- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 06 April 2015 21:48
- Hits: 3134
นายกฯฟัน 100 ขรก.เอง 5 อธิบดีหวิว มีชื่อในบัญชีเอี่ยวทุจริต ปปช.ชงเชือดบิ๊กท้องถิ่น ชี้มีปลัดอปท.โดนด้วย ดันคดีรุกที่รัฐเข้าศอตช. อ.พนัสติงอย่าลำเอียง
มติชนออนไลน์ : สะพัด'ไพบูลย์'ชง 5 บิ๊ก ขรก.ระดับอธิบดี เอี่ยวทุจริตโครงการขนาดใหญ่ ติดกลุ่มร้อยชื่อเสนอ'บิ๊กตู่'เชือด คาดใช้อำนาจพิเศษเซ็นครั้งเดียวย้ายยกแผง เร่งกระบวนการตรวจสอบ
ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน เตรียมนำรายชื่อข้าราชการระดับต่างๆ ประมาณ 100 รายชื่อ ที่พัวพันการทุจริตคอร์รัปชั่น เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ในสัปดาห์นี้ เพื่อพิจารณาส่งไปยังต้นสังกัดเพื่อให้โยกย้ายออกจากตำแหน่ง รอการสอบสวนทางวินัยและดำเนินคดีอาญา
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เมษายน มีรายงานข่าวว่า ขณะนี้นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช.กำลังคัดแยกรายชื่อและฐานความผิดของกลุ่มข้าราชการดังกล่าว เบื้องต้นพบว่ามีข้าราชการระดับสูงเทียบเท่าอธิบดีหรือระดับ 10 ประมาณ 5 ราย เข้าข่ายในการปรับย้ายในจำนวน 100 รายชื่อ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับโครงการขนาดใหญ่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่ามีพยานหลักฐานส่อไปในทางทุจริต หลังจากนี้ พล.อ.ไพบูลย์จะนำรายชื่อเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ช่วงปลายสัปดาห์ ก่อนวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าจะมีการพิจารณาออกคำสั่งโยกย้ายหลังวันหยุดยาวแล้ว ส่วนการออกคำสั่งอาจจะให้นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งพิเศษ ปรับย้ายครั้งเดียวเพื่อความรวดเร็ว เพราะหากส่งเรื่องกลับไปต้นสังกัดอาจเกิดความล่าช้า
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะกรรมการอำนวยการร่วมอยู่ใน ศอตช. ได้รายงานให้ทราบแล้วว่า ศอตช.ต้องการดำเนินงานเพื่อให้เห็นผลการปราบปรามข้าราชการที่มีความผิดทุจริตต่อหน้าที่ โดยให้ให้ย้ายออกจากจุดที่มีปัญหาก่อน เพราะหลักการในการเอาผิดข้าราชการที่มีความผิดต้องใช้เวลา เนื่องจากมีขั้นตอนค่อนข้างมาก ขณะที่ ศอตช.ต้องการทำงานให้รวดเร็ว ทาง ป.ป.ช.เองก็ส่งรายชื่อจำนวนหนึ่งไปให้แล้วเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นรายชื่อข้าราชการในระดับท้องถิ่นที่ถูกชี้มูลความผิดแล้วมีความผิดจริง เพื่อป้องกันข้อกล่าวหาว่าถูกกลั่นแกล้ง
ขณะที่นายสรรเสริญกล่าวว่า พล.อ.ไพบูลย์มีนโยบายว่าหากเป็นเรื่องข้าราชการที่อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนหรือคดียังไม่สิ้นสุด หรืออย่างน้อยระหว่างการสอบสวนพบว่ามีหลักฐาน ก็ขอให้มีการย้ายออกจากจุดที่กำลังทำงานอยู่ก่อน ส่วนการสอบวินัยหรืออาญาเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกัน ดังนั้น ศอตช.จึงให้ 4 หน่วยงาน ได้แก่ ป.ป.ช. คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ช่วยกันรวบรวมข้อมูลและประมวลส่งเข้าที่ประชุม เบื้องต้นก็ทราบว่าได้ 100 กว่าราย ตั้งแต่ข้าราชการระดับเล็กจนถึงระดับสูง ในส่วนความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.เสนอไปประมาณ 5-10 รายชื่อ เป็นรายชื่อที่ได้ไต่สวนพบหลักฐานชัดเจนเพียงพอ เป็นข้าราชการระดับผู้บริหารท้องถิ่น อาทิ นายก อบจ., นายก อบต. ปลัด อบต. และปลัด อบจ. เพื่อให้ข้าราชการเกิดความเกรงกลัวต่อการกระทำผิด ไม่ใช่ว่าถูกจับแล้วยังนั่งทำงานต่อไปได้ นอกจากนี้สำนักงาน ป.ป.ช.ได้เตรียมรายงานเพื่อหารือกับที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ว่า สำหรับปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ควรดำเนินการรวบรวมเรื่องทั้งหมดที่กำลังดำเนินการไต่สวน เพื่อแจ้งต่อ ศอชต.หรือไม่ เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ของชาติเช่นกัน
ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์ว่ากรมสรรพากรไม่มีการส่งรายชื่อไปยัง ศอตช. หากจะมีการส่งไปน่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดำเนินการ
"เรื่องนี้ผมไม่ทราบ ไม่มีแจ้งว่าให้ส่งอะไร ส่วนคดีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากการส่งออกและขายใบกำกับภาษีปลอม ได้ส่งเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งส่งต่อให้ ป.ป.ช. ก็เป็นเรื่องทางนั้น กรมไม่เข้าไปก้าวล่วง กรมส่งข้อมูลไปหมดแล้ว อยู่ที่ทางนั้นดำเนินการ"นายประสงค์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้พยายามติดต่อนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร เพื่อสอบถามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวที่มีการระบุถึงคดีทุจริตรถหรูของกรมศุลกากรด้วย แต่ไม่สามารถติดต่อได้
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรมีคณะทำงานเพื่อทำงานร่วมกับชุดของ พล.อ.ไพบูลย์ ขณะที่ในส่วนของ สปช.ก็มีการวางแนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตของข้าราชการ และวางกรอบป้องกันไว้สำหรับในอนาคต อาทิ การป้องกันการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ โดยจะสังคายนาครั้งใหญ่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ยกร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ เพื่อให้ประชาชนและบุคคลภายนอก อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปร่วมในการตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ ใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก เพื่อป้องกันการทุจริตของข้าราชการ รวมถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ให้มีบทบาทมากขึ้น
"สำหรับการป้องกันปราบปราม เราจะเสนอปรับปรุงการทำงานของ ป.ป.ท.และ ป.ป.ช. ที่ตัวกรรมการ ป.ป.ช.ควรมีความหลากหลายทางด้านความรู้ความสามารถ และจะต้องมีการปรับวิธีการทำงาน โดยอาจจะต้องมีการมอบหมายสำนักเลขาธิการ ป.ป.ช.เป็นผู้ตรวจสอบเฉพาะคดีทั่วไปที่ไม่ใช่คดีของข้าราชการระดับสูง ส่วนกรรมการ ป.ป.ช.ควรลงมาตรวจสอบคดีเรื่องใหญ่ๆ โดยเฉพาะคดีของข้าราชการระดับสูง" นายประมนต์กล่าว
นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การดำเนินการของ ศอ.ตช. หากทำได้จริงถือเป็นเรื่องดี แต่สำคัญที่สุดคือ หากพิจารณาไม่รอบคอบหรืออาศัยหลักฐานที่ไม่ได้มีการกลั่นกรองให้รอบคอบ อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้เหมือนกัน เช่น ถ้ามีการร้องเรียนแล้วเชื่อคำร้องเรียนอย่างเดียว อาจมีการกลั่นแกล้งกันได้ ปกติในกระบวนการต้องสอบสวนข้อเท็จจริง หากพบว่ามีมูลจึงดำเนินคดีกันต่อไป ตรงนี้จะเป็นหลักประกันให้กับคนที่ถูกกล่าวหาด้วย
"ไม่ทราบว่า ที่ออกคำสั่งมานี่จะลงโทษอะไรได้หรือเปล่า ถ้าหากว่าลงโทษเลยคิดว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าสั่งย้ายคิดว่าทำได้ แต่การโยกย้ายเดี๋ยวมีปัญหาเหมือนคุณถวิล เปลี่ยนศรี (อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ) อีก ถ้าหากมีการตั้งธงเอาไว้ว่าจะมีการย้ายคนนี้ โดยไม่มีเหตุผลอื่นๆ นอกจากข้อกล่าวหาว่าเขาทุจริต แล้วไม่มีหลักฐานอย่างอื่น นอกจากข้อกล่าวหาโดยไม่มีการสอบสวน น่าจะก่อให้เกิดปัญหาได้" นายพนัสกล่าว