- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 11 March 2015 12:03
- Hits: 3774
วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8869 ข่าวสดรายวัน
กมธ.ฉะโพลตัวเอง ยันไม่ได้ถามถึง นายกฯคนนอก ทนายมาร์คโยน คำสั่งเทือก-ปี 53
ตีปี๊บ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ โชว์จดหมายข่าวเผยแพร่ผลงานรัฐบาล รูปแบบสิ่งพิมพ์ขนาดแท็บลอยด์ พิมพ์ 1 หมื่นฉบับต่อสัปดาห์ เตรียมแจกจ่ายตามที่สาธารณะ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 มี.ค. |
'มาร์ค-เทือก'ส่งทนายเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากป.ป.ช. คดีสลายม็อบปี'53 ทนายความอดีตนายกฯ บอกไม่หนักใจ ระบุชัดช่วงเหตุการณ์ 'สุเทพ' เป็นคนเซ็นคำสั่งทั้งหมด 'บิ๊กตู่' ยันหมู่บ้านเสื้อแดงหมดไปแล้ว รัฐบาลแจกจดหมายข่าว 1 หมื่นฉบับ เผยแพร่ผลงาน เตรียมจัดพิมพ์ทุกสัปดาห์'บวรศักดิ์' ติง 'ถวิลวดี' เปิดผลโพลค้าน นายกฯคนนอก-ส.ว.ลากตั้ง โดยไม่หารือกมธ.ยกร่างฯ ย้ำยังให้กกต.มีหน้าที่จัดเลือกตั้ง ครั้งหน้า มติกกต.เอาผิดอาญา'ยงยุทธ ติยะไพรัช' กับ 'เทพไท'ปมช่วยญาติหาเสียงเลือกนายก อบจ.
มาร์ค ส่งทนายรับข้อกล่าวหา
เวลา 09.30 น. วันที่ 10 มี.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายบัณฑิต สิทธิพันธุ์ ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ รับ ผิดชอบคดีถอดถอนการสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2553 เข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการป.ป.ช.
นายบัณฑิตให้สัมภาษณ์หลังรับทราบข้อกล่าวหาว่า มารับทราบข้อกล่าวหาในส่วนการสั่งสลายการชุมนุม และการประกาศพ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เท่าที่ดูระเบียบกฎหมายไม่หนักใจ คำสั่งต่างๆ นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯขณะนั้น เป็นคนเซ็นและผ่านขั้นตอนถูกต้องทุกอย่าง เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งหมด ไม่มีคำสั่งด้วยวาจา
ส่วนที่มีผู้บริสุทธิ์สูญเสียชีวิตด้วยเนื่อง จากไม่ยอมปรับแผนปฏิบัติการนั้น นายบัณฑิต กล่าวว่า การปรับแผนมีแน่นอน เนื่องจากขณะ นั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. รายงานไว้ เราจะนำมาผนวกรวมในการชี้แจงข้อกล่าวหาด้วย แต่รายละเอียดยังไม่สามารถพูดได้
โยน'สุเทพ'เป็นคนเซ็นคำสั่ง
เมื่อถามว่านายอภิสิทธิ์ระบุคนที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุดคือพล.อ.อนุพงษ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะนำมาเป็นพยานด้วยหรือไม่ นายบัณฑิตกล่าวว่า จริงๆ มีมากกว่านั้น แต่ต้องดูก่อนว่า ป.ป.ช.จะเชิญใครมา มีพยาน กี่คน ยังบอกไม่ได้ แต่เรายังมีเวลา 15 วัน จะรีบทำให้เสร็จ ทั้งนี้หากใครไม่มาด้วยตัวเองก็ชี้แจงเป็นเอกสารได้ หาก ป.ป.ช. เห็นว่ายังชี้แจงไม่พอก็อาจเชิญมาด้วยตัวเอง
ส่วนที่คนเกี่ยวข้องกับคดีมีอำนาจอยู่ในขณะนี้นั้น นายบัณฑิตกล่าวว่า ป.ป.ช.คงไม่คำนึงถึงจุดนี้ คงไม่หวั่นไหว คนที่มีอำนาจในปัจจุบันหากจำเป็นก็ต้องเรียกมา ตำแหน่งหน้าที่คงไม่เกี่ยว ถ้าเกี่ยวข้องกับพยานปากใดหรือข้อเท็จจริงส่วนใดก็ต้องมาให้ปากคำ
ส่วนนายอภิสิทธิ์จะชี้แจงข้อกล่าวหาด้วยตัวเองหรือไม่ นายบัณฑิตกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับป.ป.ช. เบื้องต้นยังไม่ได้หารือกัน ต้องรอประชุมกันใน 15 วัน โดยวันที่ต้องมาชี้แจงข้อกล่าวหาคือวันที่ 25 มี.ค.นี้ ส่วนนายสุเทพ ก็ประสานกันอยู่เพราะแนวทางเดียวกัน เพียงแต่นายอภิสิทธิ์ไม่ได้ลงนาม แต่นายสุเทพ ลงนาม ซึ่งนายสุเทพอาจต้องชี้แจงรายละเอียดลึกลงไปอีก
อ้างสลายม็อบปี 51 กับ 53 ต่างกัน
เมื่อถามว่าในแง่ความรับผิดชอบทางกฎหมายระหว่างนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ จะแตกต่างกันอย่างไร นายบัณฑิตกล่าวว่า ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีกฎหมายคุ้มครอง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอยู่แล้ว ส่วนจะคุ้มครองได้จริงหรือไม่ก็แล้วแต่ ป.ป.ช. ว่าข้อเท็จจริงแค่นี้จะพอรับฟังได้หรือไม่ ส่วนจะนำคำพิพากษาศาลในคดีก่อการร้ายมาใช้เป็นหลักฐานหรือไม่นั้น ต้องดูก่อน หากพบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับส่วนใด เราคงต้องเขียนพาดพิงและเสนอต่อ ป.ป.ช. เพราะเอกสารเรามีเยอะ
เมื่อถามว่า แรงกดดันต่อ ป.ป.ช.จะทำให้การตัดสินโอนเอนไปหรือไม่ นายบัณฑิต กล่าวว่า ช่วงที่ทำคดียุบพรรคก็มีแรงกดดันแต่ไม่ห่วง ห่วงอำนาจนอกระบบและกระแสกดดันภายนอกมากกว่า เนื่องจากเราใช้ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ซึ่งกรณีสลายชุมนุมปี 2551 และปี 2553 แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรปี 2551 เขาไม่มีอาวุธ และช่วงนั้นไม่ได้ประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แต่การสลายชุมนุมปี 2553 มันคนละเรื่อง มีชายชุดดำ จะเถียงได้อย่างไรว่าไม่มี สื่อต่างชาติก็รายงาน ขนาดอยู่ต่างประเทศ ยังเห็น ดังนั้นข้อเท็จจริงมันต่างกัน
"คนพูดมันพูดได้ แต่ 2 มาตรฐานมันอย่างไร 2 มาตรฐานมันขึ้นกับว่าข้อเท็จจริงเดียวกันแต่ตัดสินคนละอย่างกัน แต่นี่ข้อเท็จจริงต่างกัน จะอ้างกันได้อย่างไร เห็นอ้างกันเหลือเกิน" นายบัณฑิตกล่าว
ทนายยัน'เทพเทือก'ชี้แจงเอง
ช่วงบ่าย นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ทนาย ความของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพระสุเทพ ปภากโร อดีตรองนายกฯ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีสลายการชุมนุม กลุ่มนปช. ปี 2553 จากคณะกรรมการป.ป.ช.
นายทวีศักดิ์กล่าวว่า แนวทางการต่อสู้คดีนั้น ต้องว่าตามเนื้อผ้าและข้อเท็จจริง วันนี้ได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว แต่ยังไม่ได้ขอคัดสำนวน ส่วนพยานอยู่ระหว่างการเตรียมการว่าจะเสนอชื่อบุคคลใดเป็นพยานในคดี จากนี้ภายใน 15 วัน นายสุเทพจะมาแก้ข้อกล่าวหาด้วยตัวเอง
'อภิสิทธิ์'อ้างคุย'อนุพงษ์'แล้ว
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค กล่าวว่า หลังจากทีมทนายรับทราบข้อกล่าวหาแล้วจะขอคัดสำนวนเพื่อตรวจสอบว่าป.ป.ช.เชิญใครไปให้ปากคำแล้วบ้าง และอ้างเอกสารใดในการกล่าวหาเพื่อเตรียมคำชี้แจงภายใน 15 วัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจว่าจำเป็นต้องขอสืบพยานเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้ามีเอกสารที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานทั้งหมดแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องขอสืบพยานเพิ่ม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ. อนุพงษ์ แล้ว โดยพล.อ.อนุพงษ์มอบเอกสารที่เกี่ยวข้องให้เพื่อใช้เป็นหลักฐานชี้แจงต่อ ป.ป.ช. และเชื่อว่าพล.อ.อนุพงษ์ พร้อมเป็นพยาน แต่คิดว่าอาจไม่จำเป็นเพราะเอกสารน่าจะเพียงพอแล้ว ทั้งนี้ ไม่คิดจะอ้างรายงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถาน การณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ด้วย เนื่องจากนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ เชื่อถือไม่ได้ เพราะจัดทำรายงาน 2 ครั้งไม่ตรงกันหลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ครั้งแรกระบุมีการก่อการร้ายที่รัฐต้องควบคุมสถานการณ์ แต่ต่อมา กลับแจ้งข้อกล่าวหาตนและนายสุเทพ ว่ามีความผิดฐานร่วมกันก่อ หรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำ หรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยายามฆ่า ผู้อื่นโดยเจตนา ซึ่งศาลชั้นต้นยกฟ้องไปแล้วเนื่องจากฟ้องผิดศาล เหมือนที่ตนพยายามทักท้วงมาตลอดว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ ดีเอสไอ แต่เป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ตามกระบวนการที่ดำเนินอยู่ขณะนี้
รัฐบาลออกจดหมายข่าว
เวลา 08.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ตึกบัญชาการ 1 ก่อนประชุม ครม. กรมประชาสัมพันธ์นำจดหมายข่าวรัฐบาล "เพื่อประชาชน" ฉบับแรกความหนา 8 หน้า แจกให้กับสื่อมวลชน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เพื่อเผยแพร่ผลงานรัฐบาล โดยจะแจกจ่ายในพื้นที่สาธารณะ จำนวน 10,000 เล่ม อาทิ รถไฟฟ้า ป้ายรถประจำทางให้ประชาชนรับทราบถึงการทำงานของรัฐบาลว่าดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งจะจัดพิมพ์ทุกสัปดาห์ตามที่นายกฯ สั่งการในที่ประชุมครม.สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จดหมายข่าวฉบับแรกชี้แจงนโยบายที่อยู่ในความสนใจ เช่น การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและมติครม.ที่สำคัญ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ตีปี๊บผลงานผ่านวอตส์แอพ
เวลา 13.40 น. พล.อ.ประยุทธ์ แถลงหลังประชุมครม. ถึงการเผยแพร่จดหมายข่าวรัฐบาล "เพื่อประชาชน" ว่า เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลทำอะไรบ้าง ฉบับแรกยังไม่ครบต้องแก้ไขอีกพอสมควร เพราะมีทั้ง 19 กระทรวงที่ต้องรายงานผลงานต่างๆ การทำเอกสารดังกล่าวไม่ได้ต้องการโชว์ผลงาน แต่ให้รู้ว่ารัฐบาลทำอะไรไปบ้าง โดยเฉพาะในสิ่งใหม่ จะได้มีหลักฐานมากกว่าการตอบคำถามกับสื่อของตน บางครั้งประชาชนอาจไม่เข้าใจ
นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งสร้างการรับรู้ ทุกอย่างต้องเดินภายใต้กฎหมายและการรับรู้ รวมทั้งจัดเตรียมคณะทำงานบริหารราชการ ตอนนี้ในวอตส์แอพ เริ่มแจ้งข้อมูลในโทรศัพท์ มากขึ้น รัฐบาลจะใส่ข้อมูลต่างๆ เข้าไปในทุกกระทรวง ทบวง กรม ใครอยากดูเรื่องงบประมาณก็ดูได้ ไล่ดูว่ามีการเปิดโครงการที่ไหนอย่างไรบ้าง
บิ๊กตู่จะพูดดีๆ อารมณ์เย็นๆ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการประชุมแม่น้ำ 5 สายในวันที่ 11 มี.ค.นี้ว่า หารือเรื่องการปฏิรูปและการออกกฎหมายของ คสช.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และการประชุม ครม.วันนี้หารือถึงงานด้านความมั่นคง ซึ่งตนเน้นย้ำให้ระวังการก่อเหตุรุนแรง ถ้าบ้าน เมืองยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างปัจจุบัน ก็คงลำบาก ทำอะไรก็ลำบาก ไม่ต้องการให้เกิดเหตุลักษณะนี้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ต้องขอบคุณ ตำรวจ ทหาร พลเรือนที่ช่วยกัน รวมทั้งประชาชนที่ช่วยกันแจ้งเหตุและสิ่งผิดปกติต่างๆ
"ผมพยายามดูแลพิจารณาทุกอย่าง โพลหรือข่าวในหนังสือพิมพ์ ผมตัดเก็บมาทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนมาก จากนั้นมาหารือในที่ประชุม ครม. ผมทำทุกอย่าง และหลังจากนี้จะพูดในประเด็นต่างๆ จดรายละเอียดจะได้ไม่ลืม อาจช้าไปบ้างแต่พูดเร็วไปก็ไม่ดี พูดเร็วเดี๋ยวก็กลายเป็นเหยื่อ จากนี้ไปจะพูดให้ดี อารมณ์เย็นๆ" นายกฯ กล่าว
ถกแม่น้ำ 5 สายสรุปคดีทุจริต
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามามีปัญหาให้แก้จำนวนมากโดยเฉพาะคดีต่างๆ ที่ยังคาราคาซังทั้งคดีก่อนหรือหลังวันที่ 22 พ.ค. 2557 วุ่นไปกันหมดเรื่องเงินทอง ถ้าไม่มีรัฐบาล คสช.เข้ามา มันจะเกิดอะไรขึ้น หลายอย่างคงไม่ได้ผ่านออกมา วันนี้รัฐบาลจึงพยายามออกกฎหมายหรือบางอย่างก็ขอว่าอย่าตื่นตระหนก เพราะรัฐบาลมีมาตรการ ที่พร้อมดูแลทั้งด้านการเงินและผู้ได้รับผล กระทบต่างๆ ขอร้องว่าอย่าไปตีกันเลย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอชื่นชมผู้ว่าฯเชียงใหม่ที่จัดพบปะประชาชน มีประชาชน นิสิต นักศึกษาสอบถามทั้งกฎอัยการศึก สิทธิเสรีภาพต่างๆ ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ตอบได้ดีและไม่ได้เข้าข้างตน ชี้แจงว่าสถานการณ์ช่วงนี้เป็นอย่างไร เหมือนซื้อรถคันใหม่ เคยมีรถคันเก่าที่วิ่งอันตราย ขับช้าบ้างเร็วบ้าง วันนี้ซื้อ รถใหม่ เบรกดี คนขับก็ดี ต้องลองดูว่ารถคันนี้จะดีหรือไม่ บังเอิญรถคันนี้ตนเป็นคนขับ ก็พยายามลดการขับแบบสะวี้ดสะว้าดลง ยอมรับว่าที่ผ่านมาตนอาจเร็วไปนิดหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องสร้างความเข้าใจ ต้องสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมอบให้กระทรวงการต่างประเทศทำในหลายมิติ
นายกฯ กล่าวว่า การประชุมแม่น้ำ 5 สายวันที่ 11 มี.ค. จะสรุปให้ฟังว่าการทุจริตมีอะไร บ้างและเราทำอะไรไปบ้าง ขอร้องอย่าเร่งรัดกันเลย ให้โอกาสแก้ไขและต่อสู้คดีกัน แต่อะไรที่เป็นกติกาก็ต้องเป็นกติกา ถ้ายอมรับในความผิดที่ชัดเจนก็ต้องทำให้ได้
ยันหมู่บ้านเสื้อแดงไม่มีแล้ว
นายกฯ กล่าวว่า การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ต้องปรับใหม่ทั้งหมด เรื่องระเบียบการบริหารจัดการถ้าการเมืองไปแทรกแซงมากเกินไปมันไม่ใช่ ความจริงมีหน้าที่แค่ดูแลไม่ให้ทุจริตและขับเคลื่อนคน ตอบแทนความดีความชอบ มีธรรมาภิบาล จะทำให้ประเทศเดินต่อไปได้ แต่การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ก็ต้องมีคะแนนเสียงเป็นหลัก
เมื่อถามว่า แนวคิดเรื่องหมู่บ้านเสื้อแดงต่างๆ ยังมีอยู่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มันหายไปหมดแล้ว จะเหลือเพียงที่อยู่ในสมอง เพราะมีบางคนถูกซึมลึกเข้าไป ซึ่งมี 2 อย่างคือถูกล้างสมองไปเลย กับสิ่งตอบแทนต่างๆ แต่ต้องยอมรับว่าเริ่มลดลง เวลาไปไหน ตนจะถามผู้คนตลอดว่าเป็นอย่างไร บางพื้นที่เป็นกลุ่มแดงเก่า ตนไม่อยากเอ่ยชื่อ มันแยกคนไม่ได้ เป็นคนไทยด้วยกัน ก็กลับมาเป็นคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์โดยไม่ได้เป็นพวกใคร แล้วสนับสนุนรัฐบาลที่ดี ตนไม่ได้บอกว่าตนดี แต่ต้องหารัฐบาลที่ดีมาให้ได้ในวันหน้า ทุกฝ่ายก็สนับสนุนแก้ไขปัญหา มีการเริ่มต้นไว้ให้ แม้จะมีความขัดแย้งอยู่บ้าง
"สื่อไม่เข้าใจผมก็หงุดหงิดบ้างเป็นธรรมดา เวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงก็เป็นอย่างนี้ แต่เราไม่ได้ทะเลาะกันถึงกับมาตีหรือฆ่ากัน แบบที่ต่างชาติเป็น ประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. จนมาถึงขณะนี้ยังไม่มีปัญหากันเลย ขอร้องให้ช่วยกัน ที่ข่าวต่างประเทศนำเสนอว่าเรานำคน 3,000-4,000 คนมากักขัง ยืนยันว่าไม่มี" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เสรีภาพ 100%ให้รอรบ.ใหม่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนกระทรวงมหาดไทยก็เดินหน้าทำความเข้าใจในพื้นที่ต่างๆ คสช.ก็ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจในทุกหมู่บ้าน แต่สื่อเขียนว่าทหารไปเอาปืนจ่อหัว ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง จะได้อะไรขึ้นมา จะเป็นสีอะไรตนไม่รู้แต่รัฐบาลต้องดูแลทุกสี คนที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายรัฐบาลพร้อมดูแล ทั้งหมด แต่ใครที่ทำผิดกฎหมายต้องให้กระบวน การยุติธรรมตัดสินว่าถูกหรือผิด ถ้าจบคดีแล้วไม่มีความผิดก็เป็นสีสะอาดเท่านั้นเอง
นายกฯ กล่าวว่า ถ้าถามว่าทำอย่างไรเราจะมีเสรีภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ พูดอะไรก็ได้ ต้องบอกว่าให้รอมีรัฐบาลใหม่ วันนี้ขอกันแค่นี้ แต่ตนไม่ได้ห้ามทุกอย่าง ส่วนในรายการคืนความสุขให้คนในชาตินั้น ตนคงพูดต่อไป ให้ไปถามคนส่วนใหญ่เขายังอยากฟังตนหรือไม่ ถ้าใครไม่อยากฟังก็เปลี่ยนไปฟังช่องอื่น ยืนยันว่าวันนี้ยังมีคนฟังตนอยู่ ตนเบื่อประเทศ ไทยไม่ได้ ถ้าเบื่อเมื่อไรตนก็ไป ไม่ต้องรอให้มาไล่ แต่อย่าลืมว่าประเทศไทยคืออนาคตของลูกหลานทุกคน และจะต้องไม่เกิดเหตุการณ์เก่าขึ้นอีก รวมทั้งไม่เกิดเหตุการณ์อย่างต่างประเทศที่รบกัน แต่ถ้าเราปล่อยเหตุการณ์ก็จะลาม ตนไม่ได้ขู่เพราะมันพร้อมจะเกิดและไม่มีประเทศไหนที่เป็นประชาธิปไตยแล้วมีระเบิดอย่างนี้ ไม่มีเอ็ม 16 มายิงกัน และระเบิดอาร์จีดี ทหารและตำรวจก็ไม่ได้ใช้ ไม่รู้เอามาจากไหนก็ต้องไปสืบหาดู
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการต่ออายุคณะ กรรมการป.ป.ช.ว่า หารือกันอยู่ว่าจะเป็นอย่างไร ต้องฟังความคิดเห็นจากหลายส่วน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งต้องมีการคัดสรรใช่หรือไม่ แต่ช่วงนี้ต้องดูว่าอำนาจคัดสรรมีหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญหายไป เรื่องนี้อย่าให้เป็นประเด็นเลย ใครเป็นก็ทำหน้าที่เหมือนกัน
แจงหัวข้อถกแม่น้ำ 5 สาย
ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการ กมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือวิปสปช. แถลงว่า การประชุมร่วมกันของแม่น้ำ 5 สาย วันที่ 11 มี.ค. เวลา 13.30 น. ที่ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต โดย สปช.กับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเจ้าภาพร่วม ซึ่งสปช. จะรายงานความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องวาระการปฏิรูปที่สำคัญและแนวทางบริหารจัดการของสปช. (Blueprint for change) นำเสนอโดยนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกมธ.วิสามัญ จัดวิสัยทัศน์และออกแบบประเทศไทย
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่แม่น้ำทั้ง 5 สายจะได้เห็นทิศทางและยุทธ ศาสตร์ปฏิรูปประเทศด้วย โดยจะจัดทำเป็นรูปเล่มรายงานเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งเสมือนเป็น เข็มทิศและกรอบอนาคตของประเทศ ขณะที่กมธ.ยกร่างฯนั้น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ จะชี้แจงถึงภาพรวม การพิจารณาในร่างแรกของรัฐธรรมนูญ มีทั้งสิ้น 315 มาตรา ทั้งนี้ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ จะเป็นผู้นำเสนอเรื่องระบบสถาบันทางการเมืองเป็นกรณีพิเศษด้วย
บวรศักดิ์ แจงร่างรธน.แก้ขัดแย้ง
เวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เป็นประธาน โดยแจ้งต่อที่ประชุมถึงกำหนดวันอภิปรายการประชุมของสปช.ที่ให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นในร่างรัฐธรรมนูญ จะเริ่มในวันที่ 20-23 เม.ย. เว้นวันที่ 24 เม.ย. เพื่อเปิดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประชุม และสปช.จะประชุมต่อวันที่ 25-26 เม.ย. ส่วนใครจะอภิปรายประเด็นใดจะกำหนดอีกครั้ง
เวลา 11.05 น. นายบวรศักดิ์ชี้แจงที่ ประชุมสปช. ถึงความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จแล้ว กมธ.ยกร่างฯวิเคราะห์ปัญหาในอดีตและอนาคตตั้งแต่ปี 2548-58 ซึ่งเป็นปัญหาร้าวลึกมา 10 ปีเต็ม จึงต้องร่วมกันแก้ไข เพราะมีการแบ่งสีเสื้อต่างๆ ดึงทุกสถาบันลงมาสู่ความขัดแย้ง มีลักษณะเป็นไข้ตัวรุมที่ไข้ยังไม่ลด มีเพียงยาพาราที่เรียกว่ากฎอัยการศึกกำกับไว้ เมื่อยาหมดฤทธิ์ไข้ก็พร้อมจะเกิดขึ้นอีก ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯและสปช.ต้องร่วมกันแก้ไข ถ้ายังขัดแย้งอย่างนี้ต่อไปประเทศไทยอาจรั้งท้ายอยู่อันดับ 10 ของอาเซียน
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนอกจากเกิดจากตัวบุคคลแล้ว ยังมีเรื่องความไม่เป็นธรรมในทางเศรษฐกิจและสังคม สปช.จึงถูกตั้งขึ้นมาเพื่อการนี้ ซึ่งไข้ที่เกิดขึ้นโดยคน 2 กลุ่มคือกลุ่มการเมือง กับกลุ่มพลเมือง
เน้น 4 เจตนารมณ์
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้ต้องแก้ปัญหาในอดีต สร้างทางเดินต่อไปในอนาคต โดยหลักในการร่างรัฐธรรมนูญเน้น 4 เจตนารมณ์ใหญ่คือ 1.การสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ 2.ทำให้การเมืองใสสะอาดและสมดุล ระหว่างการเมืองของนักการเมืองกับพลเมือง และความสมดุลระหว่างสภาล่างกับสภาบน 3.รัฐธรรมนูญต้องหนุนสังคมให้เป็นธรรม และ 4.นำชาติไปสู่สันติสุข
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า ด้านที่ประชาชนสนใจมากคือด้านพลังงาน ซึ่งข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปพลังงานถูกรวบรวมผ่านสปช. ซึ่งเราบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ด้านแรงงาน ผู้ใช้แรง งานเรียกร้องขอให้รวมตัวเจรจาต่อรองได้ ตั้งสหภาพแรงงาน บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วเช่นกัน รวมถึงการปฏิรูประบบราชการ ถ้าระบบราชการวิกฤตอย่าหวังว่าจะปฏิรูประบบราชการและปฏิรูปประเทศได้
บวรศักดิ์ ติงกมธ.แถลงผลโพล
จากนั้นเวลา 10.00 น. นายบวรศักดิ์เป็นประธานการประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ก่อนเข้าสู่วาระ นายบวรศักดิ์ ชี้แจงว่า ขอให้ทีมโฆษก กมธ.ยกร่างฯเรียกประชุมทีมงาน เพื่อทำคำชี้แจงตอบกลับพรรคการเมืองที่แสดงความเห็นกับร่างรัฐธรรมนูญ ตนเห็นว่าควรทำอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อไม่ให้พรรคพูดอยู่ฝ่ายเดียว
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนที่นางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะประธาน อนุกมธ. การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แถลงถึงผลสำรวจความเห็นประ ชาชน เมื่อวันที่ 9 มี.ค.นั้น ตนมองว่าเร็วไปหน่อย ควรนำมาหารือ สอบถามการสำรวจความเห็น การตั้งคำถามให้ชัดเจนเพราะกรณีตั้งคำถาม เช่น ประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งต้องเป็นหน้าที่หรือไม่ ทำให้คำตอบออกมาแบบเดียว แต่หากตั้งคำถามว่า การเลือกตั้งควรเป็นสิทธิ หรือหน้าที่ จะได้คำตอบที่ออกมาอีกแบบหนึ่ง ทั้งนี้เข้าใจว่าการออกแบบคำถามเพื่อสำรวจความเห็นมีข้อจำกัด
นายบวรศักดิ์ ชี้แจงกรณีสังคมวิจารณ์รัฐธรรมนูญใหม่เขียนบทบัญญัติสืบทอดอำนาจของแม่น้ำ 5 สาย อาทิ สนช. ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกว่า ในข้อเท็จจริงต้องมีการอธิบายเพื่อไม่ให้พูดเลอะเทอะว่าอยู่เพื่อสืบทอดอำนาจ เพราะในร่างรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้อยู่ต่อเพื่อยกร่างกฎหมายที่ต้องออกตามบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 23 ฉบับ แบ่งเป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 12 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.ที่สำคัญ 11 ฉบับ ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ กำหนดให้ สนช.ทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ดังนั้น ร่างพ.ร.บ.ที่สำคัญดังกล่าวสนช.ต้องอยู่ทำให้จบ และเมื่อเรียกประชุมรัฐสภานัดแรกแล้ว สนช.จะทำหน้าที่ส.ว. สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องอธิบายให้ชัดเจน
แขวนสัดส่วนเพศตรงข้าม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ เริ่มพิจารณาทบทวนต่อเนื่องบทบัญญัติภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ต่อจากวันแรก เริ่มตั้งแต่มาตรา 52-72 และบทบัญญัติในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี หมวด 1 ผู้นำการ เมืองที่ดีและผู้แทนที่ดี มาตรา 73-77 รวมผ่านการพิจารณา 26 มาตรา มาตราที่อภิปรายอย่างกว้างขวางคือ มาตรา 76 กำหนดว่ากรณีพรรค การเมืองจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในแบบบัญชีรายชื่อ ต้องมีสัดส่วน 'เพศตรงข้าม' ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 รวมถึงมาตรา 212 กำหนดว่า คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือสภาท้องถิ่น ที่มาจากการเลือกตั้งหรือความเห็นชอบของประ ชาชน โดยวิธีการอื่น ต้องมีสัดส่วน "สตรี" ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
รายงานข่าวแจ้งว่า ทั้ง 2 มาตรา ที่ประชุมมีความเห็นเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เห็นว่ามาตราดังกล่าวสังคมจับตามอง การอภิปราย 2 ครั้ง ยังหาข้อสรุปไม่ได้ และเปิดเผยชื่อของ กมธ.ที่แสดงความคิดเห็น ทำให้เกิดความเสียหาย จึงเสนอให้ที่ประชุมใช้วิธีลงคะแนนลับโดยไม่เปิดเผยรายชื่อ กมธ.คนหนึ่งเสนอให้นำเข้าที่ประชุม สปช. เพื่อขอมติเห็นชอบ ว่าควรบัญญัติสัดส่วนสตรีในกรณีดังกล่าวหรือไม่
ส่วนกลุ่มที่ 2 เห็นว่าไม่จำเป็นต้องตัดสินด้วยวิธีลงคะแนนลับ อาจใช้วิธีโหวตหรือหยั่งเสียงดังที่เคยทำมา และเสนอให้ฝ่ายเลขานุการจัดเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะข้อมูลของประเทศที่กำหนดสัดส่วนสตรีไว้ในรัฐ ธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศมาเสนอให้ที่ประชุมรับทราบ ก่อนตัดสินใจ
ที่ประชุมเห็นพ้องให้นำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาหาข้อยุติในวันที่ 31 มี.ค. เวลา 13.30 น. โดยขอความร่วมมือให้สมาชิกเข้าร่วม ประชุมทุกคน ส่วนจะใช้วิธีใดตัดสินนั้นจะพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งต้องเป็นวิธีที่ไม่ส่งผลให้เกิดรอยร้าวในกมธ.ยกร่างฯ
แจงกมธ.-สปช.-สนช.อยู่ยาว
เวลา 15.00 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างฯ แถลงว่า กมธ.ทบทวนแล้ว 64 มาตรา ไม่มีการแก้ไขหลักการ มีเพียงปรับแก้ถ้อยคำบางมาตราให้ครอบคลุมชัดเจนมากขึ้น อาทิ มาตรา 62 มาตรา 64 ปรับถ้อย คำให้ครอบคลุมโครงการและกิจกรรมที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน คาดทบทวนเสร็จในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ ส่วนการชี้แจงต่อที่ประชุมสปช.วันนี้ เพื่อให้สมาชิก สปช.มีเวลา 1 เดือนเตรียมตัวศึกษารายละเอียด ที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำเสนอแก้ไขเมื่อเข้าสู่ชั้นการพิจารณาของ สปช. ต่อไป
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ที่ประชุมกมธ. ยกร่างฯ ยังกำหนดประเภทและจำนวนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 12 ฉบับ และกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องอีก 14 ฉบับ ที่ต้องเสนอให้ สนช.พิจารณา หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ส่วนกมธ.ยกร่างฯ และสปช. ต้องหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งอีกไม่เกิน 210 วัน ด้านสนช.ต้องอยู่ทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีส.ว.อีกไม่เกิน 240 วัน ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่จำเป็นต้องทำหน้าที่ร่างและพิจารณากฎหมายลูก ซึ่งแข่งกับเวลา กมธ.ยกร่างฯยืนยันว่าจะเสนอร่างกฎหมายลูกได้ทันเวลา ส่วนการพิจารณาของสนช.จะใช้เวลาเท่าใดนั้น ตน ไม่รู้
ยังให้กกต.จัดเลือกตั้งครั้งหน้า
โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า วันที่ 12 มี.ค. กมธ.ยกร่างฯ เชิญตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มาชี้แจงและแสดงความคิดเห็นต่อการกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ควบรวมบางหน่วยงานและปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ กกต.เป็นผู้รับผิดชอบการเลือกตั้งในครั้งถัดไปก่อน เนื่องจากต้องใช้เวลาหลายเดือนในการจัดตั้งคณะกรรม การจัดการเลือกตั้ง (กจต.)
แจงโพลไม่ถามนายกฯคนนอก
เมื่อถามถึงผลสำรวจของสถาบันพระปกเกล้าที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่านายกฯต้องเป็นส.ส. พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า การตั้งคำถามของสถาบันพระปกเกล้าไม่ได้เปรียบเทียบ โดยจะลิสต์มาว่าประชาชนเห็นด้วย กับข้อใดบ้าง จะเห็นได้ว่าทั้ง 25 ประเด็นที่ถามประชาชนในภาคต่างๆ นั้น ประชาชนขีดแต่เห็นด้วยเกือบทั้งหมด เห็นด้วยกลางๆ แต่ไม่ได้เห็นด้วยน้อย ไม่ได้มีคำถามว่าเอา นายกฯคนนอกหรือไม่ เราไม่ได้มีแนวคิดเอา นายกฯคนนอก แนวคิดส่วนใหญ่คือเอา นายกฯคนใน แต่เราไม่ได้ระบุว่านายกฯต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้นเอง คำถามนี้จึงยากต่อผู้ที่ตอบคำถาม
"โพลไม่ได้มีปัญหา เพียงแต่ประชาชนบอกเห็นด้วย ในเรื่องนายกฯต้องเป็นส.ส. แค่ 60 เปอร์เซ็นต์เอง อยู่ในเกณฑ์กลางๆ ไม่ได้หมายความว่าเขาเห็นด้วยถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และบางคำถามต้องยอมรับ สื่อฟังผมแถลงมา 5 เดือนกว่าแล้ว อาจจะยังตอบไม่ได้ทุกเรื่อง ถ้าไปถามคนต่างจังหวัดว่าอันนั้นเป็นอย่างนี้อันนี้เป็นอย่างนั้น เขาคงยากที่จะตอบ ซึ่งผลสำรวจนี้ นางถวิลวดีเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯแล้ว" โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าว
สำรวจใหม่หลังแจกร่างรธน.
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯและสถาบันพระปกเกล้าจะสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้ง หลังจาก กมธ.ยก ร่างฯ นำรัฐธรรมนูญที่ร่างไว้ไปขายให้กับประชาชน ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศให้ทราบว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอย่างไร เชื่อว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหลังจากทราบเนื้อหารัฐ ธรรมนูญแล้ว จะมีประโยชน์มากกว่าครั้งแรก
ส่วนข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า นายบวรศักดิ์ ให้นโยบายแก่กมธ.ยกร่างฯว่าหากสถาบันการเมือง หน่วยงาน แสดงความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ชี้แจงกลับไปเป็นลายลักษณ์อักษร โดยวันที่ 11 มี.ค.นี้ กมธ.ยกร่างฯจะนำข้อคิดเห็นที่มีต่อข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย มาเสนอให้สื่อทราบ ถ้าพรรคหรือใครไม่เห็นด้วยก็ให้นำเรื่องเสนอเราโดยตรงจะดีกว่า ไม่ใช่เสนอผ่านสื่อ เรายินดีรับฟังเพราะบางความเห็นของพรรคเพื่อไทยก็คลาดเคลื่อน เช่น การระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจล้นฟ้า ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะการแก้รัฐธรรมนูญที่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมี 2 ประการคือ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2.ให้ศาลพิจารณาว่าต้องทำประชามติหรือไม่ หากไม่ต้องทำก็นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมประกาศใช้ได้เลย
ถอด 38 สว.ลงมติรายตัวแยก 4 กลุ่ม
ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษก กมธ.กิจการ สนช. หรือวิปสนช. เผยหลังการประชุมว่า ที่ประชุมพิจารณาเรื่องการถอด ถอนอดีต 38 ส.ว. กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว. วันที่ 11 มี.ค. แถลงปิดสำนวนคดี ให้คู่กรณี 2 ฝ่ายคือ ป.ป.ช.และ 38 อดีตส.ว.มาแถลง วันที่ 12 มี.ค. จะลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน วิปสนช.พิจารณาถึงวิธีลงคะแนนเนื่องจากป.ป.ช.แยกฐานความผิดของ 38 อดีตส.ว. เป็น 4 กลุ่ม จึงต้องลงมติตามฐานความผิด ซึ่งวิปสนช.มีมติให้ลงมติเป็นรายบุคคลแยกเป็น 4 กลุ่ม มีบัตรลงคะแนน 4 ใบ กล่องใส่บัตรลงคะแนน 4 กล่องตามสีของบัตร แบ่งเป็น 1.กลุ่ม 22 คน เป็นบัตรสีส้ม 2.กลุ่ม 13 คน เป็นบัตรสีขาว 3.กลุ่ม 2 คน เป็นบัตรสีฟ้า และกลุ่มสุดท้าย 1 คนเป็นบัตรสีเขียว และตั้งคณะกรรมการนับคะแนน 3 ชุด ชุดละ 6 คน
โฆษกวิปสนช.กล่าวว่า ในบัตรลงคะแนนสีต่างๆ จะมีช่องถอดถอนและไม่ถอดถอนเพื่อให้สมาชิกลงมติ ซึ่งจะแจกบัตรให้สมาชิกคนละ 4 ใบ คาดว่าการลงมติครั้งนี้จะใช้เวลานานพอสมควร เนื่องจากลงคะแนนเป็นรายกลุ่มตามฐานความผิดที่ป.ป.ช.ส่งมา ซึ่งวิปสนช.บางคนตั้งข้อสังเกตถึงวิธีลงคะแนนที่อาจเกิดความสับสนได้ เพราะหากบางกลุ่ม ใครคนหนึ่งถูกถอดถอน แต่อีกคนไม่ถูกถอดถอน จะเกิดคำถามขึ้นได้ ซึ่งเป็นเพราะ ป.ป.ช.แยกกลุ่มตามฐานความผิด การลงมติต้องตามนั้น แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมในวันนั้นจะเห็นอย่างไร
นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง 1 ใน 38 อดีตส.ว.ที่ถูกถอดถอนกล่าวว่า ผู้แถลงปิดคดีประกอบด้วยนายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตส.ว.นนทบุรี นายกฤช อาทิตย์แก้ว อดีตส.ว.กำแพงเพชร นายวิทยา อินาลา อดีตส.ว.นครพนม และตน คาดใช้เวลาไม่นานและคงไม่มีอะไรพิเศษ ยืนยันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใส่ความรู้สึกในการชี้แจงหรือโจมตีใคร เพราะ เรารู้ว่าเราถูกดึงไปอยู่ในกระบวนการขัดแย้ง การแถลงปิดคดีจึงจะเป็นเรื่องข้อมูล ส่วนจะถูกถอดหรือไม่คงไม่ก้าวล่วงดุลพินิจของสนช. แต่เชื่อมั่นว่า สนช.ไม่มีธงในการตัดสินใจลงมติ
ปปช.รับสอบสนช.ตั้งลูกเมีย
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะ กรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะ กรรมการป.ป.ช.พิจารณา กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรม นูญ ยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ สนช. กรณีการแต่งตั้งเครือญาติมาช่วยงานสนช. เข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องขอให้ตรวจสอบเรื่องฝ่าฝืนจริยธรรมนั้น ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจตรวจสอบ
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนคำร้องให้ตรวจสอบเรื่องแสวงหาผลประโยชน์โดย มิชอบและทุจริตต่อหน้าที่นั้น ป.ป.ช.เห็นว่ามีข้อกฎหมายว่าด้วยพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 รองรับอยู่ สามารถตรวจสอบการร้องเรียนดังกล่าวได้ จึงรับเรื่องไว้ดำเนินการ โดยตั้งทีมเจ้าหน้าที่ไปแสวงหาข้อเท็จจริงในรายละเอียด ดูจากหลักเกณฑ์การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยสนช. เป็นรายๆ ไป ตามที่ผู้ร้องส่งรายชื่อมาให้ป.ป.ช.ประมาณ 50 คน เพื่อให้ข้อเท็จจริงสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จากนั้นให้คณะทำงานรายงานที่ประชุมป.ป.ช.ทราบ เพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนต่อไป แต่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาการแสวงหาข้อเท็จจริง แต่ต้องดำเนินการโดยเร็ว
กกต.ฟันอาญา'ยงยุทธ ติยะไพรัช'
ที่สำนักงานกกต. นายดุษฎี พรสุขสวัสดิ์ รองเลขาธิการกกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย แถลงว่า กกต.มีมติให้ใบเหลืองหรือสั่งให้เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย ใหม่ ซึ่งนางบุศริณธญ์ วรพัฒนานันท์ พี่สาวของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภาและรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง
นายดุษฎี กล่าวว่า กกต.ยังมีมติดำเนินคดีอาญานายยงยุทธ และนายวีระเดช สมวรรณ นายอำเภอเมืองเชียงราย จากกรณีนายเสงี่ยม แสนพิช ผู้มีสิทธิเลือกตั้งร้องเรียนนายวีระเดช เป็นประธานประชุมผู้นำท้องถิ่นและฝ่ายปกครองใน ต.แม่ข้าวต้ม ต.นางแล และ ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งแต่ละครั้งนายยงยุทธจะเข้ามาพูดหาเสียงและสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงคะแนนนิยมของนางบุศริณธญ์ การสอบถามมีลักษณะเหมือนบังคับ ขืนใจให้บุคคลที่ถูกซักถาม เกรงกลัวหรือรับผิดชอบต่อคำพูดตัวเอง กกต.จึงเห็นว่ามีความผิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่กระทำการใดๆ เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร
'เทพไท'ก็โดนด้วย
นายดุษฎีกล่าวว่า กกต.มีมติเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญา นายมาโนช เสนพงศ์ นายกอบจ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งสั่งให้เลือกตั้งใหม่และให้นายมาโนชชดใช้ค่าเสียหายจัดเลือกตั้ง และมีมติดำเนินคดีอาญานายเทพไท เสนพงศ์ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และนายปิยะวัฒน์ เกตุแก้ว ประธานสาขาพรรคประชาธิปัตย์ เขตเลือกตั้งที่ 1 ในกรณีนายพิชัย บุณยเกียรติ ผู้สมัคร นายกอบจ.นครศรีธรรมราช ร้องเรียนว่า ในวันที่ 4 ม.ค. 2557 นายมาโนชและนายเทพไท จัดเลี้ยงอาหารให้แก่ผู้นำท้องถิ่น 100 คน
นายดุษฎี กล่าวว่า นอกจากนี้ก่อนวันเลือกตั้ง นายมาโนชกล่าวหาเสียงระบุพรรคประชา ธิปัตย์ส่งผู้สมัครนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ทั้งที่กรรมการบริหารพรรคไม่เคยมีมติดังกล่าว และวันที่ 9 ก.พ. 2557 นายปิยะวัฒน์ กับพวก ยังแจกเงินให้กรรมการชุมชนเขต 4 ของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้ง ถือเป็นการหลอกลวงหรือจูงใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ลงคะแนนแก่นายมาโนช รวมทั้งยังมีความผิดฐานหลอกลวง บังคับขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคามใส่ร้ายหรือจงใจให้เข้าใจผิดในเรื่องใดของผู้สมัคร ทั้งสองคดี กกต.มีมติหลังจากรับรองผลเลือกตั้งไปแล้ว จึงต้องส่งคดีให้ศาลอุทธรณ์ภาคให้พิจารณาคดีต่อ คาดว่าจะส่งคำฟ้องได้ภายใน 30 วัน
คดี'ปู'ต่อคิวพิจารณา
นายดุษฎี กล่าวว่า กรณีสำนวนคำร้องคัด ค้านการเลือกตั้งส.ส.ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพวก กรณีลงพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน โดยใช้ทรัพยากรของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐหาเสียงระหว่างมีพ.ร.ฎ.การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. นั้น ได้บรรจุวาระการประชุมแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักประชุมจะกำหนดให้ กกต.พิจารณาวันใด
'บิ๊กตู่'บินญี่ปุ่นถกป้องภัยพิบัติ
วันที่ 10 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม. กรณีการเดินทางร่วมประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติครั้งที่ 1 ที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 13-14 มี.ค.นี้ว่า มาตรการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติซึ่งมีการหารือกันมาหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้จะกำหนดวิสัยทัศน์ตั้งแต่ปี 2015-2035 รวม 20 ปีกว่า เราจะมีมาตรการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่างๆ รัฐบาลประชุมเรื่องดังกล่าวเมื่อต้นปีซึ่งจะนำไปเสนอในการประชุมที่เซนไดด้วย
นายกฯ กล่าวว่า การประชุมที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งวันที่ 13 มี.ค.จะประชุมหลักการ และวันที่ 14 มี.ค. จะคุยลงรายละเอียดในหลักการต่างๆ มีหลายคณะที่จะหารือกัน โดยมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และนพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ร่วมประชุมคณะย่อยด้วยและคงใช้เวลาพูดคุยหลายๆ เรื่องเช่นเดียวกัน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนจะเสนอว่าไทยมีการรณรงค์ส่งเสริมความร่วมมือบรรเทาภัยพิบัติอย่างชัดเจน มีความแน่วแน่จะลดความเสี่ยงภัยพิบัติต่างๆ การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในไทยทั้ง 2 ครั้ง คือ สึนามิและน้ำท่วมครั้งใหญ่ จะแสดงให้เขาเห็นว่าเรามีความร่วมมือทั้ง ภาครัฐและประชาชน ซึ่งจะเป็นแนวทางให้เขานำไปใช้ต่อไป นอกจากนี้จะพูดคุยเรื่องความร่วมมือของภาคเอกชน อาจสร้างกองทุนความร่วมมือขึ้นด้วย
ครม.อนุมัติพรบ.ร่วมมืออาญา
วันที่ 10 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม. ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ โดยแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 อาทิ เพิ่มเติมเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการตามคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ กำหนดให้ผู้ประสานงานกลางมีอำนาจส่งข้อมูลการกระทำความผิดหรือทรัพย์สินใดไปให้ต่างประเทศเพื่อประโยชน์สืบสวนสอบสวน การฟ้องคดี หรือการพิจารณาคดีในศาลแม้ประเทศนั้นยังมิได้ร้องขอ
แก้ไขเพิ่มเติมให้ศาลส่งบันทึกคำเบิกความของพยาน รวมทั้งพยานหลักฐานอื่นในสำนวนไปยังพนักงานอัยการผู้ยื่นคำร้องเพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไป แก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการค้น อายัด หรือยึดทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐาน และเพื่อประโยชน์ชั้นที่สุดในการริบทรัพย์สิน หรือบังคับบุคคลใดให้ชำระเงินแทนการริบทรัพย์สินในกรณีที่ศาลต่างประเทศยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้อายัดหรือยึดทรัพย์สินนั้น แม้การกระทำความผิดจะมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร
กำหนดให้กรณีที่ไทยร้องขอความช่วยเหลือในความผิด ต้องระวางโทษถึงประหารชีวิตตามกฎหมายไทย แต่ไม่ถึงโทษประหารชีวิตตามกฎหมายของประเทศผู้รับคำร้องขอ และรัฐบาลจำเป็นต้องให้คำรับรองว่าจะไม่มีการประหารชีวิต ให้มีการเจรจาตกลงเพื่อให้มีการรับรองดังกล่าวได้ กรณีนี้ให้ถือว่าระวางโทษประหารชีวิตดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต แก้ไขเพิ่มเติมให้ถือว่าพยานหลักฐาน เอกสาร และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตามกฎหมายนี้เป็นพยานหลักฐานและเอกสารที่ได้มาโดยชอบ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานและเอกสารดังกล่าว