- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 01 March 2015 21:38
- Hits: 3416
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8858 ข่าวสดรายวัน
สนช.หึ่งตั้งลูก-เมีย นั่งผู้ช่วย'พรเพชร'ยันไม่ผิดกฎ ตีกรอบแก้รัฐธรรมนูญ ต้องสง'ศาลรธน.'ชี้ขาด รุมจวกนายกฯคนนอก เปิดช่องต่ออายุ'คสช.''บิ๊กตู่'วอนอย่าเพิ่งกลัว
นมัสเต- นายคคะนาถ อธิการี เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีงาช้าง ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 27 ก.พ. |
แฉสนช.ตั้ง'ลูก-เมีย'นั่งผู้ช่วย กินเงินเดือนสภา 'พรเพชร'ยันไม่มีกฎห้าม ถือว่า 50 ราย พรเพชรยันไม่ผิด เพราะไม่มีกฎห้าม พีระศักดิ์ชี้แค่หาคนรู้ใจทำงาน อู้อี้จะพิจารณาประเด็นจริยธรรมอย่างละเอียด กมธ.ยกร่างแจงขั้นตอนแก้รธน. ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด อาจารย์-พรรคการเมืองรุมจวก เปิดช่องคนนอกนั่งนายกฯ โพลชี้คะแนน นิยมคสช.ลด
พรเพชร ยันสนช.ตั้งลูกเมียไม่ผิด
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีสมาชิกสนช.จำนวนมากตั้งภริยาและลูกมาเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว เพื่อช่วยงาน โดยได้รับเงินเดือนราชการว่า ตามระเบียบข้อบังคับสนช.ไม่ได้ห้ามเรื่องการแต่งตั้งลูก เมีย หรือเครือญาติมาดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ปฏิบัติงานประจำตัวสนช. ซึ่งหลักการคุณสมบัติในตำแหน่งเหล่านี้กำหนดเพียงว่า มีคุณวุฒิเหมาะสม และไม่เคยต้องคดีมาก่อน ไม่มีข้อห้ามเรื่องเครือญาติ
เมื่อถามว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ ที่สนช.นำลูกเมียมาดำรงตำแหน่ง นายพรเพชรกล่าวว่า สนช.อาจต้องการคนที่มีความไว้วางใจมาช่วยงาน จึงดึงคนใกล้ชิดมาเป็น สนช.ปฏิบัติตามระเบียบเดิมของสภาที่มี มาก่อนหน้านี้อยู่แล้วทุกอย่าง ไม่ได้ไปแก้ไขอะไรเลย
พีระศักดิ์ ชี้แค่หาคนรู้ใจทำงาน
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 กล่าวว่า เรื่องนี้ในทางกฎหมายสามารถทำได้ ส่วนด้านจริยธรรมหรือความเหมาะสม ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสนช.แต่ละท่าน ตนไม่ขอก้าวล่วงหรือวิจารณ์ ยกตัวอย่างในตำแหน่งผู้ช่วยชำนาญการ ใช้วุฒิการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็สามารถปฏิบัติงานได้ โดยไม่ต้องจบปริญญาตรี ส่วนจะเข้าใจ หรือเชี่ยวชาญข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานของสนช.หรือไม่ อยู่ที่ตัวสนช.จะพิจารณา แต่สนช.บางคนอาจใช้คนที่ไว้ใจเพื่อที่จะทำงานเข้าขาและรู้ใจก็ได้
เมื่อถามว่า จะกระทบภาพลักษณ์ของสนช.เรื่องการเอาบุคคลใกล้ชิดมาทำงาน เพื่อรับเงินเดือนประจำตำแหน่งหรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า คงไม่ขอวิจารณ์ เพราะยังไม่ได้อ่านเนื้อหาของข่าวอย่างละเอียดว่าเป็นอย่างไร แต่เบื้องต้นหากมีการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งไว้แต่ในนาม เพื่อรับเงินเดือน แต่ไม่ยอมเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ก็ถือว่าผิด ถ้าประชาชนเห็นข้อพิรุธต้องการให้ตรวจสอบ สามารถร้องเรียนเข้ามาที่คณะกรรมการจริยธรรม สนช.ที่ตนรับผิดชอบอยู่ได้ อย่างไรก็ตามในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องจริยธรรมของสนช.อาจจะศึกษากรณีนี้อย่างละเอียด เพื่อนำไปพิจารณาถึงความเหมาะสมต่อไป เพราะเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ
แฉ 50 สนช.ตั้งญาติมาช่วยงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก สนช. เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนส.ค.2557 มีการแต่งตั้งเครือญาติมาช่วยงาน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย วิชาการ ข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อรวบรวมจัดทำญัตติ กระทู้ถาม หรือข้อเสนอแนะ จากการตรวจสอบเอกสารคำสั่งแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ปฏิบัติงานในเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา พบว่า มีสนช.เกือบ 50 ราย มีคำสั่งแต่งตั้งภริยา บุตรและเครือญาติมาช่วยงานในตำแหน่งสนช. ได้แก่ ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสนช. อัตราเงินเดือน 24,000 บาท ผู้ชำนาญการประจำตัวสนช. อัตราเงินเดือน 20,000 บาท ผู้ช่วยประจำตัวสนช. อัตราเงินเดือน 15,000 บาท ผู้ช่วย ผู้ดำเนินงานของสนช. อัตรา เงินเดือน 15,000 บาท
ญาติ-ลูก'40 ส.ว.'มากันพรึ่บ
สำหรับ สนช.ที่แต่งตั้งลูก เมีย และ เครือญาติมาช่วยงานนั้น มีทั้งกลุ่ม 40 ส.ว. อาทิ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม แต่งตั้งนายจิรภัทร บุญถนอม บุตรชาย เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสนช. และนายสมเกียรติ บุญถนอม น้องชาย เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช. นายตวง อันทะไชย แต่งตั้งนายปิยะณัฐ อันทะไชย บุตรชายเป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช. นายสมชาย แสวงการ แต่งตั้งนายเอกชัย แสวงการ น้องชาย เป็นผู้ช่วยประจำสนช. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ แต่งตั้ง น.ส.นันทนัช ศิรธรานนท์ บุตรสาว เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช. พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ แต่งตั้งพ.อ.หญิง อรัณยานี วงษ์สุวรรณ ภริยา เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช.
นอกจากนั้น ก็มีพล.ต.ท.บุญเรือง ผล พานิชย์ แต่งตั้งนายอรรณพ ผลพานิชย์ ญาติ เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช. ร.ต.ธนพล ผลพานิชย์ พี่ชาย เป็นผู้ช่วยดำเนินงานสนช. คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี แต่งตั้งนายสุวงศ์ ยอดมณี บุตรชาย เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสนช. นางนิภาภรณ์ ยอดมณี ญาติ เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช. พล.ร.ท.ธราธร ขจิตสุวรรณ แต่งตั้งพล.ร.ต.หญิง พวงพลอย ขจิตสุวรรณ ภริยา เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสนช. เรือตรีหญิง อนพัทย์ ขจิตสุวรรณ บุตรสาว เป็นผู้ชำนาญการประจำตัวสนช.
บรรดาบิ๊กให้ลูกนั่งผู้ช่วย
ขณะที่กลุ่มนายทหารที่แต่งตั้งลูก เมีย และเครือญาติ มาช่วยงาน อาทิ พล.อ.อ.ไพศาล สีตบุตร พี่ชายพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. แต่งตั้งนางสุพร สีตบุตร ภริยา เป็นผู้ช่วยประจำตัว พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ อดีตผบ.สส. แต่งตั้งน.ส.รวิตา จักกาบาตร์ บุตรสาว เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช. พล.อ.อู้ด เบื้องบน แต่งตั้งพ.ต.ศิริพัฒน์ เบื้องบน บุตรชาย เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช. พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย แต่งตั้งน.ส.พิมดาว พานิชสมัย บุตรสาว เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช.
พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ แต่งตั้งนางพรจรัส อารีราชการัณย์ บุตรสาว เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสนช. พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ แต่งตั้งนายนิรุธ สัจจานิตย์ บุตรชาย เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว สนช. พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร แต่งตั้งร.ท.บดินทร์ สิงห์ไพร บุตรชาย เป็นผู้ชำนาญการประจำตัวสนช. พล.ร.อ.ช ุมนุม อาจวงษ์ แต่งตั้งน.ส.สุลัยพักตร์ อาจวงษ์ บุตรสาว เป็นผู้ชำนาญการประจำตัวสนช. น.ส.ภิญญาพัชญ์ อาจวงษ์ บุตรสาว เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช.
แต่งตั้งทั้ง'เมีย-ลูก'ก็มี
สำหรับสนช.บางส่วนก็แต่งตั้งภริยา และบุตร หลายคนมาช่วยงาน อาทิ พล.อ.อ. ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ แต่งตั้งพล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ พี่ชาย เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสนช. และนายสรรพงศ์ สังขพงศ์ บุตรชาย เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช. นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล แต่งตั้งนางมารีแย นราพิทักษ์กุล ภริยา เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสนช. นายนภัสรพี นราพิทักษ์กุล บุตรชาย เป็นผู้ชำนาญการประจำตัวสนช. น.ส.นิอาอีดา นราพิทักษ์กุล บุตรสาว เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช.
สปช.นัดถกสมัชชาคุณธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นาย พรเพชรมีคำสั่งให้นัดประชุมสนช. ครั้งที่ 14/2558 ในวันที่ 5 มี.ค.และครั้งที่ 15/2558 วันที่ 6 มี.ค. เวลา 10.00 น. มีเรื่องเร่งด่วนคือ ดำเนินการกระบวนการถอดถอนอดีตส.ว. 38 คนออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยจะซักถามประเด็นตามที่ที่ประชุมสนช.กำหนดตามญัตติของสมาชิกสนช. โดยคณะกรรมาธิการซักถาม ซึ่งมีสนช.ส่งคำถาม 6 คน ถามคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายคือ ป.ป.ช. และอดีต 38 ส.ว.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีคำสั่งนัดประชุมสปช. ครั้งที่ 12/2558 ในวันที่ 2 มี.ค. เวลา 11.00 น. มีวาระรับทราบรายงานความคืบหน้าของกมธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญ และพิจารณารายงานศึกษา เรื่องสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและร่างพ.ร.บ. คุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. - ของคณะกรรมการการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) พิจารณาเสร็จแล้ว
สำหรับ การประชุมครั้งที่ 13/2558 ในวันที่ 3 มี.ค. มีวาระพิจารณาเรื่องที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว คือ พิจารณารายงานของกมธ.ปฏิรูปพลังงาน เรื่อง "การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย"
กมธ.ยกร่างปลัดรักษาการ
ที่พัทยา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะโฆษกกมธ.ยกร่างฯ แถลงว่า กมธ.ยกร่างฯพิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี หมวด 4 คณะรัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 50 อาทิ มาตรา 186 ว่าด้วย เมื่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้ปลัดกระทรวงของแต่ละกระทรวงรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น แต่การปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไข เช่น ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ หรือให้บุคคลพ้นจากตำแหน่งหรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการหรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป และไม่ใช้หรือยอมให้บุคคนอื่นใดใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการอันมีผล ต่อการเลือกตั้ง
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่ให้ ครม.ปฏิบัติหน้าที่ต่อ เพราะเกรงว่าจะมีส่วนได้เสียที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้นจึงต้องให้ปลัดกระทรวงต่างๆ ทำหน้าที่แทน ส่วนในมาตรา 189 ที่ให้อำนาจพิเศษนายกฯในการแก้ปัญหาความ ไม่สงบเรียบร้อยโดยมีอำนาจเหนือสภา ฝ่ายบริหาร ตุลาการ โดนกมธ.ได้ตัดออกเพราะเกรงจะให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารมากเกินไป
โต้วุ่นให้คนนอกนั่งนายกฯ
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวอีกว่า ขณะที่กฎหมายปัจจุบันสามารถแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว ได้ อาทิ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และกฎอัยการศึก ส่วนข้อกังวลเรื่อง การชุมนุมที่อาจจะสร้างความวุ่นวาย อนาคต สนช. จะมีพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เชื่อว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ ขณะที่ มาตรา 201 เป็นเรื่องใหม่ที่บัญญัติขึ้นเป็นครั้งแรก กำหนด ให้รัฐมนตรีผู้ลงนามสนองพระราชโองการ เกี่ยวกับกฎหมาย พระราชหัตถเลขาและพระบรมราชโองการแผ่นดิน หากเกิดความผิดผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้คนนอกมาทำหน้าที่นายกฯได้ ขอยืนยันว่ากมธ.ยกร่างฯไม่เคยพิจารณายกร่างให้มีคนนอกเข้ามาทำหน้าที่และเชื่อว่าในสถานการณ์ปกติไม่มี ส.ส.คนใดเลือกบุคคลภายนอกเข้ามา เว้นแต่หากมีเหตุผลและสถานการณ์ที่จะต้องทำเช่นนั้น ดังนั้นไม่ต้องเป็นห่วงเพราะหากเกิดอะไรที่ไม่เหมาะสมประชาชนจะเป็นคนที่ลงโทษ ส.ส.เอง โดยไม่เลือกบุคคลนั้นกลับมาเป็น ส.ส.
วางกติกาแก้รธน.
พล.อ.เลิศรัตน์ แถลงอีกครั้งว่า ภาพรวมการทำงานของกมธ.ยกร่างฯขณะนี้ ได้พิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญในขั้นต้นครบทุกมาตราแล้ว เหลือเพียงบทเฉพาะกาลและส่วนที่รอการพิจารณาอีก 5-6 ประเด็น ล่าสุดที่ประชุมเห็นชอบบทสุดท้าย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีหลักการแก้ไขแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1.แก้ไขไม่ได้ 2.แก้ไขโดยกระบวนการรัฐสภา 3.แก้ไขโดยกระบวนการรัฐสภาและต้องทำประชามติ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่แบ่งเป็น 4 ภาค มีจุดมุ่งหมายให้เนื้อหาหลักการของแต่ละภาคคงอยู่เป็นหลักของรัฐธรรมนูญไว้ ในบทสุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีทั้งหมด 5 มาตรา เริ่มจากมาตรา 1 ระบุว่า การขอแก้ไขให้มีผลเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะกระทำไม่ได้
โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า มาตรา 2 การแก้ไขเพิ่มเติมทั่วไป ในภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน และการแก้ไขเพิ่มเติม "หลักการพื้นฐานสำคัญ" ที่ครอบคลุมในส่วนโครงสร้างสถาบันการเมืองที่มี 2 สภา องค์ประกอบของแต่ละสภา การตรวจสอบระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ สาระสำคัญในภาค 3 หลักนิติธรรมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สาระสำคัญในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัตินี้ ต้องดำเนินการผ่านการทำประชามติ โดยใช้เสียงข้างมากของประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง
ต้องให้ศาลรธน.อนุมัติก่อนแก้
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า แต่การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อขยายสิทธิเสรีภาพ หรือการมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือเพิ่มประสิทธิภาพของศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ "ไม่ถือเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญ" ให้ใช้กระบวนการแก้ไขไปตามปกติ ไม่ต้องทำประชามติ เว้นแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มหลักการพื้นฐานสำคัญก็ต้องไปผ่านการทำประชามติ
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ส่วนกระบวนการแก้ไขตามกำหนดไว้ ในมาตรา 3 ตั้งแต่การให้อำนาจ ครม. หรือส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 หรือส.ส.ร่วมกับส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือประชาชนเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ สามารถเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยให้รัฐสภาทำหน้าที่พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 วาระ โดยการลงคะแนนออกเสียงวาระแรก รับหลักการ ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย ใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของสมาชิกที่มีอยู่ ส่วนการพิจารณาในวาระ 3 ต้องใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย และใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า จากนั้นให้ส่งร่างแก้ไขฯที่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภา โดยหากเป็นร่างแก้ไขที่ไม่ถือเป็นหลักการ พื้นฐานสำคัญ หลังจากให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยภายใน 30 วันว่า ร่างแก้ไขฯนั้น ตราขึ้นโดยถูกต้องหรือขัดแย้งกับมาตรา 1 หรือไม่ หากศาลฯเห็นว่าขัดหรือไม่เป็นไปตามวิธี ก็ถือว่าร่างแก้ไขนั้นเป็นอันตกไป แต่หากศาลฯวินิจฉัยให้ความเห็นชอบ ให้นำไปสู่การทูลเกล้าทูลกระหม่อมและประกาศใช้ต่อไป ส่วนร่างแก้ไขที่เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญ หลังจากถามศาลรัฐธรรมนูญแล้วให้นำไปสู่การทำประชามติตามมาตรา 4 หากเสียงข้างมากของประชาชนที่มาใช้สิทธิเห็นชอบให้มีการแก้ไข ก็ให้นำไปสู่การทูลเกล้าทูลกระหม่อมและประกาศใช้ต่อไป
ประเมินผลบังคับใช้ทุก 5 ปี
โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวอีกว่า มาตรา 5 กำหนดให้ทุก 5 ปี นับแต่ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญให้ส.ส. ส.ว. ครม. ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายละ 1 คน เป็นคณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระมาร่วมทำหน้าที่ประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ และสามารถเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมได้หากเห็นว่าสมควร
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังพิจารณารายมาตราส่วนที่แขวนไว้ ในมาตรา 196 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งส่วนใหญ่คงหลักการไว้ตาม มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 และมีการเพิ่มเติมในส่วนของการขยายความหมายของหนังสือสัญญาที่กระทบต่อความมั่นคง พร้อมกำหนดให้ครม.ต้องส่งกรอบการเจรจาที่มีเนื้อหาจะนำไปสู่การทำหนังสือสัญญาให้กมธ.การต่างประเทศรัฐสภา พิจารณาภายใน 60 วัน เพื่อให้ความเห็นชอบด้วย
ไชยยันต์ ติงวิกฤตตั้งแต่เริ่ม
วันเดียวกัน นายไชยยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา ลัย กล่าวว่า แนวทางให้นายกฯมาจากคนนอก เป้าหมายคงเพื่อที่ยามวิกฤตจะได้มีช่องทางมากขึ้น ไม่ให้เกิดทางตันทางการเมือง แต่ที่น่าสนใจคือจะบังคับให้ส.ส.ไม่เสนอคนนอกตั้งแต่ต้นอย่างไร กมธ.ยกร่างฯ จะทำอย่างไรให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ที่นายกฯจะเป็นคนนอก เฉพาะยามที่เกิดวิกฤต เพราะวิกฤตอาจจะเกิดหลังจากเลือกตั้งเลยก็ได้ ถ้าไม่มีพรรคได้คะแนนเกินครึ่งหนึ่ง พรรคเล็กพรรคน้อยก็สร้างราคา หรือหากตกลงกันไม่ได้ ก็อาจเกิดเหตุการณ์แบบฉันไม่ได้เธอก็ต้อง ไม่ได้ด้วย แล้วเลือกคนนอกเข้ามาเลย
เมื่อถามว่า การให้นายกฯ มาจากคนนอก เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่ถอยหลังเข้าคลองหรือไม่ นายไชยยันต์กล่าวว่า จะถอยหลังได้อย่างไร ในเมื่อสุดท้ายก็ต้องเลือกนายกฯกันในสภา ประชาธิปไตยจะพัฒนาหรือไม่พัฒนา ขึ้นอยู่กับส.ส.เพราะมีสิทธิเลือกนายกฯ ถ้าส.ส.ไม่รู้จักหาจุดที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันในฐานะตัวแทนประชาชนได้ จะถือว่าแย่มากตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นการเปิดทางคนนอก เข้ามา แต่ถ้าส.ส.ตกลงกันได้จะไม่เป็นการถอยหลังเข้าคลอง
ปฏิรูป -คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดเสวนาเรื่องการปฏิรูป เพื่อความงาม ความเจริญ และความเป็นธรรม โดยมีศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ รศ.ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช และนายอธึกกิต แสวงสุข ร่วมเสวนา ที่จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 27 ก.พ. |
ขณะที่นักวิชาการจวกยับ'รธน.'
นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระกล่าวถึงกรณีนายกฯคนนอกและส.ว. มาจากการลากตั้งว่า หลายคนบอกข้อเสนอแบบนี้จะทำให้ประเทศไทยย้อนหลังไป 24 ปี ตั้งแต่สมัยพฤษภา 35 แต่ตนมองว่าจะทำให้ถอยหลังไปยิ่งกว่านั้น ไปถึงสมัยที่ยังไม่มีประชาธิปไตยเกิดขึ้น อาจหมายถึงก่อนปี 2475 และไม่รู้ว่านี่จะเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารหรือไม่ แต่เรียกได้ว่า เป็นกลไกที่หมกเม็ด สลับซับซ้อน และแปลกประหลาดแบบที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ขนาดนี้ จึงมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะสร้างความขัดแย้งและเสี่ยงจะกลายเป็นความรุนแรงต่อไป
"สิ่งนี้กลายเป็นความล้มเหลวของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ที่ปล่อยให้ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยมีบทบาทวางกฎกติกา จนทำให้ประเทศไม่มีความเป็นประชาธิปไตย" นายศิโรตม์กล่าว
ตือจี้เขียนให้ชัด'คนนอก'
ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนากล่าวกรณีกมธ.ยกร่างฯกำหนดนายกฯไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส.ว่า หากต้องการเขียนเพื่อเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกได้ ในยามที่วิกฤตทางการเมืองจริงๆ ควรกำหนดให้มีบทบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่งในวรรคถัดมา เพื่อระบุถ้อยคำไว้ให้ชัดเจนเฉพาะกรณีบ้านเมืองเกิดวิกฤตเท่านั้น โดยวรรคแรก กำหนดให้นายกฯต้องมาจากส.ส. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กมธ.ยกร่างฯต้องไม่ลืมเจตนารมณ์พื้นฐานว่า นายกฯต้องมีความยึดโยงกับประชาชนจากสถานะส.ส.ก่อนเป็นอันดับแรก มิใช่เสนอชื่อคนนอกแล้วให้สภาเป็นผู้เลือก ซึ่งจะขาดการมีส่วนร่วม ขาดความยึดโยงกับประชาชนไป
ปชป.ห่วงเปิดทางคสช.อยู่ต่อ
นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกมธ.ยกร่างฯกำหนดให้นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งว่า อยากเตือนสติ กมธ.ยกร่างฯ ให้ย้อนไปดูบทเรียนในอดีต เมื่อปี 2535 ที่ประชาชนออกมาเรียกร้องต่อสู้ให้นายกฯมาจากการเลือกตั้ง เพราะไม่อยากให้สืบทอดอำนาจเผด็จการ หากใครอยากเป็นนายกฯก็ควรประกาศตัว ให้ชัดเจนและลงสมัครส.ส. หากเขียนรัฐธรรมนูญเปิดช่องอย่างนี้ ประชาชนก็มีสิทธิคิดว่าเขียนเพื่อให้สืบทอดอำนาจของ คสช.หรือไม่ และอาจถูกนานาชาติกดดัน ง่ายต่อการถูกโจมตีว่ารัฐธรรมนูญใหม่ของไทยไม่เป็นประชาธิปไตย
ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่านายกฯต้องมาจากส.ส. และหากไม่ได้มาจากส.ส. รัฐธรรมนูญต้องเขียนข้องดเว้นไว้ว่าเกิดอุปสรรค ข้อขัดข้องหรือวิกฤตของชาติ ไม่ใช่เปิดช่องให้ใครก็ได้มาเป็นนายกฯ จะทำให้กลุ่มทุนเข้ามาครอบงำ ซึ่งน่ากลัวมาก ขอเรียกร้องให้กมธ.ยกร่างฯกำหนดคุณสมบัติและการคัดเลือกหรือการได้มาซึ่งนายกฯ ให้ชัดเจน
'สมชาย'ชี้นายกฯควรเป็นส.ส.
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีที่กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้นายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.ว่า แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะเคยมีนายกฯ ที่มาจากคนนอกแล้วก็ตาม แต่เมื่อเราเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ผ่านพัฒนามาโดยลำดับ กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ระบุให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ยังคงกำหนดให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งเหมือนเดิม ดังนั้นระบบที่นายกฯ ควรเป็น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้นดีอยู่แล้ว เพราะจะมีความยึดโยงและเชื่อมโยงกับประชาชนมากกว่าบุคคลภายนอก
"ผมก็เป็นแค่คนข้างเวที แต่อยากถามว่าประเทศไทยควรถอยหลังกลับไป โดยให้ นายกฯ มาจากคนนอกอีกหรือ ถอยเข้าถอยออกกันอยู่แบบนี้ ไม่ไปไหนกันเสียที ผม เห็นว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อให้เจ้าของอำนาจอธิปไตยได้กำหนดตัวบุคคลที่พวกเขาต้องการผ่านการเลือกตั้ง เป็นบุคคลที่สัมผัสได้จริง ที่สำคัญการร่างรัฐธรรมนูญจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้เป็นสากล ได้รับความยอมรับจากนานาชาติ" นายสมชายกล่าว
เพื่อไทยติงกมธ.จ่อปิดประเทศ
นายไพจิต ศรีวรขาน อดีต ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถ้าใครก็สามารถเป็นนายกฯ ได้ ถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย สมัยปี 2535 มีการต่อสู้กันในประเด็นนี้จนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย จากนั้นก็มีการเขียนรัฐธรรมนูญให้นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. ซึ่งเป็นที่ยินดีไปทั่วโลกว่าประชาธิปไตยบ้านเราพัฒนาไปอีกขั้น การเขียนให้นายกฯไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. เหมือนตั้งใจให้สืบทอดอำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหาร ถ้าเขียนออกมาแบบนี้ คงเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ซึมซับจิตวิญญาณประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญควรยึดหลักสากลที่นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขา ธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากรัฐธรรมนูญวางกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่ยึดโยงประชาชนเท่ากับปิดประเทศโดยปริยาย ผู้ร่างอาจคิดแค่เฉพาะหน้าว่าทำอย่างไรถึงจะลดความเข้มแข็งของพรรคการเมืองแค่ ส.ส. ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง นายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส.ก็เห็นชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญวางกติกาไม่ส่งเสริมพรรคการเมือง พรรคการเมืองอ่อนแอโดยปริยาย จะมีพรรคเล็ก พรรคน้อย กลุ่มการเมืองเกิดขึ้นมากมาย ทำให้การเมืองไม่มีเสถียรภาพ ทำนายได้เลยพันเปอร์เซ็นต์ ว่าไม่มีใครมาลงทุน ไม่มีใครมาคบค้าสมาคมด้วย
นายชวลิต กล่าวว่า เราอยู่คนเดียวในโลกใบนี้ได้หรือไม่ ความพินาศทางเศรษฐกิจ จะมาเยือน รัฐธรรมนูญฉบับย้อนยุคคงถูก วิพาษณ์วิจารณ์ยับเยิน หวังว่าปัจจัยที่ทำให้การเมืองไม่มีเสถียรภาพจะได้รับการทบทวนจาก คสช. หวังว่าผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะทำคลอดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยไม่กำหนดกติกาที่ทำให้การเมืองไม่มีเสถียรภาพ
ทหารไม่คุม'ม.อุบลฯ'จัดถก
ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดเสวนาทางสังคมศาสตร์เรื่องการปฏิรูปเพื่อความงาม ความเจริญ และความเป็นธรรม มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายสมบัติ จันทรวงศ์ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นายฐิติพล ภักดีวานิช และนายอธึกกิต แสวงสุข โดยมีนักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ อาจารย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และประชาชนเข้าร่วมฟัง 300 คน ทั้งนี้ ไม่มีตำรวจหรือทหารเข้ามาดูการเสวนา ปล่อยให้ดำเนินไปอย่างอิสระจนจบการเสวนาใน เที่ยงวันเดียวกัน
นายสมบัติ จันทรวงศ์ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการปฏิรูปและประชาธิปไตยในเมืองไทยว่า ยังไม่สมบูรณ์เพราะคนในประเทศไม่เคารพกฎหมาย ทั้งนี้ตนเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่วิธีทำให้ได้รัฐบาลที่ดีได้ และรัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก ต้องฟังเสียงของคนส่วนน้อยด้วย ดังนั้น การปฏิรูปต้องดูว่าทำอย่างไรให้ประเทศมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ มีความชอบธรรม จะได้ไม่ต้องมาล้มกันไปมา ต้องสร้างสังคมที่เสรีหรือสังคมที่เป็นประชาธิปไตย
วรเจตน์ ชี้รธน.ต้องเป็นที่ยอมรับ
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงอยู่ไม่นาน แต่จะมีการสร้างเครื่องมือผ่านรัฐธรรมนูญมาใช้ควบคุมการจัดหานายกฯ นักการเมือง โดยใช้องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือที่ครอบรัฐบาลไว้อีกชั้น ซึ่งอาจมีอำนาจเข้าถึงนโยบายการทำงานของรัฐบาลเลย
นายวรเจตน์ กล่าวว่า การได้มาของรัฐบาลใหม่ ไม่ได้มาจากอำนาจของประชาชน ดังนั้น อำนาจจึงยังไม่เป็นของประชาชนและกฎหมายยังไม่เป็นธรรม อยากให้ดูประเทศเกาหลี หลังสงครามกลางเมือง มีการแยกการปกครองเป็นสองระบบ เกาหลีหนึ่งเป็นประชาธิปไตย อีกหนึ่งปกครองแบบเผด็จการ จึงเห็นการเจริญเติบโตของสังคมแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น การปฏิรูป ต้องมี ผู้ปกครองที่เป็นธรรม ต้องสร้างกลไกการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ทำการถอดถอนผ่านสภา รัฐธรรมนูญที่ดีต้องเป็นที่ยอมรับของคนทุกชั้น
'บิ๊กตู่'ลั่นไม่เคยให้กำจัดใคร
เมื่อเวลา 20.10 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เรื่องพลังงานว่า มติที่ประชุม ครม.ที่ผ่านมาได้ให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการด้วยความรอบคอบและฟังความเห็นประชาชน อะไรที่เป็นปัญหา ความขัดแย้ง เห็นไม่ตรงกัน ต้องนำมาพูดคุยหารือและทำให้ได้ข้อยุติด้วยเหตุและผล ซึ่งวันนี้ได้ให้มีการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อยก่อนถึงจะเปิดสัมปทานรอบต่อไป ก็คงจะไม่นานนัก ขอให้ทุกพวกทุกฝ่ายคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติเป็นสำคัญด้วย การพูดคุยเจรจาของคณะทำงานที่ตั้งขึ้นโดยมีตัวแทนของภาครัฐและภาคประชาชนมาคุยกัน จะถือเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ได้ข้อยุติ ไม่ใช่ขยายความขัดแย้ง ขอให้พูดจากันให้ดีๆ แล้วแก้ไขกฎหมายให้เรียบร้อย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาความเดือดร้อนและการขับเคลื่อนประเทศ รัฐบาลกับคสช.ทำอย่างต่อเนื่อง คสช.เป็นต้นกำเนิด คำว่า 5 สายจริงๆ แล้วมาจากคสช.ทั้งหมด เพราะอย่างนั้นคสช.ต้องรับรู้ รับทราบ แล้วเห็นด้วยทุกอย่าง ทั้งรัฐบาล สปช. สนช. เห็นด้วยว่าควรดำเนินการ แต่จะดำเนินการอย่างไรเป็นเรื่องของคณะทำงาน อนุกรรมา ธิการต่างๆ ไปพิจารณา แก้ไขกันตรงไหน ก็ว่ามา แต่ตนจะไม่ให้แนวทางว่าไปกำจัดใคร ไปดำเนินการกับใครเป็นพิเศษ ไม่มี ไม่เคยทำ เป็นเรื่องของการพิจารณาตามกลไกปกติ
ชี้รธน.ยังไม่เสร็จอย่าเพิ่งกลัว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ความก้าวหน้าของสปช. กมธ. 18 คณะส่งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปยังกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งยังไม่มีผลทางปฏิบัติ เพียงแต่คิดกันว่าจะไปอย่างไร ในวันหน้า ต้องไปหารือกันอีกครั้ง อย่าเพิ่งวิตกกังวลว่าต้องคณะโน้นคณะนี้ ยุบคณะนี้ตั้งคณะโน้น ความตั้งใจของสปช.ก็ดี แต่วิธีการจะทำเมื่อไร เดี๋ยวคสช.ดำเนินการว่าจะตัดทอนกันตรงไหน ตรงไหนระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ระยะที่ 3 อย่าไปกังวล ทุกคนกังวลไปหมดเลยสรุปว่าที่ทำดีๆ ไม่ได้ฟัง ไปฟังที่ตัวเอง ไม่ชอบ ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ชอบยังไม่เกิดเลย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่สมาชิกสปช.พูด หรือสนช.ทำกฎหมาย อันไหนยังไม่เสร็จก็ยังไม่เกิด ยังไม่มีบังคับตามกฎหมายก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว ร่างรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของทุกคณะเลย จะไปกลัวอะไร ท้ายที่สุดก็ต้องมาคุยกันว่ามันจะไปกันอย่างไร วันนี้อย่าเอาเรื่องทุกอย่างมาตีกัน ในเรื่องที่เราต้องแก้ปัญหาประเทศ เศรษฐกิจ การเมือง ความปลอดภัย การท่องเที่ยว รายได้ประเทศ อย่าเอามาตีกันทั้งหมด ยุ่งตาย
จ่อเรียก'ทีวี'มาพูดคุย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กรอบการปฏิรูปวันนี้ก็มีตั้ง 36 วาระการปฏิรูป กับอีก 7 วาระการพัฒนา ตอนนี้ฟังรัฐบาลอย่างเดียวไปก่อนได้หรือไม่ ฟังว่ารัฐบาลพูดอะไรแล้วมาคุย กับรัฐบาลในเรื่องของปฏิรูประยะยาวทำอะไรไป กฎหมายอยากแก้ ไม่เห็นด้วยก็ไปคุยกับกมธ. ถ้าเอาทุกอย่างมารวมกันไปไม่ได้ซักเรื่อง หัดเข้าหาช่องทางที่มันถูกต้อง แล้วบางทีไปพูดในสื่อ บางทีพูดคนละเรื่อง
"หลายรายการ หลายช่องซึ่งยังมีปัญหาอยู่ ผมคงต้องเรียกมาพูดคุย ไม่ได้เป็นการปิดกั้น แต่เวลาเอานักวิชาการหรือเอาใครไปพูดมันพูดคนละเรื่อง พูดในสิ่งที่ไม่ใช่ ไม่ตรง เป็นเรื่องของอนาคตด้วย ที่มาพูดมันยังไม่ใช่ วันนี้ผมอยากให้ทุกคนช่วยกันขับเคลื่อนประเทศดีกว่า สร้างความปรองดอง" นายกฯ กล่าวว่า
ลั่นสุดท้าย'คสช.'จะตัดสินเอง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องกมธ.ยกร่างฯ ก็เกือบจะได้ข้อยุติ อาจเป็นก.ย. ต้องมาผ่านสปช. ครม. คสช.อีกครั้ง แล้วอาจต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนเพิ่มเติม แต่ทุกอย่างคสช.เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเดินอย่างไร รัฐบาลหน้าต้องเป็นอย่างไร แต่ก็จะไม่ออกนอกกรอบประชาธิปไตยจนเกินไป แต่ทุกคนต้องเข้าใจว่ามันเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ถ้าทุกคนเรียกร้องประชาธิปไตยแล้วทุกอย่างกลับมาแบบเก่า ทุกอย่างก็แบบเก่าหมดแล้วจะทำทำไม ก็ต้องยอมรับกันบ้าง ไม่ได้ไปปิดกั้นใครอยู่แล้ว กฎหมายก็คือกฎหมาย ผิดก็คือผิด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า กมธ.รายงานว่าเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว กำลังพิจารณาเนื้อหารายมาตรา เมื่อเสร็จแล้ว สปช. ครม. และคสช. ต้องดูอีกครั้ง ถ้ามีอะไรแก้ไขก็ต้องส่งกลับไปอีกไปให้กมธ.แก้ไข ตามที่เห็นสมควร แล้วก็เสนอสปช.ให้เห็นชอบอีกครั้งทั้งฉบับ แล้วคสช.หรือรัฐบาลก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ยังมีอยู่อีกหลายขั้นตอน ฉะนั้นอย่าเพิ่งไปเดือดร้อนมากนัก
ขู่สอบ'ขรก.'เป็นรายๆ
นายกฯ กล่าวว่า การขับเคลื่อนข้าราชการในแต่ละจังหวัดและท้องถิ่นขอร้องอย่าให้ตนต้องไปใช้อำนาจอะไรมากมาย ได้มอบหมายให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ เป็นกลไกหลักขับเคลื่อนงานนโยบายทุกนโยบาย ทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่มีตัวแทนของทุกกระทรวงไปอยู่ที่จังหวัดด้วยต้องร่วมมือกับผู้ว่าฯ บูรณาการแผนงานโครงการนโยบาย ทุกงบประมาณผู้ว่าฯ ต้องไปดู ทำดีก็ได้ดี เพราะอย่างนั้นตั้งแต่ระดับปลัด อธิบดีสำนักลงไป ในระดับของบังคับบัญชาไปถึงผู้ว่าฯ นายอำเภอ หัวหน้าหน่วยงาน ทุกคนต้องทุ่มเทเต็มที่ อย่าให้มีหนังสือเรียกร้องมา
"วันนี้ ผมรับมาเยอะมากจะสอบสวนเป็นรายๆ ไป ทำดีไม่ต้องกลัว ทำให้เร็ว ช้าก็โดน ทุจริตก็โดน ใครไปเรียกร้องส่งชื่อมา ผมจะสอบสวนพักราชการทันที" นายกฯ กล่าว
ห้ามดูงานตปท.
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เรื่องผู้มีอิทธิพลอย่าให้มี อย่าไปเป็นกรรมการเอง อนุมัติเอง แล้วประกอบการเอง ต้องไม่มีแล้ว มีไม่ได้ ห้ามเลย ส่วนการอบรมดูงานต่างประเทศ วันนี้ไม่ให้ไป ไม่อยากให้ไปดูงานต่างประเทศเว้นแต่ไปติดต่อราชการ ไปประชุม ถ้าจะไปดูงานต่างประเทศจัดประชุมในประเทศไทย สัมมนาประเทศไทย ต้นทุนถูกกว่า มีรัฐบาลเลือกตั้งแล้วค่อยไปดู ตนเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์เลยไม่ให้ไป
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องสำคัญ ตน ผู้แทนภาครัฐ เอกชน สถาบันศึกษา สื่อมวลชน ร่วมเปิดโครงการปณิธานความดี ปีมหามงคลเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แล้วก็เป็นพลังในการปฏิรูปประเทศ ขอเชิญชวนประชาชนทุกหมู่เหล่าช่วยกันตั้งปณิธานทำความดีเพื่อสังคม เริ่มตั้งแต่บุคคล ครอบครัว หน่วยงาน องค์กรระดับชุมชนตั้งใจทำความดีเพื่อสังคม เช่น ตั้งใจจะอ่านหนังสือให้มากขึ้น ตั้งใจจะเป็นคนอารมณ์ดี อารมณ์เย็น ตนกำลังตั้งอยู่เหมือนกันให้อารมณ์เย็นขึ้นนะ คิดให้มาก แต่ตั้งใจจะคิดให้มากขึ้นทำเพื่อประโยชน์ให้มากขึ้น
โพลชี้คะแนนนิยม'คสช.'ลด
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการประเมินผลงาน 9 เดือนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังทำหน้าที่บริหารประเทศ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 9 เดือน โดยสำรวจจากประชาชน 1,812 คน วันที่ 20-26 ก.พ. พบว่า ร้อยละ 55.57 ระบุค่อนข้างพึงพอใจการปฏิบัติงานของคสช. เพราะการกำหนดนโยบายบริหารประเทศชัดเจน จัดระเบียบสังคมได้ดี ทำงานรวดเร็ว เด็ดขาด ร้อยละ 29.04 พึงพอใจมาก เพราะปฏิบัติหน้าที่ซื่อสัตย์ มุ่งมั่น ตั้งใจแก้ปัญหา ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชน ร้อยละ 11.53 ไม่ค่อยพึงพอใจ เพราะยังแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ สินค้าแพง น้ำมัน ก๊าซขึ้นราคา ร้อยละ 3.86 ไม่พึงพอใจเลย เพราะผลงานยังไม่เด่นชัด เริ่มมีนโยบายประชานิยมออกมามากขึ้น อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว
หากเปรียบเทียบคะแนนที่ประชาชนให้ คสช.พบว่า 1 เดือนแรก 8.82 คะแนน 2 เดือน 8.87 คะแนน 3 เดือน 8.80 คะแนน 4 เดือน 8.57 คะแนน 5 เดือน 8.52 คะแนน 6 เดือน 8.49 คะแนน 7 เดือน 8.20 คะแนน 8 เดือน 8.24 คะแนน และ 9 เดือน 8.17 คะแนน