- Details
- Category: การเมือง
- Published: Thursday, 30 April 2015 11:55
- Hits: 4069
ถกทูต - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ขอบคุณที่ช่วยชี้แจงนานาชาติกรณีคสช.ยึดอำนาจ และร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 29 เม.ย.
ทหาร-ตร.บุก'พีซทวี'สั่งแบน'จิ๋ว'ห้ามแพร่เทปสัมภาษณ์ บิ๊กตู่ถกทูตไทยทัวโลก ให้เร่งชี้แจงเรื่องปชต. สหรัฐเผยยังจับตาเข้ม
วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8919 ข่าวสดรายวัน
'บิ๊กตู่'ถกทูตไทยทั่วโลก สั่งเร่งแจงเรื่องการเมือง-ปชต.ให้นานาชาติเข้าใจ ฮึ่มเรียกตัวบ.ก.ลายจุดอีก ยันเปล่าสั่งปิดสื่อ ส่วนเรื่อง รธน.จะทำประชามติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกมธ.ยกร่างฯ-สปช. ด้าน 'บวรศักดิ์'โยนกลับ ระบุเป็นอำนาจคสช. 'เทียนฉาย'เร่งผุดคณะกรรมการกิจการปฏิรูปตร.ชุดใหม่ ให้เวลาศึกษา 60 วัน 'บิ๊กจิ๋ว'เตือนถ้าไม่แก้รธน. มียึดอำนาจอีกแน่ สหรัฐยัง จับตาเข้มปชต.ในไทย เจ้าหน้าที่ทหารบุก 'พีซทีวี'ห้ามออกเทปสัมภาษณ์'บิ๊กจิ๋ว''จตุพร'เล็งฟ้อง กสท.ปิดพีซทีวี ขู่ระวังแรงกระเพื่อมคาดไม่ถึง สนช.เปิดซักถามคดี ข้าวจีทูจีวันนี้ 'บุญทรง-ภูมิ'ส่อถูกถอดถอน
'บิ๊กตู่' ถกทูตไทยรอบ 3 ปี
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 29 เม.ย. ที่กระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี 2558 ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 เม.ย. -1 พ.ค.ภายใต้หัวข้อ "การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยเอกอัครราชทูต 69 คนและกงสุลใหญ่ 29 คน รวม 98 คน ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อให้เอกอัคร ราชทูตและกงสุลใหญ่ไทย นำไปขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ พร้อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ รวมถึงให้นำข้อมูลเหล่านี้ใช้ชี้แจงกับนานาประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสแรกที่ได้พบด้วยตนเอง เพราะการประชุมนี้ห่างหายไป 3 ปีแล้ว ต่างติดภารกิจและมีหน้าที่ แต่เราจำเป็นต้องพูดคุยกันบ้าง การมาพบกับเอกอัครราชทูตและกงสุลที่ประจำการ ทั่วโลกนั้น ตนต้องเตรียมการมากพอสมควร เพราะในสายตาคนในประเทศ มองว่าข้าราช การกระทรวงการต่างประเทศฉลาดที่สุด เพราะเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ ต้องเดินงานด้านต่างประเทศตลอด
ขอบคุณช่วยกู้ศักดิ์ศรีปท.
"ประเทศไทยอยู่ได้ด้วยระบบข้าราชการ แต่เมื่อนายกฯมาทำหน้าที่ตรงนี้ในฐานะคนของรัฐบาลก็เพื่ออำนวยความสะดวก กำหนดนโยบายที่ชัดเจนให้ฝ่ายปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับประเทศในเวลาอันรวดเร็วที่สุด เพราะเรามีเวลาจำกัดที่จะทำให้ประเทศทัดเทียมประชาคมโลก ที่ผ่านมาได้เดินสายไปประชุมต่างๆ มาก ช่วงแรกกลัวว่าจะไม่ให้เข้าประชุม แต่ต้องขอบคุณทุกคนที่ทำให้ได้เข้าร่วมประชุม ทำให้ผมมีศักดิ์ศรี ผมไม่ได้เอาศักดิ์ศรีของคนชื่อพล.อ.ประยุทธ์ แต่เอาศักดิ์ศรีของประเทศไทยไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้ถือโอกาสนี้ชี้แจงให้ทุกคนได้ทราบทั้งเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สถานการณ์ด้านสังคมจิตวิทยา และกระบวน การต่างๆ ที่ได้แก้ไขและปฏิรูปเพื่อที่ทุกคนจะได้นำไปชี้แจงและทำความเข้าใจ สามารถทำหน้าที่เอกอัครราชทูตใหม่ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ รวมทั้งเรื่องการค้าการลงทุนต้องเป็นศูนย์วันสต๊อปเซอร์วิสเพื่อตอบคำถามได้ทุกคำถาม และให้รายละเอียดได้ทุกๆ เรื่อง ซึ่งน่ายินดีที่ทุกคนมีความเข้าใจดีและให้เกียรติตนอย่างดี ซึ่งตนก็ให้เกียรติกับทุกคนเป็นอย่างดีเพราะเราเป็นข้าราชการด้วยกัน ตนก็เป็นข้าราชการมาก่อน
ชมฉลาด-ให้เร่งแจงเรื่องปชต.
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนชื่นชมกระทรวงการต่างประเทศว่าเป็นกระทรวงที่คนฉลาดอยู่ เรื่องการชี้แจงหรือตอบโต้ต่างๆ เพียงแต่ต้องทำให้ทันเวลาอยู่ภายใต้กรอบ ของรัฐบาลปัจจุบัน การปฏิบัติจำเป็นต้องแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ต้องสอบถามนโยบายจากเจ้ากระทรวง และติดตามอ่านนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องจะได้มีข้อมูลในการอธิบาย การเดินทางไปประเทศต่างๆ ที่ผ่านมาก็ต้องขอขอบคุณข้าราชการทุกคนที่ทำงานได้ดีมากทำให้เรามีเกียรติและศักดิ์ศรี ตนก็กล้าที่จะแสดงออกเนื่องจากมีการเตรียมพร้อมโดยเฉพาะข้อมูลต่างๆ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีโดยเฉพาะช่วงนี้ที่เราต้องเร่งสร้างความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ด้านการเมืองต้องคุยให้รู้เรื่องว่าปัจจุบันเรากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่ง ทุกอย่างเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ต้องกังวล รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไรเราก็ทำตามนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีประเทศใดบ้างที่ยังไม่เข้าใจสถานการณ์ของไทย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า พวกท่านก็รู้อยู่แล้วมั้ง เพราะเขามองเราแบบประชาธิปไตยที่เจริญแล้ว เนื่องจากเขาผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาแล้วจึงมองประเทศไทยด้วยสายตาคนสมัยใหม่ เพราะเขาลืมไปหมดแล้ว ดังนั้นวันนี้เราจึงจำเป็นต้องเดินตามกติกาของประชาคมโลกด้วย ที่สำคัญจะต้องดูแลคนประเทศของเราว่าเราจะเดินหน้าไปได้อย่างไร ถ้าเอาข้างนอกใช้ทั้งหมดจะเป็นไปได้หรือเปล่า เราจะปฏิรูปได้หรือไม่ จะเข้มแข็งทันไหม
ขยายปมใช้รธน. 5 ปีค่อยแก้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับการเดินตามโรดแม็ปทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ถ้ายังไม่แก้รัฐธรรมนูญก็เป็นไปตามนั้น อย่าถามอีก ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างในขณะนี้เป็นเวลา 5 ปีก่อนแล้วจึงแก้ไขข้อบกพร่องอีกครั้ง แสดงว่ารัฐธรรมนูญนี้ยังไม่มีความสมบูรณ์ใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่าความหมายตามที่ตนเข้าใจอาจจะหมายถึงช่วงเวลาการปฏิรูปที่อาจจบภายใน 5 ปี ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เท่าที่ดูมีความเข้มข้นหลายอย่าง เพื่อจะแก้ปัญหาทั้งหมด ทั้งเรื่องการทุจริต ความไม่โปร่งใส การใช้จ่ายงบประมาณ การเข้าสู่อำนาจ ซึ่งเขาต้องการล้มภาพเก่าไม่ให้เกิดขึ้นอีก ตนจึงบอกว่าอาจเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปก็ได้
"การปฏิรูปที่ว่า หมายถึงระยะเวลา 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปีก็แล้วแต่ หากท่านอยากจะแก้ใหม่ก็แก้เถอะ ท่านเลือกตั้งมาแล้ว จะแก้รัฐธรรมนูญก็แก้ได้ เขาเขียนไว้หรือเปล่าว่าห้ามแก้ ก็ต้องแก้ในสิ่งที่ควรจะแก้ ไม่ใช่แก้ในสิ่งที่ไม่ควรแก้ จะเอาอะไรกันอีก เสรีภาพเอาอย่างไร ไม่ต้องมีแล้วมั้งกฎหมาย อยาก จะไปทำอะไรกันก็ทำ ก็เอาตามใจ" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
เชื่อเป็นฉบับปฏิรูป-แก้ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า เท่าที่ดูรัฐธรรมนูญ 315 มาตรา เยอะไปหรือไม่ เพราะนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจำนวนมาตราเยอะเกินไปสามารถตัดทอนลดลงได้ 20-30 มาตรา นายกฯกล่าวว่า ตนพูดหลายครั้งแล้วว่าคนไทยชอบกฎหมาย อยากมีกฎหมายโน่นกฎหมายนี่ แล้วบังคับใช้ไม่ได้ ถึงบอกว่าต้องยกระดับความคิดความเข้าใจ ปรับทัศนคติกันใหม่ ตนไม่ได้ว่าบ้านเราไม่ฉลาด คนไทยฉลาดจะตาย เข้าใจหมด แต่มองมุมเดียว เราต้องเอาผลประโยชน์มาร่วมกัน แล้วสังคายนาดูว่าควรจะถ่วงดุลอย่างไร พวกไหนได้เท่าไร แค่ไหน ไม่มีใครได้ทั้งหมดหรอก
"ในความคิดของผมรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะไม่ใช่รัฐธรรมนูญถาวรก็ได้หากจะปฏิรูป เพราะถ้าเป็นรัฐธรรมนูญธรรมดาปฏิรูปไม่ได้แน่นอน ทำมากี่รัฐบาลแล้วทำได้หรือไม่ แล้วมีเรื่องมีราวกันมา ถ้าไม่ปฏิรูปท่านก็ร่างไปแบบเดิม เผลอๆ ไม่ต้องร่างก็ได้ ก็รบกันแบบเก่าก็ตามใจ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ลั่นไม่ตัดสินเองทำประชามติ
ต่อข้อถามถึงเรื่องทำประชามติ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่าไปดูรัฐธรรมนูญเขาเขียนว่าอย่างไร เขาไม่ได้เขียนให้ทำประชามติ ถ้าจะทำก็ไปแก้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งคนตัดสินใจไม่ใช่ตน แต่อยู่ที่กมธ.ยกร่างฯหรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ตนบอกแล้วเราไม่ได้มีอำนาจสั่งเขาตรงนั้น วันนี้เหมือนมีสองสภา ถ้ามีความเห็นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ต้องขอมาที่ตน ซึ่งตนจะส่งไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ไปทำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จะทำอะไรก็ทำกันตรงนั้น ถ้าเขาคิดว่าปล่อยให้ผ่านตอนนี้ก็ตีกัน ตนจะไปสั่งให้ผ่านได้หรือไม่ ถ้ามันจะตีกันมันก็ตี ทำอย่างไรให้ผ่านโดยไม่ต้องตี หรือถ้าไม่ผ่านก็ร่างกันใหม่
เมื่อถามว่า ตกลงเป็นช่วงเวลาไหนที่จะตัดสินใจทำประชามติ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าวันไหนก็วันนั้น เขากำหนดวันสุดท้ายไว้วันไหน แต่ตนไม่ตัดสินใจ เขาต้องตัดสินใจมา เพราะหน้าที่ของเขาคือการร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ เมื่อรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องให้สปช.ทบทวน ถ้าเขาไม่แก้ เขาก็ทูลเกล้าฯ ถวาย เขาก็ต้องรับผิดชอบเอง เข้าใจหรือยัง ไม่ใช่ตนจะชี้นกเป็นนก ถ้าผิดพลาดก็ตนอีก ให้เข้ามาร่างแล้วไง แล้วคุณรู้ไหมสปช.มีกี่พวก ในสปช.มีทุกพวกไปดู มีทุกสี ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็เหมือนเดิม ตนถึงบอกนี่คือสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้จะทำกันอย่างไร ไปทำมา ไม่ใช่ตนต้องมาคอยตัดสิน ตนจะอยู่กับเขาจนแก่เฒ่าหรืออย่างไร ไม่ใช่ เข้าใจหรือยัง
นายกฯยันไม่ทะเลาะกับใคร
เมื่อเวลา 19.30 น. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำของการประชุมการพิมพ์แห่งเอเชีย ประจำปี 2558 ว่ามีคนบอกว่ามางานสื่อให้ระวัง อดทน สงบ เรียบร้อย ทำหน้าตาดีๆ ตอบแล้วยิ้ม แต่ตนทำไม่ได้ อดทนไม่ได้ ต้องทำความเข้าใจ และสื่อไม่ต้องมาเชียร์กัน เมื่อมาแล้วต้องเปิดใจพูดอธิบาย ส่วนคนที่จะเดินทางมาไทยไม่ต้องกังวล ไม่ต้องตื่นเต้น เพราะวันนี้สถานการณ์ดีขึ้น อย่ากลัว ให้อยู่ประเทศไทยอย่างมีความสุข นอกจากนี้ประกันชีวิตที่รัฐบาลทำให้กว่า 200 ล้านบาทยังไม่มีใครมาเบิกเลย เราจะไม่ทะเลาะกับใคร แต่เราอาจมีทะเลาะกันเองบ้าง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สถานการณ์ก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 บ้านเมืองไร้การควบคุม รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ มีความรุนแรงเกิดขึ้น ตนเป็นทหารมาทั้งชีวิต เป็นผบ.ทบ.มา 4 ปี และไม่อยากยึดอำนาจ เพราะรู้ถ้าทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แต่ต้องตัดสินใจทำ
"ครอบครัวผม ทั้งลูกและภรรยารอผมมาตลอด ที่จะได้ไปเที่ยวกันหลังเกษียณอายุราชการ แต่วันนี้ไม่ใช่ ตั้งแต่ปี 2549 ผมไม่เคยได้เที่ยวไหน ไม่เคยได้เดินตลาดด้วยกันเลย และหวังว่าหลังเกษียณจะได้อยู่กับครอบครัวอย่างที่หวังไว้ แต่ต้องมายืนตรงนี้ เพราะปล่อยสถาน การณ์ไว้ต่อไปไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ลุยปลดล็อกทุกอย่าง
นายกฯกล่าวว่า คสช.เข้ามาบริหารประเทศระยะแรกประกาศใช้กฎอัยการศึกที่มี 17 มาตรา แต่ใช้เพียงมาตราเดียวในเรื่องการตรวจค้นจับกุม ไม่เช่นนั้นกว่าจะออกหมายศาล คนทำผิดก็หนีไป จับไม่ได้ ที่ผ่านมาเรียกมารายงานตัวไม่เคยทรมานใคร ไม่ได้เรียกมาซ้อมหรือเอาถุงดำครอบหัว หรือเอาน้ำแข็ง เอาน้ำเย็นราด อย่างที่ผู้หญิงคนนั้นออกไปพูดว่าถูกทำร้าย คนพวกนี้ไม่รักประเทศเลย วันนี้นักการเมืองไม่ฟังก็ต้องล้างกันซักที วันนี้ที่ใช้มาตรา 44 เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน และวันนี้มีรัฐบาลเดียวคือรัฐบาลพรรคคสช. ไม่จำเป็นต้องหาทุนใดๆ ใครถูกเรียกรับ ถ้าตนรู้จะสอบสวนทั้งหมด ตนยอมไม่ได้ จะทำทุกอย่าง ปลดล็อกทุกอย่าง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนการเดินหน้าสร้างปรองดองนั้น ประชาชนต้องเป็นผู้กำหนด รัฐจะเป็นผู้ริเริ่มและเตรียมอนาคต และรับฟังเสียงประชาชน ซึ่งต้องใช้หัวใจปรองดอง ไม่ใช่ไปฟังช่องเขียว ช่องแดง วันนี้ไม่มีแล้ว เมื่อเริ่มปรองดองจะเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย ต้องไปว่ากัน ก่อนจะนิรโทษ อภัยโทษ สำหรับเวทีรับฟังความเห็น ก่อนตนเข้ามา 2-3 พรรคทะเลาะกัน แต่วันนี้กลับรวมหัวมาทะเลาะกับตนคนเดียว หากจะมีเลือกตั้งก็เลือกไป แต่อย่ามาดุ ตนไม่ชอบ ต้องให้ความเป็นธรรมบ้าง วันนี้ร่างรัฐธรรมนูญและกำลังเดินตามโรดแม็ป อย่าถามตนอีก เพราะตอบมามากพอแล้ว ตนจะใช้อำนาจในเรื่องนี้ก็ได้แต่ไม่ทำ และรับฟังความคิดเห็น ทั้งที่ทุกฝ่ายต้องฟังตนเพราะมีอำนาจด้วยซ้ำ แต่ตนไม่ทำ
บุกพีซทีวี - เจ้าหน้าที่ทหาร-ตร. เข้าเจรจากับฝ่ายรายการสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีซทีวี ที่ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว เมื่อค่ำวันที่ 29 เม.ย. ขอร้องไม่ให้นำเทปรายการสัมภาษณ์พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ออกอากาศ
ฮึ่ม!ลายจุด-ยันเปล่าสั่งปิดสื่อ
นายกฯกล่าวว่า ส่วนเรื่องกฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ปัญหาประเทศไทยเราต้องแก้ไขกันเอง จะไปทำแบบประเทศอื่นไม่ได้ เพราะประเทศไทยเป็นรัฐเดียว ถึงแม้ทางพฤตินัยจะแยกกันอยู่ก็ตาม กรณีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบ.ก.ลายจุด ที่ออกขายข้าว ตนไม่อยากทะเลาะด้วย เรียกมาหลายครั้งแล้ว ก็ครับๆ แต่คราวหน้าถ้าเรียกมาอีก ถือว่าได้มีการเตือนแล้ว
"ส่วนเรื่องสื่อที่บอกว่าผมไปสั่งปิด ยืนยันว่าไม่ได้สั่งปิด สื่อก็ทำหน้าที่ไป ผมไม่กลัวสื่อ สื่อไม่กลัวผมอยู่แล้ว สุดท้ายนี้ผมไม่อยากให้ใครมาทำร้ายประเทศตัวเอง อาเซียนต้องเป็นปึกแผ่น ไม่มีความหวาดระแวง รักษาผลประโยชน์ร่วมกัน ประเทศไทยต้องมีศักดิ์ศรี ต้องรักษาและหาสูตรมาว่าจะให้ประเทศเป็นอย่างไร โดยไม่ขัดแย้งกับหลักประชาธิปไตยของโลก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
'บิ๊กป้อม'ย้ำต้องยึดโรดแม็ป
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า ต้องให้รัฐธรรมนูญผ่านก่อนแล้วค่อยว่าตามโรดแม็ป เพราะเป็นเรื่องของสปช. และ กมธ.ยกร่างฯ จะแก้ไขกันอย่างไร ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สปช.จะให้ผ่านหรือไม่ยังไม่รู้เลย เป็นเรื่องอนาคต ส่วนถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นการสืบทอดอำนาจให้คสช.หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า คสช.ไม่เคยคิดสืบทอดอำนาจ จะเปิดช่องหรือไม่เปิดช่อง ตนไม่รู้ แต่คสช.ห่วงเรื่องการปฏิรูปประเทศ เราทำอยู่ทุกวันเพื่อให้อนาคตของประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ให้การปฏิรูปมีความชัดเจน ถ้าทำแล้วไม่ชัดเจนจะทำไปทำไม
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของสปช.จะต้องตั้งกมธ.ยกร่างฯ และ สปช.ขึ้นใหม่หรือไม่ พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า "ต้องว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่เขียนไว้ มีขั้นตอนการปฏิบัติอยู่ อนาคตอย่าเพิ่งคิดอะไรมาก ส่วนที่วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ค่อนข้างมีปัญหามากนั้น รองนายกฯ กล่าวว่า "ต่างคนต่างคิด แต่ทั้งกมธ.ยกร่างฯ สปช. รวมทั้งประชาชน ขอให้มองภาพอนาคตของประเทศชาติให้เดินไปข้างหน้าได้ และเจริญทัดเทียมนานาชาติได้ ถ้าเราไปท้วงติงอะไรมากมันจะเดินไปไม่ได้ ผมคิดว่ามันต้องเดินไปข้างหน้าได้เพราะยังมีเวลา คนไทยทั้งหมดต้องช่วยกัน แม้จะเสียเวลาไปบ้างก็ต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อให้คนส่วนใหญ่ยอมรับได้เป็นเรื่องสำคัญ"
'วิษณุ'เล็งขอแก้ภาคการเมือง
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของครม.ว่า กมธ.ยกร่างฯ เปิดให้ยื่นคำขอแก้ไขภายใน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.-25 พ.ค. ถือว่ายังมีเวลาอยู่ ตนในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายรัฐบาลสั่งให้ทุกกระทรวงส่งความเห็นกลับมาภายในวันที่ 14 พ.ค. แล้วรวบรวมเป็นตัวร่าง
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่ามีหลายมาตราที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาล แต่ไม่ติดใจที่ร่างรัฐธรรมนูญมีมาตราจำนวนมากเพราะมองเนื้อหาเป็นหลัก เท่าที่ดูเห็นว่าตัดออกได้ 20-30 มาตรา มีทั้งตัดบางวรรคหรือทั้งวรรค แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ ส่วนเรื่องกลไกทางการเมืองที่หลายฝ่ายห่วงว่าร่างรัฐธรรมนูญอาจไม่ผ่าน หากไม่มีการแก้ไข เช่น ที่มาส.ส. ส.ว. และนายกฯ นั้น จะมีการแก้ไขหรือไม่อยู่ที่กมธ.ยกร่างฯ ถ้ากมธ. ยกร่างฯ ยืนยัน เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมสปช.ก็เป็น อำนาจของสปช.จะชั่งน้ำหนักได้ว่าจะยอมแก้ไขหรือไม่ และคุ้มหรือไม่ที่จะให้ผ่าน ยอมรับว่าในส่วนของครม.อาจเสนอแก้ไขในประเด็นภาคการเมือง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ต้องพูดคุยในรายละเอียดก่อน เบื้องต้นตนได้ศึกษาและจะนำเสนอครม.ในวันที่ 19 พ.ค.นี้
จี้กมธ.อธิบายทุกมาตราให้ชัด
ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ตัดมาตรา 181, 182 ในร่างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ นายกฯในการออกกฎหมายนั้น นายวิษณุกล่าวว่า มาตราเหล่านั้นเป็นของใหม่ที่ไม่เคยมี อาจทำให้เป็นปัญหา เราดูอยู่ว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร อาจตั้งเป็นข้อสังเกตส่งกมธ.ยกร่างฯ ว่าจะถึงขั้นต้องตัดออกหรือไม่ บางทีเราอยากมีของใหม่ๆ เพราะเป็นการปฏิรูป แต่มันเป็นดาบสองคม พอไม่ชินก็ถูกโจมตี ตอนนี้ประชาชนอาจรู้สึกหวั่นไหวเพราะยังไม่เคยลอง แต่จะให้ลองไปก่อนแล้วแก้ไขใน 5 ปี ก็ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายจะแก้ไขได้หรือไม่ หรือจะเกิดความเสียหายก่อนถึง 5 ปี ถ้ามีโอกาสจะบอกกมธ.ยกร่างฯ ว่าต้องอธิบายให้มากกว่านี้ว่าแต่ละมาตราที่คิดมานั้นแก้ปัญหาอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่ากมธ.ยกร่างฯ ระบุการทำประชามติต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อนวันที่ 6 ส.ค. นายวิษณุกล่าวว่า แน่นอนเพราะวันที่ 6 ส.ค.จะเป็นวันที่สปช.ลงมติ แล้วทิ้งไว้เพื่อให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเขียนหรือที่เรียกว่า "จาง" ในหมุดไทย เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในวันที่ 4 ก.ย. ถ้าตัดสินใจว่าจะทำประชามติ เมื่อสปช.มีมติให้ผ่าน ทางตรงก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่ถ้าทางอ้อมก็เลี้ยวไปลงประชามติ มีหลายคนพูดว่าทำไมไม่ใช้มาตรา 44 ในเรื่องลงประชามติ แต่หากใช้เท่ากับไปทำลายวันที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำไม่ได้ จึงต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อขยายวันออกไป เพราะรัฐธรรมนูญระบุไว้แล้วว่าวันที่ 4 ก.ย. ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
อ.ปื๊ดโบ้ยกลับอำนาจคสช.
เวลา 09.00 น. ที่โรงแแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) คุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ จัดสัมมนาเรื่อง "การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดทิศทางการคุ้มครองผู้บริโภค" โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ บรรยายพิเศษ หัวข้อ "ร่างรัฐธรรมนูญกับการสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่" ว่า หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ กมธ.ยกร่างฯ ต้องทำกฎหมายลูก 3 ฉบับคือกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมใช้เวลา 5 เดือนก่อนมีเลือกตั้ง ประมาณเดือนก.พ.หรือมี.ค.2559 แต่หากจะลงประชามติก็ต้องเลื่อนเวลาออกไป เพื่อนำร่างรัฐธรรมนูญไปเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ และเปิดให้อภิปราย
"อำนาจที่จะให้ลงประชามติหรือไม่เป็นของ คสช. หากเห็นว่าต้องทำก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และควรแก้ก่อนวันที่ 6 ส.ค. ที่ สปช.จะลงมติ ส่วนการแก้ไขวันที่ 25 พ.ค.-23 ก.ค. กมธ.ยกร่างฯ ยืนยันว่าเราพร้อมแก้ หากมีเหตุผล" นายบวรศักดิ์กล่าว
เผยเหลียวหลังแก้อดีต
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ กมธ.ยกร่างฯ เหลียวหลังแก้อดีต 2 ส่วน คือการเมืองใสสะอาดและสมดุล กับนำชาติ สู่สันติสุข เราต้องแก้ปัญหาเรื้อรังที่พรรค การเมืองนำมวลชนลงสู่ท้องถนนให้หมด จึงต้องบัญญัติการสร้างความปรองดองในภาค 4 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าไม่ควรมีเพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่ถ้าคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่เคยตั้งไว้ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้ผล พูดได้เลยว่าหมวดการสร้างความปรองดองก็ไม่จำเป็นต้องมี ซึ่ง คอป.ทำไว้ดีมาก ยืนยันว่าภาคนี้จะไม่สร้างความขัดแย้ง
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า มาตรา 298 ว่าด้วยคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ 15 คน มีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงการละเมิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิมนุษยชน สามารถเสนอตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) อภัยโทษ ก็มีคนเห็นว่าจะหมกเม็ดตราพ.ร.ฎ.ให้คนนั้นคนนี้ ซึ่งพ.ร.ฎ.คือกฎหมายทั่วไป ทำได้แค่กำหนดเงื่อนไขเท่านั้น ไม่ได้ระบุชื่อว่าจะทำให้ใคร ส่วนการอภัยโทษต้องทำตามปกติ ทำผ่านรัฐบาล เสนอให้พระเจ้าอยู่หัว หากไม่มีการพระราชทานอภัยโทษก็จบ พ.ร.ฎ.ตามมาตรา 298 จึงเหมือนพ.ร.ฎ.ทั่วไป ประเทศไทยระแวงกันจนเกินสมควร ทั้งยังไม่มีการ ซักถามกันให้ดีแล้วมากล่าวหากัน
ยุจัดตั้งเครือข่ายหนุนรธน.
ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ส่วนการเมืองใสสะอาด เราต้องการทำพรรคที่ดีให้เป็นของสมาชิกพรรค ไม่ใช่อยู่ในโอวาทเจ้าของพรรค เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เกิดขึ้นเพราะพรรคบังคับให้สมาชิกทำตาม หากไม่ทำก็ต้องพ้นสมาชิกภาพส.ส. คิดดูว่าหากการผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่บังคับให้ส.ส.ทำตามมติพรรค เชื่อว่าส.ส.จะไม่ลงมติเห็นด้วยแน่นอน มาตรา 76 คือการพยายามบังคับให้พรรคเป็นประชาธิปไตย
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ขณะที่แลไปข้างหน้ามี 2 เจตนารมณ์คือ สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่และหนุนสังคมให้เป็นธรรม วันนี้การเมืองภาคพลเมืองไม่เข้มแข็ง ปล่อยให้นักการเมืองทำอะไรก็ได้ ซึ่งมันไม่ถูก ในภาค 4 ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเป็นเรื่องใหม่และไทยแท้ แต่ถูกวิจารณ์มากที่สุด นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย มองว่าปล้นอำนาจประชาชน แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เขาเพียงอ้างประชาชน สาเหตุที่ต้องเขียนเกิดจากนักการเมืองไม่ทำกัน ทั้งที่มีเอกสารศึกษาทิ้งไว้บนหิ้งไม่รู้กี่ชุด เราไม่ได้เขียนจากการมโนเอาเอง นักการเมืองจะคิดถึงแต่พรรค ไม่ได้คิดถึงพลเมือง รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงน่ากลัวสำหรับนักการเมืองที่มีปัญหา
"ขอเรียกร้องให้จัดตั้งเครือข่ายสนับสนุนรัฐธรรมนูญและการปฏิรูป เพราะวันนี้เราต้องสู้กัน มิเช่นนั้นเราจะฟังความฝ่ายเดียวจากนักการเมืองผ่านสื่อหลัก เราต้องใช้โซเชี่ยลมีเดียสู้เพื่อทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญให้ดี เผื่อไว้สำหรับการทำประชามติว่าจะให้ผ่านหรือให้ตก" นายบวรศักดิ์กล่าว
ชี้ทำประชามติมีแต่ได้
ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) แถลงว่า ที่ประชุมวิปสปช. มีมติตั้งคณะกรรมการประสานงาน เพื่อหารือกับสมาชิก แบ่งกลุ่มการแปรญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ตน นายอลงกรณ์ พลบุตร และนายไพโรจน์ พรหมสาส์น เพื่อความเป็นเอกภาพและจัดสรรบุคคลให้เรียบร้อย นอกจากนี้วันที่ 5 พ.ค. จะนัดประชุมกับสมาชิกทั้งหมด เพื่อจัดการแปรญัตติให้เป็นแนวทางเดียวกัน เบื้องต้นจะมี 8 ญัตติ
นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนที่มีการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กันมากนั้น เพื่อให้เป็นข้อยุติ จึงเห็นว่าเมื่อผ่านการเห็นชอบจากสปช.แล้ว ควรทำประชามติ เพราะจะทำให้คสช. ประเทศชาติและประชาชนมีแต่ได้ ไม่มีอะไรเสีย คือ 1.ถ้าลงมติแล้วรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของประชาชน จะเป็นที่ยอมรับของคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งชาวโลก ซึ่งนักการเมืองที่คิดจะแก้ไขในภายหลังเพื่อประโยชน์ของตน จะทำได้ยาก และคสช.จะอ้างได้อย่างเต็มปากว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน
นายวันชัย กล่าวต่อว่า 2.ถ้าไม่ผ่านประชา มติ ต้องเริ่มกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จนเป็นที่พอใจของประชาชน และสปช.ไม่ควรอยู่อีกต่อไป ควรให้คณะอื่นมาจัดทำกันใหม่และปฏิรูปกันต่อไป นอกจากนี้ คสช. ครม. สนช.ยังคงอยู่ได้ต่อไป เพื่อมีเวลาแก้ปัญหาของประเทศ ปฏิรูปในเรื่องสำคัญให้เสร็จสิ้น เพราะขณะนี้การปฏิรูปปยังไปไม่ถึงไหน ถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งขณะนี้ มีแนวโน้มจะกลับมาสู่วังวนเดิม สรุปคือการทำประชามติมีแต่ได้กับได้
'เทียนฉาย'ชูกก.ใหม่ปฏิรูปตร.
โฆษกวิปสปช.กล่าวว่า ส่วนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ประเด็นเกือบทั้งหมด กมธ.ห็นสอดคล้องกัน ยกเว้นประเด็นการสอบสวนว่าควรแยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) หรือไม่ ที่ยังเห็นต่าง ที่ประชุมจึงมีมติให้เป็นอำนาจของนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ตั้งคณะกรรมการกิจการปฏิรูปตำรวจ โดยมีผู้แทนกมธ.ปฏิรูปจาก 5 คณะ คือกมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น กมธ.การเมือง และกมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เชื่อว่านายเทียนฉายจะรีบตั้งโดยเร็วที่สุด และอาจให้กรอบเวลาศึกษาภายใน 60 วัน
นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องปฏิรูปตำรวจ ทุกฝ่ายทั้งสปช. และรัฐบาล ต้องการให้ผ่านออกมาเป็นรูปธรรม แต่ในอนุกมธ. กลับมีความเห็นต่างกันเรื่องการแยกงานสอบสวนให้เป็นอิสระออกจากตร. ทำให้การประชุมสปช. เมื่อวันที่ 28 เม.ย. เกิดปัญหาขัดแย้งกันเองจนต้องเลื่อนประชุมออกไป แต่เท่าที่ผมฟังเสียงของสมาชิกสปช.ทั้งหมด เกี่ยวกับเรื่องนี้ เห็นว่าทั้ง 250 คน ยังก้ำกึ่งกันอยู่ จะออกทางไหนก็ได้ แต่เรื่องนี้จะไม่เป็นอุปสรรคในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่นอน เพราะทุกคนเห็นตรงกันว่าการปฏิรูปตำรวจเป็นวาระแห่งชาติ เพียงแต่ยังมีความเห็นต่างที่จะต้องปรึกษาหารือกันต่อไป
'อมร'สวนหมัดเพื่อนสปช.
ด้านนายอมร วาณิชวิวัฒน์ สมาชิกสปช. ในฐานะอนุกมธ.ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหน้าที่และกระบวนการทำงานตำรวจเพื่อประโยชน์ของประชาชน ในกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ แถลงถึงที่ประชุมสปช.มีมติให้เลื่อนวาระการพิจารณารายงานการปฏิรูปตำรวจ ของกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ ออกไป เนื่องจาก กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ ยังมีความเห็นขัดแย้งกันเรื่องการแยกงานสอบสวนออกจากตร.ว่า ยอมรับว่าภายในกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ มีความขัดแย้งจริง แต่ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ขัดแย้งเรื่องวิชาการ หลายคนบอกจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดี แต่ตนคิดว่านี่เป็นสภาวิชาการ เพราะสภาการเมืองก็ทะเลาะและฟ้องร้องกันยิ่งกว่านี้ ตนในฐานะอนุกมธ. ได้ศึกษาเรื่องปฏิรูปมา 7 ปี จึงเห็นว่าควรแยกงานสอบสวนให้เป็นอิสระออกจากตร. เพื่อไม่ให้ตำรวจช่วยเหลือกันเองในการทำสำนวนสอบสวน
"ผมเสียใจที่สมาชิกสปช.บางคนกล่าวหาว่า กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ พูดแล้วฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งไม่รู้ว่าไม่ได้ฟังตั้งแต่ต้นหรือไม่ และทุกอย่างมีที่มาที่ไปชัดเจน ไม่มียกเมฆ มีเอกสารให้ศึกษาล่วงหน้า ผมถามคนที่คัดเลือกสปช.เข้ามาทำงาน สติปัญญาของผู้ที่ได้รับคัดเลือกก็เบอร์ต้นๆ ของประเทศ ทราบว่ามีบางคนไม่แฮปปี้กับอนุกมธ.ชุดนี้ อาจตั้งอนุกมธ.ชุดใหม่ทำหน้าที่แทน อาจใช้ตัวแทนจาก กมธ.ปฏิรูปชุดต่างๆ ชุดละ 2 คน มาทำหน้าที่แทน" นายอมรกล่าว
มั่นใจแยกสอบสวนพ้นตร.
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิ์ ที่ปรึกษาอนุกมธ.ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหน้าที่และกระบวน การทำงานตำรวจเพื่อประโยชน์ของประชาชน กล่าวว่า เชื่อว่าประธานสปช.จะแต่งตั้งกมธ.ร่วม เพื่อพิจารณาเรื่องงานสอบสวนออกจากตร.ภายในสัปดาห์หน้า ส่วนอนุกมธ.ที่สรุปความเห็นให้แยกงานสอบสอน ออกเป็น อิสระจากตร. ก็ต้องยุติบทบาทไป หรืออาจรอดูว่าที่ประชุมสปช.จะมอบหมายทำหน้าที่อะไรหรือไม่ อย่างไรก็ตาม งานสอบสวนจำเป็นต้องแยกออกจาก ตร.อย่างแท้จริง และต้องทำงานอย่างสุจริต มีเสรีภาพ มิเช่นนั้นความสงบสุขของประชาชนและสังคมจะไม่ได้รับการแก้ไขและชาวบ้านจะขาดอิสระและเสรีภาพในการใช้ชีวิต
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ตนมั่นใจสุดท้ายแล้วงานด้านสอบสวนจะแยกเป็นอิสระจากตร. เพราะขณะนี้บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 282 (8) เป็นที่แน่นอนแล้ว และไม่เชื่อว่าหากมีการลงมติในสปช. เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ส.ค. นี้ จะไม่ถูกคว่ำ เพราะเนื้อหาสาระในเรื่องดังกล่าวเป็นการปฏิรูปวงการตำรวจที่จับต้องได้และเป็นประโยชน์ของประชาชนที่เห็นเป็นรูปธรรม
'อู๊ดด้า'หวั่นเกิดวงจรอุบาทว์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ระบุทดลองใช้รัฐธรรมนูญไปก่อน 5 ปีแล้วค่อยแก้ไขว่า ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับได้ก็ไม่มีปัญหา แต่หากรัฐธรรมนูญยังเป็นเช่นนี้ท่ามกลางเครื่องหมายคำถามมากมาย ปล่อยให้ใช้ไปก่อนก็ห่วงว่าประเทศไทยจะกลายเป็นหนูลองยา แล้ววันหนึ่งวงจรอุบาทว์อาจย้อนกลับมาอีกและคนไทยทั้งประเทศต้องมารับชะตากรรมกับความเสียหายโดยไม่จำเป็น
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า อยากให้กมธ. ยกร่างฯ อดทนรับฟังข้อแนะนำทักท้วง โดยปราศจากอคติ ไม่ดูแคลนฝ่ายอื่นว่าไม่ยอมรับเพราะมีผลประโยชน์แอบแฝง ต้องยอมรับความจริงว่ามีหลายมาตรา มีผลตรงข้ามกับที่กมธ.ยกร่างฯพยายามบอก เช่น การเพิ่มอำนาจประชาชนกลายเป็นแค่ผักชีโรยหน้า เนื้อลึกข้างในคือการให้อำนาจล้นฟ้ากับสารพัดองค์กรสืบทอดอำนาจที่ตั้งขึ้น เพื่อให้มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและหน่วย งานรัฐ โดยปราศจากกลไกตรวจสอบถ่วงดุล ไม่ว่าจะเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ สมัชชาคุณธรรม คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการฯ
'บิ๊กจิ๋ว'เตือนจะมียึดอำนาจอีก
วันเดียวกัน ที่ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการพีซ สเปเชียล ทางช่องพีซทีวี ว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ไม่พยายามเขียนเพื่อให้อำนาจกับประชาชน มีแต่สร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมา สุดท้ายทหารก็เข้ามายึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง อ้างเหมือนทุกครั้งว่านักการเมืองแก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้ มีปัญหาทุจริต ข้าวยากหมากแพง สุดท้ายประชาชนคือผู้ที่เดือดร้อนและได้รับผลกระทบโดยตรง หากยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ เชื่อว่าจะซ้ำรอยเดิม
"หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีทหารจะยึดอำนาจอีก ดังนั้นขณะนี้ยังมีเวลา อะไรที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง ขอให้ปรับแก้ ผู้มีอำนาจต้องรับฟังเสียงประชาชนให้มากขึ้น ขณะที่ประชาชนต้องทำให้ผู้ปกครองรู้ หากไม่พอใจ ขอให้แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา แต่ต้องอยู่ในแนวทางสันติ อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินต้องช่วยกัน ใครจะมาห้ามเราแสดงออกไม่ได้เพราะเป็นสิทธิ" พล.อ.ชวลิตกล่าว
แนะทหารอยู่สั้นที่สุด
พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า แม้ขณะนี้ทหารใช้ อำนาจรัฏฐาธิปัตย์เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งตนเข้าใจถึงความปรารถนาดีที่ไม่ต้องการเห็นบ้านเมืองขัดแย้ง แต่บางทีก็ใช้อำนาจมากเกินไป ทั้งที่ต้องมีขั้นตอนปฏิบัติ สิ่งสำคัญคือควรอยู่ให้สั้นที่สุด และให้ผู้รู้คนอื่นๆ เข้ามาปฏิรูปต่อ มีคนถามตนว่าอยู่ข้างกลุ่มอำนาจเก่าหรือกลุ่มอำนาจใหม่ ตนบอกว่าอยู่ตรงกลาง อยากเห็นประเทศเดินหน้าต่อได้ ประชาชนมีความรัก สามัคคี แม้จะอายุ 84 ปีแล้ว ตนยังพูดกับเพื่อนผู้เฒ่าทั้งหลายเสมอว่าเราจะเลิกไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยกันดูแลบ้านเมือง ไม่อย่างนั้นนอนตายตาไม่หลับ
จากนั้นพิธีกรในรายการ ถามว่ามีโอกาสที่ประเทศจะเผชิญกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯหรือพฤษภาทมิฬอีกหรือไม่ พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า ตนไม่ใช่หมอดู อยากรู้ต้องไปถามนาย วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ หรือโหรวารินทร์ แต่เชื่อว่าไม่น่าเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก เพราะทุกคนรู้ดีว่าไม่เกิดประโยชน์กับบ้านเมือง
พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า ส่วนร่างรัฐธรรมนูญจะช่วยสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่าเพิ่งคิดถึงตรงนั้น รวมทั้งการทำประชามติด้วย สิ่งสำคัญคือขอให้ฟังเสียงประชาชนให้มาก เมื่อถามว่ามองว่ารัฐธรรมนูญ จะถูกฉีกอีกหรือไม่ พล.อ.ชวลิตกล่าวติดตลกว่า ก็ทำรัฐธรรมนูญขึ้นมา 2 ฉบับเลย จะได้ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกยึดอำนาจ ฉีกแล้วก็ยังเหลืออีกเล่ม
'ตู่'ขู่ฟ้องกสท.ปิดพีซทีวี
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.)มี คำสั่งปิดสถานีพีซทีวีว่า ในวันที่ 30 เม.ย. เวลา 11.30 น. ตัวแทนของพีซทีวีจะไปยื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอความเป็นธรรม ส่วนที่กสท. 4 คน มีมติปิดสถานี อ้างว่าเสนอข่าวเป็นภัยต่อสาธารณะ สร้างความสับสนให้บ้านเมืองนั้น ถือเป็นการกล่าวหาที่เป็นเท็จ ใส่ความและหมิ่นประมาทด้วย โดยมองว่า 4 กสท.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงเตรียมดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา
นายจตุพร กล่าวว่า ส่วนที่ตัวแทนพีซทีวีไปยื่นหนังสือต่อเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เมื่อวันที่ 28 เม.ย.นั้น หวังว่ากสทช.จะประชุมใหญ่ เพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับเรา ยืนยันว่าไม่ได้พูดอะไรที่สร้างความเสียหาย เพราะระมัดระวังคำพูด ไม่เช่นนั้นศาลคงมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวไปแล้ว หากร้องเรียนทั้งหมดแล้วยังไม่ได้รับความเป็นธรรม คงต้องยื่นถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ ถือเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะทำ
ลั่นคิดผิด-ระวังแรงกระเพื่อม
"การปิดพีซทีวีเป็นวิธีการไม่ฉลาดและคิดผิด เราอยู่ในคลองดีๆ กลับผลักเราให้ออกมหาสมุทร หากปิดพีซทีวีจริง ทั้งผม นาย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นางธิดา โตจิราการ หรือนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ พร้อมจะไปที่กมธ. ยกร่างฯ หรือสปช. ไปร้องกันวันละประเด็น จากที่เคยออกพีซทีวีช่องเดียว คราวนี้ได้ออกสื่อทุกช่อง ดังนั้น หากคิดจะปิดปากพวกผมเป็นวิธีการที่ผิด อย่าผลักพวกเราออกมาในขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองกำลังนิ่ง ใครเป็นเสนาธิการเรื่องนี้ ผมไม่ทราบ แต่ยืนยันว่าคิดผิด ขอเตือนว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมชนิดที่ฝ่ายวางแผนนั้นคาดไม่ถึง อย่าคิดว่าเอาอยู่ เพราะอะไรที่ไม่ชอบธรรม เอาไม่อยู่" นายจตุพรกล่าว
นายจตุพร กล่าวว่า ส่วนที่กสท.ปิดพีซทีวี อ้างประกาศคสช.นั้น ถามว่าได้ปฏิบัติกับเราเหมือนช่องอื่นหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นธรรม กสท.วินิจฉัยผิด และจะไม่เป็นผลดีต่อสถาน การณ์บ้านเมือง ใครที่วางแผนเรื่องนี้กำลังชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน และอาจเป็นปัญหาได้
ทหาร-ตร.บุกพีซทีวีห้ามยิงข่าว'จิ๋ว'
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงค่ำวันเดียวกัน มี เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเดินทางมายังสถานีโทรทัศน์ พีซทีวี เพื่อขอให้ระงับการออกอากาศเทปสัมภาษณ์พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี
นายจตุพร กล่าวว่า รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ พร้อมตำรวจ ทหาร ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการได้มาพูดคุยกับผู้บริหารสถานี เรื่องขอความร่วมมืองดนำเทปการสัมภาษณ์พล.อ.ชวลิต ที่นำมาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผู้บริหารสถานีได้พูดคุยและปฏิบัติตามด้วยดี ยอมงดรายการดังกล่าว และนำรายการอื่นมาออกอากาศแทน เนื่องจากเทปดังกล่าวได้ออกอากาศสดไปตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว ยืนยันว่าเนื้อหารายการไม่ได้มีส่วนใดเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่เป็นการเสนอความเห็นในการแก้ปัญหาในอดีตจนถึงปัจจุบัน
นายจตุพร กล่าวว่า สำหรับประเด็นคำสั่งบอร์ดกสท.ให้เพิกถอนใบอนุญาตนั้น ผู้บริหารอยู่ระหว่างการยื่นขอความเป็นธรรม รายการต่างๆ ยังออกอากาศตามปกติจนกว่าจะมีการพิจารณาอย่างเป็นทางการออกมา
สนช.เปิดซักถามคดี'จีทูจี'
นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สนช. ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ซักถามคดีถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และพวกกรณีการทุจริตการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เปิดเผยว่า การประชุม สนช.ในวันที่ 30 เม.ย.จะมีการพิจารณาคดีดังกล่าว เป็นการซักถามคู่กรณีทั้งฝ่ายผู้กล่าวหาคือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาคือนายบุญทรง นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เบื้องต้นได้รับการประสานจากทั้งสองฝ่ายว่าพร้อมจะมาตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง แต่หากถึงเวลาฝ่ายใดไม่ยอมมาตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง กมธ.ซักถามจะอ่านคำถามให้ฟังอย่างเดียว แต่ตัวแทนไม่มีสิทธิตอบคำถามให้ เหมือนกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีสมาชิก สนช.ยื่นคำถามเพื่อซักถามคู่กรณีทั้งป.ป.ช.และนายบุญทรงมายัง กมธ.ซักถามทั้งหมด 19 คำถาม ประกอบด้วยถามป.ป.ช. 2 คำถาม นาย บุญทรง 8 คำถาม นายภูมิ 6 คำถาม และนายมนัส 3 คำถาม โดยคำถามส่วนใหญ่เน้นถามฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทกวางตุ้ง และบริษัทไห่หนาน ว่าบริษัททั้งสองแห่งเป็นตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลจีนให้เป็นผู้ซื้อขายข้าวจริงหรือไม่ เพื่อพิสูจน์ว่า การทำสัญญาซื้อข้ายข้าวดังกล่าวเป็นการ ทำจีทูจีที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ เนื่องจากการไต่สวนของป.ป.ช.พบว่าบริษัททั้งสองแห่งมีสถานะเป็นเพียงแค่รัฐวิสาหกิจแต่ไม่ได้รับการมอบอำนาจให้เป็นตัวแทนจากรัฐบาลจีน
'บุญทรง-ภูมิ'ส่อแววถูกสอย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ได้พูดคุยเห็นตรงกันว่านายบุญทรงและนายภูมิมีแนวโน้มถูกลงมติถอดถอนค่อนข้างสูง เพราะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินโครงการจำนำข้าว จึงต้องมีส่วนรับผิดชอบเต็มที่ในฐานะเป็น รมว.พาณิชย์ และ รมช.พาณิชย์ และ สนช.ส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่าหลักฐานของป.ป.ช. มีข้อบ่งชี้ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นเรื่องการทุจริต ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ขณะที่การแถลงเปิดคดีต่อ สนช.ของนาย บุญทรงและนายภูมิ ที่ผ่านมาก็ไม่สามารถชี้แจงได้ว่าข้าวที่ส่งออกจากโกดังตามสัญญาซื้อขายนั้นมีปลายทางการซื้อขายอยู่ที่ใด เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าสัญญาการซื้อขาย ที่ทำเป็นจีทูจีเก๊
ส่วนกรณีนายมนัสแม้ สนช.จะเห็นว่ามีส่วนร่วมในการไปเจรจาทำสัญญาจีทูจีกับบริษัทของจีนทั้งสองแห่ง แต่ สนช.บางส่วนยังลังเลที่จะลงมติถอดถอน เนื่องจากเห็นว่าเป็นเพียงข้าราชการระดับอธิบดีที่ต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จึงอยากรอฟังการตอบข้อซักถามของนายมนัสเพื่อประกอบการตัดสินใจลงมติก่อน
'สุภา'ยันจำนำข้าวเจ๊ง 5 แสนล.
ที่สำนักงานป.ป.ช. น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. กล่าวระหว่างการอบรมหลักสูตรนิติเศรษฐศาสตร์ระยะสั้น รุ่นที่ 1 (ระดับที่ 2) ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. ถึงกรณีโครงการรับจำนำข้าวสมัย รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ถ้ามองในแง่ตัวเงินกฎหมายเขียนไว้ทันสมัย เรียกค่าเสียหายได้ โครงการนี้ใช้เงินไปเกือบ 9 แสนล้านบาท แต่โครงการนี้ขาดทุน เอาข้าวไปจำนำ 9 แสนล้านบาทแต่ขายได้เท่าไรก็ไม่รู้ แต่ในแง่หลักบัญชี โครงการนี้เสียหาย 5 แสนล้านบาท เพราะมีตัวเงิน กำไรออกไปแล้ว นี่คือความเสียหายที่เป็นตัวเงิน ยังไม่รวมความเสียหายที่เป็นสาธารณประโยชน์ อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินขาดทุน 5 แสนล้านบาทต้องเรียกคืนทั้งหมดจากโครงการนี้
น.ส.สุภา กล่าวว่า นอกจากนี้ต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้ทุจริตแล้วไม่คุ้ม ข้าราช การถูกชี้มูลความผิดแล้วต้องออกจากราชการทันที ไปอยู่เอกชนก็ไม่ได้ ไม่เป็นที่ยอมรับ หรือนักการเมืองทุจริตและถูกชี้มูลความผิดแล้วต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต เพื่อให้เป็นต้นทุนที่แพงที่สุดในชีวิตของเขา ไม่ใช่ตัดสิทธิ์เพียง 5 ปี แต่ให้เลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต
สหรัฐยังจับตาเข้มปชต.ในไทย
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เผยแพร่การแถลงข่าวของ นายเจฟฟ์ รัธคี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ในช่วงหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับประเทศไทย เมื่อมีผู้สื่อข่าวถามถึงการพบกันระหว่างนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศของไทย กับนายแอนโธนี บลินเคน ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศสหรัฐ เมื่อสัปดาห์ก่อนที่กรุงวอชิงตัน ที่ฝ่ายไทย ขอให้เข้าใจกันมากขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐ หลังจากรัฐบาลสหรัฐวิจารณ์ถึง การรัฐประหารของไทย และขอทราบความเห็นของรัฐบาลสหรัฐว่าคิดว่าสถานการณ์ทางการเมืองของไทยเริ่มกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยได้เร็วเพียงพอหรือไม่ มีประเด็นอะไรที่น่าจะต้องเร่งหรือไม่ และสองฝ่ายได้หารืออะไรกันบ้าง
นายรัธคี กล่าวว่า นายบลินเคนพบกับรมช.ต่างประเทศของไทยเพื่อหารือถึงความเข้าใจอย่างเป็นมิตร และยังหารือถึงข้อวิตกกังวลของสหรัฐต่อทหารไทย ว่ายังไม่ปล่อยการควบคุมรัฐบาล ประเทศไทยเป็นเพื่อนและพันธมิตรที่ทรงคุณค่าของสหรัฐ มีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์และความร่วมมือกันมายาวนานในหลายด้าน เราจะยังคงร่วมมือกันต่อไปในด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ
นายรัธคี กล่าวว่า ในการพบปะดังกล่าว ผู้ช่วยรัฐมนตรีย้ำถึงจุดยืนของสหรัฐ ว่ารัฐบาลชั่วคราวควรยกเลิกข้อบังคับอันไม่เหมาะสมในการควบคุมเสรีภาพพลเรือน เช่น การจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสันติ รวมถึงการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร การกักขังโดยไม่ต้องตั้งข้อหา นอกจากนี้ควรจัดตั้งกระบวนการปฏิรูปที่สะท้อนถึงความเห็นอันหลากหลายในประเทศ การนำประเทศหวนสู่ระบอบประชาธิปไตย และผู้ช่วยรัฐมนตรียังหารือถึงเรื่องรายงานการค้ามนุษย์และความวิตกเรื่องแรงงานทาส
'ตุ่น จินตะเวช'โรคหัวใจคร่าชีวิต
วันที่ 29 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคชาติไทยพัฒนาได้รับทราบจากทางครอบครัวของนายตุ่น จินตะเวช อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคชาติไทยพัฒนา ว่านายตุ่น เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 28 เม.ย. ด้วยอายุ 70 ปี และจะตั้งศพที่สำนักงานสาขาพรรคชาติไทยพัฒนา (บ้านของนายตุ่น) เลขที่ 381 หมู่ที่ 19 บ้านชัยอุดม ต.เมืองเดช อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-3พ.ค.
นายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ตนและทางพรรครู้สึกเสียใจกับการจากไป และเสียดายนายตุ่น เพราะถือเป็นสมาชิกพรรคและส.ส.ของพรรคมายาวนาน ตั้งแต่ยังเป็นพรรคชาติไทย ถือเป็นกำลังสำคัญของพรรคในพื้นที่ภาคอีสาน ทั้งนี้ตนและแกนนำพรรค ได้แก่ นายนิกร จำนง และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค จะเป็นตัวแทนพรรค ร่วมเป็นเจ้าภาพงานสวดอภิธรรม ในวันที่ 3 พ.ค. และร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 4 พ.ค. เวลา 14.00 น. ที่วัดเมืองเดช อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานีด้วย
งัดม.44 ตั้งศูนย์แก้ประมงผิดกม.
วันที่ 29 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 10/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม จากการที่ประเทศไทยได้รับการประกาศเตือนจากสหภาพยุโรป (อียู) ถึงการจัดให้มีมาตรการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) หากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เร่งด่วนภายใน 6 เดือน อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยในอนาคต ดังนั้น เพื่อให้เร่งแก้ปัญหาให้การทำการประมงได้อย่างยั่งยืนและเป็นระบบ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว หัวหน้าคสช.จึงมีคำสั่งดังนี้ ให้จัดตั้ง "ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย" (ศปมผ.) เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับนายกฯ มีผบ.ทร. เป็นผบ.ศปมผ. ให้ ศปมผ. เริ่มปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.
ศปมผ. มีโครงสร้างการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้มีคณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย ตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกฯ ให้กองทัพเรือและศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นหน่วยงานหลักของ ศปมผ. ปฏิบัติการทางทะเลและชายฝั่ง และปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้มีศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออกและศูนย์ให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่เรือประมงแบบเบ็ดเสร็จประจำในแต่ละจังหวัดชายทะเล
ให้ ศปมผ. จัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการแก้ปัญหาไอยูยู กำกับดูแลให้เป็นไปตามแผนนั้น รวมถึงทำความเข้าใจกับอียู ควบคุม สั่งการ ประสานการปฏิบัติการทั้งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติและส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง เสนอแนะปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กำหนดบทลงโทษ รายงานผลการปฏิบัติให้หัวหน้าคสช.ทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าอียู ยกเลิกประกาศเตือนประเทศไทย
พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ ศปมผ. และ ศรชล. ที่กระทำการตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ มีการกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนทั้งเจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการเรือประมง ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดฝ่าฝืนนำเรือประมงต่างประเทศ หรือเรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็นที่อยู่ในบัญชีเรือ ที่ห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรตามที่ ศปมผ. กำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30 ล้านบาท