- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 01 April 2015 09:33
- Hits: 3887
วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8890 ข่าวสดรายวัน
เลิกกฎอัยการศึก ทูลแล้ว เดินหน้ามาตรา 44 เผยอียูเป็นห่วง บิ๊กตู่สปีกอิงลิช ชี้แจงสื่อออสซี่ ศาลปค.แถลง พักราชการปธ. ยธ.ลุยโบนันซ่า
ตรวจคลอง - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ลงเรือตรวจคลองและเยี่ยมชมตลาดศิลปะคลองผดุงกรุงเกษม ที่จัดขึ้นตามแนวความคิดของพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. |
เผยทูลเกล้าทูลกระหม่อมยกเลิก ประกาศกฎอัยการศึกแล้ว 'พล.อ.ประยุทธ์'ยืนยันเดินหน้าใช้มาตรา 44 แต่เป็นไปในทางสร้างสรรค์เพื่อดูแลความมั่นคง เดินลงจากโพเดียมสปีกอิงลิชกับสื่อออสซี่ อธิบายโรดแม็ปสร้างประชาธิปไตยในไทย ด้าน 'วิษณุ เครืองาม' เผยขอบเขต ม.44 ด้านบวก 5 ด้าน เพื่อสร้างปรองดอง รักษาความสงบเรียบร้อย แก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในสังคม เร่งรัดการปฏิรูป ระงับและป้องกันปราบปรามการกระทำผิด ขณะที่ไอซีเจแถลงค้านทันที ระบุยิ่งละเมิดสิทธิประชาชน แนะคืนประชาธิปไตยมีรัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว ดีเอสไอ-ปทส.บุกตรวจสอบโบนันซ่าเขาใหญ่ อ้างได้รับร้องเรียนรุกป่าสงวน ศาลปกครองแจงมติพักราชการ'หัสวุฒิ'เพื่อไทยเผยทูตอียูไม่สบายใจกฎหมายใหม่แทนกฎอัยการศึกขอพูดคุย ระบุมีผลกระทบต่อจีเอสพีและเอฟทีเอ
'บิ๊กโชย'ชี้มาตรา 44 ไม่รุนแรง
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 31 มี.ค. ที่บก.กองทัพภาคที่ 1 พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผบ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) กล่าวถึงนายกฯ เตรียมนำมาตรา 44 มาใช้แทนกฎอัยการศึกว่า กกล.รส.มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ถ้ามีกฎหมายใดให้บังคับใช้ก็ต้องยึดหลักตามนั้นทำงาน รวมทั้งยึดหลักสิทธิมนุษยชน ขอยืนยันว่าการดำเนินต่างๆ เพื่อให้ประเทศชาติสงบสุข สถานการณ์เรียบร้อย เดินต่อไปข้างหน้าได้ ทุกคนในชาติมีความรักสามัคคี ไม่ทะเลาะกัน เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการปฏิรูป ขอย้ำว่าเราไม่มีหน้าที่ออกกฎหมาย หากแต่มีหน้าที่ปฏิบัติกฎหมาย
เมื่อถามว่า ใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อป้องกันกลุ่มต่อต้าน พล.ท.กัมปนาทกล่าวว่า เราประเมินสถานการณ์ทุกวัน พบว่าเรียบร้อยดี ยังไม่มีอะไรหนักใจ ส่วนการเคลื่อนไหวต่างๆ นั้น ตนรับทราบมาตลอด แต่เราจะเน้นการพูดคุย ทำความเข้าใจทุกกลุ่มทุกฝ่ายเป็นหลัก ส่วนข้อกังขาว่ามาตรา 44 รุนแรงเกินไปนั้น คิดว่าคนไทยมีความโอบอ้อมอารี ไม่ชอบความรุนแรง เชื่อว่าทุกคนรักบ้านเมือง ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบสุข ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ตนจะเน้นย้ำผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอว่าห้ามใช้ความรุนแรงที่นอกเหนือกฎหมาย
ยันจะไม่ส่งทหารไปถึงบ้าน
ผบ.กกล.รส. กล่าวว่า ส่วนการแสดงความเห็นในสื่อโซเชี่ยลมีเดียนั้น ตนจะเน้นย้ำการสร้างความเข้าใจ พูดคุยเป็นหลักเช่นกัน ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าสื่อออนไลน์หลายพวกเวลาส่งกันจะไม่มีการข้อมูลที่ถูกต้อง จนสังคมเกิดความสับสน เราต้องเข้าไปตรวจสอบว่าใครเป็นคนโพสต์ข้อมูลนั้น เพื่อหาดูต้นตอ แล้วพูดคุยทำความเข้าใจกัน
"บางคนที่เราเรียกมาพูดคุยแล้วบางทีก็ยังไม่เข้าใจเลย ต้องเล่าให้ฟังเป็นชั่วโมงถึงจะเข้าใจ เพราะเขาไม่รู้ว่าเรื่องจริงอย่างนี้ พอเขาเข้าใจแล้วดีขึ้น ทั้งนี้ จะไม่มีการเรียกคนมาปรับทัศนคติแล้ว แต่ให้มาพูดคุยกันแทน เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกัน เวลาที่ผมพูดกับใครแล้วต้องให้ความจริงใจต่อกัน ถ้าผมไม่จริงใจ ผมก็อยู่ไม่ได้" พล.ท.กัมปนาทกล่าวและว่า รูปแบบการพูดคุยจะใช้ 2 แนวทาง คือเราไปหาเขาบ้าง กับเขามาหาเราบ้าง ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ไปที่บ้าน เพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัวและอยู่เหนือนอกกฎหมาย และเป็นกระแสสังคมที่อ้างไปเอง
นักวิชาการค้านปิดทีวีแดง
วันเดียวกัน นางนันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง กล่าวว่า การสั่งพักใบอนุญาตออกอากาศสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ทีวี 24 สถานีประชาชน และพีซทีวี เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในช่วงที่ประชาชนต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง เพราะการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ เท่ากับสะท้อนถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย ขณะที่การระงับใบอนุญาตชั่วคราว 7 วัน ของ กสท. โดยอาศัยประกาศคำสั่งของ คสช.เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถือเป็นการนำข้อกำหนดนอกองค์กรมาใช้พิจารณาในกรณีที่ตัวเองดูแล
นายบุญเลิศ มโนสุจริตชน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทีวี 24 สถานีประชาชน กล่าวว่า ยืนยันพร้อมยอมรับและปฏิบัติตามมติที่ออกมา ขณะนี้ยังรอหนังสือแจ้งมติอย่างเป็นทางการจาก กสท.
'บิ๊กตู่'โบกพัดสงกรานต์
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี มีรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ก่อนการประชุม ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ นำคณะจาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เข้าพบนายกฯ เพื่อมอบบทเพลง "เจ้าฟ้าของคนเดินดิน" เพลงเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 5 รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยนายกฯ ได้ชมวีดิทัศน์ประกอบบทเพลง กล่าวชื่นชมว่าบทเพลงมีความไพเราะดี และถือเป็นการสร้างการรับรู้ที่ดีต่อคนไทยด้วย
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม และนายอภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นำคณะเข้าพบนายกฯ เพื่อมอบสื่อรณรงค์เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2558 พร้อมมอบของที่ระลึกและพัดรณรงค์เทศกาลสงกรานต์ ที่ระบุถึงแนวทางปฏิบัติที่ควรทำในเทศกาลสงกรานต์ โดยนายกฯ ได้เดินโบกพัด และชี้ไปที่พัดพร้อมกล่าวว่า "ให้ช่วยกันดูว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ อะไรที่สร้างความขัดแย้งก็อย่าทำ"
'ประยุทธ์'โต้สื่อออสเตรเลีย
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์แถลงข่าวภายหลังการประชุมครม. น.ส.ซาแมนต้า ฮอว์ลี่ ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากสำนักข่าวเอบีซี ออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้ถามถึงร่างรัฐธรรมนูญของไทยที่ร่างอยู่ขณะนี้ นายกฯ ทราบหรือไม่ว่าสังคมโลกห่วงและมีข้อกังวลกันมากว่าจะไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์เดินลงจากโพเดี้ยมมาฟังคำถามใกล้ๆ เนื่องจากได้ยินไม่ชัด และเมื่อเข้าใจคำถามชัดเจน ก็ได้ย้อนถามว่า ประชาธิปไตยในมุมมองของคุณคืออะไร ก็คือการมีเสรีภาพ แต่วันนี้การไปไหนมาไหน ตนไม่ห้าม รัฐธรรมนูญในวันนี้ต้องปฏิรูป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ พยายามอธิบายประชาธิปไตยของไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยพูดเป็นภาษาอังกฤษ และอธิบายด้วยสัญลักษณ์ โดยได้จับและปลดกระดุมเสื้อ เพื่อเปรียบเทียบว่าประชาธิปไตยไทยเหมือนการติดกระดุมเสื้อผิดเม็ด และบางทีไม่ใช่แค่ติดกระดุมเสื้อผิดเม็ด เพราะการติดกระดุมผิด ยังทำให้เห็นกางเกงก็จะดูไม่เรียบร้อย ก่อนจะชี้ให้ดูตาม จากนั้นนายกฯ เดินขึ้นไปยืนที่โพเดี้ยมเพื่อตอบข้อซักถามสื่อมวลชนต่อ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เดี๋ยวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลไปชี้แจง ไม่เช่นนั้นจะเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่แบบนี้ โดยให้ส่งเรื่องไปยังกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ยังไม่ต้องเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างออกมาพูด เพราะตนยังไม่ได้ดู บางครั้งส่งมาก็ยังไม่ได้อ่าน หลังจากนี้ต้องไปร่วมประชุมกมธ.ยกร่างฯที่ผ่านมาการสร้างการรับรู้รับทราบ กลับสร้างความเข้าใจผิด อย่างประเทศออสเตรเลียก็ไม่เข้าใจแล้ว
อย่าเพียงฟรีด้อม-เดโมเครซี่
นายกฯ กล่าวว่า ตนให้ประเด็นไปว่าให้ร่างรัฐธรรมนูญมาว่าอะไรที่เป็นปัญหาของประเทศ อะไรต้องเดินไปข้างหน้า จะใช้กฎหมายตัวไหนเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ระยะยาว ปฏิรูปครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 หรือ 3 ต้องไปทำกฎหมาย หาความรับผิดชอบมา รวมทั้งรัฐบาลจะไม่ทุจริตได้อย่างไร ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จะต้องไม่มีคนสนับสนุนผู้ใช้อาวุธสงครามต่อประชาชน เรื่องนี้ต้องอธิบายให้เข้าใจ โดยเฉพาะต่างชาติ อย่างออสเตรเลียที่มาตั้งคำถามวันนี้ บ้านเขาไม่เคยเกิดสถานการณ์แบบบ้านเรา ไม่เคยมีการประท้วงรัฐบาลและใช้อาวุธยิงต่อสู้กัน
"ต้องช่วยกันอธิบายให้เขาเข้าใจ อย่ามาพูดคำว่าฟรีด้อมอย่างเดียวหรือเดโมเครซี่ ผมนี่แหละเดโมเครซี่ถ้าไม่ วันนี้คงจะมานั่งอย่างนี้กับผมไม่ได้ ต้องช่วยกันบอกเขา มีอะไรบ้างที่ผมจำกัด มีแต่วิธีตรวจสอบเท่านั้น ตรวจสอบเสร็จก็เรียกมาคุยและปล่อยตัวกลับบ้าน ถ้าต้องติดคุกก็เป็นพวกที่มีคดี ทั้งคดีอาญาและมีหลักฐานจะปล่อยไปได้อย่างไร อย่างระเบิดครั้งที่แล้ว จับกุมได้และมีหลักฐานก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่ เห็นชัดเจนไล่ยิงกันอยู่ที่ศาลอาญา จะไปอุปโลกน์ใครและจับกุมได้ ไม่เคยฟังข้อเท็จจริง กล่าวหาว่าสร้างสถานการณ์ จะสร้างถึงขนาดยิงขากันเลย มันจะบ้าหรือเปล่า ขอให้เข้าใจกันบ้าง" นายกฯ กล่าวและว่า ขอให้ช่วยบอกต่างชาติว่า เราอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านเพื่อเป็นประชาธิปไตยสากล
ทูลเกล้าฯ เลิกกฎอัยการศึกแล้ว
นายกฯ กล่าวว่า มีการพูดกันว่ามาตรา 44 มีอำนาจเหนือสิ่งอื่นใดแสดงว่าเป็นเผด็จการ ยืนยันว่ามาตรา 44 จะใช้อย่างสร้างสรรค์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนใช้กับปัญหาความมั่นคง ถ้าเอาปืนมายิงกันอีก เกิดความวุ่นวาย ก็ต้องจับมันทันที เราจะใช้กฎหมายแบบนี้ ไม่เช่นนั้นต้องรอหมายศาล อย่างเหตุการณ์ที่ศาลอาญา ไปเจอกำลังของทางการแล้วใช้ปืนยิงสู้กันจนถูกขาผู้ต้องหาบาดเจ็บและพยายามวิ่งหนี มีเพื่อนขี่มอเตอร์ไซค์มารับ ก็ไม่ได้ชี้แจงให้ฟังเพราะเป็นการทำงาน แต่สังคมก็สงสัยอยู่ พวกตนไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำ ต้องช่วยกันอธิบาย เดี๋ยวต่างชาติจะไม่เข้าใจหาว่าตนบ้าอำนาจ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ในการไปสิงคโปร์ก็พบกับนายโทนี่ แอบบ็อตต์ นายกฯ ออสเตรเลีย ซึ่งอยากให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว ตนก็ตอบตกลง ขณะนี้กำลังเดินตามโรดแม็ปและสร้างประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย เป็นที่ยอมรับของสากล รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเก่า เดินหน้าในเรื่องใหม่ๆ
เมื่อถามว่าคำสั่งคสช.ฉบับใหม่โดยอาศัยมาตรา 44 จะใช้เมื่อไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เร็วๆ นี้ คำสั่งร่างเสร็จนานแล้ว รอเวลาจะประกาศเมื่อไร ขณะนี้ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม เพื่อยกเลิกกฎอัยการศึกไปตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว ขึ้นอยู่ว่าจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงมาเมื่อไร
แจงม.44-เนื้อหาเกี่ยวกับมั่นคง
นายกฯ กล่าวว่า ส่วนประกาศคสช.ฉบับใหม่โดยอาศัยมาตรา 44 นั้น ตนประกาศได้เอง ในคำสั่งจะมีเนื้อหา 5-6 ข้อ เกี่ยวกับความมั่นคง การใช้กำลังทหารเข้าไปทำงานได้ โดยไปช่วยงานข้าราชการต่างๆ ตำรวจยังใช้กฎหมายปกติ แต่เราจะเพิ่มอำนาจตรวจค้นจับกุมร่วมกัน และร่วมกันสอบสวนได้บ้าง และในการควบคุมตัวของพนักงานสอบสวนจะไม่ใช้ห้องขัง เพราะถือเป็น ผู้ต้องหา ส่วนศาลทหารจะมีเฉพาะคดีด้านความมั่นคง และตามคำสั่ง คสช.ฉบับใหม่ โดยศาลทหารจะไม่ใช้แค่ศาลเดียว แต่เป็นศาลทหารที่มี 3 ศาล ไม่ต้องมานั่งกลัว ไม่รู้จะกลัวกันทำไม ถ้ามันไม่ผิด ขอให้ไปช่วยกันบอกด้วย
เมื่อถามว่า ศาลทหารตามคำสั่ง คสช.ฉบับใหม่ จะคล้ายศาลยุติธรรมปกติใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า 1.เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น สามารถจับกุมได้ทันที ไม่ต้องไปขอหมายศาลเหมือนสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นคงหนีกันจนจับไม่ได้ 2.เมื่อจับมาแล้วก็จะสอบสวนที่ไม่ใช่สถานีตำรวจหรือห้องขัง เพราะถือเป็นแค่ผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัย ทหารจะไปซักร่วมกับตำรวจ ถ้าอันไหนที่ผิดตามคดีที่กำหนดไว้ว่าอย่าทำ มีการละเมิดจะต้องขึ้นศาลทหาร อะไรที่ผิดกฎหมายปกติ จะดำเนินคดีตามกฎหมายปกติ ดังนั้น ใครที่ขึ้นศาลทหารก็ไม่ต้องกลัวเพราะจะมีถึง 3 ศาล
ยิงบนรางรถไฟฟ้าแค่แอ๊กอาร์ต
เมื่อถามว่า อำนาจการจับกุมคุมขังตามคำสั่ง คสช. ฉบับใหม่ตามมาตรา 44 จะยังอยู่ในกรอบ 7 วันใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า 7 วันเท่าเดิม มันมีเขียนไว้ว่าหากควบคุมตัวไว้แล้วพูดคุยกันเรียบร้อย เข้าใจกันก็ปล่อยตัวได้ทันทีโดยไม่มีคดี เว้นแต่หากใช้อาวุธสงคราม เราปล่อยไม่ได้ เมื่อถามว่าไม่มีการขยายเวลาจาก 7 วัน เป็น 14 วันใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธว่า ไม่มี 7 วันก็เปลืองข้าวจะตายอยู่แล้ว ไม่อยากกักขังสักวัน ยืนยันอีกครั้งว่าทหารไม่เคยทำร้ายประชาชน และตนก็เป็นทหาร ถ้าคิดจะทำร้ายประชาชน ตนคงไม่ออกมาช่วย ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง ไม่ว่าจะเขตหรือสีไหนก็ไปช่วยทั้งหมด
ลุยโบนันซ่า - พ.ต.อ.ดุษฎี อารยะวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นำเจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และฝ่ายปกครอง เข้าตรวจสอบสนามแข่งรถ โบนันซ่า รีสอร์ทเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ว่ารุกพื้นที่ป่าหรือไม่ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. |
เมื่อถามว่าจะมอบให้กระทรวงการต่างประเทศหรือหน่วยงานใดชี้แจงให้ต่างประเทศเข้าใจหรือไม่ เพราะยังเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ต้อง ตนชี้แจงได้เพียงคนเดียว เพราะกระทรวงการต่างประเทศก็มองในแง่มุมของต่างประเทศ แต่เรื่องเหล่านี้ตนพยายามอธิบายมาตลอด
"ต้องไปบอกเขาให้เข้าใจว่ากฎหมายอาญาของเรา เวลาคนยิงใส่กัน ไม่ใช่ยกปืนเล็งใส่กัน แล้วตาย แล้วมาโทษว่าไอ้นี่ยิง ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิงก็กล่าวหาว่าไอ้ฝั่งนั้นผิด มันใช้ไม่ได้ กฎหมายเขาเขียนไว้ว่า จะต้องสำรวจวิถีกระสุน ดินปืน ระยะทาง ระยะห่าง เรื่องที่ยิงกันบนรถไฟฟ้า ไปหากันมา ข้อเท็จจริงคือไอ้นี่มันแอ๊กอาร์ตที่ขึ้นไปข้างบน แล้วรายงานว่าไปยิงกำพงกำแพง" นายกฯ กล่าว
รุดชี้แจงปชต.กับสื่อออสซี่อีก
เมื่อถามว่า การใช้คำสั่ง คสช.ฉบับใหม่ ในมุมมองของต่างชาติจะดีขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สื่อต้องช่วยอธิบาย ตนไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเดือดร้อนตรงไหน เรื่องนี้ตนเป็นคนรับผิดชอบ ชีวิตวันนี้ตนก็รับผิดชอบอยู่แล้ว ลูกเมียก็เดือดร้อน แต่ทำไมถึงยังต้องทำ ทำไมสื่อไม่ไปโจมตีรัฐบาลที่แล้วว่าทำอะไรกันบ้าง ทำไมรัฐบาลชุดที่แล้วถึงไม่แก้ปัญหา ทั้งการบินพลเรือน มัวแต่มาโจมตีตนอยู่ฝ่ายเดียว ยืนยันว่าสิ่งที่ตนพูดวันนี้ไม่ได้ซีเรียส ยังยิ้มได้อยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังให้สัมภาษณ์เสร็จสิ้น นายกฯ ยังเดินกลับเข้ามาอธิบายประชา ธิปไตยไทยกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอบีซีอีกครั้ง โดยระบุว่า ขอให้นักข่าวไทยที่มากับนักข่าวต่างประเทศช่วยอธิบายเรื่องนี้ด้วย ที่ผ่านมาการบริหารของฝ่ายการเมืองแบ่งพื้นที่บริหารงาน และดูแลกลุ่มคนของตัวเอง มันถึงเกาะกับการเมือง เป็นเผด็จการรัฐสภา การบริหารงานไม่ทั่วถึง ไม่เป็นธรรม ขอให้อธิบายถึงสิ่งที่ตนทำตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 กำลังลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม สร้างความเข้มแข็งภาคเศรษฐกิจ ปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขก็ทำทั้งหมด
"ถ้าเราปล่อยให้เป็นเสรีภาพ 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนปกติ จะเกิดวนมาใหม่ทันที ถ้าผมไม่มีอะไรมาเสริม จะมีม็อบหน้าทำเนียบ แล้วผมจะทำงานได้หรือไม่ บางอย่างมันต้องเร่งด่วน ต้องรอสนช. ออกกฎหมาย ผมก็ร่างเป็นคำสั่งออกมาดำเนินการเรื่องนั้นเรื่องนี้ก่อน" นายกฯ กล่าว
สั่งจดชื่อสื่อทำเนียบ-โต้คุม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนสั่งการรมต.ประจำสำนักนายกฯ เรื่องขอความร่วมมือสื่อมวลชนเ ระหว่างรอประชุมครม.เสร็จ เพื่อชี้แจงถึงการทำงานของรัฐบาลว่าได้แก้ปัญหาคืบหน้าถึงไหนแล้ว ส่วนตัวแทนรัฐบาลที่จะเป็นผู้ชี้แจงนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา ซึ่งทุกวันประชุมครม. จะจดชื่อนักข่าวทุกคนแบบก่อนเข้าห้องเรียน เรื่องนี้ทำจริงๆ ไม่ได้พูดเล่น จะเริ่มในวันประชุมครม.สัปดาห์หน้า หรือวันที่ 7 เม.ย. ที่ทำเนียบเราจะชี้แจงทำความเข้าใจระหว่างรัฐกับสื่อ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดและทำความเข้าใจข้อมูลต่างๆ ให้ถูกต้องครบถ้วน เพราะหากฟังแต่ตน ก็ได้แต่หัวข้อไปเขียนข่าว ซึ่งไม่ใช่การปรับกลยุทธ์ทางการให้ข่าวของรัฐบาล แต่อยากแบ่งให้คนอื่นได้ชี้แจงบ้าง เพราะตนพูดคนเดียวมานานแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้ทำเพื่อคุมอำนาจสื่อ เพราะรู้ว่าคุมไม่ได้ ยิ่งใหญ่จะตาย และไม่ใช่การละลายพฤติกรรมระหว่างรัฐกับสื่อด้วย อายุขนาดนี้คงละลายกันไม่ได้แล้ว ไม่ใช่เด็ก แต่ขอเพียงให้เข้าใจรัฐบาลเท่านั้นเอง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่ออกอากาศทุกคืนวันศุกร์ จากนี้จะปรับเปลี่ยนรูปแบบ ตนจะกล่าวแนะหัวข้อก่อนและให้รองนายกฯ และรมว.กระทรวงต่างๆ หมุนเวียนมาชี้แจงการทำงาน เพื่อให้ประชาชนรับทราบ ประมาณ 20-30 นาที
"ผมพูดเป็นชั่วโมงๆ ก็เหนื่อย ต่อไปนี้ในรายการให้ผมเปิดหัวข้อในแบบของผม เชิงนโยบายกว้างๆ และเพิ่มมาอีกช่วงรายการ เช่น วันศุกร์นี้เป็นเรื่องความมั่นคง ค้ามนุษย์ ไอยูยู แรงงานประมง อาทิตย์ต่อไปเป็นเรื่องเศรษฐกิจจะให้ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ มาพูดลงรายละเอียด ต่อไปเป็นเรื่องสังคม จิตวิทยา กฎหมาย การต่างประเทศจะเป็นแนวทางนี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เผยนายกฯสั่งวิษณุแจงม.44
ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุมครม.ว่า นายกฯ มอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงรายละเอียดการใช้อำนาจของคสช.ตามมาตรา 44 เบื้องต้นนายกฯระบุถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เป็น 2 ส่วนคือ 1.ใช้เพื่อแก้ปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน ที่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจหัวหน้าคสช.แก้ไขปัญหาด่วน 2.ใช้มาตรา 44 เนื่อง จากต่างประเทศกังวลกับคำว่ากฎอัยการศึก ซึ่งในบ้านเราเข้าใจว่าใช้เพียงไม่กี่มาตรา ใช้ 1-2 ข้อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นจับกุมหรือสืบสวนสอบสวน แต่ต่างประเทศไม่ได้สนใจ จึงหาแนวทางอื่นมาใช้แทนเพื่อให้ต่างประเทศสบายใจ จึงนำมาตรา 44 มากำหนดเป็นกฎหมายดำเนินการเฉพาะเรื่อง เพื่อให้บรรยากาศโดยรวมดูดีขึ้น
พล.ต.สรรเสริญ แถลงผลประชุมครม.ว่า พล.อ.ประยุทธ์แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่าการประชุมครม.ในเดือนเม.ย.นี้ ได้กำหนดวันประชุมในวันที่ 7,21 เม.ย.และในวันที่ 28 เม.ย.นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานการประชุม เนื่องจากมีภารกิจประชุมผู้นำอาเซียน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยเว้นในวันที่ 14 เม.ย.เนื่องจากเป็นวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์
'วิษณุ'เผย 5 ขอบเขตการใช้
เมื่อเวลา 16.30 น.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีพล.อ.ประยุทธ์ระบุทูลเกล้าทูลกระหม่อมขอยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้แจ้งเรื่องนี้ให้ครม.ทราบ แต่นายกฯปรารภถึงการใช้มาตรา 44 ว่ายังทำไม่เรียบร้อย เนื่องจากให้ผู้เกี่ยวข้องไปตรวจสอบตัวเลขสถิติและข้อมูลแล้วส่งมาให้ตน ทั้งนี้ มาตรา 44 เป็นบทบัญญัติที่กว้าง เมื่อนำมาใช้ต้องระบุว่าจะใช้ในเรื่องใด โดยนายกฯให้นำมาใช้ในทางสร้างสรรค์ คือ 1.ใช้เพื่อสร้างปรองดอง 2.ใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย 3.ใช้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในสังคม 4.เพื่อเร่งรัดการปฏิรูป 5.เพื่อระงับและป้องกัน ปราบปรามการกระทำผิด
นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อคนไม่ค่อยวางใจการใช้กฎอัยการศึก ไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง จึงนำมาคิดทบทวน อย่าได้ระแวงอีกว่าจะกำหนดมาตรการใหม่ที่แย่กว่าการใช้กฎอัยการศึกมาบังคับใช้ โดยมาตรการที่จะออกมารองรับต่อนั้น จะเบากว่า และอยู่ในระดับเดียวกับพ.ร.บ.ความมั่นคง กับพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ส่วนที่ไม่ใช้ทั้ง 2 ฉบับนี้ เพราะไม่มีมาตรการเยียวยาและบรรเทาความเสียหายที่เกิดมาแล้ว โดยมาตรการเยียวยาไม่ต้องรอเสนอกฎหมายเข้าสนช. ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือน แต่ต้องผนวกเข้าไปในเรื่องเดียวกัน จึงต้องพึ่งอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ยืนยันไม่มีอะไรที่ติงไว้ว่าเอาอำนาจพิเศษมาเล่นงานประชาชน เราต้องการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ไม่มีมาตรการเยียวยาและบรรเทาความเสียหายที่เกิดมาแล้ว
เมื่อถามว่า การใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ในการเยียวยา หมายความว่าจะมีลักษณะอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ตอบ ไม่ทราบ
ยันไม่ใช่'หนีเสือปะจระเข้'
เมื่อถามว่า ถือเป็นการหนีเสือปะจระเข้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "ไม่หนีเสือปะจระเข้ แต่จะเจอตัวอื่นหรือเปล่าก็ไม่รู้ ไม่ใช่เสือ ไม่ใช่จระเข้เลย" ต่อข้อถามว่ารัฐบาลจะแถลงความชัดเจนในเรื่องนี้อีกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า หมดแล้ว จากนี้รอฟังทางโทรทัศน์แล้วกัน
นายวิษณุ กล่าวถึงครม.มอบให้ไปหารือร่วมกับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในการปรับคำและรูปแบบเวทีประชาพิจารณ์ เนื่องจากเกรงจะเป็นจุดเริ่มต้นความเห็นที่ขัดแย้งว่า ที่ประชุมครม.เห็นว่าการที่กมธ.ยกร่างฯไปจัดเวทีประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ ต้องระวังไม่ให้เกิดความขัดแย้ง หากเป็นไปได้ อยากให้จัดเวทีในรูปแบบอื่น ทั้งนี้จะนัดหารือกับกมธ.ยกร่างฯว่าจะทำอย่างไร ตอนนี้การยกร่างรัฐธรรมนูญใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว จะถูกส่งเข้าสปช. ซึ่งจะมีการแปรญัตติต่อไป จากนี้ไปการแสดงความคิดเห็นใดๆ ต้องทำอย่างระวัง
เมื่อถามว่าจะต้องทำประชามติร่างรัฐ ธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่พูดไกลถึงขั้นนั้น การทำประชามติจะมีขึ้นเมื่อ ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว
สนช.ถกถอด'บุญทรง-ภูมิ'
เมื่อเวลา 15.30 น. ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติ หรือวิป สนช. แถลงภายหลังการประชุมว่า ในวันที่ 2 เม.ย.นี้ ที่ประชุม สนช.จะพิจารณาถอดถอน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 64, 66 ที่มีพฤติกรรมส่อทุจริตต่อหน้าที่ กระทำขัดรัฐธรรมนูญ โดยพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐาน
นพ.เจตน์ กล่าวว่า ขณะนี้นายมนัสยื่นขอเพิ่มเติมพยานเอกสาร 9 รายการ แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสนช.จะรับพิจารณาหรือไม่ จากนั้นนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.จะกำหนดวันแถลงเปิดคดี ตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม แถลงปิดคดีและลงมติถอดถอนหรือไม่ คาดว่ากระบวนการจะไม่เกินปลายเดือนเม.ย.นี้
นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีวาระพิจารณากฎหมายสำคัญ 3 ฉบับ 1.ร่างพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย 2. ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ 3.ร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ โดยองค์กรระหว่างประเทศจะตรวจสอบประเมินสถานการณ์ของไทย ในปี 2559 ด้วย รวมทั้งจะพิจารณา ร่างพ.ร.บ. การบริหารเงินทุนหมุนเวียน ขณะนี้มีหลายกองทุนที่มีเงินรวมถึง 3.3 ล้านล้านบาท จึงให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาเพื่อยกเลิกกองทุนที่หมดความจำเป็นลง
ปปช.ไม่เหมาเข่งสภาลูกเมีย
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงการแสวงหาข้อเท็จจริงสมาชิก สนช. แต่งตั้งเครือญาติและคนใกล้ชิดเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวว่า เจ้าหน้าที่กำลังแสวงหาข้อเท็จจริงอยู่ หลังจากนี้จะขอเอกสารคำสั่งการแต่งตั้งจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตรวจสอบว่าบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง มีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบหรือไม่
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณี สปช.ด้วยนั้น ป.ป.ช. จะนำเรื่องมารวมกับกรณีร้องเรียน สนช.ด้วย เพราะคล้ายกัน ทั้งนี้ จะตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนว่าเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เนื่องจากหากร้องเรียนในกรณีผิดจริยธรรมอย่างเดียว ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจตรวจสอบ แต่หากพบว่าการตั้งบุคคลขัดต่อคุณสมบัติก็เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน และมีมูลเหตุทุจริต แต่หากตั้งโดยถูกต้อง ก็ดูว่ามีพฤติการณ์แสวงหาผลประโยชน์หรือไม่ หากคุณสมบัติครบถ้วนทุกอย่าง ถือว่าไม่มีความผิด การตรวจสอบจะดูเป็นรายๆ ไป ถ้าผิดก็จะผิดเป็นรายบุคคล ไม่ได้รวมทั้งหมด
แฮปปี้แลนด์ - งานสัปดาห์นิทรรศการการเมือง ประจำปีการศึกษา 2557 "Happy Land ดินแดนแห่งความสุข" จัดโดย ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยในงานยังมีการแสดงงิ้วเรื่อง "เดชนางพญางูขาว" ด้วย เมื่อวันที่ 31 มี.ค. |
ส่วนที่ สนช.และสปช. ให้เครือญาติพ้นจากตำแหน่งแล้ว จะตรวจสอบย้อนหลังได้หรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า ป.ป.ช.ก็ต้องตรวจสอบ เพราะมีการตั้งและรับเงินเดือนไปแล้ว แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคุณสมบัติ และได้ทำหน้าที่จริง ก็ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
พท.แนะทีมศก.ให้ข้อมูลจริงๆบิ๊กตู่
วันเดียวกัน น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะนำมาตรา 44 มาใช้อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักยิ่งกว่ากฎอัยการศึกได้ จึงอยากให้ศึกษาผลกระทบให้ดี และอยากให้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับนายกฯ เช่น เศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้ตกต่ำ ตรงกันข้ามมีการขยายตัวดีกว่า 3% ในปีนี้ ทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐเพิ่มขึ้นทั้งเดือนม.ค.-ก.พ. ไม่ได้ลดลงเหมือนส่งออกไปจีนที่ติดลบทั้ง 2 เดือน อีกทั้งโครงการรถยนต์คันแรก รัฐนำภาษีที่ได้รับจากการขายรถยนต์คืนให้ผู้ซื้อ เป็นการคืนภาษี และบางคันก็คืนไม่หมด อีกทั้งรัฐยังได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม รัฐไม่ได้ควักเงินงบประมาณออกมาจ่าย จึงอยากให้เข้าใจให้ถูกต้อง
"การที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำประกอบกับมีปัญหาการเมือง การลงทุนจากต่างประเทศจึงโยกย้ายไปอินโดนีเซียและประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้น แต่เป็นอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย เป็นสัญญาณอันตรายต่ออนาคตของประเทศ จึงอยากเรียกร้องให้กลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วนเพื่อดึงความมั่นใจจากต่างประเทศกลับมา และ มาตรา 44 อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจากต่างประเทศได้" น.ส.อนุตตมากล่าว
เผยอียูกังวลผลกระทบมาตรา44
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า ทูตสหภาพยุโรป (อียู) ได้เชิญแกนนำพรรคเพื่อไทย ไปพูดคุยถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศ ซึ่งก่อนหน้าทูตอียูได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับพรรคและกลุ่มต่างๆ มาแล้ว โดยได้สอบถามถึงปัญหาการร่างรัฐ ธรรมนูญ การประกาศใช้กฎอัยการศึกว่าส่งผลกระทบกับประเทศอย่างไร รวมถึงเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์เตรียมประกาศใช้มาตรา 44 แทนกฎอัยการศึกจะเกิดผลกระทบอย่างไร เพราะที่ผ่านมาทูตอียูได้รับทราบถึงสถานการณ์ในไทยช่วงประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้วว่าส่งผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจ การค้าและการส่งออก
รายงานข่าว แจ้งว่า ทูตอียูแสดงความเป็นห่วงไทยในฐานะประเทศคู่ค้า เพราะประเทศในกลุ่มอียูไม่เคยมีกฎหมายที่ให้อำนาจผู้นำครอบคลุมในทุกเรื่อง จึงกังวลว่าหากใช้มาตรา 44 จริง อาจมีผลกระทบต่อเรื่องจีเอสพีและเอฟทีเอในอนาคต ทั้งนี้ ทูตอียูยังกังวลว่าตราบใดที่ไทยยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะผู้ส่งออกไทย
'เต้น'เชื่อกสท.ถูกกดดันปิดทีวี
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ให้พีซทีวีและทีวี 24 สถานีประชาชนงดออกอากาศ 7 วันเนื่องจากมีหลายรายการเข้าข่ายยั่วยุ ขัดต่อประกาศของคสช.ว่า ที่ผ่านมาโทรทัศน์ดาวเทียมทางการเมืองทุกช่องมีเนื้อหาวิจารณ์สถานการณ์การเมืองในแง่มุมต่างๆ ตลอด ระดับความเข้มข้นแทบจะไม่แตกต่างกัน บางช่องมีเนื้อหาดุเดือดกว่าด้วยซ้ำ แต่คำสั่งให้ยุติการออกอากาศนั้น เกิดขึ้นเฉพาะ 2 ช่อง เข้าใจว่ากสท.คงถูกกดดันให้มีมติเช่นนี้
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ถือเป็นอีกสัญญาณหนึ่งว่าฝ่ายรัฐเลือกใช้อำนาจจัดการทุกอย่าง แทนการเปิดช่องให้คนเห็นต่างได้สื่อสารบ้าง เพื่อคลายความกดดัน ถือเป็นเรื่องธรรมดาถ้าผู้มีอำนาจไม่สามารถสร้างความยอมรับหรือความเชื่อมั่นจากประชาชนได้ด้วยการบริหาร ก็จะใช้กำลังเพื่อควบคุมปฏิกิริยาต่างๆ ที่มีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ทั้งที่ผ่านมาเราไม่ได้ปลุกปั่น ยุยง หรือเคลื่อนไหวใต้ดินหรือคลื่นใต้น้ำ เราคิดเห็นอย่างไรก็เสนอผ่านรายการเท่านั้น ซึ่งทีมงานของทั้ง 2 ช่องจะใช้ช่วงเวลาที่ยุติการออกอากาศนี้ สรุปแนวทางการดำเนินงานที่ผ่านมา และกำหนดยุทธศาสตร์ผลิตเนื้อหาเพื่อออกอากาศภายใต้จุดยืนประชาธิปไตยต่อไป
อนุสรณ์ อัดวิษณุ-บวรศักดิ์
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนายวิษณุระบุหากทำประชามติ ในช่วงรณรงค์ประชามติอาจมีความเห็นต่างและขัดแย้งจนสวนทางปรองดองว่า เป็นธรรมดาที่ต้องมีคนเห็นต่างบ้าง แต่ต้องมองการทำงานของเครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย เป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่หรือไม่ แทนที่จะโทษประชาชนหรือมองนักการเมืองเป็นศัตรู ท่าทีของนายบวรศักดิ์ที่ปลุกระดมสปช.ให้ผนึกกำลังสู้ หากพ่ายแพ้นักการเมืองตายหมู่ ถือเป็นทัศนคติที่เป็นลบ ต้องระมัดระวัง
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ถ้ากล่าวหาส.ส. ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นสภาผัวเมีย แต่สภาที่ลักไก่ตั้งลูกและภรรยา มากินเงินเดือนรับรายได้ จากภาษีประชาชน ตั้งแต่ 15,000-24,000 บาท บางคนตั้งคนเพียงคนเดียวควบ 3 ตำแหน่ง อ้างว่าไม่รู้ ไม่มีกฎหมายห้าม ทั้งที่เงินประจำตำแหน่ง สนช. สปช.เดือนละ 113,560 บาท ไม่รวมเบี้ยประชุมกมธ.ปกติคนละ 1,500 บาทต่อครั้ง เซ็นชื่อเบิกเบี้ยประชุมกรณีวิ่งไปประชุมได้อีกคนละ 2 คณะต่อวัน เฉพาะตัวนายบวรศักดิ์ ได้เบี้ยประชุมในฐานะประธานกมธ.ยกร่างฯ ครั้งละ 9,000 บาท กมธ.ยกร่างฯ ได้เบี้ยประชุมครั้งละ 6,000 บาท เฉพาะประชุมกมธ.ยกร่างฯ อย่างเดียว ผ่านไป 80 ครั้ง นายบวรศักดิ์ มีรายได้เฉพาะค่าเบี้ยประชุม 720,000 บาท และจะเดินหน้าประชุมต่ออย่างไม่เหน็ดเหนื่อย แบบนี้ชาวบ้านก็มีสิทธิ์คิดต่างได้หรือไม่ว่า ค่าแรงสูง แต่ผลงานสวนทางกับค่าจ้าง ยิ่งประชุมมาก ยิ่งใช้เวลานานมาก ชาวบ้านก็รอจนเบื่อ ขณะที่กมธ.ได้รับความสุขกันถ้วนหน้า
กมธ.ยกร่างพร้อมรับฟังข้อเสนอ
ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวก่อนประชุมกมธ.ยกร่างฯ ถึงกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญและการเดินสายรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 4 ภาคว่า ขณะนี้การยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 315 มาตรายังไม่นิ่ง และยังมีความเห็นต่างหลายประเด็น อาทิ คุณสมบัติผู้สมัครส.ส. ที่กำหนดให้จบปริญญาตรี แต่ประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วย อยากให้จัดเวทีรับฟังความเห็นของสปช. และกมธ.ยกร่างฯ ได้ทำแบบสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในคำถามเดียวกัน รวมทั้งอยากให้สปช.จังหวัด มีส่วนในเวทีต่างๆ ทั้ง 4 ภาค
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายยังเสนอความเห็นการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญได้จนถึงวันที่ 23 ก.ค. เพราะบางมาตราอาจต้องทบทวน เช่น ที่มา ส.ว. เนื่องจากมีเสียงวิจารณ์และข้อเสนอแนะมาที่กมธ.ยกร่างฯมาก โดยเฉพาะการให้อดีตนายกฯ อดีตประธานรัฐสภาและอดีตผู้นำเหล่าทัพ มาดำรงตำแหน่งนี้ได้ ตนยืนยันว่าการเปิดให้บุคคลเหล่านี้เข้ามา เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง หากไม่เปิดให้เข้ามา จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ยังไม่สามารถเสนอได้จนกว่ารัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ ขณะนี้ทำได้เพียงเตรียมความพร้อม หากสุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญตกไป เท่ากับกฎหมายลูกที่เตรียมไว้จะไม่มีผล แต่หากผ่านความเห็นชอบก็จะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ทันที ตนทำหนังสือถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ว่า กมธ.ยกร่างฯพร้อมเปิดให้สมาชิกทั้ง 2 สภาเข้าร่วมเป็นอนุกมธ.จัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ยอมรับว่ากฎหมายบางฉบับ กมธ.ยกร่างฯอาจต้องดำเนินการเอง คาดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่การทำประชามติ แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกฯ
ต้องโหวต-สัดส่วนสตรีให้1ใน 3
จากนั้น นายบวรศักดิ์ เป็นประธานประชุมกมธ.ยกร่างฯ มีวาระการพิจารณาทบทวนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ยังไม่ได้ข้อยุติ รวมทั้งมาตราที่มีเสียงวิจารณ์ มีประเด็นน่าสนใจคือ การหาข้อสรุปในมาตราว่าด้วยการกำหนดสัดส่วนเพศตรงข้ามในผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และมาตราที่กำหนดสัดส่วนสตรีในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
นายบวรศักดิ์ ชี้แจงว่า ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ กมธ.ยกร่างฯจะขอประชุมภายในเพื่อเร่งพิจารณาร่างบทบัญญัติที่ยังไม่ได้ข้อยุติ หรือเป็นประเด็นที่มีเสียงวิจารณ์ให้ปรับแก้ให้เสร็จโดยเร็ว แต่หากไม่เสร็จก็อาจนัดสมาชิกประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
เมื่อเวลา 16.20 น. น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และนางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่างฯ แถลงถึงการทบทวนร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นสัดส่วนสตรีว่า เป็นครั้งแรกที่ที่ประชุมลงมติลับ ซึ่งมาตรา 76 กำหนดให้ใช้ถ้อยคำกำหนดสัดส่วนสตรีหรือเพศตรงข้าม ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ในบัญชีรายชื่อระดับประเทศ มีมติเห็นด้วย 17 เสียง ไม่เห็นด้วย 15 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง ดังนั้น ในอนาคตพรรคต่างๆ ต้องส่งสตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยจัดสัดส่วนสตรีให้ครบทั้ง 6 บัญชีใน 6 ภูมิภาค มิเช่นนั้นพรรคนั้นจะไม่สามารถส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้ ขณะที่มาตรา 112 กำหนดสัดส่วนผู้หญิงในระดับท้องถิ่น ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วย 22 ต่อ 10 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง เนื่องจากในทางปฏิบัติอาจไม่มีผู้หญิงสมัครในระดับท้องถิ่น เพียงพอ
ม.193ให้กมธ.ต่างประเทศอนุมัติ
น.ส.สุภัทรา กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรา 166 กมธ.แก้ไขร่างจากเดิมกรณีที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากเสียงในสภาไม่เห็นด้วย สภาจะต้องสิ้นสภาพไปพร้อมนายกฯ โดย กมธ.แก้ไขว่าหากสภาไม่ไว้วางใจนายกฯ สภาจะยังคงสถานะอยู่เช่นเดิม และให้บุคคลที่ฝ่ายค้านเสนอชื่อเป็นนายกฯ แนบท้ายญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นนายกฯแทน ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2550
นอกจากนี้ ยังแก้ไขมาตรา 193 จากเดิมรัฐบาลจะทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยแก้ไขให้ตั้งกมธ.ต่างประเทศ รัฐสภา ให้ความเห็นชอบแทนรัฐสภา เนื่องจากมีภารกิจค่อนข้างมาก นำผู้มีความรู้เชี่ยวชาญเรื่องต่างๆ จากภายนอกมาเป็นกมธ.ชุดดังกล่าวด้วย
น.ส.สุภัทรากล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังแก้ไขเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรี กำหนดให้บุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรี ต้องไม่เคย จำคุก เว้นแต่เป็นความผิดที่กระทำโดยความประมาท ความผิดลหุโทษ และหมิ่นประมาท จะต้องพ้นโทษมาแล้ว 5 ปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง รวมถึงเห็นชอบให้ปรับแก้ถ้อยคำเรื่องการกำหนดหน้าที่ของนายกฯและรัฐมนตรี ในบางส่วน โดยไม่กำหนดให้การเข้าร่วมประชุมสภา วุฒิสภา และรัฐสภา ของนายกฯและรัฐมนตรี เป็นหน้าที่และเป็นภารกิจสำคัญเหนือภารกิจอื่น จากเดิมกำหนดให้เป็นหน้าที่และภารกิจสำคัญเหนือภารกิจอื่นใด ของนายกฯและรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าหากกำหนดสภาพบังคับดังกล่าว อาจมีผลต่อการทำงานของรัฐบาล
ยธ.บุกสอบ'โบนันซ่า'รุกป่า
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยพ.อ. สมหมาย บุษบา ที่ปรึกษากฎหมาย กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) นายช่างรังวัดชำนาญงาน กรมที่ดิน ช่วยราชการกองทัพภาค 2 เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตำรวจบก.ปทส. และ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมกว่า 100 นาย เข้าตรวจสอบโบนันซ่าเขาใหญ่ ตั้งอยู่เลขที่ 235 หมู่ 11 ถ.ธนะรัชต์ ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา หลังได้รับการร้องเรียนว่าบุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่โบนันซ่าเขาใหญ่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำสนามแข่งรถโบนันซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล สปีดเวย์ โดยด้านหลังจัดทำเป็นห้องพัก 15 หลัง มีพื้นที่ติดกับเขาเสียดอ้า เขานกยูง เขาอ่างหิน และอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร รวมพื้นที่ทั้งหมด 151 ไร่ ทั้งนี้ พ.ต.อ.ดุษฎีพร้อมคณะใช้เวลาลงพื้นที่ตรวจสอบ 20 นาที โดยมีนายอารักษ์ เตชะณรงค์ และน.ส. พัทธมน เตชะณรงค์ น้องชายและบุตรสาวของนายไพวงษ์ เตชะณรงค์ เจ้าของโบนันซ่าเขาใหญ่ มาพบเจ้าหน้าที่ พร้อมนำเอกสารสิทธิบางส่วนมาให้ตรวจสอบ
จากการตรวจสอบจุดที่ 1 พื้นที่บริเวณซอกภูเขา มีการบุกรุกสร้างบ้านพัก 15 หลัง อีกทั้งเป็นจุดที่นายสงกรานต์ เตชะณรงค์ ลูกชายนายไพวงษ์ ใช้เป็นสถานที่จัดงานวิวาห์เมื่อ 2-3 ปีก่อน จุดที่ 2 เป็นสนามแข่งรถโบนันซ่าฯ ซึ่งมักใช้จัดคอนเสิร์ต
พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวว่า ตรวจสอบพบพื้นที่บ้านพักติดกับเขาเสียดอ้า เขานกยูง เขาอ่างหินและอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ไม่สามารถออกโฉนดหรือเอกสารสิทธิได้ ส่วนพื้นที่สนามแข่งรถทราบว่าปี 2545 เป็นพื้นที่ลำรางน้ำและทางสาธารณะ จากนี้จะให้เจ้าของโบนันซ่านำเอกสารสิทธิการครอบครองพื้นที่มาตรวจสอบเปรียบเทียบเอกสารทางราชการ หากพบมีการกระทำผิดก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย
ด้านพ.ต.อ.สุทธิโรจน์ นพโพธิ์พงษ์ รอง ผบก.ปทส. กล่าวว่า ต้องดำเนินคดีตามพ.ร.บ. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่ป่าถูกบุกรุก ส่วนขั้นตอนต้องตรวจสอบและรวบรวมเอกสารให้ครบถ้วน บ้านที่ปลูกในพื้นที่บุกรุกต้องรื้อถอนต่อไป
ขณะที่น.ส.พัทธมนกล่าวว่า อยากขอความเป็นธรรมให้ธุรกิจครอบครัว หากผิดหรือถูก ขอให้เป็นไปตามกฎหมาย มั่นใจว่าถูกกฎหมาย พร้อมยินดีให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ เนื่องจากที่ดินและเอกสารสิทธิครอบครองซื้อต่อจากชาวบ้าน บางรายมาขอร้องให้ช่วยซื้อ จึงซื้อที่ดินมาทีละแปลง อีกทั้งการซื้อทุกครั้งจะได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตลอด ส่วนสนามแข่งรถ สร้างมา 3 ปีแล้ว ปีหนึ่งแข่ง 2-3 ครั้ง อยากให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียดก่อน แต่ตอนนี้เอกสารทั้งหมดอยู่ที่กรุงเทพฯ
ศาลปค.แจงมติพักราชการ'หัสวุฒิ'
วันที่ 31 มี.ค. สำนักงานศาลปกครอง เผยแพร่มติคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ที่มีคำสั่งที่ 8/2558 ลงวันที่ 30 มี.ค. 2558 เรื่อง ให้พักราชการ นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ลงนามโดยนายชาญชัย แสวงศักดิ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่ 2 ที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการตุลาการศาลปกครอง
มีเนื้อความ ดังนี้ ตามที่ ก.ศป.ในการประชุมครั้งที่ 170-5/2557 วันที่ 14 พ.ค.2557 พิจารณากรณีตุลาการศาลปกครองเข้าชื่อให้ ก.ศป.สอบข้อเท็จจริงกรณีปรากฏทางสื่อมวลชนว่านายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ทำหนังสือ 2 ฉบับ ถึงรองผบ.ตร.และผบ.ตร. ตามลำดับ โดยอ้างว่า นายหัสวุฒิ มีความประสงค์จะสนับสนุน พ.ต.ท.ชูธเรศ ยิ่งยงดำรงกุล รอง ผกก.ป.สน.หัวหมาก เพื่อนกับหลานชายให้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้กำกับการ
พิจารณาแล้วหากเป็นความจริงดังที่นายดิเรกฤทธิ์กล่าวอ้าง อาจเข้าข่ายตามที่กำหนดในข้อ 3(1) แห่งระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544 สมควรสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่ามีมูลดังที่นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวอ้างหรือไม่ จึงมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วย นายนพดล เฮงเจริญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน นายวรวิทย์ กังศศิเทียม และนายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการรายงานผลสอบข้อเท็จจริงต่อ ก.ศป. ในการประชุมครั้งที่ 181-2/2558 วันที่ 21 ม.ค. 2558 ก.ศป.มีมติรับทราบและมอบให้สำนักงานศาลปกครองในฐานะฝ่ายเลขานุการ ก.ศป.ขอข้อมูลเพิ่มเติม
จากนั้น ก.ศป.ในการประชุมครั้งที่ 182-3/2558 วันที่ 18 ก.พ.2558 พิจารณารายงานผลการสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานศาลปกครองนำเสนอต่อ ก.ศป.แล้ว ก.ศป.เสียงข้างมากเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฝ่ายข้างมาก เห็นว่าเป็นกรณีมีมูลที่อาจเข้าข่ายตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3(1) แห่งระเบียบ ก.ศป.ฯ และถึงขั้นที่จะให้ตุลาการฯพ้นจากตำแหน่ง จึงมีมติให้ดำเนินการตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ข้อ 5 วรรคสอง และข้อ 6 วรรคหนึ่ง (4) แห่งระเบียบ ก.ศป. ดังกล่าว และได้มีคำสั่ง ก.ศป.ลับที่ 9/2558 ลงวันที่ 17 มี.ค. 2558 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว
ต่อมา ก.ศป.ในการประชุมครั้งที่ 184-5/2558 วันที่ 30 มี.ค. 2558 เสียงข้างมากเห็นว่าปรากฏพยานหลักฐานเป็นที่ชัดแจ้งว่า ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด มีอำนาจหน้าที่บริหารงานของศาลปกครองและพิจารณาพิพากษาอรรถคดี การให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปย่อมเป็นการไม่เหมาะสม ทำให้ประชาชนเสื่อมความเชื่อถือและศรัทธา รวมทั้งเกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของศาลปกครองซึ่งเป็นองค์กรตุลาการ การให้นายหัสวุฒิปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจึงเป็นการเสียหายแก่ราชการ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 24 วรรคสาม แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ก.ศป. มีมติให้พักราชการนายหัสวุฒิ ตุลาการศาลปกครองผู้ถูกกล่าวหา ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่า ก.ศป.จะพิจารณากรณีนายหัสวุฒิ ถูกกล่าวหาแล้วเสร็จ
หากนายหัสวุฒิ ประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งนี้ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครองกลาง หรือส่งทางไปรษณีย์ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนี้ อนึ่ง ก.ศป.มีมติให้ นายปิยะ ปะตังทา รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด ในระหว่างที่นายหัสวุฒิ ถูกสั่งพักราชการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุม ก.ศป.มีมติพักราชการนายหัสวุฒิ ไปเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ปรากฏว่าตลอดทั้งวันนายหัสวุฒิไม่ได้เข้ามาทำงานที่สำนักงานศาลปกครอง ขณะเดียวกันผู้บริหารสำนักงานก็ยังไม่ได้เรียกประชุมข้าราชการศาลปกครอง เพื่อชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับนายหัสวุฒิจากนี้จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ที่มีนายชาญชัย แสวงศักดิ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด คนที่ 2 เป็นประธาน และมีผู้แทนของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย ตามระเบียบสอบสวนจะใช้เวลา 60 วัน โดยนายหัสวุฒิสามารถยื่นอุทธรณ์ หรือโต้แย้งได้ภายใน 90 วันนับแต่ ก.ศป.มีคำสั่งพักราชการ
'มาร์ค'ขอโทษแทน'ชายหมู'
วันที่ 31 มี.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ขอโทษชาวกรุงเทพมหานคร ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาต้องเผชิญกับปัญหาภาวะน้ำท่วมขัง เนื่องจากพายุที่เข้ามาในกรุงเทพฯ เกิดปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวันและคาดหวังให้กรุงเทพฯ แก้ไขปัญหานั้น ในฐานะพรรคประชาธิปัตย์เป็นต้นสังกัดของ ผู้ว่าฯ กทม. ตนขออภัยทุกคนต่อคำพูดที่เกิดขึ้นในการแถลงข่าวของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากรู้สึกไม่พอใจ
นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า เข้าใจดีว่าการแก้ไขปัญหาในภาวะดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย และผู้ว่าฯ กทม.คงรู้สึกเหนื่อยและเครียดในช่วงที่เกิดปัญหาขึ้น แต่นักการเมืองที่อาสามารับใช้ประชาชน มีหน้าที่ทำงาน ต้องอดทนอดกลั้นต่อปัญหาอุปสรรค รวมถึงคำถามของผู้สื่อข่าวด้วย เชื่อว่าผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้มีเจตนาทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ดี แต่ไม่อาจหนีหลักความรับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชนที่เกิดขึ้นได้
"ในฐานะหัวหน้าพรรคผมขอโทษต่อชาวกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเมื่อให้ความไว้วางใจต่อพรรค เลือกผู้ว่าฯ ที่สมัครในนามพรรคถึง 4 ครั้งติดต่อกัน พรรคและผู้ว่าฯกทม.จะเดินหน้าปรับปรุงการทำงานเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการแสดงออกต่อสาธารณชน" นายอภิสิทธิ์ระบุ
เมื่อเวลา 17.00 น. ที่บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วย ครม.และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เยี่ยมชมตลาดศิลปะคลองผดุงกรุงเกษม พร้อมรับฟังรายงานสรุปงานตลาดวิถีข้าว วิถีไทย จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เปิดจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา
จากนั้นทั้งหมดลงเรือท้องแบนจากท่าเรือคลองผดุงฯ ไปจนถึงท่าเรือหัวลำโพง เพื่อตรวจเส้นทางที่เตรียมเปิดเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำด้วย ถือเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หลังกรณีเกิดน้ำท่วมขังกรุงเทพฯ
ไอซีเจแถลงค้านม.44-ชี้ยิ่งละเมิด
วันที่ 31 มี.ค. คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ไอซีเจ ออกแถลงการณ์ ประเทศ ไทย : ยกเลิกกฎอัยการศึกและนำประเทศกลับสู่อำนาจพลเรือน โดยนายวิลเดอร์ เทเลอร์ เลขาธิการ ไอซีเจ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกและนำประเทศกลับสู่การปกครองโดยพลเรือน แทนที่จะใช้อำนาจโดยอำเภอใจตามมาตรา 44 ซึ่งการนำมาตรา 44 มาใช้บังคับแทนที่ ไม่ได้ช่วยจัดการปัญหาการละเมิดอย่างร้ายแรง อันเป็นพันธกรณีของไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ มาตรา 44 ถูกร่างขึ้นอย่างกว้างมาก ให้อำนาจแก่หัวหน้าคณะรัฐบาลทหารมากขึ้นกว่ากฎอัยการศึกด้วยซ้ำ
นายเทเลอร์ กล่าวว่า มาตรา 44 อนุญาตให้หัวหน้าคสช. ออกคำสั่งใดๆ ที่ต้องการได้โดยอ้างว่าเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีของประชาชนและความมั่นคงของชาติ รวมทั้งให้ถือว่า คำสั่งใดๆ ที่ออกมานั้นชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการกำจัดโอกาสในการตรวจสอบของฝ่ายตุลาการ
"มาตรา 44 ละเมิดเสาหลักพื้นฐานของหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน รวมถึงหลักความเสมอภาค การตรวจสอบได้ และการคาดการณ์ได้ และมาตรา 44 อาจยินยอมให้มีการปกครองตามอำเภอใจโดยหัวหน้าคสช. ด้วย ดังนั้น การใช้บทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่อาจถือเป็นการแก้ปัญหาการใช้กฎอัยการศึกอย่างแท้จริง อย่างน้อยที่สุดเคยมีการใช้บังคับมาแล้วตั้งแต่ปี 2457 และมีระดับความชัดเจนในขอบเขตและการบังคับใช้" นายเทเลอร์กล่าว และว่า คสช.ควรยกเลิกกฎอัยการศึกและให้คำมั่นอย่างแน่ชัดว่าจะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย หมายถึงการหลีกเลี่ยงการใช้มาตรา 44 ไม่ว่าในทางใดๆ ก็ตาม
เลขาธิการไอซีเจ กล่าวว่า สถานการณ์ของไทยยังไม่ถึงเกณฑ์ที่สูงมากที่จะทำให้งดเว้นสิทธิบางประการตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐไทยให้คำมั่นสัญญามาตลอดว่าจะคืนหลักนิติธรรมอย่างรวดเร็วและจะเคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศ แต่การแทนที่กฎอัยการศึกด้วยมาตรา44 ไม่ได้แสดงถึงการปรับปรุงหลักนิติธรรมหรือให้ความเคารพแก่สิทธิมนุษยชนเลย