- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 20 April 2015 10:55
- Hits: 4103
ปสปช.มั่นใจร่างรธน.ผ่านแน่ อ้างสปช.-กมธ.ยกร่างฯเนื้อเดียวกัน ซัดอดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ เลิกมโนคว่ำร่างรธน.ได้แล้ว เชื่อสปช.อภิปรายมีเหตุผล ไม่เลอะเทอะ รัฐบาลแจงวุ่น ใช้ม.44 ย้ายบิ๊กกระทรวงศึกษาฯให้เหมาะกับงานเดินหน้าปฏิรูป สางปัญหาในคุรุสภา-สกสค. เพื่อไทยโวยทำมาตรฐานบิดเบี้ยว'บิ๊กตู่'ร่วมประชุมผู้นำอาเซียน-แอฟริกาที่อินโดฯ 21-23 เม.ย.นี้
แจงย้ายบิ๊กศธ.เพื่อความเหมาะสม
วันที่ 18 เม.ย. นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 6/2558 และ 7/2558 เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายข้าราชการและพักราชการในกระทรวงศึกษา ธิการว่า เป็นเรื่องความเหมาะสมในการทำงาน ไม่ว่าตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษา ธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา และเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งต้องแยกออกจากการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับคุรุสภา องค์การค้าของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)
ใช้ม. 44 สางปัญหาคุรุสภา-สกสค.
เมื่อถามว่าคำสั่งที่ 7/2558 เกี่ยวข้องกับ คุรุสภาและองค์การค้าของสกสค.ที่มีปัญหานั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. เคยนำมาหารือบ้างหรือไม่ นายยงยุทธกล่าวว่า นายกฯพูดถึงเรื่องนี้ เพราะมีการพูดกันมากในสังคมมานานแล้วว่าหน่วยงานเหล่านี้มีปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งคิดว่าตอนนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะเข้าไปตรวจสอบ
เมื่อถามว่า ปัญหาที่เกี่ยวกับหน่วยงานดังกล่าวมีเรื่องใดบ้าง เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารงานองค์กร รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ทราบ เป็นเรื่องรายละเอียด
ปรับคนเพื่อเร่งปฏิรูปการศึกษา
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตั้งแต่ คสช.เข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง พล.อ.ประยุทธ์ มีแนวทางและนโยบายปฏิรูปด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการศึกษา จึงจำเป็นต้องจัดบุคลากรให้เหมาะกับความรู้ความสามารถ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวจะเห็นว่า แต่ละบุคคลมีแนวทางการเจริญเติบโตในหน้าที่แบบใด และวันนี้เราจึงปรับให้บุคลากรเหล่านั้นกลับทำงานที่ถนัดในทิศทางที่ได้เติบโตมา เพราะที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองแต่งตั้งบุคลากรไม่ตรงกับความสามารถ เช่น นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนหน้านี้มีความรู้และเติบโตมาจากสภาการศึกษา จึงปรับไปเป็นเลขาธิการสภาการศึกษา หากปรับตอนที่ คสช.เข้ามาใหม่ๆ อาจถูก มองว่าเข้าไปแทรกแซง จึงให้ระยะเวลาผ่านมาจน 6 เดือน ก็เริ่มทำกัน เพราะพล.อ. ประยุทธ์ เห็นว่าหากปรับบุคลากรให้ตรงกับความรู้ความสามารถ จะทำให้การปฏิรูปการศึกษารวดเร็วขึ้น
สั่งพักงานเปิดช่องสอบทุจริต
เมื่อถามว่า คำสั่งให้พักราชการเกี่ยวข้องกับการมีมูลการทุจริตภายในกระทรวงหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า การทุจริตภายในกระทรวงเมื่อมีการร้องเรียนและส่งข้อมูลมา พล.อ.ประยุทธ์จึงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีความเป็นไปได้ จึงมีคำสั่งให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบว่ามีการทุจริตจริงหรือไม่ การให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อน เพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพ คงไว้เฉพาะตำแหน่งที่มีความจำเป็น
"การปรับเปลี่ยนตำแหน่งในกระทรวงจะเกี่ยวกับเรื่อง 100 ข้าราชการเกี่ยวข้องทุจริตหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ และขณะนี้ ยังไม่เหมาะสมที่จะเปิดเผยว่า 100 รายชื่อ มีใครบ้าง ข้อมูลมีอยู่แต่ต้องตรวจสอบใน รายละเอียด" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
ยัน'ตู่'ใช้สร้างสรรค์-ไม่อิงการเมือง
เมื่อถามว่า ทุกกระทรวงต่างมีปัญหา จะมีคำสั่งลักษณะนี้ออกมาอีกหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า เป็นอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.จะดำเนินการร่วมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และ ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลเพ่งเล็งกระทรวงหนึ่งกระทรวงใด เพราะทุกกระทรวงมีปัญหาของตัวเอง แต่ก็มีแนวทางแก้ไขและรับนโยบายจากนายกฯ ติดขัดตรงไหนก็แก้ ถ้าแก้ไขไม่ได้ เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯจะตัดสินใจ
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ยืนยันว่า พล.อ. ประยุทธ์ ใช้อำนาจในมาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์ เราไม่ได้โยกย้ายแต่งตั้งไปตามทิศทางการเมือง เราไม่เคยคิดถึงการเมือง คิดถึงแต่เหตุและผลของการปฏิรูปที่จะทำให้นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลขับเคลื่อน เป็น คำตอบกับประชาชนได้ เรามักจะหลีกเลี่ยง คำว่าเพื่อความเหมาะสม เพราะคำว่าดังกล่าวเหมือนเป็นการตอบไปอย่างนั้น
'ไพฑูรย์'รับแปลกใจ
นายไพฑูรย์ สินลารัตน์ อดีตประธานกรรมการคุรุสภา ให้สัมภาษณ์ถึงคำสั่ง หัวหน้าคสช. ที่ 7/2558 ที่สั่งการให้คณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการ สกสค. และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสกสค. พ้นจากตำแหน่งว่า ได้ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว ส่วนตัวยอมรับว่ารู้สึกแปลกใจอยู่บ้าง เพราะสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และคณะกรรมการคุรุสภา ได้แยกขาดออกมาจากสกสค. นานแล้ว แต่คงไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆ ไปมากกว่านี้ เนื่องจากไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัด ทั้งนี้ ไม่รู้สึกหนักใจ และพร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
ศอตช.ยันไม่เกี่ยวเด้งปลัดศธ.
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้าน การทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.)ให้สัมภาษณ์ว่า การที่หัวหน้าคสช.ให้คำสั่งปรับย้ายข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ไม่น่าเกี่ยวข้องกับกรณีศอตช.เสนอรายชื่อข้าราชการกว่า 100 คนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ดำเนินการ เพราะมันคงเร็วไป อีกอย่างตนไม่ทราบว่าพล.อ.ประยุทธ์จะใช้ขั้นตอนใดกับกลุ่มบุคคลดังกล่าว เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯ
ย้ำไม่รู้มีใครบ้างใน 100 ชื่อทุจริต
ผู้สื่อข่าวถามว่า ศอตช.จะเสนอรายชื่อข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตล็อต 2 ให้นายกฯพิจารณาเมื่อใด พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่าไม่เคยบอกว่ามีล็อตแรกหรือล็อตสอง แค่บอกว่าถ้ามีทุกเดือนก็ส่งทุกเดือน จะมีมากหรือน้อยแล้วแต่หน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่วนรายชื่อที่ส่งนายกฯนั้น ตนไม่ได้ดู ไม่อยากดูว่า มีใครบ้าง ซึ่งนายกฯก็ถามว่าเห็นรายชื่อหรือยัง ตนก็บอกว่าไม่เห็น รู้แต่จำนวน ตนยังบอกให้นายกฯถามเจ้าหน้าที่ที่ทำงานได้เลยในรายละเอียด ซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนยันในข้อมูลหลักฐาน ไม่มีการกลั่นแกล้ง เป็นธรรมทุกฝ่าย
เมื่อถามว่า ไม่อยากดูเพราะกลัวเจอชื่อคนรู้จักใช่หรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่าใช่ ตนรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าดูมันอดไม่ได้ ถ้าเห็นแล้วมีคนมาถามก็ต้องพูด เพราะตนโกหกไม่เป็น ที่ผ่านมามีผู้ใหญ่โทร.สอบถามว่ามีคนนั้นคนนี้หรือไม่ ตนก็บอกอย่างพูดว่าไม่เห็น ให้เจ้าหน้าที่ทำงาน อีกอย่างเรื่องมันไม่ได้จบที่ตนจึงไม่อยากรู้
พระชินวรณ์หนุน'ตู่'ปฏิรูปศธ.
พระชินวรณ์หรือนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรมว.ศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงคำสั่งคสช.โยกย้ายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการว่า คำสั่งดังกล่าวอ้างว่าเพื่อปฏิรูปการศึกษา และให้การบริหารของกระทรวงมีประสิทธิ ภาพ ซึ่งน่าจับตามองการบริหารของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะใช้มาตรา 44 เพื่อสร้างสรรค์และปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษา คสช.และรัฐบาลไม่จำเป็นต้องรอข้อเสนอจากสปช. เพราะไม่ทันการณ์ แต่ควรให้เป็นผลงาน ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์บ้าง
พระชินวรณ์ ระบุว่า ขอเสนอว่าควรชูธงปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง อาทิ คุณภาพการศึกษา การปฏิรูปครู การสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษา และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งข้อเสนอนี้นำมาใช้ได้ สมัยตนเป็นรัฐมนตรีก็นำเอามาปรับปรุงและดำเนินการ
"อย่าให้การออกคำสั่งครั้งนี้เป็นเพียงวังวนตัวบุคคลเหมือนที่ผ่านมา ที่ไม่กล้าหาญพอเหมือนเรื่องท้องถิ่น แทนที่จะให้เลือก ตั้งใหม่และใช้มาตรา 44 ควบคุมไม่ให้ ซื้อเสียง ขายสิทธิ์ กลับกลัวให้รักษาการ ต่อไปผมเกรงว่ากรณีของกรรมการคุรุสภาและกรรมการ สกสค. จะเหมือนกันอีก เพราะความกลัวเป็นความเสื่อม จึงขอให้กำลังใจพล.อ.ประยุทธ์เดินหน้าปฏิรูปการศึกษา อย่างจริงจังต่อไป" นายชินวรณ์กล่าว
พท.ซัดทำมาตรฐานเบี้ยว
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่าการใช้มาตรา 44 โยกย้ายหรือกระทำใดๆ เป็นการวางมาตรฐานกฎหมายใหม่ในอนาคต หากไม่มีใครมาลบล้างกระบวนการมาตรา 44 จะมีอำนาจเหนือนิติบัญญัติ ตุลาการ ฉะนั้นจะใช้มาตรา 44 ต้องระมัดระวัง และเป็นอันตราย ถ้าไม่มีใครยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ ผู้บริหารประเทศจะโยกย้ายคนได้ตามใจชอบ ไม่ว่าถูกหรือ ไม่ถูกก็ตาม
นายวรวัจน์ กล่าวว่า ควรใช้มาตรา 44 เมื่อจำเป็นเท่านั้น ความจริงกรณีนี้ใช้มติครม.ได้ แต่รัฐบาลอาจกลัวว่าหากใช้มติครม.จะมีการร้องเรียนและจะโดนข้อหาผิดทั้งครม.เหมือนกรณีรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(คสช.) จึงใช้มาตรา 44 แทน เพราะอำนาจตามมาตรา 44 ไม่มีใครฟ้องร้องได้ เป็นการวางมาตรฐานที่เกินความจำเป็น ทำให้บิดเบี้ยว และคนรู้สึกไม่ดี
นายวรวัจน์ กล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาประเทศให้จบเพราะประชาชนเดือดร้อนมาก และให้รัฐบาลทำโพลว่าประชาชนรู้สึกอย่างไรกับการโยกย้าย หาก จะบอกว่าใช้เฉพาะกิจก็ไม่ใช่ จะเห็นว่าอย่างในอดีตครม.ทำได้หรือไม่ การวางกฎหมายแบบนี้เสี่ยงกระทบกระเทือนจิตใจของคน ได้ง่าย หากฝ่ายบริหารต่อๆ ไปเทียบเคียง แบบนี้จะเป็นอย่างไร
สปช.ทยอยรับร่างรธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาฯสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดให้สมาชิก สปช.มารับเอกสาร ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้ว เป็นวันที่สอง ที่บริเวณห้องโถงชั้น 2 อาคารรัฐสภา 1 โดยมีสมาชิก สปช. ทยอยมารับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง เพื่อ นำไปศึกษาและทำความเข้าใจ ก่อนที่จะเปิดให้อภิปราย และเสนอความคิดเห็นในการประชุม สปช. วันที่ 20-26 เม.ย.นี้ เพื่อให้กมธ.ยกร่างฯ นำไปเป็นข้อมูลเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภา ผู้แทนราษฎร จะเปิดให้สปช.รับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญ จนถึงวันที่ 20 เม.ย. ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
สปช.ยันไม่ใช้วาทกรรม
นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสปช. (วิปสปช.) กล่าวว่า บรรยากาศการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 20-26 เม.ย.นี้ อาจมีบรรยากาศดุเด็ดเผ็ดมันคงเป็นด้วยเหตุผล จะไม่ใช้วาทกรรม ไม่มีประท้วงเสียดสี เหน็บแนมประชดประชัน อะไรที่นักการเมืองเคยเหลวไหลเลอะเทอะ จะไม่เอามาเป็นตัวอย่างโดยเด็ดขาด เชื่อว่าสมาชิกทุกคนมุ่งมั่นทุ่มเท ใครไม่ตั้งใจถือว่าตกขบวน แต่ดูทุกคนกระตือรือร้นศึกษา เจอใครก็พูดแต่เรื่องรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในการถ่ายทอดสด ทุกคนจะได้เห็นทุกกระบวนการการอภิปรายโดยเปิดเผยโปร่งใส ไม่มีประชุมลับ อะไรที่เป็นการเสียเวลาจะไม่ทำให้ยืดเยื้อเด็ดขาด
นายวันชัย กล่าวถึงกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาจะถูกคว่ำแน่ว่า การร่างรัฐธรรมนูญรอบนี้ กมธ.ยกร่างฯ และสปช.ร่างเพื่อประชาชน 60 กว่าล้านคน ไม่ใช่เพื่อนักการเมือง 5 พันกว่าคน ต้องแก้ปัญหาประเทศ ป้องกันการกระทำทุจริตประพฤติมิชอบ เพราะอดีตนักการเมืองเหลวแหลกจนบ้านเมืองป่นปี้มามาก นักการเมืองคนใดไม่พอใจจึงไม่ใช่สาระ แต่สาระอยู่ที่ประชาชน และประเทศชาติได้ประโยชน์อะไรมากกว่า
ซัดนักการเมืองอย่ามโน
นายวันชัย กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องผ่านแน่นอน เพราะกมธ.ยกร่างฯ มาจากสปช. และสปช.ก็เป็นพวกเดียวกับกมธ.ยกร่างฯ ทำงานร่วมกันอยู่ตลอด เป็นเนื้อเดียวกันทุกขั้นตอน ไม่มีเหตุใดให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน เราทำงานเสียเวลามาเกือบปี อยู่ๆ จะมาบอกว่า เราจะมาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับรัฐบาลอยู่ต่อไปนั้น ขอให้นักการเมือง ต่างๆ อย่ามโนกันมากนัก อย่าบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเทวดา เพราะบางคนที่ออกมาพูดยังไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญเลยด้วยซ้ำ
ส่วนที่นายนิพิฏฐ์ระบุกมธ.ยกร่างฯ ไม่เคยคิดพูดคุยกับนักการเมือง มีแต่คุยกันเอง คิดกันเองนั้น นายวันชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาเรา ฟังเสียงประชาชนตลอด นักการเมืองก็ฟัง แต่จะเชื่อหรือไม่ เราจะเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะกมธ.ยกร่างฯ และสปช.มีประสบการณ์ มีสติปัญญา มีบทเรียน มีข้อมูล สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อประเทศเราถึงทำตาม นักการเมืองเราเชิญ มาหลายครั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็เชิญมา ยังไม่รวมเอกสารจากพรรคต่างๆ ที่ส่งมาอีก เราเอามาประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญหมด
'เสรี'เตรียมสับร่างรธน.
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสปช. เปิดเผยว่า ตนอ่านร่างรัฐธรรมนูญครบหมดแล้ว อยากผลักดันในหลายเรื่อง เช่น ปัญหาการเมือง ความมั่นคงของรัฐบาล เสถียรภาพ ที่มาส.ส. การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น กระบวน การยุติธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้อง ดูตัวโครงสร้างทั้งหมด เพราะรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของโครงสร้างการบริหารประเทศ อย่างไรก็ตาม คนที่จะมาเป็นตัวแทนประชาชน ควรมีระบบการเข้ามาเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง เข้ามารักษาประโยชน์ของประชาชนโดยรวม ดังนั้น จะให้คนเข้ามาเป็นส.ส. มันต้องดูที่มา ถ้ามาจากประชาชนดูแลชาวบ้านได้ มันก็ควรจะใช้ระบบเลือกตั้งอย่างเดียว คือส.ส.เขตอย่างเดียว บัญชีรายชื่อไม่จำเป็นแล้ว ดูแล้วไม่เป็นประโยชน์ เรื่องดังกล่าวจะเสนอเข้าที่อภิปรายด้วย
ชงสส.เขต 2 คนไม่มีปาร์ตี้ลิสต์
นายเสรี กล่าวว่า ส่วนระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสมนั้น ดูแล้วซับซ้อน เลือกบัญชีแล้วต้องไปเลือกคนในบัญชีอีก มันยุ่งไปหมด มันไม่สะท้อนความเป็นตัวแทน หากจะสะท้อนเขตหนึ่งควรมีตัวแทน 2 คนเป็นอย่างน้อย เพราะแพ้ชนะบางครั้งคะแนนต่างกันนิดเดียว ถ้าเขตเดียวคนเดียว เสียงที่ลงคะแนนแล้วไม่ได้ก็มีจำนวนมากที่ไม่มีตัวแทน แต่ถ้า 1 เขตมีส.ส. 2 คน น่าจะมีตัวแทนได้มากกว่า
นายเสรี กล่าวว่า เรื่องที่มาส.ว.นั้น น่าจะมีการเลือกตั้งทั้งหมดไปเลย และลดอำนาจ ในเรื่องการถอดถอนไป ส.ว.ไม่ต้องทำหน้าที่นี้ ก็จะไม่ยุ่งยากเพราะที่กำหนดไว้มันซับซ้อน จะมีปัญหาเยอะกว่าเดิม ส่วนเรื่องการตรวจสอบอำนาจรัฐนั้นระบบเดิมมีอยู่แล้ว ไม่ใช่ปัญหา
เล็งชำแหละยุทธศาสตร์ชาติ
นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สมาชิกสปช. ในฐานะประธานกมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา กมธ.ปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดินได้หารือกันหลังจากได้รับร่างรัฐธรรมนูญ การอภิปรายจะเน้นประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่บัญญัติเรื่องนี้ ประกอบการบริหารราชการแผ่นดินไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิกจะพยายามอภิปรายเพื่อผลักดัน ให้เรื่องดังกล่าวไปอยู่ในส่วนของแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญมาก มีเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน
นายธีรยุทธ์ กล่าวว่า เชื่อว่าการอภิปราย จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่หนักใจ และเชื่อว่ากมธ.ยกร่างฯ จะรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่สมาชิก สปช.เสนอ ทั้งนี้ หลังอภิปรายเสร็จสิ้น กมธ.ปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดินจะแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญตามไปด้วย ส่วนกมธ.ยกร่างฯ จะปรับแก้ไขหรือไม่ ต้องรอดูอีกครั้งในช่วงเดือนก.ค.นี้
ค้านตั้งกก.คัดกรองสว.เลือกตั้ง
ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีการสัมมนากำหนดการประชุมถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวันที่สอง โดยนำเสนอสรุปผลการประชุมถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญ ที่แบ่งห้องย่อยสัมมนากันเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยวงสัมมนาสรุปความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญส่งให้สปช.นั้น ในบางมาตราเนื้อหาที่เพิ่มเติมไม่ควรมี บางมาตราควรนำข้อความในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี "57 เพิ่มเข้าไปด้วย เพื่อให้ครอบคลุมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่าบางมาตรา ไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ควรตัดออกทั้งมาตรา เช่น มาตรา 184 ที่ว่าด้วยเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พ้นจากตำแหน่ง ให้ปลัดกระทรวงของแต่ละกระทรวงรักษาการแทนรัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆ ส่วนการ ตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ควรพิจารณา ก่อนว่าจะมีการตั้งขึ้นหรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญให้อำนาจหน้าที่กว้างเกินไป ทั้งนี้ ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีความเห็นว่าควรมีรายชื่อกลุ่มการเมือง เหมือนกับบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง เพื่อ เพิ่มการมีส่วนร่วม ส่วนที่มาส.ว. 77 จังหวัดที่มีคณะกรรมการคัดกรอง 10 คน ก่อนให้ประชาชนเลือกนั้น ไม่ควรมี
สดศรี หนุนตั้งกก.ประเมินรธน.
นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติกล่าวว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่ประเมินผลการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุก 5 ปีถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะในรัฐธรรมนูญปี 2550 แม้จะระบุว่าสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยาก กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งตามมา
นางสดศรี กล่าวว่า การที่มีคณะกรรมการประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญทุก ระยะนั้น จะช่วยลดปัญหาที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญ ปรับปรุงกฎหมายสูงสุดให้ เข้ากับสถานการณ์ และอาจเป็นช่องทางหนึ่งทำให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นฉบับสุดท้าย ไม่ต้องฉีกหรือยึดอำนาจอีก คนที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ไม่อึดอัด ถือเป็นทางออกที่ดี และเชื่อว่าคงไม่มีการทำประชามติ
ค้านล็อกสเป๊กส.ว.สรรหา
นางสดศรี กล่าวอีกว่า ส่วนที่มาของส.ว. ที่ระบุให้มาจากอดีตปลัดกระทรวงหรือข้าราชการ รวมถึงข้าราชการทหารด้วยนั้น ข้อเท็จจริงรัฐธรรมนูญไม่ควรกำหนดที่มาของส.ว.ไว้เช่นนี้ เพราะผู้มีความรู้ความสามารถไม่จำเป็นต้องเป็นอดีตข้าราชการ ปราชญ์ชาวบ้านเก่งๆ ก็ทำหน้าที่ ส.ว.ได้ ไม่ควรเขียนแบบล็อกสเป๊กเช่นนี้ บทบัญญัติใดที่เขียนแล้วจะทำให้เกิดการตีความได้ หลากหลายเกินไปนั้น ควรพิจารณาแก้ไขใหม่ เพราะโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ควรเน้น ที่ภาคข้าราชการ แต่ควรเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
โวยเปิดช่องให้สืบทอดอำนาจ
นางสดศรี กล่าวถึงการตั้งองค์กรใหม่ 11 องค์กรว่า การร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรเขียนให้มีลักษณะสืบทอดอำนาจไว้ ตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เคยเขียนปิดกั้นไม่ให้กมธ.ยกร่างฯเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่นเดียวกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ขณะนั้น แต่การระบุให้สมาชิกสนช. สปช. ในปัจจุบันนี้สามารถมีตำแหน่งต่อไปหลังจากมีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะไปทำหน้าที่สภาขับเคลื่อนหรือสภาใด ดูมีลักษณะสืบทอดอำนาจ ชงเองกินเอง และเกิดข้อครหาตามมาว่าแท้จริงแล้วคนพวกนี้ไม่ได้เสียสละเข้ามาช่วยประเทศชาติ แต่เข้ามาสืบทอดอำนาจเพื่อหาผลประโยชน์ตนเอง
"การตั้งองค์กรขึ้นมาเยอะอาจทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกันเอง อย่างการตั้งคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง(กจต.)มาจัดการเลือกตั้ง แล้วให้กกต.ทำหน้าที่ควบคุมแทนนั้น เชื่อว่าเวลาทำงานจริงจะเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กรอย่างแน่นอน บางทีการคิดว่าสร้างองค์กรใหม่ขึ้นมาเพื่อให้เกิดความสมดุล แต่อาจแย่งอำนาจระหว่างกันก็เป็นได้" อดีตกกต.กล่าว
พท.โวยตั้งโจทย์สกัดนักการเมือง
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขา ธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการประชุมสปช.วันที่ 20-26 เม.ย.นี้ ที่จะอภิปรายและเสนอความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญถาวรว่า จุดยืนของพรรคยังเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ควรตั้งโจทย์ให้ถูกต้อง เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งคนภายนอกมองว่าการเมืองไม่มีเสถียรภาพ จากที่รับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน พบว่าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ต้องการให้การเมือง มีเสถียรภาพ ดังนั้น รัฐบาลและสปช.ควรรับฟังเสียงสะท้อนเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้ ต้องขอบคุณที่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อเชิญผู้เชี่ยวชาญ จากต่างประเทศมาเล่าประสบการณ์ในเรื่องประชาธิปไตยและการแก้ปัญหา โดยไม่ดึงดันทำตามกมธ.ยกร่างฯเสนอเพียงอย่างเดียว
นายชวลิต กล่าวอีกว่า อย่าตั้งโจทย์ว่านักการเมืองเป็นผู้ร้าย จนต้องเขียนเรื่องที่มาของนายกฯ ส.ส. และส.ว.ดักเอาไว้ แต่ควรพิจารณาเป็นรายบุคคล ซึ่งการเขียนเช่นนี้จะทำให้พรรคอ่อนแอ แข่งขันกันเอง ซึ่งไม่ถูกต้อง สุดท้ายจะทำให้ขาดเสถียรภาพ
เชื่อปธ.สปช.ไม่ให้รธน.มีตำหนิ
"เชื่อว่า นายกฯและประธานสปช.จะพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะประธานสปช.ยืนยันว่าจะไม่ปล่อยให้รัฐธรรมนูญที่มีตำหนิผ่านไป ดังนั้นควรรับฟังความเห็นจากทุกภาคฝ่าย ส่วนจะทำประชามติตามที่มีหลายฝ่ายเรียกร้องหรือไม่นั้น ต้องดูเนื้อหาที่จะอภิปรายกันก่อน" นายชวลิตกล่าว
นายชวลิต กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 6/2558 อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 โยกย้ายปลัดกระทรวงศึกษาธิการและข้าราชการรวม 6 คนว่า ควรรอให้นายกฯชี้แจงเหตุผล การโยกย้ายจะเหมาะสมกว่า แต่มองว่าการย้ายครั้งนี้เป็นไปในทางปกครอง ไม่ใช่ย้าย ไปแขวนประจาน ซึ่งอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็ระบุแล้วว่าไม่ติดใจ
ผิดหวังผลงาน6เดือนมีแต่นามธรรม
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการแถลงผลงานของรัฐบาลรอบ 6 เดือนว่า เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการพรรณนาโวหาร อธิบายความรู้สึก ที่เป็นนามธรรม ซึ่งน่าเสียดายเพราะรัฐบาลควรจะได้ประโยชน์จากการแถลงครั้งนี้อย่างเต็มที่ แต่กลับไม่ค่อยมีเนื้องานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ หรือมีสถิติตัวเลขที่วัดค่าประเมินผลเปรียบเทียบได้ โดยเฉพาะสิ่งที่คนไทยรวมถึงต่างประเทศอยากได้ยิน คือประเทศไทย จะมีเลือกตั้งวันไหน กติกาการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญที่ดีซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายหน้าตาจะเป็นอย่างไร แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะแถลงว่าพร้อมจัดเลือกตั้งช่วงเดือนเม.ย. 2559 หรือเตรียมสาธิตการลงคะแนน การนับคะแนนเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ หากรัฐบาลส่งสัญญาณเรื่องการเลือกตั้งให้ชัด เชื่อว่าบรรยากาศการค้า การลงทุนในประเทศจะกลับมาคึกคักอย่างแน่นอน
จี้รบ.เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ อดีตส.ส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคขอให้กำลังใจรัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาให้ประชาชนต่อไป แม้นักวิชาการและภาคเอกชนจะมองว่างานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมที่จะช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจัง การแถลงผลงานด้านเศรษฐกิจเป็นเหมือนรายงานประจำปี แสดงผลงานที่โดดเด่นมากกว่าจะช่วยประชาชนจริง ปัจจุบันชาวบ้านเดือดร้อน ดูตัวเลขเศรษฐกิจทุกตัวยังนิ่งและมีท่าทีติดลบ โดยเฉพาะการส่งออกที่ 3 เดือนแรกติดลบ 4 เปอร์เซ็นต์ การลงทุนขนาดใหญ่ไม่ขยับขึ้น มีเพียงเรื่องท่องเที่ยวแต่ยังไม่ชัดเจนมากพอจะทดแทนการส่งออกที่ลดลง
น.ส.วิสาระดี กล่าวว่า การดำเนินการตามโรดแม็ปยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะเข้าสู่ประชาธิปไตยและจะมีเลือกตั้งเมื่อไร ทำให้การค้าการลงทุนและการเจรจาไม่ชัดเจน เพราะไม่มีใครอยากผูกมัดกับประเทศที่ยังคลุมเครือ ทีมเศรษฐกิจพรรคขอแนะนำให้วางแผนเศรษฐกิจเป็นระยะ คือระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อช่วยเหลือประชาชน และขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชนได้โดยเร็ว
'ปู'ปลื้มแฟนเพจ-รักกันตลอดไป
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวขอบคุณประชาชนที่อวยพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ว่าช่วงวันสงกรานต์ที่ผ่านมาพาน้องไปป์ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร ไปสรงน้ำพระ ไหว้บรรพบุรุษ รดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ และเล่นน้ำสงกรานต์ที่จ.เชียงใหม่ แล้วยังมีโอกาสเข้าไปตอบแฟนเพจ แต่ตอบไปบ้างบางคน ต้องขอโทษที่ตอบได้ไม่ทั่วถึงทุกคน
"ดิฉันต้องขอขอบคุณแฟนเพจมากๆ ที่ยังให้กำลังใจและอวยพรมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นกำลังอย่างดี และเป็นความผูกพันที่มีต่อกันอย่างเหนียวแน่นตั้งแต่เปิดเพจนี้ ก่อนเลือกตั้ง ก็เป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้ว หวังว่าเราจะได้ใช้ความรักความผูกพันที่เรามีต่อกันนี้ยึดเหนี่ยวและเป็นกำลังใจกันต่อไปแล้วคุยกันในหน้าเพจ" น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ