ประชาธิปไตย ด้านบิ๊กตู่สั่งครม.ศึกษา ก่อนรวมประเด็นยื่นญัตติแก้ วิษณุชี้ครม.ขอแปรด้วย เชื่อกมธ.จะรับฟัง ด้านสปช.เปิดอภิปรายร่างรธน.แล้ว แห่เชียร์พรึบ-เสียงติงเบาบาง ป.ป.ช.โต้ดิสเครดิต"ธาริต" จี้รีบมาแจง ส.ป.ก.จ่อฟ้องแพ่งโบนันซ่า


มท.ยันยังไม่ย้ายขรก.
      เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยการรักษาความปลอดภัยนั้นเป็นไปอย่างเข้มงวด มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารตามจุดเข้าออกทำเนียบรัฐบาล และโดยรอบตึกบัญชาการ 1 มีการกั้นรั้วเหล็กให้สื่อมวลชนอยู่ในบริเวณที่กำหนด และห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าออกบริเวณตึกบัญชาการ

แจงคิวรมว.แถลงผลงาน
     ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุมครม.ว่า ในสัปดาห์นี้ กระทรวงต่างๆ จะรายงานผลงานให้ประชาชนทราบ ดังนี้ วันที่ 21 เม.ย. เวลา 10.00 น. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เวลา 13.30 น. กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวัฒนธรรม วันที่ 22 เม.ย. เวลา 10.00 น. กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน เวลา 13.30 น. กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม
     โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า วันที่ 23 เม.ย. เวลา 10.00 น. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ เวลา 13.30 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันที่ 24 เม.ย. เวลา 10.00 น. กระทรวง ไอซีที กระทรวงพลังงาน เวลา 13.30 น. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข

สั่งรมต.ศึกษารธน.ฉบับใหม่
       พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯแถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์สั่งครม.ทุกคนไปพิจารณารายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญให้ครบทุกมาตรา แต่ละเรื่องสามารถแก้ปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินในกระทรวงนั้นๆ ได้หรือไม่ และการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนจะเป็นช่วงจังหวะใดและขั้นตอนใด ให้การบริหารเป็นไปได้จริงหรือไม่ เพราะห่วงว่าการที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยไม่กำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนอาจทำให้การบริหารมีข้อขัดข้องได้
      รองโฆษกรัฐบาลกล่าวต่อว่า และนายกฯสั่งให้แต่ละกระทรวงดูว่าประชาชนได้อะไรจากมาตราต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญบ้าง และให้แต่ละกระทรวงรวบรวมความเห็นและเสนอมาที่คณะทำงานที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธานภายในวันที่ 14 พ.ค.นี้ เพื่อนำมาหารือในที่ประชุมร่วมครม. กับคสช. วันที่ 19 พ.ค. จากนั้นจะทำหนังสือถึงกมธ.ยกร่างฯ เมื่อเข้าสู่การแปรญัตติ ทางกมธ.ยกร่างฯอาจเชิญให้ครม.และคสช. ไปชี้แจงว่าอยากให้แก้ไขในประเด็นใดบ้าง

ตั้งกก.ทบทวนพรบ.เงินเดือน
      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ในที่ประชุมครม. ประธานคตร.รายงานผลตรวจสอบโครงการของรัฐที่มีวงเงินงบมากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไปว่า การเร่งรัดเบิกจ่ายงบของโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 50 ล้านบาท เบิกจ่ายงบไปแล้ว 29.08 เปอร์เซ็นต์ อยู่ระหว่างการทำสัญญา 591 รายการ วงเงิน 71,081 ล้านบาทเศษ ส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ 241 รายการ หรือ 51.93 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนนี้ไม่ได้ล่าช้าแต่เป็นวงเงินรายจ่ายลงทุนทั้งปี โดยงบประมาณไตรมาส 1 และ 2 เบิกจ่ายเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ค้าง 214 รายการ เป็นงบที่ต้องดำเนินการในไตรมาส 3 และ 4 คาดว่าจะทำสัญญาโครงการต่างๆ ได้ 20-30 เปอร์เซ็นต์ จากนี้ไม่น่ากังวลว่างบลงทุนของรัฐเบิกจ่ายหรือทำสัญญาช้า เพราะที่ดำเนินการมานั้นเป็นไปตามเป้าหมายที่ วางไว้



พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า กรณีสนช.ผ่านกฎหมายพ.ร.บ.เงินเดือนไปแล้วแต่ยังมีความลักลั่นเกี่ยวกับฐานเงินเดือนขั้นสูงสุดของข้าราชการแต่ละประเภท ทั้งทหาร ตำรวจ ศาล เช่น เงินเดือนรองแม่ทัพ น้อยกว่านายอำเภอ เงินเดือนนายกฯน้อยกว่าประธานศาล ซึ่งเดิมมีคณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.)พิจารณา แต่จะดูเฉพาะเงินเดือนของข้าราชการพลเรือน ไม่สามารถปรับระบบระเบียบเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนได้ ครม.จึงมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และเทียบเคียงสัดส่วนเงินเดือนของทุกประเภท ทั้งนี้ นายกฯระบุว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว เป็นการวางรากฐานสำหรับรัฐบาลต่อไป ไม่ได้ใช้รัฐบาลนี้



รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ช่วงท้ายของการประชุมครม. พล.อ.ประยุทธ์ ได้เชิญข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทั้งหมดออกจากห้องประชุม เหลือเพียงรัฐมนตรีเพื่อเข้าสู่การประชุมลับ โดยนายกฯหยิบยกกรณีได้รับรายชื่อข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต 100 คน จากศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) มาแจ้งให้ครม.รับทราบ โดยเรื่องยังอยู่ในการพิจารณาของพล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่มีการระบุว่าจะมีการออกคำสั่งในฐานะหัวหน้าคสช. เพื่อแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่อยู่ในรายชื่อดังกล่าวหรือไม่ คาดจะมีการนำกรณีของรายชื่อข้าราชการกลุ่มนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2558 ซึ่งนายกฯจะเป็นประธาน เช้าวันที่ 21 เม.ย.



"บิ๊กตู่"ปัดใช้รธน.40 และ 50



พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม. ถึงช่วงนี้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นมีหลักฐานโยงกับการเมืองและความมั่นคง อาจจะกระทบกับโรดแม็ปว่า ตนบอกทุกครั้งแล้วว่าโรดแม็ปก็คือโรดแม็ป ต้องดูว่าปัญหาต่างๆ จะทำให้โรดแม็ปเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ ถ้าไปต่อไม่ได้ จะทำอย่างไร วันนี้ประเทศต้องการปฏิรูป จำเป็นต้องมีกลไกพิเศษขึ้นมา เพราะถ้าปล่อยให้เป็นแบบเดิม มันคงได้ผลแบบเดิม



"บางคนบอกให้เอารัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 มาใช้บ้าง ไม่ต้องเขียนใหม่ให้เมื่อย แต่อยากถามว่ามันทำได้หรือไม่ ขอร้องว่าอย่ามาทวงถามว่าจะปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง ผมไม่ต้องการทำอะไรให้วุ่นวาย พยายามทำทุกอย่างให้เดินหน้าไปได้ เท่าที่ทำงานมา 6 เดือน ทุกอย่างชัดเจนแล้ว อย่าบอกว่ารัฐบาลนี้ไม่มีผลงาน ไม่มีความก้าวหน้าเพราะงานที่สำเร็จแล้วก็มี อยู่ระหว่างดำเนินการก็มี เป็นแผนงานในอนาคตที่จะเริ่มต้นใหม่ก็มี มีเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ไม่ใช่สั่งไปเรื่อย พูดไปเรื่อยเหมือนที่สื่อวิจารณ์" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว



ขอฟังสปช.ก่อนสั่งประชามติ



เมื่อถามว่าช่วงใดที่จะใช้อำนาจของ หัวหน้าคสช.ตัดสินว่าจะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ให้ผ่าน 7 วันนี้ ที่สปช.อภิปรายร่างรัฐธรรม นูญไปก่อน ต้องดูว่าหากสปช.เสนอแก้ไขหรือครม.เสนอแก้ไข แล้วกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขหรือไม่ ถ้าไม่แก้แล้วยืนยันจะส่งต่อไป จะมีปัญหาหรือไม่ ได้รับการยอมรับหรือไม่ ต้องมาว่ากันอีกที ตอนนี้ต้องรับฟังทั้งหมด เพราะอยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็นจากสปช.ก่อน จากนั้นมาฟังความเห็นจากครม. และคสช. หลังจากวันที่ 19-20 พ.ค. ซึ่งจะเสนอไปทั้ง 2 ทาง ให้รู้ว่าควรทำอย่างไร ซึ่งตนยังไม่อยากใช้อำนาจตรงนี้



เมื่อถามว่ากลุ่มการเมืองที่ยังเคลื่อนไหวขณะนี้มีการขยายตัวหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ได้ขยายตัวแต่ดิ้นรนเพื่อต่อสู้ในทางการเมือง บางทีเขาลืมว่าวันนี้เรามีทั้งพ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือการประกาศใช้มาตรา 44 ก็ออกไปหมดแล้ว ดังนั้นถ้าจะเข้ามาปกครองประเทศ ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย วันนี้จะให้ใช้แรงกว่านี้หรืออย่างไร พอประกาศใช้กฎหมายก็วิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพ พอใช้กฎหมายเบาๆ ก็ไม่เชื่อกันอีก



โวยสื่อกดดันแต่รัฐบาล



พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่าลืมว่าวันนี้ประเทศต้องการปฏิรูป ให้ประเทศเข้มแข็ง มีเศรษฐกิจยั่งยืน ไม่เกิดขัดแย้งขึ้นอีก และรัฐธรรมนูญต้องละเอียดมากยิ่งขึ้น อาจมีกระบวนการปฏิรูปใส่ลงไปด้วย ทั้งหมดนี้เรียกว่าการปฏิรูป ถ้าปฏิรูปแล้วยังใช้กฎหมายเดิม คนเดิมๆ ยังเข้ามาในการเลือกตั้งอีก ทุกอย่างก็เหมือนเดิม สื่อช่วยถามอีกฝ่ายได้หรือไม่ว่าถ้าอนาคตเข้ามาเป็นนักการเมืองแล้ว จะทำอะไรบ้าง เอามาเทียบกับสิ่งที่ตนทำมา



เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่ากลุ่มการเมือง ที่ยังดิ้นรนอยู่ขณะนี้ ไม่สามารถเอาชนะโรดแม็ปที่วางไว้ได้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ถ้าให้ผมใช้อำนาจทั้งหมด ผมมั่นใจอยู่แล้ว แต่ถามว่าจะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นหรือไม่ อย่าให้ผมจำเป็นต้องใช้แบบนั้น มันยังมีอีกหลายวิธีการ แต่ประชาชนต้องอยู่กับผม"



เมื่อถามว่ามีแนวโน้มจะใช้อำนาจเด็ดขาดจัดการตรงนี้หรือไม่ นายกฯ ปฏิเสธว่า ยัง ไม่อยากให้มี และไม่อยากให้ใช้ สื่อช่วยกันหามาตรการกดดันอีกฝ่ายหนึ่งบ้าง ไม่ใช่มากดดันตนข้างเดียว สื่อต้องทำตัวเหมือนเป็นกรรมการกลาง ตั้งคำถามกับทั้ง 2 ฝ่าย ยืนยันว่าวันนี้ฝ่ายตนเล่นตามกติกา แต่อีกฝ่ายเล่นนอกกติกา มันถึงจำเป็นต้องมีวันนี้ เนื่องจากทุกอย่างปนเปเรรวนไปหมด ระบบข้าราชการเสียหาย มีทุจริตไม่โปร่งใส แต่พอตรวจสอบก็ร้องว่าไม่เป็นธรรม กล่าวหาว่าเล่นเพียงข้างเดียว



ลั่นวางแผนให้ประเทศไว้หมด



เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะเชิญตัวแทนพรรคมาพูดคุยหรือลงสัตยาบันเพื่อความสงบเรียบร้อย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "กฎหมายยังไม่รับกันเลย จะให้มาลงนาม มันไม่ใช่การทำสงครามในต่างประเทศ มันไม่ได้รบกันถึงขนาดนั้น"



เมื่อถามว่าตอนนี้มีปัจจัยอะไรคิดว่าเมื่อเลือกตั้งแล้วจะไม่มีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่ได้มีปัจจัย แต่วิเคราะห์จากสถาน การณ์ วันนี้ยังไม่เลือกตั้งก็ทะเลาะกันไปมา เดี๋ยวอาจจะเลือกตั้งก็ได้ การบริหารประเทศต้องวิเคราะห์และวางแผนล่วงหน้า ไม่ใช่แค่ตอบสื่อไปวันๆ และที่ตนทำทั้งหมด คิดไว้ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาและคิดถึงขนาดเวลาที่ตนจะได้พักผ่อน แต่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไร



ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อรัฐธรรมนูญออกมาจะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไปบังคับไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเขาจะยอมรับหรือไม่ เขารักประเทศไทยหรือไม่ ต้องการลดความขัดแย้งกันหรือไม่ มันถึงจะนำไปสู่เรื่องอื่นๆ ได้ แต่ถ้าคิดว่าถ้าจะไปได้ต้องนิรโทษกรรมก่อน มันจะเป็นไปได้อย่างไร วันนี้ยังไม่ยอมรับความผิดกันเลย ขอให้ยอมรับความผิดกันก่อน ใครผิดใครถูกก็ว่ากันมา ถึงจะไปขั้นตอนนิรโทษหรือสร้างปรองดอง ขอให้สงสารประชาชนที่ไม่เกี่ยว ข้องบ้าง



เผยเด้งปลัดศธ.ไม่เกี่ยวทำผิด



พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการโยกย้ายข้าราชการว่า อย่าสนใจมากนัก ตนรวบรวมจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการตรวจสอบ หลายอันชี้มูลความผิดแล้ว ที่เหลือจะอยู่ในขั้นตอนไต่สวน เราต้องให้ความเป็นธรรม แต่ไม่ละเว้นอยู่แล้ว ที่ผ่านมามีปัญหาตรงที่ไม่ถูกนำเข้ากระบวนการ พอเข้าสู่กระบวน การก็ไม่ได้รับการยอมรับ กลายเป็นว่ารังแกกัน ตนจะไม่ให้เกิดเรื่องเหล่านั้น ให้ความเป็นธรรมทุกคน



พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ส่วนการ โยกย้ายในกระทรวงศึกษาธิการนั้นเพราะ ได้รับเรื่องร้องเรียนมามาก แต่ข้าราชการ 4-5 คนที่ถูกย้ายไม่เกี่ยว ไม่มีความผิด ตนปรับเพื่อความเหมาะสม เพื่อปฏิรูป เชื่อว่าไม่กระทบต่อขวัญและกำลังใจของข้าราชการ เท่าที่คุยกับรมว.ศึกษาธิการ ไม่เห็นมีอะไร แฮปปี้ดี และปลัดกระทรวงศธ.เคยอยู่ที่สภาการศึกษามาก่อน หมุนไปธรรมดา ไม่ได้มีความผิด ส่วนข้าราชการกรมที่ดินที่เอื้อประโยชน์ให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนนั้น ต้องดูเพราะกำลังสอบสวนอยู่ ต้องย้อนไปหลายกรม หลายอธิบดี ทั้งกรมที่ดินและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม กฎหมายที่ดิน ผังเมือง บางทีออกมาที่หลัง การประกาศพื้นที่ป่าบางพื้นที่ออกมาที่หลัง วันนี้มีปัญหาหลายพื้นที่ ถ้าผิดก็ต้องผิด ตราบใดที่คดียังไม่หมดอายุความ ถึงใครก็ลงโทษหมด



วิษณุเผยครม.จะแปรญัตติรธน.



นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวกรณีสปช.กังวลร่างรัฐธรรมนูญอาจไม่เป็นไปตามที่ประชาชนต้องการว่า เร็วไปที่จะตัดสิน การประชุมสปช.วันที่ 20-26 เม.ย. ยังไม่ใช่ช่วงลงมติ แค่วิจารณ์ 7 วัน จากนั้นไปขอแก้ไขหรือที่เรียกว่าขอแปรญัตติ คาดว่าสปช.น่าจะขอแปรญัตติ 8-9 ญัตติ ไม่ถึง 290 ญัตติ ส่วนครม.ก็เตรียมเรื่องขอแก้ไขไว้แล้วหลายเรื่อง ซึ่งนายกฯสั่งรัฐมนตรีศึกษาและส่งเรื่องมาที่ตนภายใน 25 พ.ค. จึงขึ้นอยู่กับกมธ.ยกร่างฯจะแก้ไขหรือไม่ เมื่อแก้ไขแล้ว ในเดือนส.ค.จะนำกลับมาให้สปช.แก้ไข ถือเป็นขั้นสุดท้ายหรือขั้นคอขาดบาดตายของรัฐธรรม นูญนี้ หากผ่านก็ดำเนินการต่อ แต่หากไม่ผ่าน ทุกอย่างจบ วันนี้ทุกคนพูดเพื่อขู่กมธ.ยกร่างฯ ทุกอย่างต้องดูกันวันที่สปช.ขอแปรญัตติ



"นายกฯก็ถามว่าแปรญัตติต้องทำอย่างไร ผมก็อธิบายว่านายกฯ ต้องเซ็นในนามครม.ว่าครม.ไม่เห็นด้วยกับมาตรานี้จึงควรแก้ไข แต่เราไม่ได้ร่างใหม่ให้ไป แค่บอกว่าไม่เห็นด้วยเท่านั้น ซึ่งผมจะนำทีมกฎหมายไปชี้แจงที่รัฐสภา สุดท้ายหากครม.และคสช.เห็นตรงกันว่าควรแก้ น้ำหนักในการแก้ไขมาตรานั้นอาจมากขึ้น" นายวิษณุกล่าว



ยอมรับ"ม.280"แปลกๆ



นายวิษณุยังกล่าวถึงมาตรา 280 ระบุการจะร่างกฎหมายเพื่อใช้ปฏิรูป ให้เสนอส.ว.เห็นชอบก่อนจึงส่งส.ส.เห็นชอบ หากส.ส.ไม่ให้ความเห็นชอบ ส.ว.ลงคะแนนให้ความเห็นชอบเกิน 2 ใน 3 ถือว่ากฎหมายนั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาว่า ยอมรับว่าเป็นประเด็นที่แปลก ยังไม่อยากพูดว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่พยายามเข้าใจเหตุผลของ กมธ.ยกร่างฯ นอกจากนั้นมาตรา 28 ยังระบุถึงการขอคำรับรองจากนายกฯ หากนายกฯจะไม่รับรองก็ตอบว่าไม่รับรองก็หมดเรื่องไป จะบอกว่านายกฯต้องรับรองเสมอไปไม่ได้



นายวิษณุกล่าวถึงฝ่ายการเมืองเสนอให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งจัดทำประชามติรัฐธรรมนูญว่า ในทางปฏิบัติทำได้ แต่คงโกลาหลพิลึก เดี๋ยวจะว่ามาจากความคิดทหารฝ่ายเดียว ดังนั้นโยนเข้าไปในสภาให้คน 220 คนร่วมกันคิดพิจารณาจะดีกว่า ส่วนที่สปช.เสนอรัฐบาล เรื่องการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน 23 อย่าง นายกฯบอกว่ามันเยอะเกินไป ดังนั้นให้สปช.โยนหัวข้อมาให้รัฐบาลคิด พร้อมวิธีแก้ปัญหาขั้นแรกมาด้วยเพราะข้อเสนอ อย่าบอกแต่เพียงปัญหาเท่านั้น



ปปช.โต้ดิสเครดิต"ธาริต"



ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีป.ป.ช.อายัดทรัพย์ 40.95 ล้านบาทของนายธาริตและนางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ ว่าที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณาและตรวจสอบอย่างละเอียดตามหลักฐาน พบว่ามีพฤติกรรมเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน จึงอายัดทรัพย์ชั่วคราว เป็นไปตามกฎหมาย แต่หากชี้แจงได้ก็ต้องคืน ส่วนที่ขอขยายเวลาเข้าชี้แจง เชื่อว่าอนุกรรมการไต่สวนจะรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. ชุดใหญ่ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ ซึ่งตามกฎหมาย ผู้ถูกกล่าวหายื่นขอขยายเวลาเข้าชี้แจงได้อีก 30 วัน ส่วนจะให้ขยายเวลาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม



เมื่อถามว่านายธาริตระบุถูกดิสเครดิต ประธานป.ป.ช.กล่าวว่า ไม่ได้ดิสเครดิต เป็น การไต่สวนตามกฎหมายและพิจารณาตามหลักฐาน เมื่อผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงรายละเอียดของทรัพย์สินที่ถูกยึดนั้นได้ก็คืนทรัพย์ไป เป็นหน้าที่ที่ต้องมาพิสูจน์ ไม่ได้ดิสเครดิต



เอเอฟพีวิจารณ์ยับรธน.ไทย 



วันเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานความพยายามในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ ซึ่งเนื้อหาบางส่วนมีขึ้นเพื่อหยุดยั้งไม่ให้พรรคการเมืองสามารถครองเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา และเปิดทางให้บุคคลที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งสามารถมีอำนาจปกครองประเทศได้ โดยเป็นความพยายามของรัฐบาลทหารไทยที่ต้องการยุติความวุ่นวายทางการเมืองที่กินเวลามานาน 1 ทศวรรษ



ขณะที่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ถูกตั้งขึ้นจากรัฐบาลทหารไทย เริ่มเปิดให้ อภิปรายร่างรธน.แล้ว โดยสปช. ที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย นักวิชาการ และอดีตนักการเมืองบางส่วน มีเวลา 30 วัน ในการเสนอแก้ไขร่างรธน. ซึ่งกระบวนการดังกล่าวน่าจะเสร็จสิ้นและจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ในเดือนก.ย.นี้



ชี้ไม่เป็นประชาธิปไตย



เอเอฟพีระบุว่า รธน.ของไทยถูกร่างขึ้นใหม่หลายครั้งนับตั้งแต่การสิ้นสุดระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อปีพ.ศ.2475 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำคณะบุคคลที่ก่อรัฐประหารเมื่อเดือนพ.ค.2557 ระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีรธน. ฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาความแตกแยกทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2558



นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 และรองประธานสปช. กล่าวว่า รธน.ฉบับใหม่ของไทยจะไม่ยอมให้รัฐบาลเกิดขึ้นได้จากพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก เนื่องจากรัฐบาลดังกล่าวสามารถกลายเป็นเผด็จการรัฐสภาได้ อย่างไรก็ดี นายบวรศักดิ์ปฏิเสธว่า รธน.ดังกล่าวเป็นแม่แบบเพื่อกำจัดอำนาจทางการเมืองของตระกูลชินวัตร โดยระบุว่า เป็นการเพิ่มอำนาจให้พลเมืองไทย และ ลดอำนาจนักการเมือง



ด้านนักวิเคราะห์ชี้ว่า ร่างรธน.ฉบับใหม่ ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และจะนำสังคมไทยกลับไปสู่ยุคที่บรรดาชนชั้นปกครองและผู้ควบคุมกองทัพเข้ามามีอำนาจทางการเมือง โดยอำนาจดังกล่าวถูกคุกคามจากความนิยมในตระกูลชินวัตรที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งบรรดาผู้สนับสนุนส่วนใหญ่มาจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจากภาคเหนือของประเทศ ที่มีรายได้ต่ำกว่าประชาชนในภาคใต้ และที่ผ่านมา ประชาชนทางภาคเหนือมักได้รับสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลในกรุง เทพฯ ต่ำกว่าภาคใต้



พท.ชี้คนแก้รธน.ได้มีแต่"คสช."



นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าอย่าคาดหวังกับการ อภิปรายของสปช. เพราะถึงอย่างไรร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ผ่านสภาแน่ๆ เขาแค่ทำให้ครบกระบวนการ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขอเรียกว่า "กลัวการเลือกตั้ง" มักพูดว่าให้พลเมืองเป็นใหญ่ ให้อำนาจประชาชนทั้งที่ไม่เคยให้ สมัชชาคุณธรรมแห่งชาตินั้นใครเป็นคนตั้ง ใครสรรหา แต่มากำหนดกฎเกณฑ์ผู้คนทุกระดับ ส่วนที่มาของส.ส.ก็ไม่สนใจหลักความจริง



นายสมคิดกล่าวอีกว่า ที่มาของส.ว.นั้น ก็ไม่ให้โอกาสชาวบ้านได้เลือกทั้งหมด เขียนห่างจากความเป็นจริง ให้อำนาจมากแต่ต้องสรรหา ทั้งนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ คงเป็นกติกาบริหารประเทศที่ขาดความเป็นประชาธิปไตย เพราะลิดรอนสิทธิของประชาชน มีสารพัดข้อยกเว้นที่นำมาอ้าง และหากจะแก้ไขได้นั้น สุดท้ายอยู่ที่คสช.



"สมาคมพงส."ติงรธน.



รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีร่างรัฐธรรม นูญที่ได้รับเผยแพร่ออกมา ในส่วนการปฏิรูปด้านต่างๆ มาตรา 282 (8) ซึ่งระบุว่า ปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยโอนภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองในกระบวนการยุติธรรม กำหนดเกณฑ์มาตรฐานการแต่งตั้งหรือย้ายข้าราชการตำรวจให้เป็นไปตามหลักคุณธรรม กระจายอำนาจการบริหารงานตำรวจไปสู่ระดับจังหวัด และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการตำรวจ



ปรับปรุงระบบงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระแยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้พนักงานอัยการ ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ มีอำนาจสอบสวนร่วมกับหน่วยงานด้านการสอบสวนในกรณีที่ประชาชนร้องขอความเป็นธรรม ปรับปรุงระบบงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มีความเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีระบบบริหารงานบุคคลที่ยึดหลักความรู้ความชำนาญเฉพาะทางและจัดสรร และกระจายอำนาจการบริหารงบประมาณให้แก่หน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ให้เพียงพอและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ทั้งนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในวงการตำรวจ เนื่องจากการร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ไม่เคยมีการหารือกับตำรวจมาก่อน และพบว่ามีเนื้อหารายละเอียดที่เป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ ซึ่งตำรวจอาจจะมีความเคลื่อนไหวคัดค้านมาตรานี้



พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย ผกก.สน.ท่าพระ ในฐานะเลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า มาตราข้างต้นประเด็นหลักกำหนดให้หน่วยงานที่ไม่ใช่ภารกิจตำรวจ ไม่เกี่ยว ข้องกับการป้องกันและอาชญากรรม เอาหน่วยงานไม่เกี่ยวกับตำรวจ อาทิ รถไฟ ป่าไม้ โอนให้หน่วยงานอื่น



แยกงานสอบสวนสร้างปัญหา



เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวนกล่าวต่อว่า แต่ประเด็นที่สำคัญคือ ให้แยกงานสอบสวนเป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้กระจายอำนาจการบริหารงานสู่จังหวัด ทำกระบวนการมีส่วนร่วมกิจการตำรวจปรับระบบงานสอบสวนให้เป็นอิสระ



เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวนกล่าวอีกว่า การตั้งหน่วยงานใหม่มารับงานสอบสวนคดีอาญาขึ้นมาใหม่ ประชาชนจะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะงานกระบวนการของงานสอบสวน หรือการรับแจ้งความเพื่อรวบรวมจากชาวบ้าน หน่วยงานที่จะมารับทำงานสอบสวนใหม่จะต้องทำงานให้ได้ 24 ชั่วโมง มีสถานที่ทำงานทุกแห่งทั่วประเทศ ไทยเหมือนสถานีตำรวจ ซึ่งลักษณะของงานสอบสวนไม่ใช่รับแล้วตามอย่างเดียว ต้องเชื่อมกับฝ่ายอื่นๆ ด้วย คืองานสืบสวน งานป้องกันปราบปราม งานจราจร หากเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น เพื่อความสะดวกรวดเร็ว หน่วยงานที่จะมารับผิดชอบใหม่แทนงาน จะทำหน้าที่ดังกล่าวแทนได้หรือไม่



ชี้ต้องคิดถึงความเป็นไปได้ด้วย



"ขณะนี้มีพนักงานสอบสวนทั้งหมดประมาณ 12,000 นาย การที่จะมาเป็นพนักงานสอบสวนได้จะต้องมีการฝึกฝนทดสอบมาใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี ยังไม่รวมไปถึงอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ สถานที่คุมขังผู้ต้องหา งบประมาณ การที่จะเอางานสอบสวนไปรวมไว้ที่เดียวกับอำเภอหรือที่อื่นๆ ถือว่าคิดผิด เพราะถ้างานสอบสวนจะไม่สามารถเชื่อมโยงกับฝ่ายอื่นๆ ได้เลย ถ้าไม่สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" พ.ต.อ.มานะกล่าว



เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวนกล่าวด้วยว่า หากมีการปฏิรูปตำรวจในกรณี ดังกล่าวแล้ว จะต้องมีบทเฉพาะกาล เมื่อ ผู้มีหน้าที่นิติบัญญัติเห็นชอบว่าจะให้มีการเปลี่ยนแปลง ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ด้วยว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต ประชาชนจะเป็นอย่างไร รวมถึงเรื่องงานนิติวิทยาศาสตร์ หากงานสอบสวนหยุดออกไปแล้วอาจจะทำให้งานด้อยประสิทธิภาพลงไปด้วย ทั้งนี้เมื่อ วันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางสมาคมได้จัดเสวนาร่วมกับเนติบัณฑิตยสภา มีการทำแบบสอบถามพนักงานสอบสวน ร้อยละ 67 ไม่เห็นด้วยให้งานสอบสวนหลุดออกไป



ศาลก็ท้วงรธน.7 ข้อ



เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมใหญ่ ศาลฎีกา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้ง วัฒนะ นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) จำนวน 25 คน เพื่อพิจารณาความเห็นของ ผู้พิพากษาจาก 3 ชั้นศาล รวม 427 คน ที่ลงมติมีความเห็นแตกต่างในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บางประการ



หลังประชุมกว่า 5 ชั่วโมง เวลา 14.30 น. นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงสรุปผลความเห็นของที่ประชุมว่า ที่ประชุมก.ต. และก.บ.ศ. ยังมีความเห็นแตกต่างกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในประเด็นหลัก 7 ประการ อาทิ ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงสัดส่วน ก.ต. ที่ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอก ไม่น้อย กว่า 1 ใน 3 ของจำนวนก.ต.ซึ่งมี 15 คน เดิมกำหนดให้ก.ต.มีผู้ทรงคุณวุฒิไว้เพียง 2 คน อาจมีผลให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงได้, เห็นควรให้คดีอาญานักการเมืองยื่นอุทธรณ์ ได้แต่จำเลยต้องมายื่นด้วยตัวเองเท่านั้น, เห็นพ้อง ผู้พิพากษาพ้นราชการอายุ 65 แต่เป็น ผู้พิพากษาอาวุโสได้ถึง 70 ปี, ไม่เห็นด้วยกับการให้คนนอกร่วมเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เพราะการชี้ขาดเรื่องเขตอำนาจศาลเป็นการตรวจสอบเรื่องในสำนวน จึงไม่ควรให้คนนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และอยากให้เพิ่มถ้อยคำให้ชัดเจนว่าให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจสั่งให้เลือกตั้งใหม่ได้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติ และไม่เห็นด้วยกับการให้ศาลที่พิจารณาคดีทั่วไป พิจารณาลงโทษทางวินัยผู้พิพากษา เพราะมีก.ต.ทำหน้าที่อยู่แล้ว รวมถึงการให้อุทธรณ์การลงโทษวินัยไปยังศาลฎีกาได้โดยตรง ถือว่าทำให้ระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมเสียไป



ชี้แค่ร่างแรกยังแก้ทัน
เมื่อถามว่าประธานศาลฎีกามีความเห็นอย่างไรบ้าง นายภัทรศักดิ์กล่าวว่า ประธานศาลฎีกาอยู่ในที่ประชุมด้วย โดยสำนักงานศาลยุติธรรมจะทำหนังสือเพื่อสรุปในประเด็นความเห็นที่แตกต่างไปยัง สปช. ครม. และคสช. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป



เมื่อถามว่าหากสปช.ยืนยันตามร่างเดิมจะดำเนินการอย่างไร นายภัทรศักดิ์กล่าวว่า ตามหลักแล้วกมธ.ยกร่างฯ ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการอภิปรายร่างแรกจึงยังสามารถแก้ไขได้ทัน ที่ประชุมศาลร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบ ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก หากมีประเด็นอะไรที่ต้องแก้ไขก็เห็นสมควรต้องแก้ คงไม่ปล่อยให้เวลาผ่านเลยไป ถ้าหากจะให้ตนเข้าชี้แจงต่อสปช. ตนก็พร้อมเข้าชี้แจงได้ในทุกประเด็น



เริ่มแล้วสปช.อภิปราย"รธน."



เวลา 07.50 น. ที่รัฐสภา สปช. 57 คนได้สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 พร้อมปฏิญาณตนว่าการประชุมสปช. เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่คณะกรรมาธิ การ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำเสนอต่อที่ประชุมสปช. ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ด้วยความสุจริตใจ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง จากนั้นสักการะพระสยามเทวาธิราชเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย



เวลา 09.05 น. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ร่างแรก ตามที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายเทียนฉายแจ้งว่า อนุญาตให้ถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทร ทัศน์รัฐสภา สถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย(ช่อง 11) จนเสร็จสิ้นการพิจารณา จากนั้นมีการฉาย วีดิทัศน์อธิบายภาพรวมการทำงานของกมธ.ยกร่างฯในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ



กมธ.ชี้ออกแบบลดอำนาจส.ส.



นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญพร้อมที่มา ที่ไป เนื้อหาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 315 มาตราว่า กระบวนการยกร่างครั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้ปกปิด ไม่มีพิมพ์เขียวตามที่บางคนอ้าง ทั้งนี้กมธ.ยกร่างฯคำนึงถึงผลที่จะได้รับอย่างรอบคอบ และมีภูมิคุ้มกันเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ ใช้ความรู้และวิเคราะห์ปัญหาเพื่อหาทางออก มีคุณธรรม ความซื่อสัตย์ อดทน ผลจากการใช้รธน. 40 ทำให้เกิดเผด็จการเสียงข้างมากเด็ดขาดของรัฐบาล



นายบวรศักดิ์กล่าวว่า การออกแบบระบบการเมืองใหม่ตามรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ร่างจึงใช้มาตรฐาน 2 ทางคือ 1.ทำให้รัฐบาลไม่ใช่เสียงข้างมากเป็นเผด็จการอำนาจนิยม และ 2.ให้พลเมืองเป็นใหญ่ เพื่อคานอำนาจกับนักการเมือง ไม่ให้รัฐบาลได้เสียงข้างมากเกินความจริงเหมือนรัฐธรรมนูญปี"40 และ 50 กมธ.ยกร่างฯจึงใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ระบบนี้พลเมืองนิยมพรรคใดเลือกพรรคนั้น ได้กี่เปอร์เซ็นต์พรรคนั้นจะได้คะแนนตามนั้น เท่ากับความนิยมของพลเมือง ระบบนี้จะทำให้ได้พรรคขนาดกลาง เกิดรัฐบาลผสม แต่อาจนำมาสู่ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล