- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 25 March 2015 10:25
- Hits: 2961
วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8883 ข่าวสดรายวัน
ญาติวีรชน ต้านนายกฯคนนอก คสช.ชี้แอมเนสตี้มองลบ ไร้ข้อมูลซ้อมทีมบึ้มศาล กกต.ยกคดีปูทัวร์นกขมิ้น บิ๊กป้อมโต้เกาเหลาตู่-อุ๋ย
คัดค้าน - กลุ่มแนวร่วมผู้ค้าคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ร้องเรียนศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ และยื่นหนังสือถึงนายกฯ คัดค้านหวยออนไลน์ตามร้านสะดวกซื้อ เรียกร้องรัฐบาลเพิ่มโควตาสลากให้ผู้พิการ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. |
กระแสค้านนายกฯ คนนอกยังแรง ญาติวีรชนพฤษภา 35 ยื่นจี้กมธ.ยกร่างฯ ทบทวน ชี้ขัดหลักประชาธิปไตย 'บวรศักดิ์'เสียงอ่อน ยันยังเปลี่ยนได้ กกต.ยกคำร้อง 'ปู'ทัวร์นกขมิ้น-ออกทีวีตีปี๊บจำนำข้าว คำร้องยุบปชป.กรณีแกนนำขึ้นเวทีกปปส.ก็ยกด้วย ทนาย 'มาร์ค'หอบหลักฐานยื่นป.ป.ช. แก้ข้อกล่าวหาสลายม็อบปี'53 พร้อมข'บิ๊กป๊อก-ถวิล' เป็นพยาน'เทือก' เตรียมเข้าชี้แจงด้วยตัวเอง 26 มี.ค. โฆษกคสช.โต้แอมเนสตี้บี้ปมซ้อมผู้ต้องหาคดีบึ้มศาล ข้อมูลไม่ครบถ้วน รัฐบาลเลื่อนแถลงผลงานไป 17 เม.ย. วิปสปช.นัด 26 มี.ค. ถกประเด็นตั้งลูกเมียนั่งผู้ช่วย
ทนายมาร์คแจงสลายม็อบ
เวลา 09.30 น. วันที่ 24 มี.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ และนายราเมศ รัตนะเชวง ทีมทนายความนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหลังจากคณะ กรรมการป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหากับนายอภิสิทธิ์ กรณีสั่งใช้กำลังทหารตำรวจสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 โดยเอกสารแก้ข้อกล่าวหามีทั้งสิ้น 47 แผ่น และมีเอกสารประกอบคำชี้แจง 40 รายการ ประกอบด้วยเอกสารราชการ ภาพถ่ายและแผ่นซีดีบันทึกเหตุการณ์ชายชุดดำ ซึ่งบรรจุในลังกระดาษ 6 กล่อง
นายบัณฑิตกล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ขอยื่นคำแก้ข้อกล่าวหาตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่รับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 25 มี.ค. นี้ โดยชี้แจงเรื่องการออกคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ว่าออกคำสั่งอย่างไร มีเหตุผลจากไหน ยืนยันว่าทุกคำสั่งออกถูกต้องตามกฎหมายและระบุชัดเจนว่าการปฏิบัติหน้าที่ต้องไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น และเจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่การที่เกิดความรุนแรงนั้นเพราะมีกองกำลังติดอาวุธเข้ามา
ขอ"อนุพงษ์-ถวิล"เป็นพยาน
นายบัณฑิตกล่าวว่า ส่วนกรณีศาลอาญามีคำสั่งชี้สาเหตุการเสียชีวิตในคดี 6 ศพวัดปทุมวนารามถูกยิงด้วยกระสุนปืนจากทหารนั้น เรามีหลักฐานว่า กลุ่ม นปช.ยึดกระสุนปืนของทางราชการไปยิงตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐด้วย เพราะมีทหารบางคนถูกยิงโดนกระสุนชนิดเดียวกับกระสุนที่ทหารใช้ นายอภิสิทธิ์ได้ยื่นขอให้ป.ป.ช.สอบพยานเพิ่มเติม 2 คน คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ.ในฐานะรองผอ.ศอฉ.ขณะนั้น และนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะเลขาธิการศอฉ.ขณะนั้น เป็นพยาน เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง
นายบัณฑิตกล่าวว่า สาเหตุที่ไม่ยื่นรายชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นพยานด้วยนั้น เนื่องจากขณะนั้นพล.อ.ประยุทธ์ เป็นรอง ผบ.ทบ. ซึ่งจะทับซ้อนกับพล.อ.อนุพงษ์ แต่เชื่อว่าพยานที่นายอภิสิทธิ์ยื่นไปเต็มใจมาเป็นพยาน และมั่นใจว่าจะหักล้างข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.ได้
เมื่อถามว่ากรณีขอเพิ่มพยานซึ่งขณะนี้เป็นรมว.มหาดไทย จะถูกกล่าวหาว่าเอาคนที่มีอำนาจมาเป็นหลักประกันให้ตัวนายอภิสิทธิ์หรือไม่ นายบัณฑิตกล่าวว่า ถ้าคิดอย่างนั้นขอเพิ่มพยานในชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ดีกว่าหรือ แต่ที่ขอเพิ่มพยาน 2 คนนี้ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ส่วนนายอภิสิทธิ์จะมาชี้แจงด้วยตัวเองเมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับการ นัดหมายของป.ป.ช. นายอภิสิทธิ์พร้อมชี้แจง ส่วนกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และผอ.ศอฉ. เชื่อว่าทีมทนายจะยื่นเอกสารแก้ข้อกล่าวหาต่อป.ป.ช.ภายใน 1-2 วันนี้เช่นกัน
บิ๊กป๊อก-อดีตเลขาฯสมช.ไม่มีปัญหา
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ตนยังไม่เห็นหนังสือแจ้งมาให้เป็นพยาน และนายอภิสิทธิ์ก็ยังไม่มีการประสานมา แต่หากอะไรที่ต้องการความจริง ก็พร้อมร่วมมือ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญคงไม่มีปัญหา หากมีหนังสือเชิญให้เป็นพยานตนก็พร้อมไป เพราะไม่มีความลับอะไรและจะพูดไปตามความจริง
นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสมช. และอดีตเลขาฯ ศอฉ. กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ขอให้เป็นพยานว่า ไม่มีปัญหา เพราะขณะเกิดเหตุการณ์ชุมนุมในช่วงนั้นตนทำหน้าที่เป็นเลขาฯ ศอฉ.อยู่ด้วย และเคย บอกไว้ว่าหากมีอะไรให้ช่วยเหลือและเป็นประโยชน์ตนพร้อม เมื่อนายอภิสิทธิ์ติดต่อมาให้ไปเป็นพยานก็ยินดี โดยจะให้ข้อมูลกับป.ป.ช.เหมือนที่เคยใช้ต่อสู้ในชั้นศาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ขอให้พล.อ.อนุพงษ์ เป็นพยานอีกคนนั้นเนื่องจากขณะนั้นพล.อนุพงษ์เป็นฝ่ายปฏิบัติ
สุเทพยื่นคำชี้แจงเอง 26 มี.ค.
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. เผยว่า วันที่ 26 มี.ค. เวลา 14.00 น. พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะมายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อป.ป.ช.ด้วยตัวเอง ในคดีสั่งใช้กำลังทหารตำรวจสลายการชุมนุม นปช. ในปี 2553 แม้กำหนดการแก้ข้อกล่าวหาเดิมจะทำได้ถึงวันที่ 25 มี.ค. แต่นายสุเทพขอเลื่อนและนัดกับ ป.ป.ช.ในวันที่ 26 มี.ค. แทน ซึ่งนายสุเทพพร้อมชี้แจงข้อมูลและยินดีให้ความร่วมมือ
รายงานข่าวจากป.ป.ช. เผยว่า กรณีนายอภิสิทธิ์ ยื่นขอให้ไต่สวนพยาน 2 คนคือ พล.อ.อนุพงษ์ กับนายถวิล เจ้าหน้าที่ได้รายงานเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. ทราบแล้ว ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ช.จะพิจารณา ว่าจะอนุญาตหรือไม่อย่างไรต่อไป ส่วนนายสุเทพ ได้ประสานมายังป.ป.ช. ขอยืดเวลาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไป 1 วัน โดยวันที่ 26 มี.ค. จะมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วยตัวเอง นายสุเทพต้องให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ด้วยตัวเอง และหากมีการกล่าวอ้างพยานเอกสารหรือพยานบุคคลอย่างไร คณะกรรมการป.ป.ช.จะนำไปพิจารณากับการกล่าว อ้างพยานของนายอภิสิทธิ์ ในคราวเดียวกัน
ไม่รับรายงานปฏิรูปการเงินสุขภาพ
เวลา 11.00 น. เครือข่ายจับตาปฏิรูปสาธารณสุข นำโดยนายสุรพงษ์ พรมเท้า ยื่นหนังสือต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผ่าน นพ.ประเสริฐ ศัลย์วิวรรธน์ สมาชิก สปช.และเลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปสาธารณสุข เพื่อคัดค้านรายงานวาระการปฏิรูประบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ สปช.ในวันที่ 25 มี.ค.นี้
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การปฏิรูปดังกล่าวไม่มีการศึกษาที่เป็นระบบและรอบคอบ มีจุดอ่อน ขาดความเป็นวิชาการ แต่กลับจัดทำข้อเสนอเพื่อปฏิรูปโดยไม่มีฐานอ้างอิงและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง เหมือนมีวาระแอบแฝง เป็นข้อเสนอที่มีธงล่วงหน้า มีเจตนารวบรวมอำนาจไว้ที่กระทรวงสาธารณสุข ขอคัดค้านรายงานวาระดังกล่าว กมธ.ปฏิรูปสาธารณสุขต้องถอนวาระดังกล่าวไปศึกษาและ ข้อเสนอแนะให้ถูกต้อง เปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมพิจารณาอย่างจริงจังด้วย
ญาติวีรชน 35 ค้านนายกฯคนนอก
จากนั้นเวลา 11.30 น. นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 พร้อมญาติๆ วีรชน เข้ามายื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้คณะ กมธ. ยกร่างฯ ทบทวนบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายอดุลย์กล่าวว่า การที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้นายกฯ มาจากการเลือกของสภา ผู้แทนราษฎรโดยไม่กำหนดผู้ที่ได้รับเลือกจะต้องเป็นส.ส. เกิดเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการเปิดช่องให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ ได้ รวมทั้งเกิดความสงสัยของสังคมบางส่วนว่าเป็นการเปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจ ซึ่งคณะกรรมการไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะเป็นกระทำที่สวนทางกับเจตนารมณ์วีรชนเดือนพฤษภาคม 2535
"แม้จะเห็นว่า มีความจำเป็นและเหตุผลของคณะ กมธ.ยกร่างฯ ที่ระบุว่าเพื่อเป็นการผ่าทางตันให้วิกฤตการณ์ทางการเมือง หรือเป็นบันไดหนีไฟก็ตาม แต่การเปิดช่องกว้างไว้แบบนี้ อาจทำให้นายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องยึดโยงกับประชาชนได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และอาจเป็นการสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นได้" นายอดุลย์กล่าว
บวรศักดิ์ ชี้ยังแก้ไขได้
นายอดุลย์กล่าวว่า ขอให้คณะกมธ.ยกร่างฯ ทบทวนเรื่องดังกล่าว แต่หากคณะกมธ.ยกร่างฯ ต้องการวางทางออกสำหรับแก้วิกฤตก็ต้องกำหนดเงื่อนไขพิเศษสำหรับนายกฯ ที่จะมาจากคนนอก คือ การกำหนดให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเฉพาะในสถานการณ์ที่ไม่ปกติและต้องมีคุณสมบัติที่ไม่มีประวัติด่างพร้อย
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญยังอยู่ในขั้นตอนแรกยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด โดยยังมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและสามารถเปลี่ยนแปลงได้
โต้'ประสงค์'ยึดรธน.เก่าไม่ได้
นายบวรศักดิ์ ให้สัมภาษณ์กรณีน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างฯ วิจารณ์การยกร่างรัฐธรรมนูญในทางลบว่า กมธ.ยกร่างฯ ยินดีรับฟัง แต่ต้องชี้แจงว่าตอนร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ตนได้แสดงความเห็นสนับสนุนและชื่นชมน.ต.ประสงค์ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน แปลง กมธ.ยกร่างฯ ต้องทำสิ่งที่เหมาะสมให้เข้ากับสถานการณ์ จะยึดติดกับรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 ไม่ได้
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่มีฉบับใดเขียนบัญญัติเรื่องการปฏิรูปประเทศและการปรองดองไว้เหมือนร่าง ฉบับนี้ เราจึงจำเป็นต้องเขียนเรื่องการปฏิรูปและปรองดองไว้ เนื่องจากปัญหาของประเทศระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ไม่ได้ร้ายแรงเท่ากับปัจจุบัน
"ยืนยันว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้อง ฟังเสียงจากทุกภาคส่วน แต่เสียงที่ดังมากที่สุดขณะนี้เป็นเสียงของนักการเมืองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่วนผู้ได้ประโยชน์คือ พรรคขนาดกลางกลับไม่วิจารณ์อะไร ผิดกับพรรคขนาดใหญ่ที่วิจารณ์ แต่เราก็รับฟังความคิดเห็น" นายบวรศักดิ์กล่าวและว่า ตั้งแต่ยกร่างรัฐธรรมนูญมายังไม่เห็นมีใครสนใจและ พูดถึงการสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่และการปฏิรูป ทุกคนสนใจแต่วิธีเข้าสู่อำนาจของตัวเองว่าจะเป็นอย่างไร มีบางฝ่ายแสดงความเห็นว่าการให้ประชาชนจัดลำดับผู้สมัครส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเป็นการตัดสิทธิประชาชน ต้องถามกลับว่าคิดอย่างนั้นได้อย่างไร
รับกก.ปรองดองผูกพันทุกองค์กร
เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะแก้ปัญหาการส่งนอมินีลงเลือกตั้งได้อย่างไร นายบวรศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่รัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ ได้คือวัฒนธรรมทางการเมือง การเขียนรัฐ ธรรมนูญจะไปแก้ไม่ให้คนยอมขายเสียงคงไม่ได้ เขียนเพื่อให้ระบบอุปถัมภ์หมดไปก็คงไม่ได้ หรือเขียนให้คนชอบเลี่ยงกฎหมาย ไม่เลี่ยงกฎหมายก็คงไม่ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและพฤติกรรมของนักการเมือง นักวิชาการบางคนเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ต้องสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลง
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า การเลือกตั้งส.ส. บัญชี รายชื่อแบบเปิด หรือโอเพ่นลิสต์ ยืนยันว่าเป็น การสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรค ให้พรรคฟัง เสียงของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา พรรคขาดความเป็นประชาธิปไตยในพรรค ยอมรับหรือไม่ว่าพรรคเป็นพรรคของหัวหน้าพรรค ที่มีอำนาจสั่งการให้ไปทางซ้ายหรือขวาก็ได้
เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้ผูกพันกับทุกองค์กร ถือเป็นการซ่อนอำนาจ รัฏฐาธิปัตย์ไว้หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดย่อมผูกพันทุกองค์กรอยู่แล้ว เช่นเดียวกับการปฏิรูปประเทศก็ต้องให้ผูกพัน ถ้าไม่ผูกพันเกรงว่ารัฐบาลในอนาคตอาจไม่ดำเนินการต่อ
คยร.แจงข้อดีเลือกตั้งแบบเยอรมัน
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. ทักท้วงการนำระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสมแบบเยอรมนีมาใช้ เนื่องจากเข้าใจยากว่า ยืนยันว่าระบบสัดส่วนผสมไม่ได้ใช้แค่ในเยอรมนีเท่านั้นที่ใช้มานาน 66 ปี มี 9 ประเทศทั่วโลกใช้ระบบนี้ ไม่ได้ซับซ้อน ข้อดีของระบบนี้ทำให้พรรคการเมือง ได้ส.ส.ตามความนิยมของประชาชน ไม่ยุ่งยาก ยังไม่เห็นว่าระบบนี้จะไม่ดีอย่างไร เพราะกำหนดเขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้นการซื้อเสียงก็ยากขึ้น คนที่ไม่เห็นด้วยเพราะยังยึดติดเรื่องเดิมๆ พอเกิดการเปลี่ยนแปลงจึงไม่ยอมรับ
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า อีกทั้งระบบบัญชีรายชื่อ 6 ภาคให้จัด 6 บัญชีมีส.ส. 200 คน คล้ายกับการแบ่งบัญชีรายชื่อใน 8 กลุ่มจังหวัดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่การกำหนด 6 ภาคจะทำให้ใกล้ชิดประชาชนมากกว่าใช้เขตประเทศ ยืนยันระบบนี้ไม่ทำให้พรรคใดเสียเปรียบ และทำให้พรรคขนาดเล็กได้ส.ส. และเกิดรัฐบาลผสม แต่สิ่งที่น่ากังวลในระบบสัดส่วนผสม คือกำหนดให้ได้คุณสมบัตินักการเมืองที่ดี ถ้านักการเมืองตั้งใจพัฒนาตนเองจะทำให้ประชาชนเลือกผู้แทนตามบัญชีที่เลือกไว้ โดยทุกประเทศใช้ระบบนี้ทำให้พรรคเข้มแข็ง
พร้อมปรับระบบโอเพ่นลิสต์
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนระบบโอเพ่นลิสต์ที่ให้อำนาจประชาชนจัดลำดับผู้สมัคร ส.ส.ลงในระบบบัญชีรายชื่อ เพราะที่ผ่านมาให้อำนาจพรรคกำหนดตัวผู้สมัคร โดย กมธ.ยกร่างฯพร้อมรับฟังความเห็น ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ประชาชนจัดบัญชีผู้สมัครก็พร้อมยกเลิกได้
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ส่วนที่สมาชิก สปช.เตรียมชำแหละระบบสัดส่วนผสมและระบบโอเพ่นลิสต์นั้น ยืนยันว่าไม่มี สปช.ชำแหละประเด็นนี้ จะมีแต่แสดงความเห็น ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ พร้อมรับฟังทุกความเห็น ถ้าเกิดนำไปใช้แล้วล้มเหลวก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนได้ โดย กมธ.ยกร่างฯ จะรับฟังความเห็น สปช.ทั้งหมดเพื่อนำไปปรับแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์กับประชาชน
แก้รธน.ชั่วคราวก่อนประชามติ
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรอง นายกฯ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเสนอให้จัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า เห็นด้วย แต่ต้องมีทางเลือกที่ชัดเจนให้ประชาชน เพราะเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมีเสียงวิจารณ์ในทางที่ไม่เห็นด้วยมาก ใน สปช.หลายคนก็ไม่เห็นด้วย บอกว่าจะทำให้ประเทศมีปัญหา รัฐบาลอ่อนแอ เกิดผลเสียกับประชาชน ดังนั้น หากจะทำประชามติควรแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ว่าถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญทางเลือกคืออะไร ต้องมีทางเลือกชัดเจน ไม่ใช่ทำประชามติเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ประชาชนถูกมัดมือชก หากไม่รับร่างฯ คณะปฏิวัติจะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ก็ได้ เป็นการขู่ประชาชน นอกจากนี้การทำประชา มติต้องเปิดให้สังคมได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและปล่อยให้ตัดสินใจอย่างอิสระ ส่วนที่โยนให้นายกฯ ตัดสินใจจะทำหรือไม่นั้น เข้าใจว่านายกฯ สวมหมวกหลายใบ ใบแรกคือนายกฯ ใบที่สองคือหัวหน้า คสช.จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องให้อำนาจการตัดสินใจ
"ที่ต้องทำประชามติเพราะ กมธ.ยกร่างฯ ไปหยิบยกเนื้อหาของประเทศนั้นประเทศนี้เข้ามารวม แล้วเติมหลักการบางอย่างเข้าไป ซึ่งคงเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดียวของโลกที่ทำแบบนี้ และหลายฝ่ายเห็นว่าจะเกิดปัญหา ดังนั้นอย่างน้อยให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะนำไปใช้หรือไม่" นายพงศ์เทพกล่าว
วิษณุยันประกาศใช้รธน.ปลายปี
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ระบุเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมาจะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2558 ว่า ไม่ทราบ เข้าใจว่าพล.อ. ประยุทธ์ หมายถึงรัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ในปี 2558 เพราะที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงโรดแม็ปมาตลอด เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรดแม็ป ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญประกาศใช้ในปีนี้แน่
"เวลาจะพูดเผื่อว่าจะเลือกตั้งเมื่อไรต้อง คำนวณถึงความเป็นจริง จะมโนเอาคงไม่ได้ เอาเป็นว่าผมจะบอกว่ารัฐธรรมนูญจะประกาศ ใช้ในปีนี้" นายวิษณุกล่าว
ประวิตรยันรธน.ไม่ล็อกสเป๊ก
ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมสภากลาโหม กรณีมีคนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อยากให้ดูโพลสำนักต่างๆ ว่ามีคนเชื่อมั่นเท่าไร กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีนัยยะอะไร ไม่มีอยู่แล้ว คน 30 กว่าคนต้องการทำให้ประเทศเดินได้ ยึดหลักประชาชนทัดเทียมกันเพื่อป้องกันความขัดแย้งในอนาคต ป้องกันไม่ให้ประชาชนออกมาตีกันอีก ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้แต่ตนเห็นด้วย หากต่อไปจำเป็นต้องทำประชามติก็ต้องทำ คนไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับนี้ กมธ.ยกร่างฯ ก็เปิดให้เสนอความคิดได้ ไม่มีใครห้าม
"ยืนยันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีการล็อก สเป๊กจาก คสช. คนตั้ง 30 กว่าคนจะไปล็อกได้อย่างไร เขามีความคิด เป็นด๊อกเตอร์ นักกฎหมาย ไปบังคับได้หรือ เขามีอิสระในความคิด ส่วนจะเกิดความเกรงใจนายกฯ ที่เป็นผู้แต่งตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ขึ้นมานั้น ความคิดไม่มีการเกรงใจ ความเกรงใจเป็นเรื่องตัวบุคคล เขาไม่ได้ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ แต่ทำให้ประเทศชาติและประชาชน 70 ล้านคน" พล.อ.ประวิตรกล่าว
โต้ขัดแย้งนายกฯ-หม่อมอุ๋ย
พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงการเข้าพบพล.อ. ประยุทธ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า ไปพูดคุยเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่จำเป็นที่นายกฯ ต้องฝากหรือเน้นย้ำอะไร เพราะเป็นหน้าที่ตนอยู่แล้วที่ต้องดูแลงานด้านความมั่นคง แม้บางครั้งเกี่ยวข้องงานด้านเศรษฐกิจ เรื่องความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ตนก็ต้องเข้าไปดู อย่ามาหาว่าตนเข้าไปทำเรื่องเศรษฐกิจ อะไรที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงและเกิดความเสียหายก็ต้องไปช่วยกัน เพื่อให้ประชาชนอยู่สุขสบาย อะไรที่เดือดร้อนก็ต้องช่วยกัน เพราะเป็นรัฐบาล มีหน้าที่ดูแลให้ประเทศมั่นคง
"มีการส่งข้อมูลทางไลน์เต็มไปหมด เขียนกันเอง นึกกันเอง บ้างให้ผมกับนายกฯ มีปัญหากัน หรือผมกับม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ไม่ถูกกัน ก็ไม่เห็นมีอะไร เราคุยกันทุกวัน ทำงานให้ประเทศชาติ รัฐบาลนี้ไม่มีแตกแยก ถ้าอะไรที่ไปกันไม่ได้ก็มาดูว่าทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ได้ มีความสุข เกิดความสงบ ให้ประเทศไปข้างหน้า เราทำทุกอย่าง ไม่เลือกทำ ยืนยันไม่มีใครขัดแย้งใคร ข่าวก็คือข่าว ไม่ใช่เรื่องจริง เมื่อเช้าผมก็เจอม.ร.ว.ปรีดิยาธร นายกฯ ก็เจอกัน คุยกัน ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรให้มันดี ไม่มีใครขัดแย้ง ส่วนที่บอกว่าเป้าหมายความขัดแย้งครั้งนี้คือให้ปรับ ครม.นั้น นายกฯ พูดตลอดเวลา สื่อปรับไปคนเดียวเถอะ" พล.อ. ประวิตรกล่าว
วิปสปช.นัดหารือตั้งญาติ
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการกมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือ วิปสปช. กล่าวกรณีมีสมาชิกสปช.แต่งตั้งเครือญาติเป็นผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยดำเนินการประจำตัวว่า ยังไม่ทราบว่ามีทั้งหมด กี่คน ประชุมวิปสปช.ครั้งที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรายงานว่าหลายฝ่าย ยื่นเรื่องขอข้อมูลเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรม การข้อมูลข่าวสาร แต่ไม่ได้แจ้งรายละเอียด ว่ามีกี่คน ใครบ้าง แต่เมื่อปรากฏรายชื่อเพิ่มเติมมาอีก สมาชิกสปช.ต้องยึด ตามแนวทางที่ประธานสปช.และมติวิปสปช.ที่วางไว้
นายอลงกรณ์กล่าวว่า ยอมรับว่ากรณีดังกล่าวกระทบต่อภาพลักษณ์ของสปช. ต้องไม่ลืมว่า สปช.เป็นผู้นำปฏิรูป ประชาชนจึงคาดหวังว่าสปช.จะมีมาตรฐานที่สูงกว่าสภาในอดีต ถือเป็นบทเรียนที่สปช.ต้องพึงระมัดระวัง รวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย การประชุมวันที่ 26 มี.ค.นี้ จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาสอบถามถึงข้อมูลที่แท้จริง รวมถึงความคืบหน้าหลังจากวิปสปช.มีมติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าสมาชิกได้ปฏิบัติตามมติวิปแล้วหรือไม่
ให้เมีย-น้องทยอยลาออกแล้ว
ด้านพ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สมาชิกสปช. กล่าวว่า ตนให้ญาติทั้ง 4 คนลาออกทั้งหมดตั้งแต่ตอนที่มีการเปิดเผยกรณีของสนช.และวิปสนช.มีมติให้ลาออกแล้ว
พล.ท.นคร สุขประเสริฐ สมาชิกสปช.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ตนให้น้องชายลาออกตั้งแต่กรณีสนช.แล้ว ซึ่งการตั้งน้องชายมาทำหน้าที่ตรงนี้ เนื่องจากตนเป็นสมาชิก สปช.จังหวัด และยังต้องทำหน้าที่เป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ด้วย จึงไม่มีเวลาลงพื้นที่ทำเวทีภาคประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูป จึงให้น้องชายที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในพื้นที่มาทำงานดังกล่าวแทน แม้จะไม่ขัดระเบียบของ สปช.แต่เมื่อสังคมมองว่าไม่เหมาะสมก็ไม่ขัดข้อง
นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิก สปช. กล่าวว่า ตนตั้งภรรยาเป็นผู้ช่วยผู้ดำเนินงานประจำตัว คนที่ 3 แต่เมื่อสังคมมองไม่ดี ได้ให้ลาออกไปแล้วตั้งแต่กรณีของสนช.แล้ว ซึ่งเห็นว่า หากการแต่งตั้งเครือญาติมาทำหน้าที่แล้วไม่เหมาะสม แม้จะไม่ผิดข้อบังคับก็ควรบอกกันตั้งแต่แรก แต่มาบอกภายหลังก็เกิดปัญหาเช่นนั้น เพราะทุกคนเข้าใจว่าการแต่งตั้งคน ใกล้ชิดทำให้การทำงานคล่องตัว ทั้งนี้ การแต่งตั้งจะเหมาะสมหรือไม่ อยู่ที่การทำงานมากกว่า กรณีของตน ภรรยามาช่วยงานตลอดเวลา
รบ.เลื่อนแถลงผลงาน 6 เดือน
ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะทำงานนายกฯหารือถึงการแถลงผลงานรัฐบาล ครบ 6 เดือน และเตรียมเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เลื่อนการแถลงผลงานออกไป จากเดิมวันที่ 10 เม.ย. ไปเป็นวันที่ 17 เม.ย. เวลา 09.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี เนื่องจากวันที่ 10 เม.ย.นี้ ใกล้ช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์
โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า รูปแบบการแถลง นายกฯจะแถลงในภาพรวมการทำงานเพียงคนเดียว จากนั้นจะมอบให้ทั้ง 20 กระทรวงไปแถลงผลงานของตัวเองที่กระทรวง เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.เป็นต้นไป เว้นเฉพาะวันอังคาร ที่ประชุม ครม. จากนั้นวันที่ 24 เม.ย. นายกฯจะแถลงผลงานอีกครั้งผ่านรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" และให้รอง นายกฯและรัฐมนตรีสลับกันชี้แจงผลงานผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. เวลา 21.30 น.
กกต.ยกคำร้อง"ปู"ทัวร์นกขมิ้น
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายดุษฎี พรสุขสวัสดิ์ รองเลขาธิการกกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย แถลงว่า ที่ประชุม กกต.มีมติยกคำร้องคดีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับครม. ลงพื้นที่ตรวจราชการในภาคเหนือและอีสาน ในช่วงมีพ.ร.ฎ.กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 ว่าเป็นการกระทำผิดฐานใช้ทรัพยากรและบุคลากรของรัฐไปใช้ในการหาเสียง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 181 (4) และพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 53 และ 57
นายดุษฎีกล่าวว่า กกต.เห็นว่า แม้ขณะนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมีสถานะเป็นแค่รักษาการ นายกฯและรมว.กลาโหม เนื่องจากมีการยุบสภา แต่ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจราชการได้ ซึ่งในคำร้องกล่าวหาว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้ทรัพยากรของรัฐและส่วนราชการไปใช้หาเสียง แต่จากการพิจารณาข้อเท็จจริงก็ไม่พบการกระทำดังกล่าว หรือมีการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบแต่อย่างใด
รองเลขาธิการกกต. กล่าวว่า กกต.ยังมีมติยกคำร้องกรณีกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจในการโฆษณาโครงการรับจำนำข้าว ว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบและเป็นการสัญญาว่าจะให้ทรัพย์ สินหรือประโยชน์อื่นใดทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าใจผิดในคะแนนนิยม ซึ่งจากการพิจารณาข้อเท็จจริงในสำนวน ไม่พบว่าผู้ถูกร้องมีการกระทำตามข้อกล่าวหาหรือฝ่าฝืนกฎหมาย
ปล่อยปชป.ขึ้นเวทีกปปส.ด้วย
นายดุษฎีกล่าวว่า กกต.ยังพิจารณาสำนวนคำร้องที่นายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีนายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย ร้องว่า หัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มกปปส. ขณะที่ยังเป็น ส.ส. อยู่ และรู้เห็นเป็นใจสนับสนุนให้มีการชุมนุม รวมถึงการบิดเบือนข้อเท็จจริงโจมตีพรรค เพื่อไทย โดยนายทะเบียนพรรคฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าการกระทำ ดังกล่าวฝ่าฝืนกฎหมาย กกต.จึงพิจารณายกคำร้อง นอกจากนี้ กกต.ยังพิจารณายกคำร้องคัดค้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กรณีแถลงข่าวใส่ร้ายพรรคเพื่อไทยและผู้สมัครให้เกิดความเสียหาย โดยเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ได้ใส่ร้ายป้ายสี
อัยการปิดหมายเรียก"ปู"ขึ้นศาล
เวลา 10.00 น. วันเดียวกัน นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เจ้าหน้าที่ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่จากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เดินทางมาที่บ้านพักของน.ส. ยิ่งลักษณ์ จำเลยในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดย มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ที่บ้านพักเลขที่ 38/9 ซอยนว มินทร์ 111 แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กทม. เพื่อปิดหมายเรียกที่ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 19 พ.ค. เวลา 09.30 น. พร้อมแนบสำเนาคำฟ้องของอสส. เพื่อให้รับทราบและเดินทางไปศาลฎีกาฯตามนัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามขั้นตอนของระเบียบ ศาลฎีกาฯ เมื่อเจ้าหน้าที่ศาล ปิดหมายเรียกตามที่อยู่ของจำเลยในคำฟ้องแล้ว กรณีไม่มีผู้รับหมายเมื่อเวลาผ่านไป 15 วันให้ถือว่าจำเลยรับทราบหมายโดยชอบแล้ว ส่วนวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 19 พ.ค.นั้น น.ส. ยิ่งลักษณ์ต้องมาแสดงตัวต่อศาลด้วยตนเองเป็นครั้งแรก จากนั้นตามขั้นตอนศาลสอบคำให้การจำเลยว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ รวมทั้งศาลจะมีคำสั่งในเรื่องการขอปล่อยชั่วคราวด้วย
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์กรณีเจ้าหน้าที่อสส. ป.ป.ช. และศาลฎีกาฯ ปิดประกาศหมายนัดที่บ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า เป็นวิธีการส่งหมายของศาลตามปกติ หากจำเลยไม่อยู่ เจ้าหน้าที่จะนำไปแขวนที่หน้าประตูบ้านเหมือนคดีทั่วไปและมีผลทางกฎหมาย หลังจากนี้ทีมทนายจะนำคำฟ้องมาศึกษา ส่วนจะนัด น.ส. ยิ่งลักษณ์ พูดคุยเมื่อใดยังไม่ได้พิจารณา แต่เบื้องต้นทีมทนายจะหารือเพื่อศึกษาคำฟ้องว่าเป็นอย่างไรก่อน
รายงานข่าวจากทีมทนายแจ้งว่า เบื้องต้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้ขอเลื่อนวันนัดพิจารณา คดีครั้งแรกในวันที่ 19 พ.ค.
นัดเลือกองค์คณะคดี"บุญทรง"
นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เผยว่า วันที่ 25 มี.ค. เวลา 09.30 น. นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา นัดประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกา เพื่อเลือกองค์คณะ ผู้พิพากษา 9 คน ในคดีที่อสส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ พร้อมพวกรวม 21ราย กรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบทำให้เกิดความ เสียหาย ทั้งนี้ เมื่อได้องค์คณะครบ 9 คนแล้ว องค์คณะจะประชุมกันภายในเพื่อเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีต่อไป
ประวิตรยัวะ-สวน"ผมทรมานใคร"
ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์อย่างมีอารมณ์กรณีสำนักงานเลขา ธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำกรุงลอนดอน เรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึง ผบ.ทบ.และ ผบ.ตร.ของไทย เพื่อแสดงความห่วงใยกรณีผู้ถูกควบคุมตามกฎอัยการศึกเสี่ยงต่อการถูกทรมานว่า "ผมไปทรมานใคร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ ให้เอาเรื่องจริงมาพูด ข่าวลือก็คือข่าว บอกว่าไม่ได้ทำ เจ้าหน้าที่ทุกคนรู้ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ดูแลงานด้านความมั่นคง ที่จับมาเพราะทำผิดและต้องสอบสวน จะไปทำอะไรได้ จะซ้อมหรือทำอะไรไม่มี ในกฎอัยการศึกก็ไม่ได้ให้อำนาจให้เจ้าหน้าที่ซ้อม ผู้ต้องหา รับรองเราไม่ได้ทำ"
เมื่อถามว่าจะดำเนินการอย่างไรกับคนที่ให้ข้อมูลกล่าวหาทหารโดยปราศจากพยานหลักฐาน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า อะไรที่ทำให้เกิดความเสียหายกับตัวองค์กรของรัฐ และทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในองค์กรก็จำเป็นเพราะไปให้ร้ายเขา
ใช้กฎอัยการศึกแค่ 2 กรณี
เมื่อถามว่าเรื่องกฎอัยการศึกทำให้ต่างชาติไม่มั่นใจ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า กำลังดูอยู่ แต่ อย่าลืมว่ากฎอัยการศึกที่ คสช.และรัฐบาลใช้อยู่ขณะนี้ แค่ 2 กรณีเท่านั้นคือการตรวจค้น การออกหมายจับ เพราะหากรอศาลจะไม่ทันเวลา นอกนั้นไม่ได้ใช้เลย แต่เอามาอ้างกันอยู่นั่น ตนปรึกษากับนายกฯว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ต่างชาติสบายใจ เมื่อถามว่าจะใช้กฎหมายปกติควบคุมตัวผู้ต้องหาแทนกฎอัยการศึกหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ต้องห่วง จะดูว่าอะไรดูแลประชาชนไม่ให้ออกมาตีกันจนรัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ ก็จะดำเนินการต่อ แต่ถ้าไม่ส่งผลกระทบเราก็จะพิจารณา
เมื่อถามถึงการติดตามตัวบุคคลที่ทำผิดและหนีไปต่างประเทศทั้งในมาตรา 112 และก่อการร้าย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากฎหมายบางอย่างของเราไม่มีในประเทศเขาและไม่ได้เซ็นเอ็มโอยู ไม่มีสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือผิดกฎหมายอาญา บางครั้งก็ทำไม่ได้ ส่วนความผิดคดีก่อการร้าย ต้องขอตัวมาเพราะเรามีเอ็มโอยูกับเขา จำเป็นที่เขาต้องส่งตัวให้เรา ที่อ้างว่าเป็นเรื่องการ เมืองก็ต้องสู้กันตามกฎหมาย
เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวต่างๆ จะส่งผล กระทบต่อโรดแม็ป คสช. โดยเฉพาะการเลือกตั้งในกลางปีหน้า ต้องคลาดเคลื่อนไปจากเดิมหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี ยืนยันทุกอย่างเดินตามโรดแม็ปจนถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2559 สิ่งไหนที่กำหนดระยะเวลาเอาไว้ก็ทำตามนั้น
ซัดแอมเนสตี้ข้อมูลไม่ครบ
ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกคสช. กล่าวว่า แอมเนสตี้อาจกังวลเพราะยังมีรายละเอียดและข้อมูลไม่ครบ คสช.ไม่อยากให้บางบุคคลหรือบางองค์กรมองสถานการณ์ด้วยทัศนคติแบบเก่า โดยเฉพาะการคาดเดาในเชิงลบอย่างเดียว เนื่องจากบางบริบทในไทยนั้นแตกต่างจากที่อื่น ยืนยันว่าไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดๆ ที่เจ้าหน้าที่ต้องไปซ้อมทรมานผู้ที่อยู่ในการควบคุมตามกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่จะใช้แนวทางการขอความร่วมมือและทำความเข้าใจ
โฆษกคสช. กล่าวว่า ยืนยันในขั้นนี้จะยังไม่ปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมในลักษณะผู้ต้องหา อาจจะอยู่ในขั้นตอนต่อไปซึ่งตำรวจจะเป็น ผู้ดำเนินการ ทราบดีว่าอาจยังมีผู้ที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์พยายามหยิบยกนำไปบิดเบือนขยายผลให้เกิดเป็นประเด็นเพื่อลดความน่าเชื่อถือเจ้าหน้าที่ รวมถึงกดดันต่อต้านการใช้กฎหมาย ฉบับนี้ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายนี้ในมุมที่สร้างสรรค์มาตลอด และการควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ มีระบบบันทึกทำหลักฐานไว้ในทุกขั้นตอน
สั่งบัวแก้วแจงสื่อนอก
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่ากรณีของแอมเนสตี้นั้น ได้แจ้งนายเสกข์ วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แปลเนื้อหาสาระคำชี้แจงของรัฐบาลโดยรวมเพื่อส่งให้ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้าใจ การทำหนังสือชี้แจงไปยังองค์การต่างๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงการต่างประเทศทำมาตลอด เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้ติดใจองค์กรต่างๆ เพราะทั้งองค์ การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แอมเนสตี้ ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามภารกิจ แต่เรื่องข้อมูลข่าวสารอยากให้ให้เกียรติกัน เพราะรัฐบาลและทุกภาคส่วนพยายามชี้แจงว่ามาตรฐานกระบวน การยุติธรรมของไทยเป็นอย่างไร กฎหมายเฉพาะเราจะใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ได้ทำให้คนไทยอึดอัด แต่ผู้ที่อึดอัดคือผู้ที่มีความคิดแอบ แฝงกระทำความรุนแรง ซึ่งการจับกุมผู้ต้องหาคดีปาระเบิดยังอาศัยอำนาจกฎอัยการศึก จึงได้ตัวผู้ต้องหากว่า 10 คน
ไม่รับระเบิดที่พบเป็นของทหาร
พล.ต.สรรเสริญกล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยการประชุมครม.นอกสถานที่ ที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภายหลังเจ้าหน้าที่พบวัตถุระเบิดใกล้สถานที่ประชุมว่า รัฐบาลไม่มีมาตรการดูแลอะไรเป็นพิเศษ พล.อ.ประวิตรรายงานต่อนายกฯ ว่ามีมาตรการที่รัดกุมดูแลตลอด จากข้อมูลเบื้องต้น อาวุธและวัตถุระเบิดดังกล่าวไม่น่าเกี่ยวข้องกับการเตรียมก่อเหตุร้ายในพื้นที่ เพราะวัสดุอุปกรณ์ที่ตรวจพบไม่ได้สื่อให้เห็นในทิศทางการก่อเหตุร้าย ที่ตรวจพบนั้นเข้าใจว่าเกิดจากความเกรงกลัวของผู้ที่มีอาวุธเหล่านี้ในครอบครอง จึงนำไปทิ้งไว้ ดังนั้น จึงไม่น่ามีผลต่อความเข้มงวดในมาตรการรักษาความปลอดภัยการประชุมครม.สัญจร
เมื่อถามอาวุธที่พบเป็นอาวุธจากทางกองทัพ หรือไม่ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า วัตถุระเบิดต่างๆ เช่น ทีเอ็นที ใช้ในทางทหารและในทางอุตสาหกรรม อาทิ โรงงานระเบิดหินได้เช่นกัน และที่พบบรรจุในกระสอบที่เขียนว่า ร.1 พัน.1 รอ. มองได้หลายเหตุผล ถุงดังกล่าวอาจเคยนำไปใส่อุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ หรือเป็นความพยายามทำให้เข้าใจว่าเป็นของเจ้าหน้าที่ก็ได้
กรมพระธรรมนูญเล็งแถลง
ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวกรณีมีผู้เห็นต่างต่อต้านการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารว่า ได้เชิญกรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม มาพูดคุยเพื่อสอบถามรายละเอียดเมื่อบ่ายวันเดียวกันนี้และรับทราบข้อมูลบางอย่าง หากจำเป็นจะชี้แจงเพื่อความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว แต่เวลานี้กำลังดูข้อมูล สถิติ คดี ซึ่งกรมพระธรรมนูญได้จัดเตรียมมาให้แต่ยังไม่ครบถ้วน จึงให้กรมพระธรรมนูญจัดทำเพิ่มเติมในบางกรณี
เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ผู้ที่อยู่ในกระบวนการศาลทหารกลับไปใช้ศาลพล เรือน นายวิษณุกล่าวว่ากำลังศึกษาข้อมูลอยู่ว่าจะหาทางออก จะแก้ไขข้อสงสัยอย่างไร แต่ต้องดูข้อมูลก่อนเพราะได้มาแล้วแต่ไม่ครบ
ผู้พิการยื่นนายกฯ-ค้านหวยตู้
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กลุ่มสมาคมแนวร่วมผู้ค้าคนพิการและแนวร่วมผู้ด้อยโอกาส นำโดยนายสันติสุข ผลสวิง พร้อมแนวร่วมกว่า 100 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่ดคัดค้านการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านตู้ออนไลน์อัตโนมัติตามร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า เนื่องจากอาจส่ง ผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนที่สามารถซื้อได้สะดวกและเสี่ยงต่อการมอมเมาประชาชน และขอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มจำนวนโควตาสลากให้กับผู้พิการ ตามที่ยื่นข้อเสนอมาก่อนหน้านี้
นายสันติสุขกล่าวว่า ปัญหาสลากฯมีราคาแพง เกิดจากการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ของผู้ซื้อ การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องคือผลิตให้มากขึ้น และเพิ่มให้กับผู้ขายโดยเฉพาะคนพิการ เพราะสร้างอาชีพให้กับคนด้อยโอกาส พร้อมขอร้องนายกรัฐมนตรีอย่าจำกัดสิทธิผู้พิการ เนื่องจากเบี้ยคนพิการที่รัฐบาลจัดสรรให้เพียง 800 บาทต่อเดือนนั้นไม่เพียงพอต่อการยังชีพ
เสนอเก็บภาษีพระ-ตั้งศาลสงฆ์
วันที่ 24 มี.ค. ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุมสปช. พิจารณารายงานการศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. เปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ เห็นด้วยให้ปฏิรูปศาสนา แต่ควรปฏิรูปในภาพรวมไม่ใช่ปฏิรูปเฉพาะกรณี
นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ สมาชิกสปช. อภิปรายว่า เห็นด้วยแต่มีข้อเสนอว่า ต่อไปนี้วัดต้องทำบัญชีทั้งหมดไม่ต้องให้ไวยาวัจกรเป็นคนทำ ส่วนวัดที่ทำเป็นพุทธพาณิชย์ ควรให้สำนักงานพุทธศาสนาเข้าไปตรวจสอบ และต่อไปวัดที่ให้เช่าวัตถุมงคลอาจต้องเสียภาษีเพราะถือเป็นพุทธพาณิชย์ ส่วนพระที่ไม่ต้องเสียภาษีก็อาจยกเว้นพระที่มีรายได้ไม่ถึง 20,000 บาท แต่ถ้าเกิน 24,000 บาท ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.91) และเสนอให้พระที่เสพเมถุน ดื่มสุราและขับรถ ถือว่าปาราชิกแล้วต้องมีโทษทางอาญาด้วย โดยไม่ควรให้พระที่ปาราชิกแล้วกลับมาบวชใหม่ได้อีก
นายวันชัย สอนศิริ อภิปรายว่า เรื่องการประพฤติผิดพระธรรมวินัยเอาสีกามาเสพเมถุน หลังจับสึกแล้วต้องดำเนินคดีและจับติดคุก จึงเห็นว่าควรตั้งศาลรัฐธรรมนูญพระเพื่อมาดูแลพระสงฆ์และเป็นไปตามที่นายเทียนฉายบอกว่าต้องให้อาณาจักรมาปกป้องคุ้มครองศาสนา ไม่เช่นนั้นศาสนาจะไปต่อไม่ได้
จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับรายงานของคณะกรรมการ และข้อเสนอแนะของสมาชิก สปช. เพื่อส่งให้ครม.ดำเนินการต่อไป ด้วยคะแนน 186 ต่อ 7 งดออกเสียง 11 จากนั้นปิดประชุมในเวลา 18.15 น.
ทร.เฮ-"บิ๊กป้อม"เล็งซื้อเรือดำน้ำ
โยกย้ายนายพลกลางปีเร็วๆนี้
วันที่ 24 มี.ค. ที่อาคารรับรอง เกษะโกมล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหมกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่กองทัพเรือจะจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการว่า เราต้องมีเรือดำน้ำเพราะจำเป็น ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามก็มีหมดแล้ว กองทัพเรือจะใช้งบประมาณของตนเองจัดซื้อโดยผูกพันงบประมาณ 4-5 ปี ส่วนการจัดซื้อต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ ทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอน เมื่อตนยืนอยู่ตรงนี้ทุกอย่างต้องโปร่งใส เมื่อถามว่าเป็นไปได้ใช่หรือไม่ที่จะได้รับการอนุมัติในรัฐบาลนี้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า อาจเป็นได้ แต่ไม่สามารถเจาะจงได้ว่าจะใช้งบประมาณของปีใด ตนในฐานะรมว.กลาโหมจะเป็นผู้ดูรายละเอียด แต่ระบุไม่ได้ว่ากี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อบอกว่ามีโอกาสได้ก็ต้องเกิน 50-60 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เมื่อมีโอกาสต้องมากกว่าครึ่ง
พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงการประกาศบัญชีรายชื่อนายทหารระดับชั้นนายพลช่วงกลางปี 2558 ว่า ใกล้จะประกาศแล้วเร็วๆ นี้ ทุกอย่างเรียบร้อยไม่มีปัญหา ส่วนกระแสข่าวขัดแย้งในกองทัพเรือ จนมีการปรับเปลี่ยนระดับ 5 เสือของกองทัพเรือช่วงกลางปีนั้น ตนจำรายชื่อทั้งหมดไม่ได้เพราะมีหลายรายชื่อ แต่ไม่มากนักเนื่องจากปรับย้ายช่วงกลางปี โดยหลักการพิจารณาเป็นไปตามความเหมาะสม อาวุโส ความรู้ความสามารถ ตนในฐานะรมว.กลาโหมไม่ได้ไปก้าวก่ายและปล่อยเป็นเรื่องของผบ.เหล่าทัพ เมื่อได้รายชื่อทั้งหมดจึงนำมาสู่การพิจารณาในภาพรวมของคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารระดับชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม 7 คน
"บอกไม่ได้ว่ามีการปรับย้ายหรือไม่ จะบอกได้ต่อเมื่อประกาศก่อน ทุกอย่างทำตามขั้นตอน และเป็นเรื่องของผบ.เหล่าทัพ ผมไม่กล้าบอกเพราะกลัวผิด กองทัพบกก็จำไม่ได้ ต้องถามผบ.ทบ." พล.อ.ประวิตรกล่าว
ในส่วนของทร.ที่ฮือฮากับการปรับเปลี่ยน 5 เสือทร. พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร.จะปรับย้าย พล.ร.อ.ธนะรัชต์ อุบล (ตท.13) เสนาธิการทหารเรือ เพื่อนตท.13 ของพล.ร.อ. ไกรสร ขยับพล.ร.อ.ณะ อารีนิจ (ตท.15) ผู้ช่วยผบ.ทร. มาเป็นเสนาธิการทหารเรือ แทน และให้ พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง (ตท.14) รองเสนาธิการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย มาเป็นผช.ผบ.ทร.
เนื่องจากพล.ร.อ.ไกรสรณ์ต้องการให้ขยับในตำแหน่ง 5 เสือ ทร. รองรับการปรับย้ายนายทหารปลาย ก.ย.นี้ เนื่องจากทร.จะมีเกษียณในตำแหน่ง 5 เสือ ทร. คือผบ.ทร. รองผบ.ทร.และประธานคณะที่ปรึกษาทร.
38องค์กรยื่นค้านพรบ.ชุมนุม
วันที่ 24 มี.ค. ที่รัฐสภา ตัวแทนกลุ่ม 38 องค์กร นำโดยนายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค ยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 คัดค้านร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ หลัง สนช.มีมติรับหลักการและให้ตั้งกมธ.พิจารณาภายใน 30 วัน
นายจำนงค์กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะจำกัดสิทธิประชาชนมากกว่าส่งเสริมสิทธิ เพราะห้ามชุมนุมในสถานที่ราชการ ภายในรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และยังห้ามกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานรัฐ หรือรบกวนการปฏิบัติ หรือการใช้บริการสถานที่ทำการหน่วยงานรัฐ ซึ่งอาจขัดขวางสิทธิของประชาชนที่เดือดร้อน ไม่สามารถมาขอความช่วยเหลือจากรัฐ หรือส.ส.ได้ ขณะเดียวกันหากมีการรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ควรทำในช่วงที่มีรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์และมีรัฐสภาช่วยดูแลสิทธิของประชาชนอย่างแท้จริง
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กำหนดให้แจ้งการชุมนุมหรือเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายก่อน 24 ชั่วโมง และห้ามใช้เครื่องขยายเสียงในเวลา 24.00-06.00 น. และกำหนดให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ออกคำบังคับให้เลิกการชุมนุม
ด้านนายสุรชัยกล่าวว่า เห็นด้วยกับการคุ้มครองผู้ชุมนุมแต่ก็ต้องคุ้มครองผู้ที่เดือดร้อนจากการชุมนุมด้วย ตนจะประสานประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การชุมนุมฯ เพื่อให้มีตัวแทนกลุ่ม 38 องค์กร เข้าร่วมติดตามความเคลื่อนไหวการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายต่อไป
"วิษณุ"ชงชื่อกก.สอบแพ่ง"ข้าว"
วันที่ 24 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เผยถึงการเรียกร้องค่า เสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ตามที่ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังดำเนินการว่า ขณะนี้ได้รายชื่อคณะกรรมการ 2 ชุดแล้ว คือคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและกำหนดจำนวนค่าเสียหาย โดยมีนายจำเริญ ยุติธรรมสกุล รองปลัดสำนักนายกฯ เป็นประธาน และคณะกรรมการว่าด้วยการรับผิดทางแพ่ง อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน ได้ส่งรายชื่อทั้งหมดให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พิจารณาลงนามแล้ว คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยใน 2 วันนี้
นายวิษณุกล่าวว่า เชื่อว่าคณะกรรมการจะใช้เวลาทำงานไม่นานเพราะทำเพียงเรื่องค่าเสียหายและตัวบุคคลที่ต้องรับผิด ซึ่งมีอยู่แล้วว่าเป็นใครเพียงแต่จะมีใครเพิ่มอีกหรือไม่ แต่โดยหลักได้บอกแล้วว่าได้เท่าไรก็เอาเท่านั้นก่อน วันหลังเจออีกก็ค่อยสมทบเข้าไป เมื่อจบขั้นตอนของ 2 คณะกรรมการนี้แล้วจะส่งให้อัยการฟ้องต่อไป
"เรื่องใหญ่จะเป็นมูลค่าความเสียหายที่ต้องกำหนดว่าใครรับผิดเท่าไร ซึ่งกรรมการต้องดู ถ้าสมมติ 6 แสนล้านให้คนใดคนหนึ่งหมดก็ไม่ได้ ต้องดูตามโทสานุโทษตามความรับผิดชอบของแต่ละคน ไม่เช่นนั้น 6 แสนให้คนหนึ่งรับไปแล้วที่เหลือรับผิดเท่าไร" นายวิษณุกล่าว
รองนายกฯ กล่าวว่า การเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนี้ดำเนินการเฉพาะกรณีป.ป.ช.ชี้มูลและส่งเรื่องถอดถอน โดยไม่รวมถึงโครงการของรัฐบาลอื่น ถ้าป.ป.ช.ชี้มูลกรณีอื่นมาก็ต้องตั้งกรรมการขึ้นใหม่ มั่นใจจะฟ้องร้องดำเนินคดีได้ทันก่อนคดีจะหมดอายุความใน 2 ปี