- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 20 March 2015 13:03
- Hits: 3327
วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8878 ข่าวสดรายวัน
คสช.ยันไม่มีซ้อม เร่งพิสูจน์ บาดแผล-ทีมบึ้ม ยูเอ็นเตรียมส่งจนท.มาเอง ฮิวแมนไรต์ฯจี้รบ.ลุยสอบ ทนายจ่อแจ้งเอาผิดคนตื้บ จาตุรนต์ชี้-วิธีไม่ต่าง 3 จว.ใต้
ทำแผน - ตร. คุมตัวนางสุภาพร มิตรอารักษ์ หรือเดียร์ ไปทำแผนฯ ที่จ.มุกดาหาร หลังตกเป็นผู้ต้องหาคดีบึ้มศาลอาญา ก่อนนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์เข้ากรุงเทพฯ ทำเรื่องต่อศาลทหารขอฝากขังทันที เมื่อ 19 มี.ค. |
'ยูเอ็น' สน-ลุยสอบปมซ้อมทีมบึ้มศาล เตรียมส่งจนท.บินมาไทย ศูนย์ทนายฯ เผยผู้ต้อง หาทราบแล้ว-ยินดีให้ตรวจยื่นเรื่องขอหลักฐานรับตัว-ตรวจ 4 ผู้ต้องหาจากเรือนจำ จ่อแจ้งเอาผิดคนทารุณ ระบุผู้ต้องหาถูกไฟชอร์ตเผยหมอตรวจอาการ-จ่ายยาแล้ว แถมยังถ่ายรูปยืนยันแผลเกิดก่อนเข้าคุก ด้านฮิวแมนไรต์ วอตช์ ออกแถลงการณ์จี้รัฐบาลไทยเร่งสอบปมซ้อม หาผู้รับผิดชอบมาดำเนินคดี บี้ซ้ำเลิกขังทางลับ ขณะที่ 'บิ๊กป๊อก' โต้ซ้อมทีมบึ้ม แต่ถ้ามีทำร้ายจริงต้องรับผิดชอบ โฆษกคสช.ก็ยันไม่มีทารุณ ชี้เป็นข้อมูลบิดเบือน-ใส่ร้าย ส่วนโฆษกตร.ประสานแพทย์ขอดูบันทึกตรวจร่างกายในวันส่งตัว ส่งจนท.ไปสอบปากคำ-ดูร่องรอย ผบ.เรือนจำเผยตรวจ 4 ผู้ต้องหาร่างกายปกติ-ไม่พบโรค กสม.โผล่-จ่อเยี่ยมผู้ต้องหา ตรวจร่างกายถึงคุกในสัปดาห์หน้า ตร.คุม 'เดียร์'ทำแผน-ฝากขังศาลทหาร 'จาตุรนต์" โพสต์เฟซบุ๊ก เทียบคุมตัวแบบลับไม่ต่างกับ 3 จว.ใต้
จากกรณีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ หลังรับเรื่องร้องเรียนจาก 4 ผู้ต้องหาคดีปาระเบิดหน้าศาลอาญา ประกอบด้วย นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน นายชาญวิทย์ จริยานุกูล นายนรพัฒน์ เหลือผล และนายวิชัย อยู่สุข ว่าถูกซ้อมและทำร้ายร่างกายระหว่างถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก โดยอ้างถูกต่อย กระทืบ และบางคนถูกใช้ไฟชอร์ต จึงวอนให้คสช.-ทหารยุติใช้กฎอัยการศึก ตรวจร่างกายทั้ง 4 คน แล้วให้ตำรวจหาตัวคนทำมาลงโทษ ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเตรียมรับกรณีทารุณผู้ต้องหาคดีปาระเบิดมาตรวจสอบ ด้านโฆษก คสช.ก็ออกโรงโต้ ยืนยันไม่ได้ซ้อมหรือขู่บังคับ ตามที่เคยเสนอข่าวไปนั้น
ฮิวแมนไรต์ฯ จี้สอบปมซ้อม
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. เว็บไซต์ฮิวแมนไรต์ วอตช์ แพร่แถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวน 4 ผู้ต้องหาคดีปาระเบิดหน้าศาลอาญาด้วยความยุติธรรมระหว่างที่ถูกควบคุมตัว หลังมีข้อกล่าวหาว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 คนถูกทำร้ายร่างกายเพื่อรีดข้อมูลและบีบบังคับให้ยอมรับสารภาพ ทั้งยังถูกปิดกั้นสิทธิในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก
นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์ วอตช์ ภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทรมานในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวโดยทหารเป็นสัญญาณที่น่ากังวลซึ่งสะท้อนการลิดรอนสิทธิที่เกิดขึ้นภายใต้กฎอัยการศึกในประเทศไทย และหนทางแก้ไขปัญหานี้คือ การตั้งคณะสืบสวนที่โปร่งใสและฉับไว เพื่อสอบสวนหาผู้รับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวมาสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ นาย อดัมส์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ยุติการกักตัวบุคคลในที่กักกันลับของทหารด้วย
ทั้งนี้ องค์การฮิวแมนไรต์ วอตช์ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศ ไทยภายใต้กฎอัยการศึกหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่ที่ทหารยึดอำนาจเมื่อเดือนพ.ค.2557 ซึ่งรัฐบาลควบคุมตัวนักการเมือง นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว รวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนรัฐบาลก่อนจำนวนมาก และรวมถึงผู้ที่ประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหาร
ยูเอ็น ติดต่อขอตรวจสอบด้วย
ด้านนายอานนท์ นำภา ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า ในฐานะทนายความของผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอหลักฐานประวัติการรับตัวและส่งผู้ต้องหาตรวจรักษา ล่าสุดทราบจากผู้ต้องหาทั้ง 4 คน โดยเฉพาะนายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน ที่ร้องเรียนว่าถูกชอร์ตไฟฟ้าบริเวณโคนขาขวาและหน้าท้อง ว่าแพทย์ของร.พ.ราชทัณฑ์ ได้ตรวจอาการและจ่ายยาเพื่อรักษาอาการในเบื้องต้นแล้ว โดยแพทย์ยังได้บันทึกภาพสภาพร่างกายไว้ด้วย เพื่อยืนยันว่าบาดแผลที่เกิดขึ้นเกิดก่อนที่จะเข้ามายังเรือนจำ คาดว่าจะได้หลักฐานจากเรือนจำฯ ในวันที่ 20 มี.ค.
"คณะทำงานศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกำลังหารือกันเพื่อฟ้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ต้องหาทั้ง 4 คนในระหว่างควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ทั้งนี้ ตัวแทนด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ได้ติดต่อมายังศูนย์ทนายฯ เพื่อขอเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีที่มีการร้องเรียนจากผู้ต้องหาว่าถูกซ้อมทรมาน ซึ่งผู้ต้องหาได้ทราบเรื่องและยินดีให้ตัวแทนยูเอ็นเข้ามาตรวจสอบแล้วเช่นกัน" นายอานนท์กล่าว
น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากการที่ได้เข้าร่วมประชุมเรื่องสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาเอเชีย หรือฟอรั่มเอเชีย ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงวันที่ 16-17 มี.ค.ที่ผ่านมา จัดโดยยูเอ็น ซึ่งคณะกรรมการด้านการต่อต้านการทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ความสนใจกรณีเจ้าหน้าที่รัฐของไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งมีการติดตามรับฟังข้อมูลมาตั้งแต่เดือนพ.ค.2557 ล่าสุดกรณีผู้ต้องหาคดีปาระเบิดศาลอาญาได้ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน ทั้งกระทืบและ ชอร์ตไฟฟ้า คณะกรรมการด้านการต่อต้านการทรมานฯ ก็ทราบเรื่องและมีความประสงค์จะเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย ล่าสุดศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนประสานไปยังผู้ต้องหาและทราบว่าทั้ง 4 คนยินยอมให้ยูเอ็นเข้ามาตรวจสอบแล้ว ซึ่งยูเอ็นกำลังรอคำตอบจากรัฐบาลไทยว่าจะให้เข้ามาตรวจสอบกรณีดังกล่าวได้เมื่อไร เพราะก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพ.ค.57 หลังการรัฐประหารก็เคยปฏิเสธการเข้ามาตรวจสอบแล้ว โดยยูเอ็นพร้อมส่งเจ้าหน้าที่เดินทางมาไทย
'บิ๊กป๊อก'โต้ซ้อมทีมบึ้มศาล
ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า คิดว่าไม่มีใครทำอย่างนั้น เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องทำตามกฎหมาย ถ้าทำนอกกฎหมายต้องรับผิดชอบ ต้องทำตามกฎหมายเท่านั้น จับมาก็หาหลักฐานกันไป มีพยานหลักฐาน ศาลรับฟ้องก็พิจารณาตามพยานหลักฐาน ผิดก็ผิด ไม่ผิดก็ไม่ผิด ทำได้แค่นั้น อย่างอื่นทำไม่ได้ ทั้งนี้ หากมีเจ้าหน้าที่ทำร้ายจริงต้องรับผิดชอบ ตนเชื่อว่าทหารไม่สามารถทำร้ายพลเรือนได้ ทุกคนไม่มีอำนาจที่จะไปทำอย่างนั้น ฟ้องได้สืบสวนได้ ก็ทำไปตามนั้น
เมื่อถามว่า เรื่องดังกล่าวจะส่งผลต่อภาพลักษณ์รัฐบาลหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ไม่มี ถ้าสื่อพูดให้เข้าใจ หรือถ้ามีใครทำก็ต้องโดนลงโทษ อย่างนี้ประชาชนเข้าใจ แต่ภาพลักษณ์คือว่าใครทำผิดก็ลงโทษ เจ้าหน้าที่คนไหนไปซ้อมก็ต้องรับผิดชอบ สังคมก็เดินได้
คสช.ชี้บิดเบือน-ใส่ร้าย
ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และโฆษก คสช. กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบไม่เป็นความจริง และการให้ข้อมูลดังกล่าวมีลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงในลักษณะใส่ร้ายทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจจะมีการตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ให้ข้อมูลดังกล่าว หรือมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่อาจไม่หวังดีพยายามสร้างข้อมูลเท็จดังกล่าว ซึ่งฝ่ายกฎหมายอาจต้องเข้ามาดูในรายละเอียดต่อไป
พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า มั่นใจไม่มีเหตุผลที่เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องไปบังคับขู่เข็ญอะไร โดยเฉพาะข้อมูลในชั้นนี้เป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ข้อผูกมัดหลักในคดี ที่สำคัญข้อมูลในชั้นนี้จะเน้นนำไปใช้เพื่อดูแลป้องกัน ระงับยับยั้งเหตุ เพื่อให้สังคมสงบเรียบร้อย ไม่ให้มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมอีก ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับความผิดในทางคดีนั้นจะอยู่ในขั้นตอนของตำรวจที่เป็นผู้รับผิดชอบ
"การส่งมอบผู้ที่ถูกควบคุมตัวให้ตำรวจนั้นจะมีกระบวนการตรวจเช็กร่างกาย บันทึกผลไว้เป็นหลักฐานเรียบร้อย คงไม่มีใครบิดเบือนข้อเท็จจริงได้ ยืนยันเจ้าหน้าที่ดำเนินการทุกอย่างด้วยหลักสากลตามแนวทางที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น การออกมากล่าวในลักษณะนี้เทียบเคียงได้เหมือนกับการฟังข้อมูลด้านเดียวแล้วกล่าวหาเจ้าหน้าที่ ซึ่งดูจะผิดวิสัยในคุณลักษณะทางวิชาชีพนักกฎหมายที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งก่อน อีกทั้งโลกปัจจุบันการทำร้ายผู้ต้องหาหากเกิดขึ้นจริงสามารถตรวจสอบตามหลักทางการแพทย์ได้อยู่แล้ว" พ.อ.วินธัยกล่าว
ส่งตร.รุดสอบ-ดูร่องรอย
ขณะที่ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผบ.ตร. และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวว่า ในวันที่ทหารส่งมอบผู้ต้องหาทั้ง 4 คนให้พนักงานสอบสวน ได้นำแพทย์มาตรวจร่างกายและสอบถามผู้ต้องหาว่ามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง แต่ผู้ต้องหาทุกคนไม่ได้บอกว่าถูกทำร้ายร่างกาย ทั้งนี้ ไม่มั่นใจว่าขั้นตอนการตรวจของแพทย์มีการตรวจสภาพร่างกายภายนอกหรือไม่ หลังจากนี้จะประ สานกับแพทย์ขอดูบันทึกการตรวจร่างกายในวันส่งมอบอีกครั้ง พร้อมทั้งขอดูความเห็นของแพทย์ที่เรือนจำว่ามีการตรวจร่างกายก่อนเข้ารับตัวหรือไม่ รวมทั้งส่งพนักงานสอบสวนไปสอบปากคำและดูร่องรอยบาดแผล ผู้ต้องหาว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด
พล.ต.ท.ประวุฒิ กล่าวอีกว่า ได้รับการประสานมาว่าทหารเตรียมนำผู้ต้องหาอีก 2 คนคือ นายวสุ เอี่ยมละออ และนายสุรพล เอี่ยมสุวรรณ มาส่งมอบตัวให้ตำรวจในวันที่ 20 มี.ค. ส่วนนายมนูญ ชัยชนะ หรือ เอนก ซานฟราน และนายวิระศักดิ์ โตวังจร ยังคงหลบหนีอยู่ โดยในส่วนของนายเอนกอยู่ระหว่างขั้นตอนการขอส่งตามสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
ผบ.เรือนจำยัน 4 ผู้ต้องหาปกติ
ด้านนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กล่าวว่า ขณะนี้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ตรวจร่างกายผู้ต้องหาแล้ว 2 ราย คือนายยุทธนา เย็นภิญโญ และนายมหาหิน ขุนทอง โดยเป็นการตรวจตามระเบียบปกติ ซึ่งผลการตรวจร่างกายของผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ในส่วนของนายมหาหินมีผลตรวจร่างกายปกติ ส่วนนายยุทธนาพบมีร่องรอยบาดแผลตามร่างกาย สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นขณะเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม เนื่องจากเป็นบาดแผลคล้ายรอยถลอก ซึ่งอาจเกิดจากรถจักรยานยนต์ล้มและบาดแผลที่ถูกยิงด้วยอาวุธปืน แต่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลมาแล้วก่อนถูกนำตัวมาฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
นายอายุตม์ กล่าวต่อว่า ส่วนผู้ต้องหาอีก 4 คนคือ นายชาญวิทย์ จริยานุกุล นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือง นายวิชัย อยู่สุข และนายนรพัฒน์ เหลือผล เบื้องต้นได้รับรายงานว่าผลการตรวจร่างกายเป็นไปด้วยความปกติ ไม่พบโรคประจำตัว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ต้องหาทั้ง 6 คนเป็นผู้ต้องหาในคดีสำคัญ จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลเป็นพิเศษและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับด้วยว่าหากผู้ต้องหามีอาการป่วยหรืออาการเครียดก็เร่งให้การรักษา แต่เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้ง 6 คนยังไม่มีความเครียด
กสม.จ่อตรวจร่างกายถึงคุก
ขณะที่นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณี 4 ผู้ต้องหาร้องเรียนถูกทำร้ายระหว่างควบคุมตัวว่า เรื่องดังกล่าวมีผู้ยื่นคำร้องมาที่กสม.แล้ว โดยคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองฯ จะทำหน้าที่พิจารณาข้อเท็จจริง ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้ภายในสัปดาห์หน้า คณะอนุกรรมการฯ จะประสานไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อลงพื้นที่ไปเยี่ยมผู้ต้องหาคดีดังกล่าวที่เรือนจำและจะตรวจสอบว่ามีร่องรอยถูกทำร้ายร่างกายหรือการซ้อมทรมานจริงหรือไม่ จากนั้นคณะอนุกรรมการฯ จะทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่จับกุมและสอบสวนผู้ต้องหา กรมราชทัณฑ์ รวมทั้งผู้ร้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำการที่ล่วงเกินหรือใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องหา ซึ่งจะเป็นการละเมิดสิทธิความปลอดภัยในชีวิตจริงหรือไม่ เนื่องจากสถานะของผู้ต้องหาตอนนี้ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะยังไม่ผ่านกระบวนการตัดสินของศาลและเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถกระทำการใดๆ ที่รุนแรงกับผู้ต้องหาได้
ด้านพล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กสม. กล่าวว่า การทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวนนั้น เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะหากกระทำจริงจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225-226 เนื่องจากหากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องหา ศาลก็จะไม่รับคำให้การของผู้ฟ้องคดี เพราะถือว่าได้มาโดยวิธีบังคับขู่เข็ญหรือกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ที่ผ่านมา กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการซ้อมทรมานผู้ต้องหาหลายคดี บางคดีเมื่อตรวจสอบแล้วก็ไม่ได้มีการซ้อมทรมาน แต่บางคดีก็พบว่ามีการซ้อมทรมานจากเจ้าหน้าที่รัฐจริง ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
คุม'เดียร์'ทำแผน-ฝากขัง
วันเดียวกัน พล.ต.ต.วิทวัส บูรณสมภพ ผบก.ภ.จว.มุกดาหาร และพ.ต.อ.ชยุต มารยาทตร์ รอง ผบก.น.6 นำกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 200 นาย ควบคุมตัวนางสุภาพร มิตรอารักษ์ หรือเดียร์ ผู้ต้องหาคดีปาระเบิดศาลอาญา มาทำแผนประกอบคำรับสารภาพรวม 6 จุด ประกอบด้วย 1.ธนาคารกสิกรไทย สาขามุกดาหาร หน้าปั๊มน้ำมันเอสโซ่ 2.ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามุกดาหาร ข้างศาลากลางจังหวัด 3.บ้านพักเดิมในซอยลิเวอร์พูล เขตเทศบาลเมือง 4.บ้านเช่าเลขที่ 19/1 ซอยศรีมันตะ บริเวณหน้าเรือนจำมุกดาหาร 5.บ้านเช่าเลขที่ 19/3 ซอยศรีมันตะ ซึ่งอยู่ห่างกันไม่กี่หลัง หน้าเรือนจำมุกดาหาร และ 6.ธนาคารกรุงเทพ สาขามุกดาหาร ทำธุรกรรมด้านการเงิน โดยระหว่างทำแผนฯ เจ้าหน้าที่วางกำลังอย่าง เข้มงวด พร้อมใช้เวลาทำแผนอย่างรวดเร็ว ก่อนนำตัวนางสุภาพรขึ้นเฮลิคอป เตอร์กลับทันที
ต่อมาที่ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม พนักงานสอบ สวนนำตัวนายเจษฎาพงษ์ วัฒนพรชัยสิริ ผู้ต้องหาคดีปาระเบิดศาลอาญา มาขออำนาจศาลทหารกรุงเทพ ฝากขังผัดแรก เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 - 30 มี.ค. โดยพนักงานสอบสวนแนบท้ายคำร้องฝากขังคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี จากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวนางสุภาพรมาขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อขอฝากขังผัดแรก เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 - 30 มี.ค.เช่นกัน โดยนางสุภาพรมีสีหน้าอิดโรยอย่างเห็นได้ชัด
ถัดมาเวลา 16.30 น. คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพ พิจารณาคำร้องที่พนักงานสอบสวน ยื่นเรื่องขอฝากขังนายเจษฎาพงษ์และนางสุภาพร เนื่องจากเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนให้เหตุผลว่ายังคงต้องสืบพยานเพิ่มเติมอีกหลายปาก โดยคณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพพิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีเหตุผลเพียงพอ จึงอนุญาตให้ฝากขัง จากนั้นเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์นำตัวนายเจษฎาพงษ์ไปฝากขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนนางสุภาพรถูกนำตัวไปฝากขังไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
แม่เกดจับตาคดีบึ้ม-6 ศพ
ด้านนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาน.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมที่วัดปทุมวนารามเมื่อปี 2553 กล่าวถึงกรณีที่น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยานปากสำคัญคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ถูกจับกุมฐานมีส่วนพัวพันกับการระเบิดหน้าศาลอาญา และถูกแจ้งความเอาผิดตาม ป.อาญา มาตรา 112 ว่า เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบพิสูจน์พยานหลักฐานว่าน.ส.ณัฏฐธิดามีส่วนกับเหตุระเบิดจริงหรือไม่ โดยกระบวน การตรวจสอบต้องทำอย่างมีมาตรฐานและตามกระบวนการยุติธรรม ผู้ต้องหาจะต้องได้รับสิทธิตามที่มีทุกประการ อย่างการยืนยันตามคำร้องขอให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้ามาทำหน้าที่ทนายให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา ไม่ใช่ปิดโอกาสโดยอ้างว่าจัดหาทนายให้แล้ว
"การทำหน้าที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงคดีระเบิดต้องห้ามนำมาเกี่ยวพันกับเหตุสลายการชุมนุมคดี 6 ศพวัดปทุมฯ เมื่อปี 2553 อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นความพยายามทำลายความน่าเชื่อถือในคำให้การของแหวนหรือพยายามให้มีผลกระทบใดๆ ในทางคดี ซึ่งดิฉันที่ถูกกระทำได้รับความไม่เป็นธรรมมาโดยตลอดจนมีความหวาดระแวง ก็จะเฝ้าระวังด้วยการจับตามองสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด เพราะพฤติ กรรมของเจ้าหน้าที่มีพิรุธหลายอย่าง ตั้งแต่การเข้าไปอุ้มตัวแหวนมาเงียบๆ กีดกันทนายที่อาสาจะทำหน้าที่" นางพะเยาว์กล่าว
'อ๋อย'เทียบคุมตัวแบบลับ-3 จว.ใต้
ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เห็นข่าวการจับกุมและคุมตัวแบบลับแล้วส่งต่อให้พนักงานสอบสวน ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้แล้ว ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้ขึ้นมาทันที เคยมีการหารือกันในหลายเวทีเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ แล้วมีข้อสรุปว่าหากต้องการจะแก้ปัญหาให้ได้ ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือ ต้องทำให้เกิดความไว้วางใจและความยุติธรรมขึ้น โดยจะต้องทำให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดีเป็นไปอย่างถูกต้องเป็นธรรม การจับกุม ควบคุมตัวแบบลับที่อาจเกิดการซ้อมทรมานก่อนการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน ทำให้การดำเนินคดีทั้งกระบวนไม่น่าเชื่อถือว่าจะเป็นไปด้วยความยุติธรรม ทำให้เกิดความโกรธแค้น ชิงชังและต่างฝ่ายต่างไม่หวังพึ่งกระบวนการยุติธรรม นำไปสู่ความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง น่าเสียดายที่แม้ว่าจะมีข้อสรุปทำนองนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ปัญหานี้กลับไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
นายจาตุรนต์ ระบุอีกว่า ที่น่าเสียดายและน่าห่วงใยอย่างยิ่งก็คือ ไม่เพียงแต่ไม่ตระหนักต่อความเสียหายที่เกิดจากปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ แต่ขณะนี้ทำซ้ำรอยในการจัดการกับปัญหาในจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ ราว กับว่าผู้มีอำนาจกำลังต้องการทำในสิ่งที่เคยเกิดและล้มเหลวใน 3 จังหวัดภาคใต้มาแล้ว จะต่างกันอยู่บ้างอย่างประหลาดก็คือ คดีเกี่ยวกับความมั่นคงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้ไม่ต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งถูกต้องแล้ว แต่คดีที่เกิดนอก 3 จังหวัดภาคใต้กลับต้องขึ้นศาลทหารและขึ้นศาลเดียว การจับกุม คุมตัวผู้ต้องสงสัยแบบลับโดยไม่มีใครทราบว่าไปขังไว้ที่ไหน ไม่แจ้งญาติ ไม่ให้พบทนายความนานถึง 7 วัน แล้วส่งต่อให้พนักงานสอบสวนอย่างที่กำลังทำกันอยู่นี้ ทำให้กระบวนการสอบสวนขาดความน่าเชื่อถือไปอย่างมาก ไม่มีใครรู้ว่า มีการซ้อมผู้ต้องหาหรือไม่ มีการข่มขู่ บังคับให้รับสารภาพหรือซัดทอดอย่างมีเงื่อนไขหรือไม่
นายจาตุรนต์โพสต์ อีกว่า ส่วนผู้ที่ถูกลงโทษทั้งๆ ที่ไม่ได้กระทำความผิด ก็ย่อมรู้สึกโกรธแค้นและไม่เชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งอาจหันเหไปจากการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีก็ได้ด้วย นอกจากนี้ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงกันมากก็คือ เมื่อเอาการจับกุมคุมตัวแบบลับมาผสมกับการสอบสวนดำเนินคดี อาจทำให้การดำเนินคดีมีลักษณะที่เกิดจากความมุ่งหมายทางการเมือง เช่น เพื่อการทำลายเครดิต ภาพพจน์ทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ กลายเป็นปัญหาทั้งขาดยุติธรรมและไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน วิกฤตของประเทศที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาในหลายปีมานี้ มีสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งมาจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ขาดความเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม การจับกุมคุมตัวแบบลับแล้วส่งตัวให้พนักงานสอบสวนนี้ เป็นวิธีการที่ผิดและได้สร้างความเสียหายอย่างมากมาแล้วใน 3 จังหวัดภาคใต้ เมื่อเอามาใช้ในขอบเขตทั่วประเทศ ย่อมมีแต่จะทำให้วิกฤตของประเทศยิ่งหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ที่กำลังทำกันอยู่ในเวลานี้จึงควรที่จะต้องทบทวนแก้ไขเสียโดยด่วนสอบ