WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'วิษณุ'อาสากล่อมกมธ. แก้ร่างรธน. เตือนระวังวิกฤตอีกรอบ สดศรีเชียร์โอเพ่นลิสต์'ปึ้ง'ชี้ปชต.เป็นสากล ให้'บิ๊กตู่'เข้าใจมะกัน สกัดเดินทวงยุติธรรม

มติชนออนไลน์ :  แจ้งความ - นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทพ เหยื่อกระสุนการสลายการชุมนุมปี"53 เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ผบช.ภ.1 ผู้ว่าฯนนทบุรี และตำรวจ สภ.บางบัวทอง ข้อหาควบคุมตัวโดยพลการ ละเมิดสิทธิเสรีภาพจากการเดินเท้าโดยสันติวิธี ที่กองปราบปราม เมื่อวันที่ 14 มีนาคม

 

    'พ่อน้องเฌอ'แจ้งกองปราบ เอาผิด'อำนวย นิ่มมะโน'พร้อมคนเกี่ยวข้อง เหตุสั่งรวบขณะเดินเท้า โวยถูกบังคับให้ใส่ลายพราง ผบช.ภ.1 ชี้มีนัยยะการเมือง ฝ่าฝืนประกาศเตือน คสช.

@ รบ.โชว์ผลงาน 6 เดือน 10 เมย.

     เมื่อวันที่ 14 มีนาคม รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า คณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะประชุมร่วมกับโฆษกกระทรวงต่างๆ ในวันที่ 16 มีนาคมนี้ เพื่อเตรียมการสำหรับการแถลงผลงานรัฐบาลครบ 6 เดือน ในวันที่ 10 เมษายนนี้ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านทางสื่อต่างๆ สำหรับการแถลงผลงานครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นผู้แถลงหลักภาพรวม ส่วนรองนายกรัฐมนตรี 5 คนนั้นอาจเป็นผู้ช่วยนายกฯตอบข้อซักถามในบางประเด็น ขณะที่แต่ละกระทรวงจะมีการแถลงผลงานของตัวเองก่อนถึงวันแถลงผลงานรวมโดยนายกรัฐมนตรี

     รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับช่องการประชาสัมพันธ์การทำงานของรัฐบาลนั้น นอกเหนือจากการจัดพิมพ์จุลสารทำเนียบรัฐบาลแล้วยังจะมีการจัดทำรายการวิทยุออกอากาศทั่วประเทศผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ในช่วงเช้าของทุกวัน วันละ 5 นาที ซึ่งจะเป็นรายงานการดำเนินงานของรัฐบาลและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม ขณะเดียวกันจะทำรายการโทรทัศน์ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30 น. ความยาว 30 นาที จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคมนี้ โดยจะเป็นรายการสนทนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงานของรัฐบาล พร้อมกับให้ข้อมูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชน

@ 'วิษณุ'อาสาคุย'กมธ.ยกร่างฯ'

      นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะขอหารือในประเด็นที่ร่างรัฐธรรมนูญได้ลดบทบาทของ กกต.ว่า ได้เห็นจากข่าว โดยทั้ง กกต.และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ต้องการหารือในประเด็นนี้ นอกจากนี้ยังมีบางองค์กรแสดงเจตนารมณ์ต้องการเข้ามาหารือเช่นกัน โดยจะให้ช่วยสนับสนุน แต่ไม่ขอระบุว่าเป็นองค์กรใดหรือมีข้อเสนอแนะอย่างไร ซึ่งยินดีจะพบ 

      "รับทราบข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ผ่านมาและได้รู้ถึงเรื่องที่หลายฝ่ายไม่สบายใจ ซึ่งจะนำเรื่องดังกล่าวไปพูดคุยกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ทาง กมธ.ยกร่างฯจะฟังหรือไม่ ยังไม่ทราบ ทั้งนี้คิดว่าหากต้องการให้ข้อเสนอได้ผล องค์กรต่างๆ ต้องพูดคุยกับ กมธ.ยกร่างฯเอง ซึ่งได้ยินว่าบางองค์กรได้เสนอตัวนัดพบกับ กมธ.ยกร่างฯแล้ว" นายวิษณุกล่าว

      เมื่อถามว่า บางฝ่ายระบุว่าการร่างรัฐธรรมนูญออกมาลักษณะนี้ จะเป็นการเพิ่มความขัดแย้งครั้งใหม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ และไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น พรรคที่พอใจก็มี จึงพูดยากว่าจะเป็นชนวนความขัดแย้งหรือไม่ ไม่มีอะไรที่จะทำให้ทุกคนพอใจทั้งหมด ต้องชั่งน้ำหนักทั้งข้อดีและข้อเสีย กมธ.ยกร่างฯ 36 คนก็ใช่ว่าจะเห็นตรงกันทั้งหมด แต่ที่ร่างรัฐธรรมนูญออกมาได้เพราะเสียงข้างมาก ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือต้องทำรัฐธรรมนูญออกมาให้ดี เป็นที่พอใจของคนส่วนใหญ่ ถ้าคนยังไม่พอใจแล้วยังดันทุรังออกโดยปิดปากห้ามคนแก้ไข ก็จะเป็นวิกฤตอีกแบบหนึ่ง 

@ ยกสูตรยกร่างฯเหมือนทำเค้ก

     เมื่อถามว่า อะไรจะเป็นตัวชี้วัดว่าเป็นที่พอใจของคนส่วนใหญ่ นายวิษณุกล่าวว่า ยังนึกไม่ออก ส่วนระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมันที่ กมธ.ยกร่างฯกำหนดนั้นได้อธิบายว่า ไม่อยากให้เรียกว่าระบบเยอรมัน แต่เป็นการดัดแปลงบางอย่างให้เข้ากับสังคมไทย โดย กมธ.ยกร่างฯรู้ดีว่าไม่สามารถใช้การเลือกตั้งแบบเยอรมันทั้งหมดได้ วันนี้ด้วยความที่ประเทศไทยพัฒนาทีหลังหลายประเทศ เมื่อเอาอะไรมาก็ต้องให้เหมาะกับประเทศ แต่วันนี้กลับมีคนบอกว่า การทำแบบนี้ผิดระเบียบแบบแผน เป็นพันทาง ไม่เหมือนของแท้ แต่ถ้าจะเอามาทั้งหมดก็จะหาว่าลอกเลียนแบบ ซึ่งไม่อยากให้นำเรื่องเหล่านี้มาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะถ้าพอใจ ไม่ว่าจะเอาระบบมาจากไหนก็ช่างหัวมัน 

     "เหมือนกับที่คนบอกว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด แต่เป็นระบบที่เลวน้อยที่สุด ถามว่าเอาอะไรชี้วัด ซึ่งวัดจากการที่ได้ทดลองแล้วในบางประเทศ ดูทั้งความสำเร็จและล้มเหลว เหมือนเราจะทำขนมเค้ก วิธีง่ายๆ คือทำด้วยวิธีของเราเอง แต่ถามว่าทำไมต้องโง่ทำอย่างนั้น ทำไมไม่เอาสูตรที่ได้ทำไว้แล้วแล้วเอามาดัดแปลง ดังนั้นวิธีง่ายๆ คือ 1.คิดสูตรทำเอง 2.ไปลอกของเขามา 3.ไปเอาของเขามาดัดแปลง 4.ไปซื้อเขามาเลย ซึ่งคนที่ทำรัฐธรรมนูญเขารู้ถึงวิธีการ แต่ด้วยความที่มีให้เลือกหลายแบบ เมื่อเลือกวิธีการหนึ่งก็เหลืออีกหลายพวกที่ไม่พอใจ" นายวิษณุกล่าว

@ กมธ.ทำเพลง'รธน.ของเรา' 

      นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะประธานอนุ กมธ.สื่อสารกับสังคม เปิดเผยว่า ทางบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จํากัด ได้จัดทำเพลง "รัฐธรรมนูญของเรา" เผยแพร่เพื่อสร้างความสนใจและกระตุ้นการรับรู้ของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยในการจัดทำดังกล่าวไม่ได้มีค่าใช้จ่าย มีเครือข่ายศิลปะและดนตรีคนพิการให้การสนับสนุน และได้นาย

      สุวิช อินทรนุกูลกิจ หรือ อุ้ย นักร้องที่พิการทางสายตาเป็นผู้ขับร้องบทเพลงดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป ทั้งทางเว็บไซต์ของ กมธ.ยกร่างฯ และทางเฟซบุ๊กรัฐธรรมนูญของฉัน

@ 'เสธ.อู้'ศึกษาระบบเยอรมัน

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเยอรมนีได้เชิญ 3 หน่วยงาน คือตัวแทน กมธ.ยกร่างฯ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปดูระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งของเยอรมันในวันที่ 15 มีนาคมนี้ ว่า รัฐบาลเยอรมนีคงเห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ มีการนำเสนอระบบเลือกตั้งและรัฐสภาใกล้เคียงกับของเยอรมันที่ใช้ระบบดังกล่าวมากว่า 60 ปี ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะไปศึกษาว่า ระบบของเยอรมันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพราะในกำหนดการจะได้ไปดูระบบการเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมือง ระบบรัฐสภา และระบบศาล อีกทั้งยังมีโอกาสไปพบกับนักการเมืองและประธานศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมันอีกด้วย เมื่อเราไปศึกษาก็จะดูว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ที่จะนำมาปรับใช้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยได้ 

@ 'บวรศักดิ์'ทบทวนวาระกสม.

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯกล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ทำหนังสือสอบถามถึงการสรรหา กสม.หลังจากที่กรรมการชุดปัจจุบันจะครบวาระในวันที่ 24 มิถุนายน 2558 นี้ ว่าหากดำเนินการสรรหาจะถือเป็นการขัดหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ กมธ.ยกร่างฯเขียนบทบัญญัติให้ กสม. ควบรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน หรือไม่ว่า กสม.สามารถดำเนินการสรรหากรรมการชุดใหม่ได้ ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน และตามคำสั่งของ คสช.ฉบับที่ 48/2557 

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า รายละเอียดเรื่องดังกล่าวยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาถึงวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ กสม.ชุดใหม่หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ในบทเฉพาะกาลที่ยกร่างเสร็จแล้ว กำหนดให้กรรมการอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนครบวาระ แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมไม่ให้อยู่เพียงครึ่งวาระ เพราะหากให้อยู่จนครบ อาจถูกครหาว่า มาจากการแต่งตั้ง ดังนั้นที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯคงต้องกลับไปพิจารณาและทบทวนอีกครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าด้วยว่า กสม.ยังได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เพื่อสอบถามถึงความชัดเจนต่อการสรรหากรรมการชุดใหม่ ซึ่งนายกฯได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาและได้รับคำยืนยันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่า กสม.สามารถดำเนินการสรรหากรรมการได้ ตามประกาศ คสช.ฉบับ 48/2557

@ 'สดศรี'หนุนระบบ'โอเพ่นลิสต์'

นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. กล่าวถึงข้อเสนอของ กมธ.ยกร่างฯ ที่จะใช้ระบบ "โอเพ่นลิสต์" มาแทนระบบปาร์ตี้ลิสต์ หรือระบบบัญชีรายชื่อ ว่า การเลือกตั้งแบบเดิม พรรคการเมืองจะเป็นผู้กำหนดรายชื่อ สมมุติกำหนด 100 คน พรรคจะกำหนดว่าใครจะเป็นอันดับที่ 1, 2, 3 ซึ่งคนที่อยู่อันดับต้นๆ อาจจะเป็นนายทุนของพรรค หรือเป็นคนที่พรรคให้ความสำคัญ แต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เห็นว่าเป็นการดัดหลังพรรคการเมืองคือ ไม่ให้มีการเรียงลำดับแบบนั้นอีกแล้ว คนที่คุ้นเคยกับชาวบ้านในพื้นที่ แทนที่จะอยู่อันดับที่ 80 ก็มาอยู่ในอันดับที่ 1 ได้ ชาวบ้านชอบใครก็เลือกคนนั้น

"มองว่าผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นถึงความสำคัญของประชาชน ว่าประชาชนน่าจะเป็นผู้จัดลำดับปาร์ตี้ลิสต์มากกว่า และนายทุนก็จะไม่สามารถทุ่มทุนเพื่อเข้ามาเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้ เนื่องจากการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์นี้ ประชาชนจะเห็นรายชื่อก่อนเลย ถ้ามองในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการให้สิทธิประชาชนในการเลือก" นางสดศรีกล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การนับคะแนนจะยุ่งยากขึ้นหรือไม่ นางสดศรีกล่าวว่า ไม่มีปัญหา แต่มีประเด็นตรงที่คะแนนจะซ้ำซ้อนกันหรือไม่ และถ้าคะแนนเท่ากัน รัฐธรรมนูญก็จะต้องเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า ต้องมีวิธีการอย่างไร เช่น อาจจะให้มีการจับสลากเป็นต้น ซึ่งอาจจะใช้เวลานานหน่อย และการประกาศผล 1 เดือนน่าจะไม่ทัน ดังนั้นน่าจะต้องขยายเวลาการประกาศผลด้วย 

@ พท.ชี้ทำพรรคการเมืองอ่อนแอ

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการเลือก ส.ส.แบบโอเพ่นลิสต์ ว่าสิ่งที่กังวลคือ 1.กลัวเรื่องของบัตรเสีย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ คิดว่าจะต้องมีการออกแบบบัตรใหม่ ชาวบ้านจะดูเบอร์อย่างไร ต้องใส่รูปลงไปด้วยไหม ฯลฯ 2.ชาวบ้านจะไม่รู้จักคนที่อยู่นอกเขตของตัวเอง ไม่เหมือนคนที่พรรคจัดทัพมาแล้ว โดยพรรคจะรู้ว่า คนไหนมีความสามารถในด้านอะไร คือแต่ละคนจะมีแต่ละด้านที่ตัวเองถนัด ซึ่งพรรคจะทราบ แล้วจัดคนให้ลงตัว และ 3.สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ จะทำให้นักการเมืองทะเลาะกัน เพราะจะต้องมีการหาเสียงข้ามเขตกัน เพราะไม่อย่างนั้นเกรงว่าจะสอบตก และเรื่องเหล่านี้จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ โดยคนที่คิดเรื่องนี้ คิดแต่จะทำอย่างไรให้พรรคการเมืองอ่อนแอ

นายชวลิตกล่าวว่า อยากให้ กมธ.เปลี่ยนใจ ตั้งโจทย์ใหม่ เช่น ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองมีเสถียรภาพ และถ้าอยากควบคุมนักการเมือง ก็ควบคุมที่เรื่องของจรรยาบรรณ หรือจริยธรรมนักการเมือง และควบคุมโดยการตรวจสอบให้เข้มข้นขึ้น

@ สนช.รอสำนวนถอด250สส.

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีถอดถอนอดีต ส.ส. 250 คน ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ว่า คงต้องรอสำนวนคดีดังกล่าวที่ ป.ป.ช.จะส่งให้ สนช.พิจารณาอย่างเป็นทางการก่อน หากส่งมาถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ต้องบรรจุในเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสารและความเห็นจาก ป.ป.ช. เพื่อกำหนดวันแถลงเปิดคดี โดยคดีของอดีต 250 ส.ส.เป็นคดีที่คล้ายกับคดีถอดถอนอดีต 38 ส.ว.ที่ ป.ป.ช.ได้มีการแยกฐานความผิดออกเป็น 3 กลุ่มเช่นกัน โดยทั้ง 3 กลุ่มมีฐานะความผิดเหมือนกันข้อหนึ่งคือ การร่วมลงชื่อเสนอญัตติในร่างรัฐธรรมนูญปลอม

"หาก ป.ป.ช.ส่งสำนวนมาให้ สนช.เร็ว การพิจารณาถอดถอนก็น่าจะเริ่มพิจารณาได้ในปลายเดือนนี้ หรือช้าที่สุดต้นเดือนเมษายน และจะสามารถกำหนดวันเวลาการเปิดแถลงคดี การซักถาม การแถลงการณ์ปิดคดีด้วยวาจาและลงมติได้" นพ.เจตน์กล่าว และว่า วิธีการลงมติและการนับคะแนนนั้นก็ต้องดำเนินการเช่นเดียวกันกับการลงมติในคดีของ 38 ส.ว. ซึ่งคงต้องใช้เวลานานกว่าเนื่องจากจำนวน ส.ส.ที่ถูกถอดถอนมี 250 คน โดยการลงมติอดีต 38 ส.ว ใช้เวลานานถึง 4 ชั่วโมง 40 นาที คาดว่าคดีของ ส.ส.อาจใช้เวลาเป็นวัน ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า สนช.มีมติไม่ถอดถอน 38 ส.ว. จึงน่าจะนำมาเทียบเคียงกับคดีของอดีต ส.ส.250 คนได้นั้น คงไม่สามารถบอกได้ เพราะต้องพิจารณาเอกสารหลักฐานความผิดก่อน

@ 'อุดมเดช'เชื่อมีธง-พร้อมชี้แจง

นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) 1 ในอดีต ส.ส.ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด กล่าวว่า คงต้องรอให้ ป.ป.ช.มีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหามาให้ชัดเจนก่อน จากนั้นจะไปแก้ข้อกล่าวหา โดยพร้อมที่จะไปชี้แจงทุกอย่าง ส่วนคดีอาญา หาก ป.ป.ช.ส่งเรื่องไปให้ศาลก็เตรียมตัวที่จะไปให้ความจริงกับศาล 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของคดีอาญา นายอุดมเดชกล่าวว่า "เราก็ไปพูดให้ศาลเข้าใจ ผมเชื่อว่าความจริงแล้ว ป.ป.ช.เองก็เข้าใจ แต่แกล้งทำเป็นไม่เข้าใจและมีความตั้งใจที่จะแจ้งข้อกล่าวหาอยู่แล้ว ดูได้จากการให้ข่าวล่วงหน้าต่างๆ แต่เมื่อดูจากการชี้แจงของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ที่กล่าวพาดพิงมาถึงเรื่องนี้ด้วยก็คิดว่าศาลจะรับฟัง" นายอุดมเดชกล่าว 

เมื่อถามว่า เตรียมตัวสู้คดีอย่างไร นายอุดมเดชกล่าวว่า ยังไม่ได้เตรียมการอะไร เพราะคงรอให้ ป.ป.ช.มีเอกสารมาให้ชัดเจนก่อน ที่ผ่านมาได้พูดความจริงมาตลอด ตอนนี้ก็ไปย้ำความเป็นจริงเท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปแล้ว และเป็นการกระทำตามหน้าที่ 

@ 'ปณิธาน'เชื่อมะกันไม่เข้าใจ

นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงสหรัฐว่าอย่ามาตัดเสื้อไซซ์เดียวให้คนใส่ทั้งโลกว่า เข้าใจว่าเหมือนทุกวันศุกร์ นายกฯจะพูดความในใจออกมา ซึ่งนายกฯเป็นคนตรงไปตรงมา เปิดเผย 

"ท่านบอกว่า ที่ท่านเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ในแง่หนึ่งก็มีผลกระทบ เช่น เดินทางไปบางประเทศไม่ได้ ผลกระทบตรงนี้อาจจะมาจากการที่ทางอเมริกาเขามีมาตรฐานของเขาอยู่ ท่านก็ยกตัวอย่างการตัดเสื้อขึ้นมาเปรียบเทียบ ว่าการใส่เสื้อนั้นเป็นเรื่องที่ดีนะ แต่ถ้าเสื้อมันไม่พอดีตัวเรา เราก็ต้องบอกเขา ผมมองว่าท่านนายกฯเป็นผู้ใหญ่ มองว่าอเมริกาไม่เข้าใจ ซึ่งเราก็ไม่ได้ว่าอะไรเขา เราต้องไม่ทะเลาะกัน ท่านนายกฯก็ให้โอกาส แม้จะไม่ให้เราไป แต่ถ้าใครอยากเข้ามาก็เข้ามาได้" นายปณิธานกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีหรือครอบครัวมีแผนที่จะเดินทางไปสหรัฐหรือไม่ เหตุใดจึงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในช่วงนี้ นายปณิธานกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่เท่าที่คนทั่วไปมอง คงจะรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ไปไหนหรอก เพราะทำงานเยอะ ไม่มีเวลาไปไหน

@ 'ปึ้ง'ชี้'ปชต.'ต้องเป็นสากล

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ถ้าฟังไม่ผิด พล.อ. ประยุทธ์พูดเหมือนกับว่าต่างชาติไม่เข้าใจประเทศไทย เพราะไทยมีมุมมองที่ไม่เหมือนคนอื่น แตกต่างจากคนอื่น นี่คือในมุมมองของ พล.อ.ประยุทธ์ 

"สิ่งที่ท่านประยุทธ์พูด ถ้าจะไม่เป็นประชาธิปไตย จะเป็นอะไรก็พูดมาให้ชัดดีกว่า เพราะถ้าการปกครองของเราไม่เป็นประชาธิปไตยก็อย่าใช้คำว่า เดโมเครซี่ (Democrazy) เพราะไม่อย่างนั้นก็ต้องทำให้สากลยอมรับ นั่นคือ ต้องรับฟังเสียงประชาชน แต่นี่รัฐธรรมนูญที่เขียนออกมาก็แตกต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีต มีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ เรื่อง เช่น ที่มาของ ส.ว.ที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง การลดจำนวน ส.ส. หรือนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น" นายสุรพงษ์กล่าว และว่า น่าจะเปลี่ยนชื่อใหม่ เช่น อาจจะใช้ชื่อ การปกครองระบอบประยุทธ์ 5 สาย แล้วอธิบายให้สังคมโลกเข้าใจว่าไทยจะปกครองกันแบบนี้ เพราะถ้าจะเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องเป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากล เป็นที่ยอมรับของสหประชาชาติ

@ ติงผู้นำต้องรู้อะไรไม่ควรพูด

"การที่ผู้นำรัฐบาลพูดอะไรออกไป สังคมโลกจับตามอง สื่อต้องตีพิมพ์ และเชื่อว่าวันนี้สหรัฐต้องแปลแล้วเสนอไปให้ผู้นำของเขาได้ทราบแล้ว" นายสุรพงษ์กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การพูดลักษณะนี้จะทำให้กระทบต่อความสัมพันธ์หรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า เมื่อประเทศไหนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สหรัฐจะมีมาตรการในการดำเนินการ เช่น ความร่วมมือจะไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น ระดับความสัมพันธ์ต่างๆ ก็ลดลงไป การค้าขาย การลงทุนก็ลดลง ดังนั้น มองว่าสิ่งเหล่านี้จะกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะต้องยอมรับว่าไทยเป็นประเทศที่ไม่สามารถอยู่เพียงลำพังได้ ต้องทำการค้ากับประเทศต่างๆ ประเทศที่ทำการค้าด้วยส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย มีเพียงจีนเท่านั้นที่ไม่เป็น แต่ไทยไม่เคยได้ดุลการค้าจากจีนเลย ดังนั้น ผู้นำประเทศต้องคิดให้หนัก การจะพูดอะไรออกไปไม่ใช่พูดเพื่อความสะใจ โดยเฉพาะเรื่องต่างประเทศ ตอนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะระวังเรื่องนี้มาก เพราะจะมีจุดว่าอะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด แต่ทั้งนี้ สำหรับประเด็นของ พล.อ.ประยุทธ์นั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของ พล.อ.ประยุทธ์เอง

@ 'พ่อน้องเฌอ'เดินเท้า-ตร.รวบ

ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี "กลุ่มพลเมืองโต้กลับ" ได้จัดกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน" ภายใต้แนวคิด "เมื่อความยุติธรรมไม่มา ก็เดินหน้าไปหามัน" โดยจะเดินเท้าระหว่างวันที่ 14-16 มีนาคมนี้ เพื่อเข้ารายงานตัวที่ สน.ปทุมวัน ตามที่พนักงานสอบสวนได้นัดหมายว่า เมื่อเวลา 07.00 น. ที่บริเวณตลาดเทศบาลเมืองบางบัวทอง จ.นนทบุรี นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ เหยื่อกระสุนจากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ในฐานะสมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. จากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ลัก ที่บริเวณหอศิลป์กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้อ่านบทกวี "ฉันก้าวเดิน ฉันจึงเป็นฉัน" ของนายซะการีย์ยา อมาตยา กวีซีไรต์ ปี 2553 ที่ริมถนนบริเวณหน้าโรงเรียนโสตศึกษา จากนั้นเดินเท้ามาตามถนนบางกรวย-ไทรน้อย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายพันธ์ศักดิ์เดินเท้ามาถึงบริเวณสี่แยกบางพลู หน้าปั๊ม ปตท. เป็นระยะทางประมาณ 5 กม. และเตรียมที่จะเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนรัตนาธิเบศร์ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง ประมาณ 5 นาย นำรถตู้เข้าประกบและควบคุมตัวนายพันธ์ศักดิ์ โดยระบุว่าจะนำตัวไป สน.ปทุมวัน นายพันธ์ศักดิ์จึงโต้แย้งว่าตั้งใจจะเดินไปเองอยู่แล้ว และกำหนดวันเข้ารายงานตัวในคดีก็เป็นวันที่ 16 มีนาคม แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าต้องควบคุมตัว จากนั้นจึงนำตัวนายพันธ์ศักดิ์ขึ้นรถตู้ไป

@ 'อำนวย'สั่งเลิกชี้นัยยะการเมือง

ต่อมาเวลา 09.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวนายพันธ์ศักดิ์ มาถึง สน.ปทุมวัน โดยมี พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บัญชากาตำรวจภาค 1 (ผบช.ภ.1) เดินทางมาพบนายพันธ์ศักดิ์ด้วย ซึ่งนายพันธ์ศักดิ์กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่า ตำรวจจับมาในข้อหาอะไร และไม่ได้คิดจะหลบหนีเพราะได้ประกาศแล้วว่าจะเดินมา จึงคิดว่า จะขอปรึกษากับทนายความสิทธิมนุษยชน เพื่อแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง ในข้อหาข่มขืนใจ และหาก สน.ปทุมวัน ไม่รับแจ้งความ ถือว่ามีความผิดมาตรา 157 ในฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่

     พล.ต.ท.อำนวย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องแล้ว เนื่องจากการกระทำของนายพันธ์ศักดิ์ ที่ประกาศเดินเท้ามา สน.ปทุมวัน ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ถือว่าเป็นการกระทำไม่สุจริต และมีนัยยะทางการเมือง การจัดกิจกรรมทั้งหมดมีการนัดหมายล่วงหน้า อีกทั้งยังระบุว่าจะทำกิจกรรมบริเวณหน้าสำนักงานไทยรัฐ ใกล้จุดที่นายนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ผูกคอเสียชีวิต ถือเป็นการฝ่าฝืนประกาศแจ้งเตือนของ คสช.ฉบับที่ 97/2557 จึงเชิญตัวมาส่งที่ สน.ปทุมวัน

@ น.ศ.ให้กำลังใจ-ตร.ปล่อยตัว

    เวลา 12.00 น. กลุ่มนักศึกษาจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) และกลุ่มเด็กหลังห้อง ประมาณ 10 คน อาทิ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายปิยรัฐ จงเทพ ได้ร่วมกันใส่เสื้อสกรีนคำว่า "เราคือเพื่อนกัน" และเริ่มต้นเดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ เพื่อไปให้กำลังใจนายพันธ์ศักดิ์ และทวงถามความยุติธรรม ที่ สน.ปทุมวัน ทั้งนี้ เมื่อเดินมาถึงบริเวณหอศิลป์กรุงเทพฯ นายสิริวิชญ์ เสรีวิวัฒน์ หรือ "จ่านิว" ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ได้มาเข้าร่วมเดินขบวนด้วย

     เวลา 13.30 น. กลุ่มนักศึกษาเดินทางมาถึง สน.ปทุมวัน พร้อมนำอาหารกลางวันมามอบให้นายพันธ์ศักดิ์ ทั้งนี้ กลุ่มนักศึกษาได้นำประมวลกฎหมายมาด้วย เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในการเดินตามหาความยุติธรรม

     ต่อมา 16.05 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปล่อยตัวนายพันธ์ศักดิ์ โดยไม่ได้แจ้งข้อหา โดยนายพันธ์ศักดิ์ออกมาพร้อมกับนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์สวอตช์ประจำประเทศไทย น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งนางพะเยาว์ อัคฮาด หรือแม่น้องเกด และนายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ที่มาให้กำลังใจ เนื่องจากทั้งสองมีนัดหมายว่า จะจัดเสวนาร่วมกับนายพันธ์ศักดิ์ ที่อนุสรณ์นายนวมทอง ไพรวัลย์

@ จี้คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึก

     นางพะเยาว์ กล่าวว่า การแสดงออกของนายพันธ์ศักดิ์ เป็นวิธีที่สันติ และมองว่า การแสดงออกด้วยการเดินเพียงลำพังเป็นสันติวิธีและไม่ควรที่จะไปปิดกั้น จึงอยากให้หน่วยความมั่นคงพิจารณาทบทวนใหม่ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงออก

      นายสุนัย กล่าวว่า เรามีความเห็นในทางเดียวกันว่าในสถานการณ์ที่กฎอัยการศึกยังคงอยู่ ไม่มีทางที่จะเห็นว่า จะมีการคืนสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนในประเทศไทย เพราะทุกวันนี้ยังคงเห็นการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่รัฐกำลังพยายามบอกว่าจะมีการปฏิรูปให้ไปสู่ประชาธิปไตย จึงสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางในการปกครอง 

      "หาก คสช.มีความจริงใจที่จะให้ในสิ่งที่ได้เคยสัญญาเอาไว้ ท่านจะต้องแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ต้องยกเลิกกฎอัยการศึก เคารพสิทธิเสรีภาพการแสดงออกอย่างสันติ และคืนสิทธิเสรีภาพ การแสดงออกอย่างแตกต่าง เปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ เพราะหากเราไม่เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการเลือกตั้งที่จะถึงจะไม่เป็นการเลือกตั้งของคนเพียงฝ่ายเดียว" นายสุนัยกล่าว

@ แจ้งกองปราบเอาผิดตร.คุมตัว

     นายพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวมุ่งจัดกิจกรรมโดยสันติวิธีมาโดยตลอด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรักษาสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองคนหนึ่ง และมองว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง ภายใต้คำสั่งของ พล.ต.ท.อำนวย และผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นการกระทำที่ข่มขืนจิตใจ และผิดตามมาตรา 157 ดังนั้น จะแจ้งความดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเป็นบรรทัดฐาน เพราะถึงแม้จะอ้างว่า เป็นการเชิญตัว แต่หากดูจากวิดีโอเห็นว่า พฤติกรรมเป็นการล้อมจับแน่ๆ จึงจะไปแจ้งความที่กองปราบปราม ส่วนกิจกรรมในวันที่ 14 มีนาคม จะยังคงจัดต่อไป โดยเริ่มที่อนุสรณ์สถาน นวมทอง ไพรวัลย์ จากนั้น จะเดินไปจบที่ มธ.ท่าพระจันทร์ ตามกำหนดการเดิม

     "อยากฝากไปถึงท่านผู้นำ ที่ไปวิจารณ์สหรัฐบังคับให้ใส่เสื้อไซซ์เดียวกัน แต่ในตอนนี้นอกจากท่านจะบังคับให้เราใส่เสื้อไซซ์เดียวกันแล้ว ยังจะบังคับให้เราใส่เสื้อลายพรางเหมือนท่านด้วยหรือ" นายพันธ์ศักดิ์กล่าว

     เวลา 18.00 น. นายพันธ์ศักดิ์ พร้อม น.ส.ภาวิณี เข้าพบ พ.ต.ท.สมนึก สันติภาตะนันท์ พนักงานสอบสวน ผู้ชำนาญการพิเศษ กก.2 ป.เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ พล.ต.ท.อำนวย นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง ในข้อหาควบคุมตัวโดยพลการ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ จากการเดินเท้าโดยสันติวิธี ในกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน ทั้งนี้ มีนางพะเยาว์ นายสิริวิชญ์ และนายอานนท์ นำภา พร้อมประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจนายพันธ์ศักดิ์ด้วย

'ปกรณ์ ปรียากร' มองอนาคตรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธสืบทอดอำนาจ


มติชนออนไลน์ : คอลัมน์ เกาะติดปฏิรูป

หมายเหตุ - นายปกรณ์ ปรียากร คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ถึงภาพรวมการร่างรัฐธรรมนูญ 

@มองภาพรวมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ผ่านการพิจารณารายมาตรา

โดยภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ยึดกรอบแนวทางรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 มาตรา 35 เป็นหลัก ที่กำหนดสาระสำคัญครอบคลุม 10 ด้าน ทั้งนี้ โครงสร้างโดยรวมก็ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิมๆ นัก แต่จะมีการปรับโครงสร้างให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในบริบทปัจจุบัน จะเห็นว่าภาคที่ 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน ที่เป็นหลักประกันสำคัญในการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมืองและการตรวจสอบ รวมทั้งจะผลักดันให้เป็นจริงมากขึ้น ส่วนภาคที่สองเป็นภาคสำคัญในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีตัวหลักคือคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ในจุดนี้เราจะระมัดระวังการเขียนหลายเรื่อง เพราะที่ผ่านมาโครงสร้างทางการเมืองบ้านเราบิดเบี้ยว

ดังนั้น จะทำอย่างไรให้การเสียดุลภาพกลับมาสู่ความสมดุล ใสสะอาด ประเด็นนี้สื่อมวลชนต้องช่วย กมธ.ยกร่างฯและช่วยประเทศ ซึ่งเราเริ่มต้นกำหนดบทบัญญัติในส่วนนี้ คือการพูดถึงผู้นำทางการเมืองที่ดีและสถาบันทางการเมือง ในจุดเปลี่ยนผ่านตั้งแต่ 2540 เป็นต้นมา ผู้นำการเมืองไทยกลายเป็นผู้ที่มีเงินมาก จึงได้คะแนนเสียงมาก ส่วนคนที่มีเงินน้อยต้องไปอาศัยบารมีคนที่มีเงินมาก มันจึงทำให้ ส.ส.น้ำดีหลายๆ คนแทบไม่มีเสียงอะไรเลยในการทัดทานระบบแบบที่เป็นอยู่ เพราะบารมีผู้นำการเมืองจะไปข่มความสามารถของ ส.ส. 

แถมยังครอบงำการเมืองในท้องถิ่นอีกด้วย ส.ส.ตั้งแต่ 2540 จนถึงความขัดแย้งในปัจจุบันแทบจะไม่ได้ทำงาน ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นภายในได้สะท้อนออกไปยังความไม่เป็นธรรมภายนอก เพราะฉะนั้นการเขียนรัฐธรรมนูญตอนนี้จะยากในประเด็นดังกล่าวที่บอกไปว่าทำอย่างไรให้ยึดโยงอำนาจของประชาชน เราจะเห็นว่าตอนร่างมีคนออกว่าเดี๋ยวแบบเดิมก็กลับมาอีก ดังนั้นการกำหนดคำว่าผู้นำที่ดีต้องตั้งบนพื้นฐานหลักธรรมาภิบาล หลักคุณธรรม หลักจริยธรรม 

@การคัดสรรนักการเมือง ที่เป็นคนดี มีความสามารถเข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง จะสามารถนิยามอย่างไร

โดยสัดส่วนบัญชีรายชื่อ ทางพรรคจะคัดสรรคนที่จะลงเลือกตั้งโดยตรงก็จะไม่มีเวลาจะไปหาเสียง แต่ก็มีการเปิดทางกว้างไว้ให้คนที่มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถและได้รับการยอมรับ แถมได้รับการสนับสนุนพรรคการเมืองนั้นๆ ถ้าจะไม่เปลี่ยนเราก็คิดว่าให้ผู้ทรงคุณวุฒิต้องเชื่อมโยงกับคนในพื้นที่บ้าง

@จะมั่นใจได้อย่างไรว่าพรรคการเมืองจะส่งคนดี ตามธงที่ กมธ.ยกร่างฯตั้งไว้

ต้องไปถามพรรคการเมืองเอง แต่เจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญระบุไว้ต้องได้ผู้แทนที่ดีมาสู่ระบบการเมือง แต่เราต้องยอมรับว่าคนที่ตั้งพรรคการเมืองต้องมีวิจารณญาณดีพอ พรรคการเมืองต้องเป็นสถาบันการเมือง จะเห็นว่าผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมืองที่ดี ถ้าเราไปบอกว่าพรรคการเมืองไม่ใช่สถาบันการเมืองก็ไม่ได้ แต่พอเรามาออกแบบนี้ก็จะมีประเด็นว่า คนที่ไม่อยากสังกัดพรรคการเมืองจะทำอย่างไร ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับการให้มีการเลือกตั้งโดยอิสระ และเป็นไปไม่ได้ที่คนคนหนึ่งจะทำงานการเมืองคนเดียว ดังนั้น เราก็เลยออกมาตรงกลาง มีกลุ่มการเมืองที่มาจากสมาคมต่างๆ ที่รวมตัวกันเพื่อเป็นทางผ่านการเมือง แถมคิดว่าถ้าทำงานการเมืองได้ดีอาจพัฒนามาเป็นพรรคการเมืองได้ในอนาคต @ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะถือเป็นความหวังที่ตอบโจทย์สภาพสังคมไทยปัจจุบันได้จริง

แสดงว่าอยู่แบบเดิมอย่างที่พรรคการเมืองบางพรรค สื่อมวลชนบางค่าย กลุ่มผู้มีอิทธิพลบางกลุ่มเรียกร้องไม่ได้อีกแล้ว ตรงนี้ชัดเจนต้องเปลี่ยนแปลง พอเรามาร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องดูว่าตรงไหนที่จะต้องเปลี่ยน ตรงไหนที่ไม่ต้องเปลี่ยน ก็เห็นว่ายากที่สุด คือได้มาซึ่งผู้นำทางการเมืองที่ดีและสถาบันทางการเมือง 

@รัฐธรรมนูญภาคที่ 4 ที่ได้กำหนดคณะกรรมการสองชุด จะตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศได้จริง

ประเด็นภาค 4 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่าด้วยการปฏิรูปและการปรองดอง จะเป็นภาคที่มีกรอบระยะเวลา 5 ปีแล้วจะหมดไป เหตุผลที่ต้องร่างแบบนี้เราเชื่อว่าการปฏิรูปจะทำได้เสร็จเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่จำต้องยืดระยะเวลาออกไปเพื่อสานต่องานปรองดอง ทั้งนี้ ทำไมต้องมีจุดนี้ แน่นอนเราชัดเจนที่มาของการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งธงการปฏิรูปได้ตั้งแต่ต้น ประกอบกับยังมี สปช.อีก ที่มีการนำเสนอมุมมองไอเดียที่ตกผลึกจากคณะ กมธ.ชุดต่างๆ 18 ชุด แล้วเราจะเอามาหลอมรวมกันเพื่อสามารถที่จะปฏิบัติได้จริง แต่อะไรที่สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญก็ทำไป ดังนั้นวาระการปฏิรูปเป็นวาระใหญ่ๆ อีกอย่างผมคิดว่าการปฏิรูปจริงๆ นั้นมิได้มีผลประโยชน์ที่ตอบสนองต่อคนกลุ่มใดทั้งสิ้น แต่เป็นวาระของประเทศ มิหนำซ้ำยังเป็นวาระของคนไทยทุกคนที่จะต้องหันมาทำงานร่วมกัน 

ส่วนกลไกในการขับเคลื่อนนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย เป็นประเด็นปัญหาว่าจะทำอย่างไร ถ้าจะทิ้งไปเลยแล้วให้ ส.ส. ครม.ชุดใหม่เข้ามาผลักดันต่อ มันก็เท่ากับว่าเราสืบทอดอำนาจโดยผ่านพวกเขา มันเป็นไปไม่ได้ หรือให้มีสภาพบังคับให้ต้องทำตามนั้น ซึ่งบางเรื่องเป็นวาระที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้นๆ ของประชาชนในแต่ละพื้นที่ กระนั้นก็ตาม การออกแบบในลักษณะนี้ต้องหาลู่ทางที่จะทำให้การปฏิรูปผลักดันออกมาได้บรรลุผลจริงๆ สำหรับคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อันมีลักษณะเหมือนองค์กรตามรัฐธรรมนูญรูปแบบหนึ่ง ที่มาก็มาจาก สปช.ส่วนหนึ่ง และ สนช.ส่วนหนึ่ง อีกส่วนจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ รวมแล้วได้ 120 คน ในขณะเดียวกันก็ยังมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่เป็นภาคปฏิบัติในการเชื่อมโยงกับรัฐบาล ทว่า คณะกรรมการทั้งสองชุดที่ผมว่าไม่มีอำนาจใดๆ ทั้งสิ้นที่จะสั่งการรัฐบาล ไม่มีอำนาจในการแทรกแซงของหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐทุกประเภท

@ถือว่าคณะกรรมการสองชุดนี้เป็นการสืบทอดอำนาจให้อยู่ต่อไป

ไม่ใช่ ซึ่งอยากให้ทำความเข้าใจว่าตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถ้าไม่มีวันนั้นจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อมีวันนั้นคนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นวาระการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านนั้น คนที่เป็น สปช.ก็สมัครมา และมีการสรรหา คัดเลือก แต่เข้ามาจะเป็นฐานผู้ทรงคุณวุฒิทั้งนั้น ส่วนใน สนช.นั้นส่วนใหญ่มักเป็นอดีตข้าราชการที่เกษียณอายุ ซึ่งจะไปสืบทอดอำนาจได้อย่างไร เพราะพวกเขาไปบังคับรัฐบาลไม่ได้ 

@คิดว่ากลไกที่วางไว้จะบรรลุผลจริง หรือเป็นความฝันในแง่นามธรรม

ต้องขึ้นอยู่กับการที่รัฐบาลใหม่เห็นความสำคัญของการปฏิรูปหรือไม่ และขึ้นอยู่กับเสียงเรียกร้องของประชาชน ก่อนที่พวกเราจะเข้ามาอยู่ในจุดนี้ และรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาจะสนับสนุนข้อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ แต่บางเรื่องต้องส่งกลับมาที่สภาเพื่อออกเป็นกฎหมาย ของบประมาณอะไรต่างๆ แต่ถ้าไม่มีวาระการปฏิรูปที่กำลังจะผลักดันก็จะหายไปทันที อีกอย่างผมไม่แน่ใจว่า สปช. สนช.หลายๆ คนจะมาใส่ใจในเรื่องนี้ อาจจะไปลงรับสมัครเลือกตั้งก็เป็นได้ 

@เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จจะทำประชามติ

ผมคิดว่าความเห็น กมธ.ยกร่างฯโดยส่วนใหญ่คิดว่าก่อนประกาศใช้ต้องไปทำประชามติ แต่เราไม่มีอำนาจที่จะกำหนด เพราะรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ สมมุติเราเสนอไปที่คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วให้มีการแก้ไข และให้มีการลงประชามติ การประกาศใช้ก็จะช้าไปประมาณ 3 เดือน ซึ่งอาจจะเป็นผลดีของประเทศมากกว่าร่างเสร็จและประกาศใช้เลย อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผมเองไม่คิดว่ามันจะมีเงื่อนไขสำคัญอะไร ถ้าไม่มีประชามติ เราก็ต้องยอมรับ ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว อีกอย่างถ้าจะมาวิเคราะห์กันในตอนนี้ก็คิดว่าเร็วเกินไป เพราะว่ายังมีอีกหลายขึ้นตอนมาก และอาจจะปรับแก้ก็ได้ 

@ในอนาคตหน้าตารัฐธรรมนูญจะลดความขัดแย้งได้

ก็ต้องไปถามคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ ไม่ใช่มาถามคณะ กมธ.ยกร่างฯ เพราะเรามีอำหน้าหน้าที่เพียงกำหนดและจัดทำรัฐธรรมนูญ ดังนั้นต้องถามคนทั้งประเทศ 

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!