WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ทูลเกล้าฯเลิกใช้อัยการศึก กฎใหม่บิ๊กตู่ เข้ม6ข้อ-คงอำนาจทหาร 'สื่อนอก'ผวาหนักกว่าเดิม ดึงรมต.ร่วมรายการคืนสุข กมธ.กำหนดสัดส่วนผู้หญิง ต้อง 1 ใน 3 ชิงสส.ปาร์ตี้ลิสต์

มติชนออนไลน์ :  'บิ๊กตู่'เผยทูลเกล้าฯเลิกอัยการศึกแล้ว ประกาศใช้ ม.44 คงอำนาจทหารร่วมจับ สอบสวน ขอเช็กชื่อสื่อทำเนียบก่อนแถลงผลประชุม ครม.ปัดควบคุม ประเดิม 7 เม.ย. 'วิษณุ'วอนอย่าระแวงยันไม่เหมือนยุค'สฤษดิ์'

@ 'บิ๊กตู่'รับมอบพัดสงกรานต์

      เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 31 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนเข้าประชุม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายอภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้นำคณะเข้าพบ เพื่อประชาสัมพันธ์ และมอบสื่อรณรงค์เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2558 เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันรักษามรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่ดีของไทย พร้อมมอบของที่ระลึกและพัดรณรงค์เทศกาลสงกรานต์ ที่ระบุถึงแนวทางปฏิบัติที่ควรทำในเทศกาลสงกรานต์ โดย พล.อ.ประยุทธ์เดินโบกพัดและชี้ไปที่พัดพร้อมกล่าวว่า "ให้ช่วยกันดูว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ อะไรที่สร้างความขัดแย้งก็อย่าทำ"

    สำหรับ ประเพณีสงกรานต์ มีการจัดกิจกรรมมากมายทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งนี้ในวันที่ 13 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์จะกล่าวปราศรัย เนื่องในงานประเพณีสงกรานต์ ผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

@ ขอเช็กชื่อสื่อก่อนแถลงผลครม.

      ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์แถลงหลังประชุม ครม.ว่า สั่งการไปยังรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการขอความร่วมมือกับสื่อมวลชนระหว่างที่รอการประชุม ครม.เสร็จสิ้นเป็นประจำทุกวันอังคารเพื่อชี้แจงกับสื่อมวลชนทำเนียบ ถึงการทำงานของรัฐบาลว่าได้แก้ปัญหาบ้านเมืองคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ส่วนตัวแทนรัฐบาลที่จะเป็นผู้ชี้แจงนั้นยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา

      "ทุกครั้งที่ขอความร่วมมือชี้แจงทุกวันประชุม ครม.จะจดชื่อนักข่าวทุกคนแบบก่อนเข้าห้องเรียน เรื่องนี้ทำจริงๆ ไม่ได้พูดเล่น โดยจะเริ่มในวันประชุม ครม. วันที่ 7 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจะชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจระหว่างรัฐกับสื่อเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดและเชื่อมโยงทำความเข้าใจข้อมูลต่างๆ ให้ถูกต้องครบถ้วน เพราะหากฟังแต่ผมก็ได้แต่หัวข้อไปเขียนข่าว แต่นี่ไม่ใช่การปรับกลยุทธ์ทางการให้ข่าวของรัฐบาล เพียงแต่อยากแบ่งให้คนอื่นได้ชี้แจงบ้าง เพราะผมพูดคนเดียวมานานแล้ว ขอยืนยันว่าไม่ได้ทำเพื่อคุมอำนาจสื่อ เพราะรู้ว่าคุมไม่ได้อยู่แล้ว ยิ่งใหญ่จะตาย และไม่ใช่การละลายพฤติกรรมระหว่างรัฐกับสื่อด้วย อายุขนาดนี้คงละลายกันไม่ได้แล้ว ไม่ใช่เด็กนี่ แต่ขอเพียงให้เข้าใจรัฐบาลเท่านั้นเอง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

@ ให้รมต.ร่วมรายการคืนสุขฯด้วย 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รายการคืนความสุขให้คนในชาติที่ออกอากาศทุกคืนวันศุกร์ต่อจากนี้ไปจะปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยตนจะกล่าวแนะหัวข้อก่อนและให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ หมุนเวียนมาออกอากาศชี้แจงการทำงานเพื่อให้ประชาชนรับทราบผลงานในรายการคืนความสุขฯ ประมาณ 20-30 นาที ส่วนตนยังคงพูดทุกวันศุกร์เหมือนเดิมแต่อาจจะลดเวลาการพูดลง

     "ผมพูดเป็นชั่วโมงๆ ก็เหนื่อย ต่อไปนี้ในรายการก็ให้ผมเปิดหัวข้อในแบบของผม เชิงนโยบายกว้างๆ และเพิ่มมาอีกช่วงรายการ เช่น วันศุกร์นี้เป็นเรื่องของความมั่นคง การค้ามนุษย์ แรงงานประมง อาทิตย์ต่อไปก็เป็นเรื่องของเศรษฐกิจก็จะให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ มาพูดลงรายละเอียด ต่อไปเป็นเรื่องสังคม จิตวิทยา กฎหมาย การต่างประเทศจะเป็นแนวทางลักษณะนี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

@ ชี้ปชต.ไทยเหมือนติดกระดุมผิด

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวแทนกฎอัยการศึก น.ส.ซาแมนต้า ฮอว์ลี่ ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากสำนักข่าวเอบีซี ออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย ตั้งคำถามถึงร่างรัฐธรรมนูญว่านายกรัฐมนตรีทราบหรือไม่ว่าสังคมโลกห่วงและมีข้อกังวลกันเยอะมาก ว่าจะไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เดินลงจากโพเดียมมาฟังคำถามใกล้ๆ เนื่องจากได้ยินคำถามไม่ชัด และเมื่อเข้าใจคำถามชัดเจน ได้ย้อนถามกลับว่า "ประชาธิปไตยในมุมมองของคุณคืออะไร ก็คือการมีเสรีภาพ แต่วันนี้การไปไหนมาไหน ผมก็ไม่ห้าม รัฐธรรมนูญต้องปฏิรูป"

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ พยายามอธิบายประชาธิปไตยของไทยในช่วงที่ผ่านมา ต่อสำนักข่าวต่างประเทศดังกล่าว โดยพูดเป็นภาษาอังกฤษ และอธิบายด้วยสัญลักษณ์ โดยได้จับและปลดกระดุมเสื้อ เพื่อเปรียบเทียบ ว่าประชาธิปไตยไทยเหมือนเป็นการติดกระดุมเสื้อผิดเม็ด และบางทีไม่ใช่แค่ติดกระดุมเสื้อผิดเม็ด เพราะการติดกระดุมผิดยังทำให้เห็นกางเกง ก็จะดูไม่เรียบร้อย ก่อนจะชี้ให้ดูตาม จากนั้นเดินขึ้นไปยืนที่โพเดียมแถลงข่าว เพื่อตอบข้อซักถามสื่อมวลชนต่ออีกครั้ง

@ ติงอย่าเอารธน.ที่ร่างออกมาพูด

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เดี๋ยวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลไปชี้แจง ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่แบบนี้ ให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ว่า ยังไม่ต้องเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างออกมาพูด เพราะตนยังไม่ได้ดูเป็นเรื่องเป็นราว บางครั้งส่งมาก็ยังไม่ได้อ่าน หลังจากนี้จะต้องไปร่วมประชุม กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาการสร้างการรับรู้รับทราบกลับเป็นการสร้างความเข้าใจผิด อย่างประเทศออสเตรเลียก็ไม่เข้าใจแล้ว 

      "ได้ให้ประเด็นไปว่า ให้ไปร่างรัฐธรรมนูญมาว่าอะไรที่เป็นปัญหาของประเทศไทย อะไรที่ต้องเดินไปข้างหน้าก็ต้องทำต่อไปจะต้องใช้กฎหมายตัวไหนเพื่อจะแก้ปัญหาเร่งด่วน ระยะยาว ปฏิรูปครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 หรือ 3 ก็ต้องไปทำกฎหมาย หาความรับผิดชอบมา รวมทั้งรัฐบาลจะไม่ให้ทุจริตได้อย่างไร ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนจะต้องไม่มีคนสนับสนุนผู้ใช้อาวุธสงครามต่อประชาชน เรื่องนี้ต้องอธิบายให้เกิดความเข้าใจ โดยเฉพาะต่างชาติ อย่างประเทศออสเตรเลียที่มาตั้งคำถาม บ้านเขาก็ไม่เคยเกิดสถานการณ์เช่นเดียวกับบ้านเรา ไม่เคยมีการประท้วงรัฐบาลและใช้อาวุธมายิงต่อสู้กัน" นายกรัฐมนตรีกล่าว

@ กลัวต่างชาติว่าบ้าอำนาจ

      "ต้องช่วยกันอธิบายให้เขาเกิดความเข้าใจอย่ามาพูดคำว่า ฟรีดอม อย่างเดียวหรือ เดโมเครซี ผมนี่แหละ เดโมเครซี ถ้าไม่ เดโมเครซี พวกท่านจะมานั่งอย่างนี้กับผมไม่ได้ ต้องช่วยกันบอกเขา วันนี้มีอะไรบ้างที่ผมจำกัด มีแต่วิธีการตรวจสอบเท่านั้น ตรวจสอบเสร็จก็เรียกมาคุยกันและปล่อยตัวกลับบ้าน ถ้าต้องติดคุกก็เป็นพวกที่มีคดี ทั้งคดีอาญาและมีหลักฐานจะปล่อยไปได้อย่างไร อย่างระเบิดครั้งที่แล้ว จับกุมได้และมีหลักฐานก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่ ก็เห็นชัดเจนมีการไล่ยิงกันอยู่ที่ศาลอาญา จะไปอุปโลกน์ใครและจับกุมได้ ไม่เคยฟังข้อเท็จจริง กล่าวหาว่าเป็นการสร้างสถานการณ์จะสร้างถึงขนาดไปยิงขากันเลยหรือ โถ่ มันจะบ้าหรือเปล่า ขอให้เข้าใจกันเสียบ้าง ขอให้ช่วยบอกกับต่างชาติว่า เรากำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านเพื่อเป็นประชาธิปไตยสากล" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ไปไม่ได้ก็เพราะยังติดประท้วงตรงนั้น ตรงนี้ ทุกคนไม่เคยพูดว่าปัญหาคืออะไร อยากจะให้ประเทศไทยเป็นเหมือนเดิมหรืออย่างไร ไม่สงสารประชาชนที่เจ็บตายกันทุกวันหรืออย่างไร เจ้าหน้าที่เหน็ดเหนื่อยแล้วจะมานั่งกังวลเรื่องกฎหมายอีก ถ้าไม่ทำความผิดจะมากังวลอะไร มาตรา 44 มีอำนาจเหนือสิ่งอื่นใดแสดงว่าเป็นเผด็จการ ยืนยันว่ามาตรา 44 จะใช้อย่างสร้างสรรค์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนใช้กับปัญหาความมั่นคง ถ้าเอาปืนมายิงกันอีก เกิดความวุ่นวาย ต้องจับมาทันที เราจะใช้กฎหมายแบบนี้ไม่เช่นนั้นก็ต้องไปรอหมายศาล

"อย่างเหตุการณ์ที่ศาลอาญาเป็นเพราะไปเจอกับกำลังของทางการ แล้วใช้ปืนพกยิงสู้กันจนถูกขาผู้ต้องหาได้รับบาดเจ็บและพยายามวิ่งหนี และมีเพื่อนขี่มอเตอร์ไซค์มารับก็ไม่ได้ชี้แจงให้ฟังเพราะเป็นเรื่องของการทำงาน แต่สังคมเกิดความสงสัยอยู่นั่น พวกผมไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำกับคนอื่น ต้องช่วยกันอธิบาย เดี๋ยวต่างชาติจะไม่เข้าใจหาว่าผมบ้าอำนาจ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

@ เผยทูลเกล้าฯเลิกอัยการศึกแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ในการเดินทางไปสิงคโปร์ได้พบกับนายโทนี แอบบ็อตต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ซึ่งนายกฯออสเตรเลียต้องการให้ไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว ซึ่งตนตอบตกลง ขณะนี้กำลังเดินไปตามโรดแมปและต้องการสร้างประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่เป็นที่ยอมรับของสากล 

"สำหรับมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวบัญญัติไว้ว่า มาตรานี้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่เกินกว่าเหตุไม่รู้จะกลัวอะไรกัน กลัวกันเกินกว่าเหตุ" นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่า คำสั่ง คสช.ฉบับใหม่ โดยอาศัยกฎหมายมาตรา 44 จะใช้เมื่อใด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เร็วๆ นี้ ซึ่งคำสั่งร่างเสร็จนานแล้ว รอเวลาเพียงว่าจะประกาศออกมาเมื่อใด ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ทูลเกล้าฯ ยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ได้ทูลเกล้าฯไปตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่ว่าจะโปรดเกล้าฯ ลงมาเมื่อใด

"ส่วนการประกาศ คสช.ฉบับใหม่โดยอาศัยกฎหมายมาตรา 44 นั้น ผมสามารถประกาศได้เองในคำสั่งมีเนื้อหาประมาณ 5-6 ข้อ เกี่ยวกับความมั่นคง การใช้กำลังทหารเข้าไปทำงานได้เท่านั้นเอง เป็นการไปช่วยงานของข้าราชการต่างๆ ตำรวจยังใช้กฎหมายปกติ เพียงแต่จะเพิ่มอำนาจในการตรวจค้นจับกุมร่วมกัน และร่วมกันสอบสวนได้บ้างและการควบคุมตัวของพนักงานสอบสวนจะไม่ใช้ที่ห้องขังเพราะถือว่าเป็นเพียงผู้ต้องหาเรื่องของศาลทหาร จะมีเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคดีด้านความมั่นคง และตามคำสั่ง คสช.ฉบับใหม่ ในส่วนของศาลทหารจะไม่ใช้แค่ศาลเดียว แต่เป็นศาลทหารที่มี 3 ศาล ไม่ต้องมานั่งกลัว ไม่รู้จะกลัวกันไปทำไม ถ้ามันไม่ผิด ขอให้ไปช่วยกันบอกด้วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

@ นายกฯยันคุมขัง7วันเท่าเดิม 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ศาลทหารตามคำสั่ง คสช.ฉบับใหม่ จะคล้ายกับศาลยุติธรรมใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หนึ่ง เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น สามารถจับกุมได้ทันที โดยไม่ต้องไปขอหมายศาล เหมือนเช่นสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นคงหนีกันจนจับไม่ได้ สอง เมื่อจับมาแล้วจะดำเนินการสอบสวนที่ไม่ใช่สถานีตำรวจหรือห้องขังเพราะถือว่าเป็นแค่ผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัย ทหารจะไปซักร่วมกับตำรวจ ถ้าอันไหนที่ผิดตามคดีที่มีการกำหนดไว้ว่าอย่าทำ มีการไปละเมิดจะต้องขึ้นศาลทหาร อะไรที่ผิดกฎหมายปกติก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายปกติ ดังนั้น ใครที่ขึ้นศาลทหารไม่ต้องกลัวเพราะจะมีถึง 3 ศาล ส่วนรายละเอียดต้องถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพราะตนได้สั่งการไปแล้วว่า ควรจะเขียนออกมาอย่างไร

เมื่อถามว่า อำนาจการจับกุมคุมขังตามคำสั่ง คสช.ฉบับใหม่ตามมาตรา 44 จะยังอยู่ในกรอบ 7 วันใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "7 วันเท่าเดิม แต่เขียนไว้ว่าหากควบคุมตัวไว้แล้วสามารถพูดคุยกันเรียบร้อย เข้าใจกันสามารถปล่อยตัวได้ทันทีโดยไม่มีคดี เว้นแต่หากใช้อาวุธสงครามปล่อยไม่ได้" เมื่อถามว่า ไม่ขยายเวลาจาก 7 วันเป็น 14 วัน ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่มี 7 วันก็เปลืองข้าวจะตายอยู่แล้ว ไม่อยากจะกักขังสักวัน ยืนยันอีกครั้งว่าทหารไม่เคยทำร้ายประชาชน ผมเป็นทหาร ถ้าคิดจะทำร้ายประชาชน คงไม่ออกมาช่วย ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง ไม่ว่าจะเขตหรือสีไหนไปช่วยทั้งหมด"

@ ไล่สื่อโจมตีรบ.เก่าไม่แก้ปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศหรือหน่วยงานใดชี้แจงให้ต่างประเทศเข้าใจหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คงไม่ต้อง เพราะตนชี้แจงได้เพียงคนเดียว เพราะกระทรวงการต่างประเทศมองในแง่มุมของต่างประเทศ ซึ่งได้พยายามอธิบายมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม จะรวบรวมข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง 

"ยืนยันว่าไม่มีอะไรปกปิด ต้องไปบอกเขาให้เข้าใจว่ากฎหมายอาญาของเรา เวลาคนยิงใส่กัน ไม่ใช่ยกปืนเล็งใส่กันแล้วก็ตาย แล้วมาโทษว่าไอ้นี่ยิง ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิงก็กล่าวหาว่าไอ้ฝั่งนั้นผิด มันใช้ไม่ได้ กฎหมายเขาเขียนไว้ว่าจะต้องสำรวจวิถีกระสุน ดินปืน ระยะทาง ระยะห่าง เรื่องที่ยิงกันบนรถไฟฟ้า ไปหากันมา ข้อเท็จจริงคือไอ้นี่มันแอ๊กอาร์ตที่ขึ้นไปข้างบน แล้วก็รายงานว่าไปยิงกำพงกำแพง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามว่า การใช้คำสั่ง คสช.ฉบับใหม่ ตามมาตรา 44 ในมุมมองของต่างชาติจะดีขึ้นหรือไม่ หัวหน้า คสช.กล่าวว่า สื่อต้องช่วยกันอธิบาย ตนไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเดือดร้อนกันตรงไหน วันนี้ทุกคนรู้ว่าปัญหาของประเทศคือตรงไหน จะปล่อยให้ประเทศชาติล้มละลายเสียหาย ตนเป็นคนรับผิดชอบ 

"ชีวิตวันนี้ผมก็รับผิดชอบอยู่แล้ว ลูกเมียก็เดือดร้อน แต่ทำไมผมถึงยังต้องทำ แล้วทำไมสื่อไม่ไปโจมตีรัฐบาลที่แล้วว่าทำอะไรกันมาบ้าง ทำไมไม่เขียนว่าไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลชุดที่แล้วถึงไม่แก้ปัญหา ทั้งเรื่องการบินพลเรือน มัวแต่มาโจมตีผมอยู่ฝ่ายเดียว ยืนยันว่าสิ่งที่พูดวันนี้ไม่ได้ซีเรียส ยังสามารถยิ้มได้อยู่" นายกฯกล่าว

@ แจงเอบีซีมาแก้ปัญหาค้างเก่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังให้สัมภาษณ์เสร็จสิ้น พล.อ.ประยุทธ์ยังเดินกลับเข้ามาอธิบายประชาธิปไตยไทยต่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอบีซีอีกครั้ง โดยระบุว่าขอให้นักข่าวไทยที่มากับนักข่าวต่างประเทศช่วยอธิบายด้วย ที่ผ่านมาการบริหารของฝ่ายการเมืองแบ่งพื้นที่บริหารงานและดูแลกลุ่มคนของตัวเอง มันถึงเกาะกับการเมือง เป็นเผด็จการรัฐสภา การบริหารงานไม่ทั่วถึง ไม่เป็นธรรม 

"ขอให้อธิบายว่าตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา สิ่งที่ผมทำวันนี้กำลังลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม สร้างความเข้มแข็งภาคเศรษฐกิจ ปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข ทำทั้งหมด แต่เวลาอยู่อย่างนี้ ถ้าปล่อยให้เป็นเสรีภาพร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนปกติก็จะเกิดวนมาใหม่ทันที ถ้าผมไม่มีอะไรมาเสริมก็จะมาม็อบหน้าทำเนียบ แล้วผมจะทำงานได้หรือไม่ บางอย่างต้องเร่งด่วน ซึ่งต้องรอ สนช.ออกกฎหมาย ผมร่างเป็นคำสั่งออกมาดำเนินการเรื่องนั้น เรื่องนี้ก่อน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า การเมืองไทยที่ผ่านมา พอประท้วงก็จะใช้อาวุธกับระเบิด ตรงนี้ทำได้หรือไม่ บ้านเขามีหรือไม่ ทำได้หรือไม่ มาประท้วงนายกฯประยุทธ์ ที่ผ่านมาการเมืองอยู่เหนือ วันนี้ตนไม่ต้องการอะไร อยากจะทำประชาธิปไตยให้เป็นแบบท่าน 

นายกฯกล่าวว่า "เรากำลังทำประชาธิปไตยไทยให้สมบูรณ์และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศแบบประเทศพวกท่าน อยากเป็นแบบประเทศออสเตรเลีย อยากเป็นแบบสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นๆ แต่ของเรายังไปถึงตรงนั้นไม่ได้ เพราะยังมีปัญหาซับซ้อนอยู่ตรงนี้ ปัญหาแบบนี้พวกท่านแก้มาแล้ว 50 ปี 100 ปี สหรัฐอเมริกาก็มีเรื่องแบบนี้ มันนานมาแล้ว เสร็จแล้วคนก็มีความเข้มแข็ง มีการศึกษา ความขัดแย้งไม่มี นักการเมืองมีประสิทธิภาพ นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยของผม ซึ่งกำลังดำเนินการ"

@ 'วิษณุ'วอนอย่าระแวงใช้ม.44 

นายวิษณุกล่าวว่า มาตรา 44 เป็นมาตราที่กว้าง พอถึงเวลาต้องลงไปสั่งอีกทีว่าจะสั่งว่าอะไร สมัยก่อนมีการสั่งยิงเป้า แต่สมัยนี้เป็นการสั่งในทางสร้างสรรค์ได้ "เพราะเราเขียนลงไป มาตรา 44 สมัยก่อนเอาใช้ในทางสร้างสรรค์ได้ยาก วันนี้เราเขียนลงไปเลยว่ามาตรา 44 อาจเอามาใช้ 1.เพื่อความปรองดอง 2.ใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย 3.ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในสังคม 4.ใช้เร่งรัดการปฏิรูป 5.เพื่อระงับยับยั้ง ป้องกันปราบปราม ซึ่งตรงนี้เป็นอันเดียวที่ใช้ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นการนำมาใช้ตามคำที่นายกฯพูดว่า เป็นการใช้อย่างสร้างสรรค์ และขอให้เข้าใจว่า เมื่อคนไม่ค่อยวางใจกฎอัยการศึก ไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง กระทั่งนำมาสู่การคิดที่จะต้องทบทวนแล้ว อย่าได้ระแวงต่อไปเลยว่าจะกำหนดมาตรการใหม่ที่แย่ไปกว่ากฎอัยการศึก หรือแย่เท่ากันมาใช้ มันเป็นไปไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะเลิกทำไม 

"เพราะฉะนั้นจะมีมาตรการรองรับที่เบากว่า ปกติถ้าไม่คิดอะไรเลย มาตรการที่เบากว่าก็คือมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กับกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งบางคนบอกว่าทำไมไม่เอาตรงนี้มาใช้ ไปยุ่งอะไรกับมาตรา 44 ขอให้มั่นใจเถอะว่า มาตรการใดที่จะมีขึ้นมารองรับต่อการยกเลิกกฎอัยการศึก อยู่ในระดับเดียวกับกฎหมาย 2 ฉบับนี้ และไม่รุนแรงไปกว่า 2 ฉบับนี้" รองนายกฯ

กล่าว และว่า ที่บอกว่าทำไมไม่ใช้กฎหมาย 2 ฉบับนี้เลย เพราะบางเรื่องที่กฎหมาย 2 ฉบับนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ไม่ครอบคลุม และไม่มีอะไรที่ติ่งไว้ว่าสำหรับเอาอำนาจพิเศษมาเล่นงานประชาชน แต่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ซึ่งกฎหมาย 2 ฉบับนี้ไม่มีมาตรการเยียวยา และบรรเทาความเสียหายที่เกิดมาแล้ว

เมื่อถามว่าจะเป็นการหนีเสือปะจระเข้หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ไม่หนีเสือปะจระเข้ แต่จะเจอตัวอื่นหรือเปล่าไม่รู้ ไม่ใช่เสือไม่ใช่จระเข้เลย 

@ บิ๊กโชยให้ผู้ใต้บังคับบัญชายึดกม.

ที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) กล่าวถึงการใช้มาตรา 44 แทนกฎอัยการศึกว่า กกล.รส.เป็นหน่วยที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ถ้ามีกฎหมายใดให้บังคับใช้มาก็ต้องยึดหลักตามนั้น โดยผู้ใต้บังคับบัญชาทุกนายยึดถือกฎหมายในการทำงาน ยึดหลักการสิทธิมนุษยชน 

"ขอยืนยันว่าการดำเนินงานต่างๆ มีจุดมุ่งหมายให้ประเทศชาติสงบสุข สถานการณ์มีความเรียบร้อยและสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ ทุกคนในชาติมีความรักความสามัคคี ไม่ทะเลาะกัน เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการปฏิรูป เพราะฉะนั้นเครื่องมืออะไรต่างๆ ที่มีจะยึดถือตามนั้น ขอย้ำว่าเราไม่มีหน้าที่ออกกฎหมาย หากแต่มีหน้าที่ปฏิบัติกฎหมาย ส่วนมาตรา 44 จะเป็นเครื่องมือที่เหมาะกับสังคมไทยหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่าเวลานี้กำลังวิเคราะห์กันอยู่ จึงเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่จะต้องดำเนินการ" แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าว

@ เผยไม่เรียกปรับทัศนคติแล้ว

พล.ท.กัมปนาทกล่าวถึงการแสดงความคิดเห็นในสื่อโซเชียลมีเดียว่า จะเน้นย้ำการสร้างความเข้าใจ พูดคุยเป็นหลักเช่นกัน ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจว่าสื่อออนไลน์หลายจำพวกเวลาส่งกันจะมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จนทำให้สังคมเกิดความสับสน ต้องเข้าไปตรวจสอบว่าใครเป็นคนโพสต์ข้อมูลนั้น เพื่อหาดูต้นตอ แล้วจะพูดคุย เพื่อทำความเข้าใจกัน

"บางเรื่องคนที่เรียกมาพูดคุยแล้วบางทีก็ยังไม่เข้าใจเลย ต้องเล่าให้ฟังเป็นชั่วโมงถึงจะเข้าใจ เพราะเขาไม่รู้ว่าเรื่องจริงอย่างนี้ พอเขาเข้าใจแล้วดีขึ้น ส่วนกระบวนการเรียกบุคคลเข้ามาปรับทัศนคติจะไม่มีแล้ว แต่จะใช้พูดคุยแทน เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกัน เวลาที่ผมพูดกับใครแล้วต้องให้ความจริงใจต่อกัน ถ้าผมไม่จริงใจก็อยู่ไม่ได้" พล.ท.กัมปนาทกล่าว และว่า รูปแบบการพูดคุยจะใช้สองแนวทาง คือไปหาเขาบ้าง กับเขามาหาบ้าง ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าทางเจ้าหน้าที่จะไม่ไปที่บ้าน เพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัว

@ กต.ยันไม่ต้องแจงใช้มาตรา44

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า นานาชาติเข้าใจและยินดีที่ไทยก้าวไปข้างหน้าตามแผนโรดแมปของไทย ตอนไปประชุมได้เจอผู้นำหลายระดับ ตั้งแต่ประธานาธิบดีจีน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย 

ผู้สำเร็จราชการออสเตรเลีย รวมทั้งเวลาไปต่างประเทศ ทุกคนถามถึงนายกรัฐมนตรีและฝากความปรารถนาดีถึง และมั่นใจภาพรวมของเศรษฐกิจไทย นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งมา 6 เดือน ไม่เคยมีใครมาถามเรื่องกฎอัยการศึก หรือกรณีที่ว่ากำลังเลิกกฎอัยการศึกและจะใช้มาตรา 44 และความจริงแล้วกฎอัยการศึกมีก็ไม่ได้ใช้ จะใช้เพียงบางมาตราและไม่ได้กระทบกับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ทำผิด แต่มีไว้เพื่อป้องปราม เพื่อให้ดำเนินการไปตามแผนโรดแมป หากมีกรณีใดที่เป็นการจำกัดสิทธิหรือทำอะไรที่ละเมิด พร้อมที่จะเชิญทุกฝ่ายไปติดตามพร้อมกัน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเดินสายชี้แจงต่อนานาชาติ

"ไม่เคยมีใครถามเลย ถ้าเจอคนที่ต้องทำตามหน้าที่ก็จะถามตามมารยาทก็ชี้แจง อย่างน้อยที่มีการประกาศ เราสามารถจับกุมและยึดอาวุธ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุได้ อยากให้มองตรงนี้ ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลายอาจจะปรับมาใช้ประกาศบางส่วนโดยอ้างมาตรา 44 ดังนั้นถ้าสมานฉันท์ โรดแมปก็ไปได้ดี" พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าว

@ สื่อนอกชี้ม.44เพิ่มอำนาจรบ.

สื่อต่างประเทศพากันเสนอข่าวการทูลเกล้าฯยกเลิกกฎอัยการศึก และนำ ม.44 มาใช้กันอย่างแพร่หลาย ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับรัฐบาลทหารมากขึ้น โจนาทาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศไทย ระบุว่า มาตรการใหม่นี้มีแนวโน้มว่าจะยิ่งครอบคลุมกว้างขวางยิ่งกว่ากฎอัยการศึก ขณะที่รอยเตอร์ระบุว่า ฝ่ายที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารเตือนว่าการนำ ม.44 มาใช้จะยิ่งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถใช้อำนาจได้อย่างไม่จำกัด โดยอ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ 

นายสุนัย ผาสุก จากฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ กล่าวว่า การนำ ม.44 มาใช้จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับอำนาจอย่างไม่มีข้อจำกัด ปราศจากการตรวจสอบ เป็นเรื่องที่น่ากังวลและแน่นอนว่าจะไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนรวมถึงการควบคุมปราบปรามที่ยังคงมีอยู่ดีขึ้น 

@ บวรศักดิ์แย้มทบทวนที่มาส.ว.

ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวชี้แจงเจตนารมณ์ของกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญและการเดินสายรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 4 ภาค ให้กับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 77 จังหวัด ว่า การยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 315 มาตรายังไม่นิ่ง ยังมีความเห็นต่างหลายประเด็น อาทิ คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ที่ กมธ.ยกร่างฯกำหนดให้ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่ประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วย จึงอยากให้การจัดเวทีรับฟังความเห็นของ สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ ได้ทำแบบสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในคำถามลักษณะเดียวกัน รวมทั้งอยากให้ สปช.จังหวัด เข้ามามีส่วนในเวทีต่างๆ ทั้ง 4 ภาค "ขณะนี้ทุกฝ่ายสามารถเสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญได้จนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม เพราะบางมาตราอาจจะต้องทบทวน เช่น ประเด็นที่มาของ ส.ว. เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อเสนอแนะมาที่ กมธ.ยกร่างฯจำนวนมากโดยเฉพาะการกำหนดให้อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภาและอดีตผู้นำเหล่าทัพสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ได้ ซึ่งส่วนตัวยืนยันว่าการเปิดให้บุคคลเหล่านี้เข้ามาเนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง ซึ่งหากไม่เปิดให้เข้ามาจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก" นายบวรศักดิ์กล่าว 

@ โยนบิ๊กตู่ตัดสินใจประชามติ

นายบวรศักดิ์กล่าวถึงการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่า ยังไม่สามารถเสนอได้จนกว่ารัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ แต่ขณะนี้ทำได้เพียงเตรียมความพร้อมไว้ก่อน หากสุดท้ายแล้วร่างรัฐธรรมนูญตกไป จะเท่ากับว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เตรียมไว้ก็จะไม่มีผล แต่หากผ่านความเห็นชอบก็จะนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทันที ซึ่งขณะนี้ได้ทำหนังสือถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ว่า กมธ.ยกร่างฯพร้อมเปิดให้สมาชิกทั้ง 2 สภาเข้าร่วมเป็นอนุกรรมาธิการจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ยอมรับว่ากฎหมายบางฉบับ กมธ.ยกร่างฯอาจต้องดำเนินการเอง 

"คาดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่การทำประชามติ แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี" นายบวรศักดิ์กล่าว

@ ตัวแทนผู้หญิงจี้ปมสัดส่วน

ต่อมามีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายบวรศักดิ์ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีวาระการพิจารณาทบทวนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ยังไม่ได้ข้อยุติรวมทั้งมาตราที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจคือ การพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปในมาตราที่ว่าด้วยการกำหนดสัดส่วนเพศตรงข้ามในผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และมาตราที่กำหนดสัดส่วนสตรีในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่ กมธ.ยกร่างฯจะเริ่มการประชุม มีตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง กมธ.ยกร่างฯผ่านนายบวรศักดิ์ เพื่อขอให้ทาง กมธ.ยกร่างฯคำนึงถึงการกำหนดสัดส่วนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมองว่าการกำหนดสัดส่วนหญิงชายถือว่าเป็นมาตรการพิเศษชั่วคราวที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีนับแต่ปี 2528 และได้ปฏิบัติตามพันธกรณี โดยปรับเปลี่ยนกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการของอนุสัญญาที่ต้องการให้รัฐภาคีดำเนินการต่างๆ และเพื่อให้เกิดความเสมอภาคที่แท้จริง

    นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นสัดส่วนสตรีจะพยายามพิจารณาด้วยความรอบคอบมากที่สุด

@ เฉียดฉิวโหวตสัดส่วนสตรี

      เมื่อเวลา 16.45 น. ที่รัฐสภา น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษก กมธ.ยกร่างฯ แถลงถึงความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ทาง กมธ.ยกร่างฯอยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ได้ข้อสรุป มีด้วยกัน 23 ประเด็น พิจารณาผ่านไปแล้ว จำนวน 10 ประเด็น ประเด็นที่น่าสนใจและเป็นครั้งแรกของการประชุมที่โหวตลงมติลับ คือ มาตรา 76 ที่ระบุว่า ในกรณีที่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเพศใดมากกว่าอีกเพศหนึ่งแล้ว อย่างน้อยในบัญชีรายชื่อนั้นต้องมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นเพศตรงข้ามกับเพศนั้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ผลลงคะแนนพบว่ามีสมาชิก โหวตเห็นด้วย 17 เสียง ไม่เห็นด้วย 15 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ทำให้อนาคตจากนี้ไปพรรคการเมืองต่างๆ ต้องส่งสตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยจะต้องจัดสัดส่วนสตรีให้ครบทั้ง 6 บัญชีใน 6 ภูมิภาค หากไม่ดำเนินการจะทำให้พรรคการเมืองนั้นไม่สามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานการเมืองมากขึ้น 

      น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ส่วนมาตรา 212 ที่ระบุว่า องค์กรบริหารท้องถิ่นต้องมีคณะผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งหรือความเห็นชอบของประชาชนโดยวิธีอื่น โดยอย่างน้อยสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมีสัดส่วนสตรีไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามนั้น มีสมาชิกลงมติไม่เห็นด้วย 22 เสียง ต่อ 10 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง เนื่องจากในทางปฏิบัติอาจไม่มีผู้หญิงเข้าไปสมัครในระดับท้องถิ่นเพียงพอ 

      "ที่ประชุมพิจารณาในมาตรา 166 โดยมีแก้ไขร่างจากเดิมว่ากรณีที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากเสียงในสภาไม่เห็นด้วย สภาผู้แทนราษฎรจะต้องสิ้นสุดลงไปพร้อมนายกรัฐมนตรี โดยกมธ.แก้ไขว่าหากสภาไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรจะยังคงสถานะอยู่เช่นเดิม และให้บุคคลที่ฝ่ายค้านเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แนบท้ายญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน" น.ส.สุภัทรากล่าว

@ กำหนดที่มารมต.ไม่เคยติดคุก

     น.ส.สุภัทรา กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังแก้ไขแก้ไขเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรี โดยกำหนดให้บุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรี จะต้องไม่เคยจำคุก เว้นแต่เป็นความผิดที่กระทำโดยความประมาท ความผิดลหุโทษ และหมิ่นประมาท โดยจะต้องพ้นโทษมาแล้วเป็นเวลาห้าปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับแก้ถ้อยคำเรื่องการกำหนดหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ในบางส่วน โดยไม่ได้กำหนดให้การเข้าร่วมประชุมสภา วุฒิสภา และรัฐสภา ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เป็นหน้าที่ และเป็นภารกิจสำคัญเหนือภารกิจอื่น จากเดิมที่ กมธ.ยกร่างฯได้กำหนดให้เป็นหน้าที่และภารกิจสำคัญเหนือภารกิจอื่นใด ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าหากกำหนดสภาพบังคับดังกล่าว อาจมีผลต่อการทำงานของรัฐบาล

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล สะท้อน'ม.44'แรงกว่า'อัยการศึก'


สัมภาษณ์พิเศษ

หมายเหตุ - น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ต่อกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 แทน การประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457

กรณีนายกฯใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกกฎหมายแทนกฎอัยการศึก

มาตรา 44 เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช.ในภาวะไม่ปกติซึ่งเทียบได้กับมาตรา 17 ในสมัยก่อนที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกฯ ใช้อำนาจทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการด้วยตัวเอง แต่มาตรา 44 ถือว่าหนักกว่ามาตรา 17 ด้วยซ้ำ ในความเห็นส่วนตัว มองว่ามาตรา 44 ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังจริงๆ จะใช้นานไม่ได้ เพราะนิสัยของมนุษย์ทุกคนเมื่อมีอำนาจที่สามารถสั่งการอะไรได้ตามใจทุกอย่าง ถือว่าเป็นการเสพติดในอำนาจนั้น ไม่เฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน เพราะการเสพติดอำนาจทำให้คนบางคนทำอะไรไปส่งผลให้คนหมู่มากเดือดร้อน 

เคยเขียนบทความเรื่องรัฐธรรมนูญมาตราสี่สิบสี่กับคนดีขั้นเทพ ไปเมื่อปีที่แล้ว เพราะมีคนถามว่า ถึงคนเป็นเผด็จการเป็นคนดีคงไม่เป็นไร แต่สำหรับดิฉันเห็นว่าคนดีธรรมดาคงทำไม่ได้ เพราะต้องมั่นใจว่าถ้าเป็นคนดีก็ต้องเป็นคนดีขั้นเทพที่หยั่งรู้ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก มีความเป็นกลางสูง ปราศจากอคติ ไม่อยู่กับพวกใดทั้งสิ้น และสามารถพิสูจน์ให้สังคมเห็นได้ว่ามีความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมให้สิทธิและเสรีภาพ

แม้แต่ในศาลยุติธรรมในการตัดสินคดีใดๆ ก็ไม่สามารถตัดสินคดีคนเดียวได้ จะต้องประกอบด้วยตุลาการเป็นองค์คณะ หรือถ้าคดีที่ศาลจะตัดสินคนเดียวได้ก็ต้องเป็นคดีที่มีโทษไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือถ้าคดีแพ่งต้องมีทุนของทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท แต่ถ้าเกินจากนี้ตัดสินคนเดียวไม่ได้ จะต้องเป็นองค์คณะและยังมีถึงสามศาลและเหตุที่จะเดือดร้อนที่สุด คือ ถ้าผู้ที่มีอำนาจไปใช้อำนาจตุลาการในการลงโทษ จึงถือว่าบทบัญญัติของมาตรา 44 เป็นการทำลายระบบศาล ทำลายระบบนิติรัฐ นิติธรรมและทำลายระบบยุติธรรม โดยระบบศาลด้วย

การใช้มาตรา 44 อันตรายมากๆ โดยเฉพาะถ้าจะลงโทษใคร เรียกใครมารายงานตัว จึงต้องระมัดระวังหากจะใช้ในครั้งนี้ ที่พูดนี่พูดด้วยความปรารถนาดีไม่ได้มีความรังเกียจในตัวท่าน แต่อยากเตือนในฐานะที่ตัวเองเคยทำหน้าที่ตุลาการมาก่อนเพราะถ้าเทียบกับกฎอัยการศึกแล้ว มาตรา 44 มีความร้ายแรงครึ่งต่อครึ่ง คือ ถ้ากฎอัยการศึก เป็น 50 มาตรา 44 จะร้ายแรงเท่ากับ 100 และกฎอัยการศึกยังมีทางแก้ อย่างที่ได้เขียนในบทความไว้ว่า ถ้าแก้เรื่องการขึ้นศาลทหารให้เป็นการตั้งศาลต่างๆ ให้เป็นศาลทหารจะดูบรรเทามากกว่า เมื่อครั้งที่ตัวเองเป็นผู้พิพากษาอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ ขณะนั้นอยู่ระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก ได้มีการประกาศให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลทหาร มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร และเป็นผู้ตั้งตุลาการศาลทหารขณะที่ท่านก็อยู่ในคณะปฏิวัติด้วยเช่นกัน ก็จะเหมือนขณะนี้ที่มีนายกฯและหัวหน้า คสช.เป็นคนคนเดียวกัน ซึ่งเรียกว่าเป็นฝ่ายผู้กล่าวหาที่ระบุได้ว่าคนนั้นผิดคนนี้ผิด ก็เหมือนกับท่านอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง ในศาลเป็นคนละฝ่ายกับผู้ถูกกล่าวหา ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดหวาดระแวง ดังนั้น ถ้าให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลทหารด้วยแต่ก็ยังถือว่าศาลยุติธรรมเป็นองค์กรอิสระจะทำให้มีความรู้สึกเบาลง อีกทั้งผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม จิตวิญญาณยังเป็นตุลาการยังเป็นศาลอยู่ไม่มีอคติ?

นายกฯสัญญาไว้ว่าจะใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์

แล้วใครจะเป็นคนห้ามท่าน เพราะในศาลเมื่อผู้พิพากษาเขียนสำนวนเสร็จก็จะมีองค์คณะอีกชั้นหนึ่งและทำความเห็นแย้งได้ ดังนั้น โอกาสที่จะได้รับความเป็นธรรมมีมากกว่ากันมาก ดังนั้น เมื่อไตร่ตรองแล้วว่าทำไมมีคนคัดค้านเรื่องนี้เป็นจำนวนมากก็จะได้คำตอบว่าเพราะความหวาดระแวง ความยุติธรรมที่เกิดโดยความหวาดระแวงมันลำบากมาก แล้วถ้าศาลทหารสั่งอะไรไปก็ต้องถูกโวยอีก

ถ้าจะใช้มาตรา 44 จริงๆ ไม่ควรใช้ด้วยอารมณ์หรือความเห็นส่วนตัว

ควรตัดอคติให้หมดและต้องแน่ใจว่าเป็นคนดี และต้องแน่ใจว่าใจของท่านนิ่งจริงๆ แบบที่นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกฯ เคยใช้คำว่า คนเป็นผู้พิพากษานั้นต้องจิตประภัสสร นั่นคือ สว่าง แจ่มแจ้ง รู้แจ้งเห็นจริง และใสสะอาดปราศจากอคติทั้งมวล ถึงจะใช้มาตรา 44 ได้ เพราะยิ่งถ้าใช้ในทางฝ่ายตุลาการยิ่งต้องระมัดระวังที่จะไปสั่งลงโทษใคร ต้องระมัดระวังอย่างหนัก เพราะท่านไม่ใช่ผู้พิพากษา คนที่รู้กฎหมายดีไม่ใช่จะเป็นผู้พิพากษาได้ทุกคน ต้องถูกอบรมจิตใจให้มีจิตวิญญาณ มีจริยธรรม มีอุดมการณ์กว่าจะเป็นผู้พิพากษาที่ดีได้ ฉะนั้น อย่าว่าแต่นายกฯที่เป็นทหารเลย

คิดว่าคนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์จะทำได้หรือไม่

คนที่ยังเป็นมนุษย์ธรรมดาอยู่นั้นยังมีกิเลส และเท่าที่ผ่านมายังไม่ค่อยเห็นว่าท่านเป็นกลางเท่าไหร่ ยังมีเอียงไปเอียงมาอยู่ อยากบอกว่าถ้าไม่จำเป็นอย่าใช้เลย เพราะจะได้ไม่เดือดร้อนเมื่อเวลาหมดอำนาจ เพราะถ้าเดือดร้อน ไม่แค่ตัวท่านหรือคณะของท่าน แต่จะเดือดร้อนต่อประชาชนและประเทศชาติทั้งประเทศ

นายกฯระบุว่าจะไม่นำไปใช้เพื่อกลั่นแกล้งใคร

ก็ดีที่ท่านคิดเบื้องต้นไว้เช่นนั้น แต่วิสัยของมนุษย์นั้นยังมีกิเลส สัญญาหรือไม่ว่าท่านจะทำตามที่สัญญาได้ จิตของท่านเวลาจะสั่งอะไรจะทำจิตประภัสสร แจ่มแจ้ง ไม่มีใครอยู่ในหัวใจ ไม่ได้คิดว่าฝ่ายไหนถูก ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายฉัน ฝ่ายไหนเป็นคนละฝ่าย ถ้าทำเช่นนี้ได้ก็ลองทำดู เพราะมนุษย์เราวอกแวกได้ใจไม่นิ่งและอำนาจที่ล้นฟ้าเกรงจะไปรังแกคนอื่นเขา เพราะคนที่เสพติดอำนาจมักจะเป็นเช่นนั้น และไม่เชื่อว่าคนธรรมดาจะไม่เสพติดอำนาจเพราะมีอยู่กับตัวก็ใช้ พอเห็นว่าใช้ได้ทุกอย่างก็จะยิ่งใช้ยิ่งเสพติด โดยเฉพาะคนรอบข้างไม่ค่อยกล้าขัดใจ ทั้งที่ความเห็นต่างนั้นเราควรรับฟังจากคนอื่นต้องฟังคนที่มีความเห็นตรงข้ามกับเราบ้าง จะได้เอามาดูว่าที่เขาว่ามานั้นจริงหรือไม่ ถ้ามันจริงหรือไม่จริงก็ตามจะได้นำมาแก้ไข ไม่ใช่ไปโกรธเขา เพราะคนเราเมื่อโมโหแล้วปัญญาไม่เกิด ขอให้ลดความโกรธลงขอให้รับฟังคนอื่น นี่คือหลักของการบริหารประเทศ เพื่อให้คนทุกคนในประเทศมีความสุข

การที่ดิฉันออกมาให้ความเห็นดังกล่าวขอเรียนว่า ไม่ได้มีเบื้องหลังไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ไม่ได้เคยเป็นมิตรกับใคร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ไม่เคยรู้จัก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ไม่เคยรู้จัก พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่เคยเป็นศัตรู ไม่เคยรู้จักกันเสียด้วยซ้ำ ที่ออกมาให้ความเห็น เพียงต้องการให้สังคมรู้ว่ากฎหมายเป็นอะไรอย่างไร อยากให้สังคมรู้ อยากให้ทุกคนเข้าใจเท่านั้นเอง นี่คือจุดประสงค์ที่แท้จริง ในเมื่อเราเป็นนักกฎหมายอยู่ในกระบวนการยุติธรรมมานานรู้เรื่องของศาล จึงต้องการนำหลักกฎหมายมาอธิบายให้เข้าใจและสอดคล้องกับภาวการณ์ของบ้านเมือง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!