- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 04 May 2015 19:54
- Hits: 4382
2 พรรคจี้บิ๊กตู่ เปิดแก้รธน.ให้ทำประชามติ พรเพชรย้ำม.46
วันที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8921 ข่าวสดรายวัน
'พรเพชร'สงสาร'บิ๊กตู่'ถูกกดดันทำประชามติ พท.-ปชป.ย้ำใช้ ม.44 ไม่ได้ ต้องใช้ ม.46 แก้ รธน.ชั่วคราว หากทำประชามติไม่ผ่านให้นำฉบับปี' 40 มาใช้แทน ม.เชียงใหม่-ม.เที่ยงคืนเปิดโหวต'พลเมืองมติ' เผยร้อยละ 85.5 ไม่เอารธน.ปี' 58 หนุนให้นำฉบับปี' 40 กลับมาใช้ แกนนำนปช.-ผู้บริหารพีซทีวี แถลงเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง-องค์กรนานาชาติ-ถวายฎีกา พร้อมใช้ช่องทางโซเชี่ยล ออกอากาศทุกรูปแบบ ผู้ใช้แรงงานยื่น 11 ข้อ ขอขึ้นค่าจ้าง 360 บาทต่อวัน 'บิ๊กตู่'รับเรื่อง พร้อมขอร้องอย่าประท้วง ถ้ามีปัญหาให้บอกรัฐบาล
'ตู่'วอนอย่าใช้อารมณ์
วันที่ 1 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ 'คืนความสุขให้คนในชาติ' ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า เราให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ อันดีกับประชาคมโลก เราตระหนักดีว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงพยายามแสดงจุดยืนให้สังคมโลกเห็นว่า เราใช้สติปัญญาเข้ามา บริหารประเทศด้วยความจำเป็น สร้างความสงบเรียบร้อย สร้างเสถียรภาพให้ได้ จากนั้นจะเอาแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินที่เคยปฏิบัติกันมาแล้ว มาปรับปรุง มาประยุกต์ มาปฏิรูป มาทำใหม่ บูรณาการ ประสานงาน มันจะได้เร็วขึ้น เป็นรูปธรรม
" เราตั้งใจทำถึงแม้จะไม่ครบหมด ผมถือว่า ผมได้เริ่มเกือบทุกอย่างให้แล้ว บางอย่างก็เร็ว บางอย่างก็ช้า บางอย่างอยู่ระหว่างตัดสินใจ ที่เข้ามาก็ปัญหาเยอะ เศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดี โลกก็แย่ ในไทยก็แย่ นอกจากเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ก็มีเรื่องความมั่นคง การจัดระเบียบ ป่าไม้ มาตรฐานการบิน การค้ามนุษย์ การทำผิดกฎหมาย ข้อสำคัญคือการร่างรัฐธรรมนูญด้วย ทุกอย่างมันตีกันหมดตอนนี้ เพราะมันรื้อทั้งหมด ก็อย่าเอามาเป็นอารมณ์กันมากนัก"นายกฯ กล่าว
วันแรงงาน- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ทักทายกลุ่มผู้นำแรงงานจากองค์กรต่างๆ ระหว่างเปิดงานวันแรงงานที่สนามหลวง พร้อมรับข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานทั้ง 11 ข้อไปดำเนินการ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. |
เลือดหยุดไหล-ปท.แข็งแรงขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้อยากให้มองดูด้านเศรษฐกิจก่อนเป็นหลัก กับความมั่นคง ซึ่งต้องแก้ให้ได้ กำลังหาทางอยู่ ยืนยันไม่เคยหนีปัญหา รับฟังทุกที่แล้วก็แก้ไข เร่งดำเนินการ ตนคิดว่าวิธีแก้ปัญหาของเรานั้นคงไม่แตกต่างจากคนอื่นมากนัก เพียงแต่เราจะต้องทำให้มันเร็วขึ้น เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น สร้างโครงสร้างต่างๆ ให้แข็งแรง พัฒนาเทคโนโลยีให้มันดีขึ้น ทันสมัยมากขึ้น สื่อสารอย่างต่อเนื่อง ลดความระแวงสงสัย การหวาดระแวงระหว่างกันของแต่ละประเทศให้มากที่สุด บนพื้นฐานความไว้วางใจกัน ลดความหวาดระแวงของประชาชนของเรากับรัฐบาลด้วย ขอให้มั่นใจว่าเราจะดำเนินการทุกอย่าง ด้วยความจริงใจ โปร่งใส เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ
นายกฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้น ตนคงไม่กล่าวว่าเป็นผลงานรัฐบาลฝ่ายเดียว ทุกคนมีส่วนร่วม รัฐบาล ข้าราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ประชาชนทุกภาคส่วน ช่วยเรามาตลอดระยะเวลาของรัฐบาล 6 เดือนกว่าๆ รวมกับคสช. เกือบปีแล้ว ช่วยกันเต็มที่ หยุดเลือดไม่ให้ไหลแล้วเติมน้ำเกลือ เติมอะไรกันอยู่นี่ มันเริ่มแข็งแรงขึ้นมาเรื่อยๆ แต่จะให้ทำใจไปวิ่งเลยทันทีมันไม่ได้เพราะนอนซมมานานแล้ว ช่วยกันบอกต่อในเรื่องที่ดีๆ อะไรที่เหมาะสมถูกต้องก็สนับสนุนเรา อันไหนที่คิดว่ามันยังไม่ครบถ้วนก็เสนอมา บางอย่างมันต้องฟังเหตุฟังผลกัน ตนไม่สามารถอธิบายทีละคนได้ มีปัญหาก็แจ้งมาที่ศูนย์ดำรงธรรม ทุกส่วนราชการพร้อมตอบคำถาม
ปลื้มคนไทยแห่ให้กำลังใจ
"รองนายกฯทุกคนทั้ง 5 ฝ่าย ช่วยผมทำงานบูรณาการขับเคลื่อนในรัฐมนตรีทุกกระทรวง ข้าราชการทุกกระทรวง แน่นอนมันยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ยังมีปัญหา มีคนไม่เห็นด้วย แต่ให้ดูความตั้งใจของผมและรัฐบาลก็แล้วกันว่าตั้งใจแค่ไหน ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน รวยมากรวยน้อย มีส่วนร่วมที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติ รวมถึงเอกชนที่อยู่ต่างประเทศ คนไทยในต่างประเทศด้วย ผมไปต่างประเทศ ก็ชื่นใจ ทุกคนมาทักทาย มาให้กำลังใจผมหมด ฝากประเทศไทยไว้กับผม ซึ่งผมก็น้ำตาจะไหลเหมือนกัน บางทีก็กดดันผมเหมือนกัน แต่ไม่เป็นไร ผมจะทำให้ทุกคน ขอให้รักกัน" นายกฯ กล่าว
ประวิตรเชื่อมือ"หม่อมอุ๋ย"แก้ศก.
เมื่อเวลา 12.10 น. ที่อาคารรับรองบ้านเกษะโกมล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมขับเคลื่อนงานตามกรอบเวลาที่กำหนด รับฟังข้อขัดข้องและอุปสรรคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่ามีสิ่งใดที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำและทำแล้วไม่คืบหน้า พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า หลังจากนี้จะเริ่มเห็นผลในทุกๆ เรื่อง ทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจ รัฐบาลได้วางรากฐานไว้ แต่ไทยเป็นประเทศกสิกรรม ผลผลิตด้านการเกษตรมีความไม่แน่นอน อาจมีผลกระทบบ้าง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ ต้องร่วมมือกันให้ดีในการแก้ปัญหาผลผลิตและการกำหนดราคา ดูความต้องการของประชาชนไปพร้อมกัน ส่วนปัญหาราคาปาล์มน้ำมันนั้น วันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ตนให้กระทรวงพาณิชย์ไปหารือกับกระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งผู้ผลิตและเกษตรกร เนื่องจากเรื่องนี้มีปัญหามาก เมื่อได้ผลการหารือแล้วให้รายงานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช. อีกครั้ง
เมื่อถามว่าหลายฝ่ายห่วงเรื่องสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยืนยันว่าไม่น่าห่วงมาก เพราะม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯด้านเศรษฐกิจได้แก้ปัญหาในภาพใหญ่อยู่ ตนคิดว่าทุกอย่างกำลัง ขยับขึ้น
ชี้แยกสอบสวนจากตร.ยังไม่จบ
พล.อ.ประวิตรกล่าวกรณีสมาชิกสปช. อภิปรายถึงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในมาตรา 282 (8) ให้แยกพนักงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)ว่า เรื่องนี้ยังไม่จบ เป็นเรื่องของสปช.เสนอเข้ากมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ ต้องดูรายละเอียดอีกครั้งว่าใครเสนอแก้ไขอย่างไร เป็นความคิดของ กมธ.ยกร่างฯและสปช. ซึ่งปัญหาเรื่องการสอบสวน ต้องสร้างความเป็นธรรมให้ทั้งหมด เรื่องยุติธรรมคือเรื่องที่ต้องยุติอย่างมีความเป็นธรรม
เมื่อถามว่ามีแนวโน้มจะแยกพนักงานสอบสวนออกจากตร.ได้หรือไม่ พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า "ผมไม่มีแนวโน้ม ต้องดูกันในภาพรวม ผมจะไปบอกว่าเรื่องนี้เอาแบบนี้หรือแบบนั้นไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องรัฐธรรมนูญต้องให้คสช. และครม. ดูด้วยว่าแต่ละมาตรามีส่วนใดที่จะเสนอแก้ไข อีกทั้งขึ้นอยู่กับกมธ.ยกร่างฯไปดูรายละเอียด"
พรเพชรย้ำใช้ม.46 ก่อนทำประชามติ
ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงข้อเสนอเรื่องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ในฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติก็มีความกดดันที่ให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยไปกดดัน นายกฯ ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ทำประชามติ แต่ตามกระบวนการกฎหมายไม่สามารถทำได้ การจะทำประชามติต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 46 ซึ่งเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การทำประชามติ ดังนั้น คนที่จะเสนอแก้ไขมาตรา 46 ได้คือ ครม. และคสช. ต้องร่วมกันเสนอให้สนช.พิจารณาเห็นชอบ
นายพรเพชรกล่าวว่า การที่ครม.และคสช.จะเสนอแก้ไขได้ คนที่ต้องการให้ทำประชามติต้องมีข้อมูลและรายละเอียดเสนอมาประกอบการพิจารณาก่อนตัดสินใจ เช่น จะทำเมื่อไร อย่างไร ผลเป็นอย่างไร ใครเป็นคนรับผิดชอบ ซึ่งต้องช่วยกันคิด
บ่นสงสาร"ตู่"ถูกกดดันทุกวัน
"สงสารนายกฯ ที่ถูกสื่อกดดันถามเรื่องการใช้มาตรา 44 ทำประชามติทุกวัน โดยไม่มีข้อมูล เหมือนกับอยู่ดีๆ ก็ถามว่าจะกินปาท่องโก๋ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องกินกับอะไร ซึ่ง นายกฯ และหัวหน้าคสช.ต้องมีข้อมูลเพียบพร้อมก่อนการตัดสินใจ" นายพรเพชรกล่าว
นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนตัวยังตอบไม่ได้ว่าจะเห็นด้วยกับการทำประชามติหรือไม่ เพราะต้องเห็นร่างกฎหมายก่อนว่าจะเป็นธรรมกับสังคมหรือไม่ เมื่อถามว่าถึงเวลาที่แม่น้ำ 5 สาย ต้องพูดคุยกันเรื่องการทำประชามติหรือยัง นายพรเพชรกล่าวว่า ใกล้ถึงเวลาแล้ว รอให้สุกงอมก่อน แต่จะถึงเวลาก็ต่อเมื่อเห็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าขณะนี้คสช.และครม.ก็คิดเรื่องนี้อยู่เช่นกัน
"มาร์ค"ย้ำทำประชามติรธน.
เวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการท้วงติงในการปรับแก้รัฐธรรมนูญว่า ขึ้นอยู่กับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัวอยากให้มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันในเรื่องเนื้อหาสาระ อยากให้เรื่องนี้จบลงได้แล้ว เพราะประเทศควรเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่มัวมาคิดแก้ไข รื้อทั้งฉบับหรือไม่ แก้กี่ข้ออย่างไร ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญจะมีวาระใดแอบแฝงหรือไม่นั้น ไม่อยากกล่าวหาใคร แต่ต้องดูในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการทำประชามติว่า ตนยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าควรทำประชามติ ถ้าไม่ทำ จะมีความเสี่ยงให้คนที่ไม่เห็นด้วยสร้างเงื่อนไขให้เกิดการแก้ไข ถ้าถามว่าเสียเวลาทำประชามติ 3 เดือนคุ้มหรือไม่ ตนคิดว่าคุ้ม หากไม่มีการรับรองโดยประชาชนอาจเสียเวลาออกไปอีก
จี้ตัด 3 มาตราปมสร้างขัดแย้ง
"พรรคคงเสนอแก้ไขเยอะ นับไม่ถ้วน แต่ทั้งฉบับ ขอย้ำในมาตรา 181 และ 182 กับอำนาจของคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เรื่องการเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษให้บุคคลเพราะเรื่องนี้ผมคิดว่ามันอันตรายมาก อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมรัฐธรรมนูญหลายหมวดไม่มีปัญหา แต่จะเป็นหมวดที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ" นายอภิสิทธิ์กล่าว
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ทางที่ดีที่สุดกมธ.ยกร่างฯ ควรเปิดใจและเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปและตัดสิ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งออกไป ซึ่งตนฟันธง 3 มาตราที่พูดถึงตอนนี้ ถ้าออกมามีวิกฤตแน่ ก็อย่าทำเท่านั้นเอง
กกต.ห่วงมีเวลาน้อยทำประชามติ
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารจัดการเลือกตั้ง กล่าวถึงการทำประชามติว่า ตามกฎหมายที่มีอยู่ กำหนดให้มีเวลาไม่ต่ำกว่า 90 วันหลังจากประกาศให้ทำประชามติ ในต่างประเทศอาจกำหนดเวลาถึง 1 ปี เพื่อให้ประชาชนศึกษาและทำความเข้าใจ รวมทั้งเปิดให้ถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียต่างๆ ในเรื่องที่จะลงมติ เพราะเรื่องที่จะทำประชามตินั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ
นายสมชัยกล่าวว่า เรื่องช่วงเวลาหรือเทคนิค ขั้นตอนลงประชามตินั้น กกต.ไม่กังวล แต่กังวลว่าเวลา 90 วันจะเพียงพอต่อการถกเถียงถึงข้อดีข้อเสีย เพียงพอต่อการศึกษาและทำความเข้าใจของประชาชนหรือไม่ เพราะเกรงจะกลายเป็นเพียงพิธีกรรมในการลงคะแนนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในเรื่องที่ไม่เข้าใจ เกิดการระดมคนมาลงประชามติเพื่อให้เกิดผลตามที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการ อาจเกิดปัญหาขัดแย้งขึ้น ซึ่งตนอยากเห็นการทำประชามติที่เปิดเผย เปิดเวทีถกเถียงกันโดยใช้เหตุและผลมาว่ากัน เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้ นำมาตัดสินใจลงประชามติ ไม่ใช่ใช้อารมณ์ตัดสินใจ
ชี้คนร่างรธน.อย่ากลัวเสียหน้า
"คนร่างรัฐธรรมนูญอาจคิดว่าจะแก้ปัญหาในอนาคตได้ แต่บางคนอาจเห็นว่าจะเกิดความเสียหายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต ไม่มีใครคาดเดาได้ ดังนั้น ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหน้า เพราะจะเอาเรื่องหน้าตาของคนกลุ่มหนึ่งมาตัดสินเรื่องที่อาจเกิดปัญหาขึ้นในอนาคตไม่ได้ และการทำประชามติถือเป็นจุดตัดสินใจสุดท้ายของทุกเรื่อง อย่ากลัวความเห็นประชาชน และอย่ากลัวว่าประชาชนจะถูกครอบงำ เพราะเมื่อทำประชามติจะเป็นการให้การศึกษาประชาชนไปด้วย" นายสมชัยกล่าว
เมื่อถามว่าสถานการณ์ขณะนี้หากมีรัฐธรรมนูญแล้วเหมาะจะทำประชามติ หรือจะเลือกตั้งเลย นายสมชัยกล่าวว่า ขณะนี้ กกต.ตรียมพร้อมเรื่องระบบเลือกตั้งทุกระบบ และในเดือนพ.ย.นี้ทุกระบบจะพร้อม ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญเสร็จและจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนก.พ. 2559 เราก็มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ หรือจะเลื่อนการเลือกตั้งให้ทำประชามติก่อน เราก็พร้อมดำเนินการ
"อ๋อย"ใช้ม.46 เปิดช่องทำประชามติ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ถ้าดูเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยอมรับว่ายาวไปจริงๆ มีเรื่องจำนวนมากที่ไม่ควรบัญญัติไว้โดยเฉพาะการสร้างองค์กรจำนวนมากมาควบคุมและแย่งอำนาจไปจากประชาชน กับการกำหนดนโยบายบริหารประเทศและการปฏิรูป เอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้าตัดกันจริงๆ คงไม่น้อยกว่า 100-150 มาตรา ส่วนที่ไม่ตัดทิ้งก็ต้องแก้ไขในสาระสำคัญ อีกมาก
นายจาตุรนต์ระบุว่า ส่วนที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ให้ใช้รัฐธรรมนูญนี้ไป 5 ปีก่อนแล้วค่อยแก้ไขนั้น ดูจะไม่เป็นที่ขานรับเพราะเขาเข็ดกับการรับไปก่อนแล้วแก้ไขทีหลังได้ ส่วนการลงประชามตินั้น ถ้าใช้อำนาจตามมาตรา 44 มีข้อเสียคือเป็นการยืนยันว่า คสช.มีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยทุกฝ่ายซึ่งไม่เป็นผลดี จึงเหลืออยู่ช่องทางเดียวที่จะเกิดการลงประชามติ คือการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวตามมาตรา 46 ให้คสช.และครม.มีมติร่วมกันแล้วเสนอต่อสนช.ให้ความเห็นชอบ
"ผมมีความเห็นมาตั้งแต่ต้นว่าหากต้องการให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดี เป็นประชาธิป ไตยพอสมควร จำเป็นต้องลงประชามติ และอยากย้ำว่ายิ่งตัดสินใจเร็วเท่าไรยิ่งดีมากเท่านั้น ไม่ควรรอเนิ่นนาน การตัดสินใจเร็วจะทำให้ทุกฝ่ายปรับท่าทีคือรับฟังความเห็นของประชาชนและยอมแก้ไขร่างนี้มากขึ้น เพราะรู้ว่าถ้าไม่ฟังเสียงคัดค้านเลย ร่างนี้จะไม่ผ่านการลงประชามติ และถ้าไม่ผ่านแสดงว่าประชาชนไม่ยอมรับร่างนี้ ดังนั้น จะเสียเวลาบ้างก็ต้องยอม ดีกว่าปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับโดยไม่มีการแก้ไขในสาระสำคัญ เพราะรังแต่จะทำให้ประเทศชาติล้าหลัง เกิดวิกฤตขัดแย้งชนิดไม่มีทางออกแล้วกลับเข้าสู่วงจรเดิมๆ ไม่จบสิ้น" นายจาตุรนต์ ระบุ
ชงใช้รธน.ฉบับปี 40
นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 46 ในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดย ครม.และคสช.มีมติร่วมกันแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดให้ทำประชามติ แล้วส่งให้สนช.พิจารณา ซึ่งสนช.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วัน ถือว่าใช้เวลาไม่นาน จะใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ไม่ได้ เนื่องจากจะขัดต่อรัฐธรรม นูญได้ เพราะประกาศ หรือคำสั่ง หรือการ กระทำนั้นมีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ
นายชูศักดิ์กล่าวว่า หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทำประชามติจริง ก็ควรกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องคะแนนเสียงประชามติให้ชัดเจนว่าต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนประชาชนที่มาออกเสียงประชามติ และหากประชามติไม่ผ่าน ควรนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดการเลือกตั้งและคืนอำนาจให้ประชาชนต่อไป เนื่องจากถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยกร่างมากที่สุด และมีความเป็นประชาธิปไตยสูง ส่วนจะแก้ไขต่อไปอย่างไร ให้เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ควรย้อนกลับมาแต่งตั้งกมธ.ยกร่างฯ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ เพราะจะเสียเวลาและโอกาสของประเทศ
ม.เที่ยงคืน-มช.จัดลงมติร่างรธน.
เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ลานหน้าตึกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดกิจกรรมหย่อนบัตรออกเสียงพลเมืองมติ ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรม นูญฉบับพลเมืองเป็นใหญ่ ให้ทำเครื่องหมายกากบาทเพียงเครื่องหมายเดียวในช่องเห็นชอบ และช่องไม่เห็นชอบ หากไม่เห็นชอบสามารถแสดงความคิดเห็นกากบาทได้ในช่องที่ควรให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือฉบับปี 2550 หรืออื่นๆ ให้เขียนระบุความคิดเห็นในช่องลงความเห็น
การจัดกิจกรรมดังกล่าวเริ่มเวลา 12.00-15.00 น. จากนั้นเปิดหีบลงนับบัตรออกเสียงพลเมืองมติ เพื่อนับคะแนน ซึ่งการหย่อนบัตร เริ่มโดยนายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มช. ในฐานะอธิบดีมหา วิทยาลัยเที่ยงคืน ตามด้วย นายอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติ ศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มช. จากนั้นมีอาจารย์และนักศึกษาในมช. ร่วมลงคะแนนจำนวนหนึ่ง
ย้ำกมธ.ต้องฟังเสียงสังคมด้วย
นายสมชายกล่าวว่า การทำกิจกรรมลงคะแนนพลเมืองมติ เป็นการแสดงความเห็นอย่างหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ในความเห็นของสาธารณชนไม่ค่อยได้รับการยอมรับเท่าที่ควร เพราะร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในสภา และอยู่ในกลุ่มกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ทั้งที่รัฐธรรมนูญเป็นของคนทั้งสังคม ฉะนั้น ทุกคนควรมีสิทธิ์แสดงความเห็น เราก็เป็นส่วนหนึ่ง จึงจัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อให้คนในสังคมออกมาแสดงความคิดเห็นในวงกว้างมากขึ้น
"ขณะนี้ยังไม่เห็นความพยายามที่จะเปิดให้ลงประชามติและยังไม่ยอมรับให้ลงประชามติอีกด้วย ผมคิดว่าถ้าเสียงของเราดังพอ จะทำให้มีการปรับปรุงกระบวนการและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ซึ่งการลงประชามติเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ที่ให้กลุ่มคนในสังคมออกมาแสดงความคิดเห็นมากขึ้น และมากกว่าเสียงของคนร่างฯเพียงกลุ่มเดียวหรือเพียงกลุ่มคนมีอำนาจ หากกมธ.ยกร่างฯมีการปรับแก้รัฐธรรมนูญ ก็จะดำเนินการในลักษณะนี้ต่อไปเพื่อให้ประชาชออกมาแสดงความเห็นร่วมกัน" นายสมชายกล่าว
พลเมืองมติ- คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมหย่อนบัตรออกเสียงพลเมืองมติ แสดงประชามติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพลเมืองเป็นใหญ่ โดยมีอาจารย์มช.เข้าร่วมด้วยจำนวนมาก เมื่อวันที่ 1 พ.ค. |
มติไม่เอารธน.ปี 58-หนุนฉบับปี 40
หลังจากลงคะแนนเสียงเสร็จ ม.เที่ยงคืน ออกแถลงการณ์ผลการลงคะแนน "พลเมืองมติต่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558" ใจความว่า มีผู้ลงคะแนน 55 คน มีผู้ลงคะแนนเห็นด้วย 8 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 14.5 และมีผู้ลงคะแนนไม่เห็นด้วย 47 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 85.5 ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ลงคะแนนไม่เห็นด้วย มีผู้ลงคะแนนให้นำรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กลับมาใช้บังคับ 34 เสียง มีผู้ลงคะแนนให้นำรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กลับมาใช้บังคับ 4 เสียง
จากผลการลงคะแนน แสดงให้เห็นว่าพลเมืองที่มาแสดงความเห็นในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมทั้งยังเห็นว่าควรนำรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กลับมาใช้บังคับ โดยผลของการลงคะแนนครั้งนี้ หวังว่าจะช่วยให้แต่ละฝ่ายได้แสดงความเห็นและผลักดันความต้องการในการสร้างกติกาทางสังคมออกมาอย่างกว้างขวาง ปราศจากการคุกคาม ไม่ว่าด้วยอำนาจหรืออิทธิพลของฝ่ายใดก็ตาม
สนช.ฉลุยกม.คุมม็อบ
เวลา 15.45 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มีพล.อ.ธีรชัย นาควานิช เป็นประธาน พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีเนื้อหากำหนดขอบเขตการชุมนุม สถานที่ การขอนุญาตชุมนุม ซึ่งปรากฏว่ามีสมาชิกสนช.อภิปรายเห็นควรให้ศาลปกครอง มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เนื่องจากการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองทำได้ง่ายกว่า รวมถึงอภิปรายให้ตัดหมวด 2 การแจ้งการชุมนุมสาธารณะออกไป แต่สุดท้ายที่ประชุมลงมติเห็นชอบตามที่กมธ.พิจารณา ในวาระ 2-3 ด้วยคะแนน 158 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 เสียง ให้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ บังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
พีซทีวีเดินหน้าฟ้องศาลปค.
ที่สถานีพีซทีวี ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. นางธิดา โตจิราการ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช. พร้อมผู้บริหารพีซทีวี ร่วมกันแถลงถึงกรณีกสทช.เพิกถอนใบอนุญาตการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีซทีวี
นายจตุพรกล่าวว่า การปิดสถานีเป็นไปอย่างไม่ยุติธรรม การที่กสทช.เอาเหตุการณ์สุราษฎร์ธานีมาปิดโดยข้อความอันเป็นเท็จ จากนี้จะใช้ช่องทางกฎหมายกับ 4 บุคคล และเลขาฯ กสทช. โดยทางสถานีจะสู้กันในทางศาลปกครอง และสิ่งที่ได้เห็นตลอดเวลาคือฝ่ายที่ใช้อำนาจ ไม่ว่าเป็นองค์กรใด เราได้รับความอยุติธรรมอยู่เสมอ ตนจะใช้ช่องทางกฎหมายโดยไม่ไหวหวั่น และสถานีแห่งนี้จะยังอยู่ครบ ทำหน้าที่เหมือนเดิม จะเผยแพร่ผ่านยูทูบ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม บ็อกซ์ และทุกวิถีทาง การเคลื่อนไหวของ นปช.ยังดำเนินการต่อ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเห็น ไม่เห็นด้วยต่อรัฐธรรมนูญ
"จตุพร"ขู่ร้ององค์กรนานาชาติ
"การสร้างความเจ็บช้ำให้ประชาชนเจ็บปวดหรือจะบีบให้เราออกมาต่อสู้ ทั้งที่เราอยู่อย่างเจียมตัว แต่ก็มาบีบบังคับให้เราต่อสู้ เราจะเดินหากระบวนการยุติธรรม ไม่นอนรอวันตาย จะเดินหน้าหาความยุติธรรมทุกที่ หลังจากร้องเรียนไปยังองค์กรต่างๆ ในประเทศแล้ว จะร้องเรียนไปยังองค์กรนานาชาติ หากหาที่พึ่งใดๆ ไม่ได้ เราจะถวายฎีกา" นาย จตุพรกล่าว
จากนั้นตัวแทนพนักงาน ได้อ่านแถลง การณ์ มีใจความสำคัญว่า ขอให้ยุติการกลั่นแกล้ง ยุติยัดเยียดความผิดซ้ำซาก ยัดเยียดข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ จนได้รับโทษระงับการออกอากาศ โดย กสท.ที่ทำหน้าที่แทน กสทช. ไม่เคยให้สถานีพีซทีวีเข้าชี้แจง มีพฤติกรรมลุแก่อำนาจด้วยการใส่ร้าย เราจะดำเนินการทางกฎหมายทุกวิถีทาง เราเชื่อว่าหนทางการแสวงหาความเป็นธรรมนี้ เป็นแนวทางอันสงบสันติที่สร้างเสริมให้เกิดบรรยากาศปรองดองได้แกร่งกล้าขึ้นในสังคมไทย
"เต้น"ซัดเป็นเกมรักษาอำนาจ
ด้านนายณัฐวุฒิ ให้สัมภาษณ์ว่า การที่พีซทีวีฟ้องศาลปกครอง เพราะหวังพึ่งให้พิจารณาว่ามติที่ กสทช.พิจารณาปิดพีซทีวีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเมือง ขอสื่อสารถึงผู้มีอำนาจว่าการกระทำที่ปรากฏอยู่ คงไม่สามารถนำบ้านเมืองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย เกิดความปรองดองได้ แต่สะท้อนให้เห็นเจตนาที่แท้จริง เพื่อสร้างปมขัดแย้ง เพื่อดำรงอยู่ในอำนาจให้ยาวนานหรือไม่ เนื้อหาสาระรัฐธรรมนูญก็ดูเหมือนจะทำให้เกิดความวุ่นวาย การปิดพีซทีวีก็หวังจะให้เกิดแรงกระเพื่อมในฝั่งประชาชน ถ้าเป็นเกมการเมืองเพื่อรักษาอำนาจ คงจะมาใช้กับพวกเราไม่ได้ เราจะไม่ออกไปสู้รบปรบมือกับผู้มีอำนาจ แต่จะทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะ
"สู้กับอำนาจพิเศษ คงไม่ไปหักล้างกันด้วยกำลัง แต่จะต่อสู้ด้วยเหตุผล ความชอบธรรม สิ่งที่ท่านทำ จะมาทำลายสิ่งที่เรายืนหยัดไม่ได้ แม้ท่านต้องการประกาศศึก แต่ศึกนี้จะไม่เกิด เราจะสู้โดยไม่เผชิญหน้า ไม่ใช้กำลัง สถานการณ์นี้เป็นการตั้งต้นของเกมใหญ่ของผู้มีอำนาจก็ได้" นายณัฐวุฒิกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่แกนนำ นปช.กำลังร่วมแถลงข่าวในห้องออกอากาศ บริเวณประตูด้านนอกของพีซทีวี มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร นับ 10 นาย มาเจรจากับผู้ดูแลสถานที่ของพีซทีวี ขอร้องไม่ให้มีสัมภาษณ์บริเวณทางเดิน
"ตู่"ลั่นดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานไทย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ปราศรัยเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พ.ค.ว่า ในนามของรัฐบาล ขอขอบคุณแรงงานไทยทุกคน ซึ่งเป็นพลังสำคัญผลักดัน พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ ในวันที่ 2 เม.ย.2558 รัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2558 เป็นปีแห่งการรณรงค์ สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อสนองพระราชปรารภของพระองค์ท่าน ที่ทรงห่วงใยแรงงานที่ประสบอันตรายจากการทำงาน โดยครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯแล้ว เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลขอให้คำมั่นว่าจะให้ความสำคัญกับการคุ้มครองดูแลสวัสดิภาพของแรงงานให้มีความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามมาตรฐาน เพื่อเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป
พร้อมรับข้อเสนอ 11 ข้อ
เวลา 11.00 น. ที่ปะรำพิธีท้องสนามหลวง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน วันแรงงานแห่งชาติปี 2558 ภายใต้คำขวัญ "แรงงานไทยปรองดองเฉลิมฉลองจักรีวงศ์รณรงค์สู่อาเซียน" โดยมีพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน ข้าราชการ ตัวแทนสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย 14 องค์กร องค์กรรัฐวิสาหกิจ และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนมายืนอยู่ตรงนี้เพราะความจำเป็นหลายเรื่อง และอยู่ระหว่างการแก้ไขทุกปัญหาและถือว่าปัญหาแรงงานมีความสำคัญที่สุด โดยถือว่าวันแรงงานสำหรับรัฐบาลมีทุกวัน ไม่ใช่แค่วันที่ 1 พ.ค. หน้าที่ของรัฐบาลคือทำงานรับใช้ทุกคนให้มีความสุข ทำทุกอย่างให้ทุกคนมีชีวิตมีรายได้และสวัสดิการที่ดี มีอาชีพที่ดี รัฐบาลพร้อมรับข้อเสนอทั้ง 11 ข้อ ไปพิจารณา เพื่อทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บางอย่างทำได้เลย บางอย่างอาจใช้เวลาบ้างแต่จะพิจารณาให้ทุกเรื่อง และเชื่อว่าหลายอย่างจะดีขึ้น ขณะเดียวกันแรงงานต้องพัฒนาฝีมือให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และพัฒนาไปอยู่ระดับหัวหน้า ซึ่งตนมีคำสั่งประสานภาคเอกชนให้พัฒนาฝีมือแรงงาน จะได้ไม่เกิดปัญหา
คนไทยทุกคนจะมีงานทำ
นายกฯ กล่าวว่า จากที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา บริหาร มีบริษัทเอกชนเข้ามาขอรับการสนับสนุนการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กว่าหมื่นราย ดังนั้น ในวันหน้าขอให้มั่นใจว่าแรงงานมีงานทำทุกคน ซึ่งเทียบอัตราการว่างงานของไทย ถือว่าดีที่สุดในอาเซียน และอาจจะน้อยที่สุดในโลก
"ผมในฐานะสุภาพบุรุษ ชายชาติทหาร พูดแล้วต้องทำ เพราะไม่ใช่นักการเมือง ไม่ต้องการคะแนนเสียง ดังนั้น จะพยายามแก้ปัญหาของประเทศให้ได้ก่อนมีการเลือกตั้ง รวมถึงทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานดีขึ้น ยืนยันตั้งแต่เข้ามาบริหารงาน คสช. ใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ซึ่งทุกคนต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่ให้ใครมากำหนดชะตากรรม ผมจะทำหน้าที่จนถึงวาระที่ผมไม่ได้ทำ จะวางพื้นฐานไว้จากการปฏิรูป" นายกฯ กล่าว
ฟุ้งต่างชาติพอใจไทยมีเสถียรภาพ
นายกฯ กล่าวว่า จากการเดินทางไปต่างประเทศ เขาพอใจประเทศไทยว่ามีเสถียรภาพ มีความชัดเจน มียุทธศาสตร์ดำเนินงาน ซึ่งการดำเนินการต่างๆ มีความคืบหน้า แต่ยังมีการถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลต้องให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในทุกด้าน ส่วนข้อเรียกร้องทั้ง 11 เรื่อง ไม่ต้องห่วงแต่อาจใช้เวลาบ้าง ขอร้องว่าอย่าเพิ่งมาประท้วง นายจ้างต้องดูแลลูกจ้างด้วย หากนายจ้างไม่ดีก็มีช่องทาง
"ขอร้องว่าหากมีอะไรให้มาพูดคุยกัน อย่าเพิ่งประท้วง ร้านไหนที่ขายแพงเกินความจำเป็น ขอให้บอกมาผมหรือรัฐบาลจะไปปิดมันเดี๋ยวนั้น ตอนนี้พยายามคุมทุกอย่าง แต่ยอมรับว่าทุกอย่างคุมไม่ได้ ส่วนข้าราชการถ้าไม่ดี ขอให้บอกมา ผมจะอยู่ตรงกลางเพื่อกำกับดูแลทั้งหมด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ยันค่าจ้างขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 300 บาท
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนค่าจ้างแรงงานจะไม่ให้ต่ำกว่า 300 บาทแน่นอน อย่างน้อยเดือนหนึ่งต้องไม่ต่ำกว่า 9,000 บาท ซึ่งไม่มีการเสียภาษี ที่พูดทั้งหมดถือเป็นการเปิดใจ ปกติพูดกับทหารจะพูดสั้นนิดเดียว แต่ถ้าทำผิดวินัยก็ขังทันที ยืนยันว่าไม่เคยคิดทำร้ายประชาชน ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันและฟังในสิ่งที่ตนพูด เพราะถ้าไม่ฟังก็ไม่รู้และไม่คิด คิดร่วมกันไม่ได้ อย่ามาให้เขาว่าคนไทยสมาธิสั้น ฟังสั้นๆ คิดสั้นๆ คิดไปข้างหน้าไม่เป็นไม่รู้อนาคตไม่สามัคคี ทุจริตเราต้องร่วมมือกันขจัดสิ่งเหล่านี้ให้ได้
เรียกร้องปรับขึ้นค่าแรงเป็น 360 บ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้า ผู้ใช้แรงงานกว่า 1,000 คน ร่วมกันเดินขบวนเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เคลื่อนจากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก มายังสนามหลวง โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงาน มีข้อเสนอต่อรัฐบาล 11 ข้อ ได้แก่ 1.รัฐต้องให้ความรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 2.เร่งดำเนินการนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 3.ตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้ลูกจ้างฯ 4.ยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชยของลูกจ้างเอกชนฯ
5.สนับสนุนและผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ 6.ตราพระราชกฤษฎีกาการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบ เพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างฯ 7.ยกระดับสำนักความปลอดภัยแรงงานเป็นกรม 8.ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม 9.ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 360 บาท ในวันที่ 1 ม.ค. 2559 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ใช้แรงงานทุกคน 10.สนับสนุนมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และ 11.แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี 2558
สมศักดิ์แนะใช้ม.44 ลดเหลื่อมล้ำ
ก่อนหน้านี้เวลา 08.00 น. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข พร้อมด้วย นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขานุการกลุ่มสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และแรงงานจากบริษัทต่างๆ ประมาณ 200 คน รวมตัวกันด้านหน้ารัฐสภา เพื่อแสดงเจตนารมณ์เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ โดยมีการปิดถนนหน้ารัฐสภาไปจนถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนจะเคลื่อนขบวนต่อไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในวันแรงงานแห่งชาติปี 2558
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ต้องการให้นายกฯใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของแรงงาน ซึ่งการรวมตัวกันในวันนี้(1 พ.ค.) ยืนยันว่าไม่ได้คัดค้านการทำงานของรัฐบาล แต่มาสนับสนุนเพื่อให้รัฐบาลใช้กฎหมายอย่างสร้างสรรค์ ช่วยเหลือประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
วอนรัฐคุมราคาสินค้า
ด้านนายสาวิทย์กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ช่วยเหลือแรงงาน 4 ข้อ คือ 1.การให้รัฐทำอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 87 และ 98 เพื่อไม่ให้ประเทศไทยถูกกล่าวหาเรื่องค้ามนุษย์ 2.ค้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 3.แก้ปัญหาสิทธิแรงงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และ 4.ให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 360 บาทต่อวัน เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ แต่หากรัฐบาลไม่สามารถปรับขึ้นค่าแรงได้ตามที่ร้องขอ ก็เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการควบคุมราคาสินค้าให้มีราคาที่แรงงานปรับตัวอยู่ได้
'ปู'โพสต์ให้กำลังใจวันแรงงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เขียนข้อความทางเฟซบุ๊ก เนื่องในวันแรงงาน 1 พ.ค.ว่า วันแรงงานแห่งชาติวันนี้ ทำให้คิดถึงสินค้าไทยที่เกิดจากฝีมือแรงงาน ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ขอขอบคุณจากใจ ซึ่งน้ำพักน้ำแรงและหยาดเหงื่อของผู้ใช้แรงงานคือ ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเจริญรุ่งเรือง และความมั่งคั่งให้กับประเทศชาติ ความมุ่งมั่น ตั้งใจ และทักษะฝีมือแรงงานไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั่วโลก และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน
'บิ๊กป้อม'ลั่นแก้ใบเหลืองประมง
วันที่ 1 พ.ค. ที่อาคารรับรองบ้านเกษะโกมล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีหัวหน้าคสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ขึ้นตรงนายกฯ และให้ผบ.ทร. เป็นผบ.ศปมผ.ว่า ศปมผ.เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป มีกองทัพเรือเป็นผู้ดูแลหลัก รวมถึงดูแลท่าเรือต่างๆ เรือทุกลำที่ออกจากท่าจะต้องมีจีพีเอส และมีแรงงานที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งดูเรื่องเครื่องมือการทำประมงให้ถูกต้องตามหลักสากล
รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) ให้ใบเหลืองไทยด้านการประมงที่ผิดกฎหมาย โดยให้เวลาแก้ไข 6 เดือนนั้น มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้ตามระยะเวลา ตนจะทำทุกอย่างตามหลักสากล ไม่ต้องห่วง ส่วนที่ผู้แทนอียูจะขอเข้าพบนั้น ตนจะรายงานความคืบหน้าที่เราพยายามแก้ปัญหาทั้งหมดให้ทราบ และจะสอบถามว่าในบางประเทศที่หลุดใบเหลืองนั้นเพราะอะไร เขาต้องตอบเราบ้าง เพื่อที่จะดำเนินการต่อไป ที่ผ่านมาอียูยังไม่ได้ชี้แจงเราในเรื่องรายละเอียดการหลุดจากใบเหลือง ส่วนการจัดคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจไปชี้แจงอียูนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ดำเนินการ
ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. แถลงภายหลังเป็นประธานเปิด ศปมผ.ว่า มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้สำเร็จตามกรอบที่อียูกำหนดไว้ 6 เดือน แต่ยังคาดเดาไม่ได้ว่าผลการประเมินจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะอียูจะเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งกังวลในประเด็นนี้อยู่ แต่การทำงานจะสำเร็จได้เร็วหรือไม่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ประกอบการและชาวประมงเองด้วย ขณะนี้กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการทำประมงออกมาแล้ว มีบทลงโทษที่สูงขึ้น จึงขอให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดเกรงกลัวต่อกฎหมายด้วย
ไพบูลย์บี้ข้อมูลสปก.-แก้รุกป่า
วันที่ 1 พ.ค. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมประชุมหารือกับ 22 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาการบุกรุก ทำลายป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติแบบบูรณาการ
จากนั้น พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ให้แต่ละหน่วยงานไปสรุปการทำงานถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยให้เสนอกลับมายังตนภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ว่าจะมีแนวทางจัดการกับปัญหาและข้อขัดข้องอย่างไร ทั้งนี้ พบ 2 ปัญหาใหญ่ คือการบุกรุกที่ดินโดยมีเอกสารสิทธิ และไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งที่ดินที่มีเอกสารสิทธินั้น เจ้าหน้าที่รัฐต้องดูเจตนาของผู้ครอบครองที่ดิน และต้องตรวจสอบเอกสารสิทธิว่าถูกต้องหรือไม่ หากใครที่มีเอกสารสิทธิถูกต้อง ขอให้เข้ามาชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ได้เลย ไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุม ทั้งพล.อ.ไพบูลย์และพล.อ.ดาว์พงษ์ ร่วมกันซักถามหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมอย่างจริงจัง โดยหน่วยงานที่ตอบคำถามได้ไม่ชัดเจนคือ ส.ป.ก. ซึ่งรายงานตัวเลขพื้นที่ ส.ป.ก. ทั้งหมดว่ามี 35 ล้านไร่ แต่เมื่อถูกถามลึกในรายละเอียดว่ามีการสำรวจตรวจสอบในเอกสารสิทธิครอบครองที่ออกไปมีการใช้ประโยชน์จริงตามระเบียบจำนวนมากน้อยแค่ไหน และไม่ได้ใช้ประโยชน์จริงเท่าไร ทาง ส.ป.ก.ไม่สามารถให้รายละเอียดในตัวเลขได้ พล.อ.ไพบูลย์ จึงตำหนิว่าข้อมูลค่อนข้างเลื่อนลอย พร้อมสั่งการให้รายงานตัวเลขในที่ประชุมรับทราบในครั้งต่อไป