- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 27 February 2015 12:54
- Hits: 3024
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8857 ข่าวสดรายวัน
กมธ.ทุรัง'คนนอก'นั่งนายก ห้ามเป็นสส.ด้วย บวรศักดิ์โต้วุ่นลากตั้ง'บิ๊กตู่'พร้อมเป็นพยาน ช่วย'มาร์ค'สู้คดี 99 ศพ สนช.ผ่านฉลุยยกแรก ร่างพรบ.ควบคุมม็อบ
'บิ๊กตู่'ลั่นพร้อมเป็นพยานให้ 'มาร์ค'คดี 99 ศพ ย้อนถามมีชายชุดดำ-ยิงทหารหรือไม่ ถ้ามีก็จบ ตั้งใจต่อไปนี้จะไม่โมโหง่ายแนะทุกคนเลิกทะเลาะเรื่องที่ยังไปไม่ถึง ป.ป.ช.เตรียมส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา "มาร์ค-เทือก" สัปดาห์หน้า นัดชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน 'ณัฐวุฒิ'ฉะ'อภิสิทธิ์'ยกชื่อ '3 บิ๊ก' หวังข่มขู่พนักงานสอบสวน 'ปนัดดา'เผยรัฐเร่งถกเยียวยาเหยื่อม็อบ สนช.ผ่านวาระแรกพ.ร.บ.คุมม็อบ 'บวรศักดิ์'โต้ 200 ส.ว.ไม่ได้ลากตั้ง แต่เป็นเลือกตั้งทางอ้อม กมธ.ยกร่างฯ เอาแน่"นายกฯ-ครม.'คนนอก ศาลฎีกายกฟ้องคดี'สมหมาย'ถูกเอกชนฟ้อง
'บิ๊กตู่'ตั้งปณิธานทำดี-ไม่ฉุนง่าย
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ร่วมเปิดตัวโครงการปณิธานความดีปีมหามงคล ทำดี เริ่มได้ ที่ใจเรา พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งภายในงานมีการแสดงภาพยนตร์ แอนิเมชั่น เปรียบเทียบระหว่างคุณสมชาย ที่ตื่นทำงานแต่เช้าแล้วประสบความสำเร็จ และคุณสมนึก ที่นอนดึกตื่นสายแล้วมีปัญหากับการทำงานให้ผู้ร่วมงานได้รับชม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดงานว่า คุณสมชายคือชื่อย่อของ คสช. ดังนั้น ต้องทำหน้าที่ให้ดี ตื่นเช้าทำประโยชน์ คิดสิ่งดีงาม แก้ไขปัญหาต่างๆ ของชาติ ตนก็ต้องทบทวนตัวเองเช่นกันเพื่อทำทุกอย่างให้ดีที่สุด รู้ตัวว่าโมโหเร็ว ก็จะทำตัวให้ดีขึ้น ไม่ให้โมโหง่าย เพราะจะเสียเวลาทำงาน งานที่จัดขึ้นครั้งนี้เพื่อสร้างความรัก สามัคคี สร้างความปรองดองในสังคม และปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในสังคมทุกวัย เริ่มจากการมุ่งมั่นคำความดี ความดีทุกคนทำได้ทุกวัน ถ้าเราเริ่มต้นทำความดี ครอบครัวและสังคมจะดีขึ้น เราจึงใช้โอกาสมหามงคลนี้เป็นจุดเริ่มต้นทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
แนะทุกคนทิ้ง"ตัวตน"-เลิกทะเลาะ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ประเทศมีวิกฤตด้านเศรษฐกิจและการเมือง อยากให้ใช้ตรงนี้เป็นโอกาสทำงานร่วมกัน ตนในฐานะรัฐบาลยืนยันว่าจะสนับสนุนการทำความดีทุกอย่าง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาติและประชาชน สิ่งที่เห็นในตอนนี้คือมีความขัดแย้งเกิดขึ้นมาก ส่วนใหญ่เกิดจากความเห็นส่วนตัว หรือคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้าง แต่ก็มีตัวตนอยู่ในนั้นเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เราต้องตัดคำว่าตัวตนออกไป แล้วจะมองเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลทำเพื่อแก้ปัญหาของประเทศอยู่ตรงไหน ถ้าทุกคนมองตรงนั้นออก จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่างและจะไม่เกิดความขัดแย้งในทุกเรื่องทุกสถานการณ์
นายกฯกล่าวว่า วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น ทุกคน ทุกกลุ่มรวมถึงแม่น้ำทั้ง 5 สายต้องช่วยกันทำความดี ต้องลด ละ เลิกสิ่งต่างๆ ให้ประเทศเดินหน้าให้ได้ ซึ่งตนต้องทำความดีใน 3 ส่วนด้วยกัน คือการแก้ไขตัวเอง สองคือเรื่องภายในครอบครัว และสามคือรัฐบาล ที่ตอนนี้กำลังทำหน้าที่เพื่อชาติและประชาชน เอาทุกอย่างมาแก้ไข แต่จะทำทันทีไม่ได้เพราะไม่ได้แก้มาก่อน อีกทั้งเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ถ้าอยู่ในโลกคนเดียวก็เชิญทะเลาะกันไม่เป็นไร แต่เมื่อเราอยู่ในสังคมโลก ประเทศไทยจะถูกลบออกจากแผนที่ ดังนั้น อย่าทะเลาะกันในเรื่องที่ยังไปไม่ถึง
บ่นอุบรบทั้งพระ-ฆราวาส
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ไปถึงเรื่องการเลือกตั้ง เรื่องรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างต้องมีกติกา ทุกคนอยากให้ประเทศไทยดีขึ้น ขอให้ไปบอกคนที่ออกมาสร้างความขัดแย้งอยู่ทุกวัน ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการ วันนี้ต้องรบกับทั้งพระ ทั้งฆราวาส และคนในประเทศ การจะให้รัฐดูแลทุกอย่างคงไม่ไหว เพราะการทำงานต้องใช้เวลาแก้ปัญหา ต้องมีงบประมาณ และกฎกติกาอีกมาก ไม่ใช่ว่ารัฐบาลดันทุรังหรือถอยกรู ใช้คำพูดพวกนี้กับพวกเราไม่ได้ อะไรที่สงสัย ผมก็พร้อมเปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็นและต้องฟังเหตุผลกันบ้าง
"ยืนยันว่าผมไม่ต้องการผลประโยชน์ รวมถึงต้องใช้ความอดทนสูงในการทำงาน รัฐมนตรีคนอื่นก็เช่นกัน เพราะไม่ใช่นักการเมือง ไม่ได้สมัครเข้ามา ผมเป็นคนเลือกเข้ามา คนที่ให้คะแนนคือผม ใครจะให้อย่างไรผมไม่ฟัง เพราะผมสั่ง ผมรู้ว่าอะไรทำได้แค่ไหน คนที่ออกมาให้คะแนน ทำไมก่อนๆ นี้ไม่ให้เขา คอยจับจ้องแต่คุณสมชาย" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
พร้อมเป็นพยานคดี 99 ศพ
พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ระบุในช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ในปี 2553 มีบุคคลสำคัญ 3 คนประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะรอง ผบ.ทบ.ขณะนั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผบ.ทบ.และรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ในขณะนั้น และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ซึ่งเป็นรมว.กลาโหมในขณะนั้นเกี่ยวข้องด้วยว่า ถ้าจะให้ตนไปเป็นพยาน กระบวนการยุติธรรมว่าอย่างไรก็ตามนั้น ถ้าไปได้ก็ไป จะจำเป็นหรือไม่ ยังไม่รู้เหมือนกัน กลไกเขาว่าอย่างไร แต่ตอนนี้ตนเป็นนายกฯ
ผู้สื่อข่าวถามว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จะเชิญบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ไปให้ปากคำ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าตนพร้อมให้ข้อมูล ซึ่งการให้ข้อมูลบางครั้งก็ไม่ต้องไปเอง สามารถให้ข้อมูลเป็นเอกสารได้ อย่าให้เป็นเรื่องใหญ่โตเลย "แล้วมันจะยังไง ทำไมไม่พูดว่าทำทั้งสองฝ่ายตั้งแต่ต้น ทำไมมาบอกว่าไล่ล่าข้างเดียวกันอยู่ ยืนยันไม่ได้ไล่ล่าข้างเดียว ใครทำผิดกฎหมายก็ว่ามา ใครที่แก้ข้อกล่าวหาได้ก็จบไปเท่านั้นเอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม"
ถามมีชายชุดดำมั้ย-ถ้ามีจบ
ต่อข้อถามว่าเป็นโอกาสที่จะได้เคลียร์คดีนี้เลยใช่หรือไม่ นายกฯไม่ตอบและเดินขึ้นไปยังตึกไทยคู่ฟ้า ผู้สื่อข่าวถามว่าคดีนี้จะเดือดร้อนถึงกองทัพหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่าจะเดือดร้อนเรื่องอะไร เจ้าหน้าที่ก็ทำงาน ที่ผ่านมามีการรายงานการสอบสวนมาตลอดทุกครั้ง ผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีหมด ตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อนๆ ได้ดำเนินการไปครั้งหนึ่งแล้ว รัฐบาลที่แล้วก็ปรับปรุงแก้ไขอีกส่วนจะได้หรือไม่อย่างไร ต้องดูในข้อเท็จจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงตรงนี้ได้หันมาตะโกนถามผู้สื่อข่าวว่า "ขอถามข้อเท็จจริงว่ามีคนใช้อาวุธในประชาชนหรือเปล่า มีหรือเปล่า ขอให้พูดดังๆ มีชายชุดดำอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดงหรือเปล่า และมีคนยิงใส่ทหารหรือเปล่า ถ้ามีก็จบ" เมื่อถามถึงการเยียวยาผู้ชุมนุมทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่ามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้วภายใต้การดูแลของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งการดูแลเยียวยาผู้ชุมนุมทางการเมืองทำมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว รัฐบาลชุดนี้จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล
ยันจริงใจ-มายุติขัดแย้ง
เวลา 13.30 น. ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ มอบโล่แสดงความยินดีกับบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนี DJSI ประจำปี 2558 และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ธุรกิจไทยขับเคลื่อนไทยสู่ความมั่งคั่งยั่งยืนด้วยมาตรฐานสากล" ว่า สมัยที่เป็นผบ.ทบ. เคยนั่งเป็นกรรมการบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่หลักคือการตอบคำถามเวลามีการประชุม แต่เมื่อตอบไปปุ๊บเขาก็ปิดประชุมทันที ไม่รู้ว่าผู้เข้าร่วมประชุมเข้าใจและเชื่อมั่นตนอยู่หรือไม่
"ผมเป็นทหารมาทั้งชีวิต วันนี้คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ผมต้องเร่งพัฒนาตัวเองเพราะรู้ว่าอ่อนด้อยในหลายเรื่อง ผมต้องการยุติความขัดแย้ง มาด้วยความจริงใจ ตอนเป็นทหารเล็กๆ ก็คิดว่าผมโตมาเป็นผู้พัน ผู้การ ผบ. ซึ่งหลายคนไม่ได้เป็นแต่ผมได้เป็น วันนี้ได้เป็นนายกฯ ไม่เคยอยากเป็น ไม่เคยคิดจะเป็น ทุกคนรู้ดีว่ามันเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมือง วันนี้ต้องช่วยกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ลั่นไม่เคยตามใจต่างชาติ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่ได้ตามใจต่างประเทศ แม้กระทั่งการเซ็นสัญญาความร่วมมือด้านรถไฟกับจีน ซึ่งตนบอกว่าขอไปศึกษาก่อน ไม่ได้ให้จีนเข้ามาร่วมลงทุนแล้วกลับมาเอาจากไทยไปหมด ซึ่งต้องยื่นข้อเสนอแล้วตั้งคณะกรรมการมาตกลงกัน พูดคุยกันให้ครบทุกขบวนการในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ ไม่ใช่เซ็นทั้งหมดโดยไม่ทบทวนแผนงาน ทั้งนี้ ถ้ายังประท้วงกันมากๆ ก็จะขายทิ้ง
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้การเดินหน้าประเทศใช้ระเบียบสำนักนายกฯ โดยมี คสช.เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำทั้งหมด เชื่อว่าทุกคนต้องการร่วมปฏิรูปประเทศ และส่วนตัวไม่สามารถห้ามใครรักใครหรือเกลียดใครได้ แต่อยากให้อยู่ร่วมกันด้วยความเมตตา ขณะเดียวกันรัฐบาลกำลังสร้างความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ และขณะนี้คดีต่างๆ กำลังออกมา ซึ่งคดีความถ้าไม่ผิดคงไม่ได้เข้าสู่กระบวนการ แต่การเข้าสู่กระบวนการจะทำให้ทุกอย่างจบลง
โดนเกลียดคนเดียว-รับได้
"อย่างเมื่อเช้าเขาจะให้ผมไปเป็นพยาน ผมบอกผมเป็นนายกฯ ลืมไปหรือเปล่า เรื่องร่วมมือเดี๋ยวผมส่งเอกสารไปก็ได้ แล้วผมถามกลับว่าคดีที่ให้ผมไปให้การนั้นมันเป็นอย่างไร ทำไมพูดถึง มันไม่ได้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ทั้งหมดหากเข้ากระบวนการ มันจะไปต่อได้ แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในกระบวนการ มันทำอะไรไม่ได้ หรือใครว่าผมพูดผิด จะผิดจะถูกค่อยว่ากัน แต่ต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ก่อน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ต้องมีการรับรู้ ที่ตนพูดทุกวันศุกร์ เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำทั้งนั้นแต่กลับไม่ฟังกัน แต่จะพูดจนกว่าจะฟัง มาทวงแต่ว่าเมื่อไรจะคืน จะทำตามสัญญาเมื่อใด ซึ่งมันยังแก้กันไม่ได้ ใครอยากสมัครเป็นนายกฯมาเลย ไม่ต้องไปเลือกตั้ง สมัครตอนนี้ตนคัดให้เลย ไม่ได้อยากเป็นอยู่แล้ว และไม่เข้าใจว่าทำไมคนถึงอยากเป็น เดี๋ยวก็มีคนมาแย่งกันอีก และวันนี้ทุกประเทศที่เขาประท้วงตน ก็ค้าขายกับตนทั้งหมด ส่งตัวแทนธุรกิจมาหาตนทุกวัน จะสหรัฐ ยุโรปมาหมด ไม่ต้องกลัว เพราะเขาต้องกินอาหารจากเรา แต่เขาเกลียดตนคนเดียว ไม่เป็นไร ยอมรับได้ นั่นคือสิ่งที่ตนเสียไป แล้วยังไม่ได้อะไร ตั้งแต่รัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. ตนไม่เคยยึดอะไรของใคร มีคนมาขอแอร์ยังให้แอร์เลย บอกว่านอนไม่มีแอร์ไม่ได้ ตนก็ไปหามาให้
ป.ป.ช.จ่อนัด"มาร์ค-เทือก"แจง
ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหาในคดีถอดถอนนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกฯ กรณีสั่งการใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของ กลุ่มนปช. ในวันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค.2553 ว่าต้องรอการรับรองมติที่ประชุมกรรมการป.ป.ช.ก่อน คาดว่าสัปดาห์หน้าจะส่งหนังสือดังกล่าวไปยังผู้ถูกกล่าวหาได้ ไม่มีปัญหา เมื่อได้รับหนังสือแล้ว ทั้ง 2 ต้องมาแก้ข้อกล่าวหาและชี้แจงต่อป.ป.ช.ภายใน 15 วัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากผู้ถูกกล่าวหาอ้างถึงพยานบุคคลจำนวนหลายคนจะพิจารณาอย่างไร นายสรรเสริญกล่าวว่า หากกล่าวอ้างมาทางป.ป.ช.ต้องพิจารณาว่าเกี่ยวข้องกับคดีอย่างไรหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ลักษณะคดี ทุกคดีที่ป.ป.ช.พิจารณาโดยดูว่าพยานที่อ้างนั้นเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ไต่สวนหรือไม่ หากเกี่ยวข้องก็อนุญาต หากเป็นพยานที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือหากเห็นว่าพยานที่อ้างนั้นมีอยู่ในข้อเท็จจริงอยู่แล้ว ไม่ต้องทำเพิ่มก็อาจจะไม่อนุญาตได้ เชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาคงจะอ้างพยานไม่มาก
อนุญาตพยานเป็นรายคน
ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์อ้างชื่อพล.อ. ประยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์ และพล.อ.ประวิตรนั้น นายสรรเสริญกล่าวว่าป.ป.ช.ต้องดูก่อนว่ารายชื่อเหล่านั้นเกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่ หรือมีข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวข้องหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าพยานที่อ้างมานั้น จะทำให้ข้อเท็จจริงที่เพิ่มเติมนั้นครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ หากไม่จำเป็นหรือมีข้อเท็จจริงครบถ้วนอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องอนุญาต จึงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป หรือแม้แต่ชื่อพล.อ.อนุพงษ์ซึ่งถูกร้องเรียนด้วยนั้น หากถูกอ้างเป็นพยานก็ต้องมาให้ถ้อยคำในฐานะพยาน ยังไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหา เพราะป.ป.ช.ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาพล.อ.อนุพงษ์ ยังคงไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่
เมื่อถามว่า นายสุเทพซึ่งบวชเป็นพระอยู่จะต้องมาด้วยตัวเองหรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่าหากนายสุเทพจะทำหนังสือหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นมารับทราบข้อกล่าวหาแทนก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องมาด้วยตัวเองได้
"เต้น"ฉะยกชื่อบิ๊กเนมขู่
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า เห็นลีลานายอภิสิทธิ์ประกาศพร้อมเข้ากระบวนการคดีสลายการชุมนุมเสื้อแดงแล้วจงใจเอ่ยชื่อ 3 นายพลผู้ยิ่งใหญ่ในปัจจุบันว่าประชุมร่วมกัน เข้าใจสถานการณ์ร่วมกัน อยากให้มาเป็นพยานแล้วต้องยอมรับว่าเขี้ยว แต่ความเขี้ยวแบบนี้ไม่ได้มีความหมาย แค่ลีลาหาประโยชน์ทางการเมือง เพราะแท้ที่จริงคือเขี้ยวที่ขบกัดลงบนซากศพประชาชน
นายณัฐวุฒิ ระบุว่า การระบุชื่อพยานตั้งแต่หัววัน อาจเป็นเรื่องปกติแต่ยกบิ๊กเนมมาโชว์แบบนี้ เท่ากับผู้ต้องหามีเจตนาข่มขู่ กดดันพนักงานสอบสวน ที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์โชคดีเป็นพิเศษในทุกคดีอยู่แล้ว แต่เที่ยวนี้คงลำพองใจว่าพวกกำลังใหญ่จึงเก็บอาการไม่อยู่ ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ตอบรับพร้อมเป็นพยานทันที ถ้ามองว่าให้ความร่วมมือกับกระบวนการก็มองได้ แต่ตนเห็นว่ารอให้ผู้ถูกกล่าวหาเสนอบัญชีชื่อพยานให้ป.ป.ช.พิจารณาแล้วส่งหนังสือมาเป็นทางการค่อยแสดงท่าทีก็ไม่สาย
ข้องใจนายกฯ บอกจบอย่างไร
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า คดีนี้เป็นเรื่องใหญ่ แค่ขั้นตอนแจ้งข้อกล่าวหาจะอธิบายว่าไม่ได้ ไล่ล่าฝ่ายใดข้างเดียวยังไม่ได้ ต้องรอดูกระบวนการทั้งหมดแล้วค่อยสรุป อย่าลืมว่านายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ในเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค.2551 เรื่องถึงศาลแล้ว แต่ของนายอภิสิทธิ์ซึ่งข้อเท็จจริงหนักกว่ากันเยอะ ยังแค่แจ้งข้อกล่าวหา ที่สำคัญนายสมชายไม่เคยเอาชื่อพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายพล.อ.ประวิตร ในฐานะจำเลยร่วมมากล่าวอ้าง
"เห็นข่าวพล.อ.ประยุทธ์ถามสื่อว่าปี 2553 มีชุดดำปนอยู่ในเสื้อแดงแล้วยิงใส่ทหารหรือไม่ ถ้ามีก็จบ ผมไม่เข้าใจว่าจบยังไง เพราะถ้าในแง่คดีความต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยว่ามีจริง ถ้าไม่มีก็เท่ากับสร้างเรื่อง เพื่อให้เกิดความชอบธรรมของฝ่ายรัฐ หรือถ้ามี ก็ต้องให้ชัดอีกว่าเป็นใคร คนที่นอนตายทุกคนมือเปล่า ไร้อาวุธใช่ชุดดำหรือไม่" นายณัฐวุฒิระบุ
รัฐเร่งเยียวยาเหยื่อม็อบ
ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ ถ.มหานาค ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายกฯสั่งการให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) ชดเชยเยียวยาในส่วนของตัวเงินแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2556-57 ว่าสปน. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องเร่งนำเรื่องดังกล่าวไปศึกษา ซึ่งจะนัดประชุมกันเร็วๆ นี้ โดยจะนำหลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินชดเชยเยียวยาที่มีอยู่แล้วตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วมาศึกษาด้วย ยืนยันว่าเป็นการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาแก่ประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เฉพาะคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.)เท่านั้น
เมื่อถามว่า รัฐบาลได้หารือเบื้องต้นแล้วหรือไม่ ว่าการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้เสียชีวิตจะเป็นรายละ 7.75 ล้านบาท เหมือนกับจำนวนที่รัฐบาลชุดที่แล้วกำหนดหรือไม่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่าวงเงินค่าชดเชยเยียวยาต้องเป็นไปตามระเบียบที่กำหนด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือร่วมกันก่อนแล้วจะแจ้งให้ทราบต่อไป
กปปส.จี้จ่ายคนตาย 7.75 ล.
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกกปปส. กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวรัฐบาลได้ส่งหนังสือถึงนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เนื้อหาระบุว่าพระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทำหนังสือถึงรัฐบาลให้ชดเชยเยียวยาแก่เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองปี 2556-57 ว่าเราได้ทำหนังสือไปถึงรัฐบาลตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 แล้ว ชี้แจงเหตุผลการชุมนุม หลักการเยียวยา พร้อมส่งข้อมูลผู้ที่เสีย ชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมไป ให้ด้วย
"ยืนยันว่าเราชุมนุมด้วยความสงบตามรัฐธรรมนูญ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ ควรได้รับการเยียวยาตามหลักเกณฑ์ ส่วนจะเยียวยาเท่าไรต้องให้รัฐบาลพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะตามหลักเกณฑ์เดิมในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการปรับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด สมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์จ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตรายละ 7.75 ล้านบาท ดังนั้น ผู้สูญเสียจึงสมควรได้รับการเยียวยาเหมือนในอดีต เพราะการเยียวยาถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างความปรองดอง" นายเอกนัฏกล่าว
พ.ร.บ.คุมม็อบผ่านวาระแรก
เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.. ในวาระแรก ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การชุมนุมสาธารณะต้องสงบและปราศจากอาวุธ อยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ การชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทำมิได้ การจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาลและศาลจะกระทำมิได้ เว้นแต่จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้ชุมนุมสาธารณะในพื้นที่นั้น โดยให้อำนาจผบ.ตร.หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในการประกาศ ห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรรอบสถานที่ดังกล่าว
ส่วนผู้ใดประสงค์จะจัดชุมนุมสาธารณะให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งต้องระบุวัตถุประสงค์ วัน ระยะเวลาและสถานที่ด้วย กรณีผู้ชุมนุมกระทำการใดๆ ที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น จนเกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเลิกการชุมนุม และระหว่างการรอคำสั่งศาล ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทำนั้น หากฝ่าฝืนให้ประกาศพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ควบคุมและให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ภายในเวลาที่กำหนด สำหรับบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน กำหนดโทษไว้ 9 กรณี มีทั้งจำและปรับ มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี
'วิษณุ'สรุปยึดหลัก 4 ข้อ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสรุปว่า การจัดทำร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยึดหลัก 4 ข้อเพื่อคุ้มครองผู้ชุมนุมคือ 1.กฎหมายนี้ไม่ได้ระบุว่า การชุมนุมต้องไปขออนุญาต แต่ให้ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะมีการชุมนุม เพื่อบอกให้รู้ว่าจะชุมนุมในวันใดถึงวันใด เพื่อเตรียมรับมือและอำนวยความสะดวก 2.กฎหมายนี้ส่งเสริมให้จัดสถานที่ชุมนุม โดยเป็นหน้าที่ขององค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เมื่อชุมนุมตามสถานที่จัดไว้ก็ไม่ต้องแจ้งว่าจะชุมนุม 3.กฎหมายนี้ให้หลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพว่า เจ้าหน้าที่จะไปสลายการชุมนุมไม่ได้ แม้จะเป็นการชุมนุมที่ไม่ถูกต้อง ก็ทำได้เพียงเตือนเท่านั้น การจะสลายการชุมนุมได้ต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลอนุญาต
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า 4.กฎหมายนี้ไม่ใช่เครื่องมือวิเศษสุด เพราะการชุมนุมยังมีอยู่และอาจมากขึ้น แต่การชุมนุมจะมีระเบียบมากขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ทราบแล้วว่าจะจัดการอย่างไร แต่เจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวังไม่ทำตามกฎหมายอย่างเดียว เจ้าหน้าที่ต้องอดทนและผ่านการอบรมการควบคุมฝูงชนมาแล้ว รวมถึงจัดทำแผนและมาตรการควบคุมการชุมนุม โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)เป็นผู้จัดทำ เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบ เพื่อเป็นคู่มือใช้ควบคุมฝูงชน และร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่ใช้กับการชุมนุมที่เรียกร้องเรื่องแรงงานของบริษัทต่างๆ การชุมนุมที่เกี่ยวกับศาสนา และการชุมนุมภายในสถานศึกษา
เชื่อไม่ลิดรอนสิทธิปชช.
"ข้อสังเกตและข้อห่วงใยของสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบทลงโทษที่ยังเห็นว่าลักลั่นกันอยู่ หรือการกำหนดขอบเขตการชุมนุมในพื้นรัฐสภา ทำเนียบ ที่ร่างพ.ร.บ.กำหนดชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร สามารถนำไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการได้"นายวิษณุกล่าว
จากนั้นที่ประชุมมีมติรับหลักการในวาระ 1 ด้วยคะแนน 182 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 22 คน เพื่อดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. กล่าวว่า เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากยังเข้าร้องเรียนกับทางราชการได้ ซึ่งสนช.เห็นตรงกันว่าการชุมนุมจะต้องปราศจากอาวุธ และผู้ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษที่หนักกว่าความผิดอื่น เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่ทำให้รูปแบบการชุมนุมเปลี่ยนแปลงไปเพราะการบังคับใช้กฎหมายกับบทบัญญัติเป็นคนละเรื่องกัน สังคมไทยมีความยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ได้ ซึ่งสนช. มีเอกสิทธิ์ในการพิจารณาอย่างเต็มที่ แม้กฎหมายนี้จะผ่านสนช.แล้วจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว
กมธ.ให้ส.ว.40 คนออกกม.ได้
ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ พัทยา จ.ชลบุรี นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่สี่ บทที่ใช้แก่สภาทั้งสองว่า ส่วนใหญ่นำหลักการของรัฐธรรมนูญ 2550 มาบัญญัติไว้ แต่เพิ่มบางมาตราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในมาตรา 135 กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร มาจากการเลือกตั้งของส.ส.ที่มีคะแนนเสียงสูงสุด และรองประธานสภา ผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งมาจากผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับสอง ขณะที่รองประธานสภา ผู้แทนราษฎรคนที่สอง มาจากผู้ที่ได้คะแนนเป็นลำดับสาม ซึ่งมาตราดังกล่าวจะเป็นหลักประกันให้รองประธานสภาได้มาจากฝ่ายค้านด้วย นอกจากนี้ ประธานและรองประธานสภาจะเป็นกรรมการบริหารและต้องห้ามเข้าร่วมประชุมพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองมิได้
นายคำนูณ กล่าวว่า มาตรา 149 ยังให้อำนาจวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 40 คน สามารถตราพ.ร.บ.และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญได้ โดยต้องเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาก่อนสามวาระ แล้วจึงส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป แต่เอกสิทธิการยืนยันร่างกฎหมายยังเป็น อำนาจของส.ส.เช่นเดิม รวมทั้งหากเป็นประชาชนไม่น้อยกว่า 10,000 คน เข้าชื่อเสนอกฎหมาย สภาต้องพิจารณาภายใน 180 วัน และหากมีการยุบสภาร่างกฎหมายของประชาชนจะไม่ตกไป และนำมาพิจารณาต่อในสภาชุดใหม่ทันทีโดยไม่ต้องรอให้คณะรัฐมนตรียืนยัน
โหวตล้มนายกฯต้องยุบสภา
นายคำนูณ กล่าวว่า กรณีมีการตั้งกระทู้ถามสดของส.ส. ส.ว. นายกฯหรือรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องตอบโดยเร็ว เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย อย่างไรก็ตาม กมธ.ยกร่างฯยังไม่ได้วางหลักบทลงโทษแก่นายกฯหรือรัฐมนตรีที่จงใจไม่มาตอบกระทู้ เพราะเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวเป็นจิตสำนึกและมาตรการสังคมจะลงโทษเอง
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจพฤติกรรมของนายกฯนั้น หากเป็นเรื่องปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน ที่เล็งเห็นว่าจะเกิดความเสียหายแก่เงินและแผ่นดิน จะเสนอโดยไม่มีการฟ้องคดีต่อศาลวินัยการเงินการคลังและงบประมาณที่อยู่ในศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดมิได้ รวมถึงการลงมติไม่ไว้วางใจให้นับเฉพาะคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเท่านั้นโดยคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจต้องเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา และเมื่อนายกฯไม่ได้รับความไว้วางใจต้องเป็นเหตุให้สภาสิ้นสภาพไปด้วย
วางกฎ"นายกฯ-ครม."คนนอก
นายคำนูณกล่าวว่า สำหรับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี หมวด 4 คณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า มาตรา 174 กำหนดให้มีนายกฯ 1 คน และรัฐมนตรีไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นครม. มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยครม. โดยนายกฯจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 2 วาระไม่ได้ ซึ่งมาตราดังกล่าว นายกฯไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส. หรือหากได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส. ก็ต้องลาออกหากได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯเชื่อว่าในสภาวะปกติ สภาจะเลือกนายกฯมาจากส.ส. เว้นแต่ในสถานการณ์ไม่ปกติ อาจนำคนนอกมาดำรงตำแหน่งได้ รวมถึงครม.ด้วยว่าต้องไม่เป็นส.ส.หากเป็นส.ส.ต้องลาออกก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรี ตามมาตรา 177 (6)
นายคำนูณ กล่าวว่า ขณะที่มาตรา 176 กำหนดก่อนที่นายกฯจะนำรายชื่อรัฐมนตรีกราบบังคมทูลฯ ต้องนำรายชื่อครม.ส่งให้ประธานวุฒิสภา และจัดประชุมวุฒิสภาเพื่อตรวจสอบประวัติ และเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่นายกฯเสนอรายชื่อให้ประธานวุฒิสภา นอกจากนี้กมธ.ยกร่างฯยังเพิ่มคุณสมบัติรัฐมนตรี ต้องแสดงรายการเสียภาษีย้อน 3 ปีต่อประธานวุฒิสภาด้วย
เปิดช่องผู้นำปรามส.ส.
นายคำนูณกล่าวว่า มาตรา 180 กำหนดให้นายกฯและรัฐมนตรี มีหน้าที่เข้าร่วมประชุมสภา วุฒิสภา และรัฐสภา โดยให้ถือเป็นภารกิจสำคัญเหนือภารกิจอื่นใด ซึ่งตรงนี้หากไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นเหตุถูกถอดถอนได้
นายคำนูณ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเพิ่มมาตรการสร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาล เพราะเชื่อว่าระบบการเลือกตั้งแบบใหม่จะเป็นรัฐบาลแบบผสม ซึ่งส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลอาจกดดันการทำหน้าที่ของรัฐบาลให้เกิดความไม่สะดวก ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯ จึงออกแบบเปิดช่องให้นายกฯ มีอำนาจปรามส.ส.ที่มากดดันการทำงานของนายกฯและรัฐบาลด้วยมาตรา 183 ที่ให้นายกฯขอความไว้วางใจในการบริหารราชการจากสภาได้ โดยประธานสภาจะต้องจัดประชุมภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันที่นายกฯยื่นเรื่อง และกรณีที่มติไว้วางใจมีคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภา นายกฯจะกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงยุบสภา
สกัดพรรคร่วมต่อรอง
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า กมธ.ยังเพิ่มมาตรการผลักดันกฎหมายที่สำคัญ ในกรณีพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมาย เพราะต้องการต่อรองทางการเมือง โดยเพิ่มอำนาจให้แก่นายกฯ ผลักดันกฎหมายในมาตรา 184 คือให้นายกฯแถลงต่อสภาว่าการเสนอร่างพ.ร.บ.ใดหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างพ.ร.บ.ใด เป็นการแสดงถึงความไว้วางใจของการบริหารของนายกฯ ถ้าส.ส.ไม่เข้าชื่อเสนออภิปรายไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมง ให้ถือว่าร่างพ.ร.บ.นั้นผ่านการพิจารณาและให้ความเห็นชอบของสภา
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า แต่กรณีส.ส.เข้าชื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ให้ร่างพ.ร.บ. ที่นายกฯเสนอ รอการพิจารณาไว้ก่อน และให้ประธานสภา จัดให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเมื่อผลออกมามีมติเห็นชอบให้นายกฯสามารถบริหารประเทศต่อไป ให้ถือว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านการพิจารณาและให้ความเห็นชอบของสภา แต่หากนายกฯไม่ได้รับความเห็นชอบ สภาต้องสิ้นสภาพไปพร้อม นายกฯ ซึ่งการใช้มาตรการนี้กระทำได้ครั้งเดียวใน 1 สมัยประชุม
เผยถกเครียดที่มานายกฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง อภิปรายถกเถียงมาตรา 174 ที่ไม่ได้กำหนดให้นายกฯ ต้องเป็นส.ส. เหมือนในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา เนื่องจากมีกมธ.เสียงข้างน้อยมองว่า การกำหนดให้ที่มาของนายกฯที่ไม่ได้เป็น ส.ส.นั้น จะทำได้ต่อเมื่อในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเมืองเท่านั้น และห่วงว่า การเลือกนายกฯคนนอก อาจย้อนยุคกลับไปหาเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่จะทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นอีก และอาจถูกมองว่าคสช.ต้องการสืบทอดอำนาจ
ทางกมธ.ยกร่างฯจึงนำเสนอในมาตรา ดังกล่าวเป็น 4 แนวทาง คือ 1.ให้ระบุว่า ถ้านายกฯเป็นส.ส.อยู่ได้ไม่เกิน 4 ปี แต่ถ้าไม่ใช่ ส.ส.ให้อยู่ 2 ปี 2.ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ให้หัวหน้าพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เข้ารับการคัดเลือกจากสภาเป็นนายกฯ 3.ให้กำหนดว่าเสียงที่จะใช้สนับสนุนนายกฯคนนอกต้องใช้ 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด และ 4.ให้ยึดตามร่างบทบัญญัติที่ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ เพราะเรื่องสำคัญควรเขียนให้กว้าง เพื่อไม่ให้เข้าข่ายว่าเป็นการบังคับ
สุดท้ายที่ประชุมตัดสินใจใช้แนวทางหยั่งเสียงสมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมเป็นรายบุคคล ผลปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ประมาณ 17 เสียงสนับสนุนให้คงหลักการตามร่างที่ฝ่าย เลขานุการฯนำเสนอให้ ส.ส.เป็นผู้เลือกนายกฯ แต่ไม่ได้กำหนดให้ นายกฯ ต้องเป็นส.ส.
วางตัวปลัดรักษาการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเย็นที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ พิจารณารัฐธรรมนูญรายมาตราจนจบภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบ ผู้แทนที่ดี หมวด 4 ครม. โดยมีส่วนสำคัญในมาตรา 186 กำหนดว่า เมื่อยุบสภา นายกฯและครม.พ้นจากตำแหน่งแล้ว ให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รักษาการแทนครม. โดยทำหน้าที่เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขดังนี้ ให้ความร่วมมือทำตามคณะกรรมกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อย ไม่ใช้อำนาจแต่งตั้งย้ายข้าราชการของรัฐและรัฐวิสาหกิจหรือให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่จะได้รับการอนุมัติจาก กกต. ไม่ใช้จ่ายงบประมาณที่จำเป็น เว้นแต่กกต.อนุญาต และไม่อนุมัติโครงการที่มีผลผูกพันรัฐบาลถัดไป
ทั้งนี้ ให้ปลัดกระทรวงที่รักษาการแทนครม.เลือกมา 1 คนปฏิบัติหน้าที่นายกฯ และเลือก 2 คนเป็นรองนายกฯ ครม.ชุดนี้จะสิ้นสุดลงต่อเมื่อครม.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่แล้ว โดยฝ่ายเลขานุการกมธ.ยกร่างฯชี้แจงว่า ในมาตรานี้ยึดหลักตามมาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาปรับ ให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่ครม. เหมือกรณีผู้ว่าฯกทม. ที่พ้นตำแหน่งแล้วรักษาการไม่ได้ ต้องให้ปลัดมารักษาการแทน
อำนาจนายกฯล้นแก้วิกฤต
ที่ประชุมยังพิจารณามาตรา 189 สาระสำคัญ คือกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำที่บ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือมีกรณีเกิดความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรงขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร และการดำเนินการตามปกติของสถาบันทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญหยุด ชะงักลง นายกฯโดยความเห็นชอบของครม. ทั้งคณะ มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ ภายหลังจากปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการกับประธานสภาฯ ประธานวุฒิสภา และศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
ให้นายกฯมีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่ง การกระทำและการปฏับัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง การ กระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้เมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้วให้นายกฯ รายงานประธานสภาฯ ประธานวุฒิสภา และศาลรัฐธรรมนูญทราบโดยเร็ว และแถลงให้ประชาชนทราบถึงการใช้มาตรการดังกล่าว
เมื่อนายกฯ ใช้อำนาจตามมาตรานี้ให้ถือเป็นการเปิดสมัยประชุมรัฐสภา โดยไม่ต้องตราพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมและถือว่าระหว่างที่ใช้อำนาจตามมาตรานี้ เป็นสมัยประชุมของรัฐสภา ในระหว่างที่ใช้อำนาจตามมาตรานี้ จะยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้
ถกเถียงหนัก-โหวตคว่ำทิ้ง
ฝ่ายเลขานุการฯ ชี้แจงว่า มาตราดังกล่าวเขียนขึ้นใหม่ นำหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 16 ของฝรั่งเศสมาปรับแก้ไข โดยเหตุผลที่นำมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากในอดีตพบว่าประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤตมายาวนาน กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินยังเอาไม่อยู่ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ ยังป้องกันการเกิดปฏิวัติและป้องกันในภาวะบ้านเมืองเกิดสุญญากาศได้อีกด้วย
ปรากฎว่า กมธ.จำนวนมากอภิปรายไม่เห็นด้วยในมาตรานี้ และเสนอให้ตัดทิ้ง เนื่องจากมองว่าให้อำนาจนายกฯมากเกินไป อาจมากเกินกว่าฝ่ายตุลาการด้วยซ้ำ เป็นกฎหมายที่ทำลายกลไกการถ่วงดุลความชอบธรรมของโครงสร้างระบบครม. รัฐสภา ตลอดจนภาคประชาชน ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ สุดท้าย คนที่เป็นใหญ่คือนายกฯ เท่ากับ กมธ.ยกร่างฯเอาดาบยื่นให้กับโจร และถ้าจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จริงคนที่เสียหายที่สุดคือตัวนายกฯ เพราะจะถูกข้อครหาว่า เอื้อประโยชน์ให้สืบทอดอำนาจต่อไป อันเป็นรากเหง้าของเผด็จการ
อย่างไรก็ตาม กมธ.ยกร่างฯบางส่วน โดยเฉพาะสายรัฐศาสตร์ ยังยืนยันให้คงมาตรานี้ไว้ แต่ต้องไปปรับปรุงถ้อยคำใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของการเมืองไทย
หลังอภิปรายกว่า 1 ชั่วโมงยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้ที่ประชุมตัดสินใจเลือกใช้วิธีการหยั่งเสียงสมาชิกในที่ประชุมเป็นรายบุคคล ผลปรากฎว่ามีสมาชิก 16 เสียงเสนอให้ตัดทิ้ง ส่วนสมาชิกที่เสนอให้แขวนมาตราดังกล่าวมี 13 เสียง ที่ประชุมจึงได้ข้อสรุปตัดมาตราดังกล่าวทิ้งไป
"ปึ้ง"ซัดกติกาขี้หมา
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากบอกว่าคนที่เขียนรัฐธรรมนูญ ใช้สมองส่วนไหนมาคิดกติกาแบบนี้ ทำไมถึงจงเกลียดจงชังนักการเมือง ถ้าส.ส.มันชั่วมาก ไม่ต้องมีเลยดีหรือไม่ ซึ่งของเดิมก็ดีอยู่แล้ว
"ระบบมันผิดเพี้ยนไปหมด ฉีกรัฐธรรมนูญมากี่ครั้ง เขียนใหม่มากี่ครั้ง มีแต่เปลี่ยนแปลงเพื่อต้องการเอาชนะคนที่ชนะเลือกตั้งมาตลอด เขียนรัฐธรรมนูญมาเพื่อควบคุมรัฐบาลไม่ให้ทำงานได้ แล้วการแก้ปัญหาบ้านเมือง จะทำได้อย่างไร ถึงอย่างไรรัฐธรรมนูญนี้ก็ต้องผ่าน สปช.แน่นอน แต่สังคมโลกไม่ยอมรับ คิดว่าถ้ากติกาขี้หมาอย่างนี้ ไม่เล่นการเมืองแล้ว เล่นไปก็เหนื่อย เพราะเขียนกติกาเลอะเทอะ อย่าคิดว่าประเทศเป็นของพวกคุณฝ่ายเดียว" นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่มาส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น เสนอว่าเมื่อมีส.ว.สรรหาแล้ว อยากให้มีกฎหมายเอาผิดคนสรรหาส.ว.ด้วย เพราะหากส.ว.ทำความผิด มีผลประโยชน์ทับซ้อน ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็ถือว่าผิดต่อหน้าที่ ต้องเอาผิดทางอาญา มาตรา 157 รวมทั้งต้องดำเนินคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหายด้วย
อ.ปื๊ดโวยสื่อตีข่าวส.ว.ลากตั้ง
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ว่า มีสื่อหนังสือพิมพ์บางฉบับ และมีการนำเสนอข่าวในโทรทัศน์บางแห่งระบุว่าวุฒิสภาชุดใหม่ที่กำหนดไว้ 200 คน เป็นวุฒิสภาจากการลากตั้ง ซึ่งถือว่าไม่น่ารักและนำเสนอข่าวไม่ครบถ้วน เนื่องจากวุฒิสภาชุดใหม่ที่กมธ.ยกร่างฯ ให้ความเห็นชอบไปนั้นจะมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม มาจากบุคคลที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม รวมถึงด้านสังคม ชาติพันธุ์ ปราชญ์ชาวบ้าน
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า บุคคลคนเหล่านี้จะเป็นส.ว.ได้ จะมาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา เมื่อสรรหาเสร็จแล้วจะต้องนำเสนอบัญชีรายชื่อให้สมัชชาพลเมือง ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งเป็นบุคคลที่มาจากการเลือกของประชาชน มาเลือกบุคคลที่จะมาเป็นส.ว. ดังนั้น การกล่าว หาว่าวุฒิสภาชุดใหม่เป็นส.ว.ลากตั้งไม่ถูกต้อง
ชี้มาจากเลือกตั้งทางอ้อม
"ในต่างประเทศก็ใช้กระบวนการเลือกส.ว.นี้ เช่น ฝรั่งเศส ซึ่งการใช้เสรีภาพของสื่อ ผมไม่ได้มีปัญหา คอลัมนิสต์จะแสดงความคิดเห็นอย่างไรถือเป็นเสรีภาพ แต่การนำเสนอข่าวและใช้การพาดหัวหรือการอ่านข่าวของนักอ่านข่าว จำเป็นอย่างยิ่งต้องนำเสนอให้ครบถ้วนรอบด้านและปราศจากอคติ มิเช่นนั้นแล้วประชาชนจะได้รับข่าวสารเพียงด้านเดียว" นายบวรศักดิ์กล่าว
ด้านนายบรรเจิด สิงคะเนติ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเลือกตั้งส.ว.เป็นระบบลากตั้งนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะระบบการเลือกตั้งทางอ้อมเป็นการเลือกตั้งประชาธิปไตยที่มีเนื้อหาและมีประสิทธิภาพมากกว่าการเลือกตั้งโดยตรงที่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มการเมือง กลุ่มนายทุนสนับสนุน ส่วนรูปแบบที่กำหนดไว้ล่าสุดก็ไม่ได้มีอำนาจมาก เพราะถึงแม้จะมีอำนาจเสนอกฎหมายได้ แต่การถอดถอนต้องใช้เสียงร่วมกันของรัฐสภา
ปชป.เตือนรธน.ใหม่ทำป่วน
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช. อดีตส.ว.นนทบุรี กล่าวว่า โดยหลักการ ถ้าส.ว.มาจากการสรรหาควรมีอำนาจเฉพาะการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายเพียงอย่างเดียว จึงจะถูกต้อง ไม่ควรมีอำนาจอื่นๆ ร่วมด้วย และเห็นว่าควรให้มีส.ว.เลือกตั้งอยู่ต่อไป เพราะถือเป็นตัวแทนที่มาจากประชาชนโดยตรงซึ่งมีอำนาจแต่งตั้ง หรือถอดถอนได้
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงกมธ.ยกร่างฯกำหนดให้ส.ว.มีอำนาจตรวจสอบประวัติและความประพฤติทางจริยธรรมนายกฯ ครม. ปลัดและอธิบดีว่า ให้อำนาจส.ว.ตรวจสอบเยอะเกินไป ข้อเสนอนี้ไม่น่าจะได้รับการยอมรับ ถ้าผ่านเชื่อว่าจะวุ่นวายเป็น 2 เท่าแน่
ส่วนกรณีที่กำหนดว่าหากรัฐบาลแพ้ผลโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ต้องยุบสภานั้น นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่สวนทางความเป็นจริง ต่อไปฝ่ายค้านจะไม่กล้าโหวตล้มรัฐบาลเพราะรู้ว่าหากรัฐบาลแพ้โหวตก็ต้องเลือกตั้งใหม่ และอาจเปิดช่องให้รัฐบาลลักไก่ออกกฎหมายสำคัญ เช่น ผลักดันให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย แนวคิดเช่นนี้ทำลายหลักการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ จึงเป็นหลักคิดที่พิกลพิการในรัฐธรรมนูญ
ฟันธงบีบมีรัฐบาลแห่งชาติ
นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ฟันธงว่าการวางแนวคิดลงรายมาตราเช่นนี้ เพื่อบีบให้หลังเลือกตั้งจะกลายเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ที่หลายพรรคจับมือกันเป็นรัฐบาลผสมที่มีเสียงข้างมากและยากต่อการล้มรัฐบาล แม้จะมีพรรคเล็กบางพรรคออกจากพรรคร่วมรัฐบาล จะมีพรรคอื่นเสียบแทน จึงน่าเป็นห่วงเพราะมีหลายอย่างที่สวนทางกับข้อเท็จจริง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ นายกฯ เพราะฝ่ายค้านจะไม่อยากยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเพราะกลัวจะถูกยุบสภาไปด้วย ทั้งที่ควรกำหนดให้นายกฯและครม.พ้นจากตำแหน่งก็พอ ไม่ควรยุบสภา ส่วนที่อ้างว่ายังมีช่องทางอื่นตรวจสอบรัฐบาลอีกเช่น ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ กกต.นั้น เท่ากับต้องการลดบทบาทอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลในสภาหรือไม่ ทั้งที่การตรวจสอบโดยระบบสภาคือความโปร่งใสที่ประชาชนทั้งประเทศจะรับรู้ได้ จึงอยากให้กมธ.ทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ส่วนนายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ออกแบบให้ส.ว.มีอำนาจมาก เช่น เสนอกฎหมายได้ ตรวจสอบคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีรวมถึงถอดถอนบุคคลและนักการเมือง เรียกว่ามีอำนาจมากกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 การเอาคนที่มิได้มาจากการเลือกตั้งมาทำหน้าที่นี้ จึงขัดต่อหลักประชาธิปไตย อาจเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ถูกควบคุมโดยคนดี
มั่นใจสหรัฐส่งทูตมาไทยแน่
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ กล่าวกรณีนายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ เข้าพบนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐว่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติตามปกติในการเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการพูดคุยอะไรกันบ้าง ส่วนการชี้แจงทำความเข้าใจสถานการณ์ในไทยต่อ ต่างประเทศถือเป็นหน้าที่ของสถานทูต ทุกแห่งอยู่แล้ว แต่จะชี้แจงได้มากหรือน้อย เพียงใด ขึ้นอยู่กับโอกาสและประเด็นที่จะพูดคุยกัน
เมื่อถามถึงความคืบหน้าการส่งเอกอัคร ราชทูตสหรัฐมาประจำประเทศไทย นายดอนกล่าวว่า ยืนยันว่ามาแน่นอน และมาก่อนที่ไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างที่เขาดำเนินการ ส่วนสาเหตุที่ว่างเว้นการส่งทูตนั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ มีหลายประเทศเช่นกันที่ไทยยังไม่ได้ส่งทูตเข้าไปประจำการทันทีเมื่อหมดวาระ เนื่องจากมีกระบวนการต่างๆ ภายในประเทศอยู่ กรณีสหรัฐจึงไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าไม่ส่งทูตมาประจำประเทศไทย