WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8871 ข่าวสดรายวัน


บิ๊กตู่ รับเศรษฐกิจฝืด สั่งเบรก ภาษีบ้านชะลอยาว 
38 สว.พ้นคดีถอดถอน ปปช.ชี้มูลฟัน 250 ส.ส. กกต.ดิ้นอีกขอคุมกจต. อ.ก.พ.ไล่ออก 2 ขรก.พณ. หึ่งจับ'เดียร์'ทีมบึ้มศาล


ร้องศาล - แกนนำพลเมืองโต้กลับ นำโดยนายอานนท์ นำภา และผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา เรียกร้องให้พิจารณาคดีพลเรือนทุกคนในศาลอาญา ไม่ใช่ศาลทหาร เมื่อวันที่ 12 มี.ค.

       'บิ๊กตู่'เบรกภาษีบ้าน -ที่ดิน ให้คลังชะลอไว้ก่อน ชี้เศรษฐกิจไม่ดี คนรายได้น้อยภาระเยอะ 'สมหมาย'ยังยัน ต้องทำคลอดให้เสร็จก่อนเลือกตั้งมั่นใจช่วยลดเหลื่อมล้ำ อดีต 38 ส.ว.โล่งพ้นบ่วงถอดถอน ป.ป.ช.ฟันอีก 250 ส.ส. 'อุดมเดช-คมเดช-นริศร'โดนพ่วงอาญา กรณีเสียบบัตรแทนกัน กกต.ลุยสกัดแจ้งเกิดกจต. อ.ก.พ.มีมติไล่ออก 'ทิฆัมพร-อัครพงศ์'ข้าราชการพาณิชย์พิษขายข้าวจีทูจี ส่วน 'มนัส สร้อยพลอย'แม้เกษียณ โดนฟ้องแพ่ง-อาญา จับแล้ว 'เดียร์'ถูกกล่าวหาจ้างวาน ปาบึ้มศาลอาญา 

'บิ๊กตู่'เบรกกม.รีดภาษีบ้าน

     มื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 12 มี.ค. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมการประชุมร่วมระหว่างประธานและฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อนชุดต่างๆ 5 คณะ ครั้งที่ 1/2558 

     ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ว่า นายกฯได้สั่งการในที่ประชุมให้ชะลอ เรื่องการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปก่อน โดยให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในระยะยาว และไม่ให้กระทบต่อประชาชน เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว สถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ค่อยพร้อม อีกทั้งขณะนี้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยยังมีภาระอยู่ จึงอยากให้ชะลอไปก่อน ให้เป็นไปในแนวทางการศึกษาและดูว่าสิ่งต่างๆ ที่อาจมีการดำเนินการต้องไม่กระทบกับประชาชนในอนาคต ส่วนจะชะลอไปนานหรือไม่นั้นจะต้องดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป

อ้างไม่เกี่ยวแรงกดดัน

    "การชะลอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกไปก่อนนั้นไม่เกี่ยวกับแรงกดดันหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์เพราะเรื่องนี้เป็นการหารือภายใน แต่เมื่อเป็นข่าวออกมาทำให้หลายฝ่ายกังวล โดยแท้จริงแล้วอยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่ได้เป็นข้อยุติแต่อย่างใด นายกฯจึงคิดว่าเพื่อความชัดเจน จึงขอให้ชะลอออกไปก่อน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและดูแนวทางที่เหมาะสมในอนาคตต่อไป โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบ ในการรวบรวมศึกษาดังกล่าว" ร.อ.นพ. ยงยุทธกล่าว 

     ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า สำหรับกรอบที่ศึกษานั้นกระทรวงการคลังและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจะศึกษาเรื่องโครงสร้างภาษีโดยรวม การปฏิรูปภาษีให้เหมาะสมกับอนาคต โดยศึกษาระบบภาษีของประเทศอื่นๆ ว่าต่างจากระบบภาษีของประเทศไทยอย่างไร และประเทศไทยมีประสิทธิภาพในเชิงการเก็บภาษีและใช้จ่ายรายได้มากน้อยเพียงใด หากเทียบกับต่างประเทศ 

     นอกจากนี้ นายกฯยังฝากว่าร่าง พ.ร.บ. สลากกินแบ่งรัฐบาลที่ยังมีข้อสงสัยว่าจะจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านตู้นั้น ขอย้ำว่าเรื่องการจำหน่ายผ่านตู้ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะยังติดอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไป

"สมหมาย"ค้านชะลอกม.

    ด้านนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้ชะลอการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากนายกฯให้ชะลอกฎหมาย จะส่งหนังสือชี้แจงว่าไม่เห็นด้วย เนื่องจากกฎหมายไม่ได้มีผลบังคับใช้ทันที จะเริ่มจัดเก็บภาษีจริงปี 2560 จะพิจารณาช้าหรือเร็วก็ต้องดำเนินการ และยืนยันว่าควรดำเนินการในรัฐบาลชุดนี้

    "ถามว่ามีกฎหมายแล้วทุกคนเดือดร้อน ก็เดือดร้อนกันหมด แต่กฎหมายมันยังไม่นิ่ง เช่น การให้สิทธิยกเว้นภาษี คลังก็เร่งทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้กฎหมายออกมาดีที่สุด แต่ถ้านายกฯไม่เอา ก็ไม่เป็นไร ผมก็เหนื่อยน้อยหน่อย พักเหนื่อยสักครู่" นายสมหมายกล่าว

     นายสมหมาย กล่าวว่า จะให้ยุติการพิจารณาภาษีที่ดินคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากการเข้ามาทำงาน ก็มีหน้าที่บริหารและดูแลเรื่องการจัดเก็บรายได้ ที่ผ่านมาตั้งคณะกรรมการปฏิรูปภาษี เพื่อดูแลการจัดเก็บไม่ให้รั่วไหล เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอดูแลประเทศ ยอมรับว่าตนมีท่าทีที่แข็งกร้าว แต่ก็มีความยืดหยุ่นในตัว ไม่ได้รู้สึกเสียใจหากนายกฯจะสั่งให้ยุติการเดินหน้าภาษีที่ดิน

ลั่นจะทำคลอดก่อนเลือกตั้ง

     รมว.คลัง ยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แค่ถูกชะลอการพิจารณา ไม่ได้ถูกสั่งให้ยกเลิก ดังนั้น ในสมัยที่ตนเป็นรมว.คลัง จะพยายามเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวให้ได้รับความเห็นชอบก่อนมีการเลือกตั้งในเดือนพ.ค.2559 และแม้จะชะลอร่างภาษีที่ดินออกไป แต่กระทรวงการคลังมีสูตรการจัดเก็บล่าสุด ที่ฝากให้สถาบันการศึกษา ฝ่ายวิชาการไปคิดต่อ โดยภาษีที่อยู่อาศัย อัตราจัดเก็บจริง 0.1% ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 0-2 ล้านบาท ภาระภาษีที่เสีย 25% ของราคาประเมิน หรือเสียภาษีล้านละ 250 บาท, ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2-4 ล้านบาท ภาระภาษีที่เสีย 50% ของภาษีที่คำนวณได้ เสียภาษีล้านละ 500 บาท และสูงกว่า 4 ล้านบาท ภาระภาษีที่เสีย 100% ของภาษีที่คำนวณได้ เสียภาษีล้านละ 1 พันบาท

     นายสมหมาย กล่าวว่า ตัวอย่างการ เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มูลค่า 1 ล้านบาท ภาระภาษีที่ต้องเสียต่อปี 250 บาท, 2 ล้านบาท ต้องเสีย 500 บาท, 3 ล้านบาท ต้องเสีย 1 พันบาท, 4 ล้านบาท ต้องเสีย 1.5 พันบาท, 5 ล้านบาท ต้องเสีย 2.5 พันบาท, 10 ล้านบาท ต้องเสีย 7.5 พันบาท และ 20 ล้านบาท ต้องเสีย 1.75 หมื่นบาท นอกจากนี้จะลดเว้นภาษีเพิ่มเติมให้กับผู้เกษียณ อายุ มากกว่า 60 ปีขึ้นไป อยู่ในที่อยู่อาศัย ไม่ต่ำกว่า 15 ปี ยังลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อีก 50% ด้วย

มั่นใจช่วยลดเหลื่อมล้ำ

     นายสมหมาย กล่าวย้ำว่า ในหลักการ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีภาษีที่ดินแบบนี้ และควรผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลชุดนี้ที่มาจากการปฏิวัติ เพราะรัฐบาลเลือกตั้งไม่มีทางปรับภาษีขึ้น มีแต่จะปรับลง ส่วนที่ห่วงว่ารัฐบาลจะปรับขึ้นภาษีอีกในอนาคตนั้น รับรองว่าไม่มีทางเป็นไปได้ แต่เพดานที่ตั้งไว้ เช่น ภาษีบ้านที่ 0.5% แต่เก็บจริง 0.1% เพราะเราคิดว่าสักวันคนไทยจะมีความคิดช่วยชาติจ่ายภาษีมากเท่าเทียมกับประเทศที่เจริญแล้ว

     "ถ้าจะลดความเหลื่อมล้ำ นโยบายภาษีคือสิ่งเดียวที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ผมคิดว่าถึงเวลาที่ประเทศต้องเข้าใจการเก็บภาษีและช่วยชาติด้วยการเสียภาษี รัฐบาลต้องดูแลผู้มีรายได้น้อยเสียน้อย มีมากเสียมาก ทำไมเสียมากขึ้น ถ้าเก็บภาษีได้ต่อปี แค่ 18-19% ของรายได้ประชาชาติ มันต่ำมาก ประเทศที่เจริญแล้วเก็บได้ 40% ของจีดีพีขึ้นไป ทุกประเทศยอมรับรัฐสวัสดิการจำเป็นมาก เราต้องหาเงินมาเพื่อเรื่องนี้" นายสมหมายกล่าว

       ส่วนที่พรรคการเมืองระบุภาษีที่ดินไม่ช่วยลดเหลื่อมล้ำ แต่กระจายความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า พรรคก็ต้องพูดแบบนี้ ส่วนตัวมองคนละมุม รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคงทำภาษีนี้ไม่ได้ หรือไม่มีปัญญาทำได้ ซึ่งในระยะยาวจะเห็นผลเองว่าภาษีที่ดินมีผลดีมากกว่าผลเสีย ไม่ใช่เรื่องที่คิดผิด

สนช.ลงมติคดีถอด 38 ส.ว.

    เวลา 10.37 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาการ ลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน อดีตส.ว. จำนวน 38 คน ออกจากตำแหน่ง กรณี การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. โดยไม่ชอบ ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 

      นายสุรชัยแจ้งว่า วิธีการลงคะแนนเป็น การลงคะแนนลับในคูหา บัตรลงคะแนน จะมี 2 ช่องคือ ถอดถอนกับไม่ถอดถอน ให้สมาชิกกาเครื่องหมายกากบาทเพียงอย่างเดียว หากผู้ที่ไม่ลงคะแนนทั้ง 2 ช่องถือว่า ไม่ประสงค์ลงคะแนน ส่วนผู้ที่ถูกถอดถอนจะต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของ สมาชิกสนช.ที่มีอยู่ทั้งหมด ขณะนี้มีสมาชิก 220 คน ซึ่งคะแนนเสียงที่ส่งผลต่อการถอดถอนต้องมี 132 เสียงขึ้นไป 

กาบัตร 4 กลุ่มรวดเดียวจบ

     นายสุรชัยกล่าวว่า การลงคะแนนสมาชิกจะได้รับบัตรลงคะแนน 4 ใบ 4 สี แยกตามฐานความผิดเป็น 4 กลุ่ม ตามที่คณะกรรมการป.ป.ช.กล่าวหา โดยทุกกลุ่มมีพฤติการณ์เข้าชื่อเสนอกฎหมายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว. ซึ่งกลุ่มแรกมีพฤติการณ์ลงมติวาระ 3 เป็นบัตรลงคะแนนสีฟ้าประกอบด้วยอดีตส.ว. 2 คน กลุ่ม 2 มีพฤติการณ์ลงมติวาระ 1, 2 และ 3 เป็นบัตรสีส้ม ประกอบด้วยอดีตส.ว. 22 คน กลุ่ม 3 มีพฤติการณ์ลงมติวาระ 1 และ 3 เป็นบัตรสีขาวประกอบด้วยอดีตส.ว. 13 คน และกลุ่ม 4 มีพฤติการณ์ลงมติวาระ 2 เป็นบัตรสีเขียว มีอดีตส.ว. 1 คน โดยสมาชิกต้องลงคะแนนทั้ง 4 กลุ่ม จนครบ 38 คน 

     เวลา 11.30 น. ก่อนลงคะแนนลับ ที่ ประชุมสนช.มีจำนวนองค์ประชุมทั้งสิ้น 204 คน โดยคุณพรทิพย์ จาละ สนช. แจ้งลาการประชุม ขณะที่นายสุรชัยได้ให้สื่อมวลชนออกนอกห้องประชุมและสั่งงดถ่ายทอดการกระจายเสียงทั้งวิทยุและโทรทัศน์จน กว่าจะนับคะแนนเสร็จ ซึ่งน่าสังเกตว่าไม่ได้เป็นการประชุมลับ แต่กลับมีมาตรการ เข้มงวดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาซึ่งจะเปิดให้สื่อมวลชนได้ร่วมสังเกตการณ์การลงมติและนับคะแนนด้วย 

รอดยกเข่งตามคาด

     หลังสมาชิกลงมติเสร็จสิ้นโดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที เวลา 13.10 น. ได้เริ่มนับคะแนนโดยเปิดเผยในแต่ละกลุ่ม ซึ่งใช้เวลานับคะแนน เกือบ 3 ชั่วโมง

    จากนั้นนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ในฐานะประธานที่ประชุม แจ้งว่ามีสมาชิกลงคะแนนทั้งหมด 208 คน และมีมติดังนี้ กลุ่มแรก 2 คน ที่ประชุมมีมติไม่ถอดถอนด้วยคะแนน ดังนี้ นางภารดี จงสุขธนามณี อดีตส.ว.เชียงราย 166 ต่อ 35 ไม่ออกเสียง 7 และพล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน อดีตส.ว.พะเยา 164 ต่อ 35 ไม่ออกเสียง 9

กลุ่มสอง 22 คน ที่ประชุมมีมติไม่ถอดถอนด้วยคะแนน ดังนี้ นายประสิทธิ์ โพธสุธน อดีตส.ว.สุพรรณบุรี 123 ต่อ 77 ไม่ออกเสียง 8 นายสมชาติ พรรณพัฒน์ อดีตส.ว.นครปฐม 126 ต่อ 74 ไม่ออกเสียง 8 พล.ต.ต.องอาจ สุวรรณสิงห์ อดีต ส.ว.เลย 127 ต่อ 73 ไม่ออกเสียง 8 นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตส.ว.นนทบุรี 126 ต่อ 74 ไม่ออกเสียง 8 

นายประวัติ ทองสมบูรณ์ อดีตส.ว. มหาสารคาม 127 ต่อ 73 ไม่ออกเสียง 8 นายกฤช อาทิตย์แก้ว อดีตส.ว.กำแพงเพชร 126 ต่อ 74 ไม่ออกเสียง 8 พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ อดีต ส.ว.อุดรธานี 128 ต่อ 72 ไม่ออกเสียง 8 นายภิญโญ สายนุ้ย อดีตส.ว.กระบี่ 127 ต่อ 73 ไม่ออกเสียง 8 นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ อดีต ส.ว.ปทุมธานี 127 ต่อ 73 ไม่ออกเสียง 8 

คะแนนโหวตไล่เลี่ยกัน

นายสุเมธ ศรีพงษ์ อดีตส.ว.นครราชสีมา 128 ต่อ 71 ไม่ออกเสียง 9 พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ อดีต ส.ว.มุกดาหาร 126 ต่อ 74 ไม่ออกเสียง 8 นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล อดีตส.ว.กาญจนบุรี 118 ต่อ 64 ไม่ออกเสียง 26 นายพีระ มานะทัศน์ อดีตส.ว.ลำปาง 118 ต่อ 64 ไม่ออกเสียง 26 นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล อดีตส.ว.กาฬสินธุ์ 119 ต่อ 63 ไม่ออกเสียง 26 

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง อดีตส.ว.ชลบุรี 119 ต่อ 63 ไม่ออกเสียง 26 นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล อดีตส.ว.สมุทรสาคร 118 ต่อ 64 ไม่ออกเสียง 26 นายรักพงษ์ ณ อุบล อดีตส.ว.หนองบัวลำภู 118 ต่อ 64 ไม่ออกเสียง 26 นายบวรศักดิ์ คณาเสน อดีต ส.ว. อำนาจเจริญ 117 ต่อ 65 ไม่ออกเสียง 26 

นายจตุรงค์ ธีระกนก อดีต ส.ว.ร้อยเอ็ด 119 ต่อ 63 ไม่ออกเสียง 26 นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตส.ว.อุทัยธานี 117 ต่อ 65 ไม่ออกเสียง 26 นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ อดีตส.ว.ยโสธร 118 ต่อ 63 ไม่ออกเสียง 27 และนายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีตส.ว.เชียงใหม่ 116 ต่อ 66 ไม่ออกเสียง 26

เตรียมแจ้งผลผู้เกี่ยวข้อง

กลุ่มสาม 13 คน ที่ประชุมมีมติไม่ ถอด ถอนด้วยคะแนนดังนี้ นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ อดีตส.ว.ขอนแก่น 149 ต่อ 50 ไม่ออกเสียง 8 นายโสภณ ศรีมาเหล็ก อดีตส.ว.น่าน 149 ต่อ 49 ไม่ออกเสียง 9 นายต่วน อับดุลเล๊าะ ดาโอ๊ะมารียอ อดีตส.ว.ยะลา 150 ต่อ 48 ไม่ออกเสียง 9 พล.ต.อ. โกวิท ภักดีภูมิ อดีตส.ว.อ่างทอง 148 ต่อ 49 ไม่ออกเสียง 10 นายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์ อดีตส.ว.สกลนคร 149 ต่อ 49 ไม่ออก เสียง 9 

พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ อดีตส.ว.ชุมพร 154 ต่อ 44 ไม่ออกเสียง 9 นายวรวิทย์ บารู อดีตส.ว.ปัตตานี 151 ต่อ 47 ไม่ออกเสียง 9 นายสุโข วุฑฒิโชติ อดีตส.ว.สมุทรปราการ 149 ต่อ 48 ไม่ออกเสียง 10 นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง อดีตส.ว.บุรีรัมย์ 150 ต่อ 48 ไม่ออกเสียง 9 

นายสุริยา ปันจอร์ อดีตส.ว.สตูล 152 ต่อ 46 ไม่ออกเสียง 9 นายถนอม ส่งเสริม อดีตส.ว.อุบลราชธานี 150 ต่อ 48 ไม่ออกเสียง 9 นายบุญส่ง โควาวิสารัช อดีตส.ว. แม่ฮ่องสอน 149 ต่อ 48 ไม่ออกเสียง 10 และนายวรวิทย์ วงษ์สุวรรณ์ อดีตส.ว.ลพบุรี 150 ต่อ 48 ไม่ออกเสียง 9

กลุ่ม 4 ผลการลงคะแนนปรากฏว่า มีมติไม่ถอดถอน นายวิทยา อินาลา อดีตส.ว. นครพนม 139 ต่อ 66 ไม่ออกเสียง 3

หลังแจ้งมติเสร็จสิ้น นายพรเพชรแจ้งที่ประชุมว่า จะแจ้งผลการลงมติไม่ถอดถอนอดีต 38 ส.ว.ไปยังป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และ อดีต 38 ส.ว. ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ทราบต่อไป

ป.ป.ช.ยอมรับมติ

นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงมติไม่ถอดถอนอดีต 38 ส.ว.ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.น้อมรับมติดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช.มาตรา 65 ที่บัญญัติให้ สนช.มีอิสระในการออกเสียง และถึงแม้ว่าเสียงจะไม่ถึง 3 ใน 5 ในการถอดถอนอดีต ส.ว.ทั้ง 38 ราย ออกจากตำแหน่ง แต่กระบวนการขอถอดถอนที่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น ถือว่าเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประชาธิปไตย เป็นการให้การเรียนรู้แก่ประชาชนที่จะได้ตระหนักถึงความสำคัญของกลไกการถ่วงดุลและคานอำนาจเสียงข้างมากทางการเมืองซึ่งรัฐธรรมนูญออกแบบไว้ ซึ่งจะทำให้คนไทยได้เรียนรู้ถึงแก่นแท้ของประชาธิปไตย

ฟันอีก 250 ส.ส.ปมแก้รธน.

เวลา 10.00 น.วันเดียวกัน ที่สำนักงานป.ป.ช. สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี มีการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. โดยมีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. เป็นประธาน เพื่อพิจารณาผลการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องการถอดถอนอดีตส.ส. 258 คน กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบ 

จากนั้นเวลา 17.15 น. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช.แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ชี้มูลความผิดอดีต ส.ส. 250 คน ฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 291 (1) วรรคหนึ่ง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มความผิด ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ผู้ที่ร่วมลงลายมือชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และลงมติวาระที่ 1 วาระที่ 2 โดยเฉพาะในมาตรา 6 และลงมติวาระที่ 3 จำนวน 239 คน

กลุ่มที่ 2 ผู้ที่ร่วมลงลายมือชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่ได้ลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 แต่ได้พิจารณาลงมติในวาระที่ 2 โดยเฉพาะมาตรา 6 และพิจารณาลงมติวาระที่ 3 จำนวน 1 คน และกลุ่มที่ 3 ผู้ที่ร่วมลงลายมือชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพิจารณาและลงมติในวาระที่ 1 แม้จะไม่ได้พิจารณาและลงมติในมาตรา 6 แต่พิจารณาและลงมติในวาระที่ 3 จำนวน 10 คน หลังจากนี้ป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้สนช.ภายใน 15 วัน เพื่อดำเนินการถอดถอนต่อไป

"อุดมเดช-คมเดช-นริศร"อ่วม

นายสรรเสริญกล่าวว่า นอกจากนี้มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป 2 คน เนื่องจากร่วมลงลายมือชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรม นูญ และลงมติวาระที่ 1 แต่ไม่ได้พิจารณาและลงมติวาระที่ 2 โดยเฉพาะในมาตรา 6 และไม่ได้พิจารณาและลงมติวาระที่ 3 ขณะเดียวกันมีมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลความผิด 3 คนคือ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย นายพีรพันธุ์ พาลุสุข และนายสมพล เกยุราพันธุ์ ที่ร่วม ลงลายมือชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และได้พิจารณาและมติในวาระที่ 1 วาระที่ 2 และในวาระที่ 3 แต่ต่อมาปรากฏว่าทั้ง 3 คนถึงแก่ความตายเสียก่อน ความผิดเป็นอันระงับไป จึงจำหน่ายคดีออกจากสารบบ

เลขาธิการป.ป.ช.กล่าวว่า ที่ประชุมยัง มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาอดีต ส.ส. 3 คน ในความผิดทางอาญา ได้แก่ นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย มีพฤติการณ์ว่าสลับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายคมเดช ไชยศิวามงคล อดีตส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย และนายนริศร ทองธิราช อดีตส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย มีพฤติการณ์เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน จึงมีมติให้แยกเรื่องนี้ไปดำเนินการทางอาญา ต่อไป

สอบ"ยุทธพงศ์"เสียบบัตรแทน

นายสรรเสริญกล่าวว่า กรณีของนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย จากการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏพฤติการณ์ว่ามีส่วนร่วมกระผิดทางอาญา โดยการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน จึงมีมติควรสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือทุจริตตามตำแหน่งหน้าที่ตามมาตรา 66 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จึงให้ดำเนินการไต่สวนต่อไป

เมื่อถามว่ากรณีนี้คล้ายคลึงกับอดีต 38 ส.ว.ที่สนช.มีมติไม่ถอดถอนหรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า แม้จะเป็นความผิด ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เหมือนกัน แต่ไม่ได้ว่าซ้ำรอยกันทุกอย่าง แต่ละการกระทำจะ ไม่เหมือนกัน เวลาพิจารณาถอดถอนจะพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละการกระทำ ถ้าบอกว่าชี้มูลความผิดเฉพาะรัฐธรรมนูญ ปี 2550 อย่างเดียวจะไม่ถูกถอดถอน ไม่ใช่แบบนั้น แต่ต้องดูพฤติการณ์ของการกระทำ เรื่องนี้ป.ป.ช.เห็นว่าสามารถวินิจฉัยได้เพราะมีกฎหมายให้วินิจฉัย ส่วนการถอดถอนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เผยเพื่อไทยโดนยกเข่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มีอดีตส.ส. 258 คนถูกร้องในคดีนี้ แยกเป็นถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 250 คน ข้อกล่าวหาตกไป 2 คน คือนายยุรนันท์ ภมรมนตรี อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ อดีตส.ส.พิจิตร พรรคชาติไทยพัฒนา เสียชีวิต 3 คน และถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญา 3 คน อย่างไรก็ตาม ในจำนวนอดีตส.ส. 250 คนที่ถูกป.ป.ช.ลงมติถอดถอนครั้งนี้ พบว่ามีชื่อ พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมอยู่ด้วย 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับผู้ถูกกล่าวหาเป็นอดีตส.ส.จากพรรคเพื่อไทยจำนวน 222 คน นอกจากนั้นมาจากพรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล และพรรคประชาธิปไตย

ยืนยันทำถูก-พร้อมสู้คดี

นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส. นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มติป.ป.ช. ดังกล่าวไม่เหนือความคาดหมาย เพราะ ป.ป.ช. ให้ข่าวมีธงมาตลอด ว่าต้องดำเนินการกับ ส.ส.และ ส.ว.ที่ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่หาความผิดเพิ่มเติมในประเด็นอื่นๆ ให้ส.ส.เช่นตนเอง หลังจากนี้คงต้องเตรียมข้อมูลชี้แจงและต่อสู้ว่าได้ดำเนินการตาม ข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ รวมถึงประเพณีปฏิบัติ 

"ยืนยันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำเข้าสู่การพิจารณาไม่ใช่ร่างปลอม แต่เป็นร่างที่ปรับปรุงเนื้อหาให้สมบูรณ์ ถูกต้อง ซึ่งกรณีนี้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และอดีตส.ว.ได้ชี้แจงครบถ้วนแล้ว จึงมั่นใจว่าทำถูกต้อง ส่วนกระบวนการวินิจฉัย ตัดสิน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม" นายอุดมเดช กล่าว

ด้านนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส. สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยืนยันว่าพร้อมต่อสู้คดีตามข้อเท็จจริง เพราะไม่ได้เสียบบัตรแทนใคร เสียบบัตรให้ตัวเองเท่านั้น มีหลักฐานเป็นบันทึกการแสดงตัวต่อที่ประชุมในวันดังกล่าว

ขรก.เฮ!สนช.ผ่านกม.เงินเดือน

เมื่อเวลา 15.45 น. ที่รัฐสภา ในการประชุม สนช. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยเป็นการพิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.บัญชีเงินเดือนและอัตราเงินเดือน 5 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ฉบับที่... พ.ศ... ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ฉบับที่... พ.ศ... ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่... พ.ศ... ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ฉบับที่... พ.ศ... และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา ที่กมธ.วิสามัญเสร็จแล้ว 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงข้อสังเกตของกมธ.ว่า หลักการสำคัญของร่างพ.ร.บ.ทั้ง 5 ฉบับ เป็นเรื่องบัญชีเงินเดือน การปรับอัตราเงินเดือนให้เหมาะสมเป็นธรรม และได้มาตรฐาน โดยคำนึงถึงค่าครองชีพที่เปลี่ยนไป เพื่อแก้ไขปัญหาบางประเด็นอย่างเร่งด่วน โดยไม่เกี่ยวกับระยะยาวที่อาจต้องปรับทั้งระบบ ซึ่งในส่วนของรัฐบาลได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาบัญชีเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภททั้งระบบต่อไป เพราะในเวลาที่ผ่านมาเป็นการแยกกันปรับทำให้เกิดความลักลั่น

แขวนในส่วนทหาร-ตำรวจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่มีสมาชิกคนใดอภิปราย ประธานในที่ประชุมจึงขอมติ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบด้วยคะแนน 183 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 1 จากนั้นเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ฉบับที่... พ.ศ... ซึ่งสมาชิกติดใจในส่วนของมาตรา 4 ที่ระบุ ให้ยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหมท้าย พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.2521 

นายพรเพชรจึงสั่งพักการประชุม 30 นาที และเมื่อกลับสู่การประชุมประธานได้แจ้งว่า เนื่องจากการประชุมอยู่ในขั้นตอนการอภิปรายเรียงตามมาตราในวาระ 2 โดยมีประเด็นที่โต้เถียงกันระหว่างผู้สงวนคำแปรญัตติกับกมธ. อีกทั้งยังเกี่ยวโยง ร่างพ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะมีการแปรญัตติในทำนองเดียวกัน เพื่อความรอบคอบกมธ.รับจะไปหารือกับรัฐบาลก่อนว่า จะดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสม จากนั้นสั่งปิดการประชุมในเวลา 18.20 น.

อ.ปื๊ดยันเลือกตั้งก.พ-มี.ค.59

เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ได้แจ้งให้สมาชิกทราบถึงผลการหารือร่วมกับแม่น้ำ 5 สายว่า ตนได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า หากรัฐธรรมนูญนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 4 ก.ย. และมีผลบังคับใช้โดยไม่มีการทำประชามติ ขั้นตอนต่อจากนั้นภายใน 60 วันต้องจัดทำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับให้เสร็จ ประกอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ร.บ.ว่าด้วยการพรรคการเมือง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และจะมีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 90 วัน เรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน 30 วัน รวมเวลา 180 วัน ซึ่งคาดว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนก.พ.และมี.ค.2559 ดังนั้น ไม่ใช่การอยู่ยาวถึง 8 เดือนเพื่อสืบทอดอำนาจตามที่เป็นข่าว

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการส่งร่างรัฐธรรมนูญให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) พิจารณา ตามกำหนดจะเป็นวันที่ 17 เม.ย. ตนได้หารือกับนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. แล้วเห็นว่าควรส่งร่างรัฐธรรม นูญทั้งฉบับให้สมาชิกสปช. พิจารณาเพื่อให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนก่อน จากนั้นจะนัด ประชุมสปช. เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 20-26 เม.ย. โดยไม่เว้นช่วงการ ประชุมสนช. ซึ่งเท่าที่หารือกับนายพรเพชร วิชิต ชลชัย ประธานสนช. เบื้องต้นสนช. จะงดประชุมในช่วงสัปดาห์ที่สปช. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ

กำหนดเกณฑ์โอเพ่นลิสต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นกมธ.ยกร่างฯได้ประชุมพิจารณาทบทวนร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์ เป็นวันที่ 4 โดยพิจารณาต่อเนื่องในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี ในหมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 85-117 ส่วนใหญ่ยังคงหลักการเดิม แต่มีบางมาตราที่กมธ.ยกร่างฯ กำหนดเจตนารมณ์เพิ่มเติม คือมาตรา 105 การเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือแบบโอเพ่น ลิสต์ ที่ให้สิทธิประชาชนจัดอันดับผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อให้เข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ตามลำดับที่ประชาชนต้องการได้ ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดเจตนารมณ์เพื่อให้เป็นภาคปฏิบัติ คือ กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่จัดลำดับหรือระบุให้ผู้ใดเป็นส.ส.ถือว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นสละสิทธิการจัดลำดับ โดยไม่ถือว่าบัตรเลือกตั้งเป็นบัตรเสีย 

ส่วนเกณฑ์การนำคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งจัดลำดับผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น เบื้องต้นจะกำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ที่จะระบุชัดเจนว่าจะนับการจัดลำดับโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งหากมีผู้ลงคะแนนจัดลำดับเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ แต่หากลงคะแนนจัดลำดับน้อยกว่า จะให้ยึดตามการจัดลำดับผู้สมัครของพรรคการเมือง

3 หน่วยงานชงข้อเสนออนุกมธ.

เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา อนุกมธ.กรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 8 ที่มีพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นประธานการประชุม เชิญตัวแทนจากองค์กรอิสระ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง และนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม.ด้าน สิทธิพลเมือง สิทธิการเมืองและสิทธิชุมชน และผู้ตรวจการแผ่นดิน มีนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้ารับฟังคำชี้แจงและแสดงความ คิดเห็นต่อการกำหนดอำนาจหน้าที่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

นายสมชัยแถลงหลังเข้าเสนอความคิดเห็นว่า ตนนำความเห็นร่วมกันของกกต.ทั้ง 5 คน มาเสนอต่ออนุกมธ.ชุดที่ 8 โดยยืนยันว่า คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง(กจต.) ที่มอบอำนาจให้ปลัดกระทรวงทั้ง 7 รับผิดชอบการจัดเลือกตั้งนั้น จะไม่นำไปสู่การเลือกตั้งที่เป็นกลาง เพราะ กจต.มาจากข้าราชการประจำ อาจถูกอิทธิพลจากนักการเมือง โดยให้รัฐมนตรีประจำกระทรวงที่เกี่ยวข้องสั่งการผ่านปลัดกระทรวงได้ แม้จะชี้แจงว่าปลัดกระทรวงมีอำนาจรักษาการหลังรัฐบาลยุบสภาไปแล้ว ก็จะปลอดจากการแทรกแซงโดยฝ่ายการเมืองได้ แต่เป็นไปได้ว่าปลัดกระทรวงอาจถูกนักการเมืองครอบให้ตั้งคนของตัวเองเป็น กจต.ได้ 

กกต.ลุยสกัดอำนาจกจต.

นายสมชัยกล่าวว่า ตนจึงเสนอต่ออนุ กมธ.ว่า หากเป็นไปได้ ไม่จำเป็นต้องมี กจต. แต่หาก กมธ.ยกร่างฯ จะให้มี ก็ต้องเปลี่ยนการได้มาของ กจต.ใหม่ เพื่อให้รอดพ้นจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง ด้วยการกำหนดให้ปลัดกระทรวงทั้ง 7 เสนอชื่อผู้ที่จะเป็น กจต.มา 3 รายชื่อ เพื่อส่งให้ กกต.พิจารณาตรวจสอบประวัติความเหมาะสม ก่อนที่ กกต.จะเลือกให้เหลือเพียงคนเดียว และให้ กกต.มีอำนาจปลด กจต.ได้

นายสมชัยกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีบางส่วนที่ยังไม่สามารถปิดช่องว่างจากปัญหาที่เคยเกิดขึ้นได้ครบถ้วนทั้งหมด จึงเสนอแนะข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับ กกต.ทั้งการกำหนดวันเลือกตั้ง การรับสมัครเลือกตั้ง การประกาศผลคะแนนและการรับรองผลการเลือกตั้ง ที่เห็นว่ายังมีช่องว่างอยู่ ซึ่งอนุ กมธ.รับปากว่าจะนำข้อเสนอต่างๆ ไป เสนอต่อ กมธ.ยกร่างฯ ต่อไป และหากส่วนไหนปรับแก้ไขได้ก็จะดำเนินการให้ 

เมื่อถามว่าได้เสนอความเห็นเรื่องการยกเลิกให้ กกต.มีอำนาจแจกใบแดงหรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า กกต.ไม่ได้หวงอำนาจ แต่ยืนยันว่า อำนาจการแจกใบแดงแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งก่อนประกาศผลเลือกตั้ง ยังมีความจำเป็น เพราะหากมีอำนาจให้แค่ใบเหลือง นักการเมืองจะไม่เกรงกลัว ยังคงมีเงินมาซื้อเสียง จากสถิติการให้ใบเหลืองของ กกต. พบว่าผู้ที่ได้ใบเหลืองก็กลับมาชนะเลือกตั้งได้ 100 เปอร์เซ็นต์ 

กสม.ค้านชนฝาไม่รวมผู้ตรวจฯ

เวลา 16.30 น. ที่รัฐสภา นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. แถลงว่า ตนเข้าให้ข้อมูลกับอนุ กมธ. คณะที่ 8 ทั้งข้อเท็จจริงและเอกสารการทำงานของ กสม. ใน 3 ข้อคือ 1.กสม.ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐและเอกชน โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนที่ไม่ได้มีแค่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังต้องปฏิบัติโดยคำนึงถึงหลักที่ใช้กัน ทั่วโลกตามที่ไทยเป็นพันธกรณี จึงไม่สามารถนำมาควบรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดินได้ เพราะมีหน้าที่ต่างกัน รวมถึงการบริหารจัดการ อีกทั้งผู้ตรวจการฯ ทำงานแยกเป็นเอกเทศ แต่ กสม.ทำงานเป็นกลุ่ม จึงมีลักษณะต่างกัน

แนะปรับปรุงประสิทธิภาพงาน

2.กสม.ทำหน้าที่เชิงรุกในการเสนอนโยบายและกฎหมายต่างๆ ซึ่งผู้ตรวจการฯ ไม่ได้ทำหน้าที่ลักษณะนี้ และ 3.กสม.มีหน้าที่ทำให้สังคมดำเนินการตามแผนและให้การศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งถ้านำ 2 หน่วยงานมาควบรวม จะเกิดปัญหาส่ง ผลกระทบต่อเรื่องการพิทักษ์สิทธิให้กับประชาชน ซึ่ง กสม.ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่เชื่อมโยงกับองค์สิทธิมนุษยชนนานาชาติเพื่อปกป้องสิทธิคนทั่วโลกด้วย 

นพ.นิรันดร์กล่าวว่า อนุ กมธ.จะรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดเสนอต่อ กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาภายใน 60 วัน โดยหลังวันที่ 25 พ.ค. กมธ.ยกร่างฯ จะทบทวนความเห็นที่ประมวลจากแม่น้ำอีก 4 สาย และหน่วยงาน อื่นๆ จึงหวังว่า กมธ.ยกร่างฯ จะกรุณาทบทวนการควบรวม 2 หน่วยงานดังกล่าว ถ้าแยกกันจะเกิดประโยชน์กับประชาชนมากกว่า จึงขอให้ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของ กสม.จะเหมาะสมกว่า 

ค้านนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายอานนท์ นำภา และนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ พร้อมมวลชนประมาณ 10 คน ยื่นหนังสือถึงนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เรียกร้องให้ศาลยุติธรรมธำรงไว้ซึ่งอำนาจตุลาการตามระบอบประชาธิปไตย และยุติการนำพลเรือนขึ้นสู่การพิจารณาคดีในศาลทหาร โดยมีเจ้าหน้าที่ศาลอาญาเป็นตัวแทนรับหนังสือดังกล่าวไว้

นายอานนท์ กล่าวว่า กลุ่มพลเมืองโต้กลับขอเรียกร้องให้ข้าราชการตุลาการและศาลยุติธรรมตระหนักถึงอำนาจตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ยินยอมให้คดีของพลเรือนตกอยู่ในกระบวนการของศาลทหาร และขอให้คดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาแทน ซึ่งพวกเราเชื่อมั่นในอำนาจของศาลยุติธรรมมากกว่า ส่วนการที่พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน นัดหมายให้พวกตนไปรายงานตัววันที่ 16 มี.ค. เรื่องฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)กรณีจัดกิจกรรมที่หน้าหอศิลป์ ตนไม่คิดว่าจะโดนแจ้งข้อหาเพิ่มหรือมีผลในเรื่องการปล่อยชั่วคราวในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.แต่อย่างใด เพราะไม่ได้มีเงื่อนไขกำหนดไว้

ด้านนายพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ในวันที่ 14-16 มี.ค. ทางกลุ่มจะจัดกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน" ตามแนวคิดเมื่อความยุติธรรมไม่มาก็เดินหน้าไปหามัน โดยจะเริ่มเดินจากบางบัวทอง จนถึงสน.ปทุมวัน รวมระยะทาง 50 กิโลเมตร กิจกรรมดังกล่าวไม่น่าจะขัดต่อกฎอัยการศึก เพราะเป็นการเดินเพื่อไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน

จับแล้ว"เดียร์"คดีปาบึ้มศาล

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ปาระเบิดใส่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ทั้งวันก่อเหตุและกรณีเจ้าหน้าที่ระบุการข่าวมีการประกบกันมาตั้งแต่ต้น แต่กลับยังมีเหตุนี้เกิดขึ้นว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และการติดตามข้อมูลข่าวสารมีวงรอบในการปฏิบัติ รวมถึงมีความน่าเชื่อถือของข่าว และมีความเป็นไปได้ของแหล่งข่าวหลายอย่างประกอบกัน มันคงไม่สามารถชี้ชัดได้ถูกต้องทั้งหมดว่าจะก่อเหตุที่ไหน อย่างไร เมื่อไร แต่มีภาพข่าวในระดับหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องนำมาปะติดปะต่อพอให้กำหนดสมมติฐานครอบคลุมทิศทางที่จะพาดพิงไปถึง เพื่อเพิ่มการระมัดระวังในแต่ละจุดหรือแต่ละเรื่อง ดังนั้น ถ้านายจตุพรไม่เคยทำงานเรื่องนี้มาก่อนก็อย่าไปวิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ 

ด้านนายจตุพร กล่าวว่า ยืนยันว่าการก่อเหตุครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับทางกลุ่มนปช. และ ขอเตือนไปยังแกนนำนปช.ทุกคนว่าอย่าหลงเชื่อหากมีคนโทรศัพท์มาขอให้โอนเงินผ่านบัญชีธนาคารเพื่อใช้ในการเคลื่อนไหว โดยอ้างว่าเป็นการ์ดของกลุ่มนปช. ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ตนในฐานะประธานนปช. ขอย้ำว่าขณะนี้กลุ่ม นปช.จะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆที่จะทำให้เกิดการเผชิญหน้ากัน 

รายงานข่าวแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับได้เพิ่มอีก 1 รายคือ นายณเรศ อินทรโสภา เจ้าของร้านนมสดในจ.ขอนแก่น ผู้จัดสถานที่ในการประชุมวางแผน และเป็นผู้รับเงินค่าจ้าง 2 หมื่นบาท จากน.ส.เดียร์ และยังควบคุมตัวน.ส.เดียร์ ที่นายมหาหิน ขุนทอง ให้การซัดทอดว่าเป็นผู้จ้างวานได้ที่จ.มุกดาหาร เมื่อช่วงเวลาประมาณ 12.00 น.วันเดียวกันนี้ ต่อมาทราบชื่อผูัถูกจับกุมคือ นางวาสนา บุษดี แต่ยังไม่ยืนยันว่าจะเป็นคนเดียวกับน.ส.เดียร์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทหารจะนำตัวผู้ที่ร่วมก่อเหตุที่ครบกำหนดการควบคุมตัว 7 วันตามกฎอัยการศึก 4 รายคือ นายมหาหิน ขุนทอง นายยุทธนา เย็นภิญโญ นางสาวณัฏฐพัชร์ อ่อนมิ่ง และนางสาวธัชพรรณ ปกครอง มาส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่บช.น. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 13 มี.ค.

ผู้ต้องหาในคดีปาระเบิดใส่ศาลอาญารัชดาที่ถูกออกหมายจับมีทั้งหมด 9 ราย และถูกควบคุมตัวได้แล้วทั้งสิ้น 7 รายคือ นายมหาหิน นายยุทธนา น.ส.ณัฏฐพัชร์ น.ส.ธัชพรรณ นายณเรศ อินทรโสภา นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน และนายวิชัย อยู่สุข รวมถึงควบคุมตัวผู้เกี่ยวข้องอีก 1 รายคือ น.ส.เดียร์ คาดว่าพนักงานสอบสวนยังอยู่ระหว่างการขออนุมัติออกหมายจับ

ไล่ออก2ขรก.พาณิชย์พิษจีทูจี

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่กระทรวงพาณิชย์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ว่า ที่ประชุมพิจารณาตามเอกสารที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอมายังกระทรวงพาณิชย์ ให้ข้าราชการและอดีตข้าราชการ 3 คนของกระทรวง มีโทษไล่ออก ไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญเนื่องจากมีส่วนร่วมเอื้อให้บริษัทเอกชนจากจีนเข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับกรมการค้าต่างประเทศ ทั้งที่บริษัทดังกล่าวไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของจีน ถือว่าเข้าข่ายทำให้กรมการค้าต่างประเทศและประเทศเสียหาย เป็นการทุจริตร้ายแรง จึงต้องได้รับโทษดังกล่าว 

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ข้าราชการ 2 ใน 3 คน ยังรับราชการอยู่คือนายทิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงศ์ ทีปวัชระ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือการค้าและการลงทุน ซึ่งช่วงดังกล่าวดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ หลังจากอ.ก.พ.มีมติแล้ว สามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ส่วนนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเกษียณอายุแล้ว อ.ก.พ.ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่หลังมีมติ จะนำไปสู่การดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อไป หากศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง สำหรับอดีตข้าราชการก็จะระงับการจ่ายบำนาญได้

"การมีมติครั้งนี้ หากพิจารณาตามหนังสือชี้มูลความผิดตามที่ป.ป.ช.ส่งมานั้น ที่ชี้ว่าทำทุจริตอย่างร้ายแรง ทำให้อ.ก.พ.ไม่สามารถพิจารณาในทางอื่นได้ เพราะต้องยึดตาม ข้อปฏิบัติระเบียบข้าราชการ ปี 2551 และมติครม.ปี 2536 ที่ระบุไว้กรณีข้าราชการกระทำความผิดฐานทุจริต ให้มีมติโทษสถานเดียวคือ ไล่ออก และไม่ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ ซึ่งผมรู้สึกเสียใจมากที่ต้องประชุมเพื่อตัดสินเรื่องนี้ เพราะตั้งแต่รับราชการมาไม่เคยไล่ใครออก เข้าใจว่าข้าราชการควรทำตามคำสั่ง แต่หากคำสั่งของฝ่ายการเมืองไม่ถูกต้อง ข้าราชการก็มีสิทธิ์ไม่ทำตามได้ แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากหากข้าราชการมีความอ่อนไหว" พล.อ. ฉัตรชัยกล่าว

ทั้งนี้ การพิจารณาโทษดังกล่าว อ.ก.พ.กระทรวงพาณิชย์ได้เข้าร่วมประชุม 9 คน จากทั้งหมด 11 คน พิจารณาเอกสารกว่า 500 หน้า ตั้งแต่เวลา 14.30-17.00 น. ก่อนจะมีมติดังกล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!