- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 06 March 2015 11:27
- Hits: 5429
วันที่ 06 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8864 ข่าวสดรายวัน
ปปช.รับ-ขอต่ออายุ บิ๊กตู่ยังมึน ขอนำเข้าหารือครม.ก่อน เบรกเองตัดสิทธิ์'5 สาย'จำคุก 4 ปี 13 แกนนำแดง
ข้าวลืมผัว - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ป้อน "ข้าวลืมผัว" ให้นางนราพร จันทร์โอชา ภริยาพร้อมกล่าวหยอกล้อว่า "ลืมผัวๆๆ" ขณะเป็นประธานเปิดโครงการวิถีข้าว วิถีไทย ที่บริเวณข้างคลองผดุงกรุงเกษม กทม. เมื่อวันที่ 5 มี.ค. |
'บิ๊กตู่'ยังไม่เคาะต่ออายุป.ป.ช. บอกต้องหารือครม.ก่อน 'ปานเทพ-วิชัย'ยอมรับยื่นขอจริง หวั่นองค์ประชุมไม่ครบ งานสะดุด 'วิชา"ปากแข็งปฏิเสธไม่เคยคุย "สดศรี'เหน็บอย่ายึดติดอำนาจ ถึงเวลาก็ควรไป เผยเล็ง 2 แนวทางต่ออายุ 5 คนก่อนเดือนพ.ค. หรือให้ประธานพ้นวาระคนเดียว ที่เหลือ 4 คนพิจารณาอีกครั้ง นายกฯ เบรกเองข้อเสนอเว้นวรรคแม่น้ำ 5 สาย ลั่นถ้าระแวงไม่คืนอำนาจให้ก็จบ ย้ำยึดตามรธน.ชั่วคราว ตัดสิทธิ์เฉพาะกมธ.ยกร่างฯ ป.ป.ช.ถกคำร้องสภาลูกเมีย นัดชี้ 10 มี.ค.ว่ามีอำนาจสอบหรือไม่ บุกร้องผู้ตรวจฯ เอาผิดอีก สนช.ซักเข้ม 38 ส.ว. นัดลงมติถอดถอน 13 มี.ค. ศาลสั่งจำคุก 4 ปี 13 เสื้อแดงบุกเวทีอาเซียนที่พัทยา
'บิ๊กตู่'รอหารือครม.ต่ออายุปปช.
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่สำนักงบประมาณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารสำนักงบประมาณใหม่ถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จะขอต่ออายุตัวเองอีก 1 ปี โดยอ้างว่าเพื่อรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขณะที่มีงานสำคัญที่ต้องดำเนินการว่า ต้องพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ประเด็นสำคัญคือ ถ้าไปเริ่มสรรหาในตอนนี้ จะมีปัญหาการทำงานหรือไม่ และหากเรารอไว้จนเมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้วค่อยตั้งป.ป.ช.ใหม่ จะทำได้หรือไม่ ต้องหารือกัน ตนยังไม่ขอชี้ชัด มันเป็นไปได้ทั้งคู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปี 2558 นี้ กรรมการป.ป.ช.จะพ้นวาระถึง 5 คนด้วยกัน คือ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช.ที่ต้องพ้นวาระเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีในเดือนพ.ค.นี้ ส่วนนายวิชา มหาคุณ นายวิชัย วิวิตเสวี นายประสาท พงษ์ศิวาภัย และนายภักดี โพธิศิริ กรรมการป.ป.ช. ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งจะเหลือกรรมการ 4 คนที่ยังไม่หมดวาระคือ นายปรีชา เลิศกมลมาศ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง นายณรงค์ รัฐอมฤต และน.ส.สุภา ปิยะจิตติ
"ปานเทพ"ยอมรับขอจริง
นายปานเทพ กล่าวว่า ยอมรับว่าป.ป.ช. หารือเรื่องดังกล่าวจริง รวมทั้งเคยหารือกับคสช.ว่า หากป.ป.ช. 5 คน ต้องหมดวาระในปีนี้ โดยที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการสรรหากรรมการป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำให้การทำงานของป.ป.ช.สะดุดได้ทั้งเรื่องคดีความ เรื่องการแก้ไขกฎหมายต่างๆ จึงอยากขอต่ออายุกรรมการป.ป.ช.ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้งานเดินหน้าต่อไปได้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและคสช.ว่าจะเห็นด้วยตามที่ร้องขอหรือไม่ ยืนยันไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ เพื่อไล่ล่าคดีความของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เป็นความจำเป็นในการทำงานช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในช่วงสั้นๆเท่านั้น
ด้านนายวิชัยกล่าวว่า ยอมรับว่ามีการคุยเรื่องการต่ออายุดำรงตำแหน่งของป.ป.ช.จริง โดยแจ้งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเรื่องนี้คุยกันในที่ประชุมป.ป.ช.นานแล้ว เพราะห่วงใย เนื่องจากกรรมการป.ป.ช.ต้องครบองค์ทั้ง 9 คน หากขาดไปบางคนยังปฏิบัติงานได้ แต่เมื่อขาดถึง 5 คน ไม่สามารถทำงานได้ ถ้าขาด 4 คน เหลืออยู่ 5 คน องค์ประชุมก็ดูปริ่มน้ำ มันคงไม่ไหว
"วิชัย"อ้างองค์ประชุมต้องครบ
"หากเหลือไม่ถึง 5 คน เกิดปัญหาแน่นอน เหมือนช่วงหนึ่งที่ป.ป.ช.เว้นการปฏิบัติหน้าที่ไปถึง 2 ปีในการออกระเบียบขึ้นเงินเดือนตนเอง ช่วงนั้นพอมีกรรมการป.ป.ช.ชุดนี้เข้ามาก็ระส่ำระสาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างเสียขวัญ แต่เมื่อองค์ประกอบบางส่วนหายไป จะใช้ที่มีอยู่หรือให้กรรมการชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวไปก่อนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งป.ป.ช. พูดไม่ได้ เหมือนน้ำท่วมปาก ต้องให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจเป็นคนพูด คืออยู่ที่หัวหน้าคสช.และครม.ต้องใช้อำนาจพิเศษ" นายวิชัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าอำนาจพิเศษคือการที่พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ใช่หรือไม่ นายวิชัยกล่าวว่า ในรายละเอียดต้องถามประธานป.ป.ช. และนายวิชา ซึ่งเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้อยู่ ส่วนจะต้องรอรัฐธรรมนูญใหม่ก่อนหรือไม่นั้น นายวิชัยกล่าวว่า ถ้ารอรัฐธรรมนูญแล้วดำเนินการไม่ได้ เป็นเหตุให้กรรมการป.ป.ช.ไม่ครบองค์ จะมีปัญหาใหญ่ ไม่ได้หมายความว่าพวกตนอยากอยู่กันต่อ อยู่ต่อก็ได้ ไม่อยู่ต่อก็ไม่มีปัญหา ที่สำคัญงานต้องต่อเนื่อง เรื่องนี้คงไม่ชี้แจงอะไรเพราะยิ่งชี้แจง ยิ่งเจ็บตัว แต่ถ้าไม่ครบองค์ ก็ไม่ได้เรื่องแน่ ถ้าครบองค์แต่ปริ่มน้ำก็ไม่ดี องค์ประกอบต้องครบถ้วนทั้ง 9 คน หรือ 8 คน เป็นอย่างต่ำ
"วิชา"งง-คสช.ปัดไม่เกี่ยว
นายวิชากล่าวว่า ยืนยันว่ากรรมการป.ป.ช. ไม่เคยมีการปรึกษาหารือ หรือมีมติในเรื่อง ดังกล่าว เป็นการรายงานเองของสื่อมวลชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังคงยืนยันว่าการดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช.จะเป็นไปตามกำหนดการพ้นวาระเช่นเดิมใช่หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว ซึ่งตนรู้สึกงงว่าสื่อไปได้ข่าวมาจากไหน อยากทราบอยู่เหมือนกัน
ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช.กล่าวว่า ไม่ทราบข่าวดังกล่าว และคงไม่เกี่ยวข้อง
กับคสช. เพราะอาจเป็นเพียงข่าวลือที่มีอยู่มากแล้วก็ได้ หากป.ป.ช.ต้องการต่ออายุการทำงานของตัวเองจริงก็คงมีช่องทางและกลไกที่จะทำได้อยู่แล้ว ตนจึงตั้งข้อสังเกตว่า ถ้า
กรรมการป.ป.ช.ได้หารือในเรื่องนี้จริงคงเป็น การหารือกับกมธ.ยกร่างฯ เนื่องจากเป็นผู้ที่ยกร่างกติกาและกฎหมายสูงสุดของประเทศ และคงต้องรู้รายละเอียดดีที่สุด
"วิษณุ"กุมขมับ-ยังไร้คำตอบ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเรื่องนี้ใหม่สำหรับตน แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมด ก่อนหน้านั้นคนที่มีความรู้และผู้เกี่ยวข้องเคยคิดมานานแล้ว แต่ยังคิดต่อไปไม่ถูกว่าจะดำเนินการอย่างไร ตามหลักการเมื่อกรรมการพ้นจากวาระ ต้องสรรหาบุคคลใหม่เข้ามาทำหน้าที่ แต่ขณะนี้ต้องพิจารณาว่าการสรรหาจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากองค์ประกอบของผู้สรรหายังขาดอยู่ ยังไม่มีผู้นำฝ่ายค้าน และไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะเขียนเกี่ยวกับป.ป.ช.อย่างไร จะให้มีวาระกี่ปี ตามกฎหมายกำหนดไว้ 9 ปี แต่ยังไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะยอมให้อยู่ถึง 9 ปีหรือไม่ จึงเกิดเป็นคำถามเหมือนไก่กับไข่ ไม่รู้ว่าใครจะเกิดก่อนเกิดหลังระหว่างครบวาระกับรัฐธรรมนูญใหม่
"ยอมรับว่าเป็นปัญหาแต่ยังคิดไม่ออก ถ้าต่ออายุจะทำอย่างไร ยังไม่มีคำตอบ ที่จริง 4 คนที่เหลือยังทำงานได้แต่คงไม่สะดวก ยกตัวอย่างมีมติ 3 ต่อ 1 อาจมีการวิจารณ์กันได้ ส่วน 5 คนถ้าครบวาระแล้วไม่มีที่ไหนบอกว่าให้ทำต่อ เมื่อไปแล้วก็ไปเลย และที่สรรหาไม่ได้เพราะคณะกรรมการสรรหายังไม่ครบ ถ้าจะไปหาก็ไม่รู้ว่าใครจะยอมเข้ามาหรือเปล่า ไม่รู้ว่าจะอยู่นานเท่าไหร่ เขาต้องไปลาออกจากที่ต่างๆ จึงเร็วไปที่จะคิดตอนนี้ อีกทั้งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญก็ยังร่างไม่เสร็จ ใครจะเป็นคนสรุปก็ไม่รู้ แต่ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล" นายวิษณุกล่าว
"สดศรี"เตือนอย่ายึดติดอำนาจ
นางสดศรี สัตยธรรม อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กล่าวว่า สิ่งนี้ทำได้หากคสช.มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ขอให้ดูตัวอย่างของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่หลังการรัฐประหารมีกรรมการครบวาระการดำรงตำแหน่ง ก็มีเข้าสู่กระบวนการสรรหาจนได้ ผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่ ฉะนั้นการที่อ้างว่าต้องรอให้มีรัฐธรรมนูญใหม่นั้นคงใช้ไม่ได้กับกรณีนี้ เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่ได้รอรัฐธรรมนูญใหม่ การสรรหาก็มีลักษณะเหมือนรัฐธรรมนูญ 2550 และแม้จะไม่มีรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว แต่คสช.ได้มีประกาศเรื่องการคงไว้ซึ่งองค์กรอิสระ เหมือนกับเป็นข้อยกเว้น หากพ้นจากตำแหน่งการสรรหาก็สามารถดำเนินการได้ทันที ไม่เช่นนั้นหากอยู่เกินวาระจะเกิดคำถามตามมาว่าอยู่เพราะอะไร งานอะไรที่ยังทำไม่เสร็จ แล้วถ้าองค์กรอิสระอื่นจะขออยู่บ้างหากครบวาระจะทำได้หรือไม่ เรื่องนี้จึงควรพิจารณาให้รอบคอบ
"ถ้าหากเป็นดิฉันก็ไม่คิดที่จะขออยู่ต่อ เมื่อครบวาระหรืออายุถึงวัยเกษียณแล้วก็ควรปล่อยให้เป็นไปตามนั้น เพราะการล้างมือในบ่อทองคำย่อมดีกว่า จะได้ถูกมองว่าทำทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ยึดติดกับอำนาจ โดยเฉพาะป.ป.ช.ที่ทำงานเกี่ยวกับการเมืองและยังถูกกล่าวหาว่าทำงานสองมาตรฐาน หากปล่อยให้คนเก่งมาทำหน้าที่แทนน่าจะส่งผลดีและอาจช่วยลดข้อครหานั้นได้"นางสดศรีกล่าว
เผยเล็ง 2 แนวทางต่ออายุ
รายงานข่าวเปิดเผยว่า วันเดียวกันนี้ป.ป.ช.ได้พูดคุยกันถึงข่าวการขอต่ออายุว่าน่าแปลกใจที่ข่าวหลุดออกไปได้อย่างไร ทั้งที่การหารือระหว่างคสช.กับป.ป.ช.ในเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมานานกว่า 2 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ซึ่งมองว่าอาจเป็นการโยนหินถามทางเพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่สำคัญขณะนี้คือองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่ง กรรมการป.ป.ช.ที่ประกอบด้วย 5 คน คือประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภา ผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แต่ช่วงสถานการณ์พิเศษนี้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดสามารถใช้มาตรา 44 ได้
ทั้งนี้ คสช.กับรัฐบาล อาจมีแนวทางว่าหากให้กรรมการป.ป.ช.ที่กำลังหมดวาระทั้ง 5 คน ต่ออายุพร้อมๆ กันก็ต้องมีคำสั่งก่อนเดือนพ.ค.นี้ เนื่องจากนายปานเทพจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง เพราะอายุ 70 ปี ในวันที่ 22 พ.ค. หรืออาจพิจารณาให้นายปานเทพพ้นจากตำแหน่งไปตามปกติ และมาพิจารณาว่ากรรมการอีก 4 คน ที่กำลังพ้นวาระการดำรงตำแหน่งครบ 9 ปีในเดือนก.ย.นี้จะให้ต่ออายุการทำงานหรือไม่ แต่ต้องมีเหตุผลที่สอดรับกับข้อกฎหมาย อธิบายต่อสังคมได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นปัญหาว่าหากเหลือกรรมการป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่เพียงแค่ 4 คน จะเกิดปัญหาและอุปสรรคในการทำงานหรือไม่
นายกฯ ไม่ตัดสิทธิ์แม่น้ำทุกสาย
ส่วนข้อเสนอของนายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ตัดสิทธิ์แม่น้ำ 5 สายตามโรดแม็ปของคสช.คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ครม.สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กมธ.ยกร่างฯ และคสช. ห้ามรับตำแหน่งทางการเมืองหลังพ้นจากตำแหน่ง 2 ปีภายหลังใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อกันข้อครหาสืบทอดอำนาจ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ฟังตอนนี้ข้อเสนอดังกล่าวจะให้เหมารวมทั้งหมด แต่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนห้ามไว้เพียงกมธ.ยกร่างฯเพียงส่วนเดียวเท่านั้น
"ผมจะยึดตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวมีบทบัญญัติไว้ นี่คือความเห็นของผม เพราะผมเป็นคนผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมา มันมีความจำเป็น ฉะนั้นไม่ว่าสนช. สปช. เขาไม่ได้อะไร ถ้าเขาไม่เข้ามาก็คงไม่มีใครทำงาน ให้ไปหามาตรการอื่น และดูว่าต่อไปจะทำอย่างไร ส.ส. ส.ว.ค่อยไปดูกันตรงนั้นดีกว่า วันนี้อย่ามานั่งย้อนกลับไปกลับมา ทั้งหมดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำงาน ดีหรือไม่ดีค่อยไปแก้กันวันข้างหน้า" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ลั่นอย่าระแวง-ยึดหลักรธน.
ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อเสนอดังกล่าวเพื่อขจัดความหวาดระแวงหรือไม่ นายกฯกล่าวว่าจะมาหวาดระแวงอะไร ถ้าหวาดระแวงตนไม่คืนอำนาจให้ก็จบแล้ว ต่อข้อถามว่าคิดว่าวันนี้กมธ.ยกร่างฯบางคนพูดมากไปหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่าไม่คิด เขารู้ตัวอยู่แล้วว่าจะพูดมากหรือพูดน้อย ถ้าพูดแล้วเกิดขัดแย้ง เกิดผลกระทบกับภาพรวม ก่อให้เกิดความวุ่นวายก็ไม่สมควรพูดมากนัก พูดมากไปมันก็ทะเลาะกันและมีเรื่อง
ต่อข้อถามว่าแสดงว่านายกฯจะยึดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่าใช่ ต้องยึดหลักตรงนั้นก่อน ส่วนอื่นจะว่าอย่างไรก็ไปว่ามา เพราะจะต้องมีการหารือกันอยู่แล้ว ถ้าถามตนในนามของคสช. ในนามของครม. ซึ่งตนเป็นหัวหน้าทั้ง 2 คณะให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
วอนสื่อช่วยลดความขัดแย้ง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงวันนักข่าวซึ่งตรงกับวันที่ 5 มี.ค.ของทุกปีว่า ขอให้นักข่าวมีความสุขทุกคน ซึ่งถือเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนประเทศ ฉะนั้นอะไรจะเดินหน้าไปได้หรือไม่ สื่อต้องสร้างการรับรู้ เมื่อเช้ามีบางคนพูดว่าจำเป็นต้องตรงกลาง ตนคิดว่าอย่าพูดอย่างนี้ มันไม่ดี ควรใช้คำว่าเสนอข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงหนึ่งส่วน ส่วนที่สองคือสนับสนุนกิจการของรัฐบาลที่เดินหน้าประเทศไปได้ และสามลดความขัดแย้ง สร้างความเข้าใจให้ประชาชนในนโยบายรัฐบาลที่ทำแล้วเกิดผลเป็นรูปธรรม
"สามสี่อย่างนี้ทำพร้อมกันไม่ได้เหรอ หรือจะทำอย่างเดียว ถ้าไอ้นี่เห็นข้างนี้ดี ข้างนี้ไม่ดี เสนอข่าวกันอยู่แบบนี้แล้วบ้านเราเมื่อไรจะสงบ ผมไม่ได้หมายความว่าต้องไปเข้าข้างคนไม่ดี แต่เรื่องผลกฎหมายก็ให้เขาตัดสินไป แต่พอกฎหมายตัดสินก็บอกไม่เป็นธรรมอีก อย่างนี้ไม่ได้ ถ้าจะให้ประเทศชาติสงบต้องนิรโทษกรรม ปรองดองทุกอย่างไม่ได้ ถ้าผิดกฎหมายต้องรับความผิด โดยให้ศาลชี้ชัดว่าใครผิด ใครถูก แล้วจบตรงนี้โอเคหรือไม่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าวันนี้สื่อให้ความร่วมมือรัฐบาลมากแล้ว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าดีแล้ว แต่บางคนบางอันยังไม่ค่อยดี แต่ไม่ขอเอ่ยชื่อ ขี้เกียจ และย้ำว่าสื่อน่ารัก ไม่ลัก ต้องรัก ร.เรือ ลัก ล.ลิง ไม่เอา
"เทียนฉาย"หนุนสปช.เว้นวรรค
ด้านนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช.กล่าวว่า ในส่วนของ สปช.เว้นวรรค 2 ปีก็ดี เพราะสปช.มีส่วนได้เสียกับรัฐธรรมนูญ ในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบที่ สำคัญเมื่อเราทำหน้าที่ตรงนี้ ต้องพร้อมรับทุกอย่าง ส่วนแม่น้ำอีก 4 สาย คงไปตอบแทนไม่ได้
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวว่า อยากให้ กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนข้อเสนอดังกล่าวอย่างรอบคอบ เนื่องจากไม่เป็นธรรมแก่บุคคลที่ตัดสินใจเข้ามาทำหน้าที่สนช.และสปช. เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ไม่ได้กำหนดการจำกัดสิทธิ สนช. สปช. ไว้เหมือนกมธ.ยกร่างฯ ที่ระบุห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี เพื่อตัดการมีผลประโยชน์ทับซ้อน หาก กมธ.ยกร่างฯ จะใส่ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้จำกัดสิทธิแม่น้ำ 5 สายจริง จะกลายเป็นการสร้างหลักการใหม่ขึ้นมา ต่อจากนี้หากส.ส. ส.ว.จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดๆ ที่อาจมองได้ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนจะต้องเว้นวรรคทางการเมืองทั้งหมด การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างอยู่นี้จะเป็นไปไม่ได้เลย
"เจษฎ์"เชื่อข้อเสนอถูกตีตก
ส่วนนายเจษฎ์ โทณวะณิก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงข้อเสนอให้ตัดสิทธิ์ 2 ปีแม่น้ำ 5 สายว่า เป็นแนวคิดของตนเอง ซึ่งแม่น้ำ 5 สายมีเวลาทำงาน 2 ปี จึงควรตัดสิทธิ์ในระยะเวลาเท่ากัน โดยการตัดสิทธิ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ผู้ดำรงตำแหน่งในแม่น้ำ 5 สาย พ้นวาระจากตำแหน่ง และจะมีผลย้อนหลังทุกกรณี รวมถึงนางทิชา ณ นคร ที่เพิ่งลาออกจากกมธ.ยกร่างฯ และสปช.ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีบางคนขู่จะลาออกทันที นายเจษฎ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับเขา แต่ท้ายที่สุดเชื่อว่าเรื่องคงไม่ผ่านการยอมรับจากกมธ. ยกร่างฯ เพราะคนที่ไม่เห็นด้วยมีมาก และยังไม่มีการพูดคุยกับสมาชิก สนช.และสปช.ถึงแนวคิดนี้ด้วย
นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตอนยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ห้ามกมธ.ยกร่าง ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. หรือส.ว.ภายใน 2 ปี แต่มิได้ห้ามองค์กรอื่นๆ ที่เกิดจากการรัฐประหารในครั้งนั้น โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ในการขจัดส่วนได้เสีย การใช้หลักเพื่อขจัดประโยชน์ส่วนได้เสียกับส่วนอื่นๆ ตามความเห็นของนายเจษฎ์ จึงมีน้ำหนัก แต่คงผลักดันลำบาก เพราะต่างคนก็หวังจะมีส่วนเข้าสู่การเมืองตามโมเดลที่ตนเองทำขึ้น ตามภาษิตที่ว่าชนชั้นใดร่างกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น
อ.ปื๊ดรายงานคืบหน้าร่างรธน.
เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสนช. มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ รายงานความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ใช้เวลาไปแล้ว 57 ครั้ง 400 กว่าชั่วโมง ซึ่งร่างแรกจะต้องเสร็จเพื่อเสนอสปช. ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ จากนั้นเดือนพ.ค. สปช. ครม. และคสช. ขอแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ จะนำไปปรับปรุงเพื่อพิจารณาเป็นร่างสุดท้าย แล้วเสนอที่ประชุม สปช.อีกครั้งภายในวันที่ 23 ก.ค. เพื่อให้ สปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ภายในวันที่ 6 ส.ค.
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า การพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ ทำโดยเปิดเผยต่อสื่อมวลชน ยกเว้นการพิจารณาภายในและมีการรับฟังความคิดเห็นจากหลายหน่วยงานก่อนพิจารณาลงเนื้อหาแต่ละมาตรา ถ้ามีความเห็นต่างก็จะพิจารณาหลักการก่อน โดยยึดหลักเจตนารมณ์ 4 หลักคือ 1.สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ 2.การเมืองใสสะอาดและสมดุล 3.หนุนสังคมคุณธรรม และ4.นำชาติสู่สันติสุข
แจงยิบที่มาเฟ้นส.ว.-ส.ส.
ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ในการเลือกส.ว. เราไม่ต้องการให้ส.ว.เป็นกระจกส่องส.ส.อีกแล้ว เพราะในปี 2549 ส.ว. 200 คน มี 47 คนที่เป็นเครือญาติของส.ส. ซึ่งการเลือกตั้งส.ว.ครั้งแรกไม่มีปัญหาเพราะพรรค การเมืองตั้งตัวไม่ได้ แต่พอตั้งตัวได้ก็แบ่งพื้นที่กันเรียบร้อย ดังนั้นเราจึงทำให้ส.ว.เป็นพหุนิยมของพลเมืองที่หลากหลายอาชีพ เพื่อถ่วงดุลกับส.ส. เป็นสภาที่เป็นพหุนิยม ไม่ใช่ลากตั้ง คำว่าลากตั้งเป็นภาษาของสื่อบางฉบับที่ดูถูกการเลือกตั้ง ยืนยันส.ว.ต้องมาโดยระบบเลือกตั้งทางอ้อม และส.ว.จะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่นั้นสำคัญน้อยกว่าบทบาทหน้าที่
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการเลือกตั้งส.ส.นั้น ระบบเลือกตั้งเดิมทำให้พรรคใหญ่ได้คะแนนนิยมเกินกว่าที่ประชาชนให้จริง เราจึงสร้างสมดุลในความนิยม ใช้ระบบสัดส่วนผสมกับเขต ซึ่งวัดคะแนนได้จากทั่วประเทศ เราจึงกำหนด ส.ส. 470 ที่นั่ง การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมทำให้เกิดรัฐบาลผสม ซึ่งเอื้อต่อการปรองดอง เกิดการพูดคุยของพรรค ไม่คิดว่าข้าใหญ่คนเดียว เพราะที่ผ่านมาเมื่อพรรคใหญ่เป็นรัฐบาล แล้วเกิดการไม่พอใจ พรรคเล็กก็ออกมาบนถนนหรือถ้าพรรคเล็กเป็นรัฐบาล พรรคใหญ่ก็ออกมาบนถนนเช่นกัน เป็นอย่างนี้มา 9 ปีแล้ว จึงต้องทำให้เกิดความสมดุลของพรรค
ล็อก180วันได้ส.ส.-ส.ว.240 วัน
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างฯ แถลงความคืบหน้าการพิจารณาการร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า ขณะนี้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งหมด 315 มาตรา โดยวันนี้เริ่มในบทเฉพาะกาล ที่มี 12 มาตรา ซึ่งพิจารณาไปแล้ว 7 มาตรา เริ่มต้นตั้งแต่มาตรา 304 เป็นต้นไป มีมาตราที่น่าสนใจคือมาตรา 307 ระบุว่า กมธ.ยกร่างฯต้องยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพ.ร.บ. ฉบับต่างๆ ให้เสร็จตามกำหนด
นายคำนูณ กล่าวว่า โดยร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างจากกมธ.ยกร่างฯ หมายถึงสนช.จะต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับให้เสร็จภายใน 60 วัน จากนั้นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นเวลา 30 วัน และกระบวนการเลือกตั้งอีก 90 วัน รวมทั้งสิ้น 180 วัน จะได้ส.ส.ชุดใหม่ จำนวนไม่เกิน 470 คน ขณะที่ ส.ว.ต้องใช้เวลาไม่เกิน 240 วัน
ไม่ถอยยุบรวมผู้ตรวจฯ-กสม.
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ในมาตรา 311 ให้ดำเนินการควบรวมองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็น "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน" โดยมีผลตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ผู้สื่อข่าวถามว่าการระบุว่าจะได้ส.ส. 180 วัน หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ได้คิดคำนวณการทำประชามติไว้ด้วยหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ไม่ได้คำนวณจากการต้องทำประชามติหรือไม่ แต่คิดจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า โค้งสุดท้ายของร่างแรกรัฐธรรมนูญ พอให้เห็นภาพแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้พาระบอบประชาธิปไตยแหกโค้งแน่ๆ นายกฯ คนนอก ส.ว.ลากตั้ง สมัชชาคุณธรรมฯ ล้วนเป็นสัญญาณการบอนไซอำนาจอธิปไตยของประชาชน ถ้าพวกนี้ร่วมมือกันขัดขวางนายกฯเลือกตั้งเกิดยากมาก ถึงเกิดได้ก็เลี้ยงไม่โตเพราะใช้อำนาจอะไรไม่ได้ สุดท้ายเสร็จนายกฯ คนนอก เฉพาะเรื่องส.ว. นายบวรศักดิ์ ต้องเข้าใจด้วยว่าแค่ลากตั้งมาก็แย่แล้ว แต่ให้อำนาจล้นเกินขนาดนี้ยิ่งโคตรแย่ แม้หัวหน้า คสช.จะบอกให้ใจเย็นๆ ทุกอย่างยังไม่จบ แต่ตนคิดว่าจำเป็นต้องพูดเสียตอนนี้ ถ้านิ่งจะถูกอ้างว่าสังคมเห็นด้วย
ปชป.ห่วงกำหนดเวลาแก้ไข
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กมธ.ยกร่างฯลงรายมาตราบทเฉพาะกาลของรัฐธรรม นูญ ว่าตนเคยแสดงความเห็นไว้แล้วว่าจะมีหมวดพิทักษ์รักรัฐธรรมนูญ ที่ระบุกำกับไว้ว่า ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงต้องดูว่าใช้ก่อนกี่ปี ตอนนี้เท่าที่ทราบก็มีแต่เป็นบทเฉพาะกาลที่ยังคงเงื่อนไขห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงต้องดูว่าจะระบุไว้ 5 ปีหรือกี่ปี ซึ่งกมธ.ยกร่างฯมีการตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระประเมินผลการใช้บังคับรัฐธรรมนูญในทุก 5 ปีขึ้นมา จึงต้องดูคณะกรรมการชุดดังกล่าวให้ส.ว.เข้าเป็นกรรมการด้วยหรือไม่ หากเป็นได้จะเกิดปัญหาเรื่องความชอบธรรม เพราะส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่มาจากเลือกตั้งทางอ้อมหรือแต่งตั้ง
นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นพลวัตร แต่ไม่ควรกำหนดเวลาตายตัวว่าต้องผ่านไปก่อน 5-8 ปี เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นก่อนเวลาที่กำหนดให้แก้ไข เช่น เกิดเดตล็อกทางการเมืองขึ้นมาจะเกิดปัญหายุ่งกันใหญ่ จึงควรบัญญัติเปิดช่องให้สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องทำประชามติจากประชาชน และควรให้ยกเว้นห้ามไม่ให้มีการแก้ไขในหมวดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ทั้งหมด เหมือนรัฐธรรมนูญทุกฉบับก่อนหน้านี้
"เทียนฉาย"ชี้สปช.พร้อมพิจารณา
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ให้สัมภาษณ์ว่า กมธ.ยกร่างฯจะส่งรัฐธรรมนูญร่างแรกฉบับเต็มให้สปช.ในวันที่ 17 เม.ย. และมีกรอบเวลาพิจารณา 10 วัน ซึ่งสปช.ยืนยันจะพิจารณาอย่างเต็มที่ โดยช่วงวันที่ 18-19 เม.ย. จะให้เจ้าหน้าที่ส่งรายละเอียดให้กับสมาชิกสปช.พิจารณา จากนั้นจะเปิดให้พิจารณาในวันที่ 20-23 เม.ย. เว้นวันที่ 24 เม.ย. เพื่อเปิดให้สนช.ใช้ห้องประชุม และสปช.จะประชุมต่ออีกครั้งในวันที่ 25-26 เม.ย. ซึ่งพิจารณาต่อเนื่องไม่สามารถหยุดได้ เนื่องจากไม่มีเวลาแล้ว จากนั้นสมาชิกสปช.จะมีเวลาเสนอความเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมได้อีก 30 วัน จะเปิดกว้างให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เพราะถือเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของการทำงานของสปช.
นายเทียนฉายกล่าวว่า ส่วนการทำงานของสปช.ด้านปฏิรูป ซึ่งมีการส่งกรอบความคิดเห็นของกมธ.ทั้ง 18 ด้าน บวกกับอีก 5 คณะพิเศษมายังสปช.เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะนี้มีสมาชิกสปช. 4-5 คนอาสาเรียบเรียงประเด็นและจะเสร็จเรียบร้อยในวันที่ 8-9 มี.ค. เพื่อเรียงลำดับก่อนหลังความสำคัญของการดำเนินการ และกำหนดเวลาดำเนินการ ซึ่งมีหลายเรื่องที่ทำได้ทันที และบางเรื่องต้องใช้เวลา โดยเฉพาะ ต้องออกพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือแก้พ.ร.บ.เดิมที่อาจต้องใช้เวลาบ้าง
ลั่นตายดีกว่ารธน.มีตำหนิ
ประธานสปช.กล่าวว่า วันที่ 11 มี.ค.นี้ สปช.จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมแม่น้ำ 5 สาย ที่สโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดีรังสิต แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีรายละเอียดมาก มีเวลาพิจารณาน้อย จึงมีแนวคิดว่าจะจัดประชุมต้นน้ำเพิ่มเติม โดยประชุมเฉพาะในส่วนของประธานคสช. ครม. ประธานสปช. ประธานสนช. ประธานกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งจะหารือในเชิงลึกช่วงใกล้จะออกปากอ่าว หากมีความคืบหน้าอย่างไรจะมาแจ้งให้ทราบต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะให้คำมั่นได้หรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญที่ออกมาจะเป็นประชาธิปไตย นายเทียนฉายกล่าวว่าเราไม่มีทางปล่อยให้รัฐธรรมนูญที่ไม่มีคุณค่าประชาธิปไตยออกมา แต่เราจะได้ประชาธิปไตยที่ดีงามเหมาะกับคนไทยอย่างแน่นอน ต่อข้อถามว่าหากสุดท้ายสปช.ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้กมธ.ยกร่างฯกับสปช.ทั้งคณะต้องออกไป จะเป็นเงื่อนไขกดดันการทำงานหรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่าสปช.คงไม่ปล่อยรัฐธรรมนูญที่มีตำหนิออกไป อย่าคาดหวังว่าเราต้องเห็นชอบเท่านั้น ถ้าเราปล่อยรัฐธรรมนูญที่มีตำหนิออกไปแล้วประเทศมีปัญหา สู้ยอมฆ่าตัวตายดีกว่า
อุ้มผช.สเป๊กครบ-ทำงานจริง
นายเทียนฉาย ยังกล่าวถึงกรณีสมาชิก สปช.ตั้งเครือญาติเป็นผู้ช่วยว่า ในระเบียบข้อบังคับเป็นระเบียบเดิมที่ใช้กับส.ส.และส.ว. ในส่วนสปช.แม้การทำหน้าที่จะไม่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมาย แต่สปช.มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ จึงอนุโลมใช้ข้อบังคับเดิมที่มีอยู่ หากสปช.เดินไปตามคุณสมบัติ ระเบียบและกติกาที่กำหนดไว้ น่าจะถูกต้องแล้ว ส่วนบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนบังเอิญเป็นเครือญาตินั้น เห็นว่าขณะนี้สปช.มีวาระการทำงานไม่มาก บางครั้งการเอาญาติหรือบุตรมาช่วยทำงานโดยเฉพาะที่ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย แต่เป็นเรื่องเฉพาะ เช่น เรื่องเศรษฐกิจหรือเรื่อง อื่นๆ บุตรเรียนมาด้านนี้ หากเอามาช่วยงานคงไม่เป็นไร แต่ถ้าตั้งมาแล้วไม่เคยเห็นหน้า ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นนี้เป็นความรับผิดชอบเฉพาะตัว
เมื่อถามว่าวิปสนช.มีคำแนะนำให้เครือญาติที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยสมาชิกสนช.ลาออก นายเทียนฉายกล่าวว่า แนวทางที่วิปสนช.ทำไว้ดีแล้ว ดังนั้น สปช.คงเดินในทางเดียวกัน เพราะในเหตุการณ์เดียวกันถ้าทำกันคนละอย่างคงอธิบายยาก
ป.ป.ช.ถกคำร้องสภาลูกเมีย
เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานป.ป.ช. มีการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช.เป็นประธานการประชุม โดยมีรายงานข่าวว่า ที่ประชุมหารือถึงข้อร้องเรียนของนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ยื่นขอให้ไต่สวนสมาชิกสนช. กว่า 50 คน กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายและขัดแย้งต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างร้ายแรง กรณีเสนอชื่อเครือญาติ ต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะสำนักเลขาธิการสนช. แต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัว
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้เจ้าหน้าที่ไปรวบรวมความเห็นว่า อยู่ในอำนาจที่ป.ป.ช.จะตรวจสอบได้หรือไม่ โดยพิจารณาใน 3 เรื่องคือ 1.ผลประโยชน์ทับซ้อน ตามมาตรา 100 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. 2.เรื่องมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม 3.การปฏิบัติหน้าที่ที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ตลอดจนให้ดูข้อเท็จจริงว่าสมาชิกสนช.แต่ละคน เสนอแต่งตั้งเครือญาติโดยใช้หลักเกณฑ์อย่างไร แล้วให้นำกลับมารายงานให้ที่ประชุมป.ป.ช.ทราบในวันที่ 10 มี.ค. หากพบว่ามีข้อใดอยู่ในอำนาจที่ป.ป.ช.จะตรวจสอบได้ จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป
จี้สนช.ลาออก-ลุยร้องผู้ตรวจฯ
เมื่อเวลา 10.40 น. สมาชิกกลุ่มนักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยรามคำแหง เดินทางไปรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือต่อประธานสนช.เรียกร้องขอให้สมาชิก สนช. ลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีแต่งตั้งบุคคลในครอบครัว เครือญาติ และคนสนิท เพื่อให้ได้เข้ารับตำแหน่งต่างๆ
ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เครือข่ายปกป้องผลประโยชน์และศักดิ์ศรีของคนไทย นำโดยนายยุทธภัณฑ์ พันธ์สิงสอน เลขาธิการเครือข่ายฯ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของสมาชิกสปช. ในการบรรจุสามี ภรรยา บุตรและเครือญาติเข้ามาดำรงตำแหน่งโดยเห็นว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนคำสั่งนายกฯที่แต่งตั้งจากผู้สมัครมาเป็นสมาชิก สปช. รวมทั้งเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนและเข้าข่ายต้องห้ามตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 และประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ.2553
นายยุทธภัณฑ์ กล่าวว่า ขอให้ตรวจสอบและดำเนินคดีอาญาและแพ่ง รวมทั้งให้ต้นสังกัดตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงสำหรับผู้ที่ยังรับราชการ โดยเฉพาะขอให้คืนเงินและปลดออกจากตำแหน่งและตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี หากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายขอให้ผู้ตรวจการฯส่งเรื่องให้ป.ป.ช. เพื่อถอดถอนและส่งต่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
เหน็บอย่าหากินแบบกงสี
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย กล่าวว่า การที่ฝ่ายนิติบัญญัติในขณะนี้มีเงินเดือนเป็นแสน ได้สิทธิเหมือนกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่การที่นักการเมืองแต่งตั้งใครมาเป็นผู้ช่วยนั้น เพราะมีพื้นที่ มีประชาชนที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ นักการเมืองบางคนอาจไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายจึงต้องแต่งตั้งผู้ช่วยมาให้คำแนะนำ แต่คนที่ทำหน้าที่ในขณะนี้ ล้วนแล้วแต่ถูกเลือก แสดงว่าต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนที่เห็นว่าจะใช้ประโยชน์ได้ ที่สำคัญอยากถามว่า มีพื้นที่ที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนหรือไม่ เหตุใดต้องได้รับสิทธิเหมือนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ยิ่งพอมาเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จึงรู้สึกว่าการปฏิรูปครั้งนี้อาจไม่เกิดประโยชน์ เสียงนกหวีดที่เคยเป่าก็ไม่มีความหมาย
"ก่อนหน้านี้ พวกคนเหล่านี้ก็ไม่ยอมเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน โดยอ้างว่าไม่ได้เป็นนักการเมืองไม่จำเป็นต้องเปิด แต่สิ่งที่เห็นคือคนพวกนี้ต่างต้องการสิทธิเหมือนนักการเมืองทุกอย่าง มีผู้ช่วยสารพัด อีกทั้งพอมีการเสนอให้แม่น้ำ 5 สายต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 2 ปี ก็คัดค้านไม่ยินยอม พอเป็นเช่นนี้ก็เริ่มไม่เห็นแสงสว่างในการปฏิรูป เพราะตัวคนเหล่านี้ยังไม่ได้ปฏิรูปแต่อย่างใด อย่าลืมว่านี่เป็นการบริหารประเทศ ไม่ใช่การทำมาหากินแบบกงสี" นายชูวิทย์ กล่าว
สนช.ซักถามคดีถอด 38 ส.ว.
เวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสนช. มีวาระพิจารณาการถอดถอนอดีต 38 ส.ว. ออกจากตำแหน่งกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ซึ่งเป็นการตอบข้อซักถามโดยกมธ.ซักถาม ที่มีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. เป็นประธาน โดยถามคู่กรณี คือ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และอดีต 38 ส.ว. ผู้ถูกกล่าวหา สำหรับจำนวนคำถามนั้น ป.ป.ช.มี 13 คำถาม และคำถามของอดีต 38 ส.ว.มี 5 คำถาม
กมธ.ซักถาม ตั้งคำถาม ป.ป.ช. ในกรณีรัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสุดลง แต่เหตุใดยังส่งเรื่องถอดถอนอดีต 38 ส.ว.มายังสนช. ซึ่งนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ตอบว่า แม้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 จะสิ้นสุดลงแต่คำร้องได้ร้องตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ปี 2542 ที่ยังบังคับใช้อยู่ เสียงข้างมากของป.ป.ช.จึงเห็นว่าต้องดำเนินการต่อไป ขณะที่เสียงข้างน้อยเห็นว่าควรยุติ ซึ่งบางคนอาจสงสัยว่าทำไม ป.ป.ช.จึงส่งตนมาตอบคำถามทั้งที่ตนเป็นเสียงข้างน้อย เพราะป.ป.ช. พิจารณาตรงไปตรงมา หากจะมุ่งร้ายต่ออดีตส.ว.ก็คงไม่ส่งตนมา ส่วนเหตุใด อดีตส.ว.พ้นจากตำแหน่งแล้วและไม่มีการทำงานของวุฒิสภา จึงยังมีมติชี้มูลความผิดและส่งเรื่องให้ สนช.ถอดถอนนั้น เพราะยังมีกระบวนตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการถอดถอน
ป.ป.ช.ชี้ความผิดสำเร็จแล้ว
นายวิชัย กล่าวว่า การดำเนินการของ อดีตส.ว.ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 จะสิ้นสุดลงแต่พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ยังบังคับใช้อยู่ ดังนั้น การกระทำของอดีตส.ว.คือฝ่าฝืนและขัดต่อบทบัญญัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 58 ส่วนที่ป.ป.ช.ไม่นำกรณีอดีต ส.ว.ลงมติโหวตแต่ไม่ลงชื่อเสนอญัตติมาพิจารณานั้น เพราะ ป.ป.ช.เห็นว่าคนที่ลงชื่อและโหวตในแต่ละมาตรา ต้องรู้อยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญที่ลงชื่อแก้ไขไปนั้นเป็นของจริงหรือสอดไส้ แต่คนที่ไม่ได้ร่วมลงชื่อจะอ่านโดยรวม ไม่ได้อ่านเป็นรายมาตรา และผู้ที่ลงมติในวาระ 3 ถือว่าเป็นผู้ที่มีความผิดสำเร็จแล้ว
ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหายอมรับว่าได้ลงชื่อเสนอญัตติ แต่ไม่ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจัดพิมพ์แก้ไขขึ้นใหม่ เหตุใด ป.ป.ช.จึงเห็นว่าเหตุผลที่อดีตส.ว.บอกว่าไม่ทราบว่าเป็นคนละฉบับนั้นฟังไม่ขึ้น นายวิชัย กล่าวว่า ป.ป.ช.เห็นว่าข้อต่อสู้นี้ฟังไม่ได้ เนื่องจากกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อระบบประชาธิปไตย เรื่องสำคัญที่ป.ป.ช.วินิจฉัย คือร่างรัฐธรรมนูญที่เข้าชื่อเสนอขอแก้ไขกับฉบับที่มีการลงมติเป็นคนละฉบับกันและไม่ได้แจกจ่ายให้สมาชิกคนอื่นได้รับทราบ ถือว่าไม่ถูกต้อง
ส.ว.โต้ทุกเม็ด-13มี.ค.ลงมติ
จากนั้นซักถามฝ่ายผู้ถูกกล่าวว่าทราบหรือไม่ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม นายวิทยา อินาลา อดีตส.ว.นครพนม ชี้แจงว่าร่างที่เสนอแก้ไขและใช้พิจารณามีร่างเดียว ไม่ใช่เอกสารปลอม แต่เป็นร่างที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทยและสมาชิกรัฐสภา 308 คนได้ยื่นและ มีการแก้ไขก่อนที่ประธานจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม มีการแก้ไขจาก 12 มาตรา เป็น 13 มาตรา และเป็นร่างที่นายอุดมเดชแถลงหลักการต่อที่ประชุมรัฐสภา จึงถือว่าเป็นร่างเดียวกัน
ส่วนคำถามที่ว่าเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตส.ว.นนทบุรี ชี้แจงว่า ไม่มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ รัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่า เป็นหน้าที่ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่างจากการบริหารประเทศในลักษณะอื่น ซึ่งเรายึดหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา 291 ทุกประการ และไม่ได้หมายความว่าเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว พวกตนทั้ง 38 คนจะลงเลือกตั้ง แต่เมื่อใดที่พวกตนลงสมัครรับเลือกตั้ง ถึงจะเป็นเรื่องผลประยชน์ทับซ้อน ตอนนี้จึงถือว่าความผิดยังไม่สำเร็จ องค์ประกอบยังไม่ครบ
จากนั้นนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม แจ้งว่า ในวันที่ 11 มี.ค. เป็นการแถลงปิดสำนวนดคีด้วยวาจาของทั้ง 2 ฝ่าย จากเดิมกำหนดวันที่ 12 มี.ค. ขณะที่สนช.กำหนดลงมติถอดถอนในวันที่ 13 มี.ค.และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ยื่นสนช.ค้านกม.คุมม็อบ
เมื่อเวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา นางวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนคัดค้าน "ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)เสนอ ถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เนื่องจากไม่สอดคล้องกับหลักการชุมนุมสาธารณะ มีเนื้อหากว้าง ตีความได้มากเกินไป อาจนำมาซึ่งการจำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบของประชาชน อีกทั้งขณะนี้ยังไม่มีรัฐธรรม นูญฉบับถาวร มีเพียงฉบับชั่วคราวที่ยังไม่มีการกำหนดถึงสิทธิเสรีภาพการชุมนุม การรวมตัวของแรงงานไว้ชัดเจน มีการยกเว้นความผิดเจ้าหน้าที่ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย แต่นำโทษทางอาญามาบังคับใช้กับผู้ชุมนุม ยกเว้นเขตอำนาจศาลปกครอง ทั้งที่สาระสำคัญของการชุมนุมสาธารณะเป็นเรื่องกฎหมายมหาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของศาลปกครอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มต่างๆ เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. เพื่อคัดค้านเรื่อง
ดังกล่าว อาทิ นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ รักษาการเลขาธิการกลุ่มกรีนพร้อมคณะ และ เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ นำโดยพญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ซึ่งระหว่างที่กลุ่มภาคประชาชน พยายามจะเข้ายื่นหนังสือ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา และเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งสกัดกั้น ไม่ให้เข้าไปภายในอาคาร จึงเกิดการโต้เถียงกันเล็กน้อย ก่อนจะตกลงกันได้
นายสุรชัยกล่าวว่า จะรีบส่งข้อมูลความเห็นของภาคประชาชนให้กมธ.ที่กำลังพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้นจะแจ้งให้ทราบต่อไป
อาจารย์อัดใช้แทนกฎอัยการศึก
นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่า การกลั่นกรองกฎหมายที่มีความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยสนช.ที่ไม่มีส่วนยึดโยงประชาชน จะยิ่งทำให้กฎหมาย ฉบับนี้ทำลายสิทธิเสรีภาพการแสดง ออกของประชาชน อีกทั้งเนื้อหาก็ไม่ต่างจากการย่อส่วนกฎอัยการศึกให้เล็กลง ซึ่งเป็นไปได้ว่ารัฐบาลผลักดันกฎหมายฉบับนี้เพื่อนำมาบังคับใช้แทนกฎอัยการศึก ที่ถูกต่อต้าน อย่างหนักทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ วันที่ 18 มี.ค. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เตรียมจัดเสวนาหัวข้อ "อณาธิปไตยบนท้องถนน หรือเสรีภาพ ในการชุมนุมเครือข่ายทางการเมือง" เพื่ออภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลให้รู้จักกฎหมายฉบับนี้ด้วย
สนช.ผ่านยกแรกกม.ค้ามนุษย์
วันที่ 5 มี.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ... ในวาระแรก นำเสนอโดยคณะรัฐมนตรี(ครม.) สาระสำคัญกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) มีนายกฯ เป็นประธาน มีหน้าที่เสนอครม.กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ
ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งปิดสถานประกอบกิจการหรือโรงงานชั่วคราว พักใช้ใบอนุญาตประกอบการ ห้ามใช้ยานพาหนะ ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำผิดเกิดขึ้นอีก ในกรณีที่พบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว และการสั่งดังกล่าวต้องไม่เกินครั้งละ 30 วัน นับแต่วันได้รับทราบคำสั่ง และผู้ใดแจ้งแก่พนักงาน เจ้าหน้าที่ ว่ามีการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.นี้ ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ทั้งนี้ หากกระทำผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 8-20 ปี และปรับตั้งแต่ 160,000-400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต หากถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต
ทั้งนี้ สมาชิกสนช.อภิปรายอย่างกว้างขวาง ก่อนลงมติเอกฉันท์รับหลักการวาระแรก ด้วยคะแนน 177 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 15 คน กำหนดเวลาดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน
ฟ้องแพ่งจำนำข้าว-อายุความ2ปี
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าได้คุยกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) กรมบัญชีกลาง และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งได้คำตอบเบื้องต้นที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าคดีนี้มีอายุความ 2 ปี โดยอสส.จะเป็นผู้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เริ่มนับอายุความตั้งแต่กระทรวงการคลังได้รับเรื่องจากป.ป.ช. ตามมาตรา 73 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. คือเดือนก.พ.2558-ก.พ.2560
นายวิษณุกล่าวว่า จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ชุดแรกเป็นคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและกำหนดจำนวนค่าเสียหาย เพราะเวลาฟ้องศาลจะใช้ประมาณการไม่ได้ ต้องระบุให้ชัดเจนว่าฟ้องเรียกค่าเสียหายกี่บาท และเมื่อเสร็จกระบวนการนี้ จะส่งต่อให้คณะกรรมการอีกชุดคือ คณะกรรมการว่าด้วยการรับผิดทางแพ่ง มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน ก่อนจะส่งให้อสส.ฟ้องตามขั้นตอน ดังนั้นเรื่องนี้จะมี 3 ขั้นตอน ซึ่งต้องทำภายในอายุความ 2 ปี และเมื่อฟ้องแล้วอายุความจะหยุดโดยอัตโนมัติ
เมื่อถามว่าตัวเลขความเสียหายชัดเจนแล้วหรือยัง รองนายกฯกล่าวว่ามีเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่เชื่อว่าเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง และต้องรู้ว่าใครเป็นคนรับผิด เพราะเป็นไปไม่ได้ว่าจะให้ใครคนใดคนหนึ่งรับผิด ถ้าฟ้อง 10 คน ต้องรู้ว่าหารแล้วคนละเท่าไร ตัวเลขต้องเป็นส่วนของใครของมัน ส่วนจะฟ้องกี่คนนั้น ก็รู้คร่าวๆ แล้ว แต่จะรู้ชัดต่อเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยแล้ว
คุก 4 ปีเสื้อแดงบุกเวทีอาเซียน
วันที่ 5 มี.ค. ที่จ.ชลบุรี ศาลจังหวัดพัทยา จ.ชลบุรี อ่านคำพิพากษากรณีคดีคนเสื้อแดงรวมตัวประท้วง พร้อมปิดโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งใช้เป็นสถานที่การประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2552 โดยนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง พร้อมพวกรวม 15 คน จากรายชื่อผู้ต้องหา 18 คน เข้าฟังคำตัดสิน
เบื้องต้นศาลตัดสินจำคุก 4 ปี ข้อหาชุมนุมเกินกว่า 10 คนขึ้นไป และพ.ร.บ.จราจร ปรับ 200 บาท จำนวน 13 คนโดยไม่รอลงอาญา ดังนี้ 1.นายอริสมันต์ 2.นายนิสิต สินธุไพร 3.นายพายัพ ปั้นเกตุ 4.นายวรชัย เหมะ 5.นายวันชนะ เกิดดี 6.นายพิเชฐ สุขจินดาทอง 7.นายศักดิ์ดา นพสิทธิ์ 8.พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภารัตน์ 9.นายนพพร นาเชียงใต้ 10.นายสำเริง ประจำเรือ 11.นายสมยศ พรหมมา 12.นพ.วัลลภ ยังตรง และ 13.นายสิงห์ทอง บัวชุม
โดยศาลยกฟ้อง นายธงชัย ศักดิ์มังกร และพ.ต.อ.สมพล รัฐบาล และศาลสั่งพักคดี 3 คน คือ 1.พ.ต.ท.เสงี่ยม สำราญรัตน์ 2.นายสุรชัย แซ่ด่าน และน.ส.อรวรรณ (ไม่ทราบนามสกุล) นายคารม พลทะกลาง ทีมทนายความคดีแกนนำคนเสื้อแดง เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้ยื่นประกันตัวให้แก่จำเลยทั้ง 13 คนแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยังไม่อนุญาต โดยมอบให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จังหวัดชลบุรี พร้อมกันนี้จำเลยทั้ง 13 คน จะถูกส่งตัวไปเรือนจำพิเศษหนองปลาไหล จ.ชลบุรี จนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ทั้งนี้หลักทรัพย์ที่ศาลเรียกประกันตัวเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวคนละ 670,000 บาท ในชั้นนี้อาจจะเพิ่มหรือเท่าเดิมก็ได้ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ต่อไป
ปปช.ยอมรับเสนอคสช. ขอต่ออีกปี ชงบิ๊กตู่ใช้อำนาจพิเศษ อ้าง 5 คนพ้นวาระ-เหลือ 4 'เพื่อไทย'ยุตั้งใหม่แทน จำคุก 4 ปี 13 แกนนำแดง คดีล้มถกอาเซียนพัทยา
ถามหาสปิริต - กลุ่มนักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยรามคำแหง ยื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เรียกร้องสมาชิก สนช.ที่แต่งตั้งบุคคลในครอบครัวและคนสนิทเป็นที่ปรึกษา ให้แสดงความรับผิดชอบลาออก เนื่องจากขัดต่อหลักจริยธรรม สนช. และต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม
กมธ.ยกร่างฯแขวนเว้นวรรค 2 ปี'บิ๊กตู่'บอกอย่าหวาดระแวง ให้ยึด รธน.ชั่วคราว'เทียนฉาย'หนุน ชี้ สปช.มีส่วนได้เสีย ยันยอมฆ่าตัวตายดีกว่าปล่อยให้รัฐธรรมนูญมีตำหนิ 'วิชัย'รับ ป.ป.ช.คุยจริงเรื่องต่ออายุ ขณะที่'วิชา'อ้างไม่รู้เรื่อง ยื่นผู้ตรวจฯสอบ
@ "บวรศักดิ์"แจงสนช.คืบยกร่างฯ
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เข้ารายงานความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 5 มีนาคม โดยนายบวรศักดิ์รายงานว่า กมธ.ยกร่างฯประชุมไปแล้ว 57 ครั้ง รวมเวลากว่า 400 ชั่วโมง ซึ่งร่างแรกจะต้องทำให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 17 เมษายนนี้ จากนั้นเดือนพฤษภาคม สปช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯจะนำไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อพิจารณาเป็นร่างสุดท้าย แล้วเสนอต่อที่ประชุม สปช.อีกครั้งภายในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้ สปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายในวันที่ 6 สิงหาคมนี้
นายบวรศักดิ์ ยังระบุถึงที่มาของ ส.ว. 200 คนที่ให้มีการเลือกตั้งทางอ้อมว่า เพราะไม่ต้องการให้ ส.ว.เป็นกระจกเงาของ ส.ส. จึงต้องทำให้ ส.ว.เป็นพหุนิยมของพลเมืองที่หลากหลายอาชีพ เพื่อถ่วงดุลกับ ส.ส. ซึ่งเป็นพหุนิยม ยืนยันว่าไม่ใช่ ส.ว.ลากตั้ง คำว่าลากตั้งเป็นภาษาของสื่อมวชนบางฉบับที่ดูถูกการเลือกตั้ง ดังนั้น ปัจจุบัน ส.ว.จึงต้องมาโดยระบบเลือกตั้งทางอ้อม และ ส.ว.จะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งนั้นสำคัญน้อยกว่าบทบาทหน้าที่
@ สปช.ยันไม่ให้รธน.มีตำหนิ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของ สปช.ว่า กมธ.ยกร่างฯจะส่งร่างแรกฉบับเต็มให้กับ สปช.ในวันที่ 17 เมษายนนี้ และมีกรอบระยะเวลาในการพิจารณา 10 วัน โดยวันที่ 18-19 เมษายน จะให้เจ้าหน้าที่ส่งรายละเอียดให้กับสมาชิก สปช.พิจารณา หลังจากนั้นจะเปิดให้พิจารณาในวันที่ 20-23 เมษายน เว้นวันที่ 24 เมษายนเพื่อเปิดให้ สนช.ใช้ห้องประชุม จากนั้นวันที่ 25-26 เมษายน สปช.จะประชุมต่ออีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะให้คำมั่นได้หรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญที่ออกมาจะเป็นประชาธิปไตย นายเทียนฉายกล่าวว่า สปช.จะไม่มีทางปล่อยให้รัฐธรรมนูญที่ไม่มีคุณค่าประชาธิปไตยออกมา แต่จะได้ประชาธิปไตยที่ดีงาม พอเหมาะกับคนไทยอย่างแน่นอน "สปช.คงไม่ปล่อยรัฐธรรมนูญที่มีตำหนิออกไป อย่าคาดหวังว่าเราต้องเห็นชอบเท่านั้น ผมไม่คิดว่ามีธงอยู่ ไม่จำเป็น ถ้าเราปล่อยรัฐธรรมนูญที่มีตำหนิออกไปแล้วประเทศมีปัญหา สู้ยอมฆ่าตัวตายดีกว่า"
@ กมธ.ต้อนรับ"กอบศักดิ์"
ขณะที่ กมธ.ยกร่างฯได้ประชุมที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. เพื่อพิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา มี นพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างบทบัญญัติบทเฉพาะกาลประมาณ 10 มาตรา ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ที่ประชุมได้กล่าวต้อนรับนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่ สปช.มีมติให้เป็น กมธ.ยกร่างฯ แทนนางทิชา ณ นคร ที่ลาออก
เมื่อเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ฝ่ายเลขานุการฯได้ชี้แจงภาพรวมของเนื้อหาสาระของบทเฉพาะกาลว่า เนื้อหาส่วนหนึ่งจะเป็น 2 แนวทางคือ แนวทางแรกเป็นการนำเอาบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 มาเป็นหลักในการพิจารณาว่า มีส่วนใดบ้างที่ตรงกับร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนแนวทางที่สอง เป็นการนำร่างบทบัญญัติในเรื่องของข้อยกเว้น ข้อห้าม ข้อจำกัด ที่จะเขียนยกเว้นไว้
@ สนช.นั่งต่อยาวอีก 7 เดือน
ทั้งนี้ มาตรา 304 เป็นการนำบทบัญญัติมาตรา 292 รัฐธรรมนูญ 2550 มาอ้างอิง โดยไม่มีการปรับแก้ไข มีสาระสำคัญคือ ให้คณะองคมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะองคมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
ขณะที่มาตรา 305 เป็นการนำบทบัญญัติของมาตรา 293 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาอ้างอิงเช่นกัน โดยกำหนดให้ สนช.ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญนี้จนกว่าจะมีการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา 136 ซึ่งเท่ากับว่า สนช.จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ไปประมาณ 7 เดือน หรือ 210 วัน
@ แขวนเว้นวรรคแม่น้ำ5สาย
ส่วนมาตรา 306 กำหนดให้ สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ สิ้นสุดลงก่อนวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไป และภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ห้าม กมธ.ยกร่างฯ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปี ที่ประชุมได้ขออภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่เสนอให้ยืดอายุการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ ออกไปเป็น 7 เดือน เท่ากับ สนช. เพื่อจะให้ กมธ.ยกร่างฯทำงานควบคู่ไปกับ สนช.ในการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมยังมีการพูดถึงข้อเสนอห้ามแม่น้ำทั้ง 5 สาย ประกอบด้วย คสช. ครม. สปช. สนช.และ กมธ.ยกร่างฯ เว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี ภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เช่นกัน ปรากฏว่ามีสมาชิกบางส่วนเห็นว่าหลักการดังกล่าวอาจจะไม่เหมาะสม สุดท้ายที่ประชุมมีมติให้แขวนมาตรานี้ไว้ก่อน เพื่อรอรวบรวมภารกิจอำนาจหน้าที่ของ สปช.และ กมธ.ยกร่างฯว่า หลังจากดำเนินการยกร่างฯเสร็จแล้วมีภารกิจและอำนาจหน้าที่อย่างไรบ้าง
@ ให้ป.ป.ช.สิ้นสุดตามวาระ
ส่วนมาตรา 310 ว่าด้วยการดำรงตำแหน่ง กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อและดำรงตำแหน่งจนสิ้นวาระ ส่วนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่างให้เป็นไปตามมาตรา 229 และทำภายใน 60 วัน ส่วน ป.ป.ช.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นกรรมการ ป.ป.ช.ต่อจนสิ้นวาระ เริ่มนับแต่วันที่แต่งตั้งและดำเนินการสรรหาใหม่ ในตำแหน่งที่ว่างตามมาตรา 271 ให้แล้วเสร็จใน 60 วัน
@ ถกบทเฉพาะกาลคืบ7มาตรา
ต่อมาเวลา 15.00 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ แถลงความคืบหน้าในการพิจารณาการร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ว่าขณะนี้ได้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งหมดจำนวน 315 มาตรา ครั้งได้เริ่มในบทเฉพาะกาลมีจำนวน 12 มาตรา พิจารณาไปแล้ว 7 มาตรา โดยเริ่มต้นตั้งแต่มาตรา 304 มาตราที่น่าสนใจคือ มาตรา 307 ระบุว่า กมธ.ยกร่างฯต้องดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ.ฉบับต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามกำหนด โดย (1) ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างจาก กมธ.ยกร่างฯ
"หมายถึง สนช.ที่จะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน จากนั้นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นเวลา 30 วัน และกระบวนการเลือกตั้งอีก 90 วัน รวมทั้งสิ้น 180 วัน ก็จะได้ ส.ส.ชุดใหม่ จำนวนไม่เกิน 470 คน ขณะที่ ส.ว.ต้องใช้เวลาไม่เกิน 240 วัน" นายคำนูณกล่าว
@ ควบรวบ"กสม.-ผู้ตรวจฯ"
นายคำนูณกล่าวว่า นอกจากนี้ในมาตรา 311 ให้ดำเนินการควบรวมองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน โดยมีผลตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การระบุว่าจะได้ ส.ส.180 วันหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ได้คำนวณการทำประชามติไว้ด้วยหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ไม่ได้คำนวณจากการต้องทำประชามติหรือไม่ แต่คิดจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว
@ นัด6มี.ค.ถกปมเว้นวรรค2ปี
"วันที่ 6 มีนาคมนี้ กมธ.ยกร่างฯจะประชุมเป็นการภายใน ไม่อนุญาตให้สื่อเข้าฟัง โดยจะพิจารณามาตราที่แขวนไว้ อาทิ มาตรา 306 กำหนดให้ สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 สิ้นสุดลงก่อนวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไป และภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ห้าม กมธ.ยกร่างฯดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปี" นายคำนูณกล่าว
นายคำนูณกล่าวว่า ส่วนข้อเสนอของนายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่เสนอให้แม่น้ำ 5 สาย เว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี ก็จะนำไปหารือในที่ประชุมวันที่ 6 มีนาคมเช่นกัน แต่ที่ผ่านมาในการประชุม กมธ.ยกร่างฯไม่เคยมีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวเลย นอกจากนี้ยังจะมีการพูดคุยถึงเรื่องการรับรองการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว อาทิ กมธ.ยกร่างฯที่จะต้องอยู่เพื่อผลักดันกลไกการปฏิรูปประเทศ รวมถึง สนช.ที่หลักการควรจะอยู่ไปจนกว่าจะมีรัฐสภาชุดใหม่ เช่นเดียวกับ ครม.ที่ต้องอยู่จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่
@ "เทียนฉาย"หนุน-"บิ๊กตู่"เมิน
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กล่าวถึงข้อเสนอให้แม่น้ำ 5 สาย เว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี หลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่ว่า "เว้นวรรค 2 ปี ก็ดี เพราะ สปช.มีส่วนได้เสียกับรัฐธรรมนูญ ในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ"
ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวว่า "ผมจะยึดตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวมีบทบัญญัติไว้ นี่คือความเห็นของผม เพราะผมเป็นคนผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมา มันมีความจำเป็น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็น สนช. สปช. เขาไม่ได้อะไรหรอก ถ้าเขาไม่เข้ามา ก็คงไม่มีใครทำงาน ก็ให้ไปหามาตรการอื่น และดูว่าต่อไปจะทำอย่างไร ส.ส. ส.ว.ก็ค่อยไปดูกันตรงนั้นดีกว่า วันนี้อย่ามานั่งย้อนกลับไปกลับมา ทั้งหมดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำงาน ดีหรือไม่ดีค่อยไปแก้กันวันข้างหน้า"
@ ถ้าระแวงไม่คืนอำนาจก็จบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอดังกล่าวเพื่อเป็นการขจัดความหวาดระแวงหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "จะมาหวาดระแวงอะไรผม ถ้าหวาดระแวง ผมก็ไม่คืนอำนาจให้ก็จบแล้ว"
เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่านายกฯจะยึดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ประกาศไว้ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "ใช่ เราต้องยึดหลักตรงนั้นก่อนสิ ผมจะยึดเอาตรงนี้ ส่วนอื่นจะว่าอย่างไรก็ไปว่ามา เพราะเดี๋ยวก็จะต้องมีการหารือกันอยู่แล้ว ถ้าถามผมในนามของ คสช. ในนามของ ครม. ซึ่งผมเป็นหัวหน้าทั้ง 2 คณะ ผมให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนคนอื่นจะว่าอย่างไรก็ว่ามา"
ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงข้อเสนอเว้นวรรคการเมือง 2 ปี ว่า นี่ถามส่วนตัวหรือถามภาพรวม เพราะคำตอบนั้นผูกพันหลายส่วน แต่คิดว่าคำตอบน่าจะจบอยู่ที่หัวหน้า คสช. แต่หากถามส่วนตัว ตนไม่มีปัญหาอยู่แล้ว
@ เจษฎ์เชื่อเว้นวรรคไม่ผ่าน
นายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างฯกล่าวถึงข้อเสนอให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคการเมือง 2 ปี ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอส่วนตัว ให้ไล่เรียงกันไปว่า ใครพ้นตำแหน่งเมื่อไหร่ ก็ไล่เรียงไปตามนั้น ใครพ้นตำแหน่งเร็ว 2 ปีก็นับเลย ใครพ้นตำแหน่งช้า 2 ปีก็นับต่อจากนั้น เพราะดูจากที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างฯไม่ให้ดำรงตำแหน่ง 2 ปี ก็ถือตัวเลขตรงนี้
เมื่อถามว่า มี สนช.บางคนขู่จะลาออกทันที นายเจษฎ์กล่าวว่า "ขึ้นอยู่กับท่าน แต่ท้ายที่สุดแล้วผมเชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯคงไม่เอาตามที่เสนอ ดังนั้นไม่ต้องห่วงหรอก ผมเห็นว่าเป็นแบบนี้จึงเสนอ แต่คงไม่ผ่านหรอก เพราะ กมธ.ที่ไม่เห็นด้วยนั้นมีมาก"
@ "จ้อน"ชี้ปัญหาแก้รธน.ไม่ได้
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะ กมธ.วิสามัญกิจการ สปช. หรือวิป สปช. กล่าวว่า ไม่มีปัญหาหากให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรค 2 ปี เพราะตอนตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้ามาเป็น สปช. ไม่ได้คิดถึงอนาคตทางการเมืองอยู่แล้ว แต่อยากให้ กมธ.ยกร่างฯทบทวนข้อเสนอดังกล่าวอย่างรอบคอบอีกครั้ง เนื่องจากข้อเสนอจะไม่เป็นธรรมแก่บุคคลที่ตัดสินใจเข้ามาทำหน้าที่ สนช.และ สปช. เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 จำกัดสิทธิเฉพาะ กมธ.ยกร่างฯ เพื่อตัดการมีผลประโยชน์ทับซ้อน
"เดิมการลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส.และ ส.ว. จะไม่มีผลผูกพันให้มีการจำกัดสิทธิทางการเมืองตามมา เนื่องจากเป็น
กระบวนการที่เป็นไปตามอำนาจที่มี หาก กมธ.ยกร่างฯกำหนดให้จำกัดสิทธิแม่น้ำ 5 สายจริง จะกลายเป็นการสร้างหลักการใหม่ขึ้นมา และจะกลายเป็นบรรทัดฐานและหลักปฏิบัติต่อไป โดย ส.ส.และ ส.ว.จะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย" นายอลงกรณ์กล่าว
@ "เพื่อไทย"หนุนเว้นวรรค2ปี
นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงข้อเสนอให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรค 2 ปี ว่า เป็นเรื่องที่น่าคิด เนื่องจากแม่น้ำทุกสายล้วนมีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าเมื่อยกร่างเสร็จรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ระบุว่าให้รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากแม่น้ำสายอื่นๆ ด้วย เช่น ต้องฟัง ครม. สปช. และ สนช.ด้วย
"การใช้หลักเพื่อขจัดประโยชน์ส่วนได้เสียกับส่วนอื่นๆ ตามความเห็นของนายเจษฎ์จึงมีน้ำหนัก แต่ทั้งนี้ เห็นว่าคงผลักดันลำบากเพราะต่างคนก็หวังว่าจะได้มีส่วนในการเข้าสู่การเมืองตามโมเดลที่ตนเองได้ทำขึ้น ตามภาษิตที่ว่าชนชั้นใดร่างกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น" นายชูศักดิ์กล่าว
@ รอหารือเคาะต่ออายุป.ป.ช.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกระแสข่าวคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 5 คนคือ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. นายวิชา มหาคุณ นายวิชัย วิวิตเสวี นายประสาท พงษ์ศิวาภัย และนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.จะต้องพ้นวาระในปี 2558 โดยอ้างว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ว่าคงจะต้องไปพิจารณากันอีกครั้งว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ประเด็นสำคัญคือ ถ้าไปเริ่มสรรหาในตอนนี้จะมีปัญหากับการทำงานหรือไม่ และหากรอไว้จนเมื่อมีรัฐบาลใหม่ แล้วค่อยตั้ง ป.ป.ช.ใหม่ จะทำได้หรือไม่ ต้องไปหารือกันมา ดังนั้นยังไม่ขอชี้ชัด มันเป็นไปได้ทั้งคู่
@ "ปานเทพ"รับคุย-"วิชา"ปัดวุ่น
นายปานเทพกล่าวยอมรับว่า ป.ป.ช.ได้หารือเรื่องการต่ออายุจริง เป็นการหารือในหลักการในที่ประชุม ป.ป.ช. รวมทั้งเคยหารือกับ คสช.ว่า หาก ป.ป.ช. 5 คน ต้องหมดวาระในปีนี้ โดยยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการสรรหา ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำให้การทำงานของ ป.ป.ช.สะดุดได้ทั้งเรื่องคดีความ เรื่องการแก้ไขกฎหมายต่างๆ จึงอยากขอต่ออายุกรรมการ ป.ป.ช.ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อออกไปอีกสักประมาณ 1 ปี เพื่อให้การทำงานเดินหน้าต่อไปได้
"ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและ คสช.ว่าจะเห็นด้วยตามที่ ป.ป.ช.ร้องขอหรือไม่ ยืนยันว่าไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ เพื่อไล่ล่าคดีความของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่เป็นความจำเป็นในการทำงานช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในช่วงสั้นๆ เท่านั้น" นายปานเทพกล่าว
ด้านนายวิชากล่าวว่า ขอยืนยันว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่เคยมีการปรึกษาหารือหรือมีมติในเรื่องดังกล่าว โดยกระแสข่าวที่เกิดขึ้นเป็นการรายงานของสื่อมวลชนเอง จึงสงสัยและอยากถามว่า ผู้ที่รายงานนั้นไปได้ข้อมูลเรื่องนี้จากที่ใด เมื่อถามว่า ยังคงยืนยันว่าการดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.จะเป็นไปตามกำหนดการพ้นวาระเดิม นายวิชากล่าวว่า เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว
@ แนะคสช.ใช้อำนาจพิเศษ
นายวิชัยกล่าวว่า ป.ป.ช.มีการพูดคุยเรื่องต่ออายุมานานแล้ว เพราะมีความห่วงใย เนื่องจาก ป.ป.ช.ต้องครบองค์ทั้ง 9 คน หากขาดไปก็สามารถปฏิบัติงานได้เหมือนกัน แต่เมื่อมีการขาดไปถึง 5 คน ก็จะไม่สามารถทำงานได้ ทั้งนี้ กระบวนการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ตามกฎหมายต้องมีองค์ประกอบ เช่น ประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนฯ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ ซึ่งขณะนี้ไม่มีผู้นำฝ่ายค้านและประธานสภาผู้แทนฯ หากกรรมการ ป.ป.ช.เหลือไม่ถึง 5 คน จะเกิดปัญหาแน่นอน เหมือนกับในช่วงหนึ่งที่ ป.ป.ช.เว้นการปฏิบัติหน้าที่ไปถึง 2 ปี ในการออกระเบียบขึ้นเงินเดือนตนเอง
"กรรมการ ป.ป.ช.แต่ละคนไม่ได้แต่งตั้งตัวเอง เราจึงพูดไม่ได้ ลักษณะมันเป็นเหมือนน้ำท่วมปาก ต้องให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจเป็นคนพูด ทั้งนี้ อำนาจตัดสินใจอยู่ที่หัวหน้า คสช.และ ครม.ต้องใช้อำนาจพิเศษ" นายวิชัยกล่าว
@ "สามารถ"แนะปปช.พักได้แล้ว
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า หาก คสช.จะใช้อำนาจพิเศษ เพื่อต่ออายุให้ ป.ป.ช.ทั้ง 5 คนดำรงตำแหน่งต่อไป โดยอ้างเหตุผลเรื่องของภารกิจที่ต้องการความต่อเนื่องนั้น เห็นว่า คสช.ควรใช้อำนาจพิเศษสรรหาบุคคลใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งจะไม่ดีกว่าหรือ
"เมื่อกฎหมายกำหนดชัดเจนว่า เมื่ออยู่ในตำแหน่งครบ 9 ปี หรือมีอายุครบ 70 ปี ต้องหมดวาระการดำรงตำแหน่ง และสรรหาบุคคลใหม่เข้ามา เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนการทำหน้าที่ หากพวกท่านทั้ง 5 คนจะยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา สังคมจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าพวกท่านหวงและยึดติดอำนาจ ผมว่าถึงเวลาแล้วที่พวกท่านต้องพักผ่อนแล้ว บ้านเมืองนี้ยังมีคนดีและคนเก่งอีกมาก ควรเปิดโอกาสให้คนใหม่ๆ เข้ามาทำหน้าที่บ้าง พวกท่านอย่าเป็นห่วงให้มากนักเลย" นายสามารถกล่าว
@ วิษณุเปรียบเหมือน"ไก่กับไข่"
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่ ป.ป.ช.เสนอต่ออายุการทำงาน ว่าก่อนหน้านั้นคนที่มีความรู้และผู้เกี่ยวข้องเคยคิดมานานแล้ว แต่ยังคิดต่อไปไม่ถูกว่าจะดำเนินการอย่างไร ตามหลักการแล้วเมื่อกรรมการพ้นจากวาระต้องมีการสรรหาบุคคลใหม่ แต่ขณะนี้การสรรหาจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากองค์ประกอบของผู้สรรหายังขาดอยู่ ยังไม่มีผู้นำฝ่ายค้านและไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะเขียนเกี่ยวกับ ป.ป.ช.อย่างไร จะให้มีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปีหรือไม่ จึงเกิดเป็นคำถามเหมือนไก่กับไข่ ไม่รู้ว่าใครจะเกิดก่อนเกิดหลัง ระหว่างครบวาระกับรัฐธรรมนูญใหม่
"ยอมรับว่าเป็นปัญหาแต่ยังคิดไม่ออก ก็มีข่าวออกไปว่าถ้าเป็นอย่างนี้แล้วทำไมไม่ต่ออายุการทำงาน เรื่องนี้ไม่ทันได้คิด และตอนนี้ยังนึกไม่ออกว่าถ้าต่ออายุจะทำอย่างไร ยังไม่มีคำตอบ ที่จริง 4 คนที่เหลือยังทำงานได้ แต่ 4 คนที่เหลือคงไม่สะดวกในการทำงาน ยกตัวอย่าง มีมติออกมา 3 ต่อ 1 ก็อาจจะมีการวิจารณ์กันได้" นายวิษณุกล่าว และว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นใครจะสรุปไม่รู้ แต่ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล
@ ยื่นสอบสปช.ตั้ง"สภาลูกเมีย"
ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อเวลา 11.30 น. เครือข่ายปกป้องผลประโยชน์และศักดิ์ศรีของคนไทย นำโดยนายยุทธภัณฑ์ พันธ์สิงสอน เลขาธิการเครือข่ายฯ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้มีการตรวจสอบจริยธรรมของ สปช. ในการแต่งตั้งสามี ภรรยา บุตร และเครือญาติเข้ามาดำรงตำแหน่งต่างๆ อาทิ ผู้ช่วย ผู้เชี่ยวชาญ โดยเห็นว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ที่ให้มีการแต่งตั้งจากผู้สมัครเป็น สปช.เป็นลำดับแรกให้มาดำรงตำแหน่ง รวมทั้งเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน และเข้าข่ายต้องห้ามตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 และประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ.2553
@ ร้องเอาผิดอาญา-แพ่ง-วินัย
นายยุทธภัณฑ์กล่าวว่า นอกจากนี้ขอให้ตรวจสอบและดำเนินคดีอาญาและแพ่ง ให้ต้นสังกัดตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงสำหรับผู้ที่ยังรับราชการ ให้มีการคืนเงินและปลดออกจากตำแหน่ง ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี อย่างไรก็ตามหากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายขอให้ผู้ตรวจการฯส่งเรื่องดังกล่าวให้กับ ป.ป.ช.เพื่อถอดถอนและส่งต่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
นายรักษเกชากล่าวว่า จะรับเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ผู้ตรวจการฯ พิจารณากฎหมายและข้อเท็จจริง หากเข้าข่ายกระทำความผิดแต่ไม่ร้ายแรงจะส่งเรื่องไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หากกระทำความผิดร้ายแรงจะส่งให้ ป.ป.ช.พิจารณาต่อไป ส่วนที่ระบุว่าฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. นั้นต้องไปดูในรายละเอียดเพื่อเทียบเคียงกับระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของ สนช สปช. และคำสั่งของ คสช.ด้วย
@ ป.ป.ช.สั่งศึกษาก่อนถก10มี.ค.
รายงานข่าวจาก ป.ป.ช.แจ้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ประชุมหารือถึงกรณีข้อร้องเรียนของนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ขอให้ไต่สวน สนช.กว่า 50 คน กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและขัดแย้งต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างร้ายแรง กรณีแต่งตั้งเครือญาติเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวสมาชิก สนช.
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการทำข้อพิจารณามาว่า ประเด็นที่ร้องเรียนมานั้นอยู่ในอำนาจการพิจารณาตามกฎหมายของ ป.ป.ช.ในข้อใดบ้าง อาทิ ปฏิบัติผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ แสวงหาประโยชน์ให้ตัวเองหรือไม่ ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนหรือผิดร้ายแรงในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่ อีกทั้งให้พิจารณาข้อเท็จจริงว่ามีการแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร ก่อนที่จะให้กลับมารายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ในวันที่ 10 มีนาคมนี้ เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาว่าจะดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไปหรือไม่
@ สนง.วุฒิฯแจงบิ๊กบังตั้งเมีย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ สนช. ได้ทำหนังสือที่ สว (สนช.) 0002/1417 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2558 ชี้แจงกรณีปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนระบุว่า พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ สมาชิก สนช. แต่งตั้ง พล.ร.ต.หญิง พวงพลอย ขจิตสุวรรณ เป็นผู้ปฏิบัติงานประจำตัวสมาชิก สนช.พร้อมกัน 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้ช่วยดำเนินงาน ผู้ชำนาญการ และผู้เชี่ยวชาญนั้น ทางสำนักงานฯได้ตรวจสอบคำสั่งแล้วพบว่า ปัจจุบัน พล.ร.ต.หญิง พวงพลอย ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว สนช.เพียงตำแหน่งเดียว โดยปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้
1.พล.ร.ต.หญิง พวงพลอยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2557 พ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 2.ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ชำนาญการ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 พ้นตำแหน่งวันที่ 1 มกราคม 2558 และ 3.ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป ตามคำสั่งสำนักงานฯที่ 43/2558 ลงวันที่ 15 มกราคม 2558
@ สนช.นัด13มีค.ลงมติ38ส.ว.
ส่วนการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระการพิจารณาถอดถอนอดีต 38 ส.ว.ออกจากตำแหน่งกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบนั้น เป็นการตอบข้อซักถามโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ซักถาม ที่มีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธาน กมธ. โดยจะเป็นการถามคู่กรณี คือ นายวิชัย วิวิตเสวี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และอดีต 38 ส.ว. ผู้ถูกกล่าวหา โดยคำถามในส่วนของ ป.ป.ช.มี 13 คำถาม และคำถามของอดีต 38 ส.ว.มี 5 คำถาม
ทั้งนี้ หลังการซักถามเสร็จสิ้น นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้แจ้งว่า วันที่ 11 มีนาคมนี้ จะเป็นการแถลงปิดสำนวนคดีด้วยวาจาของทั้ง 2 ฝ่าย จากเดิมที่เคยกำหนดไว้วันที่ 12 มีนาคม และ สนช.ได้กำหนดลงมติในวันที่ 13 มีนาคม ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
@ ศาลจำคุก15แกนนำแดง4ปี คดีล้มประชุมอาเซียนที่พัทยา
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลจังหวัดพัทยาตัดสินจำคุก 15 แกนนำเสื้อแดง 4 ปี ไม่รอลงอาญา กรณีบุกล้มการประชุมอาเซียน ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2552 ได้แก่ 1.นายนิสิต สินธุไพร 2.นายสำเริง ประจำเรือ 3.นายนพพร นามเชียงใต้ 4.นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ 5.นายสมญศฆ์ พรมมา 6.นายสิงทอง บัวชุม 7.นายธนกฤต หรือวันชนะ ชะเอมน้อย หรือเกิดดี 8.นายวรชัย เหมะ 9.นายพายัพ ปั้นเกตุ 10.นายธรชัย ศักมังกร 11.นายศักดา นพสิทธิ์ 12.นายวัลลภ ยังตรง 13.นายพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง 14.นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และ 15.พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์
ทั้งนี้ นายสุรชัยและ พ.ต.ต.เสงี่ยม ไม่ได้เดินทางมารายงานตัวแต่อย่างใด ขณะที่ พ.ต.อ.สมพล รัฐกาญจน์ และ "มังกรดำ" ศาลยกฟ้อง ส่วนนางศิริวรรณ์ นิมิตรศิลปะ ให้จำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากจำเลยไม่เคยเข้าสู่กระบวนการตั้งแต่แรก
นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า กำลังทำเรื่องประกันตัวอยู่ที่ศาลจังหวัดพัทยา อย่างไรก็ตาม ทุกคนมีกำลังใจดี ไม่ได้กังวลอะไร เคารพการตัดสินของศาล และจะอุทธรณ์สู้คดี