- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 24 March 2015 08:57
- Hits: 3826
วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8882 ข่าวสดรายวัน
'บิ๊กตู่'ลั่นไทยมีปชต. 99.99% แต่ห้ามต้าน'รบ.'ปราม"ปลัดสธ.'อย่าดื้อ-ผิดวินัย 'บวรศักดิ์'ปลื้ม ดูงานที่เยอรมัน สงฆ์รอฟังสปช.
วันน้ำโลก - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทดลองดื่มน้ำกรอง ระหว่างเป็นประธานเปิดงานสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติและวันน้ำโลก 2558 ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ปทุมวัน เมื่อวันที่ 23 มี.ค. |
'บิ๊กตู่'ยันเองไทยมีประชาธิปไตย 99.99% แต่ห้ามค้านรัฐบาล ชี้ก่อนคืนความสุขก็ต้องทุกข์กันบ้าง ปรามปลัดสธ.อย่าดื้อดึง ต้องรู้จักฟังผู้ใหญ่ 'บวรศักดิ์'พอใจผลดูเลือกตั้งเยอรมัน กมธ. ยกร่างยันพร้อมรับฟังและปรับแก้ร่างรธน. 'สุรชัย'เชื่อกมธ.จะฟังสนช. สปช.เล็งถก 6 ประเด็นสำคัญ ทั้งที่มาส.ส.-ส.ว. นายกฯ พรรคการเมือง องค์กรอิสระ การจัดเลือกตั้ง และบทเฉพาะกาล พระเมธีธรรมาจารย์ลั่น จับตาดูสปช.ปฏิรูปศาสนา 'บิ๊กป้อม'กังวลอียูจี้แก้ค้ามนุษย์ใน 180 วัน
'บิ๊กตู่'ชี้ศก.โลกทำไทยทรุด
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 มี.ค. ที่ห้องเพลนนารี ฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันการค้าของประเทศไทย ในงานประชุมสามัญประจำปี 2558 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ว่าวันนี้ตนเข้ามาเดินหน้าประเทศ ต้องขจัดข้อขัดแย้ง ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรความขัดแย้งจะจบ วันนี้พอเริ่มเดินหน้า ความขัดแย้งก็รออยู่อีก เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องเลือกตั้ง จะเอาอย่างไรดี
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ไม่เห็นมีใครเดือดร้อนเรื่องกฎอัยการศึก แต่ถ้าไม่มีกฎอัยการศึก จะยิ่งกว่านี้อีก หากตกลงกันไม่ได้ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย อยากให้สื่อทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่าที่เศรษฐกิจตกต่ำไม่ได้เป็นเพราะรัฐบาล ต้องดูเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศอื่น ตนไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ แต่ต้องขอความเป็นธรรมให้ตนด้วย อย่างไรก็ตาม เงินในประเทศที่หายไปจำนวนมากคือเงินในธุรกิจสีเทา พอรัฐบาลเข้ามาจัดระเบียบ การจ้างงานก็ลดลง การจับจ่ายใช้สอยก็ลดลง แต่ขณะนี้รัฐบาลแก้ไข ช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพ เช่นกลุ่มผู้ค้าคลองถม ผู้ค้าทางเท้า รวมถึงแก้ปัญหาที่พักอาศัยริมคลอง
ลั่นเป็นประชาธิปไตย 99.99%
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า เราจะต้องเร่งทำงาน ที่ผ่านมารัฐบาลมีหลายพรรคการเมือง แต่วันนี้มีพรรคเดียวคือพรรคตน การทำงานนโยบายต่างๆ ยืนยันว่าไม่มีผลประโยชน์ แต่มีข้อดีข้อเสียบ้างเป็นธรรมดา ที่ผ่านมาบ้านเรามีปัญหามาก เพราะเป็นประชาธิปไตยมากไป ไม่เหมือนประเทศอื่น ที่รัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาด มีการจำกัดเสรีภาพมากกว่านี้ แม้แต่สื่อก็ไม่สามารถมาเขียนวิจารณ์อะไรได้แบบนี้
"ยืนยันว่า วันนี้เรามีความเป็นประชาธิปไตยถึง 99.99 เปอร์เซ็นต์ เพราะผมไม่ได้ไปล้มล้างประชาธิปไตยอะไรทั้งสิ้น ขอแค่อย่ามาต่อต้านกันตอนนี้ยังให้ไม่ได้เลย ถ้าควบคุมอำนาจเด็ดขาดจริง จับติดคุก ยิงเป้าก็จบแล้ว คงไม่ต้องมาฝันค้างกลางคืนแบบนี้ วันนี้คนรักผมก็พอมี แต่คนเกลียดผมก็เยอะ แต่ขอให้รู้ไว้ว่าผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เข้ามาทำเพื่อประเทศชาติ แม้แต่บางคนที่ผมเรียกมาช่วยทำงาน ต้องเกษียณไปนอนอยู่บ้าน หรือไปบวช ต้องสั่งห้ามก่อน ให้มาช่วยงาน และขออย่านำสถานการณ์ขณะนี้ไปเปรียบเทียบกับครั้งก่อนๆ เพราะผมเข้ามาท่ามกลางความขัดแย้ง ประเทศไทยไม่เคยแตกแยกแบบนี้มาก่อน ขอให้มารวมกันเถอะ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
แจงวุ่นสั่งงานแต่'บิ๊กป้อม'
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า เรื่องธุรกิจรายย่อยต้องเดินตามนโยบายการเมือง แต่เราไม่ใช่นักการเมือง กลุ่มที่ทำธุรกิจรายย่อยนอกระบบจะมาขอให้รัฐบาลนิรโทษภาษีซึ่งเห็นว่าไม่ถูกต้อง หากจะพูดถึงนิรโทษภาษีต้องมาขึ้นทะเบียนก่อน ถ้าไม่ขึ้นทะเบียนจะปรับเป็น 2 เท่า หากขึ้นทะเบียนแล้วค่อยมาคุยกันเรื่องลดภาษี และเวลานี้อะไรก็พูดถึงนิรโทษ จะไปเป็นนิรโทษกรรมปรองดอง ตนว่ามันคนละเรื่องกัน นิรโทษกรรมกับปรองดองมันคนละเรื่องกัน แต่เอาเถอะ ใครจะรบกันก็รบไป ใครจะไปฆ่ากัน ตนไม่เอาด้วย แต่คิดว่าคนดีต้องปลอดภัย การเป็นประชาธิปไตยวันนี้ต้องอย่าเป็นประชาธิปไตยที่เข้าข้างตัวเอง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การทำงานบริหารประเทศที่สื่อเขียนว่าจะปรับย้ายครม.คนนั้นคนนี้ สั่งงานแต่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯคนเดียว ก็เพราะเขาอยู่ด้านความมั่นคง ต้องดูทุกเรื่อง ประเทศชาติสิ่งสำคัญคือความมั่นคง ถ้าเรามีความมั่นคงแล้ว ทุกอย่างจะดีตามมา ทั้งเศรษฐกิจและสังคม ส่วนม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯก็แก้ปัญหาเศรษฐกิจ เดินหน้ากันไป
ลั่นก่อนสุขต้องมีทุกข์บ้าง
"วันนี้ดูอยู่ รู้หมดว่าฝั่งนั้นฝั่งนี้ทะเลาะกัน ถ้าจะให้ย้ายคนนั้นคนนี้แล้วย้ายไม่ได้ ย้ายแค่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็ถูกด่า ถ้าย้ายใครไม่ได้ สงสัยต้องย้ายตัวเอง รำคาญแล้ว ยืนยันว่าผมเข้ามาไม่มีเรื่องทุจริต ไม่เคยเรียกร้อง ไม่คิดไปเอาของใคร ผมไม่เอา คนอื่นก็ไม่เอา รัฐมนตรีที่เข้ามาอายุก็มากแล้ว ไม่มีใครอยากได้อะไร เข้ามาก็ทำเพื่อประเทศชาติ ทุกคนบอกว่าจะเอาแต่คืนความสุข จะเอาแต่ความสุขอย่างเดียวมันเป็นไปไม่ได้ มันต้องมีทุกข์บ้าง ก่อนสุขต้องทุกข์ก่อน ทุกการเปลี่ยน แปลงทุกประเทศต้องได้รับผลกระทบบ้าง ผมต้องการคืนความสุขให้ประเทศดีขึ้น" นายกฯกล่าว
ในตอนท้ายปาฐกถา นายกฯกล่าวถึงเรื่องการเด็ดดอกพุดแล้วมีการตีความทางการเมืองว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวว่า แค่เด็ดดอกไม้ สั่งให้ลูกน้องดูแลต้นไม้เท่านั้น ไม่ได้คิดไปถึงเรื่องไหน ไปตีความถึงเรื่องแผนการรักษาอำนาจ ยืนยันว่าไม่เคยคิดเลย
ย้ำปลายปีจัดเลือกตั้งแน่นอน
จากนั้นที่ห้องพารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดงานสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติและวันน้ำโลก ประจำปี 2558 ว่า ขอให้ไปดูว่าก่อนวันที่ 22 พ.ค. เกิดอะไรขึ้น นั่นคือประชาธิปไตยแบบไทยๆ ส่วนคนที่หนีไปจะหนีไปไหน หนีไปทำไมไม่เกิดประโยชน์ ทุกคนคิดถึงลูกเมียหมด
ขอให้กลับมา ตนพร้อมให้อภัย กลับเข้าสู่กระบวนการ ส่วนที่มีการระบุว่าผู้ต้องหาถูกซ้อมนั้น ตนเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นจริง ยุกันหรือไม่ก็ไม่รู้ หลักฐานชัดเจนหากสาวถึงใครคนนั้นก็ต้องเข้าสู่กระบวนการ ตนไม่อยากใช้อำนาจในทางที่ผิด ที่จับมามีความผิดคดีอาญาทั้งนั้น เรียกมาสอบสวน 7 วัน ส่งศาลแล้วปล่อยไป เราให้ความเป็นธรรม ให้สู้ตามกระบวนยุติธรรม ไม่ได้เร่งรัดใคร เพราะตนไม่เคยขัดแย้งกับใคร กฎหมายทุกฉบับใช้แล้วก็จบ เว้นแต่กฎอัยการศึก ขนาดยังมีไว้แต่ก็ยังแอบวางระเบิดกันอยู่เลย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ยืนยันจะมีเลือกตั้งปลายปีนี้ สั่งทำตามโรดแม็ปให้อยู่แล้ว แต่ข้อสำคัญคือต้องทำให้โปร่งใส ไม่มีรัฐบาลไหนที่รัฐประหารมาแล้วทำแบบนี้ แต่เพราะต้องการให้ทุกคนยอมรับ ถึงเหนื่อย ก็ยอม ถ้าคิดแบบเดิมทุกคนมีเสรีภาพ 100% จะถูกชักจูง มีการทุจริต พรรคการเมืองมีปัญหาหมด จึงต้องสร้างความเข้มแข็งให้พรรคด้วย
ลั่นไปสิงคโปร์ไม่เกี่ยว'แม้ว'
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงการไปร่วมพิธีศพของนายลี กวน ยู อดีตนายกฯ สิงคโปร์ในวันที่ 29 มี.ค. ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเดินทางไปในวันที่ 28 มี.ค.นี้ ว่า ก็เป็นเรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เกี่ยวอะไรกับตน สิงคโปร์จัดงานวันที่ 29 มี.ค.แล้วจัดกันคนละวัน คงไม่ปล่อยให้ไปเจอกันให้อึดอัด
"ผมไม่มีอะไรอยู่แล้ว ผมจะไปจับใครเองก็ไม่ได้อยู่แล้ว เขาก็ไปร่วมงานศพ แล้วแต่เขา ขอร้องอย่าไปเขียนให้ตีกัน นี่เขียนเหมือนอย่างกับผมไปนัดเจอกับเขาหรือ คนเขาตาย เขาก็ไปงานศพ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวัน พล.อ. ประยุทธ์ มีภารกิจเดินสายเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ปรากฏว่าระบบการรักษาความปลอดภัยเข้มข้นขึ้น โดยในช่วงเช้าเวลา 09.30 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เจ้าหน้าที่ตรวจเข้มบุคคลที่ร่วมงาน ทุกคนต้องลงทะเบียน ติดบัตรแสดงตนและผ่านเครื่องสแกนวัตถุระเบิด โดยเข้าแถวตอนเรียง 1 ทำให้เกิดความล่าช้า ทำให้ผู้ร่วมงานหลายคนไม่พอใจ ส่วนช่วงบ่าย ที่ห้องพารากอน ฮอลล์ ก็ปิดทางเข้าออกทั้งหมด อนุญาตให้เข้าออกเพียงทางเดียว ต้องลงทะเบียนติดบัตรและสติ๊กเกอร์ร่วมงาน สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ร่วมงานหลายรายเช่นกัน
'ป้อม-โด่ง'วอนหยุดต้านคสช.
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีมีกลุ่มคนแจกใบปลิวต่อต้านเผด็จการ โดยปลุกระดมผู้รักประชาธิปไตยทุกคนชู 3 นิ้ว บริเวณทางเข้าสวนศรีเมือง หน้าพระพุทธอังคีรส หลังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จ.ระยอง เขตเทศบาลนครระยอง ต.ท่าประดู่ อ.เมืองระยอง ว่า กำลังติดตามอยู่และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการอยู่ ยืนยันว่าจะจับตัวให้ได้ คนที่ทำเป็นคนเพียงไม่กี่คนที่สร้างความเสียหายกับประเทศ ทั้งที่คน 60-70 ล้านเขาอยู่ได้ แต่คนแค่ 2-3 คนที่ทำให้วุ่นวาย ขอร้องอย่าทำให้หยุด
ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. กล่าวถึง หัวหน้า คสช.พยายามชี้แจงผ่านโทรทัศน์ทุกสัปดาห์ ประกอบกับยังมีรายการเดินหน้าประเทศไทยก็ชี้แจงทุกวัน แต่ยังมีบางคนพยายามจะไม่เข้าใจ ดังนั้นอยากขอความร่วมมือให้ช่วยกันฟังและทำความเข้าใจ แต่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ทั้งที่เป็นปฏิปักษ์มาตั้งแต่เดิม ขอให้ละวางลงบ้าง หันมาดูในสิ่งที่ดีๆ บ้านเมืองสงบสุข เดินหน้าได้ และเรายังจัดระเบียบแก้ปัญหา ทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ทำเต็มที่ทุกด้าน จะให้รวดเร็วก็ไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลเข้ามา แต่ละกระทรวงต้องมีลำดับ ต้องใช้เวลา เราต้องอยู่ในกรอบความถูกต้อง ตามครรลอง และเป็นไปตามกฎหมาย
แดงระยองโวยใส่ร้ายโปรยใบปลิว
ที่บก.ภ.จว.ระยอง พล.ต.ท.ธเนตร์ พิณเมืองงาม ผบช.ภ.2 ประชุมร่วมกับพล.ต.ต.ชุมพล ฉันทะจำรัสศิลป์ ผบก.ภ.จว.ระยอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดคลี่คลายคดี และเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหาราบที่ 7 จ.ระยอง กรณีวันที่ 21 มี.ค. มีมือมืดโปรยใบปลิวจำนวนมากในพื้นที่ อ.เมือง จ.ระยอง ใบปลิวมีข้อความให้ผู้รักประชาธิปไตยลุกขึ้นต่อต้านเผด็จการ ใช้เวลาประชุม 1 ช.ม. โดยพล.ต.ท.ธเนตร์ปฏิเสธที่ตอบข้อซักถามถึงเรื่องใบปลิว
รายงานข่าวแจ้งว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้บุกตรวจค้นบ้านของผู้ต้องสงสัย 3 ราย ซึ่งเป็นแกนนำคนเสื้อแดงระยอง แต่ไม่พบหลักฐานกระทำผิด
ด้านนายดำรงค์ ตุลยเสวี 1 ในแกนนำเสื้อแดงที่ถูกตรวจค้นบ้าน เผยว่า เมื่อเย็นวันที่ 22 มี.ค. มีกำลังทหารตำรวจขอเข้าตรวจค้นบ้านพักของตน ซึ่งตนก็ยินยอมให้ค้น เพราะไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องใบปลิว และยืนยันว่าคนเสื้อแดงระยองไม่มีส่วนรู้เห็น อาจเป็นการกลั่นแกล้งกัน สร้างสถานการณ์เพื่อใส่ร้าย ส่วนแกนนำอีก 2 รายที่ถูกค้นบ้านต่างยืนยันในความบริสุทธิ์ และก็ไม่พบหลักฐานในการ กระทำผิดในครั้งนี้
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ แกนนำ นปช. และอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการโปรยใบปลิวที่จ.ระยองว่า ข่าวสารในช่วงนี้อาจทำให้สับสนกันมาก แต่ยืนยันว่าช่วงนี้คนเสื้อแดงไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ จะมีแต่รอดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทำตามสัญญา ทำตามโรดแม็ปที่วางไว้หรือไม่เท่านั้น
กมธ.ปรับวิธีนับคะแนนเลือกตั้ง
ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานอนุกมธ.ยกร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. เปิดเผยว่า กำลังพิจารณากลไกการป้องกันการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในร่างพ.ร.บ.เลือกตั้งฯ ด้วยการกำหนดให้การนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ไม่นับในหน่วยเลือกตั้งเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งหัวคะแนนจะตรวจเช็กได้ว่าเงินที่จ่ายซื้อเสียงนั้นเข้าเป้าหรือไม่ แต่จะให้เอาหีบบัตร
จากหลายหน่วยไปนับรวมกันที่อำเภอ หรือประมาณ 20 หน่วยนับรวมกัน เพราะการเลือกตั้งในร่างรัฐธรรมนูญใหม่มี 250 เขต ซึ่งเป็นเขตที่ใหญ่ขึ้น ถ้าเอามานับรวมจะมากเกินไป และการเปลี่ยนการลงคะแนนเลือกตั้งจากหน้าที่เป็นสิทธิ์ คาดว่าอาจมีส่วนช่วยลดการซื้อเสียง เพราะคนรับเงินบางส่วนอาจไม่ไปลงคะแนนเพราะไม่มีผลให้ถูกตัดสิทธิ์ใดๆ
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวถึงแนวคิดการกำหนดเพดานขั้นต่ำ 0.5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับพรรคการเมืองที่จะได้สัดส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่า จากการไปดูงานเลือกตั้งระบบสัดส่วนแบบผสม ที่เยอรมัน พบว่าเยอรมันได้พรรคที่มีส.ส.ที่กำหนดเพดานขั้นต่ำไว้ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ เพียง 5 พรรค จากทั้งหมด 34 พรรค เท่ากับอีก 29 พรรคที่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว และหากแม่น้ำ 5 สาย เห็นอย่างไรก็พร้อมปรับปรุงได้ เพราะส่วนนี้อยู่ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ
ยันพร้อมปรับแก้ร่างรธน.
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ตามสัดส่วนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของไทย หากไม่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ พรรคหรือกลุ่มการเมืองที่มีเสียงสนับสนุนเพียง 7-8 หมื่นคน จะได้ส.ส. 1 คน ซึ่งในประเทศไทยมีพรรคหรือกลุ่มแบบนี้เยอะมาก การเกิด ส.ส.แบบนี้มาก มันจะไปทำลายความแข็งแรงของพรรค แม้มันมีประโยชน์คือทำให้คนทุกกลุ่มมีตัวแทนไปเป็น ส.ส.ง่ายขึ้นก็ตาม
เมื่อถามว่า การกำหนดเกณฑ์ต่ำอาจขัดกับหลักการ "ทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ" ไปนั้น พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่าไม่จริง เพราะหลักใหญ่คือคะแนนเสียงของประชาชนสะท้อนว่าเขานิยมพรรคไหน ส่วนคะแนนไม่ตกน้ำนั้น ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ใช้ไปจนถึงคะแนนสุดท้าย สำหรับประเด็นโอเพ่นลิสต์ จะมีวิธีทำให้ไม่เกิดผลกระทบกับพรรคมากนักที่จะปรับปรุงต่อไป เพราะตอนนี้ยังเป็นเพียงร่างแรก ยังมีเวลาอีก 4-5 เดือน ถ้าคิดว่าจะเกิดปัญหาก็เอาไปปรับเปลี่ยนได้ พร้อมรับฟังเพื่อไปพิจารณา
เร่งทบทวนรายมาตราให้จบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทบทวนร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ แจ้งที่ประชุมว่า ในสัปดาห์นี้ ตั้งแต่วันที่ 23-27 มี.ค. จะพิจารณาวาระทบทวนบทบัญญัติเป็นรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์ให้แล้วเสร็จ ทั้ง 315 มาตรา จากนั้นในสัปดาห์ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.-3 เม.ย. จะนำประเด็นที่ยังค้างการพิจารณา และบางประเด็นที่กมธ.ยกร่างฯเห็นว่าควรทบทวนบทบัญญัติมาพิจารณา โดยจะงดการเข้ารับฟังการประชุมของสื่อมวลชนในสัปดาห์ดังกล่าวด้วย ขณะที่บางประเด็นที่กมธ.ยกร่างฯต้องพิจารณา รายละเอียดซึ่งเป็นการประชุมภายในจะขอให้เจ้าหน้าที่ประจำกมธ.ยกร่างฯออกจากห้องประชุมด้วย
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ในการประชุมสปช.วันที่ 20-26 เม.ย. เบื้องต้นการเสนอคำขอแปรญัตติ 1 คำขอ สามารถแปรญัตติได้ตั้งแต่มาตรา 1 ถึง มาตรา 315 ดังนั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเสนอคำขอแปรญัตติที่ต้องใช้สมาชิก 25 คนร่วมลงชื่อกันและมีเงื่อนไขให้สมาชิกลงชื่อในญัตติขอแก้ไขเพียงหนึ่งญัตตินั้น เชื่อว่าจะมีการพิจารณาในรายละเอียดที่ขอแก้ไขบทบัญญัติรอบคอบเพื่อไม่ให้ประเด็นไปคนละทิศละทาง จากนั้นพล.อ.เลิศรัตน์รายงานผลการไปดูงานที่ประเทศเยอรมนี วันที่ 15-20 มี.ค.
'ปื๊ด'พอใจผลดูงานเยอรมัน
นายบวรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การไปครั้งนี้ได้ประโยชน์ เยอรมันก็ได้ประโยชน์ โดยเยอรมันสอบถามถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญและกระบวนการเลือกตั้ง จึงอธิบายให้ฟังและยืนยันความมั่นใจว่าไทยมีเลือกตั้งแน่ และไม่ช้าไปกว่าปี 2559 แน่นอน หากจะนับเวลาไวสุด คือต้นปี แต่อย่างช้าสุดไม่เกินกลางปี"59
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ได้พบสมาชิกส.ส. กลุ่มมิตรภาพไทย-เยอรมนี การพูดในช่วงแรกว่า ประชาธิปไตยต้องเชื่อในเสียงข้างมากและใครได้เสียงข้างมากต้องยอมรับ ซึ่งน.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. กล่าวกับตนว่า คนที่พูดนี้ทำท่าจะสอนหนังสือพวกเรา ตนตอบกลับไปว่าสิ่งที่ส.ส.กลุ่มมิตรภาพฯ พูดถูกต้อง แต่ส่วนตัวมองว่าเสื้อตัวเดียวใส่ไม่ได้ทั้งโลก โดยยืมคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์มา และระบุด้วยว่า วัฒนธรรมการเมืองของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน พร้อมชี้แจงปัญหาของไทย เสียงของเขาก็อ่อนลง นอกจากจะได้จากเขา เขาก็เห็นสถานการณ์ของประเทศตามสมควร
สปช.ชี้อย่าดึงปมแพ้โหวตจ้อซ้ำ
พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ สมาชิกสปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงสปช.จะอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกวันที่ 20-26 เม.ย. นี้ว่า ประเด็นที่ สปช.จะอภิปราย เช่น กรณีที่เสนอให้มีการยุบพรรคไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ตรงนั้นต้องถามก่อนว่าพรรคคืออะไร ถ้าคือคนกลุ่มหนึ่งคิดเห็นทางยุทธศาสตร์ทางนโยบาย วิสัยทัศน์การเดินหน้าประเทศเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อผลักดันแนวทางนั้น นี่คือการรวมตัวของประชาชนเพื่อผลักดันแนวทางทางการเมือง ฉะนั้นคนที่เป็นเจ้าของพรรคคือ ประชาชน ถ้าเราเชื่อหลักการนี้ เจ้าของพรรค คือ พลเมือง คนที่มีอำนาจยุบพรรคคือพลเมือง ส่วนหากผู้บริหารพรรคไม่ดี เราถอดถอนกันไป นี่คือหลักการ ดังนั้นหากถามเรื่องยุบพรรค ตนไม่เห็นด้วยเด็ดขาด หลังจากส่งร่างให้ สปช. เราจะได้ข้อคิดเห็นจาก ครม. คสช. ต้องมาหาจุดกลางที่เหมาะสม มันยังเปลี่ยนได้ แต่ด้วยเวลาจำกัดทำให้ที่ผ่านมาการฟังความคิดเห็นเดินคู่ขนานกับการเขียน
เมื่อถามว่า คนที่เป็นกมธ.ยกร่างและสปช.ด้วยนั้น สามารถอภิปรายได้หรือไม่ พล.ท. นาวินกล่าวว่า ไม่ขอตอบแทนคนอื่น แต่ตนเมื่อเป็นกมธ.ยกร่างฯ ก็เล่นตามหลักการที่คิดว่าใช่ ทำตรงนี้ในฐานะกมธ.ยกร่างฯ เซ็นชื่อเสนอร่างต่อสปช. แม้จะมีจุดเสียจุดไม่ดีในบางเรื่อง เราค่อยมาดูกันอีกครั้ง แต่เราไม่ควรมานั่งแทงหลังกมธ.ยกร่างฯ กันเอง หากเราพูดใน สปช. เหมือนว่ากมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ตกผลึกเลย ถ้าต่างคนต่างเอาประเด็นที่ตัวเองแพ้ขึ้นมาอภิปราย อันนี้คือหมดท่า ไม่เป็นปึกแผ่นใน กมธ.ยกร่างฯ ทุกอย่างต้องมีกติกา แต่กติกาบางอย่างเกิดจากข้างในตัวบุคคล
อดีต สว.ยื่นค้านลากตั้ง
ที่รัฐสภา นายตรี ด่านไพบูลย์ อดีตส.ว. ลำพูน และนายทวี ภูมิสิงหราช อดีต ส.ว. พัทลุง ยื่นหนังสือต่อประธานสนช. และประธานสปช. ผ่านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่หนึ่ง และนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ขอให้ สนช. แปรญัตติให้มีการเลือกตั้งส.ว.โดยตรง จากเขตจังหวัดละ 1 คนทั่วประเทศ เนื่องจากขณะนี้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดที่มา ส.ว. ให้เลือกตั้งทางอ้อมจากวิชาชีพอื่นๆ 200 คน ถือเป็นการเสนอสุดขั้ว ปฏิเสธการเลือกตั้งทางตรงจากประชาชน
นายตรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ถือว่าสร้างสมดุลของอำนาจทางการเมืองของวุฒิสภาได้อย่างดีแล้ว มีส.ว.สรรหา 73 คน และส.ว.เลือกตั้ง 77 คน การมีส่วนร่วมของประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญ ระบบเลือกตั้งต้องยึดโยงประชาชน ซึ่งถือเป็นอุดมการณ์ที่ตนจะต่อสู้ต่อไป
สุรชัย เชื่อกมธ.จะฟังสนช.
ด้านนายสุรชัยกล่าวว่า จะนำความคิดเห็นดังกล่าวส่งต่อให้กมธ.สามัญรวบรวมความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. ซึ่งกำลังทำความเห็นในรอบที่ 3 เพื่อส่งไปยังกมธ.ยกร่างฯ ทั้งนี้เชื่อว่าความเห็นของสนช.มีผลต่อการยกร่างอย่างแน่นอน ขณะนี้สนช.ต้องรวบรวมความเห็นส่งไปยังสปช.ก่อนมีร่างแรกออกมาในวันที่ 17 เม.ย. และอย่าลืมว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก 20 กว่าฉบับ ต้องผ่านความเห็นชอบของสนช. ดังนั้น ต้องมีจุดเชื่อมโยงกัน หากรัฐธรรมนูญไปทางหนึ่ง กฎหมายลูกไปอีกทางหนึ่งก็ไม่ได้ ต้องมีความเห็นตรงกัน ถือเป็นสมดุลที่อยู่ในตัวแม่น้ำ 5 สาย ต้องคุยกันว่าทิศทางใดที่จะไปด้วยกันได้ ผู้มีอำนาจต้องตระหนักว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศก้าวพ้นวังวนเก่าๆ ไปได้
นายเทียนฉาย กล่าวว่า ถือเป็นหนังสือฉบับแรกที่ตนได้รับก่อนที่สปช.จะได้รับมอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกมาจากกมธ.ยกร่างฯ ดังนั้น เมื่อสปช.ได้รับร่างแรกในวันที่ 17 เม.ย. นี้ จะนำเรื่องนี้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาต่อไป
สปช.เร่งทุกคณะสรุปปฏิรูป
ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย เป็นประธานประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยแจ้งต่อที่ประชุมว่า จากนี้ไป สปช.จะประชุมในวันจันทร์-พุธ เวลา 10.00 น. เพื่อให้สมาชิกใช้เวลาพิจารณาเรื่องการปฏิรูปอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และขอให้สมาชิกส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ของกมธ.การปฏิรูปทุกคณะ ซึ่งกำหนดในวันที่ 31 พ.ค. แต่เนื่องจากตรงกับวันอาทิตย์ จึงต้องเลื่อนออกไปให้ส่งในต้นเดือน มิ.ย.นี้
เชียร์บอล - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ร่วมให้กำลังใจและชมการแข่งขันฟุตบอลทีมรวมดารา พรรคเพื่อไทย กับทีมผู้สื่อข่าว ที่สนามฟุตบอลกรีนฟีลด์ รามอินทรา 14 กทม. เมื่อวันที่ 23 มี.ค. |
นายเทียนฉาย กล่าวว่า การอภิปรายของ สปช. เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้มีความเข้าใจผิดว่าต้องอภิปรายทุกคน ซึ่งไม่จำเป็น แต่จะให้อภิปรายเฉพาะประเด็นนั้นๆ โดยอภิปรายอย่างกว้างขวางที่สุด ไม่มีโพยและไม่มีการชี้นำ ซึ่งตนนัดประชุมวิป สปช.ในวันที่ 26 มี.ค. เวลา 14.30 น. ทั้งนี้ยังไม่ได้พิจารณาในรายละเอียด เนื่องจากต้องรอให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมีความพร้อมกว่านี้ และเมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วขอให้สมาชิกให้ความสำคัญในการพิจารณาทั้งหมวด 2 และหมวด 4 เป็นการเฉพาะ
ตั้ง 15 กก.คุมยุทธศาสตร์ชาติ
จากนั้นที่ประชุม พิจารณารับทราบรายงานของกมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องวาระที่ 4 การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูประบบงบประมาณและการคลังท้องถิ่น โดยพ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานคณะอนุกมธ.จัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ ชี้แจงว่า ต้องเร่งออกพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อจัดตั้งสภายุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.ภาครัฐ มาจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงบประมาณ 2.ภาคเอกชน มาจากผู้แทนสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 3.ภาคประชาชน อาจมาจากสภาพลเมือง มีหน้าที่กำหนดแนวทางจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ รวบรวมความเห็นทุกภาคส่วน วางกรอบเวลา กำหนดตัวประเมินชี้วัด และให้ข้อเสนอแนะแก่ทุกภาคส่วน
พ.ต.ต.ยงยุทธ กล่าวว่า นอกจากนี้ให้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 15 คน มาจาก นายกฯ ประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลปกครองสูงสุด และอีก 11 คน มาจากฝ่ายวิชาชีพต่างๆ ขณะเดียวกันให้มีสำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานปฏิบัติเชื่อมโยงยุทธศาสตร์กับแผนพัฒนาหน่วยงานต่างๆ
ปฏิรูปงบฯเน้นมีส่วนร่วม
นางสีลาภรณ์ บัวสาย ประธานอนุกมธ.ปฏิรูประบบงบประมาณและการคลัง รายงานการปฏิรูประบบงบประมาณและการคลังท้องถิ่นว่า สภาพระบบและวิธีงบประมาณเดิม ถือเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นต้องออกระบบงบประมาณใหม่ เปิดพื้นที่ให้ประชาชนสร้างธรรมาภิบาลในการจัดสรรงบประมาณ โดยกรอบแนวคิดปฏิรูปฯจะยึดยุทธศาสตร์ชาติเป็นตัวตั้ง และออกแบบงบประมาณใหม่ให้คู่ขนานทั้งเชิงภารกิจและเชิงพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ สมาชิกสปช.ส่วนใหญ่อภิปรายเห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ และต้องการให้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติเสร็จก่อนมีรัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งให้ลดอำนาจกระบวนการแทรกแซงนโยบายรัฐ เพราะจะเป็นผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ชาติ และการมีส่วนร่วมของประชาชน
ปลูกฝัง'คนไทยไม่โกง'
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกมธ. ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รายงานว่า กมธ.กำหนดกรอบดำเนินงาน 3 ระยะ คือ 1.การปฏิรูประยะสั้น 3-6 เดือน การจัดทำมาตรการป้องกันการทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ โดยประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบ 2. การปฏิรูประยะกลาง 1 ปี ให้หน่วยงานราชการประกาศขั้นตอนและกรอบเวลาให้บริการกับประชาชน รวมถึงลดการใช้ดุลพินิจของข้าราชการในการดำเนินงาน และ 3.การปฏิรูประยะยาว การปลูกฝังให้ประชาชนเกิดจิต สำนึกต่อต้านการทุจริต ภายใต้วาทกรรม "คนไทยไม่โกง" ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนและภาคประชาสังคมปราบปรามการทุจริต
ทั้งนี้ สมาชิกสปช.อภิปรายอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่มีข้อเสนอว่าจะทำอย่างไรให้การป้องกันการทุจริตมีแนวทางที่ชัดเจน รวดเร็ว เห็นเป็นรูปธรรม ก่อนปิดประชุมในเวลา 19.19 น.
สมบัติ ชี้คนหนุนเลือกนายกฯ
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สปช. กล่าวถึงการไปศึกษาดูระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมที่ประเทศเยอรมันว่า ระบบการเมืองของเยอรมันน่าสนใจ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองเป็นผู้เลือกประธานศาลฎีกาและประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะนักการเมืองของเยอรมันมีเกียรติ และได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ส่วนระบบการเลือกตั้งของเยอรมัน แม้จะมีหน่วยเลือกตั้งกว่า 8 หมื่นหน่วย แต่ไม่มีทุจริตและซื้อสิทธิ์ขายเสียง จึงทำให้การจัดเลือกตั้งเป็นเรื่องง่าย
นายสมบัติ กล่าวว่า สิ่งที่แตกต่างจากไทย คือเรื่องสังคมทางการเมืองที่มีการทุจริตสูง ซึ่งปัญหาการเลือกตั้งแบบสัดส่วนในไทยเวลานี้ คือระบบบัญชีรายชื่อจะไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ทั้งนี้เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่ 2 พรรคใหญ่จะรวมตัวกัน ในระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม แม้กมธ.ยกร่างฯ จะระบุมาตลอดว่าให้สมัชชาคุณธรรมเป็นผู้ตรวจสอบนักการเมือง แต่พรรคขนาดกลางและเล็ก อย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา และพรรคมัชฌิมาธิปไตย อาจรวมตัวกันเป็นพรรคพันธมิตร ทำให้เกิดพรรคนอมินี นำไปสู่ปัญหาที่แม้แต่ประเทศเยอรมันก็ยังจัดการแก้ไขไม่ได้
นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า ยอมรับว่าขณะนี้ประชาชนเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งนายกฯโดยตรงมาที่กมธ.ปฏิรูปฯ จำนวนมาก และทั้งหมดนี้จะถูกนำไปพิจารณาในวันที่ 26-27 มี.ค. ในการเสวนาของกมธ.ปฏิรูปฯ ที่จ.ชลบุรี
แจง 6 ประเด็นถกร่วมกมธ.
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปช. ในฐานะกมธ.ปฏิรูปฯ แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีข้อตกลงร่วมกันถึงรัฐธรรมนูญร่างแรกที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสปช.ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ ประเด็นสำคัญที่จะพิจารณา มีดังนี้ 1.ระบบรัฐสภา ที่มา ส.ส.โดยเฉพาะการให้มีที่มาจากระบบสัดส่วนผสม ที่มาอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา 2.ที่มาของนายกฯ ที่มีคำถามว่าต้องเป็น ส.ส.หรือไม่ รวมถึงความสัมพันธ์ของครม.รัฐสภา ข้าราชการ และประชาชนเป็นอย่างไร 3.องค์กรอิสระ โดยเฉพาะประเด็นการสรรหาวาระการดำรงตำแหน่ง การถูกตรวจสอบประเมินผล เป็นต้น4.รูปแบบพรรคการเมือง 5.การจัดการเลือกตั้ง ที่จะให้จัดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือจะให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) 6.บทเฉพาะกาล ซึ่งทั้งหมดจะมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ
นายวันชัย กล่าวต่อว่า หากเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเราเชื่อว่ากมธ.ยกร่างฯจะรับฟัง อย่างไรก็ตามการอภิปรายคงไม่ใช่เป็นการเอาชนะกัน เพราะทุกคนอยากให้รัฐธรรมนูญออกมาดีที่สุดและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ
สงฆ์ลั่นจับตาดูปฏิรูปศาสนา
วันเดียวกัน พระเมธีธรรมาจารย์(ประสาร จันทสาโร) รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา(สนพ.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. เตรียมส่งรายงานผลการพิจารณาศึกษาการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาต่อสปช. ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสปช.ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ว่าสนพ.รับทราบสิ่งที่นายไพบูลย์เตรียมดำเนินการส่งรายงานผลการพิจารณาการปฏิรูปคณะสงฆ์ต่อสปช.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้สนพ.มีหน้าที่คอยติดตามผลการประชุมของสปช.ในวันที่ 24 มี.ค. เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หากพบว่าที่ประชุมสปช.รับพิจารณารายงานผลการพิจารณาการปฏิรูปคณะสงฆ์ที่นายไพบูลย์นำเสนอ ทางสนพ.คงต้องดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านต่อไป แต่ถ้ารายงานดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณาจากสปช. ทุกอย่างเป็นอันจบสิ้น
"ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยรับปากว่าจะไม่แตะต้องแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์แต่อย่างใด หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม ขณะที่นายไพบูลย์ก็เคยขอยุติเรื่องการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา แต่จากสิ่งที่ปฏิบัติอยู่ของนายไพบูลย์ ถือว่าไม่รักษาสัญญา ทางสนพ.คงต้องจับตาดูการประชุมสปช.ครั้งนี้ ถ้าหากรับลูกเกี่ยวกับปฏิรูปคณะสงฆ์ สนพ.คงต้องหารือถึงแนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไป" พระเมธีธรรมาจารย์กล่าว
ยื่นปปช.สอบสภาลูกเมีย
ที่สำนักงานป.ป.ช. สนามบินน้ำ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงประธานและคณะกรรมการป.ป.ช. ขอให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงการกระทำอันเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ของสมาชิกสปช. 85 ราย ที่แต่งตั้งบุคคลที่เป็นบุตร-ภรรยา เครือญาติและคนใกล้ชิดเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินการประจำตัว อันเป็น การกระทำในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดหรือแย้งต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมีนายสิทธิ บุญมี ผอ.สำนักงานข่าวและกิจการ
พิเศษ สำนักงานป.ป.ช.เป็นผู้รับหนังสือ
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวของสมาชิกสปช. ถือว่าเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน แสวงหาผลประโยชน์ เอื้อประโยชน์ ซึ่งต้องห้ามตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 และประมวลจริยธรรมของส.ว.และกรรมาธิการ พ.ศ. 2553 เข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ตามความมาตรา 4 พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่โดยชัดแจ้ง ถึงแม้จะมีสปช.บางรายให้คนที่ถูกแต่งตั้งได้ลาออกหรือพ้นตำแหน่งไปแล้วนั้น ก็ถือว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดสำเร็จตามประมวลกฎหมายอาญาไปแล้ว รวมทั้งขัดต่อกฎหมายป.ป.ช. และพ.ร.บ.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 และกฎหมายอื่นโดยชัดแจ้ง ซึ่งตนจะติดตามความคืบหน้าการไต่สวนของป.ป.ช.ต่อไป
นายกฯตู่นำคณะเยือน'บรูไน'
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะประกอบด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเดินทางเยือนเนการาบรูไนดารุสซาลาม วันที่ 25-26 มี.ค.
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า วันที่ 25 มี.ค. นายกฯ จะเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาเลาะห์ พระราชาธิบดีแห่งบรูไน พร้อมหารือทวิภาคีแบบเต็มคณะ จากนั้นช่วงค่ำวันเดียวกัน พระราชาธิบดีแห่งบรูไนพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่นายกฯและคณะ ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นภารกิจ นายกฯและคณะจะกลับถึงประเทศไทยในช่วงเที่ยงวันที่ 26 มี.ค.นี้
'บิ๊กป้อม'กังวลอียูจี้แก้ค้ามนุษย์
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ว่า ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) ประเมินว่าสินค้าประมงไทยเข้าข่ายเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) และขณะนี้ไอยูยูให้ใบเหลืองในเรื่องนี้ และลดระดับการปราบปรามการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับเทียร์ 3 เราจึงต้องดำเนินการตามหลักสากล ทั้งการออกกฎหมายและกำชับเจ้าหน้าที่ป้องกันไม่ให้มีเรื่องค้ามนุษย์หรือแรงงานประมงเถื่อน โดยกำหนดมาตรการและยุทธศาสตร์ป้องกันและปราบปรามเรื่องต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อประเทศ และแจ้งให้นายกฯ รับทราบเพื่อประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ให้ทุกคนมีส่วนร่วมแก้ปัญหา
เมื่อถามว่า ที่สหรัฐประเมินให้ไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3 เป็นผลจากการเมืองของไทยมาเกี่ยวข้องหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เรื่องการเมืองตนไม่ทราบ แต่สหรัฐเตือนไทยมากว่า 10 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งบอกว่าจะลดระดับ และยอมรับว่ากังวลอยู่กับเรื่องไอยูยูที่ให้เวลาเรา 180 วันแก้ปัญหา ซึ่งจะมีผลกระทบทำให้ไทยไม่สามารถส่งออกอาหารทะเลได้ และประเทศจะเกิดความเสียหายมหาศาลโดยเฉพาะเรื่องรายได้จากตรงนี้
พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงการช่วยเหลือคนไทยและลูกเรือประมงไทยที่ตกค้างที่ประเทศอินโดนีเซียว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลแล้ว เดิมตนจะไปด้วยตัวเองเพื่อไปตกลงเรื่องความมั่นคงทางทะเลและการประมงเพื่อให้เกิดความชัดเจนและทั้งสองประเทศทำงานร่วมกันได้ แต่ผู้นำอินโดนีเซียยังติดภารกิจ จึงเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน
บิ๊กตู่ลั่นปี'60-มีน้ำใช้ทั่วปท.
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ห้องพารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติและวันน้ำโลก ประจำปี 2558 ว่า การที่ยูเนสโก และยูเอ็นให้ไทยเป็นแกนนำบริหารจัดการน้ำในที่ประชุมว่าด้วยเรื่องภัยพิบัติ ถือเป็นการให้เกียรติ และแสดงให้เห็นว่าไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศ ไม่เคยขัดแย้งกับใครนอกจากขัดแย้งกันเอง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากข้อมูลของยูเนสโก และนำเสนอของสื่อระบุว่าโลกมีความเปลี่ยนแปลง ในปี 2573 น้ำจะลดลงจากปัจจุบันถึง 40% ขณะที่มีประชาชนเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นถึง 50% วันนี้จึงต้องมาบริหารจัดการและลดความเหลื่อมล้ำของการใช้น้ำ เบื้องต้นปี 2560 ตั้งเป้าว่าในทุกพื้นที่ต้องมีประปาหมู่บ้านสำหรับอุปโภค-บริโภค ขณะที่การใช้น้ำเพื่อการเกษตรนั้น ต้องจัดระเบียบให้เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยเตือนให้ระวังปัญหาขาดแคลนน้ำและการแย่งชิงน้ำในอนาคต วันนี้เราจึงต้องดูทั้งหมด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการป้องกันอุทกภัยต้องทบทวนและแก้ปัญหาคอขวด และคุณภาพน้ำในคูคลอง จะต้องขุดลอกเพื่อให้เกิดทางน้ำไหลสะดวก ต้องขุดให้ลึกถึง 3-3.5 เมตร หากที่ใดขุดลอกต่ำกว่านี้ให้เตรียมตัวไว้ เพราะจะมีการตรวจสอบ ตอนนี้ยอมรับว่าการจัดการน้ำทำได้ไม่ดี เพราะเป็นหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่ยังไม่พร้อม จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่ดีมีความพร้อม ไม่ทุจริต เพื่อเป็นประชาธิปไตยที่ดีได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ดูแลการบริหารจัดการน้ำ โดยจัดทำร่างยุทธศาสตร์ประมาณ 6 ร่าง คาดว่าแผนงานทั้งหมดจะออกมาได้ในปี 2565 จะใช้งบประมาณการจัดการน้ำให้เป็นแบบรายปี ไม่เหมาจ่ายหมดครั้งเดียวทั้งโครงการ โดยรัฐบาลจะเข้าไปดูแลแผนในทุกภาคทั่วประเทศและแก้ไขปัญหาน้ำไปพร้อมกัน
ปปท.ยันไม่มีขัดแย้งภายใน
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) นายนก พรรณรักษา พร้อมด้วยนายถวิล อินทรักษา นายประสิทธิ์ แสนศิริ นายปรีชา จำปารัตน์ คณะกรรมการป.ป.ท. ร่วมกันแถลงข่าวกรณีนายโสภณ จันเทรมะ ประธานกรรมการป.ป.ท. ระบุการแต่งตั้งรองเลขาธิการป.ป.ท.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบ
นายกนก กล่าวว่า คณะกรรมการป.ป.ท.ไม่มีอำนาจเกี่ยวข้อง โดยอำนาจแต่งตั้งเป็นของฝ่ายบริหาร จากข้อเท็จจริงกระทรวงยุติธรรมได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสรรหาและแต่งตั้งตามกฎระเบียบและกฎหมายอย่างถูกต้อง ดังนั้นที่นายโสภณเห็นว่าการแต่งตั้งไม่ชอบนั้นจึงเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่ความเห็นพ้องของคณะกรรมการป.ป.ท.ทั้งคณะ และที่ออกมาชี้แจงไม่ได้เกิดความขัดแย้งกับประธาน แต่อยากเห็นความถูกต้อง เพื่อไม่ให้เรื่องขยายออกไป เพราะสำนักงาน ป.ป.ท.เป็นหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต ควรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
นายกนก ยังกล่าวถึงการเสนอข่าวว่าคณะกรรมการป.ป.ท. เห็นแย้งกับสำนักงานป.ป.ท. ในการจัดสัมมนา ว่าสำนักงานป.ป.ท.จัดสัมมนาเรื่องข้อขัดข้องในการปฏิบัติของสำนักงานป.ป.ท. ที่จ.กาญจนบุรี ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ท.เสียงข้างมากสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ แต่ไม่ใช่ต่อต้านตามที่กล่าวอ้าง
นายกนก กล่าวด้วยว่า กรณีที่จะควบรวม 2 หน่วยงานระหว่างป.ป.ท. กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)นั้น ขึ้นอยู่กับสนช.และสปช.ซึ่งมีอำนาจชี้ขาด แต่จะยุบรวมหรือไม่ การทำงานก็ไม่ต่างจากเดิม อยู่ที่ผู้ปฏิบัติ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าหลักการ
อดีตผบ.พรึ่บ-ถกปรับกลาโหม
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม(ศรีสมาน) พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม เชิญอดีตผู้บังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหม อาทิ พล.อ.อู้ด เบื้องบน พล.อ.วินัย ภัททิยกุล พล.อ.อภิชาติ เพ็ญกิตติ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ และอดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม อาทิ พล.อ.อุทัย ชินวัตร และผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมกว่า 50 คน เพื่อพบปะและรับฟังความคิดเห็นของอดีตผู้บังคับบัญชา เพื่อนำไปปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นการพูดคุยแบบเปิดกว้าง ไม่มีหัวข้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมพบปะและรับฟังความคิดเห็นอดีตผู้บังคับบัญชาเกิดขึ้นครั้งแรกสมัยพล.อ.วันชัย เรืองตระกูล เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม
พล.อ.ศิริชัย กล่าวต้อนรับและแสดงความขอบคุณที่อดีตผู้บังคับบัญชามาเยี่ยมเยือนสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมในครั้งนี้ ทางกำลังพลและสำนักงานปลัดตระหนักดีว่าอดีตผู้บังคับบัญชาทุกคนได้ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจให้สำนักงานปลัด แม้จะพ้นตำแหน่งและเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ความผูกพันยังคงอยู่ และเนื่องจากสภาวะบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ภาระบทบาททางทหารเปลี่ยนแปลงไป เพื่อสนับสนุนภารกิจคสช.และรัฐบาลให้เดินหน้า จึงขอรับทราบและรับฟังความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการทำงานต่อไป
'ปู'ร่วมชมสื่อฟาดแข้งเพื่อไทย
เมื่อเวลา 17.45 น. วันที่ 23 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางมาที่สนามฟุตบอลกรีนฟิลล์ รามอินทรา เพื่อชมการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมไทยรัฐกับทีมรวมดารา 11 พรรคเพื่อไทย ที่มีอดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรค และแกนนำ นปช. ร่วมทีม อาทิ นายวราเทพ รัตนากร นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส กล่าวทักทาย พร้อมถ่ายภาพร่วมทั้งสองทีมและนั่งชมการแข่งขัน โดยมีสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ ติดตามทำข่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าวางอนาคตไว้อย่างไรบ้างหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับฟ้องในคดีรับจำนำข้าว โดยนัดพิจารณาคดีนัดแรกวันที่ 19 พ.ค.นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบเพียงว่า วันนี้มาขอยิ้มก่อน ยังไม่ขอตอบอะไร
'บิ๊กตู่'ฮึ่มปลัดสธ.อย่าดื้อดึง
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดสอบการทำงานของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ว่า กำลังตรวจสอบทั้งในเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการว่ามีปัญหาตรงไหน ให้ความเป็นธรรมหรือไม่ จะต้องปรับหรือไม่ และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณว่ามีรั่วไหลหรือไม่ ดังนั้น ทุกอย่างจะต้องทำทั้ง 2 มิติ ทั้งโครงสร้างในส่วนของการบริหารจัดการ และเรื่องการทุจริตหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับปลัดสธ. ขณะที่ตัวปลัดสธ. ต้องยอมรับตัวเองว่าทำผิดวินัยบ้างหรือไม่ มันแยกออกจากกัน ไม่ใช่ว่าทำอย่างนี้ผิดวินัยก็ได้ ทหารถือ ผิดวินัยนี้ไม่ได้ ขัดคำสั่งไม่ได้ คนละเรื่องกัน อย่าเอามาปนกัน ถ้าคิดว่าจะต่อสู้กันอีกหน่อยก็ไม่มีใครฟังใคร ผู้น้อยต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ก่อน ถ้าผู้ใหญ่ไม่ทำตามนั้น หรือไม่เห็นด้วยก็ทำหนังสือร้องทุกข์ขึ้นมาถึงรัฐมนตรีเพราะมีระเบียบอยู่ รัฐมนตรีก็จะสอบ แต่ถ้าไปดื้อดึง ขัดขืน หลีกเลี่ยง ผิดวินัยทันที ไม่เช่นนั้นวันหน้าก็ปกครองไม่ได้ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็ร้องทุกข์มาและกรุณาลงชื่อด้วย ไม่ใช่บัตรสนเท่ห์ ที่หาได้ทั่วไป