- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 23 March 2015 10:28
- Hits: 4783
โปรยใบปลิวเกลื่อนระยอง ปลุกชู 3 นิ้ว เชียร์ปชต.-ต้านเผด็จการ ตร.ค้นบ้าน'3 แกนแดง'หัวหินพบบึ้มซุกกระสอบ ใกล้ที่ประชุมครม.สัญจร กสม.บุกคุกสอบปมซ้อม สปช.ชงฟื้นโทษยุบพรรค
กสม.บุกคุกสอบปมร้องผู้ต้องหาบึ้มศาลถูกซ้อม 25 มี.ค. ใบปลิวว่อนปลุกต้านเผด็จการ ว่อนระยอง ตร.ลุยค้น 3 จุดบ้าน แกนนำ นปช. ไร้หลักฐานโยง
@ กสม.สอบซ้อมมือบึ้มศาล 25 มี.ค.
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหลายองค์กรร้องเรียนประเด็นเจ้าหน้าที่รัฐซ้อมผู้ต้องหาคดีขว้างระเบิดบริเวณลานจอดรถศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯโดยจะเดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 25 มีนาคม
นพ.นิรันดร์ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 มีนาคมถึงกรณีดังกล่าวว่ามีหลายองค์ร้องเรียนมาที่ กสม. อาทิ ผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกซ้อมทรมาน ดังนั้นในวันที่ 25 มีนาคม ตนและคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านพลเมือง และสิทธิทางการเมือง จะเดินทางไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร
"โดยจะเชิญเจ้าหน้าที่รัฐมาให้ข้อมูลว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีการใช้ความรุนแรง มีการซ้อมทรมานทำร้ายร่างกายจริงหรือไม่ ดังนั้นต้องไปตรวจสอบ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีลอบวางระเบิดศาลอาญา ทางคดีก็ให้เป็นไปตามกระบวนการของศาล และตำรวจ" นพ.นิรันดร์กล่าว
@ ประสานบัวแก้วล่า'เอนกซานฟราน'
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงการติดตามตัวผู้ต้องหาคดีขว้างระเบิดอาร์จีดี 5 ใส่ศาลอาญา ว่าอยู่ระหว่างประสานขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน นายมนูญ ชัยชนะ หรือนายเอนก ชัยชนะ (เอนก ซานฟราน) ตามขั้นตอนของสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยตามขั้นตอนเมื่อตำรวจสรุปสำนวนส่งให้อัยการ และอัยการมีคำสั่งฟ้องแล้ว จะขอศาลอนุมัติหมายจับ จากนั้นจะส่งเรื่องไปยังกองการต่างประเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนจะส่งเรื่องไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อทำหนังสือไปยังประเทศที่สงสัยผู้ต้องหาหลบหนีอยู่
"ทราบว่านายเอนกยังคงหลบหนีอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่กำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่หากในวันข้างหน้านายเอนกได้หลบหนีไปยังประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นทางเจ้าหน้าที่ก็คงไม่สามารถดำเนินการได้ "ผบ.ตร.กล่าว และว่า กรณีนายวิระศักดิ์ โตวังจร หรือใหญ่ พัทยา
ผู้ต้องหาอีกรายนั้น เจ้าหน้าที่ได้ติดตามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ตัวมา แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดว่านายวีระศักดิ์พักอยู่ที่ใด ส่วนเครือข่ายของผู้ต้องหากลุ่มนี้จะมีมากกว่า 20 คน หรือจะขอออกหมายจับใครเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามพยานหลักฐานรวมถึงคำให้การของผู้ต้องหา ถ้าหากหลักฐานพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงใครบ้างก็จะดำเนินการให้ถึงที่สุด
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า การทำสำนวนทางพนักงานสอบสวนจะไม่เร่งรีบเพราะสำนวนจะต้องมีความสมบูรณ์ครบถ้วนมากที่สุด ไม่เช่นนั้นถ้าส่งไปถึงอัยการแล้วทางอัยการตีกลับสำนวนให้ไปสอบสวนเพิ่มเติม จะยิ่งทำให้กระบวนการล่าช้ามากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
@ คสช.โต้ศูนย์ทนายฯมโนปมทรมาน
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ชี้แจงการร้องเรียนการทรมานคดีผู้ต้องหาปาระเบิดศาลอาญา โดยระบุว่าการที่รัฐจะดำเนินคดีกลับต่อผู้ร้องเรียนจะทำให้ผู้ต้องหายิ่งหวาดกลัวไม่กล้าดำเนินการทางกฎหมายว่า เป็นเพียงมุมมองส่วนบุคคลที่มีแนวโน้มเป็นลบในเชิงหวาดระแวงเกินไป ทั้งนี้เชื่อว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใด ถ้าคิดว่าตนเองถูกกระทำหรือถูกละเมิด โดยมีข้อมูลยืนยันข้อพิสูจน์ที่สมบูรณ์แล้วคงสามารถร้องได้ตามสิทธิในช่องทางที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้ายังไม่ชัดเจนก็เป็นธรรมดาที่ผู้ร้องหรือผู้เกี่ยวข้องจะต้องระมัดระวังโดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลออกไปก่อน ในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจน แล้วไปมีผลกระทบสร้างความเสียหายให้บุคคลหรือองค์กรที่ถูกพาดพิง
"กองทัพยืนยันว่าไม่ใช่การข่มขู่ แต่เป็นการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทางภาครัฐเองก็จำเป็นต้องได้รับการปกป้องเช่นกัน" พ.อ.วินธัยกล่าว
@ จวก'จารุพงศ์'ข้อมูลไม่ครบ
พ.อ.วินธัยกล่าวถึงกรณีที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและเลขาธิการองค์กรเสรีไทยฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่ผิดหลักกติกาสากล เพราะคนร่างรัฐธรรมนูญคือคนที่ คสช.ตั้งขึ้นมา แต่หลักการประชาธิปไตยต้องให้ประชาชนเป็นผู้เลือกเข้ามา ทำให้มีเจตนาจะกดขี่ประชาชนโดยอำนาจเผด็จการ ว่าต้องทำความเข้าใจว่า คสช.เป็นผู้อนุมัติตามขั้นตอน ทั้งนี้ นายจารุพงศ์พูดในลักษณะลอยๆ และไม่ศึกษาข้อมูลให้ดี เพราะที่มาของกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีตัวแทนที่มาจากหลายภาคส่วนเป็นผู้คัดเลือก รวมถึงตัวแทนจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่คัดเลือกกันเอง ทั้งนี้ต้องศึกษาว่าการคัดเลือกกรรมาธิการยกร่างฯก็มีรายละเอียดที่มา และเชื่อว่าสังคมให้การยอมรับ
"มุมมองของนายจารุพงศ์มีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เช่น สปช.จังหวัด ก็เป็นตัวแทนในส่วนของจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ที่มาจากองค์กรบริหารงานภายในจังหวัดที่มีความน่าเชื่อถือ และมีระบบการคัดเลือกเป็นที่ยอมรับได้ คสช.เป็นเพียงองค์กรสุดท้ายที่เป็นผู้อนุมัติตามขั้นตอนเท่านั้น และทุกกระบวนการการคัดเลือกกรรมาธิการยกร่างฯก็ต้องผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนต่างๆ ที่สังคมให้การยอมรับ" พ.อ.วินธัยกล่าว
@ ส.ทนายยันไม่ฝ่าฝืนอัยการศึก
นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยมีมติคัดค้านการนำพลเรือนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองถูกฟ้องดำเนินคดีขึ้นสู่ศาลทหาร ว่า สมาคมทนายความฯแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้กฎอัยการศึกและการทำรัฐประหาร และรัฐควรเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ จึงได้ใช้เวทีในที่ประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว การที่พลเรือนที่แสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมืองจะต้องถูกฟ้องดำเนินคดีขึ้นสู่ศาลทหารนั้น ถือว่าเป็นการกำจัดสิทธิของประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ตามสิทธิรัฐธรรมนูญ
"ในที่ประชุมได้คุยกันในประเด็นข้อกฎหมาย เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมของศาลของประเทศไทยนั้นจะต้องเป็นระบบ 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ขณะที่ศาลทหารเป็นระบบศาลเดียว หากประชาชนถูกตัดสินพิพากษาไปแล้วก็จะไม่สามารถมีสิทธิยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้เลย จึงถือว่าเป็นการเสียสิทธิตามรัฐธรรมนูญและเสียสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดข้อแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง" นายนรินท์พงศ์กล่าว
นายนรินท์พงศ์ กล่าวอีกว่า หลังจากที่มีข่าวกรณีเรื่องมติที่ประชุมสมาคมทนายความฯเผยแพร่ออกไป มีตัวแทนทั้งจากตำรวจ ทหาร และหน่วยงานด้านความมั่นคงติดต่อมายังตนเป็นจำนวนมาก ก็ได้คุยชี้แจงยืนยันว่าในที่ประชุมของสมาคมทนายความฯไม่ได้กระทำที่อันเป็นการฝ่าฝืนกฎอัยการศึก เพียงแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมในประเด็นข้อกฎหมายเท่านั้นในฐานะทนายความ นอกจากนี้ ตัวแทนด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ ที่ประสานงานอยู่ทั้งประเทศแถบยุโรป ออสเตรเลีย และสวิตเซอร์แลนด์ ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว เพราะศาลทหารจะต้องบังคับใช้ในกรณีที่บ้านเมืองเกิดสภาวะฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น แต่ในประเทศไทยอย่างคดีทั่วๆ ไปก็ยังคงขึ้นต่อศาลยุติธรรม
@ ไก่อูแจงอัยการศึกไม่กระทบเที่ยว
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีการบังคับใช้กฎอัยการศึก กระทบถึงสิทธิมนุษยชนว่า กฎอัยการศึกมีไว้เพื่อป้องกันเหตุร้ายและควบคุมคนคิดร้าย นอกจากจะไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของสุจริตชนแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยให้กับทุกคนในประเทศ ข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นเด่นชัดที่สุดคือ จำนวนนักท่องเที่ยงที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2557 เป็นช่วงที่บ้านเมืองมีเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง มีการก่อเหตุ การปะทะรวมถึงการสร้างสถานการณ์ต่างๆ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 11.47 ล้านคน
"ขณะที่ 6 เดือนหลังของปี 2557 หรือตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านคน เป็น 13.30 ล้านคน หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ เพราะติดเป็นเม็ดเงินที่เข้าประเทศประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ)" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
@ ใบปลิวต้านเผด็จการโผล่ระยอง
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีใบปลิวต่อต้านเผด็จการปลุกระดมผู้รักประชาธิปไตยทุกคนชู 3 นิ้ว ทิ้งเกลื่อนบริเวณทางเข้าสวนศรีเมือง หน้าพระพุทธอังคีรส หลังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จ.ระยอง เขตเทศบาลนครระยอง ต.ท่าประดู่ อ.เมืองระยอง ทั้งนี้มีผู้พบใบปลิวต่อต้านเผด็จการอีกจำนวนมาก ติดที่ศาลาที่พักผู้โดยสารโดยใช้กาว 2 หน้าติด และที่บริเวณริมรั้ววิทยาลัยเทคนิคระยองที่อยู่ฝั่งตรงข้าม พบใบปลิวแปะติดโต๊ะม้านั่งหินขัด ริมถนนตากสินมหาราช ต.ท่าประดู่ ใบปลิวระบุว่า "ตื่นและลุกขึ้นสู้ได้แล้ว ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ด้านขวาของใบปลิวมีรูปฝ่ามือชูสามนิ้ว เขียนว่า เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ต่อต้านรัฐประหาร
ผู้สื่อข่าวเดินทางไปดูสถานที่ที่ติดใบปลิว ปรากฏว่ามีการปลดออกไปหมดแล้ว รวมทั้งบริเวณหน้าหอพระพุทธอังคีรส มีการเก็บใบปลิวหมดแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าตำรวจสันติบาลพร้อมตำรวจ สภ.เมืองระยอง ตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณใกล้หอพระพุทธอังคีรส พบภาพในกล้องวงจรปิดเป็นชายวัยรุ่นต้องสงสัยนุ่งกางเกงขาสั้นสีเข้ม สวมเสื้อสีขาว ขี่รถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ผ่านมาช่วงเวลา 01.42-01.47 น. คืนวันที่ 20 มีนาคม
นายอินทรีย์ เกิดมณี นายอำเภอเมืองระยอง กล่าวว่า ได้กำชับเจ้าหน้าที่ปกครอง กองร้อยอาสาสมัคร (อส.) เฝ้าระวังกลุ่มต่างๆ พร้อมประสานเทศบาลนครระยองตรวจสอบกล้องวงจรปิดตามถนนตากสินมหาราช ต.ท่าประดู่ ยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้า
พ.ต.ท.สมหมาย ธัญลักษณากุล ผอ. กกต.จ.ระยอง กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องใบปลิวที่นำมาทิ้งด้านหลังสำนักงาน เป็นเรื่องของความมั่นคง เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบ
@ ตร.บุกค้น 3 จุดต้องสงสัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.ธเนตร์ พิณเมืองงาม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 (ผบช.ภ.2) เดินทางที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (บก.ภ.จว.) ระยอง ประชุมเพื่อเร่งรัดจับกุมคนทิ้งใบปลิว โดยเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ภ.จว.ระยองและสืบสวนภาค 2 แบ่งกำลังเข้าตรวจค้นบ้านเป้าหมาย รวม 3 จุด จุดที่ 1.หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ต.ทับมา อ.เมือง ระยอง จุดที่ 2.บ้านหนองมะหาด ต.ทับมา และจุดที่ 3.บ้านในซอยโรงฆ่าสัตว์ ถนนราษฎร์บำรุง ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง
เวลา 17.30 น. พล.ต.ท.ธเนตร์ น.ต.ภาณุรัตน์ อุ่นญาติ ผบ.ร้อยและบริการ พัน ร.7 พร้อมกำลังตำรวจและทหารตรวจค้นบ้านเป้าหมายต้องสงสัยรวม 3 จุด จุดที่ 1 เข้าตรวจค้นบ้านนายระพินทร์ พรานนท์สถิต เลขที่ 155/35 ซอยโรงฆ่าสัตว์ ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง เป็นแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เขต อ.บ้านฉาง จุดที่ 2 ตรวจค้นบ้านนายดำรงค์ ตุลยเสวี เป็นแนวร่วม นปช. เลขที่ 136 หมู่ 3 ต.ทับมา อ.เมืองระยอง และ จุดที่ 3 ตรวจค้นบ้านนายชเนศ ชาญโลหะ เป็นประธาน นปช.ระยอง เลขที่ 54 ถนนชายกระป่อม 1 ต.เชิงเนิน อ.เมือระยอง ผลการตรวจค้นไม่พบเอกสารและหลักฐานเกี่ยวกับใบปลิว
เจอบึ้มใกล้ที่ประชุมครม.สัญจร
เจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดค่ายนเรศวรตรวจสอบวัตถุระเบิดพร้อมเครื่องกระสุนปืน บรรจุอยู่ในกระสอบบริเวณโครงการปลูกต้นไม้รอบบ้านพ่อ ริมถนนเพชรเกษมสายหัวหิน-ปราณบุรี เขตเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากสถานพักฟื้นกองทัพบกสวนสนประดิพัทธ์ ประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุม ครม.สัญจร วันที่ 27-28 มีนาคม ตรวจสอบพบระเบิดทั้งหมดอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
@ ตร.ไม่ฟันธงป่วนครม.สัญจร
พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สันนิษฐานว่าคนที่ครอบครองอาวุธกลัวความผิดจึงนำมาทิ้งไว้ เนื่องจากก่อนจะมีการประชุม ครม.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กำชับให้มีการตั้งด่านตรวจสกัดและระดมกำลังกวาดล้างอาชญากรรม ส่วนคนร้ายต้องการนำมาสร้างสถานการณ์ก่อนการประชุม ครม.หรือไม่นั้นยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน ต้องรอพนักงานสอบสวนและฝ่ายสืบสวนตรวจสอบที่มาให้ชัด อย่างไรก็ตาม อาวุธปืนและระเบิดที่พบ เป็นคนละชนิดกับที่คนร้ายใช้ก่อเหตุระเบิดที่ศาลอาญา อีกครั้งผู้ต้องหาขบวนการนี้ถูกจับกุมแล้ว จึงเชื่อว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความชัดเจนต่างๆ
พล.ต.ท.วีรพงษ์ ชื่นภักดี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภา ค7 กล่าวว่า ระเบิดที่พบเป็นเพราะตำรวจตั้งด่านอย่างเข้มงวด ระหว่าง วันที่ 18-24 มีนาคมรองรับการประชุม ครม. วันที่ 27 มีนาคม เชื่อว่าคนร้ายอาจจะกลัวเลยเอามาทิ้งไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากชายหาปลาซึ่งเป็นแรงงานชาวกัมพูชาว่า พบกองวัตถุระเบิด 2 กอง ตำรวจ สภ.หัวหิน ได้ประสาน หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดค่ายนเรศวร ให้เข้ามาตรวจสอบพบเป็นระเบิดชนิดต่าง ที่กระสอบมีข้อความเขียนไว้ว่า ร้อย 1 พัน 1 จากการสอบพบว่าระเบิดทั้งหมดอยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน ยังไม่สามารถระบุได้ว่า จะเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในการประชุม ครม.สัญจร หรือไม่
"จากการตรวจนับจำนวนระเบิดทั้งหมดประกอบด้วย 1.ฟักแคระเบิด ความยาวประมาณ 100 เมตร 2.ระเบิดทีเอ็นที ขนาด 1/4 ปอนด์ 41 แท่ง 3.ระเบิด ทีเอ็นที ขนาด 1/2 ปอนด์ 7 แท่ง 4.ระเบิด ทีเอ็นที ขนาด 1 ปอนด์ 1 แท่ง 5.ระเบิดซีโฟร์ one ขนาด 1/4 ปอนด์ 4 แท่ง 6.ระเบิดเพลิง WP M 34 จำนวน 20 ลูก 7.ระเบิดเพลิงสำหรับเผาไหม้ TH3 AN-M14 จำนวน 11 ลูก 8.แก๊สน้ำตา N201 MK3 จำนวน 12 ลูก 9.สโมกควัน M18 จำนวน 2 ลูก 10.ประทัด M80 จำนวน 23 ลูก 11.ตัวจุดระเบิดชนิด M3 จำนวน 62 ชุด 12.เชื้อปะทุไฟฟ้า 15 ชุด 13.ตัวจุดระเบิด ชนิด M6 จำนวน 148 ชุด 14.เชื้อปะทุธรรมดา 944 แท่ง 15.แฟสะดุด 16 ตัว 16.ลวดสะดุด 12 ม้วน 17.กระสุนปืน ปลย.88 12 นัด ปืนกล 93 จำนวน 2 นัด M60. จำนรวน 5 นัด กระสุนปืนเอ็ม 16 จำนวน 55 นัด กระสุนซ้อม เอ็ม 60 จำนวน 2 นัด" พล.ต.ท.วีรพงษ์กล่าว
@ วิปสปช.วาง25คนต่อ1ญัตติ
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวว่า คณะกรรมาธิการ สปช.ทั้ง 18 คณะ อยู่ระหว่างเตรียมประเด็นที่จะอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ในช่วงวันที่ 20-26 เมษายน ว่าจะอภิปรายในประเด็นไหนบ้าง เนื่องจากนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กำชับและมอบหมายให้ กมธ.ปฏิรูป สปช.ทั้ง 18 คณะดูประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญว่ามีความเห็นเป็นอย่างไรให้ครอบคลุม แต่ส่วนหนึ่งจะอภิปรายเสนอให้บรรจุการปฏิรูปแต่ละด้านไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย
นายอลงกรณ์กล่าวต่อว่า การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญยังอยู่ในชั้นพิจารณาว่าจะแก้ไขอย่างไรบ้าง เพราะตามรัฐธรรมนูญ สปช. 25 คนเสนอแปรญัตติเดียวกันได้ใน 1 เรื่องและสามารถเสนอแก้ไขในหลายประเด็น แต่ต้องอยู่ในเรื่องเดียวกันจากนั้นวิป สปช.จะจัดกลุ่มให้ได้ 25 คนต่อ 1 คำแปรญัตติ
@ 'อมร'เล็งอภิปรายรื้อกลุ่มการเมือง
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ กรรมการปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวถึงประเด็นที่จะอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกว่า เตรียมอภิปรายเกี่ยวกับกลุ่มการเมือง โดยจะเห็นว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากต้องทำตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. คือต้องทำตามเงื่อนไข จึงอาจจะเสียเปรียบกลุ่มการเมือง เพราะคนตั้งกลุ่มการเมืองไม่ต้องผูกพันกับอะไร ไม่ต้องทำตามข้อบังคับ ไม่ต้องถูกตรวจสอบ รวมทั้งการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินอาจจะไม่ครอบคลุม รวมทั้งยังเป็นช่องทางให้พรรคการเมืองออกมาตั้งกลุ่มหรือไม่ลงในนามพรรคการเมือง หากเงื่อนไขไม่รัดกุมพอ โดยลงเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ท้ายสุดในสภาก็มีเพียงพรรคเดียวและเกิดเผด็จการรัฐสภาในอีกรูปแบบขึ้น
"คิดว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะพอถึงเวลากลุ่มที่มีโอกาสจะได้ก็เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ ดังนั้น โอกาสที่จะได้กลุ่มคนกลุ่มใหม่เข้ามาเป็นเรื่องยาก เพราะกลุ่มใหม่ไม่เป็นที่รู้จักของคน เว้นแต่จะมีเหตุการณ์ที่นำไปสู่เรื่องของการสร้างวีรบุรุษ ต้องดูว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริงหรือเปล่า" นายอมรกล่าว
@ ชงบัญญัติยุบพรรค-ป้องนายทุน
นายอมรกล่าวว่า นอกจากนั้นจะขออภิปรายประเด็นยุบพรรคการเมือง คือต้องการเสนอให้มีการบัญญัติเรื่องนี้ลงในรัฐธรรมนูญ แต่ที่ผ่านมาเข้าใจว่า กมธ.ยกร่างฯได้ตัดประเด็นดังกล่าวออกไป โดยให้เหตุผลว่าการยุบพรรคไม่สร้างความปรองดอง และเข้าใจว่าการยุบพรรคก็มีการเขียนไว้อยู่แล้วในเงื่อนไขที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด คิดว่าควรจะบัญญัติเป็นถ้อยคำไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีข้อกำหนดชัดเจนเรื่องอะไรบ้างที่จะยุบได้ โดยใช้ถ้อยคำว่า เรื่องที่ทำให้เป็นผลเสียหายแก่ผลประโยชน์แห่งชาติ คือ เป็นเรื่องที่ชัดเจน ไม่ต้องตีความ
นายอมรกล่าวว่า ยังมีประเด็นโครงสร้างพรรคการเมือง ก็เป็นเรื่องที่ สปช.ให้ความสำคัญ อยากได้ความเข้มแข็งของพรรคการเมืองโดยไม่ต้องการให้นายทุนพรรคเข้ามาครอบงำ วิธีการแก้คือ นอกจากมีกรรมการบริหารพรรคที่เกิดจากนายทุน ที่ผ่านมาเป็นคนชี้ขาดว่านายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีควรเป็นใคร ควรจะให้มีกรรมการพรรคชุดใหญ่ขึ้นอีกชุด ประกอบด้วย ตัวแทนสาขา กลุ่มการเมืองเสียงข้างน้อย เหมือนกับตัวแทนผู้ถือหุ้นที่เข้ามาคุม และเรื่องนี้ควรเป็นส่วนหนึ่งที่อยากให้นำเสนอลงในรัฐธรรมนูญ
@ แนะตั้งกก.กลางบังคับใช้กม.
นายอมรกล่าวว่า ต้องการให้มีการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย ควรเสนอกฎหมายกลางขึ้นมา มองว่าสังคมไทยมีปัญหาการเรื่องการให้การอุปถัมภ์ เมื่อมีปัญหาสังคมก็เกิดการบังคับใช้กฎหมายลำบาก และคนบังคับใช้กฎหมายเกรงกลัวอิทธิพล ไม่กล้าที่จะบังคับใช้กฎหมาย เมื่อมีกฎหมายกลางขึ้นมาจะเกิดการกำหนดเงื่อนไขขึ้นมาอีกหลายอย่าง
"ที่สำคัญการบังคับใช้กฎหมายจะมีกรรมการกลาง มีที่มาจากสหวิชาชีพต่างๆ และรู้ระเบียบของการปฏิบัติตามกฎหมายมาช่วยเสริม กรรมการกลางจะเป็นเสมือนคนที่จะคุ้มครองผู้บังคับใช้ ส่วนกรรมการกลางจะมีกี่คน ยังไม่ได้คิด แต่หากทำสำเร็จเชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสังคมดีขึ้น นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งที่ว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ผลก็มาจากประชาชนขาดความรู้ ดังนั้นต่อไปต้องบังคับ เวลาหน่วยงานไหนออกกฎหมายต้องทำคู่มือหรือวิธีการแจงให้ประชาชนเข้าใจ และมีวิชาว่าด้วยกฎหมายที่ควรรู้ในชีวิตประจำวัน" นายอมรกล่าว
เมื่อถามว่ากฎหมายกลางและหน่วยงานกลางจะเสนอให้บรรจุอยู่ในรูปแบบใด นายอมรกล่าวว่า ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมร่างกฎหมาย และเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญเพื่อจะได้มีน้ำหนัก อาจจะเพิ่มขึ้นมาอีกมาตราหนึ่ง มีเนื้อหาว่า ให้มีคณะกรรมการกลางขึ้นมาโดยมีอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งอาจจะมีรูปแบบคล้ายสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ตั้งแบบมีเงื่อนไข เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็สลายตัว
เมื่อถามว่าจะมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ เพราะอำนาจสุดท้ายว่าจะแก้หรือไม่ก็อยู่ที่ กมธ.ยกร่างฯ นายอมรกล่าวว่า เป็นที่รู้กันว่า กมธ.ยกร่างฯมีอำนาจเต็ม จะฟังไม่ฟังก็แล้วแต่ แต่อภิปรายตามที่เสนอไป
@ เล็งค้านนายกฯคนนอก
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า ในวันที่ 26-27 มีนาคม คณะกรรมาธิการจะไปสัมมนาที่พัทยา จ.ชลบุรี เพื่อสรุปว่าจะมีข้อท้วงติงหรือมีความเห็นอย่างไรต่อเนื้อหารัฐธรรมนูญร่างแรกของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้ไปเป็นแนวทางการอภิปรายแสดงความเห็นในที่ประชุม สปช. ระหว่างวันที่ 20-26 เมษายน
นายดิเรกกล่าวว่า เท่าที่พูดคุยกัน ประเด็นที่คณะกรรมาธิการเห็นตรงว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมี 3-4 ประเด็น ได้แก่ 1.การให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง 2.การเลือกตั้งระบบเยอรมัน 3.การมี ส.ว.สรรหาทั้งหมด 4.การไม่ให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง เพราะประเด็นเหล่านี้ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย เป็นประเด็นที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองวิจารณ์กันมาก โดยกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งนั้น ถือว่าไม่อยู่ในรูปแบบการปกครองระบบประชาธิปไตยสากล 3 ระบบที่ทั่วโลกใช้กันอยู่คือ 1.ระบบรัฐสภา 2.ระบบประธานาธิบดี 3.ระบบกึ่งประธานาธิบดี จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ยาก จะไปบอกว่าเป็นประชาธิปไตยในรูปแบบใด ขณะที่การเลือกตั้งระบบเยอรมันเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก สปช.เองก็ยังไม่เข้าใจ เอาเข้ามายิ่งเลอะเทอะใหญ่ เรื่องเหล่านี้คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองไม่เอาด้วยเลย
นายดิเรกกล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปการเมืองเป็นห่วงร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ หากรูปลักษณ์ยังออกมาในลักษณะเช่นนี้ และสุดท้ายแล้วมีการโหวตผ่านให้ออกมาบังคับใช้ ก็น่ากังวล เพราะจะเกิดปัญหาการไม่ยอมรับ มีการเรียกร้องและเคลื่อนไหวให้แก้รัฐธรรมนูญ และจะมีอีกกลุ่มคัดค้านไม่ให้แก้ไข จนเกิดความวุ่นวายตามมา ในที่สุดจะซ้ำรอยเข้าสู่วงจรเดิม มีการรัฐประหารกันอีก ดังนั้นเมื่อทักท้วงกันมากๆ กมธ.ยกร่างฯก็ควรพิจารณาว่าอะไรที่แก้ไขได้ก็ควรแก้ จะได้ไม่เกิดความขัดแย้งตามมาในอนาคต
@ ครม.สัญจรประจวบฯ27มี.ค.
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เตรียมนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดินทางไปประชุม ครม.นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 1 ที่สถานพักฟื้นและพักผ่อนกองทัพบก (สวนสนประดิพัทธ์) จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 27 มีนาคม ว่า เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ของทุกหน่วยงาน เพราะถือเป็นครั้งแรกของการประชุม ครม.นอกสถานที่ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีที่ ครม.พร้อมกันลงพื้นที่ทุกกระทรวง โดยจะทำกิจกรรมต่างๆ ของแต่ละกระทรวง เพื่อประชาชนในพื้นที่หวังให้เกิดผลผลิตตามที่ ครม.ได้ทุ่มเทให้กับส่วนภูมิภาคไม่แตกต่างจากการประชุม ครม.ปกติที่ทำเนียบรัฐบาล
"นายกรัฐมนตรีจะหยิบยกปัญหาในภูมิภาคมาหารือร่วมกับ ครม. นอกจากนี้คนในพื้นที่จะนำเสนอปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ต่อ ครม.เพื่อให้แก้ไขด้วย" ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าว และว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดนิทรรศการเรื่องงานนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นผลงานทางวิชาการของนักวิทยาศาสตร์ กว่า 30 ผลงานที่เคยนำเสนอ เพื่อให้ไปออกบูธเป็นงานนิทรรศการที่ควรเผยแพร่ อาทิ นวัตกรรมที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร ทางสำนักเลขาธิการนายกฯ รัฐมนตรีกำลังประสานงานหน่วยงานอื่นๆ ให้มาออกบูธแสดงผลงานเพิ่มเติมอีกด้วย ขอเชิญชวนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจในส่วนภูมิภาคและจากส่วนกลาง รวมถึงประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการที่สวนสนประดิพัทธ์ด้วยเพื่อนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปขยายประโยชน์ต่อไป
@ วธ.แต่งค่านิยมเวอร์ชั่นอังกฤษ
ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ สั่งการให้แปลเพลงค่านิยม 12 ประการและเพลงคืนความสุขเป็นเวอร์ชั่นภาษา
อังกฤษว่า ในส่วนของเพลงค่านิยม 12 ประการนายกฯมอบหมายให้นายอภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ไปดำเนินการ ได้คุยกับนายอภินันท์เมื่อวันที่ 21 มีนาคมแล้วได้ความคืบหน้าว่าความจริงเพลงค่านิยม 12 ประการเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) แต่งขึ้นมาโดยบริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่จึงคิดว่าจะหารือกับปลัดกระทรวงวัฒนธรรมอีกครั้งเพื่อทำงานเชิงบูรณาการร่วมกัน
"จะเปิดเพลงค่านิยม 12 ประการทุกๆ วัน ในเวลา 18.00 น. หรือไม่นั้นยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนแต่งเนื้อเพลงอยู่ และในส่วนของเพลงคืนความสุขยังไม่แน่ใจว่าจะมีดำเนินการอย่างไรต่อไป" ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าว
@ 'บิ๊กตู่'ฉายเดี่ยวแถลงผลงาน6ด.
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าการแถลงผลงานของรัฐบาลในรอบ 6 เดือน ในวันที่ 10 เมษายนจะมีรูปแบบที่แตกต่างจากการแถลงผลงาน 3 เดือน โดยสำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมเตรียมการและได้ส่งข้อเสนอรูปแบบในการแถลงให้กับพล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาแล้ว โดยสำนักโฆษกฯเสนอว่าวันแถลงจริง จะมีเพียง พล.อ.ประยุทธ์แถลงคนเดียวเท่านั้น โดยไม่มีรองนายกรัฐมนตรี 5 คนแถลงเหมือนครั้งแถลงรอบ 3 เดือน เนื่องจากประเมินแล้วถ้ายังแถลงแบบเดิมทำให้เนื้อหายาวมาก ใช้เวลานาน พื้นที่ของสื่อมวลชนไม่สามารถเผยแพร่และตีพิมพ์หมดได้ภายในวันเดียว
"จึงเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์พูดเชิญชวนให้ประชาชนติดตามการแถลงผ่านรายการคืนความสุขในวันศุกร์ก่อนจะถึงวันแถลงจริง หลังจากนั้น เมื่อนายกฯพูดเชิญชวนแล้วจะเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงก็จะทยอยแถลงผลงานของตัวเอง ซึ่งการแถลงของกระทรวงก็จะจัดกลุ่มแถลงไม่ให้แถลงชนกัน เพราะบางสายงานใช้นักข่าวสายเดียวกันจะทำให้นักข่าวเดินทางไปทำข่าวไม่ทัน เช่น ถ้ากระทรวงการคลังแถลง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะไม่แถลง เพราะนักข่าวบางสำนักเป็นสายเดียวกัน" รายงานข่าวระบุ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า นอกจากนี้ทีมงานยังมีข้อเสนอไปยังทุกกระทรวงถึงการแถลงข่าวของแต่ละกระทรวงเพื่อแก้ปัญหาการประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาลด้วยการที่ว่า หากรัฐมนตรีเรียกประชุมอะไรก็ตาม หลังการประชุมรัฐมนตรีต้องแถลงข่าวด้วยตัวเอง ไม่ใช่เดินออกจากห้องประชุมแล้วก็ไม่มีการแถลงข่าว หรืออาจจะมอบหมายให้ใครแถลง รวมทั้งเสนอให้ข้าราชการการเมืองตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้ช่วยรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรีสามารถช่วยให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนได้ เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลเชิญมาทำงานไม่ได้มานั่งกินเงินเดือนในตำแหน่งเฉยๆ
@ โพลชี้รบ.แก้ปัญหาศก.ไม่ได้
สวนดุสิตโพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจำนวน 1,229 คน ระหว่างวันที่ 16-21 มีนาคม ถึงความคิดเห็น หลังจากที่มีการทำรัฐประหาร และ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ นับเป็นเวลา 10 เดือน การเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด 80.63% ประชาชนคิดว่าการเมืองไทยความขัดแย้งลดน้อยลง บ้านเมืองสงบ เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ หลังการเข้ามาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 77.87% เห็นว่าประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น 71.93% แสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ สินค้าแพง ค่าครองชีพสูง
เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าจุดเด่นของการเมืองไทย 79.09% ระบุว่า เป็นรัฐบาลทหาร ทำให้มีความเข้มแข็ง มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจ 74.86% ทำงานรวดเร็ว แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี โดยเฉพาะปัญหาของประชาชน 72.82% มีการตรวจสอบมากขึ้น ขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น 68.19% เน้นการปฏิรูปการเมืองไทยให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น 65.91% การทะเลาะเบาะแว้งของนักการเมืองลดน้อยลง
ส่วนจุดอ่อนคือ 78.93% ระบุว่า ยังขาดความสามัคคี มีความขัดแย้ง แบ่งพรรคแบ่งพวก 67.13% ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นฝังรากลึกมานาน มุ่งหวังแต่อำนาจและผลประโยชน์ 66.64% อยู่ภายใต้การประกาศใช้กฎอัยการศึก ถูกปิดกั้น ควบคุมสิทธิเสรีภาพ 64.93% ไม่มีเสถียรภาพ มาจากการทำรัฐประหารทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ 63.47% ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น
@ ร้องป.ป.ช.สอบสปช.ตั้งญาติ23มี.ค.
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พยายามเดินทางไปขอข้อมูลการแต่งตั้งผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวของ สปช.ทั้ง 250 คน ต่อสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่