- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 18 March 2015 11:16
- Hits: 3549
วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8876 ข่าวสดรายวัน
บิ๊กตู่แจง มะกันแบน-แค่มุข สั่งลดศาลทหาร ใช้ศาลปกติแทน อสส.ขน 205 ลัง ฟ้องบุญทรง-จีทูจี ป้าเผาตัว-สิ้นแล้ว
เยี่ยมชม - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เดินชมสินค้าโอท็อป จ.ร้อยเอ็ด ที่นำมาจัดแสดงในทำเนียบรัฐบาล ทั้งแป้งข้าวหอมมะลิ ผ้าไหม กระเป๋า ฯลฯ เตรียมผลักดัน ส่งขายต่างประเทศ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. |
'บิ๊กตู่'แจงวุ่น มะกันไม่ได้ห้ามเข้าประเทศ แค่พูดแหย่เล่น แย้มเตรียมหามาตรการอื่นใช้แทนกฎอัยการศึก ฮึ่มย้ายอีกข้าราชการเกียร์ว่าง ยังมีอีกเพียบ เตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนกเศรษฐกิจ ครม.อนุมัติ 5.7 หมื่นล้าน บริหารจัดการน้ำ-ทำถนน หวังกระตุ้นใช้จ่าย สธ.ออกคำสั่งห้ามขึ้นป้ายต้านย้ายปลัด ทหารเรียกปรับทัศนคติ 3 หมอสุรินทร์ อัยการหอบสำนวน 205 ลัง ยื่นฟ้อง 'บุญทรง'กับพวกรวม 21 ราย คดีขายข้าวจีทูจี เสนอสั่งปรับ 3.5 หมื่นล้าน ศาลนัด 20 เม.ย.ฟังคำสั่งรับฟ้องหรือไม่ สลด'ป้าสังเวียน'เผาตัว เสียชีวิตแล้ว
ศาลนัดชี้รับฟ้องจีทูจี 20 เม.ย.
เวลา 10.30 น. วันที่ 17 มี.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฟ้องคดีโครงการทุจริตระบายข้าว นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ในฐานะรองหัวหน้าคณะทำงาน และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) พร้อมคณะทำงาน นำคำฟ้องหนากว่า 40 หน้า พร้อมสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวม 205 ลัง ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ พร้อมพวกรวม 21 ราย เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาฯ กรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหาย เกิดเหตุวันที่ 8 ก.ย. 2554-22 ก.พ. 2556 ซึ่งวันนี้ยื่นฟ้องเฉพาะสำนวนเท่านั้น ไม่มีตัวจำเลยมายื่นฟ้องด้วย
โดยศาลฎีกาฯได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อม.25/2558 และนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น.
อสส.หอบหลักฐาน 205 ลังยื่นฟ้อง
เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานอสส. ศูนย์ ราชการฯ นายชุติชัย นายสุรศักดิ์ และนายโกศลวัฒน์ ร่วมกันแถลงว่า ผู้แทนนายตระกูล วินิจนัยภาค อสส.นำสำนวนการไต่สวนของป.ป.ช. พร้อมเอกสารหลักฐานรวม 205 ลัง 1,628 แฟ้ม จำนวนกว่า 70,000 หน้า ยื่นฟ้องนายบุญทรง และพวกรวม 21 ราย ซึ่งเป็นอดีตนักการเมือง 3 คน ข้าราชการการเมือง 3 คน และบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ประกอบด้วยนายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 1, นายบุญทรง ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2 พ.ต.นพ.วีระวุฒิ หรือ หมอโด่ง วัจนะพุกกะ อดีตผู้ช่วยเลขานุการและอดีตเลขานุการรมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3
นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 4 นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ และอดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 5 นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศและอดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 6
ส่วนเอกชน ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในบริษัท และนิติบุคคลได้แก่ นายสมคิด เอื้อนสุภา จำเลยที่ 7 นายรัฐนิธ โสจิระกุล จำเลยที่ 8 นายลิตร พอใจ จำเลยที่ 9 บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำเลยที่ 10 น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 11 น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ จำเลยที่ 12 น.ส.สุทธิดา หรือสุธิดา ผลดี หรือจันทะเอ จำเลยที่ 13 นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 14 นายนิมล หรือโจ รักดี จำเลยที่ 15, นายสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16, นางสุนีย์ จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 17, นายกฤษณะ สุระมนต์ จำเลยที่ 18, นายสมยศ คุณจักร จำเลยที่ 19 บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือบริษัท สิราลัย จำกัด จำเลยที่ 20 และน.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 21
ขอให้ศาลสั่งปรับ 3.5 หมื่นล้าน
เป็นจำเลยในข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐหรือฮั้วประมูล พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 9, 10,12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่รัฐ และมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สร้างความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 4, 123 และ 123/1 ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต
นายชุติชัย กล่าวว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้ อัยการยังขอให้ศาลสั่งปรับจำเลยทั้งหมด เป็นเงิน 35,274,611,007 บาท ซึ่งค่าปรับคิดคำนวณจากมูลค่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 ตามสัญญาระบายข้าวกว่า 5 ล้านตัน รวมมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท ที่พบว่าทำผิดสัญญา 4 ฉบับ จาก 8 ฉบับ โดยพ.ร.บ.ว่าด้วยการฮั้วประมูล มาตรา 4 กำหนดให้ขอปรับได้ร้อยละ 50 จากมูลค่าตามสัญญา ซึ่งหลังยื่นฟ้องคดีแล้ว ศาลฎีกาฯรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อม.25/2558 และนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 20 เม.ย. เวลา 10.00 น.
ยังไม่เกี่ยวคดีแพ่ง
นายชุติชัย กล่าวว่า ส่วนการรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด 5-6 แสนล้านบาท ที่ป.ป.ช.รวบรวมหลักฐานนั้น เป็นอีกเรื่องที่จะดำเนินการต่อไป หากป.ป.ช.สรุปสำนวนส่งมาให้อัยการ หากจะฟ้องคดีนี้ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เนื่องจากเป็นความผิดฐานละเมิด โดยนายกฯในฐานะเจ้าพนักงาน ซึ่งอัยการดำเนินการว่าความคดีให้ แต่กรณีดังกล่าวขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสอบสวนคดีละเมิดว่าจะสรุปสำนวนส่งให้กับอัยการเมื่อใด และจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินเท่าใด ตามขั้นตอน ต้นเรื่องอยู่ที่ป.ป.ช. จากนั้นส่งเรื่องไปกระทรวงการคลัง ก่อนสรุปสำนวนส่งมายังอัยการเพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองต่อไป
20 เม.ย.จำเลยยังไม่มาศาลก็ได้
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ยื่นฟ้องเฉพาะสำนวนเท่านั้น เนื่องจากตัวจำเลยไม่ได้มาศาลตามที่นัด แต่อัยการยื่นฟ้องได้ตามกฎหมาย โดยระบุแหล่งที่อยู่ของจำเลยให้ชัดเจน ตามข้อกำหนดการดำเนินคดีของศาลฎีกาฯ พ.ศ. 2543 ข้อ 8 วรรคสอง ขั้นตอนหลังจากนี้ภายใน 14 วัน ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ จะประชุมผู้พิพากษาศาลฎีกา เพื่อคัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน พิจารณาสำนวนคดีดังกล่าว จากนั้นทั้ง 9 คน จะประชุมภายในเพื่อเลือกองค์คณะเจ้าของสำนวนคดี 1 คน เพื่อพิจารณาคำฟ้องของอสส. หากไม่มีการแก้ไขว่าศาลจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีหรือไม่
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ในวันที่ 20 เม.ย. จำเลยยังไม่ต้องมารายงานตัวต่อศาลก็ได้ แต่หากศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้วจะส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยทั้งหมดรับทราบตามที่อยู่จริงของจำเลยที่ปรากฏในคำฟ้อง ว่ามีการฟ้องคดีเกิดขึ้นและให้จำเลยมาศาลในวันนัดพิจารณาครั้งแรก โดยศาลจะอ่านคำฟ้องให้จำเลยทราบและสอบคำให้การจำเลยว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ ซึ่งในวันนัดพิจารณาครั้งแรกนั้นจำเลยทั้งหมดต้องมาศาลด้วยตัวเอง ถ้าไม่มารายงานตัวศาลจะพิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป แต่หากจำเลยมารายงานตัวต่อศาลในวันใด ศาลจะพิจารณาเรื่องการปล่อยชั่วคราวในวันนั้นทันที
ยังไม่ชี้รวมคดีปู-ความผิดคนละส่วน
เมื่อถามว่า คดีนี้มีพฤติการณ์เชื่อมโยงกับสำนวนคดีที่ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลแล้วจะขอรวมสำนวนคดีหรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า การพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ นั้น จะคัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษา 9 คนก่อน ซึ่งทั้ง 2 คดีคัดเลือกองค์คณะคนละชุดกัน ส่วนใหญ่องค์คณะจะไม่ซ้ำกันแม้คดีนี้จะมีพยานเอกสารหลักฐานเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันก็ตาม ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการรับจำนำข้าวจนถึงขั้นตอนระบายข้าวของคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว โดยป.ป.ช.สอบสวนแล้วว่ามีความผิดตามกฎหมายฐานฮั้วประมูล คดีอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มีอัตราโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิตและขอให้ปรับเป็นเงินกว่า 35,000 ล้านบาท ส่วนสำนวนคดีที่ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ยื่นฟ้องความผิดฮั้วประมูล แต่เป็นความผิดกรณีไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งคนละส่วนกัน แต่ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะพิจารณาให้รวมสำนวนหรือไม่อย่างไร
เมื่อถามว่า คดีนี้มีอัตราโทษสูงถึงจำคุกตลอดชีวิต จะพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้หรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า หากจำเลยทั้ง 21 คน มารายงานตัวต่อศาลและเข้าสู่กระบวน การของศาลในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก การพิจารณาคดีครั้งต่อไปแม้จำเลยจะไม่เข้าร่วมการพิจารณา ศาลสามารถไต่สวนพยานลับหลังได้ แต่หากวันพิจารณาคดีครั้งแรกจำเลยคนใดไม่มาศาล ต้องจำหน่ายคดีของจำเลยบางคนออกจากสารบบไว้ก่อน และพิจารณาคดีเฉพาะจำเลยที่มาในวันนัดพิจารณาคดีในครั้งแรก
รอศาลถามค่อยตอบ-ห้ามไปนอก
เมื่อถามว่า คดีนี้มีพยานเอกสารเยอะมากจะมีผลให้การพิจารณาคดีล่าช้าหรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า หลังศาลนัดสอบคำให้การจำเลยแล้ว ขั้นต่อไปศาลจะนัดตรวจพยานหลักฐาน ซึ่งก่อนวันนัดตรวจพยาน คู่ความทั้งสองฝ่ายจะต้องยื่นพยานหลักฐานต่อศาล เพื่อให้คู่ความนำไปศึกษา หากยอมรับพยานหลักฐานกันได้ในบางประเด็นก็อาจไม่ต้องไต่สวนในประเด็นดังกล่าว เบื้องต้นอัยการเตรียมพยานบุคคลกว่า 100 ปาก อยู่ระหว่างการทำบัญชีพยานและมีพยานปากสำคัญหลายปาก แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาเป็นระบบการไต่สวนแบบต่อเนื่อง คาดว่าศาลคงใช้เวลาพิจารณาไม่ล่าช้า
เมื่อถามว่า ท้ายคำฟ้องอัยการได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวหรือห้ามเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนีออกนอกประเทศ อัยการจึงยังไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราว ในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก หากศาลถามความเห็นอัยการเรื่องการปล่อยชั่วคราว อัยการจะพิจารณาข้อเท็จจริงในขณะนั้นอีกครั้งว่าจะคัดค้านการปล่อยชั่วคราวหรือกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ต่อไป
ยื่นฟ้อง - อัยการนำสำนวนคดีการขายข้าวจีทูจีรวม 205 ลัง มายื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ พร้อมพวกรวม 21 คน ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. |
แจงเหตุผลสั่งคดีได้รวดเร็ว
เมื่อถามว่าในสำนวนนี้มีจำเลยถึง 21 คน เหตุใดอัยการจึงพิจารณาสั่งคดีรวดเร็วกว่าคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า สำนวนคดีของนายบุญทรงเชื่อมโยงกับสำนวนคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งอัยการยื่นฟ้องต่อศาลไปแล้ว โดยสำนวนคดีของนายบุญทรงนั้น อัยการตั้งคณะทำงานพิจารณา 7 คน มีคณะทำงานจากป.ป.ช.เข้ามาร่วมด้วย หากอัยการมีข้อสงสัยตรงไหนก็สอบถามกับ ป.ป.ช.ได้โดยตรง แต่เมื่อคณะทำงานอัยการพิจารณาร่วมกันแล้วไม่พบข้อไม่สมบูรณ์ในคดี จึงมีคำสั่งฟ้องในสำนวนนี้ได้รวดเร็วกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจชื่อดัง จำเลยที่ 14 ก่อนหน้านี้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแขวงสมุทรปราการ ฐานยักยอกข้าวกระทรวงพาณิชย์ส่งไปขายอิหร่าน 2 หมื่นตัน มูลค่า 200 ล้านบาท ศาลแขวงสมุทรปราการ พิพากษาจำคุก 6 ปี ปรับรวม 12,000 บาท ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์
พรเพชรชี้ถกถอดบุญทรงไม่นาน
ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมบรรจุวาระพิจารณาถอดถอนนายบุญทรง ในการประชุมวันที่ 2 เม.ย.ว่า การบรรจุเรื่องนี้ไม่ได้เร่งด่วน ตนตรวจสอบความถูกต้องอย่างละเอียดแล้วซึ่งเกี่ยวข้องกับคนไม่กี่คน การพิจารณาคดีของนายบุญทรงของศาลไม่มีผลกับการพิจารณาของสนช. เพราะมาตรฐานการพิจารณาระหว่างศาลกับ สนช.แตกต่างกัน มีคล้ายกันเพียงส่วนเดียวคือเนื้อหาคดีเท่านั้น เชื่อว่าการพิจารณาเรื่องนายบุญทรงจะใช้เวลาไม่นาน ขึ้นอยู่กับนายบุญทรงจะใช้สิทธิอย่างไร
เล็งชงแนวทางผ่อนปรนอัยการศึก
นายพรเพชร กล่าวหลังเปิดสัมมนาพิทักษ์ชาติและสถาบันของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษามาตรการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่า ก่อนที่ คสช.จะเข้ามามีการละเมิดสถาบันทางโซเชี่ยลมีเดีย คสช.จึงต้องใช้ยาแรง ใช้กฎอัยการศึก ให้คดีที่ละเมิดสถาบันต้องขึ้นสู่ศาลทหาร ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผลเพราะคดีเหล่านี้ลดน้อยลง แต่เมื่อใช้ไปนานมีเสียงท้วงติงว่าคดีที่ขึ้นศาลทหารกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
นายพรเพชร กล่าวว่า ในฐานะนักกฎหมายซึ่งคำนึงถึงหลักนิติธรรม มองถึงจุดที่สร้างสมดุล ถ้าภัยร้ายเบาลงเราก็เสนอมาตรการที่เบาลง ตนคิดอยู่ทุกวันแต่ยังบอกไม่ได้ แนวคิดของตนสถานการณ์ที่น่าจะผ่อนปรนได้คือสถานการณ์ที่รัฐธรรมนูญออกมาชัดเจนแล้ว ตอนนี้ดูแล้วยังเห็นว่ายังไม่มีบทเฉพาะกาลจึงต้องพูดคุยกันต่อไป ถ้าเรื่องรัฐธรรมนูญชัดเจน เช่น ในเดือนส.ค.หรือมิ.ย.มีความชัดเจน ตนอาจเสนอมาตรการผ่อนปรนเพื่อสร้างความสมดุลได้ ตนคงเสนอความเห็นในฐานะส่วนหนึ่งของที่ประชุมแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งอำนาจใช้กฎอัยการศึกเป็นของทหาร
หนุนทำประชามติบางประเด็น
นายพรเพชร กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานร่างรัฐธรรมนูญแล้วยกเว้นบทเฉพาะกาล มีประเด็นที่ต้องศึกษากรณีระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันที่ตนยังสงสัยในวิธีการ ซึ่งมีทีมงานจากคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมศึกษาเรื่องนี้ด้วย รวมถึงกรณีควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้าด้วยกัน เพราะเห็นว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาในการทำงานหากควบรวมเข้าด้วยกัน
นายพรเพชร กล่าวว่า ขณะที่การกำหนดให้นายกฯ มาจากคนนอก เห็นว่ามีความจำเป็นในช่วงบ้านเมืองเกิดวิกฤต แม้ที่ผ่านมาสังคมไทยจะระบุมาตลอดว่านายกฯ ต้องมาจากส.ส. แต่ต้องระบุให้ชัดเจนว่าองค์กรใดจะมาชี้ขาดว่าเหตุการณ์ใดที่จะเรียกว่าบ้านเมืองถึงทางตัน ทั้งนี้ ตนไม่ขัดข้องกับการทำประชามติ แต่ควรทำเฉพาะประเด็นที่สำคัญให้ประชาชนได้ตัดสินใจ ไม่ใช่ทำทุกมาตรา
กมธ.ยกร่างฯห่วงสปช.ถล่ม
มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณาวาระทบทวนบทบัญญัติและบันทึกเจตนารมณ์ ส่วนใหญ่ยังคงหลักการเดิม แต่มีบางมาตราที่ กมธ.ยกร่างฯ มีการอภิปรายเพื่อให้เพิ่มเจตนารมณ์ ให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น อย่างในมาตรา 166 ว่าด้วยสมาชิกส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ หากมีมติไม่ไว้วางใจเกินครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด ให้ นายกฯพ้นจากตำแหน่งและสภาสิ้นสุดลง
กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้ใส่เจตนารมณ์ให้ชัดเจนว่าเหตุใดต้องยุบสภาด้วย โดยระบุเหตุผลว่าต้องยุบสภาเพื่อให้ส.ส.ใช้ช่องทางอื่นยื่นถอดถอนนายกฯ เนื่องจากส่งผลต่อเสถียรภาพของสภาและไม่ต้องการให้ยื่นพร่ำเพรื่อ กมธ.ยกร่างฯ บางคนยังเป็นห่วงมาตรานี้ ให้เหตุผลว่าเป็นไปได้ยากมากที่จะมีการถอดถอนนายกฯ ออกจากตำแหน่ง กรณีนี้เหมือนจับตัวเองถ่วงน้ำ ใครจะทำ แต่ขณะนี้ไม่สามารถเปลี่ยนหลักการได้ เหลือเพียงทำอย่างไรไม่ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ถล่ม หากต้องเสนอร่างแรกให้พิจารณา
เด็กพท.เตือนบิ๊กตู่อย่าใจร้อน
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีนายกฯ ระบุพร้อมจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หากยังเถียงกันไม่เลิก ว่า เข้าใจว่าอากาศร้อนเลยทำให้ นายกฯ พูดเร็วเกินไป นายกฯ อย่าใจร้อน ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญยังไม่เข้าสู่การพิจารณาและแปรญัตติขอแก้ไขของ สปช.เลย ขณะเดียวกัน ครม.และ คสช.มีสิทธิขอแก้ไขได้เช่นกัน และการตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ที่ นายกฯ ในฐานะหัวหน้าคสช. ดังนั้น ช่วงนี้หากแก้ไขประเด็นหลักๆ ที่หลายฝ่ายวิจารณ์และเสนอแนะได้ เช่น ที่มาของนายกฯ ควรมาจากส.ส. หรือส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ควรนำข้อเสนอมาทบทวนและแก้ไข หากมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่จะเสียทั้งเวลาและงบประมาณ กมธ.ยกร่างฯ หลายคนเป็นอาจารย์ เป็นนักวิชาการ ต่างรู้อยู่แก่ใจดีว่าจะเกิดปัญหาตามมาแน่นอน แม้แต่นาย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ที่เคยร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว
ชี้คำพูดบิ๊กตู่ไม่ใช่สืบอำนาจ
นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกสนช.กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ระบุจะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หากยังมีปัญหาความวุ่นวายไม่จบสิ้นว่า คำพูดของนายกฯ คงไม่ใช่การส่งสัญญาณอะไรในเรื่องการสืบทอดอำนาจ เป็นแค่การย้ำว่าหากการปฏิรูปไม่สำเร็จก็ต้องทำใหม่หมด ที่นายกฯ พูดในลักษณะเช่นนี้เป็นเพราะนิสัยชายชาติทหาร คิดอะไรก็บอกตรงๆ ไม่ลดเลี้ยวเหมือนนักการเมือง คำพูดของนายกฯ ไม่ต้องไปแปลความอะไร ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ อย่างที่บอกหากปฏิรูปไม่ได้แล้วจะไปเลือกตั้งทำไม หากร่างรัฐธรรม นูญไม่ผ่าน ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ตั้งกมธ.ยกร่างฯ ชุดใหม่
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีนายกฯ มีท่าทีไม่ชัดเจนจะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ผู้มีอำนาจหลักตัดสินใจคือคสช. แต่ทั้งหมดนี้ต้องฟังเสียงประชาชน เสียงสะท้อนจากองคาพยพต่างๆ ในสังคม ยังมองในแง่ดีว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จตามโรดแม็ปของ คสช.ที่วางไว้ ยังไม่มีจุดไหนที่มองว่ามีความพยายามถ่วงเวลาให้นานออกไป
บิ๊กต๊อกปรามวิจารณ์รธน.
นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชา ธิปัตย์ กล่าวกรณีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และรมว.การต่างประเทศ อาจตัดสินใจยุติบทบาททางการเมืองชั่วคราวหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่เป็นประชา ธิปไตยว่า วันนี้ยังมีกฎอัยการศึกอยู่ ไม่ขอให้น้ำหนักราคาคำพูดของนายสุรพงษ์ ที่เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวไม่ใช่มติพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคประชาธิปัตย์พร้อมลงเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ต้องขอดูหน้าตากติกาที่ร่างไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ก่อน ยังมีองค์ประกอบ ตัวเเปร ที่เป็นข้อถกเถียงอีกมาก
ที่บน.6 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะรอง หัวหน้าคสช. กล่าวถึงประธานสนช. เสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ในช่วงเดือนส.ค. หากสถานการณ์ความขัดแย้งคลี่คลายหรือรัฐธรรม นูญเริ่มเป็นรูปร่างว่า การพิจารณายกเลิกขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าเหมาะสมขนาดไหน ยังมีเวลาอีกนานกว่าจะถึงเดือนส.ค. หากยังมีสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจต้องหยุดการเคลื่อนไหวทั้งหมดก่อน เพื่อให้รัฐบาลเดินหน้าประเทศต่อไปได้
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. กล่าวถึงนักการเมืองระบุจะเว้นวรรค เพราะไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้เป็นแค่การร่างรัฐธรรม นูญยังไม่ได้ข้อยุติ การวิจารณ์อะไรควรสร้างสรรค์ ดีไม่ดีต้องพูดด้วยเหตุผล หากพูดแล้วนำไปสู่ความขัดแย้งก็ปฏิรูปยาก อย่าลืมปัญหาก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 พวกเราชอบลืม อยากขอร้องเพราะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเขารับฟังอยู่แล้ว ไม่ใช่ออกมาถึงแล้วพูดรุนแรงเลย อยากให้พูดกันแบบสุภาพในเชิงแนะนำ ให้ข้อมูล บรรยากาศจะดีกว่าพูดลักษณะนี้
ห้ามรพ.ขึ้นป้ายต้านย้ายหมอณรงค์
ส่วนประเด็นการสั่งย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวิจัยและพัฒนางานด้านสุขภาพแห่งชาติ ประจำสำนักนายกฯ จนมีกระแสคัดค้านจากประชาคมสาธารณสุขนั้น ล่าสุด นพ.สุรเชษฐ์ สถิยนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามใน คำสั่งส่งถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผอ.ร.พ.ศูนย์/ร.พ.ทั่วไป ทุกแห่ง เรื่องการรักษาความสงบของบ้านเมือง โดยระบุว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงประกาศใช้กฎอัยการศึกและมีกลไกการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งกระทรวงได้รับการประสานจากฝ่ายความมั่นคง ขอให้ส่วนราชการโดยเฉพาะหน่วยงานในภูมิภาคทุกระดับได้โปรดสนองนโยบายของรัฐบาลเรื่องความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
โดยเฉพาะการขึ้นป้ายที่มีข้อความให้ประชาชนเห็นภาพลักษณ์ความไม่สมานฉันท์ จะทำให้เกิดภาพลักษณ์ความสงบสุขของประเทศเสียหาย มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ จึงขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หน่วยงานในกำกับกระทรวง ทำความเข้าใจในเจตนารมณ์ เพื่อสนองนโยบายของฝ่ายความมั่นคง
ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ และบุคลากรในวงการสาธารณสุข ยังคงแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก และร.พ.ภูมิภาคส่วนใหญ่ ขึ้นป้ายสนับสนุนนพ.ณรงค์ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารขอความร่วมมือให้นำป้ายลงหลายแห่ง
เรียก 3 หมอปรับทัศนคติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีหนังสือด่วนที่สุดเลขที่ คสช.(รส)2.67/22 ส่งถึงผอ.ร.พ.สุรินทร์ เรื่องขอเชิญเจ้าหน้าที่พบปะทำความเข้าใจ ลงวันที่ 17 มี.ค. 2558 ลงนามโดยพล.ต.มนัส หนูวัฒนา ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) สุรินทร์ เชิญแกนนำคัดค้านคำสั่งย้ายนพ.ณรงค์ คือ 1.พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ 2.พญ.พรรณทิพย์ มูลศาสตรสาทร 3.นพ.อิสระ อริยชัยพาณิชย์ เข้าหารือเพื่อไม่ให้การแสดงออกนำไปสู่ความไม่สงบ
แต่ พญ.ประชุมพรแจ้งว่าไม่สามารถไปยังค่าย ได้ติดภารกิจตรวจคนไข้และดูสไลซ์ชิ้นเนื้อของผู้ป่วย ทหารจึงเดินทางมายังกลุ่มงานพยาธิวิทยากายวิภาค ร.พ.สุรินทร์ เพื่อทำความเข้าใจกับบุคลากรดังกล่าวพร้อมทั้ง 3 คน
พญ.ประชุมพรในฐานะที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์ ร.พ.ศูนย์/ร.พ.ทั่วไป เผยว่า ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับทหารแล้วว่าพร้อมให้ความร่วมมือ หากไม่ต้องการให้ขึ้นป้ายก็จะปลดป้าย แต่การแต่งกายชุดดำเพื่อแสดงออกเป็นการแสดงออกอย่างสงบ ไม่มีการปลุกระดมจนเกิดความวุ่นวาย ทหารเข้าใจเหตุผลดี ที่ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมไม่ได้ทำเพื่อ นพ.ณรงค์ คนเดียว แต่ทำเพื่อระบบสาธารณสุข เนื่องจากระบบการบริหารของสปสช.มีปัญหามาก ส่งผลกระทบต่อร.พ.แทบทุกแห่ง ปัญหาขาดทุนก็เช่นกัน การที่พวกเราแสดงออกไม่ได้ต้องการทำให้ประชาชนเดือดร้อนยังรักษาและให้บริการคนไข้ตามเดิม แต่ต้องการให้นายกฯ ได้ยินและหันมาสนใจปัญหาสาธารณสุขจริงๆ
หมอณรงค์ยังไม่คิดฟ้องร้อง
เวลา 15.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข มีการเรียกประชุมนายแพทย์สาธารณสุขทั่วประเทศ ผอ.โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เรื่องการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลครบรอบ 6 เดือน เพื่อติดตามเรื่องสำคัญเร่งด่วน
นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เผยหลังประชุมว่า เป็นการกำกับการทำงานทั่วไป เน้นนโยบาย 10 ข้อ ส่วนปัญหาภายในกระทรวง เช่น การขึ้นป้ายไม่ได้กำชับอะไรพิเศษและไม่ได้พูดเรื่องนี้ แค่บอกว่าให้เริ่มทำงานและก้าวไปข้างหน้า เมื่อถามว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำทางวิชาชีพและค่าตอบแทน นพ.รัชตะกล่าวว่า เป็นเรื่องต่อไปที่จะต้องแก้ไขกำลังคุยกันอยู่ มีคณะกรรมการทำงานเรื่องนี้อยู่แล้ว
นพ.ณรงค์ให้สัมภาษณ์กรณีบุคลากรสาธารณสุขบางส่วนเสนอให้ฟ้องศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว ว่า ตนยังไม่คิด ที่ผ่านมานายกฯทำงานมากพอแล้วจึงไม่อยากให้สะเทือนถึงนายกฯ เนื่องจากอยากให้ประเทศเดินหน้าเช่นกัน
ตั้งกก.สอบบอร์ดสปสช.ด้วย
ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมครม. มีการรายงานถึงกรณีนายกฯ มีคำสั่งให้นพ.ณรงค์ ปฏิบัติราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกฯ และย้ำว่าให้มาช่วยราชการเท่านั้น ให้ดูแลงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานด้านสาธารณสุขที่ทำเนียบ ไม่ได้ถูกปลด ส่วนคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้น เพื่อดูว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมีความเป็นมาอย่างไร ควรแก้ไขอย่างไร ไม่ใช่คณะกรรมการ สอบวินัยนพ.ณรงค์ ซึ่งแต่งตั้งโดยนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญเรื่องบริหารระดับซี 10-11 และอยู่นอกกระทรวงสาธารณสุข มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงในเชิงการบริหารนำเสนอต่อครม.และนายกฯต่อไป
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า นายกฯมีคำสั่งเพิ่มเติมให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบกองทุนสปสช. และการใช้งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมา ในแง่ความสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่อย่างไร โดยนายยงยุทธ จะเป็นผู้แต่งตั้งต่อไป
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายกฯมอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พิจารณาในรายละเอียดเนื้อหาการเตรียมออกคำสั่งดังกล่าวโดยละเอียดอีกด้วย เพื่อจัดระเบียบและแก้ปัญหาทั้งระบบเกี่ยวกับการบริหารจัดการในแต่ละกองทุนที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข
ครม.อนุมัติย้ายปปง.ขึ้นกับนายกฯ
หลังประชุมครม. พล.ต.สรรเสริญ แถลงว่า ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอสอดรับกับการที่ไทยเป็นสมาชิกคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อการดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (แฟตเอฟ) จึงต้องป้องกันไม่ให้มีวงจรของระบบการทำธุรกรรมการเงินของผู้ที่มีรายชื่อประกาศในแฟตเอฟ แต่ที่ผ่านมาไทยไม่มีกฎหมายเฉพาะ ทำให้กระบวนการล่าช้าต้องผ่านพิสูจน์ข้อเท็จจริงในศาล ซึ่งอาจไม่ทันกับเวลากับที่แฟตเอฟจะตอบโต้ ดังนั้น ไทยจึงต้องมีกฎหมายเฉพาะมาแก้ปัญหา ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง มีรายละเอียดกำหนดให้สำนักงานปปง. เป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของนายกฯ จากเดิมที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม
รบ.แจกจุลสารผลงานเม.ย.
นายอภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชา สัมพันธ์กล่าวกรณีนายกฯมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์จัดทำจดหมายข่าว "เพื่อประชาชน" เพื่อนำเสนอผลงานของรัฐบาลในด้านต่างๆ ให้ประชาชนรับทราบความคืบหน้าการทำงานของรัฐบาล ว่า กรมประชาฯได้นำตัวอย่างจดหมายข่าวเสนอให้ครม.รับทราบไปเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่อยู่ระหว่างปรับปรุงเนื้อหาและรูปแบบให้เป็นไปตามแนวทางที่นายกฯเสนอแนะแนวทาง คาดว่าจะเริ่มจัดพิมพ์และเผยแพร่จดหมายข่าวดังกล่าวเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน ภายในเดือนเม.ย.ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
บิ๊กตู่ขออย่าตื่นเรื่องเศรษฐกิจ
เวลา 14.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม. ว่า ในการประชุมมีกว่า 70 เรื่อง เป็นการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา รวมทั้งแนวทางใหม่ในการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้กระทรวงมหาดไทยเสาะหาพื้นที่ว่างเปล่าของหลวง อาจแก้ไขกฎหมายเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยใช้ส่งเสริม 3 เรื่องคือ 1.ส่งเสริมเศรษฐกิจบีโอไอในลักษณะนิคมอุตสาหกรรม 2.ให้เอกชนมาเช่าพื้นที่เพื่อบริหารจัดการให้เกิดการแข่งขัน 3.ส่งเสริม เอสเอ็มอีในพื้นที่ ให้เกิดความเข้มแข็ง คิดว่าดำเนินการในระยะที่ 1 ได้ภายในปีนี้เพื่อนำร่อง
นายกฯ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่รัฐบาลใช้งบลงทุนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ดีกว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มา เป็นไปตามเป้าเพราะมีการขับเคลื่อนในทุกส่วน คาดว่าจะได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ภาพรวมของเศรษฐกิจหากประชาชนตื่นตระหนกมากๆ ก็ไม่สามารถใช้จ่ายได้ แต่คนไทยยังไปเที่ยวต่างประเทศอยู่ ในฐานะนายกฯอยากให้ทุกคนช่วยกันใช้เงินในประเทศ และอย่าสร้างความตื่นตระหนกมากนัก
อนุมัติกู้ 5.7 หมื่นล.หวังกระตุ้นศก.
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการกู้เงินรวม 5.7 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 2.3 หมื่นล้านบาท และโครงการก่อสร้างถนน 3.4 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินกู้ไปบ้างแล้ว การอนุมัติงบประมาณนั้นเพื่อส่งเสริมให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการออกกฎหมายเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาว่า เห็นใจและเข้าใจ กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาแล้วว่าเป็นกิจการที่มีรายได้โดยไม่ได้เสียภาษี เงินที่เก็บภาษีไม่เท่าไร รัฐบาลต้องสร้างระบบภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น ไม่ได้เก็บมากอยู่แล้วแต่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
เก็บภาษีที่ดินต้องทำแน่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้ชะลอเพราะใครแต่ฟังเสียงประชาชนและกลับมาทบทวน ชะลอเพื่อทำความเข้าใจ สร้างการยอมรับ ปัญหาของเราคือไม่ค่อยให้การยอมรับกระบวนการเหล่านี้ แต่รัฐบาลต้องทำให้ได้ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็ต้องทำเพื่อปรับรูปแบบโครงสร้างภาษีให้ได้ผล
"รัฐบาลมันตูดขาดมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ไม่ใช่หรือ วันนี้เราบริหารทุกอย่างด้วยความประหยัดอดออม การกู้เงินทำแค่ที่จำเป็น ไม่ได้ทำใหญ่โต ทำตามแผนงานไป ถ้ามันเร่งต้องกู้ก็ว่ามา ถ้ามันเกินกรอบวงเงินก็ว่าไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เล็งหามาตรการแทนอัยการศึก
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการใช้กฎอัยการศึกว่า วันนี้เราลดการใช้ลงมามากแล้ว ใช้ดำเนินคดีในช่วงแรกๆ ตอนนี้ตนสั่งการให้การดำเนินคดีใช้กฎหมายปกติ แม้จะใช้กำลังเข้าสืบสวนสอบสวนจับกุมทันที แต่เวลาส่งศาลจะส่งไปศาลปกติ จะใช้ศาลทหารน้อยที่สุด เว้นแต่คดีร้ายแรง วันนี้อยากให้สบายใจเราลดระดับทุกอย่าง ถ้ามันสงบเรียบร้อยตนลดระดับให้ได้ กำลังหามาตรการ อื่นๆ อยู่
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลขับเคลื่อนทุกเรื่องเร่งทุกอัน เดี๋ยวจะสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น ฝากสื่อช่วยกันวันนี้เรามีวิกฤตอยู่ ทำไมไม่ทำวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างความเป็นหนึ่งเดียวของประชาชน นักการเมืองหรือใครที่ไม่เห็นด้วย หรือไม่อยากทำก็ปล่อยเขาไป ตนไม่สนใจ ตนสนใจคนที่ลำบาก สนใจอนาคตของประเทศ เยาวชนจะอยู่กันอย่างไร เพราะตนไม่ได้มาจากการเมือง ตนรู้ดี ไม่ต้องมาย้ำบ่อยๆ
"นักการเมืองบอกผมมาอย่างโน้นอย่างนี้ ก็ผมมาแบบนี้ เป็นคนตัดสินใจเข้ามาท่านไม่ได้เป็นคนเชิญ ผมเข้ามาเพราะท่านแก้ปัญหาไม่ได้ เข้ามาแก้ปัญหาที่ท่านหมักหมมไว้ ผมต้องตอบแบบนี้ เกรงใจกันมากมันก็ลำบาก แล้วก็มาลงที่ผมหมด ถ้ามันดีทำไมจะต้องมารื้อให้มันปวดหัว โดนว่าทุกวัน รู้ไปทั้งหมดคนโน้นคนนี้ อดีตรัฐมนตรีก็พูด ก็มายืนตรงนี้เช่นเดียวกับท่าน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
อ้างมีไว้กันคนไม่ดี
เมื่อถามว่า นายกฯระบุระหว่างการปฏิรูป ถ้านักการเมืองไม่เห็นด้วยก็ปล่อยไป นายกฯ กล่าวว่า การปฏิรูปต้องใช้ทั้งสนช.ในการออกกฎหมาย และสปช.ในการวางโครงสร้างปฏิรูปแต่ละเรื่อง ต้องแก้อย่างไร เพราะไม่ต้องการให้ปัญหาเก่าออกมาอีก ฉะนั้นทุกคนต้องยอมรับว่าปัญหาเก่าคืออะไร การทุจริตใช่หรือไม่ การบริหารราชการมีปัญหาใช่หรือไม่ การใช้งบประมาณไม่ทั่วถึงใช่หรือไม่ เรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ความขัดแย้ง แบ่งเป็นพวกเป็นฝ่าย ทั้งสองฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองดีทั้งคู่เพราะเป็นประชาธิปไตย
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้เราก็เป็นประชา ธิปไตย 90 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่มีตัวนี้ไว้กันคนไม่ดีเท่านั้น ถ้าไม่มีตัวนี้คนไม่ดีก็ทำแบบเดิม ถ้ามันดีทั้งหมดยอมรับกัน ร่วมมือกัน เปลี่ยนผ่านไปรัฐบาลหน้าถ้าทำได้ก็จบ ปฏิรูปก็เสร็จ ทำปีเดียวตนจะทำอะไรเสร็จ แก้ปัญหาหมักหมมทุกวัน เดินหน้าก็ติด วันนี้ต้องแก้ของเก่าเดินของใหม่ วางอนาคตวันข้างหน้า ความยากง่ายอยู่ตรงนี้
เตรียมย้ายข้าราชการอีกเพียบ
"เราต้องแก้รัฐธรรมนูญ จะเอาอย่างไร ครม.ที่เข้ามาใหม่ควรปรับปรุงตัวหรือไม่เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น หรือไม่ดีจะได้เขียนข่าวเยอะๆ ให้บ้านเมืองวุ่นวายเยอะๆ ชอบหรือ ผมอยากให้ไม่มีข่าว เดี๋ยวผมจะเลี้ยงดูเอง ดูแลนักข่าวเอง จะหางานให้ทำ จ้างเป็นแรงงานทำรางรถไฟ ดังนั้นเดี๋ยวมันดีขึ้น มีอาชีพเอง ขออย่าให้เป็นความขัดแย้ง ยกอันนี้มาตีกับอันนี้ ไอ้นี่ถามอย่าง ไอ้นี่ถามอีกอย่าง พอผมพูดผิดไปอย่างก็เอามาตีซ้ายขวา อย่างนี้ไม่เอาบ้านเมืองเสียหาย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่าขณะที่รัฐบาลเดินหน้าบริหารประเทศเช็กปฏิกิริยาข้าราชการว่าเดินไปด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เช็ก มีคณะกรรมการติดตาม เดี๋ยวจะพิจารณาเรื่องแต่งตั้งปรับย้ายอีกเยอะ หากเขาตั้งใจก็อย่าไปว่าเขา ต้องเข้าใจว่าที่ผ่านมาข้าราชการอยู่ในระบบการเมืองเลือกตั้งเข้ามานานพอสมควร ถ้าเขาทำดีก็ไม่มีปัญหา แต่อาจมีข้าราชการส่วนหนึ่งที่ทำไม่ดีและที่ไม่ดีคือคล้อยตามในเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งมีข้าราชการที่ถูกลงโทษเยอะ ถ้าคัดเลือกคนเข้ามาในระบบได้ดีจริงๆ ก็จะไม่มีเรื่องเหล่านี้ ปัญหาค้ามนุษย์ คดีอาวุธสงคราม จดทะเบียนแรงงานก็จะต้องไม่เกิด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่บอกว่าเลือกตั้งดีตนไม่ได้ปฏิเสธ แต่กระบวนการเลือกตั้งต้องจัดระเบียบกันใหม่ คัดเลือกคนอย่างไรไม่ให้เกิดสถานการณ์อย่างนั้นขึ้นอีก จะไปเขียนกันใครได้มากมายหรือไม่ มันไม่ได้ เป็นเรื่องข้อเท็จจริง ถึงบอกว่าข้าราชการการเมืองทุกคนที่จะเป็นการเมืองต่อในการคัดเลือกครั้งหน้าต้องยอมรับกติกาตัวนี้ ว่าบ้านเราต้องเปลี่ยนแปลง
แจงปมสหรัฐไม่ให้เข้าปท.
เมื่อถามว่า นายกฯจะไปร่วมประชุมสหประชาชาติ หรือยูเอ็นในเดือนก.ย.นี้หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ยูเอ็น เชิญให้ตนไปร่วมด้วยก็ต้องไป อเมริกาไม่เคยห้ามเป็นทางการ เขาเคยพูดไว้เดี๋ยวไม่เข้าใจเอาตนไปรบอีก วันนั้นที่ไปประชุมเห็นสหรัฐนั่งอยู่เต็มก็เลยแหย่เขาเล่น ว่าห้ามตนไปใช่ไหม เขาก็หัวเราะแหะๆ แล้วมาค้าขายกับตน ตนเคยห้ามหรือไม่เขาก็หัวเราะ เขาตัดเสื้ออย่างนี้ได้ไหม เขาก็แฮปปี้หมด เขารู้ เขาอยู่ แล้วสื่อมาเขียนให้เป็นประเด็นใหญ่โต ศักดิ์ศรีเกียรติยศของเรามีอยู่แล้วและทุกคนให้เกียรติเรา ถ้าไม่ให้เกียรติเขาคงไม่มา
"จริงๆ แล้ว เพียงต้องตรวจสอบอะไรหน่อย ไม่ได้ถือว่าห้าม 100 เปอร์เซ็นต์ วันนั้นที่ผมพูดแค่แหย่เขา บางคนบอกว่าผมเป็นนายกฯไม่ควรพูดแบบนั้น ต่อไปผมจะพูดแบบหน้างอทุกเรื่องอย่างเป็นทางการจะชอบหรือไม่ ผมเป็นปุถุชน ผมไม่มีอะไรปิดบัง ผมไม่ต้องสร้างภาพลักษณ์ตัวเองให้เป็นคนสุภาพ มีมาดเยอะแยะ ไม่จำเป็น"นายกฯกล่าว
ยันตอบทุกคำถามต่างชาติ
เมื่อถามว่ากลายเป็นว่าคำแหย่ของนายกฯตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองบางคน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ช่างเขา ตนไม่สนใจอยู่แล้ว เขาทำอะไรได้ดีกว่าหรือเปล่า นักการเมืองคนไหน วันนี้สื่อไล่บี้ถามตนก็ตอบสู้ทุกวัน เพราะจริงใจและไม่จำเป็นต้องระมัดระวัง เป็นคนไทยด้วยกัน ไม่ใช่คนต่างประเทศ เป็นคนที่รักชาติบ้านเมืองเหมือนตน ตนคิดอย่างนี้ ฉะนั้นไม่มีอะไรต้องปิดบัง เป็นตัวของตัวเอง
"เวลาผมไปต่างประเทศเห็นไปพูดเล่นกับใครหรือไม่ มาดผมก็ดีเหมือนกัน เท่ไหม เหนื่อยเหมือนกันทำท่าเท่ๆ ผมอยากพูดแบบสบายๆ คนไทยต้องพูดกันภาษาไทยๆ แต่เวลาต่างชาติผมก็รักษามาดของประเทศไทย นั่นแหละผมทำหน้าที่ของผม หรืออยากได้แบบนั้นก็ไม่รู้ ก็ไปรอรัฐบาลหน้า" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่านายกฯมั่นใจทุกครั้งที่ไปต่างประเทศ ไม่กลัวจะถูกถามเรื่องที่มาของ นายกฯและสถานการณ์ในบ้านเมือง นายกฯ กล่าวว่า เวลาไปต่างประเทศตนก็ตอบ กับเลขาฯยูเอ็นตนก็ตอบและอธิบายว่าเป็นอย่างไร ด้วยเหตุผล เขาบอกว่าให้เร็วๆ แล้วกัน ให้ลดแรงกดดัน เพราะมีแรงกดดันเยอะ ก็แก้อยู่ทั้งหมด ขอเวลากับเขา ก็โอเค ไม่ต้องกลัว ทำเพื่อคนไทยกลัวทำไม
'ป้าสังเวียน'เผาตัว-สิ้นใจแล้ว
จากกรณี นางสังเวียน รักษาเพ็ชร์ หรือป้าสังเวียน อายุ 52 ปี จุดไฟเผาตัวเองที่หน้าศูนย์บริการประชาชน (ชั่วคราว) ฝั่งสำนักงาน กพ. ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล หลังมาร้องเรียนเรื่องหนี้สินทางการเกษตร เมื่อต.ค. 2557 ก่อนเจ้าหน้าที่จะนำส่งโรงพยาบาลวชิระ
วันที่ 17 มี.ค. ที่โรงพยาบาลวชิระ นางจันทร์จ๋า ทองอร่าม ญาติของนางสังเวียน เผยว่านางสังเวียนเสียชีวิตอย่างสงบเมื่อเวลา 22.45 น. วันที่ 16 มี.ค. ด้วยอาการติดเชื้อ จึงมารับศพเพื่อนำกลับไปบำเพ็ญกุศล ตนและครอบครัวรู้สึกเสียใจแต่พอทำใจได้บ้าง เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมาแพทย์แจ้งว่าอาการน่าเป็นห่วง มีไข้สูงตลอดเวลาและไม่สามารถหายใจได้เองต้องใช้เครื่องช่วย ร่างกายบางส่วนปฏิเสธการปลูกถ่ายผิวหนังที่ทำไป จำนวนเม็ดเลือดขาวลดต่ำลงมาก จากนี้จะนำศพกลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดถลุงเหล็กน้อย ต.ถลุงเหล็ก อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี บ้านเกิด เป็นเวลา 3 คืน มีพิธีฌาปนกิจศพวันที่ 20 มี.ค.
นพ.พลเลิศ พันธุ์ธนากุล รองคณบดีฝ่ายบริการ ปฏิบัติหน้าที่ผอ.โรงพยาบาลวชิระ เผยว่า หลังเกิดเหตุทางร.พ.ได้รับนางสังเวียน มาดูแล พบอาการไฟไหม้อยู่ในระดับที่ 3 ทีมแพทย์ประคับประคองอาการ ดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง และจัดคนไข้แยกให้อยู่ในห้องปลอดเชื้อ นางสังเวียนรักษาตัวมาแล้ว 105 วัน ที่ผ่านมาคณะแพทย์รักษาแผลและประคองให้อาการเป็นปกติจนปลูกถ่ายผิวหนังได้ แต่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ตายมีอาการไข้สูงและมีอาการติดเชื้อรา แพทย์พยายามให้ยาปฏิชีวนะรักษาแต่ไม่เป็นผล และมีอาการทรุดลงจึงแจ้งอาการให้กับญาติของนางสังเวียนทราบเป็นระยะ กระทั่งเมื่อคืนที่ผ่านมาเกิดเชื้อแพร่เข้าสู่กระแสเลือด จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต
นพ.พลเลิศ กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเบื้องต้นเป็นเงิน 1.6 ล้านบาท แต่เนื่องจาก ร.พ.ให้ผู้ป่วยใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีอยู่ที่โรงพยาบาลในจ.ลพบุรี มาช่วยชำระค่ารักษาพยาบาล แต่มีตัวยาและอุปกรณ์บางส่วนที่นอกเหนือจากการคุ้มครองของประกัน ซึ่งทางร.พ.นำเงินที่มีผู้บริจาคเงินผ่านมูลนิธิวชิรพยาบาลมาช่วยเหลือบางส่วน
ฮิวแมนจี้รบ.ยุติจับกุมคนเห็นต่าง
วันที่ 17 มี.ค. ฮิวแมนไรต์วอตช์ กลุ่มเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ โดยกล่าวถึงการดำเนินคดีฐานละเมิดกฎอัยการศึกที่ห้ามการประกอบกิจกรรมทางการเมือง และห้ามการรวมกลุ่มเกิน 5 คน กับ 4 นักกิจกรรมอันประกอบด้วย นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ, นายอานนท์ นำภา, นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ และนายสิริวิชญ์ เสรีวิวัฒน์ โดยทั้ง 4 คน ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ซึ่งจำเลยจะไม่มีสิทธิอุทธรณ์ใดๆ ต่อคำพิพากษาของศาลแห่งนี้
นายแบรด อดัมส์ ผอ.ประจำภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรต์วอตช์กล่าวว่า รัฐบาลทหารต้องยุติการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างกับรัฐบาล ซึ่งใช้สิทธิแสดงความเห็นอย่างสันติ รวมทั้งต้องเลิกใช้ศาลทหารดำเนินคดีกับพลเรือนโดยทันที ไทยในฐานะประเทศสมาชิกในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือ ICCPR จึงมีภาระผูกพันต่อการสร้างกลไกเพื่อยืนยันสิทธิของพลเมืองที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม และรัฐบาลยังถูกห้ามมิให้ใช้ศาลทหาร พิจารณาคดีกับพลเรือนปราบใดที่ศาลยุติธรรมยังสามารถทำหน้าที่ได้เป็นปกติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะบุคคลผู้มีความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ ซึ่งคอยจับตาดูรัฐต่างๆ ว่าได้ปฏิบัติตามกติกาของ ICCPR หรือไม่ ได้แสดงความเห็นเรื่องสิทธิการได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมไว้ว่า การใช้ศาลทหารหรือศาลพิเศษอื่นใดดำเนินคดีกับพลเรือนอาจก่อปัญหาสำคัญๆ ทั้งเรื่องความยุติธรรม ความเป็นกลาง และความเป็นอิสระในการพิจารณาคดี ซึ่งศาลทหารของไทยก็มีปัญหาในส่วนนี้ เนื่องจากศาลทหารทุกแห่งของไทยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหม ซึ่งคสช.ถืออำนาจเหนืออยู่นับแต่การยึดอำนาจเมื่อเดือนพ.ค. 2557
นายอดัมส์ ยังกล่าวว่า การละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนในไทยยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน และคำสัญญาที่รัฐบาลทหารเคยให้ไว้ว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชนและคืนระบอบประชาธิปไตยให้กับประชาชนก็สวนทางกับการกระทำ