- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 13 June 2014 15:17
- Hits: 6956
วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8598 ข่าวสดรายวัน
จ่อยกเลิก'เคอร์ฟิว'ทั่วทั้งปท. ลุ้นบิ๊กตู่สั่งวันนี้ ชง 3 ลล.เข้าคสช. ปรับโลจิสติกส์ ไม่มี'รฟ.เร็วสูง'
คืนสุข - พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผบ.ตร. ร่วมกับกทม. ช่อง 3 แถลงจัดงาน "คืนความสุข สู่ประชาชน" ที่สวนลุมพินี วันที่ 15 มิ.ย.นี้ โดยในงานมีบรรดาศิลปินดาราจากค่ายอาร์เอสมาร่วมคับคั่ง |
ลุ้น'บิ๊กตู่'ประกาศเลิก เคอร์ฟิวทั่วปท.ค่ำนี้ 'บิ๊กจิน'โอเคแผน 3 ล้านล้าน วางโครงสร้างโลจิสติกส์ไทย เพิ่มขนส่งทางอากาศ แต่ตัดรถไฟความเร็วสูง คสช.มอบลูกจ๊อดดูแล จยย.รับจ้าง ลั่นรู้ตัวมาเฟียวินทั้งหมด ศธ.เสนอ คสช.ลุยซื้อแท็บเล็ตต่อ หอการค้าชงเลิกคุมราคาสินค้า สหมงคลฟิล์มแจงดู'นเรศวร ภาค 5'ฟรี ไม่เกี่ยวภาษี
คสช.ลุยจัดระเบียบ'จยย.-รถตู้'
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 (มท.ภ.1) ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) เป็นประธานประชุมทำความเข้าใจกับผู้แทนส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างความชอบธรรมให้กับ ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ หลังจากหารือกับผู้แทนรถจักรยานยนต์รับจ้าง รถแท็กซี่ และรถตู้โดยสารในกทม. เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา
พล.ท.ธีรชัย กล่าวภายหลังการประชุมว่า คสช.อยากให้ประชาชนมีความสุขในทุกๆ ด้าน วันนี้ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อกำกับดูแล ค่าโดยสารให้เป็นธรรม ทั้งรถ จยย.รับจ้าง รถแท็กซี่ รถตู้โดยสาร ทั้งนี้ กรอบทำงานจะเห็นผลภายใน 1 เดือน ทั้งเรื่องกฎระเบียบพ.ร.บ.การจราจรที่ไม่สอดคล้องกับความ เป็นจริง ไม่ทันสมัย ขอให้คณะทำงานเสนอข้อคิดเห็นขึ้นมา โดยตนจะเสนอผ่าน คสช.เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องเป็นธรรม
ขู่เรียกมาเฟียวินมาคุย
"ส่วนผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามนั้นมีมาตรการทางกฎหมายบังคับใช้อยู่แล้ว อยากฝากถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ จะส่งเจ้าหน้าที่ทหารลงไปตรวจสอบในทุกพื้นที่ทั้งวินจักรยานยนต์รับจ้าง และวินรถตู้โดยสาร" พล.ท.ธีรชัยกล่าว
มท.ภ.1 กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินการกับผู้มีอิทธิพลวินรถ จยย.รับจ้างและวินรถตู้โดยสารนั้น รายชื่อต่างๆ เรารู้แล้วว่ามี ใครบ้าง ขอความร่วมมือให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีความสุข ค่าโดยสารเป็นธรรม ส่วนผู้ที่ขัดขืนไม่ทำตามคำสั่ง คสช.จะเรียกมาพูดคุยจะได้รู้ว่าเป็นใครบ้าง จะได้เห็นหน้าเห็นตากัน รับรองว่าเราทำอย่างจริงจัง โดยหัวหน้า คสช.เน้นดูแลประชาชนให้มีความสุขและเป็นธรรม ไม่ให้ถูกขูดรีดจากผู้ประกอบการ
ให้"ลูกจ๊อด"ดูแลจยย.รับจ้าง
สำหรับการหารือ พล.ท.ธีรชัยกำหนดการดำเนินการเร่งด่วน รถ จยย.รับจ้างต้องไม่เก็บค่าโดยสารเกินราคาและติดราคาให้ผู้โดยสารเห็นชัดเจนในสถานที่จอด ส่วนรถแท็กซี่ต้องไม่ปฏิเสธผู้โดยสารและไม่คิดราคาแบบ เหมารวมโดยไม่กดมิเตอร์ รถตู้ต้องบรรทุก ผู้โดยสารไม่เกินที่กฎหมายกำหนด มีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ไม่ใช้ข้ออ้างเคอร์ฟิวเก็บค่าโดยสารเพิ่ม นอกจากนี้ให้ตำรวจกวดขันวินัยจราจรอย่างเข้มงวด และกำชับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายไม่ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ข่มขู่เรียกค่าคุ้มครอง ค่าจอดรถในสถานที่ต่างๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเก็บค่าโดยสารเพิ่มจากประชาชน ส่วนระยะยาวจะแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องและรวบรวมส่งให้กลุ่มงานด้านกฎหมายพิจารณาเพื่อดำเนินการในห้วงการปฏิรูประยะที่ 2
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะทำงานที่รับ ผิดชอบดูแลควบคุมผู้ประกอบการ มีพล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.พล.1 รอ.เป็นหัวหน้าคณะทำงานดูแลวินรถ จยย.รับจ้าง ทั่วพื้นที่ กทม.และปริมณฑล พล.ต.สมโภชน์ วังแก้ว ผบ.พล.ม.2 รอ. รับผิดชอบดูแลวินรถตู้โดยสารทั่วประเทศ และพล.ต.นิรันดร์ สมุทรสาคร ผบ.มทบ.11 ดูแลรับผิดชอบ ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล โดยดำเนินการตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย.เป็นต้นไป ทั้งนี้ มท.ภ.1 นำสติ๊กเกอร์ที่มีข้อความ "WE LOVE THAI ARMY" ที่ประชาชนทำมาให้หน่วยทหารออกแจกจ่ายให้กับประชาชน
'ไพบูลย์'สั่งราชทัณฑ์เข้มค้ายา
ที่กรมราชทัณฑ์ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. มอบนโยบายการบริหารงานราชทัณฑ์กับผู้บริหารกรมราชทัณฑ์นำโดย พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รวมไปถึงผู้บัญชาการเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ 143 แห่ง โดยพล.อ. ไพบูลย์กล่าวว่า ได้ให้นโยบายเกี่ยวกับการปราบปรามปัญหายาเสพติดในเรือนจำ มีเป้าหมายเพื่อไม่ให้มีการสั่งค้ายาในเรือนจำได้อีก มีการสะท้อนปัญหาในเรือนจำมา ส่วนหนึ่งพบปัญหาสถานที่ที่เก่าแก่มาก กำลังคนไม่เพียงพอ ซึ่งตนกำชับไปแล้ว ปัญหาต้องแก้ได้ เพราะตนมีหน้าที่ต้องทำให้สำเร็จ ไม่ควรนำปัญหาความขาดแคลนมาเป็นข้ออ้าง ทั้งนี้ตัวชี้วัดจะดูจากข้อมูลเชิงลึกของเรือนจำ หากพบว่ายังมีปัญหาทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนรับผิดชอบ ตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวงไปจนถึงอธิบดี การมอบนโยบายวันนี้ถือเป็นการมาขอความร่วมมือจากผบ.เรือนจำทั่วประเทศให้ช่วยดูแลปัญหายาเสพติด เพราะยอมรับว่าปัญหายาเสพติดส่วนหนึ่งมาจากการสั่งค้าในเรือนจำ
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ได้สั่งการว่าภายใน 7 วันต้องจัดกลุ่ม คัดแยก ผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดออกมาให้ชัดเจน เพื่อจำกัดวงคนกลุ่มนี้ให้แคบลง ส่วนปัญหาที่พบว่ามีการลักลอบนำยาเสพติดเข้าเรือนจำจากการนำตัวออกขึ้นศาลนั้นเป็นเรื่องที่ต้องจัดระบบให้ดีขึ้น ทั้งนี้หลังจาก คัดแยกผู้ต้องขังได้แล้ว ผู้ต้องขังกลุ่มนี้จะ ถูกนำตัวไปควบคุมที่แดนความมั่นคงสูงสุด (ซูเปอร์แม็ก) ที่เรือนจำกลางเขาบิน จ.ราชบุรี ซึ่งเบื้องต้นสามารถรองรับผู้ต้องขังได้ 440 คน
'บิ๊กตู่'มอบนโยบายจัดการน้ำ
ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เป็นประธานการประชุมการบริหารจัด การน้ำของ คสช. โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ 36 หน่วยงานร่วมประชุม โดย พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม และ ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงทรัพยากรน้ำได้อย่างเท่าเทียมกันและต้องคำนึงถึงน้ำต้นทุน การจัดเก็บ ระบบส่งน้ำ การระบายน้ำ การพร่องน้ำ และน้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานไว้ให้
ทั้งนี้ ให้ทุกส่วนราชการร่วมกันจัดทำ แผนการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของ คสช. ครอบคลุมการแก้ปัญหาทั้งระยะเร่งด่วน เฉพาะหน้า ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สอดคล้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 5-10 ปี
ผช.ผบ.ทบ.ถกลดต้นทุนข้าว
สำหรับ แผนงานโครงการของทุกกระทรวงที่เกี่ยวกับน้ำในปีงบประมาณ 2557 หากตรงกับความต้องการและความจำเป็นเร่งด่วนของประชาชน ให้เร่งดำเนินการ แต่หากโครงการใดที่ยังไม่พร้อมให้นำไปพิจารณาในแผนงบประมาณปี 2558 ต่อไป
ที่บก.ทบ. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผช. ผบ.ทบ.ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรม การพิจารณามาตรการด้านการผลิตและ การตลาดสินค้าข้าวครั้งที่ 2/2557 มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวง อุตสาหกรรม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อกำหนดกรอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีใน การผลิต 2557/2558 อาทิ การลดต้นทุนการผลิต ปุ๋ย สารเคมี ค่าเก็บเกี่ยว เมล็ดพันธุ์ข้าว วิธีการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การสนับสนุนแหล่งเงินทุน การส่งเสริมการตลาดและการมีส่วนร่วมของเกษตรกร
เห็นชอบ 3 ล้านล.แต่ตัดรฟ.เร็วสูง
วันเดียวกันนี้ นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมนำเสนอแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ ต่อพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 3 ล้านล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปี 2558-2565 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แต่ขอให้ตัดโครงการรถไฟความเร็วสูงออกจากแผนไปก่อน เนื่องจากที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ใช่โครงการจำเป็นเร่งด่วน หากในอนาคตกระทรวงจะนำเสนอเพิ่มเติมก็สามารถทำได้
ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมกลับไปหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า และนำกลับมาเสนอให้พล.อ.อ.ประจินพิจารณาอีกครั้งก่อนวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ซึ่งแผนการใช้เงินต้องมีการระบุรายละเอียดการใช้เงินแต่ละปีชัดเจน ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าวงเงินโดยรวมมากกว่าวงเงินตาม พ.ร.บ.กู้เงินของรัฐบาลก่อน ก็เนื่องจากว่า พล.อ.อ. ประจินต้องการให้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์ในภาพรวมพร้อมกันทั้งหมด ทั้งทางรถไฟ ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งตาม พ.ร.บ.กู้เงินของเดิมไม่มีการลงทุนทางอากาศ ทำให้วงเงินน้อยกว่าแผนที่นำเสนอครั้งนี้
ให้เพิ่มคมนาคมทางอากาศด้วย
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย ซึ่งจะใช้ยุทธศาสตร์เชิงนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จะมีระยะเวลาดำเนินการในปี 2558-2565 กรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มจากแผนเดิมที่รัฐบาลชุดที่แล้วจะดำเนินการในพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากแผนยุทธศาสตร์นี้ จะถือเป็นแผนแม่บทที่มีโครงการรวม ทั้งทางราง ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ จากเดิมที่ไม่ได้ใส่โครงการทางอากาศไว้
ส่วนการลงทุนนั้น หน่วยรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่จะสามารถใช้เงินลงทุนของตัวเองได้ ดังนั้นในส่วนโครงการที่เป็นของหน่วยงานราชการนั้นหลังจาก คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาแล้วจะต้องหารือกับทางสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังเพื่อจัดสรรงบประมาณอีกครั้ง
ทำรางคู่ 1.16 แสนล้าน
โดยกระทรวงคมนาคมได้จัดแผนออกเป็น 5 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1.ยุทธศาสตร์รถไฟ จะมีโครงการรถไฟระหว่างเมือง เช่น รถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง วงเงินรวม 1.16 แสนล้านบาท คือ 1.ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 ก.ม. วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท 2.มาบกะเบา-นครราชสีมา (ถนนจิระ) ระยะทาง 132 ก.ม. วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท 3.ถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 ก.ม. วงเงิน 2.6 หมื่นล้านบาท 4.นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 ก.ม. วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท และ 5.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 ก.ม. วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท
โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ เป็นงานปรับปรุงทาง ราง หมอน สะพาน และติดตั้งรั้ว 2.โครงการติดตั้งเครื่องกั้นถนนเสมอระดับและปรับปรุงเครื่องกั้น 3.โครงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณไฟสีทั่วประเทศ และ
4.โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม โครงการก่อสร้างทางคู่ 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,364 ก.ม. วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท คือ 1.หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 ก.ม. 2.ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 ก.ม. 3.สุราษฎร์ธานี-ปาดัง เบซาร์ ระยะทาง 339 ก.ม. 4.ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 ก.ม. 5.ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 ก.ม. และ 6.ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 ก.ม.
ทำรถไฟฟ้ากทม. 10 สาย
โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 696 ก.ม. วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ พ.ร.บ.2 กู้เงิน คือ 1.เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 ก.ม. 2.บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 347 ก.ม. และ 3.ชุมทางบ้านภาชี-อ.นครหลวง ระยะทาง 15 ก.ม.
2.ยุทธศาสตร์ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น รถไฟฟ้า 10 สาย ถนนรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถนนเลียบ แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น 3.ยุทธศาสตร์ถนน เช่น โครงการถนนเชื่อมภูมิภาค เชื่อมระหว่างจังหวัด แบ่งเป็น 3 ระดับ เชื่อมในระดับพื้นที่ ระดับเชื่อมเมืองหลัก และระดับเชื่อมต่างประเทศ โครงการขยายถนน 4 ช่องจราจร รวมถึงโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และโครงการทางพิเศษเชื่อมภูมิภาค 5 โครงการ เช่น โครงการทางพิเศษสายดาวคะนอง-พระราม 2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 4.ยุทธศาสตร์ทางน้ำ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ และเขื่อนป้องกันตลิ่ง โครงการขุดลอกร่องน้ำ การบำรุงรักษาร่องน้ำ
จัดซื้อเครื่องบินไทยด้วย
และ 5.ยุทธศาสตร์ทางอากาศ เช่น โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 โครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง โครงการจัดจราจรทางอากาศ และการจัดซื้อเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยจะแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 เฟส โดยเฟส 1 เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในปี 2558 ทั้งในส่วนของการก่อสร้างหรือศึกษา วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.1 แสนล้านบาท เฟส 2 เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในปี 2559-2560 วงเงินลงทุนสำหรับโครงการใหม่ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท และจะเป็นการลงทุนในส่วนของโครงการที่ต่อเนื่องมาจากเฟสแรกอีกส่วนหนึ่ง ส่วนเฟส 3 คือโครงการที่เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
สำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงที่มีการนำเสนอในที่ประชุมแต่ไม่ผ่านความเห็นชอบคือ เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก หรือกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย
ทอท.เผยแผนปรับปรุงสนามบิน
นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท.ได้จัดส่งรายละเอียดแผนพัฒนา ท่าอากาศยานของ ทอท.ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ให้คสช.พิจารณาแล้ว โดยแผน ดังกล่าวจะมี 3 ส่วน ประกอบด้วย โครงการที่ผ่านการอนุมัติและอยู่ระหว่างดำเนินการ โครงการที่ผ่านการอนุมัติจากบอร์ดแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการ และโครงการที่จะดำเนินการในอนาคต
รายงานข่าวจากทอท.ระบุว่า โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น โครงการขยาย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท จะแล้วเสร็จในปี"59 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต วงเงิน 5,700 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในปีนี้ ส่วนโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการคือโครงการขยายพื้นที่ให้บริการผู้โดยสารหรือแอร์พอร์ต ซิตี้ ท่าอากาศยานดอนเมืองและภูเก็ต วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องขอรับนโยบายจาก คสช.ว่าจะให้ดำเนินการตามที่บอร์ดอนุมัติหรือไม่ "โครงการ แอร์พอร์ต ซิตี้ เพิ่งได้รับอนุมัติจากบอร์ด ทอท.ไปเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา วงเงิน 18,567 ล้านบาท แบ่งเป็นท่าอากาศยานภูเก็ต 4,342 ล้านบาท ดอนเมือง 14,000 ล้านบาท และหาดใหญ่ เชียงใหม่ เชียงรายรวมกัน 225 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการปี"58-62
งบฯดอนเมือง 1.4 หมื่นล.
โดยท่าอากาศยานดอนเมือง จะใช้งบฯ ปรับปรุงมากสุด เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการ ผู้โดยสาร 9,000 ล้านบาท และใช้อีก 5,000 ล้านบาท ใช้ปรับปรุงพื้นที่คลังสินค้า 3-4 กับบริเวณสำนักงานใหญ่ ให้เป็นอาคารสำนัก งานของสายการบิน อาคารจอดรถและศูนย์การค้าขนาดย่อม (คอมมูนิตี้มอลล์) ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ต มีแผนปรับปรุงเพื่อเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกและลดความแออัดของสนามบิน"
ส่วนโครงการที่มีแผนจะดำเนินการในอนาคต ได้แก่ การเปิดให้เอกชนร่วมทุนในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 3,192 ไร่ ใน 6 ท่าอากาศยานของทอท. ซึ่งต้องดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน และดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 โดยเอกชนต้องเป็นผู้เสนอรูปแบบแนวทางการพัฒนามาให้ทอท.พิจารณา ล่าสุดมีเอกชนยื่นข้อเสนอจัดตั้งคอมมูนิตี้ มอลล์ และบิสซิเนส เซ็นเตอร์ ในท่าอากาศ ยานสุวรรณภูมิ ส่วนท่าอากาศยานเชียงรายมีเอกชนสนใจจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน สำหรับการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ ทอท.ตามนโยบายของคสช.นั้น ล่าสุดคาดว่าจะมีบอร์ดลาออกเพิ่มเติม เช่น นายถิรชัย วุฒิธรรม นายธานินทร์ อังสุวรังสี และคาดว่านายเมฆินทร์ จะยื่นใบลาออกในการประชุมบอร์ดทอท.วันที่ 19 มิ.ย.นี้ ด้วย
สบน.เตรียมถกปรับหนี้สาธารณะ
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในเดือนนี้จะประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อปรับปรุงแผนบริหารหนี้ปีงบประมาณ 2557 เนื่องจากมีหน่วยงานกู้ลดลงแต่บางหน่วยต้องกู้เพิ่มขึ้น และคณะกรรมการจะหารือการทำแผนการบริหารหนี้ปีงบประมาณ 2558 ซึ่งจะมีส่วนที่ต้องกู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า 10 สาย และ รถไฟรางคู่
ผอ.สบน. กล่าวต่อว่า สำหรับปีงบ ประมาณ 2558 ได้มีการจัดสรรงบชำระเงินต้น 5.57 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้ของรัฐบาล 3.96 หมื่นล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 1.6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้มีงบฯ ที่ต้องตั้งชำระดอกเบี้ยเงินกู้อีก 1.3 แสนล้านบาท
ลดราคาดีเซลลิตรละ 0.14 บาท
นายชวลิต พันธ์ทอง รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อเช้าวันที่ 12 มิ.ย. 2557 ได้พิจารณาปรับอัตราเงินเรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เพิ่มขึ้น 0.56 บาท/ลิตร เป็นอัตราเรียกเก็บ 0.81 บาท/ลิตร และให้ปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลง 0.14 บาท/ลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกปรับมาอยู่ที่ 29.85 บาท/ลิตร จากปัจจุบัน 29.99 บาท/ลิตร มีผลเวลา 00.01 น. ในวันที่ 13 มิถุนายน 2557
นายชวลิต กล่าวย้ำ ภารกิจ ปตท. คือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของชาติพร้อมดำเนินการตามนโยบายของหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล ซึ่ง ปตท.ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรมและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติเป็นสำคัญ มุ่งพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง อาทิ เปิดตัวน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำเป็นรายแรกของประเทศ นำร่องจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลและพัฒนาผลิตภัณฑ์ล่าสุด PTT Hyforce น้ำมันดีเซลสูตรสังเคราะห์เกรดพรีเมียม เพื่อตอบสนองทุกความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยตลอดไป
หอการค้าชงเลิกคุมราคาสินค้า
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย เสนอว่าระยะยาวกระทรวงพาณิชย์ควรยกเลิกมาตรการควบคุมราคาสินค้าในลักษณะการขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตสินค้าตรึงราคาจำหน่าย เพราะบิดเบือนกลไกตลาด แต่ควรหันมาใช้วิธีร่วมมือกับห้างค้า ปลีกสมัยใหม่ หรือโมเดิร์นเทรด ในการจัดจำหน่ายสินค้าจำเป็น โดยแบ่งสินค้าออกเป็น 2 ระดับ คือระดับพรีเมียม เป็นสินค้าคุณภาพพิเศษ และสินค้าที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ให้มีราคาต่ำกว่าปกติร้อยละ 10 เพื่อดูแลประชาชนที่มีรายได้น้อย และเป็นทางเลือกในการบริโภคสินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น ข้าวสาร สบู่ ยาสีฟัน และน้ำมันพืชเป็นต้น ซึ่งต้องจัดงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทดแทนการทำโครงการธงฟ้า ซึ่งเป็นการซื้อแพง-ขายถูก
ส่วนสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวเปลือก ยังจำเป็นต้องอุดหนุนราคา เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่เพียงพอที่จะดำรงชีพอยู่ได้ ซึ่งแนวคิดการกำหนดราคาอุดหนุน ด้วยการนำราคาต้นทุนการผลิตบวกกำไรร้อยละ 40 เป็นแนวทางที่ควรสนับสนุน นอกจากนี้ควรพิจารณาเรื่องการควบคุมพื้นที่เกษตรแบบโซนนิ่ง ซึ่งหากเกษตรกรที่เคยปลูกข้าวจำเป็นต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นหรือย้ายอาชีพ ก็ควรจะได้รับเงินสนับสนุนในช่วงเปลี่ยนอาชีพ
สมภพจี้คสช.เร่งสร้างเชื่อมั่นศก.
นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เปิดเผยในงานสัมมนา "ทิศทางค้าปลีก-ค้าส่งไทย ปี 2557 จะเป็นอย่างไร" ว่า ต้องการให้คสช. และรัฐบาลไทยในอนาคตต้องเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจในด้านการบริโภค การส่งออก การลงทุน การเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศเพิ่มขึ้นหลังจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไทยทั้งประเทศมีสัดส่วนเพียง 0.49% ของจีดีพีโลก ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 31 ของโลก และอันดับที่ 2 ของอาเซียน หากไม่เร่งปฏิรูปเศรษฐกิจจะทำให้จีดีพีไทยตกลงไปอยู่ในอันดับที่ 33 ของโลก และอันดับที่ 4 ของอาเซียนในปี"62
นายสมภพ กล่าวว่า ขณะนี้กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่น่าห่วงสุดคือเรื่องของการบริโภค ที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่มากนักทั้งๆ ที่ประชาชนมีเงินเก็บจำนวนมาก ดังนั้นในระยะสั้นจึงจำเป็นต้องหาแนวทางในการสร้างความเชื่อมั่นอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกระตุ้นผู้บริโภค การขยายตัวของเศรษฐกิจครึ่งปีหลังขึ้นอยู่กับการกอบกู้ความเชื่อมั่น เนื่องจากที่ผ่านมา ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย ทำให้การบริโภคไตรมาสแรกลดลง 3% โดยต้องเน้นการแก้ไขปัญหาเชิงรุก ทั้งการบริหารประเทศ ความปรองดอง และการปฏิรูปเศรษฐกิจไทย ต้องมุ่งสู่ภาคบริการ เพราะภาคการผลิตขณะนี้มีคู่แข่งจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้ในการแก้ปัญหา คสช.ทำได้ดีจากการเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ควรมีโครงการระยะยาว เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ใช้ประโยชน์จากเออีซี และแก้กฎหมายต่างๆ อย่างรวดเร็ว ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2-2.5% ในปีนี้
สหมงคลฟิล์มแจงดูฟรีไม่เกี่ยวภาษี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กสหมงคลฟิล์มโพสต์ข้อความว่า โรงไหนที่มีภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยุทธหัตถี ฉายอยู่ทั่วประเทศ วันที่ 15 มิ.ย.นี้เวลา 10.30 น. รับบัตรที่หน้าโรงภาพยนตร์ โดยมีเจ้าหน้าที่จากทาง คสช.เป็นผู้แจกบัตรตามจำนวนโควตาในแต่ละโรงภาพยนตร์ 1 ท่านต่อ 1 ที่นั่ง
อนึ่งรอบดังกล่าวเป็นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน อันได้แก่บริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล, พร้อมมิตร โปรดักชั่น และโรงภาพยนตร์ทุกเครือทั่วประเทศรวม 160 โรงภาพยนตร์ โดยไม่มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายหรืออื่นใดจากเงินภาษีหรืองบประมาณ แต่เป็นการสร้างความร่วมมือร่วมกันและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีกิจกรรมเพื่อความสุขร่วมกันในช่วง เวลานี้
ศธ.สรุปเดินหน้าซื้อแท็บเล็ต
ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะประธานที่ประชุมพิจารณาโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา หรือแท็บเล็ต แถลงผลการหารือว่า ที่ประชุมหารือถึงโจทย์ที่ คสช.มอบการบ้านไว้ 3 ประเด็น คือ 1.สรุปข้อดีข้อเสียและผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการใช้แท็บเล็ต 2.การจัดซื้อแท็บเล็ตปี"56 โซน 4 ของชั้น ม.1 (ภาคเหนือและภาคอีสาน) ที่ยังค้างอยู่ และ 3.จะจัดซื้อแท็บเล็ตปี"57 ต่อไปหรือไม่ โดย 10 หน่วยงานรายงานผลวิจัยของหน่วยตนเอง ซึ่งข้อมูลที่ได้ค่อนข้างครบถ้วน ส่วนการจัดซื้อปี"56 โซน 4 ที่ยังค้างอยู่นั้น ที่ประชุมวิเคราะห์ถึงกระบวนการดำเนินงานที่ผ่านมาว่าถึงขั้นตอนใดแล้ว และขัดกฎหมายใดบ้างหากยกเลิก ซึ่งมีข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ สพฐ.จะต้องสรุปความคิดเห็นให้นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการ กพฐ.ลงนาม ก่อนส่งให้นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัด ศธ. เสนอต่อคสช.ในวันที่ 13 มิ.ย. เพื่อชี้ขาดต่อไป" รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดซื้อแท็บเล็ตปี"56 โซน 4 ที่ยังค้างอยู่นั้น ตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ควรเดินหน้าจัดซื้อให้แล้วเสร็จ ส่วนในปี"57 นั้นให้ขึ้นอยู่กับตัดสินใจของ คสช.
คสช.ตั้งกก.ส่งเสริมธุรกิจ
เมื่อเวลา 12.20 น. คสช.มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นการเฉพาะกิจ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธานกรรมการ และมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. เป็นรองประธาน กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย ผอ.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีอำนาจและหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543
แม่ทัพ 3 แย้มเลิกเคอร์ฟิวทั่วปท.
วันเดียวกัน พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานเปิดโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ จ.แพร่ ตามแผนแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดแพร่เพื่อเข้าสู่การปรองดองสมานฉันท์ ตามนโยบายคืนความสุขของคนในชาติของ คสช. ตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออกและกลุ่มประเทศจีเอ็มเอส (GMS) บ้าน กอเปา ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง จ.แพร่ มีนาย อภิชาต โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ต้อนรับ และประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ กว่า 2,000 คน เข้าร่วมงาน
พล.ท.ปรีชา กล่าวว่า ขอชื่นชมจังหวัดแพร่ที่อยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะสม สงบเรียบร้อยดี ซึ่งทาง คสช.ได้ผ่อนปรนประกาศให้แพร่ออกจากเคอร์ฟิวไปแล้วนั้น วันที่ 12 มิ.ย.นี้อาจมีข่าวดี ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ผ่อนคลาย และเข้าสู่ความสุขในการติดตามการแข่งขันฟุตบอลโลกได้โดยไม่ติดปัญหาเคอร์ฟิว แต่ต้องไม่มีปัญหาการพนันตามมา หากพบว่ามีการเล่นการพนันก็จะใช้มาตรการที่เฉียบขาดต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผบ. กองกำลังรักษาความสงบ ได้ทำหนังสือยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ถึงหัวหน้าคสช. โดยมีรายงานข่าวว่าจะมีการประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วประเทศในวันที่ 13 มิ.ย.หลังรายการคืนความสุขให้ประเทศไทย
คสช.วอนสื่อเทศอย่าใช้คำปฏิวัติ
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. พ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกกองทัพบก และโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดแถลงข่าวทำความเข้าใจกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (เอฟซีซีที) ช่วงค่ำวันที่ 11 มิ.ย. ว่า การเข้ายึดอำนาจของ คสช.ครั้งนี้ไม่อยากให้มองว่าเป็นการทำรัฐประหาร เพราะเหตุการณ์ไม่เหมือนกับที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างสิ้นเชิง เป็นการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ตนจึงพยายามไม่ใช้คำว่า coup แต่อยากให้เรียกว่าเป็นการแทรกแซงของทหาร หรือ military intervention มากกว่า
พ.อ.วีรชน ยังกล่าวถึงการเรียกประชาชนเข้ารายงานตัวกับ คสช.ว่า ไม่ใช่การกักกัน (detention) เนื่องจากในค่ายมีการจัดเตรียมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งเครื่องปรับอากาศ อาหารดี และกิจกรรมที่ช่วยฆ่าเวลาได้เป็นอย่างดี ส่วนการตัดขาดการติดต่อระหว่างผู้ที่ถูกควบคุมตัวกับครอบครัว เป็นเพราะต้องการให้ผู้ที่ถูกคุมตัวได้สงบสติอารมณ์ ได้อยู่กับตัวเอง และเห็นประโยชน์ของชาติมากกว่าของตนเอง โดยมีผู้ถูกคุมตัวราว 10-15 คนจาก 300 คนที่เรียกไปรายงานตัว
"เราขอให้ประชาชนยุติการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะช่วงนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เราพยายามปรับบรรยากาศของสังคมให้เข้าสู่ช่วงที่มีความสุข" โฆษก คสช.กล่าว
ต่อข้อถามว่า เหตุใดจึงไม่อนุญาตให้มีการชูสามนิ้ว พ.อ.วีรชนกล่าวว่า ต้องเข้าใจสถานการณ์ของทาง คสช.ด้วย เพราะว่ากิจกรรมนี้เกิดขึ้นในภาวะที่สังคมแตกแยก เรากำลังทำหน้าที่ในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความกลมเกลียวปรองดอง และการชูสามนิ้วเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการรักษากฎหมายและระเบียบ ดังนั้น มาตรการของคสช.จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องแล้ว เพราะ คสช.ต้องการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง
ตร.คืนสุข-จัดคอนเสิร์ตสวนลุมฯ
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่บช.น. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วย ผบ.ตร. รรท.ผบช.น. นางนินนาท ชลิตานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พ.อ. เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ รอง ผบ.พล.ม.2 รอ. นายวิบูลย์ ลีรัตนขจร กก.ผจก.บ.เซิร์ซ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน "คืนความสุข สู่ประชาชน" ในวันที่ 15 มิ.ย. ที่สวนลุมพินี
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า คสช.มีนโยบายมอบความรัก ความปรองดอง ความสุขคืนให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดความสามัคคี จึงจัดงานดังกล่าวขึ้น มีหน่วยงานต่างๆ มาร่วมในการกิจกรรม ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กทม. ทหาร ช่อง 3 อาร์เอส รวมถึงบริษัทอื่นๆ ซึ่งในงานมีวงดนตรีจากศิลปินมากมาย มีการสาธิตการทำงานของตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ มีฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี มีการแสดงต่างๆ อาหารและเครื่องดื่มฟรี ขอเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมงาน งานครั้งนี้ไม่มีพรรค ไม่มีสีเสื้อ มีแต่คนที่รักชาติเท่านั้น ขอให้ประชาชนมาร่วมสนุกด้วยกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตารางกิจกรรมคืนความสุขสู่ประชาชนในวันที่ 15 มิ.ย. จัดขึ้นตั้งแต่เวลา 15.00-19.00 น. ที่สวนลุมพินี เริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. จากนั้นในเวลา 15.15 น. จะมีศิลปินรับเชิญจากบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เวลา 18.00 น. การแสดงของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และเวลา 19.00 น. ตำรวจ-ทหาร-ประชาชน นักเรียนและศิลปินดาราร่วมร้องเพลงบนเวที
พล.ต.อ.สมยศ เปิดเผยถึงการดูแลเฝ้าระวังกลุ่มต่อต้านที่นัดกันไปแสดงสัญลักษณ์หน้า เซเว่นอีเลฟเว่น ว่า เบื้องต้นยังคงต้องประเมินสถานการณ์วันต่อวันเพื่อวางแนวทางนโยบายในการปฏิบัติ ซึ่งยังต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้งว่าจะมีกลุ่มผู้ที่จะแสดงสัญลักษณ์ออกมาเคลื่อนไหวอย่างไร ส่วนจะต้องส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปประจำจุดที่บริเวณหน้าเซเว่นอีเลฟเว่นหรือไม่นั้นเราจะเน้นในเรื่องการส่งตำรวจนอกเครื่องแบบปฏิบัติหน้าที่ และจะบันทึกภาพบริเวณที่มีการแสดงสัญลักษณ์เป็นหลัก เมื่อถ่ายรูปแล้วจะนำเป็นหลักฐานในการออกหมายจับเพื่อติดตามจับกุม ถ้าหากแสดงสัญลักษณ์จะไม่จับกุมทันที แต่จะใช้ตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามไป
ขอบคุณทหาร -นักเรียนประถมโรงเรียนเซนยอแซฟกาฬสินธุ์ จัดกิจกรรมขอบคุณทหาร ที่เข้ามาปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยใน จ.กาฬสินธุ์ นำบทเพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย แต่งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ร้องขอบคุณและมอบดอกไม้ให้กำลังใจทหาร เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน
บิ๊กโปรเจ็กต์ 3 ล้านล. เสร็จใน 7 ปี ขนส่ง'บก-น้ำ-อากาศ'คลังหาแหล่งเงิน ส่ง'ประจิน'19 มิย. 3.5 แสนล.เริ่มใหม่ ลดดีเซลอีก 14 สต.'บิ๊กตู่'หัวโต๊ะหารือแผนน้ำ ยันใช้ศักยภาพบุคลากรในประเทศบริหารจัดการ
บิ๊กจินถก'กบง.'ลดดีเซล14ส.ต.
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่กระทรวงพลังงาน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นัดแรก ว่า ที่ประชุมมีมติเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มเติมอีก 56 สตางค์/ลิตร จากเดิมที่เรียกเก็บเพียง 25 สตางค์/ลิตร รวมเป็นเงินที่เรียกเก็บ 81 สตางค์/ลิตร ขณะเดียวกันมีมติให้ลดราคาน้ำมันดีเซลลง 14 สตางค์/ลิตร จากราคาปัจจุบันที่ 29.99 บาท/ลิตร ทำให้ราคาใหม่จะอยู่ที่ 29.85 บาท/ลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน
"เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกปรับลดลง ทำให้ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันอยู่ที่ 2.214 บาท/ลิตร แต่ตามปกติรัฐบาลกำหนดให้ค่าการตลาดดีเซลอยู่ที่ 1.50 บาท/ลิตร จึงมีส่วนเกินอยู่ 70 สตางค์/ลิตร ดังนั้นจึงนำมาเฉลี่ยเรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯให้เกิดสภาพคล่องมากขึ้น จากปัจจุบันกองทุนมีฐานะติดลบอยู่ประมาณ 7,500 ล้านบาท ขณะที่อีกส่วนลดราคาดีเซลลงเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน และภาคขนส่งที่ใช้น้ำมันดีเซล" พล.อ.อ.ประจินกล่าว และว่า นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติยืนยันการคงราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนที่ 22.63 บาท/กิโลกรัม (กก.) ออกไปจนกว่าจะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งหมด
15 มิ.ย.ถกโครงสร้างพลังงาน
"การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ทาง คสช.จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ดังนั้นวันที่ 15 มิถุนายนนี้ ทาง คสช.เชิญผู้เกี่ยวข้องด้านพลังงานทุกฝ่ายที่มีข้อมูล ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านมาร่วมหารือ เพื่อรับฟังความเห็นและพิจารณาร่วมกัน เพราะขณะนี้มีความสับสนว่าประเทศไทยมีแหล่งพลังงานปิโตรเลียมมากน้อยเพียงใดและราคาที่แท้จริงควรกำหนดไว้ที่เท่าใด ก่อนจะมีมติปรับโครงสร้างราคาพลังงานอย่างเป็นทางการ เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อีกครั้ง" พล.อ.อ.ประจินกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ปตท.-บางจาก แจ้งปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 14 สตางค์/ลิตร ตามมติ กบง. (มีผลเวลา 00.01 น. วันที่ 13 มิถุนายน) ราคาใหม่เป็น ดังนี้ เบนซิน 95 (ขายเฉพาะ ปตท.) 48.75 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 95: 40.73 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 91: 38.28 บาท/ลิตร อี20 : 35.78 บาท/ลิตร อี85: 24.58 บาท/ลิตร ดีเซล 29.85 บาท/ลิตร
'บิ๊กตู่'หัวโต๊ะถกแผนน้ำ
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก และคณะทำงานโฆษกคณะ คสช. แถลงผลการประชุม เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธาน โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 36 หน่วยงานร่วมประชุม การประชุมครั้งนี้เป็นการรับฟังข้อมูลการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบที่ภาครัฐดำเนินการมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหัวหน้า คสช.ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงทรัพยากรน้ำได้อย่างเท่าเทียมกัน และต้องคำนึงถึงน้ำต้นทุน การจัดเก็บระบบส่งน้ำ การระบายน้ำ การพร่องน้ำ โดยให้นำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานไว้
"ส่วนราชการที่รับผิดชอบต้องร่วมกันจัดทำแผนงานให้สอดคล้อง เชื่อมโยงกัน ให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ ใช้ศักยภาพของบุคลากรที่มีอยู่ในประเทศเป็นผู้บริหารจัดการ ด้านงบประมาณต้องไม่เป็นภาระกับประเทศในอนาคต มีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการ ที่สำคัญประชาชนมีความพึงพอใจ และสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างแท้จริง" พ.อ.หญิง ศิริจันทร์กล่าว
นับหนึ่งใหม่โครงการ 3.5 แสนล.
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า หัวหน้า คสช.ให้ทุกส่วนราชการร่วมกันจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของ คสช. ครอบคลุมการแก้ปัญหาทั้งระยะเร่งด่วน/เฉพาะหน้า ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สอดคล้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 5-10 ปี
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า สำหรับแผนงานโครงการของทุกกระทรวงที่เกี่ยวกับน้ำในปีงบประมาณ 2557 หากตรงกับความต้องการและความจำเป็นเร่งด่วนของประชาชน ให้เร่งดำเนินการ แต่หากโครงการใดที่ยังไม่พร้อมให้นำไปพิจารณาในแผนงบประมาณปี 2558
ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลชุดที่แล้วจะยังคงโครงการไว้ แต่โครงการที่ทำได้ก่อนในงบประมาณ ปี 2557 ก็จะทำโครงการต่อใช่หรือไม่ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์กล่าวว่า ไม่ถูกต้อง ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แล้วโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จะมีการพักโครงการไว้หรือยกเลิก พ.อ.หญิง ศิริจันทร์กล่าวว่า เรื่องน้ำนั้นจะเริ่มต้นใหม่ทั้งระบบ
ตั้งกก.ชุดใหม่ศึกษาแผนน้ำ
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ คณะทำงานโฆษก คสช. กล่าวว่า ในการประชุมเรื่องการบริหารจัดการน้ำนั้น พล.อ.ประยุทธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียดใหม่ทั้งหมดในโครงการที่ต้องจัดทำภายใต้กรอบงบประมาณปี 2557 โดยไม่ต้องไปนึกถึงตัวเลขของโครงการ 3.5 แสนล้านบาท แต่ให้ไปศึกษาเริ่มใหม่ทั้งหมด รวมถึงแผนงานที่อยู่ในโครงการ 3.5 แสนล้านบาทด้วย เพราะยังไม่มีข้อสรุปว่าต้องยกเลิกโครงการที่อยู่ในแผนงานทั้งหมด
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังให้แนวทางหน่วยงานทั้งหมดบูรณาการให้เกิดความเป็นเอกภาพของโครงการในการประชุมครั้งต่อไป และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแบ่งสัดส่วนหาบุคคลมานั่งในคณะกรรมการเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. จะเป็นประธานคณะกรรมการศึกษา ซึ่งคณะกรรมการใหม่นี้ต้องไม่ยึดติดกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เคยทำไว้ของรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา แต่ยังไม่ได้มีการหารือว่าจะยุบคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.) และสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) หรือไม่
"ส่วน 8 โครงการ 1 หน่วยงานที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) มีมติให้เข้าไปตรวจสอบนั้น แต่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อโครงการได้เพราะไม่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรู้ตัว ตามแนวทางที่ คตร.ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบ 4 คณะที่เป็นชุดพิเศษขึ้นมา" ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าว
คสช.เคาะ 3 ล้านล.โครงการยักษ์
ขณะที่ นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมนำเสนอแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ ต่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ที่กรมการช่างอากาศบางซื่อ มีผู้บริหารกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลังเข้าร่วมด้วยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 3 ล้านล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปี 2558-2565 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แต่ขอให้ตัดโครงการรถไฟความเร็วสูงออกจากแผนไปก่อน เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าไม่ใช่โครงการจำเป็นเร่งด่วน
นายสมชัย กล่าวว่า ที่ประชุมให้กระทรวงคมนาคมไปหารือร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า และนำกลับมาเสนอให้ พล.อ.อ.ประจินพิจารณาอีกครั้งก่อนวันที่ 19 มิถุนายนนี้ ซึ่งแผนการใช้เงินต้องระบุรายละเอียดการใช้เงินแต่ละปีชัดเจน
"ที่หลายฝ่ายมองว่า วงเงินโดยรวมมากกว่าวงเงินตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลก่อน เนื่องจากว่า พล.อ.อ.ประจินต้องการให้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์ในภาพรวมพร้อมกันทั้งหมด ทั้งทางรถไฟ ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งตาม พ.ร.บ.กู้เงินเดิมไม่มีการลงทุนทางอากาศ ทำให้วงเงินน้อยกว่าแผนที่นำเสนอครั้งนี้" นายสมชัยกล่าว และว่า สำหรับโครงการที่นำเสนอส่วนใหญ่เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นด้านคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า 10 สาย การปรับปรุงทางหลวงแผ่นดินของกรมทางหลวง ถนนลาดยางของกรมทางหลวงชนบท และการก่อสร้างท่าเทียบเรือและการขุดลอกร่องน้ำ
ดัน 5 ยุทธศาสตร์บก-น้ำ-อากาศ
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ จัดทำเป็น 5 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1.ยุทธศาสตร์รถไฟ มีโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง วงเงิน 1.16 แสนล้านบาท คือ 1.ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. 2.4 หมื่นล้านบาท 2.มาบกะเบา-นครราชสีมา (ถนนจิระ) ระยะทาง 132 กม. 2.9 หมื่นล้านบาท 3.ถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. 2.6 หมื่นล้านบาท 4.นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. 2 หมื่นล้านบาท และ 5.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. 1.7 หมื่นล้านบาท
นายจุฬา กล่าวว่า โครงการก่อสร้างทางคู่ 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,364 กม. วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท คือ 1.หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. 2.ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม. 3.สุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 339 กม. 4.ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. 5.ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กม. และ 6.ชุมทางถนน
จิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. และโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 696 กม. วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท คือ 1.เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. 2.บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 347 กม. และ 3.ชุมทางบ้านภาชี-อ.นครหลวง ระยะทาง 15 กม. นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ เป็นงานปรับปรุงทาง ราง หมอน สะพาน และติดตั้งรั้ว โครงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณไฟสีทั่วประเทศ
นายจุฬา กล่าวว่า 2.ยุทธศาสตร์ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯและปริมณฑล เช่น รถไฟฟ้า 10 สาย ถนนรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น 3.ยุทธศาสตร์ถนน เช่น โครงการถนนเชื่อมภูมิภาค เชื่อมระหว่างจังหวัด แบ่งเป็น 3 ระดับ เชื่อมในระดับพื้นที่ ระดับเชื่อมเมืองหลัก และระดับเชื่อมต่างประเทศ โครงการขยายถนน 4 ช่องจราจร รวมถึงโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และโครงการทางพิเศษเชื่อมภูมิภาค 5 โครงการ เช่น โครงการทางพิเศษสายดาวคะนอง-พระราม 2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 4.ยุทธศาสตร์ทางน้ำ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ และเขื่อนป้องกันตลิ่ง โครงการขุดลอกร่องน้ำ การบำรุงรักษาร่องน้ำ 5.ยุทธศาสตร์ทางอากาศ เช่น โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 โครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง โครงการจัดจราจรทางอากาศ และการจัดซื้อเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
นายจุฬา กล่าวว่า ทั้งนี้จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 เฟส โดยเฟส 1 เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในปี 2558 ทั้งในส่วนของการก่อสร้างหรือการศึกษา วงเงินลงทุนรวม 2.1 แสนล้านบาท เฟส 2 เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในปี 2559-2560 วงเงินลงทุนสำหรับโครงการใหม่ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท และจะเป็นการลงทุนในส่วนของโครงการที่ต่อเนื่องมาจากเฟสแรกอีกส่วนหนึ่ง ส่วนเฟส 3 คือโครงการที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่มีการนำเสนอในที่ประชุมแต่ไม่ผ่านความเห็นชอบคือ เส้นทาง กรุงเทพฯ-พิษณุโลก หรือกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย
'บิ๊กนมชง'ถกช่วยชาวนา
วันเดียวกัน ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการกองทัพบก (ผช.ผบ.ทบ.) ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการด้านการผลิต และการตลาดสินค้าข้าว ครั้งที่ 2/2557 มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อกำหนดกรอบแนวทางการช่วยเหลือชาวนา ในฤดูกาลผลิตปี 2557/2558 อาทิ เรื่องการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การสนับสนุนแหล่งเงินทุน การส่งเสริมการตลาด และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกร
ตั้ง'ชุติมา'ลุยบัญชีสต๊อกข้าว
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือตามนโยบายของรัฐ เพื่อกำหนดแนวทางจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือของรัฐ โดยที่ประชุมมีมติ 3 เรื่องคือ 1.แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือตามนโยบายของรัฐ โดยมี น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะทำงาน 2.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลให้ประธานคณะทำงานภายในวันที่ 13 มิถุนายน 3.ให้คณะทำงานจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือตามนโยบายของรัฐ รายงานผลคณะอนุกรรมการจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือของรัฐ ในวันที่ 24 มิถุนายน การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 176/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือของรัฐ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ช่วงก่อนปิดโครงการจำนำข้าววันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ตนได้รับโทรศัพท์จากผู้หวังดีจำนวนมากว่ามีการสวมสิทธิจำนำข้าวและมีใบประทวนลมจำนวนมาก เพราะถือโอกาสทิ้งทวน จึงอยากให้ คสช.ส่งทหารไปที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา เพื่อสุ่มใบประทวนและคุยกับชาวนาโดยตรง ขอดูยอดเงินที่รับกับจำนวนที่นาว่าสัมพันธ์กันหรือไม่ ทำอย่างนี้รับรองว่าจะทำความสะอาดวงการข้าวได้แน่นอน คสช.จะได้ใจชาวนาและได้เงินคืนด้วย
3 แบงก์ชนะปล่อยกู้คลัง 4 หมื่นล.
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า วันเดียวกันนี้ สบน.เปิดซองประมูลจำนำข้าวรอบ 2 เพื่อนำมาใช้คืนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 4 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.2705% มีผู้ยื่นประมูลเงินกู้ 11 ราย วงเงินรวม 1.145 แสนล้านบาท แต่ผู้ที่ชนะมี 3 ธนาคารคือ ธนาคารออมสินวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 2 อัตรา คืออัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR) 6 เดือน ซึ่งอยู่ระดับ 2.2830% -0.1% วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และวงเงินอีก 1 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยเท่ากับ BIBOR ธนาคารกรุงศรีอยุธยาวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยเท่ากับ BIBOR และธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทดอกเบี้ยเท่ากับ BIBOR+0.05%
น.ส.จุฬารัตน์ กล่าวว่า การกู้เงินดังกล่าวมีอายุกู้ 3 ปี นับจากวันเบิกเงินกู้ โดยให้สถาบันการเงินยื่นที่ชนะการประมูลส่งมอบเงินกู้ทั้งหมดภายในวันที่ 19 มิถุนายน สำหรับธนาคารออมสินที่ชนะการประมูลครั้งที่แล้ววงเงิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย BIBOR -0.1% หรือ 2.1792% นั้น ในงวดนี้เสนอเข้ามา 4 หมื่นล้านบาท แต่แยกซอยการประมูลเป็น 4 วงเงินดอกเบี้ยแตกต่างกันไป โดยชนะการประมูลเพียง 2 วงเงิน
หอค้าแนะพณ.เลิกคุมสินค้า
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ระยะยาวกระทรวงพาณิชย์ควรยกเลิกมาตรการควบคุมราคาสินค้า ในลักษณะการขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตสินค้าตรึงราคา เพราะบิดเบือนกลไกตลาด แต่ควรหันมาใช้วิธีร่วมมือกับห้างค้าปลีกในการจัดจำหน่ายสินค้าจำเป็น โดยแบ่งสินค้าออกเป็น 2 ระดับ คือระดับพรีเมียม เป็นสินค้าคุณภาพพิเศษ และสินค้าที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ให้มีราคาต่ำกว่าปกติ 10% เพื่อดูแลประชาชนที่มีรายได้น้อย และเป็นทางเลือกในการบริโภคสินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น ข้าวสาร สบู่ ยาสีฟัน และน้ำมันพืช เป็นต้น และจัดงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทดแทนการทำโครงการธงฟ้า ซึ่งเป็นการซื้อแพง-ขายถูก
นายพรศิลป์กล่าวว่า ส่วนสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวเปลือก ยังจำเป็นต้องอุดหนุนราคา เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนเพียงพอที่จะดำรงชีพ ซึ่งแนวคิดการกำหนดราคาอุดหนุน ด้วยการนำราคาต้นทุนการผลิตบวกกำไร 40% เป็นแนวทางที่ควรสนับสนุน นอกจากนี้ ควรควบคุมพื้นที่เกษตรแบบโซนนิ่ง หากเกษตรกรที่เคยปลูกข้าวจำเป็นต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นหรือย้ายอาชีพ โดยรัฐให้เงินสนับสนุนในช่วงเปลี่ยนอาชีพ
'ปัญญาภิวัฒน์'เชื่อศก.โต 2.5%
นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจครึ่งปีหลังขึ้นอยู่กับการกอบกู้ความเชื่อมั่น เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย ทำให้การบริโภคไตรมาสแรกลดลง 3% ต้องเน้นแก้ไขปัญหาเชิงรุก ตอนนี้ในการแก้ปัญหาของ คสช. ทำได้ดี เดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ควรมีโครงการระยะยาว เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ และแก้กฎหมายต่างๆ อย่างรวดเร็ว เชื่อว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ 2-2.5%
นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการที่ คสช. เร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 ด้านคือ 1.เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 และเร่งจัดทำงบประมาณปี 2558 ให้ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2.การกู้เงินของกระทรวงการคลัง 400,000 ล้านบาทที่จะให้ภาคธุรกิจกู้ 3.การเร่งจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนา 90,000 ล้านบาท คาดว่าเงินจะหมุนเวียน 3-4 รอบ ทำให้เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจถึง 300,000-400,000 ล้านบาท และ4.การใช้จ่ายเงินจากเทศกาลฟุตบอลโลก ทั้ง 4 ด้านจะช่วยทำให้ดัชนีสินค้าจำหน่ายเร็ว หรือดัชนี FMCG ปีนี้ ปรับตัวดีขึ้น คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 5 ส่วนภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5
รอ'คสช.'เคาะแอร์พอร์ตซิตี้
นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ทอท.ส่งแผนการดำเนินให้ คสช.พิจารณาแล้ว มี 3 ส่วนคือ 1.โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 2.โครงการที่ผ่านการอนุมัติจากบอร์ดแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการ และ 3.โครงการที่จะดำเนินการในอนาคต
แหล่งข่าวจาก ทอท.กล่าวว่า โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น โครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท กำหนดการแล้วเสร็จปี 2559 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต วงเงิน 5.7 พันล้านบาท จะแล้วเสร็จในปีนี้ ส่วนโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากบอร์ดแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ คือ โครงการขยายพื้นที่ให้บริการผู้โดยสาร (แอร์พอร์ต ซิตี้) ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานภูเก็ต วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท ต้องรอนโยบายจาก คสช.ว่าจะให้ดำเนินการตามที่บอร์ดอนุมัติหรือไม่
แหล่งข่าวกล่าวว่า โครงการในอนาคตคือการเปิดให้เอกชนร่วมทุนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ใน 6 ท่าอากาศยานของ ทอท. คือ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, ภูเก็ต, แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และหาดใหญ่ ซึ่งมีเอกชนยื่นข้อเสนอจัดตั้งคอมมูนิตี้ มอลล์ และบิสซิเนส เซ็นเตอร์ ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว ส่วนท่าอากาศยานเชียงรายมีเอกชนสนใจจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน
บอร์ดทอท.ลาออกอีก 2 คน
แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีที่มีนโยบายจาก คสช.ต้องการให้บอร์ดรัฐวิสาหกิจลาอออกเพื่อจัดระเบียบใหม่นั้น ล่าสุดมีบอร์ด ทอท.ลาออกเพิ่มเติมอีก 2 คนคือ นายถิรชัย วุฒิธรรม และนายธานินทร์ อังสุวรังสี จากที่ก่อนหน้านี้ลาออกไปแล้ว 4 คน นอกจากนี้มีข่าวว่านายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. จะยื่นใบลาออกในการประชุมบอร์ด ทอท.วันที่ 19 มิถุนายนนี้ด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า วันเดียวกันนี้มีการประชุมบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มีนายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานคณะกรรมการ มีมติเห็นชอบการลาออกของ พล.ต.ต.
อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ แล้ว และแต่งตั้งให้นางกุณฑีรา ตันติรังสี รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ แทน ที่ประชุมยังมีมติตั้งให้นายจรินทร์ จักกะพาก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นประธานสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่
สอท.ดันสสว.ช่วยเอสเอ็มอี
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการที่ คสช.แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ประธานกรรมการ และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. เป็นรองประธานนั้น ประเด็นหลักที่ ส.อ.ท.จะผลักดันในบอร์ด สสว. คือมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาทิ ชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในอัตรา 1.75% ในปีแรก ให้กับผู้ประกอบการ 5,000 ราย วงเงิน 262.8 ล้านบาท
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการเอสเอ็มอี รีสตาร์ต เพื่อเสริมสภาพคล่องและลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย โดยชดเชยดอกเบี้ยให้แก่เอสเอ็มอีในอัตรา 3% ต่อปี วงเงิน 1 ล้านบาทต่อราย จำนวน 10,000 ราย เป็นเวลา 3 ปี โครงการการยกระดับศักยภาพเอสเอ็มอี เพื่อการค้าชายแดน โดยเสนอให้จัดทำเอาต์เลตในจังหวัดที่ติดชายแดน เพื่อเพิ่มช่องทางการร่วมดำเนินธุรกิจกับผู้ประกอบการประเทศเพื่อนบ้าน