WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8874 ข่าวสดรายวัน


โวยกักตัวพยาบาล พยานคดี ยิง 6 ศพวัดปทุม 
ทนายยื่นคสช.ให้ปล่อย เลขาฯยูเอ็นจี้ซ้ำรบ.ไทย ยึดโรดแม็ปที่ประกาศ สปช.จ่อแก้รธน.เพียบ


บุกถึงบ้าน - น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา พยาบาล อาสา พยานคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ปี 2553 ถูกทหารบุกควบคุมตัวจากบ้านพักใน จ.สมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ล่าสุดทนายความเข้าพบ คสช. เพื่อขอเยี่ยมตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว 

        กลุ่มนักกฎหมายอาสาฯ จี้คสช.ปล่อยตัวพยาบาลสาวพยานปากสำคัญคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ญาติเผยมีชายแต่งชุดทหาร บุกมาพาไปจากบ้านตั้งแต่ 11 มี.ค. ด้าน 'พ่อน้องเฌอ'วางดอกไม้-อ่านบทกวีรำลึกการจากไปของลูกชาย เหยื่อสลายการชุมนุมปี"53 ก่อนเดินรณรงค์ต้านพลเรือนขึ้นศาลทหาร ต่อเนื่องวันที่สอง 'บัน คีมุน'จี้รัฐบาลไทยยึดโรดแม็ป เชิญ'บิ๊กตู่'ร่วมประชุมสมัชชายูเอ็นเดือนก.ย. กมธ.ปฏิรูปการเมืองเห็นต่างกมธ. ยกร่างหลายเรื่อง รอแปรญัตติรธน.ในชั้นสปช. 'ปู'โผล่เชียงใหม่ ร่วมพิธีทำบุญยกช่อฉัตรวัดศรีบุญเรือง

พ่อเฌอรำลึกลูกชาย-เดินเท้าต่อ 

      เวลา 08.30 น. วันที่ 15 มี.ค. ที่หมุดเฌอบริเวณหน้าปากซอยราชปรารภ 18 แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กทม. นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของนายสมาพันธ์ หรือเฌอ ศรีเทพ นักกิจกรรมทางสังคม เหยื่อกระสุนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม 2553 เดินทางมาวางช่อกุหลาบสีขาวพร้อมอ่านบทกวีเพื่อรำลึกถึงการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของบุตรชาย 

       จากนั้นเดินเท้าไปที่มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน เมื่อความยุติธรรมไม่มา ก็เดินหน้าไปหามัน" เป็นวันที่ 2 ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ โดยใช้เส้นทางซอยรางน้ำ-ถนนโยธี-ถนนพระราม 6-ถนนศรีอยุธยา-หยุดพักทำกิจกรรมที่หมุดคณะราษฎร 2475-ถนนราชดำเนินนอก-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย-สภาทนายความ พักค้างคืนที่ม.ธรรมศาสตร์ 

      ตลอดระยะการเดินทางมีประชาชนนำช่อกุหลาบสีแดงมอบให้เป็นกำลังใจ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.พญาไท ขับรถสายตรวจติดตามอำนวยความสะดวกเพื่อเฝ้าระวังมือที่ 3 อาจเข้ามาก่อความวุ่นวายจนเกิดการทะเลาะวิวาทกันได้ โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้าควบคุมตัวนายพันธ์ศักดิ์แต่อย่างใด ซึ่งตลอดการเดินทางเป็นไปด้วยความเรียบร้อย 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 16 มี.ค. นายพันธ์ศักดิ์ และกลุ่มจะตักบาตรที่ลานปรีดี ในม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา 07.00 น. เพื่อรำลึกครบรอบวันเกิดครบรอบ 22 ปีของน้องเฌอ ที่ถูกยิงเสียชีวิตที่ซอยรางน้ำปี 2553 โดยมีพระมหาไพรวัลย์ วรวณโณ พระนักคิดนักเขียนจากวัดสร้อยทอง มาบรรยายธรรมะเรื่องเสรีภาพ ภราดรภาพ และความเสมอภาค ท่ามกลางฝุ่นควันและความขัดแย้ง ก่อนเดินเท้าไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ปทุมวันในเวลา 09.00 น. 

ไก่อูฮึ่ม! พูดไม่รู้เรื่องจัดการแน่ 

     พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ รัฐบาลไม่ได้เป็นห่วงว่าจะเกิดเป็นกระแสสังคมส่งผลให้กลุ่มที่เห็น ต่างออกมาเคลื่อนไหว จากที่ฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มดังกล่าวคือ ต้องการความเป็นธรรมในสังคม ยืนยันขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ทำไม่มีอะไรเลยที่ออกไปนอกกรอบกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือคดีทางแพ่ง ทางอาญา ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายทั้งหมด ความยุติธรรมในสังคมวันนี้มีอยู่แล้ว ดังนั้นกลุ่มพลเมืองโต้กลับต้องกลับไปทบทวนใหม่ว่าอะไรที่ไม่ยุติธรรม ส่วนการเรียกร้องเรื่องพลเรือนขึ้นศาลทหาร เรื่องดังกล่าวทั้งเจ้ากรมพระธรรมนูญทหาร โฆษกกระทรวงกลาโหม โฆษกคสช. ได้อธิบายความหมดแล้วว่า ไม่เหมือนกับคดีทั่วไป แต่เป็นเรื่องของการบ่อนทำลายชาติ การใช้อาวุธสงครามมาก่อเหตุ ทั้งการจาบจ้วงดูหมิ่นสถาบัน แต่กระบวนการของศาลทหารและศาลทั่วไปก็ไม่ต่างกันเลย

       "ขอให้หยุดเถอะ ขอให้เข้าใจถึงสถาน การณ์บ้านเมืองวันนี้ เจ้าหน้าที่พยายามพูดคุยทำความเข้าใจ แต่ถ้าพูดคุยแล้วยังไม่ได้ เราต้องยึดเอาประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง จริงๆ เจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากดำเนินคดี เพราะโทษจะรุนแรง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ย้ำว่า ไม่อยากขยายเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นการจัดการต้องทำแบบแนบเนียน แต่ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง แล้วจะเป็นเหตุนำไปสู่ความขัดแย้งอีกก็ต้องจัดการ"

โวยพยาน 6 ศพวัดปทุมฯ หายตัว

       วันเดียวกัน นายวิญญัติ ชาติมนตรี กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน(กนส.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุ ขอเรียกร้องให้คสช. หรือทหารที่เกี่ยวข้องกับการคุมตัวน.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือน้องแหวน พยาบาลอาสาสมัคร พยานปากสำคัญในคดี 6 ศพวัดปทุมฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ปล่อยตัวน้องแหวนทันที เนื่องจากกนส.ทราบข้อมูลถึงการหายไปอย่างชัดเจน โดยมีทหารในเครื่องแบบ 2 นายและนอกเครื่องแบบ 3 นาย มาควบคุมตัวน้องแหวน ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่บ้านพัก ต.แพรกษา จ.สมุทร ปราการ การคุมตัวไปไม่มีหมายจับและหมายค้นอ้างใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ตอนนี้ยังไม่ทราบที่คุมตัวหรือวัตถุประสงค์ที่กลุ่มทหารได้กระทำการเช่นนั้น

      นายวิญญัติ ระบุว่า ขอให้คสช.และทหารที่เกี่ยวข้องกับการคุมตัวชี้แจงถึงการดำเนินการดังกล่าว เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างน่าวิตกอย่างมาก ต่อสิทธิความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ และขอให้ผู้เกี่ยวข้องปล่อยตัวน้องแหวนในทันที โดยวันที่ 16 มี.ค. เวลา 10.00 น. กนส.ในฐานะทนายความสิทธิมนุษยชนจะติดตามสถานะความเป็นอยู่และขอเข้าเยี่ยมตามสิทธิของผู้ถูกจับ ตามป.วิ.อ.มาตรา 7/1 ซึ่งจะอ้างกฎอัยการศึกไม่ได้ หรือจะอ้างก็ต้องมีความชัดเจนในวัตถุประสงค์ที่ต้องชอบธรรมและให้เคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ของประชาชนด้วย

      นายวิญญัติ กล่าวว่า ตอนแรกตนเห็นในเฟซบุ๊กกลุ่มคนที่ทำงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม มีการแชร์ให้ช่วยตามหาน้องแหวน เนื่องจากถูกทหารจับตัวไป จึงตรวจสอบไปทางญาติที่เป็นลูกพี่ลูกน้องก็ยืนยันว่าเป็นความจริง ส่วนที่ญาติไม่แจ้งความเพราะกลัวเรื่องความปลอดภัย ตนในฐานะนักกฎหมายเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้จะใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก แต่ต้องใช้โดยเคารพสิทธิประชาชนและสิทธิมนุษยชน ตามป.วิ.อ. มาตรา 7/1 ซึ่งต้องแจ้งว่าเขาอยู่ที่ไหน สถานภาพเป็นอย่างไร ต้องให้สิทธิได้พบญาติและได้รับการปรึกษาจากทนาย วันที่ 16 ก.พ.จะไปติดตามสถานะความเป็นอยู่ของผู้ถูกจับที่กองบัญชาการคสช.

ญาติยันชายแต่งทหารพาไป

      ลูกพี่ลูกน้องของน.ส.ณัฏฐธิดาเผยว่า วันเกิดเหตุแหวนมาพักที่บ้านตน และบอกว่ามีคนโทรศัพท์ติดต่อขอซื้อที่ดิน จึงนัดหมายมาที่บ้านตน จากนั้นเวลาประมาณ 15.30 น. ก็มีทหารในเครื่อง 2 นาย และนอกเครื่องแบบ 3 นายเข้ามาหา บอกว่าใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกจึงไม่จำเป็นต้อง มีหมายเรียก ถ้าไม่ผิดอะไรก็จะปล่อยตัวภายใน 7 วัน และให้นำเสื้อผ้าติดตัวไปด้วย โดยไม่ได้บอกว่าจับข้อหาอะไร ไม่แจ้งว่านำตัวไปที่ไหนและไม่ให้ถ่ายรูป ด้วยความกลัวจึงไม่กล้าไปแจ้งความ 

       ส่วนเพื่อนชายของน.ส.ณัฏฐธิดากล่าวว่า ตนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะแหวนถูกจับตัว แต่ทราบจากลูกพี่ลูกน้องของแหวนว่ามีทหารมาจับตัวไป หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็น่าจะปล่อยตัวภายใน 7 วัน ตั้งแต่คบกันมาแหวนเป็นพยาบาลอาสาที่เข้าไปช่วยเหลือคนทุกกลุ่มเวลาชุมนุม ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงหรือกลุ่มอื่นๆ คิดว่าถ้าเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามข้อเท็จจริง แหวนคงไม่มีความผิด เพราะเขาไม่ได้ทำอะไร ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาแจ้งอะไรเลยกระทั่งถูกจับกุมดังกล่าว ส่วนการติดตามตัวคงต้องปรึกษากับทนายที่จะไปพบกับคสช.


หมุดเฌอ - นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ วางช่อกุหลาบสีขาวพร้อมอ่านบทกวีรำลึกการจากไปของ "น้องเฌอ"นายสมาพันธ์ ศรีเทพ ลูกชาย ที่ "หมุดเฌอ" จุดที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายม็อบพ.ค. 53 บริเวณปากซอยราชปรารภ 18 กทม. เมื่อวันที่ 15 มี.ค.

        ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และโฆษก คสช. ปฏิเสธว่ายังไม่ทราบเรื่องขอตรวจสอบก่อน ก่อนจะวางสาย

"ปู"ร่วมพิธียกช่อฉัตร

        เวลา 09.59 น. ที่วัดศรีบุญเรือง ต.หนองหอย อ.เมืองเชียงใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานร่วมกันในพิธียกช่อฉัตรขึ้นสู่พระเจดีย์ของวัดศรีบุญเรือง โดยมี พระครูสุเทพสิทธิคุณ หรือตุ๊พันเทวา เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง ทำพิธีทางฝ่ายสงฆ์ และมี พระสงฆ์มาร่วมพิธีจำนวน 9 รูป ร่วมด้วยนางมณฑาทิพย์ ชินวัตร พี่สาว และบรรดาเครือญาติ เพื่อเป็นสิริมงคล ระหว่างการทำบุญได้รับความสนใจจากชาวเชียงใหม่ ขอถ่ายรูปคู่และให้กำลังใจจำนวนมาก ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์มีสีหน้าสดชื่นยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา 

      ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พิธีดังกล่าวสงฆ์และแกนนำชาวบ้านที่เชิญน.ส.ยิ่งลักษณ์ มาร่วมเป็นประธานต้องขออนุญาตทหารถึง 3 ครั้ง เพื่ออธิบายเหตุผลว่าการจัดงานไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและชาวเชียงใหม่ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ในงานมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเชียงใหม่ นำโดย พ.ต.อ.ปิยะพันธ์ ภัทรพงศ์สินธุ์ ผกก.สภ.จราจรเชียงใหม่ ซึ่งปั่นจักรยานโบราณมาในชุดชาวบ้าน มาคอยสังเกต การณ์ และตำรวจชุดสืบสวน สภ.แม่ปิง และจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของภาค 5 มาร่วมสังเกตการณ์และคอยอำนวยความสะดวก 

ขออนุญาตคสช.ก่อนเดินทาง 

       เมื่อเสร็จภารกิจที่วัดแล้วน.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมพี่สาวเดินทางไปที่ร้านวนัสนันท์ เพื่อเลือกซื้อของฝาก อาทิ น้ำพริกหนุ่ม แกงเผ็ดเป็ดย่าง ซึ่งบรรจุในแพ็กเกจที่สวยงาม และมีการพัฒนาวิธีการปรุงให้รับประทานได้ง่ายขึ้น โดยให้ความสนใจข้าวซอยกึ่งสำเร็จรูปเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นอาหารที่ชื่นชอบ จากนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางจาก จ.เชียงใหม่กลับถึง กทม.ช่วงบ่ายวันที่ 15 มี.ค.นี้ 

       ผู้สื่อข่าวรายงานการเดินทางครั้งนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แจ้งความเคลื่อนไหวให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้รับทราบว่าจะเดินทางไปพักผ่อนร่วมกับครอบครัวที่ จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา 3 วัน โดยออกจาก กทม.ช่วงเย็นวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา การเดินทางครั้งนี้ คสช.และหน่วยงานความมั่นคงไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามความเคลื่อนไหวจนเป็นข่าวครึกโครมเหมือนที่ผ่านมา 

เลขาฯ ยูเอ็นจี้รบ.ยึดโรดแม็ป 

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสาระสำคัญการหารือระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กับนายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ภายหลังการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 ที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวแสดงความยินดีกับยูเอ็นและรัฐบาลญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในการจัดการประชุมครั้งนี้ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่เคยประสบภัยพิบัติขนาดใหญ่จากสึนามิและ น้ำท่วม และยังให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประเทศที่ประสบเหตุภัยพิบัติ จึงต้องการร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศในการส่งสัญญาณต่อโลก เพื่อร่วมมือกันลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยต้องคำนึงถึงความสามารถและข้อจำกัดของแต่ละประเทศเพื่อไม่ให้ส่งผลกลายเป็นภาระของสหประชาชาติ 

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า นอกจากนี้ นายกฯ ขอให้พิจารณาในประเด็นความไม่เท่าเทียมซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศเกษตรกรรมกับประเทศอุตสาหกรรม ขณะนี้หลายประเทศในอาเซียนซึ่งมีรายได้หลักจากสินค้าเกษตร มีปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ พล.อ.ประยุทธ์จึงเสนอให้ยูเอ็นเห็นความสำคัญของการช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตรเพื่อช่วยลดช่องว่าง และเพิ่มความสามารถในการร่วมมือกับนานาประเทศ ประเทศไทยยินดีร่วมมือกับยูเอ็นลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และสิ่งที่ไทยดำเนินการอยู่ขณะนี้ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็สอดคล้องกับแนวความคิดของยูเอ็น 

ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า เลขาธิการยูเอ็นสอบถามถึงความคืบหน้าการดำเนินงานตามโรดแม็ปของรัฐบาล เชื่อว่าไทยจะประสบความสำเร็จในการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน และหวังว่าจะเห็นพัฒนาการการเมืองในไทยเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่วางไว้ เพื่อให้ไทยคงบทบาทที่เข้มแข็งในการสนับสนุนภารกิจในกรอบยูเอ็นได้มากยิ่งขึ้น ช่วงท้ายของการพูดคุยเลขาฯ ยูเอ็นกล่าวเชิญนายกฯ เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี 2015 (United Nations Summit for the adoption of the post 2015 development agenda) และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติในเดือนก.ย.นี้ด้วย 

พิจิตรขึ้นป้ายต้านย้ายปลัดสธ. 

ส่วนกรณีคำสั่งย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรียังมีความเคลื่อนไหวคัดค้านจากประชาคมสาธารณสุข โดยแพทย์ พยาบาล ลูกจ้างโรงพยาบาลพิจิตรไม่พอใจอ้างว่าไม่เป็นธรรม ร่วมกันทำป้ายไว้อาลัยต่ออำนาจการเมืองขนาดใหญ่ 10 x 12 เมตร ขึ้นป้ายสีขาวดำไว้หน้าตึกผู้ป่วยโรงพยาบาลพิจิตร ข้อความ "ถึงชาวมหิดล เอาปลัด (คนดี) ของเราคืนมา เอาอธิการบดี (?) ของท่านคืนไป ไม่เอาอำนาจการเมือง" แต่หลังจากขึ้นป้ายเจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังรักษาความสงบจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ สั่งให้โรงพยาบาลพิจิตรแก้ข้อความดังกล่าวให้เหมาะสม ไม่ให้แตกแยก และไม่ให้เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยให้เป็นเรื่องภายใน 

นอกจากนี้ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่และลูกจ้างโรงพยาบาลพิจิตร มีมติร่วมกันแต่งกายชุดดำมาทำงานเพื่อไว้อาลัยต่ออำนาจการเมืองไปจนถึงสิ้นมี.ค.นี้

ยื่นสอบปปช.จ้างสภาทนาย 

นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ สมาชิกสปช. และกมธ.ปฏิรูปการป้องกัน ปราบปราม การทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวกรณีป.ป.ช.อ้างมีอำนาจจ้างสภาทนายให้ฟ้องดำเนินคดีแทนได้ว่า ตนจะทำหนังสือส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อแจ้งเหตุผลให้แต่ละหน่วยงานทราบว่าประธานป.ป.ช. อ้างเหตุผลที่ฟังไม่ได้ เพราะการว่าจ้างทนายความต้องใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้น ป.ป.ช.จะต้องปฏิบัติตาม การอ้างว่าการว่าจ้างเป็นไปตามระเบียบของป.ป.ช. น่าจะฟังไม่ได้

"ผมจะส่งเรื่องนี้ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เพื่อขอให้สตง.ใช้อำนาจหน้าที่แจ้งให้ป.ป.ช.เปิดสัญญาว่าจ้างทุกคดี หลักฐานการจ่ายค่าจ้าง รวมถึงภาษีหัก ณ ที่จ่ายของทุกคดีที่ว่าจ้างสภาทนายความดำเนินคดี ทั้งที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองและศาลชั้นต้นในทุกคดี เพื่อให้สาธารณชนได้ทราบว่าค่าว่าจ้างทั้งหมดนั้นเป็นจำนวนเงินที่ชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ เพราะสืบทราบว่ามีเหตุอันควรเชื่อโดยสุจริตว่าป.ป.ช.ว่าจ้างสภาทนายความ ในแต่ละคดีเป็นจำนวนเงินที่สูงมากและไม่น่าจะโปร่งใส ดังนั้น เมื่อพิจารณาเหตุผลต่างๆ การที่กรรมการป.ป.ช.เรียกร้องขอให้ต่ออายุราชการจึงไม่มีเหตุผลเพียงพอ สิ่งที่ทักทวงเพราะต้องการให้ป.ป.ช.เป็นแบบอย่างของความซื่อสัตย์ สุจริต" นายบัญชากล่าว

สปช.รอแปรญัตติร่างรธน. 

เวลา 09.00 น. ที่อาคารรัฐสภา 2 คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) จัดสัมมนา "การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง" โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาชนเข้าร่วม 

นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ขณะนี้รัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จแล้ว มีทั้งหมด 315 มาตรา ยังมีหลายสิ่งที่ยังไม่เห็นพ้องกับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยเดือนเม.ย.ร่างรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่การพิจารณาของสปช. มีเวลาในการแสดงความคิดเห็นเป็นรายมาตราถึง 10 วัน สปช.เตรียมแปรญัตติในแต่ละมาตราแล้ว ซึ่งข้อเสนอต่างๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อแสดงความคิดเห็นในวันนี้แล้วก็สามารถเสนอเป็นเอกสารได้ โดยกมธ.ปฏิรูปการเมืองจะนำเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯต่อไป

จากนั้นเปิดให้ตัวแทนพรรคการเมืองแสดงความคิดเห็น นายจุรินทร์ ลักษณ วิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเข้าลักษณะ 3 ประการคือ 1.ต้องมีผลพัฒนาประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ระยะยาวได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะกิจ 2. อะไรที่เคยเป็นบทเรียน สร้างปัญหามาแล้วในอดีตต้องไม่กลับย้อนยุค นำกลับมาใช้อีก ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นถอยหลังเข้าคลอง และ 3.การเขียนรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องใหม่ทุกเรื่อง อะไรที่ใหม่แล้วไม่ดีกว่าเก่าก็ไม่ควรจะเอาใหม่ อะไรที่เก่าแต่ดีก็ควรเก็บไว้ เรามีรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ซึ่งมีจุดอ่อน ควรปิดช่องว่างกำจัดจุดอ่อนให้เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญใหม่ก็น่าจะเป็นที่ยอมรับของประชาชน เชื่อว่ากมธ.ยกร่างฯ มีเจตนาดีแต่ควรรับฟังฝ่ายปฏิบัติและคำนึงถึงโลกความเป็นจริงด้วย ไม่เช่นนั้นจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เน้นทฤษฎีมากเกินจริง

ปชป.จวกเขียนปกป้องนายกฯ 

นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องการกำหนดให้ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองนั้น ตัวอย่างในอดีตมีให้เห็นว่าการกำหนดแบบนี้สุดท้ายก็กลายเป็นผู้สมัครอิสระขายตัว จนนำไปสู่การปฏิวัติตัวเอง แล้วการเมืองก็ไปไม่ได้ พอมาถึงรัฐธรรมนูญปี 40 ออกแบบให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งเกินไปจนเกิดช่องว่างของรัฐธรรมนูญ ที่ไปเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหาร เกิดการกินรวบประเทศ คอร์รัปชั่น อย่างมโหฬาร จนทำให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 50 และดูเหมือนการร่างรัฐธรรมนูญรอบนี้จะย้อนกลับไปเพื่อการสร้างอำนาจให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากขึ้นอีก โดยเฉพาะการกำหนดว่า หากนายกรัฐมนตรีถูกลงมติไม่ไว้วางใจ สภาต้องยุบไปด้วยทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด หลักการนี้กมธ.ยกร่างฯ ต้องทบทวน เพราะเป็นการเขียนไว้เพื่อปกป้องนายกฯ ทำให้อภิปรายไม่ไว้วางใจได้ยากขึ้น เพราะต้องแลกกับการยุบสภา

"การกำหนดให้นายกฯมีอำนาจพิเศษ 

เสนอพ.ร.บ.ไว้วางใจได้ สามารถระบุว่าถ้ากฎหมายที่เสนอเข้าสภาเป็นกฎหมายที่ไว้วางใจนายกฯ ก็ให้สภายื่นญัตติอภิปราย นายกฯภายใน 48 ชั่วโมง ถ้าไม่ยื่นถือว่ากฎหมายนั้นผ่านสภา เรื่องนี้เป็นยิ่งกว่าการออกอภิมหาพระราชกำหนดอีก อาจจะมีผู้ที่ประสงค์มีวาระพิเศษใช้ช่องทางนี้เสนอ พ.ร.บ.ที่อาจเป็นปัญหาทำให้การเมืองและระบบการเมืองเดินต่อไปไม่ได้ในอนาคต นี่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง" นายจุรินทร์เปรียบเทียบ 

นายจุรินทร์กล่าวว่า ในส่วนการถอด ถอนจากเดิม ที่ให้ส.ว.เป็นผู้ถอดถอน แต่ครั้งนี้เขียนให้ 2 สภาร่วมกันถอดถอน ตนเข้าใจว่าอาจเป็นเพราะไปกำหนดให้ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม ดังนั้น การถอด ถอนถ้าจำนวนส.ส.และส.ว.ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 650 เสียง เสียงถอดถอนต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งคือ 326 เสียง ประเด็นอย่างนี้ ถ้าตั้งรัฐบาลด้วยเสียง 226 เสียง นายกฯ และครม.จะไม่มีวันถูกถอดถอนได้เลย ไม่ว่าจะทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างไร เพราะมีเสียงข้างมากกันไว้ และการให้สภาผู้แทนฯถอดถอนได้ ถ้าเกี่ยวกับคนในสภาหรือครม.จะเป็นการให้แต้มต่อกับรัฐบาล

"โอเพ่นลิสต์"ทำลายพรรค

นายจุรินทร์กล่าวว่า ส่วนการกำหนดให้การเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นแบบโอเพ่น ลิสต์ จะกลายเป็นให้คนเลือกคน แทนคนเลือกพรรค เพราะไม่มีช่องไหนให้ประชาชนเลือกพรรค จะเกิดผลทำให้พรรคเดียวกันต้องแข่งกันเอง เพื่อจะทำอย่างไรให้ได้คะแนนสูงสุด สุดท้ายระบอบการเมืองจะสับสนวุ่นวาย ทะเลาะกันเอง ทำลายพรรคการเมืองกันเอง พรรคการเมืองจะมีปัญหามาก ส่งผลให้สับสน ประชาชนรับไม่ได้ ตนไม่อยากเห็นการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อีก ดังนั้น ทำอย่างไรให้การเมืองมีความเข้มแข็ง ตรวจสอบถ่วงดุล ประชาชนเข้มแข็ง เพื่อประโยชน์ระยะยาว ซึ่งเราต้องต่อยอดจากรัฐธรรมนูญเดิม และจะทำอย่างไรที่จะกำจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น อาจมีการกำหนดเงื่อนเวลาการพิจารณาคดี เพื่อให้ทันกับการยับยั้งและเยียวยา นอกจากนี้ มีข้อเสนอจากบรรดาตัวแทนพรรคการเมืองขนาดเล็กและกลุ่มประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยขอให้ยกเลิกประกาศคสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรค การเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองจัดกิจกรรมทางการเมืองได้ เพราะมีความใกล้ชิดกับประชาชนจึงจะสามารถสะท้อนความต้องการของประชาชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ และยังเสนอให้กองทุนพัฒนาพรรค การเมืองสนับสนุนเงินให้แก่พรรคการเมืองของภาคประชาชน มากกว่าอุดหนุนพรรค การเมืองที่มีนายทุนหรือกลุ่มทุนดูแล รวมทั้งเสนอให้มีการออกกฎหมายให้มีการคุ้มครองพยานในคดีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้งทุกระดับ อีกทั้งเสนอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีอำนาจยับยั้งโครงการของรัฐบาลที่ส่อสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติและประชาชนด้วย

ทำบันทึกเจตนารมณ์รธน. 

จากนั้นนายสุจิต บุญบงการ รองประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา "สานพลังนัยจิตกธุกิจในการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ" ว่าความเห็นจากทุกภาคส่วนจะเป็นข้อมูลคู่ขนานกับข้อเสนอแนะของสปช.ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับจัดทำบันทึกเจตนารมณ์ร่างรัฐธรรมนูญโดยละเอียด เพื่อให้เกิดความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญที่ตรงกันต่อผู้นำไปปฏิบัติทั้งฝ่ายการเมือง และเมื่อเกิดการตีความ 

นายสุจิตกล่าวว่า รัฐธรรมนูญร่างแรกจะต้องแล้วเสร็จช่วงหลังสงกรานต์ในวันที่ 17 เม.ย. และคาดว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ในปลายปี 2558 และมีพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จในปี 2559 วัตถุประสงค์หลักของร่างรัฐธรรมนูญต้องการสร้างฐานประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็ง เพราะที่ผ่านมาประชาชนยังไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ยืนยันว่าไม่มีแนวคิดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกจากการเมือง แต่ต้องการให้ทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม โดยจะมีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เป็นกลไกควบคุมการเมืองให้ใสสะอาด นักการเมืองทำตามกฎหมายและมีจริยธรรมควบคู่กัน อีกทั้งต้องการกระจายพรรค การเมืองเข้าสู่สภา ไม่ใช่พรรคการเมืองเดียวเช่นที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนนักการเมืองในสภาก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดความเข้มแข็งของพรรค การเมือง แต่เป็นความเข้มแข็งของเจ้าของพรรคการเมืองมากกว่า

3ข้อเสนอภาคเอกชน 

นายสุจิตกล่าวว่า ความเห็นต่อรัฐธรรม นูญที่นักธุรกิจพึงปรารถนาต้องการให้มี 

3 ประการคือ 1.ส่งเสริมและการคุ้มครองการค้าเสรีและธุรกิจเอกชน เสนอให้แยกองค์กรกำกับควบคุมดูแลออกจากหน่วยงานกำกับนโยบายและผู้ประกอบกิจการ และลดบทบาทรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชนโดยตรง แต่ไม่รวมการแข่งขันเพื่อสาธารณูปโภคพื้นฐาน 2.บัญญัติถึงสิทธิหน้าที่ บทบาทของภาคประชาชน ความรับผิดชอบและการไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น อย่างการชุมนุมรวมตัวของกลุ่มต้องไม่กระทบกับภาคเศรษฐกิจ เสนอออกกฎหมายกำหนดบทลงโทษผู้ที่ละเมิดสิทธิผู้อื่นอย่างเข้มงวด และต่อเจ้าหน้าที่รัฐหากไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 3.ให้คำนึงถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การต่อต้านทุจริต การสร้างอนาคตประเทศ และบัญญัติคุณสมบัติที่มาของนักการเมือง โดยเสนอให้มีการปฏิรูประบบเก็บภาษี โดยสำรวจใหม่และขยายฐานการเก็บภาษี ส่วนเรื่องที่กระทบต่อสิทธิประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรองรับไว้ต้องผ่านประชาพิจารณ์ และให้มีการทบทวนแนวทางปฏิรูปทุก 5 ปี ตลอดจนกำหนดให้มีจำนวนพรรคการเมืองไม่เกิน 33% ความเห็นบางส่วนก็มีความสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้

พีระศักดิ์ค้านสว.ลากตั้งยกชุด 

ที่โรงแรมหรรษา เจบี อ.หาดใหญ่ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. เป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตรกระบวนการเสริมสร้างผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม มีผู้นำจากภาคราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา ศิลปินพื้นบ้านในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วม เพื่อชี้แจงถึงสถานการเมืองและการปฏิรูปประเทศว่าอยู่ในช่วงไหน และนำเป็นส่วนเสริมสภาปฏิรูปฯ ครม. และคสช.

นายพีระศักดิ์เผยว่า ขณะนี้ทุกภาคส่วนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนะการออกกฎหมายมากขึ้น พร้อมจะรับฟังและนำเสนอต่อรัฐบาลให้กฎหมายออกมามีประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนทุกกลุ่ม 

ภารกิจของแม่น้ำ 5 สายคือนำประเทศไปสู่การเลือกตั้งและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกครั้ง สนช. คณะรัฐมนตรี(ครม.) สปช. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และคสช. ไม่ได้แยกจากกันเด็ดขาด ทุกองค์กรมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือการนำประเทศให้เกิดความสงบสุข สร้างกติกาของประเทศเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปในอนาคต ทั้ง 5 องค์กรมีการพบปะกันทุกเดือน ประเด็นที่กมธ.บางคนเสนอให้ถอดถอนสิทธิ์แม่น้ำทั้ง 5 สายนั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วย รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 กำหนดให้กมธ.ยกร่างต้องเว้นวรรค 2 ปี แต่ในส่วนของสนช.ไม่สมัคร แต่คสช.คัดเลือก ไม่มีการตั้งกติกาไว้ก่อนแล้วทำไมต้องมาตั้งกติกาขึ้นมาใหม่ แต่หากรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไร สนช.ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปก็ยินดีปฏิบัติตามนั้น เช่นเดียวกับประเด็นที่มีของส.ว.ที่ให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมทั้งหมด ตนแสดงความคิดว่าส่วนหนึ่งต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในแต่ละพื้นที่ หากถูกตัดออกจากระบบก็จะขาดการเชื่อมโยงกับประชาชน

แกนพท.ค้านเว้นวรรค

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเสียงวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ อาจมีส่วนทำให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคตหากไม่มีการปรับแก้เนื้อหาบางประเด็น ว่า ทราบว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าสามารถปรับแก้ในหลักการได้ภายใต้เงื่อนไขที่หลายฝ่ายเห็นตรงกัน สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใหญ่ ในบ้านเมืองยอมรับฟังความเห็นของทุก ภาคส่วน และต้องขอบคุณที่เปิดโอกาสให้มีการทบทวนการออกกติกาให้การเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพเหมือนบ้านอื่นเมืองอื่นที่เจริญแล้ว ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญแล้วแก้ไขซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้จะมีเงื่อนไขกำหนดไว้ในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าท่ามกลางภาวะบ้านเมืองที่อยู่ในสถานการณ์พิเศษการจะแก้ไขเรื่องใดๆ เพื่อทำให้บ้านเมืองเกิดเสถียรภาพย่อมทำได้ไม่ยาก ยกตัวอย่างเรื่องภาษีบ้าน ที่มีการพูดคุยกันมาในขั้นหนึ่งสุดท้ายเมื่อหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย นายกฯ จึงสั่งให้ชะลอไว้ก่อนโดยไม่มีกำหนด การดำเนินการเรื่องรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าจะต่างกัน

เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่ขณะนี้อดีตส.ส.บางคนมีแนวคิดจะเว้นวรรคทางการเมือง หากท้ายสุดแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีการแก้ไขในจุดที่อาจเป็นปัญหากับส.ส.และพรรคการเมือง นายชวลิตกล่าวว่า ไม่ขอวิจารณ์ บางคนมีความเห็นของตัวเอง แต่ตนไม่คิดไปถึงว่ารัฐธรรมนูญจ้องที่จะกำจัดส.ส.เดิมให้พ้นไปอย่างที่บางคนกังวล และเห็นด้วยหากจะมีกติกามาควบคุมนักการเมืองบางคนที่ไม่โปร่งใส กระทำการนอกลู่นอกทาง แต่ไม่ใช่ออกกติกามาทำให้ระบบการเมืองอ่อนแอลง สำหรับตนอาสาเข้ามาทำงานแก้ปัญหาให้ประชาชน จึงไม่ท้อและไม่คิดที่จะเว้นเรื่องการเมือง และพร้อมที่จะเล่นในกติกา การคิดปลีกย่อยในบางเรื่องไปทั้งหมดคงไม่ต้องทำงานอื่นที่สำคัญ และเห็นว่าพรรคการเมืองควรเสนอตัวเองเป็นทางเลือกเมื่อมีโอกาสที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาประเทศ ต้องช่วยกันประคับประคองประชาธิปไตยในบ้านเมือง

กสม.ขอความชัดเจนกก.สรรหา 

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงการสรรหา กสม.ชุดใหม่ ว่าแม้จะมีการยืนยันว่า กสม.สามารถดำเนินการสรรหากรรมการชุดใหม่ได้ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 48/2557 โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีที่เคยดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเรามองว่าถ้าทำอย่างนั้นจะทำให้ได้องค์ประกอบกรรมการสิทธิฯ เหมือนที่เป็นอยู่ เราจึงต้องการสอบถามให้ชัดเจน เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงสร้างกรรมการสรรหาในปี 2550 มีปัญหา ในแง่คุณสมบัติของกรรมการสรรหาค่อนข้างจะกระจุก ไม่กระจาย เพราะประกอบด้วยข้าราชการ 5 คน นักการเมือง 2 คน จึงถูกองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศเห็นว่าส่วนประกอบของกรรมการสิทธิฯ ที่ออกมาไม่เป็นไปตามหลักการปารีส

นพ.นิรันดร์กล่าวต่อว่า ดังนั้น เรื่องนี้นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม.จะเข้า หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เพื่อสอบถามความชัดเจนอีกครั้ง

"เราอยากให้ความเห็นว่าถ้ายังให้สรรหาตามกรอบรัฐธรรมนูญ 2550 กรรมการ สิทธิฯ ที่จะออกมาจะถูกวิจารณ์ในแง่ที่ไม่เป็นไปตามหลักการปารีส หรือแม้กระทั่งล่าสุดคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions หรือไอซีซี) ยังให้ความเห็นว่าโครงสร้างกรรมการสรรหามีปัญหา ทำให้ถูกเป็นหลักพิจารณาในการลดเกรด กสม.ได้ จึงอยากให้มีความชัดเจนก่อนจะสรรหา กสม.ใหม่ เพราะในฐานะที่เราทำงานเรื่องนี้โดยตรงถ้าเราไม่ให้ความเห็นที่เราทราบดีว่าเป็นปัญหาให้ได้รับรู้มันจะทำให้เกิดความเสียหายได้" นพ.นิรันดร์กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!