WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

โพลเตือนบิ๊กตู่เรตติ้งหด ปม'แก้ศก.'แต่ปลื้ม'คุมม็อบ-ลุยโกง'ประยุทธ์ถกยูเอ็นที่มะกัน บันคีมุน-อาเบะจี้คืนปชต. พันธ์ศักดิ์เดินพบตร.วันนี้ จี้คืนตัวพยาน'คดี 6 ศพ''ปู'แก้เคล็ดถวายพุทธรูป

 มติชนออนไลน์ : รำลึก - นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของนายสมาพันธ์ หรือเฌอ ศรีเทพ ที่ถูกยิงเสียชีวิตช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุม ปี 2553 จัดกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน" วางช่อกุหลาบพร้อมอ่านบทกวีเพื่อรำลึกถึงการจากไปของบุตรชาย ที่หมุดเฌอ บริเวณหน้าปากซอยราชปรารภ 18 แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กทม. ก่อนเดินเท้าไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม

ร่วมงานบุญ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมทำบุญยกฉัตรที่วัดศรีบุญเรือง ต.หนองหอย อ.เมืองเชียงใหม่ โดยมีประชาชนที่ไปร่วมทำบุญเข้ามาทักทายและขอถ่ายภาพอย่างคึกคัก เมื่อวันที่ 15 มีนาคม

      'พ่อน้องเฌอ'บอกจัดกิจกรรมแค่ปรับทุกข์ ชี้รัฐประหาร ทำคดีสลายม็อบปี'53 พลิก 'ไก่อู'ยัน รบ.ไม่หวั่นกลุ่มพลเมืองโต้กลับเคลื่อนจะเป็นกระแสสังคม วอนให้ยุติ เผย'บิ๊กตู่'ไม่อยากขยายให้เป็นเรื่องใหญ่ แต่คุยไม่รู้เรื่องต้องจัดการ บันคีมุน-อาเบะจี้ไทยคืนปชต. ปูถวายพระพุทธรูปเท่าอายุ

@ 'สปช.'เล็งแก้ร่างรธน.รายมาตรา

       เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่อาคารรัฐสภา 2 คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดสัมมนา "การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง" มีตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วม อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตย และภาคประชาชน 

      นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวเปิดการสัมมนาว่า คณะ กมธ.ปฏิรูปการเมืองยังมีความเห็นหลายสิ่งที่ไม่เห็นพ้องกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และทักท้วงไปหลายประเด็น 

     "เดือนเมษายนร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกจะเข้าสู่การพิจารณาของ สปช.จะมีเวลาแสดงความคิดเห็น 10 วัน ขณะนี้ สปช.เตรียมแปรญัตติเพื่อขอแก้ไขในแต่ละมาตราแล้ว" นายดิเรกกล่าว

@ 'จุรินทร์'แนะร่างรธน.ยึด 3 หลัก

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมได้เปิดให้ตัวแทนพรรคการเมืองแสดงความคิดเห็น นายจุรินทร์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรจะมีหลัก 3 ประการ คือ 1.ต้องมีผลพัฒนาประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ระยะยาวได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะกิจ 2.อะไรที่เคยเป็นบทเรียน สร้างปัญหามาแล้วในอดีตจะต้องไม่นำกลับมาใช้อีก เพราะจะถอยหลังเข้าคลอง และ 3.การเขียนรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องใหม่ทุกเรื่อง อะไรเก่าแต่ดีควรเก็บไว้ 

      "ทั้งนี้ เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯมีเจตนาดี แต่ควรรับฟังฝ่ายปฏิบัติและคำนึงถึงโลกความเป็นจริงด้วย ไม่เช่นนั้นจะเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งเน้นทฤษฎีมากเกินจริง" นายจุรินทร์กล่าว

     นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า การกำหนดให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองนั้น ตัวอย่างในอดีตมีให้เห็นว่าสุดท้ายกลายเป็นผู้สมัครอิสระขายตัว จนนำไปสู่การปฏิวัติตัวเอง  พอมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 ออกแบบให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งมากเกินไป จนเกิดช่องว่างของรัฐธรรมนูญที่ไปเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหาร เกิดการกินรวบประเทศ ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ดูเหมือนการร่างรัฐธรรมนูญรอบนี้จะสร้างอำนาจให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากขึ้นอีก อีกทั้งยังกังวลในประเด็นที่ให้สภาต้องยุบไปด้วย หากนายกรัฐมนตรีถูกลงมติไม่ไว้วางใจ เห็นว่าควรต้องทบทวน

@ ชี้โอเพ่นลิสต์ทำการเมืองวุ่นวาย

      นายจุรินทร์ กล่าวว่า การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจพิเศษเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ได้ โดยให้สภาได้ยื่นญัตติอภิปรายนายกฯภายใน 48 ชั่วโมง ถ้าไม่ยื่น ถือว่ากฎหมายนั้นผ่านสภา ยิ่งกว่าการออกอภิมหาพระราชกำหนดเสียอีก อาจจะมีผู้ที่ประสงค์มีวาระพิเศษ ใช้ช่องทางนี้เสนอ พ.ร.บ.ที่อาจเป็นปัญหาต่อไปได้ 

      "ส่วนการถอดถอนจากเดิม ที่ให้ ส.ว.เป็นผู้ถอดถอน แต่ครั้งนี้ที่เขียนให้ 2 สภาร่วมกันถอดถอน ถ้าตั้งรัฐบาลด้วยเสียง 226 เสียง นายกฯและคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะไม่มีวันถูกถอดถอน อย่างไรก็ตามการกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเป็นแบบโอเพ่นลิสต์ จะกลายเป็นให้คนเลือกคน แทนคนเลือกพรรค ทำให้พรรคเดียวกันต้องแข่งกันเอง เพื่อที่จะทำอย่างไรให้ได้คะแนนสูงสุด สุดท้ายระบอบการเมืองจะสับสนวุ่นวาย ทะเลาะกันเอง ทำลายพรรคการเมืองกันเองและประชาชนจะรับไม่ได้" นายจุรินทร์กล่าว

@ สมศักดิ์หนุนเลือกตั้งแบบญี่ปุ่น

       นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การจัดการเลือกตั้งควรทำแบบประเทศญี่ปุ่น คือให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการการเลือกตั้งทั้งหมด ส่วนการถอดถอนวุฒิสภา ไม่ควรถอดถอนเพราะวุฒิสภาไม่มีคุณภาพ ควรจะให้เป็นหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ดำเนินการ วุฒิสภาเพียงแค่ยกมือและถอดถอน ทำแบบนี้ไม่ยุติธรรม ฝากไปยัง กมธ.ยกร่างฯด้วย

@ 'สุจิต'ย้ำได้รธน.ใหม่ปลายปีྲྀ 

       นายสุจิต บุญบงการ รองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวระหว่างเปิดการสัมมนา "สานพลังนักธุกิจในการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ" ที่รัฐสภาว่า ความเห็นจากทุกภาคส่วน จะเป็นข้อมูลคู่ขนานกับข้อเสนอแนะของ สปช.ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับการจัดทำบันทึกเจตนารมณ์ร่างรัฐธรรมนูญโดยละเอียด เพื่อให้เกิดความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญที่ตรงกันต่อผู้นำไปปฏิบัติ ทั้งฝ่ายการเมือง และเมื่อเกิดการตีความ

     "ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญร่างแรกจะต้องแล้วเสร็จในวันที่ 17 เมษายน คาดว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ในปลายปี 2558 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจะเสร็จในปี 2559" นายสุจิตกล่าว

       นายสุจิต กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการสร้างฐานประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็ง เพราะที่ผ่านมาประชาชนยังไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ 

      "ยืนยันว่าไม่มีแนวคิดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกจากการเมือง แต่ต้องการให้ทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม โดยจะมีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เป็นกลไกควบคุมการเมืองให้ใสสะอาด นักการเมืองทำตามกฎหมายและมีจริยธรรมควบคู่กัน อีกทั้งต้องการกระจายพรรคการเมืองเข้าสู่สภา ไม่ใช่พรรคการเมืองเดียวเช่นที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนนักการเมืองในสภาไม่ใช่ตัวชี้วัดความเข้มแข็งของพรรคการเมือง แต่เป็นความเข้มแข็งของเจ้าของพรรคการเมืองมากกว่า" นายสุจิตกล่าว

@ 'คำนูณ'ปัดจัดเวทีดีเบตรธน.

      นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกมาท้า กมธ.ยกร่างฯ ให้ดีเบตกับพรรคการเมืองเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญว่า การร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องที่จะมาดีเบตกัน โต้เถียงกันว่าใครแพ้ใครชนะใครถูกใครผิด หากใครไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญควรออกมาชี้แจงผ่านสาธารณะหรือจะทำหนังสือถึง กมธ.ยกร่างฯก็ได้ 

      "กมธ.พร้อมที่จะชี้แจงทุกข้อสงสัย อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ยังไม่ใช่ร่างสุดท้าย ยังสามารถแก้ไขและปรับปรุงได้ หากใครเห็นว่าตรงไหนไม่เหมาะสมก็ส่งความเห็นมาได้เลย พร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น ไม่ได้คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของเราถูกต้องทั้งหมด" นายคำนูณกล่าว

       นายคำนูณ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะสมบูรณ์ไม่มีการแก้ไขก็ต่อเมื่อผ่านวันที่ 23 กรกฎาคมไปแล้ว เพราะช่วงระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม-23 กรกฎาคม จะเป็นช่วง 60 วัน สุดท้ายของการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ช่วงนี้จนถึง 30 มีนาคม จะเป็นช่วงทบทวนและปรับถ้อยคำเท่านั้น หลังจากนั้นจะส่งร่างฯให้ สปช.อภิปรายและยื่นคำขอแก้ไข และส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช.ได้พิจารณาด้วย ทั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก น่าจะได้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างมาก 

     "หลังจากนั้นหากมีจุดไหนที่ สปช. ครม.และ คสช. ยื่นคำขอแก้ไขปรับปรุงมา กมธ.ยกร่างฯก็จะเอามาพิจารณาร่วมกับข้อมูลความเห็นของประชาชนและปรับปรุงให้มีความเหมาะสมมากที่สุด" นายคำนูณกล่าว

@ 'ปธ.กสม.'เล็งถก'วิษณุ'อีกรอบ

       นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กล่าวกรณีการสรรหา กสม.ชุดใหม่แทน กสม.ชุดเก่าที่จะครบวาระในเดือนมิถุนายนนี้ว่า แม้จะมีการยืนยันว่า กสม.สามารถดำเนินการสรรหากรรมการชุดใหม่ได้ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 48/2557 โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีที่เคยดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2550 มองว่าถ้าทำอย่างนั้นจะทำให้ได้องค์ประกอบกรรมการสิทธิฯตามที่เป็นอยู่นี้ จึงต้องการสอบถามให้ชัดเจน เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงสร้างกรรมการสรรหาในปี 2550 มีปัญหา ในแง่คุณสมบัติของกรรมการสรรหาค่อนข้างจะกระจุก ไม่กระจายเพราะประกอบด้วยข้าราชการ 5 คน นักการเมือง 2 คน จึงถูกองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศเห็นว่าส่วนประกอบของกรรมการสิทธิฯที่ออกมาไม่เป็นไปตามหลักการปารีส 

        "ดังนั้น นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม.จะเข้าหารือกับนายวิษณุ เพื่อสอบถามความชัดเจนอีกครั้ง" นพ.นิรันดร์กล่าว และว่า อยากให้ความเห็นว่าถ้ายังให้สรรหาตามกรอบรัฐธรรมนูญ 2550 กรรมการสิทธิฯที่จะออกมาจะถูกวิจารณ์ในแง่ที่ไม่เป็นไปตามหลักการปารีส หรือแม้กระทั่งล่าสุดคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังให้ความเห็นว่าโครงสร้างกรรมการสรรหามีปัญหา ทำให้ถูกเป็นหลักพิจารณาในการลดเกรด กสม.ได้ จึงอยากให้มีความชัดเจนก่อนจะสรรหา กสม.ใหม่ 

@ พท.ห่วงโอเพ่นลิสต์ทำพรรคอ่อนแอ

นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงเนื้อหาร่างแรกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างทบทวนว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงว่าการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่จบเท่านี้ สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้นั้น คงต้องรอดู แต่ถ้ากระบวนการเป็นไปอย่างที่ทำกันอยู่ โดยไม่มีการแก้ไข เชื่อว่าจะสร้างความสับสนให้ประชาชนได้

นายอุดมเดชกล่าวว่า การกำหนดให้ ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ขณะที่ระบบโอเพ่นลิสต์ พูดเหมือนให้อำนาจประชาชนเป็นผู้กำหนดลำดับของระบบบัญชีรายชื่อ แต่ความเป็นจริงจะเกิดปัญหาในการรณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะในอดีตประชาชนไว้วางใจพรรคการเมือง แต่ปัจจุบันกลับต้องดูตัวบุคคลที่อยู่ในพรรคการเมือง จะเกิดปัญหาภาคนิยม จังหวัดนิยม มากยิ่งขึ้น กลายเป็นว่าคนที่มีโอกาสอยู่ในบัญชีรายชื่ออยู่จังหวัดหรือภาคไหน จะต้องระดมคนในจังหวัดหรือภาคนั้นๆ ให้เลือกตัวเอง มากกว่าจะช่วยหาเสียงในระบบพรรค

"ระบบโอเพ่นลิสต์จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายพรรคการเมือง ทำให้พรรคไม่เข้มแข็ง หวังว่าสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดไว้ว่าอย่ากังวลกับร่างรัฐธรรมนูญ จะเกิดขึ้น ขอให้ฟังเสียงประชาชนด้วย เชื่อว่าถ้าฟังเสียงประชาชน จะได้คำตอบเหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ตัดสินใจชะลอร่างกฎหมายภาษีที่ดิน อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตรงนี้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหมือนที่สั่งชะลอกฎหมายภาษีที่ดินด้วย" นายอุดมเดชกล่าว

@ ติงรธน.แก้ยากหมกเม็ดหรือไม่

ส่วนกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่วางกฎก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา ไม่เช่นนั้นก็จะแก้รัฐธรรมนูญง่ายเกินไป วันๆ ไม่ต้องทำอะไรแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว จะนำไปสู่วิกฤตเหมือนที่ผ่านมานั้น นายอุดมเดชกล่าวว่า ต้องถามว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างมานั้นดีและเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่ 

"หากร่างดีและเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ ไม่ต้องกังวลกับคนที่ไปแก้ เพราะคนเป็น ส.ส.ต้องฟังเสียงประชาชน ถ้าทำสิ่งที่ขัดกับความรู้สึกของประชาชนก็จะสะท้อนกับสถานะความเป็น ส.ส.ในสมัยต่อไป ที่เขียนให้แก้ยากเพราะกลัวว่าเขาจะไปแก้สิ่งที่ตัวเองตั้งใจจะให้เกิดใช่หรือไม่ ยิ่งเขียนให้รัฐธรรมนูญแก้ไขยาก ยิ่งทำให้มีคนตั้งข้อสังเกตกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ามีอะไรหมกเม็ดอยู่หรือไม่" นายอุดมเดชกล่าว และว่า แนวคิดที่กรรมาธิการจะทำเพลงรัฐธรรมนูญของประชาชนเพื่อสร้างความสนใจและกระตุ้นการรับรู้ของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ไม่ทราบ ไม่มีความเห็น

@ 'อ๋อย'ชี้รธน.ใหม่ส่อขัดแย้งกว่าเดิม

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ว่า การร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างมีหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง ทั้งการกำหนดกติกาให้คนนอกมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี ผลสุดท้ายไม่นานหลังจากการเลือกตั้ง จะได้คนนอกเข้าเป็นนายกฯ ที่บอกว่ามีวิกฤตก็ให้คนนอกเป็นนายกฯ ต้องถามว่าวิกฤตที่ว่าคืออะไร หากเปรียบกับวิกฤตที่ก่อนการรัฐประหาร สามารถเกิดได้ง่ายและจะอยู่ในกำมือขององค์กรอิสระ ฝ่ายตุลาการและฝ่ายกองทัพ ร่วมกันรับรองการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ก็กลายเป็นการชุมนุมที่เห็นชอบโดยรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นวิกฤตที่รัฐบาลมาจากเลือกตั้งไม่สามารถแก้ไขได้

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ส่วนระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมที่ต้องการได้รัฐบาลผสมแล้วสร้างความปรองดองนั้น คนพูดน่าจะมีความรู้ด้านประวัติการเมืองไทยอยู่บ้างแต่อาจแกล้งลืม เพราะไทยเคยมีรัฐบาลผสมมาหลายครั้ง มีปัญหามากในเรื่องนโยบาย ตกลงกันไม่ค่อยได้ เพราะมีปัญหาแก่งแย่งกันเป็นแกนนำหรือเป็นนายกฯ ขณะเดียวกันระบบถ่วงดุลที่ร่างกันออกมา ไม่ใช่เป็นการปรับปรุงเรื่องการถ่วงดุล เพราะจะยิ่งเสียหายกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 สูญเสียการถ่วงดุลไปมาก ดังนั้นที่ กมธ.ยกร่างฯบอกว่าได้ให้อำนาจพลเมือง ทั้งหมดจึงเป็นที่หลอกต้มกันชัดๆ นอกจากนี้ยังเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นชนวนการเพิ่มความขัดแย้งครั้งใหม่และขัดแย้งมากกว่าเก่า

@ หวังสนช.รอบคอบถอด250ส.ส.

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดอดีต 250 ส.ส. เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ว่า พร้อมไปชี้แจง เพราะทำตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 291 ในนามสมาชิกรัฐสภาที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ นอกจากนี้ยังมีเอกสิทธิ์ตามมาตรา 130 ที่ใครจะนำไปฟ้องร้องอะไรไม่ได้ เหมือนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีมาตรา 18 รองรับว่าบุคคลใดจะนำไปฟ้องร้องมิได้ 

"ไม่กังวลอะไรเพราะคิดว่า สนช.รู้ว่าอะไรควร ไม่ควร ที่ผ่านมาได้ลงมติให้อดีต ส.ว.หลุดพ้นจากการเว้นวรรคทางการเมือง อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังไม่ได้บังคับใช้ ไม่มีผลได้เสียอยู่แล้ว เราทำตามกฎหมาย" นายอำนวยกล่าว และว่า ที่อดีต ส.ว.ไม่ถูกถอดถอนในประเด็นนี้นั้น เพราะ สนช.เป็นผู้ใหญ่เยอะ ควรคิดได้ว่าอะไรถูก อะไรควร อย่างไรก็ตามหาก สนช.เข้าใจการทำหน้าที่ ส.ส.ว่าสามารถแก้ไขกฎหมายได้ มีเอกสิทธิ์รับรอง สนช.ก็ไม่สามารถลงมติถอดถอนได้

@ 'รบ.'ขอยูเอ็นแก้ความไม่เท่าเทียม

เวลา 13.00 น. ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปผลการเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 (3WCDRR) ระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเซนได ประเทศญี่ปุ่น ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามคำเชิญของนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่านายกฯขอให้ยูเอ็นพิจารณาในประเด็นความไม่เท่าเทียมที่เป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เกษตรกรรม และประเทศอุตสาหกรรม 

"หลายประเทศในอาเซียนมีรายได้หลักจากสินค้าเกษตรที่ขณะนี้มีราคาตกต่ำ นายกฯจึงเสนอให้สหประชาชาติเห็นความสำคัญของการช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตร เพื่อช่วยลดช่องว่างและเพิ่มความสามารถในการร่วมมือกับนานาประเทศ ในการช่วยลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติได้ด้วย" ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าว

@ ยูเอ็นหวังไทยยึดโรดแมปสร้างปชต.

ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า เลขาธิการยูเอ็นได้สอบถามความคืบหน้าในการดำเนินการตามโรดแมป และเชื่อว่าไทยจะประสบความสำเร็จในการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันหวังว่าจะเห็นพัฒนาการการเมืองในไทยเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่วางไว้ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถคงบทบาทที่เข้มแข็งในการสนับสนุนภารกิจในกรอบสหประชาชาติได้มากขึ้น 

"เลขาธิการยูเอ็นได้เชิญนายกฯเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ.2015 และการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในเดือนกันยายนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย" ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าว

@ อาเบะย้ำให้'บิ๊กตู่'เร่งจัดเลือกตั้ง

เว็บไซต์ไมนิจิอ้างรายงานของสำนักข่าวเกียวโดว่า นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตกลงที่จะเร่งหารือในระดับทวิภาคีพัฒนาโครงการรางรถไฟความเร็วสูงในไทยระหว่างการหารือนอกรอบในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เมืองเซนได เมื่อวันที่ 14 มีนาคม

เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ในการพูดคุยเป็นเวลา 40 นาที รัฐบาลญี่ปุ่นแสดงความต้องการที่จะร่วมมือในโครงการรางรถไฟอย่างมั่นใจ หลังเมื่อเดือนที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศเพิ่งร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ที่จะพัฒนาเส้นทางรถไฟ 3 สาย รวมถึงเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ด้วย

เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นกล่าวว่า นายอาเบะกระตุ้นให้รัฐบาลไทยยกเลิกการควบคุมการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นเนื่องด้วยความกังวลใจเรื่องสารปนเปื้อนภายหลังเกิดวิกฤตนิวเคลียร์ใน จ.ฟุกุชิมะ เมื่อปี 2554 ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลไทยกำลังเร่งพิจารณาผ่อนคลายมาตรการควบคุมการนำเข้าและหวังว่าจะมีข่าวดีให้กับญี่ปุ่นเร็วๆ นี้ และนายอาเบะยังกล่าวเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ให้ไทยเร่งสร้างความก้าวหน้าอย่างมั่นคงในกระบวนการประชาธิปไตย รวมถึงให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

ทั้งนี้ การหารือระหว่างนายอาเบะและ พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นการพบกันเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 เดือน นับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤษภาคม

@ ตร.ตั้งรับ'พลเมืองโต้กลับ'

เวลา 06.00 น. วันเดียวกัน ที่บริเวณหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำรวจกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 (บก.น.2) และ สน.บางซื่อ 1 กองร้อย (150 นาย) พร้อมรถควบคุมผู้ต้องหา 1 คัน เข้าดูแลรักษาความเรียบร้อย หลังมีกระแสข่าวว่านายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ อายุ 46 ปี บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2553 พร้อมสมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ จะเดินทางมาจัดกิจกรรมรำลึกถึงนายนวมทอง ไพรวัลย์ บริเวณจุดที่เสียชีวิตและจะเดินเท้าไปที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ระหว่างนั้นนายวัชรินทร์ ศิลปดิษฐ อายุ 49 ปี นำแผ่นป้ายที่ด้านหนึ่งเขียนข้อความว่า "พอเถอะครับ ให้ประเทศได้พักผ่อนบ้าง" อีกด้านเขียนว่า "นายกฯเป็นใครไม่สน แต่ประชาชนจะไม่ทน ถ้าเลือกตั้งมาโกงชาติ ผลาญแผ่นดิน" มายืนถือที่บริเวณประตูทางเข้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

นายวัชรินทร์กล่าวว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ชุมนุมกลุ่มไหน แต่ที่มาเนื่องจากเห็นข่าว จึงมาแสดงความคิดเห็นแบบประชาชนคนหนึ่งที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำรวจเข้ายึดแผ่นป้ายจนเกือบเกิดเหตุการณ์ชุลมุน แต่ภายหลังทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าเจรจาจนนายวัชรินทร์ยอมมอบป้ายให้ และเดินทางกลับไปโดยไม่มีการจับกุมแจ้งข้อหาแต่อย่างใด

@ ย้ายจัดกิจกรรม'ราชปรารภ'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมวันที่ 2 ภายใต้ชื่อ "พลเมืองรุกเดิน เมื่อความยุติธรรมไม่มา ก็เดินหน้าไปหามัน" โดยนัดหมายผ่านทางเฟซบุ๊กให้รวมตัวกันที่บริเวณสะพานลอยใกล้สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งเป็นจุดที่นายนวมทอง ไพรวัลย์ เสียชีวิตเมื่อปี 2549

กระทั่งเวลา 07.45 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่ายังไม่พบกลุ่มพลเมืองโต้กลับมาจัดกิจกรรมเเต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามกำหนดการจะใช้เส้นทาง นสพ.ไทยรัฐ-สามเหลี่ยมดินแดง-หมุดเฌอ-ซอยรางน้ำ-ถนนโยธี-อนุสาวรีย์ชัยฯ-ตึกชัย ถนนราชวิถี-สวนสัตว์ดุสิต-รัฐสภา-หมุดคณะราษฎร 2475-ราชดำเนินนอก-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย-สภาทนายความ-ก่อนจะไปสิ้นสุดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจัทนร์

กระทั่งเวลา 08.30 น. นายพันธ์ศักดิ์ไปเริ่มกิจกรรมที่บริเวณ ถนนราชปารภ ใกล้กับซอยรางน้ำ เมื่อผู้สื่อข่าวเดินทางไปถึง พบนายพันธ์ศักดิ์ในชุดเสื้อสีขาว สกรีนข้อความ "คนจนไม่ใช่คนอื่น" พร้อมช่อดอกกุหลาบขาว นั่งอยู่บริเวณป้ายรถเมล์ตรงข้ามปั๊มเชลล์ กระทั่งในเวลา 09.00 น. นายพันธ์ศักดิ์เดินไปยังหมุดน้องเฌอ หรือบริเวณที่นายสมาพันธ์เสียชีวิตจากกระสุนปืน ในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553

@ ชี้รัฐประหารทำคดีปีཱพลิก

นายพันธ์ศักดิ์กล่าวว่า จุดนี้ในปี 2553 เป็นจุดที่อยู่นอกเขตการใช้กระสุนจริงของทหาร เเต่จากการพิสูจน์หลักฐานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุชัดเจนว่า น้องเฌอเสียชีวิตจากกระสุนปืนที่มาจากทหารซึ่งเรื่องดังกล่าวยังไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเนื่องจากมีการทำรัฐประหารเสียก่อนในปี 2557

"ไม่ใช่เเค่น้องเฌอเท่านั้นที่เสียชีวิต เเต่ผู้โชคร้ายอีกคนซึ่งอยู่บนชั้น 24 ของคอนโดฯฝั่งตรงข้ามถูกยิงเช่นกัน การเสียชีวิตของทั้งคู่สะท้อนให้เห็นว่า เเม้ไม่ได้มาร่วมชุมนุมเเละอยู่นอกเขตการใช้กระสุนจริง ก็ตายได้เหมือนกัน" นายพันธ์ศักดิ์กล่าว

จากนั้นนายพันธ์ศักดิ์ได้อ่านบทกวีในชื่อ เด็กหนุ่มเเละฉันจะไม่เรียกเธอว่าวีรชน เมื่อกล่าวจบได้วางช่อดอกกุหลาบพร้อมกับบทกลอนลงข้างๆ หมุดเฌอด้วยสีหน้าเรียบเฉย ก่อนเดินเท้าไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินเท้าของนายพันธ์ศักดิ์ไม่มีการขัดขวางจากตำรวจเเต่อย่างใด เเต่มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องเเบบติดตามตลอดการเดินทาง ระหว่างทางมีนิสิต นักศึกษา เเละประชาชนนำดอกกุหลาบมามอบเป็นกำลังใจ

@ เผยจัดกิจกรรมแค่คุยปรับทุกข์ 

เวลา 10.30 น. นายพันธ์ศักดิ์เดินทางมาถึงบริเวณหมุดคณะราษฎร ก่อนกล่าวว่า ขอคารวะคณะราษฎรในฐานะผู้เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย

"ถ้าประเทศไม่มีประชาธิปไตย เท่ากับไม่มีเสรีภาพในการเเสดงออกเเละเเสดงความคิดเห็น ถ้าทุกคนคิดเหมือนกันทั้งหมด ใส่เสื้อสีเดียวกัน ไซซ์เดียวกันทั้งหมด เเบบนั้น มันไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งเเม้เราจะคิดเเตกต่างกันเเต่เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ" นายพันธ์ศักดิ์กล่าว

เวลา 12.45 น. นายพันธ์ศักดิ์เดินทางถึง มธ. เข้าพบกับผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสถานที่ ภายในอาคารกองบริการศึกษา โดยสื่อมวลชนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป

นายพันธ์ศักดิ์กล่าวว่า เข้าชี้เเจงรายละเอียดการทำกิจกรรมต่อผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสถานที่ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการสื่อสารผิดพลาด ทาง มธ.คิดว่าจะจัดกิจกรรมเสวนา เเต่จริงๆ เเล้วไม่ใช่ ตนเเละนักศึกษาเเค่จะมานั่งรับลม ปิกนิก ปรับทุกข์ พูดคุยในประเด็นต่างๆ ไม่ได้มีหัวข้อหลักที่เเน่ชัด ตั้งวงพูดคุยกลุ่มละไม่เกิน 5 คน และได้รับปากกับผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสถานที่ว่าจะสลายตัวไปก่อนฟ้าจะมืด เนื่องจากมีความกังวลในเรื่องอันตราย

นายพันธ์ศักดิ์กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกมาที่ ม.ธรรมศาสตร์ เนื่องจากเห็นว่าที่นี่เป็นหมุดหมายประชาธิปไตย

จากนั้นนายพันธ์ศักดิ์เดินไปเคารพอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์

@ ยัน16มี.ค.เข้าให้การกับตร.

นายพันธ์ศักดิ์กล่าวว่า การทำกิจกรรมคือการไปรายงานตัวยัง สน.ปทุมวัน ยังทำเช่นเดิม เมื่อวันที่ 14 มีนาคม คาดว่าเป็นความเข้าใจผิดที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไป โดยเจ้าหน้าที่เเจ้งกับตนว่า เกรงว่าจะเกิดอันตรายจากมือที่สามเเละเกรงว่าจะมีมวลชนคนอื่นมาร่วมด้วยเกิน 5 คน เมื่อถูกนำตัวไปยัง สน.ปทุมวัน ก็ยืนยันว่าจะให้ปากคำตามกำหนดการเดิมคือในวันที่ 16 มีนาคม 

"สาเหตุที่เเจ้งความกลับต่อตำรวจในความผิดตามมาตรา 157 309 เเละ 310 นั้นต้องการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคมเห็นถึงสิทธิเสรีภาพ ซึ่งสังคมควรได้เรียนรู้จากเรื่องนี้" นายพันธ์ศักดิ์กล่าว

@ แห่ร่วมกิจกรรมกลุ่มพลเมืองฯ

เวลา 16.00 น. ที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกลุ่มนักศึกษา เเละประชาชน ทยอยมารอร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ประมาณ 70-80 คน กระจัดกระจายจับกลุ่มพูดคุยกัน บ้างก็เล่นดนตรีรอบบริเวณ โดยขอความร่วมมือไม่ให้รวมกลุ่มเกิน 5 คน และให้กิจกรรมดำเนินไปด้วยความสงบ 

โดยมีผู้เข้าร่วม อาทิ นายปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในอาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ น.ส.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายสิรวิชญ์ เสรีวิวัฒน์ หรือ นิว เลขาธิการกลุ่มสภาหน้าโดม นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มธ. น.ส.นัชชชา กองอุดม นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ รวมถึง "แชมป์ 1984" ถูกควบคุมตัวและได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน กรณีกิจกรรมดูหนังเดอะฮังเกอร์เกมส์ โดยตำรวจนอกเครื่องเเบบเฝ้าสังเกตการณ์อย่างต่อเนื่อง

@ ยันเดินทางพบตร.ปทุมวัน

นายพันธ์ศักดิ์กล่าวว่า เวลา 06.00 น. วันที่ 16 มีนาคม จะทำบุญตักบาตร ในโอกาสครบรอบวันเกิด 22 ปีของน้องเฌอ โดยนิมนต์พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ วัดสร้อยทอง พร้อมสามเณร 4 รูปจากวัดสร้อยทอง เวลา 07.00 น. จะเป็นการเทศนาของพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ เวลา 08.00 น. ตนพร้อมนายอานนท์ นำภา นายสิรวิชญ์ และนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ผู้ต้องหาความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. รวมทั้งคดีอื่นๆ ที่จะเป็นการนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหาร จะออกเดินเท้าไปยัง สน.ปทุมวัน คาดว่า จะถึงในเวลา 09.00 น. ทั้งนี้ ในการต่อสู้คดีนั้นประเมินไม่ได้ว่าจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ แต่ได้เตรียมตัวเตรียมใจเรียบร้อย ภรรยาก็เดินทางไปต่างประเทศแล้ว

@ ไม่มั่นใจได้ประกันตัว

"พวกเราเข้าใจว่าศาลทหารควรใช้กับทหารในยามสงคราม ไม่ควรใช้กับพวกเรา แต่ไม่เป็นไร ถ้านายกรัฐมนตรียืนยันว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่การปรองดองสมานฉันท์ การยัดคนเห็นต่างเข้าคุกก็สุดแท้แต่ท่าน" นายพันธ์ศักดิ์กล่าว และว่า ขอให้ติดตามกิจกรรมในวัน 16 มีนาคมอาจมีเซอร์ไพรส์

นายวรรณเกียรติกล่าวว่า วันที่ 16 มีนาคมทุกคนจะได้ทราบว่าพวกตนจะมีอิสรภาพอยู่หรือไม่ เนื่องจากเป็นไปได้ว่าอัยการจะส่งฟ้องและนำคดีขึ้นสู่ศาลทหารทันทีโดยไม่ได้รับการประกันตัว เเละการเดินเท้าอาจเป็นการใช้เสรีภาพครั้งสุดท้าย

นายสิรวิชญ์กล่าวว่า เตรียมใจไว้เหมือนกัน ทั้งหมดเกินความคาดหมายของชีวิตกับการขึ้นศาลด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง ทั้งที่ผ่านมาต่อสู้ด้วยเเนวทางสันติวิธีมาโดยตลอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการจัดเเสดงดนตรีในสวน พลเมืองรุกเดิน ที่ลานปรีดี โดยนายสิรวิชญ์ขับร้องเพลง คืนความสุข คัฟเวอร์เวอร์ชั่น เเละนายพันธ์ศักดิ์ขับร้องเพลง "ตาสว่าง" ของศิลปินโมเดิร์นด็อก

@ 'บิ๊กตู่'ลั่นคุยไม่รู้เรื่องต้องจัดการ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดกิจกรรมของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ว่า รัฐบาลไม่ได้เป็นห่วงว่าจะเกิดเป็นกระแสสังคมส่งผลให้กลุ่มที่เห็นต่างออกมาเคลื่อนไหว ทั้งนี้จากที่ฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มดังกล่าวคือ ต้องการความเป็นธรรมในสังคม 

"ยืนยันว่าขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลและ คสช.ทำไม่มีอะไรเลยที่ออกไปนอกกรอบกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือคดีทางแพ่ง ทางอาญา ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายทั้งหมด ความยุติธรรมในสังคมมีอยู่แล้ว ดังนั้นกลุ่มพลเมืองโต้กลับต้องกลับไปทบทวนใหม่ว่าอะไรที่ไม่ยุติธรรม" พล.ต.สรรเสริญกล่าว และว่า การเรียกร้องเรื่องพลเรือนขึ้นศาลทหาร นั้นทั้งเจ้ากรมพระธรรมนูญทหาร โฆษกกระทรวงกลาโหม โฆษก คสช. ได้อธิบายความหมดแล้วว่า ไม่เหมือนกับคดีทั่วไป แต่เป็นเรื่องของการบ่อนทำลายชาติ ใช้อาวุธสงครามมาก่อเหตุ จาบจ้วงดูหมิ่นสถาบัน แต่กระบวนการของศาลทหารและศาลทั่วไปไม่ต่างกันเลย

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ขอให้หยุดเถอะ ขอให้เข้าใจถึงสถานการณ์บ้านเมือง เจ้าหน้าที่พยายามพูดคุยทำความเข้าใจ แต่ถ้าพูดคุยแล้วยังไม่ได้ ต้องยึดเอาประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง จริงๆ เจ้าหน้าที่ไม่อยากดำเนินคดี เพราะโทษจะรุนแรง พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่า ไม่อยากขยายเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นการจัดการต้องทำแบบแนบเนียน แต่ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง แล้วจะเป็นเหตุนำไปสู่ความขัดแย้งอีกก็ต้องจัดการ

@ โพลชี้88%เชื่อรบ.คุมม็อบได้

"สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง ปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่น "รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์" จากสถานการณ์ปัจจุบัน เรื่องของความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลค่อนข้างผันแปรไปตามสถานการณ์หรือผลงานต่างๆ ของรัฐบาลที่ทำเพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนได้ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!