- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 08 May 2015 11:57
- Hits: 3506
พระเทือก เชียร์บิ๊กตู่ อยู่ยาว 5 ปี กมธ.แจก 50 บาท คนร่วมฟัง'รธน.' อ้างให้เป็นค่ารถ เสธ.อู้ฉุนสมบัติ ชิงถก 74 พรรค
เชียร์'บิ๊กตู่'ชี้เหมาะสมกับนายกฯเมืองไทย 'พระเทือก'โผล่หนุนอยู่ยาว 3-5 ปี สวนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ต้องประชามติให้เสียงบประมาณถ้าออกมาดี ทำให้ประเทศไทยใส่แล้วหล่อ แต่นักการเมืองอาจจะไม่พอใจ ยันอีกไม่เล่นการเมือง-ไม่กลับประชาธิปัตย์ 'สมบัติ ธำรงธัญวงศ์'ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช.เล็งเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างรธน. เชิญผู้แทนพรรคการเมือง 74 พรรค ภาคประชาชน นักวิชาการรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ร่วมเวที ทำเอา'เสธ.อู้'เซ็งทำเกินหน้าสปช. ติงน่าจะรู้อะไรเป็นอะไร ด้านบิ๊กป้อมยันไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองประชุมหารือ ระบุเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การเมือง ป.ป.ช.ปล่อย'หญิงเป็ด'รอดบ่วงข้อกล่าวหาอนุมัติเที่ยวดูงานยุโรป อ้างไม่มีข้อกฎหมายฟันวินัย อีกทั้งชงสนช.ถอดถอนไม่ได้เพราะเกษียณไปแล้ว
วันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8926 ข่าวสดรายวัน
'บิ๊กตู่'ปิดงานเทศกาลผักผลไม้
เวลา 17.00 น. วันที่ 6 พ.ค. ที่ตลาดริมน้ำเลียบคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ หัวหน้าคสช. เป็นประธานเปิดงานเทศกาลผัก ผลไม้ไทยคุณภาพอย่างเป็นทางการ มีนาย ปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ร่วมงาน
เข้าเยี่ยม - ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ พูดคุยกับนายมิตสุฮิโระ ฟุรุซาว่า รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 พ.ค. |
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเกษตรกรที่มีปัญหาด้วยกันหลากหลาย และต้องให้ผู้เกี่ยวข้องสนับสนุน ส่งเสริมแก้ไขปัญหา การเปิดตลาดผลไม้วันนี้เพื่อสร้างความเข้าใจการยอมรับเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคต ซึ่งวันนี้ทั้งเกษตรกรและกลุ่มอาชีพอื่น เช่น วินมอเตอร์ไซค์ มีการลงทะเบียนอย่างเป็นระบบ การจัดงานวันนี้เป็นหนึ่งในช่องทางของการจัดจำหน่ายของผู้ประกอบการและมุ่งหวังให้เกษตรกรรู้จักการตลาด รู้จักการขาย การทำบัญชี และอยากให้เข้าร่วมกับกลุ่มสหกรณ์ เพราะกลุ่มที่มาขายที่นี่เป็นเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ งานนี้อยากให้เกษตรกรตัวจริงมาขาย ไม่ใช่นายทุน
นายกฯกล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มหาดไทย และพาณิชย์ ต้องพากันกอดคอเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่กอดคอกันตาย เพราะมันไม่ใช่รัฐธรรมนูญ อะไรก็ไม่รู้ กินก็ไม่ได้ เถียงกันอยู่นั่น เราต้องทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า รัฐบาลต้องดูแลทุกอาชีพทุกกลุ่มเพราะเป็นหน้าที่ แต่ถ้าเป็นส.ส.ดูแลบ้านตัวเองก็พอได้ แต่เป็นรัฐบาลต้องดูแลทั้งหมด จะดูแลเฉพาะคนที่เลือกมามันไม่ใช่ นโยบายต้องมีความต่อเนื่อง การเข้ามาทำงานหรือมารับหน้าที่อย่าอยู่ด้วยการใช้อำนาจหรือการเมือง ต้องอยู่ด้วยความเข้าใจ อดทนอดกลั้น ตนเข้ามาทำทุกวันนี้ไม่มุ่งหวังอำนาจหรือผลประโยชน์ มุ่งหวังอย่างเดียวคือให้คนไทยมีศักดิ์ศรี คนรวย คนจนเท่าเทียมกัน วันนี้มีคณะทูตเดินทางมาด้วย อยากบอกว่าให้เข้าใจประเทศไทยบ้างและให้เวลาคนไทยและประเทศไทยด้วย
จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ได้เดินเยี่ยมชมและชิมผลไม้ตามร้านต่างๆ ภายในงานพร้อมเอกอัครราชทูต 7 ประเทศ
กมธ.ปฏิรูปการเมืองเชิญ74พรรคถก
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 13.15 น. ที่รัฐสภา นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติจัดสัมมนา 2 ครั้ง เพื่อระดมความคิดเห็นในการขอเสนอญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยครั้งแรกจะมีขึ้นในวันที่ 15 พ.ค. โดยจะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองทั้ง 74 พรรค กับภาคประชาชนมาร่วมด้วย ส่วนครั้งที่ 2 จะเชิญคณบดีหรือตัวแทนจากคณะนิติศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อมาให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อการเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ คณะอนุกมธ.เตรียมญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน จะรวบรวมความเห็นต่างๆ จากทั้งกมธ.และจากการสัมมนาทั้ง 2 ครั้ง ก่อนร่างเป็นญัตติขอแก้ไขเพื่อส่งให้กมธ.ยกร่างฯ ภายในวันที่ 25 พ.ค. เชื่อว่าความเห็นจากการสัมมนาทั้ง 2 ครั้งน่าจะมีประเด็นที่ตรงกัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับการเสนอขอแก้ไข ถ้ามีส่วนที่เห็นแย้งแต่มีนัยยะสำคัญกมธ.ก็จะเพิ่มเติมเป็นญัตติให้
ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคการเมืองจะขออนุญาต คสช.เพื่อจัดประชุมพรรคระดมความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ นายสมบัติกล่าวว่าขึ้นอยู่กับคสช.ว่าจะอนุญาตหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญมีผลต่อพรรคการเมืองในฐานะผู้ใช้ ซึ่งหากเป็นการปรึกษาหารือกันธรรมดา ไม่ได้สร้างเงื่อนไขก็ไม่น่ามีปัญหา ส่วนเรื่องการทำประชามติมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีถ้าทำประชามติแล้วประชาชนเห็นด้วยรัฐธรรมนูญก็จะมีความชอบธรรม ส่วนข้อเสียจะทำให้การเลือกตั้งล่าช้า เพราะการทำประชามติต้องใช้เวลาเพื่อให้ประชาชนในการทำความเข้าใจ
'ดิเรก'เตรียมนำข้อมูลยื่นแก้ร่างรธน.
นายสมบัติกล่าวว่า การทำประชามติที่เหมาะที่สุดคือต้องทำประเด็นใดประเด็นเดียว ยกตัวอย่าง สกอตแลนด์ขอแยกจากสหราชอาณาจักร เพราะในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 302 มีรายละเอียดที่ผิดตรรกะ เช่น เวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ แต่ก่อนประกาศกลับไม่ต้องทำ ซึ่งไม่สมเหตุสมผล แต่ถ้าจะทำประชามติรายประเด็น หรือรายมาตราจะยุ่งยากมาก ขณะเดียวกันบรรยากาศทางการเมืองก็มีส่วน เพราะเริ่มมีความกังวลกันว่าการทำประชามติอาจทำให้เกิดการเผชิญหน้าแล้วบ้านเมืองจะช้ำไปมากกว่านี้หรือไม่ เพราะคนชอบก็จะสนับสนุน แต่คนไม่ชอบก็อาจไม่สนับสนุน แต่ส่วนตัวคิดว่าการทำประชามติน่าจะมีผลดีมากกว่า
นายดิเรกกล่าวภายหลังการประชุมพิจารณาจัดทำประเด็นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อสรุปให้จัดโครงการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งแรกวันที่ 15 พ.ค. ที่ห้อง 213-216 อาคารรัฐสภา 2 โดยจะเชิญผู้แทนพรรคการเมือง 74 พรรค การเมือง ผู้แทนสมาคมตำรวจ สมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชน ตลอดจนสื่อมวลชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ อย่างรอบด้าน พร้อมกับกำหนดให้วันที่ 17 พ.ค. เวลา 12.00 น. เป็นวันสุดท้าย ที่สมาชิกจะสามารถยื่นแสดงความเห็นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนจะรวบรวมน้ำหนักการยื่นคำขอต่อคณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
เลิศรัตน์สวนสมบัติ-น่าคิดเองได้
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ. ยกร่างฯ กล่าวถึงกรณีที่นายสมบัติจะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองทั้ง 74 พรรคมาให้ความเห็นต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงทำแบบนี้ เพราะกมธ. ยกร่างฯจะเชิญพรรคการเมืองมาให้ความเห็นอยู่แล้ว อยากทราบเหตุผลเหมือนกันแต่ไม่มีโอกาสเจอตัว จริงๆ นายสมบัติและกมธ.ปฏิรูปการเมืองน่าจะคิดเองได้ทำไมถึงไปเอาคนอื่นมาช่วยคิด ความเห็นของพรรคการเมืองมีหลากหลายมากจะเอามาหลอมรวมคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่กมธ.ยกร่างฯคงไม่มีปัญหาติดขัดอะไรพร้อมรับฟังทุกความเห็นที่กมธ.ปฏิรูปจะดำเนินการ และเป็นเรื่องดีที่กมธ.ปฏิรูปการเมืองจะได้สรุปประเด็นส่งมาให้กมธ. ยกร่างฯดูก่อนที่จะเชิญพรรคการเมืองมา คงทำให้เราทำงานง่ายขึ้น
ด้านนายนิรันดร์ พันทรกิจ สปช. กล่าวว่าตนได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ และคณะเพื่อพิจารณาความเหมาะสมและความถูกต้องตามกฎหมายในเรื่องที่กมธ.ยกร่างฯมีมติแต่งตั้งอนุกมธ.เพื่อพิจารณายกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับใช้ และให้เป็นหน้าที่เฉพาะของ กมธ.ยกร่างฯดำเนินการเท่านั้น ทั้งนี้มาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของสปช. และกมธ.ยกร่างฯทำร่วมกัน ดังนั้นควรให้การแต่งตั้งอนุกมธ.เพื่อยกร่างกฎหมายลูกเป็นหน้าที่ของที่ประชุมสปช. เพื่อเป็นการให้เกียรติกับการทำหน้าที่ของสปช.ด้วย นอกจากนั้นแล้วการยกร่างกฎหมายลูกก่อนที่รัฐธรรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ เท่ากับเป็นการเขียนกฎหมายลูกไว้ล่วงหน้า และมีธงของรัฐธรรมนูญก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับจริงมีผลบังคับใช้ ดังนั้นตนขอให้กมธ.ยกร่างฯทบทวนด้วย
ประวิตรขวางพรรคการเมืองถก
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองขอให้ คสช.ผ่อนคลายประกาศ คสช. เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถประชุมหารือเรื่องรัฐธรรมนูญได้ ว่า เรื่องรัฐธรรมนูญทั้ง คสช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการอยู่แล้ว หากไปเปิดให้ทันทีกลัวจะเป็นเรื่องการเมืองทั้งหมด ไม่ใช่แค่เรื่องรัฐธรรมนูญ โดยศูนย์ดำรงธรรมก็สามารถรับเรื่องหรือความคิดเห็นมาได้ รัฐบาลพยายามไม่ให้เอาการเมืองเข้ามาเกี่ยว หากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วบ้านเมืองจะเดินหน้าไปได้ตามกระบวนการ
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. กล่าวถึงการควบรวมกสม.กับผู้ตรวจการแผ่นดินของ กมธ.ยกร่างฯ ว่า ถึงตอนนี้เชื่อว่าจะไม่มีการควบรวม 2 องค์กรเข้าด้วยกัน เพราะกมธ.ยกร่างฯ เริ่มยอมรับแล้วว่าการควบรวมนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังจะเกิดผลเสีย เพราะข้อเท็จจริงที่เราได้มีการนำเสนอกับทุกฝ่ายว่าถ้าเหตุผลของการควบรวมคือการเพื่อให้ประชาชนได้ประโยน์จะร้องเรียนเรื่องต่างๆ สามารถติดต่อได้ภายในหน่วยงานเดียว แต่การที่สององค์กร มีการสรรหา มีวัฒนธรรม วิธีคิด และการทำงานที่แตกต่างกัน การรวมกันก็จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าจะแยกเหมือนเดิม แล้วการทำงานตรงไหนที่เห็นว่าเป็นปัญหาก็แก้ไข ปรับปรุง คิดว่าน่าจะได้องค์กรที่มีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่า
กมธ.ยกร่างฯอยากทำประชามติ
วันเดียวกัน นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่าท่าทีของคณะกมธ.ยกร่างฯ ต่อเรื่องนี้ ส่วนใหญ่รวมถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกมธ.ยกร่างฯ ก็เห็นด้วยกับการทำประชามติ แต่คณะกมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ได้หารือกันอย่างเป็นทางการ การทำประชามติเป็นเรื่องที่คณะกมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คน ไม่สามารถตัดสินใจเพียงลำพังได้ ทั้งนี้ หากดูสถานการณ์ขณะนี้จะเห็นว่าหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้มีการทำประชามติ จึงมองไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากแม่น้ำทั้ง 5 สาย จะนำเรื่องมาคุยกัน
เมื่อถามว่ากระบวนการทำประชามติควรทำเป็นรายมาตราหรือทั้งฉบับ นายบัณฑูรกล่าวว่า กรณีดังกล่าวมีหลายวิธีการ คงต้องพิจารณาว่า หากจะทำทั้งฉบับจะมีกระบวน การดำเนินการอย่างไร หรือถ้าทำประชามติเป็นรายมาตราก็ต้องดูว่าควรหยิบประเด็นใดขึ้นมาสอบถามประชาชน ขณะเดียวกัน ถ้าทำแล้วและประชาชนลงมติเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ผลจากนั้นจะเป็นอย่างไร จึงมองว่าประเด็นดังกล่าวต้องคิดให้ครบถ้วนและรอบคอบก่อนจะมีการตัดสินใจ
สปช.ถกปฏิรูประบบราชการ
ที่รัฐสภา มีการประชุม สปช.โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาสปช.ทำหน้าที่ประธานในการประชุม พิจารณารายงานของ กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน โดยพิจารณาวาระที่ 3 การปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ประธานกมธ. กล่าวรายงานว่า สาระสำคัญของปัญหาของการบริหารราชการไทย พบมีโครงสร้างส่วนราชการจำนวนมาก มีกระทรวง 20 กระทรวง มีหน่วยราชการระดับต่างๆ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค 11,965 หน่วย และมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐ 58 หน่วยงาน และองค์กรมหาชน 53 หน่วยงาน ทำให้การทำงานมีขั้นตอนจำนวนมาก การทำงานล่าช้า ไม่คล่องตัวและสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น
นายธีรยุทธ์กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวจึงทำให้เกิดข้อบกพร่อง และนำไปสู่การทุจริตประพฤติมิชอบได้ง่าย ขณะที่ภารกิจและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานราชการพบว่าซ้ำซ้อนทั้งระหว่างกรมภายในกระทรวงด้วยกันเอง และมีความรับผิดชอบที่ไม่ชัดเจน ดังนั้น กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน จึงมีข้อเสนอที่สำคัญ คือ ราชการบริหารส่วนกลาง การมีหน่วยงานไปอยู่ในภูมิภาคจำนวนมาก ต้องทบทวนและปรับปรุงหน่วยงานดังกล่าว โดยให้ยุบหรือปรับลดหน่วยงานของราชการบริหารส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคให้เหลือเท่าที่จำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจให้เหลือเฉพาะงานที่ไม่สามารถมอบให้ภูมิภาค หรือองค์กรบริหารท้องถิ่น ดำเนินการแทนได้ เช่น งานวิจัยและพัฒนา งานบริการทางวิชาการที่มุ่งบริการให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือประชาชนส่วนรวมในกลุ่มเขตจังหวัด
ชี้ท้องถิ่นทุจริตสูง-ขรก.ก็ด้อย
จากนั้น เข้าสู่วาระการปฏิรูปที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานภาครัฐ โดย นายอุดม ทุมโฆษิต สมาชิก สปช. ด้านการปกครองท้องถิ่น ในฐานะประธาน อนุกมธ. กล่าวรายงานว่า อัตราการทุจริตมีสูงมากจนเป็นที่น่ากังวล ความด้อยประสิทธิภาพของข้าราชการไทยส่งผลให้นานาชาติ ไม่ยอมรับประเทศไทย
จากนั้น สมาชิก สปช.อภิปรายกันอย่างกว้างขวางในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย การปรับโครงสร้างว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะนำประเทศไปสู่สันติสุข เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในทุกภาคส่วน ในการบริหารงาน ว่าควรทำอย่างไรให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และการบูรณาการ การทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม และระบบราชการมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด ที่จะเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนให้มีการปรับอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาคไปสู่ท้องถิ่น ให้มากขึ้น โดยยึดประชาชนเป็นหลัก ให้ร่วมกันคิดร่วมตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการบริหารแบบสมานฉันท์เกิดความปรองดองขึ้น จากนั้นสั่งปิดการประชุมในเวลา 16.40 น.
สปช.หารือ-ปรับแก้ร่างรธน.ใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากการ ประชุมสปช.วาระปกติแล้วเสร็จ ได้มีการหารือถึงการเตรียมความพร้อมต่อการส่งคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของสปช. ต่อนาย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร สปช. ในฐานะเลขานุการวิป สปช. นายวันชัย สอนศิริ และนายไพโรจน์ พรหมศาสน์ กมธ.วิปสปช. เป็นผู้ดำเนินการ โดย นายอลงกรณ์แจ้งรายละเอียดต่อที่ประชุมว่า หลังจากวิปสปช. ทำแบบสำรวจประเด็นการยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเมื่อช่วงเช้าวันที่ 6 พ.ค. พบว่าเมื่อเวลา 16.40 น. มีสปช.ที่ส่งแบบสำรวจรวมทั้งสิ้น 98 ชุด จากยอดรวมทั้งสิ้น 249 ชุด ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้สปช.ทุกคนส่งแบบสำรวจดังกล่าวภายในวันที่ 8 พ.ค.นี้
จากนั้นสัปดาห์หน้าวิปสปช.จะพิจารณารายละเอียด เช่น การรวมกลุ่มเพื่อเสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมที่ 1 คำขอ ต้องมีสปช.ลงชื่อทั้งสิ้น 26 คน โดยในวันที่ 13 พ.ค. วิปสปช.จะหารือรายละเอียดและแจ้งความคืบหน้าให้สปช.ทราบ จากนั้นจะมีเวลาประมาณ 10 วัน เพื่อให้แต่ละกลุ่มได้ดำเนินการ โดยขั้นตอนทำคำขอต้องให้เป็นทางการ คือจะแก้ไขมาตราใด ตัด เพิ่ม หรือแก้ไขเนื้อหาอย่างไร โดยใช้ภาษากฎหมาย โดยวิปสปช.จะเชิญคณะกรรมการกฤษฎีกาและฝ่ายกฎหมายของสภามาช่วยพิจารณาถ้อยคำ เบื้องต้นคาดว่ากระบวนการดังกล่าวจะแล้วเสร็จสมบูรณ์วันที่ 22 พ.ค.
เล็งรื้อใหญ่ที่มา-อำนาจนายกฯ
นายวันชัยเปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมได้สรุปการจัดกลุ่มยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว โดยจัดกลุ่มละ 26 คน จำนวน 8 กลุ่ม โดยจะต้องยื่นคำแปรญัตติในวันที่ 25 พ.ค.นี้ ซึ่งประเด็นที่มีการพูดคุยกันเพื่อขอแก้ไขในภาพรวม เช่น เรื่องการเมืองมีการขอแก้ไขค่อนข้างมาก เรื่องที่มานายกฯ เรื่องอำนาจนายกฯที่มีสิทธิเสนอกฎหมาย การอภิปรายไว้วางใจ เรื่องที่มาส.ส. ส.ว. เรื่องที่มากรรมการปฏิรูป เรื่องกรรมการปรองดองคิดว่าจะมีคนขอแก้ไขเรื่องอำนาจหน้าที่พอสมควร ประเด็นเรื่องอำนาจพลเมืองที่มีความไม่ชัดเจน ทั้งหมดเป็นสิทธิของแต่ละกลุ่มที่จะไปคิดปรึกษาหารือกัน
นายวันชัยกล่าวว่า เชื่อว่าการแก้ไขโดยสปช.จะประสบความสำเร็จ หากมีการวางแผน มียุทธศาสตร์ดี แล้วเป็นกระแสที่ให้มีการแก้ไขมากๆ เชื่อว่ากมธ.ยกร่างฯ จะไม่ดื้อดึงไม่แข็งขืน เท่าที่เราฟังอภิปรายของสปช.ทั้งหมด 7 วัน ทำให้แนวคิดของกมธ.ยกร่างฯก็อ่อนลง มีท่าทีที่จะปรับเปลี่ยน ถ้าแต่ละคณะวางแผนดีๆ ให้มีความเห็นที่หลากหลายในประเด็นสำคัญๆ เชื่อว่าจะแก้ไขสำเร็จได้แน่นอน เรื่องหลักๆ เชื่อว่าแก้ แต่ จะแก้มากน้อยต้องติดตามดู เพราะถ้าสปช.จำนวนมากขอแก้ไข แล้วถ้าไม่แก้ไข คิดว่าร่างรัฐธรมนูญฉบับนี้จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากสปช. อาจจะถูกคว่ำได้
พระเทือกโผล่หนุนบิ๊กตู่อยู่ยาว
ที่วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี พระสุเทพ ปภากโร หรือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำกปปส.ให้สัมภาษณ์กรณีกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน อย่างน้อย 5 ปีแล้วค่อยแก้ไขว่า ไม่จำเป็นและไม่ควร เพราะวันนี้พล.อ.ประยุทธ์เป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมที่สุด ที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่ทำการแก้ไขสิ่งเหล่านี้ เพราะไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง อีก 5 ปีข้างหน้าหากมีรัฐบาล ก. และรัฐบาล ข. ที่จะเป็นกลางนั้นรับรองว่าไม่มี พวกเขาต้องแก้ให้เอื้อประโยชน์กับรัฐบาลของเขาหรือของพรรคตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงทำตรงนี้ให้สมบูรณ์ไปเลย ตนไม่ได้จะขัดแย้ง แต่รู้สึกว่าไม่ถูกต้อง รัฐธรรมนูญจะมีกี่มาตราไม่ใช่เรื่องสำคัญ 315 มาตรา หรือ 600 มาตรา ขอให้ออกมาดี ถ้าไม่เข้าท่ามีแค่ 5 มาตราก็ดูว่ามากไปแล้ว เวลานี้ทำให้เสร็จทำให้ถูกต้องทั้งกฎหมายหลัก กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องทำประชามติหรือไม่ เพราะเวลานี้พรรคการเมืองและสมาชิกสปช.ส่วนใหญ่เห็นว่าควรทำประชามติ พระสุเทพกล่าวว่าถ้ารัฐธรรมนูญดีจริง รัฐธรรมนูญเหมาะสมสำหรับประเทศไทย ออกแบบมาได้พอดีตัว ตัดเสื้อเข้ากับตัวคนไทยได้พอดี ใส่หล่อแล้วก็ไม่ต้องไปทำประชามติให้สิ้นเปลือง แต่ข้อสำคัญอาจดูใส่หล่อสำหรับประเทศไทย แต่ไม่พอดีตัวนักการเมือง และพรรคการเมือง อย่างนี้แม้จะทำประชามติไปก็เป็นปัญหา เพราะบรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองเขาไม่เอาอยู่แล้ว
"สำหรับอาตมาวันนี้ไม่ได้เป็นนักการเมือง ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้วไม่คิดที่จะไปเลือกตั้งอีก เรามองในแง่ประโยชน์ของประเทศชาติ ถ้าพล.อ.ประยุทธ์อยู่แล้วแก้ปัญหาประเทศได้ ทำให้ประเทศดีขึ้น ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ 3 ปี 5 ปี ก็ไม่เห็นน่ารังเกียจอะไร ไม่ใช่เอาแต่ความเท่ เอาแต่ยี่ห้อแล้วก็กินไม่ได้ แบบนี้ ไม่รู้รูปแบบประชาธิปไตยจะเป็นอย่างไร" พระสุเทพกล่าว
เทียนฉายมึนรธน.เก่าประชามติ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช.กล่าวกรณีข้อเสนอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2540 และ 2550 มาทำประชามติประกบรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างให้ประชาชนเลือก ว่าไม่เข้าใจ แปลกใจ และงงว่าถ้าจะใช้โมเดลเอาของเก่ามาเปรียบเทียบ ที่ร่างกันอยู่จะร่างกันทำไม คนเสนอไม่คิดว่าเสียเวลาหรือ ไม่คิดว่าที่ร่างกันอยู่ดีกว่า พัฒนากว่าอดีตหรือ เรื่องนี้ดีหรือไม่จึงมาถามตนไม่ได้ ควรไปตั้งคำถามกับพรรคการเมืองว่าเจตนาที่เสนอแนวคิดมาเวลานี้ต้องการอะไร คงกลัวจะเหงาหรือเปล่า ยิ่งวิจารณ์มากยิ่งเป็นประโยชน์ต่อ ผู้ร่าง แต่อยากให้ทุกฝ่ายวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ รอให้เห็นร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายเสียก่อน
นายเทียนฉายกล่าวถึงประเด็นที่สปช.อาจขออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกรอบ 2 ก่อนโหวตลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 23 ก.ค.-6 ส.ค.นั้น ว่าตนยังไม่ทราบเรื่องและยังไม่ได้รับการประสานหารือ จากทั้งวิปสปช.หรือกมธ. ยกร่างฯ จึงตอบไม่ได้ว่าหากมีผู้ยื่นความประสงค์ขออภิปรายมาจริงจะตัดสินใจอย่างไร เพราะยังไม่ถึงเวลา
วิษณุห่วงถ้อยคำในรธน.มีปัญหา
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยว่าวันนี้ได้เรียกคณะทำงานฝ่ายรัฐบาลที่จะดำเนินการส่งความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ไปยังกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พูดคุยเป็นครั้งแรก เพื่อซักซ้อมวิธีการและยกตัวอย่างบางประเด็น แต่ยังลงรายละเอียดไม่ได้มาก เนื่องจากวันที่ 14 พ.ค.นี้ ต้องรับฟังความเห็นจากกระทรวงต่างๆ ที่จะส่งมาเสียก่อน จากนั้นจะประชุมอีกครั้งในวันเดียวกัน ซึ่งการพิจารณาเบื้องต้นพบบางหมวดไม่มีปัญหา เช่น หมวดพระมหากษัตริย์ หมวดสิทธิเสรีภาพ ไปจนถึงหมวดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนมาตราที่ว่าด้วยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาตินั้น จะพิจารณาในคราวต่อไป
นายวิษณุกล่าวว่า ขณะที่กรอบระยะเวลาการทำงาน หลังจากที่แจกร่างรัฐธรรมนูญให้คณะทำงานแล้ว รวมถึงคณะนักศึกษานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่(นปร.) ช่วยกันพิจารณาพบมีบางประเด็นที่คณะทำงานสะกิดให้คิดแต่ไม่สามารถลงรายละเอียดได้ เนื่องจากมีการทักท้วงตั้งแต่เรื่องถ้อยคำที่บางคำไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร และหากเรื่องไปถึงศาลจะเถียงกันว่าไม่รู้ว่าคืออะไร เช่นคำว่า "ถ้ารัฐจะทำโครงการอะไรต้องคำนึงถึงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และพื้นที่ทางวัฒนธรรม" ถ้าไม่รู้ว่าหมายถึงอะไรก็จะยุ่ง วันนี้เราต้องคิดอะไรแทนรัฐบาลใหม่ด้วย ไม่ได้คิดถึงเฉพาะรัฐบาลนี้ รัฐบาลนี้ไม่นานก็ไปแล้ว แต่ปัญหาต่อไปคือรัฐบาลที่จะขึ้นมาใหม่
นายวิษณุกล่าวว่า วันนี้ที่ทุกคนวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในเรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องภาคการเมือง แต่การเมืองภาคประชาชนกับการเมืองภาคบริหารราชการแผ่นดิน คือการทำงานของรัฐ ประชาชนทั่วไปอาจวิจารณ์ยากเพราะไม่มีประสบการณ์ คนที่เป็นนักการเมือง เป็นรัฐบาลมาแล้วก็ไม่วิจารณ์นอกจากเรื่องการเมืองภาคการเมือง หากบางเรื่องเราไม่สอบถามไปยังกมธ.ยกร่างฯ จนเข้าใจ เดี๋ยวจะเป็นปัญหา รัฐบาลใหม่จะทำงานยาก
มึนองค์กรอิสระกับองค์กรตามรธน.
เมื่อถามถึงข้อสังเกตองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใหม่ไม่มีกลไกตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ นายวิษณุกล่าวว่า ที่จริงมี และมีบางเรื่องที่เราจะเสนอความเห็นไปเช่นกัน ส่วนนี้อาจเสนอให้ปรับถ้อยคำให้ชัดเจนขึ้น เช่น ในร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุในหลายมาตราถึงคำว่า"องค์กรตามรัฐธรรมนูญ" ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีบทบาทมาก แต่ปัญหาคือว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุชัดเจนว่า "องค์กรตามรัฐธรรมนูญได้แก่องค์กรดังต่อไปนี้" แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พูดถึงองค์กรต่างๆ แต่ไม่ได้บอกว่าคือองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าพูดตามภาษาของคนอีกพวก ไม่รู้องค์กรอะไรเขียนในรัฐธรรมนูญก็เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่จะจริงหรือเปล่านั้นไม่ทราบ ซึ่งอาจต้องสอบถามกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งมีเรื่องต้องถามมาก อยากให้กมธ.ยกร่างฯ เขียนให้ชัดเจน รวมถึงเรื่องของเจตนารมณ์ อย่างไรก็ตาม วันนี้มันเพิ่งโหมโรง ยังไม่ได้ไปอะไรมาก อย่าเพิ่งตื่นเต้น
เมื่อถามว่าองค์กรอิสระตามร่างธรรมนูญมีมากเกินไปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ในหมวดปฏิรูปเกิดขึ้นมากแล้วมีการกำหนดให้มีกรรมการต่างๆ ปัญหาก็คือจะนับรวมส่วนนี้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่
ย้ำคำทักท้วงครม.-คสช.มีน้ำหนัก
เมื่อถามถึงข้อสังเกต หากครม.และคสช.ชี้ให้กมธ.ยกร่างฯ แก้ไขจุดไหนก็ต้องแก้ตามแน่นอน นายวิษณุกล่าวว่าพูดเช่นนั้นก็ยาก เพราะกมธ.ยกร่างฯ ได้กลั่นกรองมาแล้ว ก็ต้องเข้าใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ตนเคยพูดเองว่าถ้าครม.กับคสช.ขอแก้ไขในประเด็นที่ตรงกันและมีน้ำหนัก ซึ่งน้ำหนักตรงกันอาจทำให้เกิดบางอย่าง เช่น อาจทำให้สปช.นำไปคิดว่าเรื่องรุนแรงมากขนาดไหน แต่บางเรื่องไม่ใช่เรื่องรุนแรง ถ้าแก้ได้ก็ดี ถ้าไม่แก้ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร เพราะกมธ.ยกร่างฯเป็นผู้ชี้ขาด ถ้าเราตั้งใจจะให้เราชี้ขาดก็เขียนในรัฐธรรมนูญชั่วคราวตั้งแต่ต้นแล้วว่าถ้าเสนอแก้ไขไป กมธ.ยกร่างฯต้องแก้ แต่นี่ไม่ได้เขียนไว้ ให้เขาคิดเอง เพราะฉะนั้นไม่ว่า ครม. คสช. เห็นตรงกันตนว่ามีน้ำหนัก กมธ.ยกร่างฯ คงจะแก้ไขให้ เพราะแปลว่าไม่มีใครเอาแล้ว
เมื่อถามว่าปัจจัยใดที่จะทำให้เกิดการทำประชามติ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่มีอะไรมากไปกว่าความคิดเห็นของประชาชน นายกรัฐมนตรีพูดแบบนี้มาโดยตลอด และรัฐบาลเองมีส่วนได้เสียอยู่เหมือนกัน หากคนอื่นจะคิดว่าถ้าวันนี้ไม่มีใครพูดเรื่องประชามติแต่รัฐบาลพูดขึ้นมา เดี๋ยวก็มีคนคิดว่ารัฐบาลอยากอยู่ต่ออีกยาว ถ้าทำประชามติจะทำภายใน 30 วันไม่ทันแน่นอน แบบนั้นไม่เรียกประชามติแค่พิมพ์แจกรัฐธรรมนูญให้คน ทั้งประเทศก็ไม่ทันแล้ว
เมื่อถามว่าการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีและคสช.ในวันที่ 19 พ.ค.นี้ จะนำเรื่องร่างรัฐธรรมนูญเข้าหารือด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวสั้นๆ ว่ายังไม่ทราบเพราะไม่ได้เป็นผู้จัดวาระครม.
เผยก.ย.-ปปช.จะมีความยุ่งยาก
นายวิษณุกล่าวกรณีวาระการดำรงตำแหน่งของประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จะครบวาระวันที่ 19 พ.ค.นี้ว่า ถ้าประธานป.ป.ช.หมดวาระและถ้าพูดในวันนี้ต้องดำเนินการสรรหาใหม่ กระบวนการต้องเดินต่อไป แต่คงไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เพราะยังเหลือป.ป.ช. อีก 8 คน สามารถเลือก 1 ใน 8 ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานป.ป.ช.ได้ แต่จะมีความยุ่งยาก ในเดือนก.ย. เนื่องจากป.ป.ช.บางคนอายุครบ 70 ปี จะดำรงตำแหน่งต่อไม่ได้ แต่บางส่วนที่ครบวาระสามารถรักษาการต่อได้
"การสรรหาใหม่ต้องคิดด้วยว่ารัฐธรรมนูญใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร หากสรรหาใหม่ตอนนี้แล้วรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าให้ป.ป.ช.สิ้นสุดลง ซึ่งเวลานี้เขียนให้อยู่ไปหนึ่งปี แล้วใครจะลาออกมาเป็นป.ป.ช.เพื่ออยู่ช่วงเวลาสั้นๆ ดี ไม่ดีกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไปแก้รัฐธรรมนูญให้ยุบหมด อาจอยู่ไม่กี่เดือน และขณะนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ตำแหน่งก็จะว่างลง รวมถึงกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ถ้าสรรหาเข้ามาใครจะยอมอยู่เพราะอยู่ไม่กี่เดือน เมื่อคืนเจอคนในงานสโมสรสันนิบาตก็ถามผมว่าสุดท้ายจะลงประชามติหรือไม่ เพราะเดือดร้อนพอสมควร ถ้าลงจะได้ยืดเวลาการสรรหาใหม่ คนก็รู้เขาอยู่ได้นาน ถ้าไม่ทำประชามติก็จะสั้นเข้ามา คนที่จะเข้ามาองค์กรต่างๆ วันนี้เขาก็รู้ว่าเขาอยู่ได้ไม่นาน" นายวิษณุกล่าว
พท.ย้ำให้ผ่อนปรนพรรคการเมือง
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายสมบัติจะเชิญตัวแทนพรรคการเมือง 74 พรรคไปให้ความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เบื้องต้นอยากให้ คสช.มีคำสั่งผ่อนปรนให้พรรคการเมืองประชุมพรรคได้ เพื่อระดมความเห็นที่แตกต่างหลากหลายจาก อดีตส.ส.และสมาชิกพรรคที่มีอยู่ทุกภาคทั่วประเทศจนตกผลึกเป็นมติพรรค ก่อนกำหนดตัวแทนไปให้ความเห็น จะเป็นประโยชน์มากกว่าการเชิญเพียงตัวแทนไปโดยที่ยังไม่มีการประชุมกันจนได้ข้อสรุป เพราะจะได้ความเห็นที่ไม่ครอบคลุม และไม่ใช่ความเห็นของพรรค การเมืองโดยรวม สุดท้ายกระบวนการรับฟังความเห็นอาจถูกครหาว่าเป็นเพียงพิธีกรรมหรือไม่ ขณะเดียวกันอยากขอให้เปิดโอกาสประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เพราะในอนาคตพวกเขาต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดี ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมกับกติกาใหม่ของประเทศ
"จะเป็นการพิสูจน์ประเด็นสำคัญที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญว่าพลเมืองเป็นใหญ่นั้นจริงเท็จแค่ไหน มีผลเชิงปฏิบัติมากน้อยเพียงใด สมาชิกพรรคเพื่อไทยเห็นตรงกันว่าเมื่อกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว ต้องทำประชามติถามประชาชนว่าจะรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ โดยทำแบบทั้งฉบับ ไม่ควรแยกเป็นรายมาตรา เพราะจะเกิดความสับสน ซึ่งจะทำให้เกิดการยอมรับจากคนทั้งประเทศ รวมทั้งนานาชาติด้วย" นายพร้อมพงศ์กล่าว
ชวลิตเตือนพลเมืองต้องใหญ่จริง
ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ ระบุให้ใช้รัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วค่อยทำประชามติภายหลังว่า ต้องยืมสำนวนหนังจีนกำลังภายใน ที่ว่า "หัวเราะไม่ได้ ร้องไห้ไม่ออก" มาใช้ เพราะไม่สอดคล้องกับตรรกะที่ว่าจะให้พลเมืองเป็นใหญ่ คงฝากกมธ.ยกร่างฯ ที่มีนายบวรศักดิ์เป็นประธาน ว่าถ้าต้องการให้พลเมืองเป็นใหญ่ควรดำเนินการดังนี้ 1.ควรทำประชามติ เพราะมีความเห็นที่แตกต่างกันมากในประเด็นหลักๆ ทางการเมืองดังที่ปรากฏต่อสาธารณะ 2.มีข้อสังเกตว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อทักท้วง ข้อเสนอแนะในประเด็นสำคัญมากมาย ทั้งจากนักวิชาการ สื่อมวลชน ศาล องค์กรอิสระ พรรคการเมืองรวมทั้งประชาชนทั่วไป แม้กระทั่งฝั่งรัฐบาลเอง เช่น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ หา คำชื่นชมแทบไม่ได้หรือได้น้อยมาก นอกจากอวยกันเองใน กมธ.ยกร่างฯ ไม่กี่คน ผู้เกี่ยวข้องจึงควรตั้งสติไตร่ตรองให้รอบคอบ เพื่อหาทางออกในอันที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่
นายชวลิต กล่าวอีกว่า 3.หากเกรงจะกระทบกับโรดแม็ป ควรแก้ไขในชั้นแปรญัตติในประเด็นสำคัญที่กำลังถกเถียง แต่มี ข้อสังเกตที่ขอดักทางไว้ก่อน คือการร่างรัฐธรรมนูญให้สุดโต่งทางอำนาจนิยมโดยยอมแก้บางส่วน เพื่อบอกต่อสังคมว่าแก้ให้แล้วนั้นประชาชนรู้ทัน เช่น การบัญญัติให้ นายกฯ มาจากคนนอกได้ เมื่อถูกทักท้วงมากก็เพิ่มเงื่อนไขว่าถ้าบ้านเมืองมีวิกฤต ซึ่งในเมืองไทยวิกฤตสร้างได้ เป็นต้น จึงควรให้โอกาสพลเมืองตัดสินใจอนาคตของเขา เพื่อให้พลเมืองเป็นใหญ่อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ขอฝากแม่น้ำห้าสาย ร่วมกันวางกติกาของบ้านเมืองครั้งนี้ไม่ให้เสียของ เป็นประโยชน์ส่วนรวมต่อประเทศชาติและประชาชน มิใช่ประโยชน์ส่วนตนหรือหมู่คณะ
สมคิดอัดกมธ.ยกร่างมองแง่ร้าย
นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่กมธ.ยกร่างฯ ได้เสนอต่อสาธารณะนั้น ได้รับเสียงไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ทั้งนักวิชา การ สื่อ ประชาชน และนักการเมือง แต่กมธ.ยกร่างฯ ไม่คิดปรับปรุงแก้ไขหลักใหญ่ของรัฐธรรมนูญ เช่น ที่มานายกฯ ที่ควรมาจากการเลือกตั้ง ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด การที่ กมธ.ยกร่างฯ บางคนกล่าวหาว่านักการเมืองคัดค้านหลักการในรัฐธรรมนูญ เพราะเสียประโยชน์นั้น หากคิดเช่นนี้จะขอกล่าวหากมธ.ยกร่างฯ และสปช.บ้างว่าได้ประโยชน์จากการร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ทั้งการลิดรอนสิทธิประชาชน โดยให้องค์กรต่างๆ ที่มีอำนาจมากมายโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน ควบคุมทุกเรื่อง โดยอ้างว่าต้องการปฏิรูป แต่กลับใช้อำนาจของรัฐธรรมนูญตั้งกลุ่มคนตัวเองเข้ามายึดองค์กรต่างๆ แถมยังมองไม่ออกว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ เช่น การตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่มาจากสปช. สนช. ผู้ทรงคุณวุฒิรวม 120 คน
"รัฐธรรมนูญที่ร่างมองการเมืองในทางที่เลวร้าย ทั้งที่เป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถเอื้อมถึง ดังนั้นการทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ สร้างรัฐบาลผสมจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับประเทศในอนาคต หากกมธ.ยกร่างฯ แก้ไขตามข้อเสนอของเสียงส่วนมาก เลิกอ้างว่าจะทำให้การเลือกตั้งช้าหรือหากทำประชามติ จะทำให้เลือกตั้งช้าออกไป จึงขอฝากไปยังผู้มีอำนาจว่าผมไม่สนใจว่าจะเลือกตั้งช้าหรือไม่ เพราะถ้าเลือกตั้งไปแล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินนโยบายใดได้ แล้วจะเลือกตั้งไปทำไม และสุดท้ายแล้วคนที่เสียโอกาสมากที่สุดก็คือประชาชน" นายสมคิดกล่าว
นัดลงมติถอดถอนบุญทรง-ภูมิ
ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ในวันที่ 7 พ.ค. สนช.มีวาระการประชุมเรื่องพิจารณาสำนวนคดีถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 56(1) และมาตรา 58 พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จากกรณีทุจริตการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยจะเป็นการให้คู่กรณีแถลงปิดสำนวนคดี ซึ่งขณะนี้ นายบุญทรงและนายภูมิ ส่งหนังสือยืนยันว่าจะมาแถลงด้วยตนเอง ส่วนนายมนัสจะแถลงปิดสำนวนคดีเป็นหนังสือ จากนั้นในวันที่ 8 พ.ค. สนช.จะประชุมเพื่อ ลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอนผู้ถูก กล่าวหา โดยคาดว่าวิธีการลงมติจะเหมือนกับการพิจารณาคดีถอดถอนก่อนหน้านี้
บิ๊กป้อม ถกพัฒนาริมเจ้าพระยา
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ.เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยและกทม.
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่าที่ประชุมกำหนดแนวทางการดำเนินการ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบกรอบเวลาในการทำงานแล้ว เบื้องต้นภายในปี 2560 จะสามารถดำเนินการได้เสร็จเรียบร้อย โดยการทำงานจะบูรณาการกับทุกหน่วยงานทั้งการออกแบบ การใช้งบประมาณ และการก่อสร้าง รัฐบาลจะเร่งดำเนินการตามแผนให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่ได้วางไว้
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้สรุปแผนงานตามที่คณะอนุกรรมการคณะต่างๆ ได้มารายงาน ซึ่งมีงานหลายอย่างต้องดำเนินการ ทั้งนี้ จะนำผลการประชุมวันเดียวกันนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เบื้องต้นคาดใช้งบประมาณทั้งโครงการ 1 หมื่นกว่าล้านบาท สำหรับปี 2558 จะใช้งบประมาณประมาณ 500-600 ล้านบาท ตามแนวทางของรองนายกฯ ได้สั่งการว่าสิ่งใดที่ดำเนินการไปก่อนได้ให้ดำเนินการไปเลย เช่น การลงพื้นที่ทำความเข้าใจและสำรวจพื้นที่เพื่อการออกแบบ เบื้องต้นส่งเจ้าหน้าที่ลงไปพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว รวมถึงการเตรียมการเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย ส่วนเรื่องกฎหมายจะพิจารณาต่อไป
สนช.มึนปปช.ไม่ชงฟัน'หญิงเป็ด'
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. รายงานข่าวจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติสนช.แจ้งว่า ที่ประชุมสนช.ได้รับทราบผลการพิจารณาไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่แจ้งให้สนช.ทราบ กรณีกล่าวหาคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตประธานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน กับพวกกรณีกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีอนุมัติให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญยุคใหม่ ไปดูงานที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ประเทศฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ระหว่างวันที่ 5-14 พ.ย.2546 โดยมิชอบ ซึ่งป.ป.ช.มีมติว่า กรณีดังกล่าวคุณหญิงจารุวรรณดำเนินการผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดทำโครงการ ไม่รักษาผลประโยชน์ทางราชการ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถเอาผิดทางวินัยกับคุณหญิงจารุวรรณได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายหรือระเบียบในการเอาผิดทางวินัยกับตำแหน่งผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ส่วนการถอดถอนคุณหญิง จารุวรรณนั้น เนื่องจากพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องส่งเรื่องไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
รายงานข่าวแจ้งว่า เรื่องดังกล่าววิปสนช. และสนช.บางส่วนได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด ป.ป.ช.ไม่ส่งเรื่องการถอดถอนคุณหญิงจารุวรรณให้ สนช.พิจารณา โดยเปรียบเทียบกับกรณีของนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ที่ถูกยื่นถอดถอนเรื่องการทุจริตซื้อขายข้าวจีทูจี ทั้งที่นายมนัสก็พ้นจากตำแหน่งไปแล้วเช่นกัน แต่ยังถูกป.ป.ช.ยื่นถอดถอน ส่วนกรณีคุณหญิงจารุวรรณนั้น ป.ป.ช.กลับอ้างว่า ไม่สามารถถอดถอนได้ เพราะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ทั้งที่คุณหญิงจารุวรรณและนายมนัสก็เป็นข้าราชการระดับสูงเหมือนกัน โดยเห็นว่า ทั้งสองคดีดังกล่าวน่าเทียบเคียงกันได้ หากเป็นเช่นนี้จะเกิดคำถามต่อสังคมว่า เป็นการทำงานสองมาตรฐานหรือมีธงหรือไม่
คสช.ชงเลื่อนงด.2 ขั้นกำลังพล
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่าการประชุมครม.วันที่ 6 พ.ค.มีวาระที่กระทรวงต่างๆ เตรียมเสนอครม.ให้ความเห็นชอบ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์บริหารทรัพยากรน้ำ ปีพ.ศ. 2558-2569 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอการดำเนินงานตามมติครม.ในการสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เสนอการกำหนดค่าตอบแทนสำหรับคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และบุคคลตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2558 กระทรวงคมนาคม เสนอรายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงพลังงาน เสนอร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานไทยและกระทรวงพลังงานเมียนมาร์ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานและร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานของไทยกับกระทรวงไฟฟ้าเมียนมาร์ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานไทยและสำนักงานพลังงานประเทศจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ
กระทรวงการคลัง เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ... มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Tranfer Pricing) มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ โครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของข้าราชการ การลงทุนในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย ขออนุมัติใช้เงินงบกลางฯ โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยและสิ่งปลูกสร้างประกอบสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสนอ ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... กระทรวงการต่างประเทศ ขออนุมัติวงเงินงบประมาณ งบกลางฯ เพื่อชำระเงินอุดหนุนค่าบำรุงตามที่สหประชาชาติเรียกเก็บสำหรับปีงบประมาณ 2558 กระทรวงสาธารณสุข เสนอกำหนดให้วันที่ 4 ก.ค.ของทุกปีเป็น 'วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย'
สำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สลธ.คสช.) ขอรับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้น (นอกเหนือโควตาปกติ) จากงบกลางฯ เพิ่มเติมให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานในคสช. สำนักเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอมาตรการในการกำกับดูแลการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ
กมธ.มีส่วนร่วมแจกคนละ 50 บ.
วันที่ 6 พ.ค. ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์หันตรา จ.พระนครศรีอยุธยา คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยนายประชา เตรัตน์ ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สปช. พร้อมสมาชิก สปช. 9 จังหวัดในเขตภาคกลาง ประกอบด้วยพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี และนครสวรรค์ จัดเวทีเผยแพร่ความรู้ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยมีผู้แทนประชาชนทุกภาคส่วนกว่า 3,200 คน มาเข้าร่วมกิจกรรม
นายสุรินทร์ กิจนิตชีว์ แกนนำขบวนการองค์กรชุมชนภาคกลาง เรียกร้องให้ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญมุ่งเน้นใน 5 ประเด็นหลัก คือ 1.สร้างประชาชนเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ 2.ลดความเหลื่อมล้ำ 3.สร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วม 4.เน้นกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น และ 5.สมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากหลายกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะเกษตรกรและกลุ่มแรงงาน
ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังว่า มีหนังสือจากท้องถิ่น จ.พระนครศรี อยุธยา เชิญชวนให้มาฟังเวทีดังกล่าว เมื่อสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ของจังหวัดยอมรับว่าเป็นหนังสือที่ออกไปจริง โดยระบุจ่ายเงินเป็นค่าพาหนะให้ผู้เข้าฟังคนละ 50 บาท ซึ่งส่วนกลางจ่ายให้ทุกคนที่เข้าประชุม
สำหรับ หนังสือดังกล่าว เป็นหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ อย 0023.1/ว 1878 ลงวันที่ 1 พ.ค.2558 มีถึงนายอำเภอ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองอโยธยา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองลำตาเสา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเสนา ระบุตามที่จังหวัดมอบหมายสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดนำประชาชนเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การจัดเวทีบรรลุวัตถุประสงค์ 1.ให้อำเภอมอบหมายท้องถิ่นอำเภอ ประสานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น นำมวลชนเข้าร่วมโครงการ 2.เทศบาลนครและเทศบาลเมือง ให้นำมวลชนเข้าร่วม โดยให้เดินทางเข้าร่วมที่หอประชุมเวลา 08.00 น. สำหรับมวลชนผู้เข้าร่วมให้นำสำเนาบัตรประชาชนยืนต่อผู้รับลงทะเบียนเพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทะเบียน และรับค่าพาหนะ 50 บาท
ปชป.จี้สอบนำเข้าปาล์ม 5 หมื่นตัน
เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายถาวร เสนเนียม อดีตส.ส.สงขลา พรรคปชป. กล่าวถึงปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำถึงกิโลกรัมละ 2.50 บาท ว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2558 ตนได้เตือนรัฐบาลแล้วว่าหากจะนำเข้าน้ำมันปาล์ม 5 หมื่นตันจากต่างประเทศ ขอให้ตรวจสต๊อกปริมาณน้ำมันปาล์มในคลังของโรงงานเอกชนด้วย แต่พอวันที่ 20 ม.ค. กลับมีการนำเรื่องออกมาเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้นำเข้าน้ำมันปาล์ม 5 หมื่นตัน ทั้งที่ปริมาณน้ำมันเมื่อเดือนธ.ค.2557 มียอดรวม 2.5 แสนตัน ส่วนเดือนม.ค.2558 มีปริมาณ 1.6 แสนตัน ฉะนั้นหากไม่มีการนำเข้า ก็จะไม่มีผลกระทบถึงกับขาดแคลน เพราะผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาดในเดือนก.พ.และมี.ค.และตนไม่เชื่อปริมาณที่แจ้ง เพราะไม่มีการเช็กสต๊อกปริมาณน้ำมันปาล์มที่แท้จริง จึงทำให้ราคาตกจากกิโลกรัมละ 6 บาท เหลือ 2.5 บาท
นายถาวร กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่อนุมัติงบฯ 3 พันล้านบาท ให้แทรกแซงราคาโดยกระจายจุดรับซื้อหน้าโรงงานที่กิโลกรัมละ 4 บาทต่อปาล์มน้ำมัน 17 เปอร์เซ็นต์ หากไม่ถึงก็ลดหลั่นราคารับซื้อลงนั้นไม่ใช่วิธีการแก้ไขที่ยั่งยืน หากรัฐบาลไม่ดื้อดึงนำเข้าจากต่างประเทศก็ไม่ต้องเสียงบประมาณอีก 3 พันล้านบาท เกษตรกรสวนปาล์มจะไม่เดือดร้อนเช่นนี้ ตนเชื่อว่าการสั่งนำเข้าครั้งนี้ส่อทุจริตเพราะไม่ฟังความเห็นผู้ให้ข้อมูล จึงขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งตั้งกรรมการตรวจสอบทันที และขอเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหานี้โดย 1.เร่งรับซื้อตามที่ประกาศโดยกระจายจุดมากกว่าที่กำหนด เพราะเกษตรกรรายย่อยไม่มีกำลังขนไปขายหน้าโรงงาน 2.แม้จะซื้อในกิโลกรัมละ 4 บาท ลานเทของคนกลางใช้มาตรฐานใดมาวัดความเข้มข้นของปาล์มน้ำมัน 17 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นช่องทางในการกดราคาเกษตรกรลงอีก
นายถาวร กล่าวต่อว่า 3.ยกระดับราคาโดยการส่งเสริมทำไบโอดีเซล คือ บี 7 ให้ประชาชนใช้มากขึ้น 4.เร่งปราบปรามการลักลอบขนน้ำมันปาล์มเถื่อนล่าสุดจับได้ 14 คันรถบรรทุกน้ำมันคันละ 3 หมื่นลิตร 5. ควบคุมราคาปุ๋ย ส่งเสริมให้ใช้โปรแตสเซียมในประเทศ 6.กำหนดโซนพื้นที่การปลูกปาล์มให้ชัดเจน 7.สั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไฟฟ้าแทนการใช้น้ำมันเตา แม้ต้นทุนจะสูงขึ้น แต่เป็นการช่วยเกษตรกรเงินทองไม่รั่วไหลต้องซื้อน้ำมันเตานำเข้า 8.ขอให้ออกพ.ร.บ.ว่าด้วยพืชน้ำมัน และน้ำมันปาล์ม เพื่อเป็นเครื่องมือการพัฒนาวิจัยโดยมีบอร์ดตัวแทนเกษตรกรและทุกฝ่าย และ 9.หากแก้ไขไม่ได้ข้อให้ปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออก และเอาบุคคลที่มีความสามารถมาบริหารแทน