- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 14 June 2014 21:15
- Hits: 8779
วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8599 ข่าวสดรายวัน
คสช.เตือนเข้ม'ปปช.-องค์กรอิสระ'ต้องยึดยุติธรรม บิ๊กตู่ชี้กย.ตั้งรบ. ตม.รวบ'จิตรา'
กลับมาแล้ว - น.ส.จิตรา คชเดช นักต่อสู้เพื่อแรงงานสตรี เจ้าของป้าย"ดีแต่พูด" ถูกตำรวจตม.และทหารควบคุมตัวตามหมายจับศาลทหาร บริเวณด่านตม. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายหลังเดินทางจากต่างประเทศกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. |
คสช.ออกประกาศนโยบายกระบวนการยุติธรรมย้ำชัด ระบุประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง เสมอภาค และเท่าเทียมในทุกขั้นตอน ในศาล ป.ป.ช.และทุกองค์กรยุติธรรมอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ประชาชนแห่เยี่ยมบ.ก.ลายจุด พร้อมแสดงสัญลักษณ์ 3 นิ้ว-ปีกนกพิราบ ท่ามกลางตร.-ทหารคุมเข้มนอกเรือนจำ ด้านศาลทหารออกหมายจับอีก 21 คนฐานไม่ยอมไปรายงานตัว ตม.รวบ 'จิตรา คชเดช'หญิงสาวผู้ชูป้ายดีแต่พูดขณะกลับจากต่างประเทศ 'บิ๊กตู่'ประชุมข้าราชการย้ำเดือนก.ย.ได้รัฐบาลมีสนช.-สภาปฏิรูป
บิ๊กตู่ถกขรก.-ระบุคสช.ไม่รังแก
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 มิ.ย. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานประชุมชี้แจงรายละเอียดและยุทธศาสตร์การจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 และการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ให้กับหัวหน้าส่วนราชการ และผู้ว่าฯทั่วประเทศ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า สิ่งที่ทุกคนรู้สึกไม่สบายใจก่อนหน้านี้ เช่น การถูกกดทับ ถูกบังคับในการทำงาน เราจะไม่บังคับและจะไม่มีสิ่งใดเป็นผลประโยชน์ให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่ทำในวันนี้เป็นเจตนาดีของพวกเรา การจะกล่าวหาผู้ใดว่าถูกหรือผิดหรือทุจริต ต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมให้ได้ข้อยุติ ในฐานะที่ตนเป็นข้าราชการ จะใช้อำนาจของคสช.เท่าที่จำเป็น สิ่งที่เกิดขึ้น อย่าคิดว่าพวกเราไปรังแก เพราะจะทำให้เสียขวัญกำลังใจ เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความเหมาะสม จุดใดมีความขัดแย้งมาก คนที่อยู่ในความขัดแย้งและเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐ จำเป็นต้องขยับขยายชั่วคราวเพื่อให้งานใหม่เดินได้ และพิสูจน์ตัวเองออกมา
"มีหลายคนวิตกกังวล ซึ่งผมมองว่าถ้าหากทำดีอยู่แล้วคงไม่มีใครไปทำอะไรได้ พวกเราไม่ได้เก่งกาจไปมากกว่าพวกท่าน เพียงแต่เราบริหารราชการในกองทัพด้วยความตั้งใจ ดูแล ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่วันนี้เมื่อต้องมาดูแลข้าราชการก็จะใช้แนวทางเดียวกัน ข้าราชการต้องทำให้องค์กรโปร่งใส มีคุณธรรมจริยธรรม" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เผย 20 วันฟังปัญหา-ไม่ได้หลับ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก่อนที่เราจะดำเนินการอย่างใด ต้องเข้าใจกันก่อน ที่ผ่านมาเราไม่มีเวลาไปฟังชาวบ้านมากนัก ทำให้ข้อมูลต่างๆ ไม่ครบ เช่นเดียวกับชาวบ้านที่ฟังข้อมูลไม่ครบจึงเกิดปัญหาด้วยกันทั้งคู่ วันนี้เราต้องเดินไปหาเขาและฟังทุกปัญหา เรามาทำงานได้ 20 วัน มีปัญหามาก ทำให้รู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ปัญหาเหล่านั้น อย่าคิดว่าเขาเป็นเพียงเสียงส่วนน้อย และคนเหล่านั้นร้องเรียนทุกปีและคิดว่าไม่เป็นไร แต่ปัญหาทุกอย่างเกิดจากจุดเล็กจุดน้อยทั้งนั้น และจะเผชิญหน้ากับการเดินขบวนการเรียกร้อง ตนเคยคุยกับข้าราชการบางคน เขาบอกว่าคนพวกนี้มาทุกปีไม่เป็นไร ปีหน้าก็มาใหม่ ซึ่งตนคิดว่าน่ารำคาญ ฉะนั้นต้องหาสาเหตุว่าทำไมเขาถึงมา ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้วจะดูแลตรงไหน เราต้องให้ความสนใจ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ทำให้ประชาชนแบ่งเป็น 2-3 ฝ่าย ตนไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ดังนั้นทุกคนต้องเสียสละและใช้สติปัญญา เราจะต้องสร้างประชาธิปไตยของไทยขึ้นมาใหม่ ใช้สติปัญญาของคนไทยทุกคน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา มีคนบอกปัญหากับตนมากจนเต็มลิ้นชักไปหมดทั้งโทรศัพท์ คลิป จนไม่ได้หลับไม่ได้นอน ตลอดเวลามีแต่ปัญหาที่ต้องแก้ บางอย่างน่าชื่นชมยินดี บางอย่างก็หงุดหงิด บางอย่างก็ทรมาน 9 ปีแล้ว ฉะนั้นจากวันที่ 22 พ.ค. เราจะต้องมีความสุข หลายคนอาจเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งตนอยากให้คนที่ไม่เห็นด้วย ชะลอประชาธิปไตยเอาไว้ก่อน ซึ่งเรื่องต่างๆ ที่เป็นปัญหา การร้องเรียนจะได้รับการตรวจสอบทุกเรื่อง อยากให้ทุกคนร่วมมือกับตน นับจากวันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นมา เรื่องเก่าให้เป็นเรื่องเก่า เรื่องใหม่ให้เป็นเรื่องใหม่
ต้นเดือนก.ย.ตั้งรัฐบาล-มีนายกฯ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าตนยืนอยู่ตรงนี้และรู้ว่าไม่นาน ไม่รู้ว่าเป็นช่วงฮันนีมูนพีเรียดหรือเปล่า แต่ตนพยายามทำให้นานก็แล้วกัน บ้านเมืองเราต้องแก้ไขด้วยการเป็นประชา ธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่ใช่แค่เลือกตั้งอย่างเดียวแล้วมาฆ่ากันทั่วเมือง คงทำให้ไม่ได้ หากการยอมรับยังไม่เกิดมันจะยิ่งกว่าการที่ตนออกมาเสียอีก ถ้าหากเลือกตั้งครั้งหน้าไม่มีใครยอมใคร ปี 2557 ก็ใช้งบประมาณไม่ได้ และปี 2558 ก็ทำงบประมาณไม่ได้ ถามว่าประชาธิปไตยจะทำได้หรือไม่ เมื่อเลือกตั้งออกมาได้รัฐบาลก็ประท้วงอีก นี่คือคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับตนในการประชุมของกลุ่มต่างๆ ก่อนวันที่ 22 พ.ค. รัฐบาลบอกว่าถ้าไม่ได้ก็ไม่ได้ก็ต้องปล่อยไปแบบนี้ ทุกคนคงเข้าใจ
"พูดไปก็หาว่าแก้ตัว ผมไม่อยากเลยจริงๆ เดิมก็ทรมานอยู่แล้ว ไม่มีความสุข ตอนนี้ยิ่งไม่มีกว่าเดิมอีกเพราะกดดันด้วยเวลา สถานการณ์ ต่างประเทศในประเทศ ผมคิดทุกอย่าง เก็บทุกเม็ดมาแก้ ทุกอย่างก็รุมเร้า อย่าโกรธกัน ทั้งนี้แผนการทำงานของคสช.ที่มี 3 ขั้นตอน คือตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ส.ค. จะต้องทำทุกอย่างให้เรียบร้อยภายใน 3 เดือน ทั้งร่างธรรมนูญการปกครองชั่วคราว การตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติและก็ตั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และบริหารราชการ คิดว่าน่าจะตั้งรัฐบาลได้ปลายเดือนส.ค. หรือต้นเดือนก.ย. และต้องเผื่อเวลา 15 วันเพื่อทูลเกล้าฯ และหลังจากมีรัฐบาลแล้วจะเดินหน้าทำงานและตั้งสภาปฏิรูป นำทุกภาคส่วนโดยเฉพาะคู่ขัดแย้งไปรวมกันและคัดออกมาเป็นสภาปฏิรูป" หัวหน้า คสช. กล่าว
คสช.ไม่ได้เพิ่มปัญหา-แค่แก้
หัวหน้าคสช. กล่าวว่า วันนี้พูดไปแล้วก็หาจุดผิดของตนมาตี คนไทยเป็นอะไร สมองเสียไปข้างหนึ่งหรืออย่างไร ซึ่งน่าโมโหจริง ตนลากผบ.เหล่าทัพมารับผิดชอบกับตนด้วย ทุกคนพยายามคิด เหน็ดเหนื่อยกันเพราะทำเพื่อบ้านเมือง ถามว่าตนได้อะไร ในเมื่อเงินก็ไม่อยากได้ อำนาจก็อยากใช้น้อยๆ และอยู่ก็ไม่นาน แค่ 10 วัน ตนก็เบื่อแล้ว แต่เห็นว่าอนาคตมันไปไม่ได้ ใครจะเป็นประชาธิปไตย ตนไม่รู้ แต่ประชาธิปไตยที่เป็นแบบไทยๆ มีคนส่วนใหญ่และคนส่วนน้อยแบบนี้คงไม่ได้ มันต้องไม่เกิดขึ้นเพราะสู้กันทั้งนอกทั้งใน มีการแบ่งฝ่าย ตนไม่โทษคนนำ แต่อยู่ที่เราว่าจะให้เขาจูงเราไปอย่างไร
"มีคนพูดว่าทหารมี 2 ฝ่าย มี 2 สี ท้าให้อีกฝ่ายออกมาเลย ทหารดีมีมากกว่าทหารไม่ดี ไม่ต้องมาห่วงพวกผม ทหารมีฝ่ายเดียวฝ่ายประเทศชาติ ประชาชน ถ้ามีหลายฝ่าย ผมคงไม่มาอยู่ตรงนี้ ขอให้ทุกคนให้เวลาผมอีกนิดในการปฏิรูป แก้ไขปัญหาของประเทศ ขอให้ทุกคนใช้ปฏิทินเดียวกันตน ไม่อยากให้เป็นไปเหมือน 9 ปีที่แล้ว ถ้าเชื่อตามเว็บไซต์ เรารบกันแน่นอน คสช.ไม่ได้สร้างปัญหาเพิ่ม แต่มาแก้ไข" หัวหน้าคสช. กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเดินทางกลับ ผู้สื่อข่าวถามว่าวันนี้จะมีการยกเลิกเคอร์ฟิว ทั่วประเทศหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า รอดูเย็นนี้ ก่อนทำมือไอเลิฟยู พร้อมส่งยิ้มให้ผู้สื่อข่าว
ออกหมายจับ 21 คน-ไม่รายงานตัว
ที่กองบังคับการปราบปราม นายทหาร พระธรรมนูญเดินทางมาประสานพนักงานสอบสวน ออกหมายจับบุคคลตามหมายเรียกให้มารายงานตัวตามคำสั่งของคสช. แต่ยังไม่มารายงานตัวตามกำหนด รวม 21 คน ประกอบด้วย 1.นายโสภณ เมฆตระกูล 2.นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ 3.นายสุนัย จุลพงศธร 4.นายณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ 5.นายธีร์ บริรักษ์ 6.นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล 7.น.ส.สุดา รังกุพันธุ์ 8.นายชัยอนันต์ ไผ่สีทอง 9.นายพงศ์พิเชษฐ์ สุขจินดาทอง 10.นายพฤทธ์นรินทร์ ธนบริบูรณ์สุข 11.นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ 12.นางดารุณี กฤตบุญญาลัย 13.นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ
14.นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ 15.นาย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ 16.น.ต.ชนินทร์ คล้ายคลึง 17.นายนิธิวัต วรรณศิริ 18.นายศรัณย์ ฉุยฉาย 19.นายไตรรงค์ สินสืบผล 20.นายชฤต โยนกนาคพันธุ์ 21.นายวัฒน์ วรรลยางกูร
ทั้งนี้ บุคคลที่ไม่มารายงานตัวต่อคสช. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อเวลา 07.40 น. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ต.ต.สาโรจน์ ติระกิจพาณิชย์ สว.กก.สส.ปป.บก.ตม.2 ร.อ.กิตติ์ เลิศวิมล ผบ.ร้อย 1 พัน.ป. 21 รอ. เข้าจับกุมคือ น.ส.จิตรา คชเดช อายุ 42 ปี ผู้ต้องหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวต่อคสช. ตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ก่อนควบคุมตัวส่งมอบพ.ต.ท.พงศ์ไสว แช่มลำเจียก พงส.ผนพ.กก.1 บก.ป. ดำเนินคดี
ด้านน.ส.จิตรากล่าวว่า เพิ่งเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา ยังไม่รู้จะทำอะไรต่อ ขอปรึกษาเพื่อนๆ ก่อน
คสช.ประกาศนโยบายยุติธรรม
เมื่อเวลา 10.55 น. คสช.ออกประกาศ ฉบับที่ 63/2557 เรื่องนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ การดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ของรัฐต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่การดำเนินคดีต่างๆ ที่ผ่านมาและการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม อาจก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ามีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ปัญหาความขัดแย้งและแตกแยกในสังคมเกิดขึ้น และอาจมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมของรัฐดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวดเร็วเป็นธรรมแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนและนานาประเทศเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย
คสช.ขอประกาศว่า คสช.มีนโยบาย เกี่ยวกับการกระบวนการยุติธรรมของรัฐว่า ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างทั่วถึง เสมอภาค และเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรมองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าศาล ป.ป.ช. องค์กรอิสระอื่น อัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ รวมทั้งหน่วยงานอื่นของรัฐ ขอให้ยึดมั่นปฏิบัติงานด้วยความเที่ยงธรรมและมีบรรทัดฐานที่ชัดเจนในการดำเนินคดี ตามประเภทคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ซึ่งสาธารณชนตรวจสอบได้ หลีกเลี่ยงการดำเนินการใดๆ ที่อาจมีผลให้เกิดความเข้าใจผิดในการบังคับใช้กฎหมาย นำไปสู่ความขัดแย้งและแตกแยกในสังคม ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
ตร.-ทหารคุมเข้มเยี่ยม'ลายจุด'
เมื่อเวลา 10.30 น.ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และ ผู้เคลื่อนไหวเรื่องนักโทษการเมือง 100 คน ทยอยเดินทางมาเยี่ยมนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบ.ก.ลายจุด และกลุ่มนักโทษการเมือง มีตำรวจสน.ประชาชื่น และทหาร ร.11 รอ.ทั้งในและนอกเครื่องแบบนับร้อยคน กระจายกำลังสังเกตการณ์รอบเรือนจำ พร้อมอุปกรณ์พันธนาการทั้งสายรัดข้อมือและกุญแจมือ สำหรับเตรียมจับกุมผู้ที่กระทำผิดแสดงสัญลักษณ์คัดค้านรัฐประหาร โดยเฉพาะผู้ที่มาลงชื่อเยี่ยมนายสมบัติและคนอื่นๆ จะถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพเกือบทุกราย
ต่อมา เวลา 11.00 น.เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษเปิดให้เข้าเยี่ยมนายสมบัติ ท่ามกลางกลุ่มแนวร่วม เพื่อนฝูงและญาติมิตรเข้าเยี่ยมกันอย่างคับคั่ง รวมถึงผู้ถูกคุมขังคนอื่นๆ โดยต่างชูนิ้วสามนิ้ว และนำสองมือประสานอกเป็นรูปนกพิราบ เพื่อเป็นกำลังใจแกนนำกลุ่มต้านรัฐประหาร ผ่านกรงขัง ทั้งนี้นายสมบัติซึ่งถูกตัดผมสั้นเกรียน มีสีหน้าแช่มชื่น แต่อิดโรยเล็กน้อยได้แสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว และประสานมือที่หน้าอกเป็นรูปนกพิราบ พร้อมโบกมือตอบกลับทักทายผู้ที่มาให้กำลังใจ ขณะเดียวกันภายในห้องเยี่ยมผู้ถูกคุมขัง มีแกนนำนปช. อาทิ นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก และเอกชัย หงส์กังวาน สองผู้ถูกคุมขังข้อหาม.112 รวมทั้งการ์ดนปช.ที่อยู่ในห้องเยี่ยมผู้ต้องขังถัดไปด้วย
'สมบัติ'ชี้คสช.คิดผิดขังพิราบ
นายสมบัติ เปิดเผยผ่านลูกกรงว่า มั่นใจว่าคสช.จะต้องคุมขังตน และไม่ให้ประกันตัวออกไป ไม่ต่ำกว่า 2 ปี จนกว่าจะลงจากอำนาจ ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้อง เพราะความจริงตนเป็นสายพิราบ การแสดงออกที่ผ่านมาเป็นไปด้วยแนวทางสันติวิธี หากคสช.ต้องการที่จะทำให้เกิดความปรองดองจริงตามที่พูดไว้ ควรเปิดพื้นที่ให้สายพิราบได้แสดง ออกบ้าง เพื่อไม่ให้การต่อต้านของคนบนดินลงไปสู่ใต้ดิน ขอยืนยันว่าพวกตนไม่ใช่ศัตรูของกองทัพ แต่ขณะนี้กลับถูกมองเป็นศัตรู หลายคนถูกจับแล้วถูกดำเนินคดียัดม.112 ตามไปด้วย ตนพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง เพื่อหาทางออกให้ประเทศอย่างสันติวิธี ร่วมกับคสช. และอยากเสนอด้วยว่า การปฏิรูปประเทศไม่สามารถทำได้ หากไม่เปิดโอกาสให้สายพิราบได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น จึงควรต้องเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้แสดงออกด้วย
นายสมบัติ กล่าวต่อว่า ส่วนความเคลื่อน ไหวหลังจากนี้ ตนขอให้ประชาชนเลิกออกมาแสดงออกต่อต้านรัฐประหารบนท้องถนน แต่ขอให้สวมเสื้อสีแดงทุกวันอาทิตย์ เพื่อยืนยันว่าประชาชน คือ เจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง เพราะประวัติศาสตร์ประเทศนี้ ได้บันทึกไว้แล้วว่า การรัฐประหารครั้งนี้มีประชาชนไม่เห็นด้วยออกมาเคลื่อนไหว ต่อต้าน ไม่จำเป็นต้องตอกย้ำอีก เพราะมีการควบคุมอำนาจไว้หมดแล้ว แต่เราต้องดูกันว่ากระบวนการหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร และจะมีการขับเคลื่อนเข้าสู่กระบวนการปรองดองเพื่อยุติความขัดแย้งกันอย่างไร
"ขอให้ผมได้ออกไปทำหน้าที่ เอาผมเข้ามาไว้ข้างในไม่มีผลอะไร เพราะมันจะทำลายขบวนการสายพิราบ หากจับผมมาแล้ว ทุกคนหยุดหมด ก็แปลว่าผมแพ้ แต่การต่อสู้ข้างนอกหลังจากนี้จะไม่มีทางหยุด และจะกลายมาเป็นการใช้พื้นที่จากข้างในคุกเพื่อต่อสู้ออกไปยังข้างนอก" บ.ก.ลายจุดกล่าว
แจ้งเพิ่มข้อหาหมิ่นสถาบัน-ม.112
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จการเข้าเยี่ยมนายสมบัติ และนักโทษการเมืองรายอื่นๆเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้มีกลุ่มผู้มาเยี่ยมนายสมบัติ และผู้ถูกคุมขังคนอื่นๆ ทยอยเดินทางออกนอกเรือนจำพิเศษ ระหว่างนั้นมีชายวัยกลางคนรายหนึ่ง สวมเสื้อสีขาว เดินไปที่ป้ายเรือนจำพิเศษ ก่อนทำท่าทางแสดงสัญลักษณ์มือประสานหน้าอกแบบนกพิราบ ผู้สื่อข่าวกรูเข้าไปถ่ายภาพชายคนดังกล่าว โดยมีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าไปขอดูบัตรประชาชน แต่ไม่ได้ควบคุมตัว ต่อมามีหญิงสูงอายุ 3 คน ยืนแสดงสัญลักษณ์นกพิราบ ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตำรวจเข้าไปขอดูบัตรประชาชน ก่อนส่งสายสืบตามสังเกต การณ์จนออกนอกเรือนจำ ส่วนผู้มาเยี่ยมคนอื่นๆทยอยเดินทางกลับ โดยไม่มีเหตุใดๆ
ต่อมาเมื่อเวลา 14.00 น. พ.ต.อ.สมชัย นิลจันทร์ พงส.ผทค. กลุ่มงานสอบสวน ภ.จว.ร้อยเอ็ด พ.ต.ท.ธันย์พศิน เพ็งพี พงส.ผนพ.สภ.เมืองร้อยเอ็ด และ พ.ต.ท.สุริยา แสงอ่อนตา พงส.ผนพ.สภ.เมืองร้อยเอ็ด เข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบ.ก.ลายจุด ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่นายวิพุธ สุขประเสริฐ แจ้งความไว้เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2557 และศาลจังหวัดร้อยเอ็ดได้ออกหมายจับไว้เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2557
เบื้องต้น นายสมบัติ ให้การปฏิเสธ พร้อมกล่าวว่า ขณะนี้ การยึดอำนาจได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว สังคมควรมองไปข้างหน้า และหาทางออกร่วมกัน ตนขอยุติบทบาทตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ส่วนเรื่องคดีความ ก็จะขอประกันตัวออกมาใช้ชีวิตกับลูกสาว และให้ความร่วมมือกับภาครัฐต่อไป
กต.รายงานสิทธิมนุษยชนไทย
ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างเข้าร่วมประชุมรับฟังรายงานว่าด้วยการปฏิบัติตามข้อเสนอในการดำเนินการเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ นครเจนีวา เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่รมว.ต่างประเทศ ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นที่คสช.เข้าควบคุมสถานการณ์ว่า สภาพการเมืองไทยก่อนวันที่ 22 พ.ค.นั้นยุ่งยาก ระบบการเมืองไม่สามารถทำงานได้ ประชาชนมีความขัดแย้งถึงขั้นเตรียมเผชิญหน้ากัน หากปล่อยให้เป็นเช่นนั้นต่อไปอาจเกิดความรุนแรงหรือทำให้รัฐไทยเข้าสู่ภาวะล้มเหลวได้
นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า หลังเข้าควบคุมสถานการณ์แล้ว คสช.ได้ออกแนวทาง 3 ขั้นตอนนำประเทศไทยสู่ความปรองดองและ เป็นประชาธิปไตย ขั้นแรกคือสร้างความปรองดองแห่งชาติจะใช้เวลา 3 เดือน ขั้นที่สองจะเริ่มการปฏิรูป มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีนายกฯและรัฐบาลรักษาการ ซึ่งจะใช้เวลา 1 ปี ก่อนเข้าขั้นตอนสุดท้ายคือการเลือกตั้งเพื่อไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน จึงขอให้มิตรประเทศร่วมมือและอยู่กับเราสร้างสรรค์ความเป็นประชาธิปไตย ทุกประเทศแสดงความห่วงกังวลได้ เราเป็นสังคมเปิด เรายังเปิดอยู่และสถานการณ์ปัจจุบันก็กลับคืนสู่ความปกติ
นิรโทษฯสากลห่วงกม.คอมพ์-112
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้แทนประเทศต่างๆ ได้ซักถามและแสดงความเห็น โดยประเทศจากเอเชียและกลุ่มอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า ลาว สิงคโปร์ และบังกลาเทศ ต่างเข้าใจในสถานการณ์ของไทยและหวังว่าแผนการปฏิรูปการเมืองของไทยจะดำเนินอย่างราบรื่นตามที่กำหนดไว้
ด้านผู้แทนจากประเทศตะวันตกนำโดยสหภาพยุโรป หรืออียู แคนาดา และผู้แทนองค์กรเอ็นจีโอหลายแห่ง แสดงความกังวลถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของไทยหลังมีรัฐประหาร โดยเฉพาะปัญหาการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวและการดำเนินคดีของศาลทหารภายใต้กฎอัยการศึกนั้น จะกระทบต่อแผนปฏิบัติตามข้อแนะนำเรื่องสิทธิมนุษชนอย่างมาก
ขณะที่ผู้แทนขององค์การนิรโทษกรรมสากล กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยอาญากรรมทางคอมพิวเตอร์และกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์นั้น น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง อยากให้ผู้แทนไทยชี้แจงประเด็นนี้ให้กระจ่าง นอกจากนี้ยังมีคำถามจากผู้เข้าร่วมประชุมอื่นๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อการใช้เครือข่ายสื่อสังคมหรือโซเชี่ยลมีเดียด้วย เนื่องจากมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ไทยติดตามตรวจสอบการแสดงความเห็นผ่านสื่อออนไลน์ดังกล่าว
ยูเอ็นออกแถลงการณ์รับไม่ได้
วันเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ภายหลังจากเกิดกรณีการควบคุมตัวผู้อื่นโดยพลการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. พร้อมเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจคืนกระบวนการประชาธิปไตยและสิทธิขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนโดยเร็ว
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า รัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยถูกจำกัดลงนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจ โดยยูเอ็นเอชซีอาร์มีความกังวลจากรายงานที่ระบุว่า มีประชาชนจำนวนมากกว่า 440 คน โดยรวมถึงผู้นำทางการเมือง นักวิชาการ ผู้สื่อข่าว และนักเคลื่อนไหว ที่ถูก คสช. ควบคุมตัวไว้ ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ เนื่องจากเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ
ก่อนจะย้ำว่า เสถียรภาพและการปรองดองในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ยาก หากไม่มีการยืนยันในหลักสิทธิมนุษยชน และในช่วงวิกฤติทางการเมืองเช่นนี้ การเคารพในหลักนิติรัฐถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
มท.ถกขับเคลื่อนโยบายคสช.
ที่ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานประชุมแนวทางขับเคลื่อนภารกิจเร่งด่วนตามนโยบายของ คสช. โดยมีนายศิริพงศ์ ห่านตระกูล อธิบดีกรมการปกครอง นายประภาส บุญยินดี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมอภิปรายให้ผู้บริหาร อธิบดีกรมทุกกรม ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และ ผู้ว่าฯทุกจังหวัด เข้าร่วมกว่า 200 คน
ด้านนายประภาสกล่าวว่า การพูดคุยเพื่อสร้างความปรองดองนั้น ไม่ใช่การละเว้นความผิดหรือนิรโทษกรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมก็ยังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้จังหวัดต้องเข้าไปทำความเข้าใจในพื้นที่โดยเร็ว ตั้งศปป.อำเภอและจังหวัด โดยจังหวัดดำเนินการได้เลย ไม่ต้องเกรงใจใครอีกเพราะตอนนี้ คสช.เรียกนักการเมืองและแกนนำกลุ่มต่างๆ มาทำความเข้าใจแล้ว ทั้งนี้ จังหวัดควรคิดกิจกรรมเพื่อสร้างความปรองดองตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ทุกภาคส่วนต้องช่วยจังหวัดทำ ผสมผสานกับตำรวจ ทหาร เชื่อว่าหากร่วมมือกันจะทำสำเร็จได้
นายศิริพงษ์กล่าวว่า ให้อำเภอรายงานการปฏิบัติไปยังจังหวัดภายในเวลา 10.00 น. จังหวัดรายงานมายังกระทรวงในเวลา 11.00 น. และกระทรวงรายงานให้คสช.ในเวลา 12.00 น.
จ่อเชิญนักลงทุนสหรัฐ-ยุโรป
เวลา 20.40 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่าเจ้าหน้าที่ทำงานมุ่งเน้นการใช้กฎหมายปกติเป็นหลัก และใช้กฎอัยการศึกเท่าที่จำเป็น ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ และเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด เราจะไม่ใช้กฎหมายมาสร้างความขัดแย้ง ส่วนการสร้างความเข้าใจให้กับบุคคลที่เห็นต่างหรือขัดแย้งกันในอดีตนั้น การเรียกบุคคลมารายงานตัวได้รับความร่วมมือจากบุคคลเหล่านั้นอย่างดีและพร้อมสนับสนุนงานรักษาความสงบเรียบร้อย การปรองดองสมานฉันท์
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมิตรประเทศต่างๆ เริ่มมีท่าทีที่ดีขึ้น เข้าใจสถานการณ์ในไทยมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐยังคงดำเนินตามปกติ กลุ่มนักธุรกิจประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น ที่เราเชิญมาพบมีความเข้าใจมากขึ้น และมีแผนจะเชิญผู้ประกอบการของสหรัฐ ออสเตรเลีย และยุโรปมาเพิ่มเติมในเวลาอันใกล้นี้ ทั้งนี้ เราจะยังดำเนินการเรียกความเชื่อมั่นในเวทีต่างประเทศในทุกภาคส่วน ทั้งด้านการทูต ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ทั้งภาคราชการและเอกชนอย่างต่อเนื่อง
ยอมรับถูกกดดันทั้งนอก-ใน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แผนระยะที่หนึ่ง 3 เดือนแรกคืบหน้าไปมาก เราคาดหวังว่าในระยะที่สอง ซึ่งจะใช้เวลา 1 ปี ถ้าไม่มีปัญหาแทรกซ้อนใดๆ ทั้งระยะที่ 1-2 น่าจะเดินไปได้อย่างที่ต้องการ วันนี้เรากำหนดไว้ชัดเจนว่าจะมีรัฐบาลในเดือนก.ย. เพื่อขับเคลื่อนประเทศต่อไป ส่วนสภานิติบัญญัติก็เช่นกัน ต้องเกิดขึ้นมาก่อน พร้อมประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราวหลังเดือนก.ย.ไปแล้วก็คือเดือนต.ค. ยืนยันว่าตั้งแต่เดือนต.ค.จะบริหารประเทศในลักษณะรัฐบาลที่มีครม. ขับเคลื่อนในทางที่ใกล้เคียงกับการบริหารราชการแบบปกติให้มากที่สุด
หัวหน้าคสช. กล่าวว่า ส่วนการปฏิรูประบบบริหารราชการและแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งระบบที่เป็นโครงสร้างใหญ่ๆ และพูดกันมา 8-9 เรื่องนั้น ในระยะที่ 2 หลังมีรัฐบาลแล้ว จะเริ่มปฏิรูปตั้งแต่ต.ค.เป็นต้นไป แต่ต้องใช้เวลา
"วันนี้เราถูกกดดันมากพอสมควร ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ด้วยปัญหาที่ประสบยาวนาน ด้วยเวลาที่จำกัดและความคาดหวัง ความไว้วางใจของประชาชน ฉะนั้นเราจะไม่ผลีผลามทำอะไรเร่งด่วนจนเกิดผลกระทบระยะยาว สร้างปัญหาให้อนาคต หวังว่าทุกคนคงให้กำลังใจเราเหมือนเดิม และอยากขอให้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นเราคงมีกำลังใจน้อยลงเรื่อยๆ เพราะถูกกดดันต่อเวลาที่ผ่านมา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
สั่ง'สมศักดิ์เจียม'รายงานตัว
เวลา 22.30 น. คสช.ออกคำสั่งที่ 65/2557 เรียกรายงานตัวเพิ่มเติมในวันที่ 14 มิ.ย. เวลา 10.00-12.00 น. ที่ห้องจามจุรี สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ ประกอบด้วย 1.น.ส.กัญญาภัค มณีจักร 2.นายประสิทธิ์ วุฒินันชัย 3.พ.ท. สมจิตร เชื้อเดช 4.นายสมชาย มงคลทรัพย์ 5.นายธนิต บุญญนสินีเกษม และ 6.นาย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พร้อมระบุด้วยว่า การรายงานตัว หากมีการกักตัวจะไม่เกิน 7 วัน และในกรณีที่มารายงานตัวตามวันเวลาที่สั่งจะสามารถเดินทางกลับได้เลย
คสช.เตือน'องค์กรอิสระ'อย่าเอียง ตัดสินคดีไม่เลือกปฏิบัติ'ศาล-อัยการ-ตร.'ด้วย เลิกแล้วเคอร์ฟิวทั่วปท. กย.ตั้ง'รบ.-สภาปฏิรูป'ออกหมายจับอีก17คน'ลายจุด'ลั่นยุติบทบาท
มติชนออนไลน์ :
'บิ๊กตู่'ยันกันยายนตั้งรัฐบาล-สภาปฏิรูป เตรียมเชิญนักธุรกิจ'มะกัน-อียู-ออสซี่'เข้าพบทำความเข้าใจ คสช.ประกาศเตือนองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ยึดเที่ยงธรรม
'บิ๊กตู่'ชี้ปชต.ไม่ใช่แค่เลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาหัวหน้าส่วนราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ในการมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ว่าประเทศไทยกลัวคนมียศ เพราะคนมียศบางคนต้องการใช้อำนาจ ซึ่งอำนาจไม่ได้มาง่ายๆ ต้องไขวคว้ายังไงก็ไม่มา ถ้ามาแล้วใช้ไม่เป็นก็อยู่ไม่นาน ที่ต้องพูดเพราะยืนอยู่ตรงนี้ และรู้ว่าไม่นานหรอก ไม่รู้ว่าเป็นช่วงฮันนีมูน พีเรียด หรือเปล่าไม่รู้ แต่พยายามทำให้นานก็แล้วกัน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า บ้านเมืองต้องแก้ไขด้วยการเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่ใช่แค่เลือกตั้งอย่างเดียว แล้วมาฆ่ากันทั่วเมือง คงทำให้ไม่ได้ หากการยอมรับยังไม่เกิดมันจะยิ่งกว่าการที่ตนออกมาเสียอีก ถ้าหากเลือกตั้งครั้งหน้าไม่มีใครยอมใคร ปี 2557 ก็ใช้งบประมาณไม่ได้ และปี 2558 ก็ทำงบประมาณไม่ได้ แล้วถามว่าประชาธิปไตยจะทำได้หรือไม่ เมื่อเลือกตั้งออกมาได้รัฐบาลก็ประท้วงอีก
คาดก.ย.ตั้งรบ.-สภาปฏิรูป
"พูดไปก็หาว่าแก้ตัว ผมไม่อยากเลยจริงๆ เดิมก็ทรมานอยู่แล้ว ไม่มีความสุข ตอนนี้ยิ่งไม่มีกว่าเดิมอีก เพราะกดดันด้วยเวลา สถานการณ์ต่างประเทศ ในประเทศ ผมคิดทุกอย่าง เก็บทุกเม็ดมาแก้ ทุกอย่างก็รุมเร้า อย่าโกรธกัน ทั้งนี้ แผนการทำงานของ คสช.ที่มี 3 ขั้นตอน คือตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม จะต้องทำทุกอย่างให้เรียบร้อยภายใน 3 เดือน ทั้งร่างธรรมนูญการปกครองชั่วคราว การตั้ง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) และตั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และบริหารราชการ คิดว่าน่าจะตั้งรัฐบาลได้ปลายสิงหาคม หรือต้นกันยายน หลังจากมีรัฐบาลแล้วก็จะเดินหน้าในการทำงานและตั้งสภาปฏิรูป โดยจะนำทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคู่ขัดแย้งไปรวมกันและคัดกันออกมาเป็นสภาปฏิรูป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เร่งเลิกเคอร์ฟิวทุกพื้นที่
ต่อมาเมื่อเวลา 20.40 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่าอยากจะเรียนความคืบหน้าของการทำงานในทุกๆ ด้านที่ผ่านมา งานด้านความมั่นคง ในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา มีการประกาศกฎอัยการศึก มีการจับกุมอาวุธปืนสงคราม 88 กระบอก ปืนเถื่อน ทั้งปืนพก ปืนลูกซอง ปืนผลิตเอง 1,268 กระบอก กระสุน 7,000 กว่านัด ลูกระเบิด วัตถุระเบิด 300 กว่าลูก การจับกุมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศนั้น จะยังคงเร่งดำเนินการต่อไป
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกบางมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว 25 จังหวัด และกำลังพิจารณาว่าจะยกเลิกได้ทุกพื้นที่หรือไม่ จะดำเนินการให้ได้โดยเร็ว
ตุลาคมเดินหน้าปฏิรูป
"การเดินหน้าเรื่องการปฏิรูป ปัจจุบันระยะที่หนึ่ง 3 เดือนแรกมีความคืบหน้าไปมาก เราคาดหวังว่าในระยะที่สอง จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถ้าไม่มีปัญหาแทรกซ้อนใดๆ ในระยะที่หนึ่งเรากำหนดชัดเจนว่า น่าจะมีรัฐบาลในเดือนกันยายน เพื่อขับเคลื่อนประเทศต่อไป ในส่วนของสภานิติบัญญัติก็เช่นเดียวกัน คงต้องเกิดขึ้นมาก่อน พร้อมๆ กับการประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราว ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไปคงจะเป็นการบริหารประเทศในลักษณะเป็นรัฐบาลที่มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วพยายามจะขับเคลื่อนไปในทางที่ใกล้เคียงกับการบริหารราชการแบบปกติที่ผ่านมาให้ได้มากที่สุด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องการปรับปรุงระบบบริหารราชการและแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งระบบนั้น ที่เป็นโครงสร้างใหญ่ๆ และที่พูดกันมาประมาณ 8-9 เรื่อง ที่ต้องมีการปฏิรูป ในระยะที่หนึ่งไม่ได้นำอะไรมาเป็นข้อสรุป เพียงแต่นำข้อสรุปของทุกคนไปให้เขาพูดคุยกัน เพื่อจะนำไปสู่ระยะที่สองคือหลังจากที่มีรัฐบาลแล้ว คงจะไปปฏิรูปกันตั้งแต่ตุลาคมเป็นต้นไป
เล็งเชิญเอกชนมะกัน-อียูเข้าพบ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สถานการณ์ด้านต่างประเทศ ปัจจุบันมิตรประเทศต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อไทยมาโดยตลอดก็เริ่มมีท่าทีที่ดีขึ้น เข้าใจถึงสถานการณ์ในประเทศไทยมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ ยังคงดำเนินการไปตามปกติ มีการแลกเปลี่ยน ติดต่อราชการระหว่างประเทศในแต่ละกระทรวง กลุ่มนักธุรกิจประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น ที่ได้เชิญมาพบแล้วมีความเข้าใจมากขึ้น และมีแผนที่จะเชิญผู้ประกอบการของสหรัฐ ออสเตรเลีย และยุโรปมาเพิ่มเติมในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพื่อให้ทุกคนมีความเชื่อมั่น และยังคงการลงทุนในประเทศไทยดังเดิม หรือขยายความร่วมมือมากยิ่งขึ้นในอนาคต
"การต่างประเทศนั้น วันนี้เริ่มดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้ต่อเนื่องและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เราคบกับทุกประเทศจะต้องมีความไว้วางใจต่อกัน ไม่หวาดระแวงต่อกัน และมีความเท่าเทียมกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินงานต่างๆ ยังคงเป็นไปตามที่วางแผนไว้ เพราะประชาชนให้ความร่วมมือกับ คสช.เป็นอย่างดียิ่ง เป็นกำลังใจให้ คสช.เสมอมา เพราะว่าบางประเทศที่มีท่าทีที่ยังไม่เห็นชอบ หรือไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ตนและ คสช.เคารพในความคิดของทุกประเทศ ไม่ได้ตอบโต้ประเทศเหล่านั้น ความสัมพันธ์เหล่านั้นยังคงมีอยู่ และยังคงต้องอยู่ต่อไปในเรื่องของความร่วมมือ และบรรยากาศที่ดีทั้งราชการ ภาคเศรษฐกิจ และประชาชน ต้องใช้เวลา ให้ประเทศเหล่านั้นได้เข้าใจ ได้ศึกษาความเข้าใจบริบทของสังคมไทยให้เห็นการปฏิบัติงานและผลงานของ คสช.อย่างแท้จริง
คสช.ยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วปท.
ต่อมาเมื่อเวลา 21.10 น. คสช.ออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 64/2557 เรื่องยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักรว่า ตามที่ คสช. ได้มีการประกาศห้ามออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 3/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และได้มีการปรับลดห้วงระยะเวลาการห้ามออกนอกเคหสถาน และยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในบางพื้นที่ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 42/2557 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ฉบับที่ 52/2557 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ฉบับที่ 54/2557 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ฉบับที่ 56/2557 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2557 และฉบับที่ 60/2557 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2557 แล้วนั้น
เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศได้คลี่คลาย และไม่ปรากฏสิ่งบอกเหตุอันจะนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ดังนั้นเพื่อเป็นมาตรการผ่อนคลายและบรรเทาผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน รวมทั้งเพื่อเป็นมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ จึงให้ยกเลิกการประกาศห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่ส่วนที่เหลือทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
คสช.ให้องค์กรยธ.ยึดเป็นธรรม
วันเดียวกัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศ ฉบับที่ 63/2557 เรื่องนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ว่า โดยที่การดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ของรัฐ ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งปวงตามแต่กรณี แต่การดำเนินคดีต่างๆ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมว่ามีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมเกิดขึ้น และอาจมีเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต
คสช.ขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า คสช.มีนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐว่า ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรม ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างทั่วถึง โดยเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ในกระบวนการยุติธรรม องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นศาล คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ องค์กรอิสระอื่นๆ อัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ รวมทั้งหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ขอให้ยึดมั่นในการปฏิบัติงานด้วยความเที่ยงธรรม และมีบรรทัดฐานที่ชัดเจน ในการดำเนินคดีตามประเภทคดี ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ซึ่งสาธารณชนสามารถตรวจสอบได้
ปลัดบัวแก้วแจง"ยูเอ็น"เหตุปว.
ขณะที่ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมในการชี้แจงตอบข้อซักถามของประเทศที่เข้าร่วมการประชุมรับฟังรายงานว่าด้วยการปฏิบัติตามข้อเสนอในการดำเนินการเรื่องสิทธิมนุษยชนที่สำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสีหศักดิ์ได้เล่าให้ที่ประชุมฟังถึงการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของไทยในหลายด้าน รวมถึงประเด็นปัญหาสำคัญหลายประการ อาทิ การค้ามนุษย์ สิทธิเด็กและสตรี ทั้งยังรายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ คสช.ต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ รวมถึงแผนโรดแมป 3 ขั้นของ คสช.เพื่อนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน
"อยากจะขอให้มิตรประเทศทั้งหลายให้ความร่วมมือและอยู่กับเราในการสร้างสรรค์ความเป็นประชาธิปไตย หากทุกประเทศมีความห่วงกังวล ท่านสามารถแสดงความห่วงกังวลได้ แต่ประเทศไทยจะไม่หายไปจากแผนที่โลกแน่นอน เรายังคงเป็นสังคมเปิด ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันก็กลับคืนสู่ความปกติแล้ว" นายสีหศักดิ์กล่าวต่อที่ประชุม
ชาติตะวันตกห่วงคุมออนไลน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ผู้แทนประเทศต่างๆ ซักถามและแสดงความคิดเห็น โดยประเทศที่มาจากเอเชียและกลุ่มอาเซียน อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า ลาว สิงคโปร์ และบังกลาเทศ แสดงความเข้าใจในสถานการณ์ของประเทศไทยและหวังว่าแผนการปฏิรูปของไทยจะดำเนินไปอย่างราบรื่นตามที่กำหนดไว้ ขณะที่ผู้แทนจากประเทศตะวันตกนำโดยสหภาพยุโรป (อียู) แคนาดา และผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของไทยหลังมีการรัฐประหาร โดยเฉพาะการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวและการดำเนินคดีของศาลทหารจะกระทบกระเทือนต่อแผนการในการปฏิบัติตามข้อแนะนำเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก
ผู้แทนขององค์การนิรโทษกรรมสากล กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์และกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของไทยนั้นเป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง อยากจะให้ผู้แทนไทยชี้แจงประเด็นนี้ให้กระจ่าง นอกจากนี้ยังมีคำถามจากผู้เข้าร่วมประชุมอื่นๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อการใช้โซเชียลมีเดียทั้งหลายด้วย เนื่องจากมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ไทยติดตามตรวจสอบการแสดงความเห็นของประชาชนผ่านสื่อออนไลน์เหล่านี้ด้วย
ไทยแจงปัดคุมสังคมออนไลน์
นายสีหศักดิ์ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การพิจารณาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์และกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น จะต้องพิจารณาภายใต้บริบททางการเมืองของไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังพิจารณาปฏิรูปกฎหมายอยู่ด้วย ส่วยการประกาศกฎอัยการศึกนั้นก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า มาตรการภายใต้กฎหมายกฎอัยการศึกนั้นทาง คสช.นำมาใช้เพียงไม่กี่มาตรการ และผู้ที่ถูกเรียกมารายงานตัวก็ถูกคุมขังไม่เกิน 7 วัน ส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวไปหมดแล้ว ที่ยังเหลืออยู่ในเวลานี้น่าจะประมาณ 20 รายเท่านั้น อีกทั้งผู้ที่จะต้องขึ้นศาลทหารก็ได้รับอนุญาตให้มีการแต่งตั้งทนายความแก้ต่างให้ด้วยเหมือนศาลพลเรือน ส่วนเรื่องโซเชียลมีเดียนั้นเนื่องจากมีข่าวลือออกมาค่อนข้างมาก แต่ประเทศไทยไม่มีนโยบายในการปิดกั้นการสื่อสารในสังคมออนไลน์
ภายหลังจากการประชุมที่สหประชาชาติแล้ว นายสีหศักดิ์ได้ร่วมรับประทานอาหารเย็นกับคณะทูตและผู้แทนประเทศต่างๆ หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและถือโอกาสนี้ชี้แจงสถานการณ์และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการของประเทศไทยด้วย
แถลงการณ์ห่วงไทยจำกัดสิทธิ
ต่อมากลุ่มผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชนอิสระด้านสิทธิมนุษยชน ที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทย ออกแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์ทางด้านสิทธิมนุษยชนในไทย ว่า เสถียรภาพและความปรองดองจะไม่เกิดขึ้นได้ในประเทศไทยถ้าหากสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ได้รับการรับรอง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกมาตรการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและเร่งฟื้นฟูประชาธิปไตย ท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องส่งเสริมหลักการนิติรัฐ
แถลงการณ์ระบุว่า มีการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานหลายอย่างในประเทศไทยนับแต่ทหารยึดอำนาจ มีบุคคลจำนวนมากถูกคุมขัง และมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม สิ่งที่เป็นข้อห่วงกังวลอย่างมากคือทางการทหารไทยได้เรียกบุคคล 440 คนรวมทั้งผู้นำทางการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชนและนักเคลื่อนไหวไปรายงานตัวในค่ายทหาร หลายคนยังถูกควบคุมตัวโดยไม่มีโอกาสได้พบกับครอบครัวและทนายความ หลายคนถูกคุมขังในที่ซึ่งไม่เปิดเผย ติดต่อไม่ได้ อาจจะเสี่ยงต่อการซ้อม ทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติไม่ดี
มาตรการหลายอย่างของทางการไทยกระทบต่อการวิพากษ์วิจารณ์และเสรีภาพสื่อมวลชน รวมทั้งการสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และมีการสั่งปิดสถานีวิทยุจำนวนมาก การฟื้นฟูพื้นที่ให้สาธารณะมีการสานเสวนาเป็นสิ่งสำคัญที่จะก่อให้เกิดแนวทางในการผ่าทางตันทางการเมืองออกไปได้
ทั้งนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญร้องขอข้อมูลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องสิทธิมนุษยชนหลายอย่างจากทางการไทยหลังจากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม และสรุปในตอนท้ายของแถลงการณ์ว่าพร้อมที่จะติดต่อและพูดคุยกับทางการไทยต่อไป
เขมรตรวจหา"จักรภพ"เข้าปท.
วันเดียวกัน เว็บไซต์วอยซ์ออฟอเมริกา ของกัมพูชา รายงานว่า นายเขียว โสเพียก โฆษกกระทรวงมหาดไทยกัมพูชา เปิดเผยว่า ทางการกัมพูชากำลังตรวจสอบการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่กำลังพยายามหาทางจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นบริเวณชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา
ข่าวระบุว่า นับตั้งแต่การยึดอำนาจของทหารในประเทศไทย บรรดากลุ่มผู้สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ ว่ากำลังพยายามหาทางจัดตั้งรัฐบาลขึ้นนอกประเทศ ซึ่งนายเขียวกล่าวว่า กัมพูชามีท่าทีที่ตอบสนองในเชิงบวกต่อ คสช. รวมทั้งตัวบุคคลที่ คสช.ไม่ให้เดินทางเข้าออกประเทศ
นายเขียวกล่าวว่า ทางการกัมพูชาได้ตรวจสอบบันทึกตามด่านตรวจชายแดนต่างๆ ว่ามีชื่อของนายจักรภพ เพ็ญแข หรือไม่ หลังจากเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า กลุ่มคนเสื้อแดงกำลังหาสถานที่เพื่อก่อตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้น
ก่อนหน้านี้ นายกอย กวง โฆษกกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา แถลงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนว่า การที่ระบุว่ากัมพูชาอาจจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้คนเสื้อแดงจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น เป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น
ด้านนายเลา มอง เฮย์ นักวิเคราะห์การเมืองอิสระ เชื่อว่าเป็นไปได้ที่กัมพูชาจะกลายเป็นที่จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นของคนเสื้อแดง เนื่องมาจากกัมพูชาเองไม่ได้มีการคุมเข้มบริเวณแนวชายแดน ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณและบรรดาผู้สนับสนุนเองก็เป็นมิตรกับเจ้าหน้าที่ของกัมพูชา แต่อาจจะไม่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นมาอย่างเป็นทางการในกัมพูชา แต่อาจจะก่อตั้งขึ้นในรูปแบบอื่น
คุมตัว"จิตรา"ที่สุวรรณภูมิ
เมื่อเวลา 07.40 น. วันเดียวกัน ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ต.ต.สาโรจน์ ติระกิจพาณิชย์ สว.กก.สส.ปป.บก.ตม.2 และ ร.อ.กิตติ์ เลิศวิมล ผบ.ร้อย 1 กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 21 รักษาพระองค์ รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ว่ามีบุคคลตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร จึงร่วมกันตรวจสอบ ทราบชื่อ น.ส.จิตรา คชเดช อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 54 หมู่ 6 ต.บางเลน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2557 ที่เรียกให้เข้ารายงานตัว
ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารคุมตัว น.ส.จิตรา ส่งมอบให้ พ.ต.ท.พงศ์ไสว แช่มลำเจียก พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม (กก.1 บก.ป.) สอบปากคำ โดย น.ส.จิตรากล่าวว่า เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศสหรัฐ ไม่ทราบว่า คสช.เรียกให้เข้ารายงานตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.จิตราเคยเป็นประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล และเคยชูป้าย "ดีแต่พูด" ต่อหน้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ
ศาลทหารหมายจับอีก17คน
ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทหารพระธรรมนูญได้ยื่นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน บก.ป. เพื่อพิจารณาออกหมายจับบุคคลที่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่เรียกให้เข้ารายงานตัวตามกำหนด แต่ยังไม่เข้ารายงานตัว รวม 17 ราย ซึ่งศาลได้อนุมัติออกหมายจับเรียบร้อยเเล้ว ประกอบด้วย 1.สุนัย จุลพงศธร 2.นายณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ 3.นายธีร์ บริรักษ์ 4.นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล 5.น.ส.สุดา รังกุพันธุ์ 6.นายชัยอนันต์ ไผ่สีทอง 7.นายพฤทธ์นรินทร์ ธนบริบูรณ์สุข 8.นางดารุณี กฤตบุญญาลัย 9.นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ 10.นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ 11.นาย
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ 12.นาวาอากาศตรีชนินทร์ คล้ายคลึง 13.นิธิวัต วรรณศิริ 14.นายศรัณย์ ฉุยฉาย 15.นายไตรรงค์ สินสืบผล 16.นายชฤต โยนกนาคพันธุ์ และ 17.นายวัฒน์ วรรลยางกูร
ทั้งนี้ บุคคลที่ไม่มารายงานตัวต่อ คสช. เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เรียกอีก6คนรายงานตัว
ต่อมา เวลา 22.30 น. คสช. ออกคำสั่งที่ 65/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่ม ในวันที่14 มิถุนายน ณ ห้องจามจุรี สโมสรทหารบกเทเวศร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น. ดังนี้ 1.น.ส.กัญญภัค มณีจักร 2.นายประสิทธิ์ วุฒินันชัย 3.พ.ท.สมจิตร เชื้อเดช 4.นายสมชาย มงคลทรัพย์ 5.นายธนิต บุญญนสินีเกษม 6.นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
อนึ่ง กรณีการเชิญตัวบุคคลให้มารายงานตัวก่อนหน้านี้ คสช.ขอเรียนชี้แจงทำความเข้าใจว่าการเชิญตัวดังกล่าวเจ้าหน้าที่จะใช้เวลาในการดูแล และทำความเข้าใจเท่าที่จำเป็นไม่เกิน 7 วัน ผู้ที่มีรายชื่อทั้งหมดให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สามารถเดินทางกลับได้ภายในวันที่รายงานตัว
แห่ชู 3 นิ้วเยี่ยม'บ.ก.ลายจุด'
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาลทหารมีคำสั่งให้ฝากขังนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผลัดแรก 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-23 มิถุนายน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 มิถุนายน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กลุ่มผู้เห็นต่างกับการรัฐประหารกว่าร้อยคน ทยอยเดินทางเข้าเยี่ยมนายสมบัติ โดยทั้งหมดลงทะเบียนเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังตามขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์ โดยมีกำลังตำรวจและทหารกระจายกำลังรอบเรือนจำ พร้อมสายรัดข้อมือ และกุญแจมือ เพื่อเตรียมจับกุมผู้ที่จะทำสัญลักษณ์คัดค้านรัฐประหาร โดยเฉพาะผู้ที่ลงชื่อเยี่ยมนายสมบัติ จะถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพเกือบทุกราย
กระทั่งเวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษเปิดให้เข้าเยี่ยมนายสมบัติ โดยกลุ่มแนวร่วม เพื่อนฝูงและญาติมิตรเข้าเยี่ยมกันอย่างคับคั่ง พร้อมชูนิ้ว 3 นิ้ว และนำสองมือประสานอกเป็นรูปนกพิราบ เป็นกำลังใจนายสมบัติผ่านกรงขัง ทั้งนี้ นายสมบัติซึ่งถูกตัดผมสั้นเกรียน มีสีหน้ายิ้มเเย้ม ชูสามนิ้วตอบกลับผู้ที่มาให้กำลังใจ
ทั้งนี้ มีนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก และเอกชัย หงส์กังวาน แกนนำ นปช. ผู้ถูกคุมขังในข้อหาผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ในห้องเยี่ยมผู้ต้องขังถัดไปด้วย
"บ.ก.ลายจุด"คาดถูกคุมขัง 2 ปี
จากนั้นนายสมบัติเผยว่า มั่นใจว่าคณะผู้ยึดอำนาจ จะต้องคุมขังตนและไม่ให้ประกันตัวออกไป ไม่ต่ำกว่า 2 ปี จนกว่าจะลงจากอำนาจ เพราะมองว่าตนเป็นอันตราย ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้อง เพราะความจริงเป็นสายพิราบ การแสดงออกที่ผ่านมาก็เป็นไปด้วยแนวทางสันติวิธี หาก คสช.ต้องการที่จะทำให้เกิดความปรองดองจริง
ตามที่พูดไว้ ควรที่จะเปิดพื้นที่ให้สายพิราบได้แสดงออกบ้าง เพื่อไม่ให้การต่อต้านลงไปสู่ใต้ดิน ขอยืนยันพวกตนไม่ใช่ศัตรูของกองทัพ แต่ขณะนี้กลับถูกมองเป็นศัตรู และยังพยายามจะแจ้งข้อหาผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีก ตนพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง เพื่อหาทางออกให้ประเทศอย่างสันติวิธีร่วมกับ คสช. และอยากเสนอด้วยว่าการปฏิรูปประเทศไม่สามารถทำได้ หากไม่เปิดโอกาสให้สายพิราบเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น จึงควรต้องเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้แสดงออกด้วย
"ขอให้ผมได้ออกไปทำหน้าที่ เอาผมเข้ามาไว้ข้างในไม่มีผลอะไร เพราะมันจะทำลายขบวนการสายพิราบ การต่อสู้ข้างนอกหลังจากนี้จะไม่มีทางหยุด และจะกลายมาเป็นการใช้พื้นที่จากข้างคุกในการต่อสู้ข้างนอก" บ.ก.ลายจุดกล่าว
แนะให้ใส่เสื้อแดงวันอาทิตย์
นายสมบัติกล่าวถึงความเคลื่อนไหวหลังจากนี้ว่า ขอให้เลิกแสดงออกในการต่อต้านการรัฐประหารบนท้องถนนได้แล้ว อยากให้เพียงสวมเสื้อสีแดงในทุกวันอาทิตย์เท่านั้น เพราะประวัติศาสตร์ประเทศนี้ได้บันทึกไว้แล้วว่าการรัฐประหารครั้งนี้ได้มีประชาชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ไม่จำเป็นต้องตอกย้ำอีก เพราะมีการควบคุมอำนาจไว้หมดแล้ว แต่ต้องดูกันว่ากระบวนการหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร และจะมีการขับเคลื่อนเข้าสู่กระบวนการปรองดองเพื่อยุติความขัดแย้งกันอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการเข้าเยี่ยมนายสมบัติและนักโทษการเมืองรายอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว มีชายวัยกลางคนรายหนึ่ง สวมเสื้อสีขาว เดินไปที่ป้ายเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯแล้วแสดงสัญลักษณ์มือประสานหน้าอกแบบนกพิราบ เพื่อหวังจะบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก ผู้สื่อข่าวจำนวนมากที่เฝ้ารออยู่ต่างวิ่งกรูเข้าไปถ่ายภาพชายคนดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจึงเข้าไปหาขอดูบัตรประชาชน แต่ไม่ได้ควบคุมตัว ขณะเดียวกันมีหญิงสูงอายุ 3 คน ยืนแสดงสัญลักษณ์นกพิราบหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯด้วย ตำรวจจึงเข้าไปขอดูบัตรประชาชนเช่นกันโดยไม่ได้จับกุม แล้วส่งสายสืบตามประกบจนออกนอกเรือนจำ ส่วนผู้เข้าเยี่ยมรายอื่นๆ ทยอยเดินทางกลับทันทีโดยไม่แสดงสัญลักษณ์ใดๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บริเวณห้องเยี่ยมในเรือนจำพิเศษที่อยู่ใกล้ๆ กัน นายชุมพล จุลใส และนายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ แกนนำ กปปส. พร้อมมวลชนกลุ่มหนึ่ง เดินทางมาเยี่ยม ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ และนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่ม กปท.ที่ศาลไม่อนุมัติการประกันตัวด้วย
"บ.ก.ลายจุด"ขอยุติบทบาท
ต่อมาเวลา 14.00 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พ.ต.อ.สมชัย นิลจันทร์ พงส.ผทค. กลุ่มงานสอบสวน ภ.จว.ร้อยเอ็ด พ.ต.ท.ธันย์พศิน เพ็งพี พงส.ผนพ.สภ.เมืองร้อยเอ็ด และ พ.ต.ท.สุริยา แสงอ่อนตา พงส.ผนพ.สภ.เมืองร้อยเอ็ด เข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่นายวิพุธ สุขประเสริฐ แจ้งความไว้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2557 ว่า เข้าเล่นอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์เฟซบุ๊ก โดยเปิดเข้าไปยังหน้าบัญชีของนายสมบัติ และพบภาพตัดต่อ ที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบัน และศาลจังหวัดร้อยเอ็ดได้ออกหมายจับไว้เมื่อ
วันที่ 10 มิถุนายน
เบื้องต้นนายสมบัติให้การปฏิเสธ พร้อมกล่าวว่า ขณะนี้การยึดอำนาจเสร็จสมบูรณ์แล้ว สังคมควรมองไปข้างหน้า และหาทางออกร่วมกัน จึงขอยุติบทบาทตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ส่วนเรื่องคดีความก็จะขอประกันตัวออกมาใช้ชีวิตกับลูกสาว และให้ความร่วมมือกับภาครัฐต่อไป
ปลัดมท.จี้ผู้ว่าฯเร่งปรองดอง
ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต มีการประชุมผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัด เกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจเร่งด่วนของกระทรวงมหาดไทยตามนโยบายของ คสช. โดยมีนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน
นายวิบูลย์กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนขณะนี้คือการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ รองลงมาคือการแก้ไขปัญหาของประชาชน ขอให้ผู้ว่าฯให้ความสำคัญกับการดูแลชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม ส่วนการสร้างความปรองดองสมานฉันท์นั้น เรามีแนวทาง 5 ข้อ คือ 1.สร้างความเข้าใจ 2.สร้างบรรยากาศ 3.มีเวลาทำงาน 1 เดือน
อย่ารอให้จวนเวลา อะไรทำได้ให้ทำก่อนเลย 4.ทุกพื้นที่ ห้ามละเว้น และ 5.ทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน
นายศิริพงศ์ ห่านตระกูล อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า ขอให้เร่งจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจปกครองและศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ในระดับจังหวัด และให้ปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับจาก คสช. คือป้องกันการชุมนุมทางการเมือง การเผยแพร่ข่าวสารต่อต้าน คสช. การลักลอบตัดไม้ การพนัน การติดตามทวงหนี้จากชาวนา การปราบปรามยาเสพติด การส่งมอบอาวุธและเครื่องกระสุน และการจัดการแรงงานต่างด้าว
ขอผู้ว่าฯช่วยกู้ภาพพจน์มท.
นายประภาส บุญยินดี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า อยากให้ลงไปตรวจสอบว่ามีชาวบ้านกลุ่มไหนบ้างที่เป็นหัวโจกที่จะสร้างความรุนแรง และสร้างความเข้าใจผิด เวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องเร่งทำงานเพื่อเรียกความศรัทธากลับคืนมา และความปรองดองก็จะตามมา ภาพพจน์ของมหาดไทยตกต่ำมาหลายปีแล้ว จะใช้โอกาสนี้เรียกภาพพจน์ของกระทรวงกลับคืนมา
นายจรินทร์ จักกะพาก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ที่ คสช.กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการนั้นคือ การปฏิรูปที่จะนำไปสู่การปรองดอง โดยมีกรอบดำเนินงานของคณะทำงานเตรียมการปฏิรูป คสช.ดังนี้ ขั้นที่ 1.รวบรวมข้อมูลและจัดทำหัวข้อการรับฟังความคิดเห็น ขั้นที่ 2 การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ขั้นที่ 3 รวบรวมผลการรับฟังความคิดเห็นจากทุกช่องทาง และขั้นที่ 4 สรุปผลความคิดเห็นรายงาน คสช. การทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดครั้งนี้ เดิมพันสูงมาก จะเป็นการชี้ว่า สถาบันข้าราชการจะสามารถนำประเทศชาติไปสู่ความสงบสุขได้หรือไม่
ผู้พันเบิร์ดร่วมปรองดองปทุมฯ
ที่ลานอเนกประสงค์ ริมเขื่อนสำนักงานเทศบาลตำบลธัญบุรี อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี กองบัญชาการควบคุม กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ โดยกองพลทหารม้าที่ 2 กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ร่วมกับเทศบาลตำบลธัญบุรี สถานีตำรวจภูธรธัญบุรี จัดโครงการ "คสช.คืนความสุขให้คนทั้งชาติ ประชาราษฎร์ ร่วมใจปรองดอง" โดยมี พล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา
ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ นายคมสัน เจริญอาจ นายอำเภอธัญบุรี และ พ.ต.อ.นิรุธ ประสิทธิเมตต์ ผกก.สภ.ธัญบุรี ร่วมเป็นประธานเปิดงาน โดยมี พ.ท.วันชนะ สวัสดี หรือผู้พันเบิร์ด ผู้บังคับกองพัน กรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ นักแสดงจากเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวร ร่วมงานด้วย ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การแสดงดนตรี การตรวจรักษาโรค พร้อมทั้งแจก
ข้าวสาร 10,000 กระสอบ มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก
ด้าน พ.ท.วันชนะ หรือผู้พันเบิร์ดกล่าวว่า นอกจากกิจกรรม คสช.คืนความสุขให้คนทั้งชาติแล้ว ทาง คสช.ยังจัดให้ประชาชนทั่วประเทศชมภาพยนตร์เรื่อง "ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ภาค 5"ฟรี รอบเดียว 160 โรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ ในวันที่ 15 มิถุนายน เวลา 11.00 น. โดยรับตั๋วชมภาพยนตร์ได้ที่หน้าโรงภาพยนตร์
แดงเชียงรายประกาศหนุนคสช.
วันเดียวกัน ที่บริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ห้าแยกพ่อขุน อ.เมือง จ.เชียงราย กลุ่มคนเสื้อแดงนำโดย น.ส.จิรนันท์ จันทวงษ์ แกนนำกลุ่มลูกคนเมืองรักชาติเชียงราย นางเกษณีย์ ชื่นชม แกนนำกลุ่มเชียงราย 49 นายสายชล ศรีสรวล แกนนำกลุ่มแดงนครเชียงราย รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมทำความเข้าใจต่อแนวทางปฏิบัติของ คสช. และประกาศสลายสีเสื้อทางการเมือง