Aบญทรง-ภม

สอยตามโผ 'บุญทรง-ภูมิ'ไม่รอด 250 อดีตสส.จ่อคิวเชือด 19 พค.นัดชี้ขาดประชามติ ใช้ม. 44 ต่ออายุปธ.ปปช. หญิงเป็ดลุ้นอีกคดีกฐิน   

     ไม่พลิกโผ 'บุญทรง-ภูมิ-มนัส' โดนสนช.ถอดถอนคดีทุจริตข้าวจีทูจี 250 ส.ส.จ่อคิวขึ้นเขียง ป.ป.ช.เผยสอบทรัพย์สิน 5 รมต.เอี่ยวคดี จำนำข้าวคืบแล้ว 90% 'ดิเรก ถึงฝั่ง' ข้องใจคดี'หญิงเป็ด' ปมดูงานเมืองนอก เผยยังมีชนักติดหลังคดีเบิกเบี้ยเลี้ยงไปงานทอดกฐินที่ จ.น่าน ศาลนัดไต่สวน 22 มิ.ย. คสช.งัดมาตรา 44 ต่ออายุประธานป.ป.ช.อีก 4 เดือน "วิษณุ"แนะจับตา 19 พ.ค.นี้ ครม.-คสช.ชี้ขาดทำประชามติร่างรธน.หรือไม่ ประชาธิปัตย์-เพื่อไทยหนุนสุดตัว 


วันที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8928 ข่าวสดรายวัน


สนช.ลงมติลับคดีทุจริตจีทูจี 
     เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 พ.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาการลงมติถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง กรณีการทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 

 


ตามคาด- บรรยากาศ สนช.ลงคะแนนลับ ผลออกมาให้ถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ นายภูมิ สาระผล และนายมนัส สร้อยพลอย ทั้ง 3 คน และตัดสิทธิการเมือง 5 ปี ในคดีขายข้าวจีทูจี ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 8 พ.ค.

   

      นายพรเพชร แจ้งต่อที่ประชุมถึงขั้นตอนการถอดถอนว่า จะใช้วิธีลงคะแนนลับ ให้สมาชิกเข้าคูหากากบาตรในบัตรลงคะแนน 3 บัตรได้แก่ บัตรสีฟ้าของนายบุญทรง บัตรสีชมพูของนายภูมิ และบัตรสีขาวของนายมนัส โดยต้องใช้คะแนนเสียงถอดถอนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกสนช.ทั้งหมด หรือ 132 คะแนนขึ้นไป

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ขานชื่อสมาชิกสนช.เรียงตามตัวอักษรพร้อมแจกบัตรลงคะแนน ให้สมาชิกใช้สิทธิลงคะแนน ก่อนการลงคะแนนมีสมาชิกเข้าร่วมเป็นองค์ประชุมจำนวน 185 คน จากสมาชิกทั้งหมด 220 คน และระหว่างนั้นมีสมาชิกทยอยเข้ามาแจ้งชื่อเพื่อเข้าร่วมประชุมเพิ่มเติมด้วย โดยที่ประชุมได้ใช้เวลาลงคะแนนและนับคะแนนร่วม 2 ชั่วโมง 

สอยหมด'บุญทรง-ภูมิ-มนัส' 
      จากนั้น นายพรเพชรได้แจ้งผลการลงมติว่า มีผู้เข้าร่วมลงคะแนนทั้งหมด 190 คน ผลปรากฏว่า ที่ประชุมสนช.มีมติถอดถอนทั้ง 3 คนออกจากตำแหน่ง โดยนายบุญทรงมีมติถอดถอนด้วยคะแนน 180 ต่อ 6 คะแนน งดออกเสียง 4 นายภูมิมีมติถอดถอนด้วยคะแนน 182 ต่อ 5 งดออกเสียง 2 บัตร เสีย 1 และนายมนัส มีมติถอดถอนด้วยคะแนน 158 ต่อ 25 คะแนน งดออกเสียง 6 บัตรเสีย 1 ส่งผลให้ทั้ง 3 คนถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และจะส่งมติดังกล่าวให้ผู้กล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเพื่อดำเนินการต่อไป 

       ทั้งนี้คะแนนของนายบุญทรงและนายภูมิใกล้เคียงกับคะแนนถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกสนช.ลงมติถอดถอนในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมาด้วยคะแนน 190 เสียง

ป.ป.ช.จ่อส่งเชือด 250 ส.ส. 
       ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ถนนพิษณุโลก นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการส่งสำนวนคดีถอดถอนอดีตส.ส. 250 ราย กรณีแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว. ให้สนช.ว่า หลังจากคดีถอดถอนนายบุญทรง นายภูมิ และนายมนัส เสร็จเรียบร้อย จะประสานกับ สนช.ว่าจะให้ส่งเรื่องดังกล่าวตอนไหน ซึ่งเราส่งได้เลยเพราะหลักฐานต่างๆ เรียบร้อยหมดแล้ว คาดว่าจะส่งในเร็วๆ นี้

 

       นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินเชิงลึก 5 รัฐมนตรี เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรอง นายกฯ และรมว.พาณิชย์ นายบุญทรง นายภูมิ และนายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ข้อมูลที่ขอจากสถาบันการเงินขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว ถ้าตรวจสอบพบว่าเกี่ยวข้องกับองค์กรใด หรือจะต้องติดตามเงินต่างๆ อย่างไร ซึ่งต้องใช้เวลา ไม่ใช่สอบถามอย่างเดียวแล้วจบ เพราะบางเรื่องไปเกี่ยวพันกับทรัพย์สินรายการอื่นๆ ก็ต้องตรวจสอบถึงความชัดเจนเพื่อให้รู้ถึงที่มาที่ไป คาดว่าใช้เวลาอีกไม่นาน จะทำให้ดีที่สุด ตอนนี้ไต่สวนคืบหน้า 80-90 เปอร์เซ็นต์แล้ว

'ดิเรก'แคลงใจคดี'หญิงเป็ด'
      ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีที่ป.ป.ช.มีมติไม่ส่งสำนวนถอดถอน คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทุจริตต่อหน้าที่อนุมัติให้เดินทางไปดูงานสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดินประเทศฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี ระหว่างวันที่ 5-14 พ.ค.2546 เข้าสู่กระบวนการถอดถอนของสนช. โดยระบุว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินไม่มีกฎหมายทางวินัย และคุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ว่า หากทุจริตถือว่าเป็นเรื่องคดีอาญา ซึ่งตามมาตรฐานตั้งแต่ต้น ป.ป.ช.ต้องส่งสำนวนคดีนี้ให้ สนช.พิจารณา แต่ตนรู้สึกงงและคลางแคลงใจกับการกระทำของป.ป.ช. เพราะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจ ในเมื่อป.ป.ช.ส่งคนกลุ่มหนึ่งเข้าสู่กระบวน การพิจารณาถอดถอนของสนช. แต่เลือกที่จะไม่ส่งคนอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งที่ดูแล้วเป็นกรณีเดียวกัน จึงทำให้คู่กรณีที่เคยผ่านกระบวนการถอดถอนมีความรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมจริงหรือไม่ 

"ผมย้ำมาตลอดว่า สังคมต้องมีองค์กรอย่างป.ป.ช. หากไม่มีป.ป.ช.จะทำให้การทุจริตมีเพิ่มมากขึ้น แต่พอดูการทำงานแล้ว มีข้อครหาเรื่องสองมาตรฐานที่นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้สังคมหมดศรัทธา ต่อไปผู้คนก็ไม่กลัวต่อคำวินิจฉัยของป.ป.ช. และประเด็นนี้อาจส่งผล กระทบต่อความปรองดอง จึงขอให้ป.ป.ช. ปฏิบัติหน้าที่ ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรม ถ้าไม่มีความเป็นธรรมแล้ว ความสามัคคีก็ยังไม่เกิด อย่างไรก็ตาม ถ้าป.ป.ช.ไม่ส่งเรื่องให้สนช.พิจารณาถอดถอน สนช.คงเรียกร้องหรือไปแตะต้องอะไรไม่ได้อีก เพราะเป็นหน้าที่ของป.ป.ช.ที่จะส่งสำนวนไปที่ใด" นายดิเรกกล่าว

ชี้ถ้าผิดต้องส่งสนช. 
น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงการชี้แจงของป.ป.ช. ต่อกรณีคุณหญิงจารุวรรณว่า ไม่ใช่การชี้มูลความผิด และมีการแก้ไขให้ส่งสำนวนไปยังคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ในฐานะผู้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนว่า จากประสบการณ์ทำงานป.ป.ช.ที่ผ่านมา มติป.ป.ช.ที่ออกมาจะมีแค่ 2 แนวทาง คือ ชี้มูลความผิดกับตีตกสำนวนดังกล่าวทิ้งไป หากไม่พบความผิด แต่ไม่เคยมีกรณีที่ป.ป.ช.มีมติว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง ประพฤติตนไม่เหมาะสม ไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ 

น.ส.สมลักษณ์กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ส่งสำนวนไปให้คตง. ในฐานะผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมองว่าไม่น่าจะใช่ เนื่องจากกรณี คุณหญิงจารุวรรณ เมื่อครั้งได้รับเลือกให้เป็น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ก็เป็นวุฒิสภาที่พิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบ อำนาจการแต่งตั้งถอดถอนที่เป็นของวุฒิสภาได้ถูก สนช.ตีความรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 6 ว่า สนช.ทำหน้าที่ทั้งส.ส. ส.ว. และสมาชิกรัฐสภา จึงมีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอน ที่ผ่านมาจะเห็นว่า สนช.ได้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่วนการแต่งตั้งก็มีมติเห็นชอบให้นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ จึงเป็นบรรทัดฐานว่า สนช.คือผู้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอน ป.ป.ช.จึงต้องส่งสำนวนชี้มูลคุณหญิงจารุวรรณมาให้สนช.ดำเนินการ แต่หากเห็นว่าไม่มีมูลก็ให้ตีตกสำนวนดังกล่าวทิ้งไป

ปมทอดกฐิน-ศาลนัด 22 มิ.ย. 
       รายงานข่าวจากป.ป.ช. เปิดเผยกรณีไต่สวนคุณหญิงจารุวรรณ ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ กรณีจัดงานทอดกฐินหลวงที่จ.น่าน แต่อ้างว่าเป็นการสัมมนาเพื่อเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยง ว่า คดี ดังกล่าวมีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.สรุปเรื่องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ให้พิจารณาชี้มูลความผิดและส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) และมีการตั้งคณะทำงานร่วมของสำนักงานอสส.-ป.ป.ช.ขึ้นมาพิจารณาดคีดังกล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3597 /2557 พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคุณหญิงจารุวรรณ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีใช้จ่ายเงินงบประมาณ จำนวน 294,440 บาท โดยไม่มีสิทธิเบิกจ่ายโดยชอบด้วยกฎหมาย ไปเพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น ศาลอาญานัดสอบคำให้การจำเลยและตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2558 ที่ผ่านมา แต่จำเลยส่งทนายแจ้งขอเลื่อน เนื่องจากการเตรียมพยานหลักฐานไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และต้องใช้เวลาตามพยานมาเบิกความ ศาลอนุญาตให้เลื่อนเป็นวันที่ 22 มิ.ย.นี้ 

คสช.ต่ออายุประธานป.ป.ช. 
     เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คําสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 12/2558 เรื่อง ให้ประธานป.ป.ช.อยู่ในตําแหน่งต่อไปตามที่ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 ก.ย.2549 แต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการป.ป.ช.โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.2549 เป็นต้นไป นั้น

      บัดนี้ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยประกาศฉบับดังกล่าว กําลังจะพ้นจากตําแหน่งในวันที่ 22 พ.ค.2558 เนื่องจากอายุครบเจ็ดสิบปี บริบูรณ์ ในขณะที่กรรมการป.ป.ช.อีก 4 คน ได้แก่ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายภักดี โพธิศิริ นายวิชา มหาคุณ และนายวิชัย วิวิตเสวี ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยประกาศฉบับเดียวกัน ยังคงอยู่ในตําแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ 9 ปี ในวันที่ 21 ก.ย.2558

 

ดังนั้น เพื่อมิให้ต้องดําเนินการสรรหากรรมการป.ป.ช. 2 ครั้ง ในเวลาใกล้เคียงกัน อันจะเป็นการสร้างภาระแก่ผู้สนใจสมัครเข้ารับการสรรหาและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อีกทั้งจะเป็น การสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศโดยไม่ จําเป็น จึงเห็นสมควรให้ดําเนินการสรรหาบุคคลแทนตําแหน่งที่ว่างไปในคราวเดียวกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศและการปฏิรูปองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หัวหน้าคสช.โดยความเห็นชอบของคสช.จึงมีคําสั่งให้ นายปานเทพ ดํารงตําแหน่งประธานป.ป.ช.ต่อไปจนถึง วันที่ 21 ก.ย.2558 นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

แก้องค์ประกอบกก.สรรหา 
      นอกจากนี้ ในราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2558 เรื่อง การสรรหากรรมการป.ป.ช. โดยที่มาตรา 246 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กําหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา 5 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แต่ในปัจจุบันไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งผู้นําฝ่ายค้านในสภา ผู้แทนราษฎร ประกอบกับประธานศาลปกครองสูงสุดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการถูกพักราชการตามมติคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง 

ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการสรรหากรรมการป.ป.ช.เป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาโดยการเพิ่มผู้แทนจากฝ่ายบริหาร เพื่อให้มีองค์ประกอบที่มีความหลากหลายและได้สมดุล โดยมีที่มาจาก อํานาจทั้งสามฝ่าย 

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หัวหน้าคสช.โดยความเห็นชอบของคสช.จึงมีคําสั่งให้คณะกรรมการสรรหากรรมการป.ป.ช. ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่ประธานสภา ผู้แทนราษฎร และรองนายกรัฐมนตรี ที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

'บิ๊กตู่'ปลื้มไทยพร้อมสู่เออีซี 
      ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ถึงหลายฝ่ายห่วงสถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงจะเป็นตัวถ่วงประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ว่า จะถ่วงอะไร ตนเป็นการเมืองอยู่ตอนนี้ ไม่ถ่วง ที่ถามหมายถึงความเป็นประชาธิปไตยใช่หรือไม่ ตรงนี้ไม่เกี่ยว เวลาตนไปเยือนต่างประเทศ ผู้นำของแต่ละประเทศไม่เห็นจะถามถึงเรื่องนี้ มีแต่บอกว่าให้ตนทำให้มั่นคงอย่างนี้ต่อไป ใครจะไปจะมาก็แล้วแต่ จะมีการเลือกตั้งเมื่อใดก็เลือกไป ตนไม่ได้ว่าเขาให้ตนอยู่ แต่เขาไม่ได้พูดเหมือนคนในประเทศ ไม่รู้พูดอะไรกันนัก จะเป็นจะตายกัน ประเทศจะเน่าลงไปไม่เห็นมีใครต่อว่าเลย 

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้หลังจากรับฟังหน่วยงานต่างๆ ที่มาสรุปความก้าวหน้างานเตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่เออีซีแล้วตนพอใจและได้เพิ่มเติมแนวความคิดไปด้วยว่าในทุกเรื่อง ทุกสาขาให้ลงรายละเอียด ต้องชี้ชัด 5 ปีอะไรเสร็จ วิสัยทัศน์ต้องวางตั้งแต่ปี 2015-2020 ยาวถึง 2025 เพื่อให้เห็นว่าแต่ละปีมีความเชื่อมโยงอย่างไร ไม่ใช่พูดลอยๆ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นแบบนั้นและการรับฟังวันนี้ตนได้ถามความเห็นจากหน่วยงานอื่นด้วย ไม่ใช่เผด็จการอย่างเดียว

ต่างชาติไว้ใจให้นำอาเซียน 

"ตอนนี้ไม่ได้เผด็จการเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเรื่องการทำงาน แต่ความเด็ดขาดมันต้องมี วันนี้ปล่อยปละละเลยกันเยอะแล้ว ไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ก็เยอะ วันนี้ประเทศในกลุ่มอาเซียนไม่ได้มองว่าไทยเป็นตัวถ่วง แต่เขาให้ไทยเป็นตัวนำเพราะต่างชาติไว้ใจเรา ที่ผ่านมาเขาก็ไว้ใจแต่ไม่มีใครทำให้เป็นผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ผมเคยบอกหลายทีแล้ว เขาพอใจในสิ่งที่ผมทำทุกอย่างที่ประเทศไทยสัญญากับทุกประเทศเขาได้ในขณะนี้ ผมเคยพูดตั้งนานแล้วแต่ไม่จำเอง เซ็นความร่วมมือเขาไปตั้งเยอะ วันนี้ผมคิดว่าไทยพร้อมก้าวสู่เออีซี และพร้อมมากกว่าเขาด้วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเรียกร้องนักการเมืองอย่างไรหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่เรียกร้อง จะเรียกทำไม ไม่ใช่หน้าที่ตน นักการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวทำผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าออกมาแล้วทำผิดกฎหมาย หากถูกดำเนินคดีตามกฎหมายก็อย่าไปร้องเรียน ถ้าทำผิดแล้วอย่ากลัว พวกเราอย่าไปให้ท้าย รู้ว่าพวกเขาทำผิดก็บอกไปว่ากำลังทำผิด เตือนเขาบ้าง มาถามแต่ตน พอตนลงโทษ ก็มาโจมตีอีก มันเป็นธรรมกับตนหรือไม่

ซัดคนฟ้องโลกชักศึกเข้าบ้าน 
      ต่อข้อถามว่าเท่าที่ดูมีใครส่อแววทำผิดกฎหมายหรือไม่ นายกฯ ปฏิเสธว่า ไม่มี ไม่รู้ ไม่ใช่หน้าที่ตน ฝ่ายความมั่นคงดูอยู่ เดี๋ยวเขาขออนุมัติมาเอง ตนก็จะอนุมัติไป ตนไม่ใช่พระเจ้า จะได้ตัดสินทุกอย่าง ตนให้หลักการ ให้แนวทาง ให้อำนาจพิเศษลงไป เขาต้องไปกลั่นกรองมา

 

      "ไอ้อะไรที่ไปร้องเรียนทั่วโลกแหกกระเชอ ผมถามว่าเขาพูดผิด เขาทำผิดไหม แล้วไปร้องเรียนที่ต่างประเทศ ไอ้พวกนี้มันชักศึกเข้าบ้าน มันไม่เคยเห็นประเทศไทยอยู่ในสายตาของโลก ผมไม่รู้จะว่าอะไรมัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว เมื่อถามว่าหมายถึงช่องพีซทีวีที่ถูกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สั่งปิด เพราะออกอากาศมีเนื้อหายั่วยุ ปลุกปั่น ขัดกับคำสั่งคสช.หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คิดเอาเอง

ชี้สปช.ไม่ผ่านรธน.ให้ร่างใหม่ 
เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศ ไทยว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญวันนี้มีความก้าวหน้าตามโรดแม็ป อยู่ในขั้นตอนที่ ทั้งฝ่าย ครม. คสช. ต้องรวบรวมในสิ่งที่อยากจะให้แก้ไข ปรับปรุง ส่งให้คณะกรรมาธิ การ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนสปช.เขาทำไปแล้ว ขึ้นอยู่กับ กมธ.ยกร่างฯ จะแก้ไขอย่างไร ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ ต้องรับข้อทักท้วง ข้อพิจารณาจากทุกฝ่าย ทั้งสปช. ครม. คสช. ไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุงภายในเดือนส.ค. แล้วให้ สปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ถ้าไม่เห็นชอบก็ร่างกันใหม่ 

 

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนการทำประชามติหรือไม่คงต้องหลังจากนั้น จะพิจารณากันอีกครั้ง ตนไม่สามารถตอบได้เวลานี้ มันต้องมีวิธีการแก้ปัญหาจนได้ ถ้าเราร่วมมือกัน ไม่ขัดแย้งกัน ไม่ถกเถียงกันไม่รู้จบ มันต้องไปกันจนได้ คสช.จะพิจารณาให้เกิดความสงบเรียบร้อยให้มากที่สุด ทั้งนี้ หลักการที่อยากฝากไว้คือประชาชนส่วนใหญ่ต้องพึงพอใจ รับได้ด้วยตัวของประชาชนเอง ไม่งั้นเราก็ ถูกชี้นำ เกิดความขัดแย้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ ต้องทำให้ต่างชาติยอมรับได้ ถ้าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือเพื่อการปฏิรูป มันต้องไปเพิ่มตรงไหน ก็ไปดูกันมา แต่ถ้าใส่ทุกอย่างเข้าไปในรัฐธรรมนูญมันก็ยาวก็เยอะ ถกเถียงมันก็ไม่จบไม่สิ้น ก็ไปว่ากัน

วอนทุกฝ่ายเลิกถ่วงชาติ 
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คนที่ออกมาวิจารณ์รัฐธรรมนูญ ถ้าเคยบริหารราชการแผ่นดินมาแล้วในรัฐบาลต่างๆ ก็ไม่ควรพูดให้เสียหาย เพราะตัวเองไม่ได้ทำอย่างที่เขาแก้ เขาถึงต้องเขียนกฎกติกามากขึ้น ที่ผ่านมาอ้างอำนาจประชาธิปไตยเป็นของปวงชน ประชาชนเลือกมา อ้างอยู่แค่นี้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด มันเลยมีปัญหา ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจไม่เหมือนปกติ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต่างชาติยอมรับได้ เพราะมีส่วนของการปฏิรูปด้วย แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยต้องมั่นคง ยั่งยืน 

นายกฯ กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศต้องกำหนดยุทธศาสตร์ ระยะยาว 10 ปี 20 ปี 30 ปี 50 ปี ว่าประเทศจะเดินแต่ละช่วงอย่างไรให้สอดคล้องกับรัฐบาลที่จะเข้ามาเดินต่อตรงเมนหลัก ตรงไหนมันขัดแย้งกัน ทำไม่ได้ก็เอาไว้ก่อน อันนี้มันรอได้แต่บางอย่างเช่น การลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน การบริหารจัดการน้ำ การสร้างความเข้มแข็งภาคเกษตร ก็หยุดไม่ได้ รัฐบาลไหนมาก็ต้องทำต่อ มันถึงจะจบ ที่ผ่านมาไม่จบ วันนี้ตนจะวางตรงนี้ให้ แต่ถ้าไม่ทำ ก็ไม่รู้แล้วว่าจะทำอย่างไร ประชาชนต้องกำหนดชะตาตัวเองให้ได้บ้าง วันหน้าอย่าให้เขาชี้นำได้มากนัก 

ฉุนคนให้ร้ายรัฐทำศก.ดิ่ง 
       พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนเชิญนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีมาพูดคุยเกี่ยวกับงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สำคัญที่สุดคือกฎหมาย มีไว้ให้คนอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่เป็นกฎหมายเพื่อสร้างความขัดแย้ง ดังนั้น กฎหมายจะใช้เมื่อมันไม่เรียบร้อย ถ้าสังคมไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน เจ้าหน้าที่ก็สบาย งานน้อยลง หงุดหงิดน้อยลง และไม่ต้องบังคับใช้กฎหมายมากนัก ไม่ต้องใช้ความรุนแรง ประชาชนก็มีความสุข ถ้าทุกคนรู้จักบทบาทของตัวเอง อยู่ในที่ที่เราควรอยู่ มันก็ลดความขัดแย้งแล้ว ทุกคนต้องร่วมมือกันสร้างชาติ ตนขออย่างเดียว และตนทำเต็มที่ ไม่มีท้อแท้ พยายามทำให้ถึงที่สุด 

 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนปัญหาราคาพืชผลผลิตการเกษตร ที่ผ่านมาเราไม่ได้แก้ไขปัญหาโครงสร้างมาก่อน แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาพยายามทำให้เกษตรกรเข้มแข็ง ต้องใช้ความอดทนอดกลั้น เชื่อฟังในการทำใหม่ เรานำเงินในอนาคตมาใช้ไม่ได้ ใช้มากไม่ได้ กู้มากๆ ก็มีปัญหาหนี้สาธารณะอีก ทุกคนต้องร่วมกับเราพลิกวิกฤตต่างๆ ที่เลวร้ายเป็นโอกาส ไม่ใช่มาทำลายกันเอง ขณะนี้บางคน บางกลุ่ม บางพวกก็โจมตีให้ร้ายรัฐบาลว่าทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ แก้ปัญหาไม่เป็น แก้ไม่ถูก นี่แก้ทั้งทางหลักการ ทางทฤษฎี ตามหลักเศรษฐศาสตร์ และในข้อเท็จจริงด้วย ถ้าใครคิดว่าทำได้ดีลองพูดออกมาว่าจะแก้อย่างไร คนที่พูดเก่งๆ ลองพูดว่าจะแก้ปัญหาปาล์ม แก้ยางอย่างไร ที่ไม่ใช่การเอาเงินไปจ่ายให้โดยตรง ที่ผ่านมาตอนอยู่ในอำนาจทำไมไม่ทำ วันนี้พอตนเริ่มทำก็มาตำหนิ ประชาชนฟังเอาก็แล้วกันจะเชื่อใคร 

"วิษณุ"เผยดันกม.รับจุดเปลี่ยน 
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ "โรดแม็ปเศรษฐกิจการเมืองไทย" ในงานสัมมนา หัวข้อ "จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย" ที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดขึ้นในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 39 ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน ว่า มีความเป็นห่วงต่อความพร้อมของประเทศไทยในการเตรียมตัวเข้าสู่เออีซี ในอีก 6-7 เดือนข้างหน้า ที่ยังไม่คืบหน้า แต่ภายหลัง คสช. และรัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศ สิ่งที่กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติคือการพยายามแก้ไขผลักดันกฎหมาย 5 กลุ่มออกมาให้ได้ เพื่อเตรียมรับจุดเปลี่ยน 

นายวิษณุกล่าวว่า 1.กฎหมายในกลุ่มกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ถือเป็น รากเหง้าความเป็นธรรมในสังคมเพื่อก่อให้เกิดความปรองดอง 2.กฎหมายในกลุ่มที่เกี่ยวกับพันธกรณีกับต่างประเทศ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะการเปิดเออีซีอย่างเป็นรูปธรรมในเร็วๆ นี้ 3.กฎหมายกลุ่มที่เกี่ยวกับระบบราชการ ซึ่งพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวก คาดจะมีผลบังคับใช้จริงในเดือนก.ค.นี้ เพื่อเปิดทางให้ประชาชนฟ้องราชการ โดยใช้มาตรา 10 4.กฎหมายในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ อาทิ กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ คาดออกมาในเร็วๆ นี้ และ 5.กฎหมายลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นการเตรียมการที่จะไปสู่จุดเปลี่ยนหลายด้านตั้งแต่การเปิดเออีซี จุดเปลี่ยนของสถานการณ์โลก ด้านการเปลี่ยนแปลงของอากาศ และการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อเตรียมการรองรับสิ่งต่างๆ ที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลง

คาดพ.ค.ปีหน้ามีรัฐบาลใหม่ 
     รองนายกฯ กล่าวว่า โรดแม็ปที่สำคัญของไทยขณะนี้ คือ โรดแม็ปทางการเมือง ที่อยู่ในช่วงการจัดทำยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็ปที่ 1 กมธ.ยกร่างฯได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช. คสช. ครม. เสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งกลับไปยัง กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาภายในวันที่ 25 พ.ค.นี้ โดยกมธ.จะแก้ตามหรือไม่แก้ตามผู้ที่เสนอมาก็ได้ ก่อนส่งไปยัง สปช.เพื่อลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 ส.ค.นี้ 

นายวิษณุกล่าวว่า หาก สปช.ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่โรดแม็ปที่ 1 ถวายให้ลงพระปรมาภิไธยช่วงวันที่ 4 ก.ย.นี้ จากนั้นจะมีการออกกฎหมายลูก 3 ฉบับ คือ กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายนักการเมือง และกฎหมายคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อเข้าสู่สนช. ให้พิจารณาภายใน 60 วัน และคาดว่าภายในเดือนต.ค.-พ.ย. จะสามารถออกกฎหมายลูก 3 ฉบับได้ ก่อนจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในเดือนธ.ค.นี้ จึงจะกำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้งภายใน 3 เดือนหลังจากนั้น หรือจัดการเลือกตั้งในเดือนมี.ค.2559 และกว่ากกต.จะพิจารณาใบเหลืองใบแดง และคาดว่าในเดือนพ.ค.ปีหน้าจะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะถือเป็นการสิ้นสุดลงของรัฐบาลชุดปัจจุบันและคสช. 

จับตา 19 พ.ค.ชี้ขาดลงประชามติ 
      นายวิษณุกล่าวว่า ขณะที่โรดแม็ปที่ 2 การมีรัฐบาลใหม่จะช้าออกไปอีกประมาณ 3 เดือน ภายใต้เงื่อนไขมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยขณะนี้ครม.และคสช. อยู่ระหว่างพิจารณาว่าประชาชนมีความต้องการหรือไม่ ซึ่งดูท่าว่าต้องการให้มีการลงประชามติ แต่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่ามีการลงประชามติหรือไม่ เพราะการลงประชามติมีจุดแข็งจุดอ่อน ทั้งนี้จุดอ่อนคือ ใช้งบประมาณมาก 3 พันล้านบาท แต่หากคิดว่าคุ้มก็ดำเนินการ ประกอบกับระยะเวลาการลงประชามติจะทำให้ยืดระยะเวลาออกไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนจะมีการถวายรัฐธรรมนูญให้ลงพระปรมาภิไธยในเดือนส.ค.-ก.ย.2559 หากมีการลงประชามติแล้วไม่ผ่านต้องเริ่มจัดทำใหม่ โดยจะใช้เวลายาวนาน ส่วนจุดแข็งของการลงประชามติคือ ตอบสนองความต้องการประชาชน สร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐธรรมนูญ และหากจะแก้ต่อไปในอนาคตอาจเป็นเรื่องยาก เพราะรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติมาแล้ว 
        "วันที่ 19 พ.ค.นี้ ครม. และคสช.จะประชุมร่วมกัน วาระหนึ่งคือจะมีการพิจารณาว่าเปิดให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้จับตาอย่างไม่กะพริบว่าที่ประชุม ครม. และคสช. จะตัดสินใจให้มีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้มีการลงประชามติหรือไม่ หากไม่มีการตัดสินใจให้แก้รัฐธรรม นูญชั่วคราวดังกล่าว ถือว่าเป็นการปิดประตูไม่ให้มีการลงประชามติ โดยทั้งหมดนี้จะส่งผล กระทบต่อการเมืองและเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาจากนี้ไป" นายวิษณุกล่าว 

คลอดแล้วกก.ปฏิรูปตร. 

ด้านนายวันชัย สอนศิริ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ(วิปสปช.) กล่าวว่านายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกิจการตำรวจแล้ว มีแนวทางคือ 1.ต้องมีพลังในการขับเคลื่อนเพื่อปฏิรูปกิจการตำรวจให้สำเร็จ สามารถประสานกับภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้บรรลุผล และสำเร็จภายในกรอบระยะเวลาโดยเร็ว 2.องค์ประกอบของคณะกรรมการมาจากทุกภาคส่วนของกระบวนการยุติธรรม ทั้งทนายความ ตำรวจ อัยการ ศาล ผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม และกรรมการจากคณะกรรมาธิการ 5 คณะของสปช. 3.ต้องมีกรอบระยะเวลาในการทำงานที่ชัดเจนและรวดเร็ว เพราะประชาชนให้ความสนใจและติดตามต่อการปฏิรูปเรื่องนี้

 

นายวันชัยกล่าวว่า 4.การปฏิรูปกิจการตำรวจนี้ เคยมีคณะกรรมการอื่นๆ และองค์กรอื่นรวมทั้งอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และกระบวนการทำงานตำรวจเพื่อประโยชน์ของประชาชน ของกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เคยศึกษารวบรวมมาเสร็จสิ้นแล้ว เพียงแต่มีความเห็นต่างกันในบางเรื่อง หากคณะกรรมการชุดนี้นำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาจะทำให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว และ 5.สปช.มีความมุ่งมั่นที่จะทำการปฏิรูปกิจการตำรวจให้สำเร็จตามความมุ่งหมายของประชาชน และยืนยันว่าจะเดินหน้าผลักดันต่อการปฏิรูปเรื่องนี้ไปให้ถึงฝั่ง หากเรื่องนี้ทำไม่สำเร็จ ถือว่าเสียของและเสียคน

'สมบัติ'ลุยเชิญ 74 พรรคถกรธน. 
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวกรณีพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างฯ แสดงความไม่เห็นด้วยที่กมธ.ปฏิรูปการเมือง เตรียมเชิญพรรคการเมือง 74 พรรคมาให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 15 พ.ค. ว่ากรณีดังกล่าวกมธ.ปฏิรูปการเมืองได้พิจารณาข้อมูลก่อนจะได้ข้อสรุปในการเชิญพรรคการเมืองมาให้ความเห็น เนื่องจากพบว่ากมธ.ยกร่างฯ จะเชิญเฉพาะตัวแทนของพรรคขนาดใหญ่ หรือพรรคที่เคยมีส.ส.ในสภาครั้งที่ผ่านมาเท่านั้น แต่กมธ.ปฏิรูปการเมืองจะเชิญทุกพรรคโดยไม่เลือกพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่ 

"กระบวนการดังกล่าวจึงเป็นคนละส่วนกันไม่ซ้ำซ้อน ขณะเดียวกันเรายังได้เชิญองค์กรภาคประชาชน และนักวิชาการมาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อจะได้ความเห็นที่หลากหลาย จึงเชื่อว่ากระบวนการดังกล่าวน่าจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย" นายสมบัติกล่าว

เปิดเว็บไซต์โหวตร่างรธน. 
เวลา 15.00 น. ที่ร้านบราวน์ ชูการ์ เดอะ แจ๊ส บูทีค ถ.พระสุเมรุ กทม. กลุ่มสื่อทางเลือก ประกอบด้วย อาทิ สำนักข่าวประชาไท สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน จัดงานเปิดตัวเว็บไซต์ Prachamati.org เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนมีพื้นที่แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น ต่อประเด็นต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งลงคะแนนเสียงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นใด อาทิ รัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติเห็นด้วยหรือไม่ หรือนายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส.เห็นด้วยหรือไม่ 

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ กล่าวว่า เบื้องต้นหวังว่าจะมีผู้เข้ามาโหวตในแต่ละประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ 5,000-10,000 คน เพื่อสะท้อนความต้องการของประชาชน ยิ่งมีคนเข้ามาโหวตมากเพียงใดก็ยิ่งมีพลังมากขึ้น ส่วนการโชว์ผลโหวต จะแสดงต่อเมื่อมี ผู้โหวตในแต่ละประเด็นครบ 5,000 คน หรือในเวลา 1 เดือน หากผลโหวตไม่ถึง 5,000 คน โดยแต่ละสัปดาห์จะมีประเด็นใหม่ 4 ประเด็น ให้ประชาชนเข้าไปโหวต

"คนที่เข้ามาโหวตไม่ต้องกังวลว่าจะมีตัวตนปรากฏในการโหวต เนื่องจากมีการออกแบบซอฟต์แวร์ป้องกันไม่ให้เห็นตัวตนของผู้โหวต ทุกคะแนนเสียงจะเป็นบุคคลนิรนาม แม้แต่ผู้ดูแลระบบก็ไม่ทราบว่าผู้ใช้คนไหนลงคะแนนอย่างไร จึงอยากเชิญชวนทุกคนเข้ามาโหวตกันให้มากๆ" นายจอนกล่าว

ปชป.-พท.หนุนทำประชามติ 
จากนั้นเปิดเวทีให้นักวิชาการ นักการเมือง สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน ประชาชน ร่วมแสดงความเห็นในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญใหม่ใครตัดสิน" โดยนายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ยังต้องทำประชามติ แล้วเหตุใดฉบับปี 2558 ถึงจะไม่ทำประชามติ ทั้งกมธ.ยกร่างฯ และสปช.อยากให้ทำประชามติ อีกทั้งรัฐธรรมนูญมีปัญหาหลายด้านทั้งที่มาของส.ว. การให้อำนาจส.ว.อย่างมากล้น จึงต้องทำประชามติเพื่อให้เราเดินหน้าต่อไป โดยสอบถามเป็นรายประเด็น หากประเด็นไหนประชาชนไม่เห็นด้วยก็กลับไปแก้ไขโดยมีเงื่อนไขเวลากำหนด

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ และจะนำมาสู่ความขัดแย้งที่มากกว่าก่อนเกิดรัฐประหาร ทางออกของปัญหา ต้องทำประชามติ และเมื่อประกาศว่าจะทำประชามติ จะมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมผลักดันสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คน 36 คน ที่เป็น กมธ.ยกร่างฯ และ 200 กว่าคนที่เป็น สปช. ไม่สามารถทำหน้าที่และตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศได้ จึงต้องมีการทำประชามติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ และหากประชาชนไม่เห็นด้วย ก็พร้อมยอมรับกับผลที่ออกมา

เพื่อไทยสนใจประชุมที่ศปป. 
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ห้ามนักการเมืองลงพื้นที่พบประชาชน นายอนุสรณ์กล่าวว่าปกติสมาชิกพรรคเพื่อไทยให้ความร่วมมือกับคสช.เต็มที่ ไม่ได้เคลื่อนไหวอยู่แล้ว แต่จากนี้ต้องหานิยามข้อห้ามพบประชาชนว่าจะมีขอบเขตแค่ไหน งานวัด งานบุญ ถ้าไม่ได้พูดจาปราศรัยกับประชาชนไปได้หรือไม่ ส่วนข้อเสนอของพล.อ.ประยุทธ์ที่ให้ประชุมพรรคที่ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป(ศปป.)จะจัดห้องไว้ให้ แล้วจะให้คนไปนั่งฟังด้วยนั้น น่าสนใจ เราจะหารือกันว่าจะประชุมตาม คำแนะนำดีหรือไม่ อาจเชิญสมาชิกพรรค ทั้งประเทศหรือเฉพาะตัวแทนภาคเข้าร่วม เพราะความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองและประชาชนพรรคจะละทิ้งไม่ได้

 

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะคนสนิทพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีพล.อ.ประยุทธ์ห้ามพล.อ.ชวลิตเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า ไม่ขอวิจารณ์ แต่ยืนยันว่าพล.อ.ชวลิตไม่ได้อยู่ฝ่ายไหน ทำงานด้านมั่นคงมาตลอดชีวิต ยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง ละทิ้งบ้านเมืองไม่ได้ และไม่ได้หวังลาภยศ แต่หวังเหมือนคนไทยทั่วไปที่อยากเห็นบ้านเมืองสงบ ร่มเย็น ส่วนที่พล.อ.ชวลิตให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ในขณะนี้เพราะไม่อยากให้หลงทิศทาง

"พล.อ.ชวลิตยอมรับว่าแก่แล้วจริงๆ แต่ร่างกายและสติปัญญายังเหมือนเดิมทุกประการ ถ้านำข้อคิดของคนแก่ที่มีประสบการณ์ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ก็จะเป็นประโยชน์กับส่วนรวม พล.อ.ชวลิตไม่ถือสาที่ใครมาว่าแก่ เพราะเมื่อถึงเวลาที่ตนเองแก่บ้าง คงจะรู้สึกห่วงบ้าน ห่วงเมืองเหมือนพล.อ. ชวลิต" นายชวลิตกล่าว

สั่งจำคุกยุทธพงษ์คดีหมิ่น
ที่ศาลอาญาฯ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ อ.758/2557 ในคดีที่นาย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยหมิ่นประมาท นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์โดยกล่าวหาว่าเข้าไปแทรกแซงการทำงานของกระบวนการยุติธรรม กรณีการจัดเก็บภาษีบุหรี่ของ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) จํากัด 

โดยศาลมีคำพิพากษาดังนี้ จำเลยมีความผิดตามมาตรา 328 มีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 4 หมื่นบาท แต่จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และให้โฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด 

บิ๊กต๊อก-ป.ป.ช.สอบทุจริตสกสค.
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ศอตช. ร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อเข้าไปควบคุมและจัดการกองทุนทั้งหมดของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) องค์การค้าของ สกสค. และคุรุสภา และจัดการปัญหาส่อทุจริตว่า ได้มอบให้นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการป.ป.ท. ในฐานะเลขาฯศอตช.ให้ประสานข้อมูลรายละเอียดกับคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ว่ามีส่วนใดที่ต้องการข้อมูลเพิ่มบ้าง คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะรู้ว่ามีข้อมูลหรือประเด็นใดบ้างที่ต้องเรียกเอกสารหรือสอบปากคำบุคคลใดเพิ่มเติม

ด้านนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า เรื่องการส่อทุจริตใน สกสค. ดีเอสไอได้ร้องเรียนมายัง ป.ป.ช.แล้ว โดยกล่าวหากรณีนำเงินไปลงทุนโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี วงเงิน 2,100 ล้านบาท อาจเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า ซึ่ง ป.ป.ช.ได้สอบพยานแล้ว เห็นว่ามีมูลเพียงพอที่จะตั้งอนุกรรมการตรวจสอบ โดยจะนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช.วันที่ 14 พ.ค.นี้ เบื้องต้นคงจะเป็นนายวิชา มหาคุณ และนายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบ 

นายปานเทพกล่าวว่า นอกจากนั้นที่ประชุม กรรมการ ป.ป.ช.จะมีการหารือว่ากรณีดังกล่าวมีการทุจริตอะไรหรือไม่ และมีการนำเงินไปทำอะไร และคงต้องประสานข้อมูลกับคตร. ที่กำลังตรวจสอบเรื่องดังกล่าวในเชิงลึก เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุดจะได้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการ ผู้สื่อข่าวถามว่ามีกระแสข่าวว่าผู้บริหาร สกสค.มีเงินในเซฟเกือบพันล้านบาทจะเป็นเรื่องที่ยืนยันถึงความไม่ชอบมาพากลในสกสค.หรือไม่ นายปานเทพกล่าวว่า กรณีที่ร้องเรียนมาที่ ป.ป.ช.คือการเอาเงินไปลงทุนโรงงานไฟฟ้า ส่วนประเด็นเชื่อมโยงต่างๆ ต้องหาข้อมูลประกอบต่อไป ซึ่งอยู่ในกระบวนการตรวจสอบของอนุกรรมการทั้งหมด

ฉลุย 4 มหา"ลัยออกนอกระบบ
     วันที่ 8 พ.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบในวาระ 3 ร่างพ.ร.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนน 163 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยเนื้อหาเป็นการปรับปรุงและส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ แต่ยังคงอยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ และคล่องตัว จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นอิสระ พัฒนาระบบบริหารและมีความเป็นเลิศทางวิชาการ

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่างพ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว จากนั้นประธานสั่งปิดการประชุมในเวลา 16.50 น.