- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 19 May 2015 15:21
- Hits: 4647
ปูขึ้นศาลคดีข้าว ครม.เด้ง 3 ปลัด-ถึงคิว'ทส.'เกษมสันต์แทนมิ่งขวัญ ดัน"คุรุจิต"คุมพลังงาน พท.เย้ย'มาร์ค'หลอน
'ปู'ไม่กังวล ขึ้นศาลแถลงเปิดคดีข้าววันนี้ เพื่อไทยเย้ยมาร์ค แพ้ จนหลอนณัฐวุฒิแนะอภิสิทธิ์ สรุปบทเรียนพ่ายซ้ำซาก ชี้ไทยไม่มีทักษิณก็ได้ แต่ต้องมีปชต. 'วิษณุ'ชงยืดเวลากมธ.แก้ไขรธน. กมธ.ปฏิรูปเชิญ นักวิชาการถก อาจารย์รุมหนุนตัดโอเพ่นลิสต์ เลิกกรรมการกลั่นกรองผู้สมัครส.ว. ไม่เอา นายกฯคนนอก สปช.ถกปฏิรูป 'สื่อ'ชงสมัชชาคุณธรรมกำกับสื่อ'บิ๊กตู่'ฉุน โดนถามไปตปท.มากกว่าตจว. โต้ลั่นทำงานมากกว่าทุกรัฐบาล
บิ๊กตู่ย้ำจัดโซนนิ่งเกษตร
อุ้มหลาน - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หยอกล้อเล่นกับ "น้องเอมิ-น้องนามิ" หลานสาวฝาแฝด ก่อนที่นางพินทองทา (ชินวัตร) คุณากรวงศ์ จะพาทั้งคู่บินไปพบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. |
วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8938 ข่าวสดรายวัน
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคสช.ในวันที่ 19 พ.ค. นี้ ว่า เป็นการดำเนินการขั้นตอนตามปกติ แต่การทำประชามติไม่ใช่เรื่องยาก ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอมายังรัฐบาลและรัฐบาลส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3 ว่า ที่ประชุมได้กำหนดถึงวิธีระบายข้าวแล้ว ซึ่งรายละเอียดปลัดกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ชี้แจง เดี๋ยวจะมาวิจารณ์ว่านายกฯ พูดมาก
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2 ว่า รัฐบาลมีแผนจะจัดสรรที่ทำกินให้ประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งต้องอนุมัติแผนใหญ่ทั้งประเทศและจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร ทุกคนต้องมีคำตอบ คือทำงานตามแผน ไม่ได้ทำงานกันไปวันๆ ต้องสำรวจตามขั้นตอนหลายคณะ ส่วนหนึ่งต้องเป็นพื้นที่ที่จัดสรรที่ดินให้ได้ อีกส่วนเป็นเรื่องการเตรียมคน ซึ่งทั้งประเทศมี 3 แสนกว่าคนที่ยังไม่มีที่ทำกิน วันนี้ดำเนินการผ่านระยะ 1-2 ได้แค่ไม่กี่หมื่นคน ทั้งประเทศจะต้องพูดถึงการจัดโซนนิ่งเพาะปลูกการเกษตรให้สอดคล้องกับห่วงโซ่ และส่วนหนึ่งของคนทำเกษตร ต้องออกไปทำอาชีพอื่นบ้าง วันนี้มีเนื้อที่ทำเกษตรรวม 320 ล้านไร่ทั้งประเทศ โดย 147 ล้านไร่ เป็นนา 70 เปอร์เซ็นต์ และใน 147 ล้านไร่ อยู่ในพื้นที่ชลประทาน 40 เปอร์เซ็นต์ อีก 60 เปอร์เซ็นต์ ไม่อยู่ในพื้นที่ชลประทาน ตรงนี้ต้องไปหาอาชีพอื่นให้เขาหรือไม่
ลั่นทำงานมากกว่าทุกรัฐบาล
เมื่อถามถึงแผนการลงพื้นที่พบประชาชนในต่างจังหวัด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า พร้อมเมื่อไรก็ลงพื้นที่ทันที แต่ทุกวันนี้ทำงานตลอด ทุกพื้นที่อยู่ที่ไหนก็ทำงานเหมือนกัน การลงพื้นที่เพื่อไปพบปะประชาชน ไปเยี่ยมเยียน ไปให้กำลังใจแค่นั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่ามองว่าตัวเองลงพื้นที่ในประเทศไทยน้อยกว่าการไปต่างประเทศหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ถามแบบนี้หาเรื่อง ในประเทศฉันทำงานประชุมครม. มากกว่าทุกรัฐบาล ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศ เขาเชิญไปประชุม ไม่ไปได้หรือไม่ ฉันไปเดินแฟชั่นหรือเปล่า ไปดูการเดินทางแต่ละครั้งเขาบันทึกอะไรบ้าง ฉันพูดอะไรบ้างในที่ประชุม ประเทศอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าฉันไม่ไป เขาก็ไม่เข้าใจฉัน เข้าใจหรือเปล่า มันพูดแบบนี้ได้ยังไง ทำได้ไปกี่ครั้ง ไปถามรัฐบาลอื่นโน่น"
คทช.ลดค่าธรรมเนียมใช้ที่ดิน
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยา กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) แถลงผลการประชุม คทช. ว่า ที่ประชุมพิจารณาเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ขอใช้ประโยชน์ที่ดินที่จัดสรรราษฎรตามอัตราค่าชดเชยตามกฎหมาย ในส่วนที่ดินของกรมป่าไม้ สรุปว่าอัตราค่าธรรมเนียมใช้ประโยชน์ไร่ละ 50 บาท ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2531 ให้เหลือไร่ละ 25 บาท ตามเงื่อนไขของกรมป่าไม้เท่านั้น โดยให้ ผู้ว่าฯ ประสานกับชาวบ้านที่ร่วมโครงการของคทช. ในภารกิจที่มีชื่อใหม่ว่า "การจัดระเบียบและจัดหาที่ดินทำกินให้ราษฎร" และมีมติกรณีให้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ป่าเศรษฐกิจชุมชนไร่ละ 100 บาทต่อปี เปลี่ยนเป็น 5 ปีแรก 50 บาท พอปีที่ 6-15 จะเก็บ 100 บาท ถือเป็นการใช้พื้นที่ป่าโดยมีระเบียบในการใช้ แต่โครงการทั้งหมดนี้คือโครงการที่อยู่ในคทช.เท่านั้น ถ้าไม่ได้อยู่ในโครงการก็จะไม่เข้าข่าย
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า นายกฯ สั่งการ กระทรวงเกษตรฯ ให้ไปสำรวจตัวเลขที่ชัดเจนของราษฎรที่ยังไม่มีที่ดินทำกิน ตามทะเบียนส.ป.ก.กว่า 3 แสนรายนั้น ความจริงมีตัวเลขเท่าไร เพราะยังมีรายชื่อเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ป่าตามมติครม.ปี2541 อีกกว่า 6 แสนราย ซึ่งรวมเกือบล้านรายแล้ว เพื่อวางแผนระยะยาว และย้ำกระทรวงเกษตรฯ ให้วางโครงสร้างพื้นฐานให้ราษฎร คือต้องมี แหล่งน้ำ สอดคล้องกับการจัดการน้ำ สร้างโครงสร้างพื้นฐาน
ตกลงกับพีมูฟได้แล้ว
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า ในที่ประชุม กรมป่าไม้รายงานการดำเนินโครงการที่จะทำภายในเดือนมิ.ย.นี้ 3 แปลง คือ ป่าสงวนแห่งชาติลุ่มแม่น้ำฝาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 2,255 ไร่ ราษฎร 583 ราย ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าธาร อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ 4,528 ไร่ ราษฎร 740 ราย ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ตาลและแม่ยุย อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ 2,031 ไร่ ราษฎร 539 ราย
รมว.ทส.กล่าวว่า ที่ประชุมยังหารือกรณีขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ผลักดันเรื่องโฉนดชุมชน ซึ่งสอดคล้องเรื่องการจัดสรรที่ทำกินให้ราษฎร โดยไม่ออกเอกสารสิทธิเป็นรายบุคคล ซึ่งพีมูฟระบุเห็นด้วยและเข้าใจในแนวทางใหม่นี้ของรัฐบาล เพราะจะเลิกใช้คำว่าโฉนดชุมชน เมื่อพีมูฟมาคุยกับกระทรวงทส.แล้วเห็นว่าเดินไปด้วยกันได้ นายกฯ ยังสั่งการว่าขณะนี้มีคณะกรรมการ รัฐบาล ที่เกี่ยวข้องเรื่องที่ดินหลายคณะ หลายฉบับ ให้สผ. กระทรวงทส.ไปเชิญมาคุยให้หมด เพื่อพิจารณาว่ามีบทบาทหน้าที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ ขัดแย้งหรือไม่ อะไรจะยุบก็ต้องยุบ หรือถ้าต้องแก้กฎหมายก็ให้รีบทำเพื่อให้เป็นเอกภาพและยั่งยืน
จับตาเด้ง 3 ปลัดกระทรวง
รายงานข่าวจากทำเนียบแจ้งว่า ในวันที่ 19 พ.ค.นี้ ครม.มีวาระพิจารณาโยกย้ายข้าราชการ ได้แก่ นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยจะแต่งตั้งนายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาดำรงตำแหน่งแทน รวมทั้งจะใช้มาตรา 44 ย้ายข้าราชการระดับอธิบดีภายในทส.อีกหลายตำแหน่ง ส่วนกระทรวงอื่นก็มีวาระพิจารณาย้ายปลัดกระทรวงอีก 2 กระทรวง โดยหนึ่งในนั้นจะเป็น นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และจะมีการแต่งตั้งนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นปลัดกระทรวงพลังงานคนใหม่ แทนนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อดีตปลัดกระทรวงพลังงานที่ย้ายไปเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
โหรชี้"บิ๊กตู่"ดวงพุ่ง
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ฝากขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนที่ส่งกำลังใจแสดงความห่วงใยเรื่องสุขภาพมายังตัวนายกฯและรัฐบาล ที่ขณะนี้มีปัญหารุมเร้าให้ต้องแก้ไขมาก นายกฯฝากเรียนว่าตัวเองมีความมุ่งมั่นเต็มที่ มีกำลังใจเต็มเปี่ยม เหนื่อยบ้าง แต่ไม่ท้อถอย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 11.00 น. บริเวณทำเนียบรัฐบาล เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดรัศมีวงกว้างและเด่นชัด ซึ่งไม่ค่อยเกิดขึ้นทั่วไปในช่วงที่ไม่มีเมฆเช่นวันนี้ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา เนื่องจาก ก่อนหน้านี้ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ลูกเห็บตกที่ทำเนียบมาแล้ว
ด้านนายภาณุวัฒน์ พันธุ์วิชาติกุล ประธานสถาบันศาสตร์แห่งชีวิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ การที่พระอาทิตย์ทรงกลดเป็นเรื่องที่ดี หากมีการทำงานอะไรแล้วเกิดปรากฏการณ์นี้จะถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง และในช่วงที่ไม่ค่อยมีเมฆเช่นเวลา 11.00 น. ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นมงคลต่อประเทศ ปรากฏการณ์นี้จะเกื้อหนุนการทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ แม้จะมีอุปสรรค มาขัดใจอยู่บ้างแต่จะผ่านไปได้ ไม่ว่าใครจะทำอะไรก็ไม่สามารถขัดขวางพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้
วิษณุ เห็นด้วยตัดม.181-182
ที่กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวว่า ข้อท้วงติงๆ ต่อร่างรัฐธรรม นูญภายหลังประชุมร่วม ครม.ก็จะทำข้อเสนอไปยังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรม นูญ ส่วนจะแก้ไขหรือไม่แก้ก็เป็นเรื่องของ กมธ.ยกร่างๆ ครม.ไม่สามารถสั่งการได้ อย่างไรก็ดีมีหลายมาตราที่กังวลเยอะอยู่เหมือนกัน
ที่ทำเนียบ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรวบรวมความเห็นคำเสนอขอแก้ไขร่างธรรมนูญของแต่ละกระทรวงแต่ละหน่วยงาน ว่า ทุกกระทรวงส่งความเห็นมาครบแล้ว นอกจากนี้ยังมีความเห็นที่นักวิชาการ องค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลฎีกา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญและประชาชน ส่งความเห็นมาที่รัฐบาลด้วย สิ่งที่องค์กรอิสระส่งมาคือเรื่องที่กระทบต่อตัวหน่วยงานนั้นๆ ส่วนมาตรา 181 กับ 182 ก็มีคนเสนอตัด ซึ่งตนก็จะเสนออยู่แล้วเพราะไม่เห็นประโยชน์จาก 2 มาตรานี้ นอกจากเพื่อชิงไหวชิงพริบกัน
นายวิษณุกล่าวว่า เป็นไปได้ที่กมธ.ยกร่างฯจะตัดมาตราในร่างรัฐธรรมนูญออก บางมาตรานำไปใส่ในกฎหมายลูก หรือบางมาตราไม่มีความจำเป็นต้องมีแม้ในกฎหมายลูกเลยก็ได้ ซึ่งรัฐบาลจะบอกไป ส่วนการมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปหรือสมัชชาคุณธรรมนั้น ถ้าทำออกมาแล้วทำให้ดูเหมือนดูถูกประชาชนก็ต้องแก้ไข แต่กมธ.ยกร่างฯคงมีเจตนาดีต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ออกกฎหมายเพียงอย่างเดียว จึงไม่คิดว่าเป็นการดูถูกใคร หลังหน่วยงานต่างๆ ส่งความเห็นเข้ามา ตนจะสรุปข้อคิดเห็นทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยส่งไปยังกมธ.ยกร่างฯ ภายในวันที่ 25 พ.ค.นี้ ประเด็นหลักใหญ่ต้องขอให้ครม.ตัดสินว่าเห็นชอบหรือไม่ อย่างไรก็ตามเชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯจะยอมแก้ตามที่มีการเสนอไปแต่คงไม่ทั้งหมด เพราะเขามีจุดยืนของเขาอยู่ อะไรที่เขามั่นใจเขาจะไม่ปรับแก้ แต่คงแก้ในสิ่งที่มีความเห็นไม่ตรงกัน
ชงยืดเวลากมธ.แก้ไข
นายวิษณุกล่าวด้วยว่า รู้สึกเห็นใจกมธ.ที่มีเวลา 60 วัน จะใช้เวลาเหล่านี้พิจารณาความเห็นที่ส่งไปจากส่วนต่างๆ กลัวที่สุดคือทำไปลวกๆ หรือปฏิเสธความเห็นและยืนหยัดแบบเดิม อยากให้เขารอบคอบ เวลา 60 วัน ดังนั้นจะเสนอในที่ประชุมอาจต้องขยายเวลาให้ เรื่องนี้ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อทำประชา มติแล้วบางทีอาจแก้ไขให้ขยายเวลาการทำงานของกมธ.ออกไป อาจจะแค่ 10 วันหรือ 20 วัน หรือดีที่สุดคือไม่เกิน 30 วัน ส่วนที่ประชุมจะเอาด้วยหรือไม่ไม่รู้
"สมมติว่าต้องลงมติ 6 ส.ค.บวกเวลา อีก 1 เดือน เป็น 6 ก.ย. บวกเวลาอีก 4 เดือนในการทำจัดทำประชามติ ก็จะเสร็จประมาณเดือนม.ค.2559 แล้วไปบีบขั้นตอนการลงประชามติให้เร็วขึ้น แต่ถ้ากมธ.คิดว่าเขาทำทันก็ไม่ต้องไปเสนอแก้ไขเวลาอะไร" นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่าหากทำประชามติไม่ผ่านโอกาสจะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาพิจารณาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มีหลายทางเลือก ตนใช้คำว่าทางเลือกทั้งหลายที่มนุษย์จะคิดออกก็คิดตรงกันทั้งนั้น ไม่ได้บอกว่าเอาฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาใช้ เพราะหากเอาฉบับใดขึ้นมาก็จะเถียงกันอีก
ปชป.ย้ำต้องตัดม.254 ด้วย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุอาจตัดออกให้ 2 มาตราคือมาตรา181 และ182 ว่า ความจริงไม่ได้มีแค่ 2 มาตราที่ควรตัดออกแต่ยังมีอีกมาตราที่ยังหมกอยู่ และควรเอาออกคือ มาตรา 254 ที่ให้การถอดถอนบุคคล ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสองสภารวมกัน คือไม่น้อยกว่า 390 เสียงใน 650 เสียง ซึ่งไม่มีทางมีเสียงพอถอดถอน จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้เอาเสียงของสภาผู้แทนราษฎรไปมีส่วนร่วมถอดถอนบุคคล แต่ควรให้เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาหรือกลไกอื่นแทน
"ที่ต้องตัดออกจึงไม่ได้มีแค่ 2 มาตราแต่เป็น 3 มาตรา ทั้งมาตรา 181 ,182 และ 254 เพื่อให้ฝ่ายบริหารที่ทุจริต ประพฤติมิชอบหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบในสภาหรือ หนีลอยนวลไม่ได้ และเพื่อให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติมีดุลยภาพ" นายจุรินทร์กล่าว
บวรศักดิ์ยันไม่ยุบกำนัน-ผญบ.
ที่รัฐสภา เครือข่ายสมาคมองค์กรปกครองท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่น ประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรท้องถิ่น ผู้แทนภาคประชาชน ยื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสนับ สนุนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในประเด็นการ กระจายอำนาจและให้มีองค์การบริหารท้องถิ่นขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ หรือจังหวัดจัดการตนเอง ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 285 และมาตรา 82(3) ส่วนที่ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านคัดค้านบางมาตรานั้น ถือเป็นการเบี่ยงเบนประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจ โดยมีวาระซ่อนเร้นคือการปกป้องผลประโยชน์ของหน่วยงานปกครองจากส่วนกลาง
ด้านนายบวรศักดิ์กล่าวขอบคุณ พร้อมระบุว่า เชื่อว่าหากท้องถิ่นเข้มแข็ง จะร่วมเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนประเทศ ส่วนที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเข้าใจว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านจะถูกยุบนั้น ยืนยันว่าในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่มีการยุบกำนันผู้ใหญ่บ้านและการปกครองส่วนภูมิภาคแต่อย่างใด
กมธ.ปฏิรูปเชิญ"อาจารย์"ถก
ที่อาคารรัฐสภา 2 กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. จัดสัมมนาเรื่อง "การรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ" มีคณบดี รองคณบดี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ เข้าร่วมกว่า 20 สถาบัน
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า กมธ.จะรวบรวมประเด็นข้อคิดเห็นจากนักการเมือง ภาคประชาชน นักวิชาการ นำมาปรับปรุงและเตรียมแปรญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะรวบรวมเสร็จในวันที่ 21 พ.ค. ก่อนนำเข้าที่ประชุมกมธ.ปฏิรูปการเมือง เพื่อจัดเตรียมร่างแก้ไข และส่งให้กมธ.ยกร่างฯได้ ภายในวันที่ 22 พ.ค.นี้
คณบดีนิติฯชี้อย่าดูถูกประชาชน
จากนั้นนายชาตรี เรืองเดชณรงค์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการให้กลุ่มการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เพราะเกรงจะเกิดปัญหาซื้อตัวผู้สมัคร อาจมีการต่อรองระหว่างพรรคกับกลุ่มการเมือง ทำให้การเมืองอ่อนแอมาก และห่วงว่าเวลาเขียนรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลอ่อนแอ กลไกตรวจสอบเข้มแข็ง ไม่แน่ใจว่าจะถล่มประเทศไทยหรือไม่ ถ้าเราเจออาการที่รัฐบาลทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นเวลาที่เราสร้างกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐ ควรมีการคุ้มครองการใช้อำนาจรัฐด้วย หาความพอดีให้ได้ หากรัฐบาลอ่อนแอ แต่กลไกตรวจสอบเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นปัญหาเหมือนรัฐธรรมนูญปี 50
นายชาตรีกล่าวถึงที่มานายกฯว่า จากงานวิจัยพบว่าไม่มีระบบการเลือกตั้งไหนที่ไม่มีการซื้อเสียง แต่ปัจจุบันประชาชนมีวิจารณ ญาณ อย่าดูถูกประชาชน ประชาชนต้องเรียนรู้ ถ้าเลือกรัฐบาล ถ้าเลือกผิดเขาจะได้รู้ เชื่อว่าประชาชนจะไม่เลือกผิดไปตลอด หากเราไปบล็อกไว้ ประชาชนจะไม่เกิดการเรียนรู้ทางการเมือง ปัญหาจะวนไปวนมา ถ้าเราเชื่อว่าประชาชนเป็นใหญ่ เราต้องเชื่อว่าระบบการเลือกตั้งจะพัฒนาคนด้วย
นางประกายศรี ศรีรุ่งเรือง คณบดีสำนักวิชาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะความมั่นคง แต่ต้องดูเรื่องเศรษฐกิจปากท้องด้วย หากนายกฯไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ประชา ชนจะรู้ได้อย่างไรว่าใครจะมาทำอะไรให้ ดังนั้นประชาชนควรมีสิทธิเลือก
อจ.ซัดโอเพ่นลิสต์ไม่เหมาะไทย
นายยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า แม้จะเป็นเจตนารมณ์ที่ดีที่บัญญัติให้กลุ่มการเมืองเข้ามาในสภา เป็นส.ส.มาจากภาคประชาชน แต่พรรคการเมืองไทยไม่ได้เติบโตโดยธรรมชาติ แต่เติบโตด้วยการมีกฎหมายมาควบคุม และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีทุนเกี่ยวข้อง ทำให้ตัวแทนของพรรคกับตัวแทนประชาชนไม่สมดุลกัน วันนี้สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้กลุ่มการเมืองไม่ต้องเข้ามาในสภาก็ได้ แต่เป็นเครื่องมือของประชาชนเคลื่อนไหวทางการเมืองได้
นายยุทธพรกล่าวว่า ระบบเลือกตั้งแบบ โอเพ่นลิสต์ ข้อดีเปิดโอกาสพรรคเล็กมากขึ้น สะท้อนความเป็นจริงของคะแนนเสียง แต่จุดอ่อนคือไม่เหมาะกับสังคมไทย เพราะการกระจายอำนาจยังไม่ครบถ้วน เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าประโยชน์จะตกที่พรรคขนาดเล็กจริงๆ ไม่ใช่พรรคการตลาด
ติงที่มาส.ว.ต้องสอดคล้องหน้าที่
"ขณะที่มาตรา 121 ที่มาส.ว. เห็นว่าต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการมีส.ว. ที่ผ่านมา ส.ว.อาจเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหาร กระทั่งปี 40 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่วุฒิสภากลายเป็นสภาตรวจสอบ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เกิดความสมดุลระหว่างที่มาและอำนาจหน้าที่ ขณะที่ปี 50 เป็นแบบผสมทั้งเลือกตั้งและสรรหา แต่อำนาจหน้าที่เท่าเดิม ทำให้เสียสมดุล ส่วนรัฐธรรมนูญที่กำลังร่าง บัญญัติให้เลือกตั้งโดยอ้อม ขณะที่อำนาจหน้าที่มากขึ้น จึงต้องนึกถึงที่มากับอำนาจหน้าที่ด้วย หากใช้ฐานเดียวกับส.ส.ก็ไม่ต้องมีส.ว.เพราะปัจจุบันสภาคู่มีไม่กี่ประเทศทั่วโลก"
นายยุทธพรกล่าวว่า วันนี้ถ้าจะบอกว่าส.ว.ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง แต่ให้มีคณะกรรมการสรรหาแต่ละจังหวัด จะไม่เป็นไปตามหลักการเลือกตั้งตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ต้องอิสระ เสมอภาค และลงคะแนนลับ ดังนั้น การกลั่นกรองก่อนของคณะกรรมการสรรหาจะขัดหลักการเลือกตั้งอย่างแท้จริง ส่วนส.ว.สรรหา ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โปร่งใสเพื่อไม่ให้เกิดระบบอุปถัมภ์ โดยไม่ตั้งเกณฑ์วิชาชีพอย่างเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่มาส.ว. ในวงสัมมนามีการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่เห็นควรให้ตัดคณะกรรมการกลั่นกรองออก โดยให้ประชาชนเลือกตั้งโดยตรง
หนุนตัด"โอเพ่นลิสต์"
ส่วนมาตรา 268 คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ในวงเสวนามีการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งสนับสนุนให้ กกต.จัดการเลือกตั้งต่อไป เนื่องจากเห็นว่ากกต.มีพัฒนาการระยะหนึ่งแล้ว หากตั้งหน่วยงานใหม่จะต้องใช้งบเพิ่มเติม สร้างคนใหม่ และเสียความไว้วางใจ จึงไม่อยากให้ขยายงานใหม่ ควรให้เวลากกต.ทำหน้าที่ต่อไป แต่ต้องเชื่อมโยงกับเอ็นจีโอ สร้างเครือข่ายตรวจสอบ ขณะที่บางส่วนเห็นว่าควรให้มีกจต.ทำหน้าที่แทนกกต. เพราะมองว่ากกต.จังหวัด ตกอยู่ในการครอบงำทางการเมืองท้องถิ่น
จากนั้นเวลา 15.30 น. นายนิรันดร์ พันทรกิจ กมธ.ปฏิรูปการเมือง แถลงผลสัมมนาว่า เสียงส่วนใหญ่ของนักวิชาการเห็นว่า ควรตัดกลุ่มการเมืองออก เพราะพรรคมีการพัฒนามาเป็นระยะ ซึ่งกลุ่มการเมืองอาจมีได้ แต่ไม่ใช่ส่งสมัครรับเลือกตั้ง อีกทั้งการตั้งพรรคในปัจจุบันไม่ได้ซ้ำซ้อน ขอจดทะเบียนจัดตั้งได้ง่ายอยู่แล้ว ส่วนระบบเลือกตั้ง นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าควรตัดระบบโอเพ่นลิสต์ทิ้ง เนื่องจากทำให้พรรคไม่เข้มแข็ง จัดตั้งรัฐบาลได้ยุ่งยาก ส่วนที่มาส.ว. เห็นร่วมกันเกือบเป็นเอกฉันท์ว่า หากจะให้ประชาชนเลือกตั้งก็ไม่ควรมีคณะกรรมการกลั่นกรอง
รุมค้าน"นายกฯ"คนนอก
นายนิรันดร์กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่มา นายกฯ ส่วนใหญ่เห็นว่านายกฯ ควรเป็นส.ส. ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน โดยไม่เห็นด้วยที่นายกฯ จะมาจากคนนอก นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้ตัดมาตรา 181 และ 182 ออก เพราะทำให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลบกพร่อง ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป
นายสมบัติให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ที่กมธ.ยกร่างฯ มีท่าทียอมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกท้วงติงมาในหลายประเด็น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่สุดท้ายต้องดูว่าหลังจากสปช. ครม. และคสช. ส่งความคิดเห็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไปให้แล้ว จะแก้ไขในประเด็นใดบ้าง แต่เบื้องต้นการตอบรับเรื่องการตัดมาตรา 181 และ 182 ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะมีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย และต้องรอดูประเด็นที่มานายกฯ คนนอก และระบบโอเพ่นลิสต์ว่า กมธ.ยกร่างฯ จะมีความเห็นอย่างไร ถ้าจะให้มีต่อ ก็ต้องตอบคำถามที่กมธ.ปฏิรูปการเมืองท้วงติงไว้ให้ได้ เพราะเรื่องดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
"ไพบูลย์"โผล่ชงปฏิรูปก่อนลต.
ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. กล่าวว่า เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจะมีการทำประชามติเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชา ชนว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงขอให้จัดทำประชามติพร้อมกันไปในคราวเดียวว่า "ประชาชนต้องการให้มีการปฏิรูปให้แล้วเสร็จก่อนจะมีการเลือกตั้งหรือไม่" ตามที่มีหลายฝ่ายออกมาร้อง และอยากให้พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ที่เรียกร้องให้มีการทำประชามติออกมาสนับสนุนการทำประชามติในประเด็นเรื่องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งไปด้วย ไม่ใช่เรียกร้องว่าจะ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น และขอให้มั่นใจในเสียงของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 47 ล้านเสียงทุกคนมี 1 เสียงเท่ากัน ที่จะชี้ขาดว่าจะเห็นชอบหรือไม่
นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา สปช. กล่าวว่า ขณะนี้มีประชาชนออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และถ้าหากมีประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยก็จะออกมาเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็น ซึ่งสุดท้ายก็ต้องไปชี้ขาดที่การทำประชามติ ซึ่งการทำรัฐธรรมนูญและการทำประชามติล้วนแต่ต้องเสียเงินงบประมาณ แต่หากทำแล้วมีปัญหา สุดท้ายนอกจากจะเสียเงินงบประมาณแล้วยังสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติด้วย
สปช.เปิดออนไลน์แจงปฏิรูป
ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พร้อมสมาชิก สปช. แถลงเปิดตัวหนังสือพิมพ์ "เสียงปฏิรูปออนไลน์" ซึ่งเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของสปช. จัดทำโดยอนุกมธ.สื่อสารภายในและเสริมสร้างภาพลักษณ์ เป็นช่องทางการสื่อสารที่ประชาชนเข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงแต่มีเครื่องมือสื่อสารทันสมัย รับรู้ข่าวสารได้ทันที ทั้งนี้เสียงปฏิรูปออนไลน์หรือเว็บไซต์เสียงปฏิรูป เป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ เนื้อหาและรูปแบบไม่ต่างจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ทั่วไป ประชาชนสามารถรับรู้ข่าวสารที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
นายเทียนฉายกล่าวว่า เท่าที่ทราบประชาชน ไม่ค่อยทราบความเคลื่อนไหวของ สปช. คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก ขณะที่งานของ สปช.มีผลต่อคนทั้งประเทศ เนื่องจากการปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องใหญ่ รวมถึงการร่างรัฐธรรม นูญต้องอาศัยความเข้าใจค่อนข้างมาก จึงต้องหาช่องทางทำให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งการใช้สื่อออนไลน์จึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะสื่อสารเรื่องนี้ รวมทั้งสื่อดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางข่าวสารระหว่าง สปช.กับประชาชน เพื่อเตรียมรับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นครั้งแรกที่สภามีสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงการทำงาน
ขอเพิ่ม 6 เดือนเพื่อทำประชามติ
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสปช. (วิป สปช.) เปิดเผยว่า ประธาน สปช.ทำหนังสือถึงนายกฯ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ถึงมติของสปช.ที่เห็นด้วยให้ออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หลังสปช.มีมติเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว โดยให้ประชาชนออกเสียงประชามติทั้งฉบับ พร้อมเสนอให้มีหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการออกเสียงลงประชามติอย่างครอบคลุมและโปร่งใส รวมทั้งยังเสนอให้ขยายเวลาการออกเสียงลงประชามติอย่างน้อย 6 เดือน จากเดิมรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 3 เดือน เนื่องจากเวลา 3 เดือน อาจไม่เพียงพอ เพราะการแจกจ่ายสำเนาร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนกว่า 47 ล้านฉบับนั้นต้องใช้เวลา
"เห็นว่า ครม. และคสช.ยังมีเวลาถึงวันที่ 6 ส.ค. พิจารณาว่าจะออกเสียงทำประชามติหรือไม่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเร่งรีบมีมติหลังประชุมร่วมกันวันที่ 19 พ.ค. ยืนยันว่าสปช.ไม่มีเจตนาประวิงเวลา หรือยืดเวลาเพื่อต่ออายุการทำงาน เพราะตระหนักดีว่าสปช. กมธ. ยกร่างฯ เข้ามาภายใต้กฎหมายพิเศษหลังรัฐประหาร และรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ประชาชนควรมีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลอย่างละเอียด" นายอลงกรณ์กล่าว
สปช.ถกปฏิรูป"สื่อ"
ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณารับทราบรายงานของ กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในวาระปฏิรูปการกำกับดูแลสื่อ ปฏิรูปสิทธิเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ และปฏิรูปการป้องกันการแทรกแซงสื่อ
นายจุมพล รอดคำดี ประธานกมธ. รายงานว่า ปัญหาสังคมส่วนหนึ่งเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ ขาดจริยธรรม ขาดความรับผิดชอบ ขาดสิทธิเสรีภาพทำหน้าที่ ดังนั้นควรตรากฎหมายเกี่ยวกับสื่อเพื่อให้การทำหน้าที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล สร้างกลไกให้มีจิตสำนึกในเสรีภาพ ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง สร้างกลไกป้องกันไม่ให้สื่อถูกครอบงำหรือถูกแทรกแซง รวมทั้งมีระบบอุดหนุนสวัสดิภาพและสวัสดิการสื่อ ระดมทุนจากภาครัฐและเอกชนเพื่อให้สื่อขนาดเล็กสร้างศักยภาพเทียบเท่าสื่อขนาดใหญ่ได้
ชงสมัชชาคุณธรรมกำกับสื่อ
จากนั้นสมาชิกสปช.หลายคน อภิปรายสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปสื่อ เห็นว่าสื่อมีอิทธิพลอย่างสูงต่อประชาชนและเยาวชน ที่ผ่านมาหลายเหตุการณ์ความขัดแย้งเกิดจากสื่อบางแห่งขาดความรับผิดชอบ และหากให้สื่อกำกับดูแลกันเอง น่าจะไม่เห็นผลเท่าที่ควร ดังนั้นต้องมีองค์กรกำกับดูแลเพื่อให้สื่อทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม แต่การมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนควรให้อำนาจอย่างแท้จริง กำกับดูแล ลงโทษสื่อที่ทำผิดได้ และควรให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ มีบทบาทดูแลประสิทธิภาพการทำงานของสื่อ ในฐานะฐานันดรที่ 4 รวมถึงให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำกับดูแลด้วย ทั้งนี้ กมธ.รับข้อเสนอแนะของสมาชิกไปปรับปรุงต่อไป
จี้"5 สาย"ลาออก"คปก."
วันเดียวกัน นายอมร วาณิชวิวัฒน์ ประธาน คณะอนุกมธ.ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย สปช. กล่าวว่า อนุกมธ.ขอให้ยกเลิกการรับสมัครคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และให้ประกาศรับสมัครใหม่ เพราะไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรมในการรับสมัคร จากการตรวจสอบพบว่ามีการประกาศรับสมัครเพียง 2 เว็บไซต์ คือเว็บไซต์ของ คปก. และเว็บไซต์ของศูนย์ข่าวอิศรา และมีสมาชิกสปช. สมาชิกสนช. และอดีต คปก.ไปสมัครเท่านั้น ซึ่งคนส่วนใหญ่รวมทั้งนักวิชาการไม่ทราบการเปิดรับสมัครในครั้งนี้
นายอมร กล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องให้ สปช. สนช. และกมธ.ยกร่างฯที่สมัครไปแล้วลาออกทันที โดยไม่ต้องพูดถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่มีก่อนหน้านี้แล้ว แม้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 ไม่ได้ห้ามไว้ แต่ด้วยสามัญสำนึก ต้องคิดได้เพราะมีคนนอกจ้องตรวจสอบ สปช.อยู่ ซึ่งสมาชิกหลายคนก็ไม่สบายใจ เกรงจะเหมือนกรณีตั้งผู้ช่วยและ ที่ปรึกษา แต่ขอยกย่องนายบวรศักดิ์ที่ลาออกแล้ว จึงขอเรียกร้อง สปช.ที่ไปสมัครไว้ให้ถอนตัว
ติงสปช.ลาเรียนแต่เบิกเบี้ย
นายอมรกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ยังพบว่ามีความพยายามจากคนในองค์กรอิสระตามรัฐธรรม นูญ ซึ่งมีข่าวจะถูกปรับ ยุบ ควบรวม มาวิ่งเต้นกับสปช.เพื่อขอไม่ให้ถูกปรับเปลี่ยน ทั้งที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าองค์กรไหนจะถูกยกเลิกบ้าง และยังพบว่ามีสมาชิก สปช.ไปสมัครเรียนหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง (ป.ป.ร.) จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า พบว่ามี สปช.สมัคร 20 กว่าคน ซึ่งอนุกมธ.ห่วงว่าจะมีปัญหากระทบการทำงานซึ่งตรงกับเวลาเรียนของป.ป.ร. ที่กำหนดไว้วันอังคาร และวันพุธ และได้ข่าวว่าองค์กรเดิมที่เคยตรวจสอบพวกเรา จับจ้องว่าจะมีการลาไปเรียน แต่กลับมีการลงมติในการประชุม จึงอยากให้รัดกุม รวมถึงการเบิกเบี้ยประชุม 6,000-9,000 บาท แต่กลับไปเรียนหนังสือ ภาพที่ออกมาอาจถูกวิจารณ์ซึ่งไม่ดี
กกต.ซ้อม"โอเพ่นลิสต์"
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการจัดสาธิตการลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ โดยจำลองหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งเปิดลงคะแนนตั้งแต่เวลา 09.00-10.00 น. การสาธิตมีการแสดงตัวอย่างบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 รูปแบบ โดยบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตยังคงมีลักษณะเหมือนเดิม แต่บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อระบบโอเพ่นลิสต์นั้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นช่องสำหรับลงคะแนนพรรคหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ อีกช่องสำหรับลงคะแนนเพื่อเลือก ผู้สมัครในแบบบัญชีรายชื่อของพรรคหรือกลุ่มการเมืองนั้น โดยรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคจะมีหมายเลขประจำตัวกำกับอยู่ นอกจากนั้นกรณีที่ผู้ใช้สิทธิกากบาทเลือกพรรคหรือกลุ่มการเมืองแล้ว แต่ไม่ได้เลือกหมายเลขผู้สมัครไม่ถือว่าเป็นบัตรเสียเพราะจะนำคะแนนดังกล่าวไปร่วมคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคหรือกลุ่มการเมืองในภายหลัง แต่กรณีไม่มีการเลือกพรรคแต่เลือกหมายเลขผู้สมัครจะถือเป็นบัตรเสีย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ารูปแบบการนับคะแนนแบบแบ่งเขตยังเป็นรูปแบบเดิม แต่แบบบัญชีรายชื่อจะมีการนับคะแนนแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกจะนับคะแนนของแต่ละพรรคหรือกลุ่มการเมืองก่อนและแยกบัตรดีของแต่ละพรรคออก ก่อนจะนับคะแนนในขั้นตอนที่ 2 คือนับคะแนนของผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อแต่ละหมายเลข โดยแยกนับทีละพรรค ก่อนนำคะแนนที่ได้มาจัดลำดับบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคหรือกลุ่มการเมือง เรียงตามผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดไปหาต่ำสุด เพื่อรอนำไปคำนวณต่อไป
ศุภชัยชี้ยุ่งยาก-สับสน
นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. มองว่าการเลือกตั้งระบบโอเพ่นลิสต์อาจสร้างความสับสนให้ประชาชนและเกิดความยุ่งยากในการนับคะแนน เพราะขั้นตอนการนับคะแนนจะแยกนับคะแนนแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ โดยแบบบัญชีรายชื่อจะแยกเป็นรายพรรคก่อนและนับคะแนนอีกครั้งในแต่ละพรรค เพื่อจัดลำดับที่ประชาชนต้องการ ดังนั้นระยะเวลาการนับคะแนนจึงต้องเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังต้องเพิ่มอุปกรณ์ที่ใช้ในแต่ละหน่วยด้วย เพราะต้องจัดเตรียมให้พอกับพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แถลงสรุปว่า จากการสาธิตลงคะแนนและนับคะแนนเลือกตั้ง พบว่าซับซ้อนยุ่งยาก เสียเวลานับคะแนนโดยเฉพาะให้นับคะแนนรวมที่เขตเดียว จากตัวอย่างที่มาลงคะแนนวันนี้ 174 คน ใช้เวลาลงคะแนน 1 ชั่วโมง นับคะแนนอีก 90 นาที ถ้าเลือกตั้งจริง ปัจจุบันมี 80 พรรค อีกทั้งเปิดให้กลุ่มการเมืองลงสมัครได้ ถ้าประเมินว่ามีพรรคและกลุ่มการเมืองรวมกัน 280 พรรคและกลุ่มการเมือง จะทำให้บัตรเลือกตั้งมีขนาดใหญ่มาก กว้าง 60 ซ.ม. ยาว 90 ซ.ม. ทำให้บัตรเลือกตั้งติดสถิติกินเนสส์บุ๊กใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนการทำประชามติ คิดว่าคนที่จะเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรเป็นกกต. เพราะถ้ากกต.รับหน้าที่นี้จะไม่เป็นกลาง จะเหมือนยอมรับร่างนี้แล้ว
พท.สวนมาร์คโยนบาปแม้ว
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุความขัดแย้งในประเทศจะไม่จบตราบที่ยังมีระบอบทักษิณว่า นายอภิสิทธิ์ยังคือนายอภิสิทธิ์ แพ้เลือกตั้งจนหลอน ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าจะมีเลือกตั้งอีกวันไหน แต่เริ่มหาคะแนนเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่นตามถนัด โยนบาปใส่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทั้งที่ระบอบทักษิณไม่มีอยู่จริง มีแต่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งพัฒนาประเทศไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด ประชา ชนลืมตาอ้าปาก การพูดถึงระบอบทักษิณหรือครอบครัวของพ.ต.ท. ทักษิณ เป็นเพียงวาทกรรมที่จะทำลายล้างทางการเมือง ความขัดแย้งส่วนหนึ่งมาจากพรรคที่แพ้เลือกตั้งซ้ำซากแล้วไม่ยอมรับ ปลุกระดมคนออกมาชัตดาวน์ประเทศจนบ้านเมืองถึงทางตัน
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า อย่ามัวแต่ภูมิใจกับการเป็นผู้นำฝ่ายค้าน 3 ครั้ง เพราะในต่างประเทศ หัวหน้าพรรคที่แพ้เลือกตั้งเขาลาออกแล้ว หัวใจสำคัญของการปฏิรูป คือการลดความขัดแย้ง แตกแยกของประชาชน นายอภิสิทธิ์อายุ 50 กว่าปีแล้ว ควรร่วมมือกันนำพาประเทศออกจากวังวนความขัดแย้ง ช่วยกันสร้างกติกาบ้านเมืองเพื่อแก้ปัญหา แต่กลับก้าวไม่ข้ามพ.ต.ท.ทักษิณ
ซัดบิดเบือนเพิ่มขัดแย้ง
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขา ธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนายอภิสิทธิ์ระบุต้องรอทักษิณตาย บ้านเมืองถึงจะสงบว่า เป็นการบิดเบือนความจริง การผลักหรือล้างศรัทธาประชาชนจำนวนมากที่มีต่อพ.ต.ท. ทักษิณ ได้ดำเนินการมาเป็นสิบปี เป็นวิธีการที่ผิด ยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง และเมื่อไปชักนำระบอบอำนาจนิยมเข้ามา ยิ่งทำให้เศรษฐกิจบ้านเมืองเดินไปไม่ได้ ดังนั้นการเอาชนะระบอบทักษิณ ขอให้เอาชนะด้วยศรัทธาของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ประเทศชาติและประชาชนถึงจะไม่บอบช้ำ
"การแช่งกันให้ตาย คนไทยเขาถือ แม้ทุกคนจะต้องตาย แต่ผมมั่นใจว่าเมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย คนที่จะตายจากศรัทธาประชาชน คือคนที่อ้างว่าอยู่ในแนวทางประชาธิปไตย แต่พร้อมทำทุกอย่างให้ตัวเองและพวกพ้องได้อำนาจแม้จะต้องชักนำระบอบอำนาจนิยมเข้ามา แต่คนที่ประชาชนศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย แม้วันหนึ่งจะต้องตาย ก็ไม่ตายไปจากศรัทธาประชาชน และจะมีคนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยมาสืบทอดเจตนารมณ์ต่อไป จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องตั้งโจทย์ให้ถูก มิเช่นนั้นจะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งไม่รู้จบ คนเดือดร้อนคือประชาชนตาดำๆ" นายชวลิตกล่าว
ณัฐวุฒิ แนะมาร์คสรุปบทเรียน
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงนายอภิสิทธิ์ว่า ถึงขั้นนี้แล้ว นายอภิสิทธิ์ยังคิดหาเศษหาเลยกับฝ่ายตรงข้าม มีเวทีให้พูดก็ต้องเสียดสีให้ร้ายเขา ขอให้นายอภิสิทธิ์ตั้งใจฟังสิ่งที่ตนจะอธิบายว่า คู่ขัดแย้งตัวจริง คือแนวคิดเสรีนิยมกับอนุรักษนิยม เหตุที่ความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้นนั้น 1.รัฐธรรมนูญปี 40 มีที่มาจากจิตวิญญาณพฤษภาทมิฬ ตกผลึกร่วมกันว่าเราต้องการ นายกฯ จากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และองค์กรตรวจสอบที่เที่ยงธรรม อิสระ และ 2.การปรากฏขึ้นของพ.ต.ท.ทักษิณที่เป็นตัวแทนของทุนใหม่ ท้าทายสายตาของทุนเก่าที่แนบแน่นกับฝ่ายอนุรักษนิยมมายาวนาน
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เมื่อสองสิ่งนี้มารวมกันผ่านการเลือกตั้ง จึงกระทบกับอิทธิพลของฝ่ายอนุรักษนิยมโดยตรง จนถึงจุดระดมสรรพกำลังเข้าจัดการ และยิ่งเห็นฝ่ายหนึ่งใช้ทุกวิธีจัดการฝ่ายตรงข้ามจนวาทกรรมสองมาตรฐาน เป็นรูปธรรมชัดแจ้ง การต่อต้านขัดขืนเพื่อยืนยันหลักการประชาธิปไตยจึงยืดเยื้อและไม่มีทีท่ายุติลงได้ ตนไม่ได้บอกว่าพ.ต.ท. ทักษิณเป็นผู้วิเศษทางการเมือง เพราะยังมีเรื่องต้องพิสูจน์ตัวเองอีกมากจากข้อกล่าวหาต่างๆ แต่ยืนยันว่าการเข้าสู่อำนาจของพ.ต.ท. ทักษิณและเครือข่าย เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย และได้รับการยอมรับจากสังคมโลก
"โจมตีเขาอย่างนี้ตลอด แต่แพ้เขาซ้ำซาก น่าจะสรุปบทเรียนได้ ไม่ใช่ใช้วิธีเดิม คือ ไล่ทำลายล้างเขาเรื่อยไป การประกาศพร้อมลงเลือกตั้งก็น่าแปลกใจ ที่ผ่านมากติกาชัดเจนทั้งรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 แต่บอยคอตถึง 2 ครั้ง ครั้งนี้พร้อมจะลงทั้งที่กติกายังหาความชัดเจนไม่ได้ ส่วนการจะวางมือถ้าแพ้นั้นก็ถูกแล้ว เพราะเที่ยวนี้พี่เลี้ยงจะเล่นเอง การอุ้มเด็กเส้นเป็นนายกฯ ในค่ายทหารคงไม่เกิดขึ้น นายอภิสิทธิ์ต้องเข้าใจว่า ประเทศไทยจะมีหรือไม่มีพ.ต.ท.ทักษิณก็ได้ แต่ไม่มีประชาธิปไตยไม่ได้ การจัดการพ.ต.ท.ทักษิณด้วยการทำลายประชาธิปไตย จึงเท่ากับทำลายประเทศไทย" นายณัฐวุฒิกล่าว
วิษณุแจงเหตุใช้ "ม.44"เด้งขรก.
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปราบปรามการทุจริตในแวดวงข้าราชการหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ย้ายข้าราชการที่อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตว่า สิ่งสำคัญต้องเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมาย และต้องให้ความเป็นธรรม และต้องระวังการกลั่นแกล้ง วันนี้จึงต้องใช้หลักฐานที่องค์กรต่างๆ มีอยู่ โดยใช้ 2 ขั้นตอน 1.ย้ายออกจากตำแหน่งแล้วไปช่วยราชการ เพื่อให้ผู้รักษาการในตำแหน่งนั้นสามารถส่งพยานหลักฐานเข้ามาได้ โดย 200 รายชื่อข้าราชการที่ส่งมานั้น เรื่องเกิดขึ้นนานแล้วแต่ขอหลักฐานไม่ได้ ส่วนขั้นตอนที่ 2.ถ้าทำผิดจริง ก็จะย้ายแล้วคืนตำแหน่งเพื่อตั้งคนอื่นทำหน้าที่แทน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า จะมีรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตอีก ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชุด และจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างข้าราชการโดยรวม แต่ถ้าไม่จัดการระบบราชการจะสั่นคลอน สุดท้ายจะอายเขา เพราะคดีขาดอายุความหมด อย่างไรก็ตาม บรรดาคนที่มีรายชื่อน้อยรายจะเป็นความผิดเฉพาะตัว แต่ทำกันเป็นกลุ่ม 10-20 คน ยืนยันไม่ได้มีแค่ข้าราชการอย่างเดียวแต่มีทหารและตำรวจด้วย
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนามในคำสั่งกระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งข้าราชการรักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยระบุว่าเพื่อให้การปฏิบัติราชการของกระทรวงเรียบร้อย เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน จึงให้ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. เป็นต้นไป
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งให้ผู้บริหารกระทรวงการคลังที่ถูกคำสั่งคสช.ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้ลาออกจากกรรมการรัฐวิสาหกิจทุกแห่งที่เป็นอยู่ เพื่อส่งคนใหม่เป็นกรรมการแทน สำหรับผู้บริหารของกรมสรรพากร 4 คนที่ถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ มี 1 รายถูกกระทรวงการคลังไล่ออกจากราชการ เนื่องจากทุจริตการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกปลอมทำให้รัฐเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท
"ปู"พร้อมขึ้นศาลแถลงคดีข้าว
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะเดินทางไปแถลงเปิดคดีโครงการรับจำนำข้าว ตามคำนัดของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ 19 พ.ค.ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังคงใช้ชีวิตตามปกติและไม่วิตกกังวลโดยยืนยันกับคนใกล้ชิดว่าจะเดินทางไปแถลงเปิดคดีด้วยตัวเองอย่างแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากนี้อดีตนายกรัฐมนตรียังใช้เวลาว่างเดินทางไปเยี่ยมหลานสาว "พิณธารา และพิณนารา" หรือน้องเอมิ-นามิ บุตรสาวฝาแฝดของ นางพินทองทา (ชินวัตร) คุณากรวงศ์ บุตรสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพัก โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ให้กำลังใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ซักซ้อมและเตรียมความพร้อมในการแถลงเปิดคดีรับจำนำข้าวแล้ว โดยจะเดินทางไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในเวลา 09.00 น.วันที่ 19 พ.ค.
สนช.นัดถกงบปี"59-ศธ.มากสุด
วันที่ 18 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดประชุมในวันที่ 21 พ.ค. พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 วงเงิน 2,720,000,000,000 บาท ในวาระที่ 1 รับหลักการ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมาแถลงต่อสนช.ถึงการเสนองบดังกล่าว จากนั้นจะเปิดให้สมาชิกสนช.อภิปรายก่อนลงมติรับหลักการ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาปรับลดงบประมาณต่อไป
ครม. ระบุถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.7-4.7 ใกล้กับการขยายตัวในปี 2558 มีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก คาดว่าการส่งออกขยายตัวมากขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง และการดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐมีความคืบหน้าและชัดเจน
ทั้งนี้ งบรายจ่ายประจำปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2558 จำนวน 145,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี)
ขณะที่ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ ประกอบด้วย 8 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1.ยุทธศาสตร์เร่งรัดวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ 247,342.7 ล้านบาท 2.ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ 240,418.3 ล้านบาท 3.ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเป็นธรรม 222,375.9 ล้านบาท 4.ยุทธศาสตร์การศึกษา สาธารณสุข คุณธรรม จริยธรรม และคุณภาพชีวิต 994,414.6 ล้านบาท
5.ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 71,060.4 ล้านบาท 6.ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม 27,335.5 ล้านบาท 7.ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 9,099.3 ล้านบาท 8.ยุทธศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 364,645.7 ล้านบาท และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ 543,307.6 ล้านบาท เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
สำหรับ งบประมาณปี 2559 พบว่า 5 อันดับที่ได้รับการจัดสรรสูงสุด ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ 520,132,166,300 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 19.1 กระทรวงมหาดไทย 343,707,272,300 บาท หรือร้อยละ 12.6 กระทรวงกลาโหม 207,718,946,800 บาท หรือร้อยละ 7.6 กระทรวงการคลัง 199,328,807,200 บาท หรือร้อยละ 7.3 และกองทุนและเงินหมุนเวียน 148,475,068,000 บาท หรือร้อยละ 5.5 ส่วนงบกลาง ซึ่งเป็นรายจ่ายที่ตั้งไว้เพื่อจัดสรรให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจโดยทั่วไปเบิกจ่าย 402,139,412,300 บาท หรือร้อยละ 14.8 ทั้งนี้กระทรวงที่ได้งบน้อยที่สุดคือ กระทรวงพลังงาน 2,045,391,300 บาท หรือร้อยละ 0.1 ของวงเงินงบทั้งหมด