- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 04 May 2015 19:25
- Hits: 3499
วิษณุ ฉะกมธ.อย่าจุ้น ประชามติ สวนไม่ใช่หน้าที่ ย้ำชัดเป็นอำนาจ ของ'คสช.-ครม.'ตัดสัญญาณแล้ว พีซทีวีจอดำสนิท
วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8920 ข่าวสดรายวัน
ประชามติไม่ใช่หน้าที่ "วิษณุ"สวนกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ทำให้สมบูรณ์ที่สุด สามารถเสนอมาได้แต่ไม่มีน้ำหนัก เพราะเป็นเรื่องของครม.-คสช.จะตัดสินใจ เผยเตรียมข้อเสนอแนะให้ไปปรับแก้นัดส่งวันที่ 25 พ.ค. เวลา 4 โมงเย็น เพราะต้องรับฟังจากหลายหน่วยงาน ยอมรับกั๊ก เพราะถ้ารับก็จะหาว่าอยากอยู่ยาว ส่วน"พรเพชร"ไปอีกทางชี้บิ๊กตู่ใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งแก้รธน.ชั่วคราวเพื่อทำประชามติไม่ได้ เพราะไม่ใช่องค์รัฏฐาธิปัตย์แล้ว ต้องใช้มาตรา 46 ดำเนินการร่วมกับครม.-คสช.-สนช. ด้าน "บุญทรง-ภูมิ"ไม่ชี้แจงตอบข้อซักถามถอดถอน เกรงกระทบคดีในศาล พีซทีวีจอดำตามคำสั่งกสท. ยุติออกอากาศแล้ว
ชี้"บิ๊กตู่"ใช้ม.44 แก้รธน.ไม่ได้
เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 30 เม.ย. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ไม่ได้ เพราะพล.อ. ประยุทธ์ไม่ได้เป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวประกาศใช้ องค์กรต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งมาตรา 44 เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับ คสช.ใช้ประคับประคองให้เป็นไปตามโรดแม็ป 3 ระยะ
นายพรเพชร กล่าวว่า ดังนั้น การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องใช้มาตรา 46 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ผู้ร่างมีจุดประสงค์ไม่ให้เกิดทางตันในการบริหาร หากมี อุปสรรคที่เกิดจากรัฐธรรมนูญไม่ต้องให้ทหาร ออกมาเอ็กเซอร์ไซส์ ซึ่งมาตรา 46 มีฤทธิ์เดชมาก การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวจึงกำหนดให้เกิดจากความร่วมมือของ ครม. คสช. และ สนช. ที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย องค์กรอื่นนอกเหนือจาก 3 องค์กรนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ถกญี่ปุ่น - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้อนรับนางซานาเอะ ทาคาอิชิ รมว.กิจการภายในและการสื่อสาร ประเทศญี่ปุ่น ที่เข้าเยี่ยมคารวะ และร่วมหารือถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 เม.ย. |
คสช.-ครม.-สนช.ร่วมดำเนินการ
ประธาน สนช. กล่าวว่า การระบุว่าจะให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 แก้ไขให้ทำประชามติ จึงไม่ถูกต้อง สาเหตุที่ต้องชี้แจงเนื่องจากมีการนำเสนอว่าพล.อ.ประยุทธ์ กับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ขัดแย้งกัน ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วทั้ง 2 คนไม่ได้ขัดแย้งกันเลย ส่วนที่พล.อ. ประยุทธ์ ให้กมธ.ยกร่างฯ และ สปช. หารือกันว่าจะทำประชามติหรือไม่นั้น ข้อเสนอ จะเป็นใครก็ได้ ไม่จำกัดเฉพาะแค่สปช. และกมธ.ยกร่างฯ สื่อมวลชน ประชาชน นักการเมือง ก็เสนอได้ แต่ต้องมีเหตุผลที่หนักแน่น ส่วนอำนาจการตัดสินใจเป็นของครม. คสช. และ สนช.
"การทำประชามติไม่ใช่การตัดสินใจขายขนมครก ถ้าเสนอไปแล้ว สนช.คว่ำไม่เอาด้วยก็ไปกันทั้งหมด 3 สาย เรื่องนี้ตัดสินใจคนเดียวไม่ได้ เดี๋ยวขนมครกไหม้หมดจะทำอย่างไร" นายพรเพชรกล่าวและว่า หากใช้มาตรา 46 แก้ไขให้มีการทำประชามติ คาดว่าต้องใช้เวลา 3 เดือน ซึ่งเวลาเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่คสช. ครม. ต้องคำนึงว่าจะมีผล กระทบต่อสังคมหรือไม่ ข้อเสนอขอแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะต้องหนักแน่น เพื่อทำให้ทั้ง 3 องค์กรที่มีอำนาจเชื่อมั่น
เมื่อถามว่าเห็นด้วยกับการทำประชามติหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ตนเป็นผู้พิจารณา คงตอบไม่ได้และไม่ได้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างเป็นปัจจัยที่ 3 องค์กรต้องพิจารณา ไม่ใช่นายกฯ
วิษณุโต้บวรศักดิ์กรณีประชามติ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ระบุเสียงส่วนใหญ่ของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ สปช. เห็นว่าควรทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องที่ ครม. และ คสช.เป็นผู้ตัดสินใจ กมธ.ยกร่างฯ ไม่จำเป็นต้องเห็นว่าอะไรทั้งนั้น เพราะการทำประชามติหรือไม่ทำประชามติไม่ใช่เรื่องหรือหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯ เลย มีหน้าที่ไปทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ งานเริ่มตั้งแต่ร่างจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ แต่ถ้าอยากเสนอมาก็ไม่ว่ากัน แต่ไม่มีน้ำหนักอะไร ส่งมาโดยให้น้ำหนักว่าคิดว่าทำไมควรต้องมีการทำประชามติ ก็จะมาประกอบการพิจารณา แต่ ครม.และ คสช.คิดเองได้ว่าควรมีหรือไม่มีการทำประชามติ ต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือนเพื่อแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แล้วมีพิธีทำประชามติยาวอีก 4-5 เดือน ถึงได้กั๊กอยู่นี่ไง เพราะถ้าบอกว่าอยากก็จะหาว่าอยากอยู่ยาว ทั้งที่ส่วนตัวแล้วอยากไปเร็ว
25 พ.ค.-ส่งข้อเสนอแนะแก้รธน.
รองนายกฯ กล่าวว่า จะส่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของครม.และ คสช.กลับไปยังกมธ.ยกร่างฯ ในเวลา 16.00 น. วันที่ 25 พ.ค. ไม่จำเป็นต้องส่งไปตั้งแต่ไก่โห่ และไม่ใช่เป็นการกั๊ก แต่เป็นการคิดให้รอบ คอบ เพราะต้องคอยรับฟังจากหลายฝ่ายที่ส่งมา ถ้าเอาของตนเป็นหลักคนเดียวพรุ่งนี้ก็ส่งได้ แต่ในนามครม.ต้องรอกระทรวงต่างๆ องค์กรต่างๆ ส่งมาที่เราอีก ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็บอกว่าจะส่งมาที่รัฐบาล นี่คือเหตุผลที่ต้องกั๊ก นอกจากนี้ ที่ตนบอกว่าถ้าร่างรัฐ ธรรมนูญเรียบๆ ง่ายๆ จะดีกว่าร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนแบบหวือหวานั้นคือตนมองว่ามันยืดยาวเกินไป ถ้าไม่หวือหวาก็ได้ แต่ถ้าไม่หวือหวาเดี๋ยวจะโดนว่าไม่มีอะไรใหม่บ้างเลย ซึ่งหลายเรื่องก็ดี ชมว่าเขาเข้าใจคิด
เมื่อถามว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญบางมาตรา ที่นักการเมืองไม่เห็นด้วยจะเปิดโอกาสให้มีการเสนอแนะเข้ามาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อยู่ที่กมธ.ยกร่างฯ จะเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ แต่ถ้าจะส่งความเห็นมาทางอื่น เช่น ครม.หรือ คสช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ส่งต่อไปยังกมธ.ยกร่างฯ อยู่แล้วก็ยินดีรับฟัง วันนี้องค์กรอิสระหลายองค์กรส่งข้อเสนอแนะมาที่รัฐบาลและ คสช. เพราะเขาไม่มีสิทธิ์ส่งไปกมธ.ยกร่างฯ แต่ทางเราต้องกรองด้วย ไม่ใช่ส่งอะไรมาก็ส่งต่อ แต่กมธ.ยกร่างฯ จะเอาด้วยหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ ช่องทางมี 2 ช่องทางคือ เป็นทางการ จึงต้องมาที่ครม. คสช. และ สปช. ส่วนช่องทางที่ไม่เป็นทาง การให้ส่งไปยังกมธ.ยกร่างฯ
"บิ๊กโด่ง"แจงทหารบุกสถานีพีซทีวี
ที่ ขส.ทบ. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญว่าตนเร่งให้กำลังพลทุกคนทำความเข้าใจ และมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น ซึ่งรัฐบาลได้สั่งการให้ดูความเหมาะสม ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสม อย่างไร ต้องพิจารณากันอีกที ในส่วนกองทัพบก ตนดูอยู่แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เราต้องฟังความเห็นจากผู้บังคับบัญชาและกำลังพลต่างๆ ก่อน
พล.อ.อุดมเดชกล่าวถึงเจ้าหน้าที่ทหารขอความร่วมมือช่องพีซทีวี ไม่ให้นำเทปสัมภาษณ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ มาออกอากาศซ้ำว่า เราดำเนินการตามกรอบกฎหมาย เมื่อพิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม เจ้าหน้าที่ ก็ต้องดำเนินการตามพื้นฐานของข้อมูล หลักฐาน แต่จะไม่ละเมิดก้าวก่ายใดๆ หากไม่มีความผิดและไม่พบการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทางตรงกันข้ามถ้าเราพบข้อมูลก็จำเป็นต้องตรวจสอบ โดยสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ต้องให้ความร่วมมือ เพราะกรอบต่างๆ เคยตกลงกันแล้วชัดเจน โดยมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้รับผิดชอบควบคุมอยู่
ผบ.ทบ.กล่าวว่า สิ่งต่างๆ ที่ไม่ถูกต้อง ผิดกติกา ผิดกฎหมาย รวมทั้งการนำเสนอข่าวทำให้เกิดความแตกแยก โจมตีกัน เจ้าหน้าที่รัฐคงยอมไม่ได้ ต้องดำเนินการตามนั้น อย่างไรก็ตาม ตนก็ขอให้ร่วมมือกัน และขอให้ระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลให้ถูกต้อง ทำตามกติกาได้ คิดว่าไม่น่ามีปัญหา ทุกอย่างเดินไปตามปกติ แต่ถ้ามีข้อผิดพลาดเราจำเป็นต้องเข้าไปดูแล
ยื่นบิ๊กตู่ - นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษกนปช. ตัวแทนผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีซทีวี ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ขอความเป็นธรรมและชี้แจงกรณีถูก กสท. สั่งเพิกถอนใบอนุญาต ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. |
เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจะทำความเข้าใจกับพล.อ.ชวลิตหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า คงเข้าใจกันอยู่แล้ว ตนฟังการสัมภาษณ์ ดังกล่าวคิดว่าตัวพล.อ.ชวลิต คงไม่ไปทำอะไร อีกทั้งก็เคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพด้วย ทุกคนให้ความเคารพและให้เกียรติ ดังนั้น คงไม่น่ามีปัญหา
ดิเรกยันนายกฯต้องส.ส.-มีปาร์ตี้ลิสต์
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช. ในฐานะรองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวถึงการยื่นเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่า หลังกมธ. ปฏิรูปการเมืองและกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ประชุมเพื่อวางแนวทางการยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 15 คน มาทำหน้าที่พิจารณาเนื้อหารัฐธรรมนูญที่จะยื่นขอแก้ไข มีตนเป็นประธานคณะอนุกรรมการ ซึ่งจะนัดประชุมกันวันที่ 6 พ.ค. เพื่อวางกรอบประเด็นที่จะยื่นแก้ไขต่อกมธ.ยกร่างฯ คาดจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายใน 2 สัปดาห์ โดยจะสรุปเนื้อหาที่แก้ไขใหม่เป็นรายมาตรา เพื่อให้กมธ.ยกร่างฯไปเปรียบเทียบกับร่างเดิมว่ามีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร
นายดิเรกกล่าวว่า ประเด็นที่จะเสนอแก้ไขเบื้องต้นส่วนใหญ่เป็นภาคการเมือง เช่น เรื่องที่มานายกฯ จะขอแก้ไขว่าต้องมาจากส.ส.เช่นเดิม แต่มีการเปิดทางในกรณีวิกฤตให้นำคน นอกมาเป็นนายกฯได้ โดยใช้เสียงสมาชิกรัฐสภารับรอง 2 ใน 3 แต่ให้นำไปเขียนในบท เฉพาะกาล ส่วนเรื่องระบบส.ส.แบบสัดส่วนนั้น จะยืนยันให้มีส.ส.เขต และส.ส.บัญชี รายชื่อเหมือนเดิม ไม่ควรมีระบบโอเพ่นลิสต์ เพราะเข้าใจยาก คำนวณคะแนนลำบาก อาจทำให้เกิดความเคลือบแคลงได้ รวมทั้งมาตรา 181-182 ที่ให้อำนาจนายกฯเสนอขอความไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภา ผู้แทนราษฎร
"การให้อำนาจนายกฯเสนอกฎหมายพิเศษได้นั้น ต้องมีการแก้ไขเช่นกัน แต่จะแก้ไขอย่างไรต้องหารือกันก่อน สำหรับกรณีนายบวรศักดิ์ระบุให้ใช้รัฐธรรมนูญไปก่อน 5 ปีแล้วค่อยแก้ไขนั้น คงไม่มีใครเชื่อแล้ว เพราะคำพูดดังกล่าวถูกใช้มาแล้ว พอถึงเวลาจะมาแก้ไขก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด มีคนออกมาขัดขวาง เชื่อว่าพอใช้ไปครบ 5 ปี เมื่อจะแก้ไขก็ต้องมีคนมาคัดค้าน ทะเลาะกันอีกจนเกิดการรัฐประหารอีกครั้ง" นายดิเรกกล่าว
มาร์คชี้ 3 มาตรารธน.อันตราย
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค กล่าวถึงนายบวรศักดิ์ เรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันปกป้องร่างรัฐธรรมนูญจากนักการเมืองที่ต่อต้านเพราะ เสียประโยชน์ว่า อยากให้นายบวรศักดิ์ใช้เหตุผลแลกเปลี่ยนกับผู้ที่แสดงความเห็น ซึ่งตนต้องการคำชี้แจงใน 3 มาตราที่เป็นอันตรายกับประเทศ และไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์นักการเมืองคือมาตรา 181 และ 182 กับการให้อำนาจคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้ง เป็นการเขียนที่ผิดปกติ สวนทางกับคำชี้แจงของนายบวรศักดิ์ที่อ้างว่าเป็นการตราพ.ร.ฎ.ทั่วไป แต่รัฐธรรมนูญที่ร่างเจาะจงให้กรรมการปรองดองโดยตรง
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าแม้ไม่มีมาตรานี้ ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานเรื่องปรองดอง ขอให้นายบวรศักดิ์ตอบถึงเหตุผล ความจำเป็นเพื่อช่วยกันทำให้รัฐธรรมนูญดีขึ้น ตนไม่เห็นด้วยกับมาตรา 181 และ 182 ที่ให้อำนาจนักการเมืองที่บ้าอำนาจ ซึ่งไม่เกี่ยวกับประโยชน์ของนักการเมือง แต่เป็นการรักษาหลักการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ จึงอย่าเปิดทางสร้างเงื่อนไขใหม่ ทั้งนี้ ตนพูดด้วยความ ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ไม่ใช่โจมตีหรือ มีอคติกับผู้ร่าง แต่มีจุดอ่อนที่เป็นอันตราย ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องท้วงติง จึงอยากให้นายบวรศักดิ์ตอบอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะเรื่องที่เปิดโอกาสให้เกิดความขัดแย้ง วิกฤตในบ้านเมือง อย่าเอาประเทศไปเสี่ยง
เตือนชวนทะเลาะคนเห็นต่าง
เมื่อถามว่าวันที่ 6 มิ.ย.นี้ กมธ.ยกร่างฯจะเชิญตัวแทนจาก 10 พรรคมาเสนอความเห็น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าหากเชิญมาจริงตนพร้อมไปด้วยตัวเอง ไม่คิดตำหนิใคร เพราะเห็นใจว่าคงเครียดเนื่องจากโดนหลายทาง แต่น่าจะใช้โอกาสนี้ทำให้กระบวนการเปิดกว้างและสร้างสรรค์ ถ้าจะชวนคนทะเลาะ มีคนพร้อมทะเลาะเยอะไปหมด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อบ้านเมือง แต่แปลกใจว่าข้อท้วงติงที่เป็นเหตุเป็นผลไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์นักการเมือง ทำไมจึงใช้วิธีแบบนี้ตอบโต้ จึงห่วงว่าถ้าเดินไปแบบนี้ สุดท้ายรัฐธรรมนูญจะเจอปัญหาและชนวนความขัดแย้ง
เมื่อถามว่าเรื่องนิรโทษกรรมจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำไม่ได้ในรัฐบาลเลือกตั้ง แต่จะทำได้ในรัฐบาลนี้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่านายกฯบอกว่าไม่ทำ แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่าน ก็ไม่ทราบใครจะเป็นคนได้ใช้ ได้ทำ ทำไมเราจะย้อนกลับไปสู่สถานการณ์เดิม
"อยากให้เสนอแก้ไข 3 มาตรานี้และอยากให้ฟังเหตุผลในเรื่องอื่นๆ อย่าเอาประโยชน์นักการเมืองมาพิจารณา แต่ให้ฟังที่เหตุผลแม้จะเป็นคำพูดของนักการเมือง ขอให้ห่วงการ เมือง ห่วงระบบบ้านเมือง อย่ามาตอบโต้อีกว่านักการเมืองมีปัญหา ขอให้ฟังบ้าง ผมอยากให้จบ ไม่ใช่มาเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญอีก แต่เดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่มาขัดแย้งเรื่องแก้รัฐธรรมนูญอีก บ้านเมืองจะได้เดินไปข้างหน้า" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
วัฒนาย้ำรธน.ให้คสช.สืบอำนาจ
วันเดียวกัน นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวชี้แจงกรณีแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 เป็นรัฐธรรมนูญผลัดกันเกาหลังว่า มีสื่อบางฉบับเขียนทำนองว่าการเขียนบทความของตน ทำให้ประธานคสช.หงุดหงิด เพราะอ่านแล้วไม่สร้างสรรค์ ไม่เคยรับความผิดพลาดบกพร่องของตัวเอง จึงขอเขียนบทความนี้ถึงประธานคสช.เป็นครั้งแรกในฐานะกัลยาณมิตรที่อยากเห็นประเทศ ชาติสงบร่มเย็น คนไทยมีความสามัคคีและประเทศไทยเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารย ประเทศ เพราะสิ้นหวังที่จะไปพูดกับมหาปราชญ์ ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีเรื่องใดที่พาดพิงหัวหน้าคสช.ดังนี้
1.บทความของตนวิจารณ์กมธ.ยกร่างฯ เพราะคนกลุ่มนี้เขียนรัฐธรรมนูญให้สืบทอดอำนาจ โดยเอาอำนาจของประชาชนมาไว้กับองค์กรทั้งหลาย เพราะคิดว่าอยากสืบทอดอำนาจต่อไปและจะทำให้หัวหน้าคสช.ได้รับความเสียหาย
ระบุร่างกันเองพึงพอใจกันเอง
2.การที่หัวหน้าคสช.ระบุว่า หากกมธ. ยกร่างฯและสปช.เห็นตรงกันว่าควรทำประชามติ ก็ส่งเรื่องมาถึงนายกฯเพื่อเสนอสนช.เพื่อแก้ไข แสดงว่ามีจิตใจที่เป็นประชา ธิปไตย ยอมรับในอำนาจของประชาชนที่เลือกตัวแทนเข้ามา ทำให้มีความหวังจะได้เห็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนยอมรับและนำสู่ความปรองดองของคนในชาติ
3.ข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียงอย่างเดียว คือทำให้คู่ขัดแย้งคิดเหมือนกันว่าไม่เอาด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนคนที่พึงพอใจนั้นมาจากพวกเดียวกันเอง 4.การที่หัวหน้าคสช. ตัดสินใจยึดอำนาจ ก็เพื่อยุติความขัดแย้ง อยาก เห็นการปฏิรูปประเทศ อยากเห็นคนในชาติปรองดองและบ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ตรงกับความปรารถนาของคนไทยทุกคน รวมทั้งตน จึงเชื่อว่าหัวหน้าคสช.ไม่เคยคิดจะสืบทอดอำนาจและแสดงเจตนาจะคืนอำนาจให้กับประชาชนตามโรดแม็ป แต่ถ้าปล่อยให้มหาปราชญ์ทำตามใจประชาชนจะเข้าใจหัวหน้า คสช.ผิด
แนะยกร่างฉบับประชาชนแข่ง
นายวัฒนากล่าวว่า จึงเสนอให้ทำประชามติ ว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ และใช้โอกาสนี้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเปิดให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยบนหลักนิติธรรม แบ่งแยกอำนาจอธิปไตยชัดเจน มีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพและความรับผิดชอบอีกฉบับหนึ่ง แล้วนำไปทำประชามติแข่งกับฉบับของมหาปราชญ์ เพื่อจะได้ทราบว่าสิ่งที่กมธ.ยกร่างฯอ้างว่าไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้วนำมาเขียนในร่างนี้นั้นเขียนจริงหรือไม่ และเสนอให้ในกมธ.ยกร่างฯ 36 คนมีสัดส่วนมาจากตัวแทนประชาชน 18 คน และอีก 18 คนมาจากตัวแทนนักวิชาการและวิชาชีพที่ไม่เคยเป็น และไม่เคยสมัครเป็นสปช.และกมธ. ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และมีกระบวนการให้ความรู้กับประชาชนก่อนลงมติ
นายวัฒนากล่าวว่า หากหัวหน้าคสช.ต้องการยุติความขัดแย้งเพื่อสร้างปรองดองให้เกิดขึ้น ควรให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่ายที่อยู่บนหลักนิติธรรมเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ความยุติธรรมตามกฎหมายที่ร่างกันขึ้นกันตามใจ เชื่อว่าหากหัวหน้าคสช.ดำเนินการตามที่ตนเสนอ คนไทยจะชื่นชมและยกย่องในฐานะรัฐบุรุษ เพราะหลักการสำคัญ หัวใจของการปรองดองคือความยุติธรรมและหลักนิติธรรมซึ่งหาไม่เจอในรัฐธรรมนูญฉบับมหาปราชญ์
บิ๊กตู่ปลื้มโลกรู้จักไม่แพ้สวย-หล่อ
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่โรงละครแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ หัวหน้าคสช. กล่าวเปิดงาน "รักษ์โลก รักษ์ไทย ในหัวใจสีเขียว"ตอนหนึ่งว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง ไม่ใช่ปล่อยพื้นที่เป็นของการเมืองหมด เช่น ชาวนามีร้อยกว่ากลุ่มแต่รวมกันมาไม่ได้สักที เพราะมัวแต่รอกลุ่มการเมือง เวลานี้เราต้องมาช่วยกันปฏิรูป
นายกฯกล่าวว่าอยากให้คนไทยรักชาติ รัก แผ่นดิน ข้าราชการต้องทำงานร่วมกัน เราต้องช่วยกันลดความขัดแย้ง ทำอย่างไรให้ลดขยะเคลื่อนที่ ต้องให้ขยะมนุษย์หมดไปจากประเทศ ให้ได้ วันนี้ตนบริหารราชการต้องฟังทุกคน อ่านข่าว อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังทั้งคนด่า คนชม ฟังมากก็หงุดหงิดมาก แต่ยืนยันว่าเราทำมาเยอะ อย่าไปโทษข้าราชการ เพราะความรับผิดชอบอยู่ที่รัฐบาล บ้านเมืองจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่รัฐบาล
"ถึงผมจะไม่ได้เข้ามาด้วยการเลือกตั้ง แต่ทุกวันนี้ยังไม่เคยทำอะไรเสียหาย ไปต่างประเทศในช่วงแรก ไม่มีใครรู้จักผม รู้จักแต่นายกฯคนสวย นายกฯคนหล่อ คนอื่นมอง ก็คิดว่าไอ้นี่มันบ้าหรือไง ผมก็ต้องสู้ แสดงความจริงใจในการทำงานและเสนอการทำงาน เชิงรุกให้เขาตามเราบ้าง และเรื่องขอให้เราเป็นประชาธิปไตยอย่างรวดเร็วก็ไม่ถามมาอีก เพราะผมถามกลับไปว่าประชาธิปไตยอย่างรวดเร็วคืออะไร ผมระบุไปว่าการเลือกตั้งของไทยไม่เหมือนใครในโลก มียิงกัน ต่อสู้ และมีระเบิดด้วย ต่อไปจะเกิดขึ้นอีกไหม สถาน การณ์ตอนนี้สงบจริงหรือไม่ ผมไม่ได้รังเกียจที่ต้องเป็นประชาธิปไตย แต่จะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยทำให้คนไทยมีความสุข เคารพกฎหมาย และเชิดชูพระมหากษัตริย์" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
วอนคนไทยต้องให้กำลังใจกัน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตั้งแต่ตนเข้ามาในวันที่ 22 พ.ค.2557 ได้เห็นอะไรมาก และถ้าไม่ใช้โอกาสนี้ปฏิรูปก็จะทำให้บ้านเมืองถอยหลัง เราต้องทุ่มเทมากกว่านี้ ถ้าทุกคนช่วยกันก็ไปได้ ทุกรัฐบาลมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน โดยมีข้าราชการและประชาชนร่วมกัน แต่หากเลือกข้าง ประเทศก็ไปไม่ได้ วันนี้ต้องพัฒนาทุกเรื่องและใช้เวลาพอสมควร แต่เราก็ต้องมีการเลือกตั้ง วันนี้ตนเริ่มให้ทุกเรื่อง อาจดูไม่เกิดผล เพราะคนไทยใจร้อน ชอบพูดมากกว่าฟัง แต่ต้องให้กำลังใจกัน
จากนั้นเวลา 15.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 10/2558 เรื่องการแก้ปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมายว่า การแก้ปัญหาประมงเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ตนเพียงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้เจ้าหน้าที่ที่ถือกฎหมายคนละฉบับมาทำงานร่วมกัน และให้กองทัพเรือเป็นแกนหลักในการจดทะเบียน ตรวจตรา ออกอาชญาบัตร หากใครออกไม่ได้ต้องดูเหตุผลว่าเพราะอะไร
พร้อมแก้ไขไม่ให้โดนใบแดง
เมื่อถามว่าจะแก้ปัญหาใบเหลืองในเรื่องทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม(ไอยูยู) จากสหภาพยุโรป (อียู)ได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าทุกอย่างอยู่กับเขา ทำดีให้ตายอย่างไร ถ้าเขาไม่ให้ก็เท่านั้น เพราะเราทำผิดมาตั้งนานแล้ว จะมาแก้ 2-3 อย่าง เขาจะให้หรือไม่ ก็ไม่รู้ แล้วแต่เขาจะเมตตา เพราะเขาเป็นองค์กรระดับโลก ใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งโลก แล้วไป ฝืนมาตรฐานเขา ต้องยอมรับในความผิดพลาด ไม่ใช่โยงคนโน้นคนนี้ทุกเรื่อง ทั้งค้ามนุษย์ ไอยูยู องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ถ้าเราไม่ผิดก็ไม่มีเรื่อง
"ไม่เกี่ยวกับผมที่เข้ามาควบคุมอำนาจ ฉะนั้นอย่ามาโทษผม ที่เข้ามาวันนี้มาแก้ให้ 3 อย่าง ด้วยอำนาจที่ผมมี ใช้อย่างสร้างสรรค์ แต่ผมรับรองไม่ได้ว่าจะเสร็จเมื่อไร แต่ผมทำเต็มที่ ถามว่าผมหวังว่าเขาจะให้ผ่านหรือไม่ ผมก็หวังซึ่งอาจจะเป็น 6 เดือนหรือ 1 ปีก็ได้ ไม่ต้องตกใจ ใบเหลืองก็คือใบเหลือง สิ่งสำคัญ คือทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้โดนใบแดง" นายกฯกล่าว
โต้นักการเมืองมีคดีติดตัวเยอะ
เมื่อถามว่ามีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่มี ไม่เกี่ยว ทำผิดอย่าโทษคนนั้นคนนี้ ถ้าจะผิดเพราะการเมืองทำมาผิด เลือกตั้งมาทำผิดไม่ยอมกำกับดูแล ไม่แก้ไขแล้วจะมาให้แก้ตอนนี้ มาไล่ล่าฆ่าฟันตนอยู่นี่ ซึ่งตนทำให้ทุกอย่างแล้ว ไปทบทวนดูว่าเป็นใคร ที่ออกมาพูดโน่นพูดนี่ รู้ดีกันนักในวันนี้ ตอนนั้นอยู่ในตำแหน่งทั้งนั้น ถ้าพูดกันมากทำให้วุ่นวายอีกเดี๋ยวจะเล่นงานคนเหล่านี้
เมื่อถามว่าขณะนี้มีอดีตรัฐมนตรีวิจารณ์รัฐบาลมากขึ้น จะดำเนินการอะไรหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "เขาเป็นใคร เขาเป็นนักการเมือง เป็นคนที่ผมยึดอำนาจมาหรือเปล่า เขามีความผิดไหม รัฐบาลพวกนี้มีความผิดไหม คดีเยอะไหม" ต่อข้อถามว่าจะเรียกมาปรับทัศนคติหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่เรียก ปล่อยให้สังคมจัดการแล้วกันเองค่อยว่ากัน เมื่อถามว่าจะให้สังคมจัดการเองใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่าไปเชิดชูเขาไว้สิ
สนช.ถกถอด"บุญทรง-ภูมิ"
เมื่อเวลา 09.15 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม เพื่อดำเนินการถอดถอน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 56(1) และมาตรา 58 พ.ร.บ.ว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จากกรณีทุจริตการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งเป็นการซักถามคู่กรณีคือ ป.ป.ช. กับผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ตามที่สมาชิก สนช.ส่งคำถามมายังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ซักถาม
นายสุรชัยแจ้งว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ทำหนังสือถึงประธานสนช. ขอใช้สิทธิไม่มาตอบ คำถามต่อสนช. เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองมีคำสั่งรับฟ้องคดีดังกล่าว แล้ว จึงไม่อยากให้เกิดความเสียหายในการต่อสู้คดี
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานกมธ.ซักถาม รายงานว่า กมธ.พิจารณาญัตติซักถามของสมาชิก ที่ถามผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาเสร็จแล้ว มีทั้งหมด 19 คำถาม จากนั้น กมธ.ซักถาม ได้ตั้งคำถามถึงตัวแทนป.ป.ช. 2 คำถามว่า 1.นายมนัส เกษียณอายุราชการ และถูกออกจากราชการ ริบบำเหน็จบำนาญแล้ว แม้จะถูกถอดถอนก็ไม่สามารถกลับเข้ารับราชการได้ เหตุใด ป.ป.ช.จึงยังยื่นถอดถอนอีก และ 2.ให้ชี้แจงความผิดของนายบุญทรง และนายภูมิ ที่ถูกตั้งข้อหาผิดประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 157 พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช.
นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ตอบข้อซักถามว่า เหตุที่ยื่นถอดถอนนายมนัส เนื่องจากการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง นอกจากนักการเมืองแล้ว ยังครอบคลุมถึงข้าราชการระดับสูงด้วย อีกทั้งผู้ใดที่ถูกถอด ถอน จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ยืนยันว่าป.ป.ช.ไม่ได้อาฆาตมาดร้าย พยาบาท แต่ทำ ตามหน้าที่
นัดแถลงปิดคดีด้วยวาจา 7 พ.ค.
จากนั้นกมธ.ซักถาม อ่านคำถามที่จะถามฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา 17 ข้อ ให้ที่ประชุมสนช.ฟัง ซึ่งคำถามส่วนใหญ่ของนายบุญทรงและนายภูมิ คล้ายกัน ส่วนคำถามที่ถามนายมนัส 2 คำถามคือ มีหลักฐานยืนยันหรือไม่ว่า บริษัท ไห่หนานและบริษัท กวางตุ้ง เป็นตัวแทนจากรัฐบาลจีน และยืนยันได้หรือไม่ว่ามีการส่งออก ข้าวจากไทยไปจีนจริง เหตุใดจึงใช้วิธีขายสินค้า แบบหน้าคลัง ไม่ใช้วิธีขายแบบเอฟโอบี หรือซีไอเอฟ ที่เป็นวิธีปกติ
จากนั้นนายสุรชัยแจ้งว่า นายบุญทรง และนายภูมิ ได้ยื่นคำขอแถลงปิดสำนวนคดีด้วยวาจา ขณะที่นายมนัส แจ้งขอแถลงปิดสำนวนคดีเป็นหนังสือ และที่ประชุมกำหนดวันแถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่ 7 พ.ค. เวลา 10.00 น.
ต่อมาที่ประชุมพิจารณารายงานการประชุม ลับสนช.ครั้งที่ 4/2558 วันที่ 16 ม.ค. 2558 เพื่อถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ประกอบ กับมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมลงมติไม่เปิดเผยรายงานลับดังกล่าวด้วย
จากนั้นนายพรเพชร สั่งปิดประชุมในเวลา 11.25 น. โดยระบุว่ามีสมาชิกสนช. 40 กว่าคน จะเข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริสยาภรณ์ในช่วงบ่ายวันที่ 30 เม.ย. และวันที่ 1 พ.ค. จะประชุมสนช. เพื่อพิจารณากฎหมายสำคัญหลายฉบับ ขอให้สมาชิกเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
พีซทีวี ยื่นบิ๊กตู่ถอนคำสั่งปิด
เวลา 11.45 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีซทีวี นำโดยนายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษกนปช.และผู้ดำเนินรายการมองไกล พร้อมผู้ประกาศของสถานี เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. เพื่อขอความเป็นและชี้แจงกรณีถูกคณะกรรมการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) สั่งเพิกถอนใบอนุญาตออกอากาศรายการ เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา อ้างว่าเนื้อหารายการส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่น
นายธนาวุฒิกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนของประชาชนไม่ว่าจะมาด้วยวิธีใดก็ตาม ขอให้ใช้อำนาจพูดคุยกับกสท. ซึ่งเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา นายกฯ ประชุมร่วมกับทูตไทยทั่วโลก ระบุจะดำเนินการตามหลักประชาธิป ไตย แต่หากคนไทยยังถูกปิดหูปิดตา ถือว่าไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย และขอถาม กสท.ว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ หรือมีคำสั่งจากบุคคลใดเป็นพิเศษ ยืนยันว่ารายการดังกล่าว ไม่ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งตามที่กสท.ระบุ
ชี้เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นายธนาวุฒิกล่าวว่า ขอให้นายกฯ หารือกับคสช.และสั่งการให้กสท.ระงับการเพิกถอนใบอนุญาต และให้ตรวจสอบว่าออก คำสั่งดังกล่าวเป็นธรรมหรือไม่ เนื่องจากมติของกสท. สั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้น มิชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนการลงโทษทางปกครองตาม พ.ร.บ.กสท. พ.ศ.2551 ที่ระบุโทษต้องแจ้งเตือน ปรับชั้นต้น ระงับการออกอากาศ จนถึงสั่งปิดถาวรและเพิกถอนใบอนุญาต แต่การสั่งปิดครั้งนี้ไม่มีหนังสือแจ้งเตือนมาก่อน อีกทั้งการปิดสถานีโดยไม่ชอบธรรมยังส่งผลต่อพนักงานกว่า 100 ชีวิตมาก หากยืนยันจะปิดสถานีต่อไป ทางสถานีจะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อไปในหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยและประชาคมโลกต่อไป
น.ส.อรุโนทัย ศิริบุตร หัวหน้าผู้ประกาศ กล่าวว่า ขอให้นายกฯ ใช้อำนาจที่มีบังคับต่อ กสท. เรื่องการเพิกถอนใบอนุญาตให้เป็นไปตามมาตรา 37 ของ กสท. ที่จะดำเนินการเมื่อมีการทำผิดจริง และเป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งที่ผ่านมาที่เคยสั่งปิดชั่วคราว 7 วันนั้น มีการ แจ้งเตือนล่วงหน้า แต่การสั่งปิดครั้งนี้ ไม่ได้ทำหนังสือแจ้งให้ชี้แจง จึงขอความเป็นธรรม เนื่องจากขณะนี้ประเทศเข้าสู่การปรองดอง และช่องพีซทีวี ถือเป็นช่องทางหนึ่งของผู้ที่ต่อสู้ด้วยประชาธิปไตยว่ามีความคิดเห็นอย่างไร กับรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้ช่องเป็นตัวสะท้อน ความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ ไม่เช่นนั้นจะเกิดคำถามและเคลือบแคลงใจจากสังคม และขอให้ใช้มาตรฐานเดียวกันลงโทษสื่อให้ทัดเทียม กันทุกแขนง
กสท.ตัดสัญญาณ-จอดำสนิท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีซ ทีวี เมื่อวันที่ 27 เม.ย.โดยอ้างเหตุผลว่ามีเนื้อหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ปรากฏว่าวันเดียวกันเดียวกันนี้ สถานีโทรทัศน์พีซ ทีวี ได้ออกอากาศจนถึงนาทีสุดท้ายที่กสท.นำคำสั่งไปให้สถานีดาวเทียมไทยคมตัดสัญญาณในเวลา 20.30 น. ระหว่างนั้นผู้ประกาศสาวบางคนมีความอัดอั้น ถึงกลับกลั้นน้ำตาไม่อยู่
ชงห้ามชุมนุมข้างทำเนียบ-สภา
วันที่ 30 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วันที่ 1 พ.ค. มีวาระพิจารณากฎหมายสำคัญคือ ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... ในวาระ 2 และ 3 หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... ที่มีพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ประธานกมธ.วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว มีทั้งหมด 35 มาตรา เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นไปตามร่างเดิมที่ผ่านวาระรับหลักการ
ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าในมาตรา 7 เรื่องการจัดการชุมนุมสาธารณะ ที่ถูกท้วงติงและคัดค้านจากฝ่ายต่างๆ ว่าจะละเมิดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมนั้น กมธ.วิสามัญฯ ยังคงสาระสำคัญตามเดิมคือ ห้ามจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง รวมทั้งการห้ามจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาล จะกระทำมิได้ และยังคงสาระสำคัญในมาตรา 10 ระบุว่าผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และต้องระบุวัตถุประสงค์ วัน เวลา สถานที่ชุมนุม
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. ในฐานะกมธ.วิสามัญร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะกล่าวว่า กมธ.วิสามัญฯ ยังคงเนื้อหาสำคัญตามร่างที่ผ่านวาระหลักการไว้ถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ทั้งการกำหนดพื้นที่ห้ามชุมนุมบริเวณศาล ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา การต้องแจ้งจัดชุมนุมล่วงหน้า ส่วนที่ระบุว่าร่างกฎหมายดังกล่าวลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนนั้น ขึ้นอยู่กับสังคมจะพิจารณา