WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

002

สมยศนำถก-ชนรธน. ชี้สอดไส้ ยันไม่เอา-ผ่าสตช. สปช.ก็รุมยำเละ'กมธ.'ถอยกรูด สมัชชาพลเมือง ปื๊ดยันไม่ตัดสิทธิ สมาชิก'109-111'

       'สมยศ' นำถกปฏิรูปตร. ค้านรธน.แยกงานสอบสวน เตรียมสรุปส่งบิ๊กป้อม โฆษกตร. ชี้มีเลศนัยสอดไส้ภายหลัง วอนอย่าใช้อคติปฏิรูปตำรวจ สปช.ก็โวยกลางสภา เพิ่มคำแยกตำรวจ ในรธน. ด้านกมธ.อ้าง ฝ่ายธุรการตัดคำ ไม่หมด ขณะที่'สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์'ชี้ปมสมัชชาพลเมือง คุณสมบัตินักการเมือง จะสร้างปมขัดแย้งใหม่ กมธ.ถอย รับทบทวนสมัชชาพลเมืองอย่างจริงจัง บวรศักดิ์ยันไม่ ตัดสิทธิ์'109-111' บิ๊กตู่เรียกครม.ถกแก้ ใบเหลืองอียู

วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8914 ข่าวสดรายวัน 

 


ทักทาย- พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ทักทายกับ ส.ต.ต.ชนาธิป สรงกระสินธ์ หรือ"เมสซี่ เจ" นักเตะทีมชาติไทย หลังแถลงผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ณ ห้องศรียานนท์ เมื่อ วันที่ 24 เม.ย. 

 

บิ๊กตู่เรียกถกแก้ใบเหลืองอียู

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมครม.เศรษฐกิจ มีรัฐมนตรี อาทิ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ใช้เวลาหารือนานกว่า 1 ชั่วโมง โดยไม่มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ว่า ทราบว่าที่ประชุมไม่ได้หารือเรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อเร่งขจัดประมงที่ผิดกฎหมายหลังคณะกรรมาธิการยุโรป (อียู) ให้ใบเหลืองการทำประมงไทยแต่ภายหลังจากจบการประชุมครม.เศรษฐกิจแล้ว นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เข้าหารือกับนายกฯ เป็นการส่วนตัว โดย ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องใด

ใช้ม.44เร่งรัดแก้ปมประมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจบการประชุมครม.เศรษฐกิจ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐ (คตร.) เข้าพบกับนายกฯที่ห้องทำงาน ตึกไทยคู่ฟ้า คาดว่าจะรายงานผลการทำงานในส่วนที่มอบหมายให้รับ ผิดชอบให้นายกฯรับทราบ ทั้งนี้ภายหลังการพูดคุยพล.อ.อนันตพรเดินทางกลับออกจากตึกไทยคู่ฟ้าทันที โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด 

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมายว่า การใช้คำสั่ง หัวหน้าคสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 มาร่วมแก้ไขปัญหาประมงที่ผิดกฎหมายนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า จะนำมาใช้เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งรัดปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาโดยต้องไม่ขัดกับหลักกฎหมายที่มีอยู่

พอใจผลถก"ศปป."สั่งจัดอีก

พล.ต.สรรเสริญยังกล่าวถึงกรณีศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) เชิญกลุ่มการเมือง นักวิชาการ พูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็นเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า เมื่อเช้า ศปป.รายงานผลการ หารือให้พล.อ.ประยุทธ์รับทราบว่าน่าพอใจ บรรยากาศการหารือก็ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ได้พอสมควร นายกฯจึงมีแนวคิดให้จัดเวทีรับฟังความเห็น ในลักษณะเวทีเราฟังเขา เขาฟังเรา ในช่วงที่สังคมมีประเด็นสำคัญ เพราะการสื่อสารผ่านสื่อหรือช่องทางสาธารณะ อาจไม่สามารถสื่อเจตนาได้ครบถ้วน จึงอยากให้พบปะซึ่งหน้า เพื่อถ่ายทอดความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ไม่ผ่านตัวกลาง จนเกิดการตีความหรือให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนได้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ และฝากขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมหารือ ซึ่งได้ พูดถึงการร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงการปฏิรูป ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการเดินหน้าประเทศในขั้นตอนต่อไป

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า นายกฯมอบให้คสช. เป็นผู้อำนวยการจัดเวทีดังกล่าว เนื่องจากประเด็นพูดคุยกัน ไม่เพียงแต่ครอบคลุมเรื่องการบริหารประเทศซึ่งเกี่ยวกับรัฐบาลโดยตรง แต่ยังครอบคลุมถึงร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และปฏิรูปประเทศดังนั้นคสช.ในฐานะ ต้นกำเนิดของทุกหน่วยงาน จึงอยู่ในฐานะที่เหมาะสมที่สุดในการประสานข้อมูลและ จัดให้เกิดเวทีดังกล่าว

วิษณุแนะตัดทิ้ง 20-30มาตรา

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของสปช.เกี่ยวกับข้อกังวลประเด็นการเมือง อาทิ ระบบการเลือกตั้ง ที่มานายกฯว่า ที่พูดในสภาเป็นส่วนหนึ่ง แต่จะมีความหมาย ต่อเมื่อสปช.ยื่นขอแปรญัตติแก้ไข ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. เป็นต้นไป โดยกมธ.ยกร่างฯจะเรียกไปชี้แจงเป็นรายคนไป หากกมธ.ยกร่างฯไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องไปปรับแก้ แต่จะต้องชี้แจงว่าเพราะอะไร ดังนั้นวิธีแก้เผ็ดของสปช.คือไปแก้แค้นตอนโหวตรับหรือไม่รับร่างอีกที เรื่องนี้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯบอกว่า จะตายตกไปตามกันหากสปช.ไม่รับร่าง

เมื่อถามว่ารมต.กระทรวงใดเสนอแก้ไข รธน.มาแล้วบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า มีบางส่วน เช่น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ส่งความเห็นมาให้แล้ว บางกระทรวงยังไม่ได้ส่งมาอาจเป็นเพราะยังไม่ได้เห็นตัวร่าง ส่วนที่สปช.มีข้อกังวลในการอภิปรายหลายประเด็น หลายมาตรานั้น ขึ้นอยู่ที่เนื้อหาและน้ำหนัก ส่วนตัวติดใจตรงที่เนื้อหามีมาก ดูแล้วน่าจะเอาออกประมาณ 20-30 มาตรา เพราะหลายเรื่องสามารถเขียนขึ้นในกฎหมายลูกก็ได้ และคิดว่าจะส่งความเห็นนี้ไปยัง กมธ.ยกร่างฯด้วยเช่นกัน

ปัดตอบระเบิดเวลาความขัดแย้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า นักการเมืองมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นระเบิดเวลาของความขัดแย้ง นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีความเห็น อย่างเรื่องที่บอกว่าจะให้เลื่อนเลือกตั้งก็รับทราบ ส่วนการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาให้ข้อมูล ได้ประชุมเมื่อ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา และได้รายงานต่อนายกฯว่า ได้รายชื่อของ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาแล้ว เป็นการทาบทามในขั้นต้น โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฝรั่งเศส และเยอรมัน 3-4 คน พร้อมจะเดินทางมาในเดือนพ.ค. แต่จะไม่มาพร้อมกันหมด ส่วนที่ขอมาในช่วงต.ค. พ.ย. ได้ ตัดทิ้งไป 

เมื่อถามว่าเป้าหมายเพื่อเพิ่มความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน แต่ต้องการสร้างความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง หมายถึงคนไทย ทุกคน เราไม่ได้ให้มาพูดเรื่องของเรา แต่เขาต้องเตรียมในการเผชิญกับคำถามซึ่งไม่รู้ว่าจะมาอย่างไร

"ป้อม"ชี้รธน.ต้องฟังประชาชน

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า ปล่อยให้เป็นหน้าที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญออกมาดีและประชาชนยอมรับ ต้องเอาเสียงประชาชนเป็นใหญ่ โดยให้สปช.ดำเนินการ รัฐบาลมีหน้าที่ทำตามที่ประชาชนต้องการ หากประชาชนต้องการอะไรก็ขอให้บอกมา ส่วนจะต้องทำประชามติหรือไม่ ยังไม่รู้ ตนไม่ค่อยชำนาญด้านกฎหมายเลยตอบไม่ได้ แต่ถ้าตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ว่าต้องทำประชามติ

"ไม่มีใครใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ไม่มีแน่นอน ไม่ได้เป็นอำนาจของคสช. สำหรับผม รัฐธรรมนูญต้องใหญ่ที่สุด อำนาจทั้งหมดอยู่ที่รัฐธรรมนูญ เขาเขียนอย่างไรต้องว่าตามนั้น ซึ่งเรื่องนี้คสช.ยังไม่ได้พูดคุยกัน เพียง แต่ทุกคนรู้หน้าที่ว่าต้องทำตามโรดแม็ป" พล.อ.ประวิตรกล่าว

เมื่อถามว่าแสดงว่ารัฐบาลยืนยันจะอยู่ ต่ออีก 2-3 ปี พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า รัฐบาลยังตอบไม่ได้ เราเดินตามโรดแม็ป 

นักการเมืองจับตาแก้รธน.

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการหารือดังกล่าว ซีกนักการเมืองต่างเห็นร่วมกันว่า ต้องการให้บ้านเมืองสงบ ไม่ขัดแย้ง ทุกคนพูดเพราะคิดเพื่อประเทศ ไม่ได้คิดเพื่อพรรค ทุกคนต่างเห็นร่วมกันโดยมิได้นัดหมาย ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นาย จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการและแกนนำพรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นห่วงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะไปไม่ได้ หากเลือกตั้งแล้วบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร หากเลือกตั้งบนสถานการณ์เช่นนี้ประเทศบอบช้ำแน่ ถ้าเป็นอย่างนี้คงไม่ใช่แล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้คงรอดูท่าทีว่าพ้นจากวันที่ 26 เม.ย.ไปแล้วอีก 30 วันจะออกมาอย่างไร ตอนนั้นจะมีการแปรญัติ และถูกนำเข้าสภาก็รอดูตอนนั้น

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เชื่อว่าคสช.ทราบดีว่าเขาจะดำเนินต่อไปอย่างไร การเชิญมาแสดงความคิดเห็นครั้งนี้เพื่อโยนหินถามทางเท่านั้น คสช.คงประเมินว่านักการเมืองหิวกระหายอำนาจ ซึ่งเขาคิดผิด เขาอาจคิดว่าเขียนรัฐธรรมนูญไปอย่างไรก็ได้ เอาไปก่อน ลงประชามติและทำเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการเลือกตั้งก่อนแล้วเข้าสู่อำนาจได้ แต่นั่นคือเขาอ่านนักการเมืองผิด การอภิปรายของนักการเมืองต่อศปป.นั้น เพราะนักการเมืองมองประเทศเป็นหลัก 

คาดอาจต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า นักการเมืองประเมินว่า ในที่สุดอาจต้องล้างกมธ.ยกร่างฯ สปช. แล้วนับหนึ่งรธน.ใหม่ ซึ่งจะทำให้คสช.อยู่ในอำนาจต่อไป ส่วนนายกฯคนนอกนั้น ยังคงเอาไว้แต่กระบวนการนั้นมาว่ากันใหม่ ทั้งนี้ประเด็นเรื่องที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส.ส. ส.ว. อาจถูกนำมาเป็นตัวต่อรองเพื่อไม่ให้มีพรรคการเมืองอีกต่อไป 

แหล่งข่าวระบุอีกว่า ช่วงนี้นักการเมืองโดนเงื่อนไขของคสช.ทั้งนั้น ทุกคนไม่ต้องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากนักในทุกเรื่อง รัฐธรรมนูญ สภาพความเป็นจริงของสังคม เพราะทราบดีว่าหากสะท้อนเรื่องใดไปในชั่วโมงนี้คงไม่เหมาะสม และ จะขาดอิสระในการดำเนินชีวิตเพราะขณะนี้หลายคนต้องขออนุญาตคสช.หากต้องการไปต่างประเทศ โดยเฉพาะตอนนี้หัวหน้าคสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ นั่นก็ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด

พท.ชี้ปรองดองต้องเป็นธรรม

วันเดียวกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัวถึงการร่วมประชุม กับศปป.ว่า บรรยากาศดี เป็นกันเอง และเปิดให้แสดงความเห็นเต็มที่ สาระหลักที่คุยกัน คือทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา เพราะอยากเห็นปัญหาของประเทศได้รับการร่วมมือกันแก้ไขโดยเร็ว 

นายภูมิธรรมระบุว่า สิ่งที่เราค่อนข้างเห็นเหมือนกันคือการปรองดองจะเกิดขึ้น กติกาของประเทศที่จะใช้ร่วมกันต้องเป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย ต้องยุติธรรม และทุกฝ่ายได้รับอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค ภายใต้กติกาเดียวกัน ควรเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ กว้างขวาง และเห็นต่างกันได้แต่ต้องไม่ชักนำ ยุยงให้ใช้ความรุนแรงต่อกัน

นายภูมิธรรมระบุว่า ควรเปิดโอกาสให้ ทุกคนแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ ประชาชนควรได้ตัดสินใจโดยประชามติ ควรลดเงื่อนไขบาดหมางขัดแย้ง ควรแก้ปัญหาคนที่ได้รับผลสะเทือนจากความขัดแย้งได้รับการประกัน ปลดปล่อยสู่อิสรภาพและคืนความยุติธรรม ความเห็นทั้งหมด ประธานที่ประชุมรับไปเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป 

ย้ำรธน.ต้องเป็นที่ยอมรับ

นายภูมิธรรมระบุว่า ส่วนที่ทุกพรรคต้องการให้เลื่อนเลือกตั้งออกไปนั้น น่าจะเป็นการสรุปที่ให้น้ำหนักการคุยที่คลาดเคลื่อน ความจริงสิ่งที่พรรคให้น้ำหนักคือรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ ซึ่งมีปัญหามากและจะสร้างปัญหาใหญ่ในอนาคต เราเห็นว่ายังมีเวลาแก้ไขปรับปรุงและจะใช้ช่องทาง เช่น ทำข้อสรุปเป็นลายลักษณ์อักษร เสนอ หัวหน้าคสช.เพื่อพิจารณาต่อไป หลายฝ่ายในที่ประชุมเห็นพ้องว่าเราต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ไม่สร้างปัญหา เคารพประชาชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่านี้ เราต้องการการเลือกตั้งที่เร็วและมีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตย เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน และแก้ไขปัญหาของประเทศได้ 


น.ศ.ร้อง - ตัวแทนนักศึกษากลุ่มเสียงจากหนุ่มสาวจากม.รามฯ ยื่นหนังสือต่อ นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการวิปสปช. เสนอให้บัญญัติวิชาประชาธิปไตยลงในหลักสูตรการศึกษาของไทย ที่บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 เม.ย.

นายภูมิธรรมระบุว่า ทั้งหมดเราไม่ได้คิดเพื่อตัวเราเอง ไม่ใช่ต้องการการเลือกตั้งเร็วๆ โดยไม่สนใจว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร จะสร้างปัญหาในอนาคตมากเพียงใด เราอยากได้การเลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญที่ดี ที่ทุกฝ่ายยอมรับ ตอบโจทย์แก้ปัญหาของประเทศได้ และควรยึดถือโรดแม็ปที่วางไว้ ยืดหยุ่น สมเหตุผล ใช้โอกาสที่พบกันเสนอความเห็นอย่างสร้างสรรค์และจริงใจ เพื่อหวังคลี่คลายปัญหาของประเทศ และฝากให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างเหมาะสมต่อไป ทั้งหมดที่นำเสนอเพื่อให้เกิดความชัดเจน และเห็นว่าการพบกันเช่นวันวานเป็นประโยชน์ และให้ความรู้สึกที่ดีต่อผู้เข้าร่วมพอควร 

จตุพรขอกติกาเป็นปชต.

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ขอส่งเสียงบอกนักเลือกตั้งว่าพอเถอะ อย่าเรียกร้องการเลือกตั้งโดยไม่สนใจกติกา เราต่างเห็นชัดเจนว่าถ้าเลือกตั้งภายใต้กติกาที่มีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ในการพิจารณาของสปช.อยู่นั้น มันไม่ใช่เฉพาะที่มาของนายกฯ ที่มาส.ว. ที่มาส.ส. แต่กลไกแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งแต่ละฝ่ายได้แสดงความรู้สึกออกมาทั้งศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ตำรวจ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และประชาชนส่วนต่างๆ ซึ่งต่างเห็นภัยของรัฐธรรมนูญในแง่มุมต่างๆ

นายจตุพรระบุว่า ภัยในความหมายของตนนั้น ตนไม่สามารถรับได้อีกแล้วในชีวิต ผ่านมา 2 เหตุการณ์ พฤษภา 2535 ตาย 40 คน สูญหาย 40 คน กระทั่งผ่านมาล่าสุด คือเหตุการณ์เดือนเม.ย.-พ.ค. 2553 ที่มีความตายร่วม 100 ชีวิต บาดเจ็บ 2,000 คน และใน วันนี้จากสถานการณ์บ้านเมืองมันจะนำไปสู่ความตายและการสูญเสีย ซึ่งเกินความรู้สึกของตนที่จะรับได้ ตลอดระยะเวลาเส้นทางนี้ บางห้วงเวลาเราอาจต่อสู้กันมาชนิดที่เลือด เข้าตา แต่วันเวลาที่เราสามารถพูดเพื่อป้องกันความตาย ความสูญเสียในอนาคตนั้น เราจึงควรพูดในวันที่เราป้องกันได้

ชี้รธน.58 แย่กว่า 50 หลายเท่า

นายจตุพรกล่าวอีกว่า จึงขอบอกไปยังนักเลือกตั้ง บอกตนเอง บอกเพื่อนๆ และประชาชนว่า เราอย่าโหยหาการเลือกตั้งที่อำนาจไม่ได้เป็นของประชาชน เพราะกลไกในรัฐธรรมนูญปี 58 นอกจากที่มานายกฯ ส.ส. ส.ว.แล้ว เรายังมีองค์กรอิสระอีก 11 องค์กร ซึ่งมีอำนาจมากกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 50 ในเมื่อรัฐธรรมนูญปี 50 สร้างความเสียหายตามความที่ปรากฏในความทรงจำของคนไทยกันอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญปี 58 นั้นรุนแรงกว่าหลายเท่า เราอย่ากลัวว่าการเลือกตั้งช้าแล้วประเทศจะเสียหาย แต่จงกลัวว่าการเลือกตั้งเร็วภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น จะสร้างความเสียหายมากกว่าชนิดที่เรียกว่าเทียบกันไม่ได้

"เราต่างปรารถนาให้มีรัฐธรรมนูญที่ดี ที่ถูกต้อง เป็นธรรม สิทธิ เสรีภาพจะนำไปสู่ความเสมอภาคและภราดรภาพ จะได้บังเกิดให้สังคมนี้ได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ให้ประเทศได้พลิกฟื้นสถานการณ์ของบ้าน เมือง ยืนหยัดอยู่ในสภาพการณ์ปกติ เพื่อประเทศไทยจะได้ท้าทาย ยืนอยู่ในเวทีของอาเซียน ในเอเชีย และในเวทีโลกได้" นาย จตุพรกล่าว

ศรีราชาอัดกมธ.ฝันเฟื่อง

ที่โรงแรมดีวาน่า พลาซ่า กระบี่ อ่าวนาง จ.กระบี่ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดโครงการสัมมนาสื่อมวลชน ประจำปี 2558 เรื่องปฏิรูปรัฐธรรมนูญ : ทิศทางใหม่ของประเทศไทยและระบบนิติรัฐ โดยนายศรีราชา วงศารยางค์กูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้รู้สึกว่ายังไม่เข้มข้น เถียงกันตามกระแส รัฐธรรมนูญจะสร้างสวยงามอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าคนภายใต้รัฐธรรมนูญไม่รู้จักหน้าที่ก็จะเป็นแบบที่เกิดขึ้น ฉะนั้นความสำคัญอยู่ที่ตัวคนไม่ใช่รัฐธรรมนูญ เขียนให้หรูแต่รู้เรื่องราวลึกซึ้งจริงหรือไม่ เช่น การรวมผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คนเขียนรู้บทบาทของสององค์กรนี้จริงหรือไม่ ไม่ใช่เขียนแบบแค้นนี้ต้องชำระ ท้ายที่สุดมันจะฟ้องว่ากมธ.ยกร่างฯ ทำถูกหรือทำผิด และกรรมนั้นย่อมจะตกไปถึงท่าน 

นายศรีราชากล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 เขียนให้รัฐบาลมีอำนาจมากเกินจนเกิดการปฏิวัติเมื่อปี 2549 มาตอนนี้เขียนสวนทางกลับกันให้มีอำนาจน้อยลง ให้เป็นรัฐบาลผสมก็จะมีปัญหาตามมาอีก เกรงว่าจะเละตุ้มเป๊ะ เขียนแบบให้รัฐบาลมีอำนาจมากยังดีกว่า เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้คนเขียนตั้งใจจะสร้างอะไรใหม่ๆ แต่ดูแล้วจะเป็นรัฐธรรมนูญแบบฝันเฟื่อง หลายสิ่งที่เรายังทำไม่ได้ เราไม่ได้คำนึงถึงสถานภาพที่ควรเป็นของประชาชน หรือไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพ การเงินการคลังว่าประเทศนี้ทำได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญนี้คงเป็นอนุสาวรีย์ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตว่าเคยพยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุด 

ศาลยื่นข้อเสนอแนะแก้รธน.

ที่รัฐสภา นายภพ เอครพานิช รองเลขาธิการสำนักงานยุติธรรม พร้อมด้วยนายบวรศักดิ์ ทวิพิพัฒน์ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม เข้ายื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติที่เกี่ยวกับศาลยุติธรรม โดยนายบวรศักดิ์กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ จะรับเรื่องไว้พิจารณา หลังจากนี้จะต้องนำร่างแรกกลับไปทบทวนอีกครั้ง โดยจะนำความเห็นจากทุกฝ่ายรวมถึงความเห็นของศาลยุติธรรมเข้าสู่การพิจารณาด้วย 

นายบวรศักดิ์กล่าวถึงกรณีที่พรรค การเมืองให้ความเห็นว่ารับได้หากเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปว่า ก็ต้องฟังความเห็นของเขา ต้องไปถามตัวแทนพรรคการเมืองใหญ่ที่พูดว่า พูดเพราะประสงค์สิ่งใด เพื่ออะไร แต่กมธ.ยกร่างฯ มีหน้าที่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่ต้องเสนอร่างสุดท้ายให้สปช.วันที่ 23 ก.ค. ก่อนลงมติในวันที่ 6 ส.ค.ต่อไป ถ้าสปช.ไม่รับก็ต้องมาเริ่มต้นเลือกกมธ.ยกร่างฯ และ สปช.ชุดใหม่ ส่วนวันที่ 26 เม.ย.นี้ กมธ.ยกร่างฯ จะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ คสช. ครม. สนช. พรรคการเมือง สื่อมวลชนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้กมธ.ยกร่างฯ ได้รับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายว่าส่วนไหน มาตราใด หากคงเอาไว้แล้วจะสร้างความวุ่นวาย แล้วก็ขอความกรุณาส่งกลับมาด้วยว่าจะให้แก้มาตราไหน แก้ไขเป็นอย่างไร แล้วจะให้เขียนใหม่เป็นแบบไหน ระบุมาให้ชัด 

ปื๊ดยันไม่ได้ตัดสิทธิ์"109-111"

"ถ้าทำอย่างที่ผมบอกถือว่าเป็นการเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์ และกมธ.ยกร่างฯ ก็จะพิจารณาอย่างจริงจัง ไม่ใช่มาเหมารวมว่า ผลไม้ในเข่งมี 315 ใบ อาจจะเสียไป 5 ใบ ก็ขอให้บอกมาว่า 5 ใบ ไม่ใช่บอกว่าผลไม้เสียทั้งเข่ง และผมจะตั้งแท่นรอเลยว่ามาตราไหนจะทำให้เสียหายแก่ใคร เสียอย่างไร และเพื่อผลประโยชน์ของใคร ผมจะรับฟังทั้งนั้น ส่วนเรื่องประชามติยังไม่แน่ใจว่าถึงเวลาที่จะมาพูดกันแล้วหรือไม่ แต่ความเห็นของกมธ. ยกร่างฯ 80 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งผม เห็นว่าต้องทำ แต่ขึ้นอยู่ที่อำนาจของ คสช.และ ครม.ว่าจะเห็นอย่างไร" นายบวรศักดิ์กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรา 111(8) หมายถึงการตัดสิทธิลงสมัคร ส.ส.บ้านเลขที่ 109 และ 111 หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่เกี่ยว เป็นการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 35(4) ให้เขียนชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้ผู้ต้องคำพิพากษาในคดีทุจริตหรือทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ส่วนมาตรา 111(15) ที่กำหนดว่า ห้ามผู้ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตก็ยึดมาตรฐานตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 

แจงวุ่นปมผ่าสตช.

นายบวรศักดิ์ยังกล่าวถึงบทบัญญัติมาตรา 282(8) ที่กำหนดให้แยกพนักงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า เนื่องจากกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวน การยุติธรรม สปช.ส่งข้อเสนอแนะแนวทางปฏิรูปตำรวจมาให้ล่าช้า และเมื่อส่งมาก็มีมา 2 ความเห็นคือ เสนอให้พนักงานสอบสวนมีอิสระในการทำงาน แต่ไม่แยกออกจาก สตช.กับเสนอให้แยกงานสอบสวนออกจากสตช. โดยความเห็นดังกล่าวที่ส่งมาลงนามโดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ 

"ยืนยันว่า ในส่วนนี้ กมธ.ยกร่างฯ มีมติเห็นว่าพนักงานสอบสวนควรมีอิสระแต่ต้องไม่แยกออกจากสตช. ซึ่งในการพิจารณาในวันดังกล่าว ผมกับนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขาฯ กมธ.ยกร่างฯ ติดภารกิจไม่อยู่ในที่ประชุม เจ้าหน้าที่ที่พิมพ์เนื้อหาร่างวันนั้นอาจไม่มีความชำนาญ จึงเขียนผิดมติกมธ.ยกร่างฯ และอาจเป็นความผิดพลาดของผมที่ไม่ได้อ่านทวนอีกครั้ง หลังจากนี้กมธ.ยกร่างฯ จะนำกลับไปแก้คำผิดให้เป็นไปตามมติที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ ต่อไป" นายบวรศักดิ์กล่าว

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กล่าวว่าโรดแม็ปวางวันเลือกตั้งไว้ช่วงปี 2559 ยังคงไม่เลื่อนออกไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่หากจะมีผู้ใดเสนอเป็นอื่น หรือยืดเวลาออกไปก็ต้องมาหารือกันอีกว่าถึงเหตุผลว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายเป็นหน้าที่ คสช.จะตัดสินใจ 

สมยศนำถกปฏิรูปตร.

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. เป็นประธานประชุมระดมความคิดเห็นกำหนดแนวทาง ในการปฏิรูปตำรวจของสำนักงานตำรวจ แห่งชาติ โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของตร. และคณะที่ปรึกษาร่วมประชุมนานกว่า 4 ชั่วโมง

พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผบ.ตร.ในฐานะโฆษกตร. กล่าวภายหลังประชุม ว่า วันนี้หารือหลายประเด็นอาทิการโอนย้ายภารกิจบางอย่างที่มองว่าไม่ใช่ภารกิจของตำรวจ เช่นตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจรถไฟ ยืนยันว่าตำรวจไม่ได้หวงอำนาจหรือหวงงานแต่หน่วยปลายทางไม่รับ เช่นกระทรวงคมนาคมก็ปฏิเสธที่จะรับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ยังอยากให้อยู่กับตำรวจ อยากให้ยกฐานะเป็น กองบัญชาการด้วยซ้ำไป หน่วยต่างๆ ที่ไม่อยากรับไป ชี้แจงว่าหากรับเกรงไม่สามารถทำให้มีประสิทธิภาพเท่าอยู่กับตำรวจ ส่วนเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขคือไม่ให้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับตำรวจจนเข้ามาเกี่ยวข้องในการแต่งตั้งตั้งบุคคล และต้องให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกมิติ

ค้านร่างรธน.มาตรา 282(8)

โฆษก ตร.กล่าวว่า เบื้องต้นในที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาในมาตรา282(8) มองว่าไม่ควรกำหนดแนวทางการปฏิรูปตำรวจอย่างลงรายละเอียดลงในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดให้แยกพนักงานสอบสวนออกจากตำรวจ ไม่ได้หวง แต่มองว่าทุกวันนี้ตำรวจทำงานเป็นทีมทั้งสืบสวนสอบสวนอยู่ด้วยกันทำงานสอดคล้องกัน หากแยกไปก็จะมีช่องว่างการประสานงาน อีกทั้งยังมีภาระเรื่องสถานที่ทำงานเมื่อต้องแยกหน่วยออกไป 

พล.ต.ท.ประวุฒิกล่าวต่อว่า ทั้งนี้มองว่า ผู้ที่บรรจุร่างนี้ลงไป มีอคติกับงานตำรวจ ทำอย่างมีเลศนัย และคล้ายมีการสอดแทรกหัวข้อนี้เข้าไปภายหลัง ดูรายชื่อก็รู้คนที่ร่วมคิดตรงนี้มีอคติกับตำรวจทั้งนั้น อย่างไรก็ตามจะรีบสรุปผลการประชุมวันนี้และจะนำเสนอต่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้พิจารณาโดยเร็วที่สุด เชื่อว่าพล.อ.ประวิตรเข้าใจตำรวจดี 


ต้อนรับจีน- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ถ่ายรูปหมู่กับ พล.อ.อ.สวี่ ฉีเลี่ยง รองประธานคณะกรรมาธิการกลางแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะเนื่องในโอกาสเดินทางมาเยือนไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 เม.ย.

ย้ำอย่าใช้อคติเป็นตัวตั้ง

พล.ต.ท.ประวุฒิกล่าวว่า ที่ผ่านมา ตร.ได้ระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อหาแนวทางปฏิรูปตำรวจตามที่สังคมต้องการ โดยรับฟังทั้งจากภาคประชาชน หน่วยงานที่ทำงานกับตำรวจ รวมทั้งตำรวจเอง โดยให้ น้ำหนักไปที่ภาคประชาชน และภาคหน่วยงานร่วมเพื่อให้การปฏิรูปตรงใจสังคม ทั้งนี้ สิ่งที่ตำรวจนำเสนอมาตลอด คือปัญหา ความขาดแคลน ทั้งด้านกำลังพลนับแสน งบประมาณ ค่าตอบแทน แต่สิ่งที่พยายามยัดเยียดให้ตำรวจคือเรื่องโครงสร้าง การโอนภารกิจ เหมือนมาเกาในที่ที่เราไม่ได้คัน อย่างไรก็ตามมองว่ายังเป็นเพียงร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับแก้ไข ถอนออกได้ ย้ำว่าหากจะแก้ไขปรับ ปฏิรูปตำรวจต้องให้เกิดประโยชน์แท้จริง ไม่ใช่นำอคติมาเป็นตัวตั้ง

กมธ.ยันรธน.ไม่ได้สุดโต่ง

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่า ตนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการต่อรองของพรรคและกลุ่มการเมืองหรือไม่ ยอมรับว่าการ ยกร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกใจทุกฝ่ายเป็นเรื่องยาก แต่ขอให้ทุกฝ่ายใจเย็น และรอร่างสุดท้ายในวันที่ 23 ก.ค.นี้ ซึ่งระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม พัฒนาขึ้นมาเพื่อความเป็น ธรรมต่อระบบการเลือกตั้ง ซึ่งการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้สุดโต่ง หรือร่างขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใด แต่ร่างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาประเทศ 

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่า วันที่ 1-6 มิ.ย.นี้ กมธ.ยกร่างฯจะเชิญทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง อาทิ คสช. สนช. พรรคการเมือง เข้าให้ความเห็นอย่างเป็นทางการ แต่ไม่รวมถึงกลุ่มการเมือง เนื่องจากกมธ.ยกร่างฯได้เปิดกว้างให้แสดงความเห็นมาได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ ประธานกมธ.ยกร่างฯจะลงนามส่งรัฐธรรมนูญร่างแรกให้ทั้ง 74 พรรค ไปศึกษาและเสนอความคิดเห็นกลับมายังกมธ.ยกร่างฯ ภายใน 1 เดือน 

นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการกมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) ให้สัมภาษณ์ถึงพรรคการเมืองเสนอเลื่อนการเลือกตั้งออกไป หลังร่วมเข้าหารือกับศปป. ว่า เชื่อว่าเป็นการประชดประชัน ตนมองว่าการเลือกตั้งจะถูกเลื่อนนานออกไปไม่ได้ ประเทศต้องกลับเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็วตามโรดแม็ป นั่นคือการเลือกตั้งจะมีได้ต้นปีหรือกลางปี 2559 

กมธ.แจงสปช.วันที่ 5

ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเสนอสปช. ตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง และมาตรา 36 ตามที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาเสร็จ เป็นวันที่ 5 โดยอภิปรายเนื้อหาในภาคที่ 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบ ผู้แทนที่ดี หมวด 7 การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น

นพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่ารัฐธรรมนูญนี้แบ่งการ กระจายอำนาจเป็น 4 เสาหลักคือ 1.การบริหารท้องถิ่นตรวจสอบได้ 2.การมีส่วนร่วมบริหารท้องถิ่นของประชาชน ทั้งทางตรงและทางอ้อมมากขึ้น 3.กระจายอำนาจสู่การปกครองท้องถิ่นให้มากขึ้น และ 4.เกิดความชัดเจนในเรื่องงบประมาณและทรัพยากร ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ เชื่อมั่นว่าทั้ง 4 เสาหลักนี้จะทำให้ท้องถิ่นแข็งแรง ทำให้ประชาธิปไตยระดับชาติก้าวหน้าขึ้นด้วย

พร้อมทบทวนสมัชชาพลเมือง

ด้านนายวุฒิสาร ตันชัย กมธ.ยกร่างฯชี้แจงว่า การตั้งสมัชชาพลเมืองจะเปิดให้ผู้สนใจมาร่วมกันแก้ปัญหาและให้ความเห็นผ่านรูปแบบประชาคม และผู้บริหารท้องถิ่นก็ต้องรับฟัง ซึ่งจะทำให้การเมืองท้องถิ่นเป็นแบบประนีประนอม ส่วนข้อห่วงใยเกี่ยวกับสถานะของสมัชชาพลเมืองนั้น จะหารือกันอย่างจริงจังอีกครั้งว่าเราจะออกแบบอย่างไร นอกจากนั้นยังตั้งคณะกรรมการกลางทำหน้าที่โยกย้ายข้าราชการท้องถิ่น ช่วยให้การโอนย้ายเร็วขึ้น เป็นหลักประกันว่าจะเป็นไปด้วยระบบคุณธรรม รวมทั้งจำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อให้เป็นองค์กรท้องถิ่นเต็มรูปในจังหวัด

จากนั้นสมาชิกสปช.หลายคนอภิปรายเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างชัดเจนมากขึ้น

สปช.จวกล็อบบี้ยัดม.216(3)

นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สมาชิกสปช.อภิปรายว่า ในมาตรา 216(3) เรื่องการกำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการท้องถิ่นโดยระบบคุณธรรมแต่ละจังหวัด ในชั้นคณะอนุกมธ.ไม่เอาด้วย 14 คน และเห็นด้วย 1 คนเท่านั้น แต่เมื่อถึงชั้นกมธ.มีการวิ่งล็อบบี้ จนที่สุดเสียงข้างน้อยสามารถนำมาตรา 216(3) เข้าบรรจุในรัฐธรรมนูญได้ แสดงว่ามีการวิ่งล็อบบี้ในชั้นกมธ.ยกร่างฯด้วย เป็นเรื่องที่ตนรับไม่ได้ ถ้าจะทำกัน อย่างนี้ คงต้องกลับไปปฏิรูปกันใหม่

นายเกรียงไกรกล่าวถึงที่มาของส.ว.ว่า ในส่วนส.ว.จังหวัดที่ต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองมาคัดเลือกผู้สมัครให้เหลือ 10 คน จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ถูกล็อบบี้ ไม่ถูกซื้อ ควรปล่อยให้ประชาชนเลือกตั้งไปเลยจึงจะเกิดความชอบธรรม คิดว่ามาตรานี้ไม่ควรบรรจุไว้ด้วยซ้ำ เพราะจะสร้างความแตกแยก

ชี้หลายมาตราสร้างปมขัดแย้ง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ สมาชิกสปช.อภิปรายว่า การเมืองโดยระบบตัวแทนท้องถิ่นทำให้เกิดความแตกแยก มาตรา 215 วรรคสาม คือสมัชชาพลเมือง เป็นความหวังของประชาชนที่จะได้มีส่วนร่วม แต่ในวรรคสี่ เกี่ยวกับคุณสมบัติ อาจเป็นอุปสรรคในการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้ข้อกังวลต่อหลักการดังกล่าว คือกรณีผู้แพ้เลือกตั้งในท้องถิ่นแล้วเข้าเป็นสมาชิกสมัชชาพลเมือง ซึ่งต้องทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ชนะเลือกตั้ง อาจกลายเป็นความขัดแย้งใหม่ในการเมืองท้องถิ่น

นายสนธิรัตน์กล่าวถึงสาระสำคัญในภาค 2 หมวด 3 รัฐสภา โดยแสดงความเป็นห่วงว่า ในมาตรา 111 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งในวงเล็บ 15 ระบุว่า ให้หมายความรวมถึงผู้เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือในการดำรงตำแหน่งอื่น อยากทราบว่าหมายถึงสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ด้วยใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ประเด็นนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ นำไปสู่ความแตกแยกอีกครั้ง ส่วนตัวยังเชื่อว่าไม่น่าจะหมายความรวมถึงบ้านเลขที่ 111 และ 109 แต่อยากให้กมธ.ยกร่างฯเขียนรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ให้ชัดเจน จะละเลยไม่ได้ เพราะถ้าไม่ได้ห้ามบ้านเลขที่ 111 และ 109 ควรเขียนให้ชัดเจนกว่านี้ว่า เป็นการตัดสิทธิทางการเมืองเนื่องจากการกระทำความผิดด้วยตัวเอง เพราะตนไม่อยากเห็นความขัดแย้งเกิดขึ้นทันทีเมื่อเริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้

เสรีโวยกลางสภาเพิ่มคำแยกตร.

จากนั้นสปช.เข้าสู่การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยมีนายบรรเจิด สิงคะเนติ กมธ.ยกร่างฯ ลุกขึ้นอภิปรายภาพรวมในหมวด 1 ศาล และกระบวนการยุติธรรม 

ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อภิปรายว่า สาระสำคัญเกี่ยวกับปฏิรูปตำรวจ มาตรา 282(8) บัญญัติให้การปรับปรุงระบบงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระ แยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ประเด็นนี้ตนถูกต่อว่าจากหลาย ภาคส่วนว่าเป็นข้อเสนอของกมธ.ปฏิรูป กฎหมายฯ แต่ข้อเท็จจริงกมธ.ปฏิรูป กฎหมายฯ ส่งข้อเสนอ 2 แนวทางคือ 1.แยกการสอบสวนให้เป็นอิสระจากตร. และ 2.ยังอยู่กับตร.แต่แยกเป็นแท่งต่างหาก ซึ่งในรายงานการประชุมของคณะกมธ.ยกร่างฯ มีมติให้บัญญัติว่าปรับปรุงระบบงานสอบสวนให้เป็นอิสระเท่านั้น แต่ในร่างรัฐธรรมนูญกลับปรากฏถ้อยคำว่า "แยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" เท่ากับว่าถ้อยคำที่เติมเข้าไปไม่ตรงกับมติของที่ประชุม และยังอ้างว่าได้บัญญัติไว้ตามข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯที่เสนอมา 7 ประเด็น ทั้งที่คณะกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯเสนอไป 15 ประเด็น แต่เมื่อเกิดความไม่ชัดเจนขึ้นตนในฐานะประธานกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ จึงได้หารือกับประธานสปช. เพื่อเลื่อนประเด็นพิจารณารายงานปฏิรูปตำรวจออกไป จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 28 เม.ย.นี้ 

กมธ.อ้างตัดคำไม่หมด

ด้านนายจรัส สุวรรณมาลา กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องการปรับปรุงระบบงานสอบสวน ที่สปช.มีข้อโต้แย้งไม่ตรงกันนั้นว่า เรื่องการปฏิรูปตำรวจนั้นเข้าใจว่ามติของกมธ.ยกร่างฯให้ตัดถ้อยคำ "ปรุง" และ "แยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" ออกจากข้อความนี้ "ปรับปรุงระบบงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระ แยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" แต่ทางฝ่ายธุรการตัดออกเพียง "ปรุง" ไม่ได้ตัด "แยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" ซึ่งเป็นความ ผิดพลาดที่เกิดขึ้น ตนที่เป็นผู้ดูแลและไม่ได้ตรวจดูก่อนต้องขออภัยในเรื่องนี้และขอบคุณนายเสรีที่เสนอแนะเรื่องดังกล่าว ส่วนที่นายเสรีระบุว่าส่งบันทึกข้อเสนอมา 15 ประเด็นแต่กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาเพียง 7 ประเด็น เนื่องจาก 7 ประเด็นเป็นเรื่องที่เรากำลังพิจารณากันอยู่ 

"อุดม"ซัดนิติกรรมอำพราง 

นายอุดม เฟื่องฟุ้ง สมาชิกสปช.อภิปรายว่า มาตรา 225 กำหนดว่าคณะกรรมการซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลใดต้องประกอบด้วยประธานของศาลนั้นเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลนั้นในแต่ละชั้นศาลในสัดส่วนที่เหมาะสมและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ และไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการซึ่งเป็น ผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลนั้นเป็นกรรมการ ซึ่งการที่เพิ่มเติมว่าต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิในรัฐธรรมนูญปี 40 กำหนดต้องมาจากคนนอก 2 คน แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้กำหนดสัดส่วนว่าไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จึงทำให้เกิดข้อกังขาว่าจะกำหนดกันอย่างไร 

"จึงขอเรียกบทกฎหมายนี้ว่า นิติกรรมอำพราง การตรากฎหมายแบบนี้ผมเห็นว่าน่าจะเรียกว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอเป็นความฝันของนักสหวิชาการ ขอร้องเรียนต่อรัฐบาลและคสช.ว่า เสี่ยงภัยมายึดอำนาจเพื่อต้องการบ้านเมืองเป็นปึกแผ่น นอกจากนี้เป็นทหารต้องผ่านการศึกษาตำราพิชัยสงครามมาในโรงเรียนทหารแล้วในวรรณกรรมสามก๊ก ที่สามก๊กรู้ว่าแผ่นดินจีนแตกออกเป็นสามก๊ก เพราะต้นเหตุมาจากขันทีที่อยู่ใกล้ตัวฮ่องเต้ ไปเท็จทูลฮ่องเต้ จึงทำให้จีนแตกออกเป็น สามก๊ก จึงต้องระวัง ผมจึงเปรียบว่ากมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นลักษณะเหมือนขันที ที่อาจทำให้บ้านเมืองแตกแยก ถ้าบ้านเมืองแตกแยกขันทีก็ต้อง รับผิดชอบด้วย" นายอุดมกล่าว

จากนั้นเวลา 16.25 น. เข้าสู่การพิจารณาอภิปรายในภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวสรุปรายงานของกมธ. 

รุมค้านรวม"กสม.-ผู้ตรวจ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการอภิปรายในช่วงค่ำของสมาชิกสปช.ในภาค 3 หมวด 2 การตรวจสอบกลไกภาครัฐนั้น มีสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง สปช.ส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยที่มีบทบัญญัติให้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) เนื่องจากไม่มีหลักประกันว่าเมื่อมีกจต.แล้ว จะทำให้การซื้อสิทธิขายเสียง หรือทุจริตเลือกตั้งหมดไป

ขณะที่สมาชิกบางส่วนคัดค้านกรณีควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ากับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพราะอาจกระทบต่อการทำงานของ 2 องค์กรที่มีอยู่เดิม เป็นการลดความน่าเชื่อถือและบทบาทการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ตามหลักการสากล หากควบรวมจริงอาจก่อให้เกิดปัญหาการทำงานได้ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว คือการควบรวมสำนักผังเมืองและสำนักโยธา ของกระทรวงมหาดไทย 

ติงเพิ่มอำนาจศาลรธน.

ขณะที่ พล.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา สมาชิก สปช.อภิปรายว่า กรณีระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจัดลำดับส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องจำหมายเลขผู้สมัครหลายหมายเลข ซึ่งอาจสร้างความสับสน รวมถึงอาจเกิดความ ผิดพลาดจนเกิดบัตรเสียจำนวนมากได้ ดังนั้นการออกแบบการเลือกตั้งต้องให้ประชาชนจดจำได้ง่ายด้วย เพื่อลดบัตรเสีย 

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ สมาชิก สปช.อภิปรายว่า วันนี้หลายองค์กรที่เคยถูกเรียกร้องให้ปฏิรูปกลับมาอำนาจเพิ่มขึ้น อย่างศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอำนาจตามมาตรา 7 การที่กมธ.ยกร่างฯมอบอำนาจให้ตุลาการ 9 คนวินิจฉัยในกรณีนี้อาจเป็นอันตรายหรือไม่ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปีจะมีองค์ความรู้วินิจฉัยเรื่องจารีตประเพณีในมาตราดังกล่าว

สปช.จี้เลิกสภาขับเคลื่อน

ต่อมาเวลา 19.20 น. ที่ประชุมสปช.เข้าสู่การพิจารณา ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง โดยนายบัณฑูรย์ เศรษฐ ศิโรตม์ กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า หากการปฏิรูปสำเร็จ จะนำไปสู่การเสริมสร้างความปรองดองได้ โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ รัฐสภา ครม. หน่วยงานของรัฐ และพลเมือง เป็นผู้รับ ผิดชอบ โดยมีสภาขับเคลื่อนสภาปฏิรูป เป็นหลักประกันความก้าวหน้า ขอยืนยันว่าสภา ขับเคลื่อนฯ ไม่ได้ต้องการให้สืบทอดอำนาจของสนช.และสปช หากสปช.เห็นเป็นอย่างอื่น กมธ.ยกร่างฯพร้อมรับฟัง 

ด้านสปช.หลายรายอภิปรายให้ยกเลิกสภาขับเคลื่อนฯ เพราะไม่มีความจำเป็น เปลือง งบประมาณ เกิดความเข้าใจผิดว่าจะใช้อำนาจซ้อนอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ขณะที่กรรมการยุทธศาสตร์ของการปฏิรูป แห่งชาติ เห็นว่าให้คงไว้ และกำหนดจำนวนเพียง 30 คน โดยบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ ควรกำหนดไว้เฉพาะคุณสมบัติ และอาจใช้ รูปแบบสรรหาเหมือนสปช. และส่งให้คสช. คัดเลือกอีกครั้ง และเห็นว่าควรยกเลิกเงื่อนไขการทำประชามติกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่าง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และรัฐบาล

จากนั้นเวลา 21.00 น. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. จึงสั่งพักการประชุม พร้อมนัดประชุมต่อภาค 4 ในวันที่ 25 เม.ย. เวลา 09.00 น.

บิ๊กตู่ขอฟังตปท.วิจารณ์รธน.

เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงกรณีอียูให้ใบเหลืองไทย ว่าแก้มาตลอดมีคณะทำงานเป็นวาระแห่งชาติ ที่ใช้มาตรา 44 ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ทหารทำงานได้ อย่าไปกังวล เรื่องใบเหลืองอย่าไปวิตก โทษใครไม่ได้ เราต้องแก้ไขให้ได้ รัฐบาลนี้แก้เต็มที่ ตนไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะเสร็จภายใน 6 เดือนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทุกคน ก็หวังว่ามันจะแก้ได้ 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญไปคิดเอา ตนฟังอยู่ทุกวัน ทุกคนตั้งใจ ไปคิดแล้วกันว่ารัฐธรรมนูญควรเป็นอย่างไร จะเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปอย่างไร ทำอย่างไรจะทำได้ ถ้าเป็นสากลอย่างเดียว เป็นแบบเดิมอย่างเดียวจะทำได้หรือไม่ ไปคิดกันมา การฟังความคิดเห็นจากต่างประเทศ เพราะอยากให้ฟังคนอื่นเขาบ้าง ส่วนใหญ่ก็คิดกันเอง เถียงกันเอง ทะเลาะกันเองมาตลอด ไปฟังเขาบ้าง ประเทศเขามาอย่างไร ประชาธิปไตยไทย ถ้าเราทำดี โลกเข้าใจ เรา วันหน้าจะได้ไม่ถูกประณามในโลกใบ ใหญ่ ตนต้องระมัดระวัง ไม่อยากให้คนประณาม 

"ตู่"เยือนมาเลย์-ถกอาเซียนซัมมิต

วันที่ 24 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังพล.อ.อ.สวี่ ฉีเลี่ยง รองประธานคณะกรรมาธิการกลางแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.ว่า พล.อ.ประยุทธ์แสดงความยินดีที่มีการหารือแลกเปลี่ยนประเด็นด้านความมั่นคงและการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพของทั้งสองประเทศ ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ไทย-จีน มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าและแนบแน่น โดยเฉพาะการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน มีการเดินทางเยือนในระดับราชวงศ์และผู้นำสูงสุด และยืนยันถึงนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับจีน เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ 

ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า รัฐบาลจีนเคารพการบริหารและทราบสถานการณ์ในประเทศไทย ปี 2557 ที่การเมืองตึงเครียดและหวังว่าไทยจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยการพูดจาและจะมีความมั่นคง

ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์และคณะจะเดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ในวันที่ 26 เม.ย. เวลา 14.30 น. เพื่อไปร่วมประชุมผู้นำอาเซียน(อาเซียนซัมมิต) ครั้งที่ 6 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์และเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย วันที่ 27-28 เม.ย. และใช้โอกาสนี้ผลักดันการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการส่งเสริมการเชื่อมโยงกันในทุกมิติ และเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำ IMT-GT ครั้งที่ 9 เพื่อทบทวน แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ในวันที่ 28 เม.ย. ที่เกาะ ลังกาวี และกลับถึงบน.6 ในเวลา 12.45 น. ทั้งนี้นายกฯมอบให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมครม.ในวันที่ 28 เม.ย.นี้แทน

วิษณุส่งปปท.ตรวจชื่อ 100 ขรก.

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ส่ง 100 รายชื่อข้าราชการส่อทุจริต กลับไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะฝ่ายเลขาฯ ของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) หาหลักฐานเพิ่มเติม ว่า จากการตรวจสอบพบว่าบางคนที่ส่งรายชื่อมาเกษียณอายุราชการไปแล้วจึงไม่รู้ว่าจะไปดำเนินการย้ายอะไร ถึงแม้จะพ้นบ่วงของการโยกย้ายและบ่วงการสอบวินัย แต่ยังมีบ่วงของการดำเนินคดีอาญาอีกบ่วง หนึ่งคนเราทำผิดหนีไม่พ้นบ่วงหรอก ขณะที่บางคนมีการเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล และหาตัวไม่เจอ ถ้าไปโยกย้ายผิดคนจะยุ่งไปกันใหญ่ ซึ่งในจำนวนนี้มีไม่มาก บางรายเปลี่ยนชื่อหรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะตรวจสอบรายชื่อไปที่กระทรวงต้นสังกัดและป.ป.ท.ก็ไม่ตรงและไม่พบรายชื่อ แต่นามสกุลเดียวกัน จึงไม่รู้ว่าเป็นคนเดียวกันหรือไม่

ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสข่าวอดีตผู้ว่าฯ 4 ราย เกี่ยวข้องกับการทุจริตการจัดซื้อยากำจัดศัตรูพืช โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ถ้าป.ป.ช.ส่งเรื่องกลับมาก็ลงโทษทางวินัยได้เลย หากผู้กระทำความผิดเป็นข้าราชการระดับ 10 ต้องไปขอใช้อำนาจนายกฯ ดำเนินการ ส่วนระดับ 10 ลงมาจะมีคณะกรรมการวินัยดำเนินการ หากเป็นบุคลากรของท้องถิ่นจะตั้งกรรมการตรวจสอบและลงโทษ ส่วนผู้ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วป.ป.ช.คงดำเนินการเอาผิดทางแพ่งและอาญาต่อไป

ปปช.รอพยาน"มาร์ค"คดี 99 ศพ

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สั่งสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2553 ว่า อยู่ระหว่างรอพยานที่นายอภิสิทธิ์อ้างไว้มาให้ถ้อยคำคือ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่จะมาด้วยตัวเองในวันที่ 28 เม.ย.นี้ และพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ. ที่จะส่งคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร จากนั้นจะพิจารณาว่าข้อมูลเพียงพอหรือไม่ หากไม่พอจะเชิญมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมได้

นายวิชากล่าวต่อว่า ส่วนข้อสงสัยที่จะสอบถามพล.อ.อนุพงษ์ จะดูประเด็นการทำงานในพื้นที่ เพราะทหารทราบดีเรื่องการควบคุมกลไกต่างๆ ส่วนนายถวิลจะทราบดีเกี่ยวกับแผนยุทธการ ซึ่งเราต้องการทราบว่าปรับเปลี่ยนวิธีการหรือไม่ เนื่องจากผู้ที่ไปชุมนุมไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายทุกคน จึงต้องดูว่ายุทธศาสตร์และยุทธวิธีปฏิบัติเป็นอย่างไร 

นายวิชากล่าวอีกว่า จากนั้นจะดูรายละเอียดที่ตำรวจไปดำเนินการมาใหม่ รวมทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่าเมื่อสอบไปแล้วได้เรื่องอย่างไร โดยเฉพาะที่จับกุมชายชุดดำ 5 คนได้ และส่งศาล เราต้องการคำพยานเหล่านี้ด้วย 

ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้ ส่งเอกสารไปยังป.ป.ช.แล้ว โดยชี้แจงตามที่ ป.ป.ช.สอบถามมา ส่วนตัวไม่หนักใจ

ศาลสั่ง"ทีโอที"จ่ายค่าเช่าที่หลวง

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2545 เฉพาะในส่วนที่ให้ บมจ.ทีโอที ใช้ประโยชน์บนที่ดินราชพัสดุ และที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยมิได้จ่ายค่าตอบแทน โดยให้ครม.ดำเนินการให้กระทรวงการคลังกำหนดค่าตอบแทน และให้ บมจ.ทีโอที จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดิน ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ในคดีที่นายชัยพฤกษ์ สิทธิศักดิ์ กับพวก ซึ่งเป็นพนักงาน บมจ.ทีโอที และผู้ใช้โทรศัพท์ ทีโอที. รวม 11 คน ยื่นฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และ รมว.ไอซีที รวม 5 คน ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2549 โดยขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 โดยให้ บมจ.ทีโอที กลับคืนฐานะนิติบุคคล องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 

โดยศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติ ครม. เมื่อวันที่ 23ก.ค.2545 เฉพาะในส่วนที่ให้บมจ. ทีโอที ใช้ประโยชน์บนที่ดินราชพัสดุและที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยมิได้มีการจ่ายค่าตอบแทน โดยให้ครม.ดำเนินการให้กระทรวงการคลังกำหนดค่าตอบแทนและให้บมจ.ทีโอทีจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดินตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!