WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8887 ข่าวสดรายวัน


พท.-ปชป.รุมคัดค้าน อัด'ม.44'ปูเฟซบุ๊ก-แนะบิ๊กตู่ 
ดูรายงานแก้ค้ามนุษย์ สปช.เตือนกมธ.ยกร่าง ไม่ปรับรธน.ระวังถูกยุบ โพลชี้คะแนนนิยมคสช. ลดต่ำสุดรอบ 10 เดือน

      พรรคการเมืองรุมค้าน'บิ๊กตู่'ใช้ม.44 แทนกฎอัยการศึก'จาตุรนต์'ชี้ขัดหลักนิติรัฐ หวั่นเผด็จการเบ็ดเสร็จ'ณัฐวุฒิ'ชี้อำนาจครอบจักรวาล แนะใช้พ.ร.บ.มั่นคง-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปชป.บอกขออยู่ใต้อัยการศึกดีกว่า 'ปู'เฟซบุ๊กโต้ปมค้ามนุษย์ แนะ'บิ๊กตู่'กลับไปอ่านรายงานของรัฐบาลชุดที่แล้ว'บวรศักดิ์'รับรธน. ไม่เพอร์เฟ็กต์ ยันไม่บัญญัติ'สถานการณ์วิกฤต'ในประเด็นที่มานายกฯ'สังศิต'ขู่กมธ.ยกร่างฯ ไม่ปรับแก้หลังอภิปรายร่างแรก ถึงขั้นถูกยุบทั้งกมธ. ทั้งสปช.แน่ โพลชี้คะแนน คสช.ลดต่ำสุดในรอบ 10 เดือน

'บิ๊กตู่'เตรียมบินมาเลย์-สิงคโปร์ 

      วันที่ 28 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากจ.ประจวบคีรีขันธ์ว่า ช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกรอบตีกอล์ฟร่วมกับ ครม.และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการส่วนตัว ที่สนามกอล์ฟคลับเฮ้าส์ สวนสนประดิพัทธ์ โดยไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องร่วมสังเกตการณ์ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของทำเนียบรัฐบาล คสช.และเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล รวมทั้งสื่อมวลชน 

       จากนั้น เวลา 15.00 น.นายกฯพร้อมภริยาเดินทางจากท่าอากาศยานหัวหิน(บ่อฝ้าย) ไปยังประเทศมาเลเซีย เพื่อร่วมงานเลี้ยงมงคลสมรสบุตรีของนายกฯมาเลเซีย และจะพักค้างคืนที่ประเทศมาเลเซีย โดยวันที่ 29 มี.ค. นายกฯพร้อมภริยาจะเดินทางไปร่วมพิธีศพของนายลี กวนยิว ที่ประเทศสิงคโปร์ และเดินทางกลับในค่ำวันเดียวกัน

บิ๊กโด่งตรวจลานมหาราช 

       วันเดียวกัน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. พร้อมด้วยรมช.ศึกษาธิการ ซึ่งไม่ได้ร่วมเล่นกอล์ฟกับครม. และคสช. ได้ขอตัวเดินทางไปตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างอุทยานประวัติศาสตร์ หรือ ลานมหาราชทั้ง 7 พระองค์ ในพื้นที่ค่ายสมเด็จพระศรีสุริโยทัย สวนสนประดิพัทธ์ โดยพล.อ.อุดมเดชรายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์รับทราบในครม.เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมาด้วย โดยถือเป็นโครงการที่ทำเพื่อคนรุ่นหลังอีก 50-100 ปีข้างหน้า และต่อไปจะเป็นแลนด์มาร์กของประเทศไทย

     โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวใน ครม.ว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ และพสกนิกรไทยทุกคนจะได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการสร้างลานมหาราชนี้ด้วย

บวรศักดิ์ชี้ 70%หนุนรธน.

      เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมา ธิการสื่อสารกับสังคม ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดสัมมนาเรื่อง "บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานเปิดการสัมมนาและบรรยายเรื่อง "ภาพรวมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่"ตอนหนึ่งว่า กมธ.ยกร่างฯสำรวจความเห็นประชาชน พบร้อยละ 70 เห็นตรงกับหลักการที่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนอยู่ บางประเด็นที่ไม่ตรงตนจะรับไปปรับและนำไปสอบถามอีกครั้ง รับรองว่าความเห็นที่ประชาชนเสนอมานั้นจะได้รับการพิจารณา 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่เป็นเพียงพิธีกรรมอย่างแน่นอน รัฐธรรมนูญเป็น กติกาเพื่อรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นหลักประกันว่ารัฐจะเข้าไปละเมิดสิทธิหลักของประชาชนไม่ได้ 

      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 40 เราเรียกว่าฉบับประชาชน รัฐธรรมนูญปี 50 เรียกว่าฉบับประชามติ ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เรียกว่าฉบับปฏิรูป มีเนื้อหาสำคัญที่สุดที่ไม่มีรัฐธรรมนูญไหนในโลกมี คือภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความปรองดอง ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลกที่เขียนอย่างนี้ นักการเมืองไม่สนใจสนใจแต่ภาค 2 ว่าผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี เพราะมันคือหม้อข้าวของเขา

ยันโอเพ่นลิสต์-พลเมืองเป็นใหญ่ 

     นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ภาพรวมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ความสำคัญกับ สิ่งที่จะเกิดในอนาคตและแก้ปัญหาในอดีต คนเขียนต้องเขียนทั้งเหลียวหลังและแลหน้า ปัญหาในอดีตที่ต้องแก้ไขคือความขัดแย้ง ความไม่ปรองดองของสังคม นักการเมือง ที่ไม่ใสสะอาด และระบบการเมืองไม่สมดุล เรื่องของอนาคตคือ พัฒนาและเพิ่มศักยภาพของประเทศ ภาคของการมองอนาคตระบุอยู่ในบทบัญญัติที่ว่าด้วยการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความปรองดอง และการสร้างราษฎรไทยให้เป็นพลเมืองและพลเมืองนั้นต้องเป็นใหญ่ และมีส่วนร่วมทางการเมืองมากที่สุดโดยผ่านกลไกสมัชชาพลเมือง ในการมีส่วนร่วมบริหารกับท้องถิ่น สภาตรวจสอบภาคประชาชน ใน 77 จังหวัด รวมถึงให้สิทธิประชาชนลงมติถอดถอนนักการเมืองที่ถูกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติตรวจสอบและไต่สวนว่ามีความผิดจริยธรรมร้ายแรง และให้สิทธิประชาชน จัดลำดับผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้เข้ารับ ตำแหน่งส.ส.ได้ จากเดิมที่เป็นสิทธิของ แกนนำพรรคการเมือง

     นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นจัดลำดับส.ส.บัญชีรายชื่อ นักการเมืองไม่ชอบเพราะจะทำงานเหนื่อย นอกจากจะเอาใจหัวหน้าพรรคแล้วยังต้องลงพื้นที่เพื่อไปทำงานเอาใจประชาชนในพื้นที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย บอกว่ามันยุ่งยาก ต้องแก้ไขนั้น ใช้อะไรคิด การเพิ่มอำนาจให้พลเมืองใหญ่ขึ้นมันเดือดร้อนตรงไหนนอกจากเดือดร้อนพรรคการเมือง เพราะต่อไปนักการเมืองต้องลงไปหาประชาชน ขอร้องให้นายพงศ์เทพที่นับถือกันมาก็ให้นับถือกันต่อไป การให้มีระบบเลือกตั้งแบบนี้ไม่ยุ่งยากและทำให้พลเมืองเป็นใหญ่ที่แท้จริง 

ไม่บัญญัติ'สถานการณ์วิกฤต' 

      ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า บทบัญญัติ ที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนในร่างรัฐธรรมนูญ ในการควบคุมการโฆษณาของหน่วยงานรัฐ เพื่อปกป้องสื่อให้ปลอดจากกลุ่มอิทธิพลและกลุ่มทุนอย่างแท้จริง ต่อไปนี้ใครใช้เงินรัฐไปซื้อโฆษณาต้องโปร่งใส เพราะเอาเงินภาษีราษฎรไปใช้จึงต้องถูกกำกับ นอกจากนั้นยังได้หารือถึงสื่อมวลชนในตลาด หลักทรัพย์ ตนได้พูดกับส.ส.อังกฤษว่า หากจะห้ามไม่ให้บุคคลมีหุ้นในสื่อมวลชนทุกประเภทเกินร้อยละ 5 ส.ส.อังกฤษบอกว่าจะนำไปคิดเพราะเจอปัญหาเดียวกัน ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกมธ.ยกร่างฯโดยตรง แต่ก็ต้องทำ ขณะที่การปฏิรูปสื่อมวลชน เพื่อประโยชน์ของการรับรู้ข่าวสารของประชาชนให้เป็นที่เชื่อถือของสังคม โดยการผลักดันมาตรฐานการทำงานของสื่อมวลชน รวมถึงส่งเสริมสวัสดิภาพของสื่อมวลชน

      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า การแก้ไขบท บัญญัติร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ ที่มานายกฯคนนอก ที่ต้องจำกัดเฉพาะสถานการณ์วิกฤต ยืนยันว่าไม่สามารถบัญญัติคำว่าสถานการณ์วิกฤตไว้ได้ เพราะอาจเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤตได้ ขณะที่มีผู้เสนอให้จำกัดวาระของนายกฯ คนนอกเพียง 1 ปีนั้น คงทำไม่ได้ ตนมองว่าควรกำหนดให้ใช้เสียงลงมติ 2 ใน 3 เท่านั้น ส่วนประเด็นอื่นอย่าให้ความระแวงจนเกินหรือโอเวอร์เกินไป ขณะที่ข้อเสนอให้ปรับที่มา ส.ว. ซึ่งยังมีเวลาก่อนที่จะส่งร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เบื้องต้นจะปรับให้คนที่ต้องการเข้ารับการสรรหาเป็นส.ว. สมัครตาม กลุ่มที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แล้วให้ในกลุ่มต่างๆ นั้นสรรหาผู้ที่มีความเหมาะสม 

รับรธน.ไม่เพอร์เฟ็กต์ 

      "ผมคิดว่าคนฉลาดจะไม่ปฏิเสธในการกินยาควินินเพื่อรักษาไข้มาลาเรีย เพียงเพราะยา ควินินไม่ได้ปลูกในบ้านเรา ซึ่งเรารู้ต้องมีปัญหาเพราะรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ เพอร์เฟ็กต์แต่ดีที่สุดในสถานการณ์นี้ และในรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ว่าเมื่อครบ 5 ปี ในมาตรา 303 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันนี้รัฐบาลผสมอาจจะเหมาะในสถานการณ์ นี้ แต่ต่อไปรัฐบาลผสมเละเทะก็แก้รัฐธรรมนูญกลับไปได้ ไม่ว่ากัน แต่ก่อนแก้ขอให้เอาคนที่เป็นกลางมานั่งดูก่อน" นายบวรศักดิ์กล่าว 

ขู่กมธ.ยกร่างฯเจอแซงก์ชั่น

       นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สปช.กล่าวถึงการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของ สปช.ผ่านไปโดยที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ปรับแก้ตามที่สปช.ต้องการ มีโอกาสที่ สปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดหรือไม่ว่า สปช.ไม่มีการโหวต ไม่มีการลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แสดงความเห็นได้อย่างเดียว แต่การแก้ไขเป็นเรื่องของกมธ.ยกร่างฯนำไปทำเอง เพราะฉะนั้น สปช.คว่ำไม่ได้ไม่มีการลงมติ แต่หากสิ่งที่สมาชิก สปช.ส่วนใหญ่เสนอแล้วกมธ.ยกร่างฯไม่ไปปรับปรุงแก้ไข ตามสมควรอาจจะเกิดการแซงก์ชั่นขึ้นได้ แต่ไม่สามารถล้มอะไรของกมธ.ยกร่างฯได้ แต่การแซงก์ชั่นถ้าเกิดขึ้นมีผลทำให้กมธ.ยกร่างฯ ไม่สามารถอยู่ได้ เป็นการกดดันทางการเมืองมากกว่า

       "หากมธ.ยกร่างฯไม่สามารถอยู่ได้ก็ต้องยุบสภา ทั้งกมธ.ยกร่างฯและสปช.ต้องยุบหมด และหากยุบไปหมด คสช.จะตั้ง ชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ส่วนการกำหนดกรอบระยะเวลาอย่างไรนั้นถ้าถึงสถานการณ์ตอนนั้นคงไม่มีการมาร่างรัฐธรรมนูญกันเป็นเวลานานเหมือนชุดนี้ แต่คงต้องเร็วเพราะหากเป็นปีอีก คนคงไม่ยอม อาจต้องเสร็จภายในเวลา 4-5 เดือน" นายสังศิตกล่าว

เล็งอภิปรายศาลคดีทุจริต

      นายสังศิต กล่าวว่า การอภิปรายในวันที่ 20-26 เม.ย. ตอนนี้ยังไม่ได้เตรียมอะไร แต่รู้มาว่ากมธ.ปฏิรูปฯแต่ละคณะ มีการประชุม ส่วนชุดของตนประชุมสัปดาห์หน้า แต่ละชุดจะประชุมเพื่อกำหนดประเด็นที่เห็นว่าเรื่องที่เสนอไปยังไม่ได้รับความสนใจ จาก กมธ.ยกร่างฯ ตนเข้าใจส่วนใหญ่คงจะโฟกัสไปที่เรื่องของกมธ.ชุดตัวเองเป็นหลัก ส่วนว่าจะอภิปรายข้ามคณะก็มีบ้างแต่ไม่มาก ส่วนตนจะขึ้นอภิปรายหรือไม่ ยังไม่ได้กำหนดต้องดูสมาชิกก่อนว่าใครเหมาะกับประเด็นนั้นๆ ประเด็นที่จะต้องอภิปรายตอนนี้ยังไม่ชัดเจน แต่แน่ๆ ที่ต้องคุยกัน คือ ศาลคดีทุจริต ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญยังไม่มี เพราะกมธ.ยกร่างฯเข้าใจว่าศาลคดีการคลังและงบประมาณ คือศาลคดีทุจริต ซึ่งไม่ใช่ เพราะศาลทุจริตกว้างกว่า อย่างน้อยประเด็นนี้จะเป็นหนึ่งเรื่องที่ต้องอภิปรายเพื่อให้ การตัดสินเรื่องนี้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากขึ้น

พีระศักดิ์หนุนใช้ม.44 

       ที่ศาลากลาง จ.อุตรดิตถ์ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำสมาชิกสนช.กว่า 20 คน อาทิ นายนรนิติ เศรษฐบุตร นพ.เจตน์ ศิริธรานนท์ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ พล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ เข้าร่วมพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อรับทราบปัญหาตามจุดต่างๆ เช่น อ.ท่าปลา เกี่ยวกับเอกสารสิทธิที่ดินของประชาชน พร้อมติดตามการดำเนินงานส่วนราชการตามแนวนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อสนช. รวมทั้งลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจการค้าขายระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ณ จุดผ่านแดนถาวรภู่ดู่

       นายพีระศักดิ์ กล่าวกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมยกเลิกกฎอัยการศึกและใช้มาตรา 44 ออกเป็นคำสั่งคสช. แทน ว่า เห็นด้วยกับแนวทางของ คสช. เพราะ คสช.ถือเป็นผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากการกดดันของต่างประเทศโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว อีกส่วนหนึ่ง คสช.คงมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าควรใช้มาตรการใดในการบริหารประเทศ เป็นการลดระดับการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายจากกฎอัยการศึกที่สูงสุดลงมาแสดงว่าปัญหาเริ่มคลี่คลาย เชื่อว่าการยกเลิกกฎอัยการศึกจะเป็นผลดีหากสามารถควบคุมความสงบได้ เพราะมาตรการนี้จะมีความแตกต่างจากการบังคับใช้กฎอัยการศึก อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวดีขึ้น การบังคับใช้มาตรา 44 ถือเป็นการใช้กฎหมายตามปกติ เหมือนที่เรามี คสช. ครม. สนช. สปช. กมธ.ยกร่างฯ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 

     เมื่อถามว่า การพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ของ สนช. จะช่วยส่งเสริมด้านความมั่นคงหรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ยังอยู่ในการพิจารณาในชั้นกมธ. ซึ่งล่าสุดขอขยายเวลาพิจารณาออกไปอีก 30 วัน เพื่อความรอบคอบในการกลั่นกรองกฎหมาย กฎหมายฉบับนี้ไม่เกี่ยวกับการยกเลิกกฎอัยการศึก หรือเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพราะแค่การใช้มาตรา 44 ก็เพียงพอแล้ว กฎหมายชุมนุมเป็นเพียงการสร้างแนวทางเผื่อไว้ให้รัฐบาลชุดต่อๆไป ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะผ่านการพิจารณาของสนช.หรือไม่ 

ชี้ได้มากกว่าเสีย 

      นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกมธ.วิสามัญกิจการ สปช. หรือวิปสปช. กล่าวกรณี พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแทนกฎอัยการศึก ว่า ตนเห็นด้วย การมีกฎอัยการศึกทำให้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวต่างชาติคิดว่าบ้านเมืองเราอยู่ในสภาวะไม่สงบและมีปัญหา เมื่อยกเลิกก็จะทำให้เขามองเราดีขึ้น บ้านเมืองเราเริ่มเข้าที่เข้าทาง กล้าจะมาท่องเที่ยวและลงทุน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น บรรยากาศความขัดแย้งก็จะลดลงได้ การตัดสินใจของนายกฯทำได้ถูกต้องแล้วจะได้มากกว่าเสียแน่นอน และหากมีปัญหาด้านความมั่นคงนายกฯก็ยังมีอำนาจใช้มาตรา 44 ควบคุมและแก้ปัญหาได้ทันที

       นายวันชัย กล่าวว่า หากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของประชาชนได้ ทำให้พวกเขามีอยู่มีกิน จะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่มากกว่ากฎอัยการศึกหรือมาตรา 44 เสียอีก เพราะเมื่อเศรษฐกิจดีประชาชนมีความสุข ก็จะกลายเป็นเกราะป้องกันที่ดีให้แก่รัฐบาล

จาตุรนต์ห่วงม.44 แก้แค่ภาพพจน์

       นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวกรณีพล.อ. ประยุทธ์เตรียมยกเลิกกฎอัยการศึก ใช้มาตรา 44 ว่า การที่นายกฯมีความคิดยกเลิกกฎอัยการศึก มีข้อดีคือเป็นการแสดงความเข้าใจ หรือยอมรับผลเสียต่อการใช้กฎอัยการศึก เนื่องจากการใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศมีผลต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน ส่งผล กระทบต่อกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะการสอบสวน และมีผลต่อภาพลักษณ์ของการยอมรับในต่างประเทศ เนื่องจากมีข้อเสียหลายด้าน 

      นายจาตุรนต์ กล่าวว่า แต่ไม่แน่ใจว่าการยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วใช้มาตรา 44 แทนเพื่อแก้ปัญหาทั้งหมดหรือจะแก้ปัญหาเฉพาะภาพพจน์ ถ้าคิดจะแก้แค่ปัญหาภาพพจน์ในการไม่ยอมรับกฎอัยการศึก แต่ยังคงจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อ มวลชน อย่างเดียวกับที่ใช้กฎอัยการศึกก็ไม่มีประโยชน์ เพราะปัญหาเดิมๆยังอยู่

หวั่นเกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จ 

     นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาพพจน์ได้แล้วจะเพิ่มปัญหามากยิ่งขึ้นด้วย ทำให้ถูกสังคมโลกมองว่าประเทศไทยกำลังใช้ระบบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมาตรา 44 เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจคสช. และคณะคสช.ที่มีอำนาจยับยั้งหรือสั่งการให้กระทำใดๆ ทั้งในทางฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งเท่ากับมีอำนาจเหนือธิปไตย 3 ฝ่ายอย่างเด็ดขาด ซึ่งขัดต่อหลักนิติรัฐที่ผู้มีอำนาจจะใช้อำนาจเฉพาะตามที่กฎหมายกำหนด 

       นายจาตุรนต์ กล่าวว่า แต่มาตรา 44 กลับกำหนดให้ผู้ที่มีอำนาจใช้อำนาจได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล เป็นระบบที่นานาประเทศจะยิ่งไม่ยอมรับ ขณะนี้ตนนึกไม่ออกว่าจะใช้มาตรา 44 ออกเป็นคำสั่งอย่างไร เพราะถ้าใช้แล้วยังจำกัดสิทธิเสรีภาพ เหมือนกฎอัยการศึกก็ป่วยการ แต่ถ้าเบากว่ากฎอัยการศึกก็ไม่เห็นความจำเป็น เพราะว่ามีพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร. พ.ศ.2551 และพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้ใช้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าที่ผ่านมากฎหมาย 2 ฉบับนี้ใช้ไม่ได้ผล เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายหรือ ผู้ตีความเลือกปฏิบัติและทำให้กฎหมาย 2 ฉบับนี้เสียไป ทั้งที่ตัวกฎหมายอาจไม่มีปัญหามาก เท่ากับบังคับใช้กฎหมาย

รอดูรายละเอียดคำสั่ง 

     นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การเขียนคำสั่งของคสช.ขอให้เขียนเนื้อหาให้ชัดเจน ไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ไม่นำไปใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการสอบสวน ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่กระบวนการยุติธรรมปกติ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะย้อนกลับไปที่ว่าไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 อยู่ดี เพราะกฎหมายอื่นก็มีอยู่แล้ว และโอกาสที่จะทำให้เกิดการไม่ยอมรับการใช้มาตรา 44 ก็มีสูงมาก เพราะมาตรา 44 ร้ายแรงยิ่งกว่ากฎอัยการศึก ขัดต่อหลักนิติธรรม นิติรัฐ กลายเป็นการใช้อำนาจของกลุ่มบุคคลหรือคณะบุคคลอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด 

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ไม่รู้ว่าจะออกมาเป็นคำสั่งอย่างไร ซึ่งต้องดูฝีมือเนติบริกรว่าจะคิดประดิษฐ์วิธีการอย่างไร เพราะอาจจะคิดออกมาแล้วเบามาก จนดูเหมือนว่าไม่มีผลอะไรในทางปฏิบัติก็ได้ คงต้องไปดูว่าการใช้มาตรา 44 มีวัตถุประสงค์อย่างไร มีหลักคิดอย่างไร สำคัญตรงนั้นมากกว่า ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นงูกินหาง

ณัฐวุฒิค้านม.44 ครอบจักรวาล 

       นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กล่าวว่า ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทยและเห็นด้วยที่รัฐบาลเตรียมประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก แต่ขอแสดงความเห็นและอย่าคิดว่าหาเรื่องค้านกวนใจรัฐบาลเลย การใช้มาตรา 44 มาแทน น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าการใช้กฎอัยการศึก ที่เป็นกฎหมายโบราณนับร้อยปี ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน นานาชาติไม่ยอมรับ แต่ยังมีการกำหนดขอบเขตเป็นลายลักษณ์ ขณะที่อำนาจตามมาตรา 44 ครอบจักรวาล ไม่มีบทบัญญัติตายตัว และขยายอำนาจรัฐได้ตลอดเวลาโดยไม่มีขีดจำกัด 

แนะใช้พรบ.มั่นคง-พรก.ฉุกเฉิน 

      นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า แม้ยังไม่เห็นเนื้อหาและรูปแบบว่าจะประกาศใช้อย่างไร แต่ตั้งข้อสังเกตให้รัฐบาลพิจารณาว่าจุดประสงค์ที่ต้องการลดแรงกดดันจากต่างประเทศจากการประกาศกฎอัยการศึกนั้นไม่แน่ว่าจะบรรลุผลหรือไม่ เพราะความหมายโดยนัยของมาตรา 44 เท่ากับตัวบุคคลคือกฎหมาย ดังนั้นสภาพแบบนี้อาจเพิ่มความกังวลให้กับประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายด้วยซ้ำ

      นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ไม่ได้กล่าวหานายกฯว่าจะลุแก่อำนาจที่จะใช้มาตรา 44 เล่นงานใคร ที่เห็นว่าเล่นบทตบจูบตามอารมณ์อยู่กับสื่อมวลชนแล้วอดห่วงไม่ได้ หากพูดแบบเข้าใจรัฐบาลคือต้องการกฎหมายพิเศษไว้คุมสถานการณ์ หากดูกฎหมายที่ดีกรีน้อยกว่า อาทิ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ร.ก.การบริการราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน จะดีกว่าหรือไม่ เพราะถึงอย่างไรมาตรา 44 ยืนค้ำอยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวอยู่แล้ว

"ผมห่วงว่าจะยิ่งหนักกว่าเก่า แม้ว่ากฎอัยการศึกจะขี้เหร่ขนาดไหน แต่ก็ยังขี้เหร่แบบเห็นได้ชัด ตรงข้ามกับมาตรา 44 ที่นอกจากจะขี้เหร่แล้ว ยังมองไม่เห็นขอบเขตของอำนาจอีกด้วย" นายณัฐวุฒิกล่าว

'อัยการศึก-ม.44'ไม่ต่างกัน 

     นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แนวคิดการใช้มาตรา 44 แทนกฎอัยการศึก น่าเป็นห่วงว่านายกฯ จะรับไหวหรือไม่ เพราะถ้าใช้จริงเรื่องต่างๆ จะมาอยู่ที่การตัดสินใจของนายกฯ ในฐานะหัวหน้าคสช.และจะมีปัญหาเพิ่มไปอีกเพราะให้อำนาจคนเพียงคนเดียวในการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ แม้จะผ่านความเห็นจากคสช.ก็ตาม ท้ายสุดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเบ็ดเสร็จของนายกฯในฐานะหัวหน้าคสช.เพียงคนเดียว ทั้งอำนาจบริหาร ตุลาการและนิติบัญญัติ หากมองในมุมกลับเห็นด้วยหากใช้มาตรา 44 ในทางบวกเพื่อสร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้ง เช่น การนิรโทษกรรมตามที่มีการเสนอแนวคิดให้รัฐบาลพิจารณา น่าจะเป็นผลดีกว่า

      นายสามารถ กล่าวว่า หากจะยกเลิกก็ควรยกเลิกไปเลย ไม่ต้องใช้มาตรา 44 และใช้กฎหมายอาญามาดูแลสถานการณ์ตามปกติ ดังนั้นที่ระบุว่าจะยกเลิกแต่จะใช้มาตรา 44 ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 นั้น เพราะต้องการที่จะคงอำนาจในการควบคุม จับกุมบุคคลโดยไม่ต้องขอหมายศาลดำเนินการกับบุคคลตามขั้นตอนปกติ แต่ถามว่าหากไม่ใช่มาตรา 44 แล้วจะใช้กฎหมายอื่นมาแทนหรือไม่นั้น คิดว่าเป็นเรื่องลำบากที่จะใช้กฎหมายอื่นตามปกติ เนื่องจากรัฐบาลอาจมีข้อแย้งว่าจำเป็นต้องใช้เพื่อดูแลเรื่องความมั่นคง หากใช้กฎหมายปกติอาจไม่คล่องตัว ขณะนี้คงทำได้แต่ติดตามต่อไปว่าหากใช้มาตรา 44 จะเขียนข้อกำหนด เนื้อหาการบังคับใช้อย่างไร ที่สำคัญการดำเนินการใดๆ นายกฯจะใช้อำนาจเท่าที่จำเป็นตามที่เคยระบุไว้หรือไม่

      "อย่าพูดในทำนองว่าจะยกเลิกโดยมีข้อแม้แลกกับการใช้มาตรา 44 ทั้งที่มาตรา ดังกล่าวเขียนไว้ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งออกแบบไว้ตั้งแต่ต้นในการให้อำนาจที่ครอบจักรวาลกับนายกฯและหัวหนัาคสช.มากกว่ากฎอัยการศึก เพียงแต่ไม่ถูกพูดถึง ดังนั้นที่ระบุว่าจะผ่อนคลายจึงฟังดูเหมือนผ่อนปรน แต่เมื่อดูจริงๆ แล้วความหมาย ไม่ต่างกัน" นายสามารถกล่าว

ปณิธานชี้ต้องรัดกุม 

     นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า สำหรับแนวคิดในการใช้มาตรา 44 แทนกฎอัยการศึกนั้น คสช.ได้หารือกันตั้งแต่ต้นปี 2558 แต่ในเวลาดังกล่าวเกิดเหตุระเบิดซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองขึ้น จึงต้องใช้กฎอัยการศึกไปก่อน อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลเห็นว่าขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องเปิดพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น จึงเห็นควรนำมาตรา 44 มาใช้แทนได้ เพราะคิดว่าเป็นแนวทางที่ดีกว่าหลายด้าน

    นายปณิธาน กล่าวว่า ต้องรอดูว่าเมื่อใช้มาตรา 44 แทนกฎอัยการศึกจะมีการร่างระเบียบหรือออกเป็นประกาศของ คสช.อย่างไรในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เพราะในมาตรา 44 จำเป็นต้องมีระเบียบหรือประกาศเพิ่มเติมเนื่องจากไม่ครอบคลุมเหมือนกฎอัยการศึก เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะใช้มาตรา 44 ให้มีประสิทธิภาพต้องรัดกุม คิดว่าคสช.คงมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ดูแล

      นายปณิธาน กล่าวว่า ยอมรับว่า 2 ปัจจัยหลักมีความสำคัญต่อการตัดสินใจยกเลิกกฎอัยการศึก คือ 1.แรงกดดันจากกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง 2.แรงกดดันจากต่างชาติ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อมีการยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว ต่างชาติจะลดการกดดันไทยหรือไม่ เพราะหากยังมีการกดดันอยู่ก็เท่ากับว่า ต่างชาติ เช่น สหรัฐ และองค์กรอื่นๆ ต้องการให้รัฐบาลคืนอำนาจแก่ประชาชนสถานเดียว

รบ.เมินเสียงวิจารณ์ 

      พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเสียงวิจารณ์แนวคิดใช้มาตรา 44 แทนประกาศกฎอัยการศึก ที่ให้อำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ไม่จำกัดเวลา และให้อำนาจนายกฯ อย่างมากว่า เรื่องดังกล่าวพล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงกับสื่อไปแล้ว คิดว่าการพิจารณากำหนดแนวทางนายกฯ คงจะหารือกับหลายฝ่ายแต่ยังไม่อยากเล่าให้ใครฟัง ดังนั้น การประชุมครม.นอกสถานที่เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา จึงไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงหรือสั่งการใดๆ เพิ่มเติม ส่วนจะพิจารณาข้อกำหนดมาบังคับใช้นั้นถือเป็นอำนาจนายกฯ

      รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า สำหรับเสียงวิจารณ์ว่าการใช้มาตรา 44 เป็นการให้อำนาจนายกฯ ในการดำเนินการเรื่องต่างๆ อย่างกว้างมากนั้น ขอให้ย้อนกลับไปมองช่วงที่คสช.เข้ามาบริหารงาน ให้อำนาจมากกว่าเป็นนายกฯ ด้วยซ้ำ แต่พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ใช้อำนาจทั้งหมด โดยใช้ในส่วนที่จำเป็นต้องดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเท่านั้น 

      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า เมื่อมีเสียงท้วงติงและวิจารณ์การใช้กฎอัยการศึก นายกฯ รับฟังและหาแนวทางอื่นมาดูแลโดยที่ เจ้าหน้าที่ยังปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย สามารถเข้าตรวจค้นพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่มีข้อมูลข่าวสารปรากฏความผิดชัดเจน ตลอดจนจับกุมผู้กระทำผิด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่มีการใช้กฎหมายกระบวนการขั้นตอนในการจับกุมคนร้ายไปถึงการลงโทษจะใช้เวลานาน

      "รัฐบาลไม่กังวล เพราะประเทศไทยเป็นสังคมชอบวิจารณ์อยู่แล้ว ถามว่าถ้าไม่มีการใช้กฎหมายพิเศษเหตุระเบิดหน้าศาลอาญาจะขยายผลจับกุมคนร้ายได้ในเวลาอันสั้นหรือไม่ เมื่อมีการพูดถึงกฎอัยการศึกกว้างขวาง นายกฯ ก็พยายามหาแนวทางปรับโดยที่เจ้าหน้าที่ต้องทำงานได้ แต่ยังมีคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ยังวิจารณ์โดยไม่รับฟังอะไร" พล.ต.สรรเสริญกล่าว 

ภท.แนะยกเลิกทั้งหมด 

     นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ในต่างประเทศกฎอัยการศึกเป็นภาพลักษณ์ที่น่าสะพรึงกลัว เป็นกฎหมายของทหาร ส่วนมาตรา 44 ถ้าคนไม่รู้รายละเอียดก็จะไม่วิตกกังวล ดังนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบกันการยกเลิกกฎอัยการศึกจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศดีขึ้น จะมีผลดีด้านการท่องเที่ยว เพราะถ้ามีการประกาศกฎอัยการศึกเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นประกันภัยเขาไม่คุ้มครอง จึงเป็นเรื่องดี นอกจากนี้ยังจะเป็นผลดีในเรื่องการจัดเรตติ้งเรื่องสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลสหรัฐ อเมริกาต่อไทยด้วย ซึ่งทราบว่าอีก 1-2 เดือน รัฐบาลสหรัฐจะประกาศผล คสช.ก็คงจะทราบเรื่องนี้ และคงเป็นเหตุผลในการยกเลิกกฎอัยการศึกด้วย 

      นายศุภชัย กล่าวว่า หากมีการยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วไม่ประกาศใช้มาตรา 44 เลยก็น่าจะเป็นการดี แม้ว่าช่วงต่อจากนี้รัฐธรรม นูญใกล้จะแล้วเสร็จอาจมีการวิพากษ์วิจารณ์หรือมีการชุมนุมบ้าง ตนมองว่าการเปิดโอกาสให้มีการชุมนุมได้บ้างถือเป็นความงดงามในบรรยากาศของรัฐบาลทหาร เพราะกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ก็มีเพียงประชาชนและนักศึกษาบางส่วนเชื่อว่าไม่ใช้ความรุนแรงอย่างแน่นอน หรือถ้าจะใช้มาตรา 44 หัวหน้าคสช.ก็พึงใช้อย่างระมัดระวัง

'นิพิฏฐ์'ขออยู่ใต้กฎอัยการศึก 

     นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่มีมา 101 ปี เป็นของเก่า แต่มาตรา 44 เราไม่ค่อยใช้ แต่มีศักดิ์สูงกว่ากฎอัยการศึกเพราะออกโดยรัฐธรรมนูญ และมาตรา 44 ก็เหมือนมาตรา 17 ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร เคยใช้มาแล้ว อำนาจเหล่านี้เขาใช้ในเวลาบ้านเมืองไม่ปกติ อำนาจของมาตรา 44 มีมากกว่ากฎอัยการศึก เพราะสามารถตัดสินจำคุกสั่งประหารชีวิตได้ มีผลเหมือนคำพิพากษาของศาลโดยไม่ต้องขึ้นศาล แต่กฎอัยการศึกตัดสินจำคุกใครไม่ได้ เพียงแต่ควบคุมตัวไว้ชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหมายศาล ซึ่งกฎอัยการศึกต่างชาติไม่เข้าใจและรังเกียจ เมื่อคนไทยผสมโรงเข้าไปด้วยก็ทำให้เกิดปัญหา แต่มาตรา 44 ถ้าจะใช้ต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันของคสช. 

     นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ส่วนตัวอยากอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกมากกว่ามาตรา 44 และคนไทยส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่าไม่ได้รับผลกระทบอะไรกับกฎอัยการศึก แต่รู้สึกปลอดภัยเสียด้วยซ้ำ กฎอัยการศึกทหารเป็นคนใช้ นายกฯไม่มีอำนาจในการใช้ ดังนั้น หากใช้ไม่รอบคอบทหารควรถูกตำหนิ แต่เราไม่ค่อยรู้จึงตำหนินายกฯไว้ก่อน เพราะนายกฯก็เป็นผู้บังคับบัญชาทหารอีกทีหนึ่ง 

ชี้ถ้าไม่รอบคอบยุ่งแน่ 

      นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า หากจะยกเลิกกฎอัยการศึกต้องมีกฎ ระเบียบ คำสั่ง ตามมาตรา 44 ออกมารองรับเสียก่อน เพราะยากที่พล.อ.ประยุทธ์จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพียวๆ โดยไม่นำมาดัดแปลงเป็นคำสั่งรองรับ และหากออกคำสั่งมารองรับไม่รอบคอบและมีผู้ไม่หวังดีก็อาจแก้สถานการณ์ฉุกเฉินไม่ทันก็ยุ่งเหมือนกัน และถ้าบ้านเมืองปกติแล้วถ้าจะยกเลิกคำสั่งตามมาตรา44 ต้องออกเป็นพ.ร.บ.ยกเลิกเท่านั้น เพราะมาตรา 44 มีศักดิ์เป็นกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนยุ่งยาก ดังนั้นมาตรา 44 จึงมีอำนาจเด็ดขาดรุนแรงกว่ากฎอัยการศึก ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะคนไม่เข้าใจมากกว่า

      นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กฎอัยการศึกมีกรอบที่ชัดเจน แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 44 หากออกมาแล้วใช้เกินขอบเขต ก็จะหนักกว่ากฎอัยการศึก ความจริงแล้วกฎอัยการศึกนั้นคนบริสุทธิ์จะไม่กระทบ จะกระทบเฉพาะคนคิดร้าย เว้นแต่จะออกมาตรา 44 มาเพื่อแทนกฎอัยการศึก และมีเนื้อหานุ่มนวลกว่าก็สามารถทำได้ ต้องดูว่ามุมที่จะใช้มาตรา 44 คืออะไร ต้องให้ผู้มีอำนาจแถลงให้ชัดเจนว่าประสงค์จะใช้มาตรา 44 แค่ไหนเพียงใด 

'ปู'โต้'บิ๊กตู่'ปมค้ามนุษย์ 

     น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงกรณีการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีการระบุว่า "รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยทำ แต่วันนี้รัฐบาลกำลังแก้ทุกอย่าง" ว่า เกรงอาจเป็นความเข้าใจผิดอันเนื่องมาจากการที่มีภารกิจมากจนไม่ได้มีเวลา หรือเจ้าหน้าที่ยังไม่มีโอกาสเรียนชี้แจงให้ทราบ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้างขอเรียนชี้แจง การค้ามนุษย์คือการคุกคามสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนซึ่งสังคมการเมืองระหว่างประเทศต่อต้านและร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ทั้งมาตรการความร่วมมือ ตลอดจนมาตรการการกดดันที่ใช้เงื่อนไขทางการค้า 

      น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ตนเข้ารับตำแหน่ง จึงพยายามผลักดันการแก้ปัญหานี้มาตลอด มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการดำเนินงานให้การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้การประเมินระดับในปี 2556 ไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับเป็นกลุ่มที่ 3 เนื่องจากรัฐบาลได้เสนอแผนเป็นลายลักษณ์อักษร หากได้รับการดำเนินการจะถือว่าเป็นการแสดงความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ และรัฐบาลได้จัดสรรทรัพยากรพอควรในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว

ยันทูตสหรัฐชื่นชมการแก้ปัญหา 

     น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ในประเทศ ไทยอยู่ในระดับที่ดีขึ้น รัฐบาลมีการประชุมหลายครั้งทั้งที่ตนเป็นประธานในการประชุมเองและมอบหมายให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ ขณะนั้นเป็นประธานแทน ตลอดจนตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะด้าน เช่น ปัญหาเรื่องแรงงานประมง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อแนะนำจากรายงานฉบับปี พ.ศ.2556 ทุกประเด็น

      อดีตนายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ในการประชุมหารือระหว่างรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับนายหลุยส์ ซีดะบากา เอกอัครราชทูต ผู้อำนวยการสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2556 หลังจากได้รับฟังผลการดำเนินงานของประเทศไทย นายหลุยส์ ซีดะบากา ได้แสดงความชื่นชมถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

แนะอ่านรายงานรบ.ชุดก่อน 

      น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่า ตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง รัฐบาลเน้นสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและพยายามจะสร้างความเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา โดยรวบรวมจัดเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งมีข้อสั่งการและนโยบายเพิ่มเติม สิ่งที่รัฐบาลช่วงนั้นริเริ่มดำเนินการและพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ เช่น ปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านการคุ้มครอง ป้องกัน และกระบวนการยุติธรรม ได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1,300 ทั่วประเทศ เพื่อเป็นจุดรับเรื่อง ส่งต่อและแก้ไขปัญหา เป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวง รวมทั้งเครือข่ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 

      น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ รัฐบาลชุดก่อนระบุไว้อย่างชัดเจนในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ซึ่งนายกฯอาจลองพิจารณาศึกษาเพิ่มเติมจากรายงานดังกล่าวได้ ปัญหาสำคัญของการค้ามนุษย์อยู่ที่เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งปัญหาในเชิงกฎหมาย ประสิทธิภาพการบริหารราชการ เรื่องเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงชั่วข้ามคืน ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากหลายฝ่าย ในรายงานฉบับล่าสุดมีการยกประเด็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นของข้าราชการ โดยเฉพาะความเกี่ยวพันกับกรณีแรงงานประมงชาวโรฮิงยา ถือเป็นบทเรียนว่ารัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ตลอดจนประเด็นการเรียกร้องของเอ็นจีโอ และต้องพยายามตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแนวทางที่ประชาชนและนานาชาติคาดหวัง จุดเริ่มต้นสำคัญของการแก้ปัญหาคือการยอมรับการมีอยู่ของปัญหา เพื่อที่จะร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาที่ท้าทายระดับนานาชาตินี้ต่อไป

โพลพอใจ 10 เดือนคสช.

       สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวน ดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในโอกาสครบรอบ 10 เดือน คสช.เรื่อง "ผลการดำเนินงาน 10 เดือนของคสช." จากประชาชนทั่วประเทศ 1,896 คน ระหว่าง วันที่ 20-27 มี.ค. พบว่าส่วนใหญ่พอใจการทำงานของ คสช.ตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา โดยร้อยละ 55.85 ค่อนข้างพึงพอใจ ร้อยละ 28.81 พึงพอใจมาก ร้อยละ 12.18 ไม่ค่อย พึงพอใจ และร้อยละ 3.16 ไม่พอใจเลย

     ร้อยละ 82.44 เห็นว่า คสช.มีความตั้งใจในการทำงาน ปัญหาบางเรื่องก็แก้ไขได้รวดเร็วแต่บางเรื่องก็ยังแก้ไม่ได้ ร้อยละ 38.89 จุดเด่นในการทำงานคือ ความเด็ดขาด ตรงไปตรงมา ร้อยละ 38.10 ปราบปราม ทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 23.01 กระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ ร้อยละ 64.74 มองว่าประเทศกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนมีความเป็นอยู่ลำบาก ร้อยละ 23.12 การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องยาก เป็นปัญหาที่สะสม มานาน

คะแนนลดสุดในรอบ 10 ด. 

     สิ่งที่ประชาชนอยากบอก คสช.มากที่สุดคือ ร้อยละ 53.07 แก้ปัญหาเรื่องสำคัญเร่งด่วน โดยเฉพาะของแพง ปากท้อง ร้อยละ27.08 รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายนำมาปรับปรุงแก้ไขปัญหา

    เมื่อเปรียบเทียบคะแนนที่ประชาชนให้ คสช. 1 เดือน 8.82 คะแนน, 2 เดือน 8.87 คะแนน, 3 เดือน 8.80 คะแนน, 4 เดือน 8.57 คะแนน, 5 เดือน 8.52 คะแนน, 6 เดือน 8.49 คะแนน, 7 เดือน 8.20 คะแนน, 8 เดือน 8.24 คะแนน, 9 เดือน 8.17 คะแนน, 10 เดือน 8.10 คะแนน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!