- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 27 April 2015 10:40
- Hits: 4177
ถกผู้นำ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ถ่ายภาพร่วมกับกลุ่มผู้นำ
ประเทศอาเซียน ระหว่างร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26
ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์และลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 26-28 เม.ย.
สปช.ขวางกันเอง สภาขับเคลื่อน 'บิ๊กตู่'ว้ากข่าว เลื่อนเลือกตั้ง!
วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8916 ข่าวสดรายวัน
'บิ๊กตู่'บินมาเลย์ถกอาเซียน ฉุนประเด็นเลื่อนเลือกตั้ง ลั่นไปต่อไม่ได้ ก็ไปหาวิธีมา อภิปรายรธน.ร่างแรกวันสุดท้ายสปช.จังหวัดโต้ล็อบบี้'บวรศักดิ์' ขอชิงส.ว. สมัยหน้า ค้านเปิดสมาชิก สปช.นั่งกรรมการสภาขับเคลื่อน-กรรมการยุทธศาสตร์ รองประธานกมธ.ยกร่างฯ สวนนักเลือกตั้งมีปัญหาอะไรกับรธน.ยาว วิปขู่ไม่ปรับแก้สาระสำคัญมีปัญหาแน่'อลงกรณ์'เผยเบื้องต้นสปช. ขอแปรญัตติ 3 ปม ที่มานายกฯ-ส.ว.-กรรมการแต่งตั้งขรก. 'นันทวัฒน์'ติงรธน.แก้ยาก แนะตั้งองค์กรหลักเป็นเจ้าภาพ
นายกฯบินมาเลย์ถกอาเซียน
เวลา 14.15 น. วันที่ 26 เม.ย. ที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง กรุงเทพฯ (บน.6) เพื่อเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้ง ที่ 26 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงกัวลา ลัมเปอร์และลังกาวี ระหว่างวันที่ 26-28 เม.ย.
นายกฯให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางว่า อินโด นีเซีย มาเลเซีย และไทยได้หารือประสานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจมาโดยตลอด ขณะนี้ทุกประเทศมีปัญหาด้านเศรษฐกิจเหมือนกัน การไปร่วมประชุมครั้งนี้จะหารือว่าทำอย่างไรจะต่อเนื่องเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจ ในลักษณะการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การแข่งขันกัน แต่จะเป็นหุ้นส่วนพันธมิตร ทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรที่มีปัญหาต่อเกษตรกร ตนได้พูดเรื่องเหล่านี้ทุกเวทีทั้งยุโรปและตะวันตก ถ้าทุกคนในโลกนี้มองไม่เห็นความสำคัญ เรื่องของอาหารก็จะเป็นปัญหาต่อไป เพราะอาเซียนมีเกษตรกรด้านการเกษตรจำนวนมาก หากราคาด้านการเกษตรตกอย่างนี้และไม่ให้ความสำคัญต่อไปคนก็จะออกจากวงจรการเกษตร ทำให้ไม่มีเกษตรกร ไม่มีชาวนา แล้วเราจะเป็นแหล่งอาหารโลกได้อย่างไร จึงขอให้ช่วยกันผยุงราคาให้สูงขึ้น
สั่งแบงก์ปล่อยกู้รากหญ้า
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลจะทำทุกอย่างในการช่วยเหลือ แต่เกษตรกรและประชาชนต้องรู้จักเรียนรู้ เราจะพึ่งกันอย่างไร และจะให้รัฐทำอะไรให้ ไม่ใช่ทุกพวกทุกฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือทุกเรื่อง วันนี้ต้องรู้ว่าเศรษฐกิจตก รายได้ค่อนข้างมีปัญหา และมีมานานแล้ว ได้สั่งการไปยังธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐพูดคุยกัน ตนเป็นห่วงคนมีรายได้น้อย ซึ่งมีหลายระดับต้องการเงินตั้งแต่แสนบาทโดยไม่มีการค้ำประกันอะไร รัฐอาจพอช่วยได้ แต่ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องเข้ามาร่วมด้วย เข้าใจธนาคารพาณิชย์มีหลักเกณฑ์เรื่องให้เงินลงทุน เสี่ยงจะเป็นเอ็นพีแอลหรือหนี้เสียมากๆ ไม่ได้ แต่ตนจะหาทางคุยกับเขาว่าจะทำอย่างไรทั้งเรื่องดอกเบี้ย การผ่อนชำระ วงเงินให้กู้ การค้ำประกัน
นายกฯกล่าวว่า วันนี้หลายคนต้องการเงินตั้งแต่วงเงิน 1 แสนบาท โดยเฉพาะแม่ค้าข้าวแกง แม่ค้าขนม เพื่อนำเงินไปลงทุนประกอบอาชีพ แต่พ่อค้าแม่ค้าระดับกลางที่พอจะมีทุนหมุนเวียนมากหน่อยต้องการเงินกู้ 5 แสนบาท 1 ล้าน 5 ล้าน 10 ล้านบาท ก็ต้องหาแหล่งเงินให้เขา แต่ทำอย่างไรจะทั่วถึง สั่งการกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ไปดูก่อนที่ตนจะเดินทางกลับมาจากต่างประเทศว่าจะทำอย่างไร และจะมีมาตรการอะไรเสริมเข้ามา ทุกคนต้องช่วยกันต้องบอกความจริงกัน แต่ถ้าทุกคนจะเอาทั้งหมดโดยไม่มีอะไรเป็นหลักเกณฑ์และถ้าเป็นหนี้ศูนย์แบงก์ก็จะลำบาก ตรงนี้ต้องเห็นใจกัน มีทรัพย์สินอะไรก็เอามา ตนดูถึงขนาดหากจะเอารถเอาบ้านมาจำนองหรือ ค้ำประกันจะสามารถให้เงินกู้ได้เท่าไร
การเงินการคลังใช้ม.44ไม่ได้
นายกฯกล่าวว่า เรื่องการเงินการคลังบางครั้งสั่งมากไม่ได้ จะเอามาตรา 44 ไปสั่งโน้นสั่งนี่ คงไม่ถูก เพราะระบบการเงินมันยึดโยงกันทั้งประเทศและทั้งโลก แต่ทำอย่างไรเราจะช่วยกัน จึงต้องขอร้องเจ้าของธนาคารอาจผ่อนผันได้หรือไม่สำหรับคนที่มีหนี้สินเยอะ แต่ถ้าผู้กู้เงินมีทรัพย์สินมาค้ำประกันก็ให้เงินกู้เขามากหน่อย ไม่ใช่กดต่ำลงเหมือนปกติ ข้อสำคัญต้องให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน มากหรือน้อยก็ต้องให้ทุกพื้นที่ ทุกกลุ่ม ไม่ใช่ให้แต่กลุ่มตัวเองตรงนี้สำคัญ วันนี้บ้านเมืองไปไม่ได้แล้ว ความขัดแย้งก็มี โรคภัยไข้เจ็บก็มาก สาธารณสุขพื้นฐานก็แย่ การศึกษาก็มีปัญหา การเมืองก็มีปัญหา แต่เรื่องการเมืองไม่อยากลงไปยุ่งมากนัก ปากท้องสำคัญที่สุด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้พยายามทำให้อยู่ แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยเร็ว หลายเรื่องหลายคนตำหนิตนทุกวัน แถมปรามาสอีกจะเสร็จหรือ จะทำได้หรือเปล่า แบบนี้ไม่ถูก ต้องเปลี่ยนทัศนคติ วิธีคิดกันใหม่ ถ้าคิดแบบนี้ไม่มีทางเจริญเพราะไม่เข้าใจ ไม่เคยเข้าใจ และไม่คิดจะเข้าใจ ตนไม่ได้พูดถึงคนดี คนดีเยอะกว่าคนไม่ดีแน่นอน แต่คนไม่ดีพยายามปลุกปั่นยุยงให้คนเหล่านี้เข้าใจผิดๆ ต่อไป สื่อบางคอลัมน์ก็เขียนในเชิงไม่สร้างสรรค์ ไม่รู้ว่าวันนี้สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ตรงไหน และตนเข้ามาทำอะไร เข้ามาทำให้เกิดปัญหาขึ้นหรืออย่างไร
ปมค้ามนุษย์อย่ามาโยนคสช.
นายกฯกล่าวว่า แม้กระทั่งเรื่องไอยูยู เรื่องค้ามนุษย์เกิดขึ้นเมื่อไร 6 เดือนตนเข้ามาแก้ทุกอย่างและยังแก้ไม่ได้เลย เรื่องพวกนี้เกิดมากี่ปีแล้ว แล้วมาอ้างว่าตนเข้ามาควบคุมอำนาจทำให้เกิดไอยูยูกับการค้ามนุษย์ เรื่องพวกนี้ไม่ว่าตนจะทำหรือไม่ทำ มันมีการทุจริตอยู่แล้ว โดยเฉพาะการไม่ขึ้นทะเบียนเรือก็มีอยู่แล้ว แทนที่จะช่วยกันหารือร่วมกันและให้กำลังใจ ตอนนี้ข้างล่างมั่ว เละไปหมด รัฐบาลก็ต้องไปกวดขันเจ้าหน้าที่ทุกคน ทุกเหล่า ทุกหน่วยงานให้ทำงานได้ และวันนี้ก็เห็นขมีขมันทำงานกันทุกคน
"มันควรจะเป็นความบกพร่องใคร และใครที่ทำให้เกิดความเสียหายจนถึงทุกวันนี้ ไปหาให้เจอ อะไรก็มาโยนคสช. อะไรก็ ประยุทธ์ๆ ทุกอย่าง นอนไม่หลับ กินไม่ได้ ก็ประยุทธ์ ต้องใช้มาตรา 44 อีกรึเปล่าก็ไม่รู้ เรากำลังอยู่ในช่วงวิกฤต มันไม่ดีมาตลอด เพียงแต่มันไม่ออกมา แต่พอผมเข้ามา มันก็ออกมา แล้วก็มาซ้ำเติมผม ใครจะมามีกำลังใจทำ แต่ผมก็ยังอดทนอยู่ไม่ว่ากัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มาตรการหรือแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างการสนับสนุนเอสเอ็มอี ตนสั่งการลงไปแต่คนทำล้านคน ข้างล่างจะทำสักกี่คน จะสำเร็จหรือไม่ แต่ถ้าทำอย่างที่บอกไปสำเร็จแน่ และถ้าทำ 30% อีก 70% ไม่ทำจะสำเร็จหรือไม่ โครงสร้างเหล่านี้มันจะเกิดหรือไม่ เพราะงานด้านเศรษฐกิจเป็นโครงสร้างที่เหมือนร่างกายคน ถ้าจะมีแรงต้องมาจากปอด ตับ ไส้ พุง ไม่ใช่ข้าราชการคนเดียว หรือรัฐบาลอย่างเดียว ประชาชนต้องร่วมด้วย พ่อค้าคนกลางทั้งหมดต้องช่วยกัน
จี้คนรวยเสียสละ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจนอกประเทศ 70% และรายได้รัฐมาจากการส่งออก วันนี้การส่งออกก็ตก เขาไม่ซื้อ การซื้อน้อยลง เขาขัดแย้งเศรษฐกิจตก ก็ซื้อน้อย ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของไทยทำแบบขายอย่างเดียว รัฐบาลก็อำนวยความสะดวกตามกฎหมาย ไม่ได้มาบี้มาตามจี้กระทรวงพาณิชย์แบบตน มีการว่ากระทรวงพาณิชย์ทุกวันทั้งที่ทำมากกว่ารัฐบาลอื่นๆ ด้วยซ้ำ ทั้งเดินสายต่างประเทศ เปิดตลาดรองในประเทศ เอสเอ็มอีมี 90% ขึ้นทะเบียน 6 แสนราย อีก 2.6 แสนรายหายไปไหน เพราะกลัวภาษี เจ้าหน้าที่ก็ปล่อยปละละเลย ต้องรื้อทั้งระบบ
นายกฯกล่าวว่า สินค้าด้านการเกษตรวันนี้ที่ขายไม่ดี ราคาตก เป็นเพราะอะไร ข้าวค้างในคลังเพราะอะไร ข้าวฤดูการใหม่ที่จะออกมาจะทำกันอย่างไร ยังมีเรื่องราคายางอีก สาธารณสุขก็ไม่พอ การศึกษาก็ไม่ดี ฟรีทั้งหมด มันเหมือนกับเห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง แต่ตนก็แก้ไม่ได้เพราะมันทำไปแล้ว วันนี้คนรวยเสียสละด้วยหรือไม่ เอาส่วนที่มีไปให้คนที่มีรายได้ปานกลาง รายได้น้อย วันนี้ตนพร้อมบริจาค และไม่เคยไปรบกวนแต่เป็นสิทธิ์ของเขา
เลื่อนเลือกตั้งอยู่ที่ประชาชน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกรณีฝ่ายการเมืองระบุพร้อมให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยว่า ใครพูด นักการเมืองมีอำนาจอะไร จะให้ตนอยู่หรือไม่อยู่ รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าอย่างไร เรื่องนี้ต้องเป็นประชาชนที่จะว่าอย่างไร บอกประชาชนเป็นเจ้าของประเทศแต่จะให้มารุมทุกอย่าง ไม่ใช่
นายกฯ กล่าวว่า หรือกระจายอำนาจทุกอย่างได้หรือไม่ วันนี้กระจายไปเท่าไรแล้วทั้งอบจ. อบต. ดีก็มี ไม่ดีก็มี วันนี้ทุกคนไม่อยากให้มีผู้ว่าฯ ก็ได้ แต่วันนั้นจะแบ่งเป็นแต่ละพื้นที่แล้วก็รบกัน ถ้าพร้อมไม่ว่า แม้จะเอาอย่างสหรัฐอเมริกาก็เถอะ ถามเขาว่าแต่ละอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน รัฐ ห่างกันแค่ไหน ใช้เครื่องบินเดินทางครั้งหนึ่ง 5-6 ชั่วโมง แล้วประเทศไทยมันไกลกันอย่างนั้นหรือไม่ วันนี้มีอปท. เทศบาลดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องปรับปรุงคุณภาพให้ดี แล้วต้องคัดสรรจัดงานใหม่ ประชาชนจะได้อะไร งบประมาณมาจากไหน วันนี้มาบอกว่ากระจายอำนาจ ขนาดไม่กระจายอำนาจยังเละขนาดนี้ จะกระจายกันไปถึงไหนอีก แต่ถ้าอยากจะกระจายเป็นเรื่องของประชาชน
ให้อยู่ต่อต้องไปหาวิธีมา
"ใครจะมาพูดอะไรก็แล้วแต่ ให้ผมอยู่หรือไม่อยู่ มันอะไรกันนักหนา อะไรก็ผม ไปคิดกันมั่ง เขียนให้หมดแล้ว รัฐธรรมนูญก็เขียนแล้ว ประชามติไม่ได้เขียนไว้ อยากจะทำหรือไม่ทำก็เรื่องของคุณ เขียนทางเลือกไว้อยู่แล้ว ส่วนโรดแม็ปผมก็มีอย่างนี้ ตอนนี้มี 60 วัน 90 วัน ก็ต้องเป็นอย่างวันนั้นถ้ามันไปได้ ถ้าไปไม่ได้ก็ไปหาทางมา ผมจะไปแก้อะไรอีกเล่า" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า มีการประเมินว่าแนวโน้มสถานการณ์ไปได้หรือไม่ อย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้ เป็นเรื่องของทุกคนทั้งประเทศจะเอาอย่างไร จะมาโยนให้ตนคนเดียวได้อย่างไร จะให้ประเทศชาติเป็นแบบเดิมก็เชิญเลือกตั้งตามสบาย แล้วตนก็ไป แต่ถ้าจะให้อยู่ อยู่อย่างไร ไปหาทางมา ถ้าอย่างนั้นต้องช่วยตน เมื่อถามว่าฝ่ายไหนจะเป็นคนหาทางออก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้อย่ามาโยนให้ตน เป็นหน้าที่ของคนไทยทั้งประเทศ ทีอย่างนี้มาบอกว่าจะเอาฝ่ายไหน สื่อต้องไปบอกประชาชนแต่ไม่ต้องมาว่าว่าตนใช้สื่อ เพราะไม่เคยใช้ แต่สื่อต้องไปสร้างความเข้าใจกับคน เขาจะรู้เองว่าคิดอะไร ทำอะไร ทำไมต้องบอกทุกเรื่อง
โวยสื่อเก่งวิจารณ์
"เป็นปลาทองกันหรือไงต้องให้เอายามาหยอด ปลาทองที่เขาบอกว่าความจำสั้น เจออะไรไม่ถึงวินาทีมันก็ลืม ผมพูดไปเดี๋ยวก็จำกันไม่ได้แล้ว สื่อก็เอาไปเขียนให้ดีแล้วกัน ผมจะคอยดูที่เขียน ฟังรู้ พูดกันเข้าใจ แต่เวลาไปเขียนเป็นอีกแบบหนึ่ง ผมวงหนังสือพิมพ์ตอนอยู่ในรถเต็มไปหมด เก่งกันทั้งนั้น แนะให้แก้อย่างนั้นอย่างนี้ มันเคยเป็นอะไรกันมาบ้าง พวกวิจารณ์เคยทำอะไรกันสำเร็จบ้างไหม หรือทำหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เด็กยันแก่ วิจารณ์รัฐบาลโครมๆ นี่รัฐบาลควบคุมอำนาจ อย่ามาวิจารณ์ผมเหมือนไอ้รัฐบาลทั่วไป ไม่ได้ เราทำให้ทุกอย่าง แก้ทุกอย่าง มันยังว่าอีก มันเป็นอะไรของมัน หรือว่าผมใจดีเกินไปก็ไม่รู้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า สรุปว่าทุกวันนี้ยังเป็นไปตามโรดแม็ปใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบเสียงดังว่า วันหน้าก็จะเอาคำพูดตนมาว่าไม่ทำตามโรดแม็ป เป็นอย่างนี้ทุกที ใช่หรือไม่ วันนี้บอกว่าต้องทำตามโรดแม็ปอย่างนั้นอย่างนี้ พอถึงวันหน้าอะไรเกิดขึ้นก็ไม่รู้ แล้วมาว่าตนว่าเบี้ยวอีกแล้ว เป็นอย่างนี้กันทุกคน
แจงเปลี่ยนฉากหลัง'คืนสุข'
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการเปลี่ยนฉากรายการคืนความสุขให้คนในชาติเป็นโลเกชั่นป่าสีเขียวว่า ต้องการสื่อสารว่าป่าสวยงาม ประเทศไทยควรรักษาป่า ต้องการให้เห็นว่าไทยมีป่าที่สวยงาม มีบ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย ครั้งก่อนก็บอกให้ใช้ทะเล ก็ไปเอาทะเลทื่อๆ ทำไมไม่เอาทะเลที่มีความหมาย พระอาทิตย์กำลังขึ้น ตะวันกำลังรุ่ง ไม่คิดว่าประเทศไทยกำลังจะขึ้นมา มันตะวันจมน้ำมานาน รูปป่าเลือกมาเป็น 10 ป่า เลือกป่าที่สวยที่สุดเพราะเป็นป่าภาคเหนือที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นป่าต้นไม้ใหญ่ อยากให้บ้านเมืองมีป่าอย่างนี้หรือไม่ ต้องทำอย่างไร เวลาสอนคน พูดมากก็บอกว่ารำคาญ พูดพล่าม
จากนั้นถามหาหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ที่วิจารณ์ว่ามาหรือไม่ "บอกว่านายกฯ พูดมาก พูดพล่าม พูดไม่รู้เรื่อง คุณมาพูดสู้กับ ผมมา ไปเรียกมาพูดสู้กับผม คนเหล่านี้ไปเรียกมาอธิบาย มาดีเบตเป็นเรื่องๆ ไอ้พวกวิจารณ์ เรียกมาทั้งหมด เชิญมาทุกคนมาสู้กับผมคนเดียว"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายกฯ ก็เดินเลี่ยงกลุ่มผู้สื่อข่าวเข้าห้องรับรองเพื่อขึ้นเครื่องออกเดินทางไปมาเลเซียทันที
'ปู-ไปป์'ปลูกผัก-เห็ด
วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก "Yingluck Shinawatra" ช่วงนี้กิจกรรมยามว่างนอกจากออกกำลังกายแล้ว ยังหันมารับประทานของเพื่อสุขภาพ เพราะการรับประทานอาหารที่ดีจะทำให้ร่างกายดีขึ้น เลยใช้พื้นที่บ้านที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเพาะเห็ดและปลูกผัก เช่น ต้นกรีนโอ๊ก ตอนนี้เริ่มเก็บมารับประทานได้แล้ว
"ดิฉันกับน้องไปป์เลยมาช่วยกันชื่นชมและเก็บไปทาน เพราะทั้งสด กรอบอร่อย มีประโยชน์ ที่สำคัญปลอดสารพิษ โดยเฉพาะน้องไปป์ รู้สึกจะชอบทานผักสดขึ้นมาก เลยขออนุญาตเก็บมาเล่าให้แฟนเพจฟัง" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
สปช.จี้ทบทวนสภาขับเคลื่อนฯ
เวลา 09.30 น. มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง และมาตรา 36 ตามที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นวันที่ 7 วันสุดท้าย เป็นการอภิปรายเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรม นูญในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ส่วน 1 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ส่วน 2 การปฏิรูปด้านต่างๆ ต่อจากคืนวันที่ 25 เม.ย. สมาชิกสปช.อภิปรายอย่างกว้างขวางและเห็นด้วยให้มีการปฏิรูปในทุกด้าน แต่เห็นว่าควรบัญญัติให้ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ สปช.อภิปรายว่า ตนมีข้อสังเกตเรื่องกลไก โครงสร้างสภาขับเคลื่อนฯและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯยังมีจุดอ่อน คือยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาขับเคลื่อนฯว่ารับผิดชอบต่อใคร อำนาจหน้าที่เป็นอย่างไร หรือมีเพียงแต่ทำข้อเสนอนโยบายแล้วส่งต่อให้รัฐบาล และการส่งมอบจะทำอย่างไรไม่ให้มีรอยต่อเกิดขึ้น เพราะเข้าใจว่าเราดูรูปแบบการขับเคลื่อนมาจากมาเลเซีย ซึ่งมีแผนชัดเจน เป็นเอกภาพ ทำให้งานเรื่องการปฏิรูปออกมา สัมฤทธิผล
นายอนนต์ กล่าวว่า อยากให้มีการทบทวนกลไก โครงสร้าง และกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้สภาขับเคลื่อนฯมีความชัดเจนมากขึ้น โดยให้กำหนดเรื่องนี้ไว้ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงการปฏิรูปด้านต่างๆ และรองรับการเดินหน้าของประเทศทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน นอกจากนี้ ต้องการให้หน่วยงานขับเคลื่อนเป็นมืออาชีพ ขึ้นตรงต่อฝ่ายบริหาร ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ควรมอบงานเรื่องนี้ให้ฝ่ายบริหารรับผิดชอบเป็นหลักในเรื่องการจัดการ กลไก และองค์กรขับเคลื่อน ในรัฐธรรมนูญอาจกำหนดเพียงกรอบเวลาและแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้มีผลต่อความสำเร็จ
สปช.จังหวัดโต้ล็อบบี้ลงส.ว.
ด้านนายทิวา การกระสัง สมาชิกสปช.บุรีรัมย์อภิปรายว่า มีการกล่าวหาว่ามีการตกลงกันระหว่างกมธ.ยกร่างฯกับสมาชิกสปช.ที่มาจากจังหวัดที่ต้องการให้สปช.จังหวัดสามารถมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งส.ว.ได้ สิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นเท็จ เนื่องจากสปช.จังหวัดที่ไปพูดคุยกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ. ยกร่างฯ นั้นเป็นการพูดกันในห้องสีชมพู เพราะต้องการให้สมาชิกที่มาจากจังหวัดที่เป็นประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปให้ประชาชนทราบ เนื่องจากได้รับแรงกระแทกจากข้างนอก และข้างใน จึงอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ตนจึงบอกไปว่าถ้าต้องการให้ประชาชนยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มาของส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน
"ผมยืนยันว่าไม่เคยไปต่อรองกับนายบวรศักดิ์เลย ว่าต้องการให้เพื่อนสมาชิกสปช.ที่มาจากต่างจังหวัดสามารถสมัครรับเลือกตั้งส.ว. และตัวผมเองก็ไม่เคยคิดว่าจะสมัครรับเลือกตั้งส.ว. แต่การลงสมัครเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ยืนยันไม่เคยมีการต่อรอง" นายทิวากล่าว
สับสปช.นั่งสภาขับเคลื่อนฯ
นายทิวา กล่าวว่า ในส่วนของสภาขับเคลื่อนฯที่ระบุว่าให้มีสมาชิกสปช. 60 คน อยู่ในสภานี้ตนสนับสนุนส่วนนี้ แต่ไม่เห็นด้วยที่ระบุให้มีผู้ทรงคุณวุฒิ 30 คน ถือเป็นการล็อกสเป๊กเกินไป และอยากรู้ว่ากฎหมายเขียนเพื่อประโยชน์ใครให้ดูคนเขียน คือกมธ.ยกร่างฯทั้ง 36 คน หากสปช.รับรองแบบเอาง่ายก็เข้าตำรา อย่างมาตรา 279 เกี่ยวกับสภาขับเคลื่อนฯและคณะกรรมการยุทธศาสตร์เขียนเพื่อใคร มาตรานี้เขียนโต้งๆ เพื่อสปช. 60 คน สปช.ต้องมีอยู่ในสภาขับเคลื่อนฯนี้ เป็นการเอาพรรคพวกตัวเองเข้าไปเป็นถึง 60 คน ยิ่งกว่าตั้งเครือญาติเป็นผู้ช่วยสนช.และวุฒิสภา 50 เขียนแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตนเอง การตั้งสปช. 60 คนน่าอายยิ่งกว่า
กมธ.พร้อมทบทวน
จากนั้นพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า ทุกเรื่องที่บัญญัติมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่มาส.ว.ช่วงแรกก็มีสมาชิกเห็นด้วย แต่จากการรับฟังความคิดเห็นและจัดเวทีต่างๆ ทำให้ทางกมธ.ทบทวนในรอบสุดท้าย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบน่าจะให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้ง 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีการล็อบบี้และประธานกมธ.ยกร่างฯไม่มีอะไรอยู่ในใจหรือใช้อภิสิทธิไปฟังใครมา แต่ที่มาส.ว.ดังกล่าวเป็นเสียงส่วนใหญ่ของกมธ.ยกร่างที่เห็นด้วยในการปรับสัดส่วนให้ลดลง ส่วนเรื่องสภาขับเคลื่อนฯ ที่สมาชิกอภิปรายเกี่ยวกับสภาขับเคลื่อนฯที่มีจำนวน 120 คนมีที่มา 3 ทาง รวมถึงที่ตั้งข้อสงสัยถึงการให้สัดส่วนสปช.อยู่ในสภาขับเคลื่อนฯ เพราะทางกมธ.ยกร่างฯ เห็นว่าในเรื่องการปฏิรูปควรให้คนมีความรู้ในด้านต่างๆ เข้ามาอยู่ในสภาขับเคลื่อนฯ เพื่อให้การปฏิรูปทำได้ดี แต่เมื่อมีเสียงเห็นด้วยไม่เห็นด้วยจะนำมาชั่งน้ำหนักและปรับเปลี่ยนไม่ให้เกิดข้อครหาต่อไป
แนวโน้มเยียวยาคลุมปี"35
เวลา 10.45 น. เครือข่ายญาติวีรชนเหตุการณ์พฤษภา 2535 มาให้กำลังใจและมอบดอกไม้ต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ โดยมีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ และนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เป็นตัวแทนของ กมธ.ยกร่างฯ มารับหนังสือ โดยนายเอนกกล่าวว่า ขอบคุณสำหรับกำลังใจและหากเป็นไปได้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะเขียนเรื่องการเยียวยาให้ครอบคลุมถึงกรณีพ.ค. 2535 ด้วย
สปช.เกาะติดแปรญัตติ
เวลา 11.00 น. นายวันชัย สอนศิริ โฆษก กมธ.วิสามัญกิจการ สปช. หรือวิป สปช. แถลงภาพรวมการอภิปรายร่างแรกรัฐธรรม นูญระหว่างวันที่ 20-26 เม.ย. ว่า การประชุมตลอด 7 วันที่ผ่านมาเป็นการประชุมที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีความสมบูรณ์นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างตรงจุด และช่วยการวางรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยสปช.ได้ช่วยนำเอาประสบการณ์การทำงาน ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละคน ตลอดจนเสียงของประชาชนที่ได้รับฟังจากเวทีต่างๆ ผ่านช่องทางต่างๆ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์
นายวันชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อไป สปช.จะรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ พร้อมทั้งจะดำเนินการส่งคำขอแก้ไขเพิ่มเติมของสปช. ต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ภายใน 30 วัน เพื่อให้ กมธ.ยกร่างฯ นำคำขอแก้ไขดังกล่าวไปประกอบการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญก่อนจะส่งกลับมาให้ สปช.พิจารณาอีกครั้งในช่วงเดือนส.ค.นี้ ทั้งนี้ ระหว่างที่ กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ สปช.จะทำงานร่วมกับ กมธ.ยกร่างฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด นอกจากนี้ สปช.จะเร่งดำเนินการจัดทำรายละเอียดของวาระปฏิรูป 36 วาระ และวาระการพัฒนา 7 วาระ ให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว เพื่อทำให้แนวคิดการปฏิรูปประเทศที่ได้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลปฏิบัติอย่างเป็น รูปธรรม
ขู่ไม่ปรับแก้-มีปัญหาแน่
นายวันชัยกล่าวว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เชื่อว่าจะผ่านความเห็นชอบจากสปช. แต่ถ้า กมธ.ยกร่างฯ ไม่แก้ไข ไม่ฟังความเห็นที่ สปช.เสนอแนะเลย แบบนั้นจึงจะเป็นปัญหา แต่จากการอภิปรายทั้ง 7 วันเชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯ จะนำไปแก้ไข
นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนที่นักการเมืองออกมาโจมตีว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการสืบ ทอดอำนาจเผด็จการ และวางแนวทางให้ผู้มีอำนาจสืบต่อ ตนยืนยันว่า กมธ.ยกร่างฯ และ สปช.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อประชา ชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ร่างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจ เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือสกัดกั้นนักการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งนักการเมือง นักบริหาร ที่ฉ้อฉล โกงกิน ก็จะเกรงกลัว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มีมาตรการที่จะขจัดนักการเมืองที่ฉ้อฉล ให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบ จึงทำให้นักการเมืองหวั่นไหว ถ้าใครเป็นนักการเมืองที่ดีก็ไม่ต้องเกรงกลัวรัฐธรรมนูญนี้
เมื่อถามภายหลังการอภิปรายของ สปช.กระบวนการแปรญัตติจะเป็นอย่างไร นาย วันชัยกล่าวว่า ในวันที่ 27 เม.ย.ทราบว่าจะมีการประชุมของคณะกรรมาธิการ สปช.หลายคณะ เพื่อกำหนดประเด็นในการแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการประสานกันในแต่ละคณะเพื่อไม่ให้ประเด็นในการแปรญัตติมีความซ้ำซ้อน และในวันที่ 29 เม.ย.นี้คาดว่าวิป สปช.จะมีการหารือเรื่องนี้อีกครั้ง
เสนอรวมอบต.-เทศบาลตำบล
การประชุม สปช.ช่วงบ่าย เวลา 13.15 น. นายนิพนธ์ นาคสมภพ สปช. อภิปรายว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสนอให้ตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแก่บุคคล ขอตั้งข้อสังเกตว่าจะเสนอให้เป็นการอภัยโทษหรือพระราชทานอภัยโทษ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ก้าวล่วงพระราชอำนาจไม่เชื่อว่าจะปรองดองได้ การอภัยโทษเป็นเรื่องของพระบรมราชวินิจฉัย การที่ กมธ.ยกร่างฯ อ้างอิงแบบนี้เป็นแบบแอฟริกาใต้ ที่มีการปกครองระบอบประชา ธิปไตยแบบประธานาธิบดี แต่ของไทยเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มี พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ถ้า กมธ.ยกร่างฯ จะให้เป็นการอภัยโทษต้องชี้แจงให้ชัดเจน อีกประการหนึ่งถ้าผู้นำดีความปรองดองก็จะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะคำพูดของผู้นำต้องใช้วาจาสุภาพ ไม่โกหก ที่ผ่านมาผู้นำการเมืองโกหกจนขาดความน่าเชื่อถือ จึงขอให้ กมธ.ยกร่างฯ เขียนด้วยว่าให้ผู้นำทางการเมืองต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่โกหกเพราะทำให้ประเทศเสียหายมาก
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สปช. อภิปรายว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบราชการเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาซึ่งความถดถอย ขอเสนอหลักการปฏิรูปใน 2 ส่วน คือ หลักการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถึงจุดวิกฤตสำคัญที่ต้องแก้ไข เช่น ปัญหาค่าใช้จ่ายบุคลากรของภาครัฐที่สัดส่วนสูงขึ้น จนประเทศไม่เหลือเงินพัฒนาลงทุนเรื่องใหม่ๆ ขนาดกำลังคนภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี สัดส่วนข้าราชการต่อประชากรที่ไม่สมดุล คือ อัตราส่วนข้าราชการ 1 คน ต่อประชากร 25-30 คน ขณะที่ต่างประเทศอัตราข้าราชการ 1 คน ต่อประชากร 100 คน และการรวมศูนย์ของภาครัฐที่การทำงานยังล่าช้า ไม่ทั่วถึง จากสถานการณ์เช่นนี้การปฏิรูปจึงต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ต้องมีการลดกำลังคนให้สำเร็จภายใน 10 ปี
นพ.พลเดช กล่าวว่า การปฏิรูปการบริหารท้องถิ่น เทศบาลเมือง เทศบาลนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และกทม. รวม 286 แห่ง ให้คงไว้ แต่ส่วนของ อบต. เทศบาลตำบลขนาดเล็ก ให้ควบรวมโดยใช้กรอบอำเภอเดียวกันแล้วยกฐานะเทียบเท่าเทศบาลเมือง พร้อมกับเพิ่มภารกิจคณะกรรมการกระจายอำนาจแห่งชาติ โดยจัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการปรับขนาดและพัฒนาศักยภาพองค์กรท้องถิ่นให้มีความเหมาะสม
ค้านสปช.นั่งกก.ยุทธศาสตร์
การอภิปรายช่วงเย็นเวลา 16.15 น. สมาชิก สปช.อภิปรายอย่างกว้างขวาง นายเปรื่อง จันดา สปช.เพชรบูรณ์ อภิปรายว่าไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ เพราะอาจซ้ำซ้อนอำนาจ เห็นด้วยกับกระบวนการขับเคลื่อนการปฏิรูปที่ต้องทำต่อเนื่อง แต่ต้องคิดว่าจะเขียนไว้อย่างไรในรัฐธรรมนูญ โดยที่สปช.ไม่ต้องไปมีส่วนเกี่ยวข้อง และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ จะเกิดความเท่าเทียมในสังคม เพื่อไม่ให้ลูกหลานนำไปยกตัวอย่างในทางที่ไม่ดี เหมือนที่สภานี้มักยกตัวอย่างรัฐบาลก่อนมาพูด และเป็นห่วงในประเด็น กมธ.ยกร่างฯ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน จึงขอเสนอให้สปช.นัดพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอีกครั้ง เหมือนกับที่จัด ที่สภาการพยาบาลมาแล้ว แต่ครั้งนี้ขอให้มีเวลามากกว่าที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญก่อนจะลงมติให้ความเห็นชอบรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้ายในวันที่ 6 ส.ค.
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สปช.อภิปรายว่า เห็นด้วยกับมาตรา 282(8) การปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกประการ โดยเฉพาะระบบงานสอบสวนของตำรวจที่ต้องเป็นอิสระจากผู้บังคับบัญชา ต้องไม่ใช้ระบบชั้นยศแบบทหาร และไม่ถูกแทรกแซงจากการเมือง ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายก็ขาดหลักธรรมาภิบาล ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้บังคับบัญชา ดังนั้น มาตราดังกล่าวจึงเป็นมาตราที่ดี ในการกระจายการบริหารงานตำรวจไปสู่ระบบจังหวัด ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตำรวจประชาชนทำงานกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และแก้ปัญหาเรื่องของผลประโยชน์
หมอชูชัยสวน"รธน.ยาว"
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงว่า หมวดนี้มีสมาชิกสปช.อภิปราย 102 คนใน 17 มาตรา ถือว่าสัดส่วนสูงสุด ที่ผ่านมามีบรรดานักเลือกตั้งรุ่นเก่าและใหม่ออกมาให้ความเห็นว่าหากรัฐธรรมฉบับนี้ออกมาฉิบหายแน่ และมีข่าวว่าจะตัดรัฐธรรมนูญ 20 มาตรา รวมถึงจะตัดหมวดปฏิรูปด้วย ไม่รู้จะเดือนร้อนอะไรหนักหนากับการที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีมาตราเพิ่มจากรัฐปี 50 มา 6 มาตรา ความสั้นความยาวไม่เป็นปัญหาสำคัญ อยู่ที่สาระของแต่ละมาตรา
นพ.ชูชัย กล่าวว่า เรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐมีความกังวลใจว่าถ้าอยู่ในหมวดปฏิรูปจะมีเวลาเพียง 5 ปี ตนเชื่อว่ากมธ.ยกร่างฯจะไม่เพิกเฉยกับข้อเสนอเหล่านี้ เพราะถ้าแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐอยู่ในหมวดปฏิรูป รัฐบาลต้องทำตาม เพราะมีมาตรา 277 บทบัญญัติในภาคนี้ก่อให้เกิดความรับผิดชอบแก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน และพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามหลักการและระยะเวลาที่กำหนด และในมาตรา 102 หากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนที่กังวลว่า 5 ปีจะสิ้นสภาพหรือไม่นั้น ยืนยันว่า 5 ปีหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้จะเกิดเครื่องมือต่างๆ ในช่วง 5 ปี จะมีกฎหมายต่างๆ ออกมาบังคับ บางด้าน อาจจะมีผลไปอีก 10-20 ปี เราสามารถจัดการเรื่องเครื่องมือได้ภายใน 5 ปี อย่างไรก็ตาม กระบวนการทำงานระหว่างกมธ.ยกร่างฯ สปช. และประชาชน ร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนใหญ่ของบ้านเมืองนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เราเป็นเจ้าของร่วมกัน
เชื่อสปช.ผ่านร่างรธน.
นายประสาร มฤคพิทักษ์ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวถึงการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญตลอดระยะเวลา 7 วัน ว่าเป็นการอภิปรายที่มีคุณภาพและสร้างสรรค์ สมาชิกกับกมธ.ยกร่างฯมีไมตรีจิตต่อกัน นับเป็นมาตรฐานใหม่ของการอภิปรายในสภา อย่างไรตาม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังต้องฟังเสียงจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) รัฐบาล คสช. พร้อมกับการรับฟังเสียงประชาชนที่ยังแสดงความคิดเห็นเข้ามาหลายทิศหลายทาง และเมื่อถึงวันที่ 6 ส.ค. ซึ่งเป็นวันลงมติร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าสปช.ส่วนใหญ่จะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ
สปช.เตรียมยื่นแก้ 3 ประเด็น
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการวิป สปช. กล่าวถึงภาพรวมการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ว่า ช่วง 7 วันที่ผ่านมาในการประชุมส่วนใหญ่สมาชิก สปช.เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญร่างแรก มี สปช.บางส่วนที่อาจเสนอให้บางมาตราคงไว้ บางมาตราต้องปรับปรุง ส่วนประเด็นที่จะมีการเสนอขอแก้ไขในระหว่าง 30 วันนับจากนี้ไปสิ้นสุดวันที่ 25 พ.ค. การตัดสินใจครั้งแรกสุดท้ายก็ต่อเมื่อร่างรัฐธรรมนูญจะกลับมาสู่ สปช.อีกครั้งในวันที่ 23 ก.ค.
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า สปช.ส่วนใหญ่คิดว่าจะยื่นคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างแรกในประเด็นที่มาและคุณสมบัติของนายกฯ เพราะบางส่วนต้องการให้นายกฯ มาจากส.ส. อย่างเดียว บางส่วนเห็นด้วยกับการที่ต้องมีนายกฯ ที่ไม่ได้เป็นส.ส.แต่ไม่ควรบัญญัติไว้ในบทบัญญัติหลัก แต่ควรไปอยู่ในบทเฉพาะกาลเพื่อใช้ในกรณีวิกฤตฉุกเฉินเท่านั้น จากการประเมินแล้วพบว่า สปช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญร่างแรก
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ส่วนอำนาจหน้าที่ของส.ว. สปช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับความหลากหลายในองค์ประกอบที่มาส.ว. และเห็นด้วยกับการที่ส.ว.มีอำนาจเสนอกฎหมายปฏิรูป และค่อนข้างเห็นด้วยกับที่มาส.ว.ที่มาจาก 77 จังหวัดแต่ไม่ควรมีกรรมการกลั่นกรองอีกเพราะควรจะเป็นการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงมากกว่า
เลขาฯ วิป สปช.กล่าวว่า ประเด็นที่ สปช.เป็นห่วงอีกประเด็นคือรัฐข้าราชการ กรณีให้มีการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรมสำหรับข้าราชการซี 11 ระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ซึ่งมีอยู่ 33 ตำแหน่ง สปช.กังวลว่าจะทำให้ข้าราชการเป็นใหญ่อาจจะกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ที่จะไม่สามารถบริหารราชการให้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะข้าราชการจะกลายเป็นรัฐอิสระ ซึ่งอาจมีปัญหาต่อการขับเคลื่อนการบริหารประเทศของรัฐบาลในอนาคต โดยเฉพาะการแต่งตั้งปลัดกระทรวงที่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆ เสนอครม. เพื่อให้ยังคงยึดโยงกับ ครม.ที่เป็นผู้ดูแลกระทรวงหรือหน่วยงานนั้นๆ อย่างไรก็ตาม สปช.จะประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 28 เม.ย. เพื่อหารือเรื่องคำขอแก้ไขเพราะ สปช.มีสิทธิยื่นคำขอแปรญัตติ 8 ญัตติซึ่งจะต้องรับรองญัตติละ 26 คน และไม่สามารถลงชื่อเสนอซ้ำซ้อนกันได้
กก.ปรองดองแค่ชงอภัยโทษ
การอภิปรายช่วงค่ำ เวลา 19.05 น. นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงในส่วนของภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 3 การสร้างความปรองดอง ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเป้าหมายต้องการให้บ้านเมืองเกิดการปฏิรูปและปรองดอง จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ สร้างความสามัคคีระหว่างกลุ่มเหลือง แดง และอาจขยายไปถึงความขัดแย้งใน 3 จังหวัด ภาคใต้ หรืออาจขยายไปจนถึงผู้สูญเสียจากเหตุการณ์พ.ค.35 ก็ได้ บทเรียนที่ได้จากต่างประเทศเป็นบทเรียนที่ว่าด้วยการสร้างความปรองดองหลังจากมีผู้ชนะแล้ว สงครามสิ้นสุดแล้ว แต่ในประเทศไทยไม่มีผู้แพ้-ชนะและไม่ปรารถนาที่จะเห็นการแพ้ชนะก่อนจึงเริ่มการสร้างความปรองดอง คณะกรรมการจะต่อยอดความคิดข้อมูลจากนักวิชาการ รัฐสภา ที่ศึกษาวิเคราะห์ที่มาความขัดแย้ง และหาวิธีแก้ไขเสนอต่อรัฐบาล โดยคำนึงถึงหลักการสากล วัฒนธรรมไทยด้วย เชื่อบ้านเมืองจะกลับสู่สภาวะปกติได้ไม่ช้า
นายเอนก กล่าวว่า นอกจากนี้ ต้องจัดให้มีการศึกษาเรื่องรู้รักสามัคคี การสร้างสันติสุขเป็นอุดมการณ์ค่านิยมชุดใหม่ และอาจเสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ โดยไม่ได้ล่วงละเมิดพระราชอำนาจ รวมถึงอาจมีการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยรัฐบาลซึ่งไม่ใช่คณะกรรมการชุดนี้
เสนอกฎหมายไม่ได้ระบุชื่อ
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงข้อข้องใจสมาชิกเกี่ยวกับมาตรา 298 (6) ว่า การอภัยโทษในประเทศไทยต่างจากการนิรโทษกรรม ตามหลักวิชาการนิรโทษกรรมเป็นการล้างทั้งความผิดและโทษ ถ้ามีทะเบียนประวัติอาชญากรต้องลบและเป็นอำนาจนิติบัญญัติ แต่การอภัยโทษเป็นอำนาจบริหาร เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ การอภัยโทษไม่ได้ล้างความผิด ล้างแต่โทษ ดังนั้น ทะเบียนประวัติอาชญากร จะไม่ลบ ทั้งนี้ พระราชอำนาจใช้ได้ 2 ประเภท คือ 1.พระราชอำนาจที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้เป็นการเฉพาะราย ที่ชัดเจนที่สุดคือพระราชทานอภัยโทษผู้ที่ต้องขังในเรือนจำ และ 2.ไม่ใช่โทษอาญา เช่น โทษทางวินัย กรณีได้รับโทษทางวินัยแล้วมีพระกรุณาเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาขอความเป็นธรรม ทรงใช้พระราชอำนาจนี้ในหลายกรณี
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า คณะกรรมการ ดังกล่าวไม่มีสิทธิให้อภัยโทษใคร แต่สามารถเสนอพระราชกฤษฎีกาที่เป็นเงื่อนไขให้ ครม.เป็นผู้พิจารณา ตามหลักทั่วไปถ้านายกฯ เห็นด้วยก็จะนำความกราบบังคมทูลและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ดังนั้น มาตรา 298 (6) จึงไม่มีอะไรน่ากลัวทั้งสิ้น เพราะพระราชกฤษฎีการะบุชื่อคนไม่ได้ หากกำหนดจะขัดรัฐธรรมนูญ
ห่วงรธน.แก้ไขยากทำยุ่ง
เวลา 20.05 น. เป็นการพิจารณาในบทสุดท้ายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ สปช.อภิปรายว่า เข้าใจว่าทำไมรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงบรรจุบทสุดท้ายการแก้ไขเพิ่มเติมในบทรัฐธรรมนูญไว้ยาวพอสมควร หากจำเหตุการณ์ที่ผ่านมาปัญหาก็เกิดจากเรื่องนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จัดระดับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ คือ แก้ไม่ได้ตามมาตรา 299 ที่ระบุว่าการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะกระทำมิได้และแก้ได้ในมาตรา 300 ว่าการแก้ไขเพิ่มเติม ในบททั่วไป ภาคที่ 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน และการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ให้ดำเนินการตามมาตรา 302 ซึ่งในมาตรา 300 สามารถทำได้แต่ต้องทำประชามติ
นายนันทวัฒน์ กล่าวว่า จะเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นแบบทั่วไปแบบปกติ ตามรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 การออกเสียงต้องได้เสียงในสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง แต่ร่างฉบับนี้กำหนดว่าต้องได้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา แก้ได้ยากกว่าปี 40 และ 50 และก่อนถวายร่างรัฐธรรมนูญให้พระเจ้า อยู่หัวต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ จึงเห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้แก้ไขได้ยากแล้ว ยังมีกระบวนการออกเสียงประชามติที่แก้ไขได้ยากอีก และรัฐธรรมนูญนี้มีองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่มากมาย หากใช้ไปสักระยะหนึ่งต้องแก้ไข ต้องทำประชามติ คิดดูว่าจะยุ่งยากเพียงไหนและต้องเสียงบประมาณด้วย ขอฝากให้กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาถึงการใช้เสียง 2 ใน 3 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าควรทำในวาระสามก่อนทำประชามติ
เสนอตั้งเจ้าภาพแก้รธน.
นายนันทวัฒน์ กล่าวว่า มาตรา 303 ที่กำหนดให้ทุกรอบ 5 ปี ให้มีการแต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระประเมินผลการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติในลักษณะนี้เคยมีมาแล้วในรัฐธรรมนูญปี 40 ที่เขียนว่าเมื่อรัฐธรรมนูญใช้แล้ว 5 ปี ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. กกต.ทำรายงานการใช้รัฐธรรมนูญว่าต้องแก้ไขตรงไหน แต่ไม่เกิดการแก้ไขเพราะกลัวว่าจะมีคนอื่นพ่วงเรื่องอื่นให้แก้ไขด้วย ดังนั้น จึงเห็นว่าควรมีองค์กรขึ้นมาเป็นเจ้าภาพตรวจสอบการใช้รัฐธรรมนูญ สมมติให้สภาวิจัยแห่งชาติตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อวิจัยว่าปัญหาเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญหรือการใช้บังคับ จากนั้นให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะทำให้การแก้ไขง่ายขึ้น ไม่ต้องรวบรวมประเด็นใหม่ ไม่ถึงต้องตั้งองค์กรใหม่ให้ใช้เท่าที่มีอยู่ แต่ต้องเป็นองค์กรที่ค่อนข้างถาวรเพราะเข้าใจว่าหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปแล้วจะเกิดปัญหาขึ้นมากมาย
เสนอโละส.ว.พร้อมกันยกชุด
จากนั้นพิจารณาในบทเฉพาะกาล โดยนางกอบกุล พันธ์เจริญวรกุล สปช.อยุธยา อภิปรายว่า อยากให้สมาชิกพิจารณาตัดมาตรา 308 วรรค 4 ในบทเฉพาะกาลออก ที่ระบุว่าเมื่อครบ 3 ปีนับแต่วันเริ่มต้นสมาชิกภาพให้ส.ว.กว่ากึ่งหนึ่งคือ 94 คนออกไปก่อน และให้มีสิทธิรับเลือกเข้ามาใหม่ อยู่ได้ 6 ปี รวมเป็น 9 ปี เข้าใจดีถึงความตั้งใจดีของกมธ.ยกร่างฯ ที่คิดว่าอยากให้เกิดความต่อเนื่องหรือไม่มีสุญญากาศของการปฏิบัติงานของส.ว. แต่เราต้องไว้วางใจคนที่มาสมัครเป็นส.ว.จากการสรรหาหรือจากเลือกตั้งว่าเขามีวุฒิภาวะสูง หลายคนเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน และไม่จำเป็นจะต้องมีคนเหลือไว้ครึ่งหนึ่งเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เชื่อว่าชุดที่เข้ามาใหม่ตามรัฐธรรมนูญนี้ไม่ถึง 1 เดือนก็ทำงานได้หมดต่อเนื่องแน่นอน
นางกอบกุล กล่าวว่า ประเด็นความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมายและการตีความที่ต่างกัน รวมทั้งยังผิดเจตนารมณ์ ตามมาตรา 126 วรรคสอง ที่ระบุว่า เมื่อสมาชิกสภาพของส.ว.ที่กำหนดไว้คราวละ 6 ปี หมดลงแล้วจะดำรงตำแหน่งติดต่อกัน 2 วาระไม่ได้ ตนเห็นว่าถ้าเกิน 6 ปีเป็นการสืบทอดอำนาจนานเกินไป และเชื่อว่าจะไม่เป็นธรรมกับกลุ่มที่คัดออกไป 94 คน เพราะให้อยู่แค่ 3 ปี แล้วไปสรรหามาใหม่ก็จะได้กลุ่มเก่ากลับมาใหม่ ผลที่ตามมาคือจะก่อให้เกิดความไม่ปรองดองและสมานฉันท์ในกลุ่มส.ว.ดังที่ผ่านมา เพราะจะเกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบในการลงชิงตำแหน่งประธานวุฒิ และรองประธานวุฒิสภาอีก 2 คน และประธานกรรมาธิการอีก 20 กว่าคณะ กลุ่มที่เหลือจะได้เปรียบในการรวมกลุ่มกัน ทำให้ได้ตำแหน่งสำคัญไปหมด กลุ่มที่เข้าใหม่ก็ต้องรอไปอีก 3 ปี คิดว่าไม่เป็นการดี นอกจากนั้นตามข้อบังคับการประชุมจะต้องมีสมาชิกร้อยละ 85 หากครบ 3 ปี ก็จะเหลือสมาชิกเพียงร้อยละ 50 ความไม่ชัดเจนตรงนี้จะทำให้เกิดผลต่อการปฏิบัติงานของสมาชิกวุฒิสภาที่เหลือในขณะนั้น ว่าสมควรที่จะสามารถประชุมได้หรือไม่ และไม่ควรพิจารณาออกกฎหมายต่างๆ ได้ด้วยจำนวนส.ว.ที่เหลืออยู่ เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
ยังมีเวลา 60 วันทบทวน
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า กมธ.ยกร่างฯ ไม่ใช่อรหันต์ ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่มหาปราชญ์ ไม่ใช่ขันที เป็นเพียงปุถุชน 36 ชีวิต ที่มีความรู้ความสามารถ อาสามาทำงานเพื่อบ้านเมือง เผชิญหน้าสถานการณ์ที่หนักหนาสาหัส ร่างรัฐธรรมนูญบนความขัดแย้งและวิกฤตประเทศที่ดำเนินมากว่า 10 ปีเต็ม 36 คนนั่งเป็นกมธ.ยกร่างฯ ที่เหลือเป็นสปช. อยู่ใกล้หน้าต่างประวัติศาสตร์ที่จะนำก้าวข้ามความขัดแย้ง กมธ.ยกร่างฯ ออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป ออกแบบระบบเลือกตั้ง สถาบันการเมือง เพื่อให้มีความสมดุล ทั้งนักการเมืองและประชาชน ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ใช้เวลาเพียง 4 วินาที หรือ 2 วินาที ดังนั้นกมธ.ยกร่างฯ พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นของสมาชิกเพื่อนำไปปรับปรุง โดยกมธ.ยกร่างฯ ยังมีเวลา 60 วันที่จะพิจารณาทบทวนได้อีก
ยกเลิกจัดเสวนา'จอมพลสฤษดิ์'
วันที่ 26 เม.ย. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(อมธ.) และกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) แถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุขอยกเลิกการจัดกิจกรรมเสวนาสาธารณะ "จอมพลสฤษดิ์ และมรดกที่ประกอบสร้างจากยุคพัฒนา" ชี้แจงเหตุผลและรายละเอียดว่า ครั้งแรกตั้งใจจัดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ขออนุญาตใช้สถานที่กับทางมหาวิทยาลัยเมื่อ วันที่ 31 มี.ค. แต่ไม่ได้รับอนุญาต โดยให้เหตุผลว่าต้องได้รับอนุญาตจากคสช.ก่อน จึงทำหนังสือขออนุญาต คสช.ในวันเดียวกัน แต่กว่าจะได้รับอนุญาตก็ล่วงเลยจากวันที่กำหนดไว้แล้ว จึงต้องเลื่อนไป
ต่อมากำหนดจัดกิจกรรมในวันที่ 26 เม.ย. ทำหนังสือขออนุญาต คสช.เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ได้รับแจ้งจากทางมหาวิทยาลัยบ่ายวันที่ 20 เม.ย.ว่าได้รับอนุญาตแล้วให้ไปรับหนังสืออนุญาตที่สน.ชนะสงคราม เมื่อไปติดต่อสน.วันที่ 22 เม.ย.ได้รับแจ้งว่ายังไม่ได้รับหนังสืออนุญาต คาดจะได้รับภายในสัปดาห์นั้น แต่วันที่ 24 เม.ย.ได้รับแจ้งให้เปลี่ยนหัวข้อและเนื้อหาการเสวนา มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้จัด ทางผู้จัดจึงต้องยกเลิกการจัดกิจกรรมในที่สุด
ผู้จัดเป็นเพียงกลุ่มนักศึกษาที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ตนเองและผู้อื่น หากแต่ไม่ได้มีทรัพยากรมากเพียงพอที่จะอำนวยการจัดกิจกรรมทุกอย่างได้เอง จึงต้องขอพึ่งพามหาวิทยาลัย แต่ผู้บริหารก็ไม่ปกป้องคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการอันเป็นหัวใจของมหาวิทยาลัยไว้ กลับมอบอำนาจตัดสินใจให้บุคคลภายนอกเข้ามาแทรกแซง ผู้จัดในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยจึงรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง แต่จะพยายามหาช่องทางจัดกิจกรรมดังกล่าว
การเสวนาดังกล่าวดำเนินการโดย อ.ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. วิทยากรประกอบด้วย ด้านประวัติศาสตร์ อ.ศุภวิทย์ ถาวรบุตร จากคณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มธ. ด้านรัฐศาสตร์ อ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ม.จุฬาฯ และด้านเศรษฐศาสตร์ อ.อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
อย่างไรก็ตาม ในเวลา 12.30 น. ก่อนการสัมมนาที่แจ้งไว้ในเวลา 13.00 น. ที่อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ท่าพระจันทร์ มีประชาชนและนักศึกษาประมาณ 10 คนเดินทางมาร่วมฟังเสวนา เมื่อรู้ข่าวว่างดต่างพากันเซ็ง วิพากษ์วิจารณ์ก่อนแยกย้ายกันกลับ