- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 23 May 2015 23:29
- Hits: 6252
1 ปีคสช.-กิจกรรมต้านพรึ่บ บุกหิ้วนศ. ประท้วงชุลมุนหน้าหอศิลป์ ขอนแก่นรวบกลุ่มดาวดิน บิ๊กตู่ออกจอพอใจผลงาน 'จ้อน'ชี้สั่งคว่ำรธน.ไม่ได้ 2 กมธ.ชงเลือกตั้ง 154 สว. ส.ส.มี 500 ล้มโอเพ่นลิสต์
หัวหน้า คสช.แจง 1 ปี ปว.ช่วยวางฐานประเทศ ลั่นหากคนทั้่ง ปท.ไล่ก็พร้อมไป แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เบื่อ จะให้อยู่ต่อก็ขอให้สนับสนุนร่วมมือ ไม่ติดใจ'แม้ว'วิจารณ์ โพลเผยคนพอใจการทำงาน 1 ปี แต่จี้เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
'บิ๊กตู่'ชี้ 1 ปีคสช.วางรากฐาน
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานในโอกาสครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารว่า มีความรู้สึกว่า 1 ปี ทำไมถึงนาน เพราะทำงานไม่ได้หยุด แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกคือการแก้ปัญหาในจุดโครงสร้างกับการวางรากฐานที่ชัดเจน มาดูแลทุกข์สุขให้ วางพื้นฐานให้ ส่วนอนาคตก็เป็นเรื่องของอนาคต ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนต้องการอะไร
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา พอใจเท่าที่ทำได้ บางอย่างที่ทำยังไม่สำเร็จก็ยังไม่พอใจ หลายเรื่องที่คิดใหม่ทำใหม่ย่อมมีผลกระทบ ทั้งมากและน้อย ไม่กระทบเลยคงไม่มี ขณะเดียวกันหลายคนคาดหวังกับรัฐธรรมนูญ กฎหมาย แต่ทุกอย่างยุ่งเพราะคน แม้จะเขียนกฎหมายอย่างไร ถ้าคนไม่ยึดมั่นในกฎหมายกันเลย อย่างไรก็ไปไม่ได้
ถ้าปชช.ไม่เบื่อขอให้ร่วมมือ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะหัวหน้า คสช.มองหรือไม่ว่าจะต้องอยู่ดูแลประเทศไปอีกนานเท่าไร ถึงปี 2559 หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่รู้ ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเบื่อก็ให้บอกมา ถ้าคนทั้งประเทศไล่ ผมก็ไป แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เบื่อ อยากให้อยู่ทำงานต่อ ต้องเห็นใจสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับผม อย่าไปให้ความสนใจกับเรื่องที่จบไปแล้ว อย่าไปตีราคากับอะไรที่มันผ่านไปแล้ว แต่ไม่ได้พูดถึงใครนะ เดี๋ยวจะหาว่าไปพูดว่าใคร หรือไม่ให้ราคาใคร"
เมื่อถามว่า หมายความว่านายกฯจะต้องอยู่ต่อไป พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อยู่เพราะอะไร อยู่เพราะอยากอยู่หรือเปล่า ต้องพูดอธิบายให้ถูก ไม่ใช่อยากจะยืดแล้วทำประชามติ ไม่ใช่ตนที่เป็นคนยืดเวลาขอต่ออยู่ในอำนาจ บอกหลายครั้งแล้วว่าไม่ต้องการอำนาจ แค่ต้องการอำนาจในการดูแลประชาชน ประเทศชาติ ให้สงบสุขและวางอนาคต
"ผมไม่ได้มีอำนาจเพื่อผลประโยชน์ อย่างที่กล่าวหาว่าทหารมีอำนาจหรือเป็นฝ่ายอำมาตย์ อำนาจเก่า อำนาจใหม่ หรือกลุ่มทุน อย่ามองแบบนั้น มันไม่ใช่ภาพยนตร์ ที่เป็นเรื่องกลุ่มอำนาจ มาเฟีย ผลประโยชน์ กลุ่มอัลคาโปน มันไม่ใช่ นี่ประเทศชาติ และผมเป็นทหาร วันนี้พูดเสียเลย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ปล่อย'แม้ว'วิจารณ์คสช.
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์เบื้องหลังการทำรัฐประหารว่า เคยบอกแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยากพูดอะไรก็พูดไป ปล่อย พ.ต.ท.ทักษิณไปเถอะ "ขอถามคำเดียว ถ้าท่านกลับมาประเทศไทย มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ท่านมาได้หรือไม่ ถ้าท่านไม่มา ท่านก็อยู่ในกลุ่มที่ผู้ที่ถูกกล่าวหาทุกคนที่อยู่นอกประเทศ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นจะมาบอกว่าไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรมก็ให้กลับมา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯกล่าวว่า "วันนี้อย่าไปโทษใคร อย่าไปโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ โทษคนไทยทุกคนนั่นแหละ ถ้ามันวุ่นวายเข้ามาอีก ขอร้องว่าให้พอแล้ว ผมก็จะพูดให้มันน้อยลง โดยเฉพาะเรื่องที่ชอบพูดว่ารัฐบาลที่แล้วทำอย่างนั้น อย่างนี้ เพราะพูดมาปีหนึ่งแล้ว แต่ที่ต้องพูดเพราะเขาไม่หยุดพูด ถ้าเขาออกมาพูดบิดเบือนผมก็ไม่ยอม แต่ถ้าเขาหยุดพูด ผมก็หยุดพูด ไม่ไปละเมิดซึ่งกันและกัน ให้กฎหมายดำเนินการไปเท่านั้นเอง เราต้องเคารพกฎหมายกันบ้าง แต่เมื่อประชาธิปไตยไปไม่ได้ก็ต้องหยุดไว้ระยะหนึ่ง ทำให้ประเทศและคนอีก 70 ล้านคน จะให้ทุกคนมาอดอยากปากแห้งกันหมดหรืออย่างไร จากเรื่องความขัดแย้งที่เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมจากคนไม่กี่คน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
หวังสภาขับเคลื่อนสานต่อปฏิรูป
ต่อมาเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ในโอกาสครบรอบ 1 ปี รัฐประหารตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นวันสำคัญ เป็นเวลา 1 ปีเต็ม ที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศไทยร่วมกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกคนที่เป็นคนไทย สถานการณ์ประเทศเราก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทุกคนทราบดีถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ความแตกต่างทางความคิดที่เกิดมาแล้วไม่น้อยกว่า
10 ปี คงไม่ต้องไปหาสาเหตุว่ามาจากอะไร ยุติให้ได้แล้วกัน อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก
"การปฏิรูปประเทศ ระยะต่อไปให้เป็นหน้าที่ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศฯ เพื่อสานต่อการปฏิรูปในด้านต่างๆ มีหน้าที่ไปทำกระบวนการปฏิรูปต่อจากรัฐบาลผม จาก คสช.ให้ต่อออกไป ไม่ใช่ไปรื้อของผมตั้งแต่แรก ท่านจะไปแก้อะไรของผม ไปแก้วันหน้า แก้ผมตั้งแต่ต้นวันนี้ ที่ผมทำทั้งหมดก็บกพร่องหมด ผมไม่ยอมตรงนี้ ต้องวางแนวทางไว้ให้เกิดความต่อเนื่องจากรัฐบาลและ คสช.ทำไว้ ไปหาแนวทางวิธีการที่เหมาะสม ผมไม่อยากให้เกิดปัญหากลับมาอีกในอนาคตเหมือนก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศชาติจะมีอนาคตที่ดี และประชาชนทุกคนมีความสุข" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
'แม้ว'ปลื้มเจอหลานสาวแฝด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้เจอกับน้องเอมิและน้องนานิ หลานสาวฝาแฝดบุตรสาวของ น.ส.พินทองทา (คุณากรวงศ์) ชินวัตร เป็นครั้งแรก เมื่อเวลา 12.30 วันเดียวกันที่ผ่านมา ที่ประเทศสิงคโปร์ โดย พ.ต.ท.ทักษิณส่งเครื่องบินส่วนตัวมารับหลานสาวฝาแฝด พร้อม น.ส.พินทองทาและสามีคือนายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ พร้อม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่กรุงเทพฯ เพื่อบินไปพบกันที่ประเทศสิงคโปร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการพบกันระหว่างตาและหลานสาวฝาแฝดเป็นไปด้วยความชื่นมื่น
เหน็บทหารชอบปชต.แบบพม่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ในสื่อสังคมออนไลน์ มีการโพสต์คลิป พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นภาษาไทยถึงสถานการณ์ในเมืองไทย ความยาว 1.32 นาที ผ่านการบันทึกเทปโดย Chosun Media โดย พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวถึงสถานการณ์การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นในไทย รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ทหารว่าทหารคงชอบประชาธิปไตยแบบพม่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าคลิปของ พ.ต.ท.ทักษิณ เผยแพร่ในวันครบรอบ 1 ปีการยึดอำนาจของ คสช.ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาคนในตระกูลชินวัตรหรือผู้เกี่ยวข้องเริ่มถูกดำเนินคดี ขณะเดียวกันสื่อโซเชียลระบุว่าคลิปดังกล่าวออกมาหลัง พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวปาฐกถาในงาน "Asian Leadership Conference" ที่ประเทศเกาหลี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเนกไทที่ พ.ต.ท.ทักษิณใส่ในการพูดปาฐกถาที่ประเทศเกาหลีกับในคลิปมีลักษณะต่างกัน ขณะที่คนใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องดังกล่าว
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์ดังกล่าวว่า ไม่อยากวิจารณ์ ไม่เช่นนั้นก็จะตกอยู่ในวังวนไม่จบไม่สิ้น ใครอยากพูดอะไรก็พูดไป เชื่อว่าสังคมวิเคราะห์ได้
"สุเทพ"โต้"แม้ว"ปัดร่วมมือปว.
ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการกลุ่ม กปปส. กล่าวถึงกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์นั้น พ.ต.ท.ทักษิณพูดผิดแล้ว การที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบทักษิณและรัฐบาลของระบอบทักษิณ เพราะเห็นว่าจะทำให้ประเทศชาติเสียหายและล้มละลายได้ ไม่สามารถที่จะปล่อยให้เขาบริหารราชการแผ่นดินได้ต่อไป และเห็นความจำเป็นต้องมีการปฏิรูปประเทศ ถ้าปล่อยให้ประชาธิปไตยเป็นเฉพาะแค่เปลือก แต่เนื้อแท้เป็นเผด็จการทุนสามานย์ประเทศจะเสียหาย ประชาชนก็จะเดือดร้อน คนที่ออกมาร่วมต่อต้านมีจำนวนหลายล้านคนที่คิดเหมือนกัน
เมื่อถามว่า กระแสข่าวที่ว่าจะลาสิกขา พระสุเทพกล่าวว่า เรื่องที่ถามว่าจะสึกเมื่อไรเป็นเรื่องแปลกมาก เพราะถามกันมาเรื่อย ปกติเขาไม่ถามกัน เพียงแต่เมื่อมีคนมาถาม ก็ตอบว่าคิดว่าคงสึกแน่นอน แต่ว่าไม่รู้เมื่อไร ตอนนี้ทำหน้าที่เป็นพระไปก่อน
ตร.รวบ"กลุ่มดาวดิน"ค้าน 1 ปีปว.
ขณะที่เฟซบุ๊ก "ดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน" เผยแพร่ข้อความว่า น.ศ.ดาวดินโดนควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง หลังแสดงสัญลักษณ์ "คัดค้านรัฐประหาร" โดยระบุว่า เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. นักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 คน รวมตัวแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหาร ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น โดยถือป้ายข้อความ "คัดค้านรัฐประหาร"
เฟซบุ๊กยังระบุว่าตำรวจเชิญตัวกลุ่มผู้ประท้วงไปพร้อมอ้างคำกล่าวของตำรวจว่า "ขอเชิญตัวแต่โดยดี ถ้าไม่ไปจะมีมาตรการเพิ่ม"
เฟซบุ๊กดังกล่าวยังอธิบายว่า การแสดงสัญลักษณ์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการแสดงจุดยืนต่อปัญหาในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน คือปัญหาเหมืองแร่ทองคำ ปัญหาการจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ปัญหาการขุดเจาะปิโตรเลียม ปัญหาการไล่รื้อที่ดินจากแผนแม่บทป่าไม้และที่ดินของ คสช.ที่เกิดขึ้นจากผลพวงของการรัฐประหาร
สำหรับนักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไป คือ 1.นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา (ไผ่) 2.นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ (น้อย) 3.นายพายุ บุญโสภณ (พายุ) 4.นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ (ไนท์) 5.นายสุวิชชา ฑิพังกร (เบส) 6.นายศุภชัย ภูครองพลอย (อาร์ตี้) และ 7.นายวสันต์ เสธสิทธิ (โต้ง)
ต่อมาเวลา 16.15 น. เฟซบุ๊กระบุว่า ทั้ง 7 คน ถูกควบคุมตัวที่ สภ.เมืองขอนแก่น
ทั้งนี้ นักศึกษาทั้ง 7 คน ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยมีเพื่อนนักศึกษาปักหลักรออยู่หน้าสถานีตำรวจด้วย
ทหารขอแล้วอย่าเคลื่อนไหว
เฟซบุ๊กดังกล่าวยังรายงานต่อว่า ทั้งหมดถูกนำตัวไป สภ.เมืองขอนแก่น พร้อมยึดเครื่องโทรศัพท์มือถือทั้งหมด ก่อนนำตัวและส่งตัวไปควบคุมตัวที่มณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร (มทบ.23) ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ในเวลา 13.40 น. โดยมีผู้ติดตามจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนร่วมเดินทางไปด้วย 8 คน
ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กนี้เผยแพร่ข้อความเรื่องโอกาสครบรอบ 1 ปีของการรัฐประหาร ตั้งแต่เวลา 11.19 น. เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่่ผ่านมา โดยเนื้อหาคัดค้านการสัมปทานขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในภาคอีสาน ก่อนจะโพสต์เฟซบุ๊กต่อว่า "เมื่อเช้าทหารจากขอนแก่นโทรหาฝากบอกพวกดาวดินว่าอย่าเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์เพราะตอนนี้มีมาตรา 44"
1 ปีคสช.โพลชี้พอใจ-จี้แก้ศก.
สวนดุสิตโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,969 คน ระหว่างวันที่ 15-22 พฤษภาคม ถึงผลการดำเนินงาน 1 ปีของ คสช. โดยประชาชนร้อยละ 78.77 ระบุว่าในภาพรวมบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ความขัดแย้งลดลง ไม่มีการชุมนุมเคลื่อนไหวหรือใช้ความรุนแรง ร้อยละ 75.98 เห็นว่า คสช.มุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อประเทศและส่วนรวม สำหรับจุดเด่นของ คสช. ร้อยละ 52.67 ระบุว่าเป็นรัฐบาลทหารมีความเด็ดขาด ทำงานรวดเร็ว ร้อยละ 30.17 ระบุว่าการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นและผู้มีอิทธิพล
ส่วนปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงานของ คสช.นั้น ร้อยละ 45.58 ระบุว่าสภาพเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยร้อยละ 49.7 อยากให้ คสช.เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน สำหรับความพึงพอใจต่อ คสช.ในการบริหารประเทศครบ 1 ปี ร้อยละ 50.97 ค่อนข้างพึงพอใจ เพราะมีการจัดระเบียบสังคมและแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงมีโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศ ร้อยละ 33.06 พึงพอใจมากเพราะดีกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา ทำงานเร็วและเด็ดขาด มีความโปร่งใส บ้านเมืองสงบสุข ร้อยละ 11.24 ไม่ค่อยพึงพอใจเพราะเศรษฐกิจซบเซา ปัญหาภาคการเกษตรยังไม่ดีขึ้น และร้อยละ 4.73 ไม่พึงพอใจเลยเพราะต่างชาติยังไม่เชื่อมั่น รวบอำนาจ และจำกัดสิทธิเสรีภาพ
'ดิเรก'ชี้ถ้ารธน.คว่ำให้เลือกสสร.
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมืองคนที่ 1 สปช. กล่าวถึงกระแสข่าวว่า คสช.มีแนวคิดให้ สปช.โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแต่งตั้ง กมธ.ยกร่างฯชุดใหม่ แต่แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวคง สปช.ไว้ว่ายังไม่เห็นรายงานข่าวดังกล่าว แต่ส่วนตัวเชื่อว่าการจะโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.นั้น ขึ้นอยู่กับว่า กมธ.ยกร่างฯจะปรับแก้ไขเนื้อหาตามคำเสนอขอแก้ไขทั้ง 8 คำขอของสมาชิก สปช.หรือไม่ หากไม่ กมธ.การเมืองก็ยืนยันมาตลอดอยู่แล้วว่าจะลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทันที
นายดิเรก กล่าวว่า ส่วนแนวทางการดำเนินการต่อนั้นขึ้นอยู่กับ คสช.และ ครม. ว่าจะกำหนดเนื้อหาในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตามมาตรา 46 สำหรับการทำประชามติอย่างไร แต่ส่วนตัวเห็นว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับความเห็นชอบจาก สปช. หรือประชาชนออกเสียงประชามติไม่เห็นด้วย แนวทางที่ควรจะเป็นต่อไปตามหลักการประชาธิปไตยคือเปิดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อให้กฎหมายสูงสุดของประเทศที่เป็นสัญญาประชาคมมีส่วนยึดโยงกับประชาชน
'จ้อน'อ้าง'สปช.'มีอิสระ
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สปช. (วิป สปช.) กล่าวถึงว่าแนวคิดให้ สปช.ว่าเป็นกระแสข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ สปช.ทำหน้าที่เป็นอิสระ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้มีอำนาจจะมาสั่งให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนกระแสข่าวที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ให้ สปช.ไม่ต้องถูกยุบหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ไม่ควรแก้ไขอย่างนั้น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สปช. จะทำให้ สปช.ต้องตายตกไปตามกันกับ กมธ.ยกร่างฯ เหมือนบังคับกลายๆ ให้ สปช.ต้องลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยังเชื่อว่า สปช.ยังมีความกล้าพอที่จะไม่โหวตรับร่าง หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ตอบโจทย์ 3 ข้อ คือ 1.ไม่เป็นประชาธิปไตย 2. มีการสืบทอดอำนาจ 3.ไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ
กมธ.การเมืองชงมีส.ส. 500 คน
ที่รัฐสภา มีการประชุม กมธ.ร่วมจัดทำประเด็นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง และ กมธ. ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช.ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมาย กับนายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง ร่วมกันเป็นประธานการประชุมเพื่อหาข้อสรุปประเด็นการยื่นญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต่อ กมธ.ยกร่างฯ
นายนิรันดร์ พันทรกิจ กมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า ที่ประชุมมีสรุปร่วมกันในประเด็นการยื่นข้อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ได้แก่ ประเด็นที่มา ส.ส. ปรับแก้ให้มี ส.ส. 500 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน ที่มา ส.ว. แก้ไขให้มี 154 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 77 จังหวัด จังหวัดละ 2 คน ส่วนการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์มีมติเอกฉันท์ให้ตัดทิ้ง นอกจากนี้ ตนจะเสนอให้ปรับแก้ในส่วนที่มานายกฯ จะกำหนดให้ต้องมาจาก ส.ส. แต่ถ้าเกิดกรณีวิกฤตก็ให้คนนอกมาเป็นนายกฯได้ โดยใช้เสียงสมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 ให้การรับรอง หากยังใช้แนวทางที่ 2 แล้วแก้ปัญหาไม่ได้ ให้ประธานรัฐสภามีอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้วเลือกตั้งใหม่ โดยวันที่ 25 พฤษภาคม อนุ กมธ.จะร่วมกันแถลงข่าว ก่อนส่งข้อสรุปให้กับ กมธ.ยกร่างฯต่อไป
'วิษณุ'นำฟังอจ.ฝรั่งเศสติวรธน.
ที่กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันพระปกเกล้าจัดบรรยายพิเศษเรื่อง "ถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองสู่การปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตย กรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ" โดยเชิญศาสตราจารย์ โดมินิค รุสโซ (Dominique Rousseau) จากมหาวิทยาลัยปารีส เป็นผู้บรรยาย มี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิก สปช. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมฟัง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวก่อนรับฟังการบรรยายว่า การบรรยายพิเศษครั้งนี้เพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย คือ 1.กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2.สปช. 3.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 4.ประชาชน 5.สื่อมวลชน เกิดความรับรู้และเข้าใจในการแก้ไขวิกฤตปัญหา ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. มีแนวคิดในการสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่ผ่านพ้นวิกฤตจนเข้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญ สร้างความปรองดองจนประเทศฟื้นตัวสำเร็จ นำไปสู่การมีรัฐบาลที่มั่นคง ประชาชนเดินไปในทิศทางเดียวกัน จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมนีและฝรั่งเศสมาบรรยาย เพราะเยอรมนีเคยผ่านวิกฤตนาซี วิกฤตสงครามโลก ส่วนฝรั่งเศสผ่านความขัดแย้งรุนแรงในประเทศนำไปสู่การยึดอำนาจจนประเทศฟื้นตัว
26 พ.ค.ฟังเจ้าของทฤษฎีสัจนิยม
นายวิษณุ กล่าวว่า ศ.โดมินิค รุสโซ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงทางกฎหมายของฝรั่งเศส ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เป็นผู้เสนอให้ใช้ศาลรัฐธรรมนูญแก้ไขปัญหา และประชาชนสามารถร้องโดยตรงได้ เป็นทฤษฎีที่ผ่านการยอมรับมาหลาย 10 ปี จากนั้นวันที่ 26 พฤษภาคม ศ.มิเชล
โทรเปร์ (Michel Troper) จากมหาวิทยาลัยปารีส ซึ่งเป็นเจ้าของทฤษฎีสัจนิยม หมายถึงไม่มองอะไรแบบมโน เพ้อเจอ เพ้อฝัน แต่มองแบบตรงตามความจริง เป็นทฤษฎีแบบไม่แสแสร้ง ไม่หวือหวา ซึ่งได้วางหลักสำคัญว่ารัฐธรรมนูญจะศักดิ์สิทธิ์ต่อเมื่อมีการตีความ ศาลที่ตีความจะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นจริงเป็นจัง รัฐธรรมนูญที่ดีควรเขียนสั้นๆ ไม่ยาว และปล่อยให้ศาลตีความ ศาลต้องเป็นผู้น่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเดียว โดยสหรัฐก็นำทฤษฎีนี้ไปใช้
"วันที่ 26 พฤษภาคม ถือเป็นไฮไลต์การจัดบรรยายครั้งนี้ และยังเป็นที่สนใจของนักการต่างประเทศ นักการศาล นักปกครองทั่วโลกที่ทราบข่าว ส่วนวันที่ 27 พฤษภาคม ผู้บรรยายคือศาสตราจารย์ อูลริช คาร์เปน (Ulrich karpen) จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี จะพูดเรื่องการปกครองที่ผ่านมา เล่าประสบการณ์ฮิตเลอร์ นาซี แบ่งประเทศออกเป็นสองส่วน จนวันนี้สามารถปรองดองได้ และเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของยุโรป เป็นสิ่งที่น่าสนใจ" นายวิษณุกล่าว
หวังกมธ.ยกร่างฯได้ข้อมูลเพิ่ม
นายวิษณุกล่าวว่า การบรรยายครั้งนี้จะไม่มีการวิจารณ์การเมืองไทย จะพูดเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศของตัวเอง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศบอกว่าขอโทษที่ไม่ได้ศึกษารัฐธรรมนูญไทย ตนก็บอกว่าไม่ต้อง เพราะตอนนี้คนไทยยังวิจารณ์กันยังไม่จบเลย แต่เราต้องการวิธีการผ่านพ้นเข้าสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร ยืนยันว่าไม่มีการเขียนบทให้ผู้บรรยายทั้ง 3 คน และจะไม่มีการบอกว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร เพราะทุกคนจะฟังแล้วนำไปสรุปเอาเองว่าจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร
"พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าเสียใจที่ไม่ได้มาฟังด้วย แต่ท่านขอดูเทปทันทีที่จบ เพราะท่านต้องการรับรู้ด้วย คิดว่า กมธ.ยกร่างฯจะได้อะไรมากขึ้นจากการรับฟัง เพราะฟังจากผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรง ทำให้เกิดความเข้าใจโดยง่าย และคนไทยจะได้รับรู้ในหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องมาตรา 44 ซึ่งมีต้นต่อมาจากมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส และที่ฝรั่งเศสใช้อยู่จนทุกวันนั้นทำไมไม่มีเรื่อง แต่เราใช้ทำไมถึงมีเรื่อง โดยผู้บรรยายที่เชิญมานั้นระดับแถวหน้าของโลก พูดชื่อมาคนในวงการต้องรู้จัก"นายวิษณุกล่าว
"รุสโซ"ชี้ประชามติรธน.ชอบธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรุสโซบรรยายถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญในยุคสมัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในฐานะปัจจัยของวิกฤตการณ์ เป็นเครื่องมือในการแก้ไขวิกฤตการณ์ และช่วยก้าวผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆ มาได้ หากมีการร่างรัฐธรรมนูญที่รัดกุมและเหมาะสมกับเงื่อนไขสังคมในช่วงต่างๆ ของประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม นายรุสโซสรุปในตอนท้ายว่า อย่าคิดว่ารัฐธรรมนูญจะช่วยแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง รัฐธรรมนูญเป็นเพียงพื้นฐานที่จะช่วยให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ ผู้ร่างต้องพยายามให้มีกฎ มีหลักการให้เกิดดุลยภาพระหว่างอำนาจต่างๆ และประชาชนมีอิสระทางการเมืองด้วย
ช่วงท้ายมีผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายถามว่า การทำประชามติจะทำให้รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับจากประชาชนและกลุ่มการเมืองหรือไม่ นายรุสโซกล่าวว่าใช่ แต่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากประวัติศาสตร์อย่างในตูนิเซีย รัฐธรรมนูญไม่ได้ผ่านการลงประชามติก็ได้รับการยอมรับจากกลุ่มการเมืองและประชาชนเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การทำประชามติก็จะทำให้รัฐธรรมนูญนั้นมีความชอบธรรมมากขึ้น
เปรียบรธน.เหมือนรถยนต์
เมื่อถามว่าหลักการร่างรัฐธรรมนูญควรมีหัวข้อใดจำเป็นต้องบัญญัติไว้ นายรุสโซตอบว่า ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน การกำหนดพื้นฐานหน้าที่ของสถาบันองค์กร เปรียบรัฐธรรมนูญเหมือนกับรถยนต์ที่ต้องมีคันเร่ง คือฝ่ายบริหาร กับการตรวจสอบที่เหมือนกับเบรก เช่น ตุลาการ ศาล และประชาชน เป็นต้น
เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญจะช่วยให้ประชาชนเข้าใจสิทธิหน้าที่ในฐานะเจ้าของอำนาจได้อย่างไร นายรุสโซตอบว่า รัฐธรรมนูญต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ เช่น ฝรั่งเศสเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถยื่นเรื่องต่อศาลให้ตรวจสอบกฎหมายที่ผ่านโดยรัฐสภาได้ ว่ากฎหมายนั้นขัดต่อหลักสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนหรือไม่
เมื่อถามว่าอะไรเป็นสัญญาณเตือนว่ารัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ภาวะวิกฤต นายรุสโซตอบว่า ยากที่จะตอบได้ ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ บางครั้งรัฐธรรมนูญแม้จะออกแบบมาอย่างสมบูรณ์ แต่หากไม่นำมาบังคับใช้ก็ทำให้เกิดวิกฤตได้ อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เป็นปัญหาบ่อยๆ ซ้ำๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งได้ เช่น ปัญหาด้านอำนาจระหว่างประธานาธิบดีฝรั่งเศสและนายกฯที่ยังคงเป็นปัญหาในปัจจุบัน
ส่วนคำถามว่าแนวคิดในการจัดตั้งองค์กรอิสระในฝรั่งเศสมีความยึดโยงกับประชาชนอย่างไร นายรุสโซตอบว่า การเลือกตั้งจากประชาชนไม่ใช่องค์ประกอบเดียวที่จะกำหนดคุณภาพของประชาธิปไตย สถาบันหรือองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาอาจไม่ได้มีการเลือกตั้งจากประชาชน แต่องค์กรดังกล่าวต้องมีความเป็นกลางอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ดูแลและมีความใกล้ชิดกับปัญหา มีข้อได้เปรียบในการอยู่นอกเหนือความกดดันด้านเวลา เหมือนอย่างองค์กรของรัฐอย่างรัฐสภาหรือรัฐบาลที่ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว
กกต.แถลงจุดยืนย้ำแก้8ปม
ที่โรงแรมชลจันทร์ พัทยา รีสอร์ต จ.ชลบุรี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำโดยนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. พร้อมด้วยนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ร่วมกันแถลงข่าว
นายศุภชัยกล่าวว่า กกต.ทำเอกสารชี้แนะข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับ กกต. เสนอไป 8 ประเด็น คือ 1.ให้ กกต.มีอำนาจประกาศงดการเลือกตั้งตาม พ.ร.ฎ.แล้วกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ โดยให้นายกฯเสนอ พ.ร.ฎ.ตามที่ กกต.เสนอ 2.ให้ยกเลิกการมีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) มาจัดการเลือกตั้ง โดยให้ กกต.เป็นผู้ควบคุม ดำเนินการ และจัดการเลือกตั้งเช่นเดิม 3.ให้กำหนดการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง แล้วส่งผลการนับคะแนนไปรวมที่เขตเลือกตั้งเพื่อนับคะแนนรวม แล้วประกาศผลโดยเปิดเผย 4.ให้ยกเลิกการลงคะแนน ส.ส.แบบโอเพ่นลิสต์ เพราะจะทำให้เกิดความแตกแยกภายในพรรครุนแรง
นายศุภชัยกล่าวว่า 5.ให้ กกต.มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง 6.เพิ่มอำนาจ กกต.ในการเรียกเอกสารหรือบุคคลมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม 7.ให้ยกเลิกกลุ่มการเมือง เพราะจะทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่พัฒนาไปเป็นสถาบันการเมือง และ 8.ให้แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กกต. โดยควรยึดองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะถือว่ายึดโยงกับประชาชนแล้ว