- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 14 June 2014 13:55
- Hits: 6515
วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8599 ข่าวสดรายวัน
เลิกเคอร์ฟิวทั่วปท. คนกรุงเฮ บิ๊กตู่ลั่น-ไม่เอา'ประกัน-จำนำ' เข้มทำงบฯปี 58 'ปิยสวัสดิ์'แรง ปธ.บอร์ดปตท.
ไอเลิฟยู - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคสช. ยกมือชู 3 นิ้วทักทายกลุ่มสื่อมวลชน ภายหลังเป็นประธานประชุมหัวหน้าส่วนราชการทุกกระทรวง และผู้ว่าฯทั่วประเทศ ที่สโมสรกองทัพบก เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. |
"บิ๊กตู่"ประกาศ เลิก "เคอร์ฟิว"ทั่วปท. ลั่นเลิกหมด จำนำข้าว-ประกันราคา มุ่งให้ความรู้ลดต้นทุน ใช้ระบบสหกรณ์ ถกกรอบงบฯ"58 จี้ทุกหน่วยช่วยเร่งฟื้นความเชื่อมั่น ปัดวุ่นคืนความสุขจนสำลัก ยันมาตรการคสช.ไม่ใช่ประชานิยม ย้ำยังไม่อนุมัติ 3 ล้านล้านพัฒนาโลจิสติกส์ ด้านคมนาคมถกคลังวางกรอบ 3 ล้านล.เสนอบิ๊กจิน นิด้าโพลชี้คนอยากให้จำนำข้าวอยู่ต่อ
"บิ๊กตู่"ถกวางกรอบงบฯ"58
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุม ชี้แจงรายละเอียดและยุทธศาสตร์ การจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 และการเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯ ปี 2557 ให้กับหัวหน้าส่วนราชการ และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฯลฯ เข้าร่วมประชุม กว่า 1,200 คน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจัดการเรื่องงบฯ ปี 2558 ให้เสร็จตามที่กำหนด ซึ่งได้อนุมัติงบฯ ปี 2558 ไปแล้วในวงเงิน 2.575 ล้านล้านบาท เพิ่มจากงบฯ ปี 2557 ร้อยละ 2 หรือ 5 หมื่นล้านบาท อยากฝากนโยบายให้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ รอบคอบ ไม่นำความรู้สึกส่วนตัวมาเกี่ยวข้องกับการทำงาน ต้องทำให้ประชาชนเชื่อถือ ซึ่งปัญหาที่ผ่านมาหลักๆ คือ การบริหารงานของข้าราชการไม่สามารถดำเนินการตามแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ ดังนั้น หากมีอะไรติดขัดอยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไข ทำเพราะอยากทำ ทำเพราะเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำเพราะเราฟังเสียงของคนไทยทุกคน ดำเนินการทุกอย่างและพัฒนาทุกด้านอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงตั้งแต่ปัจจุบันถึงอนาคต
ปัดคสช.ไม่ใช่ประชานิยม
"มาตรการของ คสช.ที่จะทยอยออกมานั้น ไม่อยากให้มองว่าเป็นมาตรการประชานิยม เช่น การชะลอเรื่องภาษี ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการปรับโครงสร้างใหม่อยู่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ส่วนเรื่องพลังงาน น้ำมันต่างๆ เป็นการขอความร่วมมือจึงตรึงราคาไว้ก่อน ถือเป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ผมไม่อยากให้มองว่า คสช.คืนความสุขจนสำลัก ถือเป็นเรื่องยากที่จะสั่งหรืออนุมัติเรื่องใดลงไปเพราะมีผลระบบทั้งสิ้น วันนี้อยากให้ทุกคนเข้าใจไม่ว่าเรื่องพลังงาน ภาษี คุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ที่ประชาชนเดือดร้อน ต้องมองทุกมิติว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้เราทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดความชัดเจน ขาดการทำความเข้าใจกับประชาชน อาจพูดภาษาราชการมากไป ไม่เอาคำถามของประชาชนมาเป็นโจทย์และไม่ตอบคำถามเขา" หัวหน้า คสช.กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คนไทยเก่งและมีความสามารถกันทุกคน มันยิ่งกว่าใครที่ไหนทั้งนั้นเพราะเรารู้ว่าคนไทยคืออะไร เป็นอย่างไร อย่าให้คนอื่นเข้ามาบริหารจัดการเลย ขอยืนยันว่าโครงการต่างๆ หากไม่ได้การอนุมัติ หรือมีลายเซ็นของตน ก็ยังไม่ใช่ทั้งสิ้น เป็นเพียงการหารือของคณะกรรมการในทุกฝ่าย อย่างเช่นโครงการ 3 ล้านล้านบาท ตนยังไม่ได้อนุมัติเลย ต้องไปถามสำนักงบฯ ว่ามีเงินอยู่เท่าไร คิดว่ามีบางคนปล่อยข่าวเพื่อให้ประชาชนเรียกร้องและทำให้งานเราสะดุด ดังนั้น อยากให้ช่วยกันอธิบายกับสังคม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะจะเกิดความเสียหาย
จี้ช่วยเรียกความเชื่อมั่นคืนมา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นโยบายการจัดทำงบฯ ปี 2558 ต้องตั้งเป้าให้ใช้จ่ายได้ตั้งแต่ต้นปี และจะเร่งรัดกระบวนการต่างๆ ให้โปร่งใสทุกขั้นตอน ขณะนี้ตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายงบฯ ส่วนงบฯ ปี 2557 ที่ค้างอยู่ โครงการที่มีปัญหาอยู่ก็จะเข้าไปดูให้ หากมีทางจะเข้าไปอยู่ในแผนงานไตรมาส 4 ส่วนโครงการใหม่ที่เกิน 1 พันล้านบาทต้องดูรายละเอียด ขอให้จริงใจต่อกัน ตนไม่อยากใช้อำนาจหรือกฎหมายมากนัก แต่ทุกคนต้องเห็นใจ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นทุกอย่างจะเดินหน้าไม่ได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายไปหาแนวทางเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน ทั้งการบริหารงานของรัฐ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการเรียกความเชื่อมั่นจากนานาชาติกลับคืนมา ต้องหาแนวทางว่าทำอย่างไรเขาถึงจะเข้าใจว่าทำไมถึงมีวันนี้ รวมถึงสาเหตุที่ปล่อยปัญหาให้เรื้อรังมา อยากให้ตัดความชอบและความรักส่วนตัวออกไปก่อน ประเทศชาติต้องมาก่อน ตนมุ่งหวังให้ใช้จ่ายงบฯ ไม่สิ้นเปลือง และต้องไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศ รวมถึงการบริหารหนี้สาธารณะไม่เกินเกณฑ์ที่มีอยู่ วันนี้มีข่าวว่าหนี้สาธารณะเพิ่มทำให้ประชาชนอกสั่นขวัญแขวน อยากให้ไปชี้แจงจากเดิมหนี้สาธารณะอยู่ที่ 49-53 เปอร์เซ็นต์ และถ้าไม่ใช่มันไปหมกอยู่แถวไหน อยากให้นำตัวเลขมาให้ชัดเจนเพื่อลดความหวาดระแวง
สั่งเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
หัวหน้าคสช. กล่าวว่า ภาระอย่างหนึ่งคือหนี้ระยะยาวที่พูดกันว่าประชาชนต้องเฉลี่ยต่อหัวละเท่าไร อยากให้ไปดูว่าถูกหรือผิด อย่าปล่อยให้เข้าใจกันแบบนั้น วันนี้ดำเนินการอยู่ในไตรมาสที่ 3 แต่นำตัวเลขมาสรุปว่าการท่องเที่ยวลดลงไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว มันก็ตก กลายเป็นว่าคสช.ทำให้มันลดลงใช่หรือไม่ ถ้าทำอย่างนั้นตนก็เสียหาย จากนี้อยากให้ทุกกระทรวง สรุปผลการทำงานก่อนวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา และหลังวันที่ 22 พ.ค.มาให้กับตนด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การทำงบฯ ปี"58 ครั้งนี้เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณหรือวงเงิน ลดการรั่วไหล การใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นและจัดทำงบฯ ให้ตรงตามแผนงานที่วางไว้ ต้องพอเหมาะพอดี ให้ผ่านชั้นคณะกรรมาธิการแปรญัตติ ถ้าไม่เช่นนั้นจะถูกลดงบฯ อาจจะร้อยละ 5 หรือร้อยละ 10 จะทำให้ทุกอย่างรวนไปหมด ต้องมาปรับแก้กันใหม่ ทั้งนี้ ตนสั่งการเรื่องการเขียนแผนบริหารพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ แผน 5 ปีแต่ต้องมองถึง 10 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร มองตรงนั้นแล้วถอยหลังมา ถึงจะวางแผนตรงนี้ได้ ฉะนั้น 2 แผนต้องเตรียมเชื่อมกัน และหากเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว ภาครัฐจัดเก็บรายได้เกินกว่าเป้าหมาย เราจะทำงบฯ เพิ่มเติมในโครงการลงทุนต่างๆ ได้
โวยขรก.ห้ามไปปรึกษาคนนอก
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การแบ่งพวก แบ่งพรรคในพื้นที่ต่างๆ ส่งผลกระทบให้การจัดทำงบฯ ในช่วงที่ผ่านมาไม่ทั่วถึง บางครั้งการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไปบังคับข้าราชการมากไป ซึ่งทุกคนต้องสร้างความเข้มแข็งของตัวเอง ให้เขาสั่งไม่ได้ แต่ก็ติดคำว่าต้องมีวินัยข้าราชการ และทุกคนรู้ว่าอะไรดีไม่ดี อย่างให้ทุกคนเตรียมตัวเมื่อ คสช. ก้าวสู่ระยะที่ 2 ให้ทุกคนปฏิรูปส่วนราชการของตัวเอง กำหนดระบบป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองมาก้าวล่วง มากดทับ
"การบูรณาการงานทุกกระทรวงโดยมีหัวหน้ากลุ่มงานของรัฐบาลไปตรวจสอบ ไม่ใช่ให้คนที่ไม่ได้อยู่ในรัฐบาลไปตรวจสอบ ไม่ว่าจะนักการเมืองหรือใครไม่ต้องเพราะไม่ใช่หน้าที่ มันจบไปแล้ว ไม่ต้องไปปรึกษาเขา ทราบมาว่ามีการไปปรึกษาคนเก่าๆ ขอให้มาปรึกษาผม ไม่ต้องไปปรึกษาคนนอก ถ้าไปปรึกษากับคนนอก ก็ไปอยู่กับเขาเลย เตือนกันแล้ว และผมก็เตือนคนที่ให้คำปรึกษาด้วย ซึ่งท่านบอกว่าหยุดแล้ว แต่ไม่รู้จะห้ามคนที่เขามาหาอย่างไร ผมเลยต้องห้ามทั้งสองทาง" หัวหน้า คสช.กล่าว
ปรามดูงาน-ซื้อรถประจำตำแหน่ง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกกระทรวง ทบวง กรมต้องนำหลักการเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ไปนำร่องปฏิบัติและทำความเข้าใจกับประชาชนว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การประหยัด แต่เป็นความพอเพียงในการดำรงชีวิตในทุกด้าน เริ่มด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ที่ข้าราชการต้องจำได้คือ 1.มีเหตุมีผล 2.พอประมาณ 3.มีภูมิคุ้มกันที่ดี ภายใต้เงื่อนไข ความรู้ คุณธรรม ถ้ามีสิ่งเหล่านี้จะทำให้ดำรงชีวิตด้วยความสุข
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนการบริหารจัดการน้ำ ก่อนจะทำอย่างอื่นให้นำงบฯ เรื่องน้ำมาดูก่อน พร้อมทั้งหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องว่าใครจะทำงานหลักงานรอง ต้องบริหารจัดการน้ำให้ได้ ให้ประชาชนใช้น้ำเพียงพอต่อการบริโภค รวมถึงการเกษตร และจะนำงบฯ ที่เหลือจากปี"57 มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ดีกว่าไปดูงานต่างประเทศ และรถยนต์ประจำตำแหน่งก็ไม่ต้องซื้อ
เร่งแบ่งโซนเกษตร-ยี้"ผังเมือง"
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องการแบ่งโซนนิ่งการเกษตรต้องมีสัดส่วนของการปลูก วันนี้ราคาข้าวตั้งเอาไว้แบบนี้จะแบ่งพื้นที่โซนนิ่ง จะให้เขาปลูกอย่างอื่นแล้วทำได้หรือไม่ ให้กลับไปคิดกันว่าจะทำกันอย่างไร อยากให้คิดเรื่องที่เป็นไปได้ ส่วนการวางผังเมืองก็เช่นกัน ตนก็ติไปว่าน่าจะยุบกรมผังเมืองเพราะสับสนมาก อยากให้ตีกรอบเมืองใหญ่ เมืองเก่าเอาไว้ ค่อยๆ ทำไปเพื่อให้เป็นวัฒนธรรมไทย รวมถึงปรับปรุงเส้นทางให้ง่ายต่อการเดินทาง เช่น แถวฝั่งธนบุรี ที่มีการตีกรอบไว้ อันนี้ก็เละ เพราะไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าจึงทำไม่ได้ เพราะคนมีบทบาทจะสั่งตรงนี้ ดันมีที่ดินอยู่ตรงนั้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราต้องสร้างระบบเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืน ให้ความรู้เกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนปัจจัยขั้นพื้นฐานพร้อมดูแลชาวนา ชาวไร่ โดยตนดูแนวคิดในค่ายทหาร นำระบบสหกรณ์มาใช้ ตั้งแต่วันนี้ขอกระทรวงเกษตรฯ รับไปดูแลทบทวนตรวจสอบสหกรณ์ทั้งระบบ เพราะมีข้อมูลบางกรณีไม่ดีนัก
ลั่นเลิก"ประกัน-จำนำข้าว"
"เป็นไปได้หรือไม่ว่าไม่มีการประกันราคาข้าว ไม่มีการจำนำข้าวอย่างแน่นอน ถ้ามีแล้วโปร่งใส ประชาชนได้รับจริงๆ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ขอให้พิสูจน์มาและวันหน้าค่อยว่ากันใหม่ แต่วันนี้ไม่มีแน่นอน ไม่ต้องมาพูดกับผมอีก ไม่ว่าจำนำข้าวหรือประกันราคาข้าว มีแต่จะทำอย่างไรให้ลดต้นทุนการผลิต เริ่มตั้งแต่การเช่านา ถ้าลดตรงนี้ได้มันก็โอเค ฉะนั้นนายทุนต่างๆ ต้องช่วยกัน พร้อมกันนั้นต้องส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากกว่าปุ๋ยเคมีเพื่อป้องกันดินเสีย อยากให้ไปคิดริเริ่มธนาคารข้าวในทุกพื้นที่ชนบทและทุกอำเภอ ชาวนาเบิกยืมเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยเคมีได้ อาจจะกังวลกันว่าทำเช่นนี้แล้วเจ๋ง เหมือนกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ต้องคิดเรื่องนี้ให้เร็วๆ ลดการเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลาง ตลาดกลางเกษตรไปทำโดยตรง หรือให้ชาวนาชาวไร่จัดขึ้นมาเองตามแนวทางที่เขาอยากจัด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมในประเทศต้องเชื่อมโยงกับการลงทุนต่างประเทศ ซึ่งได้บอกนักลงทุนประเทศใหญ่ที่มาพบว่า การมาจัดตั้งฐานการผลิตในไทย เราไม่ได้เงินตรงนั้นทั้งหมดแต่ได้จากการจัดเก็บภาษี ตนบอกไปว่าต่อไปนี้การเข้ามาจัดตั้งโรงงาน หรือบีโอไอสนับสนุน ต้องเข้าหลักเกณฑ์ถึงวันที่ 5 ก.ค.นี้คือต้องใช้แรงงานไทย ใช้วัตถุในประเทศ หลักเกณฑ์เหล่านี้ในต่างประเทศก็ใช้บังคับนักลงทุนเหมือนกัน
จี้เริ่มหาพลังงานทดแทน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในด้านสาธารณูป โภคต้องพิจารณาว่าสิ่งใดทำได้ก่อน เช่น รถไฟรางคู่ ส่วนรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ต้องใช้เงินกู้จำนวนมาก ต้องพิจารณาว่าคุ้มทุนหรือไม่ ที่ต่างชาติมีข้อเสนอมาว่าจะให้ฟรี ตนอยากถามว่าโลกนี้มีอะไรที่ได้มาฟรีบ้าง ต้องไปดูข้อเสนอ เช่น การให้สัมปทาน 50 ปี ต่อไปจะขอพื้นที่สองข้างทางข้างละ 2 ก.ม.เพื่อทำธุรกิจของเขา อีกทั้งนำคนของเขาเข้ามาในพื้นที่ 2 แสนคนเพื่อมาทำงาน อยากถามว่าของฟรีแบบนี้ทุกคนรับได้หรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายคิดเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน เราสั่งซื้อพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน อยากถามว่าถ้าเขาปิดท่อก๊าซและสายส่งทั้งหมดจะอยู่กันได้กี่วัน ต้องเร่งแก้ไขและริเริ่มพลังงานทดแทนขึ้นให้ได้ จะต่อเนื่องเชื่อมโยงถึงภาคการผลิต การปลูกพืชเชื้อเพลิง ตอนนี้สร้างอะไรไม่ได้เพราะเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้น ฉะนั้น สิ่งใดที่สร้างได้ก็สร้างก่อน เช่น ก๊าซ โรงไฟฟ้าลิกไนต์ ถ้าไม่เริ่มจากง่ายและประชาชนมีส่วนร่วมก็ไม่มีทางทำได้ โรงงานที่เข้ามาตั้งในประเทศจะต้องทำพลังงานทดแทนของเขาเอง ไม่ใช่ไทยต้องลงทุนพลังงานและสาธารณูปโภคให้เขาหมด อยากถามว่าสิ่งที่ผลิตทั้งหมดประชาชนใช้กี่เปอร์เซ็นต์ พลังงานสำรองที่ทำกันสำรองให้คนหรืออุตสาหกรรม
โวยต้นทุนถูกบิดเบือน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ราคาพลังงานตอนนี้ก็มีผลกระทบมาก บริษัทที่มีปัญหาขณะนี้ทำอย่างไรให้ชัดเจนขึ้น อะไรที่เป็นรัฐวิสาหกิจล้วนๆ ต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร อยากให้ดูตัวอย่าง เช่น รถไฟ เมื่อก่อนเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็เป็นอย่างนั้น อะไรที่เป็นรัฐวิสาหกิจผสมบริษัทมหาชน เช่น ปตท. กำไรที่ออกมาตนไม่รู้ว่ามันจะผิดหรือจะถูก ต้องดูเรื่องกติกา และผลประโยชน์ของประชาชนด้วย การจะปรับบอร์ดหรืออะไรก็ยากไปหมด ถ้าเขาคิดว่าไม่สบายใจเขาก็ต้องลาพักไป ตนไม่อยากใช้อำนาจมากนัก ถ้าเราเคลียร์ตรงนี้ได้คนจะได้เลิกพูดว่าเละเทะไปหมด เงินแสนล้านหายไปไหนหมด เข้ากระเป๋านักการเมืองหรือเปล่า
หัวหน้า คสช.กล่าวว่า ทั้งนี้ คณะทำงานกำลังดูเรื่องนี้ในภาพรวมว่าจะเพิ่มหรือลดลงไป ต้นทุนพลังงานจะเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาบิดเบือนกันมาตลอด เพราะนโยบายตอนนี้กองทุนน้ำมันติดลบ 7,400 ล้านบาท ซึ่งราคาแก๊สและน้ำมันที่ลดลงจะต้องสนับสนุนด้วย ทั้งนี้ ประเทศไทยมีแหล่งน้ำมัน มีคนถามว่าทำไมไม่ขุดเอง ขายเองในราคาถูกกับคนในประเทศ แต่ความจริงบริษัทต่างชาติเป็นคนมาขุดทั้งนั้น เราได้แค่ค่าสัมปทานก็ต้องไปคิดว่าต่อไปจะทำอย่างไร จะเก็บใช้หรือแบ่งขายอย่างไร
ลั่นวางรากฐานให้กับแผ่นดิน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ด้านการท่องเที่ยวคนต้องการให้เป็นเหมือนกับเกาหลี ซึ่งคงไม่ได้ เพราะต้องผสมผสานทั้งส่วนที่เก่าและใหม่ ที่มีแนวคิดจะทำเมืองหลวงใหม่แต่พื้นที่นั้นไกลมาก ต้องคิดว่าควรมาอยู่รอบๆหรือไม่ อาจจะไม่ต้องทำในสมัยที่ตนบริหารประเทศ ควรคิดเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้แล้วเป็นไปได้ เหมือนคิดว่าบินได้อย่างนก วันนี้มีเครื่องบิน ถ้าไม่คิดเช่นนี้ก็จะจมอยู่ในอดีตและปัจจุบัน แต่ไม่มีอนาคต วันนี้หลายคนเร่งรัดให้ตนดำเนินการหลายสิ่ง ทำในสิ่งที่ตนจัดระเบียบไว้แล้ว หรือจะทำอย่างไร เพราะตนไม่ได้วางปฏิทินเอาไว้ ส่วนกฎหมายต้องสร้างให้ทุกฝ่ายยอมรับ ประชาชนเกรงกลัวกฎหมาย รู้หน้าที่และมีวินัย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เราต้องสร้างความเข้าใจและคืนความสุขให้ประชาชนทุกฝ่ายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทำสิ่งใดที่กระทบต่องบฯ ในระยะยาว ไม่สร้างความเสียหายให้กับวินัยทางการเงินการคลัง สิ่งไหนที่ตนสั่งแล้วผิดให้มาบอก เพราะฟังทุกอย่าง ไม่ใช้แต่อำนาจ เราคงทำงานกันได้ด้วยดี จากวันนี้ไปถึงรัฐบาลต่อๆ ไปจะวางรากฐานให้กับแผ่นดินนี้ด้วยมือและมันสมองของพวกเรา อย่าไปพึ่งชาติอื่น ให้เขามากำหนดชะตาประเทศชาติเรา อย่าให้ใครมาทำให้ข้าราชการเสียหายหรือเดินไปข้างหน้าไม่ได้โดยละทิ้งกฎเกณฑ์ กติกาทั้งปวง ประชาชนจะได้มีความสุขอย่างยั่งยืน ถวายแด่พระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระชนมพรรษามาก วันนี้ต้องถวายท่าน ไม่ใช่มาเอาอะไรจากพระองค์ท่านอีกเพราะพระองค์ท่านให้มามากแล้ว
ปิยสวัสดิ์เต็งปธ.บอร์ดปตท.
แหล่งข่าวจากปตท.เปิดเผยว่า มีการนำประวัตินายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และอดีตรมว.พลังงาน ในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาตรวจสอบ คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานบอร์ด ปตท.ในเร็วๆ นี้ .
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ขณะเดียวกันมีการทาบทามนายพรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงพลังงานและอดีตปลัดกระทรวง วิทยาศาสตร์ฯ มาร่วมคณะรัฐมนตรี โดยคาดว่าจะมาเป็นรมว.พลังงาน
คค.ถกคลังวางกรอบ 3 ล้านล.
นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศกรอบวงเงิน 3 ล้านล้านที่ผ่านความเห็นชอบจาก พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ว่าวันที่ 16 มิ.ย.นี้ กระทรวงคมนาคมจะหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณารายละเอียดโครงการ งบประมาณรวมทั้งแหล่งเงินทุน และจัดเรียงลำดับโครงการที่จำเป็นก่อนหลัง เพื่อให้ได้ข้อสรุปนำเสนอ พล.อ.อ.ประจินอีกครั้งในวันที่ 19 มิ.ย. จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.พิจารณาต่อไป
"ตอนนี้ตัวเลขกรอบวงเงินยังไม่นิ่ง ต้องไปคุยกับกระทรวงคลังเรื่องการจัดหาเงินก่อนว่าเป็นอย่างไร ส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงยังไม่ได้อยู่ในแผนเร่งด่วนครั้งนี้ ไม่ได้ยกเลิกโครงการ แต่ พล.อ.อ.ประจินสั่งให้กลับไปศึกษาความเป็นไปได้ ผลดี ผลเสีย แล้วนำกลับมาเสนอเพื่อตัดสินใจอีกครั้งว่าควรทำหรือไม่ควรทำ โดยจะแยกการดำเนินโครงการออกไปต่างหาก" นายสมชัยกล่าว
แบ่งแผนใช้งบฯ 3 ระยะ
นายจุฬา สุขมานพ ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า หากตัดโครงการไฮสปีดเทรน หรือรถไฟฟ้าความเร็วสูง 2 เส้นทาง กรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย และกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ซึ่งมีงบฯ ลงทุนรวมประมาณ 6 แสนล้านบาทออกไป ก็จะทำให้กรอบวงเงินตามแผนยุทธศาสตร์ปรับลดลงเหลือเพียง 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องนำกรอบนี้ไปเจรจากับกระทรวงการคลังต่อไป สำหรับในเบื้องต้นได้กำหนดแผนใช้งบฯ แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรกเป็นโครงการเร่งด่วนปี"58 ระยะสองปี 59-60 และระยะสามปี 61-62
นายจุฬา กล่าวอีกว่า สำหรับการศึกษาความเป็นไปได้โครงการไฮสปีดเทรนตามนโยบายของพล.อ.อ.ประจินนั้น สนข.จะรับผิดชอบกลับไปศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง ตามแผน 4 เส้นทางเดิมคือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง กรอบวงเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 6 แสนล้านบาท คาดว่าภายใน 3 เดือน จะสามารถนำเสนอผลการศึกษาให้ พล.อ.อ.ประจิน พิจารณาตัดสินว่าสมควรดำเนินโครงการหรือไม่
เร่งทำที่พร้อมก่อน
นายจุฬา กล่าวต่อว่า จากแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ 5 ยุทธศาสตร์ คาดว่าในปี 2558 จะมีโครงการที่ต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์รถไฟ เช่น โครงการรถไฟทางคู่สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท สายขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กิโลเมตร วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนโครงการที่ยังไม่พร้อมจะถูกจัดไว้ในงบประมาณปีถัดไป
นายจุฬา กล่าวด้วยว่า ส่วนยุทธศาสตร์ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯและปริมณฑล เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนต่อขยายจากพญาไท-ดอนเมือง ยุทธศาสตร์ถนน เชื่อมในระดับพื้นที่ ระดับเชื่อมเมืองหลัก และระดับเชื่อมต่างประเทศ โครงการขยายถนน 4 ช่องจราจร รวมถึงโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ จะต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี ให้อยู่ในกรอบวงเงินที่จำเป็นต้องใช้ สำหรับยุทธศาสตร์ทางน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการขุดลอกร่องน้ำ และศึกษาออกแบการก่อสร้างท่าเรือต่างๆ มีโครงการก่อสร้างที่มีความพร้อมโครงการเดียว คือ ท่าเรืออ่างทอง และยุทธศาสตร์ ทางอากาศ เช่น การขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 การขยายสนามบินดอนเมือง การก่อสร้างสนามบินเบตง และสนามบินแม่สอด รวมทั้งการพัฒนาระบบการจราจรทางอากาศของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.)
โพลชี้คนหนุนจำนำข้าวต่อ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง "คสช.กับการแก้ไขปัญหาชาวนา" กรณีการดำเนินการโครงการจำนำข้าวเปลือก จากประชาชนทั่วประเทศรวม 1,464 หน่วยตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10-12 มิ.ย. พบว่า ร้อยละ 56.35 ระบุว่าควรดำเนินการต่อไป แต่ปรับราคาข้าวให้เป็นไปตามกลไกตลาด ร้อยละ 22.95 ระบุควรยุติโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ร้อยละ 17.49 เห็นควรดำเนินการต่อไปแบบเดิม ร้อยละ 0.27 ระบุว่าอื่นๆ เช่น ควรปรับราคาให้สูงขึ้น ควรได้รับเงินจากการจำนำในทันที และมีมาตรการป้องกันการทุจริตอย่างเข้มงวด และร้อยละ 2.94 ไม่แน่ใจ
ส่วนคสช.ควรดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับนโยบายข้าวที่ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด พบว่าร้อยละ 42.08 ระบุควรดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ร้อยละ 34.70 ควรดำเนินโครงการประกันราคาข้าวเปลือก ร้อยละ 18.03 ควรดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ร้อยละ 0.55 อื่นๆ เช่น ควรช่วยเหลือเรื่องปัจจัยและลดต้นทุนการผลิต มีแหล่งเงินทุน เพิ่มช่องทางการตลาดกระจายส่งออกข้าว เพิ่มพูนทักษะความรู้ให้แก่เกษตรกร
หวังคสช.ช่วยแก้พ่อค้าเอาเปรียบ
ส่วนความคาดหวังของประชาชนต่อคสช. ในการช่วยพัฒนาอาชีพเกษตรกรรูปแบบต่างๆ พบว่า ร้อยละ 23.95 ระบุเกษตรกรจะต้องไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบและการผูกขาดจากพ่อค้าคนกลาง ร้อยละ 16.77 ระบุว่าการลดต้นทุนการผลิต ร้อยละ 16.02 ช่วยให้เกษตรกรไม่มีหนี้สินและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ร้อยละ 15.23 ควรมีแหล่งหรือมีตลาดที่แน่นอนในการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร ร้อยละ 11.81 การมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ร้อยละ 9.88 ราคาสินค้าทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้น ร้อยละ 5.81 เกษตรกรสามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ร้อยละ 0.26 ระบุว่าอื่นๆ เช่น คุณภาพของผลผลิต ใช้ระบบสหกรณ์มาบริหารการผลิต จัดกองทุนพัฒนาด้านการเกษตร พัฒนาพันธุ์ข้าว เพิ่มพูนความรู้ให้แก่เกษตรกร และร้อยละ 0.28 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
เลิกเคอร์ฟิวทั่วปท.
เมื่อเวลา 21.15 น. คสช.มีประกาศฉบับที่ 64/2557 เรื่องยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักร ตามที่คสช.ประกาศห้ามออกนอกเคหสถานตามฉบับที่ 3/2557 วันที่ 22 พ.ค. และปรับลดห้วงเวลาออกนอกเคหสถานและยกเลิกการออกนอกเคหสถานในบางพื้นที่ ฉบับที่ 42/2557 วันที่ 26 พ.ค. ฉบับที่ 52/2557 วันที่ 3 มิ.ย. ฉบับที่ 54/2557 ลงวันที่ 6 มิ.ย.2557 ฉบับที่ 56/2557 วันที่ 8 มิ.ย. และฉบับที่ 60/2557 วันที่ 10 มิ.ย.แล้วนั้น เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมของประเทศคลี่คลายลงและไม่ปรากฏสิ่งบอกเหตุเกิดเหตุรุนแรง ดังนั้น เพื่อเป็นมาตรการผ่อนคลายและบรรเทาผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ จึงยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่ส่วนที่เหลือทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
ท่องเที่ยวเฮ-เป็นสัญญาณที่ดี
นายศิษฎวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า เมื่อยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ก็เป็นสัญญาณที่ดีมาก จะส่งผลดีกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยแน่นอน เนื่องจากทุกอย่างจะผ่อนคลายลง ผู้ประกอบการและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็จะสามารถทำตลาด สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ส่วนกรณีการทำประกันภัยนักท่องเที่ยวนั้น แม้จะยกเลิกเคอร์ฟิวแล้วในบางบริษัทก็ยังไม่สามารถทำประกันภัยให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเที่ยวไทยได้ เนื่องจากบริษัททัวร์จะพิจารณาตามวิจารณญาณของแต่ละบริษัททัวร์เองมากกว่า ซึ่งแม้ยกเลิกเคอร์ฟิวแต่การประกาศแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวของแต่ละสถานทูตยังสูงอยู่บริษัททัวร์ก็จะไม่ทำประกันภัยให้