- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 22 May 2015 19:00
- Hits: 7702
บิ๊กตู่ ย้ำเลือกตั้ง สค.-กย.59 ส่อ'สปช.คว่ำรธน.' แล้วโละกมธ.ยกร่าง ทำเนียบวิจารณ์แซ่ด นกเอี้ยงเปิดศึกตัวเงิน
'บิ๊กตู่'วอนทุกฝ่ายอดทน ร่วมปฏิรูป ย้ำ'ซีเอ็นเอ็น'รัฐบาลยึดมั่นคืนประชา ธิปไตย แม้แผนเลือกตั้งจะยืดเป็นส.ค.-ก.ย.59 ขรก. วิจารณ์แซ่ด 'ตัวเงิน'โผล่เปิดศึก'นกเอี้ยง'กลางทำเนียบ 'บิ๊กโด่ง'ปลื้มผลงาน 1 ปี คสช. จับตาตัวแทนพรรคการเมืองจีน เข้าพบ'ยิ่งลักษณ์' เชิญร่วมประชุมฮากกาโลก ต.ค.นี้'วิษณุ'ไม่ฟันธงทำประชามติ ระบุแก้รธน.ชั่วคราวแค่เปิดทาง ยันไม่แตะมาตรา 44 สะพัดสปช.ส่อคว่ำร่างรธน. กมธ.ยกร่างฯ พบภาคเอกชน 24 พ.ค. ฟังข้อเสนอแก้ร่างรธน. นายกฯ นำทีมแจงพ.ร.บ.งบฯ 2.72 ล้านล้าน ขู่เล่นงานกระทรวงขอเงินมากแต่ไร้ผลงาน สนช.ให้ผ่านวาระแรกฉลุย
วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8941 ข่าวสดรายวัน
'บิ๊กตู่'ชี้ไทยติดหล่มมานาน
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 21 พ.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดงาน "มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย" โดยมีพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษา ธิการ ข้าราชการ ตัวแทนนักเรียนให้การต้อนรับ ทั้งนี้ นายกฯได้เดินชมนิทรรศการการศึกษาทั้ง 9 โซน พร้อมรับชมการแสดงสื่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาจากตัวแทนนักเรียนโรงเรียนต่างๆ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าประเทศไทยติดหล่มตัวเองมานานแล้ว สิ่งที่จะทำให้แก้ไขได้คือการศึกษา ปรับปรุงให้ดีขึ้น ให้ทุกฝ่ายทั้งเอกชน มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการ มาช่วยรัฐบาลขับเคลื่อน โดยจัดระบบใหม่ทั้งหมดเหมือนที่รัฐบาลทำตอนนี้ โดยรัฐบาลจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ และจัดสรรงบประมาณให้ทั่วถึงทุกภาคส่วน
ลั่นไม่ภูมิใจที่เข้ามา
นายกฯ กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมาอาจมีคนเกลียดบ้าง รักบ้าง แต่ตนต้องทำ ไม่ได้ภูมิใจที่เข้ามา วันนี้เข้ามาในฐานะคนไทยที่ต้องทำหน้าที่เพื่ออนาคต ซึ่งทุกคนต้องมีส่วนร่วมในหน้าที่ตรงนี้ด้วย เพราะเรากำลังสร้างประวัติศาสตร์ประเทศใหม่ นำสิ่งที่ไม่ดีมาเป็นบทเรียน กำหนดอนาคตที่ดีกว่าเดิม ทุกอย่างอยู่ที่เราทุกคน ตนเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนเดือดร้อน รัฐบาลทำงานมา 6 เดือน ปัญหาเยอะเหลือเกิน มีปัญหา ต้องแก้ไขทุกกระทรวง ทุกคนก็ช่วยกันทำ งานเพราะตนทำคนเดียวไม่ได้ ตนไม่ได้เก่งมาจากไหน ยืนยันว่าไม่ได้มาบังคับใคร แค่ นำกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาใช้อย่างจริงจังเท่านั้น ไม่ได้มาลงโทษหรือฆ่าแกงใคร ทุกอย่างมีเหตุผล และตนไม่ได้มีปัญหากับใครทั้งสิ้น
"วันนี้ เราต้องสอนให้เด็กมีวินัย สร้างให้อนาคตของชาติ ดูอย่างผู้นำในหลายประเทศ ผมไม่ได้ลอกเลียนแบบเขา แต่ดูจากที่บ้านเมืองเขาพัฒนาเพราะร่วมมือร่วมใจกัน แต่วันนี้ไทยเรายังไม่ร่วมมือ จะปฏิรูปหรือเปล่ายังไม่รู้เลย วันๆ จะเอาแต่รัฐธรรมนูญ ทุกอย่างมันอยู่ที่คน วันหน้าใครจะเข้ามาบริหาร ผมไม่รู้ จะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร พรรคไหนก็แล้วแต่ ซึ่งคงไม่ใช่ผม เพราะผมไม่ได้สมัครรับเลือกตั้ง ฉะนั้นต้องไปดูว่าปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไร เราต้องออกไปเจอปัญหาก่อนแล้วค่อยแก้ปัญหา หากเราไม่รู้สาเหตุ เราก็แก้ปัญหาไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ขอพยาน - นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ในนามกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ยื่นจดหมายขอให้สถานทูต ประสานญาตินายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ เหยื่อที่ถูกยิงในเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.2553 เป็นพยานในคดียื่นฟ้องคณะรัฐประหาร ที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ถนนวิทยุ เมื่อวันที่ 21 พ.ค.
วอนร่วมมือกันปฏิรูป
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เพลงคืนความสุขที่ตนแต่งและบอกว่าเราต้องอดทน ตนไม่คิดว่าปัญหาจะเยอะขนาดนี้ รัฐบาลแก้เพียงปัญหาเล็กๆ ส่วนปัญหากลางและใหญ่ต้องคิดว่าจะแก้ไขอย่างไร สิ่งสำคัญทุกคนต้องร่วมมือกัน อดทน อดกลั้น สื่อก็ต้องช่วยกัน ยืนยันว่าตนไม่เคยทะเลาะสื่อ ไม่ใช่ศัตรูแต่ช่วยสนับสนุนกัน สื่อต้องเสนอทั้ง 2 ทางแต่ตีเส้นระหว่างสิทธิและเสรีของคนกับผลประโยชน์ของชาติ เพราะมันเป็นเพียงเส้นบางๆ ถ้าจะเอากฎหมายแบ่งคงยาก เราต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกันโดยไม่มีความขัดแย้ง
"ทุกกระทรวงต้องประเมินแก้ไขไปเรื่อยๆ ว่าทั้งหมดเราทำได้เท่าไร เพื่อให้ทันเวลาเพราะ เรามีเวลาจำกัด ไม่อย่างนั้นจะแถลงให้ใครฟังไม่ได้ เพราะที่ทำมา 1 ปีแค่หนังตัวอย่าง กว่าจะแก้ไขได้ต้องไปหาดารามาเยอะแยะ ฆ่าผู้ร้ายไปเยอะเหมือนกัน ทั้งดาวดี ดาวร้าย แต่ดาวร้ายดันเยอะกว่า ก็ต้องเสียเวลาคัดเลือกอีก ใครจะมาทำหนังก็แล้วแต่ว่าจะทำเรื่องอะไร เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบไหนก็แบบนั้น ผมไป ฝืนไม่ได้ ถ้าคนไทยทั้งประเทศต้องการปฏิรูป มันอยู่ที่ทุกคน ถ้าว่าแต่เรื่องรัฐธรรมนูญ มันไปไม่ได้ ผมอยากไป ไม่ได้อยากอยู่ เพราะตั้งแต่แรกก็ไม่อยากอยู่ แต่ทำเพื่อประเทศ เพื่อแผ่นดินที่เหยียบอยู่ทุกวันนี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ตัวเงินโผล่-นกเอี้ยงจิกในทำเนียบ
เวลา 09.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบ รัฐบาลว่า หลังจากพล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน เปิดงานที่กระทรวงศึกษาธิการ และเดินทางเข้าตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้นมีตัวเงินตัวทองขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ 1 เมตร เดินตัดสนามหญ้ามุ่งไปหน้าตึกไทยคู่ฟ้า โดยมีนกเอี้ยงไล่จิกตลอดเวลาที่อยู่บนสนามหญ้า แต่ตัวเงินตัวทองไม่ได้ตื่นตกใจหรือวิ่งหนี และเดินหายไปบริเวณซุ้มต้นไม้ข้างตึกไทยคู่ฟ้า ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ต่างๆ นานาจากข้าราชการ เนื่อง จากระยะหลังไม่ค่อยปรากฏมีตัวเงินตัวทองขนาดใหญ่ออกมาเดินให้เห็น
โดยเฉพาะวันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกทั้งในวันที่ 22 พ.ค. เป็นวันครบรอบ 1 ปีที่คสช. เข้ามาบริหารประเทศ โดยก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์เปิดเผยกับสื่อ มวลชนว่าจะแถลงความก้าวหน้าการทำงานในรอบ 1 ปีให้ประชาชนทราบ โดยจะพูดผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ในวันที่ 22 พ.ค.ด้วย
ซีเอ็นเอ็นเจาะใจนายกฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ซีเอ็นเอ็นรายงานเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ถึงบทสัมภาษณ์ของพล.อ. ประยุทธ์ หลังบริหารประเทศมาครบ 1 ปี โดยย้ำว่ารัฐบาลยังยึดมั่นที่จะคืนประชาธิปไตยให้กับประเทศและประชาชนไทย แม้แผนการเลือกตั้งจะถูกยืดระยะเวลาออกไปหลายครั้งแล้วก็ตาม ซึ่งรัฐบาลเพิ่งประกาศเลื่อนเมื่อสัปดาห์ก่อน ว่าการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ต้นปี 2559 จะขยายออกไปเป็นราวเดือนส.ค.ถึงก.ย. 2559 แทน
"กระบวนการปฏิรูปเป็นไปตามโรดแม็ป และบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ผมขอยืนยันเหมือนทุกทีว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีระบอบ ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่ต้องเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้พยายามขัดขืน สร้างความล่าช้า หรือปลุกปั่นอะไร ผมไม่ได้อยากอยู่ในอำนาจหรอก" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า มั่นใจได้อย่างไรว่าประเทศจะ ไม่กลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดการรัฐ ประหาร ซึ่งยืดเยื้อมาจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ระบุ ว่า "ผมมั่นใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ในตอนนี้ แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคนไทยที่ต้องกำหนดอนาคตของตัวเอง"
มิ.ย.เปิดเวทีปรองดองรอบ 2
ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ดอนเมือง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคสช.กล่าวว่า คสช.ได้จัดทำวีดิทัศน์การทำงานครบรอบ 1 ปีของคสช. ตามที่นายกฯห่วงใยและอยากให้ประชาชนเข้าใจการทำงานของคสช. และรัฐบาลมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ตนพอใจการทำงานช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สถานการณ์สงบเรียบร้อยมากขึ้น และยืนยันว่าจะทำงานให้ดียิ่งขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือกับประชาชน
พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่าศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) จะเชิญกลุ่มต่างๆ ทั้งนักการเมืองและนักวิชาการร่วมเสนอแนะข้อคิดเห็นเป็นครั้งที่ 2 ในเดือนมิ.ย.นี้ หลังจากเชิญมาพูดคุยก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีแนวคิดเชิญกลุ่มต่างๆ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นลักษณะนี้ทุก 1-2 เดือน
พลเมืองโต้กลับรุกฟ้องคสช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับมีกำหนดจัดกิจกรรมเดินไปศาลอาญา เพื่อยื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์กับพวก ข้อหาเป็นกบฏภายในราชอาณาจักร ล้มล้างการปกครองและปล้นอำนาจปวงชนชาวไทย ความผิดตามมาตรา 113 โดยเชิญชวนให้ประชาชนส่งชื่อจริงและนามสกุลจริง พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนมาที่เพจเฟซบุ๊กของพลเมืองโต้กลับ ระบุถึงความเสียหายจากการรัฐประหาร เพื่อให้ทีมทนายส่งคำฟ้องฉบับเต็มไปให้อ่านและส่งใบแต่งตั้งทนายความให้เซ็น ก่อนนัดเดินไปศาลอาญาในวันที่ 22 พ.ค.นั้น
เมื่อเวลา 14.00 น. นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของนายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายชุมนุมปี 2553 และนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ คนขับรถแท็กซี่ แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เดินทางไปสถานทูตญี่ปุ่น ถนนวิทยุ เพื่อยื่นจดหมายเชิญเจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่นให้รับทราบการฟ้องร้องและเชิญไปเป็นพยานฟ้องร้องดังกล่าว โดยมีนายอาคีโมโตะ ไทฉิ เลขานุการเอก ฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนรับจดหมาย
กระทั่งเวลา 14.20 น. นายพันธ์ศักดิ์และนายวรรณเกียรติ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารม้าที่ 1 กองพลทหารม้าที่ 2 รักษา พระองค์ ควบคุมตัวไปสอบสวนที่สน.ลุมพินี เพื่อทำประวัติและลงบันทึกประจำวัน ก่อนจะถูกปล่อยตัวโดยไม่มีข้อกล่าวหา
โพลชี้ 1 ปีคสช.คืนสุขเพิ่ม
วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง "1 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ' จากประชาชนทั่วประเทศ 1,250 หน่วยตัวอย่าง วันที่ 18-19 พ.ค. โดยถามถึงระดับความสุขของ ประชาชนในโอกาสครบรอบ 1 ปีของคสช. พบว่าร้อยละ 49.44 ระบุมีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะคสช. พูดจริง ทำงานจริงจัง บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น สถานการณ์วุ่นวายทางการเมืองลดลง ร้อยละ 40.72 ยังใช้ชีวิตตามปกติเหมือนเดิม และยังมีปัญหาบางอย่างที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ การจัดระเบียบสังคม ร้อยละ 9.68 มีความสุขลดลง เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ค่าครองชีพสูง ถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ ปัญหาความแตกแยกยังมีให้เห็นอยู่ และร้อยละ 0.16 ไม่แน่ใจ
เมื่อเทียบกับผลการสำรวจ 6 เดือนคสช. ที่สำรวจเมื่อเดือนพ.ย.2557 พบว่าไม่ค่อยแตกต่างกัน โดยร้อยละ 49.28 ระบุมีความสุขเพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.69 มีความสุขเท่าเดิม ร้อยละ 8.79 มีความสุขลดลง และร้อยละ 0.24 ไม่แน่ใจ
ทำชาติสงบ-แก้คอร์รัปชั่น
ด้านการบริหารงานแผ่นดินครบรอบ 1 ปีคสช. ในประเด็นที่ทำให้มีความสุขมากที่สุด พบว่าร้อยละ 55.76 (ผลสำรวจเดือนพ.ย. 2557 ร้อยละ 55.11) ระบุบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง ร้อยละ 10.80 (พ.ย.2557 ร้อยละ 14.86) ระบุไม่มีประเด็นใดที่ทำให้มีความสุข ร้อยละ 9.76 (พ.ย.2557 ร้อยละ 5.51) ระบุการมุ่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ร้อยละ 8.48 (พ.ย.2557 ร้อยละ 7.19) ระบุการจัดระเบียบสังคม เช่น จัดระเบียบทางเท้า การจัดระเบียบชายหาด ร้อยละ 3.52 (พ.ย. 57 ร้อยละ 3.99) ระบุการแก้ปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 2.56 (พ.ย.2557 ร้อยละ 2.64) ระบุการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม ร้อยละ 2.48 (พ.ย.2557 ร้อยละ 2.00)
เมื่อถามถึงการบริหารงานครบรอบ 1 ปีของคสช. ในประเด็นที่ยังไม่สามารถทำให้ มีความสุข พบว่าร้อยละ 25.60 (พ.ย.2557 ร้อยละ 28.43) ระบุไม่มีประเด็นใดที่ไม่มีความสุข ร้อยละ 19.36 (พ.ย.2557 ร้อยละ 17.17) การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม ร้อยละ 17.12 (พ.ย.2557 ร้อยละ 15.34) ระบุการแก้ปัญหาค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 13.20 (พ.ย.2557 ร้อยละ 13.90) ระบุการแก้ไข ปัญหาปากท้องเกษตรกร ร้อยละ 5.68 (พ.ย.2557 ร้อยละ 5.27) ระบุการที่ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ปชป.ชี้เสียเวลากับ 2 เรื่อง
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมาคสช.และรัฐบาล ให้นิยามคำว่าปฏิรูปผิด โดยเข้าใจว่าการปฏิรูปคือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และแก้ไขกฎหมายอื่นๆ มาใช้ จึงเสียเวลากับ 2 เรื่องนี้ โดยไม่ดูพื้นฐานของปัญหาคือความแตกแยก ขัดแย้งในสังคมที่พร้อมปะทุแสดง ออกในตอนเลือกตั้ง
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า เราต้องปรับแก้วัฒน ธรรมประชาธิปไตยของคนไทยที่เห็นต่างให้ได้ แต่รัฐบาลนี้ยังไม่ได้ทำ ทั้งที่มีกลไกเครื่องมือต่างๆ เชื่อว่าหากยกเลิกมาตรา 44 ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม จึงยังไม่สายหากลงมือทำวันนี้ ส่วนผลงานที่ชัดเจนที่สุดของรัฐบาลนี้คือ การควบคุมและยุติการใช้ความรุนแรงของคนในชาติได้ ส่วนการแก้ปัญหาอื่นๆ ยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่ยังแย่กว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
พท.ให้สอบตก-นัดหารือสู้คดี
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ หากมีคะแนนเต็ม 100 ตนให้สอบตก เพราะช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิวัติยึดอำนาจ อ้างว่าเข้ามาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทั้งนั้น ถือเป็นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับทุกคน แต่เมื่อเข้ามาทำหน้าที่แล้วกลับตรงกันข้าม ความขัดแย้งไม่ลดลง ปล่อยให้องค์กรอิสระโดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่อ้างว่าแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น แต่กลับเป็นต้นเหตุของปัญหาเสียเอง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ป.ป.ช.ตั้งเรื่องเพื่อจัดการและชี้มูลอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีป.ป.ช.เตรียมส่งสำนวนถอดถอน 250 อดีตส.ส. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว. ต่อสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น อดีตส.ส.เพื่อไทย ได้นัดหารือแนวทางต่อสู้คดี โดยวันที่ 22 พ.ค.นี้ อดีตส.ส.กทม. นัดหารือกันที่กรุงเทพฯ วันที่ 27 พ.ค. อดีตส.ส.อีสานนัดหารือกันที่จ.อุบลราชธานี วันที่ 28 พ.ค. นัดหารือที่ จ.ขอนแก่น และวันที่ 29 พ.ค. ที่จ.อุดรธานี ทั้งนี้ จะไม่มีการพูดคุยในประเด็นการเมือง จะพูดคุยเฉพาะเรื่องคดีความเท่านั้น และไม่รังเกียจหากฝ่ายความมั่นคงจะเข้าร่วมฟังด้วย ซึ่งคิดว่าทหารบางส่วนคงจะทราบแล้ว
'ปู'ได้รับเชิญไปงานที่จีน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากโรงแรมเอสซีปาร์คว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้การต้อนรับนาย Huang Qiang เลขาธิการพรรคเมืองเหมยโจว นาย Chen Zhining เลขาธิการพรรคเขตฮงสุน และนาย Zhang Wengguang เลขาธิการพรรคเขตเหมยเสี่ยน และคณะนักธุรกิจจากมณฑลกวางตุ้ง เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสมาเยือนประเทศไทย พร้อมทั้งเชิญน.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าร่วมเปิดการประชุมสมาคมฮากกาโลก ระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค.นี้ หลังจากก่อนหน้านี้อดีตนายกฯได้เดินทางไปเยี่ยมญาติที่มณฑลกวางตุ้ง เมื่อช่วงปลายปี 2557
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ระหว่างถูกฟ้องอาญาในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ไปแถลงเปิดคดีด้วยตัวเองที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยศาลได้พิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว มีวงเงินประกันตัว 30 ล้านบาท และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ยกเว้นศาลจะอนุญาต
'วิษณุ'ไม่ฟันธงทำประชามติ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหลายภาคส่วนแสดงความเห็นเรื่องการทำประชามติร่างรัฐ ธรรมนูญว่า มีคนบอกว่าเริ่มไม่แน่ใจว่าจะทำประชามติหรือไม่ และตนไม่อยากฟันธงในเวลานี้ ที่ลงทุนลงแรงแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อเปิดทางให้ทำประชามติ วิญญูชนก็ควรเข้าใจแล้ว แต่จะมาบอกว่าต้องลงแน่หรือไม่แน่ ไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเผื่อเอาไว้บ้าง แต่ขอให้รู้ว่าที่ลงทุนขนาดนี้เพื่อให้เดินไปสู่ประชามติ อย่าระแวงเลย
ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้ไขเพื่อปลดล็อกผ่อนคลายความรู้สึกของสังคมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยอมรับว่าใช่และเพื่อแสดงให้เห็นเจตนาว่าจะไปสู่จุดนั้นอย่างแท้จริง ไม่มีเหตุผลที่จะมาขัดขวาง เว้นแต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) จะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เดินต่อไปไม่ได้ และจากที่ฟังความเห็นของหลายฝ่ายยังเกรงว่าจะซื้อเวลาหรือยื้อเวลา ทั้งที่พูดมาแต่ต้นแล้ว การทำประชามตินอกจากเสียเงินแล้ว ต้องเสียเวลาด้วย แต่เมื่อต้องการและคิดว่าคุ้มก็ไม่ขัดข้อง
อัดคนผิดหวังชอบพูดป่วน
ผู้สื่อข่าวถามว่าแล้วส่วนตัวอยากให้ทำประชามติหรือไม่ นายวิษณุกล่าวสั้นๆ ว่า "อยาก เมื่อพูดถึงเสียเงิน ภาษาฝรั่งมีคำว่า the price of democracy จะเป็นประชาธิปไตยก็ต้องเสียเงิน ขี้เหนียวไม่ได้ ฆ่าควายอย่ามัวเสียดายพริก เรื่องเสียเวลาก็ต้องยอม แต่จะเอาเร็ว 3 วัน 7 วัน ทำประชามติเลยไม่ได้ ในทางปฏิบัติต้องช่วยกันเร่งรัดฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ทำโดยเร็ว มีเวลา 4 เดือน ก็อย่าไป 4 เดือนพอดี ทำ 3 เดือนได้หรือไม่"
เมื่อถามว่า หากประชาชนศรัทธาในตัวกมธ.ยกร่างฯ ปฏิกิริยาของสังคมจะไม่ออกมาเช่นนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นก็หนีไม่พ้นที่จะไปลงประชามติ ส่วนที่บอกว่าคสช.แต่งตั้งคนเข้าไปทำงานจนไม่เป็นที่ยอมรับนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ตอนแรกตั้งเข้าไปก็นึกว่าดี ถ้าไปตั้งคนอื่นก็หาว่าไม่ดีอีก เชื่อหรือไม่ว่าวันนี้มีคนที่อยู่ในบัญชีที่เคยคิดจะตั้ง แต่ไม่ได้ตั้งเข้าไปทำงาน เพราะเหตุใดไม่ทราบ คนเหล่านั้นเมื่อไม่ได้ถูกแต่งตั้งก็ออกมาให้ความเห็นอยู่ในเวลานี้ ทำให้นึกในใจว่าเป็นบุญเหมือนกันที่ไม่ได้ตั้งคนพวกนี้ เพราะพูดอะไรแปลกกว่าคนที่ถูกแต่งตั้งเข้า ไปทำงานเสียอีก
ยันแก้รธน.ชั่วคราวไม่แตะม.44
ส่วนกรณีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ระบุควรแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หลายมาตรา รวมถึงมาตรา 44 เนื่องจากแม้จะใช้แก้ปัญหาได้รวดเร็วแต่อาจทำลายรากฐานประชาธิปไตย นายวิษณุกล่าวว่า นายเทียนฉายคงหมายถึงอย่าใช้อำนาจนั้นพร่ำเพรื่อ ซึ่งมาตราดังกล่าวคงไม่สามารถตัดได้ เนื่องจากเอาไว้ใช้แก้ปัญหาบางอย่าง ซึ่งตนแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบเมื่อวันที่ประชุมร่วมครม. คสช. วันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่ามาตรา 44 มีทั้งพระเดชและพระคุณ ขึ้นอยู่กับการใช้ ซึ่งบัญญัติให้ใช้ทั้งในทางบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ
รองนายกฯ กล่าวว่า สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะใช้อำนาจคล้ายกันนี้ในทางตุลาการ จับผู้กระทำผิดได้ก็ตัดสิน คือตั้งตนเป็นศาล แต่คำสั่งตามมาตรา 44 ขณะนี้มีมา 17 ฉบับแล้ว ยังไม่มีการใช้ในทางตุลาการแม้แต่ฉบับเดียว มีเพียงใช้ในทางนิติบัญญัติและบริหาร เมื่อถามว่ามีแนวโน้มใช้มาตรา 44 ในทางตุลาการหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีแนวโน้มใดๆ หากจะใช้คงใช้ไปนานแล้ว ถ้าดูจากคำสั่งหัวหน้าคสช. 17 ฉบับที่ผ่านมาใช้ไปในทางบวก เช่นโยกย้ายข้าราชการที่อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริต หากตรวจสอบแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องก็กลับไปดำรงตำแหน่งเดิมได้ สาเหตุที่ทำเช่นนี้เนื่องจากเรื่องต่างๆ ค้างการดำเนินการมาหลายปี หน่วยงานตรวจสอบขอหลักฐานก็ไม่ได้รับความร่วมมือ กระทั่งคดีจะขาดอายุความ
ต้อนรับ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้อนรับคณะเลขาธิการพรรคเขตเหมยโจว เขตฮงสุน เขตเหมยเสี่ยน และนักธุรกิจจากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เข้าเยี่ยมคารวะ ที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค เมื่อวันที่ 21 พ.ค. |
'พรเพชร'ไม่ชี้นำทางออก
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กล่าวว่า การทำประชามติจะมีผลกระทบต่อโรดแม็ปแน่นอน และไม่รู้ว่าจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน ตนเห็นว่าการทำประชามติต้องสะท้อนความเห็นของประชาชนให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ที่สำคัญหากประชา มติไม่ผ่านจะต้องคำนึงว่าทำอย่างไรให้ร่างรัฐ ธรรมนูญฉบับใหม่เป็นที่พอใจของประชาชนมากกว่าร่างที่ไม่ผ่านประชามติ ฉะนั้น การทำประชามติต้องกำหนดคำถามไว้มากกว่ารับหรือไม่รับร่าง แต่ไม่อยากให้ความเห็น เพราะจะกลายเป็นการชี้นำ รอให้มีตุ๊กตาออกมาก่อน เดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่าล้ำเส้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าในฐานะร่วมร่างรัฐธรรม นูญฉบับชั่วคราว เหตุใดจึงไม่กำหนดการทำประชามติ นายพรเพชรกล่าวว่า ไม่มีหลักประกันในการทำประชามติ ที่ผ่านมาเราเคยทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วแต่ก็ใช้ได้ไม่กี่ปี ใช้งานได้น้อยกว่ารัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ทำประชามติ อีกทั้งเกี่ยวข้องกับโรด แม็ปของคสช. เพราะถ้ากำหนดการทำประชา มติ อาจไปไกลกว่าโรดแม็ปเดิม ซึ่งเราระวังในจุดนี้ และคิดว่าหากรัฐธรรมนูญเป็นที่พอใจและสะท้อนความเห็นของประชาชนได้ ก็ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ แต่เราก็ไม่ประมาท เปิดช่องไว้ในมาตรา 46 ซึ่งไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญชั่วคราวอื่น
กกต.แนะถามแค่รับ-ไม่รับ
ที่โรงแรมชลจันทร์ พัทยา รีสอร์ท จ.ชลบุรี นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่ากกต.ได้เตรียมพร้อมเรื่องกฎหมายรองรับการทำประชามติไว้แล้ว แต่ต้องรอความชัดเจนว่าสปช.จะมีความเห็นอย่างไรต่อร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกำหนดประเด็นทำประชามติ ซึ่งมองว่าหากถามว่าจะรับหรือไม่รับทั้งฉบับจะง่ายกว่าการถามหลายประเด็นพร้อมกัน และยืนยันว่าการทำประชามติจะมีผลผูกพันกับรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นผลดี เพราะประชาชนจะได้รับทราบรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ
นายศุภชัย กล่าวว่า ได้ส่งความเห็นของ กกต.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้รวบรวมแล้ว โดยกกต.ชี้ให้เห็นถึงปัญหาในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ ที่ต้องใช้บัตรเลือกตั้งขนาดใหญ่ ใช้เวลานับคะแนนนาน ที่สำคัญหากมีการปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ไม่สามารถนับคะแนนได้จะมีผลต่อการรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อที่ต้องนับรวมทั้งประเทศ อาจส่งผลต่อการเปิดประชุมสภานัดแรกด้วย
'เสี่ยตือ'รอได้-ถ้ารธน.เป็นปชต.
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่าทุกคนมีความเห็นสอดคล้องกันว่าควรทำประชามติ เมื่อทำแล้วผลจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ประชาชนตัดสินใจ ส่วนที่ต้องยืดเวลาออกไปหากทำประชามตินั้น ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องการต่ออายุคสช. เพราะกติกาเมื่อออกมาแล้ว ไม่ใช่จะใช้กันแค่ปีสองปีแล้วมีรัฐประหารอีก คสช.เองไม่ได้ต้องการอย่างนั้น
"รัฐธรรมนูญควรได้รับการยอมรับจาก ทุกฝ่าย ยึดหลักประชาธิปไตย ถ้ารวบรัดแล้วประชาชนไม่ยอมรับจะเกิดการเผชิญหน้ากันอีก ปัญหาเดิมจะกลับมา ฝ่ายการเมืองเขารอได้ แต่ขอให้เป็นที่ยอมรับ เป็นประชาธิปไตย เป็นของผู้คน เราไม่ได้คิดว่าจะต่อเวลาให้คสช. เพราะอะไรที่ทำให้บ้านเมืองกลับสู่สภาวะปกติ แม้ต้องใช้เวลาทำให้ดีขึ้น ทุกคนเข้าใจ รอได้" นายสมศักดิ์กล่าว
หึ่ง!ให้สปช.คว่ำร่างรธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ครม.-คสช.จะมีมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อเปิดทางให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ล่าสุดรัฐบาลยังไม่ฟันธงว่าจะทำประชามติหรือไม่ บอกเพียงให้รอ ฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนและรอร่างรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาของ สปช.ว่าจะรับหรือไม่รับในวันที่ 6 ส.ค.นี้ก่อน
อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่าการทำประชามติอาจไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลมองว่ามีความยุ่งยาก และเสียงบประมาณมากถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่คุ้มค่า จึงมีทางออกที่เตรียมไว้คือให้ สปช.โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีผลให้ กมธ.ยกร่างฯ ต้องยุบไปด้วย จากนั้นจะตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ขึ้นมาใหม่ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา หรืออาจหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง เช่น ปี 2540 หรือปี 2550 มาใช้ชั่วคราวก่อน
กมธ.ยกร่างฯพบเอกชน 24 พ.ค.
ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต.กล่าวว่า ขณะนี้พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ แม้จะเป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่คสช.ประกาศให้บังคับใช้อยู่ หากแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อทำประชามติ แล้วพบว่าพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ อาจทำให้เกิดปัญหาข้อจำกัดเวลาที่ปฏิบัติใช้จริง ก็เป็นหน้าที่ของสนช. จะต้องนำกฎหมายลูกนี้ไปปรับแก้ไขลดข้ออุปสรรค
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่าในวันที่ 24 พ.ค. เวลา 13.00 น. กมธ.ยกร่างฯ นำโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.จะเข้าให้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นร่างรัฐธรรมนูญต่อสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และภาคเอกชนที่เกี่ยว ข้องประมาณ 200 คน ที่โรงแรมดุสิตธานี งานดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญ เพราะจะเป็นการเปิดเวทีให้ภาคเอกชน และส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจนำเสนอความเห็นต่อกมธ.ยกร่างฯโดยตรง ในประเด็นที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้กมธ.ยกร่างฯนำความเห็นและข้อมูลไปพิจารณาประกอบการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ที่ในสัปดาห์หน้าจะเข้าสู่การพิจารณาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญแล้ว
กก.ปฏิรูปตร.คลอดแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ลงนามในคำสั่งสปช.ที่ 20/2558 ลงวันที่ 12 พ.ค.2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ จำนวน 17 คน ดังนี้ 1.นายเทียนฉาย เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ 2.พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร ที่ปรึกษา 3.นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ประธานกรรมการ 4.ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กรรมการ 5.นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการ 6.พล.ต.ท. อำนวย นิ่มมะโน กรรมการ 7.อัยการสูงสุด หรือผู้แทน กรรมการ 8.เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม หรือผู้แทน กรรมการ
9.นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนาย ความ กรรมการ 10.พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ กรรมการ 11.พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร กรรมการ 12.นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กรรมการ 13.นายพงศ์โพยม วาศภูติ กรรมการ 14.นายเข็มชัย ชุติวงศ์ กรรมการ 15.นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ กรรมการ 16.นายไพโรจน์ พรหมสาส์น กรรม การ และ 17.นายวันชัย สอนศิริ กรรมการ และเลขานุการ
ทั้งนี้ ในคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่สำคัญ เช่น ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจในประเด็นหรือในด้านต่างๆ รวมถึงการจัดองค์กรและโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และภารกิจของกิจการตำรวจ การกำหนดกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ การบริหาร ราชการ และการพัฒนาคุณภาพข้าราชการตำรวจ เพื่อให้กิจการตำรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและชอบด้วยหลักธรรมาภิบาล
สนช.ถกงบรายจ่ายปี 59
เมื่อเวลา 09.45 น. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงถึงการประชุมสนช.เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ ประมาณ พ.ศ.2559 ว่า นายกฯ และครม.จะชี้แจงหลักการและเหตุผลตั้งงบประมาณในวงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบแบบขาดดุล และถือว่ามียอดสูงกว่าปีก่อนๆ โดยมีงบลงทุนถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งสนช.จะร่วมเป็นกรรมาธิการ 40 คน และครม. 10 คน เพื่อร่วมพิจารณาต่อไป
เวลา 10.00 น. สนช.เริ่มประชุม มีนาย สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม แจ้งว่า การอภิปรายงบครั้งนี้มีการถ่ายทอดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐสภา และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และช่อง 11 ขอให้สมาชิกอภิปรายโดยใช้ถ้อยคำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะการพาดพิงถึงบุคคลภายนอก เพราะอาจถูกฟ้องร้องได้
ก่อนเข้าสู่วาระ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบพิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 8 ของบริหารขนส่งทางอากาศ ภายใต้กรอบการตกลงว่าด้วยการบริหารของอาเซียน ด้วยคะแนน 191 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1
นายกฯ แจงวงเงิน 2.72 ล้านล.
จากนั้นเวลา 11.00 น. เข้าสู่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ มีนายพรเพชรเป็นประธานที่ประชุม โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. พร้อมครม.เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า การจัดทำงบมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย พ.ศ.2558-2563 โดยในปีงบประมาณ 2559 ตั้งงบประมาณไว้ไม่เกิน 2.72 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2558 จำนวน 145,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.6 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงเพิ่มสัดส่วนงบลงทุนคิดเป็นร้อยละ 20 ของวงเงินงบประมาณ หรือจำนวน 543,635.9 ล้านบาท ถือว่าสูงกว่าของปีงบ ประมาณที่ผ่านมา และเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 1.35 หมื่นล้านบาท
คาดศก.ไทยปีหน้าโต 3.7-4.7%
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.7-4.7 ใกล้กับการขยายตัวในปี 2558 มีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก คาดว่าจะทำให้การส่งออกขยายตัวได้มากขึ้น ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพและเริ่มปรับเปลี่ยนสูงขึ้น คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ต่ำร้อยละ 1.1-2.1
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การจัดทำงบเป็นลักษณะบูรณาการ 19 เรื่อง เชื่อมโยงภารกิจ ลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน อาทิ การเตรียมพร้อมประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 6,013.7 ล้านบาท การพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริหารของประเทศ 11,543 ล้านบาท การบูรณาการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 6,405.6 ล้านบาท การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 30,550.9 ล้านบาท การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ 1,168.8 ล้านบาท การสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ 467.6 ล้านบาท หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสนช. หากใครสงสัยก็พร้อมตอบ
ยืนยันไม่เอื้อประโยชน์ให้ใคร
"วันนี้ อย่ามาสงสารผม เพราะผมทำตัวเอง เราถูกคาดหวังและถูกกดดัน ผมก็กดดันมาก ครอบครัวก็กดดัน แต่ทำงานเต็มที่ ขอให้เชื่อว่าผมไม่เอื้อผลประโยชน์ให้ใคร แต่มีบ้างที่รู้จักกัน อยากให้ดูด้วยว่ารู้จักกันเมื่อไรอย่างไร ขอให้ดูพฤติกรรม อย่ามาค้านเพราะรู้จักกับคนโน้นคนนี้เลยไม่ไว้ใจ มีคนมาบอกให้ใช้มาตรา 44 เรื่องปรองดองและเรื่องอื่นๆ แต่มันยังไม่เข้าขั้นตอนสักอัน ถ้ามาบอกให้คัดคนไม่ดีออกทั้งระบบ มันทำไม่ได้ ข้า ราชการมี 4 แสนคน ถ้าฟังสื่อคงต้องปลดถึง 2 แสนคน แล้วจะเอาพวกนี้ไปไว้ตรงไหน ถ้าจะปลดก็ต้องหาความผิดมาให้ได้ก่อน ทหารก็มีบ้างที่เมา เกเร แต่ตบหัวไป 2-3 ทีก็รู้เรื่อง ขอให้เชื่อว่าทหารจริงใจ"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ใช้เวลาชี้แจง 2 ชั่วโมง 15 นาที โดยอ่านเอกสารประกอบด้วยความรวดเร็ว จนมีผู้ส่งโน้ตมาให้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์พูดว่า "เขาส่งข่าวมาให้ผมว่าประชาชนขอให้พูดช้าๆ หน่อย เขาฟังไม่รู้เรื่อง เขาแปลไม่ทัน ต้องขอโทษด้วย ไม่ค่อยได้ออกรายการสด พูดทุกวันก็มีคนเตือน เมื่อเช้าก็มีคนเตือนว่าให้พูดช้าๆ"
ทั้งนี้ ระหว่างการชี้แจง พล.อ.ประยุทธ์ต้องอ่านเอกสารที่มีตัวเลขจำนวนมาก ประกอบกับเป็นคนพูดเร็วจนทำให้เกิดอาการเหนื่อยและถอนหายใจหลายครั้ง บางช่วงถึงขั้นพูดว่า "ขอพักเหนื่อยหน่อย หายใจไม่ทัน" และ "ขออนุญาตนั่งและดื่มน้ำก่อน" ในช่วงท้ายการชี้แจง พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวขอโทษสมาชิก สนช.ว่าบางครั้งก็พูดไม่สุภาพ
ขู่เล่นงานถลุงเงิน-ไร้ผลงาน
ต่อมาเวลา 13.30 น. ที่ประชุมเปิดให้สมาชิก สนช.อภิปราย ซึ่งสมาชิกเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล โดยเฉพาะที่รัฐบาลเพิ่มงบลงทุนเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อย่ากังวลเรื่องหนี้สาธารณะ ซึ่งไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 46 ถือว่าต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้ และเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอในการใช้หนี้ เพราะสถานะทางการเงินมั่นคง
หลังจากสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้น รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงได้ชี้แจงในประเด็นต่างๆ จากนั้นเวลา 18.25 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวขอบคุณสมาชิกที่ให้ความสนใจพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ อยากให้ช่วยกันสนับสนุน ส่วนที่ของบฯ กันมาก ถ้าปีนี้ไม่มีผลผลิตออกมา ตนจะเล่นงานทั้งกระบวนเพราะระบบการเก็บภาษีของเรายังเก็บไม่ได้ตามเป้า ซึ่งรมว.คลังอยากลาออกทุกวัน ขณะที่เรื่องข้าวตนไม่สามารถใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งให้ประเทศอื่นซื้อข้าวได้ ขณะเดียวกัน คุณภาพข้าวของเราดีแล้วหรือยัง ตนพยายามหาหนทางเอาไปแปรรูปให้เป็นขนมปัง เพราะตนชอบกิน แต่สื่อก็ไปบอกว่าตนไม่ทำตามค่านิยม 12 ประการ ที่ไปกินขนมปัง
รื้อโครงสร้างตร.ให้รอรัฐบาลหน้า
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า วันนี้การทำงานอยู่ในโรดแม็ประยะที่ 2 ยังจำเป็นต้องใช้กำลังทหารและเจ้าหน้าที่ในทางปฏิบัติ ถ้าให้ลดเจ้าหน้าที่ตอนนี้คงทำไม่ได้ ถ้าอนาคตตนไม่อยู่แล้วและหากมีปัญหา ก็อย่ามาเรียกใช้ทหารถ้าต้องการให้ลดจำนวน ขณะที่เรื่องอาวุธ เรายังจำเป็นต้องซื้อ วันนี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องไปประชุมเรื่องความมั่นคงที่อินโดนีเซีย ขนาดไม่สบายต้องฉีดยายังต้องไปเลย แล้วกลับมารายงาน ทำได้แค่นี้ถือว่าเก่งแล้วสำหรับ รัฐบาล ออกกฎหมายท่ามกลางสถาน การณ์แบบนี้ได้เป็นร้อยฉบับ อย่ามาติติงตนมากนัก ต้องไปดูกันที่การปฏิรูป ทุกคนลืมว่าสถาน การณ์ก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 เกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่มีเหตุการณ์นั้น ตนคงไม่มาเสียงดังแบบนี้
"ที่ผ่านมามีเสียงด่า เสียงชม ผมไม่เคยปลื้มเพราะยังทำงานไม่เสร็จ และไม่ได้ภูมิใจที่มายืนตรงนี้ เพราะผมมาไม่ถูกต้อง แต่ทำด้วยความจำเป็น แค่พี่ๆ เข้าใจรัฐบาลผม ผมก็ภูมิใจแบบเงียบๆ ผมมาตรงนี้ไม่สามารถแสดงความภูมิใจได้ วันนี้ผมปฏิรูปไปได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ อีก 90 เปอร์เซ็นต์ให้เป็นหน้าที่รัฐบาลหน้า โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ จะรื้อจะปรับอย่างไรบอกรัฐบาลหน้า และฝากบอกพี่ๆ สปช.ที่เสนอมาด้วย ถ้าให้รัฐบาลผมทำวันนี้ เรื่องปฏิรูปจะเดินไปอย่างไรได้ วันนี้ผมพูดมาเยอะแล้ว รู้สึกเจ็บคอ อยากจะขอบคุณทุกคนมาก ที่ผมพูดเสียงดังไม่ได้โมโห แต่ต้องการพูดให้สื่อฟัง"พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
ปล่อยมุขฮา-ฉลุยวาระแรก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายกฯ ชี้แจงร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ได้พูดถึงการวางแผนผังเมืองของ 77 จังหวัดในประเทศ ไทย พร้อมกับทำกฎหมายได้ 19 ฉบับ มาก กว่ารัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมา เมื่อถึงจังหวะนี้ นายกฯ ถามสมาชิกสนช.ว่า 'เก่งมั้ย ถ้าเก่งก็ปรบมือหน่อย' ทำให้สมาชิกทั้งห้องประชุมปรบมือกันอย่างพร้อมเพรียง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมา ธิการวิสามัญตรวจสอบการพิจารณางบประมาณ ให้รอบคอบ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ พร้อมกล่าวขอบคุณและยกมือไหว้สมาชิก
จากนั้นที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 ด้วยคะแนนเห็นชอบ 186 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 50 คน แบ่งเป็นสัดส่วนครม. 10 คน สนช. 40 คน โดยแปรญัตติ 15 วัน และพิจารณาวาระแรกภายใน 90 วัน
ก่อนปิดประชุม นายพรเพชรกล่าวว่า ในนามสนช.ขอให้สมาชิกปรบมือเพื่อเป็นเกียรติและแสดงความขอบคุณนายกฯ ซึ่งทำให้สมาชิกในห้องประชุมต่างปรบมือกันดังกึก ก้อง ก่อนสั่งปิดการประชุมในเวลา 19.15 น.
ป.ป.ช.เร่งเจาะเซฟ'ธาริต-บิ๊กกิ๊ก'
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหาว่านายธาริต เพ็งดิษฐ์ สมัยเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ร่ำรวยผิดปกติ เปิดเผยว่านายธาริตได้ส่งเอกสารชี้แจงเรื่องที่มาของทรัพย์สิน ที่ป.ป.ช.มีคำสั่งให้อายัดส่งมายังอนุกรรมการไต่สวนแล้ว หลังจากนี้จะตรวจสอบเอกสารชี้แจงว่าตรงกับประเด็นที่ป.ป.ช.ตั้งข้อสงสัยหรือไม่ ทั้งทรัพย์สิน เงินฝาก บ้าน ที่ดิน รถยนต์ รวมทั้งทรัพย์สินในตู้นิรภัย ว่ามีข้อมูลอ้างอิงที่มาของทรัพย์สิน หรือมีพยานยืนยันหรือไม่อย่างไร หากป.ป.ช.ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจะขอจากนายธาริตเพิ่มอีกครั้งหนึ่ง หากตรวจสอบพบความผิดปกติจะแจ้งให้นายธาริตมาชี้แจงด้วยตัวเองต่อไป
ด้านนายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่าเจ้าหน้าที่จะนำคำชี้แจงของนายธาริต เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการไต่สวนในสัปดาห์หน้า ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินในเชิงลึกของพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) กับพวก ขณะนี้ อนุกรรมการไต่สวนกรณีดังกล่าวกำลังประสานข้อมูลเรื่องทรัพย์สินกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ซึ่งกำลังนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด เพื่อสรุปมูลค่าทรัพย์สิน ล่าสุดป.ป.ง.ประสานให้อนุกรรมการไปตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่ต้องการเพื่อนำมาประกอบการตรวจสอบเชิงลึกต่อไป
ตีตกรธน.-ไม่ประชามติ สปช.คว่ำ ตั้งกมธ.ยกร่างฯชุดใหม่ ให้'สภาปฏิรูปฯ'นั่งต่อ'บิ๊กตู่'โชว์งาน 1 ปีคสช. ปชป.ชี้รัฐบาลอยู่ยาว พท.จี้เปิดกรอบเวลา'วิษณุ'ขออย่าระแวง
'บิ๊กโด่ง'พอใจ 1 ปีบ้านเมืองสงบ ปชป.ชี้ รบ.ยกเลิกสัญญาประชาคมล้มโรดแมปอ้างอยู่ยาวแน่ พท.แนะกำหนดเวลาหวั่นยื้อ
@ 'บิ๊กตู่'บ่นรายการคืนสุขแพ้ละคร
มติชนออนไลน์ : เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 21 พฤษภาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดงาน "มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย" โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งเรื่องร่างรัฐธรรมนูญว่า วันๆ จะเอาแต่รัฐธรรมนูญๆ ทุกอย่างอยู่ที่คน ไม่ทราบวันหน้าใครจะเข้ามา
บริหาร พรรคไหนก็แล้วแต่ คงไม่ใช่ตนอยู่แล้ว เพราะไม่ได้รับสมัครเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นต้องไปดูว่าปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องออกไปเจอปัญหาก่อน แล้วค่อยแก้ปัญหา หากไม่รู้สาเหตุก็แก้ปัญหาไม่ได้
"เวลาดูละครสิ่งสำคัญอย่าดูอะไรเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว อย่างวันนี้รายการคืนความสุขผมกำลังสู้กับละคร แต่สู้เขาไม่ได้เพราะคนอยากดูละครมากกว่า แต่ถ้าคนไม่ฟังผมก็จะไม่รู้ว่าประเทศจะเดินหน้าอย่างไร ดูละครได้แต่อย่าไปอินมาก เอาชาติมากก่อน พ่อแม่มาก่อน ครูมาก่อน วันนี้คนไทยเก่งเรื่องการตั้งประเด็น ข้อเรียกร้อง รู้ทุกอย่าง รู้วิธีแก้ปัญหาแต่ไม่ทำ ดูได้จากที่ทุกหน่วยงานเขียนนโยบายมา แต่ไม่รู้จะดำเนินการอย่างไร
ดังนั้นทุกกระทรวงต้องประเมินแก้ไขไปเรื่อยๆ ว่าทั้งหมดทำได้เท่าไร เพื่อให้ทันเวลาเพราะมีเวลาจำกัด ทำมา 1 ปีแค่หนังตัวอย่าง เพราะกว่าที่จะแก้ไขได้ต้องไปหาดารามาเยอะแยะ ฆ่าผู้ร้ายไปเยอะเหมือนกัน มีทั้งดาวดี ดาวร้าย แต่ดาวร้ายดันเยอะกว่า ก็ต้องไปเสียเวลาคัดเลือกอีก ใครจะมาทำหนังก็ต้องแล้วแต่ท่าน ว่าจะทำเรื่องอะไร เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบไหนก็แบบนั้นเพราะผมไปฝืนไม่ได้"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ จี้รบ.คำนวณเวลาแก้รธน.
ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เปิดทางทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า เท่าที่ฟังความเห็นของ คสช.และ ครม.ต้องแก้ไขเพียงจุดเดียวคือการทำประชามติเท่านั้น ทั้งนี้ตามกำหนดสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะต้องให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดให้ทำประชามติให้เสร็จก่อนในเดือนสิงหาคม เพื่อให้มีกฎหมายรองรับก่อนที่ สปช.จะเห็นชอบ ขณะนี้ ครม.และ คสช.กำลังยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวเพื่อเสนอให้ สนช. ซึ่งการพิจารณาของ สนช.จะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นรัฐบาลจะต้องคำนวณเวลาเสร็จให้ทัน เนื่องจาก สนช.มีเวลาในการพิจารณาเพียง 15 วัน โดย สนช.จะไม่มีอำนาจขอแก้ไขเพิ่มเติมได้ เว้น ครม.หรือ คสช.ต้องเห็นด้วย
@ ชี้คำถามมากกว่ารับ-ไม่รับ
"การยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการทำประชามติจะต้องคำนึงและให้คำตอบว่าจะดำเนินการ มีวิธีการ และหลักเกณฑ์อย่างไร และหลังผลของประชามติออกมาจะใช้หลักเกณฑ์อย่างไร ถ้าประชามติไม่ผ่านจะต้องดำเนินการอย่างไร เพราะฉะนั้นการทำประชามติจะต้องมีผลกระทบต่อโรดแมปแน่นอน และไม่รู้ว่าจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญหากประชามติไม่ผ่านจะต้องคำนึงว่าทำอย่างไรให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นที่พอใจของประชาชนมากกว่าร่างที่ไม่ผ่าน เพราะฉะนั้นการทำประชามติต้องกำหนดคำถามไว้มากกว่ารับหรือไม่รับร่างเท่านั้น แต่ผมก็ไม่อยากให้ความเห็น เพราะจะกลายเป็นการชี้นำ รอให้มีตุ๊กตาออกมาก่อน เดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่าล้ำเส้น" ประธาน สนช.กล่าว
@ 'วิษณุ'แจงม.44 ไว้แก้ปัญหา
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกมาระบุให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวในหลายมาตรา รวมถึงมาตรา 44 เนื่องจากเป็นการทำลายรากฐานประชาธิปไตยว่า นายเทียนฉายคงหมายถึงว่า อย่าใช้อำนาจนั้นไปในทางพร่ำเพรื่อเท่านั้นมาตราดังกล่าวคงไม่สามารถตัดได้ เนื่องจากเอาไว้ใช้แก้ปัญหาอะไรบางอย่าง ตนได้แจ้งให้ ครม.ทราบว่ามาตรา 44 นั้นมีทั้งพระเดชและพระคุณ ขึ้นอยู่กับการใช้ บัญญัติให้ใช้ในทั้งทางบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้นจะใช้อำนาจคล้ายๆ กันนี้ในทางตุลาการ จับผู้กระทำผิดได้ ก็ตัดสินคือตั้งตนเป็นศาล แต่คำสั่งตามมาตรา 44 ในขณะนี้มีมา 17 ฉบับแล้ว ยังไม่มีการใช้ในทางตุลาการแม้แต่ฉบับเดียว มีเพียงใช้ในทางนิติบัญญัติและบริหารเท่านั้น ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีแนวโน้มการใช้มาตรา 44 ในทางตุลาการหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีแนวโน้มใดๆ เพราะหากจะใช้คงใช้ไปนานแล้ว ซึ่งถ้าดูจากคำสั่งหัวหน้า คสช. 17 ฉบับที่ผ่านมาล้วนใช้ไปในทางบวก
@ อ้างทำประชามติอย่าระแวง
เมื่อถามถึงเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุกล่าวว่า "มีคนบอกว่าชักไม่แน่ใจว่าจะมีการทำประชามติหรือไม่ ผมก็ไม่อยากที่จะไปยืนยัน ฟันธงในเวลานี้ แต่การที่อุตส่าห์ลงทุนลงแรงแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเปิดทาง วิญญูชนก็ควรจะเข้าใจ แต่จะมาบอกว่าต้องลงแน่หรือไม่แน่ พูดอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเผื่ออะไรเอาไว้หน่อย แต่ให้รู้เถอะว่าที่ลงทุนมาขนาดนี้คือเพื่อให้เดินไปสู่ประชามติ อย่าระแวงอะไรเลย" เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อเปิดทางทำประชามตินั้นเป็นการปลดล็อกผ่อนคลายความรู้สึกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "ใช่ และยังแสดงเจตนาว่าจะไปสู่จุดนั้นจริงๆ ไม่มีเหตุอะไรที่จะมาขัดขวาง เว้นแต่ สปช.จะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถเดินไปได้ต่อ อย่างไรก็ตาม จากที่ได้ฟังความเห็นหลายฝ่าย เกรงว่าจะมีการซื้อเวลา หรือยื้อเวลา ผมพูดมาแต่ต้นว่านอกจากเสียเงินแล้วต้องเสียเวลา แต่เมื่อต้องการและถ้าคิดว่าคุ้มก็ไม่ขัดข้อง"
@ เหน็บบุญไม่ตั้งบางคนเข้ามา
"พูดถึงเสียเงิน ภาษาฝรั่งมีคำว่า the price of democracy จะเป็นประชาธิปไตยก็ต้องเสียเงิน ขี้เหนียวไม่ได้ ฆ่าควายอย่ามัวเสียดายพริก ส่วนเรื่องเสียเวลามันก็ต้องยอมเอา เพราะจะเอาเร็วเข้าว่า 3 วัน 7 วัน ประชามติเลยก็ไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติต้องช่วยกันเร่งรัดฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำให้มันเร็ว 4 เดือนก็อย่า 4 เดือนเป๊ะ 3 เดือนได้ไหม" นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่าถ้าคนศรัทธาใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปฏิกิริยาของสังคมจะไม่ออกมาเช่นนี้ นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นก็คงหนีไม่พ้นที่จะไปลงประชามติ ส่วนที่บอกว่า คสช.แต่งตั้งคนเข้าไปทำงานจนไม่เป็นที่ยอมรับนั้น ตอนแรกที่ตั้งนึกว่าดี แล้วถ้าไปตั้งคนอื่นจะหาว่าไม่ดีอีก เชื่อหรือไม่ว่าวันนี้มีคนที่อยู่ในบัญชีที่เคยคิดจะตั้ง แต่ไม่ได้ตั้ง เพราะสาเหตุใดไม่ทราบ ซึ่งคนเหล่านั้นเมื่อไม่ได้ถูกแต่งตั้ง ก็ออกมาให้ความเห็นอยู่ในเวลานี้ ตนนึกในใจว่าก็เป็นบุญเหมือนกันที่ไม่ได้ตั้งคนพวกนี้ เพราะพูดอะไรแปลกกว่าคนที่ได้ถูกแต่งตั้งเข้าไปทำงานอีก
@ 'ศุภชัย'แนะให้ถามแค่'รับ-ไม่รับ'
นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวว่า กกต.เตรียมความพร้อมเรื่องของกฎหมายรองรับการทำประชามติไว้แล้ว แต่ต้องรอความชัดเจนว่า สปช.จะมีความเห็นอย่างไร รวมทั้งการกำหนดประเด็นที่จะทำประชามติ มองว่าการทำประชามติ โดยถามว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะง่ายกว่าการถามหลายประเด็นพร้อมกัน ขอยืนยันการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะมีผลผูกพันกับรัฐบาล ส่วนบรรยากาศในขณะนี้เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อการทำประชามติ เพราะประชาชนได้รับทราบรายละเอียดของการร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะใช้งบประมาณใกล้เคียงกับการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา แต่ไม่อยากให้กังวลเรื่องความคุ้มค่าเพราะการให้ข้อมูลกับประชาชนในเรื่องเนื้อหามีความสำคัญกว่า เพราะจะเป็นทำให้ประชาชนเข้าใจรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
@ ส่อตีตก'รธน.'ก่อนประชามติ
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อเปิดทางให้สามารถทำประชามติรัฐธรรมนูญได้ โดยเบื้องต้นคาดว่าหากต้องทำประชามติจะเริ่มดำเนินการประมาณต้นปี 2559 และถ้าประชามติผ่านจะสามารถจัดการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2559 ได้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากมีการหารือนอกรอบในระดับที่ปรึกษาแม่น้ำ 5 สายแล้วประเมินว่า หากทำประชามติต้องพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจกประชาชนหลายล้านชุด รวมถึงต้องมีเวลาทำความเข้าใจกับประชาชนก่อนเปิดให้ลงประชามติ ซึ่งใช้เวลาในการจัดพิมพ์และแจกจ่ายนาน ดังนั้น จึงมีแนวคิดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญภายหลังจากคณะกรรมาธิการยกร่างแก้ไขแล้วโหวตไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน เพื่อเปลี่ยนคณะกรรมาธิการยกร่างชุดใหม่ โดยคง สปช.ชุดเดิม และเลือกร่างรัฐธรรมนูญฉบับเก่าฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาแก้ไขแล้วประกาศใช้ ก่อนจัดการเลือกตั้งต่อไป ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายเห็นชอบกับแนวทางดังกล่าว การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะต้องแก้ประเด็นการลงคะแนนไม่รับของ สปช. จากเดิมที่เป็นฝาแฝดคือทั้งกรรมาธิการยกร่างฯและ สปช.พ้นจากหน้าที่ทั้งคู่ให้แก้เป็น สปช.ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
@ พท.แนะกำหนดเวลาหวั่นยื้อ
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เมื่อจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว ก็ควรแก้ในมาตราอื่นๆ ด้วย เช่น กรณีที่ระบุว่าหาก สปช.มีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้ กมธ.ยกร่างฯและ สปช.ชุดปัจจุบันสิ้นสภาพ จากนั้นจึงตั้ง กมธ.ยกร่างฯชุดใหม่ขึ้นมาดำเนินการ โดยขอให้แก้ไขให้กระบวนการแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่เหมือนที่บัญญัติไว้ในขณะนี้ โดยอาจจะพิจารณาเลือกข้อดีของรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ทำกันอยู่ มาเป็นหลักในการจัดทำ และเช่นเดียวกันหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านประชามติ จะต้องมีทางเลือกที่ชัดเจนให้กับประชาชน เช่น ตั้ง กมธ.ยกร่างฯใหม่ หรือเลือกใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือ 2550 เป็นต้น นอกจากนี้ต้องกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน เพื่อป้องกันข้อครหาเรื่องการยื้อเวลา หากเขียนเช่นนี้จะทำให้เห็นอนาคตประเทศ
@ 'บิ๊กตู่'ยันไม่ต่อต้านปชต.
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์นายแอนดรู สตีเวน บรรณาธิการด้านเอเชียแปซิฟิกของสำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในโอกาสครบรอบ 1 ปีการทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า "ผมถือโอกาสนี้บอกกับโลกว่าสาเหตุที่เข้ามาทำหน้าที่นี้เพื่ออะไร ผมไม่เคยต่อต้านประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นแบบโลกตะวันตกหรือตะวันออก ผมเป็นทหารภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมาตลอดชีวิต ที่ผ่านมาผมสนับสนุนรัฐบาลทุกรัฐบาล แต่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้ เรามีโรดแมปไปสู่ประชาธิปไตย จะนำไปสู่กระบวนการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้แล้ว"
เมื่อนายสตีเวนถามว่า คุณจะให้คำมั่นได้หรือไม่ว่าจะคืนอำนาจในระบอบประชาธิปไตยให้กับประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า "ผมยังยืนยันเหมือนที่ผมเคยพูดมาตลอดว่าประเทศไทยจะต้องมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แต่ เราจะต้องสร้างประชาธิปไตยให้มีความมั่นคง ยั่งยืน และมีความสงบโดยไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นอีกเพื่อให้ประเทศเจริญก้าวหน้า"
@ 'บิ๊กโด่ง'พอใจ1ปีบ้านเมืองสงบ
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการแถลงผลงาน คสช.ครบรอบ 1 ปี วันที่ 22 พฤษภาคม ว่า คสช.ได้จัดทำวีดิทัศน์การทำงานรอบ 1 ปีของ คสช. ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ที่มีความห่วงใยและต้องการให้ประชาชนเข้าใจการทำงานของ คสช.และรัฐบาลมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ตนพอใจการทำงานช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เพราะสามารถทำให้สถานการณ์สงบเรียบร้อยมากขึ้น อย่างไรก็ตามตนจะพยายามทำงานให้ดียิ่งขึ้น หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือกับประชาชนด้วย ในขณะเดียวกันทางศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) จะเชิญกลุ่มต่างๆ ทั้งนักการเมืองและนักวิชาการร่วมเสนอแนะข้อคิดเห็นเป็นครั้งที่ 2 ในเดือนมิถุนายนนี้ ภายหลังจากที่ได้เคยเชิญมาพูดคุยแล้วก่อนหน้านี้
@ 'บิ๊กตู่'แจงโชว์ 1 ปียึดอำนาจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 22 พฤษภาคม จะเป็นวันครบรอบ 1 ปีเต็มของการเข้าควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะแถลงความคืบหน้าการทำงานของ คสช.ผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติเวลา 20.15 น. วันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ตามด้วยการชี้แจงการทำงานของฝ่ายเศรษฐกิจรัฐบาล โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมแถลง อย่างไรก็ตามในรายการฯ นายกฯจะกล่าวถึงเหตุผลที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงผลงานที่ คสช.ในการรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อชี้แจงทำความเข้ากับประชาชน
@ ปชป.ชี้รบ.เลิกโรดแมป-อยู่ยาว
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ครบรอบ 1 ปี ว่าที่ผ่านมาทั้ง คสช.และรัฐบาลให้นิยามคำว่าปฏิรูปผิด โดยเข้าใจว่าการปฏิรูปคือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และแก้ไขกฎหมายอื่นๆ มาใช้ จึงเสียเวลาไปกับสองเรื่องนี้ โดยไม่ดูพื้นฐานของปัญหาคือความแตกแยก ขัดแย้งในสังคมของแต่ละฝ่ายที่พร้อมจะปะทุแสดงออกในตอนเลือกตั้ง ผลงานที่ชัดเจนที่สุดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์คือการควบคุมและยุติการใช้ความรุนแรงของคนในชาติได้ ส่วนการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่ยังแย่กว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า กรณีที่นายวิษณุบอกว่าจะมีการเลือกตั้งราวเดือนสิงหาคม-กันยายน 2559 เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะเดิมนายกฯประกาศโรดแมป หลายฝ่ายเห็นพ้องว่าน่าจะมีการเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2559 หรืออย่างช้าหากมีการทำประชามติประมาณพฤษภาคม 2559 แต่ตอนนี้กลับประกาศออกไปเช่นนี้ จึงเหนือความคาดหมาย ถือว่าโรดแมปที่เป็นสัญญาประชาคมถูกยกเลิกไปแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะอยู่ยาว อาจคิดว่าหากยืดเวลาออกไปกำลังของฝ่ายต่อต้านจะลดน้อยลง แต่อำนาจการต่อรองของผู้มีอำนาจจะยิ่งสูงขึ้นก็ได้
@ เด็กพท.ให้'นายกฯตู่'สอบตก
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ในวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี การบริหารประเทศภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หากมีคะแนนเต็ม 100 ตนให้สอบตก เพราะช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิวัติยึดอำนาจ อ้างว่าเข้ามาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทั้งนั้น ถือเป็นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับทุกคน แต่เมื่อเข้ามาทำหน้าที่แล้วกลับตรงกันข้าม ความขัดแย้งกลับไม่ลดลง พล.อ.ประยุทธ์ต้องเร่งเดินหน้าสร้างประชาธิปไตย เริ่มจากการทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เดินหน้าทำประชามติ หากไม่ผ่านก็ไม่ควรเริ่มนับหนึ่งใหม่เพราะต้องใช้เวลาเป็นปีๆ แบบนี้คนอาจจะมองว่าอยู่เพื่อสืบทอดหรือรักษาอำนาจเอาไว้หรือไม่
@ เล็งเดินสายสู้คดีปมแก้รธน.
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.) แจ้งว่า แกนนำพรรค พท.บางส่วนและอดีต ส.ส.พรรค พท.จะนัดหารือแนวทางต่อสู้คดีแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ประเด็นที่มา ส.ว. โดยวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ อดีต ส.ส.กทม. พรรค พท. จะนัดหารือกันที่กรุงเทพฯ วันที่ 27 พฤษภาคม อดีต ส.ส.อีสานจะนัดหารือกันที่ จ.อุบลราชธานี วันที่ 28 พฤษภาคม นัดหารือที่ จ.ขอนแก่น และวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ จ.อุดรธานี สำหรับความเคลื่อนไหวของอดีต ส.ส.ภาคเหนือ จะหารือแนวทางการต่อสู้คดีผ่านทางโทรศัพท์ ทั้งนี้ จะไม่มีการพูดคุยในประเด็นการเมือง จะพูดคุยเฉพาะเรื่องของคดีความเท่านั้น และยินดีถ้าหากฝ่ายความมั่นคงจะเข้าร่วมฟังด้วย
@ งดสื่อร่วมฟังบรรยายที่กต.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสถาบันพระปกเกล้าได้ส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์กรุ๊ปสื่อมวลชนของสถาบันพระปกเกล้าแจ้งว่า ตามที่สื่อบางท่านได้ทราบข้อมูลเรื่อง การบรรยายพิเศษ หัวข้อถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมือง สู่การปฏิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตย กรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ ในวันที่ 22, 26, 27 พฤษภาคม เวลา 13.30-16.30 น. ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยานั้น เนื่องด้วยงานดังกล่าวทางรัฐบาลประสานงานกับสถาบันพระปกเกล้าในฐานะฝ่ายเลขานุการว่า ไม่ได้ให้เรียนเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมงานในห้องสัมมนา แต่อาจเปิดโอกาสให้สื่อเข้ามาเก็บภาพบรรยากาศก่อนการเริ่มงานได้ โดยอาจจะมีการแถลงข่าวและจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง