WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

5

รธน.วุ่น-คสช.สั่ง รื้อ 3 ปม ศาล-ตร.-ที่มารมต. ถกปรองดอง'พท.-ปชป.'พรึ่บ เล็งเปิดเวทีให้คุยกมธ.ยกร่าง สนช.แถลงเปิดคดีข้าวจีทูจี ลงมติ 8 พค.-บุญทรงยันไม่ผิด

 

        ศปป.ถกปรองดอง เพื่อไทย-ประชาธิ ปัตย์-นปช.มาพร้อมหน้า 'บิ๊กเบี้ยว'สั่งห้าม วิจารณ์รัฐธรรมนูญรุนแรงเล็งเปิดเวทีถกร่วมกมธ.ยกร่างฯ 2 พรรคใหญ่เห็นพ้องต้องทำประชามติ ไม่สนหากเลือกตั้งช้า 2-3 ปี'บิ๊กตู่'หนักใจแก้ปัญหาไม่เสร็จ วอนนักการเมืองปรับตัว เผยคสช.สั่งรื้อรธน. เหตุผิดเพี้ยนจากมติกมธ.ยกร่างฯ ทั้งเรื่องปฏิรูปตำรวจ-ศาล-คุณสมบัติรมต. อภิปรายร่างวันที่สี่ 'ปู่ชัย'ค้านมีกลุ่มการเมือง ห่วงชาติฉิบหาย สปช.อัดเละระบบโอเพ่นลิสต์ สนช.แถลงเปิดสำนวนทุจริตข้าวจีทูจี ก่อนนัดลงมติถอดถอน 8 พ.ค. 'บุญทรง-ภูมิ'มั่นใจไม่ผิด วอนสนช.อย่าชี้นำศาล

ร่วมถก - นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่น้องเกดเหยื่อ 6 ศพวัดปทุมฯ พร้อมนักวิชาการ เข้าร่วมประชุมกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป โดยมีนักการเมืองและสื่อมวลชน รวม 38 คนเข้าร่วมด้วย ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีฯ เมื่อ 23 เม.ย.

 

ศปป.เชิญ 83 คนถกปรองดอง
      เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 เม.ย. ที่ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ทำจดหมายเชิญนักการเมือง นักวิชาการ นักศึกษา สื่อมวลชน ประชาชนหลายอาชีพ เข้าร่วมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาขัดแย้ง
     สำหรับ ผู้ได้รับการเชิญมีทั้งสิ้น 83 คน แต่มาร่วมประชุมเพียง 38 คน อาทิ พรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรค นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนาย วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรค ซึ่งได้นำนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค ที่ไม่ได้รับเชิญมาร่วมประชุมด้วยเพราะตนเองต้องออกจากห้องประชุมก่อน จึงให้นายชำนิประชุมแทน และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฏหมาย ส่วนพรรคภูมิใจไทย มีนายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรค พรรคชาติไทยมีนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรค
     นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. นายวรชัย เหมะ แกนนำนปช. นางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำนปช. นายเอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการกฎหมาย นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของน้องเกด ผู้เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม วันที่ 19 พ.ค.2553 นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน นายอดุลย์ เขียวบริบรูณ์ กรรมการญาติวีรชนปี 2535 นายสมชาย หอมละออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ นายนัชชชา กองอุดม นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายอธึกกิต แสวงสุข เป็นต้น

ตรวจเข้มผู้เข้าร่วมประชุม
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนและผู้ติดตามผู้ได้รับเชิญเข้าไปภายในห้องประชุม ส่วนผู้ที่ได้รับเชิญร่วมประชุมห้ามนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปและมีการสแกนตัวเพื่อตรวจสอบอาวุธก่อนเข้าห้องประชุมด้วย เมื่อเริ่มประชุม มีการฉายวิดีโอพรีเซนเทชั่นถึงปัญหาที่ทำให้ประเทศแตกแยก และพล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (เลขาธิการกอ.รมน.) และรองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผอ.ศปป. และพล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) ร่วมรับฟังข้อคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆ 
     ทั้งนี้ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นคนละ 5 นาที แต่ถูกติงว่าน้อยไปจึงเพิ่มเป็นคนละ 10 นาที ขณะที่ พ.ท.พญ.กมลพรรณ ได้ยึดไมค์พูดในที่ประชุมถึงเกือบ 1 ชั่วโมง ทำให้การประชุมที่กำหนดจะเลิกเวลา 15.00 น. ต้องเลื่อนไปเป็น 15.30 น. ส่วนอาหารกลางวันที่จัดให้ผู้เข้าร่วมหารือ อาทิ ข้าวกะเพราไก่ ข้าวหน้าไก่ ก๋วยเตี๋ยวหมู ไอศกรีม 

'บิ๊กเบี้ยว'ห้ามวิจารณ์รธน.ดุ
     รายงานข่าว เปิดเผยว่า ในที่ประชุมส่วนใหญ่เสนอให้คสช.เปิดกว้าง ในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างมากขึ้น ส่วนเรื่องการรัฐประหารถือว่าเวลาล่วงเลยมาจนป่านนี้แล้ว ไม่มีใครต่อต้านแล้ว ถ้าคสช.จะให้ช่วยอะไรก็ยินดี แต่ที่ผ่านมาจะทำอะไรก็ถูกปิดกั้น พล.อ.ฉัตรเฉลิม ระบุว่าเดิมจะใช้ห้องชมัยมรุเชฐ เป็นห้องประชุมครั้งนี้ แต่เกรงว่าจะทำให้หลายคนนึกถึงบรรยากาศเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 จึงเปลี่ยนมาเป็นห้องมัฆวานรังสรรค์แทน ส่วนเรื่องร่างรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องอ่อนไหวมาก จึงไม่อยากให้วิจารณ์รุนแรงมาก กลัวเกิดความปั่นป่วน ถ้าอยากแสดงความเห็นก็ขอให้พูดในห้องประชุมนี้ หรืออาจเปิดเวทีให้เป็นการเฉพาะ หรืออาจจัดอภิปรายร่วมกับคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญในโอกาสต่อไป 
      ด้านพล.ท.กัมปนาท ระบุว่า เราจะใช้อำนาจพิเศษตลอดไปไม่ได้ แม้ตอนนี้จะมีมาตรา 44 ก็ใช้เฉพาะกรณีจำเป็น โดยจะพยายามใช้กฎหมายปกติในการแก้ปัญหา เพราะที่ผ่านมาเราถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วน เสีย จึงไม่ได้ดำเนินการเหมือนรัฐประหาร 2549 ที่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) 
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศปป.ได้สอบถามว่าถ้ารัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้จะลงเลือกตั้งหรือไม่ แต่ไม่มีนักการเมืองคนใดตอบคำถามนี้

'มาร์ค'ห่วงระเบิดเวลาขัดแย้ง
     ขณะที่ทั้ง 4 พรรคที่ร่วมพูดคุย มองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และอาจย้อนกลับไปสู่การรัฐประหาร โดยนายอภิสิทธิ์ ระบุว่ามีคนแก่บอกว่ารู้สึกดีใจที่ 2 พรรคใหญ่ร่วมมือกันต่อต้านเผด็จการ ที่ผ่านมาความขัดแย้งต้องแบ่งแยกเหตุการณ์ก่อนปี 2549 กับปี 2557 ซึ่งแตกต่างกัน ความขัดแย้งที่ผ่านมาเกิดจากการอ้างประชาธิปไตย แต่ไปละเมิดสิทธิ์ ในที่สุดต้องใช้กระบวนการยุติธรรมแก้ปัญหา จึงเชื่อว่าความปรองดองไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แม้จะมองว่าคิดต่างกัน ต้องอยู่ร่วมกันได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะทำให้ความขัดแย้งยุติลง 
      "2 พรรคใหญ่เป็นตัวแทนของประชาชนจำนวนมาก จึงสะท้อนความต้องการต่างๆ ได้ แต่ที่ตนห่วงคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เสมือนเป็นระเบิดเวลาแห่งความขัดแย้ง เมื่อเข้าสู่โรดแม็ประยะที่ 3 รัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้ว รัฐบาลจะทำอย่างไร ถ้าไม่มีมาตรา 44 หรือกฎอัยการศึก แล้วจะคุมสถานการณ์ได้หรือไม่" นายอภิสิทธิ์ กล่าวในที่ประชุม

ชง 2 ทางออก-ยอมเลือกตั้งช้า
     นายวิรัตน์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า ในที่ประชุมได้เปิดให้แสดงความคิดเห็นคนละ 10 นาที พร้อมทั้งเปิดวิดีโอฉายภาพเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน และสรุปที่มาที่ไปของปัญหาว่ามีอะไรบ้าง ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ ได้แสดงความเห็นว่า คำว่าปรองดองไม่ให้ทุกคนต้องคิดเหมือนกัน การปรองดองคือทำอย่างไรให้คนที่คิดต่าง อยู่ร่วมกันได้ โดยไม่มีความรุนแรง ไม่ใช้กำลัง และเสนอแนวทางสร้างความปรองดองที่ต้องทำใน 2 เรื่องคือ 1. กระบวน การประชาธิปไตย เพื่อกำหนดทิศทางของประเทศ คือประชาธิปไตยอยู่ที่รัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี มีความก้าวหน้า ให้สิทธิแก่ประชาชนไม่น้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่มีกติกาที่เป็นธรรม ทั้งนี้ถ้าการแก้ปัญหาครั้งนี้ยังตั้งโจทย์ไม่ถูก คำตอบก็ไม่มีทางที่จะถูก
    นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า 2.กระบวนการยุติธรรม กำหนดความผิดถูกของคนในประเทศ คือ เรื่องที่ชี้ผิดชี้ถูกจะต้องเข้าสู่กระบวนการปรองดองสมานฉันท์ การจะนิรโทษกรรม จะมานิรโทษเลยโดยที่ไม่เข้ากระบวนการปรองดองไม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่นายจาตุรนต์ บอกว่ารัฐธรรมนูญยังเป็นต้นตอของความขัดแย้ง และนายจาตุรนต์ เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ส่วนนายจตุพรกล่าวยอมรับว่า เห็นต่างได้ แต่อย่าสร้างความรุนแรง และยังบอกอีกว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่ จะนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างหนัก รวมถึงไม่อยากให้รีบเลือกตั้งจนขาดสติ ล่าช้าไป 2-3 ปี ไม่เป็นไร แต่ขอให้ดีมีความเป็นธรรม รัฐธรรมนูญควรทำประชามติก่อน แม้จะต้องใช้งบประมาณถึง 3 พันล้านบาทก็ตาม หากประชามติไม่ผ่าน รัฐธรรมนูญก็ร่างกันใหม่

"เต้น"เสนอโรดแม็ปปรองดอง
      นายณัฐวุฒิ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเสนอความคิดว่าทั้งหมดที่เชิญมาไม่มีใครเป็นคู่ขัดแย้งที่แท้จริง เพราะคู่ขัดแย้งที่แท้จริงคือกลุ่มความคิดอนุรักษนิยม และกลุ่มความคิดเสรีนิยม ตนจึงเสนอโรดแม็ปปรองดองอย่างเป็นรูปธรรมว่า ขั้นที่ 1 สร้างกระบวนการพูดคุยอย่างที่เชิญหลายฝ่ายมาพูดคุยในวันนี้ หรือที่บอกว่าไปคุยมาแล้ว 4,000 เวทีทั่วประเทศ และหมายรวมถึงกลุ่มทุนผู้มีบารมีอิทธิพลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่ผ่านมา แม้กระทั่งกองทัพก็ควรพูดคุยกันเพื่อสรุปบทบาทที่ผ่านมาและกำหนดบทบาทภายใต้กติกาประชาธิปไตย ผู้มีอำนาจต้องแสดงความจริงใจที่จะลบบาดแผลในใจประชาชน เช่น การเยียวยาผู้บาดเจ็บและผู้สูญเสียทุกกลุ่มอย่างรวดเร็ว หรือนิรโทษกรรมให้ประชาชน ที่ต้องคดีความทางการเมืองทุกฝ่าย และให้ประกันตัวประชาชนที่ต้องคดีทางการเมือง ซึ่งคดียังไม่สิ้นสุดในชั้นศาลฎีกา ส่วนคดีความของแกนนำ ให้พิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
     นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ขั้นที่ 2 สร้างกติกาสูงสุดที่เป็นประชาธิไตย เพื่อบังคับใช้อย่างเป็นธรรม ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาสาระที่ทุกฝ่ายยอมรับและบังคับใช้อย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน ขั้นที่ 3 จัดการเลือกตั้ง อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม นักการเมืองต้องเข้าสู่กระบวนการตามกติกา ส่วนองค์กรอิสระก็แสดงความสง่างาม โดยการลาออกจากทุกตำแหน่ง แต่ไม่ปิดกั้นที่จะเข้ากระบวนการสรรหาตามรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้ทุกอย่างมาเริ่มต้นภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิป ไตย ซึ่งฝ่ายความมั่นคงรับปากว่าจะเสนอต่อผู้บังคับบัญชาต่อไป

พท.-ปชป.จี้ทำประชามติรธน.
ด้านนายวรชัยกล่าวว่า มีการเสนอความคิดเห็นที่หลากหลาย สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยมีความเห็นในทิศทางเดียวกันคือเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมีแนวทางในเรื่องปรองดองลดขัดแย้ง เป็นประชาธิปไตย เรารับได้หากการเลือกตั้งช้า แต่รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย ซึ่งควรทำประชามติ แต่หากรัฐธรรมนูญยังเป็นแบบที่ร่างออกมานี้ ไม่มีการแก้ไข เชื่อว่าความขัดแย้งจะไม่สิ้นสุด 

ส่วนนางพะเยาว์กล่าวว่า ที่มาเพราะอยากรู้ว่าโรดแม็ปที่จะสร้างปรองดองจะออกมาในรูปแบบไหน แต่พอฟังหลายคนพูดในห้องประชุม ทำให้รู้สึกเหมือนว่าเป็นการปรองดองกันระหว่างนักการเมืองกับคสช. เพราะเรื่องของประชาชนแทบจะไม่พูดถึงเลย ตอนท้ายตนจึงพูดในที่ประชุมว่า เหตุการณ์ปี 2553 ตนมองว่าทุกฝ่ายต่างผิดกันทั้งนั้น การจะปรอง ดองกันได้ ต้องมองที่ประชาชนก่อน กองทัพและแกนนำกลุ่มต่างๆ ควรมีจิตสำนึกที่จะออกมาขอโทษประชาชนก่อน เพื่อให้เกิดความปรองดอง ที่ผ่านมาเหมือนกองทัพไม่ให้ความสำคัญในจุดนี้เลย สรุปที่มาวันนี้ ไม่มีอะไรน่าพอใจเลยสักอย่าง ยังสงสัยอยู่ว่าถ้าให้มาฟังนักการเมืองพูดแบบนี้จะปรองดองกันอย่างไร


รุดถก - นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เดินทางเข้าร่วมประชุมกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป โดยมีนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชน รวม 38 คนเข้าร่วมหารือด้วย ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีฯ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.

ใบตองแห้งโพสต์เหตุโดนเรียก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า มีผู้ได้รับเชิญ 83 คน มีคนไปเกือบ 40 คน ซึ่งตอนแรก เสธ.ทบ.ในฐานะประธานจะให้พูดคนละ 5 นาที แต่มีคนต่อรองขอ 10 นาที ตอนแรกก็ชี้ให้พูด แต่มีคนยกมือขอพูด ไปๆ มาๆ ประชุมจนบ่ายสามได้พูดแค่สิบกว่าคน ซึ่งประธานจะขอยุติเพราะสโมสรทบ.ต้องใช้ห้องจัดเลี้ยงงานแต่ง แต่มีหลายคนไม่ยอมเพราะยังไม่ได้พูด บอกอุตส่าห์ให้ทหารขึ้นรถยีเอ็มซีไปส่งจดหมาย จะมาเลิกง่ายๆ ได้อย่างไร สุดท้ายยอมขยายเวลาอีกครึ่งชั่วโมง โดยที่หลายคนก็ไม่ได้พูด ตนก็ไม่ได้พูด แต่ไม่เป็นไร จะเขียนเรื่องปรองดอง

นายอธึกกิตระบุว่า ไม่รู้เหมือนกันทำไมถึงได้รับเชิญ คงเพราะวิพากษ์รัฐธรรมนูญ เจตนาศูนย์ปรองดองเท่าที่ฟังคือให้มีอะไรพูดเต็มที่ตรงนี้ ไม่อยากให้พูดออกสื่อในสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์ แต่ขณะเดียวกัน ไม่ได้บอกว่าห้ามวิจารณ์ พยายามบอกว่ามีอะไรให้เสนอมา ยินดีรับฟัง พรรคการเมืองจะทำบันทึกความเห็นต่อรัฐธรรมนูญก็ได้ ถ้าอยากพูด เดี๋ยวจะเสนอจัดเวทีให้อีก อาจเปิดให้สื่อเข้าด้วย เพราะร่างรัฐธรรมนูญยังไม่จบ ยังเสนอความเห็นได้

"บิ๊กตู่"ฉุนรับปากแล้วไม่ทำ
เวลา 13.50 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน.6) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กล่าวถึงกรณีศปป. เชิญบุคคลหลายกลุ่มเข้าหารือเรื่องปรองดองว่า ตนเคยบอกแล้วว่าการพูดกับสื่อ พูดกับสังคมหรือพูดข้างนอกมันไม่ได้ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ ดังนั้น บางคนทั้งที่มีคดีความหรือเรื่องต่างๆ ที่สังคมยังสงสัยข้องใจก็ต้องเชิญมาพบกัน ความจริงเชิญมาคุยแล้วหลายครั้ง ก็รับปากกัน พูดจากันเรียบร้อย แต่พอกลับไปก็เอาใหม่อีก ตนจึงสั่งการว่าให้เชิญมาพูดคุย ถามดูว่าที่ผ่านมาเคยพูดและรับปากไว้อย่างไร ไม่ว่าเหตุการณ์ในปี 2552 2553 เรื่องชายชุดดำ เรื่องจำนำข้าว มีอะไรขอให้ว่ามา ซึ่งยังไม่ได้รับรายงานว่าทำได้แค่ไหนอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะทำอย่างไรกับบุคคลที่เรียกมาทำความเข้าใจบ่อยครั้ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สังคมต้องทำความเข้าใจกันเอง อะไรก็จะให้ตนใช้แต่อำนาจ มันเป็นอะไรประเทศ ไทย อยากจะรู้ ทำไมไม่รู้จักคิดว่าจะมีหัวใจปรองดอง ทำเพื่อประเทศชาติกันบ้าง มันต้องขัดแย้งไปทุกเรื่อง กฎหมายก็มีจะขอให้มีกฎหมายที่แรงขึ้นๆ หรือลงโทษให้แรงขึ้น ถามว่าต้องให้มันแรงขึ้นอีกเท่าไร ถ้าตนใช้มาตรการรุนแรงก็กล่าวหาอีกว่าทำรุนแรงเกินไป มันไม่มีใครพอใจ สิ่งที่ตนต้องการคือให้สังคมเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ต้องรู้ตัวเองว่าทำถูกหรือทำผิด และกฎหมายอยู่ที่ไหน 

หนักใจแก้ปัญหาไม่เสร็จ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอให้เข้าใจกันว่ามาตรา 44 อย่าเอาไปเทียบกับมาตรา 17 เพราะบังคับใช้กันคนละแบบ ขอร้องว่าอย่าทำอะไรที่เสียหายร้ายแรงกับประเทศ มาตรา 44 ที่ประกาศใช้มาเพื่ออำนวยความสะดวก อย่าลืมว่าตนเข้ามาทำงานเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่เข้ามา สร้างปัญหา ตนไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบของตัวเองเพราะอาสาว่าจะเข้ามา จะเต็มใจให้ตนหรือไม่เต็มใจ เข้ามาแล้ว ถ้าคิดว่าตนเข้ามาแล้วทำไม่ครบอย่างที่ต้องการ ไม่ได้ไปล็อบบี้ยิสต์ ไม่ออก พ.ร.ก.ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดทั้งหมด ก็ไปขอให้รัฐบาลใหม่เขาทำ ดูว่ามันจะทำอย่างที่ตนทำหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่าจากวิกฤตปัญหาต่างๆ ถือเป็นความท้าทายเพื่อพิสูจน์การทำงานของ นายกฯ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ท้าทายตั้งแต่วันแรกที่ผมตัดสินใจเข้ามาแล้ว เข้าใจกันหรือเปล่าว่ามันเป็นความเสี่ยง ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 เสี่ยงว่าเข้ามาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น อันตรายกับตัวผมเองหรือไม่ ทำสำเร็จไหม เข้ามาแล้วจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ สร้างความเข้าใจกับคนในชาติได้หรือไม่ ทำความเข้าใจกับต่างประเทศได้หรือไม่ แต่วันนี้ผมไปต่างประเทศ ผมเห็นว่าเขายินดีต้อนรับผมทั้งหมด ส่วนในใจจะคิดอย่างไรก็ไม่รู้ แต่การพูดคุยหรือเสนออะไรไปเขาก็เห็นด้วยทุกอย่าง เขาเสนออะไรมา ผมก็รับได้ แต่ของเราไม่รู้อะไรหนักหนา จะเอาอะไรกันหนักหนา"

ต่อข้อถามว่าความหนักใจที่สุดในการทำงานวันนี้คืออะไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แก้ปัญหาไม่หมด แก้ไม่เสร็จ คิดว่าเมื่อเข้ามาทำงานแล้วมันจะเสร็จ คงไม่หนักหนาสาหัส เข้ามาแล้วใช้มาตรการที่เข้มแข็ง แต่พอเข้ามาแล้ว ซึ่งไม่อยากจะบ่นเพราะบ่นมาแล้วหลายครั้งมันไม่ดี คนอื่นได้ยิน เขาก็ว่าประเทศไทยมันเน่า 

วอนนักการเมืองปรับตัว
เมื่อถามว่ายังคิดว่ายังมีปัญหาอะไรที่ซ้อนอยู่และยังแก้ไม่ได้ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มี แต่วันนี้ยังมีเรื่องการเอาใจใส่ การกำกับดูแลและการลงในรายละเอียด และทุกอย่างที่ตนแก้ในขณะนี้มีผลกระทบต่อประชาชน ถ้าจะทำให้ประชาชนที่มีอยู่ 3-4 ระดับ ลดความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างลงได้ ก็ต้องทำอย่างที่ตนทำ ทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบ ใครมีรายได้สูงต้องลดลงหรืออยู่ตรงกลางก็ต้องลดลงนิดหนึ่ง ถ้าจะเอาดีกว่านี้ ต้องไปหาระบอบอื่นเข้ามา ถ้าต้องการทุกอย่างหมด คงไม่มีใครในโลกนี้ทำได้

ที่ผมเสียงดังอีกในวันนี้ ผมไม่ได้โมโห แต่สงสัยเพราะหูอื้อ ผมรู้ดีว่าทุกคนหวังดีต่อประเทศไม่ว่านักการเมืองดีๆ ไม่ใช่ว่านักการเมืองจะเลวทั้งหมด แต่มีบางคนที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าใครเป็นอย่างไร เมื่อรู้ตัวก็ต้องปรับตัวเอง ประเทศชาติมีปัญหาแบบนี้ต้องดูว่าเกิดมาตั้งแต่เมื่อไร มีใครรับผิดชอบหรือแก้ไขกันบ้าง แล้วมากล่าวหาผม วันนี้ให้ความธรรมกับผมหรือไม่ วันนี้ทุกคนทำงานกันทั้งหมดและผมบอกว่าให้ใจเย็นๆ จะไปต่อว่าใครไม่ได้เพราะ 500 เรื่อง แม้เราจะแก้ได้ 300 เรื่อง เขายังไม่พอใจ ยังต้องการให้เราทำงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามว่าถือว่ารัฐบาลนี้แจ๊กพอตหรือไม่ที่เข้ามาแล้วเจอแต่ปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้ ไม่ต้องมาพูด เดี๋ยวสื่อจะกล่าวหาว่าตนโยนเรื่องไปให้ใคร แล้วเอาคำพูดของตนไปรบกับคนอื่น สื่อก็ชอบตั้งคำถามแบบนี้

"ปู่ชัย"ค้านมีกลุ่มการเมือง
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีน.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช.คนที่ 2 เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างแรกรัฐธรรม นูญ ต่อในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 3 รัฐสภา 

นายชัย ชิดชอบ สมาชิกสปช. อภิปรายว่า การเมืองไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ไม่เคยกำหนดให้มีกลุ่มการเมือง เพราะการรัฐประหารแต่ละครั้ง เกิดปัญหาจากกลุ่มการเมืองที่ไม่มีวินัย แต่มาครั้งนี้มหาปราชญ์ 36 คนให้มีกลุ่มการเมือง ขอให้ กมธ.ยกร่างฯดูให้ลึก ขนาดพรรคยังคุมไม่อยู่ มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ถ้ากลุ่มการเมืองเกิดขึ้นจะตรวจสอบอย่างไร กลุ่มการเมืองใหญ่มาก ซึ่ง 2 กลุ่มที่เรามี จะทำให้ประเทศชาติล่มสลาย สร้างความเดือดร้อนให้ประเทศ ทหารจะเอารถถังออกมากี่คัน ก็สู้ 2 กลุ่มนี้ไม่ได้ บ้านเมืองเราต้องการพรรคที่เข้มแข็ง

นายชัยกล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปการเมือง ยืนยันมาตลอดว่าอย่าเปิดให้มีกลุ่มการเมือง เนื่องจากมันจะสร้างความวุ่นวาย ขนาดหัวหน้าคสช.มีมาตรา 44 อยู่ในมือ ก็ยังต้องเชิญตัวแทนกลุ่มการเมืองเข้าไปคุยในค่ายทหารอยู่อีก กล้าท้าเลยว่าความปรองดองจะไม่เกิดขึ้น หากไม่สร้างความสามัคคีในชาติ กลุ่มเสื้อสีน่าเป็นห่วงมาก ชาติจะล่มจมเพราะกลุ่มเหล่านี้ ตนห่วงทหาร เดี๋ยวจะต้องออกมายืดเส้นยืดสายอีก เราได้ศึกษารายละเอียดจากข้อเท็จจริงมา 10 ปีแล้วพบว่าปัญหาเกิดจากกลุ่มการเมือง จึงไม่จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมือง เอาแค่พรรคพอแล้ว

ลั่นร่างกม.แบบนี้ชาติฉิบหาย
"กมธ.ยกร่างฯอ้างว่าจะทำให้พลเมืองเป็นใหญ่ ทำไมจึงจำกัดสิทธิเสรีภาพของเขา ทำไมไม่ปล่อยให้ประชาชนเลือกตั้งส.ส.ไปเลยทั้ง 450 คน จะไปเอาการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่เป็นแบบสัดส่วนผสมมาใช้ทำไม ส่วนที่มาส.ว. ต้องให้ประชาชนเลือกตั้งทั้งหมด อำนาจหน้าที่ต้องปรับเข้ากับยุคดิจิตอล ประเทศเราไม่เหมือนอดีตแล้ว กมธ.ยกร่างฯต้องให้สิทธิเสรีภาพประชาชน สิ่งที่กมธ.ยกร่างฯทำนั้นอยู่นอกกรอบ จึงขอให้ทบทวนแก้ไขใหม่ เพื่ออนาคตบ้านเมือง ไม่ใช่แค่วันนี้ ถ้ากฎหมายออกมาดี บ้านเมืองจะมีความสุข แต่ถ้าออกมาแบบนี้ บ้านเมืองฉิบหายแน่นอน" นายชัยกล่าว 

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ตนติดใจคำว่าชาติจะล่มจมเพราะกลุ่มการเมือง ขอชี้แจงว่าสถานการณ์บ้านเมืองที่มีกลุ่มต่างๆ จัดตั้งขึ้น หลายกลุ่มมีความสนใจแตกต่างกัน อาทิ ด้านพลังงาน ด้านการเมือง เพื่อให้กลุ่มเหล่านี้มีพื้นที่ในสภา ในมาตรา 76 บัญญัติไว้ชัดเจนเกี่ยวกับพรรคที่จะกำหนดรายละเอียดในพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ก่อนนำไปใช้เลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะนำไปบังคับใช้กับกลุ่มการเมืองด้วย โดยจะต่างจากพรรคเพียงบางส่วน ซึ่งข้อกำหนดผู้จดทะเบียน สมาชิก สำนักงานอาจไม่ต้องมี เชื่อว่ากลุ่มการเมืองสามารถเล่นการเมืองในระดับพรรคได้อยู่แล้ว 

ให้ฉายารธน.บัวลอยไข่หวาน
จากนั้นเวลา 15.00 น. นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ สมาชิกสปช. อภิปรายว่า ตนยังยึดมั่นว่านายกฯต้องมาจากส.ส. หากให้คนนอกมาเป็นนายกฯ ถึงแม้จะใช้เสียง 2 ใน 3 แต่ถ้าปืนจี้ก็ไปหมด ซึ่งจะเปิดช่องให้นายพลอย่างนั้นหรือ และไม่เห็นด้วยกับที่มาส.ส.เขต 250 คน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 200 คน ขอเปลี่ยนเป็นส.ส.เขต 350 คน ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน เพราะส.ส.เขตต้องอยู่กับพื้นที่มากกว่าปาร์ตี้ลิสต์ หากใช้ตามที่กมธ.ยกร่างฯกำหนด จะทำให้ส.ส.ไปคลุกคลีกับประชาชนในพื้นที่ได้ไม่ทั่วถึง 

นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสปช. กล่าวว่า มองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนบัวลอยไข่หวาน ไข่ก็สด แป้งก็ดี แต่มีขี้จิ้งจกอยู่ 6-7 เม็ด สาเหตุที่ทำให้เกิดขี้จิ้งจกคือ 1.การร่างรัฐธรรมนูญนี้มาจากเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ให้อำนาจกมธ. ยกร่างฯมาก แม้จะระบุให้รับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ แต่ที่สุดอำนาจยังอยู่ที่กมธ.ยกร่างฯ สมมติอภิปราย 7 วัน 7 คืน ถ้ากมธ.ยกร่างฯไม่เอา ทิ้งลงถังขยะก็ทำได้ 


ปรองดอง - ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ นปช. รวมทั้งนักวิชาการและสื่อมวลชน รวม 38 คน เข้าร่วมประชุมกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีฯ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.

นายนิรันดร์ กล่าวว่า 2.ให้เวลารับฟังความเห็นน้อยมาก ทั้งที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด 3.ประชาชนไม่มีสิทธิ์แสดงความ เห็น หรือศึกษาในรายละเอียดเพื่อทำประชาพิจารณ์ 4.เกิดวาทกรรมแปลกๆ ในช่วงร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ ตนย้ำว่าเรือนี้ไม่ใช่เรือของแป๊ะ แต่เป็นเรือของประชาชนที่แป๊ะไปยึดมา แต่เมื่อบ้านเมืองสงบ แป๊ะต้องคืนอำนาจ ไม่ใช่ตามใจแป๊ะ เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของแป๊ะ

อัดเละระบบโอเพ่นลิสต์
นายนิรันดร์ กล่าวว่า การเอาระบบเลือกตั้งเขตจากเยอรมัน ระบบโอเพ่นลิสต์จากเนเธอร์แลนด์ ไม่รู้เป็นสัตว์ประหลาดอะไร จะเลือกแบบไหนต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ด้วย ระบบโอเพ่นลิสต์ในมาตรา 105 วรรคสอง จะเกิดปัญหา 2 ประการ 1.แตกแยกในพรรค เพราะต่างคนต่างอยากได้เป็นส.ส. ต้องแย่งกันหาเสียง 2.พรรคต้องหนีตาย ด้วยการสร้างพรรคนอมินีเพื่อเน้นเลือกตั้งปาร์ตี้ลิสต์ ไม่เน้นเขต ส่วนอีกพรรคก็เน้นเขตไม่เน้นปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนบทบาทส.ว.ควรแยกให้ชัดเจน หากต้องการกลั่นกรองกฎหมายก็ควรให้มาจากการสรรหาทั้งหมด แต่ถ้ามีอำนาจถอดถอน ออกกฎหมาย ตั้งคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญ ไม่ควรเอาระบบสรรหามาใช้ เพราะถือว่ามีอำนาจมากเกินไป ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น 

ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า การจัดลำดับบัญชีรายชื่อของพรรค ที่กมธ.ยกร่างฯ แก้ไขนั้น เพราะเห็นว่าที่ผ่านมา 17 ปี เราเคยชินกับการให้หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคเป็นใหญ่ เลือกคนโปรดเข้ามาเอง หรือบางทีผู้ใหญ่ของพรรคเป็นคนเลือก อย่างไรก็ได้อยู่แล้ว วันนี้พอ กมธ.ยกร่างฯ ขอให้ประชาชนเป็นคนจัดลำดับเอง สมาชิกสปช. ถ้ามีหัวใจถึงอำนาจประชาชน ต้องดีใจ กับประชาชน และระบบนี้จะทำให้นักการเมืองต้องเดินไปหาประชาชนเอง ดังนั้น สมาชิกถ้ามีหัวใจเป็นธรรมต้องวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งว่าจะให้พรรคหรือประชาชนเป็นคนจัดลำดับ ส่วนการจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญต้องมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง อนาคตยังมาไม่ถึง ให้ดูวันนี้ก่อน

กระทั่งเวลา 22.25 น. น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช.คนที่ 2 ในฐานะประธานการประชุม จึงสั่งพักการประชุม เมื่อสมาชิกอภิปรายจบ หมวด 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน พร้อมนัดประชุมต่อในวันที่ 24 เม.ย. เวลา 09.00 น. รวมเวลาการอภิปราย 4 วัน 46 ชั่วโมง

กมธ.โบ้ยต้นตอปฏิรูปตร.
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูป โดยเฉพาะการแยกพนักงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 282 (8) ว่า กมธ.ยกร่างฯ ร่างบทบัญญัติดังกล่าวไปตามรายงานที่กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวน การยุติธรรม ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เสนอ แต่เมื่อมีข้อท้วงติงไม่เห็นด้วย กมธ.ยกร่างฯพร้อมรับฟังเหตุผลจากทุกฝ่าย เพราะยังมีเวลาและปรับแก้ได้ ส่วนผลการศึกษาที่อยากให้ปรับเปลี่ยนเป็นส่วนราชการเทียบเท่ากระทรวงนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาล กมธ.ยกร่างฯคงไม่สามารถกำหนดรายละเอียดมากขนาดนั้นในรัฐธรรมนูญได้ 

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวว่า กมธ.กฎหมายฯพร้อมรับฟังทุกความเห็น โครงสร้างการปฏิรูปตำรวจในมาตรา 282 (8) ที่ให้พนักงานสอบสวนแยกขาดออกจาก ตร. เกิดจากการตัดสินใจของกมธ.ยกร่างฯ เนื่องจากกมธ.กฎหมายฯ เสนอแนวทางปฏิรูป 2 ส่วนคือ ตามผลการศึกษาของอนุกมธ.ที่เห็นว่า ต้องแยกพนักงานสอบสวนออกจาก ตร. อย่างเด็ดขาด และตามความเห็นของกมธ.กฎหมายฯที่เห็นว่า พนักงานสอบสวนควรมีอิสระทำงาน แต่ต้องไม่แยกออกจากตร. ซึ่งตนในฐานะประธานจะอภิปรายประเด็นนี้ในที่ประชุมสปช. คาดว่าจะเป็นวันที่ 24 เม.ย.นี้ 

ผบ.ตร.ตั้งกก.รื้อองค์กร
นายเสรีกล่าวว่า ส่วนแนวทางปฏิรูปที่ตร. ศึกษาแล้วเห็นว่าควรปรับเปลี่ยนเป็นส่วนราชการเทียบเท่ากระทรวง ก็เป็นไปได้ กมธ.กฎหมายฯ พร้อมนำมาพิจารณา โดยจะหารือในประเด็นตำรวจอีกครั้ง ในการประชุม สปช.วันที่ 28 เม.ย. 

รายงานข่าว เปิดเผยว่า พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. เรียกประชุมคณะทำงานเพื่อหารือสรุปข้อมูลการปฏิรูปตำรวจ กำหนดแนวทางเพื่อให้สปช. พิจารณาข้อเสนอของตร. ในวันที่ 24 เม.ย. เวลา 13.00 น. โดยประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาคือกรณีแก้ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย การแยกงานสอบสวนออกจากตร. รวมถึงการแยกหน่วยงานบางอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่างตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ และหน่วยอื่นๆ ออกจากตร. รวมถึงรายละเอียดงบประมาณที่ไม่เพียงพอ นอกจากนี้อาจหารือการปรับโครงสร้างตร. เป็นกระทรวง ตามแนวคิดการปฏิรูปตำรวจของกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. 

เผยคสช.สั่งแก้ 3 ปมรธน.
ด้านนายประชา เตรัตน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวถึงการทำประชามติว่า กมธ.ยกร่างฯ กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เห็นพ้องให้ทำประชามติ แต่เป็นอำนาจของคสช. ยืนยันว่าการไปเผยแพร่ก็เป็นการทดแทนการทำประชามติได้ในระดับหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนยอมรับรัฐธรรมนูญในระดับหนึ่ง ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุใดกมธ.ยกร่างฯถึงไม่ทำหนังสืออย่างเป็นทางการถึง คสช.เรื่องทำประชามติ นายประชากล่าวว่า ไม่ใช่หน้าที่ของกมธ.ยกร่างฯ เป็นเรื่องของ คสช.และครม.ที่ต้องร่วมกันตัดสินใจ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดมีข่าวว่า คสช.สั่งให้แก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ เนื่อง จากพบว่าร่างที่นำมาเผยแพร่มีบางส่วนคลาดเคลื่อนไปจากมติของกมธ.ยกร่างฯ เช่น การปฏิรูปตำรวจ ข้อบัญญัติเกี่ยวกับศาล และการกำหนดคุณสมบัติรัฐมนตรีที่ต้องแก้ไขไม่ให้ครอบคลุมไปถึงการตัดสิทธิสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธกระแสข่าวคสช.เตือนให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก่อนเข้าสู่การอภิปรายของสปช.ว่า ไม่มีแน่นอน ที่ผ่านมาในการประชุมแม่น้ำ 5 สาย นายกฯระบุชัดว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด อีกทั้ง คสช.และครม.ยังไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ จากกมธ.ยกร่างฯ ที่จะส่งมอบให้ในวันที่ 27 เม.ย.นี้ ส่วนข้อเสนอแนะของ คสช.และครม.จะส่งมาให้กมธ.ยกร่างฯได้วันที่ 26 เม.ย.-25 พ.ค. ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว

สนช.แถลงเปิดสำนวนจีทูจี
เมื่อเวลา 09.25 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม มีวาระพิเศษเพื่อดำเนินการถอดถอน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 56 (1) และมาตรา 58 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ในคดีทุจริตการซื้อขายข้าวรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)ซึ่งเป็นการแถลงเปิดสำนวนตามรายงานและความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในฐานะผู้กล่าวหา และการแถลงคัดค้านโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนหรือรายงานพร้อมความเห็นของป.ป.ช. ของผู้ถูกกล่าวหา ตามข้อบังคับ ข้อ 154 วรรคหนึ่ง โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน มาร่วมแถลงเปิดคดีด้วยตัวเอง

นายพรเพชร แจ้งว่า ผู้ถูกกล่าวหาคือนายบุญทรง และนายภูมิ ทำหนังสือคัดค้านการบรรจุวาระถอดถอนเข้าที่ประชุมสนช. รวมทั้งคัดค้านวิธีพิจารณาการถอดถอนว่าไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม ซึ่งขอชี้แจงว่า ในการพิจารณาถอดถอนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ก็ร้องเรียนคัดค้านเช่นเดียวกัน ซึ่งที่ประชุมพิจารณาและมีมติว่าความผิดดังกล่าว สนช.มีอำนาจถอดถอนและถือเป็นบรรทัดฐานดำเนินการถอดถอน

ป.ป.ช.ชี้ปมทุจริตขายข้าว
จากนั้นนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้แทน ป.ป.ช. แถลงเปิดสำนวนคดีว่า เมื่อมีผู้ร้องเรียนพบการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ไต่สวนพยานและผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติม เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบด้วยนายภูมิ นายบุญทรง และนายมนัส รวมถึงข้าราชการ 21 ราย โดยกระบวนการทั้งหมดทำให้ระบบค้าข้าวทั้งประเทศเสียหาย การขายข้าวจีทูจีของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ มิใช่การค้าขายแบบรัฐต่อรัฐอย่างแท้จริง มีข้อพิรุธผิดปกติมาก เพราะไม่มีการขายข้าวให้แก่รัฐบาลหรือตัวแทนรัฐบาลต่างประเทศ

นายวิชากล่าวว่า การไต่สวนและการรับฟังการแก้ข้อกล่าวว่า พบว่าทั้ง 3 ราย เป็น เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจในคลังสินค้าข้าวในการพิจารณาต่อรองการขายข้าวแบบจีทูจี มีเจตนากระทำผิดร่วมกับพวกทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งข้าราชการประจำ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และนักธุรกิจภาคเอกชน แบ่งกันทำหน้าที่และร่วมนำวิสาหกิจจากจีน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท กวางตุ้ง สเตชั่นนารี แอนด์สปอร์ตติ้ง กู้ด อินพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต สเตชั่น และบริษัท ไห่หนาน เกรน แอนด์ ออยล์ อินดัสเทรียล เทรดดิ้ง ทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐกับกรมการค้าต่างประเทศ อ้างว่าเป็นผู้แทนจากจีน ซึ่งไม่เป็นความจริง อีกทั้ง 2 บริษัทก็ไม่มีวัตถุประสงค์ค้าขายข้าวของจีน เพราะจีนยืนยันว่าถ้าไม่ใช่ ไชน่า เนชั่นรอล ซีรีน ออยส์แอนฟู้ด สตร๊าฟ คอร์ปอเรชั่น หรือ คอฟโก จะทำข้อตกลงกับรัฐบาลต่างประเทศไม่ได้ 

ขยายผลสอบมันสำปะหลัง
นายวิชากล่าวว่า อีกทั้งเงินการชำระข้าวไม่ได้มาจากบริษัททั้ง 2 แห่งของจีน และไม่มีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐออกจากประเทศ ไทย ซึ่งผิดตามพ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังนั้น ป.ป.ช.จึงมีมติเอกฉันท์ 7 เสียงชี้มูลความผิด ทำให้ประเทศเสียหาย ที่ทั้ง 3 รายไม่สามารถปฏิเสธได้และต้องรับผิดชอบ ที่ไม่ได้บรรเทาให้ความเสียหายลดลง แต่จงใจทุจริตด้วยการเดินหน้าโครงการต่อ ถือเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบและผิดจริยธรรมร้ายแรง เป็นเหตุผลนำมาสู่การเสนอถอดถอน และป.ป.ช.ส่งเรื่องให้กับอัยการสูงสุดฟ้องร้องคดี และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ประทับฟ้องและกำลังพิจารณาคดีอยู่

นายวิชากล่าวว่า การไต่สวนข้อเท็จจริงพบว่าแคชเชียร์เช็คที่นำมาชำระหนี้ค่าข้าวรัฐต่อรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นของผู้ประกอบการค้ามันสำปะหลัง ถึง 3 พันกว่าล้านบาท และเมื่อส่งมอบแคชเชียร์เช็คให้กรมการค้าต่างประเทศแล้ว ได้เบิกมันสำปะหลังจากคลังสินค้าของรัฐบาล ป.ป.ช.จึงมีมติด้วยว่าให้สำนักงานป.ป.ช.แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานว่าในช่วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐที่ไม่เป็นความจริง เช่นเดียวกับการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐอีกหรือไม่ ซึ่งกระบวนการไต่สวนพบว่ามีบริษัทจีนคือตัวละครชุดเดิมและชุดใหม่รวม 4 บริษัท เข้ามาทำสัญญาซื้อขายในลักษณะตัวละครเดียวกันหมด ดังนั้น ป.ป.ช.จะดำเนินการไต่สวนโดยเร่งด่วน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายอาญาต่อไป

"บุญทรง"ชี้พิรุธป.ป.ช.
จากนั้นนายบุญทรง แถลงเปิดคดีว่า หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากสภาว่าสิ่งที่ตนถูกดำเนินคดีไม่เป็นธรรมหลายประการ เรื่องที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีทางการเมือง ป.ป.ช.จึงควรรับฟังหลักฐานและวางตัวเป็นกลาง แต่ป.ป.ช.รีบเร่งดำเนินคดี ไม่ไต่สวนพยานตามที่ร้องขอจำนวนมาก หากเทียบกับคดีระบายข้าวของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ขณะนี้ยังพิจารณาไม่เสร็จ อ้างเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 สร้างความสงสัยแก่สังคม 

นายบุญทรงกล่าวว่า ตนมีข้อพิรุธการดำเนินการของป.ป.ช. เนื่องจากไม่มีการสอบพยานฝ่ายผู้ซื้อว่าเป็นตัวแทนรัฐบาลจีนจริงหรือไม่ ทั้งที่ผู้ซื้อเป็นรายเดียวกันก่อนที่ตนจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของจีนได้แนบเอกสารการเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลจีน 100 เปอร์เซ็นต์จริง แต่ป.ป.ช.ปฏิเสธที่จะรับฟัง จึงถือเป็นการกระทำที่รับฟังความฝ่ายเดียว ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ผู้แทนคดีฝ่ายป.ป.ช. ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์กับตนและรัฐบาล ชี้นำว่าคดีดังกล่าวและอดีตนายกฯ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดก่อนชี้มูลด้วยซ้ำ ตนเห็นถึงความไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม จึงคัดค้านตามสิทธิเพื่อให้เจ้าของสำนวนถอนตัว เพื่อคำนึงถึงจริยธรรม แต่บุคคลนี้ก็ยังยืนยันปฏิบัติหน้าที่ต่อ

ดักคอสนช.อย่าชี้นำศาล
นายบุญทรงกล่าวว่า หากสภาแห่งนี้ยังดำเนินการถอดถอนต่อ จะเท่ากับใช้ดุลพินิจก้าวล่วงชี้นำศาล ประหารก่อนกระบวนการของศาล สำนึกยุติธรรมของสนช. จะใช้ที่นี่หรือพิสูจน์ที่ศาล สนช.ไม่ควรดำเนินการใดๆ ในสภานี้อีก หากทำ โปรดถามป.ป.ช.แทนตนด้วย ว่าเหตุใดจึงไม่สืบพยานฝ่ายผู้ซื้อ เมื่อเป็นเช่นนี้จะให้ตนเชื่อมั่นในสิ่งที่ป.ป.ช กล่าวอ้างว่าป็นความยุติธรรมได้อย่างไร สำหรับตนคือการประหารทางการเมืองที่ตนไม่อาจสยบยอม และขอปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่จะสู้ต่อในกระบวนการยุติธรรม

จากนั้นนายภูมิ แถลงเปิดคดีว่า ในประเด็นระบายข้าวนั้น เป็นข้าวเก่าตั้งแต่ปี 2548 ค้างสต๊อกมาหลายรัฐบาล จนมาถึงรัฐบาลน.ส. ยิ่งลักษณ์ ซึ่งสต๊อกส่วนใหญ่เริ่มเสื่อมคุณภาพแล้ว จึงเร่งระบายภายใต้บรรทัดฐานเดียวกันเหมือนทุกรัฐบาล ตนมั่นใจในความบริสุทธิ์และความสุจริต ไม่ได้ทำผิด ไม่ได้ร่วมกับใครเพื่อทำผิด แม้แต่ในรายงานและการไต่สวนของสำนวนป.ป.ช.ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าตนกระทำผิด มีแต่ความเห็นของอนุกรรมการ ไต่สวนของป.ป.ช.ที่ระบุว่าตนสมคบคิดร่วมกระทำผิด ทั้งที่ไม่มีหลักฐาน ซึ่งไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง 

"มนัส"โวยเป็นเบี้ย-ลงมติ 8 พ.ค.
ด้านนายมนัส ชี้แจงว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ทุกฝ่ายนำข้าราชการ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเสนอนโยบายต่างๆ หรือทำนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) มาโจมตีทางการเมือง ตลอดเวลาที่ตนทำหน้าที่ไม่เคยถูกสอบสวนวินัย แต่ถ้าหน้าที่ของข้าราชการ ยังกลายเป็นเบี้ยตัวหนึ่งของฝ่ายการเมือง จะให้วางตัวอย่างไร และจะหนีไปอยู่ตรงไหน คิดว่าคงจะได้รับความเป็นธรรมและความกรุณาจากสภาแห่งนี้ และข้อเท็จจริงที่จะสู่ศาลที่ตัดสิน ตนอาจพูดด้วยถ้อยคำรุนแรงที่ใช้อารมณ์ แต่พูดด้วยความจริงใจ เพราะที่ผ่านมาไม่มีโอกาสชี้แจง เชื่อว่าการกระทำโดยสุจริต พระจะคุ้มครอง และไม่เคยคิดว่าจะได้รับเคราะห์กรรมในครั้งนี้ด้วย

จากนั้นนายพรเพชร แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ให้ผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาแจ้งขอแถลงปิดสำนวนคดีด้วยวาจาภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันแถลงเปิดคดี จะครบกำหนดในวันที่ 29 เม.ย. และหากจะแถลงปิดคดีด้วยเอกสารภายในวันที่ 5 พ.ค. และให้สมาชิกยื่นญัตติซักถามได้ถึงวันที่ 27 เม.ย. เวลา 12.00 น. เพื่อพิจารณาซักถามคู่กรณีในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ทั้งนี้ ตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม 7 คน นำโดยนายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ สมาชิก สนช. และจะแถลงปิดคดีในวันที่ 7 พ.ค. และนัดลงมติวันที่ 8 พ.ค. จากนั้น นายพรเพชร สั่งปิดประชุมในเวลา 13.10 น.

เผยอดีตผู้ว่าฯเข้าข่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุได้รับรายชื่อข้าราชการกระทรวงมหาดไทย 115 รายที่มีพฤติกรรมทุจริต จากนายกฯ โดยมีระดับ 10 จำนวน 4 รายนั้น ทั้ง 4 รายคือ 1.อดีตผู้ว่าฯชัยภูมิและอุบลราชธานี 2.อดีตผู้ว่าฯอำนาจเจริญและอุดรธานี 3.อดีตผู้ว่าฯเลยและชัยภูมิ 4.อดีตผู้ว่าฯบึงกาฬและเลย โดยมี 3 ราย ปัจจุบันเป็นผู้บริหารในส่วนกลางของกระทรวง และผู้ตรวจราชการ อีก 1 รายเกษียณอายุราชการไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งหมด 115 ราย เป็นกรณีทุจริตงบฉุกเฉินช่วยเหลือภัยพิบัติ รวมถึงภัยการแพร่ระบาดของศัตรูพืช ในช่วงปี 2554-2555 โดยเป็นกรณีการเปิดภัย ประกาศภัยพิบัติโดยไม่มีภัยเกิดขึ้นจริง และจัดซื้อ ยาปราบศัตรูพืชราคาแพงเกินจริง โดยเป็นอำนาจของคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยระดับจังหวัด (กชพ.จ.) และคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยระดับอำเภอ (กชพ.อ.) ดังนั้น ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยจึงมีผู้ติดร่างแหมากกว่า 100 คน ประกอบด้วย ผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ซึ่งเป็นเลขานุการ กชพ.อ. และพัฒนาการจังหวัดด้วย

"บิ๊กตู่"จับมืออินโดฯขยายลงทุน
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 23 เม.ย. ที่ Jakarta Convention Center (JCC) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)หารือทวิภาคีกับนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา ที่กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 22-23 เม.ย. เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ความร่วมมือกับอินโดนีเซีย ในการกำหนดวิสัยทัศน์ ความร่วมมือทั้งในกรอบทวิภาคีและภูมิภาค 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไทยยืนยันจะร่วมมือกับอินโดนีเซีย พัฒนาความสัมพันธ์รอบด้านในฐานะที่อินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 และไทยอันดับ 2 ของอาเซียน เพื่อประโยชน์ร่วมกันและของภูมิภาค ขณะที่ภาคเอกชนไทยมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย พร้อมจะขยายการลงทุนในอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าอินโดนีเซียจะสนับสนุนให้ภาคเอกชนขยายการลงทุนในไทย 

ส่วนการพัฒนาการทางการเมืองของไทยนั้น รัฐบาลไทยกำลังดำเนินตามขั้นตอนที่ 2 ของโรดแม็ป โดยขอให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูป เพื่อความเข้มแข็งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สำหรับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญคาดจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ เพื่อนำไปสู่การประกาศการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า สะท้อนให้เห็นการกลับมาเป็นประชาธิปไตยของไทยอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวเชิญชวนภาคเอกชนไทยเข้ามาลงทุนในสาขาต่างๆ อาทิ อาหารแปรรูป การท่องเที่ยว พลังงาน โดยมีศูนย์ One Stop Linciencing Service ส่วนความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารและสินค้าเกษตร ไทยขอให้อินโดนีเซียเร่งรัดจัดทำ MRA (Mutual Recognition Agreement) เพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้การค้าระหว่างกันมีความคล่องตัว

ทร.ดันซื้อเรือดำน้ำเข้าครม.
วันที่ 23 เม.ย. พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. เปิดเผยว่า ได้เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำไปที่รัฐบาลแล้ว คาดว่าจะนำเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)เร็วๆ นี้ โดยเรื่องอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) ระหว่างนี้กองทัพเรือ มีคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกแบบว่าจะจัดหาจากประเทศใดให้เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด ดูในภาพรวมทั้งโครงการ ไม่ได้เจาะจงว่าต้องซื้อกี่ลำ แบบไหน หรือจากประเทศใด แต่ต้องดูในเรื่องระบบ การบำรุงรักษา การศึกษาฝึกอบรมด้วย

พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวว่า หากรัฐบาลอนุมัติให้จัดหาเรือดำน้ำในขณะนี้ ก็ไม่สามารถซื้อมาใช้ได้ในทันที เพราะมีระยะเวลาต่อเรือ รวมกับการส่งบุคลากรไปฝึกอบรมให้เกิดความเชี่ยวชาญอีก 1-2 ปี รวม 5-6 ปี ถึงจะนำเข้าประจำการได้ ถ้าไม่เริ่มตอนนี้คงรอไปอีกนาน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ มีเข้าประจำการมาหลายปีแล้ว ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะอนุมัติหรือไม่ การดำเนินการต้องโปร่งใส และกองทัพเรือพร้อมอธิบาย ชี้แจงข้อมูลทุกอย่างได้

"ในการไปเยือนจีน ได้ไปดูเรือดำน้ำชั้นหยวน ซึ่งเทคโนโลยีต่อเรือมาจากเรือดำน้ำชั้นกิโลของรัสเซีย มีการติดตั้งระบบ AIP หรือ Air Independent Propulsion ซึ่งเป็นระบบขับเคลื่อนเรือดำน้ำรุ่นใหม่ ขณะเรือดำน้ำของเยอรมัน ชั้น U-206 ผมไปดูแล้วนั้นไม่มีระบบดังกล่าว จะมีติดตั้งใน ชั้น U-212- U-214 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่กว่า นอกจากนี้ยังไปดูเรือดำน้ำในอีกหลายประเทศ ไม่ได้เจาะจงดูของประเทศไหนเป็นพิเศษ" พล.ร.อ.ไกรสรกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ผบ.ทร.ได้ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกแบบ โดยให้พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง ผช.ผบ.ทร. เป็นประธาน ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่เสนอขายเรือดำน้ำให้ไทย เช่น เกาหลีใต้ จีน รัสเซีย เยอรมนี ฝรั่งเศส และสวีเดน โดยวันที่ 23 เม.ย.นี้ ผบ.ทร.จะไปดูโครงการเรือดำน้ำที่สวีเดน ซึ่งสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เคยได้รับการเสนอจากบริษัท คอกคูม ให้รัฐบาลไทยซื้อเรือดำน้ำด้วย 

 

 

 

วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8913 ข่าวสดรายวัน 

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!