- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 04 May 2015 20:18
- Hits: 12971
สดศรีชี้ม.44 ประชามติได้ วิปสปช.ฮึ่ม-ขู่ควํ่า ถ้าไม่รื้อร่างรธน.
วิปสปช.ขู่ฟ่อโหวตคว่ำร่างรธน.แน่หากกมธ.ยกร่างฯ ยังดึง ดันไม่แก้ไข ระบุสปช.เสนอได้ 8 ญัตติเท่านั้น กมธ.ปฏิรูปการเมืองนัดถกกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ 7 พ.ค.นี้ เล็งรื้อเนื้อหา 12 ประเด็นร้อน "พีระศักดิ์"รองประธาน สนช. ลั่นพร้อมแก้รธน.ตาม ม.46 เปิดช่องทำประชามติ คาด 2 เดือนเสร็จ ด้านประธานสปช.ติงอย่าพูดแต่เรื่องประชามติ ยังมีขั้นตอนทำประชาพิจารณ์อยู่อีก 'ไก่อู'ยันประชุมร่วมครม.-คสช. 19 พ.ค.นี้ ยังไม่คุยเรื่องใช้ม.46 แก้รธน. รอให้ร่างสุดท้ายเสร็จก่อน อดีตกกต.'สดศรี'ยัน 'บิ๊กตู่' ใช้ม.44 ออกคำสั่งทำประชามติได้ ชี้เป็นประเด็นขัดแย้งว่าควรทำหรือไม่ นักวิชาการจวก สนช.ผ่านกม.คุมม็อบ ส่งผลชาวบ้านไร้เครื่องมือต่อรอง รัฐบาลอ้างทูต อียูชมไทยแก้ใบเหลืองประมงถูกทาง
วันที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8922 ข่าวสดรายวัน
'เทียนฉาย'ติงอย่าพูดแต่ประชามติ
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงหลายฝ่ายออกมาสนับสนุนให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า อยากให้ใจเย็นๆ ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ ในการออกมาเรียกร้องเรื่องประชามติ เพราะยังอยู่ในกระบวนการยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ครม. กับ สปช. และกว่าจะเห็นหน้าตาร่างสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ ก็ต้องวันที่ 23 ก.ค. จึงยังเร็วไปที่จะพูดหรือเรียกร้อง วิจารณ์กัน อย่าลืมว่ายังมีกระบวนการอื่นที่ต้องทำและต้องให้ความสำคัญด้วยคือการทำประชาพิจารณ์ ไม่ใช่เอาแต่พูดเรื่องประชามติอย่างเดียว
สนช.พร้อมแก้รธน.คาด 2 เดือนเสร็จ
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่สอง กล่าวถึงการเสนอให้ใช้มาตรา 46 แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เปิดช่องทำประชามติว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอให้ทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ สนช.ก็พร้อมจะทำหน้าที่ตามอำนาจที่มีในรัฐธรรมนูญมาตรา 46 โดยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำตามข้อบังคับการประชุม สนช. เริ่มจากเสนอร่างขอแก้ไข เพื่อจะพิจารณารับหลักการวาระแรก ก่อนตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา และลงมติในวาระ 2-3 ต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาเห็นชอบไม่นาน ประมาณ 2 เดือน เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน
จี้กมธ.ปรับแก้ปมเลือกตั้ง
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ปฏิรูปกฎหมาย สปช. กล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ต้องทำ เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการยอมรับจากประชาชน ซึ่งไม่แน่ใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านการเห็นชอบจากประชาชนหรือไม่ แต่หากกมธ.ยกร่างฯ ยอมปรับแก้ไขตามข้อเสนอแนะของสื่อมวลชน ประชาชน และคำแปรญัตติของสมาชิก สปช. โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ เช่น ที่มาส.ส.ให้กลับไปใช้รูปแบบเดิมที่สังคมเข้าใจดีอยู่แล้ว เชื่อว่ามีโอกาสที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้รับการเห็นชอบ
เล็งรื้อร่างรธน. 12 ประเด็น
นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิก สปช. ในฐานะเลขานุการกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปการเมืองกำลังรวบรวมประเด็นแปรญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นอยู่ที่ 10-12 ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นที่กมธ.ปฏิรูปการเมืองเคยอภิปรายไว้ อาทิ ที่มาของนายกฯ ที่มาส.ส.และส.ว. โดยเฉพาะ อำนาจของส.ว.ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะการให้อำนาจส.ว.ควรสมเหตุสมผล ถ้าให้ส.ว.มีอำนาจนำเสนอกฎหมายเพียงอย่างเดียวก็พอรับได้ แต่หากรวมการถอดถอนไปด้วยแล้วอาจต้องพิจารณาใหม่ เพราะส.ว.ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง
นายนิรันดร์กล่าวว่า นอกจากนี้ ในประเด็นที่มาของส.ว.ทั้ง 77 คนจากแต่ละจังหวัด และการสรรหาอีก 123 คนจะมาจากไหน ตรงนี้เราต้องมาหารือกัน และต้องพิจารณาร่วมกับกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ ว่าคิดเห็นตรงกันหรือไม่ อย่างไร ซึ่งจะมีการประชุมกันในวันที่ 7 พ.ค.นี้
ดึงพรรคการเมืองร่วมถกด้วย
นายนิรันดร์กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่าประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ร่างรัฐ ธรรมนูญกำหนดนั้นทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของสภาไร้ความหมาย ทั้งที่อำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่มาตรา 181 และ 182 ทำให้อำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลไม่เกิดผลสำเร็จ
เลขานุการกมธ.ปฏิรูปการเมืองกล่าวว่า ในกมธ.ยังเห็นว่าก่อนที่เราจะรวบรวมประเด็นส่งให้กับ กมธ.ยกร่างฯ ภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ เราจะจัดสัมมนาโดยเชิญตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ เช่น พรรคการเมือง มาร่วมให้ความคิดเห็นว่ามีประเด็นใดจะนำเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญบ้าง เพราะความคิดเห็นของพรรคการเมืองมีความสำคัญ เนื่องจากเราทำหน้าที่ในกมธ.ปฏิรูปการเมือง และขณะนี้ก็เห็นว่ามีเสียงสะท้อนจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะนักการเมือง เรียกร้องให้แก้ไขในหลายประเด็นโดยเฉพาะมาตรา 181 และ 182
วิปสปช.คาดยื่นแก้ไข 8 ญัตติ
นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า วิป สปช.มอบให้นายไพโรจน์ พรหมสาร นายอลงกรณ์ พลบุตร และตน ช่วยประสานงานกับสมาชิก สปช. รวบรวมประเด็นการขอยื่นญัตติเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้การยื่นมีเอกภาพ จัดลำดับที่สอดคล้องและทั่วถึง
นายวันชัยกล่าวว่า จากจำนวนสมาชิกสามารถแบ่งได้เพียง 8 กลุ่ม หรือยื่นได้เพียง 8 ญัตติเท่านั้น เท่าที่ทราบเบื้องต้นมีสปช.บางส่วนได้จัดกลุ่มกันบ้างแล้ว และวันที่ 6 พ.ค.นี้ที่ประชุมวิป สปช.จะหารือในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง และคาดว่าจะมีความชัดเจน ซึ่งตอนนี้มีการจับกลุ่มยื่นญัตติกันแล้ว ที่พูดกันมากคือเรื่องการเมือง การปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง บางกลุ่มมี 5 คน 10 คน มากสุดมีถึง 30 คน จึงต้องมาจับกลุ่มจัดหมวดหมู่ประเด็นกันใหม่
ขู่คว่ำรธน.หากกมธ.ยังดื้อ
นายวันชัยกล่าวว่า หลังจากได้รับมอบหมายจากวิป สปช. ได้ส่งแบบฟอร์มไปในกลุ่มของ สปช. โดยสอบถามถึงประเด็นที่จะเสนอยื่นญัตติ เรื่องที่จะเสนอขอแก้ไขและมีกลุ่มแล้วหรือไม่ โดยให้สมาชิก สปช.ส่งกลับมาภายในวันที่ 6 พ.ค. เพื่อนำมาจัดเรียงให้เกิดความเหมาะสม เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ยื่นญัตติภายในวันที่ 25 พ.ค. และการยื่นญัตติต้องใช้เสียงของสมาชิก 26 คนต่อ 1 ญัตติ เมื่อเสนอญัตติไปแล้ว กมธ.ยกร่างฯ ต้องเชิญกลุ่มที่เสนอญัตติแต่ละกลุ่ม ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อเสนอแนะอีกครั้ง จากนั้น สปช.จึงจะโหวตว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
"ผมเชื่อว่ากมธ.ยกร่างฯ จะรับฟัง จะเอาตัวเองเป็นที่ตั้งเป็นใหญ่อย่างเดียวโดยไม่ฟังเสียงคนอื่นคงไม่ได้ เพราะการทำงานควรต้องสอดรับกันกับส่วนอื่นด้วย เพื่อให้รัฐธรรมนูญออกมาดีที่สุด และหากยังดึงดันเราอาจจะเห็นการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของสปช.ก็ได้ และผมไม่มีปัญหาหากจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการทำงานของ สปช.ไม่มีใครมาสั่ง ทำงานเป็นอิสระ ดังนั้น หากเห็นว่าอะไรที่ไม่ถูกต้องก็ต้องคัดค้าน" นายวันชัยกล่าว
ชงเพิ่มบทเฉพาะกาลทำประชามติ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีมีเสียงเรียกร้องให้ทำประชามติว่า ส่วนตัวอยากเสนอช่องทางทำประชามติแบบใหม่คือ เขียนกำหนดเพิ่มประเด็นการทำประชามติไว้ในร่างรัฐธรรม นูญส่วนบทเฉพาะกาลว่า เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากสปช. และหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ให้ทำประชามติภายใน 90-120 วันทันที พร้อมกำหนดประเด็นสำคัญๆ ที่จะถามความเห็นประชาชน เช่น ระบบการเลือกตั้ง เพื่อให้กระบวนการทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็ป เพราะถ้าไม่เขียนกำหนดไว้ตามข้อเสนอของตน ก็ต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งตนมองว่าจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมและเป็นที่ครหาได้
นายไพบูลย์กล่าวว่า เชื่อว่าวิธีดังกล่าวจะช่วยให้กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามโรดแม็ป ถ้าจัดทำประชามติแล้วประชาชนไม่เห็นด้วยในประเด็นใดก็ไปแก้ไขและปรับปรุงให้เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับได้ หลักการนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อมาตราที่เหลือ อย่างน้อยกฎหมายฉบับใหญ่ก็มีผลบังคับใช้ไปแล้ว ทำให้ประเทศเดินหน้าได้โดย คสช.ไม่ต้องไปปรับแก้โรดแม็ป
เสธ.อู้แจงเหตุเขียนรธน.ยาว
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงกรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการและแกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุควรรื้อรัฐธรรมนูญใหม่และตัดทิ้ง 150 มาตราว่า เข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ที่ออกมาวิจารณ์ยังไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญชัดเจน ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนให้สั้นหรือยาวได้ แต่คนไทยไม่เหมือนต่างชาติ จิตวิญญาณในระบอบประชาธิปไตยยังไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กมธ.ยกร่างฯจึงต้องลงรายละเอียดมาก จะเขียนสั้นๆ แบบต่างประเทศไม่ได้ เพราะจะยากต่อการตีความที่คนไทยยังมีศรีธนญชัยจำนวนมาก หากเขียนไม่ครอบคลุมเกรงว่าบ้านเมืองจะวุ่นวายอีก
โยนคสช.ใช้วิจารณญาณ
โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ยังมีเวลาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญได้ กมธ.ยกร่างฯยังรอญัตติเสนอแก้ไขจากสปช.อยู่ หากเขาเห็นพ้องต้องกันว่าจะปรับมาตราไหน เราก็พร้อมแก้ให้เพื่อให้เป็นไปความต้องการของคนส่วนใหญ่ แต่จะให้ถูกใจหมดทุกคนคงเป็นไป ไม่ได้
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอที่หลายฝ่ายให้ใช้มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อทำประชามติ กมธ.ยกร่างฯไม่มีปัญหา เรื่องนี้เคยพูดกันมานานแล้ว หากรัฐบาลและคสช.เห็นว่าควรทำก็เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว และเชื่อว่ารัฐบาลและคสช.มีวิจารณญาณพอว่าจะทำหรือไม่ทำ
ครม.-คสช.ยังไม่นัดถกแก้รธน.
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยถึงการประชุมร่วมระหว่างครม. และคสช. ในวันที่ 19 พ.ค.นี้ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการนัดเรื่องการประชุมนอกเรื่องการทำประชามติหรือการหารือเรื่องการเสนอข้อแก้ไขรัฐรรมนูญให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในส่วนข้อกฎหมายในความรับผิดชอบครม.นั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯได้กำกับดูแลอยู่แล้ว
อ้างรอร่างรธน.เสร็จก่อน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 46 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเปิดทางทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ตามที่นายกฯ เคยกล่าวไว้ว่ากมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตกลงว่าจะทำประชามติหรือไม่ทำ เพราะการจะทำประชามตินั้นไม่ได้กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรม นูญชั่วคราว จึงต้องทำการแก้ไขก่อน โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะหัวหน้าคสช. จะต้องรวบรวมข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ ใครที่คิดว่าควรแก้ไขก็ส่งข้อมูลเข้ามา แล้วครม.และคสช.จะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจ หากจะแก้ไขก็จะทำเรื่องเสนอไปยังสนช. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อให้ทำประชามติได้
ชิมชิล-ชิล - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พาน้องไปป์-ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร ลูกชาย ไปรับประทานอาหารที่ซารังแฮ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ตามที่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ชวนชิมในคอลัมน์ "ชิมชิล-ชิล" หนังสือพิมพ์มติชน |
แหล่งข่าวกล่าวว่า คาดว่าจะมีมติร่วมกันในการประชุมร่วมกันระหว่างครม.และคสช. ซึ่งยังไม่ใช่เร็วๆ นี้ เนื่องจากการประชุมร่วม ครม.-คสช. วันที่ 19 พ.ค.นี้ เป็นเพียงการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะของกระทรวง ทบวง กรม ในเรื่องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยจะต้องทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นก่อน จึงค่อยหารือถึงการจะทำประชามติ หรือไม่ หากทุกภาคส่วนตกลงใจว่าจะทำจึงพิจารณาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตามกระบวนการดังกล่าว
สดศรีมาแปลก-ชี้"ตู่"ใช้ม.44ได้
นางสดศรี สัตยธรรม อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงข้อเสนอการทำประชามติว่า ส่วนตัวเห็นว่าไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ สามารถใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้ เพราะกรณีดังกล่าวอยู่ในเงื่อนไขออกเป็นคำสั่งได้ เนื่องจากประชามติเป็นประเด็นที่มีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ว่าควรทำหรือไม่
นางสดศรีกล่าวว่า ตนห่วงว่าหากจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น จะเกิดปัญหาได้ เนื่องจากหลายมาตรา มีนักการเมืองคัดค้านไม่เห็นด้วย ถ้านักการเมืองที่ไม่เห็นด้วยรวมตัวกันไม่ลงเลือกตั้ง จะเกิดปัญหาวุ่นวายมาก สุดท้ายจะทำให้วิกฤตการเมืองแบบเดิมย้อนกลับมาใหม่ แม้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 จะมีคนไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่มีการคัดค้านมากเท่ากับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย
พท.แนะเปิดทางพรรคจัดประชุม
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าควรยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. เปิดให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้ จะได้จัดประชุมพรรคเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว ส่วนตัวเห็นว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเสนอความคิดเห็นไปยังกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ อาจไม่เสนอเป็นรายมาตราเพราะเราเห็นว่าหลักการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ยึดโยงกับระบบประชาธิปไตยทั้งการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด และการให้กลุ่มการเมืองเสนอ ผู้สมัครส.ส.ได้ ซึ่งไม่เป็นการส่งเสริมสถาบันทางการเมืองตามหลักสากล ถ้าส่งความเห็น เราอาจส่งในภาพรวมเกี่ยวกับหลักการใหญ่ เพราะถ้าลงรายมาตราจะกลายเป็นเรารับหลักการดังกล่าว
นายสามารถกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มุ่งเน้นที่ประเด็นการเมือง มีการตั้งองค์กรพิเศษเพื่อควบคุมนักการเมืองและมุ่งสืบทอดอำนาจ ด้วยองค์กรที่จัดตั้งขึ้น เช่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ทำให้ละเลยสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีพของประชาชน เช่น การสาธารณสุข ที่รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เขียนไว้ชัดว่าผู้ยากไร้ต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลฟรี แต่อันนี้เขียนแบบกว้างไม่ได้ให้สิทธิไว้ ถ้ารัฐบาลที่เข้ามาไม่มีนโยบาย ประชาชนอาจไม่ได้รับการดูแล
ภท.แนะอย่าเขียนรธน.สุดโต่ง
นายสนอง เทพอักษรณรงค์ อดีตส.ส. บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า อยากฝากถึงกมธ.ยกร่างฯ ให้รับฟังเสียงประชาชน สปช. และสังคม เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญเดินไปได้ อย่าสุดโต่งมากเกินไป หากยืนยันตามที่ร่างมา คิดว่าสังคมคงรับไม่ได้และอึดอัด ดังนั้น ควรปรับแก้ตามเสียงที่สะท้อน โดยเฉพาะที่มาส.ว. ที่จะตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเหมือนมัดมือชกประชาชน เชื่อว่าประชาชนเลือกตัวแทนของเขาเองได้ โดยไม่ต้องมีคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรองก่อน รวมถึงกรณีส.ส.เขต ตนไม่เห็นด้วยที่จะให้มีกลุ่มการเมือง เพราะจะเกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น ส่วนการทำประชามติ คิดว่าควรทำ เพราะจะปิดประเด็นความขัดแย้งในอนาคต จะได้ไม่อ้างอะไรกันอีก อย่างน้อยประชาชนได้เห็นชอบแล้ว จะเป็นภูมิคุ้มกันให้คสช. รัฐบาล และกมธ.ยกร่างฯ
นักวิชาการจวกสนช.ผ่านกม.คุมม็อบ
นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะว่า เครือข่ายนักกฎหมายที่ติดตามอยู่ถึงกับแปลกใจที่กฎหมายฉบับนี้ได้รับการเห็นชอบจากสนช.อย่างรวดเร็ว สะท้อนชัดว่าฝ่ายนิติบัญญัติที่ไม่ได้มีส่วนยึดโยงกับประชาชนก็ดำเนินการรวบรัดเร่งรีบพิจารณากฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ร้ายแรงยิ่งกว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยังไม่รับฟังความคิดเห็นจากองค์กรระหว่างประเทศ และในประเทศ ที่แสดงความห่วงกังวลว่า กฎหมายนี้จะลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน
เชื่อรัฐบาลอยากผลักภาระให้ตร.
นายสมชายกล่าวว่า เนื้อหาในกฎหมายฉบับนี้จะเป็นปัญหาแน่นอน เบื้องต้นเมื่อประกาศใช้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบเฉพาะหน้าคือ ประชาชนที่สูญเสียสิทธิการต่อรอง จากการที่รัฐบาลเปิดสัมปทานทรัพยากรให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่หลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่วนผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรที่มีการชุมนุมเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียกร้องความสิทธิและความเป็นธรรม จะยากลำบากยิ่งขึ้น และยังไม่นับรวมถึงการชุมนุมทางการเมือง เชื่อว่ารัฐบาลต้องการผลักความรับผิดชอบให้ตำรวจมากขึ้น แทนที่จะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ถูกวิจารณ์มากเพียงอย่างเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.การชุมสาธารณะ ได้รับหนังสือแสดงข้อเสนอแนะและข้อห่วงกังวลเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้มีส่วนลิดรอนสิทธิผู้ชุมนุม จากผู้แทน องค์กร และเครือข่าย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวม 10 ฉบับ
"ไก่อู"ฟุ้งทูตอียูชมไทยแก้ประมง
วันที่ 2 พ.ค. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ปัญหาสหภาพยุโรป(อียู) ประเมินให้ใบเหลืองสินค้าประมงไทยเข้าข่ายเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย ผิดระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม ขาดการรายงาน ขาดการควบคุม(ไอยูยู) ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ได้เชิญทูตอียูเข้ารับฟังแนวทางและความคืบหน้าการแก้ปัญหาของไทย ซึ่งทูตได้แสดงความชื่นชมอย่างมาก โดยกล่าวย้ำหลายครั้งว่าไทยมาถูกทาง รวมทั้งจะนำข้อมูลการปฏิบัติของประเทศไทยสื่อสารไปยังสำนักงานใหญ่อียู และทุกเมืองหลวงของประเทศสมาชิกอียูอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เห็นความตั้งใจและมุ่งมั่นแก้ปัญหาของรัฐบาลไทย
"รองนายกฯ ได้ชี้แจงต่อทูตอียู โดยยอมรับว่าเรายังมีปัญหาอีกหลายจุดที่ต้องแก้ไข รัฐบาลไทยมุ่งมั่นเต็มที่ที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จริงใจ และทำอย่างรอบคอบ เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ต้องการลูบหน้าปะจมูก เชื่อว่าทุกประเทศจะเห็นความตั้งใจจริงของไทย" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ในการดำเนินการนั้นเราเร่งแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและเอ็นจีโอในภาคประมงอย่างใกล้ชิด รวมถึงการเริ่มปฏิบัติการของศูนย์บัญชาการการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) นอกจากนี้ จะทำงานร่วมกับอียู และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับผู้แทนของอียูที่จะเข้ามาติดตามสถานการณ์ในไทยจำนวน 2 คณะในเดือนนี้
ผู้ใช้แรงงานชี้การเมืองไทยดีขึ้น
วันที่ 2 พ.ค. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ จำนวน 1,136 คน วันที่ 27 เม.ย.- 1 พ.ค. โดยผู้ใช้แรงงานร้อยละ 71.14 มองว่าการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีการทำงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
ร้อยละ 90.29 ระบุถึงสภาพเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ว่าของแพง ค่าครองชีพสูง รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ความเป็นอยู่ลำบาก ร้อยละ 86.37 ระบุเศรษฐกิจซบเซา ยังไม่ดีขึ้น มีปัญหาการว่างงาน ตกงาน ส่วนด้านสังคม ร้อยละ 85.61 ระบุมีความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมระหว่างคนจนคนรวย ร้อยละ 83.78 ระบุสังคมเสื่อมโทรม คนเห็นแก่ตัว เอาเปรียบ มีภัยสังคมมากขึ้น และร้อยละ 79.33 คนไทยยังขาดความสามัคคี ขัดแย้งแตกแยก
มุมมองที่มีต่อรัฐบาลชุดนี้ ร้อยละ 82.76 เห็นว่ามีอำนาจเด็ดขาด จัดระเบียบสังคม แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น และร้อยละ 73.40 ระบุตั้งใจทำงาน พยายามจะแก้ปัญหาต่างๆ ของบ้านเมืองให้ดีขึ้น และสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานอยากฝากบอกกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากที่สุด ร้อยละ 92.36 ขอให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ ยกระดับชีวิตแรงงานให้ดีขึ้น ร้อยละ 89.75 ให้มีกฎหมายดูแล คุ้มครองแรงงานด้วยความเป็นธรรม และร้อยละ 71.48 ให้การสนับสนุน พัฒนาฝีมือแรงงานให้แข่งขันในอาเซียนได้
ครีมายาจี้ตร.เร่งสรุปคดีรุกป่า
วันที่ 2 พ.ค. พล.ต.ต.ธเนษฐ สุนทรสุข รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (รองผบช.ภ.3) เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบที่ดินในพื้นที่หมู่ 4 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ตรงข้ามกับภูพบฟ้า ใกล้ทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่คาดว่าเป็นของนายช่างรังวัดคนหนึ่งในสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีการสร้างบ้านพัก 3 หลัง อยู่บนพื้นที่ที่มีการออกโฉนดทับพื้นที่ส.ป.ก.ว่า ภายใน 2-3 วันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำหนังสือทวงถามไปยังส.ป.ก.จังหวัดนครราชสีมา ให้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ เพื่อตรวจสอบตามกระบวนการของกฎหมาย หลังจากคณะที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ แต่ทางส.ป.ก.ยังไม่มีการประสานไปยังพนักงานสอบสวน
พล.ต.ต.ธเนษฐกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ป่าไม้ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกับส.ป.ก. ได้แจ้งดำเนินคดีกับนางภัคมน กิจศิริกุล อายุ 34 ปี ที่แสดงตนเป็นเจ้าของที่ดิน และเจ้าของบ้าน 3 หลังที่ปลูกบนที่ดินผืนดังกล่าว ในข้อหากระทำผิดพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และจากการสอบสวนนางภัคมน ให้การว่าไม่รู้จักกับนางพรทวี สุตันติราษฏร์ นายช่างรังวัดส.ป.ก.นครราชสีมา ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องสอบสวนรวบรวมพยานต่างๆ เพื่อหาความเชื่อมโยงไปยังบุคคลต่างๆ เพื่อนำตัวมาดำเนินคดี
พล.ต.ต.ธเนษฐกล่าวอีกว่า กรณีโครงการคีรีมายานั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการประสานจากเจ้าของโครงการว่า ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสรุปผลการตรวจสอบโดยเร็ว ผิดหรือถูกให้ว่าไปตามความจริง เพราะพื้นที่ของคีรีมายามีมากกว่า 1,600 ไร่ และมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มีปัญหา หากพื้นที่ตรงไหนไม่ถูกต้อง ก็พร้อมแก้ไขและเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เนื่องจากได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมาก ทางโครงการไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆ ได้ อีกทั้งลูกค้าไม่มีความมั่นใจ ทำให้ธุรกิจต้องหยุดนิ่ง
กลุ่มอจ.แนะทำประชามติ 3 แนวทาง รธน.ผ่านโหวตใน 30 วัน นิธิ-ชาญวิทย์นำทีมชง เสธ.อู้ปัดสูตรพรรคพท. ใช้ฉบับปี 2540 ประกบ ปชป.สอนกมธ.ลดอคติ
'ปชป.'แนะ กมธ.ยกร่าง ลดอคติ เลิกดูหมิ่น เปิดใจรับฟัง เชียร์ทำประชามติ รธน.สร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อไทยทำนายไม่ปรับแก้เกิดวิกฤตรอบใหม่แน่นอน กมธ.สวน พท. ทำประชามติประกบปีཤ ไม่เหมาะชี้ประชาชนอาจลืมเนื้อหา
@ ชี้ประชามติกบรธน.40ไม่เหมาะ
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เสนอทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คู่กับรัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อให้ประชาชนตัดสินการทำประชามติ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกชัดแล้วว่า รัฐบาลจะเป็นผู้ตัดสินใจเมื่อถึงเวลาเหมาะสม จึงไม่ใช่หน้าที่ กมธ.จะให้ความเห็นว่าเรื่องทำประชามติดีไม่ดีตรงไหน
"ส่วนตัวเชื่อว่าวิธีนี้คงไม่เหมาะและเกิดยาก แค่ฉบับเดียวก็ปวดหัวแล้ว ถ้าเอาสองฉบับประกบให้ตัดสินใจ ประชาชนต้องเข้าใจเนื้อหาทั้ง 2 ฉบับ บางทีประชาชนอาจลืมรัฐธรรมนูญปี 2540 ไปแล้ว แต่การออกมาวิจารณ์ของพรรคการเมืองยิ่งมากยิ่งดี ถ้าความเห็นตรงกันประเด็นใดมากๆ กมธ.ยกร่างฯจะพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวลเพราะถ้าร่างสุดท้ายออกมาพวกท่านอาจจะพอใจกันก็ได้" พล.อ.เลิศรัตน์
@ 'ชูชัย'อัดนักเลือกตั้งเห็นเเก่ตัว
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงข้อเสนอทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ประชาชนเลือกว่า ยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ เพราะขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำประชามติหรือไม่ แต่เมื่อปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกแล้ว เชื่อว่านักการเมืองที่แท้จริงจะยอมรับได้
"แต่สำหรับนักเลือกตั้งคงไม่พอใจเช่นเดิม เพราะสนใจแต่ผลประโยชน์ตนเป็นใหญ่ มุ่งเอาแต่กติกาเลือกตั้งที่พรรคของตนได้เปรียบ โดยไม่เคยได้ยินนักเลือกตั้งออกมาพูดว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง ทั้งๆ ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ได้บัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วมของพลเมืองมากกว่าทุกฉบับที่ผ่านมา นักเลือกตั้งควรเสนอมาดีกว่าว่าอะไรที่ยังต้องปฏิรูปเพิ่มเติมแล้วสังคมจะได้ประโยชน์ กมธ.ยกร่างฯจะขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง" นพ.ชูชัยกล่าว
@ 'คำนูณ'แนะควรทำประชามติ
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอการทำประชามติรัฐธรรมนูญว่า ระเบียบการทำประชามติ ไม่ใช่อำนาจของ กมธ.ยกร่างฯ หรือสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่อำนาจแท้จริงอยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นควรทำหรือไม่ โดยการจะตัดสินใจจะขอความเห็นจาก สปช. และ กมธ.ยกร่างฯสามารถทำได้ แต่ขณะนี้ กมธ.ยกร่างฯไม่ได้มีความเห็นเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ
"แต่ในความเห็นส่วนตัวเท่าที่ฟังมาเห็นควรให้ทำประชามติ โดยมองข้อเสียของการทำประชามติ คือ ระยะเวลาอาจต้องยืดไป อย่างน้อย 3 เดือนและฝ่ายความมั่นคงอาจจะบอกว่ากระบวนการทำประชามติอาจสร้างความขัดแย้งขึ้นมาได้ ส่วนข้อดี คือ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรทำประชามติ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาจากการทำประชามติ เมื่อมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนั้นโดยอำนาจพิเศษ และอำนาจพิเศษได้ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น เพื่อให้มีความชอบธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ต้องผ่านการทำประชามติ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บันทึกเรื่องการทำประชามติไว้มาก แม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลักการสำคัญต้องผ่านการทำประชามติด้วย"นายคำนูณกล่าว
@ ถวิลวดีชี้ข้อดียึดโยงปชช.
นางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงเสียงเรียกร้องให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า การทำประชามติมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่น่าจะมีข้อดีมากกว่าเพราะจะช่วยทำให้ยึดโยงกับประชาชน แต่มีความเป็นห่วงกังวลเพราะการลงประชามติไม่เหมือนกับการเลือกตั้ง เนื่องจากมีรายละเอียดที่มากกว่า จึงต้องมองอนาคตประเทศ มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้ประเทศปฏิรูปหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ดังนั้น ต้องสร้างความรู้และความเข้าใจกับประชาชนเพื่อให้เข้าใจเนื้อหาสาระที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต้องแปลงร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบที่ประชาชนเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย
"อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีกำหนดเนื้อหาว่าด้วยหมวดการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญมาก่อน จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดที่ถูกต้อง ซึ่งกระบวนการนี้คงต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะการลงประชามติไม่ใช่เรื่องที่ง่าย หลายประเทศใช้เวลานับปี ไม่ใช่แค่เป็นการลงมติรับร่างไปเฉยๆ เท่านั้น เพราะถ้าเป็นเช่นนี้จะทำให้เสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์" นางถวิลวดีกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ดำรงตำแหน่งทั้ง กมธ.ยกร่างฯและ สปช. มีความหนักใจหรือไม่ เพราะต้องทำหน้าที่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ นางถวิลวดีกล่าวว่า ไม่มีความกดดัน ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯที่เป็น สปช.สามารถทำได้ สำหรับตนคิดเสมอว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นประชาชนได้ประโยชน์อะไร ไม่เคยคิดเพื่อกลุ่มตัวเองหรือคิดว่าอนาคตตัวเองจะได้ประโยชน์อะไรจากการเข้ามาทำตรงนี้เลย หากเสร็จภารกิจจะกลับไปทำหน้าที่ยังจุดเดิม ไม่เคยคิดที่จะไปอยู่ในอำนาจใหม่เลย
@ เปิดให้สปช.แจ้งขอแปรญัตติ
นายวันชัย สอนศิริ สปช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการกิจการปฏิรูปตำรวจ มีตัวแทนจาก 5 คณะกรรมาธิการปฏิรูปฯ เพื่อพิจารณาหาข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปตำรวจร่วมกัน ว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะตั้งใครมาเป็นคณะกรรมการบ้าง แต่เท่าที่ดูจากประธานจะไม่ตั้งคู่ขัดแย้งในคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเข้าร่วมแน่นอน เพราะถ้าตั้งเข้ามาแล้วจะเกิดความขัดแย้งในการทำงานขึ้นมาอีก แล้วทำให้งานสะดุดโดยคู่ขัดแย้ง
นายวันชัยกล่าวถึงการแปรญัตติเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่า คณะผู้ประสานงานจัดทำคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะหารือสมาชิกในวันที่ 6 พฤษภาคม อาจจะขอเวลาจากนายเทียนฉายเพื่อคุยกับสมาชิกนอกรอบ หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมตามวาระของ สปช.แล้ว ในช่วงเวลา 16.00-17.00 น. ซึ่งจะมีเตรียมแบบสอบถามแจกสมาชิกเพื่อขอความเห็น เช่น 1.ต้องการแปรญัตติในกลุ่มใด เช่น การเมือง หรือ 2. ต้องการแปรญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในภาคใดและส่วนใด เป็นต้น
@ 'นคร'ระบุรอคำแปรญัตติ
พล.ท.นคร สุขประเสริฐ กมธ.ยกร่างฯ และ สปช. กล่าวถึงความเห็นต่างระหว่าง สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ภาพรวม 315 มาตรานั้น มีส่วนที่ สปช.เห็นต่างอยู่ในบางมาตราสำคัญๆ เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ตนในฐานะที่อยู่ทั้ง 2 สถานะ ทั้ง สปช. และ กมธ.ยกร่าง ก็ได้คุยประสานเก็บรายละเอียดให้สมบูรณ์ในความต้องการและความคิดเห็นของ สปช. ตั้งแต่เริ่มกระบวนการในการเริ่มยกร่างจนเสร็จร่างแรก ได้นำเสนอความคิดเห็นไปสู่คณะ กมธ.ยกร่างฯ เมื่อนำเข้าไปแล้ว
"ในการพิจารณาของ กมธ.ยกร่างฯทั้ง 36 คน เมื่อมีมติเป็นเสียงส่วนใหญ่ออกมา มีรูปแบบในการนำเสนอออกไปให้ สปช.พิจารณาและอภิปราย 7 วันในเบื้องต้น เช่นเดียวกัน ในสัดส่วนของ สปช. แต่ละคณะ 18 คณะก็จะมีความเห็นและได้นำเสนอไป เมื่อ สปช.ได้เปิดให้ข้อเสนอแนะไปแล้ว 7 วัน จะนำประเด็นเหล่านั้นมาเป็นพื้นฐานในการพิจารณาด้วย ตอนนี้จึงรอคำขอแปรญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรจาก สปช.เพื่อนำมาประกอบ คาดว่า ปลายเดือนพฤษภาคมจะมาถึง" พล.ท.นครกล่าว และว่า ตอนนี้ทุกคนก็ทำการบ้านกัน ว่าเป็นอย่างไร สอดคล้องกับแนวคิดหรือยัง หรือจับประเด็นใหม่ขึ้นมา สามารถนำเข้ามาเสนอได้เพื่อแก้ไข ทั้งนี้คณะ กมธ.ยกร่างฯเดินสายรับฟังความคิดเห็นตามต่างจังหวัดอยู่ จะนำมาประมวลและนำเป็นรายละเอียดเพื่อพิจารณา
พล.ท.นครกล่าวว่า มีหลายประเด็นที่ต้องปรับแก้ แต่ใน กมธ.มีความเห็นต่างและเคารพกัน เพราะในการปฏิบัติงานนั้นเสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไร เมื่อเป็นส่วนน้อยก็จะนำเสนอให้ทราบว่าอยากจะแก้อย่างไรบ้าง เช่น สภาตรวจสอบต่างๆ จะจัดกลุ่มอย่างไร ให้ตอบสนองต่อการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหารมากขึ้น เช่น สมัชชาพลเมือง สภาคุณธรรม ที่ปรากฏในร่างนั้น ควรจะทำอย่างไรนอกจากตรวจสอบแล้วควรเอื้อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหารได้ด้วย ตรงนี้อาจมีการคุยกันเพิ่มเติม
@ 'ไพบูลย์'รอหารือทั้ง 3 ฝ่าย
นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้การยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการเปิดโอกาสให้ สปช., ครม. และ คสช. เสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแบบเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะการอภิปรายช่วงระหว่างวันที่ 20-26 เมษายน เป็นเพียงการเสนอความเห็นของสมาชิก สปช.แต่ละคนเท่านั้น ดังนั้น ในขั้นตอนนี้อยากให้รอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากทุกฝ่ายก่อน เชื่อว่าหลายประเด็นสำคัญที่มีความแน่นอนว่าจะเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมเข้ามา
"คือ ประเด็นการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ประเด็นอำนาจการจัดการเลือกตั้งว่าควรเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) เมื่อคำขอแก้ไขเพิ่มเติมมาถึง กมธ.ยกร่างฯในวันที่ 25 พฤษภาคม ทาง กมธ.ยกร่างฯจะนำมาหารือเพื่อประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญในช่วง 60 วันสุดท้ายระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม-23 กรกฎาคม" นายไพบูลย์กล่าว
@ 'สมบัติ'เชื่อการเมืองร่วมเสวนาฯ
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง (สปช.) กล่าวถึงการจัดเวทีเสวนาเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชน ในวันที่ 6 พฤษภาคม ว่าจะเชิญคณบดีจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ทั่วประเทศเข้าร่วมให้ความคิดเห็น ขณะนี้อยู่ในช่วงรวบรวมรายชื่อทั้งหมด รวมถึงพรรคการเมืองที่จะเชิญทั้งพรรคเล็กและพรรคใหญ่มาร่วมให้ความคิดเห็นในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้ข้อสรุปรายชื่อผู้ที่จะเชิญมาร่วมงาน
"คิดว่าคงได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะพรรคการเมือง คงไม่มีปัญหาในการเข้าร่วมเวทีเนื่องจาก กมธ.ปฏิรูปการเมืองจะต้องรวบรวมข้อแก้ไขทุกอย่างส่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 15 พฤษภาคม" นายสมบัติกล่าว
@ สปช.ท้องถิ่นให้ 2 ฝ่ายโต้เหตุผล
นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น กล่าวถึงการยื่นคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของ สปช. ว่า กมธ. ปฏิรูปทั้ง 18 ด้านของ สปช.กำลังเร่งประชุมกันในแต่ละคณะว่า ประเด็นที่จะขอแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีกี่ประเด็น ก่อนที่จะส่งให้คณะผู้ประสานงานรวบรวมเสนอต่อไปยัง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ อยากให้ กมธ.ยกร่างฯ นำสิ่งที่ สปช.อภิปรายมาตลอด 7 วันไปพิจารณาด้วย อย่างที่ สปช.บางคนระบุไว้แล้วว่าหาก กมธ.ยกร่างฯไม่ยอมนำข้อเสนอไปแก้ไข หรือแก้ไขเพียงเล็กน้อย สปช.มีโอกาสที่จะไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
"จึงอยากเสนอว่าเมื่อ กมธ.ยกร่างฯได้รับคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ควรเปิดโอกาสให้ กมธ.ปฏิรูปทุกคณะได้เข้าไปชี้แจงว่าเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ต้องแก้ไขเพราะอะไร กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คน ก็หาเหตุผลมาหักล้าง หากฝ่ายใดให้เหตุผลได้ดีกว่าให้เป็นไปตามนั้น เพราะทุกฝ่ายต้องยึดถือผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก ไม่อยากให้สิ่งที่ทำงานกันมาต้องเสียของ" นายเกรียงไกรกล่าว
นายเกรียงไกรกล่าวอีกว่า กรณีที่ตนได้อภิปรายไปว่าเสียงส่วนน้อยใน กมธ.ปฏิรูปฯ สปช.มีการวิ่งเต้นล็อบบี้ จนได้เป็นบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญนั้น ทาง กมธ.ยกร่างฯได้ระบุว่าจะแก้ไขในเรื่องนี้ จึงฝากข้อสังเกตไปยัง กมธ.ยกร่างฯ ว่าหากอยากให้รัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไป ควรพิจารณาว่าหากบุคคลใดที่มีพฤติกรรมวิ่งเต้นนั้น ก็ไม่ควรให้มายุ่งเกี่ยวกับสารระบบในการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งไม่ควรแต่งตั้งบุคคลนั้นเป็นอนุกรรมการที่จะพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่ามีเจตนาที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
@ เสรีเตือนอย่าลองของใหม่
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช. ในฐานะประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า เนื้อหาในส่วนที่ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯจะยื่นแปรญัตติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ กมธ.ยกร่างฯ นอกจากจะมีประเด็นเรื่องระบบทางการเมืองแล้ว จะเสนอให้ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย มีมาตรฐาน สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
"ทั้งนี้ อยากให้ กมธ.ยกร่างฯ เปิดใจกว้างรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย นำไปปรับปรุงข้อบกพร่องในรัฐธรรมนูญ หลายเรื่องในรัฐธรรมนูญเป็นของใหม่ที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน เป็นเรื่องที่ต้องระวัง อย่าไปคิดว่าของใหม่จะดี เพราะพอใช้ไปจริงๆ อาจมีปัญหาก็ได้ ส่วนตัวเห็นว่า เรื่องที่เป็นเนื้อหาใหม่ในรัฐธรรมนูญครั้งแรก ยังไม่เคยใช้มาก่อน ควรนำไปใส่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะดีกว่านำมาใส่ในรัฐธรรมนูญ หากเกิดปัญหาขึ้นมาจะสามารถยืดหยุ่น แก้ไขได้ง่ายกว่า" นายเสรีกล่าว และว่า ที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯขอให้ลองใช้รัฐธรรมนูญไปก่อน 5 ปีนั้น เห็นว่า แค่ 1 ปีก็เอาตัวไม่รอดแล้ว จะมาใช้ตั้ง 5 ปี
@ 'วุฒิสาร'เผยถกประชามติสิ้นพ.ค.
นายวุฒิสาร ตันไชย กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงข้อเสนอให้จัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า หากเปิดประชุม กมธ.ยกร่างฯในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ก็ควรนำประเด็นประชามติมาหารือร่วมกันเพราะทางรัฐบาลก็ระบุว่าหาก กมธ.ยกร่างฯอยากให้ทำประชามติก็สามารถเสนอความเห็นไปได้
"มองว่าการจัดทำประชามติมีข้อดีคือทำให้เกิดการยอมรับร่วมกันของคนในสังคม รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้คนในสังคมได้ศึกษาและมีความรู้ความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญมากยิ่งขึ้น เพราะหลักการทำประชามติการตัดสินใจว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งใดนั้นต้องมีข้อมูลมากพอเพื่อประกอบการตัดสินใจ ดังนั้น ถ้าทำประชามติ ก็ต้องมีกระบวนการให้ข้อมูลข่าวสารเผยแพร่ต่อประชาชน เพราะการทำประชามติไม่ใช่แค่รับหรือไม่รับเท่านั้น กระบวนการนี้จำเป็นต้องใช้เวลาและมีกลไกมาดำเนินการ" นายวุฒิสารกล่าว
@ ระบุผู้เชี่ยวชาญแค่มาพูดคุย
นายวุฒิสาร กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งคณะทำงานประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเชิญต่างประเทศ มาให้ข้อมูลการจัดทำรัฐธรรมนูญ ว่า ได้รายชื่อผู้เชี่ยวชาญมาประมาณ 3-4 คนแล้วทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังอยู่ระหว่างทาบทามติดต่อ ถ้าหากได้รับการตอบรับอย่างเป็นทางการเมื่อใดก็จะนัดหมายหารือกัน คาดว่าน่าจะหารือได้ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้
"เบื้องต้นขอชี้แจงว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นการเชิญนักวิชาการมาพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ของประเทศตัวเองว่าเวลาที่มีปัญหาทางการเมือง สังคม หรือเกิดความขัดแย้งและแตกแยก มีการแก้ไขปัญหาอย่างไรและตัวรัฐธรรมนูญมีความเกี่ยวข้องอย่างไร ขอย้ำว่ากระบวนการไม่เกี่ยวข้องกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างฯแต่อย่างใด" นายวุฒิสารกล่าว
@ 'สุจิต'โยนแม่น้ำ 5 สายเคาะ
นายสุจิต บุญบงการ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงการจัดทำประชามติว่า กมธ.ยกร่างฯไม่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะต้องทำหรือไม่ เนื่องจากอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่รัฐบาลและ คสช.ซึ่งประเด็นนี้เดาว่าแม่น้ำ 5 สายคงต้องมีการหารือกันส่วนจะเป็นวงเล็กหรือวงใหญ่ก็คงต้องว่ากันอีกครั้ง เพราะฟังเสียงดูแล้ว คสช.ก็ยังไม่แน่ใจว่าควรจะต้องทำประชามติหรือไม่ ดังนั้นก็คงต้องมีการหารือกัน แต่ขั้นตอนสุดท้ายคนที่มีอำนาจตัดสินใจก็คือ คสช.
"มองว่าการทำประชามติยังไม่ได้เป็นเรื่องตายตัวว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะต้องจัดทำประชามติ เพียงแต่มีคนรู้สึกและตั้งคำถามว่าเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำประชามติแล้ว เหตุใดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถึงจะไม่มีการทำประชามติ" นายสุจิตกล่าว และว่า หากทำประชามติก็เชื่อว่าจะมีข้อดีทำให้รัฐธรรมนูญเกิดความชอบธรรม ซึ่งเท่าที่คุยกันในชั้นของ กมธ.ยกร่างฯก็เห็นสอดคล้องกันว่าต้องมีการทำประชามติ
@ ปชป.เสนอ 4 ข้อลดอคติ-รับฟัง
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ปชป. แถลงถึงการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 315 มาตรานั้น เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯมีเจตนาดี แต่ยังพบว่ามีหลายประเด็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเป็นประเด็นที่มีนักวิชาการ นักการเมือง ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าระยะหลัง กมธ.ยกร่างฯเปิดใจรับฟังน้อยเกินไป ดังนั้นเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น รัฐธรรมนูญจะต้องใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดกับคนทั้งประเทศและต้องเป็นที่ยอมรับจากประชาชนมากที่สุด เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ กมธ.ยกร่างฯกำลังดำเนินอยู่ คือในช่วงปรับปรุงแก้ไข ตนจึงมีข้อเสนอเรียกร้องไปยัง กมธ.ยกร่างฯ 4 ข้อ
"1.กมธ.ยกร่างฯต้องแสดงให้สังคมเห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้จะไม่มีวาระซ่อนเร้น หรือทำเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 2.กมธ.ยกร่างฯต้องไม่มีอคติ ดูถูก หรือดูหมิ่นกับข้อเสนอของบุคคลจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะการกล่าวหาบุคคลอื่นว่าออกมาเรียกร้องเพราะกลัวเสียผลประโยชน์ 3.กมธ.ยกร่างฯต้องลดอัตตาและเปิดใจตัวเองรับฟังข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ ซึ่งผมคิดว่า กมธ.ยกร่างฯจะสามารถแยกแยะได้ว่า ข้อเสนอใดมีเจตนาดีหรือไม่ดี และ 4.ต้องสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจังและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญนี้อย่างแท้จริง" นายองอาจกล่าว
@ หนุนทำประชามติ-สร้างภูมิคุ้ม
นายองอาจ กล่าวถึงการทำประชามติว่า มีหลายฝ่ายออกมาเสนอทั้งการใช้มาตรา 46 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งสามารถดำเนินการได้ และตนเห็นว่าการทำประชามติมีเหตุผลสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจึงควรเปิดโอกาสให้อำนาจประชาชน ว่าจะยอมรับรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะเป็นข้อพิสูจน์ในทางปฏิบัติว่ารัฐธรรมนูญนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
"ที่สำคัญถ้ารัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้รัฐธรรมนูญกับการบังคับใช้ในอนาคตได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติว่า หากในอนาคตมีข้อประสงค์จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชน เพราะฉะนั้นในตอนนี้ก็ควรทำประชามติด้วยเช่นกัน" นายองอาจกล่าว และว่า ในบทเฉพาะกาลที่จะระบุบังคับใช้รัฐธรรมนูญไปก่อน 90-120 วัน แล้วค่อยทำประชามติ คิดว่าการทำประชามติไม่สามารถทำเฉพาะประเด็นใดหรือมาตราใดมาตราหนึ่ง เพราะวิธีการเช่นนี้อาจไม่ได้รับการยอมรับ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าขณะนี้ คสช. และรัฐบาลยังมีเวลาเพียงพอที่จะพิจารณาการทำประชามติให้ประชาชนยอมรับ เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้
@ แนะเพิ่มความเข้มปราบทุจริต
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงแนวทางการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า เพื่อเป็นข้อเสนอไปยัง กมธ.ยกร่างฯ ตนเห็นว่าปัญหาการทุจริตนั้นแก้ไขไม่ง่าย โดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างบริสุทธิ์ ซึ่งหาได้ยากในประเทศไทย ดังนั้นจึงมีข้อเสนอ 3 ประเด็น เพื่อให้ กมธ.ยกร่างฯนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข
"1.ควรกำหนดให้องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบออกระเบียบเรื่องกรอบระยะเวลาในการตรวจสอบคำร้องอย่างชัดเจน เพราะปัญหาที่ผ่านมา บางคดีใช้เวลาตรวจสอบกว่า 10 ปี จนคดีหมดอายุความ 2.ควรยกเลิกหลักสูตรอบรมระดับสูงขององค์กรอิสระที่ทำเหมือนเป็นแฟชั่น เนื่องจากมีผู้ไม่หวังดีที่เข้ามาร่วมรับการอบรมในหลักสูตรต่างๆ แล้วเข้าไปทำความสนิทกับกรรมการของแต่ละองค์กร เพื่อหวังที่จะเป็นอนุกรรมการในการพิจารณาคดี สุดท้ายจะเกิดการล็อบบี้ ทำให้การทำงานสืบสวนการทุจริตไม่เป็นผล และ 3.องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ต้องเปิดเผยข้อมูลเมื่อถูกร้องขอตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร และควรระบุว่าหากมีผู้ร้องขอต้องเผยแพร่ข้อมูลภายในระยะเวลากี่วัน และหากตกแต่งหรือให้ข้อมูลเท็จ ต้องได้รับโทษอย่างน้อย 2 เท่าของคนทั่วไป เพราะที่ผ่านมาการขอดูข้อมูลแต่ละครั้งจะเจออาการยึกยัก เช่น การที่ขอข้อมูลการแต่งตั้งผู้ช่วย สปช.ที่กว่าจะได้มายากลำบาก" นายวิลาศกล่าว
@ พท.ปัดส่งคนในนามพรรค
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่ กมธ.ปฏิรูปการเมือง จะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองไปพูดคุยเพื่อวางแนวทางการปฏิรูปร่วมกัน ว่าได้ปรึกษากันกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค พท. แล้วมีความเห็นตรงกันว่าคงส่งในนามตัวแทนพรรคไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นหนังสือ และต่อให้มีหนังสือมาเชิญพรรคก็ประชุมกันไม่ได้ ซึ่งคงจะมีผู้ที่สนใจไปในนามส่วนตัว
"คิดว่าการเชิญไปพูดคุยน่าจะเป็นประโยชน์ เพราะอย่างน้อยทำให้ความเห็นปรากฏต่อสาธารณะ ส่วน กมธ.ยกร่างฯเขาจะเอาไปใช้หรือไม่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ถือว่าได้แสดงจุดยืนแล้ว แต่ขอฝากความเห็นในเรื่องของการปฏิรูปว่า จะปฏิรูปในประเด็นอะไรก็ควรทำเป็นหลักการใหญ่ๆ ไว้ จากนั้นก็ปล่อยให้คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาสานต่องานตรงนี้ ไม่ใช่ว่าจะทิ้ง เราเห็นความสำคัญและความตั้งใจ แต่ควรให้คนที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนมาดำเนินการต่อ ไม่ใช่ใช้สภาขับเคลื่อนฯที่เหมือนกับเป็นการสืบทอดอำนาจมาแก้ตรงนี้" นายชวลิตกล่าว
@ 'วรชัย'เชื่อเกิดวิกฤตรอบใหม่
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรค พท. กล่าวว่า ขณะนี้หลายฝ่ายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะในหลายมาตรา เช่น เรื่องที่มานายกฯคนนอก การกำหนดให้มีการตั้ง 11 องค์กรใหม่ขึ้นมา เป็นต้น ทำให้ประชาชนเกิดความระแวงและสงสัยได้ว่าอาจมีใครอยากสืบทอดอำนาจต่อไปหรือไม่ ที่สำคัญหากไม่แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดวิกฤตรอบใหม่ ต่อให้เอามาใช้ก็จะเกิดการต่อต้านจากทุกภาคส่วน
"ทั้งนี้ ในส่วนที่มี สปช. บางคนระบุว่าพร้อมจะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ หาก กมธ.ยกร่างฯไม่แก้ไขนั้น เห็นว่า สปช.ยังขาดความเป็นเอกภาพ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มีจุดยืนในแนวทางประชาธิปไตย แต่สุดท้ายเชื่อว่าก็จะถูกกดปุ่มสั่งให้โหวตผ่านอยู่ดี" นายวรชัยกล่าว และว่า ดังนั้นรัฐบาลต้องเดินหน้าทำประชามติสอบถามความเห็นของประชาชน ถามแบบง่ายๆ ไปเลยว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าไม่รับจะให้นายกฯนำรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 มาใช้ จากนั้นก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการไปก่อน หลังเลือกตั้งเสร็จ ได้รัฐบาลใหม่ ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ อาจมาจากตัวแทนของ คสช.และที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาอย่างละครึ่ง มาร่วมกันทำหน้าที่ แบบนี้จะแฟร์กว่า
หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกรณีที่ กมธ.ปฏิรูปการเมือง จะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองไปพูดคุยเพื่อวางแนวทางการปฏิรูปร่วมกันว่า พรรคยังไม่ได้รับหนังสือจากทาง กมธ. แต่ถ้าได้รับหนังสือก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และก็คงจะได้เสนอแนวทางต่างๆ ไป ทั้งนี้ คิดว่าไปก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไรหรอก เพราะที่ผ่านมาเวลาไปเขาไม่เคยเอาข้อคิดเห็นที่เรานำเสนอไปใช้เลยสักครั้ง แต่ถ้าไม่ไปเดี๋ยวเขาจะหาว่าเราไม่ให้ความร่วมมืออีก
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องว่า กมธ.ปฏิรูปการเมือจะเชิญพรรค ภท.เข้าไปร่วมพูดคุย แต่ในช่วงนั้นตนอาจไปไม่ได้เพราะต้องเดินทางไปต่างประเทศ ดังนั้น คงต้องรอหารือกันในพรรคและดูหัวข้อการพูดคุยภายในพรรคอีกครั้ง
@ อจ.-ปชช.ให้ประชามติแบบปชต.
กลุ่มเรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย ประกอบด้วยนักวิชาการ นักศึกษา กลุ่มสหภาพแรงงาน นักเขียน ผู้กำกับ สื่อมวลชน นักการเมือง และประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ กว่า 150 คน อาทิ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์, นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นายเกษียร เตชะพีระ, นายจอน อึ๊งภากรณ์, นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี, นายซะการีย์ยา อมตยา, นายเป็นเอก รัตนเรือง, น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล, รวมทั้งนายจาตุรนต์ ฉายแสง ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยมีข้อเสนอ
1.หากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปัดร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ตก ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนขึ้นมา 2.หาก สปช.ให้ความเห็นชอบต่อร่าง รธน. ต้องจัดให้มีการลงประชามติภายใน 30 วัน และ 3. หากประชาชนไม่เห็นชอบต่อร่าง รธน. หรือประชามติไม่ผ่าน ให้เริ่มต้นกระบวนการร่างใหม่ โดยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนภายใน 45 วัน, จากนั้นให้ ส.ส.ร.จัดทำร่าง รธน.ให้เสร็จภายใน 90 วัน เมื่อแล้วเสร็จต้องมีประชามติภายใน 30 วัน และหากผลการลงประชามติผ่านร่าง รธน. ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 60 วันหลังจากนั้น
กลุ่มผู้เรียกร้องประชามติเห็นว่า หากจัดให้ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดผลในกรณีที่ประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไว้เพียงให้แต่งตั้ง สปช.และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งตามกระบวนการเดิม
นั่นหมายความว่า อำนาจในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังคงอยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สปช. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอีกเช่นเคย การออกเสียงประชามติเช่นนี้ถือเป็น "การออกเสียงประชามติที่ปราศจากทางเลือก" และไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชนได้ อันขัดต่อเป้าหมายของการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจเลือกรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศได้ด้วยตนเอง
@ 'เหวง'นัดยื่นหนังสือยูเอ็น4พ.ค.
นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงกรณีตัวแทนพีซทีวีจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงสหประชาชาติประจำประเทศไทยในวันที่ 3 พฤษภาคม เพื่อขอให้รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 19 ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของสื่อมวลชน กรณีที่พีซทีวีถูกสั่งปิดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นสัญญาณว่าสื่อในประเทศไทยอาจถูกจำกัดสิทธิเช่นเดียวกับพีซทีวี ว่าจากการติดต่อกับตัวแทนข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติประจำประเทศไทยระบุว่า ที่ทำการสหประชาชาติประจำประเทศไทยปิด และไม่อยากให้เป็นเพียงการยื่นหนังสือเฉยๆ ตัวแทนข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติประจำประเทศไทยอยากที่จะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย
"จึงนัดหมายให้ไปยื่นหนังสือในวันที่ 4 พฤษภาคม เวลา 16.00 น. แทน ส่วนตัวแทนจะเป็นใครบ้างนั้นต้องหารือกันอีกครั้ง เพราะเกรงว่าหากทำอะไรลงไปอาจเป็นการขัดคำสั่ง คสช.ได้" นพ.เหวงกล่าว และว่า ส่วนการยื่นหนังสือถึงองค์กรอื่นๆ ทั้งศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น ต้องหารือกันอีกครั้ง อาจจะยื่นหนังสือภายในสัปดาห์นี้