏิรูปการเมืองและ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีข้อยุติในรายละเอียดคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำเสนอต่อ กมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 25 พ.ค.นี้แล้ว มีสาระสำคัญดังนี้ ขอให้ตัดคำว่าพลเมืองออกทั้งหมดและให้ใช้คำว่าประชาชนแทน ส่วนการลงเลือกตั้งเสนอให้มีเพียงพรรคการเมืองอย่างเดียว ไม่เอากลุ่มการเมือง
นายดิเรกกล่าวว่า ส่วนรูปแบบการเลือกตั้ง ขอปรับแก้ให้เป็นแบบสัดส่วนคู่ขนาน ไม่ใช่แบบสัดส่วนผสมตามที่ กมธ.ยกร่างฯ เสนอ โดยมีลักษณะกลับไปใช้เหมือนปี 2540 วันแมนวันโหวตโดยมีสัดส่วนอยู่ที่ส.ส.เขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ส่วนส.ว.เสนอให้มี 154 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จังหวัดละ 2 คน เพื่อให้มีความชัดเจนโปร่งใส ประชาชนเข้าใจง่ายและเคยชินอยู่แล้ว
แก้คุณสมบัติให้ "111-109" ลงส.ส.
นายดิเรกกล่าวว่า สำหรับนายกฯ ขอให้แก้ว่าต้องมาจากส.ส.เท่านั้น ส่วนนายกฯ คนนอกเสนอให้ใส่ไว้ในบทเฉพาะกาลแทนว่าจะมีได้ต่อเมื่อประเทศเกิดวิกฤต และต้องใช้เสียงจากส.ส.สนับสนุน 2 ใน 3 ทั้งนี้ ยังขอให้ กมธ.ยกร่างฯ ตัดมาตรา 181-182 ที่เปิดช่องให้นายกฯ ขอเปิดอภิปรายไว้วางใจ สามารถผ่านกฎหมายอะไรก็ได้ในทุกสมัยการประชุมทิ้งไป เพราะถือเป็นการให้อำนาจ ฝ่ายบริหารมากเกินไปจนตรวจสอบไม่ได้
"ขณะที่คุณสมบัติผู้สมัครส.ส. ในมาตรา 111 (15) กมธ.ได้ขอแก้ จากที่ห้ามผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเข้าสมัครรับเลือกตั้ง เป็นห้ามผู้เคยถูกถอดถอนทางการเมืองแทน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่นักการเมืองที่เคยตัดสิทธิทางการเมืองแบบเหมาเข่งอย่างไม่เป็นธรรม อย่างบ้านเลขที่ 109 และ 111 ได้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง" นายดิเรกกล่าว
ให้สภา-ครม.เป็นผู้จัดปฏิรูป
นายดิเรกกล่าวว่า มาตรา 7 วรรคสอง ที่ให้อำนาจการวินิจฉัยแก่ศาลรัฐธรรมนูญ ทาง กมธ.ทั้ง 2 คณะเห็นพ้องตามที่ตัวแทนจากศาลเสนอให้ตัดศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุด ออกจากวรรคสองทิ้งไป เพื่อไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากทั้ง 2 ศาลมีอำนาจหน้าที่เป็นของตนเองชัดเจนอยู่แล้ว ที่สำคัญตามหลักประชาธิปไตยจะมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่ 4 ไม่ได้
รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมืองกล่าวอีกว่า สำหรับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ก็เสนอให้รวบไว้เป็นมาตราเดียว โดยมอบอำนาจให้รัฐสภาและ ครม. เป็นผู้จัดให้มีการปฏิรูปประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม โดยให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และกฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะเป็นผู้กำหนดรายละเอียดในกฎหมาย มีส่วนยึดโยงกับประชาชน
ตั้งกก.ไต่สวนเพิ่มอำนาจตรวจสอบ
นายดิเรกกล่าวว่า กมธ.ยังเสนอเพิ่มเนื้อหาใหม่คือ คณะกรรมการไต่สวนอิสระ กรณีอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา แล้วเป็นไปได้ยากที่จะมีเสียงไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่ง ก็ให้ส.ส. 1 ใน 10 ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา ตั้งกรรมการไต่สวนอิสระ เพื่อตรวจสอบความประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบด้วยตัวแทนจากป.ป.ช. ปปง. ป.ป.ท. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน อัยการสูงสุด (อสส.) ประธาน กมธ.สามัญ สภาผู้แทนราษฎร และประธาน กมธ.วิสามัญวุฒิสภา อย่างละ 1 คนเป็นกรรมการ ให้ตัวแทนจากป.ป.ช.เป็นประธาน เพื่อสอบสวนทุจริตของรัฐบาล เพื่อถ่วงดุลการตรวจสอบ หากพบว่ามีความผิดเข้าสู่กระบวนการทางอาญาหรือกระบวนการถอดถอนต่อไป
"ทั้งหมดนี้คือการแก้ไขเพื่อตอบสนองต่อหลักการประชาธิปไตยที่การเมืองต้องชอบธรรม กระบวนการยุติธรรมต้องเข้มแข็ง ศาลต้องตัดสินด้วยความเที่ยงตรง แม้ระบบการเมืองแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 จะถูกมองว่าเข้มแข็งเกินไป แต่ครั้งนี้มีการเพิ่มอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลรัฐสภาและรัฐบาลให้เข้มแข็งมากขึ้น อย่างคณะกรรมการไต่สวนอิสระเพิ่มขึ้นด้วย ขอชี้แจงว่า กมธ.ไม่มีมติแก้ไขให้ประธานรัฐสภามีอำนาจยุบสภา เนื่องจากขัดต่อหลักประชาธิปไตย ข่าวที่เสนอออกไปเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของ กมธ.เท่านั้น" นายดิเรกกล่าว
เสนอปฏิรูปงบ-ยุทธศาสตร์ชาติ
นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สมาชิก สปช. ในฐานะประธาน กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.ปฏิรูปการบริหารฯ เสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมแบบเป็นลายลักษณ์อักษรต่อ กมธ.ยกร่างฯ แล้ว ประมาณ 40 มาตรา แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก 1.ยุทธศาสตร์ชาติแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2.การปฏิรูปงบประมาณและการคลัง เกี่ยวกับการทำให้ งบประมาณเป็นแบบคู่ขนาน คืองบประมาณแบบภารกิจและแบบพื้นที่ ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมจัดทำคำของบประมาณและควบคุมงบประมาณ และ 3.การบริหารราชการแผ่นดินและด้านอื่นๆ โดยเฉพาะองค์การบริหารการพัฒนาภาคว่าควรมีหรือไม่ รวมทั้งการให้บริการของรัฐต้องให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายธีรยุทธ์กล่าวว่า เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯ จะรับฟังและนำไปปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้มีความเหมาะสม ส่วนการทำประชามตินั้นเท่าที่หารือกัน สปช.ส่วนใหญ่เห็นด้วย ขณะที่กระแสข่าวรัฐธรรมนูญถูกคว่ำนั้นตนยังมองไม่เห็นเลยว่าใครประกาศจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
บวรศักดิ์ลั่นทำรธน.เพื่อปชช.
ที่โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ร่างรัฐธรรมนูญ" ในเวทีสัมมนาเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและรับฟังความเห็นประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ ร่วมกับสปช. สถาบันพระปกเกล้า และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จัดขึ้น เพื่อชี้แจงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น นำไปพิจารณาประกอบในขั้นตอนการปรับแก้ไขเพิ่มเติม
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า การรับฟังความเห็นประชาชนจะมีต่อเนื่องจนถึงปลายเดือนมิ.ย.นี้ เน้นรับฟังความคิดเห็นมาจากประชาชนทั้งประเทศ การยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 315 มาตรา ประชาชนจะได้รับประโยชน์มหาศาล เพราะเพิ่มสิทธิต่างๆ และกระบวนการตรวจสอบให้กับประชาชน ซึ่งถูกบรรจุไว้เกือบ 200 มาตรา ขณะนี้มีเสียงวิจารณ์จำนวนมากทั้งจากนักการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ล่าสุดออกมาจำลองบัตรเลือกตั้งขนาดใหญ่ก็คัดค้านกมธ.ยกร่างฯ
"กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คน ตัดสินใจร่วมกันว่าได้ยกร่างโดยยึดยุทธศาสตร์ สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข โดยยืนยันจะรับฟังและทำเพื่อประชาชน 65 ล้านคน ไม่ใช่นักการเมืองแค่พันคน และอะไรที่ตัดสิทธิ์พลเมืองต้องผ่านศพผมไปก่อน เราสู้เพื่อลูกหลานไม่ใช่นักการเมือง ท้ายที่สุดสปช.ไม่ใช่ผู้ตัดสินว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่ แต่เป็นประชาชนทั้ง 65 ล้านคนที่จะเป็นผู้ตัดสินและพิพากษาว่าจะรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ดังนั้น ประชาชนจะต้องศึกษาร่างรัฐธรรมนูญให้ดี" นายบวรศักดิ์กล่าว
กมธ.มั่นใจยกร่างเสร็จตามกรอบ
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ขณะนี้กมธ.ยกร่างฯ รอครม. คสช. และสปช. เสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญกลับมาอย่างเป็นทางการ เข้าใจว่าทุกคำขอจะถูกส่งมายังกมธ.ยกร่างฯ ภายในวันที่ 25 พ.ค. จากนั้นตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.เป็นต้นไป กมธ.ยกร่างฯ จะเริ่มประชุมเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแบบไม่มีวันหยุด
โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ส่วนที่ครม.จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อขยายเวลาทำงานของกมธ.ยกร่างฯ เพิ่มอีก 30 วันนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ทางกมธ.ยกร่างฯ ยังคงปฏิบัติงานตามกำหนดเดิม เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จทันตามกรอบ 60 วันคือภายในวันที่ 23 ก.ค. แม้จะไม่มีการขยายเวลาแต่เมื่อกมธ.ยกร่างฯ ทุกคนอาสาเข้ามาทำงานตรงจุดนี้แล้ว เชื่อว่าจะยกร่างเสร็จทันตาม กรอบที่กำหนด แต่ถ้าในอนาคตมีการปรับแก้ไขขยายเวลา ก็อาจปรับปฏิทินการทำงานใหม่ให้เหมาะสม
เมินกระแสคว่ำรธน.
"ยืนยันว่าทุกคำขอแก้ไขเพิ่มเติมที่ส่งกลับมายังกมธ.ยกร่างฯ เราจะนำมาประกอบการพิจารณาเพราะตั้งแต่ร่างแรกปรากฏออกมา พบว่ามีเสียงสะท้อนทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯ จะพยายามพิจารณาด้วยความเหมาะสม ส่วนกระแสข่าวคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่หลุดออกมานั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อกมธ.ยกร่างฯ เพราะพวกเราทุกคนมีความหนักแน่นเพียงพอ การทำหน้าที่ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่กดดัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ทุกคนพอใจ แม้จะมีแรงกดดันมหาศาลแต่เราก็พร้อมร่างรัฐธรรมนูญให้ออกมาดีที่สุด" โฆษกกมธ.ยกร่างฯ
แนะกมธ.ยึดระบบตรวจสอบ
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และกิจกรรมพิเศษภาคอีสาน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจสับสนและใช้ทัศนคติในทางลบ เหมาว่านักการเมืองเป็นตัวปัญหาเหมือนกันหมด กมธ.ยกร่างฯ จึงพยายามออกแบบรัฐธรรมนูญที่พิสดาร นำหลายแบบในโลกมารวมกัน ซึ่งไม่ได้มองพื้นฐานของสังคมไทยอย่างเข้าใจแท้จริง
นายภูมิสรรค์กล่าวว่า การที่กมธ.ยกร่างฯ ให้ความสำคัญเรื่องระบบการเลือกตั้งหรือออกแบบองค์กรใหม่ๆ ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่ควรทำให้ระบบถ่วงดุลตรวจสอบเข้มแข็งมากขึ้น ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯ ควรทำใจให้เป็นกลาง มีสมาธิ จะเห็นว่าปัญหาทั้งหมด มาจากระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ถูกนักธุรกิจการเมืองทำลายมาตลอด อ้างคำว่าปรองดอง ทำผิดให้เป็นถูก กลบเกลื่อนความผิดหลีกเลี่ยงอาญาแผ่นดิน จึงไม่อยากให้การร่างรัฐธรรมนูญของกมธ.ยกร่างฯ มาเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาของคสช.และรัฐบาล
จี้แก้ไขคุณสมบัติต้องห้ามส.ส.
น.ส.สรชา วีรชาติวัฒนา อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.สมุทรปราการ พรรคประชา ธิปัตย์ กล่าวถึงกมธ.ยกร่างฯ บัญญัติคุณสมบัติต้องห้ามลงสมัครส.ส. มาตรา 111 (8) หากต้องคำพิพากษาทุจริตประพฤติมิชอบ ทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ว่า กรณีของตนได้รับใบแดงจากมติของกกต. ที่ผ่านมาได้ต่อสู้ในชั้นศาลจนถึงที่สุด จนศาลมีคำพิพากษาว่าไม่ได้กระทำผิด แต่การบัญญัติแบบนี้ของกมธ.ยกร่างฯ ทำให้ผู้ที่ต่อสู้คดีจนสิ้นสุดแล้วเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงอยากขอให้แก้ไขมาตรา 111 (8) โดยเพิ่มถ้อยคำว่า เว้นแต่ผู้ที่ได้รับการพิพากษาแล้วว่าไม่ได้กระทำผิด มิเช่นนั้น จะต้องยึดแต่คำวินิจฉัยของกกต. ซึ่งขัดแย้งกับคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ยกฟ้อง และไม่เป็นธรรมกับผู้สมัครอีกหลายคน ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเรียกร้องต่อกมธ.ยกร่างฯ ทบทวนแก้ไขในวันที่ 25 พ.ค.นี้
ซัดกมธ.ต้องเปิดใจกว้าง
ด้านนายราเมศ รัตนเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้หลายภาคส่วน เช่น กกต. ศาลยุติธรรม พรรคการเมือง ได้ยื่นหนังสือให้กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนหลายมาตรา ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ ต้องเปิดใจรับฟังอย่างแท้จริง อย่าลูบหน้าปะจมูก รับเรื่องมาเฉยๆ แล้วไม่พิจารณา หากไม่รับฟัง จะถูกครหาว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับตั้งธง
"อยากฝากถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ว่า อย่าทำตัวเหมือน น้ำเต็มแก้ว อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องใช้กับคนทั้งประเทศ ต้องรับฟังความเห็นอย่างแท้จริง หากทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ทุกข้อเสนอจะไร้ประโยชน์ ที่ผ่านมานายบวรศักดิ์ได้ รับการยอมรับทางวิชาการมาก หากทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เสียหาย ไม่เป็นประชาธิป ไตย เชื่อว่านายบวรศักดิ์จะเสียคนได้" นาย ราเมศกล่าว
นิคมชี้ทำประชามติไม่ง่าย
นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ประชามติรอบนี้คงไม่ง่ายเหมือนครั้งก่อน เนื่องจากเงื่อนไขมาตรา 9 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 กำหนดว่าต้องมีผู้มาลงประชามติเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ของยอดผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ และการลงประชามติจะเกิดผลสมบูรณ์ ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาลงประชามติรวมกันด้วย ประเด็นแรกไม่น่าห่วง แต่การคาดเดาว่า ผู้ออกมาใช้สิทธิจะโหวตผ่านหรือโหวตโนมากน้อยแค่ไหนไม่มีใครตอบได้ แม้จะเสี่ยงทำให้รัฐธรรมนูญจะไม่ผ่าน แต่ก่อนวันลงเสียงประชามติ รัฐบาลต้องไม่ปิดกั้นโดยใช้มาตรา 44 คอยควบคุม กดดัน ต้องเปิดพื้นที่ ผ่อนปรน ผ่อนคลายให้ผู้เห็นต่างได้แสดงออกบ้าง อย่าให้พื้นที่ประชาสัมพันธกับคนที่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญอย่างเดียวไม่เช่นนั้นจะไม่ใช่การลงประชามติอย่างแท้จริง
นายนิคมกล่าวถึงกระแสข่าวที่สปช.บางกลุ่มอาจโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ตนไม่เชื่อ ไม่มีทางคว่ำรัฐธรรมนูญด้วยน้ำมือของสปช. เพราะกมธ.ยกร่างฯ กับสปช.มาจากจุดเดียวกัน ก่อนโหวตก็คงพูดคุยกันก่อนแล้ว อยากให้ประชาชนฟังหูไว้หู ดูว่าข่าวลือหวังผลอะไร จริงเท็จแค่ไหน
ป.ป.ช.ตั้งเป้าเลื่อนอันดับทุจริต
วันที่ 23 พ.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานเปิดสัมมนาคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำปี 2558 ว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 มีเป้าหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องยั่งยืน เน้นปรับเปลี่ยนทัศนคติ สร้างพลังกดดันทางสังคม ไม่ยอมรับคนโกงควบคู่กับการใช้มาตรการที่เด็ดขาด มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งเป้าเพิ่มการจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) ไว้ที่ร้อยละ 50 ในปี 2560 ขณะที่ปี 2557 อยู่ในอันดับที่ 85 จาก 175 ประเทศทั่วโลก ดังนั้น ต้องช่วยให้ความรู้ เท่าทันการทุจริต นำเสนอและขุดคุ้ยปัญหา สร้างกระแสให้คนไทยไม่ยอมรับการโกง
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า ระบบข้าราชการมีการทุจริตเกิดขึ้นมาก เพราะคนไทยมองเรื่องทุจริตเป็นเรื่องปกติ เจ้าหน้ารัฐมีคุณธรรมตกต่ำ ทำทุจริตอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยเฉพาะหัวหน้าส่วนราชการปล่อยปละละเลย เห็นแก่พวกพ้อง ถือว่ามีความผิดทางวินัย แต่ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานไหนตรวจสอบ ทำให้การทุจริตเกิดขึ้นต่อเนื่องและหนักขึ้นเรื่อยๆ คดีทุจริตมีกว่า 2 หมื่นคดี หากข้าราชการปฏิบัติตามหน้าที่ ตามกฎระเบียบ การทุจริตจะไม่เกิดขึ้น ประเทศชาติก็จะเดินหน้าได้